WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Aเทยร3

บิ๊กตู่เบรกปลุกต้านมะกัน หวั่นบาน ยอมรับ'เทียร์3'สั่งลุยแก้ ฝากบอกอย่าโทษสหรัฐ ย้ำจุดยืนไม่ชวนทะเลาะ 'รีพับลิกัน'อัด'โอบามา' วิษณุเล็งพรก.ค้ามนุษย์'ขุนคลัง'เพิ่มกระตุ้นศก.

 

   ปลัด พม.จวกมะกันผ่านเจ้าหน้าที่สถานทูต อย่าเบลมไทยฝ่ายเดียว ถามยุติธรรมแล้วหรือ ส.ส.รีพับลิกันจวก'โอบามา' เลื่อนชั้นค้ามนุษย์ให้คิวบา-มาเลย์ เอื้อประโยชน์ให้เพื่อน-คู่หูใหม่ 'บิ๊กตู่'ขออย่าโทษสหรัฐ ชี้ยิ่งทะเลาะยิ่งวุ่น

 

มติชนออนไลน์ :

 

ส.ส.มะกันจวก'บารัค'เอื้อคู่หู

     เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เว็บไซต์บางกอกโพสต์ รายงานว่า นายคริส สมิธ ส.ส.พรรครีพับลิกัน สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักการเมืองฝีปากกล้า ผู้เขียนกฎหมายการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ปี 2000 กล่าวถึงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2558 ของสหรัฐว่า หากมองไปที่เหตุผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ได้ทำให้เหยื่อของการค้ามนุษย์ทั้งในคิวบาและมาเลเซียตกอยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ด้วยการปรับอันดับคิวบาและมาเลเซียขึ้นไปอยู่ในเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ จากอันดับเทียร์ 3 ซึ่งนายสมิธเรียกการปรับอันดับให้แก่คิวบากับมาเลเซียว่า "เป็นการสมประโยชน์กับพวกพ้องของตนเอง"

"หากคุณต้องการพิสูจน์ว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องของการเมือง ขอให้ดูตัวเลขเหล่านี้ จีนมีการลงโทษผู้ค้ามนุษย์ 35 ราย มาเลเซีย 3 ราย ไทย 151 ราย แต่กลับมีไทยเพียงประเทศเดียวที่ถูกจัดอยู่ในเทียร์ 3" นายสมิธกล่าว และว่า สิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปคืออะไร เมื่อสหรัฐยังคงผูกมัดอยู่กับผลประโยชน์ของพวกพ้อง เปิดทางผ่านแบบเสรีให้กับเพื่อนและคู่หูใหม่ ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความทนทุกข์ทรมานของเหยื่อการค้ามนุษย์ ความน่าเชื่อถือของสหรัฐตกอยู่ในภาวะอันตราย ความเป็นผู้นำของสหรัฐกำลังถูกบั่นทอนลง และเหยื่อของการค้ามนุษย์ถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างเดียวดายโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

'บิ๊กตู่'ไม่โทษสหรัฐให้เทียร์3

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงข้อสังเกตที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ส่งผลให้สหรัฐจัดให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 ว่า หากเป็นสมาชิกแล้วไทยจะได้อะไร รู้หรือไม่ว่า เป็นแล้วจะได้หรือเสียอะไร เพราะถ้าหากเป็นสมาชิกจะถูกกดดันหลายอย่าง รัฐบาลก่อนอาจแสดงความต้องการเข้าเป็นสมาชิก แต่เมื่อกลับมาดูแล้วพบว่ามีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยา และสิ่งต่างๆ ตรงนี้จะทำให้คนไทยเสียโอกาส จึงได้ชะลอไปก่อน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่ต้องดูแลคนไทยและประเทศไทยว่ามีความเสียหายอย่างไรบ้าง

    "ผมว่าอย่าไปโทษเขาเลยดีกว่า อย่าไปโทษว่า เป็นเพราะการเมืองหรือเพราะอะไร มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ท่านไม่สังเกตหรือว่าผมพูดอะไรบ้าง ผมก็พูดแต่เพียงว่าเรายอมรับ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันผิดเพราะเราผิด เขามีกติกาออกมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่แก้ไข ในเมื่อเขาจะลงโทษแบบนี้ก็ลงโทษไป เราต้องทำของเราให้ดีที่สุด วันหน้ายังไงก็ต้องเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ทะเลาะกันไปยิ่งวุ่น แทนที่เขาจะให้ก็กลับไม่ให้เลย เราบังคับเขาไม่ได้ เราไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจ ยิ่งทะเลาะกันอยู่แบบนี้ยิ่งไม่มีทางจะได้เป็น เราต้องให้เขาเข้าใจเรา แต่เราต้องมีศักดิ์ศรีโดยต้องดูแลประเทศไทยให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

อย่าเหมาว่ารบ.เป็นต้นเหตุ

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการค้ามนุษย์ รัฐบาลได้จับกุมและดำเนินคดีกว่า 100 ราย อยากให้ไปดูว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้เลื่อนจากเทียร์ 3 มีการดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด ก็รู้อยู่แล้ว จะไปไล่ให้มันจนกันไปมาทำไม เราควรเอาประเทศไทยเป็นหลัก เขาจะให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ภาคส่วนอื่นๆ ระบุว่าไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศเคยอยู่ในอันดับนี้ ทั้งยังเคยโดนใบเหลืองเรื่องประมงผิดกฎหมายมาแล้ว และเมื่อมีการแก้ไขก็สามารถกลับสู่อันดับที่ดีกว่า จึงขออย่ามาเหมาว่าเป็นเพราะตนเป็นรัฐบาล ถามว่าหากไม่ได้มาเป็นรัฐบาลทุกอย่างจะหนักกว่านี้หรือไม่ เพราะปัญหาไม่ได้แก้ไข วันนี้เมื่อรัฐบาลแก้ไขแล้วยังไม่ถูกเลื่อนจากเทียร์ 3 ก็มาโทษตนอีก หาว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นทำหรือไม่ ปัญหาจึงมาถึงวันนี้ ส่วนตัวไม่ต้องการเเตะต้องคนอื่น แต่คนเรามีปากก็พูดไปเรื่อย

