WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Aบวรศกด


สปช.ดันต่อ'กาสิโน'ซุ่มเงียบ ทำเป็นพรบ.แล้ว 
กลุ่มเดิมเตรียมยื่นตรงบิ๊กตู่ ปีติพงศ์ส่อปิ๋ว-พ้อซวยจริงๆ 'ปื๊ด'ขอร่างรธน.ฉบับสุดท้าย
     สปช.กลุ่มรักชาติ ดันต่อ 'กาสิโน' ในรูป เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เตรียมเสนอเป็นกฎหมายส่งให้ 'บิ๊กตู่' ภายในสิ้นเดือนนี้ 'ปีติพงศ์'ปลงกระแสข่าวถูกปรับพ้นครม. พ้อเจอปัญหาคน-การเมืองยอมรับได้ แต่ดันมาเจอฝนแล้ง ซวยจริงๆ สปช.'วันชัย'ชี้ความนิยมรัฐบาลลดวูบ จี้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระชากศรัทธา 'บวรศักดิ์'ย้ำรธน.ไม่ใช่ร่างในฝัน แย้มเป็นฉบับสุดท้ายที่จะยกร่าง 'ดิเรก'ยืนยันไม่รับประเด็นที่มาส.ว. ชี้กมธ.แก้แล้วแต่ยังไม่ถูกหลักกฎหมาย

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9000 ข่าวสดรายวัน


เจอแล้ง'ปีติพงศ์'บ่นซวยจริงๆ 
     วันที่ 19 มิ.ย. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวปรับครม.ที่มีชื่อตัวเองถูกปรับออกมาต่อเนื่องว่า ส่วนตัวไม่ท้อเพราะอาสามาทำ ได้แค่ไหนเท่านั้น ไม่เคยท้อ ถ้าท้อไม่ทำอะไรคงกลับบ้านแล้ว เรื่องการบริหารประเทศหากผู้ใหญ่เห็นคนอื่นเหมาะสมกว่าก็ไม่ว่ากัน เรามาขัดตาทัพก็รู้ แต่การได้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเกษตรก็เต็มที่ แม้ทีแรกเหนื่อยแต่เมื่อรับปากใครว่าจะทำอะไรก็จะทำเต็มที่ จนถึงวันที่ทำไม่ไหวหรือมีใครที่ดีกว่าก็ต้องมาทำต่อ 
    "ยอมรับการมานั่งดูแลเกษตรกร ช่วงแรกๆ เรื่องของคนทำคือมีปัญหา อาทิ เรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เรื่องไอยูยู เรื่องปัญหาคนทำงาน การเมืองภายใน เรื่องนี้ยอมรับได้ แต่คราวนี้เรื่องของฝนฟ้า ฝนแล้งคือเรื่องธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ยอมรับว่าซวยจริงๆ"

สปช.ยุปรับครม. 
     นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกระเเสข่าวปรับครม. ว่ากระเเสข่าวนี้สะท้อนว่าความนิยมในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มลดน้อยถอยลง ประกอบกับโพลในสำนักต่างๆ ก็ชี้ชัดว่าการทำงานของรัฐบาลยังตอบสนองความคาดหวังประชาชนไม่ได้ จากที่ให้โอกาสกลับรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ ไม่อยากให้โอกาสต่อไปแล้ว เพราะมีปัญหาปากท้อง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ แต่การจับจ่ายใช้สอยก็ไม่ค่อยมี ทำมาหากินลำบาก ชักจะรอต่อไปไม่ไหวเพราะท้องมันหิว เงินในกระเป๋าไม่มี ฝ่ายตรงข้ามก็ปลุกกระแสขยายผลโจมตี ดิสเครดิต 
     นายวันชัย กล่าวว่า รัฐบาลต้องรีบกระชากศรัทธาดึงความไว้วางใจกลับมา รีบปรับเปลี่ยนคนมาทำงานเสียใหม่ เชื่อว่านายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนมีความตั้งใจและทุ่มเททำงานกันอย่างจริงจัง แม้ไม่หวังจะเล่นการเมืองต่อไปแต่เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองแล้วต้องสนองความรู้สึกของประชาชน เพราะเมื่อวันใดประชาชนสิ้นหวังสิ้นศรัทธาเสียแล้วก็อยู่ยาก และอาจจะอยู่ไม่ได้ในที่สุด

ปชป.จี้เปลี่ยนพลังงาน-พาณิชย์
     นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับครม.โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจว่า รายชื่อที่ปรากฏไม่ใช่หน้าใหม่ แต่สังคมเราชอบดูที่หน้าตา ไม่ได้ดูว่าควรทำอะไร ที่ผ่านมาหน้าตาดีมีเยอะแต่ทำไม่สำเร็จ เวลานี้ต้องยอมรับก่อนว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ต้องไปเริ่มอะไรอีก เวลานี้เกษตรกรมีปัญหาก็ต้องมาดูว่าต้องทำอะไรถึงจะช่วยเขาได้ ไม่ต้องรอขุนพลหน้าใหม่มาทำ เพราะเวลานี้ไม่ต้องรอใครมาแก้ ถ้าคนอยู่ไม่ทำงานนายกฯ คนเดียวต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าตนเป็นผู้บริหารสูงสุดต้องประเมินลูกน้องแล้วว่าคนไหนไม่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยน สั่งแล้วไม่ทำก็ต้องปรับ คนไหนไม่รู้เรื่องของกระทรวงตัวเองก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ตนพูดมาตลอดเกี่ยวกับราคาแก๊สที่ไม่สมควรเพิ่มขึ้นไม่เห็นเปลี่ยนอะไร ก็ยังเหมือนเดิม เถียงจนเถียงไม่ได้ก็ยังยืนกระต่ายขาเดียว รวมทั้งกระทรวงที่เกี่ยวกับราคาสินค้า จึงเห็นว่านายกฯ ควรมองให้ออกว่าใครเป็นอย่างไร

ชี้ตั้งคนไม่ตรงงาน 
      "การที่จะไปดึงคนโน้นคนนี้มาก็ต้องรู้ว่าเขาสร้างผลงานอะไรไว้บ้างที่เด่นๆ และเหมาะสมกับงานและสถานการณ์นั้นหรือไม่ ดึงมาแล้วแก้ปัญหาได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องหน้าตา ไม่ใช่เป็นคนมีชื่อเสียง ที่ผ่านมาตั้งคนไม่ถูกกับงาน ดังนั้น การแก้ปัญหาในเวลานี้ควรตกผลึกว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ไม่ใช่มานั่งหาตัวคน"นายเกียรติกล่าว
     เมื่อถามว่า รายชื่อที่ออกมาทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช. นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า นายสมคิดก็อยู่ในทีมของรัฐบาลและคสช. ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนนายพินิจก็เหมือนกับเป็นเพื่อนนักเรียน ถ้าเอาเขามาก็ต้องรู้ว่าจะให้เขาทำอะไร ส่วนนายประสารจะให้เขามาทำอะไร ตอนเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ผลงานคืออะไร เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาล ความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเอาคนไม่เหมาะสมกับงานโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

