WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1คสช.เลกพาสปอรต

คสช.เลิกพาสปอร์ต อ๋อยโวย โหวตรธน.-ล่อกันนัว สปช.อีกซีกให้คว่ำร่าง พิเชษฐยก 6 ข้อ-จี้ปชป. ร่วมล้มขั้นประชามติ

      ยกเลิกพาสปอร์ต'จาตุรนต์ ฉายแสง'ทุกเล่ม บัวแก้วอ้างตำรวจส่งเรื่องมาขอให้ดำเนินการ ระบุขัดคำสั่ง คสช.ยุยงปลุกปั่น-ไม่ไปรายงานตัว ด้านอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเผยยังไม่รับแจ้ง แต่ก็พร้อมจะหาช่องทางทวงสิทธิคืน สปช.ล็อบบี้กันวุ่นหนุนรับ-ไม่รับร่างรธน.ใหม่ อีกซีกออกโรงแถลงจี้ให้คว่ำ ระบุถ้าปล่อยให้ผ่านเกิดวิกฤตการณ์รอบใหม่แน่ 'บิ๊กตู่'โวยลั่น อ้างไม่เกี่ยวกันกรณีนปช.จะขอแถลงจุดยืนเรื่องรธน.เหมือนกปปส.บ้าง พร้อมขู่ฟ้อง คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วิจารณ์รัฐบาล 'วิษณุ' แจงขั้นตอนถอดยศทักษิณ ระบุนายกฯ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และรับสนองพระบรมราชโองการ

วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9045 ข่าวสดรายวัน

ลงพื้นที่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี มาร่วมต้อนรับด้วย ระหว่างลงพื้นที่ดูความพร้อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก เมื่อวันที่ 2 ก.ย.

เพื่อไทยจี้สปช.คว่ำร่างรธน.

         เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 2 ก.ย. ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมอ่านแถลงการณ์ พร้อมแสดงจุดยืนของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่สปช.จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย.ว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นโดยสุจริต ทั้งจากพรรค นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ร่างฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แล้วยังมีเนื้อหานำประเทศถอยหลัง ย้อนยุค สืบทอดอำนาจ สร้างรัฐซ้อนรัฐ อำนาจของประชาชนถูกเหยียบย่ำ จึงคาดหมายได้ว่าแม้จะผ่านความเห็นชอบของสปช. ก็มีแนวโน้มไม่ผ่านประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจสูญเปล่าทั้งกระบวนการยกร่าง และงบประมาณที่นำมาใช้กว่า 3,000 ล้านบาท พรรคจึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันไตร่ตรอง คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และหาทางแก้ไข โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.สปช.ควรแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 2.หากสปช.ให้ความเห็นชอบ พรรคเชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นต้นเหตุนำชาติเข้าสู่ภาวะแห่งความขัดแย้ง นำชาติดำดิ่งสู่วงจรอุบาทว์ รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลต่อความเชื่อถือของประเทศในสังคมโลก ในที่สุดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ

เตือน"บิ๊กตู่"ชี้นำบัญญัติ"คปป."

      เมื่อถามว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ได้ขออนุญาตคสช.หรือไม่ นายสามารถกล่าวว่าไม่จำเป็น เราเพียงแสดงจุดยืนท่าทีของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ แถลงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่าต่างฝ่ายต่างมีสิทธิแสดงออก

     ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุควรมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ถือเป็นการส่งสัญญาณต่อสปช. พิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า นายกฯในฐานะคนไทยสามารถวิจารณ์ได้ ถือเป็นความเห็นส่วนตัว เพียงแต่มีฐานะและตำแหน่งนายกฯ เมื่อพูดแล้วอาจชี้นำได้ ก็เหมือนที่พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนและยืนหยัดว่าเราไม่เป็นเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนยังเชื่อว่าสปช.มีวิจารณญาณว่าจะผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่เสียงที่ก้ำกึ่งของสปช.แสดงให้เห็นว่า สปช.เริ่มคิดได้แล้ว

     เมื่อถามว่าจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีท่าทีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่าต่างคนต่างไป แต่ละพรรคต่างมีมวลชนและสมาชิกของตนเอง

"วัฒนา"จม.เปิดผนึก-เตือนสปช.

      วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์และสปช.ว่า หลังจากทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สปช.จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จึงมีความเห็นโดยสุจริตว่า หากนายกฯและสปช.พิจารณาด้วยจิตใจเป็นธรรม จะพบว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้มีน้อยมาก ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เพราะแทนที่จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาขัดแย้งของคนในชาติ แต่กลับเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งเสียเอง เพราะกระบวนการและเนื้อหาขัดต่อหลักนิติธรรม การยกร่างหรือนิติวิธีที่ทำแบบลับๆ ล่อๆ ไม่มีความสง่างาม ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และยังสร้างกลไกสืบทอดอำนาจเพื่อให้กลุ่มตัวเองใช้เป็นช่องทางอยู่ในอำนาจต่อไป

     นายวัฒนา ระบุว่า คนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้มีคนเดียวคือนายกฯหรือหัวหน้าคสช. ส่วนคนเหล่านั้นไม่ต้องรับผิดชอบและพร้อมหาที่เกาะใหม่แบบที่เคยทำมาแล้ว ดังนั้น นายกฯจะปล่อยให้พยาธิทางการเมืองเหล่านี้อาศัยแสวงหาประโยชน์บนความขัดแย้งของคนในชาติต่อไปหรือไม่ ซึ่งการจะทำให้คนในชาติที่คิดไม่เหมือนกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ต้องสร้างกลไกหรือกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับคือประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม แต่ร่างฉบับนี้มีทิศทางตรงกันข้าม ถ้าร่างออกมาดีจริงอย่างที่ผู้ร่างพยายามโฆษณา ต้องมีคนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่และคนที่ค้านเป็นส่วนน้อย

