WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8888 ข่าวสดรายวัน


บิ๊กตู่ฉะกสม. ยัวะร่วมค้านม.44 
แนะใช้พรก.ฉุกเฉินแทน นิด้าโพลอ้างอัยการศึก คนหนุน-มีเสรีภาพมาก บวรศักดิ์เมินสปช.ขู่ล้ม ยันมีเลือกตั้งแน่ก.พ. 59


ร่วมพิธีศพ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมภริยา ร่วมพิธีศพนายลี กวนยิว อดีตผู้นำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นวันพิธีอย่างเป็นทางการ พร้อมกับผู้นำชาติต่างๆ ที่รัฐบาลสิงคโปร์เชิญมาเป็นเกียรติ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.

         'ประยุทธ์'จวกพวกรุมค้าน ไล่กสม.ทำชาติให้เรียบร้อยค่อยแนะใช้พ.ร.บ.มั่นคงเมินต่างชาติมองใช้เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ลั่นทำเพื่อคนไทย คสช.เผยรายละเอียดใช้มาตรา 44 เน้นให้ 'กกล.รส.'ใช้ดูแลความสงบ คงอำนาจคุมผู้ต้องหา 7 วัน ตรวจค้นได้โดยไม่มีหมายศาล กสม.-นักวิชาการ-นักการเมือง'เชื่อนานาชาติไม่ยอมรับ นิด้าโพลอ้างคนส่วนใหญ่มีเสรีภาพภายใต้กฎอัยการศึก 'บวรศักดิ์'เมินคำขู่สปช. โหวตล้มร่างรธน.คงถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำตายตามกัน ระบุมีเลือกตั้งเดือนก.พ.-มี.ค. 59 แต่ถ้าทำประชามติ บวกเพิ่มถึงเดือนมิ.ย. 'พีระศักดิ์ พอจิต'หนุนกมธ.เขียนให้ชัดนายกฯคนนอกต้องวิกฤตเท่านั้น ยันส.ว.ยึดสูตรรธน.ปี 50 มติตุลาการศาลปค.ค้านให้ศาลยุติธรรมบังคับคดีปกครอง'ตู่'ย้อน'ยิ่งลักษณ์'รัฐบาลนี้สางปัญหาค้ามนุษย์ของที่ผ่านมา

เผยม.44 ให้คุมตัว 7 วัน

       วันที่ 29 มี.ค. แหล่งข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กำลังพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกว่า เป็นไปได้ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วการใช้กฎหมายตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาแทน เพื่อให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ในการบังคับใช้กฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งเนื้อหาก็อยู่ในกรอบนี้ และหนึ่งในหลายๆ ข้อของรายละเอียดจะเป็นเรื่องการที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ 7 วัน หรือตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสืบสวนอยู่แล้ว แต่ข้อห้าม ข้อกำหนดอะไรที่มากกว่านี้คงต้องรอดูที่เนื้อหาอีกครั้ง

กสม.เตือน'ตู่'ระวังตกหลุมอำนาจ

     นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุจะยกเลิกกฎอัยการศึก โดยจะใช้มาตรา 44 แทนว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะกฎอัยการศึกยังมีแบบแผนการควบคุมตัว การดำเนินคดีอยู่ แต่มาตรา 44 ให้อำนาจนายกฯ แบบครอบจักรวาล ซึ่งนายกฯ ต้องระวังที่จะตกหลุมอำนาจ และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นได้ 

      นพ.นิรันดร์กล่าวว่า จึงอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกหรืออำนาจตามมาตรา 44 หรือไม่ แต่ตนมองว่ารัฐบาลสามารถยกเลิกกฎอัยการศึก และไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะหากอยู่ในช่วงที่จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ รัฐบาลสามารถใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรได้ เพราะรัฐบาลควบคุมทุกเหล่าทัพและตำรวจอยู่แล้ว อยากให้คิดว่าในช่วงที่จะมีการปฏิรูปประเทศในหลายเรื่อง กำลังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ นั้น เหมาะสมที่จะใช้กฎอัยการศึกหรืออำนาจตามมาตรา 44 หรือไม่

นักวิชาการค้านใช้ม.44

      นายณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า หากนำมาตรา 44 มาใช้แทน กฎอัยการศึกนั้นทำให้น่าเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งในแง่หลักความเป็นธรรมของกฎหมายที่จะถูกทำลายลงทันที หากนายกฯ บังคับใช้มาตรา 44 ที่ให้อำนาจการตีความครอบจักรวาลทั้งทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไว้ที่ตัวผู้นำคนเดียว ซึ่งเป็น สิ่งที่น่ากลัว เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้นำจะตีความมาตรานี้เพื่อบังคับใช้อย่างไร แตกต่างจากการใช้กฎอัยการศึกที่แม้จะเคร่งครัด แต่ยังถือว่าตีกรอบการใช้อำนาจไว้ชัดเจนกว่า อีกทั้งการตรวจสอบจะเป็นปัญหา สิทธิของประชาชนที่จะใช้โต้แย้งหรือต่อสู้ทางกฎหมาย เพื่อจะยืนยันความบริสุทธิ์จะไม่สามารถทำได้เลย

หวั่นซ้ำรอยม.17 สมัยสฤษดิ์

      นายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า รัฐบาลคงต้องการปรับภาพลักษณ์ หวังลดแรงกดดันจากนานาชาติ แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ รัฐบาลจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เพราะ กฎอัยการศึกถือว่าแย่แล้ว แต่ก็ยังมีฐานทางกฎหมายมารองรับ แต่มาตรา 44 นั้นแย่ที่สุด เพราะให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ตัวนายกฯ คนเดียว สามารถใช้คำสั่งทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การยึดทรัพย์ กระทั่งประหารชีวิต โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ใดๆ ทั้งสิ้น หากรัฐบาลเดินหน้าในทิศทางดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ต่างจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เคยใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง 2502 ซึ่งต่อให้ไม่ทำผิด แต่หากตกเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยก็ถูกตัดสินได้ทันที 