กมธ.ย้ำรธน.ใหม่ไม่ใช่ยาวิเศษ 
      เวลา 09.30 น. ที่พัทยา ในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่การประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดใจการทำหน้าที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านมติของ สปช. และการทำประชามติของประชาชน เพราะจากการทำงานร่วมกับ สปช.ที่ผ่านมาพบว่า สปช.รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ขณะที่การทำประชามตินั้นเชื่อว่าสาระสำคัญที่นำชาติและบ้านเมืองไปสู่ความคาดหวัง และทำให้เกิดความศิวิไลซ์แก่แผ่นดินสยาม
      นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ฉบับ แต่ละฉบับมีโจทย์การทำงานที่แตกต่างกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างขณะนี้ถือว่ามีโจทย์การทำงานที่ยากที่สุด เพราะต้องทำให้บ้านเมืองคืนสู่ความสงบ และทำชาติให้เจริญก้าวหน้า ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมาและนำประเทศไปสู่ความสงบโดยพริบตา แต่เป็นแนวทางที่คาดว่าจะเป็นช่องทางให้บ้านเมืองไปสู่สันติสุขและเจริญก้าวหน้าได้อย่างน่าชื่นชม

21 ก.ค.แน่ชัดขยายเวลาหรือไม่ 
     ขณะที่นายบวรศักดิ์ กล่าวถึงภาพรวมการประชุมว่า ประเด็นหลักที่มีการแขวนตอนนี้พิจารณาหมดแล้ว แต่ยังไม่จบเพราะหมวดปฏิรูปและสร้างความปรองดองต้องรอสปช. อย่างไรตอนนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องเลขมาตรา ต้องพิจารณาบทเฉพาะกาลให้เรียบร้อยก่อน หากต้องส่งร่างให้ สปช.วันที่ 22 ก.ค. เราต้องให้เสร็จทั้งร่างในวันที่ 21 ก.ค. แต่เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้บังคับแล้ว กมธ. ยกร่างฯ ก็จะพิจารณาว่าจะทำหนังสือแจ้งมติขยายเวลาหรือไม่ ในเวลา 13.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค.นี้ 
      เมื่อถามว่าการแก้ไขกระทบ 4 หลักการใหญ่ในร่างแรกหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีการกระทบหลักการทั้ง 4 แต่บางเรื่องก็ปรับชัดเจน เช่น เรื่องพลเมืองปรับเป็นบุคคล ปวงชนชาวไทย แต่อย่างไรหลักการเดิมคงอยู่ทุกประการ

'บวรศักดิ์'รับไม่ใช่ร่างรธน.ในฝัน 
      เมื่อถามว่า พอใจในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า พอใจเท่าที่พอใจ เพราะอย่างที่เคยบอกรัฐธรรมนูญดีที่สุดในโลกไม่มี ร่างนี้ไม่ใช่ร่างในฝันเพราะมีหลายเรื่องตนจะไม่เขียนแบบนี้แต่ต้องเข้าใจมีข้อจำกัด คือ มาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดกฎเกณฑ์ไว้หลายอย่าง เช่น การ ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป หลายคนไม่ต้องการให้เขียนลงไปแต่หากไม่เขียนก็ ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ข้อจำกัดต่อมา คือ เรื่องของเวลา หากมีเวลามากกว่านี้กระบวน การคิดอาจได้ใช้เวลามากขึ้น ข้อจำกัดที่ 3 คือ กระบวนการยกร่างไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องพิจารณาทั้งความเห็นจาก สปช. ครม.และประชาชน โดยต้องเอาตรงนั้นมาดู หลายเรื่องเห็นด้วยเราก็ยืนหลักการเดิม แต่หลายเรื่องก็ต้องฟังเสียงทั้งหมด อย่างเรื่องการเลือกตั้งเป็นหน้าที่หรือสิทธิ ความเห็นเหล่านี้เราต้องฟังประชาชน เราเอาโพลมาดู ทบทวนซาวเสียงเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็มีมติเปลี่ยนแปลง

ร่างฉบับนี้ฉบับสุดท้าย 
       เมื่อถามว่ามองการทำประชามติอย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่กล้าวางโครงยังไม่รู้ผ่าน สปช.หรือไม่ ไม่มีความแน่นอนจึงยังไม่มีการพูด เมื่อไรถึงวันที่ 5-7 ก.ย. สปช.เห็นชอบแล้วจึงมาพูดกัน ตอนนี้คิดได้ในใจยังตอบไม่ได้จะผ่าน สปช.หรือไม่ เราต้องอยู่กับปัจจุบัน คนที่คิดถึงอดีตไปก็แก้ไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ตอบได้ว่าปัจจุบันไทยผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ส่วนจะใช้ได้นานแค่ไหนไม่รู้ แต่รู้เพียงว่าจะเป็นฉบับสุดท้ายที่ตนจะร่าง และขอเคลียร์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 50 ตนไม่ได้ร่าง 
       เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเข้ามาเป็นกรรมการยกร่าง 21 คนหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "อย่าคิดถึงผมเลย หากไม่ผ่านก็นอนอยู่บ้าน" 
     จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้ประชุมนอกรอบเพื่อพิจารณาความเห็นเรื่องการขยายเวลาในการพิจารณายกร่างฯ โดยจะแถลงความชัดเจนวันที่ 21 ก.ค. ส่วนวันที่ 20 ก.ค.ได้พักการประชุม 1 วัน

ดิเรก ไม่รับที่มาส.ว.
     นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง คนที่ 1 สปช. กล่าวถึงประเด็นที่มาของส.ว.หลัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกส.ว.สรรหาทั้ง 4 กลุ่มใหม่ว่า ตนยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่รับส.ว.ที่มาจากสรรหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการ คัดเลือกด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะภารกิจหน้าที่ของส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะตัดออกไปแล้วแต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการ หรือหลักการทางกฎหมายอยู่ดี เช่น 1.การให้อำนาจรัฐสภาที่ประกอบด้วยส.ส.และส.ว.มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมืองได้ แต่ที่มาส.ว.ซึ่งเป็นองค์ประกอบของรัฐสภามาจากการแต่งตั้งที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ตนรับไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้จะสามารถใช้อำนาจอย่างชอบธรรมเพื่อไปถอดถอนนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมาได้อย่างไร 
     2.การให้อำนาจส.ว.ในการถอดถอนบุคคลตามที่วุฒิสภาเป็นผู้ตั้งขึ้น อย่างองค์กรกรอิสระต่างๆ แต่ ส.ว.ที่จะใช้อำนาจในการถอดถอนกลับมีที่มาจากการสรรหา แล้วการถอดถอนกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตนจะไม่ขอวิจารณ์วิธีการได้มาของส.ว.สรรหาทั้ง 4 แนวทางของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะไม่รับแนวทางดังกล่าวตั้งแต่ต้น และยังยืนยันว่าประเด็นที่มาของส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนดนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะการให้อำนาจไว้เช่นนี้ส.ว.ต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด 

