WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

44หาม

ตั้งแล้ว 831 นายพล บิ๊กหมูฉิว ผบ.ทบ.'ติ๊ก'ปลัดกห. 'ณะ'พลิกโผนั่งผบ.ทร. เช็กเสียงสปช.ยังสูสี คว่ำกับไม่คว่ำร่างรธน. ลุยจี้ 21 กมธ.งดโหวต

     โปรดเกล้าฯนายพลแล้ว 'บิ๊กหมู' นั่งผบ.ทบ. 'บิ๊กติ๊ก' คุมกลาโหม คว่ำ-ไม่คว่ำร่างรธน. เช็กเสียงสปช.ยังสูสี ขวางกมธ.ยกร่างร่วมโหวต เหตุประโยชน์ทับซ้อน 'เทียนฉาย' ป้อง ชูกมธ.ยกร่างกฎหมายอื่นก็ยังลงมติได้ 'ดิเรก-เสรี'หนุนเปิดเวทีให้ความรู้รธน. ก่อนลงประชามติ'บิ๊กตู่'หวังครม.ใหม่ปลุก เชื่อมั่น ย้ำรัฐบาลเน้นความมั่นคงเป็นหลัก ลั่นประคองเศรษฐกิจฝ่าวิกฤต โวยม.44 ห้ามใช้ 'รากหญ้า' ชี้แค่เทคนิคการพูด 


วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9040 ข่าวสดรายวัน


ทวิภาคี - พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน กับนายเบนิก โน เอส. อาคีโน ที่ 3 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในโอกาสเดินทางเยือนเพื่อหารือทวิภาคี ที่ทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 


'ตู่'หวังครม.ใหม่ปลุกเชื่อมั่น
      เมื่อวันที่ 28 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การปรับครม.ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในประเทศและสถานการณ์โลก ตนต้องการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานของครม.ทั้งชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2-3 ทุกอย่างทำต่อเนื่องมาตลอด โดย ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน อยากให้ครม.ชุดใหม่นี้เข้ามาขับเคลื่อน ให้เป็นรูปธรรมรวดเร็วขึ้น เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ภาคเอกชน นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จะต้องวางแผนดำเนินการที่ชัดเจน กำหนดระยะเวลาที่จะได้ผลสัมฤทธิ์ จับต้องได้เป็นรูปธรรมในทุกมิติ ดูเรื่องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทุกโครงการจะต้องปลอดทุจริต
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครม.ครั้งล่าสุด ได้ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลว่า ไม่ยอมรับการทุจริตโดยเด็ดขาด ไม่ว่ารูปแบบใด โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองขึ้นใหม่ ตนกำชับรัฐมนตรีทุกคน เน้นความรอบคอบและระมัดระวังการแต่งตั้งที่ปรึกษา และตำแหน่งอื่นๆ ต้องไม่มีข้าราชการการเมืองคนใดไปแอบอ้าง หรือกระทำการใดๆ ที่ส่อทุจริตเด็ดขาด รวมทั้งต้องวางบทบาทตัวเองให้ถูกต้อง เหมาะสม และยังย้ำให้กระทรวงต่างๆ สร้างการรับรู้กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เรื่องพลังงาน โรงไฟฟ้า โรงงานกำจัดขยะ และอื่นๆ อีกมากมาย

ชี้เน้นความมั่นคงเป็นหลัก
      "การปรับคราวนี้อยากให้มองว่า ไม่ใช่ ว่าเราต้องการอำนาจ แต่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มงานที่เหมาะสม ทหารจะอยู่ตรงไหน พลเรือนอยู่ตรงไหน ให้เหมาะสมกับระยะที่ 2 ซึ่งในระยะที่ 1 เราจะเน้นความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีเสถียรภาพพอสมควรแล้ว ชุดต่อไปต้องให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานต่อ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ครม.ใหม่กำลังทำงานต่อจากครม.ชุดก่อน บางอย่างทำได้ก็ทำไปแล้ว บางอย่างก็เริ่มอยู่ บางอย่างต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องชัดเจนในสนช. ผ่านกมธ. 3 คณะด้วยกัน กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ อะไรที่จำเป็น ตนก็ใช้มาตรา 44 ไปก่อน แต่กฎหมายที่จะออกตามมาก็ทำนองเดียวกัน เพื่อความรวดเร็วตามกฎระเบียบ ในการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาล เป้าหมายเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันให้ได้ทุกกระทรวง ไม่แบ่งพรรคแบ่งฝ่ายแบบเหมือนในอดีต

