WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2079

 

จนท.รัฐรับสินบน-ทุจริต โทษถึงตาย กม.ใหม่ให้ประหารชีวิต ลงราชกิจจาฯ-ใช้แล้ว 2,079 ผู้พิพากษาจี้ซ้ำ ขวาง'คนนอก'นั่งกต. ยื่นประกันรินดาวันนี้ สปช.ปัดรบ.แห่งชาติ

    2,079 ผู้พิพากษา ยื่นค้านร่าง รธน.รอบ 2 ปมสัดส่วน ก.ต.-อุทธรณ์ถูกลงโทษ แฉแนวคิด 3 กมธ.ชุดยกร่างจัดคิวถกวันนี้

เรียกร้อง - กลุ่มเมล็ดพริกและประชาชนร่วมกิจกรรมชูป้ายจุดเทียนเรียกร้องให้ปล่อยตัวรินดา ผู้ต้องหาคดีโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โอนเงินไปต่างประเทศหมื่นล้าน และเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม

 

@ ศาลส่งจ.ม.เปิดผนึกค้านร่างรธน.

      ผู้พิพากษา 2,079 คน ภายใต้การประสานงานรวบรวมรายชื่อของ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึงประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญกรณีเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ศาลยุติธรรม จากบุคคลภายนอก และการอุทธรณ์มติ ก.ต.ศาลยุติธรรม เกี่ยวกับโทษทางวินัย จดหมายระบุว่า ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณาทบทวนความเห็นดังกล่าวให้รอบคอบก่อนที่จะลงรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ โดย กมธ.ยกร่างฯ อาจวางหลักการเสียใหม่ว่า "ให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิร้องขอให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม ทบทวนการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ก็จะไม่ก่อปัญหาให้เกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม และเพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ต้องการให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.จากบุคคลภายนอก แต่หากจะไม่มี ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอก ตามความเห็นของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นการดี และผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้มีระบบการอุทธรณ์โทษทางวินัยต่อองค์กรอื่นใด จึงขอส่งรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็น ผู้พิพากษา 2,079 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่รับราชการอยู่ในศาลฎีกา 209 คน ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค รวม 512 คน และศาลชั้นต้นรวม 1,358 คน

 

@ แฉกมธ.ซ่อนปมอุทธรณ์มติก.ต.

      นายศรีอัมพร กล่าวว่า ทราบว่าทาง กมธ.ได้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของ ก.ต.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะพิจารณาในวันที่ 13 กรกฎาคม และยังมีแนวคิดที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติของ ก.ต.ได้อยู่ รวมทั้งอาจจะซ่อนปมไว้ โดยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้อุทธรณ์คำสั่งไปยังหน่วยงานใด แต่ตนนั้นได้ยินมาว่าอาจจะร่างรัฐธรรมนูญให้อุทธรณ์มติของ ก.ต.ไปยังศาลปกครองได้ 

      "หากเป็นเช่นนั้นจริงเท่ากับทำลายโครงสร้าง ทำให้ระบบของศาลยุติธรรมล้มเหลวไม่สามารถปกครองและคุ้มครองหรือลงโทษผู้พิพากษาซึ่งกระทำผิดวินัยได้ จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพราะมีการแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยอำนาจตุลาการถือเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และอาจทำให้อำนาจการพิจารณาของศาลปกครองนั้นมีอำนาจเหนือกว่า ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรมซึ่งไม่ถูกต้อง" นายศรีอัมพรกล่าว

 

@ แฉเป็นแนวคิด 3 กมธ.ยกร่าง

     นายศรีอัมพรกล่าวว่า การให้สิทธิผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยได้นั้น แม้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยก็ตาม แต่อาจจะใช้วิธีแก้ในหลักการที่ว่าให้ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยยังมีสิทธิร้องขอให้ ก.ต. ทบทวนพิจารณาบทลงโทษทางวินัยได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในวันที่ 13 กรกฎาคม ตนและนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา จะนำรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 2,079 คน พร้อมจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ส่งผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแถลงอย่างเป็นทางการที่ศาลฎีกา ถนนแจ้งวัฒนะ เวลา 12.00 น. 

      นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อคัดค้านในครั้งนี้กว่า 2,000 คน และยังทยอยส่งรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาเพิ่มอีกมาก เฉพาะรายชื่อที่ส่งมาขณะนี้ถือเป็นอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 2 ของจำนวนผู้พิพากษาทั่วประเทศทั้งหมดที่มีกว่า 4,000 คนแล้ว ส่วนแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว มีแนวคิดมาจาก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ 3 คน ประกอบด้วย นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตตุลาการศาลปกครองคนหนึ่งที่ไม่ขอเอ่ยนาม 

      "ผมไม่อยากเชื่อว่านายจรูญซึ่งเคยเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมาก่อนจะมีแนวคิดแบบนี้ เพราะขนาดนายธานินทร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษายังทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญด้วย" นายศรีอัมพรกล่าว และว่า เป็นแนวคิดที่กระทบการเมืองการปกครองของประเทศ ไม่รู้ว่าเป็นการหวังดีหรือประสงค์ร้ายกันแน่ และนี่อาจจะเป็นการปฏิรูปที่ทำให้เสียของ

 

@ กมธ.ถกหมวดศาล 13 ก.ค. 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ กมธ.ยกร่างฯจะเดินทางไปประชุมพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นบทบัญญัติรายมาตราในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งบทบัญญัติบางมาตราที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และทบทวนเนื้อหาสาระทั้งหมดให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง คาดว่ากระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จในช่วงการประชุมนอกสถานที่

       นายคำนูณ กล่าวถึงกรณีคณะผู้พิพากษาทำหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในหมวดศาลยุติธรรม ว่าจะนำความเห็นที่แต่ละฝ่ายเสนอมาประกอบการพิจารณา อีกทั้งประเด็นนี้ กมธ.ยกร่างฯก็ได้ยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นของการดำเนินการรายประเด็นแล้วโดยมีความเห็นร่วมกันว่าก็คงไว้ตามเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วหากดูจากมาตราคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 13 กรกฎาคม

    นายคำนูณ กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอให้กำหนดรัฐบาลแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีคนกลางไว้ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญใหม่ว่ายังไม่มีฝ่ายใดทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯ แต่มองว่ารัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้ามีคนเสนอทาง กมธ.ยกร่างฯคงต้องพิจารณาอีกครั้ง 

 

@ เทียนฉายปัดตั้งคำถามรบ.แห่งชาติ

      นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวถึง สปช.จะเสนอคำถามประชามติให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีคนกลาง ว่าเคยได้ยินว่า นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นผู้เสนอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่เคยได้ยินว่า สปช.เป็นผู้เสนอ 

      "ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของ สปช. หน้าที่ของ สปช.คือ วางแนวทางการปฏิรูปประเทศ ผมอยากทราบเหมือนกันว่าสปช.คนไหนเป็นผู้เสนอ ส่วนการเสนอหัวข้อประชามติยังไม่ได้หารือกัน เพราะการทำประชามติเป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ขณะที่การตั้งชมรม สปช.เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศ ยังไม่ได้คุยเนื่องจากยังไม่ถึงเวลา"นายเทียนฉายกล่าว

 

@ สปช.งงข่าวเลื่อนลอยมาก

     นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินว่า สปช. จะเป็นผู้เสนอทำประชามติ ให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติและนายกฯคนกลาง ส่วนตัวเห็นว่าไม่เหมาะสม ที่ผ่านมา 1 ปีเศษ มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ทำหน้าที่ประคับประคองผลักดันการปฏิรูปจนเสร็จ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว หากเลือกตั้งก็ต้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ถือเป็นการคืนประชาธิปไตยให้กลับมา ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ส่วนหัวข้อการทำประชามติตนมองว่าไม่ควรเสนอคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญอีก เพราะหากมีประเด็นที่ขัดแย้งกันเองก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมา 

     นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช. กล่าวว่า ทันทีที่ทราบข่าวจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ก็รู้สึกงงและแปลกใจมาก มันเลื่อนลอยมากแบบไม่รู้ว่าแนวทางดังกล่าวมีต้นตอและที่มาจากที่ใด ซึ่งข้อเสนอนี้แตกต่างจากการเสนอเปิดบ่อนกาสิโน เนื่องจากรู้ตัวตนว่ามาจาก สปช.กลุ่มรักชาติ 12 คน แต่ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติและตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางไม่มีที่มาและไม่รู้ตัวตนว่าเป็นสปช.คนใดทั้งสิ้น ถ้าหากรู้ว่าเป็น สปช.กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก็ว่ากันไป แต่นี่ไม่รู้เลยว่าเป็นใคร อีกทั้งขณะนี้แนวทางดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านว่าอาจจะไม่เหมาะสมหากมีการผลักดันจริง

 

@ 'บิ๊กโด่ง'มึนถูกดันนั่งนายกฯ

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกระแสข่าวถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลางของรัฐบาลแห่งชาติว่า เป็นเรื่องแปลก ทำไมต้องมาเกี่ยวพันกับตน ไม่ทราบว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร เพราะไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับ สปช. เขาจะคิดเห็นกันอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ไม่ได้ลงไปคลุกคลีตรงนั้นมากนัก แต่ความรู้สึกส่วนตัวรัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินงานมาบนความตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาของชาติอย่างที่เห็นกันอยู่ ถ้าใครมีความยุติธรรมในใจ จะรู้ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเต็มที่ และตนก็อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย จะต้องร่วมกันแก้ปัญหากับนายกฯ

