WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8604 ข่าวสดรายวัน

สุธรรม ไขก๊อก พ้น'อสมท'-'
อรรถพล'ก็ด้วย ทิ้งบอร์ดบินไทย ปล่อย'วรเจตน์'คสช.บี้ 470 บัญชี


ได้ประกัน- ทหารนำตัวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ มาขึ้นศาลทหารกรุงเทพฯ ในคดีฝ่าฝืนไม่ยอมเดินทางมารายงานตัวต่อ คสช.ตามคำสั่ง ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวไป เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

      'สุธรรม แสงประทุม'นำทีมบอร์ด อสมท ลาออกรวม4 ราย ด้าน'อรรถพล ใหญ่สว่าง'ไขก๊อกพ้นบอร์ดการบินไทย กรรมการบีโอไอเคาะล็อตแรก งบส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ 1.2 แสนล้าน ถกมาตรการช่วยชาวนาหลังเลิก 'จำนำข้าว'" ลดต้นทุนผลิต ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 'ไพบูลย์ คุ้มฉายา' ลุยปราบยา สั่งสถาบันการเงินสอบธุรกรรมต้องสงสัย 470 บัญชี ฮึ่มย้ายอธิบดีกรมคุก ถ้าหยุดปัญหายาเสพติดในเรือนจำไม่ได้ 'ประยุทธ์'จี้แก้รุกป่า 9 จังหวัด กระทรวงทรัพยากรฯ ส่งชื่อนายทุน-ข้าราชการมีเอี่ยวให้แล้ว คสช.แจงผู้ช่วยทูตทหาร 18 ประเทศ ศาลทหารให้ประกันตัว'วรเจตน์'

กองปราบฯสอบ'วรเจตน์'
       เวลา 10.20 น. วันที่ 18 มิ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร (สห.) คุมตัวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ส่งให้ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป.เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่เข้าไปรายงานตัว ภายหลังนายวรเจตน์เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา
      เมื่อมาถึง บก.ป. ทันทีที่ลงจากรถ นาย วรเจตน์มีสีหน้าเรียบเฉย ยิ้มให้กับสื่อมวลชนที่มาเฝ้ารอทำข่าว แต่ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ จากนั้นถูกนำตัวเข้าห้องสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำ
      นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่ม นักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ทนายความของนายวรเจตน์กล่าวว่า ได้รับการประสานจากครอบครัวนายวรเจตน์ ให้ช่วยดูแลเรื่องคดี หากมีการคุมตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฯฝากขัง ญาติเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 20,000 บาทขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากก่อนหน้านี้นางพัชรินทร์ ภาคีรัตน์ ภรรยานายวรเจตน์ ยื่นเอกสาร ขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวของนายวรเจตน์ต่อ คสช.ไปแล้ว เพราะมีอาการป่วยไม่สามารถเข้ารายงานตัวตามกำหนดได้ จึงเชื่อได้ว่านายวรเจตน์ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. นาย วรเจตน์ไม่ได้ถูกจับกุมแต่ประสานให้ทหารมารับตัวที่สนามบินดอนเมือง ก่อนพาไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รอ. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.

นำตัวขึ้นศาลทหาร 
    เวลา 12.45 น. หลังแจ้งข้อหาและทำประวัติแล้ว ตำรวจกองปราบฯควบคุมตัวนายวรเจตน์ ไปส่งฟ้องศาลทหารกรุงเทพฯ กรมพระธรรมนูญ สนามหลวง เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรก 12 วัน โดยไปถึงในเวลา 13.05 น. นายวรเจตน์เดินตามเจ้าหน้าที่ทหารด้วยสีหน้านิ่งเรียบ ไม่แสดงอาการหวาดหวั่นหรือตึงเครียด 
    นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า ตามที่ปรากฏในข่าวว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้ารวบตัวนั้นไม่เป็นความจริง แต่เกิดจากตนประสาน คสช.เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาแล้วว่าจะเข้ามอบตัวด้วยตนเอง ขั้นตอนจากนี้เป็นกระบวนการพิจารณาของตุลาการศาลทหารว่าจะเห็นอย่างไร ตนเตรียมเอกสารหลักฐานและหลักทรัพย์ขอประตัวไว้เรียบร้อยแล้ว 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกคณะนิติราษฎร์และนักกฎหมายมหาชน ได้แก่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายธีระ สุทธีวรางกุล น.ส.สาวตรี สุขศรี และนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มาให้กำลังใจและเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย 

ทนายยื่นขอประกันตัว 
      เวลา 14.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 3 องค์คณะตุลาการศาลทหารขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวนขอฝากขังนายวรเจตน์ผลัดแรก พนักงานสอบสวนยืนยัน ต่อตุลาการว่า จำเป็นต้องฝากขังผลัดแรกเนื่องจากต้องสืบสวนข้อมูลและไต่สวนพยานอีก 4 ปาก ขณะที่นายวรเจตน์ให้ถ้อยคำต่อ ตุลาการฯว่า ไม่ขอคัดค้านคำขอฝากขัง
     จากนั้นองค์คณะตุลาการจึงอ่านคำวินิจฉัยยืนยันให้ฝากขังนายวรเจตน์ผลัดแรก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 มิ.ย. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน และหากต้องการขออนุญาตฝากขังต่อผลัดที่ 2 จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 27 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาคดี นายวรเจตน์อยู่ในอิริยาบถค่อนข้างผ่อนคลายไม่ปรากฏความเครียดหรือแสดงความกังวลออกมา ยิ้มแย้มทักทายผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมฟังการพิจารณา
     ต่อมาเวลา 14.55 น. เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายวรเจตน์ไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป ส่วนนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการ กนส. ยื่นคำร้องต่อสำนักงานศาลทหารกรุงเทพฯ ขอปล่อยตัวชั่วคราวนาย วรเจตน์ทันที 
      นายวิญญัติ ให้สัมภาษณ์ว่า ตัดสินใจยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวเพิ่มขึ้นอีก 20,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท ตามอัตราโทษที่นายวรเจตน์ถูกแจ้งและเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยตนให้เหตุผลขอความกรุณาปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ คือ 1.นายวรเจตน์ ป่วยเรื้อรังมาหลายปี จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด 2.มีภารกิจต้องรับผิดชอบคือสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ และ 3.จำเป็นต้องดูแลครอบครัว 

อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 
      นายวิญญัติ กล่าวว่า ส่วนที่นายวรเจตน์ไม่คัดค้านคำขอของพนักงานสอบสวนที่ขอฝากขังผลัดแรก เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาคดีลักษณะนี้ แม้จำเลยจะให้เหตุผลคัดค้าน ศาลก็จะอนุญาตฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวนอยู่ดี ดังนั้น นายวรเจตน์จึงต้องการแสดงออกเป็นนัยยะให้ศาลเห็นว่าให้ความร่วมมือต่อกระบวนการพิจารณา และหากนำมาประกอบกับพฤติการณ์ที่ผ่านมาของนาย วรเจตน์ แม้จะไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. ก็ไม่ได้หลบหนีหรือฝ่าฝืนคำสั่ง แต่ติดภารกิจในต่างประเทศและให้ภรรยาไปชี้แจงแล้ว อีกทั้งยังประสานขอเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง จึงไม่พบว่าขัดขืนคำสั่ง คสช.ตามที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา
      แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สาเหตุที่นายวรเจตน์ประสานกับ คสช.เพื่อขอเข้ารายงานตัวด้วยตัวเองเมื่อกลับจากต่างประเทศนั้นเพราะปัญหาด้านสุขภาพเป็นสำคัญ ซึ่งนายวรเจตน์จำเป็นต้องได้รับการรักษาและกินยาจากแพทย์ประจำตัวในประเทศไทย 
     เวลา 16.10 น. นายวิญญัติเผยว่า ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายวรเจตน์ ตามคำร้องขอแล้ว ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น 20,000 บาท มีเงื่อนไขว่าห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยยังคงสอนหนังสือได้ตามปกติ

พท.-นปช.-กปปส.รายงานตัว
     เวลา 10.30 น. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ตามที่ คสช.มีคำสั่งฉบับที่ 68/2557 เรียกให้บุคคลมารายตัวเพิ่มเติม ที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ รวม 33 คน มีทั้งอดีตส.ส.เพื่อไทย แกนนำพรรค รวมถึงแนวร่วมกลุ่ม นปช. แนวร่วม กปปส. และกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนนั้น ช่วงเช้ามีบุคคลตามคำสั่งเข้ารายงานตัวแล้ว 24 คน ประกอบด้วย นายสุขเสก พลตื้อ การ์ดเสื้อแดงเข้ารายงานตัวเป็นคนแรก นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีตส.ส.กทม.เพื่อไทย นางพรพิมล ลุนตาพล น.ส.อดาน้อย ห่อมารยาท นายนพพร พรหมขัติแก้ว กลุ่มแดงเชียงใหม่ นางพรรณราย เมาลานนท์ นายเทียนสวัสดิ์ เทียนเงิน 
     นายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ แกนนำกลุ่มศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่ นายองอาจ ตันธนสิน กลุ่มแดงเชียงใหม่ นายเจติศักดิ์ จันทร์ประดิษฐ์ หัวหน้านักรบศรีวิชัยและกลุ่มเคลื่อนไหวบุกปิดสถานีเอ็นบีที
      นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง นายธงชัย สุวรรณวิหค กลุ่มคณะกรรมการสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย นายวิษณุ เกตุสุริยา แกนนำกลุ่มหน้ากากขาวระยอง และนางสุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีตส.ส.เพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้เข้ารายงานตัวกับทหารที่ จ.เพชรบูรณ์ และถูกควบคุมตัวไปแล้ว 7 วัน มารายงานตัวเช่นกัน
      นายพรส เฉลิมแสน แกนนำเสื้อแดงลาดกระบัง นายอุทัย ม่วงศรีเมืองดี นายพงษ์เทพ ไชยศล นายอานนท์ กลิ่นแก้ว นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู นายสุวิทย์ เม็นไธสง นายดนัย ทิพย์ยาน

อุ้มลูก 6 เดือนเข้าแสดงตัว
     นายนิทัช ศรีสุวรรณ ให้นางนันท์ ศรีสุวรรณ ภรรยามารายงานตัวแทน จากนั้นเวลา 11.40 น. นางสุวรรณา ตาลเหล็ก ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ารายงานตัวโดยหันมาชูนิ้วชี้ 1 นิ้ว พร้อมบอกผู้สื่อข่าวว่าอยู่ในลำดับที่ 1
     เวลา 11.50 น. นางภัคจิรา ชุนฮะสี เดินทางมาถึงหอประชุมกองทัพบกเทเวศร์ โดยอุ้มบุตรสาววัย 6 เดือน มาด้วย สอบถามจากเพื่อนของนางภัคจิราที่มาส่ง ทราบว่านาง ภัคจิรา ต้องนำบุตรสาวมาด้วยเนื่องจากไม่มีใครเลี้ยงเพราะมีกันอยู่สองคนแม่ลูก
      ช่วงบ่าย น.ส.รจเรข วัฒนพาณิชย์ เข้ารายงานตัว รวมรายงานตัวทั้งสิ้น 26 คน จากคำสั่งรายงานตัวฉบับที่ 68 ที่ให้รายงานตัว 33 คน
      ทั้งนี้ ตามประกาศคำสั่งของ คสช.ฉบับนี้ย้ำว่าการเชิญตัวบุคคลดังกล่าวมารายงานตัว เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาดูแลและทำความเข้าใจเท่าที่จำเป็นไม่เกิน 7 วัน ที่ผ่านมาผู้ที่มีรายชื่อตามคำสั่งเกือบทั้งหมดให้ความร่วมมืออย่างดี และส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้กลับบ้านหลังเข้ารายงานตัว 
      มีรายงานว่า นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร น้องชายนายนิสิต สินธุไพร อดีตส.ส.เพื่อไทย และแกนนำนปช.ภาคอีสาน ขอต่อรองไปรายงานตัวที่ค่ายทหารในภูมิลำเนา คือกรมทหารราบที่ 16 จ.ยโสธร โดยเดินทางไปรายงานตัวก่อนเวลา 12.00 น.แล้ว

แจงทูตทหาร 18 ประเทศ 
     เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค พร้อมทีมโฆษก คสช. เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย 22 ประเทศ ซึ่งมาเพียง 18 ประเทศคือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ สวีเดน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และเกาหลีใต้ ส่วนอีก 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว สเปน และคูเวต ติดภารกิจแต่ทำหนังสือชี้แจงถึงความจำเป็นมายัง คสช.แล้ว ทั้งนี้ คสช.จะเชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศมาทำความเข้าใจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากเกิดความไม่เข้าใจกับสถานการณ์ของไทย รวมถึงการทำงานของ คสช. การพูดคุยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที 
      พ.อ.วีรชน ชี้แจงต่อผู้ช่วยทูตทหารว่า กองทัพเข้ามาควบคุมสถานการณ์และบริหารประเทศเพื่อยุติปัญหาที่เรื้อรังยาวนาน ยืนยันทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ และหลังจากวันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา คนไทยจับตาการทำงานของ คสช.อย่างใกล้ชิดและมีความคาดหวังสูง ทุกภารกิจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวรวมและประกาศกฎอัยการศึกก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาและใช้อย่างจำกัด ล่าสุดยกเลิกทั่วประเทศแล้ว คสช.พยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีให้กับประเทศ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติจะมีเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย


แจงทูตทหาร- ทูตทหารจาก 18 ประเทศเดินทางมารับฟังคำชี้แจงสถานการณ์ของประเทศไทย และแนวทางในการทำงานของคสช. โดยมีพ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค พร้อมด้วยทีมโฆษก คสช.ชี้แจง ที่บก.ทบ. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

ขอเวลา คสช.แก้ปัญหา 
      พ.อ.วีรชน กล่าวว่า อยากขอให้มิตรประเทศอดทนและให้เวลา คสช.ได้แก้ปัญหา รวมถึงช่วยอธิบายความจำเป็นของ คสช.ให้ประเทศตัวเองรับทราบเพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์ในไทยยิ่งขึ้น ยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพต่างๆ กับกองทัพไทยยังคงเหมือนเดิม ส่วนท่าทีของแต่ละรัฐบาลเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่มาแล้วก็ไป
      พ.อ.วีรชนให้สัมภาษณ์หลังการชี้แจ้งว่า การพูดคุยกับผู้ช่วยทูตทหารวันนี้เพราะพล.อ.ประยุทธ์ อยากสื่อถึงความจริงใจและความชัดเจนของทหาร คสช.ยังให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของต่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองทัพและความร่วมมือในด้านต่างๆ เราพยายามสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจ พร้อมขอให้ผู้ช่วยทูตทหารนำสิ่งที่พูดคุยกันไปถ่ายทอดให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศรับทราบความจริงและจุดยืนของ คสช. เราไม่ได้ขออะไรมากขอแค่ความเข้าใจและเวลา

เข้าใจชาติยุโรปเป็นกังวล
     พ.อ.วีรชน กล่าวว่า การพูดกันวันนี้พอใจผลในภาพรวม ความเป็นทหารเหมือนกันไม่จำเป็นต้องพูดอะไรกันมาก เพราะทหารเข้าใจทหารด้วยกันดี และเขารู้จักผบ.ทบ.ของไทยว่าเป็นคนแบบไหน มีนิสัยอย่างไร ทูตแต่ละประเทศมีการสอบถามในประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องดี แม้บางคำถามจะแรงเราก็มีโอกาสชี้แจงและทำให้เขาเข้าใจ เช่น ผู้ช่วยทูตทหารอินโดนีเซียสอบถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งภายในไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเขาต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้รัฐบาลของเขารับทราบ อาจเป็นคำถามที่รัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชาของเขาฝากมา ซึ่งเราทำหน้าที่ชี้แจงให้ชัดเจนมากที่สุด
      พ.อ.วีรชน กล่าวว่า ยอมรับว่าประเทศในแถบยุโรปยังกังวลสถานการณ์ในไทยอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะเป็นค่านิยมของประเทศในแถบยุโรปเป็นเรื่องปกติ และเป็นหน้าที่ของพวกเราเช่นกันเพื่อสะท้อนถึงความชัดเจน หัวหน้า คสช. เป็นสุภาพบุรุษมากย้ำมาตลอดว่าไม่อยากให้ตอบโต้กับต่างประเทศที่แสดงท่าทีรุนแรงต่อคสช. ซึ่งเราเข้าใจ จะให้เขาลุกขึ้นมาดีใจ หรือเห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของ คสช.คงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจถึงเจตนารมณ์โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ ว่าเราไม่ได้ถอยห่าง แต่ขอให้เห็นใจและขอเวลาพิสูจน์ตัวเอง 

จี้ถามสัมพันธ์ไทย-จีน 
       ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ส่วนเยอรมันสอบถามกรณีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนจีนเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพราะประเทศแถบตะวันตกให้ความสำคัญการเคลื่อนไหวของกองทัพไทยที่มีท่าทีกับจีนว่าเป็นไปในลักษณะใด เพราะไทยยังยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งชี้แจงไปว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแผนงานที่กำหนดขึ้นก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ จีนยังไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธต่อสถาน การณ์ในไทย เพียงแต่กองทัพจีนย้ำถึงข้อตกลงกับกองทัพไทยที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่คงเดิม ส่วนผู้ช่วยทูตทหารญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศที่มีอารมณ์อ่อนไหวกับเรื่องดังกล่าวและตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทย เขาต้องการความมั่นใจจากกองทัพไทยในเรื่องการติดต่อและความร่วมมือต่างๆ ที่จะมีต่อจากนี้

ทีวีดาวเทียมจี้ยุบ กสทช.
     เวลา 13.30 น. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ประธานกลุ่มผู้เดือดร้อนประกอบอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พร้อมตัวแทน ผู้ประกอบการอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 20 สถานี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 27/2557 เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกขอความเป็นธรรม ผ่านสำนักงานเลขานุการกองทัพบก พล.ต. พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก เป็นผู้รับหนังสือ 
      นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถออกอากาศได้ ส่งผลกระทบต่อผู้บอกรับเป็นสมาชิก กลุ่มผู้เดือดร้อนจึงไปขอขึ้นทะเบียนแบบบอกรับสมาชิกตั้งแต่เริ่มมีประกาศ คสช. จึงอยากให้ คสช.สั่งการไปยัง กสทช.ขออนุญาตให้สถานีดาวเทียมออกอากาศได้ทันที แม้ว่า กสทช.แจ้งว่าจะพิจารณาในวันที่ 23-25 มิ.ย. แต่ที่ผ่านมา กสทช.อนุญาตเพียงเครือข่ายโทรทัศน์ของบริษัทมหาชนออกอากาศได้เท่านั้นซึ่งไม่เป็นธรรม
       นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเสนอ คสช.ให้ยุบ กสทช. เนื่องจากไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือมีบทบาทแก้ไขปัญหาระบบโทรคมนามคมตามค่าตอบแทนที่ได้รับ 