ปชป.ค้านเลิกเอกสิทธิ์ส.ส. 
      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด ว่า โดยรวมต้องยอมรับว่า กมธ.ยกร่างฯ รับฟังความเห็นของส่วนต่างๆ ที่ส่งสัญญาณไปจนมีการตัดออกในหลายส่วน เช่น การเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์ กลุ่มการเมือง รวมถึงการยอมรับจำนวนส.ส.ว่าควรจะเพิ่มในส.ส.เขตให้มากขึ้นเป็น 300 เขต ส่วนเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ มีมติให้ยกเลิกในเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองส.ส.และส.ว.นั้น ตนเห็นว่าเอกสิทธิ์ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ทำผิด เพียงแต่เป็นการรักษาสิทธิ์ของสมาชิกในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรยังเปิดอยู่ เพราะการกำหนดโทษ 10 ปีแล้วสามารถจับกุมได้เลยนั้นจะมีผลต่อการโหวตที่จะเกิดขึ้นในสภา เพราะหากถูกจับไปแล้วก็ไม่สามารถกลับมาโหวตในสภาได้อีก ถือเป็นการบิดเบือนกลไกของสภาจึงเห็นว่าควรใช้หลักการเดิม คือช่วงเปิดประชุมสภาควรให้สมาชิกได้ทำหน้าที่ เมื่อปิดสมัยประชุมแล้วเขาก็จะกลับไปสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีอยู่แล้ว
      นายวิรัตน์ กล่าวว่า แต่การกำหนดเช่นนี้ของ กมธ.ยกร่างฯ ถือเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจสามารถแจ้งความในข้อหาที่มีโทษเกิน 10 ปี เช่น กบฏหรือฆ่าคนตาย โดยสามารถจับกุมได้ทันทีไม่ต้องสอบสวน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงมติสภาอย่างมีนัยยะ เพราะเมื่อผู้มีอำนาจเพลี่ยงพล้ำก็จะกลั่นแกล้งด้วยวิธีนี้ด้วยการจับไปคุมขังไว้ 2-3 วัน ปล่อยออกมาซึ่งเลยเวลาโหวตในที่ประชุมสภาไปแล้ว และการบัญญัติเช่นนี้เท่ากับเป็นการตัดสิทธิฝ่ายตรวจสอบให้ทำงานได้ยากขึ้น กมธ.ยกร่างฯ ควรต้องปรับแก้จุดนี้

สปช.ค้านตัดสิทธิ์ตลอดชีพ 
      พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิก สปช. กล่าวกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบในประเด็นตัดสิทธิ์ทางการเมืองคนที่เคยถูกถอดถอนตลอดไป ซึ่งนักการเมืองที่เข้าข่ายมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วยว่า ถือว่าเป็นการตัดสิทธิ์ที่รุนแรงเกินไป ตนมองว่าความชอบธรรมในเวลานี้ไม่ได้เกิดจากจุดที่เป็นกลาง ที่ผ่านมาบางพรรคการเมืองไม่เคยโดนในกรณีเดียวกัน ความเป็นกลางในการบังคับใช้กฎหมายหลักนิติธรรมห่างจากหลักการใหญ่ ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ควรจะบัญญัติว่าคนที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ห้ามนอกลู่นอกทาง ไม่กระทำการทุจริต ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้นายกฯ ก กลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะถ้าป้องกันไม่ให้กลับมาเดี๋ยวก็มีนายกฯ ข และ ค ตามมาแทน 
     "การที่ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติแบบนี้เหมือนมองย้อนอดีต ไม่ป้องกันปัจจุบัน ทั้งที่ไม่จำเป็นที่ต้องทำขนาดนั้น ทำไมต้องไปขุดคุ้ยกันจนตาย กมธ.ยกร่างฯ และคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แน่ใจหรือว่าที่ผ่านมาไม่เคยกระทำความผิด"พ.ต.อาณันย์กล่าว

เสนอกฎหมายสร้างกาสิโน 
     พ.ต.อาณันย์ ในฐานะประธานกลุ่ม สปช.รักชาติ ที่เสนอการตั้งกาสิโนถูกกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้รายงานการตั้งกาสิโนถูกกฎหมายทำเสร็จแล้วเหลือเพียงสรุปว่าจะใช้แนวทางไหน คาดว่าจะเป็นลักษณะเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยการนำเสนอนายกฯ จะไม่ใช่เป็นรูปแบบรายงานแต่จะเป็น เหมือนกฎหมาย ที่มีหลักการและเหตุผล คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะเสร็จ และส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ 

พีระศักดิ์แจงรบ.อยู่ถึงปี 60 
    ที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนาย พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมสมาชิก สนช.กว่า 10 คน อาทิ นพ. เจตน์ ศิริธรานนท์ ประธาน กมธ.การสาธารณสุข พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์ คณะกรรมการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขตร เลขานุการการ กมธ.การคมนาคม ลงพื้นที่ รับฟังปัญหาอุปสรรคด้านต่างๆ จากส่วนราชการและประชาชน ตามโครงการ "สนช.พบประชาชน" โดยมีนายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าฯ ราชบุรี ต้อนรับ 
     นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเรื่องทุกเรื่องที่ได้รับมาส่งถึงมือรัฐบาลแน่นอน ส่วนใดที่มีปัญหาด้านกฎหมายก็เสนอแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะ สนช.มีหน้าที่หลักคือออกกฎหมาย หากเป็นภาวะปกติกฎหมายบางฉบับก็ออกไม่ได้ บางฉบับก็ใช้เวลานานหลายปี หรือบางฉบับก็ตกไปเพราะการยุบสภา ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ที่บอกว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวถึงปี 2560 ตนพูดเช่นนี้เป็นการอธิบายโรดแม็ปของรัฐบาล ไม่ใช่ว่าอยากอยู่นาน แต่ให้ประชาชนเข้าใจถึงระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลและสนช. เพื่อวางกรอบการทำงานได้ตามโรดแม็ป เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อยู่ในภาวะพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมหมวก 2 ใบ คือ นายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ได้ต้องการอยู่ต่อ หรือเพื่อหาเสียง
      นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ที่คาดว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงต้นปี "60 ก็เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี "57 เปิดทางให้มีการทำประชามติตามที่ประชาชนต้องการ ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการขยายเวลาให้นายกฯอยู่ต่อหรือสืบทอดอำนาจ เพราะกว่าจะเลือกตั้งมีรัฐบาลชุดใหม่คาดการณ์ไว้ก็คือปี "60 ดังนั้น ช่วงเวลานี้จะทำอะไรก็ต้องรีบทำ ช่วงเวลาที่เหลือของ สนช.และรัฐบาลก็อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาและร่วมกันปฏิรูปประเทศ

