WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

P82-


ลูก'สาวนปช.'วอน ปล่อยแม่ 
คดีโพสต์ซัดตู่ 'เหลิม'ค้านวิชา สอบ'เยียวยา' สปช.ตั้งชมรม หลังถูกยุบทิ้ง 

     'อลงกรณ์'เผยสปช.เล็งตั้งชมรมหลังหมดวาระ ผลักดันการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม 'ไก่อู'ติงศปป.ต้องมองรอบด้าน เชิญนักศึกษาออกทีวี กลัวถูกมองหลอกเด็กไปประจาน ทนายย้ำสาวกุข่าว'บิ๊กตู่'โอนหมื่นล้าน เจอข้อหาแรงได้ประกันยาก กลุ่มอาชีวะช่วยชาตินัดรวมตัวหน้าทำเนียบ 13 ก.ค. ให้กำลังใจนายกฯ ชูปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 'เหลิม'ค้านวิชา-อนุกก.สอบคดีจ่ายเยียวยาทั้งชุด เสนอให้ถอนตัว 'ประวิตร'นั่งหัวโต๊ะถกโผโยกย้ายทหารปลายก.ค.นี้

 

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8992 ข่าวสดรายวัน

 

 

ชี้'บิ๊กตู่'ไม่ต้องออกรายการปฏิรูป

      วันที่ 11 ก.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) เชิญนักการเมืองร่วมออกรายการโทรทัศน์เพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองว่า ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยากให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ร่วมรายการด้วยนั้น ต้องอธิบายว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดของ ศปป.ที่ต้องการเชิญทุกส่วนทุกฝ่ายเข้ามาแสดงความเห็นเกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยนายกฯ เห็นว่าทุกความเห็นล้วนเป็นประโยชน์ จึงได้เรียนเชิญทุกฝ่ายที่สามารถติดต่อได้ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือการนำมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทัศนคติระหว่างกัน ดังนั้นนายกฯ คงไม่ต้องร่วมรายการอย่างที่มีข้อเสนอ

   พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า "ถ้าทุกกิจกรรมนายกฯ ต้องไปหมด คิดว่านายกฯ คงไม่ ต้องทำอะไรแล้ว ส่วนแนวคิดนี้จะสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ร่วมรายการว่าจะหยิบยกประเด็นแนวความคิดต่อการปฏิรูปบ้านเมืองอย่างไร เช่นกรณีของการศึกษา ว่าแต่ละคนมองการศึกษาอย่างไรบ้าง รวมทั้งนโยบายแนวทางของรัฐบาลยังขาดตกบกพร่องส่วนใดบ้าง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของรายการจะเน้นแนวทางการปฏิรูป ซึ่งจะไม่เน้นเรื่องของการเมืองหรือความขัดแย้ง โดยหวังว่าจะสร้างบรรยากาศของความปรองดองด้วย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

 

'ไก่อู'ติงศปป.เชิญนักศึกษา

     พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ ศปป.จะเชิญกลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่างมาให้ความเห็นในรายการด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นกังวลว่านักศึกษาจะไม่สามารถชี้แจงในรายละเอียด รวมทั้งแนวทางและหลักการได้ รัฐบาลยังมองว่านักศึกษายังเป็นเยาวชนของชาติที่ยังมีอนาคต ดังนั้น เวลานี้รัฐบาลจึงให้โอกาสกลุ่มนักศึกษาเพื่อปรับตัวและสังคมไม่ควรไปซ้ำเติม

"ถ้าให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งคำถามเรากลัวเด็กตอบไม่ได้ เพราะสิ่งที่เขาพูดในสังคมวันนี้ล้วนเป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่ได้นำสถานการณ์จริงมาประกอบด้วย สังคมอาจ มองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนำเด็กไปประจาน เพราะคนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องคิดในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ถ้าเอาเด็กมาร่วมคนอาจคิดว่าเราหลอกเด็กไปฆ่าอย่างแนบเนียน" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว

