WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8891 ข่าวสดรายวัน


คสช.ประกาศแล้ว เข้ม14ข้อ ทหารคุมใช้ม.44 
บิ๊กตู่สวนต่างชาติกดดัน ลั่นไม่เคยยึดบ่อน้ำมัน นพดลถอนฟ้องสนธิลิ้ม เพื่อไทยงง-ตกลงกันเอง ตั้งใหม่พนง.สอบ 99 ศพ


ปีนทำเนียบ - นายเฉลิม สอนนนฐี ชาว จ.น่าน ลอบเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ปีนดาดฟ้า กองรักษาการณ์ ร้องทุกข์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการออกโฉนดที่ดิน ต้องเกลี้ยกล่อมกว่าชั่วโมงจึงยอมลงมา เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

          ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว 'บิ๊กตู่' ใช้อำนาจ มาตรา44ออกประกาศ คสช.จำนวน 14 ข้อ ทดแทนทันที ยันไม่บ้าอำนาจ โต้ต่างชาติกล่าวหาเผด็จการ บอกไม่เคยไปยึดบ่อน้ำมันใคร 'วิษณุ'ชี้ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แก้ปัญหาศาลเดียว ฮิวแมน ไรต์ฯ แถลงการณ์ต้าน เรียกร้องมิตรประเทศกดดัน ยูเอ็นแถลงจี้หยุดคุกคามสื่อ กมธ. ยกร่างฯ ปรับเพิ่มเสียงโหวตนายกฯ คนนอกเป็น 2 ใน 3 ที่มาส.ว.ผสม 3 กลุ่ม ลากก่อนเลือก 77 จังหวัด เตรียมนำรธน.ร่างแรกเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์โชว์แม่น้ำ 5 สาย 7 เม.ย. แจงวงสัมมนาสปช. 9 เม.ย.'นพดล'ถอนฟ้องชั้นฎีกา'สนธิลิ้ม'หมิ่น ผจก.โบนันซ่าเจอตั้ง 5 ข้อหารุกป่า-ฟอกเงิน

หนุ่มน่านปีนทำเนียบ-ร้องทุกข์ที่ดิน

       เวลา 07.00 น. วันที่ 1 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุระทึก เมื่อชายวัยกลางคนใช้จังหวะที่คนไม่พลุกพล่านลอบปีนรั้วทำเนียบฝั่งถนนราชดำเนินนอก ใกล้ประตูทางเข้าเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เข้ามาในทำเนียบ และปีนต้นหูกวางใกล้กับกองรักษาการณ์ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบ ขึ้นไปที่ดาดฟ้าชั้นสองของอาคาร ชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "ท่านนายกรัฐมนตรีครับ ผมมีเรื่องเดือดร้อนมาร้องเรียนครับ ผมไม่ได้รับความเป็นธรรมครับ ถ้าไม่มีการโกงบ้านโกงเมือง ปัญหาทุกอย่างก็ไม่เกิดขึ้น" เพื่อขอความเป็นธรรมจากนายกฯ

      เจ้าหน้าที่ตำรวจเกลี้ยกล่อมนับชั่วโมง จนชายคนดังกล่าวยอมลงมาด้านล่าง โดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ สอบถามทราบชื่อนายเฉลิม สอนนนฐี อายุ 43 ชาว จ.น่าน ต้องการขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินตกค้างเมื่อปี 2535 ในพื้นที่ จ.น่าน และเคยยื่นหนังสือก่อนหน้านี้แต่ยังไม่คืบหน้า และขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบประปาบาดาลของอบต.หมอเมือง อ.แม่จริม ว่าเป็นไปตามแบบแปลนหรือไม่ 

บิ๊กตู่บ่นคนไม่เข้าใจม.44-อัยการศึก 

     เวลา 10.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมอบเกียรติบัตรข้าราชการ พลเมืองดีเด่น 2558 และเข็มเชิดชูเกียรติ และกล่าวให้โอวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริ กัลยะ รมว.พาณิชย์ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และตัวแทนข้าราชการทั่วประเทศร่วมรับฟังกว่า 700 คน

      พล.อ.ประยุทธ์ ให้โอวาทว่า วันนี้การทำงานหลายกระทรวงมีผู้บริหารมาจากทหารทำให้การทำงานแตกต่างออกไป ในช่วงที่เราต้องการการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาและปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง จะใช้กฎหมายอย่างเดียวตามวิธีการปกติไม่มีทางแก้ได้ แม้แต่วันนี้คนยังไม่เข้าใจเรื่องกฎอัยการศึก เรื่องของมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง

สั่งขรก.ลืมอดีต-อย่าแบ่งฝ่าย

      นายกฯ กล่าวว่า การทำงานมีผู้นำหลายระดับ ต้องสื่อสาร 2 ทาง ต้องปรับตัวเข้าหากัน ให้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ใต้การบริหารของฝ่ายการเมืองซึ่งไม่ใช่ข้าราชการเก่า ข้าราชการต้องปกป้องตัวเองโดยต้องยืนหยัดในข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะสั่งอะไรลงมาถ้าผิดก็ต้องทำให้มันถูก ตนสอนรุ่นน้องมาตลอดนาย จะสั่งอะไรลงมาก็พร้อมรับ เพราะนายก็คือนาย นายคือผู้บังคับบัญชา แต่หากนายใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ อย่าไปแบ่งฝักฝ่ายจนกลายเป็นกลุ่ม หรือไปพึ่งพระแบบเรื่อยเปื่อย ถ้าไม่เดินตามกฎหมายอนาคตคนที่เดือดร้อนคือตัวเราเอง แต่ต้องไม่ไปก้าวก่ายฝ่ายบริหารและทำผิดระเบียบวินัย 

      นายกฯ กล่าวว่า ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องลืมเรื่องเก่าให้หมด เริ่มต้นกันใหม่ เรามี หน้าที่การทำงาน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนต่างพระเนตรพระกรรณ วันนี้เราต้องการเคลียร์ทุกอย่างให้สะอาดจะได้ภาคภูมิใจในหน่วยงานของทุกคน จะได้กลับมาเป็นพี่เป็นน้องกันเหมือนเดิม 

ยืนยันไม่ได้บ้าอำนาจ 

      นายกฯ กล่าวว่า ข้าราชการทุกคนต้องวางแผนการทำงานเหมือนวางแผนชีวิต แต่ตนไม่เคยวาง ทำงานไปเรื่อยๆ อยู่ชายแดน ทหารส่วนใหญ่ที่ก้าวหน้าใช้วิธีการแบบนี้ นายจะทะเลาะจะโกรธกันก็เป็นเรื่องของนาย ถ้าเราไปเข้าข้างใครวันข้างหน้าก็จะมีปัญหาย้าย ล้างบาง แล้วหน่วยงานจะอยู่ได้อย่างไร คนดีๆ ก็ลาออก คนที่เหลืออยู่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องจัดระเบียบให้ดี ไม่ใช่วางแผนว่าภายใน 3 ปีต้องเป็นนั่นนี่ ก่อนเกษียณต้องเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไม่ได้ 

        "ให้วางแผนชีวิตตามห้วงเวลา ไม่ให้ถูกดอง ย้ายทิ้ง ทุกอย่างจะเดินไปตามครรลองเอง มีหลายปัจจัยทั้งความรู้ ความสามารถ โชควาสนา ช่วงเวลาก็เหมาะสม และอย่าให้เคารพกันด้วยอำนาจ มีหลายคนว่าตนบ้าอำนาจนั้นไม่เป็นความจริง ถ้าบ้าอำนาจคงไม่มีแบบนี้ สั่งอย่างเดียวก็จบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ไม่ใช้ม.44-จะเอาอยู่หรือ

        พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันที่ 31 มี.ค. ทูตแคนาดาเข้าพบตนบอกว่าดีใจที่ได้พบ ตื่นเต้นนอนไม่หลับทั้งคืน ตนเลยบอกว่าก็นอนไม่หลับ เช่นกันที่จะได้เจอท่าน เพราะก่อนหน้านี้ไปพบ คนอื่นๆ ไปฟังข้างโน้นมาแต่ไม่ค่อยฟังรัฐบาล ความเข้าใจก็ผิดเพี้ยนไปหมดสำหรับต่างประเทศ ทุกคนต้องช่วยกันอธิบายว่าประเทศ ไทยมีความเป็นมาอย่างไร