แนะตัดสินใจหยุดความขัดแย้ง

      "เพื่อยุติปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด นายกฯและสปช.ต้องร่วมกันนำประเทศออกจากวิกฤตขัดแย้ง ให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองของตัวเอง เพราะเวลาที่เสียไปนับจากยึดอำนาจนั้นนานพอสมควรแล้ว ขอให้สปช.ลงมติไม่รับร่างฉบับนี้ ส่วนครม.และคสช.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 เพื่อนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 เฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาใช้ เพื่อจัดเลือกตั้งให้มีรัฐบาลมาจากประชาชน มาแก้ปัญหาให้ประเทศ" นายวัฒนาระบุ

นายวัฒนาระบุว่า นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลรักษาการและหัวหน้าคสช. สามารถกำกับดูแลการเลือกตั้งร่วมกับกกต.ให้ได้ ผู้แทนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จากนั้นตัวแทนที่มาโดยชอบเหล่านี้จะร่วมกันสรรหากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งคณะทำงานด้านปฏิรูปต่อไป เชื่อว่าสุจริตชนจะยอมรับกระบวนการนี้ และไม่ต้องกลัวปฏิวัติจะเสียของ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังคงใช้บังคับอยู่โดยมาตรา 35 เป็นตัวกำหนดกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ชุดใหม่จะร่างให้ผิดหรือหลุดจากกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ หากทำได้ นายกฯจะเป็นคนที่ทำคุณูปการให้กับประเทศนี้ เพราะเป็นคนเดียวที่นำประเทศออกจากวิกฤตบนวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ข้อครหาเรื่องสืบทอดอำนาจจะหมดไป อยากขอให้ทำเพื่อชาติอีกครั้งและพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

"ตือ"เตือนระวังเสียเงินประชามติ

     ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสปช. มีเนื้อหาระบุถึงการลงมติของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปประเทศ ฝากความหวังไว้กับสปช.ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด เพื่อเป็นกติกาสำคัญนำประเทศให้พ้นวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งที่สังคมอารยะใช้คบค้าสมาคมด้วย วันนี้ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกเป็นอย่างไร ไม่ว่าปัญหาการบินพลเรือน ปัญหาการจัดอันดับการค้ามนุษย์ ปัญหาไอยูยู เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ ซึ่งเราคนไทยคงตอบคำถามนี้กับตัวเองได้ดีกว่าใคร

       "ผมเชื่อและเคารพในความเป็นคนไทยของสปช. ว่ารักประเทศไทยไม่น้อยกว่าคนไทยอีกกว่า 60 ล้านคน คงไม่ทำร้ายประเทศและเหนี่ยวรั้งประเทศให้ถอยหลังไปกว่านี้ ซึ่งการลงมติของสปช.ครั้งนี้จะนำไปสู่การลงประชามติของประชาชนโดยงบประมาณ 3 พันล้านบาทต่อไป เป็น 3 พันล้านที่ต้องเสียโดยจำเป็นหรือไม่ วันที่ 6 ก.ย.นี้ 1 เสียงของสปช.คืออนาคตของประเทศ คืออนาคตของประชาธิปไตย อย่าให้คนไทยผิดหวัง" นายสมศักดิ์ระบุ

บัวแก้วยกเลิกพาสปอร์ต"อ๋อย"

      แหล่งข่าวกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้ยกเลิกหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ตทุกเล่มของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตรมว.ศึกษาธิการ โดยการยกเลิก พาสปอร์ตดังกล่าว ดำเนินการตามที่ ตร.ส่งหนังสือเพื่อยื่นคำร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกพาสปอร์ต เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ขณะนี้มีผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

      หนังสือระบุถึงสาเหตุการยกเลิกพาสปอร์ตเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และคสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่นาย จาตุรนต์ เป็นผู้ต้องหาคดีขัดคำสั่ง คสช.ที่ไม่เข้ารายงานตัว ในการกระทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ หรือละเมิดกฎหมาย แผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีการร่วมปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

อ้างทำตามคำร้องของตำรวจ

      รายงานข่าวระบุว่า การยกเลิกพาสปอร์ตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับกระทรวงเป็นปกติ ซึ่งไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ และกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถยกเลิกพาสปอร์ตได้เอง นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตร. อสส. ศาล จะทำเรื่องส่งมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ยกเลิกพาสปอร์ตกับบุคคลที่อาจเป็นผู้ต้องคดี ศาลห้ามออกนอกประเทศ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย การดำเนินการ ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 หมวด 7 การปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง ในข้อ 21 พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทาง

      ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือเวียนแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ได้ทราบเรื่องการยกเลิกพาสปอร์ตทุกเล่มของนาย จาตุรนต์ด้วยแล้ว

จาตุรนต์ ยังไม่รู้ถูกเลิกพาสปอร์ต

      ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวคสช.สั่งเพิกถอนพาสปอร์ตทุกเล่มว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย และคสช.ก็ไม่ได้แจ้งอะไรมาทั้งสิ้น

     นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า เบื้องต้นตนยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ หากเป็นไปตามข่าวจริง ตนก็คงจะต้องไปขอทราบเหตุผลว่ายกเลิกด้วยเหตุผลอะไร และต้องดำเนินการเพื่อให้ได้สิทธิกลับคืนมา นอกจากนี้ตนไม่แน่ใจว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการยกเลิกหนังสือ เดินทางของตนและใช้อย่างถูกต้องหรือไม่

    นายจาตุรนต์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สปช.ส่วนใหญ่น่าจะรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำหายนะมาสู่ประเทศชาติเช่นนี้ คงจะถูกคว่ำในขั้นประชามติ น่าแปลกว่าทำไมไม่คว่ำเสียเอง ถ้าปล่อยให้ร่างอุบาทว์นี้ผ่านไปแล้วไปตกในขั้นประชามติ สปช.ชุดนี้จะหนีความรับผิดชอบทางการเมืองพ้นหรือ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะผ่านประชามติยากกว่าฉบับปี 50 มาก เพราะมีเนื้อหาเผด็จการชัดแจ้งและต่อ อายุคสช.ไม่มีกำหนด ทั้งยังแก้ไม่ได้ด้วย ฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดหวังที่จะคว่ำร่างนี้ในขั้นตอนลงประชามติ สปช.ผ่านได้ ประชาชนช่วยกันคว่ำได้

อัดบิ๊กตู่ไม่กระดากปาก-ชี้คปป.

      นายจาตุรนต์ ระบุว่า เห็นพล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงความจำเป็นของการมีคปป. และบอกว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจ คงต้องบอกว่าช่างไม่กระดากปากเอาเสียเลย ไหนบอกว่าอย่าชี้นำ ตกลงว่าคสช.ชี้นำได้และฝ่ายที่สนับสนุนเท่านั้นที่แสดงความเห็นได้ คนที่เห็นต่างห้ามพูด ทั้งที่บอกว่าร่างนี้ดีเลิศ ร่างนี้ดูโดยรวมแล้วจะพบว่าเขาตั้งใจจะตั้งรัฐบาลคนนอกด้วย คือผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเป็นทั้งรัฐบาลและคปป.พร้อมกันเลย และยังมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นายจาตุรนต์ระบุว่า สังเกตได้ว่ามีกลไกไว้ค้ำจุนรัฐบาลและจัดการกับฝ่ายค้านได้อย่างสบายมือ เช่น รัฐบาลขอความไว้วางใจและการถอดถอนส.ส.ฝ่ายค้านได้โดยรัฐสภา นี่แหละคือเผด็จการรัฐสภาตัวจริง ส่วนการให้ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยครม.ชุดนี้ มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ นอกจากไม่ชอบธรรมแล้วยังเป็นการสืบทอดอำนาจแบบหนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นร่างเพื่อการสืบทอดอำนาจของคสช.ที่จะปกครองประเทศอย่างไม่มีกำหนด และเมื่อใช้บังคับแล้วจะไม่มีใครแก้ได้ หากสปช.ผ่านด้วยขาดจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี ประชาชนต้องร่วมมือกันคว่ำในขั้นลงประชามติ ไม่ต้องห่วงว่าคว่ำแล้วเขาจะอยู่ยาว ไม่คว่ำจะยาวกว่า

"พิเชษฐ"ประกาศไม่รับรธน.ใหม่

      วันเดียวกัน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใน 6 ข้อว่า 1.ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ พร้อมลงมติคว่ำชั้นประชามติ 2.เปรียบนักกีฬาปฏิเสธกติกาเถื่อน 3.นักกีฬามีสิทธิไม่ลงแข่งขัน หากกติกาไม่ชอบมาพากล 4.รัฐธรรมนูญจะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต 5.สังคมประชาธิปไตยสากลทั่วโลกกำลังจับตาดูและพร้อมต่อต้านรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร และ 6.หากยังดันทุรังอยู่เช่นนี้ประเทศชาติมีแต่จะยิ่งเสียหาย และทีมเทวดาที่ไหนก็มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้

นายพิเชษฐให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ผู้ลงสมัครส.ส.หรือนักการเมืองก็เหมือนนักกีฬาลงสนามก็มีสิทธิดูกติกา มีสิทธิไม่ลงแข่งขัน ฝากไว้ว่าแม้ในที่สุดรัฐธรรมนูญผ่านไปทุกอย่าง ถ้าถึงวันลงสนามจริงพรรคต่างๆ ไม่ว่าประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา หรือพรรคของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่ลง การเมืองจะเป็นอย่างไร

ลั่นโหวตล้มด้วยประชามติ

      "วันนี้ดูเหมือนว่าคนเบื่อหน่ายนักการเมือง รังเกียจประชาธิปไตย แล้วเราจะกลับไปเอาจอมพล พล.อ.มาปกครองประเทศ เราไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงเลยหรือ วันนี้กลายเป็นว่าเราเป็นประชาธิปไตย กลับไปชื่นชมทหารที่อยู่ๆ มายึดอำนาจแล้วมาตั้งสภาเอง เอาพวกตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญ ผมถึงรับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ดูรายชื่อ ผู้ร่างแล้วก็คนกลุ่มเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี "40 และ 50 ดังนั้น ถ้าใช้ไม่ได้พวกนี้ต้องรับผิดชอบหรือไม่ ใช้งบไปเท่าไหร่แล้วตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญมา คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ผมทนไม่ได้ เพราะเป็นประชาธิปัตย์แท้จริง ฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญนี้รับไม่ได้ ตั้งแต่ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ววิธีล้มได้อย่างเดียวคือประชามติ ผมหวังว่าประชามติจะล้มรัฐธรรมนูญได้ พรรคไม่เอา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอา ดูว่าประชามติจะผ่านได้อย่างไร"นายพิเชษฐกล่าว