 

'บิ๊กตู่'ห่วงกระแสแบนสินค้ามะกัน 

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี กระแสเครือข่ายพี่น้องประชาชนรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียไม่ซื้อไม่บริโภคสินค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้กรณีที่สหรัฐคงสถานะการค้ามนุษย์ในประเทศไว้ที่เทียร์ 3 ซึ่งค้านความรู้สึกของประชาคมโลกและคนไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. แสดงความเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว 

    นายกฯเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่อาจจะรู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่นายกฯอยากให้ตระหนักว่า เป็นสิทธิของผู้ประเมินที่จะสรุปผลอย่างไรตามที่เขาเห็นสมควร "ขณะที่เราย่อมทราบตัวเองดีที่สุดว่าเราทำงานก้าวหน้าไปเพียงใด และตั้งใจจริงเพียงใดรวมทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันการทำงาน นั่นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราทุกคนควรภาคภูมิใจ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากรายงานการประเมินนั้น ขณะที่ประเทศผู้ออกรายงานการประเมินต่างหากที่จะต้องอธิบายความกับสังคมโลกต่อไปจนสิ้นสงสัย อย่างไรก็ตามการแสดงออกบางรูปแบบอาจถูกนำไปสร้างเป็นเงื่อนไขกลับมากดดันประเทศไทยในอนาคต และนายกฯยังเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้มีจิตใจดีที่พร้อมเข้าใจ ให้อภัย และไม่ชวนใครทะเลาะ ไม่ว่ากรณีใดๆ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า อยากขอให้พี่น้องประชาชนได้ใช้พลังในเชิงสร้างสรรค์เพื่อประเทศ เช่น การเป็นหูเป็นตาแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการกระทำผิดไม่ว่ากรณีใดเพื่อช่วยกันกำจัดคนไม่ดีให้หมดไปจากแผ่นดินไทย รวมทั้งร่วมใจกันท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือการร่วมใจกันประหยัดน้ำในทุกภาคส่วนและครัวเรือน จะถือเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติรักแผ่นดินได้เป็นอย่างดี

 

โพสต์เฟซบุ๊กต้านสินค้าตะวันตก

     วันเดียวกัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหนัาศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสเฟซบุ๊กว่า เรียกร้องให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้สหรัฐ และยุโรป ว่า สหรัฐไม่สนใจการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย จัดไทยหนักสุดอยู่เทียร์ 3 แต่เลื่อนมาเลเซีย ขึ้นไปอยู่ เทียร์ 2 ทั้งๆที่ผลงาน การแก้ไขปัญหาแย่กว่าไทยแยะ ส่วนนายกฯอังกฤษ มาเยือนอาเซียนหวังผลทางการค้า มา 4 ประเทศ แต่ไม่แวะไทย เพราะมั่นใจว่าเทสโก้ โลตัส ในไทย เป็นของอังกฤษ ขายดีที่สุดในโลกแล้ว ไม่ต้องมาก็ได้ชาติตะวันตกทุกชาติจะเป็นแบบนี้ เพราะพี่ไทยไม่เคยต่อต้านสินค้าต่างชาติอย่างจริงจังจึงไม่มีใครสนใจ หรือเกรงใจ มองข้ามหัวคนไทยไปหมด เรื่องเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทยที่มาจากทหารแต่อย่างใด แต่มาจากรัฐบาลนี้ขัดใจชาติตะวันตก ไม่ต้องการเป็นขี้ข้าของชาติเหล่านี้ต่อไปอีกก็เท่านั้น

"ถ้าพวกเราต่อต้านเรื่องสัมปทานน้ำมัน ต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้ากันได้ ทำไมไม่ต่อต้านสินค้าตะวันตกบ้าง ลองทำกันจริงๆ จังๆ สักเดือนเดียว พวกตะวันตกมันจะวิ่งกลับมาหาคนไทยทันทีครับ เพราะสินค้าของพวกมันเกือบทุกชนิดขายดีในไทยมากที่สุดในอาเซียนครับ" พล.ท.นันทเดชระบุในเฟซบุ๊ก

 

ปลัดพม.ซัดไม่ยุติธรรม

      นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลัง น.ส.อันจนา โมดิ ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบนานกว่า 1 ชั่วโมงว่า เป็นการเข้าพบในฐานะฝ่ายการทูตของสหรัฐ เพื่อสอบถามความคิดเห็นหลังรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ที่จัดอันดับให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 โดยพยายามอธิบายถึงผลที่วินิจฉัยออกมา รวมถึงการระบุถึงสิ่งที่ไทยทำไม่ตรงกับวงรอบการประเมินเหมือนเช่นที่นายจอห์น แคร์รีรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวก่อนหน้านี้ 

        นายวิเชียร กล่าวว่า ได้ชี้แจงไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ยืนยันแล้วว่า ไทยยังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา ไม่ได้มีเป้าหมายเชิงคาดหวังกับการที่จะได้เทียร์อะไร สำหรับผลลัพธ์ที่ออกมาก็บอกให้ทราบถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยอธิบายเปรียบเทียบว่า เหมือนการประกวดนางงาม กรรมการบอกว่า ตัดสินอย่างยุติธรรม แต่ผลออกมานางงามไม่สวย ก็ค้านสายตาคนดู ภาระก็จะไปตกหนักกับกรรมการ นอกจากนี้ ได้บอกไปด้วยว่า การจัดอันดับครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการแสดงท่าทีระหว่างสหรัฐกับไทย ถ้าแสดงท่าทีเป็นมิตร คนไทยก็จะรักใคร่ชอบพอตอบกลับ แต่หากคนไทยมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตัดสิน ก็อาจจะปฏิเสธหรือเกลียดคนที่มาแสดงท่าทีได้ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยากให้ระลึกถึง