จี้ผู้ว่าฯดูแลพื้นที่ให้ชัดเจน
       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายเร่งด่วน นโยบายใหม่ๆ จะมอบให้รองนายกฯที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ กำกับดูแลเป็นส่วนรวม ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดหาต่างๆ นั้น ตนจะเร่งรัดให้เร็วขึ้น เท่าที่ผ่านมามัน ไม่ค่อยชัดเจน ก็ต้องแก้ไขทั้งหมด ต้องโปร่งใส รวดเร็ว มีการตรวจสอบ 
        "หลังปรับครม.แล้ว ขอความกรุณาอดีตรองนายกฯ รัฐมนตรี กรุณาทำความเข้าใจกับสื่อด้วย เพราะผมเองก็เป็นกังวลหลายอย่างว่าเดี๋ยวจะไม่เข้าใจกันอีก ส่วนในภาพรวม ผมรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ซึ่งในการทำงานไม่ว่ารัฐมนตรีหรือรองนายกฯคนใด การตัดสินใจ ความรับผิดชอบอยู่ที่ผม สิ่งใดที่อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านคิดก็บอกผมมาเท่านั้น ผมเป็น ผู้กำหนดนโยบาย ต้องขับเคลื่อนกระทรวงไปพร้อมกัน รองนายกฯต้องขับเคลื่อนให้ผม ร่วมกับรัฐมนตรี แปลงนโยบายผมสู่การปฏิบัติ จากนั้นส่งไปยังข้าราชการที่เป็น ผู้ปฏิบัติ วันนี้เน้นหนักผู้ว่าฯ ที่ต้องดูแลข้างล่างในพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นประคองเศรษฐกิจฝ่าวิกฤต
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญคือหลายอย่างยังคงติดอยู่กับปัญหาเก่า เหมือนเราติดกับดักตัวเอง ติดกับดักเรื่องกฎหมาย ติดกับดักเรื่องความคิด ความ ไม่เข้าใจ ความไม่ชัดเจน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต้องปรับเข้าหากัน ทั้งรัฐบาล ราชการ ประชาชน ต้องลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งการทำงานของรัฐบาล ประชาชนมีส่วนร่วมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าควรทำยังไง ให้เดินหน้าไปได้ ไม่งั้นผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมก็ไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็เดือดร้อนเหมือนเดิม
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการเดินหน้าเศรษฐกิจระยะต่อไปนั้น ทราบดีว่าประชาชนเป็นห่วง จากสถานการณ์ด้านการข่าวหรือเสพจากสื่อแล้วก็กังวลในสภาพเศรษฐกิจ ในช่วงนี้หลายประเทศ รวมถึงไทยย่อมได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจมีปัญหากันพอสมควร ปัจจัยภายในประเทศของเรา เกษตรกรประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ จึงเกิดความไม่เชื่อมั่น มีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ เกิดการชะลอตัว อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในพื้นฐานและศักยภาพของประเทศไทยที่ยังดีอยู่ รัฐบาลจะเร่งเข้าไปแก้ไขในจุดอ่อนต่างๆ เหล่านั้นวางรากฐานสำหรับอนาคต ประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ และก้าวไปได้อย่างมั่นคง

โวยจะดูคนระดับล่างก็โดนบ่น
       ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นหลังจากมอบนโยบายเศรษฐกิจแก่ครม.ชุดใหม่แล้วว่า สั่งการแล้วว่าในการประชุมครม.วันที่ 1 ก.ย.นี้ หากมีมาตรการใดที่นำเข้าที่ประชุมครม.ได้ก็เสนอเข้ามา และสั่งแบบนี้มาตลอดทุกครม. แต่ปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนจะทำได้หรือไม่ และมีปัญหาในส่วนไหน วันนี้ให้มาดูเรื่องผู้มีรายได้น้อย เพราะที่ผ่านมาบอกว่ารัฐบาลไม่ดูแล ดูแต่คนระดับบน พอวันนี้จะมาดูแลคนระดับล่าง ก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมคนเขียนมันถึงได้เปลี่ยนใจง่าย 
     เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับที่ดีขึ้นต่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าก็ขอบคุณ แต่อยู่ที่สื่อทั้งหมดเพราะคนรับรู้จากสื่อ ฉะนั้นเราจะดีหรือไม่ดี สื่อต้องเป็นคนรับผิดชอบกับตนด้วยครึ่งหนึ่ง อย่างที่บอกว่ามีคนฟังตนน้อยลง บอกว่าคะแนนนิยมตนน้อยลง ตนไม่ท้อแท้ ไม่ว่าจะน้อยหรือเป็นศูนย์ ตนก็จะทำเพราะตนต้องทำ หรือไม่อยากให้ตนทำก็ไปหาคนอื่นมาทำ
     เมื่อถามว่า นายกฯจะเดินทางลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดในวันที่ 2 ก.ย.นี้ หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าตนจะไปด้วยตนเอง เพราะอยากดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไรและปัญหาคืออะไร ซึ่งปัญหาก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา

ลั่นผมเป็นกบไม่ใช่นกกระสา
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า ส่วนคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะไปกลัวอะไรกัน น่าจะดีกว่าเดิม หากฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงให้ขึ้นอยู่กับประชาชน ให้ประชาชนคิดว่าเขาจะได้อะไร ไม่ใช่เราไปชี้นำ พวกเราต้องออกมาแสดงความคิดเห็นที่เป็นประชาธิปไตย 
     เมื่อถามว่า พรรคการเมืองจับมือคว่ำรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "จะจับมือคว่ำได้อย่างไร เขามีกี่คน ประชาชนมีกี่คน นักการเมืองมีถึงร้อยหรือสองร้อย ประชาชนที่เหลือมี 60 กว่าล้านคน แล้วจะให้เขาชี้นำในเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา ไปเลือกกันเอาเอง ตนทำมาให้ขนาดนี้แล้ว ก็ไปเลือกกันเอาเอง 
       "ถ้าเขาไม่ลงเลือกตั้งก็อย่าลง ผมเฉยๆ ใครจะลงก็ลง ผมไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย และผมก็ไม่ลงเลือกตั้งอยู่แล้ว วันนี้ผมไม่ได้ทำตัวแบบนกกระสาที่มาจิกกินกบ มันไม่ใช่ แต่ผมมาทำให้สระนี้สงบเงียบเรียบร้อย พวกเราคือกบ ไม่ได้ดูถูกใคร เราก็อยู่กันสงบเรียบร้อย แล้วจะไปหานกกระสาที่ไหนมาอีก ถึงเวลาเดี๋ยวเขาก็เลือกกันมาเอง อย่าไปกังวลนัก อีกตั้งหลายขั้นตอน ยุ่งกันไปหมด ก็เหมือนการชี้นำ แทนที่จะไปโทษคนพูดก็มาโทษผมอีกว่าชี้นำ ดีเหมือนกัน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ขู่ชักใบแดงสื่อ
      เมื่อถามถึงการฟ้องแพ่งจากความเสียหายคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พล.อ.ประ ยุทธ์กล่าวว่าจุดยืนของรัฐบาลคือฟ้อง แต่อยู่ดีๆจะเดินหรือขี่ม้าสามศอกไปฟ้องไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการทำหลักฐาน การฟ้องถ้าทำหลักฐานไม่ดีก็หลุดและมีปัญหาอีก หลักฐานต้องสมบูรณ์ 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าฝากความหวังขอให้เข้าใจตนบ้าง พูดแบบนี้เขียนด้วย สื่อต้องเขียนด้วยว่าฝากความหวังไว้กับตน รัฐบาลใหม่มาเขาก็ไม่ทำ เขียนตามคำถามนี้ที่สื่อตั้งเลย เวลาพูดนั้นแค่นี้ แต่ เวลาเขียนกลับเอาอะไรมาเขียนก็ไม่รู้ ตน ไม่เข้าใจ ไม่ต้องกลัวตน ไม่ได้หงุดหงิด
    "ไม่เคยกลัวกันอยู่แล้ว ทั้งสื่อ ทั้งผม กลัวทำไม เป็นเพื่อนกัน จะกลัวทำไม แต่ผมเตือนสื่อได้ก็แล้วกัน ผมเป็นกรรมการ มันอยู่ที่ผมจะชักใบแดงเมื่อไรแค่นั้น"พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ฉุนข่าวม.44 ห้ามเรียก รากหญ้า
     พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนนำคำว่า จะใช้มาตรา44 ห้ามไม่ให้เรียกคำว่ารากหญ้าไปพาดหัวข่าวว่า "ไอ้เรื่องมาตรา 44 ใครไปเขียน ใครเป็นเริ่มคนแรกใคร การบรรยายของผม เป็นเทคนิคของผม ทำยังไงคนฟังจะได้ไม่หลับ มันจะบ้าหรือเปล่า จะใช้มาตรา 44 ไปบังคับให้เรียกนู่นนี่ ผมต้องการจะลดความขัดแย้ง ไม่ให้คนไปหาว่าไปเรียกเขาอย่างนี้ ผมเอาของเดิมมาแก้ บางทีมันก็ติด ผมก็ชวนคนฟังว่าต้องใช้มาตรา 44 หรือเปล่า เขาก็หัวเราะ ที่ผมพูดเรื่องการศึกษาไปทั้งหมดไม่ได้ออกเลย ออกเพียงอย่างเดียวว่านายกฯใช้มาตรา 44 มันจะบ้าหรือเปล่า"
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สื่อวิจารณ์ตนว่าเป็นตลกหน้าตาย ไปไหนก็หน้าอย่างนี้ ตนต้องหัวเราะให้มันตลกหรืออย่างไร หน้าตนไม่ใช่ตลกแบบนั้น ไม่ใช่ตลกคาเฟ่

