WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8561 ข่าวสดรายวัน


ศาลรธน.เที่ยงนี้ ตัดสินปู! ปปช.ต่อคิววันพรุ่งนี้ 
ชี้ขาดคดี'ย้ายถวิล-จำนำข้าว'ศอ.รส.แฉ"แผนสุญญากาศ'กกต.ยึกยักร่างพรฎ.เลือกตั้ง โยกกิตติพงษ์-ธงทอง-ภราดร


ติดตาม - สื่อมวลชนจำนวนมากติดตามการชี้แจงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดี โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ก่อนตุลาการจะนัดฟังคำวินิจฉัยทันทีในวันนี้ 

       ศาลรัฐธรรมนูญม้วนเดียวจบคำร้องย้าย'ถวิล เปลี่ยนศรี'ไต่สวน 4 พยานเสร็จ ฉับไวนัดฟังคำวินิจฉัย ในวันนี้ ด้าน'ยิ่งลักษณ์'ขึ้นให้ถ้อยคำระบุย้ายเพราะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงขณะนั้นเห็นว่าอยู่ในศอฉ.เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังกับประชาชนจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ยันไม่เอื้อประโยชน์ญาติพี่น้องเก้าอี้ผบ.ตร. ระทึกอีกดอก ป.ป.ช.นัดประชุมชี้มูลถอดถอนคดีจำนำข้าวต่อทันทีวันที่ 8 พ.ค. อ้างผลการไต่สวนพยานครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วนัดประชุมชี้ชะตาได้ ศอ.รส.แถลงการณ์แฉแผนสร้างสุญญากาศ ตั้งนายกฯนอกรัฐธรรมนูญ กกต.ยึกยักอีกยังไม่ส่งร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขให้ครม.พิจารณา อ้างขอแก้ไขให้อำนาจกกต.สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ก่อน เพื่อให้ทำงานได้ราบรื่น

ศาลรธน.นั่งบัลลังก์ไต่สวน4พยาน

       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบังลังก์ไต่สวนพยาน 4 ปาก ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตเลขาธิการสมช.และอดีตผบ.ตร. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญถ่าย ทอดสดขณะไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 กองร้อย พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) มาดูแลรักษาความปลอดภัยรอบสำนักงาน ขณะเดียวกันทีมรักษาความปลอดภัยของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มาตรวจสถานที่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งบรรยากาศปกติเรียบร้อย

'ยิ่งลักษณ์'ยิ้มแย้ม-ขึ้นศาลรธน.

       ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนาย วราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ นางปวีณา หงสกุล ปฏิบัติหน้าที่รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ปฏิบัติหน้าที่รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และพล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ นายกฯ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญต้อนรับ 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้หารือซักซ้อมกับนายพิชิต และทีมกฎหมาย ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตั้งอยู่ในศูนย์ราชการ ซึ่งบริเวณด้านหน้า มีการชุมนุมของกลุ่มพุทธอิสระ

กำหนด 3 ประเด็นพิจารณาคำร้อง

       เวลา 10.30 น. นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก โดยนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการ ระบุว่าการไต่สวนวันนี้องค์คณะกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประเด็น 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกฯพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2.การกระทำของนายกฯ ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) (3) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของครม.ทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ 

       จากนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า คดีนี้น.ส. ยิ่งลักษณ์ มุ่งผลักดันให้เครือญาติคือพล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร.ขณะนั้น ขึ้นเป็นผบ.ตร. แต่ในช่วงดังกล่าวมีพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผบ.ตร. จึงให้พล.ต.อ.วิเชียร พ้นจากผบ.ตร. เพื่อให้ตำแหน่งว่างลง และแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นมาแทน จึงย้ายพล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นเลขาธิการสมช.อย่างไม่สมัครใจ เป็นเหตุให้ต้องแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เลขาธิการสมช.ขณะนั้นไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ตนเห็นว่าการย้ายนายถวิล มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า มีการแทรกแซงเร่งรัดเพื่อให้พ้นจากเลขาธิการสมช.โดยเร็ว ซึ่งนายถวิลได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะเห็นว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ดุลพินิจโดย มิชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และมีผลผูกพันผู้ถูกร้อง ตามนัยมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

'ไพบูลย์'ให้วินิจฉัยครม.พ้นทั้งคณะ

         นายไพบูลย์ กล่าวว่า จึงขอให้ศาลวินิจฉัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จึงไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไปได้ และเป็นเหตุทำให้รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เพราะถือว่ามีส่วนร่วมกระทำการต้องห้าม อีกทั้งเมื่อตำแหน่งนายกฯว่างลง รัฐมนตรีที่เหลืออยู่จึงไม่อาจประกอบกันเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 และมีอำนาจที่ถูกจำกัดตามมาตรา 181 และมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการต่อไปได้ จึงต้องแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ภายใน 7 วัน เช่นเดียวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ออกจากนายกฯ ก็แต่งตั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกฯภายใน 9 วัน 

       ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความพรรคเพื่อไทย พยายามซักถามนายไพบูลย์ ว่าทราบหรือไม่ในการแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นผบ.ตร.เพราะมีผลงานด้านปราบปรามยาเสพติด ซึ่งพล.ต.อ.วิเชียร ที่เป็นคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก็สนับสนุน รวมทั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เมื่อได้รับแต่งตั้ง ฝ่ายการเมืองก็ไม่เคยนำไปเป็นประเด็นอภิปรายในรัฐสภา โดยนายไพบูลย์ระบุว่า ไม่ทราบ 

นายสมหมายถามถึงศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาต่อกรณีดังกล่าวว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายยกเว้นเรื่องดุลพินิจ นายไพบูลย์กล่าวว่า เห็นว่าการใช้ดุลพินิจต้องชอบด้วยกฎหมาย จึงจะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายชอบด้วยกฎหมาย 

'ยิ่งลักษณ์'ยันไม่ได้ก้าวก่ายแทรกแซง

       จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ถ้อยคำว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯของตนนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา จึงต้องรับผิดชอบนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนของการทำงาน ตนมอบอำนาจให้รองนายกฯและครม.สั่งการตามนโยบาย รวมทั้งอำนาจพิจารณาบุคลากรที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ต้องมีความเข้าใจในนโยบายรัฐบาลและได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล ซึ่งในครม.ชุดนั้น ตนมอบหมายพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯขณะนั้นดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯขณะนั้น ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯขณะนั้น ดูแลสำนักนายกฯ

         นายกฯกล่าวว่า ตนจึงขอปฏิเสธว่ามีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหาต่างๆ เพราะตนไม่ได้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพราะดุลพินิจการแต่งตั้งพล.ต.อ. เพรียวพันธ์ เป็นผบ.ตร. พล.ต.อ.วิเชียร เป็นเลขาธิการสมช. และนายถวิล เป็นที่ปรึกษา นายกฯ เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีที่ต้องแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริหารงาน

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนการแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เพราะความเป็นเครือญาตินั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง จะเห็นได้ว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แม้จะเกษียณอายุราชการ ก็ไม่ได้มาเป็นครม.ในรัฐบาลของตน การเสนอพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นผบ.ตร.นั้น รองนายกฯเป็นคนเสนอ ตนในฐานะประธานก.ต.ช. จึงต้องเสนอรายชื่อเข้าที่ประชุมตามกฎหมาย แม้แต่พล.ต.อ.วิเชียร ที่เป็นก.ต.ช.ก็ยังให้ความเห็นชอบพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อีกทั้งยังเห็นว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่มีประสบการณ์ปราบปรามยาเสพติดสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จึงเป็นการแต่งตั้งที่มองความเหมาะสม ไม่ใช่เครือญาติ

ย้าย'ถวิล'เพราะร่วมสั่งสลายชุมนุม 

        น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ถ้อยคำต่อว่า การบริหารราชการแผ่นดินต้องทำตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ประกอบกับตนเข้ามาดำรงตำแหน่งก็เกิดปัญหาอุทกภัย ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนจึงมอบอำนาจให้รองนายกฯและครม.ในด้านต่างๆ แบ่งหน้าที่กันเพื่อบริหารราชการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับการย้ายพล.ต.อ. วิเชียรนั้น ตนรับทราบตามความเห็นที่พล.ต.อ. โกวิท เสนอให้ที่ประชุมครม.ทราบ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเสนอชื่อก็ไม่ได้วางตำแหน่งในอนาคตข้างหน้า เช่น การที่พล.ต.อ.วิเชียร ออกจากเลขาธิการสมช. ไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ก็เกิดจากการทาบทามของรมว.คมนาคมขณะนั้น ซึ่งแต่งตั้งตามนโยบาย ไม่ได้ทราบว่าในอนาคต ปลัดคมนาคมจะเป็นใคร 