 

จี้ทบทวน-อย่าเบลมไทย

      "ผมยังได้บอกว่า เราพยายามมุ่งมั่นทำอะไรบ้าง โดยยกตัวอย่างที่พูดถึงคดีอัมบน โรฮีนจา การคุ้มครองผู้เสียหาย การดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งเราทำมากมาย จุดสำคัญตอนท้ายก็บอกว่า อย่ากล่าวหาหรือเบลมไทยแต่ฝ่ายเดียว ตัวอย่างคดีมากมาย คนอื่นก็ร่วมกระทำกับเรา แต่เราถูกลงโทษและให้ร้ายแต่ผู้เดียว มันยุติธรรมแล้วหรือ ขอให้ได้กลับไปทบทวน อย่างคดีอัมบนไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เราถูกลงโทษหรือวาดภาพว่าเราเป็นผู้เลวร้ายเพียงผู้เดียว และให้เขาระมัดระวังเรื่องของการรับฟังข้อมูล โดยเชื่อข้อมูลของเราในการรายงานเอกสารต่างๆ ที่เรายืนยัน ซึ่งมองว่าเราปกปิด ไม่เชื่อมั่น แต่ไปฟังเอ็นจีโอมากกว่า จึงขอให้ทบทวน" นายวิเชียรกล่าว

นายวิเชียรกล่าวว่า น.ส.อันจนาได้อธิบายถึงเหตุผลที่ไทยได้เทียร์ 3 โดยระบุถึงสิ่งที่ไม่ดี แต่ที่ไทยทำแล้วยังไม่ถึงวงรอบประเมิน ก็เหมือนที่เคยพูด สิ่งที่พูดก็เป็นคำอธิบาย ถ้าจะพูดแบบไม่เพราะก็คือ ในความเห็นตนมันเป็นคำแก้ตัว เพราะนัยยะความหมายของเทียร์ 3 ทุกคนรู้เข้าใจว่าคือการไม่ทำอะไรเลย แต่ไม่อยากจะพูดประเด็นเหล่านี้มาก เพราะไทยไม่ได้มุ่งที่เทียร์ แต่อยากสร้างความเข้าใจว่า ไทยทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ ข้อมูลการพูดคุยครั้งนี้ฝ่ายการทูตคงจะสะท้อนไปที่หน่วยงานที่จัดอันดับในสหรัฐ

 

เดินสายชี้แจง'ก.แรงงาน'

    ต่อมา น.ส.อันจนาเดินทางเข้าพบนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงกรณีทิปรีพอร์ต จากนั้นนายพีรพัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชื่อถือในการจัดทำรายงานฉบับนี้ เพราะหลังจากมีการเผยแพร่ พบว่าสื่อมวลชน นักวิชาการและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดอันดับประเทศในรายงานฉบับนี้มีเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยใช้ทิปรีพอร์ตเป็นเครื่องมือหรือไม่

"กสร.ได้แสดงความห่วงใยถึงมาตรฐานและความโปร่งใสของทิปรีพอร์ต และไม่อยากให้ประเทศหรือองค์กรต่างๆ เสื่อมความน่าเชื่อถือ และควรจะมีมาตรฐาน ความโปร่งใส สามารถให้เหตุผลถึงการจัดอันดับได้อย่างชัดเจน สามารถอธิบายต่อประชาคมโลกได้" นายพีรพัฒน์กล่าว

 

รมช.พาณิชย์เชื่อไม่แบนสินค้า

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ไทยถูกคงสถานะการค้ามนุษย์อยู่ที่เทียร์ 3 เหมือนเดิมว่า ไม่อยากให้มองในแง่ร้าย ที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยพยายามแก้ไขปัญหามาต่อเนื่อง ซึ่งไทยควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่ต้องเร่งผลักดันและเร่งแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน ถึงแม้ไทยจะถูกคงสถานะอยู่ที่เทียร์ 3 เช่นเดิม แต่เชื่อว่าสหรัฐจะไม่แบนสินค้าไทย เพราะสหรัฐเองก็ยอมรับว่าไทยมีการดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง 

"ตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐ หากประธานาธิบดีสหรัฐพิจารณาจะใช้มาตรการกับไทย จะไม่สามารถใช้มาตรการตัดสิทธิการให้ความช่วยเหลือในด้านการค้าและด้านมนุษยธรรมได้ ยกเว้นการตัดสิทธิให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา วัฒนธรรม เป็นต้น" นางอภิรดีกล่าว 

 

พท.เชื่อถูกกีดกันทางการค้า

     น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีสหรัฐประกาศให้ไทยยังคงอยู่ในเทียร์ 3 นั้น หากคิดว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร หรือจะรณรงค์ไม่ให้ซื้อสินค้าจากสหรัฐก็คงเป็นตรรกะวิบัติอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าสหรัฐจะต้องมีมาตรการกีดกันทางการค้าออกมาแน่ และจะยิ่งทำให้การส่งออกของไทยที่ทรุดอยู่แล้วยิ่งทรุดลงมากขึ้น

น.ส.อนุตตมากล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงควรเร่งกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการกีดกันการค้ากับไทยเพิ่มขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าจะโดนแน่หากยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน 

 

สมาคมประมงพร้อมตอบโต้

     นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมเรือลากคู่จังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะรองประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐที่จัดลำดับให้ไทยอยู่ที่เทียร์ 3 เหมือนเดิม เนื่องจากรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มามากแล้ว โดยเฉพาะในเรือประมงได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

"สหรัฐควรทบทวนให้มีความเป็นธรรมต่อสังคมโลก เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงและประชาชนในประเทศไทย รัฐบาลสหรัฐควรเป็นประเทศที่มีมาตรฐาน ไม่ใช่เล่นพรรคเล่นพวก" นายมงคลกล่าว และว่า สมาคมฯ จะรอดูท่าทีก่อนว่าสหรัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากสหรัฐมีมาตรการคว่ำบาตรสินค้าไทยหรือมาตรการใดๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย สมาคมฯ จะนัดหารือกันถึงมาตรการประท้วง เช่น อาจจะมีการบอยคอตสินค้าอเมริกา หรือขอให้รัฐบาลไม่ให้สัมปทานต่อบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกา หรือไม่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาขุดเจาะสำรวจน้ำมันในอ่าวไทยเป็นต้น 

 

จ่อออก'กม.ค้ามนุษย์'เป็นพ.ร.ก. 