'โต้ง'ลุ้นระทึกคดีระบายข้าว 
     นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก เปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้ประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 3 แสนตัน ว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการไต่สวนอยู่ โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้เชิญพยานเข้ามาให้ถ้อยคำจำนวนหนึ่งแล้ว และปัจจุบันจะเชิญพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย ซึ่งหลังจากนี้คงมีการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ ม.ร.ว.ปรีดิ ยาธร เทวกุล ได้ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่มีนายวิชาเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ให้ตรวจสอบนาย กิตติรัตน์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ว่ามีพฤติกรรมละเลย ต่อหน้าที่หรือไม่ กรณีที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลตัวแทนปรับปรุงข้าว เพื่อส่งมอบให้แก่อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธ.ค.2554 โดยช่วงเดือนก.ย.2557 ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเข้าให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการไต่สวนในฐานะพยานเรียบร้อยแล้ว

ยุคคสช.ก็ต้องมีนักการเมือง
      'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,261 คน ระหว่างวันที่ 13-18 ก.ค. หัวข้อ 'นักการเมืองไทย'ในภาวะที่อยู่ในช่วง 'รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์' เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากให้ 'นักการเมือง' ปฏิบัติต่อรัฐบาล 72.88% ให้เป็นพลเมืองดี ซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงไปตรงมา 67.03% ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ปฏิบัติตามกฎหมาย 62.57% ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แนะนำ ชี้แนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้ 'นักการเมือง' ปฏิบัติต่อรัฐบาล 71.69% ใส่ร้าย โจมตี ปลุกปั่น สร้างกระแส 65.74% ทุจริต คอร์รัปชั่น มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ 63.52% ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้อง สร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่ความวุ่นวาย
      ถามว่าในภาวะบ้านเมืองขณะนี้ที่มี 'รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์' ดูแล นักการเมืองมีความจำเป็นต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใด 31.02% ค่อนข้างจำเป็น เพราะนักการเมืองไทยหลายคนที่เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์มานาน รู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดี ช่วยรัฐบาลบริหารและพัฒนาบ้านเมือง 27.90% จำเป็นอย่างมาก เพราะบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยได้ต้องมีนักการเมืองเข้ามาทำงาน มีการเลือกตั้ง ขณะที่ 22.36% เห็นว่าไม่ค่อยจำเป็น เพราะจากที่มี คสช.และรัฐบาลทหารเข้ามาดูแลบ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี 

 

พ้นโทษก่อนใช้รธน.ก็โดน กมธ.ยืนยัน เคยถูกถอดแบนตลอดชีพ ห้ามชิง'สส.-สว.-รมต.'พท.โวยกีดกันปูคัมแบ๊ก ปชป.ป้องเอกสิทธิ์สภา สปช.จี้ปรับครม.กู้ศรัทธา

      พท.อัดร่าง รธน.ฉบับใหม่ให้อำนาจ ส.ว.ล้น ห่วงปมถูกตัดสิทธิตลอดชีพย้อนหลัง หวั่นจงใจเล่นงาน"ปู" ชี้ออก กม.ใหม่ต้องเอาผิดในอนาคต ปชป.ผวาผู้มีอำนาจแกล้ง ค้านตัดปมคุ้มครองสิทธิ"ส.ส.-ส.ว."ช่วงประชุมสภาออก

มติชนออนไลน์ :

 

@ กมธ.ยกร่างฯขอบคุณสื่อเสนอข่าว

     เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา ชลบุรี คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมเพื่อรับรองวาระการประชุมที่ผ่านมากว่า 20 ครั้ง มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่ประธาน ซึ่งนายบวรศักดิ์ให้ กมธ.ยกร่างฯแถลงปิดการประชุม โดยนายมานิจ สุขสมจิต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขอบคุณสื่อ มวลชนกับการทำข่าวที่ยาวนานกว่า 7 วัน ข่าวที่นำเสนอออกไปก็ตรงตามที่มีการประชุม แม้ไม่สามารถให้สื่อรับฟังการประชุมได้เพราะในหลายๆ เรื่องยังไม่ได้ข้อยุติทันที จึงใช้วิธีให้โฆษกแถลงและเชื่อว่าจะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนได้ 

     นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การให้ข้อมูลสื่อ หากให้ไม่ครบตกแม้แต่คำเดียวนั้นเท่ากับผิดเลย ดังนั้น สื่อจึงมีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยกรองใช้วิชาที่เรียนมา เพราะที่ กมธ.พูดอาจจะมีบางอย่างขาดตกบกพร่อง 

นายปรีชา วัชราภัย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ คือ การหาสิ่งที่เป็นเหตุผลนำเพื่อเสนอและเชื่อว่าสิ่งที่ทำไป คือ สิ่งที่สร้างสรรค์ งานสำคัญคือ ร่างแล้วสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะรับหรือไม่ และจะต้องนำเสนอส่วนที่ดีของร่างฉบับนี้ ร่างทั้งหมดมีจุดบกพร่องบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ทำต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ขอบคุณสื่อตลอดเวลาที่ผ่ามาได้รับความอนุเคราะห์ช่วยนำเสนอข่าว

 

@ เชื่อสปช.-ประชามติให้ผ่านร่างรธน.

     นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่าช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตนอยู่ตำแหน่งนี้ แต่มาครั้งนี้ได้ทำงานในส่วนการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนี้ต่างกับวันนั้นมากเพราะร่างในสถานการณ์กดดัน คนแบกรับมากที่สุดคือประธาน ส่วนคำถามที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าผ่านเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา 6-7 เดือน สปช.ทราบถึงความเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ กมธ.ทำงานร่วมกันด้วยความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วม นอกจากนี้ คำถามที่ว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ ตนมั่นใจว่าผ่านเพราะมีประโยชน์กับผู้คน นำพา ชาติบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่คาดหวัง 

      นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า มีโอกาสดีที่ได้เป็นคนเขียนกฎหมายสูงสุดมาหลายฉบับ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เนื่องจากสถานการณ์ ความกดดัน โดยครั้งนี้ยากที่สุด ท้าทายเพราะด้วยความสงบบ้านของเมืองเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ และแม้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษพาประเทศสู่ความสันติสุขได้ แต่เป็นช่องทางที่จะนำพาประเทศได้ และหวังว่าร่างแรกที่ออกมาจะสามารถแก้ปัญหานำพาบ้านเมืองสงบสุขได้ แม้จะไม่เป็นอย่างที่ใจต้องการก็ตาม แต่ต้องแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ได้ผลสุดท้ายต้องเป็นอย่างนั้น

 

@ จ่อส่งหนังสือขยายเวลา 21 ก.ค.