        ด้านนายจรูญ ถามถึงเกณฑ์การตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ คำนึงถึงประสิทธิภาพและคุณธรรมอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การย้ายพล.ต.อ.วิเชียร เป็นเลขาธิการ สมช. อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของพล.ต.อ.โกวิท โดยเลขาธิการสมช.นั้น ต้องสนองนโยบายรัฐบาลและต้องได้รับความไว้วางใจ ส่วนสาเหตุที่พล.ต.อ.โกวิท ย้ายนายถวิล เพราะนายถวิลเคยอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่สั่งสลายชุมนุมจนมีคนเสียชีวิต ด้วยความเป็นห่วงสถานการณ์การเมือง จึงแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว และเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายภาคแดนใต้ ซึ่งตนไม่ได้ก้าวก่ายการใช้ดุลพินิจของรองนายกฯ เพราะพล.ต.อ.โกวิท ให้เหตุผลว่าพิจารณาตามหลักความไว้ใจและผู้ที่สามารถรับผิดชอบตามนโยบายของรัฐบาลได้ อีกทั้งครม.ยังเห็นชอบ ตนจึงไม่ได้ซักถามอะไรเพิ่ม และพล.ต.อ.วิเชียร ก็สมัครใจมารับตำแหน่งเลขาธิการสมช. 

        นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ตนไม่ทราบ เพราะเห็นว่าเป็นขั้นตอนของฝ่ายปฏิบัติ และเป็นฤดูกาลที่มีการแต่งตั้งตามปกติ แต่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการมีความสำคัญ จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการว่างเว้นจากยุบสภา

'ถวิล'ให้การอ้าง'วิเชียร'ถูกบีบ

        จากนั้นนายถวิล ชี้แจงว่า เหตุผลที่แท้จริงในการย้ายตน เพราะก่อนมีมติครม.โอนย้ายตน มีเรื่องของตร. โดยร.ต.อ.เฉลิมพูดเรื่องบ่อนการพนัน ซึ่งมีความบกพร่องของพล.ต.อ. วิเชียร ผบ.ตร.ที่ปล่อยให้มีบ่อนการพนันและมีข่าวออกมาบ่อยครั้งในเดือนส.ค.2554 ว่ามีการบีบบังคับให้พล.ต.อ.วิเชียรลุกออกจากตำแหน่ง ซึ่งพล.ต.อ.วิเชียรเคยพูดกับตนตอนที่มีข่าวจะย้ายมาสมช.ใช้คำว่า "พี่ถวิลสบายใจได้ ผมไม่มาสมช. จะต่อสู้ที่ตร." ซึ่งตนก็บอกว่าดีแล้ว ทั้งนี้ ตนยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลนี้ที่ใดมาก่อน เหตุที่ย้ายตนออกเพื่อรองรับพล.ต.อ. วิเชียร ก่อนแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อีกทั้งรองนายกฯ ที่กำกับดูแลตร. บอกชัดเจนว่าไม่ไว้ใจตนเพราะทำงานในศอฉ.ในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งตนเป็นข้าราชการประจำ เป็นไปตามโครงสร้างตามกฎหมาย ตนต้องทำงานให้ทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนย้ายตามวาระของรัฐบาล 

       นายสมหมาย ถามว่าตอนย้ายพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาธิการสมช. นายถวิลดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสมช.ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช่หรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า ใช่ แต่เหตุผลที่ย้ายพล.ท.สุรพลตนไม่ทราบ ตอนย้ายพล.ท.สุรพลตนจำได้ว่าย้ายเดือนก.ค. ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาปี 2551 ให้พล.ท.สุรพลทำงานมา 8-9 เดือนแล้ว  

ทนายซักค้าน-ไม่ให้การศาลปค.

       นายสมหมาย ถามต่อว่า ในศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยอำนาจถูกผู้ร้องว่ามีอำนาจโยกย้ายได้ ยกเว้นอย่างเดียวเรื่องดุลพินิจ นายถวิลกล่าวว่า ศาลปกครองวินิจฉัย แต่การใช้ดุลพินิจไม่ชอบ มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนว่าเร่งรีบดำเนินการ การย้ายต่างหน่วยต่างกรมต้องให้ความยินยอมกันก่อนระหว่างหน่วยที่ให้โอนและหน่วยที่รับโอน เลขาธิการนายกฯ มีหนังสือลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 มีถึงหน่วยที่กำกับดูแลตนอยู่ ซึ่งให้ข้อมูลว่ามีตำแหน่งพร้อมรับโอน และรัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานเลขาธิการนายกฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ปรากฏว่ารมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ดูแลได้ให้ความเห็นชอบในวันที่ 5 ก.ย. 54 เท่ากับรัฐมนตรีที่ดูแลหน่วยที่รับโอนยังไม่ได้เห็นชอบ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน เป็นการปกปิดข้อมูลบางอย่าง 

      นายสมหมาย ถามว่าฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา การโยกย้ายข้าราชการ ความไว้วางใจกับความสามารถ ฝ่ายบริหารจะต้องแยกจากกัน คนที่ไว้วางใจควรอยู่ในตำแหน่งเห็นด้วยหรือไม่ อีกทั้งนายถวิลเบิกความทั้งหมดดูแล้วเป็นสาระสำคัญในคดี เหตุใดจึงไม่ให้การกับศาลปกครอง นายถวิลกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยเรื่องคนที่รัฐบาลไว้วางใจควรอยู่ในตำแหน่ง ส่วนเรื่องสาระสำคัญของการเบิกความนั้น น้ำหนักของตนที่ศาลปกครองคือกรณีนายกฯ ไม่ใช้วิธีการที่กฎหมายกำหนด กระบวนการต่อสู้ของตนรับผิดชอบแค่นี้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องตร. ตนต่อสู้ในประเด็นโยกย้ายไม่เป็นธรรมเท่านั้น

'จรัญ'ระบุเอกสารมีความลักลั่น

       นายจรูญ ถามว่าการย้ายกรณีดังกล่าวเป็นการย้ายตามปกติของระบบราชการหรือไม่ คิดว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายหรือไม่ แต่ตนเห็นว่าเกี่ยวพันกัน แบ่งงานกันทำ เพราะถ้าไม่เอาตนออกก็ไม่สามารถโอนพล.ต.อ.วิเชียรมาตำแหน่งนี้ได้ ถ้าไม่เอาพล.ต.อ.วิเชียรออกจากผบ.ตร.ได้ก็ไม่สามารถเอาพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็นผบ.ตร.ได้เช่นกัน 

       ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการถามว่า ในบันทึกข้อความของสำนักนายกฯ ลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ระบุว่าน.ส.กฤษณายินยอมให้รับโอนแล้ว นายถวิลกล่าวว่า หนังสือจากพล.ต.อ.โกวิทแจ้งว่า น.ส.กฤษณาเห็นชอบพร้อมรับโอนแล้ว แต่มีหนังสือลงวันที่ 5 ก.ย. 54 ของน.ส.กฤษณาว่าเห็นชอบการรับโอน ตนเห็นว่าถ้าพิจารณาให้ดีการโอนย้ายต้องให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 หน่วย ก็เห็นว่ามันไม่สอดคล้องกัน เพียงแต่เรื่องนี้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เห็นเป็นสาระสำคัญของการโอน ซึ่งตนคิดว่าเอกสารดังกล่าวมีการแก้ไขวันที่ตนถ่ายเอกสารที่อยู่ในมือตั้งแต่ต้น และเห็นว่าหนังสือมีความลักลั่น

วิเชียร ยันย้ายสมัครใจ-เปล่าบีบ

      ขณะที่พล.ต.อ.วิเชียรชี้แจงเป็นพยานปากสุดท้ายว่า การโยกย้ายสืบเนื่องจากความเสียใจที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขณะนั้นตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงว่าตนเป็นตำรวจคุมบ่อนคุมซ่อง ซึ่งทำลายศรัทธาของประชาชน เมื่อถูกตำหนิติเตียนก็มาปรึกษาพล.ต.อ.โกวิทว่าไม่สามารถทำงานกับผู้บังคับบัญชาแบบนี้ได้ จะย้ายให้ตนไปไหนก็ได้ ซึ่งพล.ต.อ.โกวิทบอกว่าจะย้ายไปเป็นเลขาฯ สมช. ซึ่งตนยืนยันว่าเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ต่อรอง ส่วนนายกฯ ก็ไม่เคยทาบทาม ไม่เคยยื่นเงื่อนไข และไม่เคยแทรกแซงการโยกย้ายแต่อย่างใด