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์ ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2542 มีการแก้ไขไปแล้วส่วนหนึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังมีปัญหาที่เกิดการตั้งข้อสังเกตของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) ของสหรัฐกว่า 20 ข้อ จึงจำเป็นจะต้องมีการแก้กฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายประมง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์โดยตรง ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

      "รัฐบาลเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงอาจจะประกาศเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ต้องแน่ใจว่าได้ปรับปรุงอย่างรอบคอบแล้ว เนื่องจาก พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ทันที" นายวิษณุกล่าว

 

แก้คำ'ค้ามนุษย์'ให้ตรงกัน

     นายวิษณุ กล่าวว่า ตามข้อสังเกตของทิปรีพอร์ต ไม่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรงเท่านั้น แต่ในรายงานมีการวิจารณ์การดำเนินการเรื่องค้ามนุษย์ของไทยว่ามีปัญหาในรายละเอียดจำนวนมาก จึงได้มีการประสานกับสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งทางศาลได้รับทราบและได้ให้ข้อคิดเห็นมาว่า จะแก้ไขการดำเนินการอย่างไร โดยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้จะมีการเปิดแผนกคดีชำนัญพิเศษขึ้นในศาลอาญา 

ใน 3 แผนกคือ คดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติดและคดีทุจริต เนื่องจากที่ผ่านมาคดีค้ามนุษย์หากส่งฟ้องจะว่าไปตามก่อนหลัง แต่พอเป็นคดีชำนัญพิเศษจะได้รับการพิจารณารวดเร็วขึ้น 

      นายวิษณุ กล่าวว่า ยังมีข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง เช่น บางเรื่องอาจมีการเข้าใจผิด บางคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของไทยที่ศาลยกฟ้อง เพราะคิดมีการทำคดีอย่างชุ่ยๆ พอนำคดีทั้งหมดมาพิจารณาพบว่า คำว่าค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทยเป็นข้อหากลางๆ แต่มันหมายถึงข้อหาอื่นอีก 5-6 ข้อหา จึงเรียกว่าค้ามนุษย์ เช่น คดีการค้าประเวณี ค้าทาส สื่อลามก คดีแรงงาน คดีกดขี่ข่มเหง และคดีอื่นๆ ที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ขณะนี้แต่ละหน่วยงานยังแปลความหมายส่วนนี้ไม่ตรงกัน จึงจะแก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจนว่าการกระทำนั้นๆ คืออะไร

 

บี้ศูนย์พม.ให้ทำงานเชิงรุก

      "เวลามีการฟ้องร้องจำเลยทำความผิดฐานค้าประเวณี รวมถึงคดีการค้ามนุษย์รวมกัน ท้ายที่สุดแม้ศาลจะยกฟ้องเรื่องค้ามนุษย์ หรือยังไม่ตัดสินว่าค้ามนุษย์ ก็ตัดสินใจในเรื่องค้าประเวณีแล้ว ทั้งนี้มีกลุ่มเอ็นจีโอชอบนำเรื่องนี้ไปอธิบายให้ต่างชาติฟังว่า ศาลชอบยกฟ้องเรื่องค้ามนุษย์ ซึ่งศาลอาจพิจารณาว่าความผิดฐานค้าประเวณีก็ติดคุกแล้ว 3 ปี ในภาษากฎหมายการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท ฉะนั้นเมื่อโดนความผิดบทเดียวก็จบแล้ว" นายวิษณุกล่าว และว่า ได้ประชุมเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนแล้วว่า ต่อไปนี้หากคดีที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ให้ดำเนินการฟ้องร้องในข้อหาค้ามนุษย์ไปเลย ไม่ต้องฟ้องความผิดอื่น จะได้เห็นถึงความชัดเจน 

      นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯ ได้พูดในที่ประชุม ครม.ถึงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า พยายามแก้ไขในเรื่องที่แก้ไขได้และต้องพยายามทำความเข้าใจกับสหรัฐ อย่างไรก็ตามตนได้สอบถามในที่ประชุมว่า ไทยมีศูนย์กลางข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับค้ามนุษย์แล้วหรือไม่ ซึ่งความจริงมีศูนย์ดังกล่าวอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ถึง 1,260 คดี ซึ่งในบางส่วนทางศูนย์ดังกล่าวต้องไปขอข้อมูลกับทางตำรวจ จึงมองว่าจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ หรือศาล เมื่อพิจารณาคดีเหล่านี้ต้องส่งข้อมูลทั้งหมดมาที่ศูนย์ดังกล่าว ต่อไปนี้เมื่อรัฐบาลจะถามถึงข้อมูลทั้งหมด ก็จะถามกับศูนย์ฯนี้และจะต้องตอบทุกอย่างให้ได้

 

'ขุนคลัง'เร่งเบิกจ่ายงบ

      นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ที่กระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าจะมีงบประมาณที่นำมาใช้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ที่จะเกี่ยวข้องกับงบประมาณปี 2558 และงบประมาณปี 2559 เท่าไร เพื่อจะรวบรวมเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยเท่าที่ดูเฉพาะงบประมาณประจำปี 2559 พบว่ายังไม่ได้เบิกจ่ายประมาณ 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างน้อย 3.5 แสนล้านบาท ถ้ามีการเบิกจ่ายงบดังกล่าวได้ตามแผนที่วางไว้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีกว่า 3% อาจจะถึง 3.2% 

