WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

aTaksin


ครม.จัดให้ 'ถวิล'นั่งปธ.บอร์ดกฟภ. 
ศปป.เชิญทุกอดีตนายก ร่วมเวทีปฏิรูป-ออกจอ ลดอำนาจสว.ถอดถอน สั่งเด้งอธิบดีน้ำบาดาล

     กมธ.ยกร่างฯ เปิดช่องให้ประชาชนยื่นร้องศาลรธน.ได้โดยตรง หั่นอำนาจ ส.ว.ให้ถอดถอน ได้เฉพาะบุคคลที่แต่งตั้ง คงอำนาจศาลอุทธรณ์แจกใบแดง สมาคมกำนัน-ผญบ.ยื่นค้าน 3 มาตราอีกรอบ 'บิ๊กตู่' ยืนยันไม่ยุบทิ้ง ศปป.พร้อมเชิญอดีตนายกฯ ทุกสมัยร่วมรายการเดินหน้าปฏิรูป ยันไม่ใช่เวทีดีเบต เล็งทำสัตยาบันยอมรับให้มีการเลือกตั้ง สื่อนอกตีข่าวศาลทหารสั่งจำคุก 10 ผู้ต้องหาคดีม.112 ยูเอ็นจี้ยุติคดี 'ภูเก็ตหวาน' ป.ป.ช. ไม่รับคำร้อง 'เหลิม' ค้านอนุกรรมการสอบจ่ายเยียวยาม็อบ เล็งสรุปคดีถอดถอน'พรทิวา' ปมประกันข้าวยุคมาร์ค 16 ก.ค.

 

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8995 ข่าวสดรายวัน

 

ไหว้พระ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ไหว้พระ ขณะเดินทางเยือนวัดป่าเขต์มหาราชฐานสิบสองปันนา ที่เมืองเชียงรุ่ง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีผู้นำภาพมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์

 

 

ศปป.ตั้งโต๊ะคุยสื่อสายทหาร 

       เวลา 10.30 น. วันที่ 14 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) กล่าวระหว่างเป็นประธานพูดคุยกับสื่อมวลชนสายทหารว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มอบให้มาชี้แจง ซึ่งเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับคสช. หากคสช.หมดหน้าที่ศปป.ก็จบเช่นกัน เรื่องการปรองดองสมาน ฉันท์ในปี 2559 ถูกบรรจุอยู่ในส่วนที่ 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระทรวงมหาดไทย จะเป็นแม่งาน และอาศัยงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีคนอยู่แล้ว ดังนั้นต่อไปการปรองดองในปี 2559 จะอยู่ในส่วนของกอ.รมน.ก็ได้

พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ศปป.มี 6 แผน 9 โครงการ สื่อมวลชนเป็นหัวใจหลักในการสร้างปรองดอง เพราะเป็นผู้นำข่าวสารสู่ประชาชนส่วนล่างและนำข้อมูลส่วนล่าง มาสู่ข้างบน ที่เชิญมาพูดคุยวันนี้อย่ามองว่าเป็นการฝึก แต่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่า ศปป.ขอให้การนำเสนอข่าวมีที่มา เนื้อหาถูกต้อง ใครเป็นผู้พูด หากข่าวที่เสนอไปจะเกิดผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหาย ก็อยากให้หลีกเลี่ยง เช่น กรณีศปป.เชิญบุคคลมาร่วมเวทีเดินหน้าปฏิรูปยืนยันไม่ใช่เวที ดีเบต ตนไม่ต้องการเอาคนมาเถียงกันเพราะ จะไม่มีวันจบ 

 

เชิญ 3 กลุ่มเท่านั้น

    ผอ.ศปป.กล่าวว่า ศปป.จะเชิญบุคคล 3 กลุ่มเท่านั้นคือ 1.อดีตรัฐมนตรี 2.ประธานกมธ.ของสปช.ทั้ง 11 ด้าน และ 3.นักวิชาการที่ไม่ใช่รัฐบาล โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคและกลุ่มต่างๆ เช่น กปปส. นปช.ก็จะไม่เชิญ รวมถึงอดีตรัฐมนตรีที่มีคดีติดตัว เรื่องนี้ระวังมาก เพราะกลัวเชิญมาแล้วจะใช้เวทีนี้แก้ตัว ศปป.ต้องการความคิดและประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของคน 3 กลุ่มนี้ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครพูดถูกหรือพูดผิด

     ผอ.ศปป.กล่าวว่า ศปป.จะเชิญอดีตนายกฯทุกยุค ล่าสุดติดต่อนายอานันท์ ปันยารชุน แต่ไม่ว่าง ส่วนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี หากเชิญมาคงให้ออกรายการเดี่ยวเพราะถือว่าผู้อาวุโสมาก อดีต นายกฯคนอื่น เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คงต้องดูเรื่องก่อนว่าเหมาะสมกับใคร 