สปช.เรียกร้องที่ประชุมคว่ำ

      ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงว่า ร่างรัฐธรรมนูญแม้จะมีเนื้อหาที่ดีอยู่มาก แต่ส่วนน้อยที่เป็นข้อบกพร่องนั้น หากผ่านมติจาก สปช.ไปสู่การทำประชามติจนมีผลบังคับใช้ อาจสร้างปัญหาจนเกิดวิกฤตและผลกระทบ จึงขอเรียกร้องให้หยุดร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ก่อนแล้วทบทวนให้รอบคอบ ปรับแก้ให้สมบูรณ์จนทุกฝ่ายยอมรับจะเกิดประโยชน์มากกว่า จึงเห็นว่าไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงให้เกิดวิกฤต จึงควรหยุดไว้ก่อนปรับแก้ใหม่

ด้านนายนิมิต สิทธิไตร สมาชิก สปช.กล่าวว่า ขณะนี้เสี่ยงเกินไปต่อการนำประเทศไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ เกิดผลกระทบต่อการปฏิรูปและปรองดอง ทางออกมีทางเดียวคือหยุดร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ด้วยการลงมติไม่เห็นชอบ เพื่อให้เกิดการทบทวนแก้ไข เพราะการผ่าน สปช.ไปสู่ขั้นลงประชามติ น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดี สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญและวิกฤตประเทศ และขอวิงวอน สปช.ทุกคนไตร่ตรองให้รอบคอบ ตัดสินใจโดยเอาประเทศเป็นตัวตั้ง

ชี้ยาก-ต้องใช้เสียงถึง 23.5 ล้าน

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. กล่าวถึงการทำประชามติว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรคเจ็ด ระบุการออกเสียงประชามติให้ยึดเสียงข้างมากของ "ผู้มีสิทธิ์" ออกเสียง หมายความว่าการคำนวณให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ "ผู้มีสิทธิ์" ไม่ใช่ "ผู้มาใช้สิทธิ์" ซึ่งขณะนี้ผู้มีสิทธิ์มี 47 ล้านคน หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านต้องได้เสียง 23.5 ล้านเสียง หากเทียบกับผลประชามติเก่าเมื่อปี 2550 พบว่า มีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพียง 14 ล้านเสียง ดังนั้น ถ้าใช้ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ก็ยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ เนื่องจาก 2 พรรคใหญ่ก็รณรงค์ให้คว่ำ จึงเกิดคำถามว่าจะเอา 23 ล้านเสียงมาจากไหน โอกาสที่จะผ่านประชามติไม่มีเลย 1,000 เปอร์เซ็นต์

      นายนิรันดร์ กล่าวว่า จึงขอเรียกร้องให้ สปช.เมื่อมองเห็นว่าอนาคตรถคันนี้กำลังจะลงเหว คนที่จะขับต่อคือคนปัญญาอ่อน คนสติไม่ดีและจะฆ่าตัวตายเท่านั้น จึงอยากให้ สปช.มีมติร่วมกันไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าลงมติผ่านไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในภาคหลัง จะเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรคเจ็ด จากคำที่กำหนดว่า "ผู้มีสิทธิ์" มาเป็น "ผู้มาใช้สิทธิ์" ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะกฎหมายมหาชนต้องตีความตามตัวอักษร คิดว่า สนช.น่าจะเผลอในขั้นตอนพิจารณา จึงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญให้ถูกต้องก่อน หากปล่อยให้ลงมติจะมีผู้ออกมาคัดค้านว่ากระบวนการไม่ถูกต้องได้

"เสรี"ชี้ถ้าผ่านบ้านเมืองเกิดวิกฤต

      นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "สัญญาณความแตกแยก" ระบุว่าหาก สปช.เห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องนำร่างนี้ส่งให้ประชาชนออกเสียงทำประชามติ ขณะนี้ชัดเจนว่าผู้นำฝ่าย นปช.ส่งสัญญาณว่าจะรณรงค์ไม่รับร่างนี้ และผู้นำ กปปส.ส่งสัญญาณให้รับร่างนี้ หากส่งร่างฉบับนี้ไปทำประชามติ เชื่อได้ว่าบ้านเมืองและประชาชนจะเกิดความร้าวฉานแตกแยกอีกครั้ง ประชาชนที่แบ่งฝ่ายอยู่แล้วจะออกมาขัดแย้งต่อสู้สนับสนุนฝ่ายของตนอีก บ้านเมืองจะวิกฤตอีกครั้ง ซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจ และจะรุนแรงถึงระดับใดไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมทั้งต้องเสียเงินทำประชามติ จัดพิมพ์และส่งร่าง รวมเป็นเงิน 4-5 พันล้านบาท ดังนั้น สปช.จะต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง จึงขอเสนอให้ สปช.ทุกคนใช้ดุลพินิจ เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน ช่วยกันลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหานี้ เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม

     นายเสรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เชื่อว่า สปช.จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามคำสั่งหรือแรงสนับสนุนที่ออกมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยมุ่งเน้นอนาคตของบ้านเมือง ส่วนตัวมองว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนที่ไม่สร้างดุลยภาพของการจัดสรรอำนาจ ทั้งการบริหาร ตรวจสอบ และฝ่ายการเมือง เมื่อการจัดสรรดุลยอำนาจไม่สมดุลเชื่อว่าไม่ว่าจะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งความขัดแย้งที่มาจากฝ่ายผู้มีอำนาจหรือฝ่ายการเมืองก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ต่อให้คงอำนาจของ คสช.ไว้ แต่ด้วยเงื่อนไขของการใช้อำนาจนั้นไม่สามารถระงับหรือยับยั้งความขัดแย้งได้

