WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

112


ปู ออกโรงค้าน กก.ยุทธศาสตร์  กมธ.ปัดล้าหลัง โต้แม้วติงรธน.
     'ปู'โพสต์ 4 ข้อติงรธน. ชี้ต้องยึดโยงประชาชน ค้านกก.ยุทธศาสตร์ฯ อำนวยยุติธรรมเพื่อสร้างปรองดอง ยิ่งยืดเยื้อยิ่งกระทบเศรษฐกิจ เพื่อไทยจี้กมธ. ทบทวนกก.ยุทธศาสตร์ฯ จตุพรไม่ขวางคสช.อยู่ต่อแต่ขอพูดให้ชัด วิษณุเชื่อปรับแก้รธน.ไม่ทันแล้ว 'หม่อมอุ๋ย' ไม่รู้'บิ๊กตู่'แจ้งปรับครม. ผบ.ตร.ยันจบแน่-ถอดยศแม้ว โอ๊คโพสต์เย้ย 2 มาตรฐาน

วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9029 ข่าวสดรายวัน


วิษณุ ชี้ปรับครม.เป็นเรื่องบิ๊กตู่

    เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวปรับครม.ว่า ไม่มี ยังไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่ใช่เรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเรียกหรือหารือกับใคร หรือหากมีจริงก็เป็นเรื่องของนายกฯ คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ส่วนจะปรับเล็กหรือปรับใหญ่ ตนไม่ขอพูด ไม่ควรเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน และตั้งแต่ตนพ้นจากเลขาธิการครม.ก็ไม่เคยตรวจสอบรายชื่อ เพราะเป็นหน้าที่ของเลขาฯ ครม. แต่หากเลขาฯ ครม.มีข้อสงสัยก็อาจมาหารือกับตนได้
     เมื่อถามว่า ท่าทีของครม.เป็นอย่างไรหลังจากข่าวนี้ออกมา นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ข่าวออกมาเป็นเดือนแล้ว นายกฯ ยังมอบหมายงานตามปกติ รัฐมนตรีบางคนนายกฯ มอบหมายงานให้ยาวไปถึง 2 เดือนข้างหน้าก็มี แต่เรื่องแบบนี้ ถ้าจะปรับมักเกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน และหากปรับครม.งานที่มอบไปแล้วคงต้องเปลี่ยนแปลง ขอย้ำว่าที่ผ่านมายังดูปกติ
     เมื่อถามว่า ปรับครม.แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรบ้างเพราะรัฐบาลได้รับพิมพ์เขียวปฏิรูปมาแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า พิมพ์เขียวนั้นคือการปฏิรูป ไม่ใช่พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ และการปรับครม.ก็ไม่ใช่เรื่องปฏิรูป เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนพิมพ์เขียวปฏิรูป จะมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ รับไปดำเนินการ ขณะที่รัฐบาลหากเห็นว่าจุดใด ช่วงใดและคนใดไม่เหมาะสม หรือมีคนที่เหมาะสมกว่า อาจสลับสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงได้เป็นธรรมดา ส่วนเสียงเรียกร้องให้ปรับทีมเศรษฐกิจนั้น ไม่มีความเห็น นายกฯ คงได้อ่านจากข่าวเช่นกัน และไม่เคยได้ยินนายกฯ ปรารภเรื่องนี้ และไม่มีใครกล้าไปถามนายกฯ เช่นกัน

"อุ๋ย"ไม่ทราบปรับครม.
     ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายกฯจะแจ้งให้ที่ประชุมครม.วันที่ 18 ส.ค.รับทราบถึงการปรับเปลี่ยนครม.ว่า ตนไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องถามนายกฯ มาถามตนไม่ได้ ถือว่าถามผิดคน ส่วนจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะยังไม่มีสัญญาณ แต่หากเปลี่ยนแปลงแล้วจะให้ทำอย่างไร ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาถือว่าทำงานเต็มที่ แต่น่าจะทำได้เร็วกว่านี้ แต่ติดขัดในหลายด้านที่ไม่ขอบอก ส่วนข้าราชการ ตนถือว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกคนให้ความร่วมมือเต็มที่
     "ผมเน้นเรื่องระยะยาวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเรื่องระยะสั้นใครๆ ก็คิดออก แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ซึ่งต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ว่าเป็นอย่างไร อย่าฝันกลางวันว่าจะมีตัวเลขอื่นเข้ามาช่วย เช่น ยางราคา 60 บาท ก็อยู่ที่ตัวเลข 60 บาท อย่าไปคาดหวังว่าจะมีตัวอื่นเพิ่มให้มันยุ่ง ต้องอยู่กับความเป็นจริง" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ผบ.ตร.ยันจบแน่-ถอดยศแม้ว
      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าจากที่พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม ผู้บังคับการกองทะเบียนพล(ผบก.ทพ.) ไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเป็นไปด้วยดี เชื่อว่าคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารคงจะตอบข้อซักถามที่ตร.ถามไปอย่างกระจ่างชัด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้คงสรุปได้ ตร.เตรียมความพร้อมในทุกด้านหากมีคำสั่งมาจากพล.อ. ประยุทธ์ก็จะดำเนินการทันที ขอรับรองว่าเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นภายในยุคสมัยของตน โดยจะเป็นผู้ถอดสลักระเบิดลูกนี้เอง เบื้องต้นน่าจะได้ข้อยุติเรื่องนี้แล้ว เพียงแต่ต้องรอหนังสือยืนยันที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน หากตนถูกฟ้องร้องก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำยืนยันว่า ทำไปตามกฎหมายแน่นอน
     "ก็สบายใจขึ้น หลังจากมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนข้อมูลในการดำเนินการ อย่างน้อยทำให้สังคมได้เห็นว่าผมดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรัดกุมและรอบคอบเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ยื้อเวลาหรือเตะถ่วงแต่อย่างใด ถ้ามีคำถามว่าเร่งรัดใช้อำนาจไม่รอบคอบ ผมจะตอบเขาได้" ผบ.ตร.กล่าว