เมื่อถามว่าเป็นกังวลหรือไม่ที่นักศึกษาแสดงจุดยืนจะต่อสู้ต่อไป พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ไม่ได้เป็นกังวล เพราะทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย นักศึกษาต้องมองถึงความเป็นจริงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะนักศึกษาจะต่อสู้เพื่อให้ได้อะไร ถ้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องถามว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้วแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เวลานั้นทำไมไม่ออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหา และเมื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็ต้องยอมรับในข้อเท็จจริง เมื่อนักศึกษาได้รับความเมตตาจากศาลหากทำอะไรที่เกินเลยก็ต้องตอบคำถามต่อสาธารณะให้ได้ว่าเมื่อสังคมให้โอกาสแล้วยังต้องการอะไรอีก ส่วนกรณีอาจารย์นักวิชาการที่สนับสนุนนั้นคิดว่าต้องให้อาจารย์ด้วยกันเองเป็นผู้พูดคุย

 

'ปู'ไม่ร่วมก็ส่งตัวแทนได้ 

       นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวกรณี ศปป.ระบุพร้อมเชิญทุกฝ่ายร่วมรายการเดินหน้าปฏิรูป รวมถึงนายอภิสิทธิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ มาร่วมเสนอแนวทางปฏิรูปว่า วิธีการใดนำไปสู่การปรองดองจะออกสื่อหรือไม่ออกสื่อเป็นเรื่องดีทั้งนั้น เพราะการพูดคุยกันเป็นประโยชน์ที่จะได้รับทราบแนวคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่ตนพูดมาตลอดว่าบ้านเมืองจะสงบต้องพูดคุยและรับฟังความเห็นกัน จึงจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองได้ เชื่อว่า ศปป.คงเชิญนักการเมืองระดับผู้ใหญ่ไปพูดคุยกันพอสมควรแล้ว 

     เมื่อถามว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไม่ร่วมรายการตามเสียงเรียกร้อง นายดิเรกกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจส่งตัวแทนมาก็ได้ เพราะเป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีความคิดที่ดี ส่วนการเสนอแนวคิดและแนวทางปฏิรูปต่างๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่นั้น แม้แต่สปช.เองทำหน้าที่เสนอแนวทางปฏิรูปยังต้องรอว่าจะมีการหยิบยกไปปฏิบัติหรือไม่ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือการพูดเพื่อให้คนในสังคมได้รับรู้ไปด้วย ในส่วนของการนำไปปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมจะพิจารณาได้เองหากสิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องดีแต่กลับไม่มีการนำไปปฏิบัติต่อ

 

ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง 

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิ การพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การที่ ศปป.เชิญบรรดานักการเมืองมาออกรายการเดินหน้าปฏิรูปนั้น เชื่อว่านักการเมืองทุกฝ่ายรวมทั้งพรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือในการพูดคุย แสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ อยู่แล้ว เพราะอะไรที่อยู่บนเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือแน่นอน อย่างไรก็ตาม การจะสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วย นอกเหนือไปจากการเชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาพูดคุย

    นายภูมิธรรม กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจะเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือเชิญนายอภิสิทธิ์มาพูดคุยแล้วเรื่องจะจบ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ประเทศกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ตรงนี้ต่างหากคือหัวใจ รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม หาก ศปป.ติดต่อให้ใครไปร่วมเสนอแนะหรือให้ความเห็นเชื่อว่าทุกฝ่ายไม่เพียงเฉพาะนักการเมืองพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่มีใครอยากทำตัวให้เป็นเงื่อนไขเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ไม่ควรให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างบุคคล เพราะปัญหาเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่พรรคหรือนักการเมืองคนใด 