บิ๊กป๊อก ชี้รธน.ต้องรอฟังสปช.
     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ นำพวงมาลัยดอกไม้สดสักการะพระพรหม บนตึกไทยคู่ฟ้า และถวายช้างไม้แกะสลักคู่ 1 คู่ จากนั้นนำดอกไม้มาสักการะศาลพระภูมิและศาลตายาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบ ขณะที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ได้เข้ามาปฏิบัติงานตามปกติ และได้สักการะศาลพระภูมิศาลตายาย พร้อมถวายผลไม้มงคล 9 อย่าง เพื่อเป็นสิริมงคล ซึ่งตรงกับวันสารทจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจะไหว้สักการะสิ่งศักดิ์ สิทธิ์และบรรพ บุรุษเพื่อความเป็นสิริมงคล
      ที่ รร.อนันตรา สยาม ถ.ราชดำริ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.หาดไทย กล่าวถึงกรณีความเคลื่อนไหวในแต่ละพื้นที่ภายหลังมีกระแสพรรคการเมืองจะรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตอนนี้จุดสนใจเรื่องรัฐ ธรรมนูญยังอยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะพิจารณารับหรือไม่รับร่างรธน.หรือไม่ เชื่อว่ายังไม่ถึงจุดที่มีความเคลื่อนไหวลงไปในพื้นที่ คงต้องรอให้ร่างรธน.ผ่านการพิจารณาของ สปช.ก่อน จากนั้นถึงจะเป็นวาระของการทำประชามติ ซึ่งในกระบวน การนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าจะต้องมีบทบาทอย่างไรบ้าง โดยให้กระทรวงมหาดไทยช่วยสนับสนุนการทำประชามติ 
      เมื่อถามถึงข้อกังวลเกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐ อาจทำให้มองได้ว่ารัฐบาลหวังสืบทอดอำนาจ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คงตอบแทนไม่ได้ เพราะเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมองถึงเรื่องความมีเสถียรภาพในอนาคต เพราะเมื่อมีเสถียรภาพแล้วจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การเมือง รวมถึงการปฏิรูปด้วย

บิ๊กโด่งหนุนให้ความรู้'รธน.'
       ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า เป็นเรื่องของสปช.จะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณารธน.ว่าจะเหมาะสมอย่างไร ตนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ไม่สามารถชี้นำก้าวล่วงได้ ขอให้สปช.และส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตนก็จะติดตามดูเช่นกัน ส่วนกรณีคปป. บางทีอาจตกใจกันเกินไป แต่เป็นเรื่องความคิดเห็น ซึ่งต้องพยายามฟัง อย่ามองว่าจะแฝงอำนาจเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาทุกด้าน ขึ้นอยู่กับสปช.จะพิจารณา ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
        เมื่อถามว่านักการเมืองเรียกร้องให้คสช.เปิดกว้างแสดงความคิดเห็น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า พยายามให้โอกาสนี้อยู่แล้ว และจะดูต่อไปว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะให้ประชาชนรับรู้มากยิ่งขึ้น แต่วิธีจะดำเนินการอย่างไร ถ้าดูแล้วไม่มีปัญหาก่อความไม่เรียบร้อย ก็จะพิจารณาและให้ดำเนินการต่อไป ตนอยากสนับสนุนแต่ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ในหลักการการสร้างความรับรู้เป็นนโยบายของนายกฯที่เน้นย้ำเสมอ และปัจจุบันอยากให้ประชาชนส่วนต่างๆ รับรู้และความเข้าใจเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย

'จาตุรนต์'โพสต์โต้'บิ๊กต๊อก'
        ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ระบุนักการเมืองที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรม นูญเป็นผู้สร้างปัญหาไว้ทั้งนั้นว่า ไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่านักการเมืองบางส่วนสร้างปัญหาไว้ และยังมีอีกหลายฝ่ายสร้างปัญหาเช่นกัน ส่วนที่ถามว่าตอนมีอำนาจอยู่ก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 ทำไมไม่แก้ปัญหานั้น ต้องยอมรับว่ารัฐบาลช่วงนั้นแก้ปัญหาขัดแย้งไม่ได้ และไม่สามารถรักษากฎหมายได้ ขณะเดียวกันฝ่ายที่มีหน้าที่ด้านความมั่นคงทำไมจึงไม่ให้ความร่วมมือแก้ปัญหา แต่จะช่วยแก้ต่อเมื่อยึดอำนาจแล้วเท่านั้น
      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อยึดอำนาจด้วยข้ออ้างจะมาช่วยแก้ความขัดแย้งแล้ว ผู้มีอำนาจควรหาทางวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดิมขึ้นอีก ต้องคิดว่าทำอย่างไรเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถรักษากฎหมายได้และใช้กลไกของรัฐแก้ปัญหาความ ไม่สงบได้ ผู้มีอำนาจไม่ควรใช้ความสงบของบ้านเมืองเป็นตัวประกันแล้วมาวางระบบ เพื่อจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประเทศต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญนี้

แนะคว่ำรธน.หยุดเพิ่มขัดแย้ง
      "ที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะมีคนมองว่าเป็นการชี้นำและมีคนตามก็ถือว่าไม่ผิด เพราะไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษใครได้ แต่ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่โดยเฉพาะตำแหน่งที่ควรวางตัวเป็นกลางอย่างนายกฯ และรมว.ยุติธรรม ต่างหากที่ไม่ควรชี้นำ ในฐานะที่ผมเคยเป็นรมว.ยุติธรรมมาก่อน ขอแนะนำให้พล.อ.ไพบูลย์ ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับความยุติธรรม 1-2 เล่ม จะได้เข้าใจว่าคำว่ายุติธรรม คือการรับรองเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง รมว.ยุติธรรมพึงมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพประชาชน ถ้า ไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ไม่ควรออกมาจำกัดเสรีภาพประชาชนเสียเอง"นายจาตุรนต์กล่าว
       นายจาตุรนต์กล่าวว่า รมว.ยุติธรรมควรป้องกันไม่ให้ระบบยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น ควรแนะนำนายกฯว่าไม่ควรเอาเรื่องคดีมาขู่คนที่เขาแสดงความเห็นแตกต่าง ส่วนที่ว่าตน ไม่เสนอแก้ความขัดแย้งช่วงเป็นรัฐบาลนั้น ขอชี้แจงว่าในช่วงรัฐบาลที่แล้วบริหารอยู่มีความขัดแย้งจริง ถึงวันนี้ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่และกำลังจะเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาตนเสนอความเห็นเกี่ยวกับแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ส่งให้ไปแล้วก็เอาเก็บเข้าลิ้นชักกันไปหมด แต่หากต้องการป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ขอแนะนำว่าให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้

วิษณุ ย้ำพอใจร่างรธน.
     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ตนพอใจร่างรธน.ฉบับใหม่ที่รัฐบาลขอแก้ไขในบางเรื่อง เช่น ให้คดีที่ไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้มีการพิจารณา 2 ศาล ต่อไปคดีที่จะไปสู่ศาล สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งหลักฐานเก่าหลักฐานใหม่ ตรงนี้พอใจ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะให้อุทธรณ์ไปที่ไหน เพราะศาลฎีกาส่งคนมานั่งเป็นองค์คณะ 9 คน ในแผนกคดีอาญาแล้ว จะไปที่ไหนและใครจะเหนือกว่านี้อีก ดังนั้นศาลฎีกาคงต้องตั้งอีกคณะหนึ่งขึ้นมาพิจารณา ซึ่งได้แนะนำไปว่าต้องเอาระดับประธาน รองประธาน หัวหน้าคณะ ต้องระดับใหญ่กว่าพวกองค์คณะเก่า หากพอฟัดพอเหวี่ยงกัน จะทำให้เกิดความเกรงใจกัน
      เมื่อถามว่า ร่างรธน.ฉบับนี้จะแก้ปัญหาในอดีตได้ตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ระบุไว้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แก้ได้บางเรื่อง อย่าไปคาดหมายว่าประเทศจะต้องขึ้นอยู่กับรธน.ทั้งหมด เรามีพ.ร.บ.อาวุธปืน แต่ปืนยังมีอยู่ทั่วไป ควรคิดว่าหากไม่มีรธน.จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีก็ดีกว่าไม่มี ขณะนี้เรามาจุดที่จะเลือกรับหรือไม่รับร่างรธน.แล้ว อย่างไรก็ดีเชื่อว่าทุกคนคิดเองได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรธน.

นิรันดร์ยื่น'ตู่'ส่งรธน.ตีความ
       ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นาย นิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่อง ขอส่งประเด็นปัญหาร่างรธน.ให้ศาลรัฐ ธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมกับแนบเอกสาร 4 ชิ้นให้กับพล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย 1.คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย พ.ศ. 2540 จำนวน 1 ชุด 2.คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย พ.ศ.2550 จำนวน 1 ชุด 3.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2557 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 และ 4.สำเนาหนังสือกฎหมายรัฐธรรมนูญของนายวิษณุ เครืองาม
     นายนิรันดร์ กล่าวว่า สปช. 14 คน ได้ยื่นคำร้องถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อส่งเรื่องไปยังครม. ให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี ร่างรธน.ไม่มีคำปรารภ ซึ่งอาจจะมีปัญหาภายหลัง หากมีผู้ส่งประเด็นนี้ให้วินิจฉัยภายหลัง แต่ยังไม่ชัดเจนว่า นายเทียนฉายจะส่งคำร้องให้ครม.หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่ส่ง ดังนั้นเพื่อกันเหนียว ป้องกันความผิดพลาดในอนาคต จึงทำคำร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นผู้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความปมปัญหา ดังกล่าว 
      นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต 