นายสมหมายกล่าวว่า จะมีการรายงานความคืบหน้าถึงการดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์ไปยังนายกฯ เริ่มรายงานวันที่ 4 สิงหาคมนี้

และทุก 4 สัปดาห์จะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมทุก 4 สัปดาห์เพื่อดูว่ามีความคืบหน้าของโครงการไปถึงไหนแล้วบ้าง พยายามเร่งรัดให้งบประมาณที่มีอยู่นั้นออกสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด 

 

เพิ่มกรอบกระตุ้นอีก 3 หัวข้อ

       นายสมหมาย กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้วางกรอบการทำงานของคณะกรรมการว่าจะเข้าไปดูงบกระตุ้นว่าจะเป็นงบส่วนไหนได้บ้าง มีทั้งหมด 6 หัวข้อ เพิ่มเติมจากกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวน 3 หัวข้อ ประกอบด้วยกรอบเดิมที่ ครม.กำหนดไว้คือ 1.การกระตุ้นผ่านการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 2558-2559 ทั้งในเรื่องของเงินกู้ที่นำมาพัฒนาแหล่งน้ำและถนนกว่า 7 หมื่นล้านบาท 2.กรอบการกระตุ้นผ่านการส่งเสริมการลงทุนทั้งการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3.มาตรการการเงินการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน มีทั้งการช่วยภัยแล้ง การจ้างงานในท้องถิ่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการด้านภาษี นาโนไฟแนนซ์ ตรงนี้มีวงเงินรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท 

นายสมหมายกล่าวว่า กรอบการทำงานใหม่ที่จะเพิ่มเติมอีก 3 หัวข้อคือ 4.การกระตุ้น

เศรษฐกิจที่มีอยู่ในงบประมาณปกติ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเงินลงทุนสู่รากหญ้า 1.5 แสนล้านบาท 5.มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผล

กระทบภัยแล้งผ่านกองทุนหมุนเวียนของกรมบัญชีกลางวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และกองทุนหมู่บ้าน 2.5 แสนล้านบาท และ 6.การปรับปรุงการบริหารสหกรณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ดีใจแล้วที่ศก.ขยายตัว 3.2%

     "นอกจากเงินที่จะกระตุ้นใน 6 กรอบข้างต้นแล้ว ภายในเดือนตุลาคมนี้จะมีเม็ดเงินจากโครงการ Undo (พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494) ของข้าราชการที่ต้องการออกจากระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 249,354 ราย คิดเป็นเงิน 70,135 ล้านบาท ซึ่ง กบข.และกรมบัญชีกลางต้องจ่ายให้แก่ข้าราชการและข้าราชการบำนาญ จะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย" นายสมหมายกล่าว และว่า รับว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังอยู่ในลักษณะ U-shape ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบ V-shape ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ระดับ 3.2% ก็น่าดีใจแล้ว

 

บี้รสก.เร่งใช้งบ 3.5 แสนล.

       นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมนายสมหมายได้มอบนโยบายให้ผู้แทนกระทรวงการคลังที่เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง โดยเน้นย้ำให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เพิ่มขึ้น เพราะล่าสุดตัวเลขของรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุน 46 แห่ง เม็ดเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้เพียง 30% ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจกว่า 11 แห่งใช้ระบบบัญชีปีปฏิทิน และเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่มีเงินลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท ล่าสุดเบิกไปได้ 30% หรือ 6.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2558 จะเบิกได้ 80% ส่วนรัฐวิสาหกิจอีก 35 แห่งใช้ระบบบัญชีแบบปีงบประมาณมีงบลงทุน 1.4 แสนล้านบาท เบิกไปได้เพียง 4.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 30% เช่นกัน

 

บางแห่งยังไม่เบิกสักบาท

      นายกุลิศ กล่าวว่า จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการหามาตรการเพิ่มเติมมากระตุ้นและดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจในปีงบ 2559 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งหนังสือไปยังประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อขอให้เร่งรัดการใช้จ่ายงบลงทุนแล้ว แต่ล่าสุดยังพบว่าบางแห่งยังไม่มีการเบิกจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว 

"นายสมหมายยังย้ำต่อกรรมการผู้แทนคลังให้ช่วยเร่งรัดการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจที่ยังว่างอยู่ให้ครบโดยเร็ว พร้อมทั้งช่วยกำกับดูแลบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจทั้ง 120 แห่งว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหรือไม่ และต้องพิจารณาให้ดีถึงการตั้งใหม่" นายกุลิศกล่าว

 

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9010 ข่าวสดรายวัน

พณ.ชี้เทียร์3 กระทบส่งออก 'ตู่'ปราม ด่าสหรัฐ ไม่มีผลดี วิษณุแจง เร่งแก้กม.
       'บิ๊กตู่'ปรามด่าสหรัฐ ปม 'เทียร์3' ชี้ต้อง ยอมรับกติกาเร่งแก้ปัญหาภายในดีกว่า พาณิชย์ยอมรับกระทบส่งออกอาหารทะเล ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่จ่อลดนำเข้า คาดส่งผ่านมาเลย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งตกเป็นเป้าโจมตีจากเอ็นจีโอ วิษณุแจงรับคำวิจารณ์จากทิป รีพอร์ต เร่งปรับแก้กม.ไทย เปิดศาลชำนัญพิเศษรับคดีค้ามนุษย์ สั่งแยกฟ้องจากคดีอื่น ลดเวลาฟ้องร้อง


