WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ การโยกย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี'ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผล'ยิ่งลักษณ์'ครม.ที่เกี่ยวข้อง สิ้นสภาพรัฐมนตรี ตั้งนิวัฒน์ธำรงรักษาการนายกฯ

      ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ การโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผล "ยิ่งลักษณ์" และครม.ที่เกี่ยวข้อง รวม 10 คน สิ้นสุดสภาพรัฐมนตรี ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 25 คน ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ด้าน ครม.นัดพิเศษ เคาะ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลรักษาการนายกฯ ลั่นเดินหน้าจัดเลือกตั้ง 20 ก.ค. นี้ เตรียมนัดหารือ กกต.ช่วงบ่ายวันศุกร์ ขณะที่วิกิพีเดีย อัพเดทสถานะยิ่งลักษณ์เป็นอดีตนายกฯคนที่ 28 ทันควัน ระบุดำรงตำแหน่งรวม 2 ปี 275 วัน

      ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำเอื้อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ดังนั้น บุคคลทั้งหมดตามที่ระบุ จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

      ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า เมื่อยุบสภาแล้วความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียังคงอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และหากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ก็ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

     ประเด็นที่ 2.การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิล ถือเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำ เอื้อต่อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมจริยธรรม จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

       ประเด็นที่ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า รัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิล ต้องถือว่ากระทำการโดยมิชอบ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวลงด้วยเช่นกัน

      สำหรับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น ศาลฯไม่รับไว้พิจารณา

      ผู้สื่อข่าวรายงานรายชื่อ  10 รัฐมนตรี ที่ต้องสิ้นสภาพ เนื่องจากมีส่วนร่วมในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี มีดังนี้

1.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม

2 เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขณะนั้น

3.กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ขณะนั้น

4.สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น

5.สันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนั้น

6.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที

7.ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ขณะนั้น

8.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น

9.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ขณะนั้น

10.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ขณะนั้น

   ส่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน หรือ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 ที่ไม่ได้อยู่ร่วม ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 ซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ประกอบด้วย

1.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์

2.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี

3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ

4.นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรฯ

5.นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม

6.นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรฯ

7.นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน

8. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย

9.นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม

10.นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ

11.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง

12.นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง

13.นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

14.นางปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

15.พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม

16.นายพ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคม

17.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์

18.นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์

19. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย

20.นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม

21.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ

22. นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข

23. นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข

24.นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม

25 .นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย

    ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษวันนี้ มีมติให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง

   นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังประกาศเดินหน้าจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ 

   โดยจะนัดหารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการร่าง พ.ร.ฎ. เลือกตั้งร่วมกันในช่วงบ่ายวันศุกร์นี้ (9 พ.ค.)

    ขณะที่ สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย อัพเดทสถานะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวินิจฉัยให้พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนรีคนที่ 28 ของไทย ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2554-7 พฤษภาคม 2557 รวม 2 ปี 275 วัน

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!