ขวาง 21 สปช.ที่นั่งกมธ.โหวต
     ที่รัฐสภา นายทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ส่วนตัวยืนยันว่ากมธ.ยกร่างฯที่เป็นสมาชิก สปช. 21 คนไม่มีสิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ได้ เว้นแต่ใช้สิทธิงดออกเสียงเท่านั้น หากกมธ.ยกร่างฯที่เป็น สปช.ลงมติเห็นชอบ จะถือว่าเข้าข่ายมีส่วนได้ส่วนเสียหรือกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะสปช.รับเบี้ยประชุมและเงินตอบแทนจากรัฐ จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แม้จะไม่ใช่ข้าราชการรัฐสภา ดังนั้นถ้ากมธ.ยกร่างฯซึ่งเป็นสปช. ลงมติเห็นชอบจะเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่จะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และยังกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5 ที่กำหนดให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครอง คือต้องไม่ลงมติในส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์
      นายทิวา กล่าวต่อว่า หากทั้ง 21 คนยืนยันจะลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย. ตนพร้อมจะใช้สิทธิแจ้งข้อกล่าวหากมธ.ยกร่างฯ ต่อป.ป.ช. พร้อมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงตามประเพณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งจะขอให้ศาลวินิจฉัยว่ามีกระบวนการร่างรธน.มีปัญหาความชอบด้วยรธน.หรือไม่ 

ชี้ศาลรธน.เคยฟันส.ว.มาแล้ว
       นายทิวา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาศาลเคยรับตีความร่างแก้ไขรธน. ประเด็นที่มาของ ส.ว.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแล้ว แต่หากทั้ง 21 คนใช้สิทธิงดออกเสียง อาจมีผลให้ร่างรธน.ไม่ผ่านความเห็นชอบในสปช.ได้ แต่ถ้าผ่านสปช.ไปแล้ว หาก 2 พรรคใหญ่ยังยืนยันคัดค้านร่างรธน. จะทำให้ร่างรธน. ไม่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งจะส่งผลเสีย ต่อรัฐบาล คสช.ได้ เพราะเท่ากับประชาชน ไม่ยอมรับกับรัฐบาลชุดนี้แล้ว ดังนั้น การ ลงมติไม่รับร่างรธน.ในสปช.จะเป็นผลดีมากกว่า


เยี่ยมวิโรจน์ - น.ส.นวลพรรณ ล่ำซำ ผจก.ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย เยี่ยมนายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ขณะที่อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ทยอยเข้าเยี่ยมเช่นกัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

       นายทิวา กล่าวอีกว่า ในสังคมโลกเขาใช้ระบอบประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาการรัฐประหาร ด้วยการปล่อยตามกลไกปกติ ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในกติกา ไม่ใช่ไปตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่น คปป. ซึ่งตัวอย่างชัดเจนที่สุดที่แก้ปัญหาการเข้ามามีบทบาทของกองทัพในทางการเมืองคือประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

เทียนฉายปัดห้าม 21 สปช.โหวต
      ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เข้าหารือกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ โดยใช้เวลา 10 นาที จากนั้นนายเทียนฉาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมี สปช.บางคนเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ไม่ควรจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรธน.โดยอ้างผลประโยชน์ทับซ้อนว่า ยังไม่มีหนังสือเรื่องนี้มาถึงตน ไม่แน่ใจว่าจะไปยื่นเองหรือไม่ แต่ในฐานะประธานสปช.ยังไม่เห็นข้อกฎหมายใดที่ให้อำนาจประธานห้าม สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ลงมติ ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าเกิดปัญหา เพราะเป็นการลงมติโดยเปิดเผย สปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ จะโหวตรับหรือไม่รับก็จะบันทึกไว้ ขณะนี้สปช.มี 247 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดว่าร่างรธน.จะผ่านได้ ต้องมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 124 คน จึงจะมีผลให้รธน.ผ่านไปสู่การทำประชามติได้ 
       "สมมติถ้ามีปัญหาจริงๆ ก็ไปหักเสียงของ สปช. ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ออกได้ เพราะรู้ว่าใครโหวตอะไร แต่เชื่อว่าสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯโหวตได้เพราะทำหน้าที่สปช. ไม่ใช่กมธ.ยกร่างฯ ที่สำคัญ ผมไม่มีอำนาจไปห้ามเขาไม่ให้โหวตได้เลย" ประธานสปช.กล่าว

อ้างกมธ.กฎหมายอื่นก็ลงมติ
      เมื่อถามถึงความเหมาะสมในการโหวต นายเทียนฉายกล่าวว่า ในฐานะประธาน สปช. คงไม่อาจวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม เพราะประธานต้องยึดบรรทัดฐานของกฎหมาย แต่มองได้ว่าความเหมาะสมขึ้นกับวิจารณญาณของบุคคลและธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยทำกันมา ซึ่งในแง่นิติบัญญัตินั้น กมธ.ที่เป็นผู้ยกร่างกฎหมายต่างๆ เมื่อกฎหมายเข้าสู่สภา ในฐานะส.ส.หรือส.ว.ก็มีสิทธิโหวตได้ ซึ่งเป็นตรรกะเดียวกัน แต่แตกต่างจากบริบทของรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร เมื่อเสนอร่างกฎหมายเข้ามาสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติ บัญญัติ ไม่ควรโหวตเพราะอาจเข้าข่ายมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนละแง่มุม ไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง
     นายเทียนฉาย กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีสปช. 14 คนเข้าชื่อและยื่นหนังสือขอให้เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีไม่มีคำปรารภ เบื้องต้นต้องรอความชัดเจนทางข้อกฎหมายก่อน แต่ไม่ช้าแน่ ไม่ต้องห่วงว่าจะไปเสียเงินเปล่าๆ กับการทำประชามติ เพราะยังมีเวลาอีก 4-5 เดือน หากยื่นและศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องก็ยังมีเวลาพิจารณาอีกนาน อย่างไรก็ตาม ประธานสปช.ไม่มีอำนาจยื่น ต้องเป็นหน้าที่ของ คสช. หรือ ครม.เท่านั้น ส่วนสนช.ยื่นได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเองเท่านั้น

