WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

P82-

'บิ๊กตู่'นัดแจ้งครม. ปรับใหญ่ วิษณุรับ-ร่างรธน. ฉุดปชต.ถอยหลัง พท.ท้า'บวรศักดิ์' กล้าๆเดินหน้าต่อ

       'บิ๊กตู่'แจ้งรมต.ให้รู้ตัวปรับใหญ่กลางที่ประชุมครม. พรุ่งนี้ 'สุวพันธุ์'สวน"แม้ว'โจมตีรัฐบาลทุกเรื่อง'ไพบูลย์'อัดทักษิณไม่อยากได้รธน.แบบนี้เลยจวกเป็นร่างเลวร้าย พาประเทศถอยหลัง 'วิษณุ'รับร่างรธน.ใหม่ฉุดปชต.ถอยหลังชั่วคราว ปชป.-เพื่อไทยค้านรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ชี้ฮั้วอำนาจกัน เหน็บอย่าห่วงกลุ่มอำนาจให้ห่วงประชาชน 'ภูมิธรรม'ท้า'บวรศักดิ์'กล้าให้สุด นำกก.ยุทธศาสตร์ฯใส่ในร่างรธน.ไปเลย อย่าโยนเผือกร้อนให้นายกฯ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบครม.มาร์ค- ผู้เกี่ยวข้องรวม 45 คน ปมซื้อขายมันสำปะหลังอ้างจีทูจี-ราคาต่ำเกณฑ์ จับ'ทรงธรรม"น.ศ.ปชต.ใหม่คาดอนเมือง ก่อนปล่อยตัว

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9028 ข่าวสดรายวัน

 

 

'บิ๊กตู่'แจ้งรมต.ปรับครม.ใหญ่

      เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินทางมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันก่อนร่วมงาน Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ ในช่วงบ่าย

      รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์จะใช้โอกาสก่อนการประชุมครม.แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบอย่างเป็นทางการว่า จะมีการปรับครม.โดยจะปรับใหญ่ มีทั้งการสลับตำแหน่ง มีคนเข้าใหม่จำนวนหนึ่ง และมีบางท่านที่เต็มใจออกจากตำแหน่ง ส่วนที่มีข่าวว่า พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ จะไปเป็นรมว.วัฒนธรรมนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พล.อ.วิลาศจะยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ เช่นเดิม ส่วนใครมาเป็นรมว.วัฒนธรรมยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจของนายกฯ นอกจากนี้ การประชุมครม.วันที่ 18 ส.ค. คาดว่าจะมีการแต่งตั้งพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

 

ปชช.เชียร์ผ่าตัดคลัง-พาณิชย์

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สวนดุสิตโพล มหา วิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,146 คน ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.2558 ต่อกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์เตรียมปรับครม.ในทุกกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจ พบว่าประชาชนร้อยละ 64.10 เห็นด้วยในการปรับครม. ส่วนร้อยละ 23.94 ยังไม่แน่ใจ ขณะที่ร้อยละ 11.96 ไม่เห็นด้วยกับการปรับครม.

      เมื่อถามถึงการปรับครม.ควรทำให้ ทุกกระทรวงหรือปรับเพียงบางกระทรวงเท่านั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 58.89 อยากให้ปรับใหญ่หลายกระทรวง เพื่อความยุติธรรม และเปิดโอกาสให้คนใหม่ที่ เหมาะสมเข้ามาทำงาน รัฐบาลจะได้เดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ ส่วนร้อยละ 41.11 อยากปรับเล็กในบางกระทรวงที่มีปัญหาจริงๆ สำหรับกระทรวงที่ประชาชนอยากให้มีการปรับมากที่สุดคือกระทรวงการคลัง ร้อยละ 83.11 กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 80.28 และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 72.15