    นายภูมิธรรม กล่าวว่า หาก ศปป.จะเชิญคนสองคนซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน ไม่ได้ช่วยให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ การเปิดเวทีเป็นเรื่องดี แต่การจะเสนอแนะหรือให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูปในแง่มุมต่างๆ นั้นมีหลายวิธีที่จะดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องเชิญนักการเมืองไปพูดออกรายการก็ได้ ที่ผ่านมา ศปป.เองก็เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งเชิญบรรดานักวิชาการ ภาคประชาชน แกนนำ กลุ่มต่างๆ รวมทั้งนักการเมืองไปแสดงความคิดเห็นมาแล้วหลายครั้ง ควรนำเอาข้อเสนอแนะที่ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้เกิดผลก่อน

 

สปช.ตั้งกลุ่มหลังหมดวาระ

     นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิปสปช. มองว่าหาก ศปป.มีการเชิญทั้งนายอภิสิทธิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นภาระหน้าที่ของอดีตนายกฯทั้ง 2 คน ที่ต้องมาเสนอทางออกประเทศใน 3 เรื่อง 1.การปฏิรูป 2.การปรองดอง 3.เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่ผู้นำสองพรรคใหญ่จะหันหน้าเข้าหากัน เพราะประเทศกำลังจัดทำแผนแม่บทปฏิรูปประเทศ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่เกิดวิกฤตแบบในอดีต ส่วนข้อกังวลของพรรคเพื่อไทยที่ส่งสัญญาณว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไม่เข้าร่วมเพราะเป็น ผู้ถูกกระทำมาตลอดนั้น เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่วันนี้ถึงเวลาก้าวข้ามอดีตเเล้ว เชื่อว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ มีความสามารถเพียงพอจะนำเสนอทางออกที่ดีให้ประเทศได้ ดังนั้นไม่ควรปฏิเสธ 

    นายอลงกรณ์ กล่าวถึงบทบาทของ สปช.หากหมดวาระหลังโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูธญ ว่า ที่ผ่านมาสมาชิก สปช. บางส่วนมีการหารือกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าควรให้มีการจัดตั้งกลุ่ม สปช. เพื่อขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูปให้ปรากฏเป็นจริง แม้ว่าไม่มีตำแหน่งก็ตาม แต่อาจจัดตั้งเป็นแบบมูลนิธิหรือชมรม โดยจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.สปช.ที่ต้องเข้าทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ที่มีภาระหน้าที่โดยตรง และ 2. สปช.ที่ไม่ได้ตำแหน่ง ที่มีความตั้งใจผลักดันแนวคิดข้อเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศตามแต่อัตภาพของแต่ละคน จะมารวมกลุ่มกันทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศใน 11 สาขา ให้ครอบคลุมทุกประเด็น และผลักดันให้การปฏิรูปเป็นจริง โดยอาศัยการสนับสนุนขององค์กรภาคีต่างๆ 

 

หนุนตั้งชมรมเช่นเดียวกับสสร. 

       น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 กล่าวยืนยันว่า แนวคิดที่ว่าสปช.ควรจัดการตั้งกลุ่มหลังหมดวาระนั้นเป็นเรื่องจริง แต่เป็นการตั้งเป็นชมรม ซึ่งเป็นการคุยกันตั้งแต่การสัมมนาครั้งล่าสุดแล้ว เพราะที่ผ่านมา สปช.ทำงานอยู่ด้วยกัน ทุ่มเทกันมานาน ก็น่าจะมีชมรม และมีเวลาเจอกัน ถึงอย่างไรการพบกันก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และการเจอกันบางทีอาจมีเรื่องอะไรที่สามารถทำประโยชน์ให้ส่วนรวมได้ เพราะเราเสนอเรื่องการปฏิรูปมาซึ่งยังไม่ชัดเจน จึงน่าจะมีเวลาเจอกัน แต่เรื่องการตั้งชมรมคงจะมีสมาชิกนำขึ้นมาหารืออีกครั้ง ในช่วงใกล้หมดวาระการทำงาน 

       ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า น่าจะเป็นการตั้งเป็นชมรม สำหรับคนที่พ้นหน้าที่ไปแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาจะได้มาพบปะกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เหมือนตอนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในปี 40 และ50 ก็มีชมรมเหมือนกัน ก็เหมือนรุ่นโรงเรียน หากจะตั้งตนก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร 

