WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กมธ.ยกร่างฯ จัดทีมโต้ รับมือสปช. เชื่อรธน.โดนยำหนักแน่ 'บิ๊กตู่'ฉุนสื่อเสนอด้านลบ สั่งจนท.เรียกฐาปนีย์เแจง ปมข่าวค้ามนุษย์ข้ามชาติ ตั้ง 9 ผู้พิพากษาคดีบุญทรง

มติชนออนไลน์ :

      'บิ๊กตู่'ฉุนสื่อวิจารณ์ล้มเหลว ลั่น'สบายกันเกินไปแล้ว' จี้สมาคมสอบ เตือนเดี๋ยวตกงานกันหมด ยอมรับพูดเร็วไปเลือกตั้งปีྲྀ ชุดยกร่างจัดทีมรับมือ สปช.จัดหนักอภิปรายร่าง รธน.

@ 'บิ๊กตู่'ฉุนสื่อวิจารณ์ทุกเรื่อง

      เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 25 มีนาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนบรูไน โดยในวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีมีสีหน้าเคร่งเครียดและแสดงอารมณ์โกรธและโมโหตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์ รวมทั้งได้มีการเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงกับผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์มีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงถึงขนาดบางช่วงเสียงสั่น และมีการโยนเอกสารใส่ผู้สื่อข่าว โดยการให้สัมภาษณ์วันนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 23 นาที

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเข้าพบและหารือเมื่อบ่ายวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ไม่มีการพูดคุยในเรื่องปัญหาความขัดแย้งอะไร เป็นการปรึกษาเรื่องการงาน ทำไมจะทะเลาะอะไรกันหนักหนา ทำไมอยากให้ทะเลาะกันหรือไง เห็นสื่อเขียนกันเหลือเกินว่าไอ้โน้นทะเลาะกับไอ้นี่ ถ้าจะทะเลาะมีตนทะเลาะได้อยู่คนเดียว ถ้าใครบกพร่องก็ตำหนิเขา แต่ถ้าทำดีก็ต้องชมและก็เรียกมาหารือกัน มันก็แค่นั้น จะมีอะไรมากไปกว่านี้วะ อยากจะรู้นัก 

@ ลั่นดูทุกสื่อ-'สบายกันเกินไปแล้ว'

      เมื่อถามว่า แต่มีการไปพูดโยงถึงเรื่องการทำงานและการปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบอย่างเสียงดังว่า มีแต่พวกคุณพูดกันทั้งนั้นว่าจะมีการปรับ ครม. ถ้าปรับแล้วมันดีขึ้น เออ มันก็ใช่ แต่ถามว่าสถานการณ์ขณะนี้การปรับคนจะทำให้แก้ปัญหาได้หรือไม่ อยากให้ตอบ สมมุติว่าหนังสือพิมพ์ของพวกคุณ ถ้าจะให้ขายดีต้องให้ไอ้นักข่าวคนนี้ออกไป บรรณาธิการคนนี้ก็ต้องออก แล้วมันจะดีขึ้นไหม มันไม่ได้แก้ปัญหาง่ายขนาดนั้น ประเทศชาติมีคนเกือบ 70 ล้านคน มีปัญหาร้อยกว่าเรื่อง จนถึงวันนี้ขึ้นเป็นพันกว่าเรื่อง แทนที่จะมาช่วยกันเพราะวันนี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาแบบนี้ ไปรวมพลังคนมาให้ได้ มาช่วยกันแก้ปัญหา รวมกันทุกพวก ไม่ใช่ตีให้แตกไปทุกเรื่อง เหมือนรัฐบาลปกติ มันไม่เข้าใจกันหรืออย่างไร

     "เสรีภาพให้ก็ให้แล้ว ทุกอย่างไม่เคยห้ามอะไรเลย ไม่มีใครเขาให้แบบนี้หรอก เดี๋ยวผมจะดูอีกระยะหนึ่งนะสำหรับการทำงานของสื่อ ที่ผมและรัฐบาลทำมาทั้งหมดก็เพื่อคนไทยทุกคน แต่พอจะมีกลไกอะไรต่างๆ ออกมาก็ไม่ยอมกัน จะกลับไปยืนที่เก่า สื่อก็คล้อยตามกันไปเรื่อย ยิ่งทำให้สังคมแตกแยก แล้วผมจะได้อะไรขึ้นมากับสิ่งที่ผมทำ ผมไม่ใช่การเมือง ผมไม่ได้ผลประโยชน์ ผมไม่มีธุรกิจ ที่พูดไม่ได้มาทวงบุญคุณอะไร ทั้งหมดผมทำให้คนไทย ถ้าใครมันไม่เข้าใจ มันก็ไม่ใช่คนไทย สื่อต้องช่วยกัน ต่อจากนี้ผมจะดูทุกสื่อและถ้าจำเป็นผมก็จะใช้อำนาจของผมทุกคน ไม่ได้ไม่ให้มาวิจารณ์ วิจารณ์ได้ แต่ต้องเข้าใจเสียหน่อย วันนี้คำสั่ง คสช.มีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ หรือลืมกันไปหมดแล้ว ลืมหรืออย่างไร สบายกันเกินไปแล้วมั้ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ ให้สมาคมสอบ-ยันไม่ล้มเหลว