 

เชิญอดีตนายกฯปูแต่ยังไม่พร้อม 

     พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะประสานก่อนดูว่าพร้อมหรือไม่เพราะไม่ได้เชิญมาฉีกหน้าหรือประจาน แต่อยากได้ประสบการณ์ จึงต้อง ดูว่าอยากพูดเรื่องอะไรจะเปิดกว้างให้ สิ่งที่ศปป.อยากได้จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการบริหารในภาพกว้าง ซึ่งจะประสานไปก่อนว่าพร้อมหรือไม่ ไม่ใช่เป็นข่าวออกมาว่าไม่มาแล้วไปบอกว่าขี้ขลาด จึงประสานผ่านนายภูมิธรรม เวชยชัย พอดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่พร้อม ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ก็เช่นกัน ศปป.จะแจ้งหัวข้อไป โดยนายภูมิธรรมจะเป็นคนบอกว่าควรเป็นคนไหน เมื่อได้รับคำตอบ ศปป.ก็จะทำหนังสือเชิญ เหมือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตนก็ประสานผ่านเลขาฯ เช่นกัน 

     ผอ.ศปป.กล่าวว่า รายการเดินหน้าปฏิรูปวันที่ 20 ก.ค.นี้ เป็นเรื่องปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เชิญนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ และวันที่ 27 ก.ค. วางไว้ว่าจะพูดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

เมื่อถามว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องเชิญพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาพูดคุยด้วยหรือไม่ พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่าอยากให้สื่อแยกแยะ เพราะการเขียนแผนของศปป. ไม่ได้ดูตัวบุคคลและจะไม่ยุ่งเรื่องอดีต เป็นเรื่องปัจจุบัน ตนมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งศปป.จะไม่ยุ่งกับคดีที่พิพากษาไปแล้ว 

 

เล็งทำสัตยาบันออกทีวี-รับเลือกตั้ง

     พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ศปป.มีโรดแม็ป 4 ข้อ 1.การแยกกันคุย โดยมอบ พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผอ.ศปป. พูดคุยกับคนทุกกลุ่ม ยกเว้นคนที่อยู่ต่างประเทศกับคนที่บวชอยู่ที่ไม่ได้คุย 2.การสัมมนาทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน 3.เชื่อมความสามัคคี ให้มีกิจกรรมร่วมกัน โดยจะมีการเตะฟุตบอลของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตอบรับแล้ว และ 4.นำแกนนำ 2 กลุ่มไปต่างจังหวัดเพื่อเป็นวิทยากรพูดในเรื่องต่างๆ แสดง ให้เห็นว่าคน 2 สีเลิกโกรธกันแล้ว และตนกำลังพิจารณาเพิ่มเติมข้อที่ 5 การให้ลงสัตยา บัน โดยการออกทีวียืนยันกับประชาชนเหมือนเป็นสัญญาประชาคมยอมรับการเลือกตั้ง 

 

โว 6 เดือนคะแนนรบ.ดี

      พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้นำการประเมินผลวิทยาลัยประชากรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ในแผนงานปรองดองไปให้กับนายกฯพร้อมแจกจ่ายครม.ทั้งหมด การประเมินผล 6 เดือนมี 1 เรื่องที่เกี่ยวกับสื่อ พบว่าประชาชนที่ติดตามข่าวสารผ่านสื่อทีวีเชื่อถือข้อมูลจากสื่อดาวเทียมมากกว่าฟรีทีวี ตนติดใจตรงนี้มากว่าทำไมประชาชนไม่เชื่อสื่อฟรีทีวี 

     พล.อ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังมีการประเมินต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าสถานการณ์ก่อนที่คสช.จะเข้ามา หรือขณะที่มีคสช. และหากไม่มีคสช. มีจัดการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร มีครบทุกเรื่องเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีการประเมินตัวเองพบคะแนนของรัฐบาลดีมากทั้งก่อนมีคสช. ระหว่างที่มีคสช. หมายความว่าประชาชนระดับล่างเชื่อถือการทำงานของรัฐบาล หลังจากศปป.ลงพื้นที่ เราไม่ได้ไปโฆษณาชวนเชื่อแต่เอาผลงานของรัฐบาลไปชี้แจงให้ประชาชนทราบ จากผลการประเมินเป็นห่วงว่าในอนาคตหากกลับไปสู่การเลือกตั้งแล้ว และไม่มีคสช.สถานการณ์จะกลับไปสู่เหมือนเดิม

 

'พรทิวา'ระทึก-ปปช.ชี้ประกันข้าว

    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่มีการร้องให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ส่อทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนว่า ขณะนี้อนุกรรมการไต่สวนที่มีนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นประธาน ได้สรุปเรื่องเสร็จแล้ว พร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ให้พิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับใครหรือไม่ ในวันที่ 16 ก.ค. หรืออย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 21 ก.ค.

     นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบ ความคืบหน้าการไต่สวน 34 อดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งขณะนี้มีนางนลินี ทวีสิน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ยังไม่ได้แจ้งหรือทำหนังสือขอเลื่อนแต่อย่างใด หากขอเลื่อนอย่างเป็นทางการมา ป.ป.ช.กำหนดแล้วว่าจะให้เลื่อนเพียงครั้งเดียวคือ 15 วัน 

 

ยกคำร้อง'เหลิม'ค้านอนุ'เยียวยา'

       นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ยังมีมติให้ข้อทักท้วงของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ที่ระบุอนุกรรมการไต่สวนฯไม่มีอำนาจไต่สวนนั้นตกไป เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎหมาย แม้แต่ข้อทักท้วงของน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ร้องต่อศาลว่าอนุกรรมการไต่สวนฯ เป็นปรปักษ์ก่อนหน้านี้ก็ไม่ใช่ เพราะเราไม่ใช่ปรปักษ์ ดังนั้น กรณีร.ต.อ.เฉลิมยิ่งไกลเข้าไปใหญ่ จึงให้เลขาธิการป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้งให้ทราบแล้ว

 

ทักษิณโผล่สิบสองปันนา 

      วันเดียวกัน เฟซบุ๊ก Tai Lue เผยแพร่ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางเยือนวัดป่าเขต์มหาราชฐานสิบสองปันนา ที่เมืองเชียงรุ่ง พร้อมร่วมตักบาตรพระ

 

บิ๊กตู่สั่งเร่งสอบขรก.เอี่ยวโกง 

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีรายชื่อข้าราชการที่ส่ออาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ซี 8 ขึ้นไป ที่ใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปปรับย้ายมาทำงานในส่วนกลางที่มีตำแหน่งพิเศษรองรับเอาไว้ และให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบอย่างรอบคอบเพราะไม่ต้องการให้รีบเร่งจนข้อมูลตกหล่น แต่การดำเนินการก็ไม่ควรช้าจนเกินไป เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่และอาจเกิดข้อครหาตามมา

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนข้าราชการระดับกลางไปถึงระดับล่างที่ไม่ได้โยกย้ายออกมาจากตำแหน่งเดิมเพราะเห็นว่าไม่มีผลต่อการทำให้หลักฐานยุ่ง จึงปล่อยให้ต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการข้อเท็จจริงและรายงานให้รัฐบาลรับทราบนั้น มีการรายงานข้อมูลน้อยจึงเร่งรัดให้หน่วยงาน กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวน เบื้องต้นมีการรายงานว่าบางกระทรวงมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ตั้งคณะกรรมการไม่พอ ที่ประชุมจึงหารือว่าในแต่ละกระทรวงมีฐานข้อมูลพบว่าอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการทุจริตเป็นเรื่องเดียวกัน อาจใช้กรรมการตรวจสอบชุดเดียวกันเพื่อดำเนินการกับหลายคนที่อยู่ในข่ายนั้นๆ ก็เป็นได้ ที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งหลายเคยรวบรวมข้อมูลไว้แล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เปิดโอกาสให้ดำเนินการจึงเกิดความล่าช้า เมื่อรัฐบาลชุดนี้ที่เปิดให้มีการสะสาง หน่วยงานที่มีข้อมูลก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว

 

ยธ.เพิ่มกลุ่มเฝ้าระวังคดี 112

      ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ครั้ง 2/2558

      พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมรายงานการติดตามกลุ่มเฝ้าระวังและกลุ่มที่ออกหมายจับแล้วในคดีความผิดมาตรา 112 จำนวน 135 ราย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.คนอยู่ต่างประเทศที่ถูกออกหมายจับ 2.คนที่อยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง 3.บุคคลที่กำลังติดตามพฤติกรรม และ 4.กลุ่มบุคคลที่มีหมายจับ ซึ่งวันนี้ได้จำแนกเพิ่มอีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มแนวร่วม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่างประเทศได้ส่งรายชื่อผู้กระทำผิดส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ทางการไทยสืบทราบว่าได้หลบหนีอยู่ประเทศนั้น ส่วนไอซีทีได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางสื่อสังคมออนไลน์ และประสานกองทัพเพื่อความเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งหมด พร้อมทั้งตรวจสอบการกระทำผิดซ้ำจากการนำข้อความผิดมาเผยแพร่ซ้ำด้วย 

 

ยกคดีอื่นขอส่งตัวผู้ต้องหา 112

      พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนตร.จะให้ขยายการทำงานไปยังสภ.แต่ละภาคทั่วประเทศ รวมถึงกอ.รมน.ภาค 1-4 ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบ และสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งสื่อ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ รวมถึงสร้างหลักสูตรทางการศึกษาเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงเรื่องนี้ ขณะที่อัยการรายงานความคืบหน้าของคดี ทราบว่าบางคนกระทำผิดทางคดีอาญา นอกเหนือจากคดีมาตรา 112 ด้วย อาจใช้ช่องทางนี้ขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากมาตรา 112 ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