ทส.ส่งคสช.-ชื่อนายทุนรุกป่า 
      ก่อนหน้านี้ เวลา 08.30 น. ที่บก.ทบ. พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะเลขานุการคณะที่ปรึกษาคสช. เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวัน ตามที่พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. มอบหมาย มีการสรุปสถานการณ์ด้านการข่าวต่างๆ ด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ
     ที่ประชุมพูดถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ยืนยันทหารไม่ต้องการปราบปรามแรงงานต่างด้าวแต่จัดระเบียบให้เป็นระบบ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการปล่อยข่าวของผู้ที่ไม่หวังดีและนายจ้างบางราย จึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแล นอกจากนี้ยังพูดคุยถึงเรื่องลักลอบการตัดไม้ ตามที่คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยจับกุมและดูแลกวดขันอย่างเคร่งครัด 
     แหล่งข่าวระดับสูง คสช.กล่าวถึงกรณีนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุมีรายชื่อนายทุนและข้าราชการที่มีพฤติกรรมรุกป่าอยู่ในมือมากกว่า 100 ราย หลังจากกลั่นกรองรายชื่อแล้วจะส่งให้คสช. ว่า ขณะนี้ปลัดทส.ส่งรายชื่อทั้งหมดให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาเรียบร้อยแล้ว โดยคณะจิตวิทยาจะเร่งตรวจสอบและนำเรื่องทั้งหมดส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

กรมป่าไม้ขยับ-ลุยปราบ 2 กลุ่ม
      นายชีวภาพ ชีวะธรรม นักวิชาการชำนาญการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า หลัง คสช. มีคำสั่งเรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทางกรมป่าไม้จึงร่วมประชุมกับกองทัพภาคที่ 2 หาแนวทางดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ไว้ ในสัปดาห์หน้าตนจะลงพื้นที่จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และสกลนคร ซึ่งมีปัญหาลักลอบตัดไม้ โดยเฉพาะไม้พะยูง ต้องขยายผลไปยังนายทุนใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือนายทุนในประเทศ ซึ่งมีไม่มาก เป็นนายทุนที่มีฐานะร่ำรวย อยากเก็บไม้พะยูงไว้เพราะเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูง บางกลุ่มนำไปตกแต่งโรงแรม บ้านพักรีสอร์ต 
      นายชีวภาพ กล่าวว่า ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นปัญหามากขณะนี้คือนายทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน มีเม็ดเงินส่งเข้ามาในไทยมหาศาล จ้างวานนายทุนรายย่อย คนในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อไม้พะยูงหายากขึ้นขบวนการเหล่านี้จึงหันไปหาไม้ประดู่กับไม้ชิงชันแทน ทั้ง 2 ชนิดมีเนื้อไม้ สีไม้คล้ายไม้พะยูง ไม้ทั้ง 2 อย่างมีใบสั่งตัดไม้จนคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายผลจับกุมกลุ่มนายทุนใหญ่เหล่านี้จะเป็นหัวใจสำคัญช่วยสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้ได้อย่างดี

มทภ. 2 แจงทหารกัมพูชา
      ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานกัมพูชากลับประเทศตามด่านในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะจ.สุรินทร์ ว่า วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมหน่วยขึ้นตรง มทภ.2 ของกองกำลังสุรนารี และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ชาวกัมพูชาผ่านทางช่องจอม จ.สุรินทร์ กว่า 650 คน ยอดรวมที่เดินทางออกไปกว่า 6,400 คนแล้ว ส่วนหนึ่งหมดสัญญาจ้าง อีกส่วนเป็นช่วงเข้าฤดูฝนจึงขอกลับบ้านแล้วรอจนกว่าจะมีผู้ที่ติดต่อเอาแรงงานรอบใหม่
      พล.ท.ชาญชัย กล่าวว่า ขณะที่หน่วยทหารภูมิภาค 4 ของกัมพูชาดำเนินการตามที่ คสช.ประสานเรื่องชี้แจงและทำความเข้าใจกับแรงงานชาวกัมพูชา ว่า คสช.ไม่มีนโยบายกดดันและกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นเรื่องของแรงงานจังหวัดและตำรวจดำเนินการ ส่วน คสช.เน้นเรื่อง ยาเสพติด ไม้พะยูง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาวุธสงคราม การก่อการร้ายและอาชญากรรม รวมทั้งบ่อนการพนัน ดังนั้น เรื่องการว่าจ้างแรงงานของ ผู้ประกอบการ คสช.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
      พล.ท.ชาญชัย กล่าวว่า ข่าวลือแรงงานภาคก่อสร้างในจ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน เชื่อว่าในทุกพื้นที่โดยเฉพาะนครราชสีมามีปฏิกิริยามาจากจ.สระแก้ว และเขตพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้ประสานแรงงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด กรมการค้าภายใน ร่วมกับตำรวจให้แจ้งผู้ประกอบการให้มีความสบายใจในเรื่องนี้

เร่งขจัดขบวนการค้ามนุษย์
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลว่ามีขบวนการที่คอยหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวอยู่ อาจมีเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมด้วย คสช.จะเร่งสืบสวนและกวาดล้างให้ได้โดยเร็ว แต่ระหว่างการจัดระเบียบใหม่จะผ่อนผันให้ สถานประกอบการเดิมไม่ควรมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มเติม
      พ.อ.วินธัย กล่าวว่า คสช.จะเร่งขจัดขบวนการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสทั้งบนบกและทางน้ำในทะเล ดูแลแรงงานไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเด็ดขาด คสช.จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเนื่องจากเป็นปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน มีผลเสียต่อความเชื่อมั่นในต่างประเทศและเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หากมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดมาเรียกรับผลประโยชน์ ขอให้แจ้งข้อมูลให้ คสช.ทราบทันทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คนขานรับกิจกรรมคืนความสุข
      รองโฆษกกองทัพบก กล่าวกรณี นายจอห์น ซิฟตัน ผอ.ฝ่ายกฎหมายภูมิภาคเอเชียของกลุ่มสอดส่องสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ หรือฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) วิจารณ์แผนปรองดองของไทยว่า เป็นมุมมองหนึ่งจากภายนอกที่อาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนในทุกมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนของประชาชนต่อการเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศซึ่งยืดเยื้อมานาน การดำเนินการของ คสช.ขอให้มองที่เหตุผลและความจำเป็น ยืนยันประชาธิปไตยยังคงอยู่ เพียงแต่ขอใช้เวลาส่วนหนึ่งจัดระเบียบเพื่อพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยไว้ให้เข้มแข็งมากขึ้น 
      พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนการควบคุมเสรีภาพการแสดงออกนั้นเนื่องจากขณะนี้เป็นเวลาที่ไม่ปกติ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจและพร้อมเสียสละ มีส่วนน้อยมากที่ไม่เข้าใจ จึงอยากให้แสดงออกด้วยความระมัดระวังหรือสร้างสรรค์ ส่วนการดำเนินนโยบายคืนความสุขให้ประชาชน ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่ออย่างที่เข้าใจ ยืนยันว่าเป็นไปตามความต้องการโดยธรรมชาติของประชาชนที่อยากร่วมสร้างบรรยากาศความรักสามัคคีกัน เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จุดประกายสร้างการมีส่วนร่วมและสามัคคีสมานฉันท์ ที่ผ่านมาได้รับผลสะท้อนออกมาในเชิงบวกชัดเจน 


