WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

24สงหาคม

ชื่อ ผบ.ทบ.ถึงมือ'บิ๊กตู่' รอทูลเกล้าฯ ป้อมเชื่อทุกฝ่ายยอมรับ โด่งชี้มติบอร์ดชูภาพรวม สปช.ซัดรธน.ไร้คำปรารภ 'ปื๊ด'ระบุ'พระราชอำนาจ' ส่งให้ศาลชี้ขาดก่อน 6 กย.

      'บวรศักดิ์'แถลงโต้ สปช. ที่อ้าง'คำปรารภ'ไม่บรรจุอยู่ในร่าง รธน.อาจไม่สมบูรณ์ จะส่งศาล รธน.วินิจฉัย ยันเป็นพระราชอำนาจ ต้องยกร่างเพื่อทูลเกล้าฯ ให้ถาม'วิษณุ'รู้เรื่องดี 'บิ๊กป้อม'ยันบัญชีแต่งตั้งนายทหาร-ผบ.ทบ.ถึงมือนายกฯ รอนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

แถลงโต้ - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แถลงโต้ สปช.ที่สงสัยว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีคำปรารภ โดยยืนยันว่าคำปรารภเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการ ครม.จะทำหน้าที่ยกร่าง ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม



สงสัย - นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษา กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ สปช. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. พร้อมคณะ แถลงตั้งข้อสงสัยว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีคำปรารภ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม




@ 'สมคิด'ถือฤกษ์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์

     เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม รัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ต่างเข้าทำงานเป็นวันแรก โดยที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 06.45 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าสักการะศาลท้าวมหาพรหม บนตึกไทยคู่ฟ้า ถวายช้างไม้แกะสลักคู่ 1 คู่ ก่อนลงมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยถวายตุ๊กตานางรำและผลไม้มงคล 

       เวลา 07.45 น. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำเนียบและให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้เรียกประชุม แต่จะแจ้งให้ทราบในวันนี้ว่าให้ทำงานอะไร นายกฯกำลังจัดและมอบหมายให้ต้องทำงานอะไร เพราะวันที่ 25 สิงหาคม จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

        เวลา 08.45 น. ทหารผู้ติดตาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้นำของใช้ส่วนตัวของ พล.ร.อ.ณรงค์ จากกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ เอกสารราชการ อุปกรณ์สำนักงาน ตู้เสื้อผ้า รวมถึงพระพุทธรูปและรูปหล่อจำลองพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บิดาแห่งทหารเรือไทย เข้ามายังห้องทำงานภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่เดิมเคยเป็นห้องทำงานของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ด้านต่างประเทศ อยู่ชั้น 3 ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ย้ายไปใช้ห้องทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ อยู่ชั้น 4 ส่วน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ใช้ห้องทำงานเดิมของนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ชั้น 3 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะใช้ห้องทำงานเดิมของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ชั้น 1 

 

@ จับตา'ครม.ตู่3'ปรับย้ายปลัด

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.วันที่ 25 สิงหาคม มีวาระที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์จะแบ่งงานให้กับรองนายกฯ การจัดลำดับรองนายกฯในการรักษาราชการแทนนายกฯ รวมถึงวาระสำคัญคาดว่าจะเป็นการเสนอวาระจร คือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหลายกระทรวง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยสั่งการว่าให้นำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าจะมีการเสนอวาระโยกย้ายเข้ามาหรือไม่ เนื่องจากบางกระทรวงเพิ่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี และเพิ่งเข้าทำงานที่กระทรวงได้เพียง 1 วันเท่านั้น ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และเสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องเครื่องมือควบคุมฝูงชน พ.ศ....