     "ผมพูดนานแล้วว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าต่างประเทศจะเข้าใจเรา ผมไม่ได้หวังว่าจะใช้มาตรา 112 ขอให้ต่างประเทศส่งตัวกลับ รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่อยากขอให้ต่างประเทศเข้าใจทัศนคติของคนไทย" พล.อ. ไพบูลย์กล่าว และว่าสำหรับการส่งรายชื่อ ผู้กระทำผิดให้กับต่างประเทศ ได้ชี้แจงให้ต่างประเทศฟังว่าต้องแยกคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 ออกจากกัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักใช้ประเด็นการเมืองมารวมกับคดีมาตรา 112 เพื่อขอลี้ภัยไปยังต่างประเทศนั้นๆ 

เมื่อถามว่ารายชื่อผู้กระทำผิด 3 รายที่ส่งให้กับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศ ไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. มีความผิดในคดีความมั่นคงมาตรา 116 ด้วยหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่าได้ระบุในรายละเอียดของพฤติกรรมไปด้วย เนื่องจากกระทำความผิดจริง เรื่องนี้เราดูเป็นรายบุคคล ยืนยันว่าไม่ใช่การยัดเยียดข้อกล่าวหา และต้องดูว่าความผิดตามมาตรา 116 มีกฎหมายพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยหรือไม่ 

 

เอเอฟพีตีข่าวศาลทหารตัดสิน 112

     วันเดียวกัน เอเอฟพี รายงานกรณีศาลทหารไทยพิพากษาจำเลย 10 คน ต้องโทษจำคุกคนละ 5 ปี ในความผิดมาตรา 112 โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น "ไอลอว์" (iLaw) ระบุว่า ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมาตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดิมมีเพียง 2 คดี แต่หลังเกิดรัฐประหาร ปัจจุบันมีคดีในรูปแบบนี้อย่างน้อย 56 คดีความ

     เอเอฟพี ยังรายงานการเปิดศาลไต่สวนนางชุติมา สีดาเสถียร เเละนายอแลน มอริสัน ชาวออสเตรเลีย ผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวาน (phuketwan) ต่อกรณีเว็บไซต์ดังกล่าวรายงานข่าวโดยนำข้อความของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ระบุถึงเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นกรณีอื้อฉาวในภูมิภาค ตั้งแต่เมื่อเดือนก.ค.2556 หากผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คน ถูกพบว่ามีความผิดจริงจะต้องเผชิญกับโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาท และอีก 5 ปี ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

     นายมอริสันกล่าวว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ขณะที่พวกตนซึ่งนำข้อความมาจากสำนักข่าวดังกล่าวกลับถูกดำเนินคดีเสียเอง

 

ยูเอ็นจี้ยุติคดี'ภูเก็ตหวาน'

     ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือโอเอชซีเอชอาร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อนักข่าวทั้ง 2 คน โดยระบุว่า เสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งเสรีภาพของผู้สื่อข่าวในการรายงาน โดยไม่ต้องกลัวการถูกลงโทษ ถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความถูกต้องและโปร่งใสต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ

นายฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ หรือเอชอาร์ดับเบิ้ลยู ระบุว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นข้อบ่งชี้ถึงเจตนาของรัฐบาลไทยที่ไม่ต้องการเคารพเสรีภาพสื่อมวลชน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของไทย ควรสั่งให้กองทัพเรือหยุดการกระทำนี้แล้วถอนฟ้อง แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น กลับเห็นพ้องกับกองทัพเรือในการจัดการกับการรายงานข่าวของสื่อ การกระทำอย่างนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนสากลในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีน้อยอยู่แล้ว

 

บิ๊กตู่ยันไม่ยุบกำนัน-ผญบ. 

      เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กล่าวมอบนโยบายแก่นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และอุปนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมตอนหนึ่งว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหา ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ทุกคนต้องลืมภาพเก่าแล้วมาร่วมกันสร้างประเทศใหม่ สิ่งสำคัญคือสร้างความรับรู้และความเข้าใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สิ่งที่ขอมาทั้งเงินเดือน งบประมาณต่างๆ ก็พร้อมให้ได้ และหากสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายขึ้นมา ถ้าทุกคนทำดีไม่มีใครมายุ่ง ตนยืนยันไม่มีใครยุบได้ วันนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ยังอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูป 