      "แนวทางนี้ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก มีแต่แย่กับแย่ จอมพลสฤษดิ์ที่ริเริ่มบังคับใช้มาตรา 17 ที่สุดแล้วก็โดนจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้มาตราเดียวกันสั่งยึดทรัพย์ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้บันทึกแบบนี้ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์น่าจะทราบและมีการทบทวน" นายยอดพลกล่าว

แดงพะเยาผวา-หนักกว่าอัยการศึก

      นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พะเยา กล่าวว่า กรณีพล.อ. ประยุทธ์มีแนวทางนำมาตรา 44 มาบังคับแทนกฎอัยการศึก บางกลุ่มอาจมองว่าส่งสัญญาณที่ดีเพราะไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว คงไม่มีผลกระทบใด แต่ตนมองว่าเป็นการเลี่ยงบาลีของรัฐบาล เนื่องจากสภาพจะไม่แตกต่างกัน เพราะทั้ง 2 ฉบับเป็นการให้อำนาจแก่ผู้ใช้โดยไม่มีการตรวจสอบ เจตนา รมณ์การใช้อำนาจจึงไม่แตกต่างกัน แต่มาตรา 44 อาจจะหนักยิ่งกว่า เนื่องจากให้อำนาจหัวหน้า คสช.แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การชุมนุมของกลุ่มใดๆ ไม่อาจทำได้เหมือนเดิม 

      นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับนักเคลื่อน ไหวแล้ว มาตรา 44 และกฎอัยการศึก คือกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชน แต่หากใครไม่คิดมาก วางตัวตามปกติ เชื่อฟัง คสช.และให้รัฐบาลทำงานไป คงไม่เกิดปัญหา ขอเพียงรัฐบาลมุ่งมั่นทำงานและจริงใจกับประชาชน ไม่มีนัยซ่อนเร้น ทำให้เกิดความเป็นธรรมในบ้านเมือง 

'ตู่'ไล่กสม.ดูแลชาติให้สงบก่อน

       เมื่อเวลา 20.45 น. ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับการประเทศสิงคโปร์ ถึงแนวคิดใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แทนกฎอัยการศึกว่า ยกเลิกเมื่อไรก็เมื่อนั้น 

        เมื่อถามว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แนะให้รัฐบาลพิจารณา ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน นายกฯ กล่าวว่า ไปบอกกสม.ให้มาดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย แค่เรียบร้อยยังทำไม่ได้เลย ที่ผ่านมาใช้ทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วทำได้หรือไม่ ถึงต้องมีวันนี้ 

      เมื่อถามว่า มีปัจจัยอะไรที่จะนำไปสู่การตัดสินใจใช้มาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยู่ที่ทำอย่างไรให้สถานการณ์เรียบร้อยที่สุด ต่อข้อถามว่าคิดว่ามาตรา 44 ช่วยทำให้สถานการณ์เรียบร้อยได้มากกว่าใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกอย่างที่จะทำให้เรียบร้อย 

เมินต่างชาติไม่ยอมรับม. 44

      เมื่อถามว่ากฎอัยการศึกเป็นกฎหมายความมั่นคงปกติ แต่มาตรา 44 ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จะยิ่งถูกกดดันจากต่างชาติหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เอาคน ในประเทศเป็นหลัก วันนี้คนในประเทศลำบากยากเข็ญพอสมควรแล้ว อย่าเอาใครมารบกับเราอีกเลย รับผิดชอบกันบ้าง เอาเรื่องที่มีสาระกว่านี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของตน

       เมื่อถามว่า จะยกเลิกกฎอัยการศึกได้ก่อนสงกรานต์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ตอบ ยังจะมาถามอีก พร้อมย้อนถาม สื่อว่า "มีกฎอัยการศึกแล้ว เดือดร้อนอะไร มีใครไปจับคุณติดคุก คุณก็ว่าผมโครมๆ แล้วมีใครทำอะไรคุณไหม"

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ใช่ประชาชนกดดัน แต่นานาชาติกดดัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถามว่านานาชาติไหน วันนี้เจออดีตประธานา ธิบดีสหรัฐ อดีนายกฯญี่ปุ่น อดีตนายกฯเกาหลีใต้ แสดงความยินดีที่ไทยสงบสุข ไม่เห็นติสักคน แต่มีบางคนของเราที่เอาอะไรไปให้เขาว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถามว่าทำไมต้องให้เขาบังคับเรา แล้วไปทำตามที่เขาบังคับ จะทำตามกติกาเขาได้หรือไม่"

ย้ำทำเพื่อคนไทย

      เมื่อถามว่า หากรัฐบาลไม่ถูกกดดันเรื่องกฎอัยการศึก แล้วเหตุใดจึงมีแนวคิดเปลี่ยน นายกฯกล่าวว่า ยังไม่ได้เปลี่ยน แต่เมื่อมาถามกันทุกวันว่าจะเปลี่ยนไหม ก็จะเปลี่ยนให้ก็แค่นั้น แล้วตอนนี้เปลี่ยนหรือยังก็ยังไม่เปลี่ยน ตนไม่กลัวใคร ทำไมต้องกลัว ตนทำเพื่อคนไทย ถ้าไม่ใช่คนไทย ไม่ต้องมายุ่งกับตน ใครเป็นคนไทยยกมือ

      เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าหากมีรัฐธรรมนูญใหม่ออก นายกฯจะรับตำแหน่งอะไรใน องค์กรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ก่อนแล้วจึงจะคุย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วง ถ้าอยากให้ประเทศชาติดีขึ้น ปลอดภัย ทัดเทียมกับประเทศอื่น ไม่ใช่อยู่อย่างนี้ อยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศจะเอาอย่างไร ถึงเวลาตนอาจจะถามก็ได้ว่าประชาชนต้องการอะไร

      เมื่อถามว่า แสดงว่าต้องทำประชามติใช่หรือไม่ เรื่องทำรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประชามติมันก็มีประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วไง

ขู่ให้คสช.เช็กนักข่าวที่ถาม

      ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวว่า "เราทำเต็มที่ทุกอย่าง ทำมากกว่ารัฐบาลที่นักข่าวชอบสมัยก่อนด้วย ปัญหามันมาตามลำดับ แต่ตนจะไม่โทษใคร และจะทำให้ดีที่สุด ที่ผ่านมาเราปล่อยให้ปลูก ยางในพื้นที่อุทยาน ดังนั้น ราคายางไม่มีทางดีขึ้นมาได้ เราจึงต้องโซนนิ่ง และบอกให้ทำให้ได้ในสมัยนี้ มีเวลาเท่าไรก็เท่านั้น อยากให้คุณสมจิตต์ (นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7) ฟังบ้าง ไม่ต้องมาเป็นตัวแทนกับเรา เราไม่โมโหคุณหรอกวันนี้ เพราะอยากทำใจให้สงบหลังจากไปร่วมพิธีศพนายลี กวน ยิว"

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯเดินขึ้นรถส่วนตัว ได้หันกลับมาพูดเสียงดังว่า นักข่าวคนไหนที่ถามเรื่องกฎอัยการศึก ผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คน เดี๋ยวให้คสช.ไปดูว่าเขาเดือดร้อนไหมจากกฎอัยการศึก 

ชี้คนส่วนน้อยอึดอัดกฎอัยการศึก

       ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "ประเทศไทยมีความเป็นประชา ธิปไตยแค่ไหน" ระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค. จากประชาชนทั่วประเทศทุกภูมิภาค จำนวน 1,263 ตัวอย่าง โดยถามถึงเสรีภาพในการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 52.26 ระบุมีเสรีภาพมาก ร้อยละ 34.20 ค่อนข้างมีเสรีภาพ ร้อยละ 11.00 ไม่ค่อยมีเสรีภาพ ร้อยละ 2.30 ไม่มีเสรีภาพเลย และร้อยละ 0.24 ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนที่ระบุว่ามีเสรีภาพมาก-ค่อนข้างมีเสรีภาพ ให้เหตุผลว่าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และไม่เดือดร้อน ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมี-ไม่มีเสรีภาพเลยนั้น ให้เหตุผลว่ารู้สึกอึดอัด ทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจาก อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก

       ด้านเสรีภาพทางการเมือง ร้อยละ 30.80 ระบุว่ามีเสรีภาพมาก ร้อยละ 32.15 ค่อนข้างมี ร้อยละ 22.88 ไม่ค่อยมี ร้อยละ 10.45 ไม่มีเลย และร้อยละ 3.72 ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ระบุว่ามีเสรีภาพทางการเมืองมาก-ค่อนข้างมี ให้เหตุผลเพราะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนยังมีสิทธิ์และเสียงแสดงออกถึงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมี-ไม่มีเลย ให้เหตุผลเพราะการแสดงความเห็นทางการเมืองในบางเรื่องยังทำได้ไม่เต็มที่ ต้องคำนึงถึงกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก 

เตือนอย่าออกมาต้านคสช.

       ทั้งนี้ ร้อยละ  44.26 ระบุกลุ่มต่างๆ ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. เพราะ สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ ไม่อยาก เห็นบ้านเมืองวุ่นวาย อีกทั้งยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ประชาชนควรปรองดองกัน และควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานก่อน ร้อยละ 40.30 ระบุว่าเป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวแบบสันติเท่านั้น เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ควรหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยกันอย่างสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 8.00 ระบุว่าเป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ เพื่อความเป็นประชา ธิปไตยและเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ ร้อยละ 1.03 ระบุว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ และร้อยละ 6.41 ไม่แน่ใจ

      ส่วนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เมื่อเทียบกับก่อนการเข้ามาของคสช. ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 พบว่า ร้อยละ 36.10 ระบุมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะบ้านเมืองเป็นระเบียบ มีความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการปฏิรูปในหลายด้าน เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ร้อยละ 39.19 มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าเดิม เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังใช้ชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดิม ร้อยละ 22.49 มีความเป็นประชาธิปไตยลดลง เพราะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน เนื่อง จากมีกฎอัยการศึกอยู่ และเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และร้อยละ 2.22 ไม่แน่ใจ

ปชป.ก็ค้าน-เกรงใช้พร่ำเพรื่อ

       นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึก เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ บั่นทอนเศรษฐกิจ ทำร้ายตัวเอง ทำลายความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะนานาชาติ จะยิ่งมองว่าไทยเป็นเผด็จการมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 พร่ำเพรื่อ แต่วันนี้ตนว่ายังไม่เหมาะสม เพราะมาตรา 44 มีอำนาจมาก สามารถสั่งคนไม่ผิดให้ผิดก็ได้ หลายฝ่ายจึงกังวล ตนพูดด้วยความหวังดี ไม่เหมือนพวกที่ใช้สำนวนว่าหนีเสือปะจระเข้ แต่อาจอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว พล.อ. ประยุทธ์จึงต้องแก้ให้ตรงจุด จัดการกับพวกป่วนเมือง ปาระเบิดใส่ศาลอาญา เครือข่ายเสื้อแดง หากมีการสืบทราบว่า พวกที่โยงเหตุป่วน มีคดีติดตัวอยู่ระหว่างขอประกันตัวกับศาล ก็บอกให้ศาลยกเลิกการประกันตัว แล้วยัดคุกเสียก็จบ