โอ๊คโพสต์เย้ย 2 มาตรฐาน
      ด้านนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายพ.ต.ท.ทักษิณโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าจะถอดยศ ถอดกางเกงก็ทำตามสบาย แม้พ่อตนจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เพราะมองว่ายศบรรดาศักดิ์เป็นของนอกกาย และคนเคยเป็นนายกฯถึง 2 สมัยคงไม่มีใครมานั่งอาลัยอาวรณ์กับยศของทางราชการที่ติดตัวมาในอดีตตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่น่าสงสัยคือเจ้าตัวที่จะโดนถอดยังไม่สนใจเลย แต่ทำไมรัฐบาลนี้จึงให้ความสำคัญกับการถอดยศของอดีตนายกฯ มากกว่าปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ความสำคัญถึงขั้นนายกฯต้องมอบให้รมว.ยุติธรรมเป็นประธานประชุมด้วยตนเองและสรุปผลให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเร่งดำเนินการได้ ภายในการประชุมแค่ครั้งเดียว
      นายพานทองแท้ ระบุว่า อยากรู้ว่ารัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องความผิดในลักษณะเดียวกันของอดีตนายกฯ ที่เป็นทหาร อดีตนายกฯที่สนับสนุนพรรคพวกให้ออกมาเป่านกหวีดป่วนเมือง จนผู้นำรัฐบาลนี้ใช้เป็นเหตุปฏิวัติ ยึดอำนาจการปกครองด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ อย่างเรื่อง ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ จะมอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเรียกประชุม เพื่อเร่งรัดกระบวนการแบบที่ทำนี้บ้างหรือไม่ หรือกรณีบุกรุกเขายายเที่ยงของอดีตนายกฯ จะมอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรีบเรียกประชุมด่วน แบบที่ทำกับพ่อตนบ้างหรือไม่
    "อดีตนายกฯฝั่งหนึ่งโดนพิจารณาเอาผิด สอยลงจากตำแหน่งมาแล้วถึง 4 คน ข้อหาหน่อมแน้มถึงขั้นทำกับข้าวออกทีวีก็ถูกปลด ขณะที่นายกฯอีกฝั่ง ทำอะไรก็ไม่มีความผิด แบบนี้การปรองดองของคนในชาติจะสำเร็จได้อย่างไร การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมต้องมาก่อน เป็นสัจธรรมซึ่งผมพูดอยู่เสมอ หมายความว่าการกระทำประเภท 2 มาตรฐานไม่ควรมีหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย รัฐบาลนี้จะจริงใจแก้ปัญหาหมักหมมของประเทศชาติ จะสร้างปรองดองได้สำเร็จจริงหรือไม่ พิสูจน์แค่เรื่อง 2 มาตรฐานก็พอ"นายพานทองแท้ระบุ

"ปู"ติงรธน. 4 ข้อ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก มีเนื้อหาว่า ขอใช้สิทธิเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นช่วงที่สปช. รัฐบาลและคสช.จะตัดสินใจ และหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ หวังว่าข้อคิดเห็นที่เสนอจะมีส่วนช่วยให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมากขึ้น
      1.รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าตนเคยพูดคำนี้มาหลายครั้ง แต่เชื่อว่าเราอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ในสาระสำคัญคือ "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชา ธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน" คือต้องเปิดกระบวนการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญ ออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้วจากคณะบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าเกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง

ค้านคกก.ยุทธศาสตร์
     2.ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่รับใช้และยึดโยงกับประชาชน ก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาลและเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตัดสินใจแทนแม้ในยามวิกฤต
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า สิ่งที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่อารยประเทศทั่วโลกล้วนยอมรับ คือความเชื่อมั่นในประชาชนและใช้การคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชนเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้น ภาระของผู้มีอำนาจ จึงควรเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรม ป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติ กลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของเขา เลือกตัวแทนและนโยบายตามเจตจำนงตนให้กลับมาแก้ปัญหาตามที่เขาต้องการ การคืนสิทธิตัดสินใจคือศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ชี้ยิ่งยืดเวลายิ่งกระทบเศรษฐกิจ
     3.ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง คือความปรารถนาร่วมกันของคนทั้งประเทศ บ้านเมืองจะสงบสุข จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม สังคมไทยเรามีบทเรียนในอดีตหลายครั้ง จากความขัดแย้งในกรอบกติกาที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงความเท่าเทียมและกำหนดบทบาทของรัฐ อำนวยความยุติธรรมทุกด้านให้เกิดขึ้นกับทุกคนเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความสุขและความปรองดองภายในสังคม
     4.ประเทศเราได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายมามากพอแล้ว จึงขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง โปรดลำดับความสำคัญ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
     "ดังนั้น การที่เรายิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดีโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาขณะนี้ รังแต่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนซ้ำเติมยิ่งขึ้น ด้วยความห่วงใยอย่างที่สุด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ

จตุพรซัดร่างรธน.เลวร้ายที่สุด
       ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์กรณีสปช.อาจมีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเจตนาที่จะเขียนเพื่อให้คว่ำอยู่แล้ว เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด ไม่ได้อธิบายถึงความหลักแหลม เป็นการวางรัฐประหารล่วงหน้า ตนรู้ตั้งแต่เปิดประตูดึงคนนอกมาเป็นนายกฯ แล้ว เพราะการจะตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ขึ้นมาควบคู่การบริหารประเทศและนำนายกฯ แม่ทัพนายกอง มาเป็นกรรมการนั้น ในความเป็นจริงจะทำให้บริหารประเทศไม่ได้ คิดแบบผิดหลักการ การร่างรัฐธรรมนูญเป็นขั้นตอนของ สปช. แต่ร่างผิดหลักการบริหารประเทศแบบชัดเจน ต่อให้ร่าง 100 รอบก็ยังไม่ดี ถ้ายังมีมาตรา 35(10) ที่เสมือนการล็อกสเป๊กไว้
     นายจตุพร ยังกล่าวถึงข้ออ้างอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งว่า การพูดเรื่องปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยพูดเรื่องนี้มาแล้ว และสรุปเรื่องไว้ครบถ้วนแล้ว ตนจึงมองว่าการปฏิรูปไม่มีวันทำได้ และจบลงด้วยคนเพียงคนเดียว เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันจบ เช่นเดียวกับปัญหาประเทศที่ไม่มีรัฐบาลใดจะแก้ไขปัญหาได้จบ มองว่าการพูดเรื่องปฏิรูปประเทศเป็นเพียงวาทกรรมที่จะใช้อยู่ในอำนาจเท่านั้น