หนุนประชามติรบ.แห่งชาติ

       สำหรับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,256 คน ระหว่างวันที่ 13-14 ส.ค.2558 เรื่อง 'การปรองดองและรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ' เนื่องจากกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองที่ยากต่อการควบคุมและอาจนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พบว่ามีประชาชนร้อยละ 63.93 เห็นด้วย เพราะจะได้มีกลไกขจัดความขัดแย้งที่แยกเป็นอิสระจากรัฐบาล และน่าจะมีความเด็ดขาดมากกว่า ส่วนร้อยละ 25.00 ไม่เห็นด้วย เพราะเกินความจำเป็น ซ้ำซ้อนกับรัฐบาลจนกลายเป็นการแทรกแซง และร้อยละ 11.07 ยังไม่แน่ใจ

    ส่วนข้อเสนอให้ทำประชามติเรื่องการมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก 4 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พบว่าร้อยละ 75.80 เห็นด้วย เพราะประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 19.03 ไม่เห็นด้วย เพราะเสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณในเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน อาจเป็นสาเหตุของความวุ่นวายที่จะตามมาภายหลัง และร้อยละ 5.17 ไม่แน่ใจ

      อย่างไรก็ตาม หากมีการทำประชามติในเรื่องนี้จริง พบว่าประชาชนร้อยละ 52.63 ระบุว่าจะลงมติเห็นด้วย จะได้มีตัวกลางในการแก้ปัญหา แต่ร้อยละ 12.66 จะลงมติไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็น และไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ อีกทั้งระยะเวลา 4 ปีนั้นนานเกินไป หากเป็นระยะ 1-2 ปี น่าจะเห็นด้วยมากกว่า

 

'สุวพันธุ์'ซัด'แม้ว'โจมตีทุกเรื่อง

      นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาลและอัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด พาประเทศถอยหลัง ที่ประเทศฟินแลนด์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณโจมตีทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินที่ดีที่สุด เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา มีรูปธรรม อยู่ในรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลจากทุกกระทรวง มีผลผลิตและผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่ ที่สำคัญไม่เคยมองข้ามหรือละเลยความเดือดร้อนของประชาชน มีรูปธรรมที่เห็นได้จากบันทึกสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ในการประชุมครม.ทุกสัปดาห์ และมีการติดตามความคืบหน้าโดยตลอด

       นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรม นูญที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น ในที่สุดประชาชนเป็นผู้ตัดสินเช่นเดียวกัน โดยการลงประชามติ ปัจจุบันคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญมีคำอธิบายให้ในทุกมาตราที่คิด ที่ปรับแก้ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ จากนี้ไปประชาชนจะได้รับรู้เหตุผลของมาตราต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ความจำเป็น ความพอเหมาะพอดีของสาระที่บัญญัติไว้กับสถานการณ์บ้านเมือง และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศในเวลานี้และในอนาคตข้างหน้า บ้านเมืองต้องการการขับเคลื่อนต่อไป ต้องทำให้ประเทศชาติและประชาชนออกจากหล่มและกับดักที่ติดมานาน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คุณธรรม จริยธรรม ขอให้คนไทยติดตามทำความเข้าใจ เพราะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะให้ประเทศไทยเป็นอย่างไรในอนาคต

 

'ไพบูลย์'ไม่แปลกใจ

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ว่า ถือเป็นสิทธิส่วนตัวที่พ.ต.ท.ทักษิณจะออกมาแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งตรงนี้ชัดเจนแล้วว่าพ.ต.ท.ทักษิณมีความเห็นอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะเดียวกันการที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่างเนื้อหาส่วนใหญ่ออกมาแบบนี้ เพราะเราได้รับฟังจากประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงมีผลสำรวจ มีการเรียกร้องจากประชาชน และภาคส่วนต่างๆ อีกด้านหนึ่งที่ต้องการออกมาแบบนี้ ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยกับเราก็มี อย่างไรก็ตามเราต้องมารอดูผลการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะพิจารณาออกมาในรูปแบบไหน จะรับหรือไม่รับ