      "กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ใช่นักการเมือง หัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพล ต้องเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ดีให้ได้ ถ้าทำดี เข้มแข็ง ผมก็จะดูแล เชื่อว่ามีทั้งคนดีและไม่ดี แต่เราต้องทำให้คนไม่ดีลดลงให้ได้ หรือเอาคนไม่ดีออกจากระบบ วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่ผมไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศ ไม่ได้ต้องการเป็นนายกฯ สักวัน แต่มันจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้หวังหรือต้องบังคับใครมาชอบผม ทุกอย่างผมจะดูแลในภาพรวมให้ ทุกอย่างทุกเรื่องอยู่ในใจไม่ต้องขอ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

คนอยู่ต่างประเทศให้กลับมา 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าให้ใครมากำหนดอนาคตบ้านเมือง ต้องเรียนรู้ประวัติ ศาสตร์สร้างอนาคต องค์การส่วนท้องถิ่นจะมาทะเลาะกันไม่ได้ ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้ อย่าให้ใครมาสร้างความเข้าใจผิดๆ ใครไม่ดีก็บอกมา ขอให้กลับไปรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทำประโยชน์เพื่อประเทศให้ได้ ไม่ใช่รวมกลุ่มสร้างความขัดแย้ง เวลาจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ต้องช่วยกัน 

นายกฯ กล่าวว่า คนที่เขียนในโซเชี่ยลมีเดีย ที่อยู่ต่างประเทศให้กลับมา ถ้าไม่ผิดให้กลับมาตนพร้อมให้ความเป็นธรรม อยากให้นึกถึงคนเจ็บ คนตาย ทหาร ชาวบ้านตายไปมาก ทุกอย่างต้องชัดเจนว่าใคร ถ้าไม่ยอมรับกระบวนการเลยมันไม่ใช่ และวันนี้เราวางอนาคตยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มองดูไส้ในหลวมๆ มีทั้งคนหวังดีและหวังร้ายเพื่อทำให้รัฐบาลเดินหน้าไม่ได้ และขอฝากทุกคนเรื่องการปกป้องสถาบัน ไม่ว่าเป็นประชาชนสีไหนก็เป็นคนไทยของพระองค์ท่าน ทุกคนจึงต้องร่วมกันสร้างความสงบเรียบร้อย

 

ชี้วิกฤตคราวหน้าอาวุธมาแน่ 

      ก่อนหน้า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวกับตัวแทนสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญต่อความสงบเรียบร้อย ไม่มีใครมายุบได้ แต่ต้องทำตัวเราให้มีค่า ให้คนทั้งชาติเห็นความสำคัญ การลงพื้นที่ตนอยากมีเวลาพูดคุยกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน คุยเปิดอก อยากถามอะไรก็ถาม ตนผ่านมาทุกสีที่มีเรื่องกัน ทุกรัฐบาล ตนอธิบายได้ ใครจะชอบสีอะไรไม่ว่ากัน แต่พูดกันด้วยเหตุผล คนไทยต้องอยู่ร่วมกันได้อย่าคิดแตกแยก อย่าคิดขัดแย้ง ตนเน้นผู้ว่าฯ ไปแล้วว่าความขัดแย้งของคนในชาติมีไม่ได้ เห็นต่างได้ ชอบต่างได้แต่ต้องพูดด้วยเหตุผล อย่าพูดด้วยความมอมเมา ถ้าได้คุยกันจะรู้ว่าตนไม่ได้วิเศษวิโสอะไร ทำตามด้วยเหตุผล อำนาจหน้าที่ ไม่เคยคิดเป็นอื่น

       "ผมไม่มีวาระอื่น พวกผมไม่ใช่การเมือง ไม่มีเรื่องเงินทอง ไม่มีเรื่องสี ผมและรัฐมนตรีช่วย เอาหัวเป็นประกันว่าไม่ยุ่ง ขอเพียงให้ ผู้ว่าฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีจุดยืน ถ้าไม่อยู่ในจุดที่ยืนอยู่ประเทศชาติวิกฤต จำคำผมไว้อย่างหนึ่งถ้าวิกฤตคราวหน้าอาวุธมาแน่ รับรองได้ว่าทุกพวกมีอาวุธ ถ้าพวกตัวเองไม่ค่อยมีแรง เขาจะไปจ้างอดีตทหารพรานถือปืนรบกันแน่นอน ผมยืนยันว่าความวิกฤตความวิบัติของชาติจะเกิดขึ้น ดังนั้น อย่าให้เกิดขึ้น ขอให้ทำหน้าที่สมกับสถาบันปกครองท้องที่ ใครจะมายุ่ง มาเปลี่ยนแปลงเทศบาล อบจ. อบต.ไม่ได้ อยากให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากกว่านี้ ซึ่งต้องค่อยๆ ดูกันไป มีศักดิ์ศรีแต่เงินเดือนไม่ให้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ทราบภาระเยอะ นายกฯ ก็รู้ พูดคุยเปิดอกได้ไม่เป็นไร"พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

 

สนช.ถก 15-16 กค.-ถอด 248 สส.

       เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงหลังประชุมว่า สนช.จะประชุมพิจารณาถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยไม่ชอบ โดยพิจารณา 2 วัน คือวันที่ 15-16 ก.ค. เป็นการแถลงเปิดสำนวนคดีของป.ป.ช. นำโดยนายวิชา มหาคุณ และการแถลงคัดค้านคดีของผู้ถูกกล่าวหา เบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาจะส่งตัวแทนเข้าชี้แจง 11 คน มีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และพล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตส.ส.เพื่อไทย 

นพ.เจตน์กล่าวว่า หลังการแถลงเปิดคดีที่ประชุมจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 7-9 คน รวมถึงกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาซักถามคู่กรณีด้วย ส่วนวันลงมติยังไม่สามารถกำหนดได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม โดยหลังการแถลงปิดคดีจะต้องมีการลงมติภายใน 3 วัน แต่หากติด วันหยุดราชการอาจจะเลื่อนออกไปได้โดยยกเว้นข้อบังคับ

 

กมธ.ตัดกก.สรรหาตลก.เหลือ 7

      เวลา 09.15 น. ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานประชุมกมธ.เป็นวันที่สอง โดยแจ้งต่อที่ประชุมว่าการประชุมวันนี้จะเข้าสู่หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถ้าจะให้การประชุมเป็นไปตามเป้าหมาย กมธ.ยกร่างฯต้องพิจารณาให้ถึงมาตรา 269 

      นายมีชัย วีระไวทยะ กมธ.ยกร่างฯ ได้ทำของที่ระลึกมามอบให้กมธ.ยกร่างฯ และผู้สื่อข่าว เป็นร่มขนาดใหญ่สีสันสดใส มีรายชื่อทั้ง 36 คนติดอยู่บนร่มด้วย โดยมีความหมายว่า "ร่มอันนี้นอกจากจะเป็นอุปกรณ์กันแดดกันฝนแล้ว ยังสื่อความหมายช่วยกันกระสุนตกใส่รัฐธรรมนูญ และช่วยปกป้องรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ด้วย"

       เวลา 10.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่าที่ประชุมพิจารณาจบหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ที่มาตรา 245 มีสาระสำคัญคือมาตรา 229-230 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการปรับสัดส่วนคณะกรรมการ จากเดิมร่างแรกกำหนดให้มี 11 คน แต่เมื่อพิจารณาคำขอแก้ไขจากทุกภาคส่วนโดย เฉพาะครม. ที่รวบรวมมาจากทุกศาลและหน่วยงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงปรับเหลือ 7 คน มาจากประธานศาลฎีกา 1 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เลือกกันเองเหลือ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิคณบดีคณะนิติศาสตร์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิคณบดีคณะรัฐศาสตร์ 1 คน ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงจากคณะกรรมการสรรหาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

 

เปิดช่องปชช.ยื่นตรงศาลรธน. 

      นายคำนูณ กล่าวว่า มาตรา 235 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รองรับไว้ สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ถือเป็นบทบัญญัติที่ก้าวหน้าขึ้น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จากเดิมต้องยื่นให้หน่วยงานอื่นพิจารณาและต้องทำทุกวิถีทางก่อน แต่ไม่ใช่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทุกคดี ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 

     นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนมาตรา 238-241 ศาลยุติธรรม มาตรา 242-244 ศาลปกครอง และมาตรา 245 ศาลทหาร เป็นการปรับแก้เฉพาะถ้อยคำ ไม่มีการปรับแก้ในรายละเอียด ทำให้ในภาพรวมที่ประชุมพิจารณารายมาตราแล้ว 245 มาตรา ปรับแก้ไข 176 มาตรา ตัดทิ้งไป 10 มาตรา ส่วนการพิจารณาวันนี้จะเริ่มที่หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตั้งเป้าให้จบมาตรา 269 เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในคืนนี้ 

     เมื่อถามว่า มีการปรับแก้มาตรา 240 ว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่าทำให้สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีวิธีพิจารณาในการอุทธรณ์ ส่วนมาตรา 241 คดีการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิทางการเลือกตั้งนั้น เป็นไปตามเดิม ไม่มีการปรับหลักการสำคัญ เพียงแต่ปรับแก้ถ้อยคำบางประการ

 

สว.ถอดได้เฉพาะตำแหน่งที่ตั้ง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมกมธ. ยกร่างฯ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น ที่ประชุมได้ปรับหลักการสำคัญ คือการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.ที่มีพฤติการณ์ส่อทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้รัฐสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่ง โดยให้ผู้ร้องยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา นำเรื่องส่งป.ป.ช.เพื่อพิจารณา ไต่สวน หากชี้มูลความผิดให้ส่งเรื่องกลับมายังประธานสภาที่ยื่นเรื่อง ส่วนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นที่วุฒิสภาแต่งตั้ง จะให้สิทธิวุฒิสภาถอดถอน