     เมื่อถามว่า หมายความว่า ถ้าสื่อเสนอข่าวลักษณะที่ทำให้แตกแยกจะพิจารณาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "สื่อใดที่เสนอข่าวสร้างความแตกแยกก็จะให้ทางสมาคมดำเนินการสอบมาแล้ว ถ้าสมาคมไม่ได้เรื่อง ผมก็จะให้คณะข้างบนเขาสอบต่อ เอามาตีดูสิว่าไอ้นี่มันสร้างความแตกแยกหรือไม่ ถ้าวิจารณ์ทั่วๆ ไป ผมไม่ว่า ติติงนิดหน่อยผมก็รับได้นะ แต่ถ้าพูดทุกวันว่าล้มเหลว มันจะล้มเหลวได้อย่างไรวะ ก็ของเก่ามันยิ่งกว่าล้มเหลวอีก เมื่อเราเข้ามาแก้ จากความล้มเหลวเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น คิดแบบนี้กันบ้างสิ" 

     เมื่อถามว่าจะถึงขั้นปิดสื่อเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่ามาหาเรื่องให้ตนต้องไปรบกับสื่อเลย เมื่อถามย้ำว่าบทลงโทษคืออะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทันทีว่า "ประหารชีวิตมั้ง ถามส่งเดชไปได้ ก็อย่าทำกันสิ ระมัดระวังกันหน่อย สื่อต้องมีวิจารณญาณ มีจรรยาบรรณกันหน่อย เห็นเรียกร้องอยากได้จรรยาบรรณกันหนักหนา ให้ไปแล้วก็ใช้ไม่เป็น ไม่รู้จักใช้ อะไรที่เป็นความร่วมมือเพื่อทำให้ประชาชนก็ต้องมาร่วมมือกัน อะไรที่เป็นความขัดแย้งก็ต้องพอๆ เพราะเห็นว่ารัฐบาลเขากำลังทำงานอยู่ แต่ทุกวันนี้ไม่เคยเห็นสักฉบับไม่มีเลย มีน้อยมากหรือมีแค่บางคนเท่านั้น ผมไม่ได้ขอให้เชียร์"

@ ขออย่าทำให้วิกฤตเป็นวิกฤต 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อการให้สัมภาษณ์มาถึงจุดดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น ผู้สื่อข่าวพยายามที่จะสร้างบรรยากาศ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีรีบเดินทางขึ้นเครื่องบินเพื่อให้ทันตามกำหนดการเยือนบรูไน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงติดพันและกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อ ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวกล่าวว่าไม่มีคำถามจะถามแล้ว เกรงจะถูกคำสั่งประหาร พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า "ใช้เครื่องประหารหัวสุนัขเลย เดี๋ยวจะจัดการกับสื่อสักหน่อย รักกันอยู่แล้ว ขอร้องให้ช่วยกันหน่อย ไม่ใช่ให้มาแก้ตัวให้ผม แต่ขอให้ช่วยกันสร้างความรัก ความสามัคคี ไหนๆ เราก็มาถึงจุดนี้แล้ว เอาวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำวิกฤตให้เป็นวิกฤต" 

       เมื่อถามว่าทำไมนายกฯไม่มองว่าคำวิจารณ์ต่างๆ เป็นความเห็นและการเสนอแนะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ไปดูคำวิจารณ์ของพวกสื่อสิ เป็นทางบวกหรือ ถามว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พล.อ.ประยุทธ์จะทำได้หรือไม่ ก็เข้ามาวันนี้ก็เพื่อสิ่งเหล่านี้ จะถามทำไม สร้างสรรค์ตรงไหนวะ ปัดโธ่"

