WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3ปลด

ครม.ตั้งอีก 3 ปลัด โยกกลับ อารีพงศ์-พลังงาน ทวีปคุมสมช.-'ณรงค์'ปปส. 'ปื๊ด'ขู่ฟ้องกลับขวางลงมติ เทพเทือกแถลงหนุน'คปป.'

         ครม.ย้ายกลับ'อารีพงศ์'นั่งปลัดพลังงานอีกรอบ ดึง'ธีรภัทร'อธิบดีกรมป่าไม้ข้ามห้วยขึ้นนั่งปลัดเกษตรฯ 'พล.อ.ทวีป เนตรนิยม' เลขาฯสมช. 'เชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ' ผอ. ข่าวกรอง 'ณรงค์ รัตนานุกูล'เลขาฯป.ป.ส. 'บวรศักดิ์'ย้ำ 21 กมธ.โหวตรัฐธรรมนูญได้ ลั่นใครฟ้องจะฟ้องกลับ วิปสปช.ยันไม่มีธงจากรัฐบาล-คสช. 'พล.อ.ฐิติวัจน์'ปัดรับใบสั่ง'ประวิตร'ล็อบบี้โหวตหนุน 'วันชัย'เร่งประสานสมาชิกโหวตคว่ำ สปช.ชี้เสียง'รับ-ไม่รับ'เบียดกันสูสี 'เทือก'แถลงหนุน ชี้รธน.ดีพอจะผ่านไปสู่การลงประชามติ 'จรัญ'ยันศาลรธน.ไม่เคยชี้"คำปรารภ'เป็นสาระสำคัญ

 

วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9044 ข่าวสดรายวัน

 

ถกครม. - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เดินจากตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อมาเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ก.ย.

มท.1 ชี้โผผู้ว่าฯยังไม่เสร็จ

       เวลา 09.00 น. วันที่ 1 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ก่อนเริ่มประชุม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ ที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งถูกจับตาเป็นการหารือเรื่องตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมีแคนดิเดต 2 รายชื่อ คือ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

      ก่อนขึ้นตึกบัญชาการ นายกฯ กล่าวกับสื่อมวลชนด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า เปลี่ยนรถแล้ววันนี้ ไปดู ผู้สื่อข่าวกล่าวว่าวันนี้หวยออกพอดี จะใบ้หวยหรือ นายกฯ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ได้ ผิดกฎหมาย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนรถยนต์ประจำตำแหน่งกลับมาเป็นคันเดิมคือ รถเบนซ์ สีดำ หมายเลขทะเบียน ญค 1881 หลังจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา เปลี่ยนไปใช้รถตู้โฟล์กสีดำกันกระสุน ทะเบียน ฮภ 2923

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม.ถึงกระแสข่าวกระทรวงมหาดไทยจะเสนอบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าที่ประชุมครม.ว่า ยังไม่เสนอเพราะยังไม่เรียบร้อย ยังมีขั้นตอนอยู่ และรายชื่อทั้งหมดยังไม่ส่งถึงมือตน

 

แต่งตั้ง 3 ปลัดข้ามห้วย

      เวลา 15.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงหลังการประชุม ครม.ว่า นายกฯได้ปรารภในที่ประชุม ครม. ถึงข้อห่วงใยในสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรม นูญ ยังยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าคปป. จะเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่างๆ นายกฯยืนยันว่าไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญกำหนดการทำงานของคปป. ไว้ชัดเจนว่าอำนาจพิเศษของ คปป. ใช้ได้เฉพาะในยามวิกฤตเท่านั้น จึงอยากให้สังคมมั่นใจและสบายใจว่าอำนาจพิเศษ หรือ คปป. ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศและทำให้เราขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไปได้

       พล.ต.วีรชน แถลง ครม.มติแต่งตั้ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เห็นชอบให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดฯมหาดไทย เป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แทนนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพม. ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.

 

ย้าย'อารีพงศ์'กลับพลังงานอีก

      สำหรับ นายอารีพงศ์ ถือเป็นข้าราชการระดับ 11 ที่ถูกโยกย้ายบ่อยที่สุด โดยขึ้นเป็นปลัดคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ทำงาน ไม่ถูกใจ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังช่วงนั้น เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด จึงถูกโยกมาเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แต่เมื่อมีการรัฐประหาร มีคำสั่งคสช. แต่งตั้งให้เป็นปลัดพลังงานทันที แต่ก็ทำงานไม่เข้าขากับ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่เป็นรมว.พลังงาน และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯขณะนั้น จึงถูกย้ายกลับมาเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. นายอารีพงศ์ อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร.ไม่นาน ก็โยกไปเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2558 ก่อนที่ครม.จะให้กลับไปรับตำแหน่งปลัดพลังงานอีกครั้ง เนื่องจากรมว. พลังงานใหม่ ต้องการคนไว้ใจได้มาร่วมทำงานด้วย การอนุมัติครั้งนี้นายกฯค่อนข้างเกรงใจเนื่องจากโยกย้ายนายอารีพงศ์ หลายครั้ง แต่นายอารีพงศ์ ก็พอใจ

 

เลขาฯปปส.-สมช.-ผอ.ข่าวกรอง

      พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) เป็นเลขาธิการสมช. คนใหม่ แทนนายอนุสิษฐ คุณากร ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ และมีมติแต่งตั้งนายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองฯคนใหม่แทน นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ที่จะเกษียณอายุราชการ รวมทั้งมีมติแต่งตั้ง นายณรงค์ รัตนานุกูล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