ดิเรก จี้เปิดช่องให้ประชาชนด้วย
      ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงการรณรงค์ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปิดหู ปิดตาประชาชนมาตั้งแต่ต้น ก่อนส่งร่างมาให้สปช. ดังนั้นเมื่อถึงขั้นตอนทำประชามติจึงควรเปิดช่องให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารบ้าง แม้กมธ.ยกร่างฯจะส่งเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไปตามครัวเรือนต่างๆ ให้ศึกษาแต่ประชาชนคงไม่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมด จึงควรเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งการเปิดเวทีแสดงความเห็นธรรมดาที่ไม่ใช่การปลุกระดม หรือผิดกฎหมาย ควรให้ทำได้ เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางรับรู้ มากขึ้น 
      "ยิ่งไปบอกว่า ห้ามวิจารณ์หรือให้ความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญทางไลน์ หรือเอสเอ็มเอส จะยิ่งมีปัญหาตามมา ดังนั้นควรให้แสดงความเห็นทางไลน์ได้ ถ้าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ปลุกระดม การจะห้ามแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญทางไลน์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีวิธีเดียวที่ทำได้คือการใช้มาตรา 44 แต่จะเป็นดาบสองคม มีทั้งผลดีและผลเสียตามมา จึงต้องรอบคอบ" นายดิเรกกล่าว 

เสรีชี้ถ้าห้ามต้องห้ามทุกฝ่าย
        นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดให้มีการหารือแสดงความเห็นทางวิชาการบ้าง เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลว่ามีเนื้อหาดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่คสช.ต้องดูสถานการณ์ในช่วงนั้นประกอบว่าจะอนุญาตให้รณรงค์ให้ข้อมูลการทำประชามติถึงขั้นไหน ถ้าจะห้ามให้ข้อมูลใดๆ เลย ก็ต้องห้ามทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายกมธ.ยกร่างฯและฝ่ายการเมือง แต่ถ้าไม่ห้าม คงต้องมีกติกากำหนดว่ารูปแบบการให้ข้อมูลทำได้ระดับใดบ้าง แต่เชื่อว่าคงไม่รุนแรงถึงขั้นห้ามรณรงค์รับหรือไม่รับร่างผ่านทางไลน์

'อาณันย์'ชี้ร่างรธน.มีแต่ปัญหา
      พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช. เปิดเผยว่า ได้ศึกษาร่างรธน.แล้ว พบว่ามีประเด็นที่มีความไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะเขียนให้รัฐบาลเลือกตั้งอ่อนแอ หากรัฐบาลผสมมีความอ่อนแอก็จะมีปัญหาต่อการบริหารประเทศ ทั้งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเข้มแข็งเพื่อบริหารประเทศได้ แต่รธน.ที่ร่างออกมา ทำให้รัฐบาลอ่อนแอและยังเขียนกีดกันบุคคล ไม่มีลักษณะประชาธิปไตย รวมทั้งยังเขียนให้แก้ไขรธน.ทำได้ยากขึ้น อาจเกิดวิธีพิเศษเพื่อฉีกรธน. แม้ส่วนตัวจะเห็นด้วยกับคปป. แต่ควรเขียนจำกัดอำนาจด้วย ดังนั้นส่วนตัวพร้อมลงมติไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้
       "การลงมติไม่เห็นชอบร่างรธน.ในที่ ประชุมสปช. ดีกว่าปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการออกเสียงประชามติ แต่อยู่ที่การตัดสินใจของสปช. และขอให้กมธ.ยกร่างฯอย่ามองผู้เห็นต่างด้วยความรู้สึกไม่ดี ต่อกัน" พ.ต.อาณันย์กล่าว 

เช็กเสียง'รับ-ไม่รับ'สูสี
      รายงานข่าวจากสปช. แจ้งว่า ขณะนี้เสียงภายในสปช.ที่จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรธน.ยังคงไม่นิ่งพอ โดยเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบ จะต้องวัดกันจนถึงช่วงสุดท้ายก่อนลงมติวันที่ 6 ก.ย.นี้ แม้โดยรวมเสียงเห็นชอบจะมากกว่าเล็กน้อย แต่ยังไม่แน่นอนว่าในวันลงมติจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีสปช.ส่วนใหญ่ยังรอประเมินสถานการณ์บ้านเมืองประกอบการตัดสินใจว่า หากผ่านสปช.แล้วถูกตีตกในชั้นประชามติ อาจสิ้นเปลืองงบฯและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และผลประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรธน. จะเท่ากับเป็นไม่เห็นชอบกับรัฐบาล คสช.ไปด้วย
       รายงานข่าวแจ้งว่า สมาชิก สปช.ในส่วนที่พร้อมลงมติไม่เห็นชอบในขณะนี้ประกอบด้วย กลุ่มกมธ.ปฏิรูปการเมือง และกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมกว่า 30-40 เสียง สปช.บางส่วนในกลุ่มรักชาติ ที่มี 20 เสียง สปช.สายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานรวมกัน 50-60 เสียง เพราะรับไม่ได้กับเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าลงมติเห็นชอบ จะไม่สามารถชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องนายกฯคนนอก อีกทั้งคปป. ที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้สมาชิกรับไม่ได้ ทำให้ล่าสุดมีเสียงไม่เห็นชอบแล้วไม่น้อยกว่า 100 เสียง ขณะเดียวกันยังประเมินว่าหากเสียงสมาชิก สปช.ในช่วงลำดับพยัญชนะแรกๆ ออกเสียงไม่เห็นชอบมากกว่า ก็จะทำให้สปช.ที่ยังไม่ตัดสินใจไขว้เขวและอาจลงมติตามเสียงส่วนใหญ่ได้

