WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Prayut

โละใหญ่-ทีมศก. ทาบ'พินิจ'นั่งกระทรวงเกษตร ปรับหลายเก้าอี้ แต่อุ๋ยยังเหนียว กมธ.ยกร่างสรุป เลือกตั้ง-หน้าที่ ตัดสว.จับสลาก

      'พินิจ จารุสมบัติ' เนื้อหอม ถูกทาบนั่งรมว.เกษตรฯ ปรับครม.ฝุ่นตลบเตรียมโละใหญ่ทีมเศรษฐกิจ กมธ.ยกร่างฯ รธน.เคาะแล้ว 'ให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่' ยึดเกณฑ์ตามรธน.ปี '50 ใครไม่ไปเลือกตั้งถูกตัดสิทธิการเมือง แก้ที่มาส.ว. ตั้งกรรมการสรรหา 4 กลุ่ม ตัดทิ้งส.ว.จับสลาก ตัดเอกสิทธิ์คุ้มครองส.ส.-ส.ว. หากทำผิดที่มีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไปตร.จับตัวดำเนินคดีได้ ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตกรณีผู้ทุจริตหรือถูกถอดถอนฐานทุจริต ยันไม่ได้เปิดช่องให้กลั่นแกล้ง เพื่อไทยโวยลั่นแค่หวังผลการเมือง ไม่เป็นธรรมถ้าให้มีผลย้อนหลัง กุนซือประวิตรเผยยังไม่พบกลุ่มเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล ด้าน 'พีระศักดิ์ พอจิต' เชื่อรัฐบาลอยู่ถึงต้นปี'60 ป.ป.ช.เตรียมเรียก 'จิตติพจน์ วิริยะโรจน์' ให้ถ้อยคำเพิ่มคดีสลายแดงปี "53 ขณะที่ 'สถาพร'แจงตั้งที่ปรึกษาโปร่งใส ชี้ถูกสอบสมัยเป็นบอร์ดขสมก. ชุดเดียวกับ ป.ป.ช.'สุภา' คาดตัดสินเดือนส.ค.นี้

 

 

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8999 ข่าวสดรายวัน

 

 

ทาบ"พินิจ"นั่งรมต.เกษตรฯ

     วันที่ 18 ก.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เตรียมปรับครม.ด้านเศรษฐกิจเกือบยกชุด ในเร็วๆนี้ โดยเหลือไว้เพียงม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เป็นหัวหน้าทีมตามเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทามบุคคลมาเป็นรัฐมนตรี อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ ให้มารับตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้ามาดูแลช่วยแก้ปัญหาสินค้าราคาเกษตรตกต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมานายพินิจ ทำเรื่องยางพารามาตลอด ล่าสุดในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ซึ่งมีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มาเป็นประธานเปิดงาน

 

กมธ.ปรับแก้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่

    เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ เป็นวันที่ 6 โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีกมธ.ยกร่างฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติให้กำหนดว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิ ต่างจากเดิมที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ เพื่อให้สอดคล้องกับผลโพลที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าการเลือกตั้งต้องเป็นหน้าที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น วิธีปฏิบัติต้องเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือใครไม่ไปเลือกตั้งก็ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง เว้นแต่จะไปชี้แจงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรืออยู่ต่างประเทศ หรือย้ายภูมิลำเนาได้ไม่ถึง 90 วัน 

 

ตั้งกก.สรรหา-ตัดทิ้งสว.จับสลาก

   พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบปรับเปลี่ยนที่มาส.ว. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้เป็นที่ยอมรับ คือ ส.ว. 200 คน มาจาก 5 กลุ่มตามเดิม แต่ให้มีการสรรหาใน 4 กลุ่มแรก แทนการให้ กกต.จับสลาก และกลุ่มสุดท้ายยังคงเลือกตั้งจาก 77 จังหวัด โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา กลุ่ม 1 ประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน 

    กลุ่ม 2 มี 9 คน ประกอบด้วย 1.ผู้เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้วิธีการสุ่มเลือกโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มละ 1 คน 2.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และอธิบดีสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ของรัฐ 1 คน และเอกชน 1 คน 

กลุ่ม 3 ประกอบด้วย 12 คน 1.ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สุ่มเลือกโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มละ 1 คน 2.ผู้แทนองค์การเอกชนด้านแรงงาน 1 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเกษตร 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตร ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและการศึกษา ด้านชุมชน และด้านการบริหารท้องถิ่นและท้องที่สุ่มเลือกโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ด้านละ 1 คน