@ เตือนเดี๋ยวตกงานกันหมด 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดมาถึงจุดนี้ได้หันไปสั่งให้ ทส.คนสนิทไปหยิบหนังสือพิมพ์ในรถมา โดยกล่าวว่า "เอามากันสักที แล้วช่วยกันตัดสินดูสิว่า ไอ้นี่มันเขียนดีหรือไม่ เดี๋ยวฉันจะบอกว่าไม่ต้องไปซื้อ ตกงานกันให้หมด" ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวได้บอกนายกฯว่าไม่มีคำถามแล้ว และถ้าช้าไปกว่านี้อาจจะทำให้กำหนดการเยือนบรูไนคลาดเคลื่อน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถ้าฉันไปถึงช้า ฉันจะบอกสมเด็จพระราชาธิบดีว่าเป็นเพราะพวกเธอ วันนี้ไม่ได้โกรธ แต่อารมณ์ไม่ดี" 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการให้สัมภาษณ์จบ ทส.คนสนิทได้หยิบหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้หันไปชี้พร้อมระบุว่า มีหลายฉบับมาก พร้อมหันมาถามกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า "ไหนเครือมติชนอยู่ไหน ไปดู เขียนให้ดี อย่าเขียนให้เข้าข้างฝ่ายโน้นให้มากนักนะ ผมจะบอกให้ รัฐบาลที่แล้ว มติชนน่ะ ขายกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด คุณไปรื้อดู กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ซื้อเฉพาะมติชน ทำให้ฉบับอื่นขายกันไม่ออก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดจบก็หันหลังเพื่อเดินไปยังห้องรับรองเพื่อไปเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ

@ ขอสื่ออย่าวิจารณ์คดีการเมือง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกว่า วันนี้ขอร้องสื่อมวลชนว่าในเรื่องคดีการเมืองต่างๆ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมขอให้เป็นไปตามกลไก อย่าไปยุ่งกับมันมากนัก อะไรกันนักหนา ไม่เข้าใจ จะต้องเมื่อนี้ เมื่อนั้น รัฐบาลนี้พูดจาแบบนี้จะว่าตนก็ว่ามา อย่างไรรับอยู่แล้ว แต่ตนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนายกฯ ที่ไม่ใช่มนุษย์ก็มีจิตใจ มีชีวิตและจิตใจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การพิจารณาคดีทางการเมือง อย่าไปสนใจให้เขาเดินหน้าไปตามกระบวนยุติธรรม อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์กันนัก เพราะเขาทำงานไม่ง่าย ถ้าเรามัวแต่คล้อยตามไปมาแบบนี้ ศาลก็ลำบากวันนี้ฝ่ายต่อต้านกระบวนการยุติธรรม ถามว่ายอมรับความผิดอะไรบ้างหรือยัง สักอย่าง ยังไม่มีเลย และตนก็ไม่ได้บอกว่าเขาผิด เขาเป็นเพียงผู้ต้องหาก็ไปสู้คดีกัน แต่ขอร้องว่าอย่ามาสู้นอกศาล สื่อก็ไปขยายความกันเรื่อยเปื่อย เวลาศาลตัดสินว่าไม่ผิด ทำไมไม่โวย แต่พอผิดก็ออกมาโวยว่าไม่เป็นธรรม ส่วนความผิดอื่นๆ ที่มีการยกฟ้องกลับไม่พูดถึง อย่างนี้มันใช้ได้ที่ไหน คนเหล่านี้ใช้ได้หรือไม่ก็ต้องคิดดู

เมื่อถามว่าคดีที่พูดถึงหมายถึงคดีอะไรและเกี่ยวข้องกับใคร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า สื่อก็รู้อยู่จะมาถามอีกทำไม ก็คือคดีการเมือง รู้อยู่แล้ว เมื่อถามถึงการเลื่อนการแถลงผลงานรอบ 6 เดือน จากวันที่ 10 เมษายน เป็นวันที่ 17 เมษายนเนื่องจากเกรงว่าเป็นวันหยุดยาวจะไม่มีคนฟัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า แล้วจะทำไม ก็ขนาดพูดธรรมดายังไม่ฟังกันเลย ก็ต้องหาเวลาที่ทุกคนฟัง โดยเฉพาะสื่อ เพราะที่พูดทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครฟัง ถ้าไปพูดวันหยุดแล้วใครจะฟัง ดังนั้นการเลื่อนวันแถลงก็เป็นเรื่องของตน ก็จะแถลงในวันนี้จะมาบังคับอะไรนักหนา และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงมีการชี้แจงผลงานมาตั้งนานแล้ว และแต่ละกระทรวงก็มีการดำเนินการมา เพียงแต่สื่อไม่ไปสนใจ มาสนใจที่ตนอย่างเดียว