      นายกฯกล่าวว่า วันนี้เถียงกันอยู่นั่น รัฐธรรมนูญ กฎอัยการศึก มาตรา 44 ต้องดูว่าเขาทำเพื่ออะไร ถ้าผู้บริหารเอากฎหมายเหล่านี้มาเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน นำไป สู่การเผื่อแผ่แบ่งปัน ลดความเหลื่อมล้ำ บางคน บอกแรงเกินไปในการใช้มาตรา 44 ถ้าไม่ใช้แล้วสถานการณ์จะเอาอยู่หรือ ทุกวันนี้ก็ออกมาพูดกันปาวๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่รู้ว่านายใครบ้าง แต่วันนี้ตนรับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่เข้ามาเป็นคสช. ตนตั้งใจแก้ปัญหา ต้องรับผิดชอบ ทุกคนก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับตน คนไทยวันนี้ถูกปลูกฝังว่าอะไรได้ก็เอา อะไรเสียบาทเดียวก็ไม่ให้ ตนต้องการเข้ามาแก้ไขเพื่ออนาคตไม่ได้ต้องการผลประโยชน์

ลั่นไม่ใช่เผด็จการยึดบ่อน้ำมัน 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกใช้ในการแก้ปัญหา เพราะก่อน 22 พ.ค. แก้ไขอะไรไม่ได้เลย เลือกตั้งก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป มีคนตาย เจ็บ ไม่มีคนแก้ปัญหา ควบคุมไม่ได้ เป็นการบริหารที่ล้มเหลว กฎอัยการศึกที่ใช้นั้นแค่ควบคุมตัวคนมาสอบสวน ก่อนหน้านี้ทุกคดีแก้ปัญหานำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ วันนี้เราจะทำทุกอย่างกลับคืนสู่ปกติ ใช้กฎหมายเป็นแค่กรอบและสร้างความรู้ สร้างวุฒิภาวะ ปรับทัศนคติคนใหม่ให้อยู่ร่วมกันได้ 

       นายกฯ กล่าวว่า ต้องใช้เวลาเท่าไรคงตอบยาก แต่เชื่อว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี วันนี้รัฐธรรมนูญยังเถียงกันไม่เลิก จะเลือกตั้งได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ จะต้องให้บังคับเลือกตั้งหรือเปล่า เลือกตั้งแล้วจะเดินขบวนกันอีกหรือไม่ ถ้าพรรคนี้มาอีกพรรคจะยอมหรือไม่ จะมีใครออกมาอีก วันนี้รู้ว่าทุกคนรอว่าเมื่อไรจะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วเราจะยอมให้ประเทศมีปัญหาอีกหรือ

      "ผมไม่ใช่เผด็จการอย่างที่หลายประเทศว่าเราวันนี้ ยึดบ่อน้ำมัน ยึดที่ยึดทาง ไม่เคยทำ พูดกันอยู่ได้ว่าเป็นเผด็จการ กฎอัยการศึกซึ่งมีอยู่ 17 มาตรา ใช้เพียง 2 มาตรา คือจับกุม กุมขัง สอบสวนผู้ที่ผิดกฎหมาย ละเมิดสถาบัน และไม่กลัวกฎหมายปกติ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่าวันนี้ออกมาขนาดนี้ยังไม่กลัวกันเลย อีกหน่อยก็ออกไปรวมอยู่เมืองนอกกันหมด ทุกประเทศที่มีความขัดแย้งมากๆ ก็ต้องมีกฎหมายนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปลดล็อก อะไรได้สักอย่าง อย่าง เช่นก่อนวันที่ 22 พ.ค. ทำอะไรได้บ้าง เอารัฐธรรมนูญ เอากฎหมายปกติมาสู้กัน ประชาชนล้มตายทุกวัน อยากให้เข้าใจบ้าง

ยูเอ็นจี้หยุดคุกคามสื่อ-ห่วงใช้ม.44 

      นายเดวิด ไคย์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านเสรีภาพทางความคิดเห็น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการโดยพลัน เพื่ออนุญาตให้มีพื้นที่อภิปรายถกเถียงและเสรีภาพในความคิดเห็น และขอประณามถ้อยคำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าตนมีอำนาจในการปิดสื่อ จับ และยิงเป้า ถ้อยคำลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ นักข่าวทำหน้าที่ฉายภาพให้เห็นว่ารัฐบาล ได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หรือมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริต ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การข่มขู่คุกคามนักข่าวจึงเป็นการโจมตีสิทธิสาธารณะที่ได้รับรู้ข้อมูล ซึ่งไม่มีข้อมูลใดบ่งชี้ว่าพล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องตลก

     นายเดวิด กล่าวว่า ประเทศไทยควรยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็กังวลต่อการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาบังคับใช้ มาตรานี้ ให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่มีขอบเขตในการสั่งการ มีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และตุลาการ 

       "รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงต้องเคารพบทบาทหน้าที่ของนักข่าวเท่านั้น แต่ควรต้องประณามอย่างเปิดเผยต่อการข่มขู่คุกคาม การโจมตีนักข่าวในทุกรูปแบบโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุด และรับประกันไม่ให้ใครถูกข่มขู่คุกคามได้" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯกล่าว และว่าขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีต่อผู้มีความเห็นต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต

ฮิวแมนฯชี้ไทยถอยหลัง

       องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ แสดงความวิตกกังวลหลังพล.อ.ประยุทธ์เตรียมใช้กฎหมายตามมาตรา 44 ว่ากฎหมายมาตรานี้ให้อำนาจหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ หัวหน้าคสช.แค่ต้องรายงานต่อสนช.ภายหลังเท่านั้น คาดภายใต้มาตรา 44 การไต่สวนประชาชนด้วยศาลทหารในหลายคดีจะดำเนินต่อไปและทหารยังคงมีอำนาจควบคุมตัวบุคคล เหมือนเดิม การนำมาตรา 44 มาใช้จะทำให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกแต่ไม่ได้หมาย ความว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลยังคงมีอำนาจตามกฎหมาย ปราบปรามผู้ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ระงับกิจกรรมทางการเมือง ปิดกั้นสิทธิการแสดง ออก 

        นายแบรด อดัมส์ ผอ.ฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุว่าการนำมาตรา 44 มาใช้จะทำให้ประเทศไทยถอยหลังสู่ความเป็นเผด็จการมากขึ้น และประเทศพันธมิตรของไทยไม่ควรหลงกลรัฐบาลไทยที่ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วนำกฎหมายที่ให้อำนาจไม่จำกัดมาใช้แทน พร้อมยังเรียกร้องให้ประเทศพันธ มิตรกดดันไทยในกรณีนี้ด้วย 


มท. 123 ปี - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานวางพานพุ่มดอกไม้ถวายสักการะ และพิธีบวงสรวงพระอนุสาวรีย์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 123 ปี ที่หน้ากระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

      นายอดัมส์ กล่าวว่า การกระทำของพล.อ. ประยุทธ์ที่เพิ่มความเข้มงวดในอำนาจมากกว่าที่จะผ่อนคลาย ทำให้การฟื้นฟูระบบกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยต้องล่าช้า และประเทศพันธมิตรของไทยต้องเพิ่มแรงกดดันเพื่อต่อต้านกฎหมายที่อันตรายนี้ 

ถกแม่น้ำ 5 สาย 7 เม.ย.

        ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิปสปช. เผยว่า วันที่ 7 เม.ย. เวลา 15.00 น. จะมีการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย คือ คสช. ครม. สนช. สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นการรายงาน ความคืบหน้าการทำงานของแม่น้ำแต่ละสาย และกมธ.ยกร่างฯจะรายงานร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่เสร็จแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ให้ที่ประชุมทราบ ขณะเดียวกันเรื่องการปฏิรูปใน 18 ด้าน กรอบวิสัยทัศน์ หรือ blue print ก็มีความคืบหน้าเข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 3 โดยพิมพ์เขียวปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านช่วงวางแนวทางหลัก วิสัยทัศน์และเป้าหมายแล้ว รวมถึงการออกแบบกลไกวิธีการปฏิรูปแต่ละด้านมีความคืบหน้าไปมากแล้ว นอกจากนี้ จะหารือการนำเสนอกฎหมายการปฏิรูป กฎหมายตามนโยบายรัฐบาล คาด คสช.และรัฐบาลจะรายงานเรื่องการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกให้ทราบด้วย

     นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.00-18.00 น. สปช.และกมธ.ยกร่างฯจะจัดสัมมนาที่ห้องประชุมห้องราชนครินทร์ อาคาร นครินทรศรีราชนครินทร์ สภาการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ จะชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่เสร็จในที่ประชุม รวมถึงนำเสนอตัวร่างรัฐธรรมนูญให้สมาชิก สปช.รับทราบ มีการตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสปช.กับกมธ.ยกร่างฯ ทั้งนี้ จะทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในวันที่ 20-26 เม.ย.ที่ขณะนี้สมาชิกยังคงมีความเห็นไม่ตกผลึก และการเตรียมความพร้อมขั้นตอนกระบวนการยื่นคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