สำหรับ พล.อ.ทวีป เป็นเตรียมทหารรุ่นที่ 16 (ตท.16) จรป. รุ่นที่ 27 จะเกษียณอายุราชการในปี 60 เป็นตัวเลือกที่รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นมือประสานงานได้ทั้งในและต่างประเทศ และเข้าได้กับทุกฝ่าย ที่ผ่านมารับราชการเป็นผู้ช่วยทูตทหารกรุงลอนดอน ปลัดบัญชีทหาร ฝ่ายเสธ.ประจำ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็น ผบ.นทพ. และจบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยฟิลิปปินส์ (บาเกียว)

      พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ครม.มติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการเมือง ดังนี้ พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้ง นางมยุรา กุสุมภ์ เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข นายกิตติศักดิ์ กลับดี เป็นเลขานุการรมว.สาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป

 

ตั้งรักษาการนายกฯ

      พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบ คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 219 /2558 และคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 222/2558 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ดังนี้ กรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ครม.มอบให้ รอง นายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร 3.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย 4.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง 5.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 6.นายวิษณุ เครืองาม ทั้งนี้ ระหว่างการรักษาราชการแทน นายกฯ ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณที่อยู่ในอำนาจของนายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ ก่อน

 

'บิ๊กติ๊ก'ยิ้มแย้มออกงาน

     เวลา 06.30 น. ที่กรมยุทธโยธาทหารบก ถ.พหลโยธิน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็นประธานงานวันสถาปนากรมยุทธโยธาทหารบก ครบรอบ 111 ปี โดยขึ้นแท่นรับความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ และสักการะพระวิษณุกรรม จากนั้นเป็นประธานในพิธีสงฆ์ และถ่ายรูปร่วมกับอดีต ผู้บังคับบัญชาที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธโยธาทหารบกและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบก

       หลังเสร็จสิ้นพิธี พล.อ.ปรีชา ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงความพร้อมในการสานงานต่อจากปลัดกระทรวงกลาโหม ภายหลังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ขอให้รับมอบตำแหน่งอย่างเป็นทางการก่อน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตนจะให้สัมภาษณ์ถึงการสานต่อการทำงานด้านกลาโหมต่อไป โดยพล.อ.ปรีชา มีสีหน้ายิ้มแย้มตลอดการให้สัมภาษณ์สั้นๆ

 

'บิ๊กตู่'แจงเสียงวิจารณ์'ธีรภัทร'

       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมครม.ถึงมติแต่งตั้งปลัดกระทรวงหลายตำแหน่งว่า เป็นไปตามที่รัฐมนตรีเสนอขึ้นมา แม้บางคนจะมีข้อท้วงติงแต่ก็เป็นการแต่งตั้งตามความเหมาะสม ให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ยืนยันไม่มีเด็กของใคร อย่าหวาด ระแวง การแต่งตั้งในทุกตำแหน่งผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบตามระเบียบ ก.พ. มีการเสนอชื่อจากหน่วยงานต้นสังกัดของแต่ละกระทรวง ดังนั้น ข้อมูลที่มีการปล่อยข่าวในโซเชี่ยลมีเดีย ต้องระวัง การพูดจาให้ร้ายโดยไม่มีหลักฐานมันเป็นอันตรายเพราะเขาแก้ตัวไม่ได้แล้ว อย่าทำบาปเลย ถ้าไม่ดีจริงก็หาหลักฐานมา

      เมื่อถามว่ามีกระแสวิจารณ์การย้ายนาย ธีรภัทร อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯไม่เหมาะสม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผ่านการพิจารณาของครม. และเป็นความต้องการของรัฐมนตรีต้นสังกัด พิจารณาตามความเหมาะสมและน่าจะทำงานได้ ตน ไม่กังวลว่ามาจากไหน ทหารก็ย้ายแบบนี้ ถ้ากลุ่มงานเดียวกันก็แทนกันได้หมด คอยดูถ้าทำไม่ดีค่อยเสนอปรับย้าย

 

โยก'อารีพงศ์'กลับมาทำงานถนัด

       นายกฯ ชี้แจงการโยกนายอารีพงศ์ กลับไปอยู่เป็นปลัดพลังงานว่า การย้ายนายอารีพงศ์ ไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก่อนหน้านี้เป็นการย้ายชั่วคราว และเห็นว่าร่วมมือกับรมว.การท่องเที่ยวฯได้ดี ตอนนี้ตนตั้งเป็นปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อให้มาทำงานตามความถนัดและเกิดความต่อเนื่อง นายอารีพงศ์ มีความสามารถ ไปอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ถ้ามีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่คนเลว คนเขาต้องการหมด ต้องทำให้ดีถ้าไม่ดีจะโดนหนักกว่าเดิม ทุกคนต้องระมัดระวังตัว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ตนเอาทหารไปเป็นรมว.พลังงาน จะได้ไปคุยแบบทหาร ไม่ใช่ไปบังคับเขา ทหารจะพูดและอธิบายแบบตน อยากให้พล.อ.อนัตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน หัดพูดกว่าเดิมเพราะไม่ค่อยพูด แต่ทำงานกับตนมาตลอด ทั้งคตร. เรื่องทุจริต สายการเงินการคลังของรัฐบาลปัจจุบันและของทบ.ที่ผ่านมา จึงไว้ใจเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่มีนอกมีใน ไม่มีผลประโยชน์ ดังนั้น เราต้องหาคนที่เหมาะสมกับงาน ตอนนี้ฝ่ายพลเรือนจริงๆ เขาไม่อยากอยู่กระทรวงพลังงานมันมีปัญหาเยอะ กระทรวงพลังงานเดิมอยู่กับฝ่ายเศรษฐกิจ วันนี้กระทรวงพลังงานก็ให้มาอยู่กับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ

 

ชม"สมคิด"รับคำสั่งทุกเรื่อง

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนสบายใจที่เห็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นั่งคุยยิ้มแย้มแจ่มใสกัน เขารับคำสั่งตนทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเก่าทำหน้าที่ไม่ดี แต่เขาโดนเยอะมันก็เซ็งเหมือนกัน ส่วนคนใหม่ได้กำลังใจจากทุกฝ่าย ดังนั้น ระหว่างนี้ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่จะให้เห็นผลปุ๊บปั๊บมันไม่ได้ มันจะค่อยๆดีขึ้น หลายเรื่องมันค่อยๆดีขึ้น

      "ตอนนี้ต้องใช้ your mind หัวใจต้อง strong จะท้อแท้ไม่ได้ ต้องกัดฟันสู้เหมือนผมที่ทำอยู่ คนไทยจะต้องสู้ไปด้วยกันไม่ท้อ วันนี้เขามาทำงาน นัดกันมากินข้าวด้วยกันทุกเช้าวันจันทร์ จะได้รู้ว่ามีสิ่งใดที่จะต้องทำบ้าง กระทรวงใดมีปัญหา จะได้แก้ไขให้ทันกับสถานการณ์" นายกฯ กล่าว และว่า ส่วนเรื่องราคาสินค้าอย่าพูดลอยๆว่าข้าวของแพง ขอให้ไปเดินตลาดแล้วมาบอกว่าของมันแพงตนจะให้ไปตรวจ ไปแก้ไข มาเล่นงานรัฐบาล เล่นงานตนอยู่อย่างเดียวจะมีกำลังใจทำ อะไรให้

 

ชี้จำเป็นต้องมีคปป.

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุม ครม. ตนต้องวางตัวอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมและดูแลสถานการณ์ให้มีความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะมีบางพวกที่ยังมองแต่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาบริบทแวดล้อมและสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา

      นายกฯ กล่าวว่า ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ  (คปป.) เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ติดล็อกเหมือนที่ผ่านมา อยากถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองเกิดความสงบสุข ไม่มีปัญหาเหมือนในอดีต จนไม่จำเป็นต้องใช้คณะกรรมการชุดนี้มาแก้ปัญหา การมีคปป.ไม่ได้หวังจะให้รัฐบาลอยู่ยาวหรือสืบทอดอำนาจ ทั้งหมดอยู่ที่ประชามติ ขณะนี้รัฐบาลก็ดูแลสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยไปสู่การเลือกตั้ง

ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมจะผ่านการประชามติหรือไม่ก็เป็นผลดีต่อรัฐบาลทั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องการให้คิดเช่นนั้น เพราะไม่มีผลดีอะไร ตนไม่ต้องการอยู่ในอำนาจ พอมีรัฐบาลใหม่ก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงว่าวันหน้ามันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และคปป.ก็ไม่ได้ใช้อำนาจทับซ้อนกับฝ่ายใด คสช.และรัฐบาลไม่ได้ประโยชน์จากการมีคปป. สื่อก็ชี้นำไปเรื่อย นักการเมืองบางคนก็ชี้ส่งเดช ในทางกลับกัน คปป.เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการปฏิวัติในอนาคต

 

'บวรศักดิ์'ชี้ 21 กมธ.โหวตรธน.ได้

       เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม กมธ.ยกร่างฯ มีวาระพิจารณารับรองบันทึกรายงานการประชุม เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์เปิดให้สื่อมวลชนสอบถามถึงเนื้อหาและประเด็นที่สงสัย

       เมื่อถามถึงความชัดเจนกรณีกมธ.ยกร่างฯ 21 คน ที่เป็นสมาชิก สปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า 1.การโหวตเป็นสิทธิและเป็นเอกสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 รับรองไว้ 2.ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมา ถ้าจะห้ามโหวตต้องมีกติกาชัดเจน เช่น รัฐมนตรีเข้าประชุมได้แต่ห้ามโหวตในกิจกรรมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และ3.ประเพณีที่ผ่านมาการลงมติของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรม นูญ(ส.ส.ร.) ปี"40 และ 50 ก็ลงมติได้

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญการลงมติของ สปช.ยังไม่ถือว่าเด็ดขาด เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าผ่านจะไปสู่ขั้นตอนลงประชามติ ในทางปฏิบัติไม่เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในกฎหมายหลายฉบับผ่านไปแล้วและเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ อาทิ กฎหมายเงินเดือนข้าราชการและการลงมติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี สนช.ที่เป็นข้าราชการลงมติโหวตได้และเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ตนไม่เคยไปตั้งข้อสงสัย ในอดีต ส.ส.ที่เสนอกฎหมายและลงมติในวาระที่ 1 และเป็นกมธ.ในวาระที่ 2 และลงมติในวาระที่ 3 ก็ไม่เคยมีปัญหาและกฎหมายสามารถบังคับได้ แต่มามีปัญหาในยุคนี้เท่านั้นเพราะไม่ชอบรัฐธรรมนูญ ต้องการให้คว่ำทุกวิถีทาง