 

วิษณุ แจงประชามตินับหนึ่ง

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณี ครม.ทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ... ซึ่งยังไม่มีการโปรดเกล้าฯว่า ทราบว่าขณะนี้ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการประเมินกรณีร่างรัฐธรรม นูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับชั่วคราว) ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา หากถึงวันที่ 23 ก.ค. แล้วก็ต้องยึดกำหนดการทำงานตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ สปช.พิจารณาในวันที่ 23 ก.ค.นี้ และ สปช.ต้องลงมติหลังจากนั้น 15 วัน คือวันที่ 6 ส.ค. 

    นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ถึงอย่างไรก็ไม่กระทบกับการทำประชามติ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไร ขั้นตอนการทำประชามติก็จะนับหนึ่งทันที และจะส่งผลให้ สปช.ต้องหมดวาระลงไปด้วย 

    "รัฐบาลคือผู้ที่ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เราแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯเพื่อให้ทำประชามติ แต่คนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นทูลเกล้าฯ คือประธาน สปช. ถ้า สปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็อาจพิจารณาชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพราะถ้าทูลเกล้าฯ ไปแล้วจะทำประชามติไม่ได้อีก" นายวิษณุกล่าว

     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของเราเป็นไปตามกรอบเดิม โดยเราจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปช. ในวันที่ 22 ก.ค. หากมีการโปรดเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก่อนวันที่ 21 ก.ค.ทางกมธ.ยกร่างฯ จะได้มีเวลาแก้ไขรายละเอียดมากขึ้น แต่หากโปรดเกล้าฯหลังวันที่ 21 ก.ค. กมธ.ยกร่างฯก็จะไม่ดึงร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแก้ไข แต่ก็จะมีเวลาชี้แจงให้กับทุกฝ่ายทราบเหตุผลที่แก้รัฐธรรมนูญออกมาเช่นนั้น ซึ่งทาง สปช.ก็ต้องเก็บร่างรัฐธรรมนูญไว้จนครบกำหนดจึงจะลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ส่วนเรื่องการทำประชามติก็จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่แก้ไขแล้ว

 

เทียนฉายนัดประชุม 13-14 กค. 

     นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. มีคำสั่งนัดสมาชิกประชุมในวันที่ 13 และ 14 ก.ค. 2558 เพื่อพิจารณาเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยวันที่ 13 ก.ค. เตรียมพิจารณารายงานของกมธ.ปฏิรูปการเมือง วาระปฏิรูปที่ 2 การเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง (รอบ 2) เรื่อง แผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง ต่อด้วยรายงานของกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วาระปฏิรูปที่ 8 การปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษี (รอบ 2)

     ส่วนวันที่ 14 ก.ค. พิจารณารายงานของ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มี 3 วาระ ที่เป็นการพิจารณารอบ 2 คือ วาระปฏิรูปที่ 3 การปฏิรูประบบงบประมาณ วาระปฏิรูปที่ 4 การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และวาระปฏิรูปที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ

 

สปช.เร่งคลอดพรบ.ปฏิรูป 

     นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะอนุกมธ.ศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปประเทศว่า ได้ประชุมคณะอนุกมธ.ชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมอบหมายให้กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ พิจารณาสาระการปฏิรูปของแต่ละด้านที่จำเป็นต้องบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมมีความเชื่อมั่นว่า จะมีการปฏิรูปในอนาคต รวมทั้งให้นำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปที่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.นำไปบัญญัติไว้ในร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้นำแผนปฏิรูปไปปฏิบัติให้เกิดผล ต่อไป 

    นพ.ชูชัยกล่าวว่า สปช.จะมีเวลา 15 วัน ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปประเทศ หลังจากที่กมธ.ยกร่างฯ ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่สปช.จะพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดยสัปดาห์หน้าคณะอนุกมธ.จะประชุมอีกสองครั้ง เพื่อนำผลการประชุมของกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะของสปช.มาพิจารณาต่อไป

 