 

มั่นใจได้วุฒิสภามีคุณภาพ

       กลุ่ม 4 ประกอบด้วย 18 คน 1.ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ดังนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สุ่มเลือกโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มละ 1 คน 2.ผู้แทนองค์การเอกชนด้านเศรษฐกิจ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและผู้สูงอายุ ด้านศาสนา ด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านวิชาชีพอิสระ สุ่มเลือกโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ด้านละ 1 คน

    พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ให้กรรมการแต่ละคณะเลือกประธานแต่ละกลุ่ม และกรรมการจะเข้าสรรหาเป็นส.ว.ไม่ได้ ส่วนกรณีไม่มีกรรมการในตำแหน่งหรือไม่สามารถทำงานได้ ถ้ากรรมการที่เหลือมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ทำหน้าที่ต่อไปและ สรรหาส.ว.ให้เสร็จหลังจากได้รับรายชื่อภายใน 30 วันแล้วแจ้งผลต่อกกต. และประกาศผลต่อไป 

ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการได้กรรมการสรรหาให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ทั้งนี้ เชื่อว่าการสรรหาส.ว.จะเกิดความหลากหลาย ครอบคลุมจากทุกภาคส่วน เป็นวุฒิสภาที่มีคุณภาพ ทำหน้าที่กลั่นกรอง ยับยั้ง กฎหมาย แต่งตั้ง ถอดถอนข้าราชการ พิจารณาเรื่องสำคัญๆ

 

แจงปมริบอำนาจกกต.แจกใบแดง

     พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ กกต.คนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับกมธ.ยกร่างฯ เรื่องการตัดอำนาจการให้ใบแดงของ กกต.และเปลี่ยนมาให้ศาลพิจารณาแทนว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ประสงค์จะตอบโต้องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลใด แต่จำเป็นจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ

      นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การให้ใบแดงหรือการตัดสิทธิบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ เหมือนการตัดสินประหารชีวิต ถือเป็นโทษที่แรง คนจะถูกตัดสิทธิต้องสามารถมีสิทธิอุทธรณ์ฟ้องร้องกับศาลได้เพื่อความเป็นธรรม เราพิจารณาไปตามหลักนิติรัฐ เพื่อประกันสิทธิของผู้ต้องโทษร้ายแรงด้วยอำนาจตุลาการ ทั้งยังให้อำนาจศาลไต่สวนทางลับ เพื่อคุ้มครองพยาน 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่ไม่ต้องการให้ผู้ทุจริตการเลือกตั้งเข้ามาสู่วงการเมือง เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 (4) และร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (8) ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามการสมัครส.ส.ว่า ต้องคำพิพากษาทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยมีโทษตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต จึงควรมีหลักประกันว่าผู้ที่จะถูกลงโทษ ต้องได้รับความยุติธรรมจากศาล ส่วนจะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปทันทีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง

 

ตัดเอกสิทธิ์คุ้มครองส.ส.-ส.ว.

     นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับประเด็นเอกสิทธิ์คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.และส.ว. กมธ.ยกร่างฯได้ปรับหลักการสำคัญให้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เดิมไม่ให้มีการจับคุมขัง ออกหมายเรียกตัวส.ส. ส.ว. ไปดำเนินการสอบสวนคดีอาญา ยกเว้นกรณีได้รับอนุญาตจากสภาแล้วแต่กรณี และถูกจับขณะกระทำความผิด แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพิ่มข้อยกเว้นการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. ส.ว. คือความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ และกรณีทำความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาได้

     นายคำนูณ กล่าวว่า ขณะที่การคุ้มครองไม่ให้นำตัวส.ส. หรือส.ว.ไปดำเนินคดีระหว่างชั้นศาล ได้ปรับแก้ไขจากเดิมที่ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นได้รับจากความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง, พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเปลี่ยนเป็นว่า ถ้าเป็นกรณีคดีที่ความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและกรณีที่สมาชิกผู้นั้นยินยอมให้ดำเนินคดี ก็สามารถถูกดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม หากกรณีที่มีการจับส.ส. หรือส.ว.ขณะกระทำความผิด ประธานสภาหรือประธานวุฒิสภาอาจร้องขอสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้

 