ไม่ขวางคสช.อยู่ต่อแต่พูดให้ชัด
     "ในแม่น้ำ 5 สายไม่ควรมีกลุ่มการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ผมไม่ขัดข้องถ้าคสช.จะอยู่ต่อ จะอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ไป แต่อย่ามาอ้อมค้อม แค่บอกมาตรงๆ ว่าจะอยู่ต่อ ไม่ใช่ทำมาตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งต้องให้เกียรติคนไทยด้วย" นายจตุพรกล่าว
     นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ตนยังไม่ได้ดูคลิปที่พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญในงานเลี้ยงคนเสื้อแดงที่ประเทศฟินแลนด์ แต่เชื่อว่าพี่น้องเสื้อแดงที่มีอยู่ทุกมุมโลกต้องคิดแบบเดียวกับตนในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เช่นกัน ส่วนตัวยังไม่ได้พูดคุยกับคนเสื้อแดงหรือพ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากคำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง การพูดหรือการแสดง ออก จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่คนเสื้อแดงในฐานะวิญญูชนทำกันเท่านั้น

พท.ยื่นค้านร่างรธน.
      ที่รัฐสภา นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายสามารถ แถลงว่า มายืนยันจุดยืนพรรคเพื่อไทยที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความไว้วางใจอำนาจประชาชน ไม่อยากให้เขียนรัฐธรรมนูญในทางที่ใช้อำนาจมาครอบงำประชาชน สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลคือ 1.เรื่องนายกฯคนนอก 2.ที่มาส.ว. 200 คน 3.การกีดกันและตัดสิทธิผู้ถูกถอดถอนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต
      นายสามารถ กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงใยมากขณะนี้คือ การร่างรัฐธรรมนูญให้ครม.ชุดปัจจุบันแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะมาเลือก ส.ว.สรรหา และการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ 23 คน มาใช้อำนาจเต็มที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารกรณีเกิดวิกฤต เหมือนเป็นรัฐซ้อนรัฐ ใช้อำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญมาครอบงำ

จี้ทบทวนคกก.ยุทธศาสตร์
     นายสามารถ กล่าวต่อว่า เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การควบคุมและชี้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อสืบทอดอำนาจ สุดท้ายแล้วคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะกลายเป็นเผด็จการ ถ้าเขียนเช่นนี้แสดงว่ายังหวั่นเกรง ระแวง ไม่คิดปรองดองสามัคคี ขอให้กมธ.ยกร่างฯทบทวนด้วย
     นายสามารถ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีเจตนาไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติของประชาชน เพราะเนื้อหาที่ออกมา ไม่มีพรรคใดเห็นด้วย เหมือนอยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ การอ้างว่า ต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเพื่อเป็นรถดับเพลิงในกรณีไฟไหม้นั้น ห่วงว่าจะมีคนไปจุดไฟเพื่อให้ดับเพลิงบ่อยๆ เหมือนอยากให้มีวิกฤตเกิดขึ้น เพื่อให้มีนายกฯคนนอก เข้ามา เหมือนหาช่องให้เกิดวิกฤตทั้งที่โดย หลักการประชาธิปไตยแล้ว มีกระบวนการหาทางออกโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ด้วยการยุบ สภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
      เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร นายสามารถกล่าวว่า การจะรณรงค์อย่างไร ขึ้นอยู่กับประกาศคสช. จะเป็นอุปสรรคในการรณรงค์ประชามติหรือไม่

ปัดแม้วส่งสัญญาณต้านรธน.
     ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่พ.ต.ท.ทักษิณระบุให้ช่วยกันต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการส่งสัญญาณให้พรรคเพื่อไทยต่อต้านร่างรัฐธรรม นูญหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไทยคนหนึ่ง ย่อมมีสิทธิวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าอีกสักระยะหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ นักวิชาการจะออกมาให้ความเห็นกัน
      นายสามารถ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอทำประชามติให้ตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาตินั้น ไม่มีการปรองดองที่ไหนเกิดขึ้นได้โดยใช้กฎหมายบังคับ คิดว่า รัฐบาลปรองดองฯเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทั้งสองพรรคใหญ่คงตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้พรรคใดเป็นนายกฯ ก็ต้องนำคนนอกมาเป็นนายกฯ และเมื่อมาเป็นแล้วจะบริหารประเทศกันอย่างไร เพราะต่างฝ่ายต่างไม่พูดกัน จะมีเสถียรภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญจะไม่มีการตรวจสอบการบริหารงาน เพราะไม่มีฝ่ายค้าน
      ด้านนางนรีวรรณกล่าวว่า ทุกความเห็นที่ส่งมา ไม่ว่ามาจากใคร กมธ.ยกร่างฯพร้อมนำไปพิจารณาทั้งหมด เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ข้อเสนอที่แต่ละฝ่ายส่งมาก็ไม่ได้สอดคล้องกันทุกเรื่อง แต่กมธ.ยกร่างฯ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

ป๊อกโยนสปช.ตัดสินรธน.
      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของสปช. จะพิจารณาให้ดีเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายเป็นอย่างไร หากจะคว่ำต้องเป็นความเห็นของสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนตอบไม่ได้ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
     เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่ามีการปกปิดรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ จะปิดอย่างไร สุดท้ายต้องออกสู่สังคม มีการเผยแพร่ก่อนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับ ส่วนที่หลายพรรควิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นเรื่องธรรมดา ประชาธิปไตยเรามาถึงขั้นนี้แล้ว วิพากษ์ได้เลย เป็นเรื่องปกติ บางคนมองว่าดี บางคนก็มองว่าไม่ดี
     เมื่อถามว่าจุดที่ถูกติติงต้องนำมาทบทวนหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสปช.ต้องช่วยกัน ถ้าสิ่งที่ติงมันดีต้องชี้แจง ถ้าไม่ดีต้องนำไปพิจารณา ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวร้ายที่สุด ขอไม่พูดถึงดีกว่า ตนว่าการจะเอาคนมาขัดแย้งกัน เลวร้ายกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกทำให้บ้านเมืองมีกฎ กติกา หากจะว่าเลวร้ายที่สุดก็แล้วแต่

