WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8885 ข่าวสดรายวัน


3 พันนาย-ตรึงเข้ม รบ.สัญจร '
บิ๊กตู่'นำทีมประชุมครม.หัวหิน เล็งกม.ใหม่ใช้แทนอัยการศึก จับ'พ่อเฌอ'อีก-ส่งศาลทหาร


คุมเข้ม - เจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจค้นรถทุกคันที่สัญจรผ่านสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมครม.สัญจร ในวันที่ 27 มี.ค. โดยใช้กำลังตำรวจกว่า 3 พันนาย เพื่อรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อย

        'บิ๊กตู่' นำครม.สัญจรหัวหิน จนท.เกือบ 3 พันนายตรึงเข้ม นายกฯ อู้อี้ใช้ 'ม.44'แทนกฎอัยการศึก 'บิ๊กป้อม'รับคุยกันอยู่ แย้มอาจออกเป็นกฎหมายใหม่ 'เทียนฉาย'ย้ำ ไม่ปล่อยร่างรธน.มีตำหนิ วิปสปช.ไฟเขียวถ่ายทอดสดถกร่างรธน. 20-26 เม.ย.'วันชัย'ค้านเลือกตั้งต้นปีหน้า รอบ้านเมืองสงบ กลัวปฏิวัติเสียของ 'พระสุเทพ'แจงป.ป.ช.คดีสลายม็อบปี'53 แอ่นรับผิดคนเดียว 'มาร์ค'ไม่เกี่ยว ตร.รวบ"พ่อเฌอ"อีก ส่งศาลทหาร ก่อนได้รับประกันตัว คลอดแล้วรายชื่อแต่งตั้งโยกย้าย 350 นายทหารกลางปี เขย่า 5 เสือทัพเรือ วางตัวชิงผบ.ทร. เด็กบิ๊กโด่งขยับถ้วนหน้า คนเรียบเรียงเพลง 'คืนความสุข' นั่งเจ้ากรมดุริยางค์ทหารบก

 

'บิ๊กตู่'รับคิดใช้มาตรา 44

    เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 26 มี.ค. ที่ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางกลับจากการเยือนประเทศบรูไนอย่างเป็นทางการ โดยพล.อ.ประยุทธ์อารมณ์ดี สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและทักทายสื่อมวลชนว่าดีใจที่ได้กลับมาเจอหน้ากัน

     ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใน วันที่ 27 มี.ค. จะพิจารณายกเลิกการใช้ กฎอัยการศึกเพื่อใช้กฎหมายอื่นแทนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพียงแต่เอานิ้วชี้ไปที่ศีรษะ พร้อมกล่าวว่า "ผมคิดอยู่ตั้งนานแล้ว" ต่อข้อถามว่าจะนำเข้าพิจารณาใน ครม.วันที่ 27 มี.ค.หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าถ้าดีเมื่อไรก็จะทำ 

     ต่อข้อถามว่า จะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แทนกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ คิดอยู่เหมือนกัน เมื่อถามย้ำว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ยิ้ม และกล่าวว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างสบายใจ ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่ากฎหมายใหม่ที่นำมาใช้จะเบาลงหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเท่าเดิม จะได้รู้ว่าเราใช้กฎหมายแค่ไหน ไม่ได้ใช้ทั้งฉบับ

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้นายกฯและคสช.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายตัวใดมาแทนกฎอัยการศึก ระหว่างพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

'บิ๊กป๊อก'แย้มเป็นกม.ใหม่

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าอาจต้องใช้กฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึกว่า ใช่ อาจจะก็คุยกันอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้มาตรา 44 หรือพิจารณาใช้กฎหมายตัวอื่น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าคงต้องทำกฎหมายที่อยู่ในส่วนของคสช.ขึ้นมา ขณะนี้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่ แต่ยันยันขณะนี้ไม่มีใครเดือดร้อนเพราะกฎอัยการศึก เพราะเราใช้เพียง 2 กรณีเท่านั้น เรื่องตรวจค้นและสามารถจับกุม เรียกตัวโดยไม่ต้องรอหมายจากศาล ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่ไม่ปรารถนาดีอยู่ก็จำเป็นที่ต้องมีกฎหมายมาดูแล ซึ่งยังไม่กำหนดกรอบเวลาว่ากฎหมายใหม่ต้องแล้วเสร็จเมื่อไร เพียงแต่จะพยายามทุกอย่างเพื่อลดแรงกดดัน

       ผู้สื่อข่าถามว่าระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับจะใช้อย่างไหนดีกว่า พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ยังไม่ได้ใช้เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอย่างไหนดีกว่ากัน มาตรา 44 ยังไม่ได้ใช้เลย แต่จะใช้กับคุณนี่แหละ" ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เหมาะสมกับการใช้กฎอัยการศึกมากกว่าหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราคิดว่าถ้าใช้มาตรา 44 เราใช้ 2 ข้อ ไม่ได้ใช้มากก็เห็นอยู่แล้ว คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องจะเดือดร้อนไหม ก็ไม่เดือดร้อน แต่เดือดร้อนเฉพาะคนที่ทำผิดเท่านั้น ฉะนั้นคนไม่ได้ทำผิดเขาไม่เดือดร้อน สมมติว่าเราจะจับใครก็ต้องไปขอหมายศาล กว่า จะดำเนินการเขาก็หนีไปไหนต่อไหนแล้ว ถ้าแบบนี้เราก็สามารถดำเนินการได้

เหตุยูเอ็นจี้เลิกกฎอัยการศึก

      ต่อข้อถามว่า การประชุมครม.นอกสถานที่วันที่ 27 มี.ค.ที่อ.หัวหิน จะนำเรื่องนี้หารือกันหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึก จะไปคุยทำไมเพราะมีเรื่องอื่นคุยตั้งมาก ที่เราอยากจะเปลี่ยนมาเป็นกฎหมายอื่นเพราะทางองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เขาบอกว่าลองไปคิดดูว่าจะทำได้หรือไม่ แต่เขาก็เห็นใจว่าบ้านเมืองเราอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างนี้ เมื่อต้องแก้ไขปัญหา ก็ต้องใช้กฎหมายที่พิเศษ

     ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎอัยการศึกประกาศใช้มาเกือบ 1 ปี แต่ยังมีสถานการณ์และปัญหาเกิดขึ้นอยู่ พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยน้ำเสียงขึงขังว่า "แล้วคุณคิดว่ามีไหมล่ะ มีไหม คุณคิดว่ามีไหม คุณก็เห็นอยู่ว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ แล้วมันมีไหมคุณก็ตอบไม่ได้" เมื่อถามว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีข้อสังเกตได้หลายทางว่าผู้ก่อการทำเองหรืออาจเป็นเจ้าหน้าที่กระทำ พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างมีอารมณ์พร้อมชี้หน้าว่า "ใครทำเอง คุณจับให้ได้ คุณพูดอย่างนี้พูดได้อย่างไรว่าใครทำเอง คิดก็ ไม่ได้ ผมเป็นคนรักษากฎหมาย ไปทำเอง บ้าอะไร พูดอย่างนี้เสียหาย" 