ยังฮอต- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้เวลาว่างเดินจับจ่ายซื้อของที่ห้างโลตัส เลียบด่วนรามอินทรา มีประชาชนมาร่วมขอถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก พร้อมนำไปแชร์ลงในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

สั่งสถาบันการเงินสอบบัญชี 

      เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเอเชีย พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นประธานมอบนโยบายกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสถาบันการเงินว่า ขอให้สถาบันการเงินร่วมมือป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดของกลุ่มค้ายาเสพติด โดยปปง.จะส่งรายชื่อบัญชีต้องสงสัยให้ธนาคารตรวจสอบ หากไม่ได้รับความร่วมมือ คสช.จำเป็นต้องใช้ยาแรง 
      พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชั่นสูง หลังคสช.ยึดอำนาจ ตนนำทหารเข้าค้นบ้านพักของบุคคลหลายแห่งพบกระเป๋าเปล่า 40 ใบคาดเป็นกระเป๋าที่ใช้ขนเงินสด ต้องขอความร่วมมือให้ร่วมกันตรวจสอบ โดยมีแนวคิดปราบปัญหาคอร์รัปชั่น ในกลุ่มที่นำเงินสดเก็บไว้ที่บ้าน หากยกเลิกธนบัตรเพื่อบังคับให้ผู้ครอบครองธนบัตรนำมาแลกธนบัตรชุดใหม่ สถาบันการเงินตรวจสอบลูกค้าจะจัดการกับเงินสดที่ได้มาจากการคอร์รัปชั่นได้หรือไม่ เชื่อว่าหากจัดการกับธุรกรรมการเงินได้จะแก้ปัญหาการกระทำผิดได้ทุกเรื่องไม่เฉพาะยาเสพติด จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินให้ร่วมกันตรวจสอบอย่างเคร่งครัด มีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำก็เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารได้และมีบัญชีธนาคารกว่า 400 บัญชีที่ตรวจสอบว่าเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด จากนี้หากยังตรวจสอบพบอีกทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารและเรือนจำต้องรับผิดชอบ 

แก้ยาในคุกไม่ได้-ฮึ่มย้ายอธิบดี
      พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า หลังจัดการเรื่องยาเสพติดที่เป็นปัญหาเร่งด่วนแล้วจะตรวจสอบเรื่องการจัดซื้ออาหารและปัญหาอื่นๆ ของเรือนจำ ส่วนการย้ายผู้ต้องขังรายสำคัญที่ยังเคลื่อนไหวสั่งค้ายาในเรือนจำ พบมีรายชื่อ ผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวเสนอให้พิจารณาแล้ว 200-300 ราย อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมดูแลไม่ให้มีช่องลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปได้อีก ส่วนเครือข่ายที่ยังลักลอบใช้โทรศัพท์มือถือในเรือนจำทหารมีข้อมูลและสายข่าวแฝงตัวในเรือนจำ การทำงานของคสช.ไม่ได้รอเพียงการรายงานจากกรมราชทัณฑ์แต่สั่งการจู่โจมตรวจค้นทั่วประเทศ หากหยุดปัญหายาเสพติดในเรือนจำไม่ได้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ไม่ควรปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ควรให้บุคคลอื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน
      พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เร็วๆ นี้จะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวกรรมการหรือไม่ และหากเปลี่ยน จะมีเหตุผลชัดเจนว่ากรรมการชุดดังกล่าวขัดขวางการทำงานอย่างไร หากยังทำงานได้ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน 

ชงสอบ 470 บัญชีต้องสงสัย 
      พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการปปง. กล่าวว่า ปปง.จะส่งรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงให้สถาบันการเงินตรวจสอบและติดตามธุรกรรมของลูกค้ากลุ่มเสี่ยง เบื้องต้นเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ได้มาจากฐานข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองจากป.ป.ส. บช.ปส. ประมาณ 1,000 รายชื่อ กลุ่มพนันอีกกว่า 100 รายชื่อ รายชื่อเหล่านี้ปปง.จะนำมากลั่นกรองอีกครั้งเพื่อไม่ให้จัดทำรายชื่อแบบเหวี่ยงแห เมื่อธนาคารได้รับรายชื่อต้องตรวจสอบ หากปล่อยปละละเลย จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด จะให้เวลา 3 เดือน เพื่อรายงานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงนี้กลับมาให้ปปง.ดำเนินการ
      พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า หากปล่อยปละละเลยปปง.จะดำเนินการตามกฎหมาย ปรับเงินเป็นรายบัญชี บัญชีละ 500,000 บาท โดยให้ตรวจสอบเฉพาะบัญชีต้องสงสัยที่ธนาคารต้องจัดทำเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงกลางและเสี่ยงต่ำ ที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ชื่อคนเพียงคนเดียวเปิดบัญชีถึง 30 บัญชี เพื่อรอรับเงินจากเหยื่อ ช่วงเริ่มต้นปปง.ต้องการความร่วมมือ เว้นแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจะเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กฎหมาย
      พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า บัญชีที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิดที่จะส่งให้สถาบันการเงินต่างๆ เบื้องต้นมี 470 บัญชี แบ่งเป็นบัญชีความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 324 บัญชี บัญชีคดีฉ้อโกงภาษี 112 บัญชี บัญชีค้ายาเสพติด 20 บัญชี และบัญชีคดีฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ต 14 บัญชี

สั่งเข้มภาครัฐปราบโกง 
      คสช.มีคำสั่งที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ โดย 1.ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ กำหนดมาตรการ แนวทางป้องกัน แก้ไขการทุจริต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง สกัดกั้นไม่ให้เกิดการทุจริต 2.กรณีมีการกล่าวหาหรือพบเหตุสงสัยว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริต ให้หัวหน้าส่วนราชการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และพ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
      3.กรณีการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด 4.กรณีหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญา 5.ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แสวงหารวบรวมรายละเอียดและพิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ ติดตามเร่งรัดผลการดำเนินงานและรายงานผลการปฏิบัติ พร้อมเสนอความเห็นให้ คสช.ทราบและพิจารณาต่อเนื่อง 