 

@ 'เตช'มั่นใจ'ดอน'ลูกหม้อบัวแก้ว 

     ที่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นายเตช บุนนาค อดีต รมว.ต่างประเทศให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ ว่าในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันมานาน นายดอนเป็นคนดีมาก จิตใจดี มีจริยธรรมสูง มีความมั่นใจในตัวเอง มั่นใจว่าจะเป็น รมว.ต่างประเทศที่ดี เมื่อถามว่า ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ ประเมินการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล คสช.อย่างไรบ้าง นายเตชกล่าวว่า การต่างประเทศนั้นถูกบังคับโดยเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ พยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาท่าที รักษาพื้นที่ของประเทศไทยในอาเซียนและในวงการระหว่างประเทศ 

     เมื่อถามว่า ประเทศไทยควรปรับยุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศหรือไม่ เพราะวันนี้ก็ยังมีหลายประเทศที่ยังไม่เข้าใจ นายเตชกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ ในแง่หนึ่งได้วางมาร้อยกว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ได้ยึดถือมาตลอดว่า เราจะสามารถวางตัวอย่างไรให้อยู่รอดในโลกที่อันตรายนี้ได้ 

เมื่อถามว่า นโยบายการต่างประเทศขณะนี้ยังมีจุดอ่อนอะไรอยู่หรือไม่ นายเตชกล่าวว่า ไม่มีจุดอ่อนอะไร ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวของแต่ละคนว่าจะประชาสัมพันธ์หรือมีมนุษยสัมพันธ์ให้ต่างชาติเขาเข้าใจและสนับสนุนได้มากน้อยเพียงใด การต่างประเทศจะต้องมีทั้งรุกและรับสิ่ง ที่สำคัญคือจะต้องทำให้ต่างประเทศเข้าใจไทยให้มากยิ่งๆ ขึ้น 

 

@ กมธ.ยกร่างฯนัดถกทำเจตนารมณ์

     เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานในที่ประชุมมีวาระพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราจำนวน 285 มาตรา ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อ่านประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้ง 285 มาตรา ให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ่านตัวบทบัญญัติเพียงอย่างเดียว ขณะนี้ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้อง

      ผู้สื่อข่าวถามนายบวรศักดิ์ว่า สบายใจขึ้นหรือไม่เมื่อส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปช.ไปแล้ว นายบวรศักดิ์กล่าวว่า รู้สึกนอนหลับมากขึ้นแต่ไม่ได้สบายใจเพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ ถือเป็นสิทธิทุกฝ่ายที่แสดงความเห็น

 

@ 'คำนูณ'แจงปม'คปป.'ผ่านเฟซบุ๊ก

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการกำหนดบทบาทคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า "ประเด็นนี้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณากันอย่างหนัก มีบทสรุปออกมาในแต่ละขั้นตอน แถลงอย่างเปิดเผยไม่ได้ซ่อนเร้นอะไร มีพัฒนาการของบทบัญญัติว่าด้วยรูปแบบของกลไกพิเศษตลอดจนอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์กับรัฐบาลปกติมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งลงตัวเมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งมอบงาน จุดแตกต่างสำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการมีกลไกพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง รวมทั้งมีอำนาจพิเศษให้สามารถดำเนินการระงับ ยับยั้ง วิกฤตระดับที่กลไกปกติทำไม่ได้แล้ว ในเฉพาะระยะเวลา 5 ปีแรก คู่ขนานไปกับรัฐบาลปกติ โดยมีนายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เข้ามาร่วมนั่งอยู่ในกลไกนี้ด้วย กมธ.ยกร่างฯตระหนักดีว่าจะต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยและต่อต้านคัดค้าน แต่เราเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดคำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการลงประชามติในช่วงต้นปี 2559 เราจะชี้แจงกับประชาชนในทุกประเด็น ไม่ซ่อนเร้น ทุกครัวเรือนจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอรรถาธิบาย"

 

@ 'สมบัติ'ถามหา'คำปรารภ'อยู่ไหน

      เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. เพื่อหารือและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช.ได้รับจาก กมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังการประชุม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง แถลงว่า เป็นการหารือนอกรอบเพื่อวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับมา พบว่ามีปัญหาอยู่ 3 เรื่องได้แก่ 1.คำปรารภที่ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แล้วเสร็จหรือไม่ แม้ กมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่าเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เขียนคำปรารภในภายหลังจากนี้ แต่ที่ผ่านมาในการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 จะมีการเขียนคำปรารภไว้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เว้นเรื่องวันที่ไว้เพิ่มเติมในภายหลัง 2.กรณีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและ

การปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาตรา 260 3.เรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และที่มา ส.ว. 