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้รัฐธรรมนูญมีกี่มาตรา นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นหลักที่แขวน ตอนนี้พิจารณาหมดแล้ว แต่ยังไม่จบเพราะหมวดปฏิรูปและสร้างความปรองดองต้องรอ สปช. อย่างไรตอนนี้ยังไม่ชัดเจนตัวเลขมาตรา ต้องพิจารณาบทเฉพาะกาลให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้หากต้องส่งร่างให้ สปช. วันที่ 22 กรกฎาคมจะต้องให้เสร็จทั้งร่างในวันที่ 21 กรกฎาคม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้บังคับแล้ว แทนที่จะเร่งทำส่งให้ สปช. ก็สามารถกำหนดหลักการใหญ่เรื่องปฏิรูปและเป็นหตุผลที่ทำให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำหนังสือแจ้งมีมติขยายเวลาวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

เมื่อถามว่า รักษา 4 หลักการหลักได้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีการกระทบหลักการ 4 ประการ แต่บางเรื่องปรับชัดเจน เช่น พลเมืองปรับเป็นบุคคล ปวงชนชาวไทย แต่อย่างไรหลักการเดิมคงอยู่ทุกประการ

 

@ อ.ปื๊ดชี้รธน.ที่ดีที่สุดไม่มีในโลก

      ผู้สื่อข่าวถามว่าพอใจในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า พอใจเท่าที่พอใจ เพราะอย่างที่เคยบอกรัฐธรรมนูญดีที่สุดในโลกไม่มี ร่างนี้ไม่ใช่ร่างในฝันเพราะมีหลายเรื่องจะไม่เขียนแบบนี้แต่ต้องเข้าใจมีข้อจำกัด คือ มาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดกฎเกณฑ์ไว้หลายอย่าง เช่น การตัดสิทธิทางการเมืองออกตลอดไป หลายคนไม่ต้องการให้เขียนลงไปแต่หากไม่เขียนก็ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ข้อจำกัดต่อมาคือเรื่องเวลา หากมีเวลามากกว่านี้กระบวนการคิดอาจได้ใช้เวลามากขึ้น ข้อจำกัดที่ 3 คือ กระบวนการยกร่างไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองต้องพิจารณาทั้งความเห็นจาก สปช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และประชาชน 

      "ต้องเอาตรงนั้นมาดู หลายเรื่องเห็นด้วยก็ยืนหลักการเดิม แต่หลายเรื่องต้องฟังเสียงทั้งหมด อย่างเรื่องการเลือกตั้งเป็นหน้าที่หรือสิทธิ หากให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ ดูเหตุผลคนมาใช้สิทธิมากขึ้นนิดหน่อย ทำให้คนที่อยากออกมาลงคะแนนเสียงออกมา แต่ความเห็นเหล่านี้ต้องฟังประชาชน เราเอาโพลมาดู ทบทวนซาวเสียงเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็มีมติเปลี่ยนแปลง" นายบวรศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า มีการวางโครงร่างประชามติอย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่กล้าวางโครงยังไม่รู้ผ่าน สปช.หรือไม่ ไม่มีความแน่นอนจึงยังไม่มีการพูด เมื่อไหร่ถึงวันที่ 5-7 กันยายน สปช.เห็นชอบแล้วจึงมาพูดกัน ตอนนี้คิดได้ในใจ ยังตอบไม่ได้จะผ่าน สปช.หรือไม่ ต้องอยู่กับปัจจุบัน คนที่คิดถึงอดีตไปก็แก้ไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ตอบได้ว่าปัจุบันไทยผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ส่วนจะใช้ได้นานแค่ไหนไม่รู้ แต่รู้เพียงว่าจะเป็นฉบับสุดท้ายที่จะร่าง และขอเคลียร์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผมไม่ได้ร่าง เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเข้ามาเป็นกรรมการยกร่าง 21 คนหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อย่าคิดถึงผมเลย หากไม่ผ่าน 

 

@ เคลียร์ปมกก.สรรหาส.ว. 

      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการปรับกระบวนการที่มา ส.ว.ประเภทสรรหา จำนวน 123 คน ให้เป็นรูปแบบเดียว คือการสรรหาผ่านกรรมการสรรหา ว่า ประเด็นกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มาจากผู้แทนองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและศึกษา ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่นและท้องที่ จำนวน 30 คน โดยให้มีกรรมการสรรหาจำนวน 12 คน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์การเอกชน หรือกลุ่มเอ็นจีโอด้านแรงงาน การเกษตรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและการศึกษา ด้านชุมชน และด้านการบริหารท้องถิ่นและท้องที่ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วยนั้น จะมีความหมายถึงหากองค์รกรนิติบุคคลใดที่ส่งผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. จะไม่มีสิทธิส่งบุคคลเข้าคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหา 

      "ข้อกำหนดดังกล่าวจะมีรายละเอียดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ชัดเจนว่าองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จะส่งผู้เข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.ต้องจัดตั้งตามกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3-5 ปี และมีผลงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับองค์การเอกชนที่จะส่งตัวแทนเข้ามาสรรหา ส.ว.ต้องแสดงผลงานเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันกรณีที่มีกลุ่มคนยื่นจัดตั้งเพื่อหวังผลต่อการเข้าสมัครเป็นกรรมการสรรหาหรือส่งผู้สมัครเข้ารับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว." พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า การสุ่มเลือกกรรมการสรรหาในประเภทต่างๆ ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ยุ่งยาก โดยวิธีการจะคล้ายกับการสุ่มเลือกผู้ที่โชคดีในการรับรางวัลที่มีจำนวนจำกัดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ขณะที่ในกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมใน 22 ด้านนั้นการคัดเลือกจะอยู่ที่ดุลพินิจของกรรมการสรรหา ที่จะพิจารณาจากประวัติและผลงานที่ตรงตามด้านที่สมัครเข้ามา

 

@ 'คำนูณ'ชี้ตัดสิทธิคน'เคย'ทำผิด 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การเพิ่มบทบัญญัติลักษณะบุคคลต้องห้ามสมัคร ส.ส. พ่วงบุคคลต้องห้ามสำหรับการเป็น ส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีขึ้นมาอีก 2 อนุมาตรา โดยมีคำว่า "เคย" นำหน้า หมายความรวมถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ด้วย คือ "เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม..."