กมธ.ปรับที่มานายกฯ

       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงหลัง การประชุมกมธ.ยกร่างฯว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาทบทวนมาตรา 182 ที่ให้ใช้เสียงส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกนายกฯ ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มเติมว่า หากจะเลือกนายกฯคนนอกต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของส.ส.ทั้งหมด ส่วนวาระให้มี 4 ปีทุกกรณี เพื่อเปิดช่องในยามวิกฤตที่สภาต้องการคน นอกมาทำหน้าที่ เช่น ในเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่บ้านเมืองไม่มีทางออกจนนำมาสู่การรัฐประหาร 

แก้ที่มาส.ว.-ลากมาเลือก

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังปรับแก้ไขที่มา ส.ว. มาตรา 121 ให้คงส.ว. 200 คน แต่เปลี่ยนให้มีที่มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรก มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยตั้งคณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละด้านและคัดให้เหลือผู้สมัคร 10 คน จาก 10 ด้าน จากนั้นให้ประชาชนเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยรายละเอียดคณะกรรมการและคุณสมบัติของ ผู้สมัครจะบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว.จัดพร้อมวันเลือกตั้ง ส.ส. และมอบให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) เป็นรับผิดชอบ

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มที่สอง มาจากการเลือกตั้งกันเอง 65 คน โดยมาจากอดีตข้าราชการพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เป็นตำแหน่งบริหารไม่เกิน 10 คน ข้าราชการฝ่ายทหารที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส.หรือผบ.เหล่าทัพที่เลือกตั้งกันเอง ไม่เกิน 10 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งไม่เกิน 15 คน และจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรด้านเกษตร ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและ ท้องถิ่น ไม่เกิน 30 คน 

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มที่สาม สรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 58 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การสาธารณสุข การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผังเมืองทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่นๆ โดยจะตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน

       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า วาระดำรงตำแหน่งให้มี 6 ปี แต่ใน 3 ปีแรก กำหนดให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกันเอง 65 คน และส.ว.ที่จากการสรรหา 58 จับสลากออก 35 คน เพื่อให้มี ส.ว.รวม 100 คน พ้นจากตำแหน่งในช่วงแรกก่อน แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง สามารถกลับมาใช้สิทธิลงสมัครเป็นส.ว. ได้อีก เพื่อให้การทำหน้าที่ของ ส.ว. มีความต่อเนื่อง 

ขวาง'ปื๊ด'ปธ.อภิปรายร่างรธน. 

       ที่โรงแรม เดอะสุโกศล นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "สภาปฏิรูปแห่งชาติกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ว่า สัมพันธภาพของ สปช. กับ กมธ.ยกร่างฯลึกซึ้ง เทียบเหมือนในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ พระเจ้าเหน็บซี่โครงของ อดัม มาสร้างอีฟ คือเอาจากสปช. 20 คน ไปเป็นกมธ.ยกร่างฯ ความผูกพันแน่นแฟ้น ในวันอภิปรายรัฐธรรมนูญร่างแรกวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ มีคำถามว่ารองประธานสปช.คนที่ 1 ที่เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ได้หรือไม่ ตนเห็นว่าทำได้ แต่น่าเกลียดเพราะต้องชี้แจงและตอบคำถามของสมาชิก 

       นายเทียนฉาย กล่าวว่า เป็นไปได้ว่ากมธ.ยกร่างฯ จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. แล้วนับไปอีก 10 วัน ซึ่งตนจะออกวาระให้สมาชิกมาประชุม ไม่น้อยกว่า 3 วัน ช่วงวันเสาร์-วันอาทิตย์ต้องทำสำเนาร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 250 ชุด ให้สมาชิกอ่านก่อนอภิปราย จึงตัดสินใจจะเริ่มอภิปรายวันที่ 20 เม.ย. ถ้าอภิปรายเสร็จวันที่ 26 เม.ย. ทั้งสปช. ครม. และคสช. อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้จนถึงวันที่ 25 พ.ค. จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ กลับไปทำร่างรัฐธรรมนูญ 

ต้นสิงหาได้เห็นรธน. 

        นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ปลายเดือนก.ค. กมธ.ยกร่างฯเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อ สปช. อีกครั้งเพื่อให้ความเห็นชอบ ต้นเดือนส.ค.ก็รู้เรื่อง เพราะ ยังไม่มีวาระพิจารณาประชามติ ส่วนที่มีข้อสังเกตเรื่องการสืบทอดอำนาจผ่านตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาตินั้น เป็นเพราะภาระของสปช.คือให้ข้อเสนอแนะปฏิรูป ซึ่งก่อนวันที่ 22 พ.ค. เกิดเหตุต่างๆ มาก สปช.จับงานปฏิรูปอะไรก็เป็นประเด็นปัญหา ดังนั้น ถ้าปฏิรูปจริงๆ ไม่สำเร็จภายใน 1 ปี ยืนยันไม่ใช่การสืบทอด แต่เป็นวอตช์ด็อก (Watch Dog) ของประชาชนชาวไทย 

      นายเทียนฉาย ให้สัมภาษณ์ถึงการสัมมนาระหว่างสปช.และกมธ.ยกร่างฯวันที่ 9 เม.ย.นี้ ว่า เพื่อเตรียมความพร้อมอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกวันที่ 20-26 เม.ย. สปช.บางส่วนเห็นว่าน่าจะแบ่งเวลาแต่ละหมวดไม่เท่ากัน จึงต้อง หารือให้ได้ข้อสรุป ส่วนการขยายเวลาอภิปราย ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. ไม่สามารถทำได้ เนื่อง จากต้องมีเวลาจัดส่งเอกสารและให้สมาชิกศึกษา

นายกฯสั่งทำความเข้าใจปม"ม.44" 

เวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล มีรองนายกฯ ทั้ง 5 คน พร้อมพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกฯ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าร่วม

       เวลา 16.15 น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่ามีการรายงานการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯ 2558 และมีการสรุปผลการดำเนินงานของ คตร. โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และศูนย์ปฏิบัติการของนายกฯ สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เข้าใจและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในระยะที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม มอบม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ร่วมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายไตรมาส ให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กระทรวงมหาด ไทยสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการอย่างเข้มงวด

       รายงานข่าวแจ้งว่า นายกฯ สั่งการให้นายสุวพันธุ์ และศูนย์ปฏิบัติการของนายกฯ เร่งสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้งและดำเนินการตามกรอบกฎหมาย รวมทั้งสร้างความเข้าใจในการบังคับใช้มาตรา 44 ด้วย

วิษณุชี้ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว 

        เวลา 17.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์มาตรการรองรับเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกว่า มาตรา 44 เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แต่พ.ร.ก. ฉุกเฉินและพ.ร.บ.ความมั่นคงยิงนกได้แค่ตัวเดียว มาตรการที่จะนำมาใช้คือ การนำคดีไปสู่ศาลโดยไม่ต้องออกเป็นกรอบ เพราะมาตรา 44 คือกรอบอยู่แล้วแต่ต้องให้เข้าเกณฑ์ เหมือนที่เคยใช้มาแล้วครั้งหนึ่งกรณียืดอายุสมาชิกสภาท้องถิ่น ครั้งนี้ใช้เพื่อรักษาความสงบ 

       นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯ ปรารภว่าต้องนำมาตรา 44 มาใช้สร้างสรรค์ ไม่ใช่คุกคามหรือทำให้ใครเดือดร้อน หากมีใครเดือดร้อนจากมาตรา 44 ก็ตอบว่ามีกลไกรองรับ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ เมื่อประกาศก็จะรู้อยู่แล้ว ในตัวคำสั่งสามารถประกาศใช้ได้ทันทีหากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งมีทางเลือกอยู่ 2-3 ฉบับที่หยิบขึ้นมาดำเนินการได้ ต้องบอกว่าพร้อม ไม่ถึงขนาดเขียนใหม่ หากออกประกาศมาแล้วยังไม่เข้าใจ ถ้าจำเป็นตนอาจต้องชี้แจงอีกครั้ง การออกคำสั่งต้องเข้าหลักเกณฑ์และต้องมีความจำเป็น ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นได้และอาจล่าช้าจนเกิด ความเสียหาย โดยออกเป็นคำสั่ง คสช. 