'บิ๊กตู่'ชี้เทียร์3 ไม่เกี่ยวเมินทีพีพี
       จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อเมริกาทำรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ ทิป รีพอร์ต โดยให้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 หรือระดับร้ายแรงที่สุด ขณะที่มาเลเซียได้ยกระดับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ทำให้ที่ประชุมครม.วิจารณ์ถึงกรณีมาเลเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ขณะที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม
       ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่กระทรวงอุตสาหกรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า หากเป็นสมาชิกทีพีพีแล้วไทยจะได้อะไร รู้หรือไม่ว่าเป็นแล้วจะได้หรือเสียอะไร เพราะถ้าหากเป็นสมาชิกจะถูกกดดันหลายอย่าง รัฐบาลก่อนอาจแสดงความต้องการเข้าเป็นสมาชิก แต่เมื่อกลับมาดูแล้ว พบว่ามีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยาและสิ่งต่างๆ ตรงนี้จะทำให้คนไทยเสียโอกาสจึงได้ชะลอไปก่อน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่ต้องดูแลคนไทยและประเทศไทยว่ามีความเสียหายอย่างไรบ้าง

ปรามเลิกโทษ-เร่งแก้ไขดีกว่า
      "ผมว่า อย่าไปโทษเขาเลยดีกว่า อย่าไปโทษว่าเป็นเพราะการเมืองหรือเพราะอะไร มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ท่านไม่สังเกตหรือว่าผมพูดอะไรบ้าง ผมพูดแต่เพียงว่าเรายอมรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันผิดเพราะเราผิด เขามีกติกาออกมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่แก้ไข ในเมื่อเขาจะลงโทษแบบนี้ก็ลงโทษไป เราต้องทำของเราให้ดีที่สุด วันหน้ายังไงก็ต้องเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ทะเลาะกันไปยิ่งวุ่น แทนที่เขาจะให้ก็กลับไม่ให้เลย เราบังคับเขาไม่ได้ เราไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจ ยิ่งทะเลาะกันอยู่แบบนี้ยิ่งไม่มีทางจะได้เป็น เราต้องให้เขาเข้าใจเรา แต่เราต้องมีศักดิ์ศรีโดยต้องดูแลประเทศไทยให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การค้ามนุษย์รัฐบาลได้ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกว่าร้อยราย อยากให้ไปดูว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้เลือกจากเทียร์ 3 ดำเนินคดีมากน้อยเท่าเพียงใด ก็รู้อยู่แล้ว จะไปไล่ให้มันจนทำไม เอาประเทศเราเป็นหลัก เขาจะให้หรือไม่ให้เป็นเรื่องของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับเรา

ขออย่าเหมาเป็นเพราะรัฐบาลนี้
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ภาคส่วนอื่นๆ ระบุว่า ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศเคยอยู่ในอันดับนี้ ทั้งยังเคยโดนใบเหลืองเรื่องประมงผิดกฎหมายมาแล้ว และเมื่อแก้ไขก็สามารถกลับสู่อันดับที่ดีกว่า จึงขออย่ามาเหมาว่าเป็นเพราะตนเป็นรัฐบาล ถามว่าหากตนไม่ได้มาเป็นรัฐบาลทุกอย่างจะหนักกว่านี้หรือไม่ เพราะปัญหาไม่ได้แก้ไข วันนี้เมื่อรัฐบาลแก้ไขแล้วยังไม่ถูกเลื่อนจากเทียร์ 3 ก็มาโทษตนอีก หาว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำหรือไม่ ปัญหาจึงมาถึงวันนี้ ส่วนตัวไม่ ต้องการเเตะต้องคนอื่น แต่คนเรามีปากก็พูด ไปเรื่อย

พณ.รับกระทบส่งออกไทย
      ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองในแง่ร้าย ไทยควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่ต้องเร่งผลักดันและเร่งแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน และแม้ไทยจะถูกคงสถานะอยู่ที่เทียร์ 3 เช่นเดิมแต่เชื่อว่าสหรัฐจะไม่แบนสินค้าไทย เพราะสหรัฐเองก็ยอมรับว่าไทยดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู รัฐบาลได้ปรับปรุงหลายหน่วยงานตลอดจนแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวม ต้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 3-5 เดือน เพราะปัญหาสะสมมานาน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านด้วย คิดปัญหาไอยูยูจะมีผลกระทบไม่มาก และตอนนี้ไทยยังมีเวลาแก้ไข โดยยืนยันว่าไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหา
      นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังจากที่สหรัฐคงลำดับเทียร์ 3 ไว้นั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า อาจทำให้ผู้นำเข้ารายสำคัญลดความมั่นใจต่อประเทศไทย โดยเฉพาะร้านซูเปอร์มาร์เก็ต (Chain Store) รายสำคัญ ได้แก่ ทาร์เกต (Target), วอลมาร์ต (Wallmart), โฮล ฟู้ด (Whole Foods), โครเกอร์ (Kroger), คอสต์โค (Costco) อาจจะทบทวนการตรวจสอบสินค้าอาหารทะเลจากไทย ซึ่งจะมีผลลดนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทย เนื่องจากร้านค้าปลีกเกรงว่าผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้าอาหารทะเลจากไทย และจะเสียหายต่อชื่อเสียงของร้านหากยังคงนำเข้า 
      นางดวงกมล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้นำเข้า-ผู้จัดจำหน่ายที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมง และรวมถึงความรับผิดชอบในการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า เช่น กลุ่มซีแพกต์ (Sea Pact : www.Seapack.org) ซึ่งจะเป็นผลให้สมาชิกในกลุ่มเลี่ยงนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้า/ผู้ผลิต/ส่งออกที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนในระดับต่ำ รวมทั้งถูกต่อต้านเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเอ็นจีโอ ที่อาจรณรงค์ต่อต้านการใช้สินค้าไทยรวมถึงการให้ข่าวทางลบต่อประเทศไทยมากขึ้น และการส่งสินค้าอาหารทะเลผ่านมาเลเซียเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐ เช่น ส่งไปบรรจุที่มาเลเซียจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมาเลเซียได้ลดอันดับเป็นเทียร์ 2 และเป็นสมาชิกทีพีพี