      "เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม..." ไม่ขัดกับหลักนิติธรรม เพราะเป็นเพียงการคัดกรองคนที่ไม่เหมาะสมให้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ไปลงโทษทางอาญาย้อนหลังใคร จึงไม่ถือว่าเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญา 

       นายคำนูณ กล่าวว่า การบัญญัติลักษณะต้องห้ามบางประการให้มีผลย้อนไปในอดีตด้วยเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำหรือไม่มีบทบัญญัติเช่นนี้มาก่อน เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ไม่ต่างกันตรงที่ต้องการคัดกรองคนที่เหมาะสมให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง บทบัญญัติเนื้อหาทำนองเดียวกันเช่นนี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 ที่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงไว้ เช่น "เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต..." "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง..." "เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่..." "เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน..." 3 ใน 4 กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้ถือเป็นบุคคลต้องห้ามตลอดไป และหมายความรวมไปถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ มีผลบังคับใช้ด้วยอยู่แล้ว เท่าที่ทราบ ก็ไม่เคยคัดค้านกัน

 

@ เผยหมวดปฏิรูปปรองดองมี 5 มาตรา

      นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป กล่าวถึงเหตุผลที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปให้ สปช.พิจารณาควบคู่กับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯได้รับคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.ที่ต้องการให้ปรับเพิ่มสาระ ขณะที่ครม.กังวลกรณีหากขีดเส้นกำหนดเวลาปฏิรูปเพียงระยะเวลา 1-2 ปี อาจเกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปได้ อีกทั้งการมีองค์กรใหม่แม้จะมีความจำเป็นแต่อาจเป็นภาระต่องบประมาณ และอาจเกิดความกังวลต่อรัฐบาลหน้า 

      "ในหมวดการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่ผมรับผิดชอบ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาจนได้ข้อยุติให้เหลือ จำนวน 5 มาตรา ที่มีเป้าหมาย ทิศทาง หลักการสำคัญชัดเจน ส่วนสาระไปบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาได้ละเอียดรอบคอบมากกว่า ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดการปฏิรูปได้จริง ส่วนองค์กรที่จะมาดูแลเรื่องการปฏิรูปอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นองค์กรที่มีอยู่เดิม ก่อนหน้านี้มีคนขอให้หมวดการปฏิรูปและสร้างความปรองดองเหลือเพียงมาตราเดียว ส่วนตัวมองว่า ไม่สามารถตอบโจทย์หลักประกันที่จะเรียกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้" นพ.ชูชัยกล่าว 

     นพ.ชูชัย กล่าวถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ต้องส่งถึงมือประชาชนว่า เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นฉบับประชามติ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับปฏิรูปผ่านการออกเสียงประชามติ ดังนั้น ประชาชนก็ควรรับทราบ เพราะประชาชนถือเป็นพลังสูงสุดที่จะทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จสูงสุด รวมถึงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคม ซึ่งหากเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติด้วยความมั่นใจ จะเป็นประโยชน์ให้ประเทศเดินหน้าไปได้หากเป็นไปตามกลไกที่วางไว้ก็จะเห็นอนาคตประเทศ

 

@ พท.อัดให้อำนาจส.ว.ล้น

     นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯกำหนดที่มาของ ส.ว.ไว้ 200 คน เลือกตั้ง 77 คน แปลว่าจังหวัดละคน และสรรหาอีก 123 คน ทุกอย่างแทบไม่ได้แก้ไขอะไรมากนักกับที่มา ส.ว. แค่ตัดกรรมการกลั่นกรองออก ผู้มาจากการเลือกตั้งยังขัดกับหลักความเป็นจริง เห็นได้ว่ากลุ่มสรรหาอ้างมาจากหลากหลายอาชีพ แต่มองอย่างไรนั่นก็คือการคงอำนาจฝ่ายข้าราชการและระบบอำนาจเก่าไว้อย่างเหนียวแน่น ส.ว.สรรหาเกินครึ่งไม่ใช่ฝ่ายที่ประชาชนเลือก แถมมีอำนาจถอดถอนนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก และปิดประตูในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสำคัญได้เลย ยิ่งการประชุมวุฒิสภา ภาพออกมาคือสภาแต่งตั้ง ให้เลือกตั้งแค่เป็นพิธีการ แล้วก็ชอบบอกว่าให้ประชาชนหรือพลเมืองเป็นใหญ่ ใครใหญ่กันแน่

       "ส่วนที่มา ส.ส.นั้นมีการกำหนดคุณสมบัติเอาไว้ชนิดเอาให้แน่นิ่งไปข้างหนึ่ง การตรวจสอบ การจำกัดสิทธิของผู้สมัคร ส.ส.เป็นข้อห้ามที่รุนแรง เช่น ในมาตรา 111 (8) เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ฯลฯ หรือใน (15) มีข้อความ เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ฯลฯ อ่านแล้วเหมือนเจาะจงใครคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พึ่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง การที่ กมธ.กำหนดลักษณะเช่นนี้ ผมก็ต้องคิดเช่นนี้" นายสมคิดกล่าว และว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านออกมาใช้แล้ว สิ่งสำคัญคือมีผลย้อนหลังหรือไม่ เพราะโดยหลักกฎหมายแล้วต้องไม่มีผลย้อนหลัง แต่สำหรับประเทศไทยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเคยเกิดมาแล้วกรณีที่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ มีโฆษก กมธ.ยกร่างฯบอกว่า หากมีประเด็นคาบเกี่ยวทางกฎหมาย ให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยิ่งทำให้ไม่มั่นใจเสียแล้ว

 

@ ปึ้งชี้กม.มีผลย้อนหลังเป็นลบไม่ได้

      นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯเห็นชอบให้ตัดสิทธิผู้ที่เคยถูกถอดถอน หรือถูกตัดสินว่าผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบว่า หลักกฎหมายแล้วจะมีผลย้อนหลังไม่ได้หากผลนั้นเป็นลบ แต่ถ้าผลเป็นบวกนั้นสามารถให้ผลย้อนหลังได้ ดังนั้น ถ้าออกกฎหมายมาเพื่อจะเอาผิดก็ต้องว่ากันในเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ หลักนิติรัฐ นิติธรรมของไทยบิดเบี้ยว ฟั่นเฟือน และเละเทะไปหมดแล้ว ทั้งร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากประชาชน หรือจะพูดว่าไม่สามารถเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมได้เลย