       ผู้สื่อข่าวขอให้พล.อ.ประวิตรใจเย็นๆ เพราะสื่ออยากจะทราบรายละเอียด พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า "ซักอย่างนี้ได้ยังไง ซักแบบนี้ไม่ได้มันเสียหายเพราะผมเป็นผู้รักษากฎหมาย แล้วผมจะไปทำแบบนั้นได้อย่างไร" เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าเบาลงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าสถานการณ์เบาลงจึงสงบแบบนี้ เพราะตนดูแลทั้งหมด ถ้า ไม่ดูแลจะจับคนที่ก่อเหตุได้หรือ เพราะมีคนเฝ้าหมดอยู่ทุกที่

'วิษณุ'ไม่ฟันธงใช้ม. 44 ได้

      ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนายกฯมอบให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลหาแนวทางพิจารณากฎหมายอื่นมาใช้แทนกฎอัยการศึก ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังมา ไม่ถึงตน จึงตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลจะยังใช้กฎอัยการศึกต่อไปหรือหากฎหมายอื่นมาแทน และไม่กล้าตอบด้วยว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะใช้ได้หรือไม่ เพราะกลัวผิด เรื่องอาจมาแล้วแต่ยังไม่ถึงตนเพราะยังไม่ได้รับการติดต่อ จึงขอดูการบ้านก่อน ยังไม่เห็นโจทย์ อาจมีคนอื่นดูก่อนแล้วค่อยมาที่ตนก็ได้ 

    นายวิษณุ กล่าวถึงการหารือกับกรมพระธรรมนูญ หาทางออกกรณีมีการวิจารณ์การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารว่า ได้ข้อมูลมาเบื้องต้นแล้ว แต่ขณะนี้ยังขาดข้อมูลบางอย่าง เช่น ตัวเลขสถิติบางเรื่อง นอกจากนี้ยังขอทราบรายละเอียดในบางคดีจากกรมพระธรรมนูญด้วย เพราะจากการหารือ กรมพระธรรมนูญไม่ทราบความต้องการของตนจึงไม่ได้จัดเตรียมข้อมูลมา เรื่องนี้บอกไม่ได้ว่าจะมีข้อสรุปเมื่อใด

"บิ๊กต๊อก"ชี้รอลงตัวนิรโทษ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการเร่งรัดติดตามตัวผู้หลบหนีคดีความมั่นคงไปในต่างประเทศ รวมทั้งคดีการเมืองว่า หากนำกฎหมายความมั่นคงและการเมืองไปโยงกัน ตอบได้เลยว่าไม่มีทางเอาตัวคืนมาได้ ส่วนคนที่เรากล่าวถึงว่าผิดมาตรา 112 ไม่ใช่ผิดทางการเมืองตามที่เขาแอบอ้างเพื่ออยู่ในประเทศนั้นๆ กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ต้องสรุปหลักฐานส่งให้ประเทศนั้นๆ ตรงนี้ยังมีข้อบกพร่องเพราะกระทรวงการต่างประเทศไม่มีข้อมูลตรงนี้ ซึ่งเราแก้ไขอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากไทยชี้แจงเหตุผลให้ประเทศที่มีผู้หลบหนีคดีไปพำนัก เช่น นิวซีแลนด์ มีท่าทีตอบกลับมาอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เขารับทราบว่ากฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องของจิตวิญญาณและสถาบัน เป็นความรู้สึกและจิตใจของคนไทย ซึ่งมิตรประเทศต้องเข้าใจเราว่าคนไทยรับไม่ได้กับเรื่องหมิ่น แต่หากเขาไม่มี เราต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ไปละเมิดกฎหมายเขา 

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง เพื่อให้เกิดความปรองดองว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุแล้วว่าพร้อมจะพูดเรื่องนี้เอง วันนี้เราเปิดรับฟังและเราต้องเดินหน้าต่อว่าจุดลงตัวจะอยู่ที่ไหน ขณะนี้รอเวลาที่จะลงตัวเรื่องนี้เท่านั้น 

ชงชื่อขรก.โกงให้นายกฯ ฟัน

พล.อ.ไพบูลย์ยังกล่าวในการเป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มสัญลักษณ์เครือข่ายภาครัฐต่อต้านการทุจริต ภายใต้โครงการ "ข้าราชการไทยไร้ทุจริต" ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีบทลงโทษฝ่ายบริหารคือ ครม. และต้องทำให้ได้ ไม่เช่นนั้นการเขียนกฎหมายไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนักการเมืองที่เข้ามาบริหาร มีอิทธิพลต่อการก้าวหน้าของข้าราชการ และมีอิทธิพลต่อการเร่งรัดงบประมาณ ซึ่งควรออกให้รัฐบาลชุดนี้ได้ใช้ ไม่อยากให้ล่าช้า

พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ปราบปรามทุจริต ซึ่งบูรณาการหน่วยงานปราบทุจริตมาร่วมกันทำงาน ซึ่งภายในเดือนมี.ค.นี้ จะส่งรายชื่อข้าราชการที่ทำผิดให้นายกฯดำเนินการ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ผ่านมารายชื่อเหล่านี้จะไปค้างอยู่ที่อัยการที่มีกระบวนการตรวจสอบยาวนาน จนรู้สึกว่าล่าช้า เพราะรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ จากนี้หากมีหลักฐานชัดเจนจนเชื่อมั่นว่ากระทำความผิดจริง สามารถปรับย้ายบุคคลนั้นๆ ออกจากปัญหา ซึ่งจะเห็นผลเร็วขึ้นเหมือนที่ประเทศจีนดำเนินการ

เมื่อถามว่าคดีที่มีการชี้มูลว่าทุจริต เช่น การก่อสร้างสนามฟุตซอล จะดำเนินการให้เป็นตัวอย่างในรัฐบาลนี้หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ทุกเรื่องถ้ามีหลักฐานชัดเจนต้องทำ บางเรื่องเอกสารหลักฐานไม่ได้ครอบคลุมถึงระดับบน จึงต้องแก้ที่ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง

ตร.หัวหินลุยกวาดล้างอาวุธ

เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผบช.ภ.7) แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 ระหว่างวันที่ 18-24 มี.ค. เพื่อเป็นมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและลดความรุนแรงของการเกิดอาชญากรรม ให้ประชาชน และรักษาความปลอดภัยในการประชุมครม.นอกสถานที่ครั้งที่ 1 ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 27-28 มี.ค.นี้ว่า สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนได้ 182 ราย ผู้ต้องหา 180 คน อาวุธปืนของกลาง 158 กระบอก กระสุน 1,176 นัด โดยเป็นปืนมีทะเบียน 67 กระบอก ปืนไม่มีทะเบียน 91 กระบอก ในจำนวนนี้มีปืนอาก้า AK47 จำนวน 1 กระบอก และอาวุธปืน M3 ขนาด 11 ม.ม. 1 กระบอก

นอกจากนี้ยังมีผลการจับกุมคดีความผิดอื่นๆ อาทิ จับกุมผู้กระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์ ความผิดชีวิตร่างกาย ประทุษร้ายต่อทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน และยาเสพติด ยาบ้า ยาไอซ์ รวมได้ผู้ต้องหาคดีความผิดทุกประเภท 1,327 ราย ผู้ต้องหา 1,730 คน ซึ่งผบช.ภ.7 ยืนยันว่าจะยังดำเนินการตรวจค้นต่อไปแม้จะจบการประชุมครม.สัญจรแล้วก็ตาม

ระดมจนท. 2.9 พันคนรับครม.