พท.หวั่นหนีเสือปะจระเข้

       นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายกฯ มีแนวคิดนำมาตรา 44 มาใช้แทนกฎอัยการศึกว่า การตัดสินใจประเด็นนี้ต้องระวัง และควรสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็น มิเช่นนั้นจะกลายเป็นความพยายามตบตาต่างชาติ เพราะเห็นว่ากฎอัยการศึกใช้ไปต่อไม่ได้ แต่การใช้มาตรา 44 แทนอาจส่งผล กระทบหนักกว่าเดิมเพราะใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.แบบครอบจักรวาล ไม่มีบท บัญญัติตายตัว และสามารถขยายอำนาจได้ตลอดเวลาอย่างไม่มีขีดจำกัด มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เหมือนมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีลักษณะเป็นคำพิพากษา สั่งยิงเป้าได้ทันที

      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าเดิม ดังนั้น หนทางเดียวที่ดีที่สุดคือเดินหน้าเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อนำประเทศกลับสู่ครรลองประชาธิปไตย จะสร้าง ความเชื่อมั่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

'อ๋อย'ซัดม.44 ร้ายกว่าสมัยสฤษดิ์

        นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษา ธิการ กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ต้องรอดูว่ากฎหมายและคำสั่งที่ออกมามีเนื้อหาอย่างไร ถ้ามีเนื้อหาเบากว่ากฎอัยการศึกอาจใช้กฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเนื้อหาเข้มข้นเหมือนกฎอัยการศึกก็จะไม่ต่างไปจากเดิมหรือแย่กว่าเดิม ที่ว่าแย่กว่าเดิมเนื่องจากตัวมาตรา 44 เป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะหัวหน้า คสช. และคณะ คสช.มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และถ้าเนื้อหาใกล้เคียงกฎอัยการศึกจะมีผลเสียคือสร้างความยอมรับ ล้มเหลวในสังคมโลก 

        นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ดังนั้น ทางที่ดีต้องมาตั้งหลักว่าสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน การคงกฎอัยการศึกไว้มีแต่ผลเสีย ขณะเดียวกันการร่างรัฐธรรมนูญต้องการรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น การคงกฎอัยการศึกไว้อย่างเข้มงวดจะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เป็นผลดี ถ้าจะยกเลิกกฎอัยการศึกหมายความต้องช่วยลดความเสียหายเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ชื่อกฎหมายที่ใช้ แต่ถ้าเนื้อหายังเป็นอยู่อย่างเดิม ความจริงถ้าจะทำควรเปิดให้หลายฝ่ายวิจารณ์ก่อน ดีกว่าออกมาเลย เพราะอาจเกิดปัญหาได้ว่ามีเนติบริกรช่วยทำพังอีกแล้ว

จวก'บวรศักดิ์'ทำประเทศล้าสมัย

       นายจาตุรนต์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุนักการเมืองวิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะอำนาจนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้นว่า ความจริงคนที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญมีหลากหลาย และโพลส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯ และส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่นายบวรศักดิ์ไม่ยอมฟัง ให้ไปทำโพลใหม่ สิ่งที่นักการเมือง และพรรควิจารณ์อยู่นั้นไม่ใช่เรื่องอำนาจนักการเมืองเท่านั้น ประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ที่อธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน ไม่ได้มีอำนาจกำหนดการปกครอง และบริหารประเทศ ที่นายบวรศักดิ์คุยว่าจะเพิ่มอำนาจพลเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ความจริงเป็นเพียงข้างนอกสุกสดใส ข้างในเป็นโพรง กำลังจะให้อำนาจที่สำคัญๆ กลับเป็นขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ทั้งองค์กรอิสระเดิม องค์กรอิสระใหม่ๆ และส.ว.ลากตั้ง 

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้นั้นนายบวรศักดิ์รู้ดีอยู่แล้วว่าจะทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง จนในที่สุดคนนอกได้เป็นนายกฯ นายบวรศักดิ์อาจจะหงุดหงิดที่มีเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่า เพราะเห็นว่านายบวรศักดิ์กำลังทำให้ประเทศล้าหลังไปอีก 30-40 ปี เศรษฐกิจ เสียหายไม่มีวันโงหัวขึ้นได้ นายบวรศักดิ์กำลังสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง จึงไม่ แปลกที่ประชาชนจำนวนมากและหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้

ท้าทำประชามติ-พิสูจน์เสียงปชช.

       นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนที่นายบวรศักดิ์ระบุสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่ได้สืบ ทอดอำนาจ ทั้งที่เป็นแนวคิดแบบเผด็จการ เป็นการปฏิรูปที่ออกแบบโดยผู้ยึดอำนาจ จึงไม่มีความชอบธรรมในการปฏิรูป โดยเฉพาะกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป ในอนาคตหลังเลือกตั้งเป็นอย่างไร ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้พวกของนายบวรศักดิ์มาเป็นคนกำหนด เพราะเป็นแนวคิดล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย

       นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าถ้าผ่านไปไม่ดีก็แก้ ความจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยเกือบ 1 ใน 3 ของส.ว.มาจากการลากตั้ง หรือต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือให้ลงประชามติ เป็นการหลอกประชาชน ทางที่ดีควรเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก่อนบังคับใช้ มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความล้าหลัง ขัดแย้ง วิกฤตกว่าเดิม ทั้งนี้ สิ่งที่นายบวรศักดิ์ควรทำคือผลักดันให้ทำประชามติ จะได้พิสูจน์ใครคือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยกันแน่