      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯได้แก้ไขวิธีการสรรหา ส.ว. จากจับสลากเป็นใช้ระบบสุ่มเลือก นายสุรพงษ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่จะแก้ปัญหาได้ในอนาคต เพราะทุกคนตั้งใจเขียนขึ้นมาโดยมีวาระซ่อนเร้น ก็รอดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของประชาชนไปได้อย่างไร ก็หวังว่าหากผ่าน ในอนาคตนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะสามารถเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม อำนาจเป็นของพวกท่าน เอาประเทศให้รอดก็แล้วกัน เพราะถ้าหากเกิดความเสียหายจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ต้องรับผิดชอบให้ได้ เพราะจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

 

@ ปชป.ค้านตัดเอกสิทธิ์คุ้มครอง

     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า โดยรวมต้องยอมรับว่า กมธ.ยกร่างฯได้รับฟังความเห็นของส่วนต่างๆ ที่ส่งสัญญาณไปจนตัดออกในหลายส่วน เช่น การเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์ กลุ่มการเมือง รวมถึงการยอมรับจำนวน ส.ส.ว่าควรจะเพิ่มใน ส.ส.เขตให้มากขึ้นเป็น 300 เขต ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯมีมติให้ยกเลิกในเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.และ ส.ว.นั้น เห็นว่าเอกสิทธิ์ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ทำผิด เพียงแต่เป็นการรักษาสิทธิของสมาชิกในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรยังเปิดอยู่ เพราะการกำหนดโทษ 10 ปีแล้วสามารถจับกุมได้เลยนั้น จะมีผลต่อการโหวตที่จะเกิดขึ้นในสภา เพราะหากถูกจับไปแล้วไม่สามารถกลับมาโหวตในสภาได้อีก ถือเป็นการบิดเบือนกลไกของสภา

     "จึงเห็นว่าควรใช้หลักการเดิม คือในช่วงเปิดประชุมสภาควรให้สมาชิกเขาได้ทำหน้าที่ เมื่อปิดสมัยประชุมแล้ว เขาจะกลับไปสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีอยู่แล้ว แต่การกำหนดเช่นนี้ของ กมธ.ยกร่างฯถือเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ สามารถแจ้งความในข้อหาที่มีโทษเกิน 10 ปี เช่น กบฏ หรือฆ่าคนตาย โดยสามารถจับกุมได้ทันที ไม่ต้องสอบสวน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงมติสภาอย่างมีนัยยะ เพราะเมื่อผู้มีอำนาจเพลี่ยงพล้ำจะกลั่นแกล้งด้วย วิธีนี้ ด้วยการจับไปคุมขังไว้ 2-3 วัน ปล่อยออกมา ซึ่งเลยเวลาโหวตในที่ประชุมสภาไปแล้ว และการบัญญัติเช่นนี้เท่ากับเป็นการตัดสิทธิฝ่ายตรวจสอบให้ทำงานได้ยากขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯควรต้องปรับแก้ในจุดนี้" นายวิรัตน์กล่าว

 

@ วันชัยจี้รบ.ปรับครม.ดึงเชื่อมั่น

       นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวกรณีที่มีข่าวการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปรับ ครม.ว่า สะท้อนให้เห็นว่าความนิยมชมชอบในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มจะลดน้อยถอยลง ประกอบกับโพลในสำนักต่างๆ ชี้ชัดว่าคะแนนนิยมเริ่มลดจากวันแรกๆ และยังมีทีท่าว่าคะแนนจะลดลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การทำงานของรัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชน ว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ปัญหาของประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเริ่มผิดหวังจากเล็กๆ จนกระทั่งอาจจะเสียความรู้สึก

       "ประชาชนให้โอกาสในการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ แม้จะได้บ้างไม่ได้บ้าง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ยังพอทน ถึงเวลานี้ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าให้โอกาสมาเพียงพอแล้ว ไม่อยากให้โอกาสอีกต่อไปแล้ว รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้และแถลงว่าทำโน่นทำนี่ มีปัจจัยทั้งภายนอกภายใน แต่คนยังมีความรู้สึกว่าการทำมาค้าขายไม่ดี ซึ่งเรื่องทำมาหากิน นับวันจะกระทบแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับฝ่ายตรงข้ามก็ปลุกกระแส ขยายผลโจมตี เคลื่อนไหวทำลาย ดิสเครดิต เขย่ารุกเร้าให้มีการเปลี่ยนแปลง" นายวันชัยกล่าว และว่า รัฐบาลต้องรีบแก้ความรู้สึกของประชาชน กระชากศรัทธากลับมา ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองคาพยพเพื่อสนองความต้องการและความรู้สึกของประชาชนว่ารัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจ รีบเปลี่ยนคนมาทำงานเสียใหม่แม้ว่าคนเก่าจะไม่ได้มีอะไร การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารความรู้สึกของประชาชน เมื่อท่านมาทำงานการเมืองแล้วต้องสนองความรู้สึกและบริหารความรู้สึกของประชาชนไว้ให้ได้ วันใดประชาชนสิ้นหวังสิ้นศรัทธาก็อยู่ยากและอาจจะอยู่ไม่ได้ในที่สุด

 

@ ชี้ปรับครม.ไม่ใช่ดูแค่หน้าตา

      นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจว่า รายชื่อที่ปรากฏไม่ใช่หน้าใหม่ แต่สังคมเราชอบดูที่หน้าตาไม่ได้ดูว่าควรทำอะไร ที่ผ่านมาหน้าตาดี มีเยอะแต่ทำไม่สำเร็จ เวลานี้ต้องยอมรับก่อนว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ต้องไปเริ่มอะไรอีก เกษตรกรมีปัญหาก็ต้องมาดูว่าต้องทำอะไรถึงจะช่วยเขาได้ ไม่ต้องรอขุนพลหน้าใหม่มาทำ เพราะเวลานี้ไม่ต้องรอใครมาแก้ ถ้าคนอยู่ไม่ทำงานนายกรัฐมนตรีคนเดียวต้องเป็นผู้ตัดสินใจ

       "ถ้าผมเป็นผู้บริหารสูงสุดต้องประเมินลูกน้องแล้วว่าคนไหนไม่ดีต้องปรับเปลี่ยน สั่งแล้วไม่ทำต้องปรับ คนไหนไม่รู้เรื่องของกระทรวงตัวเองก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ผมพูดมาตลอดเกี่ยวกับราคาก๊าซที่ไม่สมควรเพิ่มขึ้นไม่เห็นเปลี่ยนอะไรก็ยังเหมือนเดิม เถียงจนเถียงไม่ได้ก็ยังยืนกระต่ายขาเดียว จึงเห็นว่านายกฯควรมองให้ออกว่าใครเป็นอย่างไร การที่จะไปดึงคนโน้นคนนี้มาก็ต้องรู้ว่าเขาสร้างผลงานอะไรไว้บ้างที่เด่นๆ และเหมาะสมกับงานและสถานการณ์นั้นหรือไม่ ดึงมาแล้วแก้ปัญหาได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องหน้าตา ไม่ใช่เป็นคนมีชื่อเสียง ที่ผ่านมาตั้งคนไม่ถูกกับงาน ดังนั้น การแก้ปัญหาในเวลานี้ควรตกผลึกว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ไม่ใช่มานั่งหาตัวคน" นายเกียรติกล่าว