วิษณุปัดวิจารณ์รัฐธรรมนูญ
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีสปช.อาจตีตกร่างรัฐธรรมนูญว่า ทาง ออกมี 2 ข้อ คือรับร่าง กับไม่รับร่าง แต่เอาไว้ก่อน เดี๋ยวกลายเป็นว่าไปแช่งเขาและโทษเขาอีก หากอยู่ในสถานะอื่นอาจพูดแต่เป็นรัฐบาลพูดไม่ได้ หากพูดไปจะกลายเป็นว่ารัฐบาลพูด ทั้งที่รัฐมนตรีอีก 35 คน
      นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคำถามทำประชามติว่า บางคำถามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ โยนหินถามทางไปแล้วแต่ไม่รู้ว่าสปช. จะเอาด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เป็นไปไม่ได้ที่คำถามของสนช.และสปช.จะเหมือนกัน แต่อาจมีประเด็นคล้ายกันได้ หากคล้ายกัน รัฐบาลสามารถนำคำถามมาปรับรวมกันได้ โดยอยู่บนพื้นฐานว่าต้องให้ประชาชนตอบได้ง่าย แค่ใช่หรือไม่ใช่ อย่าไปบอกว่าได้แล้วมีคำว่าแต่ หรือไม่เอาแล้วมีต่อท้ายว่าเว้นแต่อย่างนั้นไม่ได้ เพราะคำถามประชามติไม่ใช่แบบสอบถามสำมะโนประชากร ท้ายที่สุดรัฐบาลจะเป็นคนเลือกคำถาม หากคำถามไม่โดนใจก็ไม่เลือก แต่รัฐบาลจะแต่งคำถามใหม่ไม่ได้ ต้องเลือกของสนช.หรือสปช. มิเช่นนั้นก็ไม่เลือกเลย

เชื่อแก้คกก.ยุทธศาสตร์ไม่ทัน
    นายวิษณุ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์กรณีกมธ.ยกร่างฯ บัญญัติบทเฉพาะกาลในมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติว่า คงไม่สามารถไปปรับแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวได้ทัน เพราะวันที่ 19-20 ส.ค. นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะเรียก ผู้ที่เคยขอแก้ไขมาชี้แจง จากนั้นภายในวันที่ 21-22 ส.ค. นี้ กมธ.ยกร่างฯ ต้องส่งร่าง รัฐธรรมนูญให้สปช. ดังนั้นหากจะปรับแก้ก็คงไม่ทัน
      นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ากมธ.ยกร่างฯ เขียนไว้เช่นนั้นจริงและเป็นหลักการจริง ถือเป็นบทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน คำนึงถึงสถาน การณ์ที่อาจไม่สงบเรียบร้อย จึงคิดว่าควรมีกรรมการกลางขึ้นมาดูแล แต่จะเข้ามาดูแลได้ก็ต้องเห็นว่ารัฐบาลหมดหนทางแก้ไขปัญหานั้นและบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึกแล้วไม่เป็นผล ซึ่งสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องยกพวกตีกัน เผาบ้านเผาเมือง แต่อาจเป็นเรื่องอื่นที่คาดไม่ถึง เช่น ภัยก่อการร้าย ซึ่งสถานการณ์บางจุด รัฐบาลอาจแก้ไขไม่ได้ อย่างการชุมนุมก่อนรัฐประหาร รัฐบาลก็รับมือไม่ได้จึงเรียกทหารเข้ามาช่วย แต่บางครั้งทหารก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่มีอำนาจ จึงต้องมีองค์กรหนึ่งที่มีอำนาจพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งตนอธิบายตาม ที่เข้าใจ

โต้วุ่นรัฐประหารซ่อนรูป
      เมื่อถามถึงข้อครหาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นการรัฐประหารซ่อนรูปนั้น นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้อำนาจที่คิดขึ้นเอง ส่วนเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 อธิบายไม่ได้ว่าใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการยึดอำนาจ ดังนั้นการจะบอกว่ารัฐประหารซ่อนรูปคงไม่ใช่ แค่อุปมากันให้สะใจ
     ผู้สื่อข่าวถามว่าในช่วงเลือกตั้งหรือกำลังตั้งรัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะให้คำแนะนำรัฐบาลได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สมมติว่าเกิดก่อน รัฐบาลก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้เพราะพล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าการบริหารราชการตามปกติเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะแยกมาทำเรื่องปฏิรูปและสร้างปรองดอง ส่วนอำนาจพิเศษจะใช้ได้ต่อเมื่อเกิดวิกฤตและผ่านการใช้อำนาจอื่นตามปกติของรัฐบาลมาหมดแล้ว และกำลังเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว เมื่อนั้นกรรมการยุทธศาสตร์ฯจึงจะเข้ามาใช้อำนาจพิเศษ หากไม่ถึงขั้นนั้นก็ยังใช้ไม่ได้

พัลวันแค่ลอกรธน.ฝรั่งเศส
      นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ากมธ. ยกร่างฯ ได้แนวคิดเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ข้อคิดเห็นในการแก้ปัญหาขัดแย้งในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยความคิดพื้นฐานเรื่องนี้มีอยู่ในมาตรา 16 แห่งรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศส แต่ร่างของไทยไม่ได้ยกมาเหมือนทั้งหมด ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับประเทศไทย
     นายวิษณุ กล่าวอีกว่า บุคคลที่จะเข้ามา เหมือนเป็นหลักประกันของประเทศว่าคนเหล่านี้ต้องช่วยให้ประเทศเกิดการปฏิรูปและปรองดอง รวมถึงช่วยระดมสมองแก้ปัญหาเมื่อถึงวิกฤต ทั้งนี้ตนคงไม่เข้าไปร่วมในคณะกรรมการยุทธศสตร์ฯ เพราะทำมาหากินนอนเขียนหนังสือ ออกโทรทัศน์จะสบายใจกว่า และการระดมสมองของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่จำเป็นต้องให้ตนช่วย เพราะคนที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายในประเทศนี้ยังมี อีกมาก
     เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รวมถึงฝ่ายการ เมือง เรียกร้องกมธ.ยกร่างฯ ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยจะแก้ไขได้ทันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่าพรรคการเมืองส่งคำขอแก้ไขไปให้กมธ.ยกร่างฯ ด้วยหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าคงไม่ทัน อย่าว่าแต่ร่างใหม่หรือจะแก้เพียง 1-2 มาตราเวลาก็ไม่พอ ส่วนที่เรียกร้องในช่วงเวลานี้เนื่อง จากกมธ.ยกร่างฯ เพิ่งบัญญัติมาตราต่างๆ ไว้ในบทเฉพาะกาลหรือมีเหตุผลอื่นก็ไม่ทราบได้