        "ผมไม่แปลกใจที่คุณทักษิณจะมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวร้ายที่สุดในสายตาของเขา และเขาไม่อยากให้รัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ สิ่งที่คุณทักษิณอยากได้คือรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะเป็นฉบับที่เขาได้ประโยชน์ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มีปัญหาต่างๆ มาก จึงเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เมื่อแก้แล้วก็ยังไม่สุด จึงจำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ผมจึงไม่แปลกใจที่คุณทักษิณจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปอยู่แล้ว" นายไพบูลย์กล่าว

 

"วิษณุ"รับปชต.ถอยหลังชั่วคราว

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลจากหลายฝ่ายหลังกมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติในบทเฉพาะกาล ของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียด เท่าที่ติดตามจากสื่อทราบว่า เมื่อบทบัญญัตินี้อยู่ในบทเฉพาะการ ต้องเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่อาจมีความจำเป็นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจมีความจำเป็นต้องนำอะไรบางอย่างที่ทำให้ถอยออกจากหลักประชาธิปไตย แต่จะให้อยู่อย่างถาวรโดยไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยคงไม่ได้

     "พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่า การร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างในแบบที่เป็นของเรา เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่จะขัดหลักสากลไม่ได้ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว มีวาระ 5 ปีนั้น ส่วนตัวไม่มีความเห็นว่านานไปหรือไม่" นายวิษณุกล่าว

ทั้งกก.ยุทธศาสตร์-สนช.อยู่ยาว

      ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติลักษณะนี้ในบทเฉพาะกาลเหมือนไม่ต้องการคืนอำนาจให้ประชาชนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ที่พูดมาไม่ได้เป็นความเห็น แต่พูดตามความเข้าใจในสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้เป็น ดังนั้น ถึงได้บอกว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญอาจมีเรื่องอื่นด้วย เช่น หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) ยังคงทำหน้าที่ไปจนกระทั่งมี ส.ส. ส.ว. ชุดใหม่ เนื่องจากหลังการเลือกตั้งอาจยังไม่มี ส.ส. ส.ว. ในทันที เพราะบางทีทำผิดกฎเลือกตั้งจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้น สนช.จึงต้องรับผิดชอบแทน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของหลักประชาธิปไตยถือว่าไม่ถูกต้อง แต่บทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่า ให้เป็นไปจนถึงวันหนึ่งแล้วจบการทำหน้าที่

ต่อข้อถามว่าในบทเฉพาะกาลเมื่อเกิดภาวะวิกฤตแล้วรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ สามารถจัดการแทนรัฐบาล จึงเหมือนเป็นการแย่งอำนาจจากรัฐบาล นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามที่ สื่อนำเสนอ หากใครกล้าใช้อำนาจโดยที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้หลวมๆ แล้วมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าทำโดยไม่ถูกต้องก็จะยุ่ง ฉะนั้นเรื่องนี้เหมือนกับกฎหมายทั้งหลายที่เขียนว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ดำเนินการไปตามที่สมควร และหากกรณีนี้ผู้ใช้อำนาจคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตัดสินว่าวิกฤต แล้วเข้ามาจัดการสถานการณ์แทนรัฐบาล แต่มีคนไม่พอใจไปร้องศาลปกครองก็จะเกิดปัญหา ซึ่งกรณีเช่นนั้นเกิดมามากแล้วที่ศาลตัดสินว่า การใช้อำนาจไม่มีเหตุสมควร

เปิดช่องสปช.คุยร่างรธน.

      นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีสปช.บางส่วนเสนอเปิดประชุมเพื่ออภิปรายหลังรับร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯ ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีการแก้ไขใหม่ ไม่เปิดทางให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะจะเกิดความโกลาหล แต่หากสปช.จะไปดำเนินการเป็นการภายในของสปช.ทั้ง 250 คน หรือเชิญบุคคลอื่นมาร่วมได้ ทำนองว่าพบปะสังสรรค์ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่ใช่การเปิดประชุมเหมือนเปิดประชุมสภาที่มีประธานในที่ประชุม มีการอภิปราย มีการจดรายงานการประชุม ดังนั้นเมื่อไม่สามารถเปิดอภิปรายอย่างเป็นทางการได้ จึงไม่สามารถเชิญ กมธ.ยกร่างฯ มาชี้แจงในแต่ละประเด็นที่มีข้อสงสัยได้

      ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะทำข้อเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอปรับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ประเด็นที่มา ส.ว.นั้น ขณะนี้เลยกำหนดที่จะให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างฯ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองเสนอการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเสนอมาแล้ว กมธ.ยกร่างฯ เห็นด้วยแล้วปรับแก้ ก็จะเป็นการปรับแก้ตามความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ใช่ของพรรคการเมือง

 

ชี้ข้อดีตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

      เมื่อถามถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. เสนอให้ทำประชามติถามประชาชนว่าอยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่หากสปช.ตัดสินใจเลือกคำถามนี้แล้วส่งมายัง ครม.ตนจะพิจารณาร่วมกับครม.ด้วย การโยนหินถามทางเช่นนี้ยังไม่ชัดเจนว่า จะผ่านในชั้น สปช.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแห่งชาติถือว่ามีข้อดีเช่นกัน ในกรณีที่เกิดความแตกแยกรุนแรง จึงต้องการให้มีรัฐบาลสมานฉันท์ปรองดองกับทุกฝ่าย

      นายวิษณุ กล่าวว่า ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อครั้งสงครามโลก ซึ่งการมีพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นคงไม่สามารถสู้สงครามได้ จึงตกลงตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งภายใน แต่การมีรัฐบาลในรูปแบบนี้คือลักษณะผิดธรรมชาติ และจะมีใครเป็นฝ่ายค้าน แต่บางสถานการณ์มีความจำเป็นต้องตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายต้องกลับไปเป็นรัฐบาลแบบปกติ

'เอนก'วอนสปช.ช่วยหนุน

       ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกมธ.ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และกมธ.ยกร่างฯ ในฐานะ ผู้เสนอญัตติตั้งคำถามการทำประชามติให้ 4 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญมีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปกล่าวถึงการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้เขียนในร่างรัฐธรรมนูญ การเสนอคำถามประชามติเรื่องนี้ เพราะต้องการถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเหมือนที่ผ่านมา ที่วิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เป็นห่วงอะไร อยากให้ 2 พรรคการเมืองรับภาระบ้างในการหาทางออกของบ้านเมืองไปสู่สันติภาพ

      "เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะรับหรือไม่ เพราะประชาชนคือเสียงสวรรค์ การจะออกจากความขัดแย้งได้อยู่ที่โจทย์ใหม่ นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามประชามติเรื่องนี้ ผมมั่นใจว่าสมาชิกสปช.จะให้การสนับสนุน จึงขอให้ทุกฝ่ายกลับไปคิด ใจเย็นๆ คิดให้นานๆ เรื่องนี้ไม่ใช่การกลับไปแบบเดิม แต่เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรที่ดีขึ้น" นายเอนกกล่าว

 

ปชป.ค้าน-ฮั้วอำนาจกัน

      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ฝ่ายที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล ฝ่ายเสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายตรวจสอบจึงจะเรียกว่าการบริหารภายใต้การตรวจสอบที่เข้มข้นและปัญหาของประเทศไม่ได้อยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการใช้กลุ่มพลังคนมาทำร้ายกัน ไม่เคารพกฎหมาย ใช้อำนาจเกินเลย การเสนอรัฐบาลปรองดองแห่งชาติขึ้นมาเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ระบบเดิมที่มีฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่บริหาร ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบจะทำหน้าที่ตรวจสอบได้โปร่งใสไม่ดีกว่าหรือ เพราะเนื้อแท้การมีรัฐบาลปรองดองคือการฮั้วอำนาจกัน หรือก่อให้เกิดรัฐบาลฮั้ว

      ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องถามว่ารัฐบาลแห่งชาติประกอบด้วยใครบ้าง ถ้าจะบอกว่าให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่จับมือกันเข้าร่วมนั้น ตนเห็นว่า 2 พรรคนโยบายแตกต่างกันจะเข้าร่วมได้หรือ คนที่คิดเรื่องนี้มาต้องตกผลึกทางความคิดให้ได้ก่อน ส่วนการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งนั้น เห็นว่ารัฐบาลนี้มาจากการยึดอำนาจไม่ควรถามคำถามแบบนี้ในการทำประชามติ เพราะเป็นคำถามแบบตีหัวเข้าบ้าน หากรัฐบาลจะอยู่ต่อไปอีก 2 ปีทำได้อยู่แล้ว

 

"เสี่ยอ้วน"ท้าอ.ปื๊ดกล้าให้สุด

       นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอฝากไปยังนาย บวรศักดิ์ ที่นำทีมร่างรัฐธรรมนูญออกมาจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ให้มีความกล้าหาญมากกว่านี้ อย่าไปโยนเผือกร้อนให้ นายกฯ ตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง หลายประเด็น ในเมื่อกล้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ แบบไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ก็ต้องกล้าให้สุด เช่น เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะเอาอย่างไรก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไปเลย อย่าไปโยนให้นายกฯ ตัดสินใจ เดี๋ยวนายกฯ จะถูกครหาว่าทำเพื่อตัวเอง

     "ผมเห็นว่าถึงวันนี้ทุกอย่างยังคลุมเครือรัฐธรรมนูญจะเอาอย่างไร ประชามติจะถามอย่างไร ดูเหมือนว่าจะต้องถามไปยัง คสช. ครม. ทั้งหมด จึงอยากให้นายบวรศักดิ์กล้าทำ กล้าตัดสินใจไปเลย ทำดีก็จะได้รับการเชิดชูเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ แต่ถ้าทำไม่ดีจะได้ เป็นตราบาปติดตัวไป หากไม่มั่นใจแนะนำให้เปิดเวทีพูดคุยถกเถียงกันก่อนที่จะไปถามประชาชน ผมพร้อมให้ความร่วมมือ และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็พร้อมเช่นเดียวกัน" นายภูมิธรรมกล่าว

 

พท.จวกรธน.ลับลวงพราง

      ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเศรษฐกิจจะไม่มีทางฟื้นตัวได้หากประเทศ ไทยไม่กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบจอมปลอม หรือลับลวงพราง เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญมีหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับตรรกะวิบัติ เพื่อหลอกต่างประเทศว่ามีประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้ยังวางหลุมพราง กับดักสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน เช่น นายกฯ มาจากคนนอกได้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งเกินครึ่ง และการตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ เป็นรัฐซ้อนรัฐ

      โดยเฉพาะการแปลงร่างคสช.ให้กลายเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจ 5 ปี และต่ออายุได้ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะรับรัฐธรรมนูญแบบนี้ได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่รับเพราะถูกหลอกว่าให้รับไปก่อนแล้วจะแก้ได้ ยังไม่แย่เท่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผู้ร่างน่าจะมีความละอายบ้าง หรือตั้งใจจะร่างออกมาเพื่อให้ประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลจะได้อยู่ในอำนาจโดยการเลื่อนโรดแม็ปไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจทรุดลงไปเรื่อยๆ และประชาชนจะลำบากมาก จึงอยากเรียกร้องให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เร็วที่สุด โดยต้องมีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงด้วย และอย่าคิดหลอกประชาชนและต่างประเทศเลยเพราะเขารู้ทัน

 

ดักคออย่าห่วงกลุ่มอำนาจ

     นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่กมธ. ยกร่างฯ กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยในหลักของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ หลักง่ายๆ ของประชาธิปไตยแต่กลับเขียนให้ยาก แล้วคาดการณ์กันเอาเองว่าจะเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ ประเภทฝนไม่ตกแล้วกางร่มรอ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และเลยเถิดไปกระทั่งจะถามในประชามติ ว่าควรมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่ ขอเรียนว่าหลักใหญ่ๆ คือคืนอำนาจให้ประชาชน และเดินตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม

       "เรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคำตอบอยู่ที่ประชาชน ผลเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงน้อย เราเป็นฝ่ายค้านก็เท่านั้นเอง มันอยู่ที่คนแพ้ยอมรับกติกาหรือไม่ รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างฯ นั้นอย่าห่วงความมั่นคงของกลุ่มอำนาจอยู่เลย ให้ห่วงความมั่นคงของประชาชนด้วย" นายสมคิดกล่าว

 

ห่วงประเทศไปไม่รอด

     ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 17 ส.ค. เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนยื่นแถลงการณ์ของพรรค ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกพรรค ส่งต่อให้นายบวรศักดิ์ ถือเป็นการแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการทั้งต่อสาธารณะและต่อองค์กรที่รับผิดชอบ ขึ้นกับผู้มีอำนาจจะนำข้อมูล ข้อคิดเห็นที่เสนอแนะไปประกอบการพิจารณา เพื่อปรับปรุง เปลี่ยน แปลงร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังพอมีเวลา

      นายสามารถ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งนอกเหนือจากที่มาของนายกฯ ซึ่งเปิดช่องให้คนนอกได้ คือเรื่องที่มา ส.ว.สรรหา 123 คนที่ล่าสุดเสนอให้ ครม.สรรหา เห็นได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจชัดเจน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเสียอีก ถือเป็นการฝังอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญเลย หากร่างรัฐธรรมนูญกันแบบนี้ ประเทศคงไปไม่รอด ไม่เข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯคิดอะไรอยู่ ไม่อยากมองว่ามีใบสั่ง แต่โดยหลักการประชาธิปไตยนั้นไม่ถูกต้อง ทางที่ดีที่สุด คือเร่งคืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปแบบที่ควรจะเป็น ให้ประชาชนได้ตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันเองผ่านการเลือกตั้ง

 

กก.ยุทธศาสตร์แค่"โปลิตบูโร"

      นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ต่างอะไรจากระบบโปลิตบูโรของระบอบคอมมิวนิสต์ แต่เหตุใดนายบวรศักดิ์ถึงกล้าเอาเรื่องเช่นนี้มาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมองว่าเรื่องดังกล่าวจะขัดกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารถือเป็นความผิดฐานกบฏ และส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหาความ ขัดแย้งทางการเมืองสามารถทำได้ไม่ยาก คือการคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้ง และหน่วยงานต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ก็สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมา

    นพ.เหวงกล่าวว่า สำหรับประเด็นคำถามประชามติ ทั้งการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และรัฐบาลแห่งชาติ ทั้งหมดล้วนเป็นการสนองความต้องการกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นความต้องการของคนกลุ่มเดียวไม่ใช่คนทั้งประเทศ ดังนั้นจะทำอะไรต้องนึกถึงคนไทยทั้ง 67 ล้านคนด้วย

 

สปช.รักชาติชะลอชงกาสิโน

      พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย ประธานกลุ่มสปช.รักชาติ ที่เสนอการตั้งกาสิโนถูกกฎหมาย กล่าวว่า ตอนนี้เหลือปรับรายละเอียดอีกนิดหน่อย แต่รูปแบบเราใช้รูปแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เน้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีห้องประชุม โดยจะมีบ่อนกาสิโนอยู่ข้างในด้วย ซึ่งขณะนี้คงยังไม่ส่งไปยังรัฐบาล เพราะช่วงนี้ดูยังไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลมีเรื่องการปรับครม. เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เป็นช่วงที่งานรัฐบาลเยอะ จึงต้องขอชะลอไว้ก่อน ส่วนจะพับเก็บข้อเสนอดังกล่าวเลยหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่พับ เราจะส่งในรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ส่งในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนี้รอดูจังหวะที่เหมาะสมก่อน คาดว่าจะมีการประสานไปยังรัฐบาลได้ หลังจากที่สปช.ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