วิษณุ แจงเร่งแก้กม.ที่สหรัฐติง
       ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์ ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอยู่แล้วคือพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขไปแล้วส่วนหนึ่งเมื่อต้นปี 2558 แต่ยังมีปัญหาที่เกิดการตั้งข้อสังเกตของทิปรีพอร์ต มากว่า 20 ข้อ ที่จะต้องแก้กฎหมายอื่นอีกหลายฉบับโดยไม่จำเป็นต้องแก้พ.ร.บ.ค้ามนุษย์โดยตรง เช่น กฎหมายประมง ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นพร้อมนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ซึ่งอาจจะประกาศเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ต้องแน่ใจว่าได้ปรับปรุงอย่างรอบคอบแล้ว
    นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนข้อสังเกตในทิปรีพอร์ตที่วิจารณ์การดำเนินการเรื่องค้ามนุษย์ของไทย ในรายละเอียดจำนวนมาก ได้ประสานกับสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลรับทราบและให้ข้อคิดเห็นมาว่าจะแก้ไขการดำเนินการอย่างไร โดยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ จะเปิดแผนกคดีชำนัญพิเศษขึ้นในศาลอาญาใน 3 แผนก คือ คดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติด และคดีทุจริต เนื่องจากที่ผ่านมาคดีค้ามนุษย์หากส่งฟ้องจะต้องพิจารณาไปตามลำดับก่อนหลัง แต่เมื่อจัดเป็นคดีชำนัญพิเศษจะหยิบขึ้นมาพิจารณาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะแก้ปัญหาข้อสังเกตที่ว่าไทยดำเนินการเรื่องค้ามนุษย์ล่าช้า 

ชี้ตีความ'ค้ามนุษย์'ไม่ตรงกัน
         นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ยังมีข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง เช่น บางเรื่องที่อาจเข้าใจผิด บางคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของไทยที่ศาลยกฟ้อง เพราะคิดว่าทำคดีอย่างชุ่ยๆ เมื่อนำคดีทั้งหมดมาพิจารณาพบว่า คำว่า "ค้ามนุษย์" ตามกฎหมายไทยเป็นข้อหาระดับกลาง และมีความหมายรวมไปถึงข้อหาอื่นอีก 5-6 ข้อหา เช่น คดีการค้าประเวณี คดีการค้าทาส คดีเกี่ยวกับสื่อลามก คดีแรงงาน คดีที่กดขี่ข่มเหงและคดีอื่นๆ ที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ขณะนี้แต่ละหน่วยงานยังแปลความหมายส่วนนี้ไม่ตรงกันจึงจะแก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจนว่าการกระทำนั้นๆ คืออะไร
      "เวลานี้ได้ให้ตำรวจ อัยการ ศาลไปดูว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า แปลว่าคุณต้องทำคดีให้รัดกุม เข้าองค์ประกอบค้ามนุษย์มาแต่ต้น เมื่อก่อนคุณเล่นทีละห้าข้อหา ผลสุดท้ายศาลแหวกไปหมดไปเอาเรื่องอื่นขึ้นมา พอฝรั่งมานั่งดูรายงานเห็นว่ายกฟ้องหมดเลย" นายวิษณุกล่าว

ให้แยกฟ้องเฉพาะค้ามนุษย์
       นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า เวลาฟ้องร้องว่าจำเลยทำความผิดฐานค้าประเวณี รวมถึงคดีการค้ามนุษย์รวมกัน ท้ายที่สุดแม้ศาลจะยกฟ้องเรื่องค้ามนุษย์ หรือยังไม่ตัดสินว่าค้ามนุษย์แต่ตัดสินใจในเรื่องค้าประเวณีแล้ว มีกลุ่มเอ็นจีโอชอบนำเรื่องนี้ไปอธิบายให้ต่างชาติฟังว่าศาลชอบยกฟ้องเรื่องค้ามนุษย์ ซึ่งศาลอาจพิจารณาว่ามีความผิดฐานค้าประเวณีและติดคุกแล้ว 3 ปี ในภาษากฎหมายการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดในกฎหมายหลายบท ฉะนั้นเมื่อโดนความผิดบทเดียวก็จบแล้ว
    นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ได้ประชุมเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนไปแล้วว่า ต่อไปนี้หากคดีที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ให้ฟ้องร้องในข้อหาค้ามนุษย์ ไม่ต้องฟ้องความผิดอื่นจะได้เห็นชัดเจน การบังคับคดีหรือการฟ้องร้องบางคดี เมื่อชนะทางอาญาก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งกระบวนเรียกร้องค่าเสียหายวันนี้ยังยุ่งยาก อาจต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถบังคับคดีแพ่งเพื่อนำเงินมาชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย 