ตร.-ทหารกวาดล้างครั้งใหญ่ 
      เวลา 11.00 น. ที่บช.น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. ดูแลงานความมั่นคง พร้อมพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผบ.ตร. รรท.ผบช.น. พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.ศ. ช่วยราชการบช.น. รองผบช.น. ผบก.ที่รับผิดชอบ ร่วมประชุมงานด้านความมั่นคง ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง 
      พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยหลังประชุมว่า มีการประชุมร่วมกันระหว่างทหารและตำรวจเพื่อประมวลสถานการณ์ สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ในทุกสถานที่ที่มีการสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดีย วิเคราะห์พบว่าจากผลโพลที่ปรากฏมีผู้สนับ สนุนการทำงานของคสช.ร้อยละ 90 อาจทำให้ผู้ที่เห็นต่างเห็นว่าถ้ายังแสดงสัญลักษณ์ใดอาจขัดต่อความรู้สึกคนส่วนใหญ่ รวมถึงทหารและตำรวจทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดยุทธวิธีแก้ปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมได้ถูกต้อง 
     พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 18-24 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศจะระดมกวาดล้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเน้นเรื่องความมั่นคง จับกุมอาวุธสงครามและยาเสพติด มีการปล่อยแถววันที่ 20 มิ.ย. เวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 

ฮึ่มกลุ่มต้านโพสต์เฟซ-ไลน์
      เมื่อถามถึงการตรวจพบอาวุธสงครามใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมโยงกับกลุ่มใดที่เคยก่อเหตุ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เมื่อนำอาวุธสงครามมาคืนหรือนำมาทิ้ง ทางการข่าวของทหารและตำรวจจะสืบสวน เมื่อทหารมีข้อมูลว่าคนใดเป็นผู้มีอิทธิพลจะใช้วิธีกดดันเข้าไปพูดคุยและเฝ้าระวัง เมื่อถามว่าต้องจับตาบุคคลใดเกี่ยวกับอาวุธสงครามหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ฝ่ายทหารและตำรวจแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ยังคงมีอีกหลายจุด เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและนำตัวผู้มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองมาปรับทัศนคติ 
       พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า กรณีส่งข้อความทางเฟซบุ๊กหรือไลน์นัดชุมนุมทางการเมือง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น ชู 3 นิ้ว หรือทำเครื่องหมายใดๆ เพื่อแสดงออกทางการเมืองจึงเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ตามป.อาญามาตรา 116(3) และหากมีผู้รับข้อความเฟซบุ๊กหรือไลน์แล้วส่งต่อไปยังประชาชน ก็เป็นการกระทำผิดระวางโทษเช่นกัน 

กินแซนด์วิชแบบมีนัยก็ผิด 
      พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ชุมนุมไม่ถึง 5 คน ต้องพิจารณาว่ามีเจตนาร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือไม่ เช่น นัดกันไปยืนแสดงสัญลักษณ์หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาละ 1-2 คน ถ้าทำโดยมีเจตนาร่วมกัน รับคำสั่ง รับข้อความทางเฟซบุ๊กหรือไลน์ จากแหล่งเดียวกันก็จับกุมดำเนินคดีได้ และกรณีนัดทำกิจกรรม เช่น กินแซนด์วิชร่วมกันหรืออ่านหนังสือบนรถไฟฟ้านั้นยังไม่ผิด แต่หากแสดงให้เห็นมีนัยที่จะชุมนุมทางการเมืองร่วมกัน เช่น มีการแสดงออกด้วยวาจาหรือโดยประการอื่นๆ จะมีความผิดในทันที
       ถามถึงกรณี นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกคสช.เรียกรายงานตัวแล้วยังโพสต์รูปเปลือยอก แสดงสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร ยืนยันว่ายังอยู่ในไทย พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า การโพสต์ภาพหรือข้อความให้ บก.ปอท. เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการออกหมายจับกระทำความผิดอื่นๆ บก.ป.จะเป็นผู้รับผิดชอบ 

ไม่ยกเลิกโครงการมีประโยชน์
      เวลา 14.15 น. ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีสัมพันธ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.รับผิดชอบฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธานมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับข้าราชการระดับสูงของกรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดศูนย์ประชาสัมพันธ์สร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มีนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชา สัมพันธ์ต้อนรับ 
      พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สื่อสารมวลชนมีอิทธิพลในการให้ข้อมูลข่าวสาร จึงขอความร่วมมือทำความเข้าใจกับคนในชาติให้เกิดความปรองดอง และรักชาติ นำเสนอข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริง ตามแนวทางของคสช.ทั้งการสร้างความเข้าใจกับคนในประเทศ เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ 
      พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ 20 หน่วยงานที่คสช.มอบหมายว่า ภาพรวมคืบหน้าไปมากแต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือมีบางเรื่องต้องขออนุมัติจากฝ่ายนโยบาย เช่น กองทุนหมู่บ้านขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เกี่ยวข้องกับวงเงินจำนวนมาก ซึ่งหัวหน้าคสช.มีนโยบายว่าโครงการใดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแม้จะเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดที่แล้วก็จะไม่ยกเลิก แต่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ครอบคลุมทั่วถึงประชาชน ถ้าโครงการใดมีประโยชน์ต่อประชาชนก็ ต้องดำเนินการต่อไปและต้องโปร่งใส คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ตรวจสอบอยู่แล้ว

บีโอไอ อนุมัติ 1.2 แสนล้าน
       นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นประธาน และพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นรองประธานว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 122,837.7 ล้านบาท อาทิ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการรับฝากห้องเย็น ที่จ.นครราชสีมา ฉะเชิงเทราและสมุทรสาคร 2,700 ล้านบาท, MR.PIETRO ALESSANDRO MOTTA และ MR.BUNDIT KERDVONGBUNDIT (จะจัดตั้งบริษัทในภายหลัง) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ 9,000 ล้านบาท บริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จํากัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ 18,860.3 ล้านบาท, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์เป็นโครงการรวม 51,523 ล้านบาท
       บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ 9,200 ล้านบาท บริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขต DATA CENTER 6,900 ล้านบาท และ MR. MARIO D"ANGELO (จะจัดตั้งบริษัทในภายหลัง) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับนักบิน 2,407 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของ Flight Safety International (อเมริกา) ซึ่งทำธุรกิจฝึกสอนเกี่ยวกับการบินและการผลิตเครื่องบินมี บริษัทในเครือกว่า 40 แห่งทั่วโลก บริษัท โพสโค โค้ทเต้ด สตีล (ประเทศไทย) จํากัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ เพื่อจําหน่ายให้กับค่ายรถยนต์ 10,014 ล้านบาท