แก้ปัญหาศาลเดียวจบ 

     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่ามาตรา 44 จะมีเรื่องมาตรการเยียวยานั้นไม่ได้แปลว่าแจกเงิน แต่หมายถึงเรื่องใดที่บรรเทาความเดือดร้อนในอดีต เรื่องศาลก็ถือเป็นการเยียวยาชนิดหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาเดือดร้อนกันว่าการขึ้นศาลม้วนเดียวจบไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ ก็ต้องพิจารณา โดยหลักแม้จะยกเลิกกฎอัยการศึกยังต้องขึ้นศาลทหารศาลเดียวจบ เพราะการประกาศกฎอัยการศึกเป็นเรื่องของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 แต่การที่พลเรือนขึ้นศาลทหารไม่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เป็นผลมาจากประกาศ คสช. ฉะนั้นแม้ยกเลิกกฎอัยการศึกแต่คำสั่ง คสช.ยังอยู่ เมื่อจะไม่ให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่จึงใช้มาตรา 44 โดยพ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้


ล้างสุขา - นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา สาธิตล้างส้วมสาธารณะให้สะอาด ได้มาตรฐานเพียงพอสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กทม. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

        ส่วนที่นายกฯ ระบุจะมีศาลทหาร 3 ศาลในการพิจารณาคดี นายวิษณุปฏิเสธว่า ไม่ขอตอบเดี๋ยวจะผิด ยังมีขั้นตอนเลยจากนี้อีก เมื่อถามว่ามีข้อกังวลทั้งในและต่างประเทศว่าคำสั่งที่จะประกาศใช้จะเป็นไปในเชิงที่ไม่สร้าง สรรค์มากกว่า นายวิษณุกล่าวว่า เห็นใจคนที่ตีตนไปก่อนไข้ แต่เมื่อเห็นแล้วก็อาจจะไม่ตีตนไปก่อนไข้ เมื่อรังเกียจกฎอัยการศึกแล้วใครที่ไหนจะออกอะไรให้แย่กว่ากฎอัยการศึกคงไม่มีแล้ว

ไม่ตอบเลิกประกาศคสช. 3 ฉบับ

       เมื่อถามว่า คำสั่งมาตรา 44 จะตีกรอบอำนาจเจ้าหน้าที่ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเพราะต้องเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นดาบสองคม แง่หนึ่งคุ้มครองเจ้าพนักงาน แต่หากไปทำอะไรผิดโทษจะหนักกว่าตอนที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน เพราะต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าธรรมดา 

       เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37, 38, 50 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ หากตอบไปแล้วไม่เข้าใจจะเกิดจินตนาการ อย่าตอบดีกว่า หากเห็นคำสั่ง คสช.ออกมาจะเข้าใจในตัวของมันเอง เมื่อถามว่าแสดงว่ามีมาตรการ 3-4 แบบให้เป็นตัวเลือกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช.ต้องเลือกขึ้นมา เพราะจะมีสถานการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ต้องไปชั่งน้ำหนักว่าสถานการณ์แบบใดใช้แบบที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งสถานการณ์วันนี้ตีแผ่อยู่แล้ว คนที่คุ้นกับการรักษาความมั่นคงจะรู้ว่า เป็นโรคอะไร จะได้ใช้ยาให้ถูกกับโรคนั้น

นิรโทษอยู่ในข่าย 

       เมื่อถามว่า มาตรา 44 จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จได้ หรือไม่ หากในอนาคตเมื่อประกาศรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรแล้วเกิดความวุ่นวายขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ ขอให้เห็นคำสั่งแล้วจะเข้าใจ เพราะคำสั่งจะล็อกกับสถานการณ์ ถ้าสถาน การณ์อื่นใช้ไม่ได้จะต้องไปหาอย่างอื่น เช่น ประกาศกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งใหม่ แต่ไม่ใช่จะใช้เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวออกคำสั่งใดๆ ให้ครอบจักรวาล หากเป็นแบบนั้นจะไม่ปลอดภัยกับประชาชน เมื่อประกาศคำสั่งออกมาแล้วรัฐบาลหรือ คสช.อาจต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องเทคนิค

     เมื่อถามว่า จะใช้มาตรา 44 ในเรื่องปรอง ดองหรือปฏิรูปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันหนึ่งข้างหน้าอาจเห็นมาตรา 44 ทำเรื่องปฏิรูปก็ได้ เมื่อถามว่ามีโอกาสจะเห็นมาตรา 44 ในเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ในข่ายถ้าจะใช้ก็ได้ 

ตร.-ทหารเข้มน.ศ.จัดงาน

     เวลา 16.30 น. ที่อาคาร บร.1 ห้อง 202 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (ซีซีพี) จัดแสดงละครเพลง "ความสุขในบทเพลง ที่บรรเลงใต้พุ่มไม้เขียว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานนิทรรศ การการเมือง มธ. โดยเป็นละครประกอบบทเพลงว่าด้วยตำนานการต่อสู้ของนักศึกษา นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเผชิญความสูญเสียเท่าไร ก็ไม่เคยหยุดยั้งความหวังของพวกเขาได้

       กิจกรรมภายในงานมีการแสดงละครเพลง ที่ประมวลถึงเหตุการณ์หลังทำรัฐประหาร ของ คสช.ว่า เสรีภาพในทางวิชาการเป็นอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เป็นละครที่เชื่อมโยงกับสถาน การณ์ปัจจุบัน มีทั้งการกล่าวถึงการกินอาหารและการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ยังมีการเล่นดนตรี อ่านบทกวี โดยมีผู้สนใจเข้าชมจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ และสอบถามชื่อนักศึกษาที่ร่วมจัดกิจกรรมแต่ ไม่ได้ห้ามการจัดงานแต่อย่างใด

โปรดเกล้าฯยกเลิกกฎอัยการศึก 

       เวลา 21.30 น. ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พ.ค. 2557 ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณา จักร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เวลา 03.00 น. และประกาศคสช. ฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นมานั้น บัดนี้ สถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว

     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลบังคับใช้อยู่ในวันที่ 19 พ.ค.2557 

      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ประกาศวันที่ 1 เม.ย. 2558 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ใช้ทันที 

     จากนั้นมีประกาศ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตามที่บัดนี้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว สมควรมีมาตรการดำเนินการกับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. และการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดังนั้น หัวหน้าคสช.จึงเห็นจำเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวให้ลดน้อย หรือ หมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่ง ดังนี้

ข้อ 1 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในคำสั่งนี้

"เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคสช.แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

"ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบ ร้อย" หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคสช.แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

เร่งปราบ4ฐานความผิด 

ข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบ ร้อยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการ กระทำอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว

(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุน ปืน และวัตถุระเบิด สำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม

(4) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.

คงอำนาจจับ-ตรวจค้น-ยึดอายัด

ข้อ 4 ในการดำเนินการตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ 3

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวน

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4)

(6) กระทำการอื่นใดตามที่ คสช.มอบหมาย

มีอำนาจสั่งปิดสื่อได้ 

ข้อ 5 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความ อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการออกคำสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกำหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งด้วยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคสช.จะกำหนด หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

ควบคุมตัวได้ 7 วัน 

ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานฯมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

      เมื่อมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคล ที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานฯในฐานะเป็นพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

       ข้อ 7 ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานฯมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานฯปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ตามที่เจ้าพนักงานฯสั่งการหรือมอบหมาย

      ข้อ 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานฯและผู้ช่วยเจ้าพนักงานฯ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

       ฝ่าฝืนเจอคุก 1 ปีปรับ 2 หมื่น 

       ข้อ 9 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานฯตามข้อ 4 (1) ข้อ 5 หรือข้อ 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ข้อ 10 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานฯในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ข้อ 11 ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทำ ความผิดตามข้อ 3 (4) เจ้าพนักงานฯอาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้

      เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ตามมาตรา 39 (2) ถึง (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

       เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน

       ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการ ปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ชุมนุมเกิน 5 คนโทษคุก 6 เดือน 

       ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช.หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย

        ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ที่สมัครใจ เข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานฯ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วันและเจ้าพนักงานฯเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16 ) พ.ศ. 2529

       ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ข้อ 13 การกระทำตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

คุ้มครองเจ้าพนักงาน 

      ข้อ 14 เจ้าพนักงานฯและผู้ช่วยเจ้าพนักงานฯที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

       สั่งวันที่ 1 เม.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

"นพดล"ถอนฟ้องชั้นฎีกา"สนธิ"หมิ่น

        เวลา 09.50 น. วันที่ 1 เม.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.1488/2550 ที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี, บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้จัดทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล นายพชร สมุทวณิช นายขุนทอง ลอเสรีวานิช ทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ไทยเดย์ฯ, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้จัดทำเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ และนายวิรัตน์ แสงทองคำ กรรมการบริษัท แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328, 332 จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2550 นายสนธิ จำเลยที่ 1 จัดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์"ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี กล่าวหานายนพดล โจทก์ ทำนองว่าเป็นคนอกตัญญูทรยศต่อทุนหลวง

       คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกนายสนธิ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับบริษัทไทยเดย์ฯ และบริษัทแมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 2 และที่ 6 คนละ 20,000 บาท และให้ยึดทำลายแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง และทำลายข้อมูลในเว็บไซต์ พร้อมให้จำเลยที่ 1, 2 และ 6 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษเหลือจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 3 วัน ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยยื่นฎีกา

     ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้นายนพดล โจทก์ได้ยื่นขอถอนฟ้องระหว่างฎีกา ซึ่งคดีนี้ เป็นคดีอาญาในความผิดต่อส่วนตัวเมื่อสอบถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ 