'ปื๊ด'ยันร่างรธน.ยังไม่ใช่ข้อยุติ

        เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมออดิทอ เรียม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุ กมธ. มีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดสัมมนา "สานพลังเครือข่าย ภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ" 

       นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ทุกมาตราที่ กมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการไปนั้นได้นำความเห็นจากส่วนต่างๆ มาประกอบการพิจารณา เบื้องต้นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พิจารณาเสร็จแล้วมี 315 มาตรา แต่ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะจะต้องปรับแก้ไขอีก ดังนั้น ใครที่บอกว่ามีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือขณะนี้แล้วต้องระวัง เพราะอาจเป็นร่างเทียมได้ เพราะร่างที่มีอยู่ในมือตนยังไม่ นิ่งเลย เนื่องจากร่างแรกที่จะสมบูรณ์และนิ่งจริงๆ คือวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องเสนอให้ สปช.พิจารณา ถ้าหากเสนอไม่ทันในเวลาที่กำหนดไว้ กมธ. ยกร่างฯ จะต้องถูกยุบไป 


วันเกิดไปป์ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พาน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชาย ไปทำบุญวันเกิดครบ 13 ปี และบริจาคเสื้อผ้าสิ่งของ ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต เมื่อวันที่ 29 มี.ค.

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าหากรัฐธรรมนูญเสร็จเราพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะแน่นอน ไม่ได้หวง เพราะ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.จะทำอะไรตามใจไม่ได้ มีคนจับตามองดูอยู่เราก็ต้องทำให้ดี เพราะถ้าพลาดอาจตายหมู่ได้ ดังนั้น จึงต้องระวัง 

เตือนสปช.โหวตล้ม-อาจตายหมู่

      นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบข่าวว่าเกิดปัญหาขึ้นภายใน กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กรณีกำหนดให้ สปช.ที่จะยื่นคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 คำขอต่อ 25 คน เนื่องจากมี สปช.บางคนมีข้อสงสัยว่าสรุปแล้ว 1 คำขอได้ 25 คนหรือ 26 คนกันแน่ ดังนั้น วิป สปช.จึงมีมติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สปช. ทำหนังสือไปถามสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าตกลงกฎหมายกำหนดให้มีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ หลังจาก สปช.อภิปรายและเสนอความเห็นร่างรัฐธรรมนูญในช่วงวันที่ 20 -26 เม.ย.แล้ว สปช. ครม.และ คสช.ยังสามารถเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกจนถึงวันที่ 25 พ.ค. 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า จากนั้นช่วงวันที่ 26 พ.ค.-23 ก.ค. รวม 60 วัน กมธ.ยกร่างฯ จะเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหาตั้งแต่มาตรา 1-315 โดยนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา ซึ่งต้องดำเนิน การให้เสร็จก่อนวันที่ 23 ก.ค. เพื่อส่งให้ สปช.ลงมติภายในวันที่ 6 ส.ค. ถ้า สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แฝดอินจันคือ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ต้องตายไปด้วยกัน ถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำ เสียชื่อวงศ์ตระกูล 

ชี้ถ้าทำประชามติ-เลือกตั้งมิ.ย.59

      ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า แต่ถ้า สปช.เห็นชอบทางประธาน สปช.ก็มีเวลา วันที่ 7 ส.ค.ถึง 4 ก.ค. ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม.ดำเนินการตามขั้นตอนและประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 4 ก.ย. จากนั้นขั้นตอนต่อไป ภายใน 60 วันต้องดำเนินการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เสร็จ และอีก 90 วันต้องจัดการเลือกตั้ง หากเป็นไปตามนี้โดยไม่มีประชามติ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนก.พ. หรือต้นเดือนมี.ค. 2559 แต่ถ้า คสช.และ ครม.ตัดสินใจทำประชามติ ก็บวกเวลาเพิ่มอีก 3 เดือน การเลือกตั้งคงเป็นช่วงเดือนมิ.ย. 2559 

       "กมธ.ยกร่างฯ เปรียบเสมือนเป็นคนพายเรือ สปช.เป็นลูกเรือ เรือลำนี้กำลังแข่งกับนักการเมือง ซึ่งเตรียมทีมแจวไว้อย่างดี เป็นการปรองดองครั้งแรกระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในการถล่มร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นความร่วมมือของ สปช.และทุกหน่วยงานมีความสำคัญมากในการช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย จึงขอความร่วมมือทุกฝ่าย ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสำเร็จ" นายบวรศักดิ์กล่าว 

ยอมรับอาจปรับแก้ที่มานายกฯ-สว.

     นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 30 มี.ค.-2 เม.ย. กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติให้เสร็จ โดยรูปแบบการพิจารณาครั้งนี้ไม่มีวาระที่ชัดเจนหรือตายตัว แต่จะเปิดให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่ มาตราหรือประเด็นใดที่ยังติดใจก็เปิดใจคุยกันได้ เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณา ส่วนที่นายบวรศักดิ์ ระบุอาจมีการปรับแก้ประเด็นที่มาของนายกฯ และที่มาส.ว.นั้น ก็เป็นไปได้ ที่จะพูดคุยกัน โดยประเด็นนายกฯ เรากำหนดไว้โดยไม่บังคับว่าต้องมาจากส.ส. ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แต่ก็มีความเห็นว่าแทนที่จะเขียนเปิดกว้างไว้เฉยๆ ก็ควรเขียนเงื่อนไขกำกับไว้ด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากนายกฯ ไม่ได้มาจากส.ส. ก็ให้มีวาระดำรงตำแหน่งสั้นกว่านายกฯ ที่มาจากส.ส. อาจ 1-2 ปี

      นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิก สปช. เสนอให้สมาชิก สปช.ใช้มาตรการแซงก์ชั่น หาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่ปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่าไม่กดดัน เราทำตามหน้าที่ ขณะนี้กระบวน การยกร่างฯ เดินมาครึ่งทางแล้ว โดยครึ่งทางหลังนั้นสำคัญมาก เพราะต้องนำความเห็นและคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากส่วนต่างๆ มาพิจารณา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาระสำคัญ หาก กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ สปช.ว่าจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

เมินสปช.ขู่แซงก์ชั่น

       นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายสังศิตเตือนอาจเกิดการแซงก์ชั่นว่า เป็นเพียงความเห็นของ สปช.บางรายเท่านั้น ทุกคนอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนรัฐธรรมนูญออกมาตามใจแต่ละคน แต่เราต้องเขียนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หากสิ่งที่ สปช.จะเสนอมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราก็เห็นด้วย แต่ถ้าสิ่งที่เสนอไม่ตอบโจทย์สิทธิของประชาชน เราก็คงไม่เห็นด้วย

      นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนไม่หวั่นไหว เพราะ เป็นเพียงความเห็นของสมาชิกบางคนเท่านั้น ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ เชื่อว่า สปช.ทุกคนมีความรับผิดชอบและเข้าใจเจตนารมณ์ รวมถึงภาพรวมของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนคงจะใช้วิจารณญาณเรื่องผลประโยชน์ ของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นในการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าสมาชิก สปช.จะดูภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ คงไม่ดูเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง

       นายไพบูลย์ กล่าวถึงการขอขยายเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญเป็น 10 วันว่า ทำได้ถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า สปช.ต้องแปรญัตติร่างแรกหลังจากได้รับร่างจาก กมธ.ยกร่างฯ ภายใน 10 วัน ถ้าเราขยายออกไปก็คงขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราจะขยับเวลาขึ้นมาให้เร็วขึ้นกว่านี้เกรงว่าสมาชิก สปช.อาจมีข้ออ้างว่าเร็วไป จึงยังไม่มีเวลาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

ชี้ต้องมีคนผิดหวังบ้าง

      พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองช่วงวันอภิปราย เป็นการเผชิญหน้า ห้ำหั่น เอาแพ้ชนะกันระหว่าง สปช.กับ กมธ.ยกร่างฯ เพราะเราอาสาเข้าทำหน้าที่เพื่อประเทศร่วมกัน ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกฝ่ายตลอด จึงไม่ชอบที่ใครมาบอกว่าจะชำแหละ หรือถล่มร่างรัฐธรรมนูญ ตนเข้าใจว่า กมธ.ของ สปช.แต่ละคณะมีความชำนาญเรื่องที่ตนเองศึกษา แต่ กมธ.ยกร่างฯ คลุก คลีกับรัฐธรรมนูญมาตลอด จึงเห็นภาพรวมชัดกว่าว่าประเด็นไหนเชื่อมโยงถึงกันบ้าง

       "ไม่กังวลที่ สปช.ออกมาเตือน เพราะคนหมู่มากย่อมเห็นต่างกันได้ การออกมาพูดของนายสังศิต อาจเกิดจากประเด็นที่ได้ศึกษาและต้องการผลักดัน ไม่ได้รับความสนใจจาก กมธ.ยกร่างฯ แต่การสร้างบ้านเมืองถ้ามัวไปเอาใจใครคนเดียวคงไม่ไหว บ้านจะสร้างกันไม่ได้พอดี ต้องฟังเสียงส่วนรวมคือพลเมือง ครม.หรือ คสช.ด้วย ขอย้ำว่าเรื่องนี้จะได้ชัยชนะทุกคนคงไม่ได้ และต้องมีคนหนึ่งที่ผิดหวัง" พล.ท.นาวินกล่าว 

วิปเตือน-ระวังรธน.ไม่ผ่าน 

       นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช. กล่าวว่า เชื่อว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.เห็นร่วมกันว่าต้องแก้ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง กมธ.ยกร่างฯ คงต้องรับฟัง ถ้าไม่ฟังรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหา หรืออาจไม่ผ่านก็ได้ หากกลับกันความเห็นแย้งมาจากบุคคลเดียวหรือคณะใดคณะหนึ่งก็ไม่น่ามีผล ซึ่งตนไม่กังวล ไม่วิตกกับที่ สปช.ขู่แซงก์ชั่น จะทำให้เกิดภาพไม่ดีในวันอภิปราย เพราะเป็นเรื่องปกติของการอภิปรายที่ต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

ชี้'นายกฯ'คนนอกต้องผ่าทางตันจริง 

      เมื่อเวลา 09.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง นำคณะสมาชิก สนช.กว่า 20 คน พบประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคการศึกษา เกษตรกร อาจารย์และนักศึกษา กว่า 1,000 คน เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงการทำหน้าที่ จากนั้นในช่วงบ่าย นายพีระศักดิ์และคณะเดินทาง ต่อไปยัง จ.พิจิตร เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำยม ประกอบด้วย จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร และ จ.แพร่ 

      นายพีระศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึง กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. จะเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขบทบัญญัติ ให้มีนายกฯ คนนอกได้ก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤต โดยให้ใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 และมีวาระเพียง 1 ปีว่า เห็นด้วย เพราะกฎหมายต้องมีข้อยกเว้น อย่าไปตายตัว สถานการณ์มันต้องวิกฤตจริงๆ ถึงจะไปใช้บริการนายกฯ คน นอก แนวทางนี้คงไม่ใช่การรอมชอม แต่เป็นแนวทางหาทางออกสำหรับประเทศเมื่อเกิดวิกฤตการเมือง ซึ่งดีกว่าปล่อยให้มีการล้มรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น 