สนช.ยังไม่คุย"ประชามติ"
     ที่รัฐสภา พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงคำถามประชามติที่สนช.จะเสนอว่า สนช.ยังไม่มีการหารือกัน แต่เข้าใจทุกคณะของสนช.จะมีการประชุมและเสนอมาคณะละ 1 คำถาม และให้ลงมติจะเลือกคำถามใด ซึ่งคณะของตนยังไม่มีการหารือ เนื่องจากมองว่ายังเร็วไปที่จะมาพูดถึงเรื่องนี้
     นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช.กล่าวว่า ขอเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ เขียนในร่างรัฐธรรม นูญให้ชัดเจน เปิดหน้าชก หงายไพ่ไปเลยให้ประชาชนได้รู้ได้เห็น ไม่ต้องปิดบัง หลบๆ ซ่อนๆ เหนียมอาย โดยเขียนไว้ในบทเฉพาะ กาลว่าในวาระเริ่มแรก 4 ปีนี้ต้องการให้ภาคประชาชน ข้าราชการ ทหาร และตำรวจร่วมกันปูพื้นฐานของประเทศนี้ และให้มีส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชน 300 คน จะสังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรคก็ได้ รวมถึงให้มีส.ว.จากการสรรหาจากกลุ่มพลังที่มีอำนาจทางสังคม 200 คน ร่วมกันเป็นสมาชิกรัฐสภา ทำภารกิจดังกล่าวภายในเวลา 4 ปี จะได้รู้เลยว่าสปช.โหวตผ่านไปแล้วและไปทำประชามติถามประชาชนว่าเขาจะเอาด้วยหรือไม่ คนที่จะมาเป็นรัฐบาลหรือเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก็จะมีพลังมีอำนาจขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ จึงจะแก้ปัญหาได้จริง

สปช.เตรียมนัดสังสรรค์
      นพ.ชัยพร ทองประเสริฐ สปช. เปิดเผยว่า สมาชิกสปช.จังหวัดได้พูดคุยกันไว้นานแล้วว่าจะมีการเลี้ยงสังสรรค์กัน หลังจากที่เสร็จภารกิจลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 2 ก.ย. แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดข้อครหา เพราะเป็นวันก่อนลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าควรจะเป็นวันที่สมาชิกสปช.ได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว สปช.จะนัดกันไปกินเลี้ยงสังสรรค์ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา รับประทานอาหารร่วมกัน โดยขณะนี้ได้ติดต่อไปยังบริษัทล่องเรือแกรนด์เพิร์ลแล้ว แต่ต้องสอบถามความเห็นของสมาชิกอีกครั้งก่อน เบื้องต้นมีสมาชิกสปช.ประมาณ 100 กว่าคน จ่ายเงินมาแล้วคนละ 1,500 บาท
     นพ.ชัยพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.ยังไม่ทราบเรื่อง แต่จะแจ้งให้ทราบ และเรียนเชิญนายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่ 1 และน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ด้วย ขึ้นอยู่กับทั้ง 3 คนว่าจะไปร่วมกิจกรรมนี้ด้วยหรือไม่

สปช.ขอดูร่างรธน.ก่อน
      นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการอภิปรายประเด็นคำถามประชามติในวันที่ 18 ส.ค.ว่า ประเด็นนี้ตนไม่ขอพูดถึงและไม่อยากวิจารณ์ ที่ผ่านมาตนเคยพูดและท้วงติงมาตลอด ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองแนวทางที่จะเป็นคำถามประชามติ และหากให้ลงมติจริงทั้งสองคำถาม ตนก็จะไม่เลือกคำถามใด
      พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิกสปช.กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการอภิปรายประเด็นนี้ในวันที่ 18 ส.ค. เนื่องจากยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะเสนอคำถามประชามติได้อย่างไร จะทราบได้อย่างไรในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องต่างๆ ไว้รัดกุมหรือไม่ อย่างเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ยังไม่ทราบคณะกรรมการยุทธศาตร์ฯจะเป็นส่วนหนึ่งมาดูตรงนี้ มีอำนาจอย่างไร ดูแล้วครอบคลุมหรือไม่ หากกมธ.ยกร่างฯบัญญัติทุกอย่างครอบคลุมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามประชามติในเรื่องนี้อีก ทั้งนี้คิดว่าหากสปช.ส่วนใหญ่ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญอาจมีคำถามอื่นที่ดีกว่า หรือมีการเสนอมากกว่า 2 คำถามนี้ก็เป็นได้ จึงไม่เห็นด้วยที่จะอภิปรายหรือพูดถึงเรื่องนี้ก่อน แต่วันที่ 19-20 ส.ค. ที่ชี้แจงการพิจารณาคำขอแก้ไขนั้น ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะพิจารณารับร่างหรือไม่ ต้องดูกมธ.ยกร่างฯแก้ไขตามที่ขอไปหรือไม่ ประเด็นเล็กๆ ไม่แก้ไม่เป็นไร แต่ประเด็นสำคัญหากไม่แก้ให้ก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจ แต่โดยรวมตนจะต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อน

ชี้ต้องรับร่างก่อนถกประชามติ
      ด้านนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สปช. กล่าวว่า คณะของตนจะเข้ารับฟังการชี้แจงในวันที่ 19 ส.ค. เวลา 10.30 น. เข้าใจว่ารับฟังเหตุผลการปรับแก้แต่ละมาตรา โดยกมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้กำหนดจำนวนผู้เข้ารับฟัง ให้เข้าได้หมดทุกคนที่ลงชื่อแต่ละคำขอ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งตนจะเข้ารับฟังด้วยเช่นกัน
      นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า คณะของตนจะมอบให้ นายนิรันดร์ พันธกิจ สมาชิกสปช. เข้ารับฟังเท่านั้น ทั้งนี้กมธ.ปฏิรูปการเมือง ได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ 2 ญัตติที่เสนอให้ทำประชามติ โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ 1.เห็นด้วยกับที่ประชุมสปช. ที่จะประชุมวันที่ 18 ส.ค. เพื่อหารือถึงแนวทางคำถามประชามติ และ 2.ไม่เห็นด้วยกับที่ประชุมสปช. เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไข 2557 กำหนดให้สปช.มีมติเสนอประเด็นคำถามประชามติในวันเดียวกับการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากสปช.รับร่างก็ตั้งคำถามได้ แต่หากไม่รับร่างเรื่องก็จบไป ดังนั้นกมธ.ปฏิรูปการเมือง จะไปอภิปรายถึงเหตุผลและข้อห่วงใยในที่ประชุมสปช. เพื่อให้ทราบว่าการนำญัตติคำถามประชามติมาพูดก่อนการลงมติอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะเห็นคล้อยตามหรือไม่