     นายสนธิ กล่าวภายหลังว่า คดีนี้โจทก์ยื่นถอนฟ้องคดีจึงสิ้นสุด ตนไม่ทราบเช่นกันว่าโจทก์ถอนฟ้องเพราะอะไร 

    ด้านนายนพดลให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สั้นๆ ว่าขอสอบถามรายละเอียดกับทางทนาย ความก่อน

     รายงานข่าวเผยว่า การถอนฟ้องเป็นการตัดสินใจของนายนพดล เพียงคนเดียว โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ทราบเรื่องมาก่อน

ตั้งทีมสอบคดี 99 ศพชุดใหม่

     รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานสอบสวนเกี่ยวกับคดี 99 ศพ ประชุมวางแนวทางการสอบสวนและทบทวน เพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่า มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณ เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่อง จึงตั้งชุดใหม่ โดยดีเอสไอแต่งตั้ง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว และพ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ เข้ามาดูแลการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคดีที่เหลือ มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรม เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. และรองอธิบดีทั้ง 3 คน เป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน 

     แบ่งพื้นที่สืบสวนสอบสวนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ และผบก.น.2 เป็นหัวหน้าชุด รับผิดชอบพื้นที่แยกคอกวัว, ถ.ตะนาว, ถ.ดินสอ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 26 ศพ รวม 8 คดี กลุ่มที่ 2 พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ และผบก.น.1 เป็นหัวหน้าชุด รับผิดชอบ พื้นที่ ถ.ราชปรารภ, ย่านดินแดง และซอยรางน้ำ มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ รวม 4 คดี กลุ่มที่ 3 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ และผบก.น.5 เป็นหัวหน้าชุด รับผิดชอบบริเวณ ถ.พระรามที่ 4, ศาลาแดง, ลุมพินี และบ่อนไก่ มีผู้เสียชีวิต 36 ศพ รวม 22 คดี และในส่วนของ 6 ศพ ที่เสียชีวิต ในบริเวณวัดปทุมวนาราม รวม 89 ศพ 34 คดี 

     รายงานข่าวแจ้งว่า คดีเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายแล้ว 28 ศพ ซึ่งดีเอสไอสรุปสำนวนส่งให้อัยการ 10 ศพ อยู่ระหว่างสอบสวนของดีเอสไอ 18 ศพ ในจำนวน 10 ศพ ประกอบด้วย 6 ศพ วัดปทุมวนาราม นายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ นายชาติชาย ซาเหลา และนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ยังเหลือสำนวนที่ดีเอสไอส่งให้ บช.น.ไปชันสูตรพลิกศพ 56 ศพ บช.น.ยังไม่ได้ส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอ และมีสำนวนคดี ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนการตายของศาล 5 ศพ 1 ใน 5 ศพ คือนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพ สำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น 

      สำหรับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ และตำรวจที่เข้ามาช่วยคดีนี้นั้นเนื่องจากนายกฯ มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มี.ค.2558 แต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจที่นำโดยพล.ต.ท.ศรีวราห์ เพื่อร่วมสอบสวนกับนางสุวณา และพนักงานอัยการ วางกรอบแนวทางการสอบสวนในคดี 99 ศพที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้เหลือสำนวน 87 ศพ โดยดีเอสไอส่งสำนวนที่พิจารณาเสร็จ คือ นายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา ให้อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2556 

       คดีนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ ร่วมกับพระสุเทพ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กล่าวหากระทำความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเม.ย.-19 พ.ค.2553

ตำรวจตั้ง 5 ข้อหาผจก.โบนันซ่า

       วันที่ 1 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมา กรณีพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกองทัพภาค 2 ตรวจสอบพื้นที่บริเวณสนามแข่งรถโบนันซ่า เขาใหญ่ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหินนั้น เวลา 09.00 น. นายนิธิศเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล ผู้จัดการดูแลสิ่งแวดล้อมกิจกรรม โบนันซ่า เขาใหญ่ เดินทางเข้าพบพ.ต.ต.สายันต์ จันทะปัญญา พนักงานสอบสวนสภ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นำเอกสารการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่บริเวณเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และสนามแข่งรถ ประกอบด้วย บปท.5 ส.ป.ก. และน.ส.3 ก. จำนวน 55 ไร่ หลังสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตั้ง 5 ข้อหา ความผิดบุกรุกพื้นที่ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายนิธิศเชษฐ์ให้การปฏิเสธก่อนนำหลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาทประกันตัว

      พ.ต.ต.สายันต์ จันทะปัญญา พนักงานสอบสวนเผยว่า ต้องส่งเอกสารเกี่ยวกับที่ดินตามที่ผู้ต้องหานำมาแสดงถึงหน่วยงานที่ดินเพื่อยืนยันว่าผู้ถือครองคือใคร ถึงจะดำเนินการตามขั้นตอน กฎหมายต่อไป

      พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 เผยว่า หลังเข้าตรวจสอบในพื้นที่คณะทำงานจะติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินคดีจากกรมป่าไม้ จากการลงพื้นที่พบเป็นความผิดซึ่งหน้า คือแผ้วถางที่ดินป่าสงวนฯ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 10 หลังคาเรือน สร้างสนามแข่งรถที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยมีเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ ตรวจเอกสารสิทธิที่นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประมาณ 47 ไร่ และที่ไม่มีเอกสารนำมาแสดงกว่า 100 ไร่ ยืนยันจะนำพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนมาอย่างแน่นอน

 

 

โปรดเกล้าฯเลิกอัยการศึก บิ๊กตู่ใช้ม.44 สั่ง14ข้อ-อำนาจทหารอื้อ ให้ค้น-จับ-ยึด-เรียกตัว คุมได้ 7 วันแต่ห้ามขังคุก เข้มสื่อ-เน้น 4 ความผิด กมธ.แก้ที่มานายกฯ-สว.

เปิดบ้าน - นายเสนาะ เทียนทอง อายุ 82 ปี เปิดบ้านต้อนรับแขกเหรื่อ ข้าราชการ รวมทั้งนักการเมือง ที่เข้าอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิด ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 10 ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน

        กมธ.ถอยปรับที่มานายกฯ-ส.ว. เป็น'คนนอก'ต้องโหวต 2 ใน 3 'บิ๊กตู่'ลั่นใช้ ม.44 แค่บางส่วน ยันเพื่อแก้ปัญหา 'ป๋าเหนาะ'วัดใจให้ใช้ดุลพินิจ

 

@ "บิ๊กตู่"แจงไม่ใช่เผด็จการ

 

     เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่นเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน พร้อมให้โอวาทแก่ข้าราชการดีเด่นจากทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า "ไม่ใช่เผด็จการอย่างหลายประเทศว่าเราวันนี้ ยึดบ่อน้ำมันยึดที่ยึดทาง ผมไม่เคยทำ พูดกันอยู่ได้ว่าเป็นเผด็จการกฎอัยการศึกมีอยู่ 17 มาตรา ใช้เพียง 2 มาตรา คือจับกุม กุมขัง สอบสวนผู้ที่ผิดกฎหมาย ละเมิดสถาบัน และไม่กลัวกฎหมายปกติ แต่วันนี้ออกมาขนาดนี้ยังไม่กลัวกันเลย อีกหน่อยก็ออกไปรวมกันอยู่เมืองนอกกันหมด เพราะบ้านเขาไม่เป็นแบบนี้ แต่เราเป็นคนไทยต้องทำ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศที่มีความขัดแย้งมากๆ ก็ต้องมีกฎหมายนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปลดล็อกอะไรได้สักอย่าง อย่างเช่น ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ทำอะไรได้บ้าง เอารัฐธรรมนูญ เอากฎหมายปกติมาสู้กัน ประชาชนล้มตายทุกวัน อยากให้เข้าใจบ้าง"

 

       นายกฯกล่าวว่า "วันนี้ทุกคนบอกว่า มีปัญหา แล้วที่ทะเลาะกันไม่อายบ้างหรือไง มาบอกว่าผมควรจะอายเพราะใช้กฎอัยการศึก แต่ผมใช้เพราะต้องการหยุดปัญหา หยุดเลือดที่ไหลอยู่ หรือว่าไม่ใช่ ไม่มีใครเลือดไหลเลยหรือ ประเทศไทยเรากำลังเลือดไหล ประชาธิปไตยกำลังล้มพังทลาย ผมต้องไปประคองเท่านั้น ไม่ได้มาทวงบุญคุณอะไร แต่อยากให้เข้าใจ เราพยายามทำทุกอย่าง" 

 

@ ลั่นใช้ม.44 ไม่ยึดอำนาจปชช.