@ รับพูดเร็วไปเลือกตั้งปี58

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุระเบิดหลายครั้งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองว่า "ก็มันโง่ไง แล้วพวกเธอไปโง่ตามเขาหรือเปล่า รัฐบาลและผมจะทำไปเพื่ออะไร คิดดูสิด้วยความเป็นมนุษย์ ฉันมาฉันไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้นแล้วฉันจะมาทำเองทำไม เพื่อที่ฉันอยากจะอยู่อย่างนั้นหรือ"

เมื่อถามว่าการออกมาพูดเช่นนี้จะมีการห้ามปรามอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่สนใจ เมื่อถามต่อว่าจะเรียกมาปรับทัศนคติอีกครั้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่สนใจเรียกมาแล้วหลายครั้ง แล้วพอเรียกมาจะอย่างไร พอไม่ปล่อยก็หาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนก็แค่นี้ เฮงซวยพวกนี้"

เมื่อถามถึงความชัดเจนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงการเลือกตั้งปลายปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องที่พูดว่าปลายปีนั้นตนพูดเร็ว ความจริงพูดมาหลายครั้งว่ารัฐธรรมนูญจะออกปลายปี นั่นคือการเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง ตนพูดรวบไปหน่อย แต่ไม่เข้าใจว่ามันจะอะไรกันหนักหนา เรื่องการเลือกตั้ง จะเป็นจะตายกันหรืออย่างไร เป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม หรือใครคิดว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญจะออกได้ไหมก็ต้องไปรอดูกัน 

เมื่อถามว่าเท่าที่ดูคิดว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้

@ 'บิ๊กป้อม'ยันดูแลครม.สัญจรปกติ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะใช้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 ในวันที่ 27-28 มีนาคมว่า สำหรับกรณีพบวัตถุระเบิดจำนวนมากในพื้นที่นั้น ไม่มีอะไร เป็นการขโมยมาซุกซ่อน ไม่มีผลต่อเรื่องการรักษาความปลอดภัยความมั่นคงแต่อย่างใด สำหรับเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้นก็เป็นไปตามปกติ เป็นไปตามระบบ ยังคงเดิม ไม่ต้องมีเพิ่มใดๆ และอย่าไปบอกว่าต้องเข้มข้นหรือเพิ่มเติม ยืนยันว่าไม่มี เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในการดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมบริเวณชายหาดหัวหิน เพื่อจัดระเบียบนั้นจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยใดๆ หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เป็นอะไร หากนายกฯจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว ทั้งตำรวจ ทหาร เขาก็ต่างทำหน้าที่อยู่แล้ว สำหรับการประชุม ครม.นอกสถานที่ครั้งนี้ไม่มีประเด็นอะไรสำคัญมากนักเป็นการเปลี่ยนสถานที่ประชุม ครม.เท่านั้น ครม.ทำงานมาหลายเดือนแล้ว ไม่ได้โงหัวเลย ให้เปลี่ยนที่บ้าง เพราะอยู่แต่ในทำเนียบ เจอก็แต่นักข่าวในนี้

@ 'บิ๊กตู่'เตรียมตรวจตลาดหัวหิน

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการประชุม ครม.นอกสถานที่ครั้งที่ 1 ที่สวนสนประดิพัทธ์ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคมว่า พล.อ.ประยุทธ์จะออกเดินทางถึงท่าอากาศยานหัวหิน บ่อฝ้าย ในช่วงเช้า และที่ท่าอากาศยานจะสรุปเรื่องการจัดระเบียบชายหาดหัวหินให้นายกรัฐมนตรีและคณะได้รับทราบ จากนั้นจะออกเดินทางไปยังตลาดฉัตรชัย หรือตลาด 7 โค้ง ในตัวเมืองหัวหินเพื่อไปดูสภาพเศรษฐกิจและเยี่ยมเยียนพูดคุยกับประชาชนที่จับจ่ายซื้อของที่ตลาด และจะเดินทางต่อไปยังชายหาดหัวหิน พบกับผู้แทนสมาคมประมง ผู้มาท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม และผู้ประกอบการบริเวณชายหาด เพื่อพูดคุยเรื่องความคืบหน้าการแก้ปัญหาบริเวณชายหาดหัวหิน จากนั้นจะไปยังจุดจัดนิทรรศการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อเอสเอ็มอีและเกษตรกร ที่จุดจอดรถใหญ่ของสวนสนประดิพัทธ์ มีพิธีเปิดงานนิทรรศการและเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ นิทรรศการดังกล่าวนั้นนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้จัดขึ้น โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดงาน นำเอาเทคโนโลยีไทยพร้อมใช้มานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะ รวมถึงประชาชนทั่วไป มีทั้งหมดกว่า 100 ชิ้นงาน เพื่อให้ภาคเอกชนประชาชนมาติดตามและพัฒนาตลาด เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของคนไทย ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม ตั้งแต่ 09.00-17.00 น.