กมธ.ยันคง'คนนอก'ไว้ยามวิกฤต

      พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรม นูญของกมธ.ยกร่างฯ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปรับตามคำขออะไรที่ควรปรับก็ปรับ อะไรควรยืนก็ยังยืนไว้ อย่างเช่น ที่มา ส.ว. ก็ปรับเมื่อก่อนมีคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนที่ประชาชนจะได้เลือกส.ว.แต่ละจังหวัด ก็ตัดส่วนนั้นทิ้งไป ส่วน ส.ว.ที่จะมาจากการสรรหาก็ปรับลดจำนวนโดยให้กลุ่มที่มาจากตัวแทนประชาชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าที่มา ส.ว.มาจากสรรหามากกว่าเลือกตั้งแต่ต้องเข้าใจว่าส่วนใหญ่ก็มาจากตัวแทนของภาคประชาชนมีส่วนยึดโยงประชาชน และปรับแก้ลดอำนาจของ ส.ว.ลงตามที่มีการเสนอเข้ามา ส่วนเรื่องนายกฯที่มาจากคนนอกนั้น ต้องเข้าใจที่ยังยืนหลักการเดิมเนื่องจากเราต้องเปิดช่องไว้ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต

      พล.ท.นครกล่าวว่า ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯมีกำหนดการเดินทางไปพัทยา ช่วงวันที่ 13-19 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นนั้น ขณะนี้ยังเหลือมาตราที่รอการพิจารณาประมาณ 100 มาตรา และมีบางเรื่องบางมาตราที่แขวนไว้ เช่น เรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส.ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่มาก เนื่องจากสมาชิกบางคนมองว่า ส.ส.ไม่ควรมีเอกสิทธิ์เพราะควรมีวุฒิภาวะมากกว่าบุคคลทั่วไปในการควบคุมตัวเอง การปรับแก้ประเด็นเหล่านี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะมีมติแก้ไขออกไป ซึ่งการไปครั้งนี้ก็จะมีการเสนอข้อมูลที่แต่ละบุคคลไปศึกษามาเพื่อใช้พิจารณา 

 

ยันส่วนใหญ่พอใจที่กมธ.ปรับแก้ 

     พล.ท.นครกล่าวว่า การดำเนินการของ กมธ.ยกร่างฯขณะนี้ยังคงยึดตามกรอบเวลาเดิม เนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ดังนั้นเท่ากับว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ เราไม่สามารถขยายเวลาได้เอง ต้องทำตามแผนเดิม ซึ่งหลังจากกลับจากพัทยา ฝ่ายเลขาฯก็จะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการจัดระเบียบเรียบเรียงร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม หากมีการโปรดเกล้าฯขยายเวลาต่อ เราก็จะมีการทบทวนลงรายละเอียดอีกครั้ง

"แม้จะมีเสียงวิจารณ์ไม่พอใจการปรับแก้ของเราแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย เพราะเท่าที่ได้ไปพูดคุยส่วนใหญ่พอใจมาก เราแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดประเด็นปัญหาที่สะสมในอดีตเพื่อมองไปข้างหน้า วางกรอบอนาคตตอบโจทย์ประเทศ อย่างไรก็ดีหากเราได้ขยายเวลาบางมาตราที่มีปัญหาก็อาจมีการปรับแก้ได้" พล.ท.นครกล่าว

 

กก.เตรียมถกเก้าอี้ผบ.ทบ.คนใหม่

    ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงกลาโหมถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 แทนนายทหารที่เกษียณอายุราชการในเดือนก.ย. ซึ่งตำแหน่งที่ถูกจับตามองคือ เก้าอี้ผบ.ทบ.ที่จะมาแทน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร โดยมีแคนดิเดตที่สำคัญคือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ. รุ่นน้องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. 