 

@ ชี้ไม่สมบูรณ์-อ้างไม่มีคำปรารภ

       นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษา กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภจะถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ กฎหมายทุกฉบับต้องมีหลักการและเหตุผลให้เห็น รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายจึงต้องมีคำปรารภ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องคำปรารภว่า คำปรารภเป็นหลักการสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มีการเขียนคำปรารภไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เกรงว่า หากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถือว่าแล้วเสร็จแล้วเข้าสู่การลงมติของ สปช. จนไปถึงขั้นการทำประชามติ แล้วรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้ ต่อมามีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำผิดขั้นตอน จะทำให้สูญเสียงบ 3 พันล้านบาท ในการทำประชามติ

       "ดังนั้น ภายใน 1-2 วันนี้ กมธ.ทั้งสองคณะจะทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ให้ทำเรื่องส่งไปถึง ครม. เพื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภถือว่าแล้วเสร็จหรือไม่ อยากให้เร่งวินิจฉัย เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบหลังการทำประชามติไปแล้ว จะทำให้สูญเงินเปล่า" นายอุดมกล่าว 

 

@ 'เสรี'ซัดตั้งคปป.-จุดชนวนขัดแย้ง

      นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญควรมีเนื้อหาที่ยั่งยืน แต่การบัญญัติการตั้ง คปป.เป็นการใช้เพียงชั่วคราว 5 ปี หรืออาจขยายได้อีก 5 ปี ควรนำไปใส่ในบทเฉพาะกาล ไม่ควรนำมาใส่ในเนื้อหาหลักจะกลายเป็นปัญหาต่อไปในความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่า กมธ.ยกร่างฯต้องการแก้ปัญหาความปรองดองและความขัดแย้ง แต่ คปป.ชุดนี้จะก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนถึงการใช้อำนาจบริหารประเทศ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า หาก ครม.ไม่ดำเนินการตามมติของ คปป. หาก คปป.ยืนยันด้วยมติ 3 ใน 4 ให้ดำเนินการ ครม.ต้องดำเนินการตาม เหมือน ครม.ถูกบังคับ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลและ คปป.มีโอกาสขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      นายเสรี กล่าวว่า แม้ คปป.จะมาแก้วิกฤตแต่ไม่มีหลักประกันว่าประธาน คปป.จะเป็นใคร ภายใน 5-10 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลใน คปป. ทำให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงกว่าอำนาจอธิปไตย แม้ปัญหาขณะนี้ต้องใช้อำนาจพิเศษ แต่วันนี้ คสช.และรัฐบาลมีอำนาจเต็มก็ดำเนินการได้อยู่แล้ว หากจะให้ คสช.และรัฐบาลไปเป็น คปป.เหมือนกับเอาไปแขวนไว้ การมี คปป.จะมีผลร้ายมากกว่าผลดี ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

 

@ 'ไพบูลย์'ฟุ้งสปช.ส่วนใหญ่รับ

       นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า ทราบว่าเสียงส่วนใหญ่ สปช.เป็นไปในทิศทางบวก เท่าที่สัมผัสวิธีคิดของ สปช. ส่วนใหญ่พอรับได้กับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯนำข้อเสนอ สปช.ไปปรับปรุงแก้ไขทั้งที่นำไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก มั่นใจว่า สปช.ส่วนใหญ่จะรับได้กับที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯที่เป็นสมาชิก สปช.สามารถลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นหน้าที่ ไม่อยากให้มองว่าการลงมติครั้งนี้เป็นเรื่องของการมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ในการใช้เอกสิทธิ์และหน้าที่ในการพิจารณาในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภา

 