ยันไม่ได้เปิดช่องกลั่นแกล้ง

    เมื่อถามถึงคำว่าประธานสภาอาจร้องขอให้ปล่อยตัวส.ส.หรือส.ว. หมายความว่า พนักงานสอบสวนหรือศาลสามารถใช้ดุลยพินิจว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อยตัวก็ได้ใช่หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ประเด็นร้องขอ มีค่าเท่ากับสั่ง บางคนมองว่าคำว่าร้องขอนั้นไม่มีค่าเท่ากับคำว่าสั่ง คงต้องเป็นกรณีที่วินิจฉัยและกมธ.ยกร่างฯอาจไปกำหนดให้ชัดเจนในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป

     เมื่อถามว่าการแก้ไขเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นนี้ จะมีผลให้ฝ่ายรัฐบาลที่ควบคุมกลไกอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้อภิปรายข้อดีข้อเสีย ตั้งแต่การพิจารณารายมาตรารอบแรกเช่นกัน ซึ่งมี 2 มุม คือ มาตรฐานเดิมของมาตรานี้เป็นไปตามระบบรัฐสภาทั่วโลกที่มีมายาวนาน คุ้มครองฝ่ายนิติบัญญัติให้ไม่ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายบริหาร

     "แต่กมธ.ยกร่างฯ อีกด้านก็มองว่าโอกาสที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงมากและรัฐธรรมนูญในต่างประเทศได้ปรับเปลี่ยนเช่นกัน ประกอบกับความรู้สึกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาธารณะ ก็ต้องการไม่ให้มีความคุ้มครองเด็ดขาดเพราะหลายกรณีเป็นคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง จึงไม่สมควรได้รับคุ้มครอง" นายคำนูณกล่าว 

 

ตัดสิทธิผู้ถูกถอดถอนตลอดชีพ

     นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนมาตรการลงโทษนักการเมืองด้วยการถอดถอนและลงโทษทางการเมือง จะปรับใหญ่จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่ลงโทษทางการเมือง 5 ปี ในทุกฐานความผิด เปลี่ยนเป็นการแยกลงโทษใน 2 กรณี คือ กรณีทำผิดฐานจงใจที่ใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น และฐานประพฤติผิดจริยธรรมอย่าง ร้ายแรง จะถูกลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ส่วนอีก 4 ฐานความผิด ได้แก่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม จะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งอื่นๆ ตลอดไป โดยมาตรานี้บัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557

 

"อ๋อย"ซัดกมธ.หวังผลทางการเมือง

     นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบในประเด็นตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพ กรณีบุคคลที่เคยถูกถอดถอนว่า มองได้ว่าเป็นเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ถ้าเราดูจากการถอดถอนที่เกิดขึ้นหลังรัฐประ หาร องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แบบนี้ก็เท่ากับมาเริ่มใช้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเพื่อกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

      นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่ไม่ได้ตัดสิทธิคนที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองถือว่าถูกต้อง แต่เรื่องนี้ไม่ได้มาจากการจะทำตามหลักนิติธรรม เพราะตอนรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ให้โทษย้อนหลังไว้ แต่ต่อมาพบว่ามีผลต่อคนที่จะไปช่วยงานคสช.อยู่ เลยต้องยกเลิกไป เพราะต้องการคนเหล่านี้เข้ามาช่วยงานรัฐบาล เวลาร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องทำให้สอดคล้องกัน และพยายามทำให้เห็นว่าเป็นการทำตามหลักนิติธรรม แต่แท้จริงแล้วหวังผลทางการเมืองเฉพาะหน้า คือต้องการคนในบ้าน 111 บางคนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล 

 

ชี้ปรับครม.ไม่ช่วยแก้ปัญหา

     นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขอโยงถึงเรื่องปรับ ครม. ซึ่งนาทีนี้การปรับครม.ไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว เพราะได้ปล่อยให้สถานกาณ์แย่จนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่แย่ลงอย่างมาก การบริหารงานที่ล้มเหลว การขาดความเชื่อมั่นและไม่เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ แม้จะปรับครม. แต่การบริหารงานที่นายกฯ ยังพูดอยู่คนเดียว และพูดแบบถูกบ้างผิดบ้าง ทำให้รัฐมนตรีที่มีความสามารถ มีแนวคิดใหม่ๆ ไม่กล้าพูดอะไร 

       "ดังนั้น การปรับ ครม.ก็ไม่สามารถทำให้การแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ดีขึ้น จะแก้ได้ก็เท่าที่นายกฯจะทำเท่านั้น เพราะนายกฯ อยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับรู้ความจริง ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของใครมานานแล้ว ถ้าจะปรับครม.ก็ไม่ช่วยให้ปัญหาดีขึ้น เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบ และการไม่ยอมรับประชาธิปไตย เรื่องนี้แม้จะเปลี่ยนคนอย่างไรก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น" นายจาตุรนต์กล่าว