รายงานข่าวระบุ จากนี้คณะกรรมการพิจารณานายทหารชั้นนายพลจะมีการหารือกันนอกรอบ หลังหยิบยกรายชื่อของพล.อ. ธีรชัย และ พล.อ.ปรีชา มาพิจารณากันถึงความเหมาะสมได้ระยะหนึ่งแล้ว และจะมีการพูดคุยของคณะกรรมการพิจารณานายทหารชั้นนายพล ระดับกระทรวงกลาโหมโดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ช่วงปลายเดือนก.ค. และช่วงปลายส.ค. ก่อนจะได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์และเสนอต่อนายกฯ เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ 

 

บิ๊กหมูเบียดนำบิ๊กติ๊ก-ยังพลิกได้ 

รายงานข่าวเผยว่า ส่วนช่วงนี้อยู่ระหว่างพูดคุย เจรจาต่อรองของผู้สนับสนุนทั้ง 2 คน ซึ่งล่าสุดการพูดคุยเจรจากันระหว่างผู้สนับสนุนทั้ง 2 คน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเลือกใครให้ดำรงแหน่งผบ.ทบ.คนที่ 39 แต่แรงผลักดันทางด้านพล.อ.ธีรชัย จะเหนือกว่าเล็กน้อยที่สัดส่วน 60-40 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยยังไม่จบยังมีเวลาอีก 1 เดือนกว่า พล.อ.ปรีชา จึงยังมีโอกาสพลิกกลับมาได้เช่นกัน เพราะมีความรู้ความสามารถ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 ส.ค. ทางคณะกรรมการพิจารณาฯ ให้เหล่าทัพส่งรายชื่อผู้ที่จะมีการปรับย้ายให้กับกระทรวงกลาโหม เพื่อจะได้มีเวลาพูดคุยและแก้ไขในตำแหน่งต่างๆ ได้ทันเวลา

 

เหลิมค้านอนุไต่สวนปมเยียวยา

      ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. คัดค้านคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงครม. ยิ่งลักษณ์ กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 และขอให้ถอนตัวจากการเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ระบุ ตามที่ประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เพื่อให้คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี น.ส. ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี จำนวน 34 คน ซึ่งมีตนเอง และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รวมอยู่ด้วย ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ประธาน ป.ป.ช.แต่งตั้งได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ว่าข้อกล่าวหามีมูลและขณะนี้คณะอนุกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตนทราบแล้ว 

      ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ด้วยเหตุที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหามีมูลดังกล่าวแล้วนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ได้ยื่นฟ้องคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีหมายเลขดำที่ อ.2304/2558 ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้วในวันที่ 17 ส.ค. 2558 เวลา 09.00 น. การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีมีเหตุสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง ตามพ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 11 คน จึงตกเป็น ผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 มาตรา 46 (3) ประกอบมาตรา 43 วรรคท้าย ซึ่งห้ามมิให้คณะอนุกรรมการที่ถูกฟ้อง ทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการและเป็นเหตุในลักษณะคดี 

     หนังสือของร.ต.อ.เฉลิม ระบุ เพราะตนเป็นผู้หนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ถูกคณะอนุกรรม การแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันกับ น.อ. อนุดิษฐ์ จึงขอแจ้งว่า เมื่อคณะอนุกรรม การไต่สวนข้อเท็จจริงตกเป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อีก เพราะเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 มาตรา 46 (3) อันจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและขาดความยุติธรรม ตนจึงขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 11 คนนี้ และขอให้ประธานป.ป.ช.แจ้งให้คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวถอนตัวออกจากการเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย

 

กลุ่มอาชีวะรวมตัวหนุนนายกฯ 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ณ ราชดำเนิน 56 แจ้งว่า วันที่ 13 ก.ค.นี้ ทางกลุ่มจะรวมตัวกันที่ประตู 4 หน้าทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.30 น. เพื่อยื่นหนังสือและมอบดอกไม้ให้กับนายกฯ เพื่อให้กำลังใจนายกฯและครม. และคสช. เพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิรูปก่อนจะมีการเลือกตั้ง โดยมีการประกาศเชิญชวน ประชาชน นิสิต นักเรียน นักศึกษา ที่มีความประสงค์จะร่วมกิจกรรม ให้มารวมตัวกันในสถานที่และเวลาดังกล่าว