      นายไพบูลย์ ได้ขึ้นซักถามว่าก่อนย้ายมาเป็นเลขาฯ สมช. ทราบหรือไม่ว่ามีการเสนอชื่อพล.ต.อ.เพรียวพันธ์มาเป็นผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ตนไม่ทราบมาก่อน เพราะการแต่งตั้งผบ.ตร.ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน้าที่นายกฯ จะเห็นว่าใครเหมาะสมในการเสนอชื่อให้เป็นผบ.ตร. ตนไม่ยึดติดตำแหน่ง แต่เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ก็พร้อมทำเต็มที่ ตนตั้งใจ จริงที่จะเกษียณในตำแหน่งหัวหน้าตำรวจ พระราชสำนัก ตนไม่ได้ยึดกับตำแหน่งแต่ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนจะไปอยู่ตำแหน่งไหนขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา 

        นายไพบูลย์ ถามต่อว่าการที่ร.ต.อ.เฉลิมต่อว่าเป็นการข่มขู่คุกคามหรือไม่ และต่อมายังถูกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ไม่ได้คุกคาม แต่ตนสมัครใจเอง การที่ร.ต.อ.เฉลิมตำหนิการทำงาน ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจโยกย้ายตำแหน่งเพราะตนตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ได้ถูกข่มขู่คุกคาม และเมื่อย้ายเป็นเลขาฯ สมช.ถือเป็นก.ต.ช.โดยตำแหน่งและได้เห็นชอบพล.ต.อ.เพรียวพันธ์เป็นผบ.ตร.

นัดฟังคำวินิจฉัยทันที-วันที่ 7 พ.ค.

       นายไพบูลย์ ถามว่าเคยพูดคุยกับนายถวิลก่อนโยกย้ายหรือไม่ พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ตนเคยพูดคุยกับนายถวิล เคยคุ้นเคยกันเนื่องจากเคยเรียนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ด้วยกัน แต่ก่อนโยกย้ายไม่ได้ปรึกษาเรื่องดังกล่าว เมื่อโยกย้ายมาแล้วก็ไม่เคยพูดคุยกัน ตนเสียใจที่ทำให้นายถวิลเดือดร้อน แม้ตนจะมีอายุมากกว่าแต่เมื่อเจอหน้ากันก็ยกมือไหว้และขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน

       จากนั้นเวลา 13.45 น. นายจรูญสั่งพักการประชุม 10 นาที ต่อมาเวลา 14.05 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อีกครั้ง โดยนายจรูญอ่านกระบวนการวิธีพิจารณา ระบุว่ากรณีผู้ถูกร้องขอให้สอบพยานเพิ่มพยานได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิบัติหน้าที่รมว.แรงงาน นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายนพดล เฮงเจริญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ นายสมชัย วัฒนการุณ และนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ขอยื่นแถลงปิดคดีซึ่งศาลไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนและกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอนัดคำฟังวินิจฉัยในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 12.00 น.

มาร์คส่งคนนำโรดแม็ปมาให้ปู

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางกลับมาปฏิบัติภารกิจที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แจ้งวัฒนะ ต่อมาเวลา 13.30 น. นายทศพล เพ็งส้ม ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มายื่นแผนปฏิรูปประเทศให้กับนายกฯ ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคมอบหมาย โดยมี นายกัลยาณะ วิภัตภูมิประเทศ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหาร เป็นตัวแทนนายกฯ รับหนังสือดังกล่าว

พท.แถลงซัดโรดมาร์คสับสน

        ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายโภคิน พลกุล กรรมการกิจการพรรค พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรค นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายคณิน บุญสุวรรณ นายอำนวย คลังผา นายไพจิต ศรีวรขาน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ออกแถลงการณ์เรื่อง"การเลือกตั้งและความยุติธรรมเท่านั้น คือทางออกของประเทศ" 

      นายโภคิน อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยมีแถลงการณ์อย่างต่อเนื่องว่า ทาง ออกของประเทศจากความรุนแรงและกลียุคที่จะเกิดขึ้นนั้น คือการเลือกตั้ง และทุกฝ่ายทุกองค์กรต้องตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 วันที่ 8 พ.ค.2549 เป็นไปตามหลักสากลและหลักที่ประเทศไทยถือปฏิบัติมาตลอด ทั้งยังสอดคล้องกับความเห็นของทุกพรรค ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม กปปส. 

       นายโภคิน กล่าวว่า ข้อเสนอทางออกประเทศของนายอภิสิทธิ์ที่มีข้อสรุปว่าขอให้รัฐบาลเลื่อนการตราพ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกไป ขอให้นายกฯลาออกเพื่อเปิดทางไปสู่รัฐบาลคนกลาง โดยประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะมาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและต้องการรอคำตอบของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียวนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ สับสนและไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ ขัดหลักประชาธิปไตย และไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

เอื้อข้อเสนอเทือก-กปปส.-ขัดรธน.

        นายโภคิน กล่าวว่า การเสนอให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ลาออก ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 2549 เป็นการสืบทอดแนวคิดทั้งที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่การเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกฯ และครม. เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญโดยแท้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอและเลือกนายกฯ เพราะนายกฯต้องเป็นส.ส.

       นายโภคิน กล่าวว่า การที่รัฐบาลคนกลางจะดำเนินกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยการทำแผนและทำประชามติ ร่วมกับกกต.ก็ไม่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 165 กำหนดให้ปรึกษากับประธานสภา ดังนั้น ต้องเลือกตั้งจนได้ประธานสภาก่อนจึงจะทำประชามติได้ การให้รอการเลือกตั้งไป 150-180 วันหรือ 5-6 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ และการรอคำตอบจากนายกฯ เพียงคนเดียว เท่ากับสร้างเงื่อนไข เอื้อข้อเสนอของตนและกปปส.ที่ขัดรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชา ธิปไตย เพราะนายกฯไม่มีอำนาจตราพ.ร.ฎ.แต่เพียงผู้เดียว ต้องหารือกับกกต.และได้รับความเห็นชอบจากครม.ที่ทำหน้าที่ขณะนี้ เหนือสิ่งอื่นใดเป็นพระราชอำนาจ การเสนอเช่นนี้จึงไม่บังควรอย่างยิ่ง 

ระบุสมคบกันทำรัฐประหารเงียบ

       นายโภคิน กล่าวว่า ตอนที่พรรคประชา ธิปัตย์เป็นรัฐบาลระหว่างปี 2551-2554 และเป็นฝ่ายค้านปี 2554-2556 ไม่เคยมีเรื่องการปฏิรูป มีแต่การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ ไม่ได้ให้ความสำคัญในข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม หรือกระบวนการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรมยิ่งขึ้น และความเป็นจริง กกต.มีอำนาจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ที่แก้ไม่ได้และไม่พยายามแก้คือการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ 

        นายโภคิน กล่าวว่า พรรคเชื่อว่ามีกระบวน การสมคบคิดกันระหว่างบางพรรค กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรเพื่อทำรัฐประหารรูปแบบใหม่ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง ใช้อคติ ไม่มีความยุติธรรม เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อสร้างสุญญากาศไปสู่การมีนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องจับตาดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีนายถวิลอย่างรวดเร็วหรือไม่ จะมีคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศไม่มีรัฐบาล เพื่อปูทางให้วุฒิสภาไปละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งนายกฯ คนกลางต่อไปหรือไม่ กองทัพจะออกมาสนับสนุนกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้หรือไม่ กกต.จะทำตามนายอภิสิทธิ์และกปปส. ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งที่ตนเสนอเองออกไป จนไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่

        นายโภคินกล่าวต่อว่า พรรคขอย้ำว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.ค. โดยทุกพรรคนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยต่อประชาชน หลังเลือกตั้งทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายรับรององค์กรปฏิรูป เมื่อแผนและแนวทางปฏิรูปเสร็จให้นำไปทำประชามติ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังเลือกตั้งจะอยู่ไม่เกิน 12 เดือนเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูป จากนั้นยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังจากมีแผนและแนวทางปฏิรูปแล้ว ทั้งนี้ โดยสรุป คือพรรคเพื่อไทยไม่รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์

เผยพท.กังวลวิกฤตจากศาลรธน. 

      นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยสถานภาพ นายกฯกรณีโยกย้ายนายถวิล ในวันที่ 7 พ.ค. โดยที่ประชุมกังวลว่าคำวินิจฉัยอาจส่งผลทางการเมืองได้ เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤต ศาลรัฐธรรมนูญควรหาทางออกให้บ้านเมือง หวังว่าองค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญจะมีแนวทางหาทางออกมากกว่าสร้างความขัดแย้ง ทั้งนี้ แกนนำและทีมกฎหมายพรรคจะติดตามสถานการณ์การอ่านคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

       นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกกต.ยังไม่ส่งร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมให้ครม.พิจารณาว่า ที่ประชุมกังวลเพราะกกต.ควรเร่งเสนอ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ให้ครม.ตามกำหนด เมื่อกกต.เลื่อนออกไป ประชาชนอาจไม่มีหลักประกันว่าจะได้เลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. ดังนั้นอยากให้ กกต.เร่งส่งร่าง พ.ร.ฎ.ให้ครม.พิจารณาในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนด้วย

พท.ชี้'ศาลรธน.-วุฒิ-มาร์ค'รับกัน

       รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานนั้น ที่ประชุมวิเคราะห์กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยสถานภาพนายกฯ โดยเห็นตรงกันว่าศาลน่าจะวินิจฉัยในทางลบ โดยให้น.ส. ยิ่งลักษณ์พ้นจากนายกฯ เพียงคนเดียว ไม่อย่างนั้นศาลคงไม่รับเรื่องไว้ตั้งแต่แรก แต่ศาลไม่สามารถวินิจฉัยให้นายกฯ และครม.สิ้นสภาพไปพร้อมกันได้ เนื่องจากคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา อ้างอิงรัฐธรรม นูญมาตรา 182 (7) ถือเป็นคำร้องเอาผิดเฉพาะตัวบุคคล ทั้งนี้ หากศาลวินิจฉัยให้นายกฯ และครม.พ้นสภาพทั้งหมดเพื่อหวังนำไปสู่นายกฯ มาตรา 7 จริงก็คงอยู่บริหารงานไม่ได้นาน เพราะประชาชนจะออกมาต่อสู้เคียงข้างกับพรรคเพื่อไทยแบบมืดฟ้ามัวดิน ถึงตอนนั้นศาลจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

       รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ขณะนี้ตั้งแต่ศาลเร่งอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 พ.ค. สอดคล้องกับที่กกต.ยังไม่ส่งพ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งมาให้ครม.พิจารณา ขณะที่วุฒิสภาเร่งสรรหาประธานวุฒิสภาคนใหม่ในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่เสนอให้มีนายกฯ และครม.คนนอก โดยให้ประธานวุฒิสภาพิจารณา ทั้ง หมดเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อล้มรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ประชุมเชื่อว่าจะไม่มีปาฏิหาริย์ให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัครต่อเนื่องถึงรัฐบาลนายสมชาย ศาลก็ไม่เคยให้ความเมตตากับคนพรรคนี้เลย แต่พรรคจะยืนหยัดต่อสู้บนหลักการประชาธิปไตยต่อไป

ครม.เซ็งรอเก้อ-ร่างพ.ร.ฎ.จากกกต.

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังประชุม ครม.ตามวาระปกติเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบให้นาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการ ประชุมครม.นัดพิเศษ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมในช่วงเย็น เพื่อพิจารณาเรื่องที่กกต.จะส่งร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปตามขั้นตอน โดยมีรัฐมนตรีมารอประชุม อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ นายสนธยา คุณปลื้ม ปฏิบัติหน้าที่รมว.วัฒนธรรม แต่ปรากฏว่าเวลา 17.30 น. กกต.ส่งเพียงหนังสือเชิญรัฐบาลหารือเรื่องจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง ไม่ใช่เอกสารร่างพ.ร.ฎ. จึงไม่มีการประชุม จากนั้นรัฐมนตรีต่างทยอยเดินทางกลับ

       นายพงศ์เทพ เปิดเผยว่า กกต.ยังไม่ได้ส่งร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งมาถึงรัฐบาล โดยส่งหนังสือมาถึงนายกฯ ขอพูดคุยอีกครั้ง โดยรายละเอียดคือให้รัฐบาลเติมบทบัญญัติในร่างพ.ร.ฎ. เกี่ยวกับบทบัญญัติบางมาตราให้อำนาจกกต.ในบางเรื่อง หากเกิดปัญหาขึ้นมาสามารถเสนอวันเลือกตั้งใหม่ได้อีกครั้ง แต่ข้อเสนอดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยแจ้งต่อกกต.แล้วว่าอำนาจของกกต.ในการ ออกพ.ร.ฎ. สามารถกำหนดได้เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น เพราะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ จะเขียนเกินกว่านั้นไม่ได้ ส่วนการตอบกลับกกต.ขึ้นอยู่กับนายกฯพิจารณา โดยกกต.ระบุว่านายกฯยังมีเวลาพิจารณาเรื่องนี้และกรอบเวลาเลือกตั้งยังเป็นวันที่ 20 ก.ค.

ป.ป.ช.นัดชี้ชะตา'นายกฯปู' 8 พ.ค.

       เมื่อถามว่า ดูเหมือนกกต.พยายามเตะถ่วงไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดอย่างนั้น กกต.มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง ต่อข้อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีแล้วทำให้ครม.เกิดอุบัติเหตุการเมืองจะเกิดปัญหาอย่างไร นายพงศ์เทพกล่าวว่า อย่าคาดการณ์ล่วงหน้า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัย และนายกฯมั่นใจในการต่อสู้คดี แต่ยังไม่ทราบว่านายกฯจะไปฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเองหรือไม่ โดยหลักไม่จำเป็นต้องไปเอง

      เมื่อถามว่าห่วงหรือไม่ว่าจะไม่มีเลือกตั้งและมีรัฐบาลคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ นาย พงศ์เทพกล่าวว่า ประชาชนรอคอยการเลือกตั้งเพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้า และไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร รัฐบาลที่ได้มาถือเป็นสิ่งที่ประชาชนห็นชอบ แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาตามกระบวนการประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นชอบเพราะไม่มีส่วนร่วมเลือกรัฐบาล 

       รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.วันเดียวกันนี้ คณะทำงานชุดไต่สวนกรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าว ได้สรุปรายงานผลการไต่สวนให้ที่ประชุมป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวนคดีดังกล่าวทราบ ซึ่งองค์คณะเห็นว่าสำนวนการไต่สวนสมบูรณ์แล้วทั้งข้อเท็จจริง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตลอดจนคำชี้แจงของพยานทั้ง 4 ปาก และเตรียมนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันที่ 8 พ.ค. เพื่อพิจารณาลงมติชี้มูลต่อไป 

ศอ.รส.ออกแถลงบี้ศาลรธน.อีก

        ที่บช.ปส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย อ่านแถลงการณ์ศอ.รส.ฉบับที่ 3 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุนกับนายอภิสิทธิ์เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย มีใจความว่า ศอ.รส.มีข้อห่วงใยและวิตกกังวลต่อการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ทำให้เกิดสุญญากาศการเมือง ทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยไม่บรรลุผล ดังนี้

       1.การใช้อำนาจวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งศาลเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตรา พ.ร.บ.ให้เสร็จภายใน 1 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 216 ประกอบกับมาตรา 300 แต่ผ่านมาเกือบ 7 ปีแล้ว ศาลก็ไม่ดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อวิธีพิจารณาของศาลไม่ได้กำหนดไว้ในรูปกฎหมาย ทำให้เกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม และถูกต้องตามหลักยุติธรรมหรือไม่ อีกทั้งการไม่มี พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจส่งผลให้การวินิจฉัยคดีไม่มีมาตรฐาน เพราะไม่มีกรอบการใช้อำนาจ อีกทั้งการพิจารณาคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้คำวินิจฉัยที่ผ่านมามีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเอง 