พล.ต.อ.จักรทิพย์ยังกล่าวภายหลังประชุมร่วมเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ว่า เพื่อติดตามดูความพร้อมในการประชุมครม.สัญจร ขณะนี้ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ต้องจัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดงานระดับประเทศ โดยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรวม 2,900 คน มาปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการข่าวและด้านการรักษาความปลอดภัย ส่วนการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดกรณีพบระเบิดจำนวนมากในพื้นที่โครงการปลูกป่า ห่างที่ประชุมครม.สัญจรเพียง 2 ก.ม.นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนอยู่ 


ได้ประกัน - เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ใส่กุญแจมือ เดินทางมาขึ้นศาลทหาร หลังถูกตำรวจจับกุมใน 3 ข้อหา โดยศาลอนุญาตให้ประกันและปล่อยตัวออกมา เมื่อวันที่ 26 มี.ค.

       เวลา 14.00 น. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก พร้อมด้วยพ.ต.อ.บุญธรรม วรรณรัตน์ รอง ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ต.อ.ไชยกร ศรีหล้าเดโช ผกก.สภ.หัวหิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตลาดฉัตรไชยเพื่อตรวจสอบเส้นทางและความพร้อม เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดเก่าแก่ของอ.หัวหินแห่งนี้ ขณะที่นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเตรียมการจัดประชุมครม. ที่ห้องประชุมนเรศดำริห์ เทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อสรุปความพร้อมในการจัดเตรียมงานทุกด้านของทุกหน่วยงาน 

เตรียมเมนูขึ้นชื่อเสิร์ฟ

      ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดินทางของนายกฯและคณะจะเดินทางถึงอ.หัวหินในเวลาประมาณ 09.30 น. จากนั้นจะรับฟังการบรรยายสรุปการจัดการระเบียบชายหาดหัวหิน ที่ห้องประชุมภายในท่าอากาศยานหัวหิน แล้วเดินทางต่อไปยังตลาดฉัตรไชยเพื่อพบปะพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดและประชาชนชาวหัวหิน และจะเดินลงชายหาดหัวหินเพื่อติดตามผลการจัดระเบียบชายหาด 

     จากนั้นจะเดินทางไปยังสวนสนประพัทธ์เพื่อชมนิทรรศการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวัน และเป็นประธานในการประชุมครม.อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1/2558 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ส่วนช่วงค่ำเป็นงานเลี้ยงรับรองที่บริเวณชายหาดสวนสนประดิพัทธ์

      สำหรับ อาหารที่ใช้เลี้ยงรับรองนายกฯและคณะ ล้วนเป็นอาหารและผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดทั้งสิ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวเป็ดนายปิว หมึกแดดเดียวปากน้ำปราณ ห่อหมกมะพร้าวอ่อนทับสะแก ฯลฯ ของหวานได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเจือ สับปะรดหวานสามร้อยยอด ส่วนของที่ระลึกคือผ้าโขมพัสตร์ ที่คัดเลือกสีสันและลวดลายสวยงามไว้มอบให้นายกฯและคณะเป็นโทนสีม่วง โดยเตรียมไว้ทั้งหมด 54 ผืน เป็นของครม. 35 ผืน คู่สมรส 14 ผืน และคณะคสช.อีก 5 ผืน 

'เทียนฉาย'ชี้ไทยป่วยรุนแรง

      เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง คุณธรรมสร้างคนสร้างชาติ" ในงานสัมมนาสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย รวมพลังขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม สู่การปฏิรูปประเทศ ไทยว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหามาก จนกล่าวได้ว่าเมืองไทยป่วย ซึ่งก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 อาการป่วยรุนแรงมาก คนไทยหงุดหงิด ขาดเหตุผล ปากไวมือไวทำร้ายใครก็ได้ ป่วยจนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี บ่อยครั้งมีอาการวิกลจริตทำอะไรที่คนไม่คิดว่าจะทำได้ เหมือนคนติดเชื้อที่มาจากโรคระบาด 

       "บางกรณีก็หูตึง ไม่ได้ยินคำเตือนของคนอื่น บางคนตามัว มองไม่เห็นว่าคนในครอบครัวไปทำอะไรเลวๆ ไว้บ้าง บางคนเป็นใบ้พูดไม่ออก พูดไม่ได้ เตือนลูกเมียตัวเองก็ไม่ได้ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ทั้งแผ่นดิน การป่วยรุนแรงมากขึ้น ตอนนี้เชื้อหลบรอระบาด รอยาสิ้นฤทธิ์มันจะแสดงอาการ การเจ็บป่วยคราวนี้อาจมีแผลเป็นบ้าง แต่ต้องยอมรักษาโรคนี้ให้หมดไป ไม่งั้น ไม่จบ" นายเทียนฉายกล่าว

      ประธานสปช.กล่าวว่า อาการเจ็บป่วยของสังคมไทยมีพื้นฐานจากการขาดคุณธรรม วิธีแก้ต้องเริ่มจากการหันกลับมาดูตัวเอง เพื่อตรวจสอบอาการเจ็บป่วย สมัชชาคุณธรรมเชื่อในยา 3 ตัวว่า จะช่วยแก้อาการป่วยของแผ่นดินได้คือ ความดี ซื่อตรง ซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ ซึ่งต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วหาทางแก้ร่วมกัน 

เชื่อกมธ.ฟังเหตุผลแก้รธน.

     นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสปช.วันที่ 20-26 เม.ย.ว่า บ่ายวันเดียวกันนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิปสปช.) จะกำหนดกรอบการพิจารณารัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบเวลา 70 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา แต่สิ่งที่ห่วงคือหากไม่มีการกำหนดกรอบแนวคิด อาจขาดความต่อเนื่องในการอภิปรายในประเด็นเดียวกัน 

      นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนที่สมาชิกสปช.ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกับคณะกรรมา ธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯจะรับฟังความเห็นของสมาชิก เมื่อผู้เสนอเสนอด้วยเหตุผล ผู้รับฟังก็จะรับฟังด้วยเหตุผล กมธ.ยกร่างฯ ไม่เคยหักด้ามพร้าด้วยเข่า พยายามอธิบายด้วยเหตุผล เชื่อว่าร่างที่ทำอยู่ยังไม่ใช่ร่างที่สรุปสุดท้าย ยังมีโอกาสปรุงแต่งแก้ไขได้จนกว่าจะถึงวันที่ 17 เม.ย.