      สำหรับ เสียงที่ใช้ถอดถอน หากถอดถอนโดยที่ประชุมรัฐสภาต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของที่ประชุมรัฐสภา แต่หากเป็นเฉพาะวุฒิสภาจะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมวุฒิสภา สำหรับส่วนที่สี่ การดำเนินคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แก้ไขการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ กำหนดให้ผู้ไต่สวนอิสระต้องมี 3 คน และให้เรียกว่าคณะผู้ไต่สวนอิสระ จากบทบัญญัติเดิมที่เขียนแล้วตีความได้ว่า ผู้ไต่สวนอิสระสามารถตั้งได้คนเดียว 

 

คงอำนาจศาลอุทธรณ์แจกใบแดง

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อำนาจของศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการพิจารณาคดีเลือกตั้งส.ส. ส.ว. และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กมธ.ยกร่างฯบัญญัติว่ากรณีที่กกต.ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้กกต.มีอำนาจสั่งให้จัดเลือกตั้งใหม่ได้(ใบเหลือง) แต่ถ้าหลังจากกกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว จะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ให้ใบเหลือง หากเป็นกรณีกกต. จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลใด(ใบแดง) จะต้องส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยผู้ต้องคำพิพากษาและกกต.สามารถยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาอีกได้

 

ผู้พิพากษาพอใจกมธ.ยอมปรับแก้ 

      นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เผยว่าหลังจากกมธ.ยกร่างฯ มีมติยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับศาลนั้น จากการพูดคุยกับผู้พิพากษาส่วนใหญ่ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านก็รู้สึกพอใจ โดยนายบวรศักดิ์แถลงชัดเจนว่าจะไม่นำประเด็นต่างๆ ทั้ง 7 ประเด็นที่ศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลยุติธรรมไปดำเนินการกันเอง ซึ่งศาลยุติธรรมจะเขียนบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกแทน 

นายศรีอัมพรกล่าวว่า ผู้พิพากษาส่วนใหญ่พอใจและไม่ติดใจในประเด็นใดๆ อีก เพราะศาลยุติธรรมได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อความเหมาะสมและข้อกฎหมายมีความก้าวหน้าไปมาก สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ให้ยืนตามเดิมคือมีสัดส่วนก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 2 คน เพื่อเชื่อมโยงกับวุฒิสภา

      นายศรีอัมพร กล่าวว่า ก่อนตั้งกมธ.ยกร่างฯ ทางศาลยุติธรรมไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย เพียงแต่นักวิชาการบางคนอาจคิดไปเอง โดยนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาปรับใช้ แต่กฎหมายของประเทศต่างๆ มีที่มาต่างกัน และระบอบการปกครองต่างกัน เราจะไปยึดตัวอย่างจากต่างประเทศไม่ได้ และจากการที่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เคยไปประชุมและศึกษาดูงานของศาลต่างประเทศ ซึ่งผู้พิพากษาในต่างประเทศยังบอกเองว่าระบบของศาลไทยดีกว่ามาก เพราะมีความเข้มแข็งในตัวเองและไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งบางประเทศยังต้องนำกฎหมายบางอย่างของไทยไปปรับใช้เช่นกัน

 

กกต.ขอคงอำนาจให้ใบแดง 

      เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานกกต. นาย สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่ากกต.มีมติเสนอความเห็นไปยังกมธ.ยกร่างฯ เกี่ยวกับการให้อำนาจให้ใบแดงกลับมาอยู่ในอำนาจของกกต. 5 ประเด็นคือ 1.ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ถ้าพบผู้สมัครทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้กกต.มีอำนาจแจกใบแดงให้ผู้สมัครที่ทุจริตออกจากสนาม ข้อเสนอนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของกฤษฎี กาเพื่อไม่เสียเวลาจัดเลือกตั้งใหม่

      2.หลังลงคะแนนเลือกตั้งแล้วแต่อยู่ในช่วงก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ถ้าพบการทุจริตเลือกตั้งแต่ไม่เชื่อมโยงถึงผู้สมัคร ให้กกต.มีอำนาจให้ใบเหลืองเพื่อเลือกตั้งใหม่ 

 