       "ไม่คิดที่จะไปเป็นอะไรหรือเห็นไปตามรัฐบาลแห่งชาติอะไรนั่น ผมไม่เคยคิดเห็นอะไรกับเขาด้วย แต่ทำไมออกมาอย่างนี้ก็ไม่เข้าใจ ผมขอยืนยันว่าจะต้องร่วมแก้ปัญหากับนายกรัฐมนตรีให้เต็มที่ สั่งการอะไรมาพร้อมปฏิบัติอยู่แล้วภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ไม่รู้ว่าเขาเห็นเราเป็นเป้าหมายอะไรไม่ทราบ สงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นผม เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไรก็ยังไม่รู้ ส่วนตัวไม่เคยคิดที่จะเป็นนายกฯคนกลางอย่างที่เป็นข่าว ทุกวันนี้ตั้งใจทำงานเต็มที่ ไม่เคยคิดที่จะไปเป็นอะไรตามที่เขาว่ากัน เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องมีความเหมาะสมจริงๆ และนายกฯมีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถจริงๆ" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ เตือนน.ศ.อย่าทำผิดรอบสอง

      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า รัฐบาลยังสามารถดูแลสถานการณ์ไปได้ด้วยดี ต้องอาศัยความเข้าใจของทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกัน อะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาอย่าไปสนับสนุน อย่างกรณีนักศึกษาซึ่งตนไม่อยากพูดอีกแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อนักศึกษาออกมาจากการควบคุมแล้วจะมีเจตนารมณ์จะทำอะไรต่อเนื่องหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะทำอย่างไร รัฐบาลต้องพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้น เขาจะไม่ฟังหรือไม่อย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช.ที่ต้องพยายามประคับประคองทำความเข้าใจ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถเดินต่อไปได้ 

     "ที่แน่ๆ จะไม่ยอมให้ประเทศเกิดปัญหาความไม่สงบอีก เพราะมันจะหยุดชะงักในการบริหารประเทศ เราต้องคุมสถานการณ์ไว้ตามความจริง ถ้ายังทำความผิดอีกต้องอยู่ในส่วนของการดำเนินคดีไป เมื่อทำผิดต้องรับโทษ เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความเมตตาของทางศาล คดีความต่างๆ ต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นเยาวชน ศาลมีความเมตตา ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก หรือถ้ามีอีกจะเป็นความผิดซ้ำสอง เพราะถือว่ามีเจตนา ต่อไปศาลอาจไม่เมตตา ถือว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ใหญ่ที่ไม่ให้การสนับสนุน ผมขอขอบคุณ ส่วนผู้ที่สนับสนุนในสิ่งไม่ถูกต้อง ขอให้หยุดเสียที" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

     ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ คสช.และฝ่ายความมั่นคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เมื่อเขาเป็นเยาวชนต้องระมัดระวัง เพราะไม่เหมือนกับกลุ่มทั่วไปที่ออกมาเคลื่อนไหว ต้องดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ออกมาเคลื่อนไหวทำให้ประเทศไม่สามารถเดินต่อไปได้

 

@ เพื่อไทยค้านตั้งรบ.แห่งชาติ 

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี สปช.มีแนวคิดที่เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีคนกลางไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และในวันที่ทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะเสนอคำถามให้มีรัฐบาลแห่งชาติก่อนเลือกตั้งไว้ด้วย ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะรีบตัดสินใจแทนประชาชน หน้าที่ของ สปช.ต้องทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสังคมไทย และรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด และเร่งดำเนินทุกอย่างไปตามโรดแมป ไม่เช่นนั้นผลเสียจะเกิดกับ คสช. ประชาชนจะรู้สึกว่าสร้างเงื่อนไขขยายโรดแมป เลื่อนเวลาต่อไปอีกไม่จบสิ้น 

"ฉะนั้นขอให้ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ให้มาก และรีบเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หากการเลือกตั้งหรืออะไรต่างๆ ในอนาคตมีปัญหา ค่อยมาดูว่าจะหาทางออกร่วมกับแก้ปัญหาอย่างไร อย่างเวลานี้ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ" นายภูมิธรรมกล่าว

 