      ผู้สื่อข่าวถามว่าท่าทีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ดูเหมือนมีความแข็งกร้าว โดยเฉพาะประเด็นระบบการเลือกตั้งและที่มาของนายกฯ นายเทียนฉายกล่าวว่าประธานกมธ.ยกร่างฯแข็ง แต่ไม่ได้กร้าว เชื่อว่าสุดท้ายความเห็นของประธานและกมธ.ที่ออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ 

ย้ำไม่ปล่อยให้มีตำหนิ

     ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาประธานสปช.เคยพูดว่าจะยอมตาย ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย นายเทียนฉายกล่าวว่า สิ่งใดที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีตำหนิที่ประชาชนรับไม่ได้เลย ถึงเวลานั้น สปช.คงจบหน้าที่ตัวเอง เราคงไม่สามารถปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไปได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งใดเรียกว่ามีตำหนิ นายเทียนฉายกล่าวว่า การจะบอกว่ามีตำหนิหรือไม่ อยู่ที่เจ้าของประเทศมองอย่างไร 

เมื่อถามว่าการไม่ทำประชามติถือว่ามีตำหนิหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่าอาจจะ ไม่ ต้องพิจารณาว่าควรมีประชามติหรือไม่ ถ้ามี ควรมีตอนไหน เรื่องนี้จะพิจารณาใน ที่ประชุม ขณะนี้ยังมีเวลาอีก 3-4 เดือน เมื่อถึงเวลานั้นอาจตกผลึกแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำประชามติก็ได้ ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าบทบัญญัติภาค 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการสร้างความปรองดอง เหมือนซ่อนอำนาจ รัฐฏาธิปัตย์ไว้ให้คณะกรรมการปรองดองฯนั้น ยืนยันว่าที่มาของคณะกรรมการปรองดองฯ มีโครงสร้างชัดเจน คงซ่อนอะไรไม่ได้ ความเป็นห่วงน่าจะอยู่ที่การปฏิรูป เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลา แต่ถ้าวางแผนการปฏิรูปให้ชัดเจนทุกฝ่ายน่าจะพอใจ

ไฟเขียวยิงสด-สปช.ถก 7 วัน

ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้หารือถึงแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสปช.วันที่ 20-26 เม.ย. เวลา 09.00-21.00 น. รวมเวลาอภิปราย 79 ชั่วโมง แบ่งเป็นของ กมธ.ยกร่างฯ 15 ชั่วโมง โดยวันที่ 20 เม.ย. กมธ.ยกร่างฯจะใช้เวลานำเสนอภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2 ชั่วโมง วันที่เหลือจะมีเวลาชี้แจงวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนเวลาของสมาชิกสปช.มีทั้งหมด 64 ชั่วโมง แยกเป็นกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ ที่ให้ส่งตัวแทนอภิปรายคณะละ 5 คน มีเวลาคณะละ 2 ชั่วโมง รวม 36 ชั่วโมง ขณะที่สมาชิกสปช.ที่เหลือ 137 คน มีเวลาอภิปรายเหลือ 28 ชั่วโมง เฉลี่ยคนละ 12 นาที ซึ่งลำดับการอภิปรายจะใช้วิธีจับสลาก เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ส่วนที่มีสมาชิกสปช.แจ้งขออภิปรายเพิ่มเป็น 10 วันนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับข้อบังคับการประชุม 

"ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภาตลอดการอภิปราย 7 วัน พร้อมประสานกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 ให้ร่วมถ่ายทอดสดด้วย และสถานีโทรทัศน์ช่องใดสนใจติดต่อขอเชื่อมสัญญาณได้ ที่ประชุมยังกำชับว่า การอภิปรายต้อง ไม่ใช้วาจาห้ำหั่น เอาชนะทางการเมืองหรือ ใช้อารมณ์ต่อกัน แต่ขอให้เอาเนื้อหาหลักการมาใช้อภิปรายอย่างมีเหตุผล"นายวันชัยกล่าว

เสนอแก้ที่มาสว.

นายวันชัยกล่าวถึงข้อเสนอในการประชุมของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค.ที่เมืองพัทยา ว่าตนจะอธิปรายเรื่องที่มาของส.ว. โดยส่วนตัวเห็นชอบให้เป็นรูปแบบเลือกตั้งทางอ้อมที่กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบมานั้นดีอยู่แล้ว แต่จะเสนอให้มีการแก้ไขในประเด็นที่มาของส.ว.จำนวน 10 คน ที่มาจากอดีตนายกฯ อดีตประธานศาลฎีกา และประธานสภา เพราะเชื่อว่าจะไม่มีใครลงมาสมัครเป็นส.ว.แน่นอน โดยจะเสนอให้เกลี่ยไปให้การเลือกตั้งทางอ้อม อาทิ กลุ่มวิชาชีพ อดีตข้าราชการระดับสูง หรือกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือแทน

โฆษกวิปสปช.กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ต้องการให้มีรูปแบบส.ว.เลือกตั้ง เพราะจะทำให้วุฒิสภามีลักษณะที่เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นพวกเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้น ก็ขอให้ไม่ต้องมีวุฒิสภาทั้งหมดเลย โดยให้เหลือสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพียงหน่วยงานเดียว นอกจากนี้ ยังต้องการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นลำดับขั้นตอน โดยประเมินผลไปเป็นช่วงๆ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย เพราะเมื่อดูสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังเกิดปัญหาความวุ่นวายอยู่ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป และปล่อยให้มีเลือกตั้งในต้นปีหน้าตามโรดแม็ปของคสช. มั่นใจได้ว่าจะกลับมาทะเลาะกัน และเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์เช่นเดิม ดังนั้น ควรตั้งหลักกันให้ดี ทำการเมืองให้นิ่งแล้วค่อยเดินต่อไปอย่างมั่นคงเข้มแข็ง

เบรกเลือกตั้งต้นปีหน้า

"ผมเห็นว่ายังไม่ควรให้มีเลือกตั้ง เพราะเมื่อลงทุนด้วยการปฏิวัติ และเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปแล้ว บ้านเมืองย่อยยับไปแล้ว ก็ควรต้องทำให้บ้านเมืองเกิดความเรียบร้อย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง จะได้ไม่ให้เสียของ และเมื่อคนไทยตื่นตัว รู้สิทธิ์ รู้หน้าที่กันเต็มที่ แล้วจะปล่อยให้เล่นการเมืองกันอย่างไรก็เอาเลย" นายวันชัยกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน มีวาระพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ โดยพิจารณาต่อเนื่องในส่วนสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญคือ บทเฉพาะกาล เริ่มตั้งแต่มาตรา 311-315 ทำให้การทบทวนร่างรัฐธรรมนูญครบแล้วทุกมาตรา พร้อมทั้งสั่งงดการประชุมวันที่ 27 มี.ค. และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 มี.ค.-2 เม.ย. เพื่อทบทวนหลักการของบทบัญญัติรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นการภายใน ไม่อนุญาตให้สื่อเข้าฟังทั้ง 4 วัน ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์เน้นย้ำให้กมธ.ยกร่างฯทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราให้เสร็จครบทุกมาตราก่อนเสนอให้สปช.พิจารณา