เจอเหลือง 2 ใบได้ใบส้ม 

      3.กรณีให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครไปแล้วแต่ยังพบว่ามีการทุจริตโดยกลุ่มเดิม หากกกต.ต้องให้ใบเหลืองเป็นใบที่สองก็เท่ากับเป็นใบส้ม เพื่อไม่ให้ผู้สมัครมีสิทธิลงสมัครในครั้งนั้น 4.ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ถ้าพบทุจริตและเชื่อมโยงผู้สมัคร ให้กกต.มีอำนาจแจกใบแดงเพื่อตัดสิทธิผู้สมัครเป็นเวลา 1 ปี และ 5.หลังประกาศผลเลือกตั้งแล้วพบทุจริตการเลือกตั้งจะเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยงกับ ผู้สมัคร ขอส่งเรื่องไปที่ศาลอุทธรณ์และให้ ดูว่าศาลจะยืนตามมติกกต.หรือไม่ ถ้าเป็นใบเหลืองก็ให้จัดเลือกตั้งใหม่ ถ้าเป็นใบแดงก็ให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต 

      นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าให้อำนาจกกต.ให้ ใบเหลืองเพียงอย่างเดียว จากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา กกต.ให้ใบเหลืองไปแล้ว 82 ใบ แต่พบว่าผู้สมัครกลับมาได้ถึง 78 คน หรือร้อยละ 95 จึงเห็นว่าการให้อำนาจกกต. ให้แค่ใบเหลืองไม่ได้แก้ปัญหาทางการเมือง ยังส่งผลเสียต่อกกต. ประชาชน และรัฐบาลที่ต้องเสียงบประมาณ จัดเลือกตั้ง แต่นักการเมืองไม่ได้เสียเงินในส่วนนี้ กกต.ก็เห็นด้วยที่จะให้ศาลพิจารณาโทษ ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต เพราะศาลมีความรอบคอบ อีกทั้งการให้ใบแดงของกกต.และศาลแตกต่างกัน โดยจะส่ง 5 ประเด็นนี้ให้กมธ.ยกร่างฯภายในวันที่ 14 ก.ค.

 

กกต.มาจาก'ท่านเปา-ตลก.'ได้

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ กกต.ยังเสนอการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ที่ให้อำนาจเรียกเอกสารหลักฐาน หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน อีกกรณีคือเรื่องการสรรหา ที่ร่างรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้สรรหากกต.จากผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้น กกต.เห็นว่าจะเกิดปัญหาเพราะการทำหน้าที่ของกกต.ต้องมีการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาด กรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้ง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในอรรถคดี ส่วนวาระของ กกต.ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากมีกกต.คนใดลาออกแล้ว คนที่มาแทนที่จะมีวาระเทียบเท่ากับกกต.ที่ออกไปนั้น เห็นว่าอาจส่งผลให้คนที่เข้ามาแทนมีเวลาทำงานน้อยเกินไปและอาจทำให้บุคคลที่มีความสามารถขาดแรงจูงใจที่จะเข้ามารับการสรรหา

 

กำนัน-ผญบ.ค้าน 3 มาตรา 

      เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย นำโดยนายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคม เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสปช. และประธานกมธ.ยกร่างฯ เพื่อคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 82(3) การกระจายอำนาจและจัดภารกิจอำนาจหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น มาตรา 284(5) ให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาคทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคและกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณแบบพื้นที่เพื่อพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น และมาตรา 285 ที่กำหนดการปฏิรูปด้านบริหารท้องถิ่นตามแนวทางที่กำหนด 

      นายยงยศกล่าวว่า จึงขอให้ทบทวนและรับฟังข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเป็นความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนในท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับ 3 มาตรา ทั้งนี้สมาคมจะคัดค้านทั้ง 3 มาตรา ผ่านผู้ว่าฯที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ หากข้อเสนอของสมาคมไม่ได้รับการตอบสนองก็จะมีมาตรการคัดค้านต่อไป

 

ราชกิจจาประกาศพรบ.ชุมนุม

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ มีเนื้อหาสำคัญคือ การชุมนุมต้องสงบปราศจากอาวุธ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก ในรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาล เว้นแต่จัดสถานที่ให้ และต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานทูต ฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการชุมนุมให้แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายต่อเมื่อได้แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งรับผิดชอบ

 

ครม.เด้งอธิบดีน้ำบาดาลเข้ากรุ

มติตั้ง"ถวิล"นั่งปธ.บอร์ดกฟภ.

      วันที่ 14 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนัก นายกฯ แถลงว่า ครม.มีมติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ 5 ราย 1.นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวง เป็น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 2.นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็น รองปลัด 3.น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัด เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 4.นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นผู้ตรวจราชการ 5.นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้ตรวจฯ เป็น เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

     อนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางอาภัสรา เฟื่องฟู ผอ.สำนัก 8 เป็น ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.2558 และอนุมัติตามที่สำนักนายกฯ เสนอแต่งตั้ง นายวรพันธ์ เย็นทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกฯ เป็น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

อนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแต่งตั้ง น.ส.อุษณี กังวารจิตต์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นผู้ตรวจ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และแต่งตั้งนายถวิล เป็น ประธานบอร์ดกฟภ. แทน พล.อ.วิโรจน์ บัวจรูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 19 ก.ค. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. เป็นต้นไป

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!