 

ทนายชี้กุข่าวหมื่นล.-ไม่อุกฉกรรจ์ 

     นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการยื่นประกันตัว นางรินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาโพสต์กุข่าวนายกฯโอนหมื่นล้านไปสิงคโปร์ ว่า การยื่นประกันตัวมีสิทธิ์ยื่นได้ตลอด แต่ต้องเตรียมเอกสารประกอบให้ครบ โดยจะใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันจำนวน 100,000 บาท ถ้าศาลพิจารณาว่าน้อยไปก็จะเพิ่มเงินประกันขึ้นอีก เพราะปัญหาเกิดจากการตั้งข้อหาของพนักงานสอบสวนที่รุนแรง พฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นเพียงการหมิ่นประมาทนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคล แต่กลับไปตั้งข้อหาคดีความมั่นคง ถือเป็นการตั้งข้อหาที่ไม่สมควรแก่เหตุ ทำให้โอกาสการประกันตัวยากขึ้น

       นายวิญญัติ กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นคดีความมั่นคงก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ต้องหาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนทำให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนได้ เพราะการกระทำของผู้ต้องหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งต้องมีการตรวจสอบไอพีแอดเดรสและที่มาของข้อมูล แล้วผู้ต้องหาจะไปลบข้อมูลทิ้งได้อย่างไรเพราะโทรศัพท์ก็ถูกยึดไปแล้ว จึงต้องขอความเป็นธรรมกับศาลทั้งเรื่องการตั้งข้อหาและชี้แจงว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และยังมีภาระต้องดูแลลูก 2 คน อีกทั้งในฐานความผิดก็ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนคดีอุกฉกรรจ์

 

ลูกร้องไห้ทุกวัน-วอนปล่อยแม่ 

    ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านของนางรินดา พบ น.ส.กิ๊ก (นามสมมติ) อายุ 16 ปี ลูกสาว ซึ่งอาศัยอยู่กับน้องชาย อายุ 7 ขวบ น.ส.กิ๊ก ให้สัมภาษณ์ว่า มองว่าแม่โพสต์ข้อความลงไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเป็นแค่แม่บ้านที่เล่นโซเชี่ยลอยู่กับบ้าน จะโพสต์อะไรอาจจะไม่ได้คิดก่อนว่ามันจะเกิดอะไรตามมา การที่เราเติบโตมาในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะที่รับผิดชอบในชีวิตคนทั้งประเทศได้ไม่ว่าจะเป็น นายกฯ หรือฝ่ายค้าน 

      น.ส.กิ๊กกล่าวว่า ตอนนี้ตนอยู่กับน้อง มีปู่กับย่ามาคอยหาอาหารให้ หลังจากแม่ถูกจับไป เพื่อนของแม่ได้มาเยี่ยม ซื้ออาหารมาให้ เพราะทุกวันนี้แม่เป็นเสาหลักของครอบครัวเพราะพ่อเสียชีวิตไปแล้ว เงินที่แม่ทิ้งไว้ให้ไปโรงเรียนก็ให้มาเป็นเดือนก็ต้องใช้จ่ายให้ประหยัด ขณะที่น้องติดแม่มาก แม่ไม่กลับบ้านก็ร้องไห้จนตาบวมทุกวัน ตนก็โกหกน้องไปว่าแม่ไปต่างจังหวัด ไปซื้อของ

      "ความผิดที่แม่ถูกจับกุมเป็นความผิดอาญาก็จริง แต่หนูคิดว่าแม่ไม่สามารถหนีไปไหนได้อยู่แล้ว ขอให้เจ้าหน้าที่เห็นใจปล่อยแม่ เพราะหนูกับน้องยังเด็ก ยังต้องเรียนหนังสือและเงินที่มีอยู่ตอนนี้กำลังจะหมดไป เราสองคนหากไม่มีแม่ก็อยู่ไม่ได้" น.ส.กิ๊ก กล่าว

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!