@ 'อ.ปื๊ด'โต้'อุดม'ร่างรธน.ครบถ้วน

      เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงกรณีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิก สปช.ตั้งข้อสังเกตว่าร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะยังไม่เขียนคำปรารภและเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ขอยืนยันว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กมธ.ยกร่างฯทำเสร็จครบถ้วนส่งให้ สปช.เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำปรารภเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการ ครม.และสำนักราชเลขาธิการ จะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภเพื่อทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย เชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติแล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวถือเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี 2475 เรียกว่า พระราชปรารภ กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เขียนคำปรารภ 

      "นายวิษณุ เครืองาม ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่าเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกร่างคำปรารภเสนอไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติ แต่สุดท้ายเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติก็มีการแก้ไขเนื้อความและถ้อยคำใหม่ โดยผู้ที่ดำเนินการคือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ยกร่างคำปรารภ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นแนวทางปฏิบัติคือสามารถยกร่างหรือไม่ยกร่างคำปรารภก็ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่จะต้องชี้ขาดภายหลัง" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ ระบุส่งตีความต้องทำก่อน 6 ก.ย. 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณสมาชิก สปช.และนายอุดมที่ตั้งข้อสังเกต หากต้องการให้เรื่องยุติขอให้รีบเสนอเรื่องให้ ประธาน สปช. ประสานไปยัง ครม. เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่ 6 กันยายนนี้ เป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนสามารถสอบถามความเห็นกรณีดังกล่าวได้ที่นายวิษณุ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายธงทอง จันทรางศุ ขณะนั้นเป็นผู้ประสานงานคำปรารภปี 2540 และเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2550 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการร่างคำปรารภตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

 

@ 'คำนูณ'แจงไม่ยกร่างฯคำปรารภ

       นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า คำปรารภถือเป็นพระราชอำนาจ โดยหลักการและในหนังสือที่ส่งให้ประธาน สปช.กมช.กล่าวแล้วในย่อหน้าสุดท้าย การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปกติเป็นพระราชอำนาจ เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขา คณะรัฐมนตรีกับสำนักราชเลขาธิการ หลังรัฐธรรมนูญผ่านทุกอย่าง เพราะฉะนั้น กมธ.ยกร่างฯจึงไม่ยกร่างฯตรงนี้ไป ส่วนข้อเสนอให้ส่งเรื่องนี้ให้ประธาน สปช. แล้วให้ประธาน สปช.ส่งต่อให้รัฐบาล เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เป็นเรื่องที่สุดแท้แต่ประธาน สปช.จะวินิจฉัย หากวินิจฉัยไม่เป็นปัญาหาเรื่องนี้ก็จบไป หากวินิจฉัยจะส่งให้ ครม.คงแล้วแต่ ครม.มองเห็น เพราะว่า ครม.ย่อมรู้ดีเรื่องนี้อย่างไร และคนที่รู้ดีสุด คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

 

@ 'วิษณุ'เรียกถกทำประชามติ 25 ส.ค.

      นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 14.00 น. กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ตน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายประชา เตรัตน์ จะไปร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พร้อมตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง และตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือทำประชามติ เนื่องจากที่ประชุม สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน กกต.จะต้องเดินหน้าทำประชามติทันที แต่หากที่ประชุม สปช.ไม่รับร่างทุกอย่างก็จบ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการสัมมนาหารือระหว่าง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ เรื่องเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 09.00-17.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ในช่วงแรก นายบวรศักดิ์ จะอธิบายเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ไขเนื้อหาใดบ้างจากร่างฯแรก รวมทั้งอธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประโยชน์อะไรกับประชาชนบ้างและตอบโจทย์ 10 ประเด็นที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อย่างไรบ้าง จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ที่สงสัยในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้ซักถามอย่างเต็มที่

 