 

พท.ค้านตัดสิทธิทุจริตตลอดชีพ

       นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีกมธ.ยกร่างฯ มีมติตัดสิทธิ์บุคคลที่เคยถูกถอดถอนในคดีทุจริตตลอดชีวิตว่า เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะกำหนดกฎเกณฑ์ อยากทำอะไรก็ขอให้ทำไป ต้องยอมรับว่าขณะนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร หลังจากนี้จะขอใช้ชีวิตส่วนตัวแบบปกติ ส่วนคดีอาญาจากกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่กำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีนั้น ตนพร้อม

     นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ข้อสรุปห้ามบุคคลที่เคยถูกถอดถอน สมัครส.ส. ส.ว.และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิตนั้น อาจถือได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควร รุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะการถอดถอน เป็นมาตรการทางกฎหมายลงโทษทางการเมืองกับบุคคล การกำหนดข้อห้ามการดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงควรมีระยะเวลา เช่น 5 ปีเหมือนที่รัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดไว้ เทียบกับทางอาญา กรณีเคยถูกศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกเมื่อพ้นโทษเกิน 5 ปีแล้วก็สมัครรับเลือกตั้งได้ การถอดถอนถือเป็นโทษอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ใช่โทษทางอาญาแต่ทำให้ผู้นั้นต้องเสียสิทธิทางการเมืองหลายประการ 

 

ชี้ต้องไม่มีผลย้อนหลัง

     นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง แตกต่างจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นองค์กรและกระบวน การทางกฎหมาย เป็นภาวะไม่ปกติ อาจทำให้เข้าใจได้ว่ามุ่งทำลายอีกฝ่ายเหมือนในอดีต สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาก กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันจะเป็นเช่นนั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรมีผลย้อนหลังไปใช้กับบุคคลที่เคยถูกถอดถอนโดยผลของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา แต่ควรกำหนดให้ใช้เฉพาะผู้ที่ถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เท่านั้น 

     "ขอย้ำว่าการถอดถอนของบ้านเราเอามาใช้ผิดๆ เช่น พ้นจากตำแหน่งแล้วก็ยังถอดถอนออกจากตำแหน่งอีก การถอดถอนมีองค์ประกอบเพียงว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดเท่านั้น มิได้หมายความว่าผู้นั้นกระทำความผิดจริง ดังนั้น หากในทางคดีอาญาไม่มีการฟ้องผู้นั้นหรือศาลยกฟ้อง การไปห้ามผู้ถูกถอดถอนสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิต จึงไม่เป็นธรรม อาจตีความได้ว่าเพื่อกีดกันหรือตัดเส้นทางพรรคบางพรรค คนบางคน ดังนั้น การจะจำกัดสิทธิมิให้สมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรเป็นเรื่องทุจริตและมีคำพิพากษาของศาลว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่การถอดถอนซึ่งมิได้มีการตัดสินด้วยเหตุผลทางกฎหมายเป็นหลัก แต่ตัดสินด้วยจำนวนเสียงของผู้ลงมติซึ่งมีวาระทางการเมืองแฝงอยู่" นายชูศักดิ์กล่าว

 

พีระศักดิ์ชี้ได้รัฐบาลใหม่ต้นปี"60

      ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 พร้อมสมาชิกสนช.กว่า 10 คน อาทิ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.พลังงาน พล.อ.ชนะ อยู่ถาวร กมธ.พาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน ลงพื้นที่ตามโครงการสนช.พบประชาชน จ.กาญจนบุรี 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านประมาณ 40 คนจากบ้านศาลเจ้าโพรงไม้ หมู่ 1 ต.วังขนาย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มายื่นหนังสือขอให้ระงับการเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสร้างทางหลวงสายพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายที่ 4 กาญจนบุรี-น้ำพุร้อน พร้อมชูป้ายเขียนข้อความต่างๆ เช่น ลุงตู่อย่าทิ้งพวกเรา ชีวิตสิ้นเพราะมอเตอร์เวย์ สาย 4 ทั้งนี้ นายพีระศักดิ์ลงมารับหนังสือและพูดคุยกับชาวบ้านประมาณ 10 นาที โดยรับเรื่องไว้เพื่อนำไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป ก่อนที่ชาวบ้านจะแยกย้ายกันกลับ