ตั้งอนุกก.พิจารณาโครงการ 
       เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่บอร์ดบีโอไออนุมัติครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อบรรยา กาศการลงทุนในไทย ช่วยให้นักลงทุนกลุ่มที่ชะลอการตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมก่อนหน้านี้เกิดความมั่นใจและตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 แล้ว การอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนที่เหลือภายในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมาจากเม็ดเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับส่งเสริม ช่วยให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุน และการจ้างงานใหม่อีกหลายแสนตำแหน่งในช่วงปี 2558 เป็นต้นไป
       นายอุดม กล่าวว่า ที่ประชุมแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ 15 คนประกอบด้วย เลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน ผู้บริหารระดับสูงของบีโอไอ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ มีอำนาจพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 200-750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และโครงการที่เป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ มีขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และมีอำนาจกลั่นกรองการส่งเสริมการลงทุนโครงการที่มีขนาดการลงทุนเกิน 750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

คลังวางเกณฑ์สิทธิปย.บอร์ดรสก.
     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการปรับเกณฑ์ให้สิทธิประโยชน์คณะกรรมการและฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจตามนโยบายคสช.ว่า มอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาหลักเกณฑ์ว่าจะคงการให้ สิทธิส่วนใดไว้บ้าง และจะปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่าเทียมกับที่ไม่จดหรือ ไม่ ซึ่งจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคสช.เห็นชอบ หลักเกณฑ์ 
     นายรังสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการให้สิทธิประโยชน์ เช่น เบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยงไม่ได้สูงมาก หรือทำให้รัฐวิสาหกิจต้องสูญเสียรายได้เกินความจำเป็น หรือทำให้มีผลประกอบการขาดทุน แต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่ทำให้รู้สึกว่ารัฐวิสาหกิจได้ผลประโยชน์ที่มากเกินควร ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์องค์กร ส่วนการจ่ายเงินโบนัสนั้นแต่ละรัฐวิสาหกิจมีหลักเกณฑ์วางไว้อยู่แล้ว การให้โบนัสจำนวนมากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จริงๆ แล้วบอร์ดเข้ามาทำงานแทบจะไม่มีสวัสดิการอะไร หลายคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อาสาเข้ามาทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจและไม่ได้สวัสดิการ ดังนั้นการปรับการให้สิทธิประโยชน์ต้องดูให้เกิดความเหมาะสม

'บิ๊กตู่'ขีดเส้นแก้รุกป่า 
      พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายแผน สผป.ศปป.4 กอรมน. เผยว่า คำสั่งฉบับที่ 64/2557 ให้เร่งปราบปรามจับกุม การทำลายทรัพยากรป่าไม้นั้น กอ.รมน.จะแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ตั้งแต่ระดับภาค จังหวัด จนถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งเตรียมเสนอต่อคสช.ในเรื่องบทบาทของ ผู้ว่าฯ ในฐานะกอ.รมน.จังหวัด ซึ่งต้องมีส่วนร่วมดูแลด้วย โดยเตรียมเสนอให้ผู้ว่าฯ ออกคำสั่งเปิดยุทธการเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นความร่วมมือ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้
       พ.อ.พงษ์เพชร กล่าวว่า เตรียมจะดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1.แก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า 2.การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณะ และ 3.การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ ภูเขา ทะเล โดยจะดู 3 เรื่องหลักนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กำหนดให้ดำเนินการพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงเป้าหมายเร่งด่วน 9 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัดคือ อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย และภาคใต้ 1 จังหวัดคือ กระบี่ ทั้ง 9 จังหวัดต้องแก้ปัญหาให้เห็นผลภายใน 6 เดือน
      พ.อ.พงษ์เพชร กล่าวว่า พื้นที่ 9 จังหวัดนี้มีปัญหาแตกต่างกัน ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ เป็นการบุกรุกพื้นที่เพื่อเพาะปลูกโดยเฉพาะสวนยางพารา ส่วนจ.นครราชสีมา บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศ หัวหน้า คสช.มีนโยบายสำคัญในเรื่องการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ เรื่องการรื้อถอนรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ ถือเป็นเป้าหมายการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย หัวหน้า คสช.เน้นย้ำให้ดำเนินการกับผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ที่บุกรุกป่า ไม่ว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใดต้องดำเนินการทั้งสิ้น ถ้าหากเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเสนอ

ถกมาตรการช่วยเหลือชาวนา 
       เวลา 09.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถ. วิภาวดีฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว เป็นประธานประชุมร่วมกับตัวแทน 3 สมาคม สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือชาวนาหลังจากยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว 
      พล.อ.ฉัตรชัย เผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติใช้แนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับชาวนา เช่น ค่าสารเคมี ค่าปุ๋ย และค่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงขั้นต่ำ 500 บาทต่อไร่ จากต้นทุนปัจจุบันที่ 4,000 บาทต่อไร่ แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ ซึ่งการชดเชยปัจจัยการผลิตดังกล่าวจะไม่จ่ายชดเชยเป็นตัวเงิน แต่เน้นการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะนำเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. พิจารณาในเย็นวันนี้ เพื่อให้ทันกับการผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ปีการผลิต 2557/58

ลดต้นทุน-ดอกเบี้ยกู้
     พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ยังเตรียมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนาด้วย และจะมีมาตรการเสริมในการยกระดับราคาข้าวเพื่อดูแลราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนชาวนาเดือดร้อน ยืนยันจะไม่มีการชดเชยเป็นจำนวนเงิน แต่จะเน้นลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตัวแทนชาวนาที่เข้าร่วมการประชุมต่างแสดงความพอใจ
       นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธ.ก.ส. เผยว่า จากการที่ผู้ผลิตปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยการผลิตต่างๆ ยอมลดราคาลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาลดลง 432 บาทต่อไร่ จากต้นทุนปัจจุบันที่ 4,787 บาทต่อไร่ หากรวมค่าชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ที่ลดลงอีก 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 150 บาทต่อไร่ จะทำให้ต้นทุนทั้งหมดของชาวนาลดลงรวม 582 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.ยังเสนอแนวทางการช่วยเหลือสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยลดดอกเบี้ยลง 3 เปอร์เซ็นต์จากปกติ 6 เดือน แบ่งเป็น 2 แนวทางให้คสช.พิจารณา ได้แก่ แนวทางแรกให้สินเชื่อรายละ 50,000 บาท คิดเป็นเงิน 2,292 ล้านบาท กรณีที่ 2 ให้สินเชื่อรายละ 100,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,582 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.จะเลือกใช้แนวทางใด 