@ สนช.จ่อหารือคำถามประชามติ 

      นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวถึงการจัดทำคำถามการทำประชามติในส่วนของ สนช.ว่า สนช.ดำเนินการจัดเตรียมเสนอประเด็นประชามติประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว มอบให้คณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.ชุดต่างๆ ไปจัดประชุมหารือว่าจะเสนอคำถามประชามติหรือไม่ หากมีคำถามประชามติจะเสนอคำถามว่าอะไร จากนั้นจะให้กรรมาธิการส่งข้อสรุปให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) พิจารณาในวันที่ 7 กันยายนนี้ หากสรุปว่าจะมีการเสนอคำถามประชามติ จะนำเข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 มาตรา 37 กำหนดให้ สนช.มีมติภายใน 3 วันนับแต่วันที่ สปช.มีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามประชามตินั้นไม่มีเงื่อนไขใด เพราะตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เขียนเพียงว่าประเด็นอื่น จะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ทราบว่าประเด็นเรื่องรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลปรองดองถูกยกมาพูดคุยกันอยู่

 

@ ท่านเปาศาลฎีกาห่วงร่างรธน.

      นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกากล่าวให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังน่าเป็นห่วง ถ้ามีการบังคับใช้จริง จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องยึดโยงรัฐธรรมนูญในหมวดวินัยการคลัง แต่จะมีการจำกัดกรอบในการใช้เงินงบประมาณในการบริหารประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำโครงการ อย่างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือก่อสร้างถนน ต้องใช้เงินคลังจำนวนมาก ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ จะกระทำได้นั้นต้องมีการเห็นพ้องของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน วุฒิสภา หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ การบริหารประเทศจะต้องเป็นไปตามฉันทามติถึงจะกระทำต่อไปได้ ฉะนั้นการตัดสินใจลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลไม่มีการปรึกษาหรือได้รับการฉันทานุมัติจากหลายองค์กรที่เป็นการเพิ่มมูลค่าหนี้ในประเทศอาจเป็นเหตุในการตรวจสอบและร้องศาลปกครองแผนกวินัยการคลังได้ จะเห็นได้ว่ามีความอ่อนแอถูกตรวจสอบได้ง่าย 

 

@ คปป.อำนาจล้นฟ้า-สั่งรัฐบาล

     นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ในมาตรา 260 ที่ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) กำหนดอำนาจพิเศษ มีกรรมการทั้งหมด 22 คน คณะกรรมการชุดนี้จะมีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเพียง 2 คน คือ นายกฯ และประธานรัฐสภา ส่วนกรรมการที่เหลือมาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการชุดที่สืบมาจาก คสช. เชื่อว่าจะมีลักษณะคอเดียวกับ คสช.

      นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ตอนท้ายของมาตรา 261 ที่ระบุว่า ถ้า คปป.เสนอมาตรการหรือแนวทางแล้วรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ และให้ชี้แจงต่อ คปป. แต่ถ้า คปป.ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ยังยืนยันตามมาตรการที่เสนอไปนั้น รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 261 ได้ จะถูก ป.ป.ช.ดำเนินคดี นอกจากนั้นมาตรา 262 กำหนดให้มีสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เป็นการทำให้ คปป.มีอำนาจสั่งรัฐบาลทำอะไรก็ได้ แล้วยังมีองค์กรที่รองรับในคำสั่งนั้นอีกด้วย

      "จะเห็นได้ว่า คปป.มีลักษณะพิเศษขึ้นอีก คือมาตรา 280 ให้ประธาน คปป. โดยความเห็นชอบของ คปป. 2 ใน 3 มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่งเป็นที่สุด หมายความว่า คปป.ชุดนี้มีอำนาจในการตรากฎหมาย และปลดนายกฯได้ โดยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นไม่ได้เขียนวาระการคงอยู่ของทั้ง คปป.และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองไว้ด้วย จึงตีความได้ว่ากรรมการและสภาทั้ง 2 ชุดนี้จะมีวาระในการคงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ว่าหลังจากที่อยู่ครบ 5 ปี แล้ว คปป.ไม่สามารถใช้อำนาจทางนิติบัญญัติได้ตามมาตรา 280 เท่านั้น แต่กรรมการชุดนี้เองก็ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 262 ในการเสนอนโยบายไปยังรัฐบาลและบังคับให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่เสนอได้เรื่อยๆ โดยกรรมการชุดนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ เชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีการแก้ไข" นายศรีอัมพรกล่าว

 