      "ในสถานการณ์ปกติส.ส.ต้องเลือก นายกฯ ที่มาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากอันดับหนึ่งตามที่สัญญาไว้กับประชาชน แต่หากส.ส.ไปเลือกนายกฯ คนนอกมาในช่วงปกติ ชาวบ้านคงออกมารุมตายแน่ แนวทางนี้จะเหมาะสมต่อเมื่อเราต้องการ ผ่าทางตัน ส่วนจะลดความขัดแย้งได้หรือ ไม่นั้น ยังคงเดายาก ผมยังไม่มั่นใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้วความขัดแย้งจะลดลงได้จริงหรือไม่ เพราะคนยังคงคิดเหมือนเดิม ต้องแยกแกนนำออกจากประชาชนเหมือนเดิม" นายพีระศักดิ์กล่าว 

จี้กมธ.ทบทวนมีแต่สว.ลากตั้ง

       ส่วนข้อเสนอให้เปลี่ยนที่มาของส.ว. จากเดิมมาจากสรรหาทั้ง 200 คน เป็นเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คนนั้น นายพีระศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ต้องดูว่าอะไรคือปัญหาของประเทศ ซึ่งปัญหาการเมืองไม่ได้เกิดจากส.ว. แต่เกิดจากรัฐสภา ที่มีการโต้แย้งจนเกิดวิกฤต ในกรณีส.ว.เราเคยใช้แบบสรรหาทั้งหมดก็ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะมองว่ามีการถ่วงดุลกับส.ส. มากเกินไป ส่วนแบบเลือกตั้งทั้งหมดก็มีปัญหาเรื่องนอมินี 

       รองประธาน สนช.กล่าวว่า เราต้องนำอดีตมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน จะเห็นว่าส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและสรรหาครึ่งหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถทำงานร่วมกัน จนประคับประคองวิกฤตการเมืองไปได้ระยะหนึ่ง และเป็นสภาสุดท้ายที่ยังอยู่ได้ ก่อนเกิดรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงอยากให้ทบทวนประเด็นนี้อีกครั้ง

หนุนทำประชามติร่างรธน.

      นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า สัดส่วนของส.ว. ควรจะเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่เหมาะสมคือ 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 73 คนเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาความแตกต่างทางความคิดระหว่างสรรหาและเลือกตั้งจะยังมีบ้าง เพราะไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดเหมือนกัน และเป็นเรื่องปกติของการทำหน้าที่ในระบบสภา

       เมื่อถามว่า หาก กมธ.ยกร่างฯ ยังคงยืนยันให้ 200 ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด นายพีระศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังข้อเสนอจาก คสช. ครม. สปช.และ สนช. รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ตลอดจนอาจต้องทำประชามติ ซึ่งตนเห็นด้วยว่าต้องทำ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายแล้วหากออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นตามนั้น

       "ผมพูดเรื่องนี้มาก เดี๋ยวจะโดนโจมตีอีกว่าจะลงส.ว. ซึ่งผมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงหรือไม่ แต่ที่พูดเพื่อชี้ให้เห็นหลักการ ตลอดจนความรู้สึกของคน เพราะคำว่าส.ว.สรรหาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงเป็นสาเหตุที่ผมต้องพา สนช.ออกมาพบประชาชน เพื่อมาทำความเข้าใจและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น" รองประธาน สนช.คนที่สองทิ้งท้าย 

ปธ.นัด 6 สปช.ถกเพิ่มวันชำแหละ

       นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. เปิดเผยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้เชิญนายทิวา การกระสัง และสมาชิก สปช.รวม 6 คน ที่ลงชื่อเสนอญัตติเพิ่มวันอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากเดิมวันที่ 20-26 เม.ย. เป็นวันที่ 18-26 เม.ย. รวม 10 วัน มาพูดคุยในช่วงเช้าวันที่ 30 มี.ค.ก่อนประชุม สปช.เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวบัญญัติให้ สปช.มีเวลาพิจารณา 10 วันนับจากวันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

      ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนร่วมลงชื่อเสนอญัตติเพิ่มวันอภิปราย เพราะสมาชิก สปช.ต้องการอภิปรายเยอะ เราอยากได้เวลาเพิ่มจากเดิมด้วย โดยวันที่ 30 มี.ค.นายเทียนฉาย ได้เชิญผู้ร่วมลงชื่อทั้ง 6 คนเข้าหารือ คาดว่าการประชุม สปช.วันที่ 30 มี.ค.ญัตติดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุม สปช.เพื่อขอความเห็นจากสมาชิก สปช.ว่าเห็นด้วยหรือไม่

ค้านให้ศาลยุติธรรมบังคับคดีปค.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่เอกสารผลการประชุมสัมมนาตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค. ที่โรงแรมรอยัล พลา คลิฟบีช อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีกลไกบังคับคดีทางแพ่งและคดีปกครอง ในสังกัดศาลยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามคำสั่ง คำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 บัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลคู่แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม เพื่อให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางปกครอง เพราะหน่วยงานทางปกครองและประชาชนไม่มีความเท่าเทียมกันในการค้นหาพยานหลักฐานเพื่อประกอบการฟ้องหรือต่อสู้คดี ศาลปกครองจึงกำหนดวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน 

      โดยศาลหรือตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทสําคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด และการบังคับให้ เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งในการบังคับคดีปกครองทั่วไปและการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของคู่กรณีฝ่าย ที่แพ้คดี ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีพิจารณาคดีปกครอง จึงสมควรต้องดําเนินการโดยหน่วยงานบังคับคดีที่อยู่ในศาลปกครอง ไม่ใช่สังกัดศาลยุติธรรม 