ติงระวังคำวินิจฉัยขาดมาตรฐาน

       2.คำวินิจฉัยของศาลที่สำคัญในหลายคดีมักถูกวิจารณ์อย่างมากว่ามีปัญหาเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในหลายๆ คดี 

       3.กรณีศาลอาจจะวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบกับมาตรา 266 และมาตรา 268 โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ศาลเคยมีคำวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลง โดยให้สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่า ครม.ที่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ถือเป็นการวางบรรทัดฐานไว้ ดังนั้น เมื่อคำร้องทั้ง 2 กรณีมีลักษณะเดียวกัน หากศาลวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่าฝืนมาตรา 266 และ 268 แล้วผลคำวินิจฉัยควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หรือหากผลคำวินิจฉัยแตกต่างกัน จะเกิดข้อวิจารณ์ว่าขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

       4.ศอ.รส.ทราบข้อมูลด้านการข่าวว่ามีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่จะทำให้เกิดสุญญากาศการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลในคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้เกินเลยจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา 181 ซึ่งพบว่าการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในปี 2476 กระทำด้วยการตราเป็นพ.ร.ฎ.ให้เปิดประชุมสภาและตั้งครม.ชุดใหม่ ดังนั้น การที่ศาลจะวินิจฉัยเกินเลยถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงไม่ถูกต้อง และไม่สามารถทำได้ 

ห่วง 2 ม็อบใหญ่เผชิญหน้า-ปะทะกัน

      5.การที่มีนักวิชาการระบุให้ศาลรัฐธรรม นูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติ บัญญัตินั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลได้ เป็นการปูทางสู่คำวินิจฉัยที่จะสร้างสุญญากาศการเมืองตามที่กลุ่ม กปปส. และบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกฯ และครม.ชุดใหม่ โดยอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ขณะที่กลุ่ม นปช.และบางกลุ่มจะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลที่เกินจากรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ซึ่งขณะนี้ปรากฏข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้า และการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย และนำไปสู่การปะทะและก่อเหตุร้ายต่อกันแล้ว 

       6.การที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำข้อเสนออ้างว่าเป็นทางออกประเทศ พร้อมอวดอ้างว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานการณ์ขณะนี้ แต่กลับเสนอวิธีดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นข้อเสนอที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเรียกร้องให้นายกฯและครม.ลาออก ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 181 กำหนดให้ นายกฯ และครม.ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ แต่นายอภิสิทธิ์ เสนอให้ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ โดยเลี่ยงใช้คำว่าถอยออกจากอำนาจแล้วให้วุฒิสภาสรรหา นายกฯและ ครม.และทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง อ้างว่านายกฯและครม.จะอยู่ในตำแหน่งเพียงชั่วคราว ซึ่งข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ไม่มีกฎหมายใดให้ทำได้เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ นายกฯต้องมาจากส.ส.และเสนอแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

วอนตรงไปตรงมา-ยึดจริยธรรม

        "ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แท้จริงแล้วเพื่อปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษางดใช้มาตรา 181 หรือพิพากษาให้ นายกฯและครม. พ้นไปโดยถือว่าเป็นกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 181 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ย่อมรู้ดีว่าข้อเสนอดังกล่าว นายกฯ และครม.ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และยังขัดต่อมาตรา 181 ด้วย ดังนั้น ความมุ่งหมายแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ มีอย่างเดียวคือโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาพิพากษาให้เกิดสุญญากาศนั้นเป็นความเหมาะสมที่พึงกระทำได้ แท้จริงคือหนึ่งในกระบวนการทำให้เกิดสุญญากาศการเมืองแล้วแต่งตั้ง นายกฯ และครม.คนนอกที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือนอกรัฐธรรมนูญ" นายธาริตกล่าว

         นายธาริต กล่าวต่อว่า ศอ.รส.จึงขอเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาและวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยึดถือจริยธรรมและคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไห้ไว้ก่อนเข้ารับหน้าที่ และขอให้กลุ่มบุคคลได้แก่นักวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ ที่สนับสนุนแนวทางทำให้เกิดสุญญากาศการเมือง ยุติบทบาทที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน ศอ.รส.ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาก้าวล่วง หรือกดดันการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนทั้งสองฝ่ายรอผลพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ความไม่พอใจจะขยายตัวในวงกว้าง เกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน 

       นายธาริต กล่าวว่า แถลงการณ์ของศอ.รส. ครั้งนี้จึงเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ 

กกต.แถลงยื้อส่งร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

        เวลา 17.00 น. ที่สำนักงานกกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. แถลงผลการประชุม กกต.ว่า สืบเนื่องจากวันที่ 30 เม.ย. กกต.หารือร่วมกับนายกฯ ที่กองทัพอากาศ ถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง จากนั้นกกต.ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อยกร่างพ.ร.ฎ.แก้ไข เพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. ... แต่ทั้ง 2 หน่วยงานยังมีความเห็นแตกต่างกัน โดยกกต.ยืนยันเรื่องการแก้ปัญหาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. แต่กฤษฎีกายังมีความเห็นแย้ง วันนี้กกต.จึงส่งหนังสือความเห็นถึงครม. ลงนามโดยกกต.ทั้ง 5 คน เกี่ยวกับพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งฯ ส่งถึงนายกฯ พร้อมแนบเอกสารอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วยหนังสือคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 พ.ค. 2557 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2557 ลงวันที่ 24 ม.ค.2557

         นายภุชงค์ กล่าวว่า หนังสือของกกต.ระบุว่า ตามที่กกต.ส่งร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งฯ เสนอว่ากรณีมีเหตุจำเป็นหรือจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ให้นายกฯปรึกษากกต.เพื่อให้ประธานกกต.ประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ แต่กฤษฎีกาเห็นว่าจะมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น กกต.จึงมีมติเอกฉันท์เสนอความเห็นต่อนายกฯ ดังนี้ 

ขอเพิ่ม-กกต.เลื่อนวันเลือกตั้งได้

       1.พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ตามแบบแผนแม้ไม่เคยมีเนื้อความกำหนดแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่กกต.เห็นว่าการตราพ.ร.ฎ.ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ทำได้ ยกตัวอย่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2549 ที่กำหนดวันบังคับใช้ไว้หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 เดือน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้มีเวลาเตรียมการหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวันเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พ.ร.ฎ.ใช้บังคับ แต่ 60 วันดังกล่าวไม่อาจเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน 

         2.การชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ทำให้กกต.เสนอนายกฯ เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อน แต่นายกฯและรัฐมนตรีหลายคนเห็นว่าไม่สามารถเลื่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ แต่เมื่อกกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด โดยศาลวินิจฉัยว่าหากมีเหตุนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติ หรือประชาชนเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไป กกต.ก็ชอบที่จะแจ้งให้นายกฯหรือครม.ทราบ เพื่อพิจารณาตราพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่

       3.จากเหตุผลข้างต้น กกต.จึงเห็นว่าการกำหนดให้มีบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาทางกฎหมายที่เคยเกิดขึ้นแล้วเป็นหลัก มิได้คำนึงถึงเพียงแบบแผนและแนวทางการตรากฎหมายตามปกติ เพราะกกต.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งทั้งหมดหลังพ.ร.ฎ.ประกาศ ใช้ จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเป็นเครื่องมือจัดการเลือกตั้งไม่ให้เสียเปล่าอีกครั้ง และบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่ครม.และกกต.ได้ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และดำเนินการต่อไปได้แน่นอน

จี้คุยใน 5 วัน-จะได้ไม่กระทบ 20 ก.ค.