นายพีระศักดิ์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการประชุมว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะเสร็จแล้ว เมื่อเสร็จก็ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบก็ต้องทำประชามติ ซึ่งคาดว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นปลายเดือนม.ค. 2559 เพราะมีขั้นตอนต่างๆ ทั้งการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนให้ได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิ์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องกำหนดวันทำประชามติ และการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 

"ส่วนการเลือกตั้งนั้น ดูจากสถานการณ์แล้วคาดว่าน่าจะเลือกตั้งได้ประมาณปลายปี 2559 และกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องใช้เวลาอีก ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้คงอยู่ได้ถึงต้นปี 2560 เช่นเดียวกับสนช.ที่ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ สนช.ทำงานร่วมกับรัฐบาลตามโรดแม็ปที่วางไว้" นายพีระศักดิ์กล่าว

 

หนุนตัดสิทธิ์"คนโกง"ตลอดชีวิต

นายพีระศักดิ์กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตแก่ผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีทุจริตว่า เห็นด้วยเพราะคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และทุจริตการเลือกตั้ง ต้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการคัดสรรตัวแทนประชาชน ความจริงน่าจะมีโทษติดคุกด้วย หากมองว่าเป็นโทษแรงก็ต้องแรงเพื่อให้เกรงกลัว ทั้งนี้ โดยหลักกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังกับผู้กระทำผิดในช่วงที่ผ่านมา หรือผู้ได้รับโทษไปแล้ว แต่จะใช้ในอนาคตกับคนที่กระทำความผิด

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า การบัญญัติเช่นนี้ทำให้คนที่จะมาเป็นตัวแทนประชาชนจะไม่ทำผิด เพราะถ้าทำผิดจะถูกแบนตลอดชีวิต โดยเฉพาะคนที่ถูกชี้มูลความผิดแล้วถูกวุฒิสภาลงมติถอดถอนนั้น ต้องลงโทษหนัก เพราะสภาสูงได้พิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งการใช้เสียงถอดถอนไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อถามว่าคนที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปกติ ก็จะถูกห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิตเช่นกัน นาย พีระศักดิ์ตอบว่า ต้องแยกให้ออกระหว่างการร่ำรวยผิดปกติกับการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งกรณีร่ำรวยผิดปกติเป็นการได้มาโดยไม่ชอบ แจ้งที่มาทรัพย์สินไม่ได้ ส่วนการปกปิดมี 2 ประเด็นคือ เจตนา กับไม่เจตนา ต้องแยกให้ออก เพราะบางครั้งมีทรัพย์สินมาก่อน แต่เมื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับลืมแจ้งก็ไม่มีความผิดร้ายแรง เช่น มีที่ 1 แปลง เมื่อเล่นการเมืองก็ยังมีที่อยู่ 1 แปลง เมื่อเลิกเล่น ที่ดินดังกล่าวก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ยักย้ายถ่ายโอนเพื่อให้ที่ดินนั้นมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งต้องแยกให้ออก

ยันไม่พบกลุ่มเคลื่อนไหวล้มรบ.

นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการติดความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ภายหลังมีกระแสข่าวจัดเตรียมระดมคนเพื่อล้มรัฐบาลว่า สถานการณ์และความเคลื่อนไหวต่างๆ ขณะนี้เป็นไปตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุได้รับรายงานว่าทั้งประเทศยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรพิเศษเกิดขึ้น อีกทั้งรองนายกฯ ก็ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานการณ์ให้มีความสงบเรียบร้อยตามปกติ ส่วนเงื่อนไขทางการเมืองหรือความเคลื่อนไหวต่างๆ อยากให้ไปสอบถามผบ.ทบ. และผบ.ตร. ที่รับผิดชอบโดยตรง

นายปณิธานกล่าวถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวกับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า วิกฤตครั้งหน้าจะมีการใช้อาวุธ และจ้างอดีตทหารพรานมารบว่า อาจเป็นเพียงการซักซ้อมทำความเข้าใจกับกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่สื่อจะไปตีความอย่างไรขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละบุคคล

 

เรียก"จิตติพจน์"ให้ปากคำคดีสลายแดง

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และพระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกแจ้งข้อกล่าวหาสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. 2553 ว่า ตามที่นพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อ้างพยานเพิ่มเติมคือนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมการ เพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ตั้งโดยวุฒิสภา มาให้ข้อมูลเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 นั้น ป.ป.ช. จะดำเนินการสอบพยานรายนี้ตามที่ร้องขอ

 