 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรา 44 มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจ คสช.สามารถดำเนินการใดๆ ก็ได้ เขียนมาแบบนั้นไม่ใช่จะมายึดอำนาจประชาชน แต่เขียนให้ตนทำอะไรได้ โดยไม่ได้ไปรอกฎหมายออก ถามว่าจะสั่งอะไรที่ผิดหรือไม่ ตนไม่อายเองเหรอ ได้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา จัดสรรที่ดินทรัพยากรป่าไม้ให้ถูกต้อง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ และค้ามนุษย์ ทุกอย่างแหลกเหลว ขอใช้คำนี้ มีอดีตรัฐมนตรีชอบกล่าวว่ารัฐบาลนี้ชอบเลียนแบบนโยบาย แต่ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมามีแต่นโยบายที่ผ่านมาแต่ไม่ทำ ก็เป็นแบบนั้น "เราเอาทุกอย่างมาทำและจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้าเราทำได้จริงจัง ประเทศคงเป็นมหาอำนาจไปนานแล้ว เรายังเตาะแตะอยู่เพราะตีกัน แต่โชคดีพื้นฐานเศรษฐกิจยังดีกว่าประเทศอื่น แต่ตอนนี้ที่เศรษฐกิจลงเพราะมีกฎอัยการศึก หรือเพราะเศรษฐกิจโลก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเราต้องทำทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ความเชื่อมโยงในประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจพิเศษ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 

 

       นายกฯกล่าวว่า "ขอฝากให้ทุกคนร่วมเดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่ผมเป็นผู้นำแต่ทุกคนเสมอกันหมด ไม่มีช้างเท้าหน้าเท้าหลัง วันนี้ผมใช้มาตรา 44 ปรับแก้ไขปัญหาในบางส่วน และไม่อยากทำร้ายใครเพราะถ้าทำร้ายทุกกระทรวงต้องโดนหมด แต่ขอเข้าใจว่าที่ผ่านมาทุกกระทรวงถูกการเมืองเข้ามาล้วงลูกทั้งหมด ข้าราชการต้องรักกัน ไม่ใช่ตระกูลใครจะมาเป็นนี่เป็นโน่น ผมไม่เอาตระกูลมาทำให้ประเทศชาติเสียหาย ใครสามารถทำอะไรได้ก็ทำ เป็นอะไรได้ก็เป็น ไม่ต้องมาเอาใจผม ไม่อย่างนั้นจะเปลี่ยนนามสกุลใหม่ แต่ก็เสียดายเหมือนกัน เพราะทั้งโลกมีอยู่ชื่อเดียว ใครจะมาตั้งจันทร์โอชา ผมไม่แก้เพราะภูมิใจ อาจจะเชยนิดหน่อย แต่เวลาไปต่างประเทศเขาก็รักผมทุกคน ไม่ได้ดูว่าเป็นจันทร์โอชา"

 

@ ฝ่ายมั่นคงแจงอย่ากังวลม.44

 

        พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การนำมาตรา 44 มาใช้เป็นการนำกฎหมายใหม่มารองรับกฎอัยการศึกประกาศยกเลิก เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้อยากให้สังคมยอมรับและไม่ต้องกังวล นายกฯได้เน้นย้ำว่า กฎหมายใหม่เป็นการนำมาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศเท่านั้น การพิจารณาประกาศใช้มาตรา 44 เป็นหน้าที่ของ คสช.พิจารณา ไม่ใช่หน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จะใช้กฎหมายใหม่ควบคุมสถานการณ์ของประเทศจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นไปตามโรดแมปของ คสช. 

 

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ในฐานะดูแลความมั่นคง อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์แม้ว่าจะดูสงบเรียบร้อย แต่บางสิ่งบางอย่างอาจไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ใน 1-2 เดือนที่ผ่านมายังมีผู้ไม่ปรารถนาดีก่อความไม่สงบขึ้นจึงยังจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ เพราะกฎหมายปกติอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องใช้และมีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อความสงบสุข ดังนั้นอย่าไปกังวลในสิ่งต่างๆ มากนัก เพราะประชาชนดำเนินชีวิตปกติไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ตรงกันข้ามกฎหมายพิเศษจะช่วยให้พลเมืองดีอยู่ได้อย่างมีความสุข เนื่องจากจะใช้กับเหตุการณ์ที่ก่อจะให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเท่านั้นเอง

 

@ หวังต่างชาติเข้าใจเลิกอัยการศึก

 

      เมื่อถามว่าได้ข้อสรุปเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 วัน และการนำพลเรือนที่กระทำความผิดขัดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 37 ขึ้นศาลทหารหรือยัง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย คำสั่ง คสช.ถือเป็นกฎหมาย เมื่อกฎหมายระบุอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเจ้าหน้าที่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และอยู่ในกรอบตามคำสั่งใหม่ออกมาทดแทนกฎอัยการศึก เท่าที่ดูไม่มีสิ่งใดรุนแรงไปกว่าเดิม แต่อาจทำให้บางคนไม่เข้าใจหรือมองในแง่อื่นๆ เรื่องการละเมิดและความรุนแรงอาจจะสบายใจมากขึ้น เนื่องจากบางอย่างเป็นเหตุผลขึ้น เช่น ขอบเขตการลงโทษชัดเจนมากขึ้น เชื่อว่าทุกคนยอมรับได้ ส่วนจะเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับทหารนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่มีการปรับ จากเดิมทหารเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายเดียวในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ร่วมกันปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นก็จะทำงานให้ข้อคิดเห็นและประสานงานร่วมกัน คงทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้น ขอให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาลในกฎหมายใหม่ ยืนยันว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดมาจากความจำเป็นของสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย แม้ภาพรวมจะดูเรียบร้อยก็ตาม

 

       พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงกรณีหากยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้เศรษฐกิจและแรงกดดันจากต่างชาติดีขึ้นหรือไม่ว่า น่าจะดีขึ้น เพราะนายกฯและรัฐบาลได้ใคร่ครวญดีแล้วจากการพูดคุยกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อสิ่งเหล่านี้ออกมา ต่างชาติที่ไม่เข้าใจและวิตกเรื่องกฎอัยการศึกคงให้ความเข้าใจกับเราบ้าง น่าจะทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น ส่วนกรณีสหภาพยุโรปหรืออียูกังวลเรื่องการใช้ ม.44 อาจจะมีผลต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่อยากนำเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวพันกับการเมือง ส่วนจะเกี่ยวพันกันหรือไม่ อยากให้ไปวิเคราะห์กัน เช่นเรื่องเศรษฐกิจจะบีบกันหรือไม่ก็แล้วแต่จะมอง ไม่อยากให้นำมาพัวพันกัน แต่เชื่อว่าภาพรวมเรื่องราวต่างๆ ดีขึ้น อยากให้สื่อช่วยเป็นกำลังใจและสนับสนุน เพราะนายกฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด ปัญหาต่างๆ มีมากมาย จะพยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จ แต่ปัญหานั้นมีมากจึงต้องใช้เวลา และบางอย่างจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหา

 

@ "วิษณุ"แจงแนวทางใช้มาตรา44 

 

       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกต้องทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ รัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลไปแล้ว ตามคำแนะนำของ คสช. ดังนั้นเมื่อยกเลิกแล้วจะมีมาตรการใดรองรับ ทางคณะที่ปรึกษา คสช.เคยทำแนวทางเลือกเสนอนายกรัฐนตรีแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ 1.ใช้กฎหมายอาญาธรรมดา 2.อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน 3.การใช้กฎหมายรักษาความมั่นคงภายใน แต่การใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะหยิบมาใช้ ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อน ต่างจากกฎหมายความมั่นคงภายใน ไม่ต้องประกาศอะไร กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในระดับหนึ่ง เบากว่ากฎอัยการศึก แต่ยังมีข้อจำกัด ถ้านำกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งในนี้มาใช้แทนกฎอัยการศึกก็คงจะพอไปได้ เหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่จะช่วยแก้ปัญหาอะไรบางอย่างที่สมควรจะแก้ไม่ได้ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่ได้เตรียมไว้รองรับบางเรื่อง พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะนำกฎหมาย 2 ฉบับนี้มาเล่นงานใคร 

 

@ พร้อมนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ 

 

      นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อจะนำมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปใช้กับเรื่องใดก็นำไปใช้ให้เข้าเกณฑ์กับมาตรานี้ เช่นการต่อวาระผู้บริหารท้องถิ่น หากสังเกตดู คำว่าท้องถิ่นไม่ได้อยู่ในมาตรา 44 แต่นำมาตรา 44 มาใช้กับเรื่องนี้ มีปัญหาของบ้านเมืองอีกหลายเรื่องอาจต้องนำมาตรา 44 มาใช้ในเชิงสร้างสรรค์ มาแก้ปัญหา ไม่ได้คุกคามหรือทำให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ใคร เช่น กรณีของกรมการบินพลเรือนที่เป็นปัญหา หากใช้มาตรการธรรมดาก็อาจใช้เวลา 5-6 เดือน นี่คือความหมายของคำว่าใช้ในทางสร้างสรรค์ ต้องจำเป็นถึงขั้นไม่สามารถใช้มาตรการอื่นได้แล้ว หรือเกิดความล่าช้าจนเกิดความเสียหาย เมื่อเริ่มต้นจะใช้มาตรา 44 คสช.ต้องหารือ และออกมาเป็นคำสั่ง คสช. 