กกต.แจงดูเลือกตั้งเยอรมัน

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงรัฐบาลเยอรมนีเชิญตัวแทนกมธ.ยกร่างฯ สมาชิก สปช. และกกต. ไปศึกษาระบบการเมืองและระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อวันที่ 16-20 มี.ค.ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีกำหนดให้มีส.ส.ในสภาทั้งหมด 598 คน ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 299 คน และส.ส.แบบสัดส่วน 299 คน การเลือกตั้งของเยอรมนีที่ผ่านมามีพรรคลงสมัคร 34 พรรค แต่ได้รับเลือกตั้ง 5 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และฝ่ายค้าน 2 พรรค เพราะคะแนนได้เกินร้อยละ 5 ของคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของเยอรมนีระบุว่าหากพรรคใดได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 5 จะไม่ได้ที่นั่งส.ส.ในสภา 

นายศุภชัยกล่าวว่า จากการพูดคุยกับ ส.ส.เยอรมนี ระบุว่าการคิดคะแนนส.ส.แบบสัดส่วนค่อนข้างยุ่งยาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิด แต่วัฒนธรรมของคนเยอรมนีจะเชื่อมั่นในระบบ ทำให้ไม่มีการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย อีกทั้งการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วน ไม่ได้ใช้แบบโอเพ่นลิสต์ แต่จะเลือกตามบัญชีรายชื่อที่พรรคกำหนด ซึ่งเยอรมนีมองว่าหากนำระบบนี้มาใช้กับประเทศไทยจะทำได้ง่าย เพราะระบบสัดส่วนที่ไทยจะใช้แบ่งเป็น 6 กลุ่มจังหวัด แต่เยอรมนีแบ่งถึง 16 มลรัฐ ถ้าใช้ประชาชนเป็นคนเลือกส.ส.ในระบบโอเพ่นลิสต์อาจยุ่งยาก 


รับสัญจร - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. แถลงผลกวาดล้างอาชญากรรมในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เตรียมความพร้อมรับ ครม.สัญจร โดยตรวจยึดปืนได้ 158 กระบอก ผู้ต้องหา 1,730 คน ตามข่าว

สมัครส.ส.ได้ทั้งเขต-สัดส่วน

       ประธานกกต.กล่าวว่า นอกจากนี้ในระบบของเยอรมนี การจัดลำดับส.ส.ของแต่ละพรรคจะคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก แม้ส.ส.จะกระทำการขัดมติพรรค แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งประชาชนแสดงความต้องการให้พรรคส่งส.ส.คนดังกล่าวลงเลือกตั้ง พรรคก็ต้องฟังประชาชน อีกทั้งผู้สมัคร ส.ส.สามารถลงสมัครได้ทั้งแบบระบบเขตและระบบสัดส่วนในเวลาเดียว โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้ถามว่าจะตลกหรือไม่หากบุคคลนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งในระบบเขตแต่ได้รับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติ ทำได้ และยังมีซักถามในประเด็นส.ส.นำญาติพี่น้องบุตรภรรยามาเป็นผู้ช่วยส.ส.ได้หรือไม่ ซึ่งเยอรมนีระบุว่ามีกฎหมายห้ามไว้

      นายศุภชัย กล่าวว่า ส่วนการจัดการเลือกตั้งของเยอรมนีจะดำเนินการโดยกกต. ซึ่งประธานกกต.จะมาจากผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐ โดยรมว.มหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้ง และข้าราชการของสำนักงานสถิติฯ จะทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าที่กกต.ช่วยจัดการเลือกตั้ง ร่วมกับอาสาสมัครจากภาคประชาชน ซึ่งรมว.มหาดไทยจะไม่สามารถสั่งการในการจัดการเลือกตั้งได้ รวมทั้งตัวประธานกกต. ไม่สามารถสั่งข้าราชการจัดเลือกตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์กับฝ่ายใด ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ กกต.เยอรมนีคือ การดูแลและประกาศผลเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เสนอกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจะเป็นหน้าที่ของสภา ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าเป็นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นหน้าที่ของสภาท้องถิ่น 

ติงเครื่องลงคะแนนไฮเทค

      นายศุภชัย กล่าวว่า ส่วนเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ที่กมธ.ยกร่างฯเปิดช่องให้ใช้ได้ในการเลือกตั้งของไทย ทางเยอรมนีก็เคยนำมาใช้ แต่มีเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องความแม่นยำนับคะแนน แม้ศาลจะไม่มีคำพิพากษาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากนั้น เยอรมนีไม่เคยนำมาใช้อีกเลย เพราะอาจมองว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น อีกทั้งเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ไม่มีในเยอรมนี 

       "หากกมธ.ยกร่างฯจะนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้ กกต.ก็พอรับได้ ตอนนี้กกต.เตรียมพร้อมเรื่องคำนวณคะแนนไว้แล้ว แต่ถ้านำระบบโอเพ่นลิสต์มาใช้ การนับคะแนนอาจล่าช้า ไม่รู้ 3 วันจะจบหรือไม่ มองว่าระบบบัญชีรายชื่อแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่อาจแก้ไขให้พรรคเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ มีผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในบัญชี ไม่ใช่เอาแต่พวกมีอิทธิพล ลูกนายทุน มาอยู่ในลำดับต้นๆ แต่ท้ายที่สุดต้องรอดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาอย่างไร" นายศุภชัยกล่าว

'สุเทพ'แจงป.ป.ช.คดีสลายม็อบ

      เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นนทบุรี พระสุเทพ ปภากโร หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) พร้อมทีมทนายความ เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ปี 2553 ต่อคณะกรรมการป.ป.ช. โดยใช้เวลานานประมาณ 2 ชั่วโมง 

     พระสุเทพให้สัมภาษณ์ว่า นำเอกสารคำแก้ข้อกล่าวหา 155 หน้า ประกอบด้วยข้อเท็จจริง และภาพประกอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาชี้แจงให้ป.ป.ช.เข้าใจว่าเหตุการณ์ขณะนั้นเหมือนสถานการณ์สงคราม มีคนร้ายใช้อาวุธสงครามมาฆ่าประชาชน ตำรวจ ทหาร กลางเมือง เป็นสถานการณ์วิกฤตรุนแรงและฉุกเฉิน รัฐบาลจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งให้ตนเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ใช้อำนาจแทนนายกฯ ส่วนเมื่อมีผู้เสียชีวิตแต่เหตุใดจึงไม่มีการปรับแผนการนั้น ยืนยันว่าได้ปรับแผนตามสถานการณ์แต่ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะถ้าเลิกเท่ากับยกเมืองให้โจร ตนมีหน้าที่รักษาความสงบ หวังว่าคงจะเข้าใจ

ยัน"มาร์ค"ไม่เกี่ยวข้อง

       พระสุเทพ กล่าวว่า ส่วนการให้สอบพยานเพิ่มเติมนั้นจะไม่ขออ้างใครเป็นพยานเพิ่มเติม เพราะทุกคำสั่งที่สั่งการไปเป็นผู้ลงนามเพียงคนเดียว และคำสั่งที่สั่งการไปมีรายละเอียดชัดเจน ขอยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ไม่เกี่ยวข้อง เวลาออกคำสั่งก็ไม่เคยไปบอกให้นายอภิสิทธิ์ทราบ นายอภิสิทธิ์เพียงแค่ให้นโยบายว่าไม่ให้มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม ตนพร้อมรับผิดชอบคนเดียวในทุกคำสั่ง ซึ่งป.ป.ช.แจ้งว่าหลังจากอ่านคำแก้ข้อกล่าวหาของตนทั้ง 155 หน้าแล้ว จะเรียกมาให้ถ้อยคำอีกครั้งในวันที่ 21 เม.ย. 

        ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.ระบุว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมเสียชีวิต และคำสั่งของศาลเรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพก็ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตบางส่วนโดนกระสุนปืนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต พระสุเทพกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถนนฝั่งที่ทหารอยู่ไม่ได้มีทหารเพียงฝ่ายเดียว มีคนร้ายอยู่ด้วย มีกองกำลังเข้ามาโจมตี เพราะคนร้ายก็มีอาวุธปืนเช่นเอ็ม 16 ทราโว ที่แย่งไปจากทหารเช่นกัน เมื่อถามว่ามั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ใช่หรือไม่ พระสุเทพกล่าวว่า "ไม่มีใครรู้หรอก แต่ยืนยันว่าไม่หนีไปไหนแน่นอน หากป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถอดถอน ก็พร้อมไปชี้แจงต่อสภา" 

"ธีรยุทธ"ชำแหละคสช.

ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ปฏิรูปประเทศ การเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจ" โดยนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัญหาของประเทศเกิดจากโครงสร้างประเทศไม่มีภาวะสมดุล การตรวจสอบอำนาจเป็นเพียงทฤษฎี ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ทำให้เป็นความขัดแย้ง จากความเหลื่อมล้ำ ขณะที่นักการเมืองและกลุ่มทุนมีพลังอำนาจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากการคอร์รัปชั่นที่เพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูป แต่การปฏิรูปไม่ใช่ศาสตร์แขนงหนึ่ง หรือสิ่งที่วางโรดแม็ปแล้วทำได้ตามแผน 

นายธีรยุทธกล่าวว่า ที่ผ่านมาคสช.ประสบความสำเร็จในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหาร คือการวางตัวตามแนวกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองตามหน้าที่ ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าคสช.จะวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมากระบวนความคิดของคสช.ดูจะต่างจากนักวิชาการการเมือง ปัญญาชนอย่างมาก จึงไม่แน่ใจว่าเมื่อให้โรดแม็ปดำเนินไปสิ้นสุด คสช.หมดภารกิจ แต่ปัญหาวิกฤตประเทศไทยจะคลี่คลายตัวไปหรือไม่ ซึ่งการถือเอาการสร้างความปรองดองเป็นภารกิจหลักซึ่งถูกต้อง จำเป็น มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร เพราะทำให้ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่การปฏิรูปการเมือง แม้จะมีคนกลุ่มสำคัญๆ หลากหลายเรียกร้อง แต่ก็ไม่ถูกมองเป็นภารกิจหลักของคสช.

แนะนายกฯเชื่อมั่นประชาชน

นายธีรยุทธกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการปฏิรูปต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อน ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมคนไทย จากระบบอุปถัมภ์ มาเป็นระบบประชาธิปไตย โดยการให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบผู้มีอำนาจ รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ถ้าคสช.ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพล อำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง

นายธีรยุทธกล่าวว่า นายกฯกำหนดชัดเจนถึงช่วงเวลาเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และถ้าตอกย้ำไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการสืบทอดอำนาจไม่ว่าของกลุ่มใด จะยิ่งมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง นายกฯควรเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนต้องเป็นผู้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ข้าราชการ ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะไม่มีทางที่ทหารจะแสดงบทบาทในสถานการณ์พิเศษได้บ่อยครั้ง

ถ้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นายกฯทุ่มเทแรงกายแรงใจออกไปพบประชาชนทุกภาค สนับสนุนเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนออกมาตรวจสอบควบคุมดูแลระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ฯลฯ เพื่อเป็นการฝึกฝนวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาล

"สถานการณ์พิเศษไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คน ไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ" นายธีรยุทธกล่าว

แต่งตั้งแล้วทหาร350นาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. มีการแจกจ่ายประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ 350 รายชื่อ ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับตำแหน่งที่น่าสนใจในส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อาทิ พล.อ.ประพันธ์ พุทธานุ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรมว.กลาโหม เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดฯ พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทอ. เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำรมว.กลาโหม พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำรมว.กลาโหม 

กองบัญชาการกองทัพไทย(บก.ทท.) มีตำแหน่งสำคัญ อาทิ พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล (ตท.13) เสธ.ทร. เป็นรองเสธ.ทหาร พล.ท.สหัสส์ สูงใหญ่ หัวหน้าฝ่ายเสธ.ประจำรองผบ.สส. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษบก.ทท. พล.ท.เกรียงศักดิ์ หมีทอง เสธ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นรองผบ.หน่วยทหารพัฒนา พล.ต.ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี รองหน.สนง.ปลัดกลาโหม เป็น ผอ.สำนักวิเทศสัมพันธ์ กรมข่าวทหาร พ.อ.หญิง สวดี มะกล่ำทอง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพไทย

เด็ก"บิ๊กโด่ง"ขยับถ้วนหน้า

กองทัพบก (ทบ.) มีตำแหน่งที่น่าสนใจ ในส่วนของกองทัพภาคที่ 1 ได้แก่ พล.ต. ไพโรจน์ ทองมาเอง รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอม เกล้า และขยับพล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผบ.กองพลทหารราบที่ 2 (ผบ.พล.ร.2 รอ.) เข้ามาเป็น รองแม่ทัพภาค 1 ที่น่าสนใจคือพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ตัดสินใจส่งพ.อ.วชิรทิตย์ ยี่สาคร ฝ่ายเสนาธิการฯ ขึ้นเป็นนายพลในตำแหน่ง ผู้ชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 

นอกจากนั้นยังขยับ พล.ต.ศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทบ. ฝ่ายเสธ.หน้าห้อง ซึ่งอดีตเคยเป็นผบ.กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.12 รอ.) และอดีตรองผบ.พล.ร.2 รอ. กลับไปเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. คุมกำลังทหารบูรพาพยัคฆ์ และยังส่ง พล.ต. จิระพันธ์ มาลีแก้ว นายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผู้บังคับบัญชา ไปเป็น ผบ.มณฑลทหารบกที่ 11(ผบ.มทบ.11) คุมกำลังสารวัตรทหารบก 

พล.ต.ประวิตร ฉายะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิทบ. ฝ่ายเสธ.ของพล.อ.วลิต โรจนภักดี รองเสธ.ทหาร เป็น ผบ.มทบ.12 พล.ต.เสริมศักดิ์ นิยะโมสถ ผบ.มทบ. 21 เป็น รองเสธ.ทบ. พล.ต.สิงห์ทอง หมีทอง ผบ.มทบ.11 ข้ามไปเป็น ผบ.มทบ.14 จ.ชลบุรี พ.อ.กันตภณ อัครนุรักษ์ เป็นเสนาธิการทัพน้อยที่ 1 พ.อ.ดำริห์ สุขพันธ์ เป็น ผบ.มทบ.13 พ.อ.โอม สิทธิสาร เป็น ผบ.มทบ.31 พ.อ.ชวลิต พงษ์พิทักษ์ ผบ.จทบ.ราชบุรี