       นอกจากนี้ ในการบังคับคดีปกครอง เพื่อให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลปกครอง จําเป็นต้องประสานงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างตุลาการศาลปกครองและบุคลากร ของศาลปกครอง เพื่อความรวดเร็วและประโยชน์ของคู่กรณีในการบังคับคดี และการดําเนินงานที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องที่จะทําให้ไม่สามารถแก้ปัญหาในการ บังคับคดีได้ ดังนั้น การกําหนดให้ใช้กลไกการบังคับคดีของศาลที่มีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

'ปู'ทำบุญ-บริจาคของวันเกิด'ไปป์'

       เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ที่มีอายุครบ 13 ปีเต็ม และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร เดินทางไปถวายสังฆทานเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของน้องไปป์ วันที่ 29 มี.ค. ที่วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี จากนั้นเวลา 10.20 น. ร่วมบริจาคสิ่งของและเยี่ยมชมศูนย์ฯ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต และศูนย์ฯสถานสงเคราะห์เยาวชน มูลนิธิมหาราช ก่อนรับประทานอาหารร่วมกัน

'บิ๊กตู่'บินร่วมพิธีศพ'ลีกวนยิว'

        วันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายหลังจากร่วมพิธีสมรสของบุตรีนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อเวลา 09.50 น. นายกฯและคณะออกเดินทางจาก ท่าอากาศยานกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติสิงคโปร์ และ เดินทางไปที่ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อร่วมพิธีเคารพศพนาย ลี กวนยิว อดีตนายกฯคนแรกของสิงคโปร์ ในเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น

     ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกฯและคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติสิงคโปร์ กลับถึงท่าอากาศยานขนส่งทหารบก ดอนเมือง เวลา 19.10 น.

      สำหรับ พิธีศพนายลี กวนยิว ในวันนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จัดขึ้นแบบรัฐพิธี มีบุคคลสำคัญและผู้นำประเทศต่างๆ ที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลสิงคโปร์มาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม นายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน นางปาร์ก กึนเฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า นายโทนี่ แอบบอต นายกฯ ออสเตรเลีย นายเดวิด คาเมรอน นายกฯอังกฤษ สมเด็จฮุน เซน นายกฯกัมพูชา เป็นต้น

รัฐบาลเร่งฉุดไทยพ้นเทียร์ 3

      วันที่ 29 มี.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2557 แล้วจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มเทียร์ 3 นั้น ข้อมูลที่นำมาใช้ในรายงานคือการพิจารณาจากการแก้ปัญหาของไทย ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2556-วันที่ 31 มี.ค.2557 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเห็นว่าไทยไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้พอที่จะได้รับการจัดลำดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 จึงลดลงมาจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำทุกทางอยู่ขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมม ไร้การดูแลจากรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อให้ไทยได้รับการประเมิน ดีขึ้น และช่วยเหลืออุตสาหกรรมและแรงงานที่อยู่ในภาคประมงทั้งระบบ หากสื่อมวลชนทำหน้าที่เกาะติดปัญหานี้อย่างเหมาะสม ทันเวลาจริงตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน คงไม่เกิดเหตุการณ์ในวันนี้ขึ้น ดังนั้น เมื่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานในปัจจุบันพยายามเดินหน้า แก้ปัญหา จึงควรนำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน เอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยของรัฐบาลเป็นไปอย่าง ต่อเนื่อง และมากกว่าในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกจับในอินโดนีเซีย นอกจาก 21 คนที่ช่วยเหลือกลับมาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ทางการไทยประสานความร่วมมือกับอินโดฯ เพื่อส่งตัวแรงงานไทยอีก 6 คนกลับมา อีกชุดคาดว่าจะเดินทางถึงเมืองไทย วันที่ 1 เม.ย.นี้

      เมื่อเวลา 20.45 น. ที่ท่าอากาศยานขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงรายงานการค้ามนุษย์สมัยเป็นรัฐบาลไม่ได้ทำให้ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 ว่า แก้ด้วยอะไรให้บอกมา รัฐบาลนี้แก้ไขทุกอย่าง ทั้งจดทะเบียนเรือ 6-7 หมื่นลำ เพิ่มจากเดิม 3 หมื่น จดทะเบียนแรงงานทาส แรงงานเถื่อน รวมถึงการดูแลเหยื่อที่ติดคุกอยู่ในต่างประเทศแล้วนำกลับมา รัฐบาลนี้ทำทั้งนั้น เพียงแต่ไม่ได้โฆษณา ระวังไม่พูดอะไรที่เกินเลย เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง เราเก็บทุกเม็ดมาทำอยู่ ไม่อยากโทษว่าใครทำ 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ทำเพิ่ม แต่สหรัฐยังตอบกลับมาว่าไม่ทันการณ์ ไม่ทันเวลา ขณะนี้ต้องเตรียมการว่าจะร่วมมือกับใครบ้าง เพื่อจะได้ไม่ถูกจับกุม และต้องบังคับให้จดทะเบียนเรืออย่างถูกต้อง ดูเรือไม่ให้ชื่อซ้ำกัน สิ่งเหล่านี้ถามว่ากฎหมายปกติทำได้หรือไม่ ที่ทำได้เพราะมีกฎหมายพิเศษ ถ้าทหารไม่มีกฎหมายก็ไปช่วยไม่ได้ ทหารก็เหนื่อยและตนก็เครียดพอสมควร แต่ไม่เป็นไร ทนได้ ไม่โกรธใคร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!