@ ระดมเจ้าหน้าที่3พันนายดูแล

น.ส.ณุวรรณา อนันตกิจไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่วันที่ 27-28 มีนาคมนี้ ที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จังหวัดได้รับมอบหมายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้จัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงรับรองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยจะนำเมนูอาหารยอดนิยมของจังหวัดร่วมจัดเลี้ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเตรียมการรักษาความปลอดภัย และด้านการจราจร มีการตั้งจุดตรวจร่วม ในเส้นทางสายหลัก และสายรอง ในเมืองหัวหิน ทั้งสิ้น 7 จุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยสนธิร่วมกันทั้งจาก ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง รวมกว่า 3,000 นาย มีการตั้งจุดตรวจร่วมหลัก บริเวณถนนเพชรเกษม ซอยหัวหิน 19 หรือด้านหน้าวัดไกลกังวล และบริเวณหมู่บ้านเขาเต่า โดยไม่กระทบกับการบรรยากาศการท่องเที่ยว

@ กมธ.ยกร่างฯถกรับมือแจงสปช.

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ เป็นวันที่ 13 เป็นการพิจารณาต่อเนื่องในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มาตรา 293 ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-2 เมษายน ขอให้สมาชิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรายมาตราที่ยังไม่ได้ข้อสรุป การประชุมดังกล่าวนี้จะเป็นการประชุมภายในเฉพาะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) วันที่ 26 มีนาคม มีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ในวันที่ 20-26 เมษายนนี้ นายบวรศักดิ์เสนอว่า การกำหนดวันอภิปรายช่วงเวลาดังกล่าวจะเท่ากับ 6 วันครึ่ง เนื่องจากวันที่ 23 เมษายน ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้เวลาครึ่งวันเช้าใช้ห้องประชุม ทำให้ สปช.มีเวลาพิจารณาเพียงครึ่งวัน เบื้องต้นวันที่ 20 เมษายนนั้น มีข้อเสนอชั่วโมงแรก จะอภิปรายภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จากนั้น จะเป็นการอภิปรายรายละเอียดภาพรวมหมวดต่างๆ คาดว่าหมวดที่เกี่ยวกับประชาชนจะใช้เวลานานที่สุด หวังว่าเวที สปช.น่าจะสร้างสรรค์ พูดสิ่งที่ทำให้ประชาชนรับฟังว่าอะไรเป็นสิ่งดีและเติมสิ่งที่ดียิ่งขึ้นเข้าไปอีก หากจะชำแหละ ก็ชำแหละได้ทั้งนั้น วันนี้หลายคนมีข้อสงสัยว่าบางข้อเสนอทำไมถึงไม่ยอมรับ เพราะเขาไม่อ่านรัฐธรรมนูญกัน