"สิระ"ขู่แกนนปช.-ชื่นชม"เทือก"

      ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. กล่าวถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะนำคนเสื้อแดงเคลื่อนไหว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงมติของ สปช.ว่า ขอเตือนนายณัฐวุฒิว่าลืมคดีที่มีติดตัวไปหรือไม่ ขอให้ไตร่ตรองให้ดี หากหวังจะนำมวลชนมาเคลื่อนไหวอีก ระวังจะได้ย้ายบ้านไปนอนคุก หรือหากคิดถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำก็ไปขอเยี่ยมได้ ไม่ต้องทำวิธีนี้ แต่ถ้านายณัฐวุฒิยังเคลื่อนไหวในลักษณะผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวตนจะไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ถอนเงื่อนไขการประกันตัว

     ส่วนที่นายสุเทพแถลงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายสิระกล่าวว่า ฝากถึงนายสุเทพ และอดีตแกนนำ กปปส.ทุกคน ว่าขอขอบคุณที่ยังยืนหยัดในจุดที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา ทั้งที่เคยเป็นนักการเมือง แต่เมื่อวันนี้เลือกเดินหน้าไปกับประชาชน ก็ต้องสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด หากนายสุเทพไม่สนับสนุนจะเป็นคำถามขึ้นในใจของประชาชนที่ร่วมต่อสู้ข้างถนนทันทีว่านายสุเทพกลับไปสนับสนุน ฝั่งนักการเมืองอีกแล้วใช่หรือไม่ จึงขอชื่นชมนายสุเทพและคณะอย่างจริงใจ

      ส่วนการออกเสียงลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ นายสิระกล่าวว่า จากที่ตนพูดคุยกับ สปช.หลายคน เชื่อว่าจะมี สปช.โหวตรับร่างนี้กว่า 190-200 คน ส่วนคนที่คว่ำก็มีอยู่น้อยมาก เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่มีธงจะคว่ำตั้งแต่ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ตนขอให้ประชาชนจดจำกลุ่ม สปช. และนักการเมืองที่ประกาศจะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากลงเลือกตั้งส.ส. ขอให้ประชาชนพิจารณาคนกลุ่มนี้ด้วย

ยอมรับสปช.หารือประเด็นคปป.

     นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีมีสปช.สายนักวิชาการ สายกฎหมาย เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ถึงขั้นจะคว่ำรัฐธรรมนูญว่า ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันในกลุ่มสปช.สายนักวิชาการ สายกฎหมาย เรื่องการมีคปป.จริง แต่เป็นเพียงการแสดงความเป็นห่วงว่าการมี คปป.อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวถึงขั้นจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสปช.สายวิชาการ กฎหมาย กลุ่มเล็กๆ บางส่วนเท่านั้น จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของสปช.สายวิชาการและกฎหมายคงไม่ไปถึงขั้นคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการร่างในสภาวะไม่ปกติ จึงมีความจำเป็นต้องมีคปป.มาเป็นองค์กรป้องกันความขัดแย้ง ไม่ให้มีการทำรัฐประหารอีก แต่ส่วนตัวยังมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช.ในวันที่ 6 ก.ย. แต่เสียงคงไม่ขาดลอย และคงไม่ถึงขั้นสูสีเช่นกัน จากเดิมทีแรกที่ประเมินว่าจะมีคะแนนเห็นชอบมากพอสมควร

      "การลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.มั่นใจว่าจะไม่มีใบสั่งจากคสช. เพราะสมาชิกทั้ง 247 คน แต่คนละเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ในวงราชการ วงธุรกิจ มีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าไปรับใบสั่งใครถือว่าหมดศักดิ์ศรี ดังนั้นใครมาออกคำสั่งก็มีแต่เสีย หรือใครรับคำสั่งก็เสียเช่นกัน ยิ่งถ้าสั่งมาแล้วไม่ทำตาม ยิ่งเสียไปกันใหญ่" นายธีรยุทธ์กล่าว

สปช.ขอนแก่นย้ำโหวตคว่ำแน่

      ด้านนายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนตัวได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงมติแล้ว โดยภาพรวมเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะกำหนดให้มีนายกฯคนนอก เรื่องที่มาของส.ว. อำนาจหน้าที่ส.ว. อีกทั้งกระแสในขณะนี้มีสมาชิกสปช.หลายคนพร้อมจะไม่เห็นชอบกับร่างนี้และยิ่งใกล้ลงมติก็จะมีสมาชิกไม่เห็นชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ตนก็จะลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเชื่อว่าผลการลงมติของสปช.ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบจะออกมาสูสี เพราะถ้าสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การลงประชามติ ก็จะทำให้ทุกพรรคการเมืองรณรงค์ให้ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็เชื่อว่าการชี้นำของพรรคการเมืองก็มีผลต่อการทำประชามติอยู่แล้ว

      นายเอกราช กล่าวว่า ถ้านำไปสู่การทำประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นชอบ จะถือว่าสปช.ไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ยืนยันที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่มีผลต่อการลงมติของตน เพราะส่วนตัวก็ไม่เคยสังกัดพรรคการเมือง และก็ไม่ได้เกรงใจใครอยู่แล้ว แต่ตนไม่เห็นด้วยหากปล่อยให้ผ่านความเห็นชอบจากสปช.ไปสู่การทำประชามติแล้วอาจมีผลทำให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ แล้วทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังไม่ดี