จ่อแก้กม.4-5ฉบับ
         "แต่ปัญหา คือจะปฏิบัติกับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการค้ามนุษย์ว่าเป็นเหยื่อหรือเป็น ผู้เสียหาย เพราะเมื่อเป็นเหยื่อเราก็จะช่วยเหลือให้เงินแล้วส่งตัวกลับประเทศต้นทาง แต่ถ้าเป็นผู้เสียหายก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไรแต่จะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งในความจริงผู้เสียหายและพยานก็เป็นคนคนเดียวกัน แต่ทัศนคติของทางการไทยที่ผ่านมา การปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก" นายวิษณุกล่าว 
      นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนระยะเวลาที่ดำเนินการแก้ไขนั้น หากต้องการความรอบคอบก็จะส่งสนช.พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าต้องการความรวดเร็วก็อาจออกเป็นพ.ร.ก.ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะประกาศออกมากี่ฉบับเนื่องจากจะแยกเป็นเรื่องไป แต่อาจจะแก้วิธีพิจารณาความของศาล เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรงแต่นำมาใช้ในเรื่องของการค้ามนุษย์ เข้าใจว่ากฎหมายทั้งฉบับเล็ก ฉบับใหญ่มีประมาณ 4-5 ฉบับ แต่พ.ร.บ.ประมงถือเป็นกฎหมายใหญ่มีหลายมาตรา แต่พ.ร.บ.อื่นมีแก้นิดเดียว เช่น แก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รวบ 2 ศาล-ลดเวลาฟ้องร้อง
      นายวิษณุ กล่าวอธิบายว่า วันนี้คดีไม่ว่าจะค้าหรือไม่ค้ามนุษย์เมื่อฟ้องศาลชั้นต้นเสร็จก็ส่งไปศาลอุทธรณ์และไปสู่ศาลฎีกา บวกไปบวกมารวมกันสิบปี สมมติคดีบางประเภทถ้าให้จบลงในศาลอุทธรณ์ระยะเวลาก็จะสั้นลง แต่ตรงนี้พอพูดขึ้นมา ก็เถียงว่าคดีอาญาต้องมีความละเอียดรอบคอบ ให้ความเป็นธรรม และจะไม่ไว้วางใจศาลอุทธรณ์ ในปัญหาเหล่านี้ได้คิดและร่างเสร็จแล้วด้วยว่า ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินเสร็จก็ไปจบที่ศาลอุทธรณ์ ถ้าใครคิดจะฎีกาต่อแล้วศาลฎีกาให้ยื่นคำร้อง โดยเห็นว่ามีเหตุอันควรจะพิจารณา ศาลฎีกาก็รับได้ แต่ถ้าศาลฎีกาบอกไม่มีเหตุมันก็จบลงแค่นั้น ขณะที่เมื่อก่อนมีเหตุหรือไม่มีเหตุ ไม่ใช่เรื่องของศาลเป็นเรื่องของโจทก์และจำเลยที่จะฎีกา เรื่องนี้ได้รายงานในที่ประชุมครม.ในเรื่องนี้ และคงจะนำเข้าสนช.เร็วๆ นี้
     นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ทำอย่างนี้ไปแล้วในคดีแพ่งเหลือการพิจารณาเพียงสองศาล แต่คดีค้ามนุษย์เป็นคดีอาญาจะต้องทำให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งไม่เฉพาะแต่เรื่องค้ามนุษย์เท่านั้น แต่จะเข้าข่ายในคดีอาญาทุกประเภท

ตำหนิ'ขรก.'ปมแก้การบิน
      นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกฯพูดในที่ประชุมครม.ให้พยายามแก้ไขในเรื่องที่แก้ไขได้ และพยายามทำความเข้าใจกับสหรัฐ ตนได้สอบถามในที่ประชุมว่า วันนี้ไทยมีศูนย์กลางข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับค้ามนุษย์แล้วหรือไม่ ซึ่งความจริงมีศูนย์อยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 1,260 คดี บางส่วนก็ต้องไปขอข้อมูลกับทางตำรวจ ซึ่งตนมองว่าจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะตำรวจอัยการหรือศาลเมื่อพิจารณาคดีเหล่านี้ต้องส่งข้อมูลทั้งหมดมาที่ศูนย์นี้เลย ต่อไปเมื่อรัฐบาลจะถามถึงข้อมูลทั้งหมด ก็จะถามกับศูนย์นี้และจะต้องตอบทุกอย่างให้ได้
      เมื่อถามถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่ไทยยังต้องดำเนินการแก้ไข นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าพูดตามนายกฯ คือเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เราไปละเลยเรื่องไอเคโอ แจ้งเตือนเรามาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองไทยไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลในอดีตเปลี่ยนบ่อย ที่พูดตนไม่ได้ต้องการวิจารณ์ ทั้งนี้เมื่อการเมืองเปลี่ยนบ่อยก็ส่งผลถึงข้าราชการประจำที่มีหน้าที่ต้องทำ จะเข้าเกียร์ว่างในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ จะไปยุ่งเรื่องอื่นจนกระทั่งละเลยหน้าที่ไม่ได้ ตนขอตำหนิ คนที่จะกำหนดนโยบายไม่สามารถลงไปขัดขวางถ้าคุณจะทำเสียอย่าง ที่ไม่ลงมาเชียร์ให้ทำนั่นแปลว่าบางทีเขาไม่รู้ หรือจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก
      ที่ฝูงเครื่องบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก(ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในประเด็นนี้อย่างเต็มที่ สำหรับการกำจัดผู้มีอิทธิพลทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนในขบวนการค้ามนุษย์ ก็ทำได้ดีมาก ไม่ว่าอิทธิพลใดๆ ก็ตาม คิดว่าไม่น่าจะมีแล้ว แต่ถ้ายังมีใครกระทำความผิดอีกคงต้องรับโทษทัณฑ์แน่นอน ขอให้มั่นใจได้ ถ้าใครพบหรือมีข้อมูลแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เพื่อให้ดำเนินการทันที

ศปมพ.เร่งกำหนดเขตประมง
      ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ. ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในฐานะ ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) เป็นประธานในการประชุมการติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาตามข้อสังเกตในการตรวจเยี่ยมของคณะสหภาพยุโรปของ ศปมผ. ครั้งที่ 13 โดยมีหัวหน้า ผู้แทนส่วนราชการในศปมผ. รวมถึง ผู้แทนจากสมาคมประมงต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ร่วมประชุม
     โดยที่ประชุมมีผลสรุป 1.ให้กรมประมง และสมาคมการประมงต่างๆ ร่วมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเขตการทำประมงตามพื้นที่ต่างๆและรายงานให้ที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป 2.ให้คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (NPOA-IUU) บรรจุหัวข้อแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานภาคประมงทะเลในภาพกว้างของการดำเนินการอยู่ในแผนดังกล่าวต่อไป และ 3.ให้คณะทำงานด้านต่างๆ จัดทำเอกสารที่ต้องเสนอ DGMARE และให้ส่วนเลขานุการ ศปมผ. ตรวจสอบให้มีความสอดคล้องกันทุกฉบับตามกรอบที่กำหนด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!