เสธ.อู้โต้รธน.ล้าหลัง
      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพ.ต.ท.ทักษิณวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญล้าหลังว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ล้าหลัง ส่วนที่เป็นข้อกังขาอาจเป็นเพราะบทเฉพาะกาลได้วางมาตรการเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งกลไกเหล่านี้จะมีอายุเพียง 3-5 ปี จึงไม่ใช่การถอยหลังไปยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และไม่ใช่การควบคุมอำนาจ จนรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ตนเห็นว่าไม่ต่างจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ให้คำปรึกษารัฐบาล หากไม่มีสถานการณ์พิเศษก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษควบคุมอำนาจ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ บัญญัติไว้เพื่อป้องกันเท่านั้น
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการพิจารณาบทเฉพาะกาลให้เสร็จ ก่อนจะเชิญ ผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสมาชิกสปช.ทั้ง 8 กลุ่ม เข้ารับฟังรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19-20 ส.ค.นี้ แบ่งเป็นวันละ 4 กลุ่ม ขณะที่ครม.ติดภารกิจ จึงไม่อาจเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ขวางสื่อฟังชี้แจงขอแก้ไขรธน.
     นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ พิจารณาข้อเสนอของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งไทย ที่จะขอเข้าร่วมฟังคำชี้แจงการประชุมร่วมของกมธ.ยกร่างฯ และกลุ่มผู้ที่ขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 กลุ่ม วันที่ 19-20 ส.ค.นี้ ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯ เข้าใจในเหตุผลและความจำเป็นของสื่อที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลและความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าการชี้แจงครั้งนี้เป็นเรื่องภายในที่ต้องพูดคุยกัน หากเปิดให้สื่อเข้าฟังข้อมูลอาจไม่ครบถ้วน ประเด็นอาจไม่ครอบคลุม ดังนั้นหากสื่อต้องการจะเผยแพร่ข้อมูล กมธ.ยกร่างฯ ก็จะพบสื่อเพื่อให้ซักถามข้อสงสัยทุกประเด็น หลังวันที่ 22 ส.ค. ที่กมธ.ยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้กับสปช. โดยตนจะหารือกับที่ประชุมว่าสื่อมวลชนต้องการพบกมธ.ยกร่างฯ รายภาค ตั้งแต่ภาค 1-4 และในบทเฉพาะกาลเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและตอบคำถามในภาพรวมทุกประเด็น
     นายไพบูลย์ กล่าวถึงการประชุมสปช.วันที่ 18 ส.ค. นี้ที่จะหารือประเด็นคำถามประชามติว่า ขณะนี้มี 2 ญัตติ และอาจมีเพิ่มอีก 1 ญัตติก็ได้ โดยผู้เสนอแต่ละญัตติจะแสดงเหตุผลประกอบ จะมีการอภิปรายหลักการและเหตุผล เพื่อให้สมาชิกได้ตัดสินใจเลือก แต่ไม่มีการลงมติเลือกว่าจะใช้คำถามของใคร เพราะตามรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับชั่วคราว 57 จะเลือกว่าจะใช้คำถามใดทำประชามติได้ ในวันที่สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

กมธ.ลั่นหมดเวลาปรับแก้แล้ว
      นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสปช. กล่าวถึงการชี้แจงคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19-20 ส.ค.ว่า มีรูปแบบเป็นการนั่งคุยเพื่ออธิบายเหตุผลที่กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้แต่ละมาตรา เพราะบางมาตราแก้ตามที่ขอแก้ไข แต่บางมาตราเราไม่ทำตามคำขอ ก็ต้องอธิบายให้ทราบทำไมทำเช่นนี้ ทั้งนี้ ผู้ที่เสนอคำขอแก้ไขเข้ามาแต่ละคำขอ สามารถเข้ารับฟังได้หมด แต่การชี้แจงในครั้งนี้แม้ สปช.จะเสนออะไรขึ้นมา กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ปรับแก้ทั้งสิ้น
    นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 285 มาตรา เสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนจากนี้ จะเตรียมความพร้อมชี้แจงกับตัวแทนของสมาชิกสปช. 8 กลุ่ม และตัวแทนครม. วันที่ 19-20 ส.ค. จากนั้นจะส่งตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้กับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. วันที่ 22 ส.ค. เวลา 11.59 น. ต่อไป

ยืนที่มาสว.-คกก.ยุทธศาสตร์
      แหล่งข่าวจากกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ นำ 2 ประเด็นสำคัญที่ถูกวิจารณ์ในช่วงนี้มาพิจารณา 1.ที่มาของ ส.ว. 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ เห็นตรงกันว่าให้ยืนตามหลักการเดิมไว้ทั้งหมด โดยจะให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คน ซึ่งในส่วนของส.ว.สรรหาชุดแรกจะมาจากการเลือกของ ครม. มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี เช่นเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าควรมีไว้ตามเดิม เพราะเจตนารมณ์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คือการผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม หลังจากสปช.ได้หมดวาระลงแล้ว และอำนาจพิเศษเกี่ยวกับการแก้วิกฤตก็เป็นเพียงอำนาจส่วนหนึ่งของคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว จะต้องให้เกิดวิกฤตทางการเมืองก่อนเท่านั้น ไม่ใช่นำมาใช้โดยพลการ
      "ในช่วงวิกฤตของประเทศที่ผ่านมาหลายครั้ง ไม่เคยมีกลไกตามรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาได้ มีแต่การอ้างถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 7 ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้ จนนำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ดังนั้นการมีกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ขึ้นมาเพื่อให้มีกลไกแก้วิกฤตตามรัฐธรรมนูญ" แหล่งข่าวระบุ
     เวลา 20.20 น. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุม ขอให้สมาชิกสปช.ร่วมยืนไว้อาลัย 1 นาที ให้แก่ผู้เสียชีวิต จากเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดให้สมาชิกหารือถึงการดำเนินงานต่อไป ก่อนจะสรุปว่า จะประสานมาตรการดูแลความปลอดภัยให้เข้มงวดขึ้น ส่วนการประชุมสปช.ในวันที่ 18 ส.ค. ที่จะมีวาระหารือเรื่องคำถามประชามตินั้น ให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 19 ส.ค. ก่อนสั่งปิดการประชุมเวลา 20.30 น.
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากน.ส.ทัศนาสั่งเลื่อนการประชุมสปช. วันที่ 18 ส.ค. เป็นวันที่ 19 ส.ค.นั้น หลังปิดประชุมได้หารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ซึ่งได้ให้ประชุมตามปกติ จากนั้นได้มีเอสเอ็มเอสรัฐสภามาถึงสมาชิกสปช.ทุกคนว่า "ตามที่ประธานในที่ประชุมได้มีคำสั่งให้เลื่อนการประชุมสปช.ในวันที่ 18 ส.ค. เป็นวันที่ 19 ส.ค.นั้น บัดนี้ ประธานสปช.มีคำสั่งให้นัดประชุมในวันที่ 18 ส.ค. เวลา 10.00 น.ตามปกติ"