เลือกตั้งต้องรอ'ธ.ค.59'
       ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับกรอบปฏิทินการเมืองไทย หากนับจากวันที่สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรธน.ในวันที่ 6 ก.ย.แล้ว ช่วงเวลา ม.ค.-ก.พ.59 จะทำประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรธน. หากประชาชนเสียงข้างมากเห็นชอบ ทาง กมธ.ยกร่างฯจะต้องยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. 2.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 3.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. 4.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง 5.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และ6.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และส่งให้สนช. พิจารณาภายในเดือนเม.ย. 59 ซึ่งสนช. มีเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับ ให้เสร็จภายในเวลา 90 วัน หรือภายในเดือน ก.ค.59 
       จากนั้นรัฐธรรมนูญระบุให้ส่งร่างพ.ร.บ. ทั้ง 6 ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใช้เวลา 30 วัน หรือภายในเดือนส.ค. 59 คาดว่าพ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับจะมีผลบังคับใช้กลางเดือนก.ย. 59 และจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งส.ส. ในช่วงกลางเดือนธ.ค. 59 และจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ประมาณกลางเดือน ม.ค. 60 คาดว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่วันที่ 15 ก.พ. 60

เสธ.อู้ชี้ห้ามโน้มน้าวประชามติ
       ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หากที่ประชุมสปช.ไม่เห็นชอบกับร่างรธน. ก็ต้องเสียเวลา 6-10 เดือนยกร่างใหม่ แต่กมธ.ยกร่างฯไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นไม่ผ่านร่างรธน. ทั้งนี้หากสปช.เห็นชอบ นับแต่วันที่ 7 ก.ย. ก็ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะอยู่ในช่วงกลางเดือนม.ค.นี้
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถโน้มน้าวชี้นำกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือตั้งเวที เพื่อบอกกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจะขัดต่อกฎหมาย แต่การชี้แจงหรืออธิบายเนื้อหาสาระของร่างนั้น ทำได้ แต่จะบอกว่าร่างนี้จะดีกว่าฉบับปี 2540 และปี 2550 ไม่ได้ ส่วนกมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องดูความเหมาะสมและประเพณีที่ผ่านมาก่อน 

กกต.พร้อมเปิดดีเบต'รธน.'
      นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า ขณะนี้จัดทำร่างประกาศกกต.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและระเบียบที่เกี่ยวข้องเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจทานความเรียบร้อย และรอดูมติสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ 
     นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกกต.เกี่ยวกับการจัดทำประชามตินั้น นอกจากกกต.จะมีหน้าที่จัดทำประชามติแล้ว ยังมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งต้องไม่เป็นการชี้นำให้โหวตรับหรือไม่รับ พร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ โดยรูปแบบจะเป็นการเปิดให้ประชาชนที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นให้มาลงทะเบียนที่ กกต.ทั่วประเทศ จากนั้นกำหนดวันให้ดีเบตกันโดยเป็นการบันทึกเทปโทรทัศน์ ก่อนจะนำไปเผยแพร่ทางทีวี โดยจะอยู่ในรูปแบบเวทีหลัก ไม่ใช่จัดเวทีระดมความคิดเห็น เพราะต้องคำนึงถึงประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองด้วย และเห็นว่าการรณรงค์ครั้งนี้คงอาศัยสื่อหลัก เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพราะโซเชี่ยลมีเดียควบคุมยาก กกต.ไม่สามารถตรวจสอบได้

อดีตส.ส.พท.รุดเยี่ยม'วิโรจน์'
      วันที่ 28 ส.ค. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีเพื่อนและครอบครัวของนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ผู้ต้องขังในคดีปล่อยกู้กว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติ พนักงาน และอดีตนักการเมืองเข้าเยี่ยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายการุณ โหสกุล และนายสุรชาติ เทียนทอง ฯลฯ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย นอกจากนั้นยังมีน.ส.นวลพรรณ ล่ำซำ หรือมาดามแป้ง ผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และผู้บริหารบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 
       นายการุณ เปิดเผยว่า ได้พูดคุยถามไถ่ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ส่วนอาการป่วยด้วยโรคหัวใจนั้น นายวิโรจน์ก็ดีขึ้นแล้ว และเท่าที่คุยกับครอบครัวนายวิโรจน์ ทราบว่ายังทำใจไม่ได้เนื่องจากถูกดำเนินคดีในช่วงที่อายุมากแล้ว จึงห่วงเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ในเรือนจำ ตนมาเยี่ยมวันนี้ ก็เพื่อให้กำลังใจในฐานะรู้จักกัน 
     นายสุรชาติ กล่าวว่า มาเยี่ยมและให้กำลังใจในฐานะที่รู้จักกัน จากการพูดคุยนายวิโรจน์มีอาการผ่อนคลายขึ้น และเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำได้ แต่ยังมีอาการป่วยจากโรคประจำตัวอยู่ ทั้งนี้ทราบว่าอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย จะสลับกันเข้าเยี่ยมนายวิโรจน์ และผู้ต้องขังคนอื่นๆ
     น.ส.นวลพรรณ กล่าวว่า มาให้กำลังใจในฐานะเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งนายวิโรจน์มีสีหน้าดีขึ้นและมีจิตใจเข้มแข็ง แต่ยังมีอาการป่วยด้วยโรคประจำตัว ตนได้พูดคุยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
      นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า เรือนจำพิเศษได้รับตัวผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวเป็นชาย 16 คน และอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอีก 3 คน รวม 19 คน ซึ่งพร้อมดูแลผู้ต้องขังทั้งหมด หากป่วยฉุกเฉินหรือป่วยหนักที่ทางเรือนจำไม่มีเครื่องมือแพทย์รักษา ก็จะส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลเฉพาะได้ทันที เช่น โรคพยาบาลทรวงอก สำหรับผู้ต้องขังทั้ง 16 คน ถูกจัดให้อยู่ในแดนแรกรับ พักรวมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องละ 20 คน ส่วนนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย หนึ่งในผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวที่มีอาการป่วยด้วยโรคประจำตัว ยังคงรักษาอาการป่วยภายในทัณฑสถานร.พ.ราชทัณฑ์ และเรือนจำก็ใช้โปรแกรมดูแลผู้ต้องขังสูงอายุอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าห่วง