 

       นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายกังวลหากใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ว่า เห็นใจสำหรับการตีตนไปก่อนไข้ เพราะยังไม่เห็นอะไร เมื่อเรารังเกียจการใช้กฎอัยการศึก ใครที่ไหนจะออกอะไรให้แย่กว่ากฎอัยการศึกอีก คงไม่มีแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องเกิดการรับผิดชอบมากขึ้น เป็นเจ้าพนักงาน เป็นดาบสองคม การเป็นเจ้าพนักงานอย่าดีใจ เพราะไปทำอะไรผิด โทษจะหนักกว่า

 

       เมื่อถามว่า มีมาตรการ 3-4 แบบให้เลือกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช.จะต้องหยิบเลือกขึ้นมา เพราะจะมีสถานการณ์บางอย่างเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจจะต้องไปชั่งน้ำหนักว่าสถานการณ์แบบใด สถานการณ์วันนี้ตีแผ่อยู่แล้ว ดังนั้นคนที่มีหน้าที่คุ้นกับการรักษาความมั่นคงจะรู้ว่าเขาจะสามารถเชื่อได้ว่าจะใช้กับสถานการณ์อะไร และหยิบคำสั่งนั้นมาใช้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นโรคอะไรจะได้ใช้ยาให้ถูกกับโรคนั้น

 

       เมื่อถามถึงกรณีจะใช้มาตรา 44 ในเรื่องของการปรองดองหรือปฏิรูปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันข้างหน้าอาจจะเห็นมาตรา 44 ทำเรื่องของการปฏิรูปก็ได้ ส่วนการนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็อยู่ในข่ายถ้าจะใช้ได้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ที่กระแสสังคมตีตนไปก่อนไข้ เพราะอ่านมาตรา 44 แต่ไม่ได้อ่านคำสั่งที่ออกจากมาตรา 44 จึงทำให้รู้สึกว่าน่ากลัว จริงๆ แล้วอยู่ที่ว่าเราจะนำไปใช้อะไร

 

@ "ยูเอ็น"ประณามคำพูดนายกฯ

 

       ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านเสรีภาพแสดงความคิดเห็นออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ออกห่างจากถ้อยคำข่มขู่ของผู้นำไทยต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมขอให้ไทยออกมาตรการทันทีเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปราย และมีเสรีภาพในการแสดงออก 

 

       นายเดวิด ไคย์ ทูตพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นและการแสดงออกของยูเอ็น กล่าวประณามถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ผู้สื่อข่าวทุกสายทำงานตามหน้าที่ เป็นหนึ่งในเครื่องมือพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ต้องคอยสอดส่องตรวจสอบรัฐบาลว่าปฏิบัติตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ตามความหมายแล้วการข่มขู่ผู้สื่อข่าวก็เปรียบเหมือนกับเป็นการทำร้ายสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสารด้วย ไม่มีเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพูดเล่นเช่นนั้น แต่หากท่านพูดเล่นจริง ความคิดการสังหารผู้สื่อข่าว หรือการปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิถ้อยแถลงของยูเอ็นครั้งนี้มีขึ้นหลังเมื่อไม่นานนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวที่วิจารณ์ตนเอง หรือก่อให้เกิดความแตกแยกอาจถูกประหารชีวิต และว่า ตนเองมีอำนาจปิดสื่อ จับ หรือสั่งยิงเป้าได้

 

@ กลุ่มสิทธิฯออกแถลงกังวลม.44

 

     ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเตรียมยกเลิกใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางใช้กฎหมายใหม่บริหารประเทศทั้งนี้จะยังคงให้ทหารมีอำนาจอย่างครอบคลุมท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าจะส่งเสริมระบบเผด็จการในไทยให้หยั่งรากลึกมากยิ่งขึ้น โดยนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสิทธิมนุษยชน 7 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์เตือนว่าการใช้ ม.44 จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

 

      นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์สวอตช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า "ม.44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะทำให้ไทยหยั่งรากลึกเข้าสู่ระบบเผด็จการมากขึ้น และว่า มิตรประเทศของไทยไม่ควรถูกหลอกด้วยกลอุบายของผู้นำรัฐบาลทหารจะเลิกกฎอัยการศึก และหันมาใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัด และไร้เหตุผลอย่างมีประสิทธิภาพ"

 

      นายอดัมส์ กล่าวต่อว่า "การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งจะทำให้เพิ่มการควบคุมมากกว่าจะผ่อนคลายอำนาจสำหรับการฟื้นคืนการปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคต และความร่วมมือกดดันจากชาติพันธมิตรของไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อการหลีกหนีแนวทางที่เป็นอันตรายเช่นนี้"

 

       ก่อนหน้านี้ นางเมลิซา สวีนนีย์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐจะยินดีต่อการยกเลิกกฎอัยการศึก หากทำให้ประชาชนกลับมามีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่

 

       อย่างไรก็ตาม นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นต่างโดยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การยกเลิกใช้กฎอัยการศึกจะส่งผลให้จำนวนทหารลดลงในพื้นที่ทางภาคเหนือ เป็นฐานเสียงแข็งแกร่งที่สุดของตระกูลชินวัตร พร้อมแสดงความหวังว่า "การละเมิดสิทธิในหลายจังหวัดจะบรรเทาลงเมื่อมีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก"

 

@ "ป๋าเหนาะ"เตือนระวังแตกแยก

 

       ที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว นายเสนาะ เทียนทอง อดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เปิดบ้านต้อนรับข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และอดีตนักการเมืองเข้าร่วมอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 82 ปี ในงานนี้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค พท. ตัวแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำแจกันดอกไม้เข้าร่วมอวยพร รวมทั้งมีอดีต ส.ส.พรรค พท. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค ภท.เข้าร่วม 

 

       จากนั้น นายเสนาะให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาใช้ว่า ในฐานะที่อยู่ในวัยบั้นปลายในชีวิต เป็นคนชายแดนที่เห็นปัญหามาเยอะ อยากจะบอกว่าเป็นห่วงนายกฯ ต้องรับผิดชอบทุกอย่างและเห็นใจหากจะอยู่กันแบบใช้กฎอัยการศึกและการใช้อำนาจกับประชาชนคนไทย ส่วนจะนำมาตรา 44 มาใช้จะดีหรือไม่นั้น ตนเคยค้านรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นกติกาการอยู่ร่วมกันทุกคนอยากให้ประเทศชาติมั่นคงประชาชนอยู่ดีมีสุข อยากบอกนายกฯเลยว่า เป็นห่วงคือคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 การวางดาบไว้ฆ่านักการเมือง อย่าไปเหมาเข่งว่านักการเมืองเลวไปหมด จะทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก ตรงไหนมีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองแล้วไม่เป็นกลาง จะเกิดความแตกแยก 

 

@ เชียร์"บิ๊กตู่"ใช้ถูกทางเป็นฮีโร่

 

       "ถ้านายกฯจะใช้ มาตรา 44 ก็อย่าเพิ่งไปว่าอะไรท่าน เพราะกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายเฉพาะของคนเหนือกฎหมายเพียงคนเดียว กลุ่มเดียวจะใช้ได้ แต่ว่าการใช้ ต้องใช้ดุลพินิจละเอียดอ่อนมาก ต้องเป็นเสาหลักจริงๆ เอียงซ้ายเอียงขวาไม่ได้ แต่ผมเชียร์ถ้าใช้มาตรา 44 จะได้รู้กันว่าการตัดสินใจของนายกฯมาจากทหารจะใช้การปกครองในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากใช้ถูกทางก็จะเป็นฮีโร่ และทุกอย่างจะเรียบร้อยถึงการปรองดอง ทั้งหมดขึ้นอยู่ดุลพินิจนายกฯ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าใช้ไม่ถูกทางคนใช้จะเดือดร้อนเอง เดือดร้อนแน่ๆ" นายเสนาะกล่าว

 

      นายเสนาะ กล่าวว่า อย่าหาว่านายกฯเป็นคนมีอารมณ์ อย่าไปโทษนายกฯ การขึ้นมาเป็นนายกฯจะต้องรับผิดชอบทุกอย่าง และออกมาพูดกับประชาชนคนเดียว แต่พอหันกลับไปดูหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ และต้องทำตามคำพูดนายกฯให้เป็นรูปธรรมกลับเหลว เดินไม่ออก ทำไม่ได้เหมือนอย่างนายกฯได้พูดไว้ จึงทำให้นายกฯเกิดอาการหงุดหงิด ดังนั้น อย่าไปโทษนายกฯ