คนแต่ง"คืนสุข"นั่งเจ้ากรม

กองทัพภาคที่ 2 ได้แก่ พล.ต.ประวิทย์ หูแก้ว รองแม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ฐิติวุฒิ อ่วมพริ้ง เสธ.กองทัพน้อยที่ 2 เป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 2 พล.ต.อรรถสิทธิ์ โชติรัตน์ เสธ.กองทัพภาคที่ 2 เป็น ผบ.มทบ.21 พ.อ.ณัฐชนก ศิริทีปตานนท์ เป็น เสธ.กองทัพภาค 2 พ.อ.สมชาย เพ็งกรูด เป็นเสธ.กองทัพน้อยที่ 2 พ.อ.ประกิจ ทับทอง เป็น ผบ.มทบ.23 

กองทัพภาคที่ 3 ได้แก่ พล.ต.บรรเจิด ฉางปูนทอง ผบ.กองพลทหารม้าที่ 1(ผบ.พล.ม.1) เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี ผบ.กองพลทหารราบที่ 7(ผบ.พล.ร.7) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. (อัตราพลโท) พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกน่าน(ผบ.จทบ.) เป็น ผบ.มทบ.33 พ.อ.อุทัย ชัยชนะ เป็น ผบ.พล.ร.7 พ.อ. กษิดิศ หลักกรด เป็น ผบ.พล.ม.1 พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า เป็น ผบ.จทบ.น่าน พ.อ.พิศาล นาคผจญ เป็น ผบ.จทบ.เชียงราย

กองทัพภาคที่ 4 เช่น พล.ท.กิตติ อินทสร แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.(อัตราพลเอก) พล.ต.นพวงษ์ สุรวิชัย รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 4 พล.ต.มณี จันทร์ทิพย์ ผบ.พล.ร.15 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.วัฒนชัย ประสานเกษม เสธ.กองทัพภาคที่ 4 เป็น รองแม่ทัพน้อยที่ 4 

พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผบ.จทบ.ทุ่งสง เป็น ผบ.มทบ.42 พ.อ.วิทยา อรุณเมธี เป็น เสธ.กองทัพภาคที่ 4 พ.อ.ปริยารณ มัชฌิมวงศ์ เป็น ผบ.จทบ.ทุ่งส่ง พ.อ.โภชน์ นวลบุญ เป็น ผบ.จทบ.ปัตตานี ทั้งนี้ ยังมีตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น พ.อ.กิตติศักดิ์ บัวสถิต เป็น ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษ พ.อ.กฤษดา สาริกา ผู้มีส่วนสำคัญเรียบเรียงเพลง"คืนความสุขให้ประเทศไทย" ของคสช. ขยับขึ้นเป็น เจ้ากรมดุริยางค์ทหารบก

เขย่า 5 เสือทร.-เข้าคิวชิงผบ.

ส่วนกองทัพเรือ(ทร.) มีการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะตำแหน่ง 5 เสือทร. ซึ่งไม่เคยปรับเปลี่ยนช่วงกลางปีมาก่อนและครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ตัดสินใจย้าย พล.ร.อ.ธนะรัชต์ อุบล เสธ.ทร. ไปเป็น รองเสธ.ทหาร สังกัดบก.ทท. เพี่อให้พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผช.ผบ.ทร. มาเป็น เสธ.ทร. และให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง หรือบิ๊กยุ้ย ข้ามฟากจากรองเสธ.ทหาร บก.ทท. มาเป็นผู้ช่วยผบ.ทร.แทน ตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าขยับเพื่อมาทำโครงการเรือดำน้ำของทร. หลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไฟเขียวให้เสนอโครงการขึ้นมา เนื่องจากพล.ร.อ.ณรงค์พล จบจากโรงเรียนนายเรือเยอรมัน และทำงานด้านเรือดำน้ำมาลอด นอกจากนี้พล.ร.อ.ไกรสร ยังเป็นเพื่อนตท.13 ที่สนิทกับพล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง หรือบิ๊กต้อม อดีตรองผบ.สส. ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของพล.ร.อ.ณรงค์พล ที่มีอายุราชการถึงก.ย.2559 ซึ่งมีโอกาสชิงเก้าอี้ผบ.ทร. กับ พล.ร.อ.ณะ แคนดิเดต ผบ.ทร.ในช่วงปรับย้ายปลายปี 

ตำแหน่งอื่นๆ ในทร. อาทิ พล.ร.อ.วสันต์ แจ้งยอดสุข เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พล.ร.ท.พิทักษ์ พิบูลทิพย์ รองผบ.กองเรือยุทธการ เป็นเจ้ากรมอู่ทหารเรือ พล.ร.ท.ชัยสินธุ์ ญาดี หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทร. เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ 

พล.ร.ต.สัมพันธ์ สุนทรครุฑ เจ้ากรมจเรทหารเรือ เป็นปลัดบัญชีทหารเรือ พล.ร.ต. พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทร. พล.ร.ต.พรชัย ปิ่นทอง รองผบ.ทัพเรือภาค ที่ 3 เป็นเจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ พล.ร.ต. นพดล สุภากร รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ เป็นเจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ พล.ร.ต. สมประสงค์ นิลสมัย เจ้ากรมการขนส่ง ทหารเรือ เป็นผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ 

ขึ้นพล.อ.41-นายพล 140

พล.ร.ต.ชัชชัย โพธิพรรค รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นเจ้ากรมจเรทหารเรือ พล.ร.ต.สุทธิไชย รังสิโรดม์โกมล รองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นเจ้ากรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ พล.ร.ต.บรรพต เกิดภู่ เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นรองผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 พล.ร.ต.อนุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ. ศูนย์สารสนเทศจัดการทรัพยากร เป็นรองผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ และพล.ร.ต.เดชดล ภู่สาระ ผู้ชำนาญการกองทัพเรือ เป็นเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1

ด้านกองทัพอากาศ(ทอ.) มีการปรับตำแหน่งที่น่าสนใจดังนี้ พล.อ.อ.ธรรมรงค์ โชคคณาพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดฯ มาเป็นผู้ทรงคุณพิเศษทอ. พล.อ.ท. สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ เป็นรองเสธ.ทอ. พล.อ.ต.ภานุพงศ์ เสยยงคะ รองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เป็นเจ้ากรมข่าวทหารอากาศ 

พล.อ.ต.สุรสิทธิ์ ปัญญาอุทัย รองเจ้ากรมช่างอากาศ เป็นเจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ พล.อ.ต.ศักดา สุจริตธรรม รองเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโยกย้ายครั้งนี้น่าสังเกตว่ามีการขยับให้ขึ้นตำแหน่งพลเอก ทั้งหมด 41 นาย ขณะที่ระดับพันเอก ขึ้น เป็นนายพล 140 นาย แบ่งเป็น ชาย 130 นาย หญิง 10 คน 