@ 'พิชัย'เชื่อร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ

       นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชน ต่อจากนี้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ความเห็นจากต่างประเทศจะมองเห็นในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ความมั่นใจต่างประเทศลดลงไป ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ ต้องรอดูหลักการพิจารณาภาพรวมของ สปช. และดูสัญญาณผู้ที่แต่งตั้ง สปช.เข้ามาเช่นกัน แต่เชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติจากประชาชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง

       "ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจะขอไม่ลงเลือกตั้ง ไม่มีประโยชน์ถ้าเลือกตั้งมาแล้วมีพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากอย่างเดิม และระหว่างการบริหารประเทศของรัฐบาล มีการจัดตั้งกระบวนการประท้วงขึ้นมา แล้วมีคนมาบอกว่าเกิดสถานการณ์ไม่สงบ มีกระบวนการเข้ามากำกับดูแล ตั้งรัฐบาลใหม่ แบบนี้จะมีประโยชน์อะไร ปัญหาวังวนเดิมๆ จะเกิดขึ้นมาไม่จบสิ้น ตราบใดก็ตามถ้าไม่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ว่าประเทศไหนจะเกิดปัญหา สุดท้ายอย่าไปคิดว่าประชาชนโง่ ประชาชนไม่ได้โง่ จะต้องให้เกียรติประชาชน ถ้าไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ประเทศจะเดินไม่ได้ เศรษฐกิจเดินไม่ได้ ทุกคนจะลำบาก" นายพิชัยกล่าว

 

@ 'บิ๊กโด่ง'ไม่ขอยุ่งตั้ง'คปป.' 

      เวลา 14.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความเห็นถึงการบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตั้ง คปป.ว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ใครจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรเป็นเรื่องส่วนบุคคลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง คิดว่า กมธ.ยกร่างฯคงอาจเห็นประโยชน์ ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้เห็นว่าการที่ร่างหรือดำเนินการออกมามีแนวความคิดที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดต่อไป เพราะจะต้องดูแลประเทศชาติให้สงบเรียบร้อย 

       เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯเห็นอนาคตประเทศว่าจะไม่สงบเลยร่างคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คิดว่าคงใช้ข้อมูลจากที่ผ่านมาว่าจะทำอย่างไร ประเทศจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างสงบเรียบร้อยมากที่สุด และสิ่งที่ทำออกมาก็คงเป็นเหตุเป็นผลตามนั้น

 

@ เคาะโผทหารใช้ความเหมาะสม 

      พล.อ.อุดมเดช ยังกล่าวถึงบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ที่ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ทุกเหล่าทัพดำเนินส่งไปตามลำดับชั้น ตอนนี้จะไปอยู่จุดใดไม่สามารถบอกได้ เพราะได้ผ่านทางกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) กระทรวงกลาโหมไปแล้ว แต่ขออธิบายว่าได้ผ่านการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้อย่างถูกต้อง มีผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่สำคัญต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ตำแหน่งในส่วนของกองทัพบกที่ตนรับผิดชอบนายทหารผู้ใหญ่ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาทุกคนไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกคนพร้อมรับตำแหน่งตามที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้ง ในทำนองเดียวกันคณะกรรมการเห็นว่า บุคคลคนนั้นมีความเหมาะสม และทุกตำแหน่งดีทั้งสิ้น ในเมื่ออยู่มาจนถึงจุดสุดท้ายที่ถือว่าสุดยอดของแต่ละตำแหน่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ คิดว่าสุดยอด และดีทั้งสิ้น 

       "ผมคิดว่าทุกท่านไม่มีปัญหาอะไร ถ้าท่านได้รับการแต่งตั้ง ผมคิดว่าท่านก็ดีใจ ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ในช่วงสุดท้ายท่านได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจทั้งสิ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าความภาคภูมิใจส่วนตัว คือ ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อไป ทุกคนที่จะก้าวมาเป็น จะต้องเตรียมตัวในการที่จะทำอย่างไรให้เป็นกองทัพที่ทำให้เกิดความสงบ ประชาชนรักใคร่กัน และมีความอบอุ่น ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี" ผบ.ทบ.กล่าว