        นายภุชงค์ กล่าวว่า กกต.เสนอให้มีบทบัญญัติร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งฯ ดังนี้ "มาตรา.. กรณีที่มีเหตุนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชนหรือมีเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฎ.นี้ ให้กกต.แจ้งให้นายกฯทราบ เพื่อพิจารณาตราพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่" ทั้งนี้ กกต.เห็นว่าเวลาที่เหลืออยู่จนถึงวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งกำหนดให้พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ ยังมีเวลาเพียงพอจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้ละเอียดรอบคอบ กกต.จึงขอเชิญนายกฯและคณะ มาประชุมร่วมกับกกต.ตามวันเวลาสถานที่ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกัน 

       "หากทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดวันพูดคุยกันโดยเร็ว ภายใน 3-5 วันจะไม่กระทบจนต้องขยับวันเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ ยืนยันว่าการทำหนังสือถึงนายกฯเพื่อเชิญมาหารืออีกครั้ง โดยที่ยังไม่ส่งร่างพ.ร.ฎ.นั้น ไม่เกี่ยวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีของนายกฯในวันที่ 7 พ.ค.หรือข้อเสนอที่นายอภิสิทธิ์ ส่งมาให้กกต." นายภุชงค์ กล่าว

เมื่อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯและครม.สิ้นสภาพ ใครจะเป็นผู้ส่งเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ เลขาธิการกกต.กล่าวว่า ไม่ขอออกความเห็น

ย้ายสับ'ภราดร-ธงทอง-กิตติพงษ์'

        เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรม แถลงกรณีครม.มีมติโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการระดับ 11 จำนวน 3 คน โดยให้นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ และให้นาย ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯ ไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และให้พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษานายกฯ ไปดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ 

       นายชัยเกษม กล่าวว่า สาเหตุที่ย้ายนายกิตติพงษ์ เพราะดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีและต่ออายุราชการ 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี รวม 6 ปี ซึ่งตามระเบียบไม่สามารถดำรงต่อไปได้แล้วจึงต้องโยกย้าย โดยนายกิติพงษ์ ทำหนังสือแสดงความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรมาถึงตนว่าต้องการไปดำรงตำแหน่งอื่นในลักษณะงานบริหารหรือตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ตนจึงสอบถามสำนักนายกฯว่ามีตำแหน่งว่างหรือไม่ และได้รับการตอบรับว่ามี จึงเสนอครม.ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับปลัดกระทรวง ไม่มีอะไรด้อย 

        รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า เมื่อตำแหน่งปลัดว่างจึงโยกนายธงทอง มาแทน ถือว่าเหมาะสมเพราะเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรมมาก่อนและเป็นนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถ และให้พล.ท.ภราดรไปเป็นปลัดสำนักนายกฯแทนนายธงทอง ซึ่งการย้ายนายกิตติพงษ์ เป็นความสมัครใจ ตนเกรงว่าจะเข้าใจและคาดเดาว่าย้ายอย่างไม่เป็นธรรม ขอย้ำว่าย้ายไปดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงที่เท่ากัน

ระทึกศาลระน.ชี้ชะตา'ปู'เที่ยงวันนี้ ปปช.ฟัน'คดีข้าว'8 พค.พท.เครียด'2 วัน 2 ดาบ'ไต่สวน 4 ปาก 4 ชม. บี้ถามรีบร้อนย้ายถวิล ศอ.รส.แฉ'ขบวนการ'ชงนายกฯ'สุญญากาศ'


ให้การ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกฯและ รมว.กลาโหม ให้ปากคำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการไต่สวนคำร้องให้วินิจฉัยสถานภาพนายกฯ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯสมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่่อวันที่ 6 พฤษภาคม


หารือ -พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา ทักทายกับนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ระหว่างการประชุมวุฒิสภานอกรอบ เพื่อหารือกรณีที่ประชุมมีมติรับญัตติเรื่องการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม

มติชนออนไลน์ :

      ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา'ปู'ปมเด้ง'ถวิล'พ้น สมช.วันนี้ นายกฯแจงย้ายยึดกฎหมาย ประโยชน์บริหารราชการแผ่นดิน ยกปมตั้งลูกชาย"สายหยุด เกิดผล"เทียบ ปปช.นัดฟันคดีข้าว 8 พ.ค.

รปภ.ปูเคลียร์พื้นที่ศาลรธน.

      ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เข้าดูแลความปลอดภัยและตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย บริเวณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. วันที่ 6 พฤษภาคม รวมถึงชุดรักษาความปลอดภัย (รปภ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมได้เดินทางมาตรวจสอบพื้นที่ล่วงหน้า

     เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาให้ถ้อยคำในฐานะผู้ถูกร้องในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรี (ครม.) ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภา

     ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานอีก 3 ปาก ได้แก่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้อง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และนายถวิล

ปูพร้อมคณะเข้าแจงศาล

      เวลา 10.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมด้วยรัฐมนตรี อาทิ นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางปวีณา หงสกุล ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับศาลรัฐธรรมนูญ มี นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญให้การต้อนรับ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญได้เดินทางเข้าซักซ้อมการชี้แจงพร้อมทั้งหารือนายพิชิต และทีมกฎหมาย ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานีก่อนแล้ว 

กำหนด 3 ปมฟัน'ปู-ครม.'

       เวลา 10.30 น.องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน นำโดยนายจรูญ อินทจาร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดี

         จากนั้น นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การไต่สวนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2.การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ครม.ทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ 

'ไพบูลย์'ร่ายยาวแจงศาล

       นายไพบูลย์ เบิกความเป็นคนแรกระบุว่า กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 เกิดจากการย้ายนายถวิลจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยคดีระหว่างนายถวิล กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกร้อง ซึ่งคำพิพากษามีผลผูกพันผู้ถูกร้องตามนัยยะ มาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยคำพิพากษามีความชัดเจนอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ศาลปกครองเห็นว่า นายกรัฐมนตรีกระทำการให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลงเพื่อแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.แทน

      "ซึ่งปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลปกครอง หน้า 23 ว่า จึงเชื่อได้ว่าปัจจัยอันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ คือความประสงค์ให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ขณะนั้นว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน" ซึ่งข้อความที่ปรากฏว่าเพื่อแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน ย่อมหมายถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เครือญาติของนายกรัฐมนตรี"นายไพบูลย์ระบุ

ชงศาลวินิจฉัยตั้งนายกฯคนใหม่ 

นายไพบูลย์ ระบุต่อว่า มีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องปรากฏว่า เมื่อ ครม.ทั้งคณะต้องคำสั่ง ประเพณีการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ ครม.ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง มีตัวอย่างจากกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่ง จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 

มีผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จึงไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ 

"เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ ครม.ทั้งคณะพ้นตำแหน่งด้วย เพราะรัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการกระทำการอันต้องห้ามจึงต้องร่วมรับผิดตามหลักการรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ดังนั้น รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประกอบ จึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญและมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ได้ หากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและภัยพิบัติสาธารณะ จึงขอศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าหากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลงให้ดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที โดยนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาใช้โดยอนุโลม (อ่านรายละเอียด น.11)

ทนายปูตอก'ไพบูลย์'ขึ้นเวทีกปปส.

       จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ผู้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินคดี ซักค้านนายไพบูลย์ โดยถามว่า พยานเคยเป็นที่ปรึกษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และปฏิบัติหน้าที่ถึงเมื่อใด ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่พยานกล่าวอ้างนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวโดยที่ยังไม่ได้เป็นการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และพยานเคยขึ้นเวทีการชุมนุมของ กปปส.หรือไม่ และทุกครั้งพยานพูดบนเวทีปราศรัยในทำนองว่ารัฐบาลที่บริหารราชการในปัจจุบันพ้นจากหน้าที่

       นายไพบูลย์ กล่าวว่า เคยเป็นตั้งแต่ปี 2550 แต่จำไม่ได้ว่าทำหน้าที่ถึงเมื่อใด สิ่งที่ได้เสนอต่อศาลนั้นปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตนในฐานะวุฒิสภา มีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน 

อ้างขึ้นเวทีกปปส.ไม่ขัดรธน.