"วิชา"ลั่นไม่หนักใจ-ไม่มีอคติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีนี้ใกล้จะชี้มูลได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ที่จริงในชั้นคณะทำงานเรื่องนี้พร้อมจะสรุปได้แล้ว แต่เมื่อมีการอ้างพยานเพิ่มเติมก็ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และเมื่อสอบพยานรายนี้เสร็จ คณะทำงานจะได้สรุปสำนวนก่อนเสนอต่อองค์คณะไต่สวนป.ป.ช.ต่อไป เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก แต่เราได้สอบพยานและเอกสารต่างๆ มาแล้วจำนวนมากหลายขั้นตอน และยังต้องพิจารณาให้ครบถ้วนต่อไป 

เมื่อถามว่ามีความหนักใจหรือไม่ หากผลสรุปออกมาทางใดทางหนึ่งก็จะโดนข้อครหา นายวิชากล่าวว่า ไม่หนักใจ เราทำคดีมาเยอะแล้ว ซึ่งทำไปโดยไม่มีอคติ ไม่มีเพื่อนไม่มีพวก ไม่มีคนที่เราจะต้องไปกลัวว่าจะกระทบกระเทือนใจเขาหรือไม่ ต่อข้อถามว่ามีแนวโน้มว่าผู้สั่งการอาจจะรอดใช่หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า อย่ามาถามตรงนี้ ตนเป็นเพียงคนไต่สวนแทน เป็นเรื่องของคณะทำงาน จะไปให้ความเห็นก่อนไม่ได้เด็ดขาด

 

แจงคดี"สมบัติ-สุภา"ยังไม่ขาดอายุ

พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกมธ.ปฏิรูปการทุจริตของสปช. จัดสัมมนาโดยระบุถึงกรรมการป.ป.ช.บางคนตั้งบุคคลที่มีเรื่องถูกกล่าวหาคดีทุจริต มาเป็นที่ปรึกษาว่า วงเสวนาของสปช.ยกตัวอย่างกรณีที่ตนตั้งนายสมบัติ ธรธรรม ที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตมาเป็นที่ปรึกษานั้น ยืนยันว่าตนไม่ได้นำคนทุจริตมาเป็นที่ปรึกษา แต่กรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะอนุกรรมการป.ป.ช. ที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. เป็นประธาน ซึ่งยังไม่มีการตัดสินว่านายสมบัติมีความผิดจริง จึงต้องให้โอกาสทำงาน ทราบว่าจะนำคดีดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.เพื่อลงมติภายในเดือนส.ค.นี้ ยืนยันว่าคดีไม่ได้หมดอายุความแน่นอน

พล.ต.อ.สถาพรกล่าวว่า กรณีที่นายสมบัติ เป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 2542 ขณะเป็นบอร์ดขสมก. ซึ่งมีนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ร่วมเป็นบอร์ดอยู่ในขณะนั้นด้วย ถูกกล่าวหาว่ามีมติลดหนี้ให้ขสมก. ทำให้มีการร้องเรียนตามมา ถือเป็นการมีมติในรูปแบบของบอร์ดขสมก.ที่มีความเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การทุจริตโดยตัวคนเดียว หากนายสมบัติถูกกล่าวหาว่าทุจริตเป็นการส่วนตัว ตนคงไม่นำมาเป็นที่ปรึกษา การนำนายสมบัติมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยงานด้านกฎหมายและคดีความ เพราะมีประสบการณ์ในการทำคดีและไต่สวนคดี หากในที่สุดแล้วที่ประชุมป.ป.ช.มีมติว่า นายสมบัติกระทำทุจริตจริง ตนจะให้ถอนตัวจากตำแหน่งที่ปรึกษาแน่นอน 

 

"บิ๊กตู่"ควงรมต.ตรวจตลาดระยอง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมด้วยครม. อาทิ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดระยอง โดยช่วงเช้า นายกฯ พร้อมคณะเดินทางไปยังศูนย์กลางเกษตรจังหวัดระยอง ตลาดกลางผลไม้เพื่อการเกษตรตะพง อ.เมือง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถาน การณ์ผลไม้จ.ระยอง พร้อมมอบนโยบาย ก่อนเยี่ยมชมตลาดและพบปะเกษตรกรชาวสวนผลไม้เพื่อรับทราบถึงปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย นายกฯ พร้อมคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนกำเนิดวิทย์และเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมชมและรับทราบเป้าหมายการดำเนินงานของโรงเรียน ก่อนเดินทางกลับในเวลา 15.30 น.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!