 

ใครฟ้องจะฟ้องกลับ

      "สมาชิกสปช.บางคนขู่จะดำเนินคดีทางอาญากับกมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสปช.หากลงมติวันที่ 6 ก.ย.นี้ ถ้าพวกผมทั้ง 21 คนลงมติ คนที่พูดก็ลองไปดำเนินคดีอาญา ผมก็จะดำเนินคดีอาญากลับเหมือนกัน ฐานฟ้องเท็จ จะได้สู้กันต่อไปให้ไม่รู้จักจบ" นายบวรศักดิ์กล่าวและว่า ขอชี้แจงว่าการลงมติเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมา ขอย้ำ 21 คนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและประเพณีที่ปฏิบัติกันมา 83 ปี ส่วนจะใช้สิทธิหรือไม่ค่อยว่ากัน

 

เทียนฉายเรียกประชุมสปช.6 ก.ย.

       นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช.ได้ออกหนังสือด่วนมากที่ สผ (สปช) 0014/54 ถึงสมาชิก สปช. เนื่องด้วยนายเทียนฉาย กีรนันทน์ ประธานสปช. มีคำสั่งให้นัด ประชุมสปช. ครั้งที่ 67/2558 วันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.2558 เป็นพิเศษ ในเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช.... ทั้งฉบับ

        นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการสปช. หรือ วิปสปช. แถลงหลังประชุมว่า วิปสปช.บรรจุระเบียบวาระการประชุมวันที่ 6 ก.ย.นี้ 2 วาระ คือ การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาญัตติประเด็นคำถามประกอบการทำประชามติ ขั้นตอนการลงมติคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงน่าจะเสร็จ จะขานชื่อสมาชิกเรียงลำดับตามพยัญชนะเพื่อให้สมาชิกขานคะแนนอย่างเปิดเผย และจะประกาศคะแนนทันทีเมื่อนับเสร็จ

 

วิปสปช.ยันไม่มีธงจากรบ.-คสช.

       นายอลงกรณ์กล่าวว่า หากที่ประชุมรับร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่วาระพิจารณาคำถามประกอบการทำประชามติต่อไป โดยเปิดให้สมาชิกให้ความเห็นเพื่อหาข้อสรุปก่อนว่าควรให้ตั้งประเด็นคำถามหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นควรก็ตกไป แต่ถ้าเห็นควรให้ตั้ง จะพิจารณาจากญัตติที่เสนอเข้ามา ขณะนี้มี 2 ญัตติ เป็นญัตติให้มีการปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนการเลือกตั้ง ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กับนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เป็นผู้เสนอ กับญัตติการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็น ผู้เสนอ ทั้งนี้ สมาชิกสปช.สามารถส่งญัตติคำถามเพิ่มเติมได้ตลอดกระทั่งถึงวันลงมติหรือวันที่ 6 ก.ย.นี้

       นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 31 ส.ค. ถึงประธานสปช. พร้อมเอกสารเป็นตารางสรุปเจตนา รมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาของสปช.ด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมไม่มีการพูดกรณีสมาชิกสปช. 21 คนที่เป็นกมธ.ยกร่างฯสามารถลงมติได้หรือไม่ และไม่มีการพูดถึงแนวโน้วหรือธงใดๆ ในการลงมติ ยืนยันเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกสปช. ไม่มีธงใดๆ จากรัฐบาล และคสช. หากบุคคลใดแอบอ้างถือเป็นเพียงข่าวลือ

       รายงานข่าวจากที่ประชุมวิปสปช.ว่า ช่วงท้ายก่อนปิดประชุมวิปสปช. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง นายเทียนฉายกล่าวขอบคุณสมาชิก สปช.และข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการสภา ที่ช่วยกันสานงานจัดทำรายการปฏิรูปให้ลุล่วงด้วยดี ช่วงหนึ่งระหว่างกล่าวขอบคุณ นายเทียนฉายก้มหน้าและมีน้ำตาคลอด้วย

'ฐิติวัจน์'ปัดรับใบสั่ง'ประวิตร'

       พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก กมธ.วิสามัญกิจการสปช. หรือวิปสปช. ให้สัมภาษณ์กรณีถูกกล่าวหาจากสมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างฯบางคนว่า ว่าเป็นคนกลางในการนำรายชื่อ สปช.ที่ต้องการเข้าสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เพื่อเสนอต่อนายกฯ ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งว่า ไม่มี สปช.เสนอชื่อผ่านตนเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ และไม่มีใบสั่งมายัง สปช.เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการลงมติดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากหากสปช.ต้องตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์รองรับ สปช.ควรตัดสินใจจากความเหมาะสมและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจุดยืนของตนขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ประชา ชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด เพราะตนไม่เชื่อในการเมืองแบบตัวแทน จึงจะใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตัดสิน

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเป็นคนในสังกัดของพล.อ.ประวิตรนั้น พล.อ.ฐิติวัจน์ กล่าวว่า รู้จักกับ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากเคยเป็นหัวหน้ากองพันในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเช่นเดียวกัน จึงมีความเคารพต่อ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่นั้น ขณะที่ พล.อ. ประวิตร เป็นผบ.ทบ.ได้แต่งตั้งตนเป็นผอ.กองการกีฬา และเป็นผู้ที่เสนอชื่อตนให้ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพลเอก ยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ใหญ่ที่ตนเคารพแต่ไม่มีใบสั่งผ่านตน และไม่มีบุคคลขอตำแหน่งผ่านตนอย่างแน่นอน

 

กมธ.ส่งเจตนารมณ์ให้สปช.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญได้แจกเอกสารเพิ่มเติมให้สมาชิกสปช. เป็นเอกสารว่าด้วยเจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญและตารางสรุปเจตนารมณ์รายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้สปช. ลงมติวันที่ 6 ก.ย.นี้ เนื้อหาของเจตนารมณ์หลักจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งขอคำปรารภของรัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนให้ความเห็นชอบออกเสียงประชามติแล้ว โดยเอกสารมีทั้งสิ้น 4 ส่วน คือ เจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญ ตารางรายละเอียดมาตราต่างๆ เรียงลำดับ รายละเอียดของเจตนารมณ์ และตารางเปรียบเทียบว่าตรงกับมาตราใดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บ้าง

 

เทียนฉายชี้ไม่ต้องเร่งตีความรธน.

      นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิก สปช.ยื่นหนังสือขอให้ประธานสปช.ส่งเรื่องต่อไปยังครม. เพื่อ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนญตีความเรื่องร่างรัฐ ธรรมนูญ ยังไม่มีคำปรารภว่า ตนแจ้งต่อสมาชิก สปช.ที่ยื่นเรื่องแล้วว่า ประธาน สปช.ไม่มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากจะให้ตนยื่นต้องเป็นมติของที่ประชุมสปช. ซึ่งต้องไปยื่นต่อ ครม.โดยตรง ทราบว่าสมาชิกสปช.ยื่นไปที่ครม.เเล้ว จึงเป็นอำนาจของ ครม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

      นายเทียนฉาย กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความก่อนวันที่ 6 ก.ย. จะตีความตอนไหนก็ได้ แต่ต้องทำก่อนทำประชามติ เพื่อไม่ต้องเสียงบประมาณไปกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนที่ 21 กมธ.ยกร่างฯที่เป็นสมาชิก สปช. จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ตนในฐานะประธาน สปช. ไม่มีสิทธิห้ามเนื่องจากไม่มีกฎหมายใดบังคับไม่ให้ลงมติ เป็นสิทธิของแต่ละคนจะลงมติเช่นไรอาจไม่ออกเสียงหรือไม่รับร่างก็ได้ อย่าเพิ่งคาดเดา

ศาลรธน.แจงวินัจฉัยคำปรารภ

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อถกเถียงเรื่องความสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภว่า ถ้าตามกระบวนการที่เราเคยทำมาถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดในเนื้อหา เป็นเพียงวิธีการ คำปรารภไม่ใช่ส่วนหนึ่งของหลักการ เพราะหลักการของกฎหมายเริ่มที่เนื้อหา แต่ไม่เป็นรูปแบบว่ารัฐธรรมนูญต้องมีคำปรารภด้วย ส่วนคำตอบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้นไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อน จึงคิดว่าควรหารือกันให้ได้ข้อสรุปและข้อยุติร่วมกัน

เมื่อถามว่ามีสมาชิกสปช.อ้างคำปรารภเป็นส่วนสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2556 นายจรัญกล่าวว่า ไม่ได้บอกอย่างนั้น บอกแค่ว่าคำปรารภของรัฐธรรมนูญอาจถูกนำไปใช้เป็นเหตุผลประกอบการตีความรัฐธรรมนูญได้ จึงเห็นว่าเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าคำปรารภเป็นสาระสำคัญ เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับกรณีนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า เป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยในอนาคตไม่สามารถให้คำตอบในเวลานี้ได้

 

เครือข่ายปชช.จี้ล้มร่างรธน.

      เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา เครือข่ายประชา ชนปกป้องประเทศ นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ยื่นหนังสือต่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ สปช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ โดยกตัวอย่าง 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การได้มาซึ่งผู้แทนที่เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่หรือมีทุนมาก ไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ 2.กระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิ ภาพ บางคดีปล่อยจนหมดอายุความ เกิดการเลือกปฏิบัติ 3.ประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องผ่านองค์กรต่างๆ ทั้งนี้ ได้แนบข้อมูลเพื่อให้สปช. พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงมติรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย

      ด้านนายเสรี กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหากนำไปใช้ มีหลายส่วนที่เป็นอคติและมีหลายส่วนที่เอาปัญหาของกลุ่มคนมาเขียนบัญญัติไว้ ทำให้เกิดอำนาจแฝงซึ่งเป็นอำนาจใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคปป. สภาปฏิรูปแรงงาน หรือในส่วนเกี่ยวกับปฏิรูป อื่นๆ ที่มีความสลับซับซ้อนและการมีอำนาจถูกสร้างขึ้นมามาก

 