       นายสมหมาย จึงค้านว่า มีหน้าที่ตรวจสอบในสภาแต่เหตุใดจึงมาขึ้นเวที กปปส. ทั้งที่ทราบว่าเวทีนี้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล โดยถ้อยคำปราศรัยต้องการสื่อสารให้รัฐบาลชุดนี้หลุดพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ นายไพบูลย์ชี้แจงว่า ขึ้นเวที กปปส.เป็นการปราศรัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 

      นายสมหมาย กล่าวว่า ทราบหรือไม่ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง จะมาจากทางอื่นไม่ได้ นายไพบูลย์ตอบว่าทราบ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคท้าย ระบุว่าให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ 173 ซึ่งความเห็นทางกฎหมาย ตนเห็นต่างจากผู้ที่สอบถาม 

ไพบูลย์ยันย้ายถวิลต่าง'สุรพล'

         นายสมหมาย ซักต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีได้แบ่งการบริหารไปให้ ครม.โดยด้านตำรวจมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รับผิดชอบ ขณะที่ด้านความมั่นคงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รับผิดชอบ การมอบหมายทั้งหมดและการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งเพื่อให้เหมาะสมกับงานด้วยหรือไม่ การโยกย้ายนายถวิล มีลักษณะคล้ายกับ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เหมือนกันหรือไม่ และทราบขั้นตอนการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร หรือไม่ ต้องมีกฎระเบียบอะไรหรือไม่ ส่วนที่บอกว่าการโยกย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เนื่องจากเป็นเครือญาติกับทางนายกรัฐมนตรี คำว่าเครือญาติของพยาน ตามกฎหมายถือว่าเป็นเครือญาติหรือไม่ 

         นายไพบูลย์ กล่าวว่า การโยกย้ายนายถวิลกับ พล.ท.สุรพล ไม่เหมือนกันโดยต่างกันด้วยเจตนาและอื่นๆ อีกหลายประการ ส่วนการย้าย ผบ.ตร.ทราบว่ามีขั้นตอนอย่างไร ต้องเกิดจากความสมัครใจ ความเห็นตนมองว่าความสมัครใจย่อมหมายถึงความเต็มใจ ไม่ได้โดนข่มขู่ คุกคาม แต่มองว่าน่าจะเกิดจากความไม่สมัครใจ ส่วนคำว่าเครือญาติ ตามนิตินัยและพฤตินัย คำว่าเครือญาติจะใช้กับคำว่าพฤตินัย 

ศาลจี้ซักความหมายเครือญาติ

         นายจรูญ ระบุว่า อยากให้พยานช่วยอธิบายความหมายของคำว่าเครือญาติ มีความเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายไพบูลย์ตอบว่า ข้อเท็จจริงเป็นญาติผู้ใกล้ชิด ในระดับที่มากกว่า ความเป็นมิตรสหายคนรู้จักกันตามปกติ ทาง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นพี่ชายของพี่สะใภ้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะอ้างว่าพี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และน้องสาวของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ได้หย่าร้าง แต่ความเป็นเครือญาติยังคงอยู่ 

       นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่า การโยกย้ายสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แตกต่างกันอย่างไร และใช้ระยะเวลากี่วัน ทราบหรือไม่ นายไพบูลย์ตอบว่า จำนวนวันจำไม่ได้ ส่วนความแตกต่างน่าจะมีกระบวนการเรื่องของขั้นตอน 

       นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า นายกรัฐมนตรีได้ประโยชน์อะไรจากการโยกย้ายนายถวิล เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มาเป็น ผบ.ตร. นายไพบูลย์กล่าวว่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเครือญาติ เพราะว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ใกล้จะเกษียณอายุถ้าไม่รีบย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งในเวลานั้นก็จะไม่ได้เลื่อนเพราะจะหมดอายุราชการ ดังนั้น จึงเร่งรัดที่จะดำเนินการ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรี ความเกี่ยวโยงเป็นที่ทราบว่ามีส่วนผลักดันนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการต่างๆ ด้วย 

จรัญยกเอกสารโยกถวิลเทียบ 

       นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่า จากการตรวจเอกสารและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วเห็นว่าไม่กระจ่างชัดเจนในบางประการ ถ้ามีความรู้ก็ตอบ ถ้าไม่ทราบก็ไม่ต้องตอบ กระบวนการโยกย้ายทำให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.เริ่มต้นจากเอกสาร วันที่ 4 กันยายน 2554 แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ และวันที่ 4 กันยายน ตรงกับวันอาทิตย์ ใช่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ในเอกสารยังมีข้อคลาดเคลื่อนอยู่ 2 จุด โดยเห็นว่าหนังสือจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่แจ้งไปยัง น.ส.กฤษณา สีหรักษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี แจ้งไปพร้อมกัน ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ มีหนังสือแจ้งไปเพื่อขอความเห็นชอบ 

      "ซึ่งตามระเบียบการโยกย้ายต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้รับผิดชอบ หนังสือที่แจ้งถึง พล.ต.อ.โกวิท ได้ระบุด้วยว่า น.ส.กฤษณาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ในเอกสารที่ระบุการให้ความเห็นชอบนั้น ระบุว่าให้ความเห็นชอบลงวันที่ 5 กันยายน ตรงกับวันจันทร์ พยานรู้เห็นเกี่ยวกับกระบวนการที่เอกสารคลาดเคลื่อนแบบนี้หรือไม่" นายจรัญถาม

       นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดูจากห้วงเวลาทราบว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งวันที่ 4 กันยายน ตรงกับวันอาทิตย์ เท่าที่เห็นเป็นการเร่งรัดแบบผิดสังเกต กระทำกันในวันอาทิตย์และมีการเร่งรัดเซ็นโดยอ้างว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว แต่เป็นการเห็นชอบโดยวันถัดไป ถือว่าเป็นการเร่งรัดอย่างผิดปกติ 

ศาลยกความเห็นก.พ.ค.แย้ง

        นายจรัญ ซักถามว่า อีกจุดหนึ่งของความขัดแย้งของเอกสารราชการบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เสนอขอความเห็นชอบจาก พล.ต.อ.โกวิท แนบท้ายคำร้องของพยานระบุว่า ลงวันที่ 4 กันยายน พยานได้เอกสารมาอย่างไร ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร 

       นายไพบูลย์ตอบว่า ไม่มีเพราะอยู่ในสำนวนเอกสารของศาลปกครองสูงสุดกับศาลปกครองกลาง 

      นายจรัญ จึงได้ขอให้นายไพบูลย์ดูเอกสารที่ศาลได้เรียกมาจากทางสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นเอกสารจากหน่วยงานเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่ลงวันที่ 5 กันยายน 2554 จึงอยากให้พยานได้ตรวจดูเอกสาร 2 ฉบับ เทียบกันว่าเป็นเอกสารคนละฉบับหรือฉบับเดียวกัน ทั้งๆ ที่เลขที่เดียวกันเนื้อหาเหมือนกันหมด แต่เหตุใดจึงลงวันที่ 5 กันยายน 

      นายไพบูลย์ ตอบว่า เอกสารเลขเดียวกัน แต่ลงวันที่คนละวัน มองว่าคงต้องเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง มีประเด็นโต้แย้งกันว่าไปอนุมัติกันก่อน ส่วนตัวเพิ่งทราบว่ามีหนังสือ 2 ฉบับที่เนื้อหาเหมือนกันแต่ลงวันที่คนละฉบับ 

      นายจรัญ ระบุอีกว่า จากการตรวจดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะที่ 2 และคณะกรรมการระบบพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เทียบกันดู ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ซึ่งมีคำวินิจฉัยตรงข้ามกับคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ มีคณะกรรมการ 6 คน แต่มีความเห็นแย้ง 3 คน เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น นายไพบูลย์กล่าวว่าไม่ทราบ

'นายกฯ'ปฏิเสธข้อกล่าวหา

        เวลา 11.28 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกร้องขึ้นเบิกความต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอปฏิเสธข้อกล่าวหา เนื่องจากตั้งแต่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อนโยบายที่แถลงไว้ต้องรัฐสภา รวมถึงความรับผิดชอบในทางการเมืองต่อรัฐสภาซึ่งการโยกย้ายนั้น ยึดหลักการพิจารณาตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ตามที่ ก.พ.ได้กำหนดและตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้น ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่จะกำกับสั่งการและรับผิดชอบถึงการพิจารณากำหนดบุคลากร เพราะการมอบอำนาจบุคคลเด็ดขาดนั้น ผู้รับมอบอำนาจต้องเข้าใจการกำหนดแผนงานและบุคลากรเพื่อดูการปฏิบัติงานที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

         "ดิฉันมอบหมายให้ พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องความมั่นคงและ สมช.ด้วย ส่วน ร.ต.อ.เฉลิมขณะนั้น ได้มอบหมายให้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รวมทั้งนางกฤษณา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงขอใช้โอกาสนี้ในการปฏิเสธพฤติกรรมต่างๆ ตามข้อกล่าวหา เพราะดิฉันได้มีการมอบอำนาจให้กับคณะรัฐมนตรีที่จะกำกับและสั่งการรับผิดชอบ และไม่ได้ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อก้าวก่ายและแทรกแซงการบริหารแต่อย่างใด" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว ขณะที่นายไพบูลย์ นายจรูญ อินทจาร และตุลาการคนอื่นๆ ร่วมซักถาม และนายกฯชี้แจง