@ วางกรอบให้79ชั่วโมง155คน

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอเวลาอภิปรายต่อที่ประชุมว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 20-26 เมษายน และจะมีเวลา 79 ชั่วโมง แบ่งเป็นให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงภาพรวม และอธิบาย 15 ชั่วโมง ให้ตัวแทน กมธ.ปฏิรูปของ สปช. ทั้ง 18 คณะ ส่งตัวแทน 4 คน อภิปรายคณะละ 2 ชั่วโมง รวมเป็น 36 ชั่วโมง เหลือเวลาให้ สปช.ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของ กมธ.อภิปราย 28 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1,680 นาที ทำให้ สปช.ที่ไม่เป็นตัวแทน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ปฏิรูป สปช. และไม่เป็นประธาน สปช. และรองประธาน สปช. 155 คน จะได้เวลาอภิปรายเฉลี่ยคนละ 10 นาที ควรกำหนดเงื่อนไข คือ การอภิปรายของ สปช. ทำได้เพียง 1 ครั้ง สำหรับ สปช.ที่เป็นตัวแทน กมธ.ปฏิรูปและใช้สิทธิอภิปรายในฐานะ กมธ.ปฏิรูปแล้วไม่ได้สิทธิอภิปรายอีก ลำดับการอภิปรายจะใช้วิธีการจับสลาก แต่หากมีสมาชิก สปช. ผู้ประสงค์อภิปรายไม่ถึง 155 คน ให้จัดสรรเวลากันใหม่ ยึดเวลา 1,680 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นเพิ่มเติม คือ การชี้แจงของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อคำอภิปรายของ สปช. อยากให้เน้นชี้แจงรายละเอียดที่ สปช.ยังเข้าใจผิด หรือเป็นการบิดเบือนข้อมูล อยากให้การชี้แจงและการอภิปรายเป็นการให้ความรู้กับประชาชน หลีกเลี่ยงการชี้แจงในลักษณะตอบโต้ หรือโต้เถียงกันไปมา เวลาชี้แจงไม่ควรให้นานเกินไป อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่าการให้เวลาถึง 6 วันครึ่งนั้นนานเกินไป อาจทำให้บรรยากาศคล้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พยายามชี้ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในความเป็นจริง ควรให้เวลาสำหรับการทำคำเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยจะให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ตลอดช่วงเวลาที่มีการอภิปราย เพราะอาจทำให้เกิดภาพโต้เถียงเละเทะได้ มีผู้เสนอว่าขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมตัวอภิปรายและชี้แจงให้ดี เพราะมีผู้ใหญ่ใน สปช. เช่น นายชัย ชิดชอบ สปช. ให้ความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านในชั้น สปช.ได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการรับหมัดของ สปช.เพียงฝ่ายเดียว ควรเตรียม สปช.ที่สนับสนุน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้รับสิทธิอภิปรายด้วย

@ วางตัวผู้ชี้แจง-ทำใจ'หนักแน่'

นายคำนูณกล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมืองของ สปช. เตรียมเสนอความเห็นคัดค้านที่มาของนายกรัฐมนตรีเปิดช่องให้มาจากคนนอกได้โดยไม่มีเงื่อนไข ว่า ไม่หนักใจ เป็นเรื่องดีที่มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย ในประเด็นนี้ กมธ.ยกร่างฯเอง เคยถกเถียงกันไว้สองแนวทาง คือ หากนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกจะต้องเกิดสถานการณ์พิเศษเพื่อให้เห็นชัดเจนเป็นสัญลักษณ์ว่าในภาวะปกติอยากให้มาจาก ส.ส. แต่ก็มีปัญหาว่าจะนิยามคำว่าวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้อย่างไร ทำให้มีแนวโน้มว่าหากจะเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ อาจใช้วิธีกำหนดให้นายกฯคนนอกมีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 ปี หรือให้ใช้เสียงในสภามากกว่าปกติคือสองในสาม สัปดาห์หน้าจะวางแนวทางชี้แจงต่อ สปช. จะใช้เวลาถึง 7 วัน 7 คืน โดยเข้าใจว่าต้องหนักแน่ แต่ทำใจไว้แล้ว ในส่วนกรรมาธิการฯก็จะใช้วิธีใครถนัดประเด็นใดก็ให้เป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนั้น เพราะทุกคนมีเจตนาดีต่อประเทศชาติทั้งสิ้น แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณาของ สปช. ก็ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ยังไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้า เนื่องจากยังมีเวลาอีกหลายขั้นตอน ขณะนี้เพิ่งมาถึงครึ่งทางเท่านั้น เราได้นำกลับมาทบทวน ฟังเสียงเห็นต่าง พร้อมชี้แจง ถ้ายังเห็นไม่ตรงกันก็พร้อมทบทวนอาจช่วงนี้ หรือ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม ในช่วง 60 วันสุดท้าย ก็ได้

@ เปิดรับฟังเชียงใหม่3-4เม.ย. 

นายคำนูณกล่าวถึงการพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและบันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คาดว่า จะเสร็จในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ส่วนวันที่ 26-27 มีนาคม จะเป็นการหารือภายใน 2-3 ประเด็น อาทิ กระบวนการทำงานในช่วงวันที่ 20-26 เมษายน ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯท่านใดจะเป็นผู้ชี้แจงและตอบคำถามต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และยังหารือกันในประเด็นจะออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นแรกๆ เสร็จสิ้น เริ่มจากเวทีเชียงใหม่ ในวันที่ 3-4 เมษายน และเวียนจนครบ 4 ภาค พร้อมทั้งแบ่งงานในการออกไปรับฟังความเห็นในเวทีของนายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างฯ นอกจากนี้ กรรมาธิการยกร่างฯจะหารือรายละเอียดบทบัญญัติบางประเด็นได้ไปรับฟังเสียงสะท้อนมา และพิจารณาบางมาตรายังแขวนไว้ ส่วนเรื่องสัดส่วนสตรีที่มีปัญหา จะพิจารณาวันที่ 31 มีนาคม เวลา 13.00 น. ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นในวันดังกล่าว เพราะคุยเรื่องนี้มาแล้ว 2-3 ครั้ง