เมื่อถามว่ารายชื่อที่ออกมาทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช. นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

       ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า นายสมคิดก็อยู่ในทีมของรัฐบาลและ คสช. ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนนายพินิจเหมือนกับเป็นเพื่อนนักเรียน ถ้าเอาเขามาก็ต้องรู้ว่าจะให้เขาทำอะไร ส่วนนายประสาร จะให้เขามาทำอะไรตอนเป็นผู้ว่าการ ธปท. ผลงานคืออะไร เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาล ความน่าเชื่อถือ ถือเป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเอาคนไม่เหมาะสมกับงานโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

 

@ สนช.รับฟังปัญหาที่ราชบุรี

       ที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี คณะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมด้วย สนช.กว่า 10 คน อาทิ นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข และ พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์ คณะกรรมการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ เป็นต้น เพื่อพบปะประชาชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ จากส่วนราชการและประชาชน ตามโครงการ สนช.พบประชาชน มีนายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับปัญหาที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไข คือปัญหาที่ดินทำกิน อ.ปากท่อ การบุกรุกที่ราชพัสดุตามพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินของรัฐ พ.ศ.2481 ใน อ.สวนผึ้งและ อ.จอมบึง ปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่ศูนย์พักพิงบ้านหิน ซึ่งมีความแออัดเนื่องจากมีผู้พักพิงจำนวนมาก ปัญหาการจัดการน้ำ อ.สวนผึ้ง ปัญหามลภาวะจากการเลี้ยงสุกร ปัญหาด้านคมนาคม 

        ผู้สื่อข่าวรายงาน สมาชิกได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน แม้รัฐบาลจะมีนโยบายไม่ต้องการให้มีการบุกรุกที่ดินเพิ่ม และต้องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองด้วยการจัดสรรที่ดินให้ก็ตาม โดยแสดงความเป็นห่วงการแก้ไขปัญหาโดยให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการแก้ไขที่เข้มงวดรัดกุม เพราะบางพื้นที่พบว่าชาวบ้านที่ได้รับเอกสารกรรมสิทธิ์ในพื้นที่แล้ว ก็นำไปขายต่อหรือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

 

@ ป้องรบ.ไม่คิดสืบทอดอำนาจ

     นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่รับฟังปัญหาในหลายจังหวัดที่ผ่านมา ทาง สนช.ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา แต่บางเรื่องเป็นเรื่องต้องให้ฝ่ายบริหารเข้าไปแก้ไข จึงได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อให้รับไปดำเนินการ ซึ่งหลายปัญหาที่หมักหมมมานานก็ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะนี้ประชาชนคาดหวังกับ สนช.มาก ขอยืนยันว่าเรื่องทุกเรื่องที่ได้รับมาส่งถึงมือรัฐบาลแน่นอน ส่วนใดที่มีปัญหาด้านกฎหมายก็เสนอแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะ สนช.มีหน้าที่หลักคือออกกฎหมาย ซึ่งหากเป็นภาวะปกติกฎหมายบางฉบับก็ออกไม่ได้ บางฉบับก็ใช้เวลานานหลายปี หรือบางฉบับก็ตกไปเพราะการยุบสภา ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่

      "ผมบอกว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวถึงปี 2560 ที่พูดเช่นนี้เป็นการอธิบายโรดแมปของรัฐบาล ไม่ใช่ว่าอยากอยู่นาน แต่ให้ประชาชนเข้าใจถึงระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลและ สนช. เพื่อวางกรอบการทำงานได้ตามโรดแมปของรัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อยู่ในภาวะพิเศษ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวก 2 ใบ คือ นายกฯและหัวหน้า คสช. ก็เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ได้ต้องการอยู่ต่อหรือเพื่อหาเสียง ที่คาดว่าจะอยู่ถึงต้นปี 2560 นั้น ก็เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 เปิดทางให้มีการทำประชามติตามที่ประชาชนต้องการ ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการขยายเวลาให้นายกฯอยู่ต่อหรือสืบทอดอำนาจ ซึ่งกว่าจะเลือกตั้งมีรัฐบาลชุดใหม่คาดการณ์ไว้ก็ปี 2560 ดังนั้นช่วงเวลานี้จะทำอะไรก็ต้องรีบ ช่วงเวลาที่เหลือของ สนช.และรัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาและร่วมกันปฏิรูปประเทศ" นายพีระศักดิ์กล่าว

 

@ แม้วทัวร์อาเซียนงดจัดวันเกิด

      ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้พักผ่อนที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปทำบุญที่สิบสองปันนา ประเทศจีน และฮ่องกง 

      แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า หลังจากที่พักผ่อนที่ฮ่องกงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะไม่จัดงานวันเกิดครบรอบ 66 ปี ในวันที่ 26 กรกฎาคมแต่อย่างใด จะมีก็เพียงรับประทานอาหารกับคนใกล้ชิดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีอดีตรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือขอเดินทางไปต่างประเทศกับ คสช.จำนวนหนึ่ง ซึ่งทาง คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด

 

@ ดาวดินจัดกิจกรรมที่ขอนแก่น

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่บ้านดาวดิน เลขที่ 615 หมู่ 19 ซอย 3 โคลัมโบ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้มีการรวมตัวของแกนนำกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ประกอบด้วย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, นายพายุ บุญโสภณ, นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, นายสุวิชชา ฑิพังกร, นายศุภชัย ภูครองพลอย และนายวสันต์ เสธสิทธิ รวมทั้งสมาชิกและผู้สนับสนุนประมาณ 50 คน รวมถึงนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดานายจตุรภัทร์, นางเฉลิมพร ศรีพงพาน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ้านนามูล-ดูนสาน, นายสังเวียน แสงมหาชัย, นางระเบียง แข็งขัน, นางวรพร วรจักร และนางนวลตา สีปัดถา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว 

      โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิถีชีวิตดาวดินและเพื่อนในอีกมุมที่หลายคนไม่รู้จัก ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง และเสวนาเรื่องยุคเผด็จการกับการมีส่วนร่วมของชุมชน การแสดงดนตรีกวีศักดิ์ศรีชาวบ้านและการเมือง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!