      พ.ต.อาณันย์ กล่าวว่า เราทำออกมาแล้วอยากจะให้เกิดขึ้นได้จริง รูปแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คนจะรู้สึกดี รับได้มากขึ้นกว่าการบอกเปิดเป็นบ่อนกาสิโน เพราะครั้งแรกเราเริ่มต้นผิดเสนอเป็นบ่อนกาสิโน ตอนนี้ต้องให้คนรับได้แล้วค่อยๆ ปรับ ส่วนเงินที่เข้ามาเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เราเสนอไปด้วยว่าให้รัฐบาลนำเงินที่ได้ไปบริหารแผ่นดิน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

 

ป.ป.ช.ตั้งกก.สอบซื้อขายมัน

      รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแบบ รัฐต่อรัฐ(จีทูจี) กับบริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang co.,Ltd. สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวนด้วย

      โดยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดคือ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2553 ครม.มีมติเห็นชอบ ตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบาย มันสำปะหลัง ที่เสนอให้จำหน่ายแป้งมันสำปะหลังแบบจีทูจีให้บริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang co.,Ltd. ที่ราคา ณ คลังสินค้าตันละ 10,660 บาท จำนวน 140,000 ตัน ต่อมาคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอข้อพิจารณาให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ในขณะนั้น ยกเลิกการขายแป้งมันสำปะหลังในราคา 10,660 บาทต่อตัน หรือปรับราคาขายเป็น 15,000 บาทต่อตัน

 

อ้างจีทูจี-ราคาต่ำเกณฑ์

       ต่อมากรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังกับบริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang co.,Ltd. ในวงเงิน 1,460,359,443 บาท ในราคาตันละ 10,660 บาท ซึ่งเป็นการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และต่ำกว่าเกณฑ์ราคาพื้นฐานที่ครม.กำหนด โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่มีการมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน และในใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทไม่ใช่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ดังนั้นบริษัท ดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ในการเจรจา หรือลงนามในสัญญาในนามรัฐบาลจีนแต่อย่างใด

      นอกจากนั้น ยังพบว่า ก่อนทำสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศ บริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิในแป้งมันสำปะหลังให้แก่บริษัทในไทย ทั้งนี้การทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวจึงไม่ใช่การซื้อขายแบบจีทูจี แต่เป็นการกล่าวอ้างดำเนินการแบบจีทูจีเพื่อทำสัญญากับรัฐ โดยไม่ต้องมีการประมูล มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนา รมณ์และขัดต่อมติ ครม.

สอบครม.มาร์ค-"มนัส"โดนด้วย

       รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวดำเนินการกล่าวหาโดยหลายหน่วยงานร่วมกัน ได้แก่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา โดยได้กล่าวหา ครม.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รวม 32 ราย คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง และมีผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวม 45 ราย ซึ่งชื่อมีนายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจี และสนช.มีมติถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย

      ส่วนความคืบหน้าล่าสุด คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้มีหนังสือแจ้งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว เหลือเพียงนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ นาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม และนายโอฬาร พิทักษ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยังไม่รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯในครั้งนี้

 

 

 

วิษณุ เครืองาม วิพากษ์ 'กก.ยุทธศาสตร์-รบ.ปรองดอง'

มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จนนำมาซึ่งข้อกังวลของหลายฝ่าย
      ข้อกังวลจากหลายฝ่ายกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัตินั้น เท่าที่ติดตามจากสื่อทราบว่า เมื่อบทบัญญัตินี้อยู่ในบทเฉพาะกาลก็ต้องเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว อาจมีความจำเป็นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน อาจจะจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างทำให้ถอยออกจากหลักประชาธิปไตย แต่จะให้อยู่อย่างถาวรโดยไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยคงไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยบอกว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างในแบบของเรา เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่จะขัดหลักสากลไม่ได้ 