โปรดเกล้าฯแล้ว-831 นายพล
    เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากประเทศฟิลิปปินส์ ว่า เรื่องการแต่งตั้งไปเขียนกันจนเลอะเทอะ จะแต่งตั้งผบ.ทบหรือใคร แบ่งแชร์อำนาจกัน มันแชร์กันได้ที่ไหนเพราะเป็นคนรับผิดชอบ ตนไม่แชร์กับใครทั้งนั้น แต่ปรึกษากัน ขอให้รู้บ้างว่าเวลาทำงานทำอย่างไร เวลาพี่น้องเขาเป็นอย่างไร สื่อไม่เคยรู้เลย นั่นคือสิ่งที่สื่อไม่รู้ว่าทหารเป็นอยู่กันอย่างไร สื่อคิดแบบพลเรือนคิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิจารณ์ไปต่างๆ ทำให้ตนอารมณ์เสีย วันนี้เปิดหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มาอ่าน แล้วอยากจะโดดลงจากเครื่องบิน แต่มันกระโดดไม่ได้เพราะเขาล็อกไว้ ไม่รู้จะเขียนอะไรก็ว่ากองทัพอย่างนี้คนจะเสียใจ
     "ผบ.ทบ.คนใหม่เป็นอย่างไร มันก็คนในกองทัพ กองทัพเขาเดินด้วยนโยบาย หลักการ วัฒนธรรมองค์กร ไปยุ่งอะไรกับเขานักก็ไม่รู้ ถ้าผบ.ทบ.คนใหม่ไม่เหมาะสมแล้วจะตั้งทำไม ตั้งตามใจพี่เขาหรืออย่างไร จะเขียนทำไม จะให้ผมทะเลาะกับพี่เขาอีก ทะเลาะกันเองไม่พอ เอาผมไปทะเลาะกับพี่เขาอีก แต่เขาตั้งมาด้วยคณะกรรมการ และการตั้งคนไม่ใช่ว่าผมไม่ต้องไปคุย ไม่ต้องรับผิดชอบให้พี่เอาไปเลยเอาไปตั้งมา เดี๋ยวผมเซ็นให้ มันบ้าหรือเปล่าที่คิดแบบนี้ ผมเป็นคนรักษากติกาใช่หรือไม่ เป็นคนตัดสินใจ เพียงแต่ผมไม่ต้องพูด ซึ่งผมไม่พูดอยู่แล้ว ทุกเรื่องต้องผ่านผมอยู่แล้ว เพราะผมเป็นคนรับผิดชอบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ถ้าตั้งไม่ดีก็ตั้งใหม่ ตนมีอำนาจ ไม่เห็นมีปัญหากับตนซักคนไม่ว่ากับใคร ทุกคนไม่ใช่เทวดา ทุกคนเป็นทีมงานที่ทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นพี่เป็นน้องกัน สื่อจะให้เขาแตกแยกกัน ไม่รู้จะเอาอะไรกัน สำหรับบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีนั้น ให้รอดูคืนนี้
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ จำนวน 831 อัตรา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยมีตำแหน่งสำคัญ ดังนี้
     พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ เสนาธิการทหาร เป็น ผบ.สส., พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น รองเสนาธิการทหาร
     พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ. เป็นผบ.ทบ., พล.อ.วลิต โรจนภักดี รองเสนาธิการทหาร เป็นรองผบ.ทบ., พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผช.ผบ.ทบ., พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผช.ผบ.ทบ., พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นเสนาธิการ ทบ., พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทบ.
    พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1, พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผู้ชำนาญการกองทัพบก เป็น ผบ.พล.ร.9, พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต. วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
     พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เสนาธิการ ทร. เป็นผบ.ทร., พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. เป็นรองผบ.ทร., พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็นผช.ผบ.ทร. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็นเสนาธิการ ทร., พล.ร.อ.ชุมพล วงศ์เวคิน ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทร.
      กองทัพอากาศ พล.อ.อ.วัธน มณีนัย ที่ปรึกษาพิเศษ ทอ. เป็นรองผบ.ทอ., พล.อ.อ.ทวิเดนศ อังศุสิงห์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นผช.ผบ.ทอ., พล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ผบ.กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ เป็นผช.ผบ.ทอ., พล.อ.อ. สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ ผช.ผบ.ทอ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทอ.
      รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ได้เสนอชื่อ พล.ร.อ.ณรงค์พล ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ทร. แต่ถูกทักท้วงว่า จบหลักสูตรโรงเรียนนายเรือจากประเทศเยอรมัน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกองทัพเรือ ที่ผบ.ทร.ต้องจบจากโรงเรียนนายเรือเท่านั้น ทำให้ต้องเสนอชื่อ พล.ร.อ.ณะ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

'นายกฯตู่'หารือปธน.ฟิลิปปินส์
      เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนายเบนิกโน เอส. อาคีโน ที่ 3 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ร่วมแถลงผลการหารือทวิภาคี
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าในโอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ เข้าสู่ทศวรรษที่ 7 และการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงน่าจะร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทีมประเทศไทยและภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์ แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ และจะขยายการลงทุนมากขึ้น ซึ่งตนยินดีสนับสนุนการลงทุนในฟิลิปปินส์ และขอรับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในโอกาสนี้ด้วย โดยได้เชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนฟิลิปปินส์ร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนได้แจ้งให้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับพัฒนาการสถานการณ์การเมืองของไทย และการมุ่งการปฏิรูปประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ 5 ปี ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืนว่า ขณะนี้ไทยกลับมามีเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามโรดแม็ปและการปฏิรูป เพื่อวางรากฐานให้กับประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2559 ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงความเข้าใจเป็นอย่างดี
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯและคณะ และในเวลา 15.00 น. นายกฯและคณะ เดินทางออกจากฐานทัพอากาศ Villamore กรุงมะนิลา โดยเที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 245 กลับถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 ในเวลา 16.45 น. 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!