 

@ "พิเชษฐ"เตือนระวังโลกกดดันหนัก

 

      นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ระบุว่าจะใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ใช้เพียงครึ่งเดียว ไม่รุนแรงว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใช้อำนาจแบบไหน ปฏิบัติอย่างไร แต่อยู่ที่ข้อความ เนื้อหา เผยแพร่ไปแล้วทั่วสังคมโลกว่าไทยเป็นเผด็จการ คือกำลังจะใช้มาตรา 44 มีอำนาจอยู่เหนือทั้ง รัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเมื่อประชาคมโลกไม่ยอมรับ ไทยจะถูกกีดกันด้านการท่องเที่ยว ปิดประตูตายการค้า ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ การส่งออกของไทยจึงยับเยินขนาดนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าคนไทยเดือดร้อนตรงไหน อยากจะบอกว่า เขาเดือดร้อนตรงที่เขาเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ในสังคมประชาธิปไตยโลกมองว่า ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาการรัฐประหารได้ และไม่มีทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญรอบต่อไปได้เช่นกัน แนวทางเดียวที่ประชาคมโลกจะใช้คือ ประชาคมโลกที่นำโดยอียูและสหรัฐอเมริกา จะทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันประเทศที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจนอยู่ไม่ได้ ยับเยินเหมือนที่เคยทำกับพม่ามาแล้ว 

 

@ นักวิชาการเตือนระวังโมเมนตัม

 

      นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยภาพลักษณ์ต่างประเทศน่าจะดีขึ้น ทำให้คำถามต่างชาติมีกับเราลดลงไป 1 เรื่อง การใช้อำนาจในมาตรา 44 นั้นเเน่นอนว่ามีกว้างขวาง หัวหน้า คสช.จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น ลักษณะของอำนาจนี้เป็นโมเมนตัมทางการเมือง คือสะวิงหรือเกิดเเรงเหวี่ยงกลับได้ ถ้าใช้อำนาจมากเกินไปหรือไม่ได้ใช้ในกรณีจำเป็น

 

     พอล แชมเบอร์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การหันมาใช้ ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทนนั้น จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมากขึ้น และเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกให้อำนาจกับผู้บังคับบัญชาทหารบกมากที่สุด แต่ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.แล้ว นอกจากนี้การใช้ ม.44 ยังเหมือนเป็นการลดกระแสข่าวลือการเกิดรัฐประหารไม่ว่าจะมาจากทางกลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์ หรือกลุ่มทหารวงศ์เทวัญ หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเกิดการแตกแยกภายในกองทัพ

 

@ กมธ.เคาะที่มา"นายกฯ-สว."

 

      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาทบทวนในมาตรา 182 กำหนดให้ใช้เสียงของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มเติมว่า หากจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ส่วนวาระให้มี 4 ปี ทุกกรณี เพื่อเปิดช่องในยามวิกฤต สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่ เช่น ในเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บ้านเมืองไม่มีทางออกจนนำมาสู่การรัฐประหาร 

 

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังปรับแก้ไขในเรื่องที่มา ส.ว. มาตรา 121 โดยคงให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน แต่เปลี่ยนให้มีที่มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยจะตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละด้านและคัดให้เหลือผู้สมัคร 10 คน จาก 10 ด้าน จากนั้นจึงให้ประชาชนเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน จะพิจารณาในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว. จัดพร้อมวันเลือกตั้ง ส.ส. และมอบหมายให้ กจต.เป็นผู้รับผิดชอบ

 

@ เคาะวาระ6ปีให้สรรหาพ้นก่อน

 

      พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า กลุ่มที่สองมาจากการเลือกตั้งกันเอง 2 ด้าน คือ อดีตข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เป็นตำแหน่งบริหารไม่เกิน 10 คน ข้าราชการฝ่ายทหารที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เลือกตั้งกันเองไม่เกิน 10 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งไม่เกิน 15 คน และจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรด้านเกษตร ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและท้องถิ่น ไม่เกิน 30 คน กลุ่มที่สาม คือการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 58 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การสาธารณสุข การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผังเมืองทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่นๆ โดยจะตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ใน 3 ปีแรกจะให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกันเอง 65 คน และ ส.ว.จากการสรรหา 58 คน จับสลากออกมา 35 คน เพื่อให้มี ส.ว.รวม 100 คน พ้นจากตำแหน่งในช่วงแรกก่อน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสามารถกลับมาใช้สิทธิลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีก

 

@ นัดถกแม่น้ำ 5 สาย 7 เม.ย.

 

     นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 เมษายน จะมีการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย คือ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 15.00 น.

 

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จะเป็นการรายงานความคืบหน้าการทำงานของแม่น้ำแต่ละสาย และการรายงานของ กมธ.ยกร่างฯ ให้ที่ประชุมรับทราบ ขณะเดียวกันเรื่องของการปฏิรูปใน 18 ด้าน กรอบวิสัยทัศน์ หรือ บลูปริ้นต์ ความคืบหน้าเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 และคาดว่า คสช.และรัฐบาลจะรายงานเรื่องการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกให้ที่ประชุมรับทราบด้วย

 

@ ตุลาการฯยื่นทบทวน"บังคับคดี"

 

      ที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิริยุทธิ์วัฒนา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นำคณะตุลาการศาลปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีของศาลปกครอง เข้ายื่นหนังสือที่ลงนามโดย นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทบทวนและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา (4/1 /2) 1 (6) ที่กำหนด "ให้มีกลไกบังคับคดีทางแพ่ง และคดีปกครองในสังกัดศาลยุติธรรม เป็นผู้ทำหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ" กรณีนี้ศาลปกครองเคยยื่นหนังสือมติจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทบทวนแล้ว รวมถึงในบางมาตราที่เกี่ยวข้อง มีถ้อยคำขัดแย้งต่อหลักการ ไม่สมเหตุสมผล อาจกระทบต่อการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ มีมติเป็นเอกฉันท์จากการสัมมนาประจำปี เมื่อวันที่ 27-29 มีนาคม ไม่เห็นพ้องกับมาตราดังกล่าว 

 

@ "วิชา"แถลงเปิดคดีถอด"บุญทรง"

 

     นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติมอบหมายให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ในการแถลงเปิดคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีพฤติกรรมส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญในคดีขายข้าวจีทูจีมิชอบ ส่วนในวันที่ 2 เมษายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน จะต้องดูว่ามีใครยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ และพยานหลักฐานที่ยื่นมีอยู่ในสำนวน ป.ป.ช.หรือไม่ จะให้เพิ่มพยานหลักฐานที่ขอมาหรือไม่ ขณะนี้นายวิชาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว ส่วนการส่งสำนวนคดีอดีต 250 ส.ส. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนนั้น ล่าสุดที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ลงนามรับรองสำนวนการถอดถอนคดีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการทางธุรการ เพื่อส่งรายงานและสำนวนให้ สนช.พิจารณา ภายใน 1-2 สัปดาห์จะส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนได้ คาดว่าอย่างเร็วไม่เกินสัปดาห์นี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือนเมษายนจะส่งเรื่องไปได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ปรับลดจำนวนอดีต ส.ส.ที่ถูกชี้มูลความผิดจากเดิม 250 คน เหลือ 249 คน เนื่องจากนายทองดี มนิสาร อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสียชีวิต จึงต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบไป

 

โปรดเกล้าฯเลิกอัยการศึก บิ๊กตู่ใช้'ม.44' สั่งเข้ม 14 ข้อ
วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2558

      เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. วันที่ 1 เมษายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เวลา 03.00 น. และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นมานั้น บัดนี้ สถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ทั้งนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน 2557 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1.คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2.ในคําสั่งนี้ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ "ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามคําสั่งนี้

ข้อ 3.ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิดดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว

(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม

(4) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ข้อ 4.ในการดําเนินการตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจ หน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับ

การกระทําความผิดตามข้อ 3

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดําเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิด ตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4)

(6) กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ข้อ 5.ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจ

ออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะ

กําหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะกําหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

ข้อ 6.ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด ตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

ข้อ 7.ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งนี้ ตามที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสั่งการหรือมอบหมาย

ข้อ 8.ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ 9.ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตามข้อ 4 (1) ข้อ 5 หรือ ข้อ 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 10.ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวาง เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 11.ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตาม ข้อ 6 วรรค 1 เนื่องจากการกระทำความผิดตามข้อ 3(4) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย อาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้

เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึงการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (2) ถึง (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวต้องระวางโทษ

จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 12.ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2529

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ 13.การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ข้อ 14.เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่า กรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

สั่ง ณ วันที่ 1 เมษายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!