อ้าง"วิษณุ"ส่งสัญญาณโหวตคว่ำ

       นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. และกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่นายวิษณุกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านอาจเกิดความขัดแย้งตามมา น่าจะส่งสัญญาณบางอย่างให้สปช.รู้ว่า ถ้าปล่อยให้ร่างรัฐธรรม นูญผ่านในวันที่ 6 ก.ย.จะเป็นอันตรายต่อประเทศ เพียงแต่ไม่พูดตรงๆ ว่าให้สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่ง 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ จึงเป็นไปได้ยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ หากต้องยกร่างใหม่ก็ต้องทำประชามติอีกรอบ เสียเงินไปกว่า 6 พันล้านบาท ยังไม่รู้ว่าจะผ่านหรือไม่ ดังนั้น ให้คว่ำในชั้นสปช.แล้วไปแก้ไขเนื้อหาให้รอบคอบมากขึ้นจะดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปตัดต่อพันธุกรรม ลักไก่โผล่เข้ามาในช่วงสุดท้าย โดยไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว เปรียบเหมือนมัดมือชก ไม่เห็นหัวสปช.

 

ประสารเชื่อผ่านประชามติ

      นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. กล่าวประเด็นนายวิษณุ เป็นห่วงร่างรัฐธรรม นูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งช่วงทำประชามติ หรือหลังจากประกาศใช้ว่า เป็นแค่การแสดงความห่วงกังวล ไม่ใช่การส่งสัญญาณทางการเมืองใดๆ ต่อสมาชิกสปช.ในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. คงไม่ทำให้สปช.ลังเล เพราะขณะนี้สปช.หลายคนมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าจะลงมติอย่างไร มีแค่สปช. 20 คนเท่านั้นที่ยังลังเล ขอรอตัดสินใจดูอีกที แต่ทิศทางของนายวิษณุ ยังอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแม็ปที่วางไว้

       นายประสาร กล่าวว่า มั่นใจว่าสถานการณ์หลังจากสปช.ลงมติแล้วคงไม่เกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงตามมา คงมีแค่การแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในระดับธรรมดา เท่าที่ดูกระแสประชาชนที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอารมณ์ของสังคมอยากเห็นขั้นตอนทุกอย่างเดินตามโรดแม็ป จึงเชื่อว่าน่าจะผ่านการทำประชามติของประชาชนไปได้

 

เสียงสปช."รับ-ไม่รับ"สูสี

      พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า เท่าที่ตนอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยรวมถือว่าพอรับได้เพราะไม่อยากยึดติด อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แม้กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ได้แก้ตามที่เราขอไปเลยก็ตาม ทั้งนี้ เสียงลงมติรับร่างรัฐ ธรรมนูญภาพรวมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตนเคยวิเคราะห์ว่าจะได้เสียงรับร่างกว่า 2 ใน 3 นั้น ขณะนี้น่าจะไม่ถึงเพราะ สปช.เริ่มเอนเอียงเสียงไปทางไม่รับร่างมากขึ้น ด้วยเหตุผล อาทิ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เขียนคำปรารภ กมธ.ยกร่างฯที่เป็นสปช.สามารถลงมติรับร่างได้ และความขัดแย้งของสมาชิก สปช.ด้วยกันในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการลงมติ ทำให้คะแนนลงมติขณะนี้ทิ้งห่างกันไม่มาก

 

"ดิเรก"ลุ้นเสียงไม่รับพลิกชนะ

      นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า กระแสไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเริ่มมีมากขึ้น เพราะมี สมาชิกสปช. เห็นคล้อยกับกมธ.ปฏิรูปการเมืองและกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นที่มาของความขัดแย้งในอนาคต โดยเฉพาะสปช.สายนักวิชาการ นักกฎหมาย และข้าราชการ กลุ่มนี้มีอยู่ 50 คน เริ่มเคลื่อนไหวจับกลุ่มพูดคุยกันมากขึ้นถึงการไม่เห็นด้วยกับการมีคปป. เพราะการมีคปป.เท่ากับการให้มีอำนาจมาครอบงำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงว่าเริ่มไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

       "ส่งผลให้กลุ่มสปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 90 เสียงแล้ว ถือว่าคะแนนเริ่มไล่ขึ้นมาสูสีกับสปช.กลุ่มที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องรอดูว่ากลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย เหล่านี้จะเทเสียงไม่เห็นด้วยหมดทุกคนหรือไม่ รวมถึงสปช.กลุ่มที่ยังลังเล ไม่ตัดสินใจอีกจำนวนหนึ่ง ถ้ากลุ่มเหล่านี้หันมาเทคะแนนไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้ที่คะแนนไม่เห็นด้วย จะพลิกกลับมาเอาชนะได้ ต้องรอดูเวลาช่วงหลังจากนี้ว่าผลจะเป็นอย่างไร" นายดิเรกกล่าว

 

"วันชัย"เร่งล็อบบี้สปช.

       นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. และกมธ.ปฏิรูปการเมือง เผยว่า ขณะนี้สปช.ระดับหัวกะทิของกลุ่มต่างๆ อาทิ สายจังหวัด สายปกครองส่วนท้องถิ่น สายการเมือง สายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สายวิชาการ และอดีตข้าราชการบางส่วน ปรึกษาหารือกันถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสรุปร่วมกัน 3 ข้อ 1.เนื้อหาของร่างรัฐธรรม นูญมีปัญหาและมีสิ่งที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะ คปป. ถ้ายังฝืนจะก่อวิกฤตอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศ

2.หากสปช.ให้ร่างฉบับนี้ผ่านไปเพื่อทำประชามติ จะเกิดความแตกแยกและความระส่ำระสายในบ้านเมืองขึ้น ถึงขั้นที่รัฐบาลจะควบคุมไม่อยู่ และถ้าปล่อยให้ร่างฉบับนี้ผ่านสปช.และถูกคว่ำในชั้นประชามติ รัฐบาลกับคสช.จะเสียคน จะเป็นข้ออ้างให้เกิดการขับไล่จนไม่สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมีส่วนดีแต่มีส่วนเสียที่ถือเป็นอันตรายใหญ่หลวงควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิม

      นายวันชัย กล่าวว่า สปช.ที่มาหารือกันเห็นควรว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและเกิดวิกฤต เห็นพ้องที่จะตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ควรรับร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับนี้โดยเด็ดขาด ให้นำรัฐธรรม นูญฉบับนี้ไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ตัดเนื้อร้ายออกไป ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังประสานความร่วมมือกับสมาชิก สปช.ทุกภาคส่วนที่มีแนวคิดตรงกันเพื่อทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ มั่นใจจะมีเสียงสปช.สนับสนุนจนสามารถดับวิกฤตของบ้านเมืองด้วยการไม่รับร่างฉบับนี้ เพื่อ ไม่ให้ไปถึงการทำประชามติถามประชาชนได้ ทุกคนเริ่มติดต่อทำความเข้าใจกันจนมีเสียงมากขึ้นๆ ถึงวันนี้มีความมั่นใจว่ามีเสียงมากพอที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ สามารถดับไฟได้อย่างแน่นอน

 

"เทือก"แถลงหนุนร่างรธน.

        เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ พร้อมอดีตแกนนำ กปปส. แถลงถึงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิ กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้มูลนิธิได้ปฏิบัติตามประกาศของคสช.ทุกประการ และจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อประกาศของ คสช.

      นายสุเทพกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีความ คิดจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย และจะ ไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว พวก เราไม่ใช่คู่แข่งทางการเมืองของกลุ่มใด เจตนา รมณ์ ของเราคือต้องปฏิรูปประเทศไทย จึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีพอที่จะนำไปให้ประชา ชนลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือประชาชนทั้งประเทศ สำหรับมวลมหาประชาชนเราเรียกร้องว่าต้องปฏิรูปประเทศ ไทย หัวใจสำคัญที่คาดหวังไว้คือให้กระบวน การปฏิรูปดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน

 

ชูคปป.ช่วยแก้วิกฤต

      นายสุเทพ กล่าวว่า ยืนยันว่าร่างรัฐธรรม นูญนี้ดีพอจะส่งให้ประชาชนตัดสินทำประชา มติ เพราะมีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้การปฏิรูปประเทศ ไทยจะดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งร่างนี้มีคำตอบให้ประชาชนมั่นใจ เห็นเจ้าภาพ กำหนดให้การปฏิรูปเป็นยุทธศาสตร์ โดย คปป.จะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานรัฐต้องปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นและทำให้เชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศจะเดินต่อไปได้

     นายสุเทพ กล่าวว่า หน้าที่ของ คปป.กำหนดไว้ชัดเจนทั้งยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปและการบูรณาการ เราเห็นชัดเจนว่าในวิกฤตที่เกิดขึ้นประเทศไม่มีทางออกจึงต้องยึดอำนาจโดย คสช. เราจึงพอใจในร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ที่จะมีองค์กรหรือบุคคลเข้ามาแก้ไขหากเกิดวิกฤต สิ่งสำคัญคือช่วง 5 ปีแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญหากสถาบันการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจ คปป.ใช้อำนาจแทนได้ พวกตนยอมรับว่าอาจมีคนอื่นเห็นเป็นอย่างอื่น จึงขอโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการทำประชามติ ตนพูดในฐานะร่างทรงของมวลมหาประชาชน ความบกพร่องเป็นเรื่องธรรมดาวันข้างหน้าจะแก้ไขได้

      ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาสนับสนุนให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่มวลมหาประชาชนส่วนหนึ่งเป็นฐานเสียงพรรคประชา ธิปัตย์ นายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนไม่ได้ตีสองหน้าเห็นอะไรก็พูดตามความจริง ต้องว่าตามผลของประชามติ และเชื่อว่ามวลชนเกินครึ่งที่สนับสนุนกปปส.ไม่เคยลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์เลย

 

นปช.ขอเปิดแถลงบ้าง

       นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ได้ฟังนายสุเทพแถลงว่าจะไม่เล่นการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ตั้งพรรคใดๆ รวมทั้งย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอจะส่งไปลงประชามติ ต้องเรียนไปยัง คสช.ว่า การที่นายสุเทพนัดนักข่าวเพื่อแถลงได้รับอนุญาตจาก คสช.หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นเราคงต้องขอทำแบบนั้นบ้าง แต่ถ้าไม่ให้พวกตนแถลง คสช.ก็ตอบสังคมยาก ประชาชนที่ร่วมต่อสู้กับพวกเราร่วม 10 ปี ต่างอดทนรอคอยอย่างมีวินัยที่สุด ถ้าหลักการไม่ถูกต้องประชาชนเขาก็ไม่ตาม

      นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นของร้อนในขณะนี้ ที่นายบวรศักดิ์บอกว่าจะสร้างประชาธิปไตยนั้นไม่มีวัน การที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนรัฐธรรมนูญแล้วให้ สปช.มายกมือโหวตให้ตัวเอง การตั้ง คปป.เพื่อยกเลิกรัฏฐาธิปัตย์ จริงๆ แล้วรัฏฐาธิปัตย์อยู่ใน คปป. บอกว่า 5 ปีนี้จะสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก การอธิบายความว่า คปป.จะสร้างประชาธิป ไตยนั้นโกหก ประชาธิปไตยไม่มีวันจะสร้างจากคนที่ไม่มีความเชื่อในประชาชนด้วยกันมา ประชาธิปไตยไม่มีวันจะสร้างโดยมีคนสั่งให้เป็นประชาธิปไตย

      นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ในวันนี้นายสุเทพนั่งแถลงทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ จาก คสช. เท่ากับคสช.ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ทุกองค์กร ทุกบุคคลนั่งแถลงทางการเมืองได้อย่างเต็มที่เช่นกัน และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 36 มหาปราชญ์ได้อย่างเสมอภาค หากมีการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน คสช.ต้องรับผิดชอบต่อผลพวงที่เกิดขึ้นทุกประการ

 

จาตุรนต์ยันค้านรธน.แน่

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษา ธิการ เขียนเฟซบุ๊กว่า ฟังประเด็นทั้งชี้แจงและโต้แย้งเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่เข้าใจว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคิดอะไรและใช้ตรรกะอะไร คสช.ห้ามคนชี้นำในทางค้าน บางคนบอกรู้อยู่ว่า คปป.มีข้อเสียแต่ไม่อยากพูด คงกลัวว่าพูดแล้วจะไปกันใหญ่ แต่พูดแบบนี้คนยิ่งไม่เอาด้วย แล้วออกมายอมรับว่าถ้า สปช.ผ่านถึงตอนลงประชามติจะขัดแย้งวุ่นวายไปใหญ่ พูดเหมือนอยากให้ สปช.คว่ำร่าง

      นายจาตุรนต์ระบุว่า บางคนห่วงว่าถ้าปล่อยให้ลงประชามติแล้วร่างนี้ไม่ผ่านและจะเสียเงิน 3,000 ล้านไปเปล่าๆ เสียเวลา เสียแรง แต่ถึงผ่านก็เสียเงินเปล่าอยู่ดี และการลงประชามติที่จะมีขึ้นห้ามรณรงค์หรือแสดงความเห็นคัดค้าน จึงไม่ทราบว่าจะทำไปทำไม สุดท้ายต้องถามใจคสช.และผู้มีหน้าที่ว่าต้องการอะไร ขอให้กล้าตัดสินใจ ที่แน่ๆ คือร่างรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้บ้านเมืองเสียหายมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง และเมื่อผู้คนไม่ยอมรับมากขึ้นๆ คสช.เองจะเดือดร้อน

"จะคว่ำก็ขอให้คว่ำด้วยเหตุผล ถ้าผ่านก็ขอให้พร้อมรับผลที่ตามมา โดยเฉพาะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อประเทศชาติที่จะเกิดขึ้น ประชาชนเราไม่มีสิทธิไปยกมือในที่ประชุมสปช. จะจับมือใครให้ยกมือก็ไม่ได้ ถ้าสปช.ผ่าน เราก็ต้องไปค้านตอนลงประชา มติ ไม่ค้านไม่ได้แน่" นายจาตุรนต์ระบุ

 

ไก่อู เส้นเลือดหัวใจตีบ

      ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์เดินกลับห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า หลังให้สัมภาษณ์ นายกฯ เรียกผู้สื่อข่าวมาบอกว่า "ขณะนี้พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ป่วย มีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบต้องทำบอลลูนหัวใจ จึงอยากให้สื่อให้กำลังใจโฆษกรัฐบาลด้วย เพราะที่ไม่สบายเช่นนี้เป็นเพราะสื่อใช้งานหนัก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.สรรเสริญเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และทำบอลลูนหัวใจในช่วงเย็นวันเดียวกันไปแล้ว 1 ครั้ง วันเดียวกันนี้จะทำอีก 1 ครั้ง

ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ พ้นกรุคสช.นั่งเลขาก.พ.ร.


คอลัมน์ คนตามข่าว

    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แทนตำแหน่งว่าง

เนื่องจาก อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม โยกไปเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก่อนหน้านี้

เป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกที่ คสช.มีคำสั่งย้ายจากตำแหน่งไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังการรัฐประหารใหม่ๆ ที่ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งหลักอีกครั้ง

เกิด 8 ธันวาคม 2498 

      จบชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนอัสสัมชัญ ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัญฑิตยสภา, Master of Comparative Law Southern Methodist University สหรัฐอเมริกา

เป็นกรรมการร่างกฎหมายประจำ (นิติกร 10 ชช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 6 กุมภาพันธ์ 2549, กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 11 ธันวาคม 2551, กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 14 กันยายน 2552

รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ตุลาคม 2552

      19 กรกฎาคม 2556 ครม.ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

      28 พฤษภาคม 2557 คสช.มีคำสั่งย้ายปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฯลฯ

ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 31 กรกฎาคม 2557

      คัมแบ๊กตำแหน่งหลัก เป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ก่อนเกษียณอายุราชการ กันยายน 2559

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!