จ่อออกหมายจับมือบึ้มศาลอีก

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีคนร้ายลอบปาระเบิดศาลอาญารัชดาว่า ตำรวจเตรียมขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในคดีเพิ่มเติมอีก 2-3 คน ซึ่งเป็นระดับผู้ประสานงานและฝ่ายสนับสนุน หลังผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ก่อนหน้านี้ให้การซัดทอด รวมถึงพบหลักฐานทางการเงินและข้อมูลทางโทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการออกหมายจับ

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า ส่วนความเชื่อมโยงคดีพารากอนนั้นยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง มีเพียงคำให้การสมอ้างของผู้ต้องหาเท่านั้น ขอเวลาเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานให้แน่ชัด หากมีความชัดแจ้งจะแจ้งให้ทราบทันที ส่วนการพบอาวุธสงครามจำนวนมากที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีความเชื่อมโยงกันเนื่องจากระเบิดที่พบเป็นคนละชนิด ที่มีตัวหนังสือระบุแหล่งที่มาก็เป็นการเขียนด้วยหมึกขึ้นมา ใครก็สามารถทำได้ และขณะนี้ยังไม่ทราบแหล่งที่มา ตำรวจอยู่ระหว่างขยายผล

ตร.รวบ"พ่อเฌอ"-ศาลให้ประกัน

เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 26 มี.ค. ที่สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.สส.บช.น. นำกำลังเข้าจับกุมนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ บริเวณลานจอดรถวัดละหาร ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพฯ ลงวันที่ 15 มี.ค. ในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่ 1.ปลุกระดมยั่วยุให้ประชาชน ฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 116 (3) 2.ความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 114 (3) 3.ฝ่าฝืนประกาศ คำสั่งคสช. ฉบับที่ 7 ก่อนนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อสอบปากคำและพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งตามกำหนดการเดิมนายพันธ์ศักดิ์จะออกเดินจากบ้านพักในช่วงเช้า วันที่ 26 มี.ค. ระหว่างทางจะจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวจากบางบัวทองมายังศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ และพักค้างคืน เพื่อเตรียมมอบตัวตามหมายจับในวันที่ 27 มี.ค. 

ต่อมาเวลา 01.30 น. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. พร้อมด้วยพล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา ผบก.สส.บช.น. มาร่วมสอบปากคำนายพันธ์ศักดิ์ด้วยตนเอง โดยใช้เวลา 40 นาที จากนั้นพล.ต.ท.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นไปตามหมายจับค้างเก่าของวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เจ้าหน้าที่นำตัวนายพันธ์ศักดิ์ไปตรวจร่างกายที่ร.พ.วชิระ ก่อนส่งตัวไปฝากขัง เพื่อป้องกันข้อครหาว่า ถูกตำรวจซ้อมระหว่างถูกควบคุมตัว 

จากนั้นเวลา 09.15 น. ตำรวจสน.ชนะสงครามคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์มาส่งศาลทหาร โดยทหารได้ปิดถนนหน้าศาลทหารทั้งหมด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาภายในสถานที่ดังกล่าว ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์มีสีหน้าเรียบเฉยถูกสวมกุญแจมือและชูให้สื่อมวลชนเห็นภาพ กระทั่งเวลา 13.20 น. เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์นำตัวนายพันธ์ศักดิ์ ขึ้นรถไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยศาลได้สั่งฝากขังนายพันธ์ศักดิ์ เป็นเวลา 12 วัน 

น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า ทนายใช้หลักทรัพย์เงินสด 7 หมื่นบาท ขอประกันตัวนายพันธ์ศักดิ์ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวและอัยการศาลทหารนัดมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ส่วนคดีความของกลุ่มพลเมือง โต้กลับทั้ง 4 คนได้เเก่ นายพันธ์ศักดิ์ นายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิฯ นายสิรวิชญ์ เสรีภิวัฒน์ น.ศ.ธรรมศาสตร์ เเละนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับเเท็กซี่ที่ถูกเเจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้ ซึ่งอัยการนัดรายงานตัวในวันที่ 27 มี.ค.นี้ สำหรับนายสิรวิชญ์ ทำเรื่อง ขอเลื่อนรายงานตัว เนื่องจากติดไปทัศนศึกษา อัยการจึงอนุญาตเเละนัดมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย.ต่อไป

"อดุลย์"บินช่วยลูกเรือที่อินโดฯ

วันที่ 26 มี.ค. ที่อาคารเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจการประมง หลังยุโรปเตือนไทยให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ว่า ดำเนินการหมดแล้วทุกเรื่อง เดิมทีไอยูยูบอกว่าจะให้ใบเหลืองเราในอาทิตย์นี้ แต่ล่าสุดบอกจะเลื่อนไปก่อนพิจารณาอีกทีเดือนเม.ย. เขาต้องมีคนมาตรวจสอบว่าเราทำอะไรไปบ้างแล้ว สมมติให้ใบเหลืองอีก 180 วัน ถ้ายังไม่แก้ปัญหาก็จะให้ใบแดง เราต้องแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่เขายังไม่ได้ให้ใบเหลืองเพราะเรากำลังแก้ปัญหาอยู่ 

เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวหลัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นำทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างบนเกาะอัมบน อินโดนีเซีย เข้าพบว่า เป็นการหารือเพื่อหาทางนำคนไทยประมาณ 700 คน กลับไทย ส่วนกรณีสำนักข่าวเอพีระบุพบบริษัทประมงไทยใช้แรงงานทาสและสหรัฐจี้ให้เร่งแก้ปัญหา ยืนยันเราไม่ใช้ ไม่มี แต่แรงงานที่ไปอยู่อินโดนีเซีย ตนไม่ทราบ บางทีพอไปอยู่ก็เปลี่ยนจากธงไทยเป็นอินโดนีเซีย ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มี โดยเฉพาะเรือที่ออกจากไทยทางการขึ้นทะเบียนแรงงานกว่า 1 ล้านคน และแรงงานที่ออกจากท่าเรือปัจจุบันต้องได้รับการตรวจสอบ ลงทะเบียนเรียบร้อย เช่นเดียวกับเรือประมงทุกลำ ติดตั้งระบบจีพีเอส ซึ่งผบ.ทร.เป็นผู้ควบคุมทั้งหมดประสานกับตำรวจน้ำ ในเร็วๆ นี้ตนจะเดินทางไปอินโดนีเซีย เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจความมั่นคงทางทะเลและเรื่องประมงร่วมกับทางการอินโดนีเซีย 

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ทีมชุดเฉพาะกิจฯ ชุดแรกออกเดินทางวันที่ 26 มี.ค. โดยการบินไทย ทีจี 433 เวลา 08.20 น. ไปกรุงจาการ์ตา เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะอัมบน เช้าวันที่ 28 มี.ค. หากมีภารกิจที่ต้องการสนับสนุนจะมีทีมชุดเฉพาะกิจฯ ชุดที่ 2 คาดว่าจะเดินทางไปในวันที่ 6 เม.ย.

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่าเรากำลังจัดทำข้อมูลเรื่องการค้ามนุษย์เพิ่มเติมส่งให้รัฐบาลสหรัฐภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยจะเพิ่มการแก้ปัญหาแรงงานประมงเข้าไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีการแก้ไข

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!