ปลัดกห.ยันโยกย้ายไร้ปัญหา
      ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ว่า หลังการประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ตามพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ เมื่อทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมส่งบัญชีรายชื่อการปรับย้ายมายังกระทรวงเรียบร้อยแล้ว ทางกระทรวงจะเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ไม่มีปัญหา และเป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาได้ชี้แจงความคืบหน้ากับสื่อมวลชนไปแล้ว ส่วนรายละเอียดและผลการประชุมคณะกรรมการได้ข้อยุติแล้วหรือไม่นั้น ตนไม่ขอพูดถึง

 

 

นักวิชาการวิพากษ์ กก.ยุทธศาสตร์-รบ.ปรองดอง ประชาธิปไตยเทียม

 

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร-รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล-ธนพร ศรียางกูล

มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นักวิชาการให้ความเห็นกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ถามประชามติว่าอย่างน้อย 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์
     คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปมีแต่จะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น หากรัฐธรรมนูญผ่าน ก็กลายเป็นว่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมเพื่อเอาใจต่างประเทศให้เห็นว่าเรามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 
     การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเช่นนี้ไม่ใช่ประเด็น ถามว่าความขัดแย้งนั้นใครสร้างขึ้น ขัดแย้งโดยธรรมชาติหรือเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มบนๆ สองฝ่าย ประชาชนทั้งประเทศเขาไม่ได้ขัดแย้งด้วย เป็นการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายการเมืองระหว่างฝ่ายอำมาตย์กับฝ่ายประชาธิปไตย 
    ขณะนี้ กลายเป็นว่าเราไม่ได้ดูว่าสังคมไทยนั้นเกิดปัญหาอะไรขึ้น แท้จริงแล้วเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนแก้และไม่พูดถึง 
     ความไม่เป็นธรรมในสังคมและการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมทำให้เกิดการแตกแยกในใจของประชาชนมากกว่า ไม่ใช่ความขัดแย้งของการเมือง แต่เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจมากกว่ารังแกคนที่มีอำนาจน้อยกว่าหรือคนไม่มีอำนาจ คนถือกฎหมายรังแกคนใช้กฎหมาย หรือคนใช้กฎหมายใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรดู 
    สิ่งที่อ้างว่าเป็นความขัดแย้งและต้องปรองดองนั้นถูกสร้างขึ้นมา การสร้างขึ้นมาเพื่อต้องชิงอำนาจ สร้างมาเพื่อให้เกิดปัญหา ความจริงไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาของประเทศไทยที่หมักหมมมาคือระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมซึ่งต้องแก้ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยจะแก้ได้ดีที่สุด โดยมีองค์กรตรวจสอบดีๆ แล้วนี่ให้ฝ่ายอำมาตย์เลือกเกือบทุกเรื่อง ก็เท่ากับว่ากำลังไปสร้างความขัดแย้ง 
    ถ้าจะเอาอย่างนี้ก็อยู่ต่อไปเลย 10 ปี 20 ปี ไม่ต้องมีประชาธิปไตย เพราะว่าสร้างประชาธิปไตยจอมปลอมเพื่อให้ต่างประเทศเห็น
     ที่ต้องเอาใจต่างประเทศเพราะกลัวโดนบีบ ไทยอยู่ไม่ได้ เพียงแค่ให้เห็นว่าเรามีประชาธิปไตย กระบวนการทั้งหลายบรรจุในรัฐธรรมนูญว่ามีความชอบธรรมในการเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้นั้นไม่เป็น เพื่อให้เกิดการยอมรับในนานาชาติและในประเทศไทยเอง พยายามจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเอาไปทำประชามติ แต่ถ้าคำถามในประชามติเป็นคำถามที่ตั้งกันเองก็เท่านั้น ประชามติต้องบอกได้ว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
     หากจะลดความขัดแย้งช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล คือให้รัฐบาลนี้ใช้อำนาจโดยชอบ เพราะที่ผ่านมาปีกว่าไม่ได้แก้ปัญหาเลย ทั้งปัญหาคอร์รัปชั่น ก็ไม่แก้ ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นในการจะบรรเทาลง หากจะทำคือต้องท็อปดาวน์ 

ทำจากตัวนายกรัฐมนตรี 
     ดังนั้น จึงพูดได้ว่านโยบายปรองดองและกรรมการยุทธศาสตร์นั้นไม่จำเป็นกับประเทศนี้เลย เพราะเป็นลักษณะเผด็จการ เป็นอำนาจซ้อนอำนาจประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนมีอำนาจ 
     นโยบายนี้จะส่งผลดีหากมีคนดี แต่ส่วนตัวแล้วไม่ไว้ใจ การไว้ใจคนว่าดีหรือไม่ดีต้องดูที่พฤติกรรม แล้วพฤติกรรมตอนนี้ก็ฟ้องอยู่แล้วว่าคณะทหารที่เข้ามาปกครองประเทศนั้นยังไม่มีความสามารถมากพอจะแก้ไขปัญหาประเทศได้ หนึ่งปีหกเดือนควรจะพิสูจน์บางสิ่งบางอย่างได้แล้ว 
     สิ่งที่รัฐบาลพูดนั้นเป็นลักษณะที่ฉ้อฉลในคำพูดตัวเอง เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนยอมรับ แน่นอนในปีที่ผ่านมาก็มีบางสิ่งบางอย่างที่เห็นว่าดี เช่น การประมง แต่ต้องทำจริงๆ ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ความเดือดร้อนของภาคประชาชน ความเดือดร้อนของภาคการเกษตร 
     การจะคืนอำนาจให้ประชาชนนั้นไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขเยอะขนาดนี้ หากจะคืนอำนาจก็ต้องแฟร์ตรงที่บอกว่าปฏิรูปนั้นทำอย่างไร