เมื่อถามว่าการที่ กมธ.ยกร่างฯบัญญัติลักษณะนี้ในบทเฉพาะกาลเหมือนไม่ต้องการคืนอำนาจให้ประชาชนใช่หรือไม่
     ที่พูดมาไม่ได้เป็นความเห็น แต่พูดตามความเข้าใจในสิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯต้องการให้เป็น ถึงได้บอกว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญอาจมีเรื่องอื่นด้วย เช่น หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ไปจนกระทั่งมี ส.ส. ส.ว.ชุดใหม่ เนื่องจากหลังการเลือกตั้งอาจยังไม่มี ส.ส. ส.ว.ในทันที เพราะทำผิดกฎเลือกตั้งจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของหลักประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่บทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่าให้เป็นไปจนถึงวันหนึ่งแล้วก็จบการทำหน้าที่ 

เมื่อถามว่าบทเฉพาะกาลเมื่อเกิดภาวะวิกฤตแล้วรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯสามารถจัดการแทนรัฐบาล จึงเหมือนเป็นการแย่งอำนาจจากรัฐบาล
     ถ้าเป็นไปตามที่สื่อนำเสนอ หากใครกล้าใช้อำนาจโดยรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้หลวมๆ แล้วมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าทำโดยไม่ถูกต้องก็จะยุ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนกับกฎหมายทั้งหลายเขียนว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ดำเนินการไปตามสมควร และหากกรณีนี้ผู้ใช้อำนาจคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตัดสินว่าวิกฤตแล้วเข้ามาจัดการสถานการณ์แทนรัฐบาล แต่มีคนไม่พอใจไปร้องศาลปกครองก็จะเกิดปัญหา กรณีดังกล่าวเกิดมามากแล้ว ศาลตัดสินว่าการใช้อำนาจไม่มีเหตุสมควร

เมื่อถามว่ากรณี สปช.บางส่วนเสนอให้เปิดประชุมเพื่ออภิปรายหลังรับร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯนั้น รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่แก้ไขใหม่ไม่เปิดทางให้ทำเช่นนั้นได้หรือไม่
      จะเกิดความโกลาหล แต่หาก สปช.จะดำเนินการภายในของ สปช.ทั้ง 250 คน หรือเชิญบุคคลอื่นมาร่วมก็ได้ ทำนองว่าพบปะสังสรรค์ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่ใช่การเปิดประชุมเหมือนเปิดประชุมสภา มีการอภิปราย จดรายงานการประชุม ดังนั้นจึงไม่สามารถเชิญ กมธ.ยกร่างฯมาชี้แจงในแต่ละประเด็นที่มีข้อสงสัยได้ ส่วนกรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) จะทำข้อเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯเพื่อขอปรับเนื้อหาในร่างฯ อาทิ ประเด็นที่มา ส.ว.นั้น ขณะนี้เลยกำหนดให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างฯ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองเสนอการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเสนอมาแล้ว กมธ.ยกร่างฯเห็นด้วยแล้วปรับแก้ ก็จะเป็นการปรับแก้ตามความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯไม่ใช่ของพรรคการเมือง

เมื่อถามว่ากรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เสนอทำประชามติให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ
     หาก สปช.ตัดสินใจเลือกคำถามนี้แล้วส่งมายัง ครม. ก็จะพิจารณาร่วมด้วย การโยนหินถามทางเช่นนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่านในชั้น สปช.หรือไม่ รัฐบาลแห่งชาติก็ถือว่ามีข้อดีเช่นกัน กรณีเกิดความแตกแยกรุนแรง จึงต้องการให้มีรัฐบาลสมานฉันท์ปรองดองกับทุกฝ่าย เคยเกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อครั้งสงครามโลก การมีพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นคงไม่สามารถสู้สงครามได้ จึงตกลงตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งภายใน แต่การมีรัฐบาลในรูปแบบนี้คือลักษณะผิดธรรมชาติ จะมีใครจะเป็นฝ่ายค้าน แต่บางสถานการณ์จำเป็นต้องตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายก็ต้องกลับไปเป็นรัฐบาลแบบปกติ

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!