@ สปช.ยื่นขอเพิ่มซักฟอกรธน.10วัน

นายทิวา การกระสัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนได้ยื่นญัตติถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีสมาชิก สปช.ร่วมลงชื่อรับรอง 6 คน เสนอให้จัดประชุม สปช.เพื่อพิจารณาเพิ่มกำหนดวันอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 10 วัน จากเดิมกำหนดวันอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแค่ 6 วันครึ่ง ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 36 ระบุให้ สปช.มีเวลา 10 วันในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯ ดังนั้น จึงควรกำหนดให้ สปช.เริ่มอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 18 หรือ 19 เมษายน เพราะ สปช.จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯในวันที่ 17 เมษายน ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญถือว่ามีความสำคัญยิ่งมีถึง 315 มาตรา จึงควรให้เวลาสมาชิก สปช.อภิปรายเต็มที่ หวังว่านายเทียนฉายจะพิจารณาเพิ่มวันอภิปรายให้มากขึ้น โดยนำเข้าหารือเพื่อพิจารณาในที่ประชุม สปช.สัปดาห์หน้า 

@ 'สมชัย'ติงโอเพ่นลิสต์ทำยาก 

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิดหรือโอเพ่นลิสต์ว่า พยายามดูว่าในโลกนี้มีประเทศไหนทำรูปแบบนี้บ้าง เท่าที่สืบค้นดูพบว่าไม่มี ฉะนั้นถือว่าเป็นการคิดค้นใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นนวัตกรรม คือระบบบัญชีรายชื่อมี แต่การให้เลือกคนในบัญชีรายชื่ออีกทียังไม่เคยเห็น ดังนั้น เมื่อคนไทยไปใช้สิทธิจะรับบัตร 2 ใบ และเลือก 3 อย่าง ในอนาคตอาจต้องเลือกมากกว่า 3 อย่างเพราะจะมีเรื่องการถอดถอนนักการเมืองเข้ามาด้วย ถ้าถามว่าจะทำให้ประชาชนเป็นภาระหรือการเลือกหลายๆ อย่างคราวเดียวกัน ทำให้ไม่เหมาะสมหรือไม่ คิดว่าต้องคิดข้ามไป ถ้าหากเสียงของประชาชนมีความหมายที่สุด ก็ให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเรื่องต่างๆ ในวันเลือกตั้ง ถือเป็นแนวทางพอเป็นไปได้ในประเทศไทย โดยหลักการโอเพ่นลิสต์ถือว่าเป็นหลักการที่ดี การทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกลำดับบัญชีรายชื่อเอง คือการเพิ่มอำนาจในประชาชน แต่จุดอ่อนคือประชาชนจะรู้หรือไม่ว่าในบัญชีรายชื่อคนไหนดี คนไหนน่าเลือก พรรคการเมืองต้องแก้เองว่าทำอย่างไร จึงจะคัดคนที่ประชาชนรู้จัก มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ 

@ หวั่นกจต.ถูกการเมืองแทรก

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าถ้าจัดแบบโอเพ่นลิสต์ก็ทำให้เกิดปัญหากับ กกต.เรื่องการจัดรูปแบบการเลือกตั้ง การนับคะแนน ในทางเทคนิคถ้า กมธ.ยกร่างฯยืนยันใช้โอเพ่นลิสต์ เป็นหลักการดี แต่ทางเทคนิคยุ่งยาก แต่อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ต้องยอมรับว่าจะเกิดปัญหาเกิดขึ้น ส่วนการนับคะแนนต้องเพิ่มกระบวนการนับมากขึ้น จากเดิมนับ 2 อย่าง ก็ต้องไปนับ 3 อย่าง เท่ากับว่าเราจำเป็นต้องมีเวลาให้ กกต.ในการนับคะแนนมากขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้การนับคะแนนล่าช้าไปอีกเป็นวันสองวัน 