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
      คสช.ทำรัฐประหารมามีภาระหน้าที่ที่อ้างว่าจะทำ เขาบอกว่าทำไมถึงทำรัฐประหาร เขาบอกว่าไม่ให้คนตีกัน ตอนแรกภาระที่บอกนี้แค่นิดเดียว แต่อยู่ไปชักมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าคนที่ทีแรกมาอาศัยดูแลบ้านให้ แต่พอมาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าจะครอบครองเป็นเจ้าของบ้านเอง 
      ทีแรกจะดูแลบ้านให้เรียบร้อย ตอนนี้ยิ่งกว่าจะเป็นเจ้าของบ้านเสียเองอีก เพิ่มหน้าที่ตัวเองไปเรื่อยๆ
     อันที่สอง ที่เรียกว่าปรองดองนั้น ใครบอกว่าการเอารัฐบาลต่างพรรคมาอยู่ด้วยกันจะเกิดความปรองดอง อันนั้นเหรอความปรองดอง เพราะความขัดแย้งแม้แต่ในพรรคเดียวกันก็มีความขัดแย้ง ยิ่งต่างพรรคเข้าไปอาจเตะตัดขากันในรัฐบาลยิ่งกว่ารัฐบาลพรรคเดียวกันเสียอีก 
    เป็นคำถามว่า นี่เป็นนวัตกรรมทางการเมืองใหม่เหรอ ระบบรัฐสภาใช้ไม่ได้ใช่ไหม นี่คือข้อดีใช่ไหม และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อันนี้เรากำลังจะมีระบบอะไร คือระบบประชาธิปไตยที่มีคณะยุทธศาสตร์ฯ เป็นใหญ่เหรอ เราจะเรียกอย่างนี้ใช่ไหม ยิ่งย้อนกลับไปก่อน 2475 อีก 
    ทำไมถึงเจ้ากี้เจ้าการขนาดนี้ เมื่อก่อนเขาบอกว่ารัฐบาลซื้อเสียง โกงอะไรต่างๆ แต่ตอนนี้เรื่องซื้อเสียงลดลง น้อยมากเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตามสถิติเป็นเช่นนั้น เหมือนกับว่า คสช.หรือคณะกรรมการ
    ยุทธศาสตร์ฯ หาเรื่องมาตำหนิใหม่เพื่อที่จะไม่เห็นด้วยกับระบบรัฐสภา 
     ของอย่างนี้เห็นชัด เป็นนวัตกรรมที่จะเข้าเป็นเจ้าของบ้านไปเลย ทีแรกว่าจะเข้ามาดูแล ตกลงภาระหน้าที่อันนั้นเปลี่ยนไปแล้วเหรอ ทำไมไม่พูดอย่างนี้ตั้งแต่ต้น นี่เหรอปฏิรูป 
    ไม่เห็นด้วยเลย ผมคิดว่าทั้ง คสช.และลิ่วล้อ คสช. ?Believe in their own lies? โกหกบ่อยๆ แล้วก็เชื่อคำโกหกของตัวเอง โกหกซ้ำๆ บ่อยๆ เข้าเลยล้างสมองตัวเอง เชื่อคำโกหกของตัวเอง
    เห็นชัดอยู่แล้ว คำว่า ?ปรองดอง? นี่เพิ่งขึ้นมาใหม่ ตอนแรกเขาไม่เอาปรองดอง ในสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมัยต่อมายังพูดถึงปรองดอง คณะโน้นคณะนี้ เถียงกันไม่รู้เท่าไร คสช.มาไม่มีคำว่าปรองดอง แต่นี่เพิ่งโผล่ขึ้นมา จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เหรอ 
      ศัพท์นี้ คสช.เพิ่งเอามาใช้ คล้ายๆ ทาสีขายของใส่กล่อง เหมาะที่สุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยที่มีคสช.และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นใหญ่

ธนพร ศรียางกูล
หัวหน้าพรรคคนธรรมดา
     กรณีที่จะมีการจัดตั้ง ?คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ? ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 260 และข้อเสนอให้มี ?รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ? เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการปรองดอง แก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ส่วนตัวต้องขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถที่จะไขปัญหาความขัดแย้งได้ มีแต่จะเพิ่มความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นเสียมากกว่าเดิม 
      หากดูกันง่ายๆ จากการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้ผู้นำเหล่าทัพทั้ง 4 เหล่าทัพไม่สามารถที่จะเป็นคณะกรรมการได้แล้ว เพราะพวกท่านได้พาองค์กรเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนด้วย
    อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ที่จะเข้ามา ก็จะมาจากการสรรหา ก็คงจะคาดเดากันได้ว่าหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้วการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปฯ มันไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปรองดอง แต่มีเจตนาเดียวคือตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะขึ้นมากำกับดูแลไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออกนอกลู่นอกทางไปจากแนวทางของการรัฐประหารครั้งนี้ก็เท่านั้นเอง
    รวมถึงกรณีให้ ครม.ตั้งคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก ให้มีซุปเปอร์บอร์ด คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ นั่นหมายความว่าเสียงของประชาชนที่จะเลือกรัฐบาลขึ้นมาในอนาคตจะไม่มีความหมายอะไร 
     นี่จึงไม่ใช่เพียงการแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการควบคุมอำนาจโดยแท้ อย่างไม่ต้องปิดบังอำพรางด้วย
     จริงๆ แล้วโมเดลที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในประเทศไทยคิดอยู่ในทุกวันนี้ ไปลอกเลียนมาจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งรัฐ หรือ ?สล็อค? ของประเทศพม่า เมื่อประมาน 20 ปีที่แล้ว วันนี้เรากำลังนำรูปแบบลักษณะนี้มาใช้กับการจัดการทางการเมืองในประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อควบคุมอำนาจและลดทอนความสำคัญของประชาชน
     ปัญหาที่เราเห็นคือทุกวันนี้เรากำลังบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็ไม่ทราบที่เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!