 

@ ตั้งผบ.ทบ.-ดูประโยชน์ภาพรวม

       เมื่อถามว่า การเลือกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม หรือเป็นอำนาจของนายกฯ หรือเป็นอำนาจของคณะกรรมการ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า มีการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลไปแล้ว มีความเห็นชอบร่วมกัน ทุกครั้งไม่เคยมีปัญหา เพราะดูประโยชน์ของภาพรวมเป็นหลัก ประกอบกับมีการพิจารณา หารือกันไม่ถึงขนาดว่าคิดกันคนละอย่าง เมื่อคุยกันถึงเหตุผลเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่แต่ละคนรับฟัง ในส่วนของนายกฯนั้น รอรับรายชื่อจากคณะกรรมการ ที่ส่งขึ้นไปตามขั้นตอนถือว่าเป็นการพิจารณาร่วมกันนั่นเอง ขอชี้แจงว่าทุกคนจะเข้าใจในเหล่าทัพของตนเอง เหล่าทัพอื่นเพียงรับรู้ รับทราบ หากมีข้อโต้แย้งใดๆ สามารถชี้แจงกันได้ 

        เมื่อถามว่า นายกฯมีอำนาจปรับเปลี่ยนรายชื่อที่เสนอขึ้นไปหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นไปตามที่คณะกรรมการเสนอก็ได้หารือกันแล้ว เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น หลังมีมติที่ประชุม กรรมการทุกคนจะต้องเซ็นชื่อรับรองถือเป็นขั้นตอนปกติ อย่าไปตกใจ กังวล หรือเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้อะไร 

        "ผมคิดว่าสำคัญที่ใครขึ้นมาเป็นแล้วจะทำอย่างไรให้แต่ละเหล่าทัพสง่างามเป็นสุภาพบุรุษของประชาชน ใครก็ตามที่รับตำแหน่ง ภาระหน้าที่ต้องมาอยู่ที่บุคคลนั้นต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และรัฐบาลให้รอดพ้นจากอุปสรรคในห้วงต่างๆ ผมคิดว่าถ้าใครเป็นแล้วไม่ใช่ของสนุกนะครับ เป็นแล้วจะต้องมีความรับผิดชอบ และต้องทำให้ดีด้วย" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ 'บิ๊กป้อม'ย้ำโผตั้งนายพลถึงนายกฯ

      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อนายทหารระดับชั้นนายพลประจำปี 2558 ว่า ขณะนี้ได้ส่งบัญชีรายชื่อรวมถึงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอยืนยันว่า กระบวนการทุกอย่างนั้นได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมเชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะถ้าทหารยอมรับใครๆ ต้องยอมรับ

 

@ ป.ป.ช.เร่งปิดคดีก่อนหมดวาระ

      ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการทำงานก่อนพ้นวาระในวันที่ 21 กันยายนนี้ว่า นอกจากตน ยังมีกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และ นายวิชัย วิวิตเสวี จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แต่ตามกฎหมายต้องทำงานต่อจนกว่าจะมีกรรมการใหม่มาแทน ขณะนี้พยายามเร่งทำคดีสำคัญให้เสร็จก่อนกรรมการหลายคนจะพ้นวาระ ทั้งคดีทางการเมืองและคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ คดีสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ขณะนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนได้นัดสอบพยานกับนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมืองซึ่งแต่งตั้งโดยวุฒิสภา เป็นพยานที่ นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อ้างเพิ่มเติม คงสามารถสรุปคดีได้ก่อนวันที่ 21 กันยายน 

      เมื่อถามว่า การทำงานในฐานะกรรมการ ป.ป.ช.ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด นายปานเทพกล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับประชาชน ปปช.พยายามทำเต็มที่ ทั้งคดีใหญ่ๆ คดีที่มีการถอดถอน รวมถึงคดีเล็ก ทำเสร็จไปหลายคดี แต่ยังมีหลายคดีที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงจะต้องพยายามลดจำนวนคดีในส่วนนี้ลง ให้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นในคดีต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!