ถวิลแฉวิเชียรน้ำตาคลอเบ้า 

        หลังนายกรัฐมนตรีชี้แจงเสร็จสิ้น นายถวิลขึ้นเบิกความว่า ปลายเดือนสิงหาคมกระทั่งวันเวลาที่ย้ายตนและมีข่าวปรากฏว่ามีการบีบบังคับเพื่อการจูงใจต่างๆ ที่จะให้ ผบ.ตร.ขณะนั้นย้าย ซึ่งการย้ายหรือโอนบุคคลที่เป็นตำรวจออกนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าไม่เป็นไปด้วยความยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ ตนได้พบกับ พล.ต.อ.วิเชียร หลังจากนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ และทราบว่าถูกกดดันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.วิเชียร ร้องต่อสื่อมวลชน และมีสื่อมวลชนบางฉบับบอกว่า พล.ต.อ.วิเชียรได้ให้สัมภาษณ์เสียงสั่นเครือ และมีน้ำตาคลอเบ้าว่าถูกบังคับ ต่อด้วยการซักถามของนายจรัญ ภักดีธนากุล นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และการชี้แจงของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี

ศาลรธน.นัดชี้เที่ยง7พ.ค.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการไต่สวนพยาน 4 ปากเสร็จสิ้น ในเวลา 13.45 น. นายจรูญสั่งพักการประชุม 10 นาที และในเวลา 14.05 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อีกครั้ง 

       นายจรูญ อ่านกระบวนการวิธีพิจารณา โดยระบุว่ากรณีที่ผู้ถูกร้องขอให้สอบพยานเพิ่ม ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายนพดล เฮงเจริญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ นายสมชัย วัฒนการุณ และนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ขอยื่นแถลงปิดคดีซึ่งศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนและกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอนัดคำฟังวินิจฉัยในวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12.00 น.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาไต่สวนคดีเกือบ 4 ชั่วโมง 

วีรพัฒน์ชี้'ปู'ไม่ขัดรธน.

       นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เขียนลงเฟซบุ๊กโดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีย้ายนายถวิล สรุปได้ว่า 1.การที่มีผู้ร้องว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ย้ายตำแหน่งนายถวิล อันมีลักษณะกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวอยู่นั้น การกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้น ต้องครบเงื่อนไข 2 ข้อ คือ นายกรัฐมนตรีย้ายนายถวิลโดยไม่มีอำนาจ และนายกรัฐมนตรีย้ายนายถวิลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนที่ขัดต่อส่วนรวม ให้กับตนเอง หรือผู้อื่น 

       "แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ เพียงแต่ใช้อำนาจผิดพลาดในเชิงดุลพินิจ คือ ย้ายโดยไม่อธิบายเหตุผลชัดเจนเพียงพอ ศาลปกครองสูงสุดจึงให้การย้ายนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง และศาลปกครองสูงสุดไม่ได้พิพากษาว่ามีการกระทำที่ส่อทุจริตตักตวงหรือเอื้อประโยชน์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจากการย้ายตำแหน่งที่ว่านั้นแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ครบองค์ประกอบกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ" นายวีรพัฒน์ระบุ 

ชี้ถ้าผิดก็แค่'ปู'ครม.ไม่เกี่ยว

       นายวีรพัฒน์กล่าวว่า 2.การยุบสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และ ครม.พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า ศาลจะยังสามารถวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งซ้ำซ้อนได้อีกหรือไม่ ซึ่งยังถกเถียงกัน แต่ควรสังเกตว่า ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่มีผลบังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แท้จริงแล้วเป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึง ครม.ทั้งคณะ ไม่ได้เจาะจงถึงรัฐมนตรีรายบุคคล

       "ดังนั้น จึงอาจพิจารณาได้ว่า หากผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีรายหนึ่งรายใดกระทำการต้องห้ามขณะปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ศาลอาจตีความกฎหมายอย่างแยบยลและลึกซึ้งเพื่อวินิจฉัย

      ห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรายบุคคล แต่บรรดารัฐมนตรีที่เหลือยังคงถูกบังคับให้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในนาม ครม.ต่อไป และอาจเลือกรัฐมนตรีรายหนึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้ ครม.ใหม่มาแทน" นายวีรพัฒน์กล่าว 

เตือนระวังจุดชนวนนองเลือด

        นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับคดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี อาจมีส่วนที่นำมาอ้างได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นวินิจฉัยว่า เมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว ย่อมส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะด้วย แต่ ครม.ที่เหลือย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปชั่วคราว จะยุติหน้าที่ทันทีพร้อมนายสมัครมิได้ ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้น ก็คือคณะตุลาการชุดเดียวกันกับเวลานี้

        "เวลานี้ วิธีการเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือด ศาลต้องไม่ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องปล่อยให้การเมืองแก้ไขด้วยการเมือง หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยสั่งให้ ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในปัจจุบันไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ อาจนำไปสู่สภาวะที่กติกาบ้านเมืองตกอยู่ในสภาพไร้ความหมาย อาจเกิดกรณีที่มีผู้เปรียบว่าเป็นการยกปัตตานี มาไว้ที่กรุงเทพฯ" นายวีรพัฒน์กล่าว 

สื่อนอกชี้หากปูหลุดเกิดวิกฤต

       สำนักข่าวเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์ รวมทั้งเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เช่นบีบีซี ต่างรายงานข่าวการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการโยกย้ายนายถวิล 

       สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หลังการเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ศาลจะตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า หากศาลตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

       จะยิ่งทำให้วิกฤตการเมืองของประเทศไทยย่ำแย่ลงไปอีก ท่ามกลางวิกฤตการเมืองของไทยที่มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในขณะที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงประท้วงอยู่ แม้ว่าจำนวนผู้ประท้วงจะลดน้อยลงก็ตาม ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเองอย่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มคนเสื้อแดงก็ขู่ที่จะออกมาชุมนุมเพื่อปกป้องนายกรัฐมนตรี

       เอเอฟพีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวชินวัตร อย่างในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญทำให้นายกรัฐมนตรี 2 คนที่เกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง และว่า เบื้องหลังของวิกฤตการเมืองในปัจจุบันที่ทำให้ประเทศไทยต้องแตกแยกมานานถึง 8 ปี เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกบีบให้พ้นจากตำแหน่งโดยการทำรัฐประหารของทหาร

        ขณะที่นอกเหนือจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีจำนำข้าว ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตัดสินในเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่งกลุ่ม นปช.ประกาศแล้วว่าจะออกมาชุมนุมหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง 

พท.ตั้งวอร์รูมตามคำวินิจฉัยศาล

         ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. แถลงหลังประชุม ส.ส. ว่าที่ประชุมมีความกังวล กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม เพราะหากวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพอาจจะส่งผลกระทบทางการเมือง ในวันที่ 7 พฤษภาคม พรรคจะตั้งวอร์รูม เพื่อติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป

      รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการ พท. ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เป็นประธานนั้น ที่ประชุมวิเคราะห์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยสถานภาพนายกฯ โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยไปในทางลบ โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯเพียงคนเดียว เพราะไม่อย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญคงไม่รับเรื่องไว้ตั้งแต่แรก แต่ศาลไม่สามารถวินิจฉัยให้นายกฯและ ครม.สิ้นสภาพไปพร้อมกันได้ เนื่องจากคำร้องของนายไพบูลย์ ฐานะผู้ร้อง อ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ซึ่งถือเป็นคำร้องเอาผิดเฉพาะตัวบุคคล ทั้งนี้ หากศาลวินิจฉัยให้นายกฯ รวมทั้ง ครม.พ้นสภาพทั้งหมด เพื่อหวังนำไปสู่นายกฯ มาตรา 7 จริง คงอยู่บริหารงานไม่ได้นาน เพราะประชาชนจะออกมาต่อสู้เคียงข้างกับพรรคเพื่อไทยแบบมืดฟ้ามัวดิน ถึงตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ครม.ถกเครียด-แก้เกม

       รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังเป็นที่แน่ชัดว่า กกต.ยังไม่ส่งร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งให้กับรัฐบาลตามที่ได้นัดหมายไว้ ในช่วงค่ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและทีมกฎหมาย เพื่อหารือถึงการรับมือปัญหาการเมืองที่จะเกิดขึ้น รวมถึงหารือถึงการทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัยตามแนวทางที่นายชัยเกษม นิติสิริ เสนอก่อนหน้านี้ และได้มีการยกร่างเบื้องต้น เตรียมการไว้ระดับหนึ่ง โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!