นายสมชัยยังกล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทน กกต.นั้น ไม่รู้ว่า กมธ.ยกร่างฯจะทบทวนหรือไม่ อยากให้คิดดีๆ ว่าหลังจากนี้การเลือกตั้งจะมีรัฐบาลมาจากนักการเมืองเข้ามากำกับดูแลกระทรวงต่างๆ และเมื่อ กจต.มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวงนั้น จะมีการแทรกแซงจากนักการเมือง เพื่อให้มีการเอื้อประโยชน์ในผลการเลือกตั้งหรือไม่ แต่หากมั่นใจว่าการให้ กจต.จัดการเลือกตั้งจะไม่ถูกแทรกแซงก็ดำเนินการได้ แต่หากเกิดการแทรกแซงและทำให้เกิดผลเสียขึ้นคนที่ออกแบบก็ต้องรับผิดชอบ

@ 'ปึ้ง'ชี้ส.ว.สรรหาทั้งหมด-ถอยหลัง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตย 99.99% ว่า ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดเลขอย่างไร คิดว่าคิดเลขผิดที่บอกเช่นนั้น และต้องกลับไปเรียนคณิตศาสตร์ใหม่ ไม่รู้ไปเรียนจากอาจารย์ที่ไหน ส่วนมุมมองที่มองจากการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สังคมโลกสามารถยอมรับได้ เพราะการเขียนให้ ส.ว.ต้องมาจากการสรรหาทั้งหมด โดยหลักไม่ควรย้อนกลับไปในอดีตที่เราก้าวข้ามปัญหานั้นมาแล้ว แต่การเขียนให้ย้อนหลัง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาธิปไตยของไทย และการที่พยายามเอาวิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมันมาผสมผสานกับการเลือกตั้ง ส.ส.เขต มองในฐานะนักการเมืองเห็นว่าวิธีการดังกล่าวตั้งธงเพื่อต้องการเห็นพรรคการเมืองใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และให้เกิดเป็นรัฐบาลผสม หลายประเด็นฝ่ายการเมืองได้สะท้อนความคิดเห็นต่างๆ ออกมา จึงขอให้ กมธ.ยกร่างฯฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริงว่าเข้าใจกระบวนการที่ กมธ.ยกร่างฯ กำลังเขียนกฎกติกาใหม่อยู่หรือไม่ ขอให้เปิดใจให้กว้างในการรับฟังเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์พูดโฆษณาเอาไว้จะเป็นจริงได้ ต้องยอมรับว่าการบริหารงานในช่วง คสช.เข้ามาเกือบปี เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด การค้าการลงทุนลดลง ฉะนั้นถ้าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็ม ความมั่นใจก็ไม่เกิดขึ้น รายได้ประชาชนก็ไม่พอใช้จ่าย

@ พท.จี้ทบทวนส.ส.'เขต-ปาร์ตี้ลิสต์' 

นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด และยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ประธาน กมธ.ยกร่างฯยังพร้อมให้แก้ไข ปรับปรุง อยากเสนอให้ กมธ.รับไปพิจารณาทบทวนโดยด่วน คือเรื่องจำนวน ส.ส.เขต ส.ส.1 คนต่อสัดส่วนประชากร 2.6 แสนคนนั้นไม่เหมาะสม เพราะ ส.ส.มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน หากเป็นแบบนี้เกรงว่าจะดูแลความเดือดร้อนประชาชนไม่ทั่วถึง หากยังคงดึงดันแบบนี้ เท่ากับว่าไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ตัว ส.ส.ก็ไม่ยึดโยงและไม่มีความหมาย อีกเรื่องคือจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อยากให้หันกลับมาใช้วิธีการได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 40 จะดีกับทุกฝ่าย ที่สำคัญเรื่องที่มา ส.ว. ถ้าไม่อยากให้คนเรียกว่า ส.ว.ลากตั้ง ก็ต้องให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ควรยกเลิกการให้อำนาจจนล้นฟ้ากับ ส.ว.ด้วย เพราะ ส.ว.ไม่ควรมีอิทธิฤทธิ์หรืออำนาจหน้าที่มากกว่าสภาผู้แทนราษฎร

@ 'อ๋อย'หนุนประชามติร่างรธน. 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุเตรียมประกาศใช้รัฐธรรมนูญปลายปีนี้ว่า เชื่อว่าหากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปลายปีนี้จริง การเลือกตั้งตามโรดแมปก็คงจะเกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือประชาชนจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยังมีปัญหานี้หรือไม่ หากประชาชนไม่เห็นด้วย คสช.จะตัดสินใจอย่างไร หากประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ แล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ยอมรับ ต่อให้มีการเลือกตั้งไปก็เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมาย รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะมีมากขึ้น อาจจะแย่กว่าช่วงก่อนที่มีการทำรัฐประหาร ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกเสียงทำประชามติอย่างเต็มที่ หากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!