ชาวนาจี้แก้กฎหมายที่ค้างสภา 
      นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แนวทางการดูแลราคาข้าวในประเทศของ คสช.เบื้องต้นให้ผู้ประกอบการโรงสีและพ่อค้าข้าว รับซื้อข้าวในราคา 8,000-9,000 บาทต่อตัน ชาวนาพอใจในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ คสช.พิจารณาช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนาโดยแยกเป็น 2 กลุ่ม เพราะกลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทานมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาวนาที่อยู่ในเขตชลประทาน เฉลี่ยอยู่ที่ 6,500-7,000 บาทต่อไร่ จึงไม่ควรได้รับความช่วยเหลือภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน และขอให้คสช.เร่งผลักดันการออกกฎหมายชาวนาที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในสภาโดยเร็ว เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ของชาวนา เช่นเดียวกับในสหรัฐ และญี่ปุ่น

บอร์ด"อสมท-บินไทย"ออกอีก
      วันที่ 18 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมบอร์ดองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) ได้รับทราบการลาออกของ บอร์ด อสมท 4 คน ประกอบด้วย นายสุธรรม แสงประทุม ประธานบอร์ด นายจักรพันธุ์ ยมจินดา นายธงทอง จันทรางศุ รองประธานบอร์ดและพล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ พร้อมทั้งมีมติแต่งตั้ง นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. เป็นต้นไป และได้แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว 
       นอกจากนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ซึ่งมีผลให้การดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบสิ้นสุดลงด้วย ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. เป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 23:08 น. ข่าวสดออนไลน์

เช็กรายชื่อบอร์ด 'รัฐวิสาหกิจ' ใครอยู่-ใครไป
รายงานพิเศษ
     งานด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกเหนือจากการสร้างความปรองดอง 
     การขับเคลื่อนแน่นอนย่อมส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ(บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ 
    มีบอร์ดหรือกรรมการคนใดบ้างที่ต้องลาออก หรือยังต้องอยู่ต่อ 

---------------------
กระทรวงการคลัง 

คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย 

     นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการธนาคาร (ลาออกแล้ว)
      นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล กรรมการธนาคารและประธานกรรมการบริหาร ถูกจับตาว่าจะลาออกตามหรือไม่ เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และการทำหน้าที่ในฐานะอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ตอบสนองงานรัฐบาลชุดก่อนต่อเนื่อง

กรรมการ
      นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ถูกจับตาเพราะได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่แล้ว
      นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ถูกจับตาเพราะได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่แล้ว
      นายนนทิกร กาญจนะจิตรา กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน กรรมการตรวจสอบและกรรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ 
     นางอรุณภรณ์ ลิ่มสกุล กรรมการธนาคาร ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและกรรมการบริหาร 
     นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ กรรมการธนาคาร กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการบริหารความเสี่ยง 
     นายวีรภัทร ศรีไชยา กรรมการอิสระ กรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและกรรมการบริหารความเสี่ยง
     นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการธนาคาร กรรมการบริหาร และกรรมการ บรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม 
     นายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ กรรมการอิสระ และกรรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ 
     นายสมชาย พูลสวัสดิ์ กรรมการธนาคาร และกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม 
     นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และกรรมการบริหารความเสี่ยง

ธนาคารออมสิน 
     นางชูจิรา กองแก้ว ประธานกรรมการธนาคารออมสิน แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดก่อน อดีตหน้าห้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม 

กรรมการ 
      นายประเสริฐ หลุยเจริญ สามีนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง ชุดก่อน ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลาออกหรือไม่ 
     นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร 
     นายวัชรา ตันตริยานนท์ 
     นายอำนวย ปรีมนวงศ์
     น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร 
     ดร.นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ 
     นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ 
     ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ 
     นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม 
     นายขวัญชัย วงศ์นิติกร 
     นายประภาศ คงเอียด 
     นายชัยธวัช เสาวพนธ์
     นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงค์

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 
      นายประสิทธิ์ สืบชนะ ประธานกรรมการ 

กรรมการ 
      นายธงทอง จันทรางศุ มีบทบาทและมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ยังไม่ลาออก
      นางศิริพร เหลืองนวล 
      นายกฤษดา รักษากุล 
      พล.ต.อ.เจตน์ มงคลหัตถี 
      ดร.กฤษดา มาลีวงศ์ 
      นายสมบัติ อยู่เมือง 
      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง 
     นายธานินทร์ อังสุวรังสี 
      นางอังคณา ไชยมนัส 

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 
      นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ประธานกรรมการ (อธิบดีกรมศุลกากร)

กรรมการ 
      พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร กรรมการและเลขานุการ (ลาออกจากตำแหน่งผอ.สลากฯ แล้ว)
      พล.ท.รุจวินท์ กิจวิทย์ แต่งตั้งตามมติครม. 
      นายวีรภัทร ศรีไชยา แต่งตั้งตามมติครม. 
      พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ แต่งตั้งตามมติครม. 
     (ทั้ง 3 รายมีแนวโน้มจะลาออก เนื่องจากเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากครม.ในรัฐบาลที่แล้ว) 
    นายจรินทร์ จักกะพาก ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (รองปลัดฯมหาดไทย) 
    นายณพงศ์ ศิริขันตยกุล ผู้แทนกรมบัญชีกลาง (รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง) 
     นายชนรรค์ พุทธมิลินประทีป ผู้แทนสำนักงบประมาณ (รองผอ.สำนักงบประมาณ)
    ดร.มนัส โนนุช ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ (รองเลขาธิการสภาสังคม สงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ) 

กระทรวงคมนาคม

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) 
       น.ต.ศิธา ทิวารี ประธาน (ลาออกแล้ว)
       พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ (บอร์ดมีมติแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแทนน.ต.ศิธา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา)

กรรมการ 
      นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. อดีตผู้บริหารบริษัทไทยคม 
      ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ อดีตปลัดกทม. 
      พลต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ (ลาออกแล้ว) 
      นายถิรชัย วุฒิธรรม 
      นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.)
      พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล (ลาออกแล้ว) 
      นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 
      นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯรัฐบาลที่แล้ว 
      นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร 
      นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความพรรคเพื่อไทย (ลาออกแล้ว) 
      การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 
     นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ประธานกรรมการ อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับแต่งตั้งสมัยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรมว.คมนาคม 

กรรมการ
      นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว 
      นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 
      นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง
      นายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม 
      นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) 
      นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี นักกฎหมาย 
      นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร นักธุรกิจเจ้าของ บริษัท สถาปนิก สุธรรม จำกัด นักธุรกิจใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
      การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ (รฟม.)
      น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานกรรมการ นักธุรกิจใกล้ชิดตระกูลชินวัตร 

กรรมการ 
      นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการรฟม. อดีตผู้บริหารบริษัทไทยคม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!