@ 'อ๋อย'คาใจแม่น้ำ 5 สายไหลเรื่อยๆ

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Chaturon Chaisang" ว่า ข้ออ้างของ คสช.ที่ใช้ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือความไม่สงบ ขอเวลาทำงานในการแก้ปัญหาเพื่อความสงบที่ยั่งยืน แต่คำถามก็คือ หลังจากที่ คสช.ได้ขอเวลาและใช้เวลามาระยะหนึ่งแล้ว สังคมไทยกำลังจะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่ว่านี้จริงหรือ หากพิจารณาจากปัญหาในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญหรือแผนการต่างๆ คงต้องบอกว่าไม่มีวี่แววเลยว่าสังคมไทยจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งสับสนวุ่นวายขึ้นอีก 

       "ตรงกันข้ามถ้าวิเคราะห์กันดีๆ หากแม่น้ำ 5 สายยังไหลไปเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยอาจจะพบกับความขัดแย้งวุ่นวายยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนการรัฐประหารก็ได้ หมายความว่าความสงบในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ความสงบที่แท้จริง และไม่ใช่ ความสงบที่ยั่งยืน" นายจาตุรนต์กล่าว

 

@ ชี้ร่างรธน.นำไปสู่ขัดแย้งอีกรอบ

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า 1.จนถึงบัดนี้ สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องการแก้ปัญหา ยังไม่ได้ร่วมกันวิเคราะห์หรือเปิดให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้งเพื่อสรุปบทเรียน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างในอดีตขึ้นอีก 2.ยังไม่มีการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ที่มีทั้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ และอ่อนแอจนไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงถึงการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล บทบาทของระบบยุติธรรม การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการสนองตอบของกลไกรัฐต่อการสั่งการของรัฐบาล 3.การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆ และบริหารบ้านเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนรวมจากประชาชนฝ่ายต่างๆ กำลังสะสมปัญหาความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้ และยากแก่การแก้ไขในอนาคต

     "4.การร่างรัฐธรรมนูญและการวางแผนปฏิรูปกำลังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งการทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และยังจะซ้ำเติมปัญหาเดิมด้วยการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระในการกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาล ลดอำนาจของรัฐบาลในการบังคับบัญชาข้าราชการประจำและกลไกของรัฐ ทั้งนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นได้" นายจาตุรนต์ระบุ และว่า 5.ยังไม่มีการชำระล้างค่านิยมความเชื่อผิดๆ ที่ว่า หากมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบและหากรัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย ชอบแล้วที่จะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการและรอคอย หากต้องการให้เกิดความสงบที่ยั่งยืนจริง จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป คำถามคือ แล้วต่อจากนี้ประเทศไทยจะเกิดความสงบที่ยั่งยืนได้อย่างไร

 

@ ม.มหาสารคามเคลียร์ปม 13 ก.ค.

      นายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงกรณีอาจารย์และลูกศิษย์ออกแถลงการณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับแนวทางของ คสช.ว่า วันที่ 13 กรกฎาคม ได้นัดหมายกับตัวแทนอาจารย์จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อทำความเข้าใจกันระหว่าง 2 ฝ่าย และไม่ให้เรื่องบานปลาย เนื่องจากถือว่าอยู่ในสถาบันเดียวกัน นัดหมายกันในเวลา 10.30 น. ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

      "แนวโน้มของการพูดคุยคงเป็นในเรื่องการปรับความเข้าใจกันตามปกติและเปลี่ยนความคิด เปิดเผยจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่ได้สร้างความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าอาจจะมีอาจารย์บางท่านที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ประเด็นไหนที่ไม่ลงตัวต้องมาหาทางออกร่วมกัน ผมพร้อมเจอกับทุกฝ่าย ไม่มีประเด็นอะไรแอบแฝง เพียงแต่ขอความร่วมมือเรื่องของความเคลื่อนไหวในเรื่องการใช้ชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ควร แต่หากจะเคลื่อนไหวโดยไปในนามบุคคล ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไปห้ามกันไม่ได้" นายวิรัติกล่าว

 

@ 'กฤษฎา-ฉัตรชัย'ชิงดำปลัดมท.

      ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะเสนอชื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่เข้าที่ประชุม ครม.แทนนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน เนื่องจากจะไม่ให้ขาดช่วงในขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ที่เลื่อนขึ้นมาจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะต้องสอบซึ่งจะต้องใช้เวลา โดยแคนดิเดตขณะนี้มีเพียงสองคนคือ นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) ที่มีจุดเด่นด้านอาวุโส ความขยันตั้งใจทำงาน มือสะอาด และมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน แต่มีข้อด้อยตรงที่ทำงานเติบโตมาจากภูมิภาค และที่สำคัญอาจจะไม่สามารถฝ่าด่านสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่กำลังกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในกระทรวงไปได้ ส่วนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สิงห์ดำ มีจุดเด่นที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง เป็นนักประสานสิบทิศ แต่มีข้อด้อยในเรื่องอาวุโส

 

@ เตรียมตั้ง 4 อธิบดี-รองปลัด

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอรายชื่อรองปลัดกระทรวงและอธิบดีไปในครั้งเดียวกัน จะมีอธิบดีว่างลงจากการเกษียณอายุราชการ คาดว่าจะเสนอนายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผวจ.ภูเก็ต เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ และนายจรินทร์จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจขึ้นแท่นในกรมที่ดินและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความเป็นไปได้สูงที่จะขึ้นนั่งเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างไรก็ตามมีชื่อของนายธนาคม จงจิระ ผวจ.ลพบุรี นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผวจ.ชัยนาท นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผวจ.สระบุรี เข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงหรืออธิบดีด้วย 

 

@ ประกาศใช้กม.'ป.ป.ช.'

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ในมาตรา 13 ให้เพิ่มบทบัญญัติการลงโทษแก่เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 123/2, 123/3, 123/4, 123/5, 123/6, 123/7 และมาตรา 123/8 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยประเด็นที่สำคัญคือ มาตรา 123/2 บัญญัติว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ 

      "เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต และในมาตรา 123/3 บัญญัติว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท"

 

@ กลุ่มเมล็ดพริกจี้ปล่อย'รินดา'

       เวลา 18.00 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กลุ่มเมล็ดพริกจัดกิจกรรมจุดเทียนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางรินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี หรือ รินดา พรศิริพิทักษ์ ผู้โพสต์ข่าว กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์โอนเงินหนึ่งหมื่นล้านบาทไปสิงคโปร์ที่ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพราะศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว มีประชาชนประมาณ 50 คน ร่วมชุมนุมและถือป้ายกระดาษมีข้อความว่า ปล่อยประชาชน, ปล่อยแม่กลับไปกอดลูก, Free รินดา

      น.ส.เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม กลุ่มเมล็ดพริก อ่านแถลงการณ์ "ปล่อยรินดา" ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าภายหลังการรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย ใช้ดุลพินิจในการทำงานโดยเอาใจเผด็จการ ทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองและที่สำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายที่ฝ่าฝืนต่อข้อเท็จจริงกันอย่างแพร่หลาย อันส่งผลให้มีการใช้กฎหมายบิดเบี้ยวกันตลอดเวลาจนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วสังคมนานาชาติ

      "กรณีของนางรินดาเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยวของเจ้าหน้าที่รัฐ ยัดเยียดข้อกล่าวหาที่หนักเกินความเป็นจริงอันส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดี และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยกเลิกข้อกล่าวหานางรินดาอย่างไม่มีเงื่อนไข หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้สิทธิในการประกันตัว และการตั้งข้อหาที่สมเหตุสมผลในการกระทำของเธอ" น.ส.เสาวลักษณ์กล่าว และว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางรินดา และคนอื่นๆ ขอประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคมว่า 1.รัฐจะต้องคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองทุกคน 2.นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจะต้องออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

 

@ ทนายยื่นศาลขอประกัน 13 ก.ค.

      นายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล ทนายความกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพกล่าวว่า ปกติครอบครัวของนางรินดาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอย่างที่เข้าใจ และนางรินดาไม่คิดว่าสิ่งที่โพสต์ไปจะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้โดยคิดว่านายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งนี้ ในเวลา 09.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม กลุ่มทนายจะเข้ายื่นหนังสือขอให้ศาลทหารพิจารณาประกันตัวให้นางรินดาได้

      นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว กล่าวว่า การไม่ให้ประกันตัวเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางรินดาอย่างเร็วที่สุด ขอเรียกร้องให้คืนแม่แก่ลูก

      นายทรงธรรม แก้วพรรณพฤกษ์ นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า การเป็นรัฐต้องสามารถรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้ ขอเรียกร้องให้นางรินดาได้ประกันตัว เพราะไม่ใช่ภัยความมั่นคง เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่ได้ทำอะไรเลวร้ายเท่ากับการรัฐประหาร

      จากนั้นกลุ่มประชาชนได้ร่วมกันร้องเพลงและจุดเทียนพร้อมตะโกนว่า "เราคือเพื่อนกัน เราไม่ทิ้งกัน" นัดหมายกันว่าในวันที่ 13 กรกฎาคม หากนางรินดายังไม่ได้ประกันตัวจะมากันอีกในเวลา 20.00 น. และจะมาจนกว่านางรินดาจะได้ประกันตัว ก่อนจะแยกย้ายกลับ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!