      เมื่อถามว่านายสุเทพเรียกร้องให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในขั้นตอนประชามติ นายเอกราชกล่าวว่านายสุเทพอย่าเอาตัณหามาบอกให้รับไปก่อนแล้วค่อยไปวัดดวงทั้งที่เหวอยู่ข้างหน้า การคิดแบบนี้ไม่ได้การใช้วิจารณญาณ ถ้าเราสามารถยับยั้งได้ก็ต้องทำ ต้องนึกถึงภาพรวมของประเทศและเงินภาษีของประชาชนด้วย

สายนักวิชาการชี้เสียงโหวตสูสี

        ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช.กล่าวว่า ส่วนตัวมองเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ดีพอจะรับได้ แต่เงื่อนไขเมื่อผ่านสปช.จะต้องไปทำประชามติ ล่าสุดนายสุเทพออกมาหนุน แต่ฝ่ายนักการเมืองออกมาค้าน จึงเกรงเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านชั้นสปช.ไปทำประชามติ จะเกิดภาพการรณรงค์สวนทางของสองฝ่าย เหมือนการทำประชามติในปี 2550 ถ้ายกมือผ่านต้องเสียเงินหลายพันล้าน และอาจเสี่ยงเกิดความขัดแย้ง ตรงนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการกังวล ซึ่งบางคนไม่พอใจ ไม่สบายใจเรื่องคปป. ที่มานายกฯ ที่มาส.ว. แต่ส่วนตัวมองว่า เนื้อหาเรื่องคปป.ไม่น่ามีปัญหา หากไม่นำไปตีความเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตน

ส่วนกรณีบางคนออกมาระบุ เสียงโหวตผ่านรัฐธรรมนูญถึง 200 เสียง นายอมรกล่าวว่าคงเป็นแค่เรื่องโจ๊ก วันนี้ไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว เพราะจากการนัดพบปะรับประทานอาหารกับสปช. ได้พูดคุยปัญหาบ้านเมืองกันที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ซึ่งไม่ใช่การนัดเพื่อนับเสียง หรือล็อบบี้เเต่อย่างใด แต่ประเมินกันว่าเสียงโหวตน่าจะสูสี คู่คี่ เสียงไม่รับร่างอาจจะเกือบ 130 เสียงด้วยซ้ำไป เพราะล่าสุดสปช.สายปกครอง สายต่างจังหวัดบางส่วน เริ่มหันมาเทคะแนนทางไม่รับร่างมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

เผยต่างฝ่ายต่างเดินเกมล็อบบี้

      ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ สมาชิกสปช.ถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 ก.ย.ว่า ขณะนี้สปช.มีการเดินเกมต่อสู้ กันอย่างหนักจากกลุ่มที่ต้องการให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องการให้ผ่าน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการคว่ำร่างซึ่งขณะนี้ยังมีเสียงเป็นรองสปช.กลุ่มที่ต้องการให้ผ่าน พยายามเดินเกมล็อบบี้สมาชิกสปช.อย่างหนัก โดยนำเรื่องคปป.มาจุดกระแสว่าจะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งภายในบ้านเมืองอย่างหนักในอนาคต พร้อมกับจุดกระแสขวางการผ่านร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ อาทิ กรณีคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญ กรณีสปช. 21 คน ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ไม่มีสิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการขอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีคำสั่งของบิ๊กในคสช. เพื่อแลกกับการได้นั่งเก้าอี้ต่อในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อโน้มน้าวใจให้สมาชิกสปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ล่าสุดเสียงสปช.ที่ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญขยับจาก 30-40 เสียง ขึ้นมาอยู่ที่ 70-80 เสียงแล้ว และยังมีความพยายามเดินเกมอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อให้มีเสียงสปช.ในมือถึง 124 เสียงให้เพียงพอต่อการโหวตคว่ำ

       ขณะเดียวกัน กลุ่มสปช.ที่ต้องการให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก็พยายามเดินสายชี้แจงอย่างหนัก ชี้ให้เห็นถึงผลดีของร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าหากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้แนวทางการปฏิรูปที่สปช.ดำเนินการมาช่วงหลายเดือนต้องเสียของไปทั้งหมดด้วย จะทำให้สปช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในเรื่องการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการระบุให้ช่วยลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีคำสั่งของ บิ๊กคสช.มาให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้เสียงสปช.ที่ต้องการให้ผ่านรัฐธรรมนูญยังมีมากกว่า โดยมีเสียงอยู่ที่ 100 กว่าเสียง และยังมีเสียงสปช.ที่ยังนิ่ง ไม่ตัดสินใจใดๆ อีก 20 กว่าเสียง

ม.เที่ยงคืนชี้รธน.ไม่ชอบธรรม

      วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกำมือของประชาชน ความว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ที่สปช.จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย. มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง มีการลดทอนอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ให้อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญขององค์กรเหล่านั้น เช่น การให้มีคปป. ส.ว.สรรหามีจำนวนมากกว่าส.ว.เลือกตั้ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสะท้อนสภาพที่สถาบันการเมืองต้องอยู่ภายใต้อำนาจของคนบางกลุ่ม รวมถึงการลงมติของสปช. ก็เป็นเพียงความเห็นของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ใช่ตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชน

      มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเรียกร้องประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ร่วมกันผลักดันให้รัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในกำมือของประชาชน และร่วมกันแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนตัดสินใจจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาและความยุ่งยากในสังคมไทยนั้น จะผ่านพ้นไปได้ด้วยการยอมรับอำนาจ และสิทธิของประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่เห็นความสำคัญของความเสมอภาค เสรีภาพ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคมไทยตามอำเภอใจ

"วิษณุ"อ้างคปป.เขียนไว้รอบคอบ

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่สปช. เตรียมลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ครม.รับทราบเนื้อหาซึ่งลดลงเหลือ 285 มาตรา จาก 315 มาตรา รวมถึงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และอำนาจหน้าที่ของคปป. โดย นายกฯไม่มีข้อกังวลใดๆ และชี้แจงว่าคปป.มีทั้งอำนาจในยามปกติและอำนาจพิเศษในยามวิกฤต ตามมาตรา 280 และจะใช้ได้เมื่อสภาเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 และต้องอยู่ในภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมและแก้ไขวิกฤตได้แล้ว และต้องขอความเห็น จากประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นมาตรการที่รัดกุมตามแบบฉบับที่เขียนในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ทั้งนี้ที่ประชุมไม่กังวลกับเสียงวิจารณ์ของหลายฝ่าย

      ส่วนที่นายสุเทพแถลงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องของนายสุเทพ คงไม่ใช่การชี้นำ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็น ใครก็แสดงความเห็นได้ เราไม่ได้ปิดปากอย่างที่กล่าวหากัน ส่วนที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.จะเปิดแถลงบ้างนั้น ก็ทำได้ ไม่มีปัญหา จะแถลงจะให้สัมภาษณ์ได้ทั้งนั้น ส่วนที่พรรคเพื่อไทยแถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่ได้ห้าม แต่ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองเพราะรัฐบาลกังวล ไม่อยากให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยจนแตกสามัคคี แต่ประเภทที่ฝ่ายหนึ่งพูดแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอม ไปปิดถนน ยึดโรงพยาบาล ปิดโรงเรียน ยึดสนามบิน ตรงนี้ทำไม่ได้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ให้เสรีภาพ

โต้-รบ.ส่งสัญญาณสปช.คว่ำ

     เมื่อถามว่าสปช.บางส่วนระบุรัฐบาลส่งสัญญาณให้โหวตคว่ำร่าง เนื่องจากกลัวจะมีความขัดแย้งขึ้นอีก นายวิษณุกล่าวว่า วันนั้นผู้สื่อข่าวเป็นคนถาม แต่ปัญหาของคนที่ตอบคือสื่อไม่ค่อยลงคำถาม ขณะนั้นตอบเรื่องข้อดีข้อเสียของคปป. จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่ากลัวจะเกิดความแตกแยก แตกสามัคคีหรือไม่ ตนตอบว่าจะแตกแยกตอนนี้หนหนึ่ง และตอนมีรัฐบาลแล้วอีกหนหนึ่ง ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ รู้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว และรัฐบาลไม่ได้ส่งสัญญาณ ไม่เคยบอก ถ้าจะส่งสัญญาณ ตนพูดไปตรงๆ ไม่ดีกว่าหรือ

      "ไม่ได้เห็นสัญญาณ นายกฯพูดเสมอว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปตามขั้นตอนของมัน นายกฯพูดอย่างอื่นไม่ได้ แม้จะอยากพูด แต่เป็นความคิดส่วนตัว รัฐบาลต้องพูดว่าขั้นตอนของทุกอย่างเป็นอย่างไร อย่างน้อยการที่รัฐบาลให้เตรียมการรับมือประชามติที่จะใช้เวลา 4 เดือน เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลต้องเตรียมทุกเรื่องเอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายวิษณุกล่าว

"บิ๊กต๊อก"ติงอย่ามองแค่ปชต.

       ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายวิษณุเป็นห่วงเรื่องรัฐธรรมนูญ หากผ่านแล้วจะเกิดปัญหาตามมาว่า นายวิษณุไม่ได้พูดอย่างนั้น แค่บอกว่าอาจจะเกิดปัญหาเท่านั้น ซึ่งตนเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คิดหรือว่าตัวหนังสือมันระบุถึงการขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้ง ซึ่งนายวิษณุพูดในแง่ว่ามันอาจจะมีก็ได้ หากจะให้นายวิษณุรับรองว่าจะมีความขัดแย้งหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้อยู่แล้ว

      "ไปจับกันว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ผมอยากให้มองถึงการปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาที่สะท้อนมา 10 ปี มีทั้งค้ามนุษย์ ปัญหาทุจริต ซึ่งมันไม่ใช่การปฏิรูปเฉพาะในตัวหนังสือรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปที่มาของ ส.ส. ปฏิรูปว่า นายกฯคนนอกมาจากไหนเท่านั้น มันไม่ใช่ แต่เราไปหยิบยก 4-5 ประเด็นมาพูด ผมอยากให้มองภาพรวมมากกว่า" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

"บิ๊กตู่"ยกคณะตรวจราชการที่ตาก

      เมื่อเวลา 08.00 น. ที่บน.6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พร้อมคณะ ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นาง อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินทางไปตรวจราชการที่อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเยี่ยมชมศูนย์การแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด และเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชน

       ต่อมาเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เดินทางมาถึงศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครแม่สอด โดยพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางด้วยรถตู้อัลพาร์ด เลขทะเบียน ชย 8899 กรุงเทพฯ จากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการสินค้าโอท็อป 9 อำเภอของจ.ตาก โดยนายกฯ กล่าวว่า อยากให้ขยายตลาดสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น และอยากให้ทำแพ็กเกจให้ดูน่าสนใจเพิ่มมูลค่า ขณะที่ผ้าทอมือ อยากให้มีเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ แต่ละชิ้นให้มีคุณค่า ดึงดูดความสนใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้แวะชิมและสนใจเดินชมและซักถามโดยเฉพาะเรื่องที่ดินและแหล่งน้ำระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล กองทุนหมู่บ้าน และเมื่อถึงบริเวณที่มีชาวเขามาแสดงการชงกาแฟขี้ชะมด นายกฯ ได้ชิมกาแฟดังกล่าวด้วยและยังแนะนำว่าให้ลองทำกาแฟขี้ช้างดู เพราะก้อนใหญ่กว่า อาจจะขายดีกว่ากาแฟขี้ชะมดก็ได้

กันม็อบไม่ให้เข้าพบ-ผลักเข้าวัด

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เดินทางมารอรับนายกฯอย่างคึกคัก ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งในและนอกบริเวณพื้นที่อย่างเข้มงวด สนธิกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมาก กระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ พร้อมตั้งเครื่องสแกนวัตถุระเบิด ตรวจสอบบุคคลและสัมภาระสิ่งของที่จะเข้าพื้นที่อย่างละเอียด ห้ามผู้เข้าร่วมงานสวมเสื้อคลุม และขอความร่วมมือห้ามสะพายกระเป๋าเป้เข้ามาในพื้นที่จัดงานถ้าไม่จำเป็น และหากมีผู้ประสงค์จะมอบสิ่งของให้นายกฯ ต้องนำของไปลงทะเบียนก่อน เพื่อป้องกัน ผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่จัดงาน ขณะเดียวกันได้ปิดด่านพรมแดนแม่สอด ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 ชั่วคราว จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจของนายกฯในวันนี้อีกด้วย

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในช่วงเช้า พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านหลายกลุ่ม รวมทั้งชาวเขา มารอยื่นร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนกับนายกฯ แต่ทางจังหวัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ตั้งด่านสกัดไม่ให้พลังมวลชนเดินทางไปยังศูนย์ประชุมฯ โดยเจรจาให้กลุ่มชาวบ้านไปอยู่ในวัดดอนแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานที่ประชุมของนายกฯ และให้ตัวแทนนายกฯ มารับหนังสือแทน

ขู่ฟ้องคอลัมนิสต์วิจารณ์รัฐบาล

      จากนั้นเวลา 10.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม โดยนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต้องทำควบคู่กับการขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ หากทำสำเร็จจะพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 อย่างสมบูรณ์ ขอให้ภาคราชการจริงจังกับเรื่องกฎหมายเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ต้องทำควบคู่กับการทำความเข้าใจในบทบาทกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยนบิดเบือนไป จึงต้องขอฝากผู้ว่าฯและภาคธุรกิจในจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอที่อยู่ในโซนและ อบต. อบจ. ระดับท้องถิ่นทั้งหมด รวมถึงเศรษฐีในพื้นที่ด้วย

      "เราต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากร นี่คือการดำเนินการทางประชา ธิปไตย ไม่ใช่ว่าเราจะเดินสู่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและให้ดีอย่างที่เราต้องการ เพื่อแก้ปัญหาที่มีมายาวนาน ไม่ต้องมากลัวว่าผมจะใช้อำนาจหรืออยู่นาน อยู่ต่อ ตอนนี้คิดแค่ว่าเราจะแก้ปัญหาที่ผ่านมาอย่างไร และวันหน้าการเมืองของไทยตามระบอบประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ถ้าปลอดภัยก็จบแล้วก็ทำกันเอง ดังนั้น จะใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุด" นายกฯ กล่าว

     นายกฯ กล่าวถึง คอลัมนิสต์ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ได้พูดคุยหลายครั้งแล้ว มีการรับปาก แต่ยังคงเขียนโจมตีอยู่ ถ้ายังไม่หยุด จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปฟ้องร้องเพื่อเป็นการเอาคืนบ้าง ให้เป็นแบบอย่างว่าการใช้สื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนเป็นอย่างไร

อ้อน-ขอความเข้าใจที่ยึดอำนาจ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯและคณะดูงานที่นิคมสหกรณ์แม่สอด จำกัด ได้เดินชมนิทรรศการต่างๆ และลองชิมพืชผลทางการเกษตรที่นำมาแสดง และเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดต่างๆ อย่างน้ำสมุนไพรป้องกันโรคมะเร็ง รางจืด และม้ากระทบโรง ซึ่งทันทีที่นายกฯดื่มม้ากระทืบโรง บอกอย่างอารมณ์ดี "ม้ากระทืบโรง ไม่มีผลกับฉัน เพราะฉันแข็งแรงอยู่แล้ว"

ที่ศูนย์แสดงสินค้าฯ เทศบาลนครแม่สอด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับประชาชน 1,200 คนที่มาต้อนรับว่า มาวันนี้เพื่อประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อกลุ่มธุรกิจใด ซึ่งตนไม่เคยคิดว่าต้องมายืนตรงนี้ รวมทั้งพี่ๆ ของตนด้วย แต่จำเป็นต้องมาเพื่อแก้ปัญหา หยุดความรุนแรง ปลดล็อกสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลขับเคลื่อนไม่ได้ ขอให้ร่วมมือกันแก้ปัญหา เดินหน้าประเทศ ไม่ชอบตนไม่เป็นไร อย่าเกลียดอย่าโกรธประเทศและแผ่นดินของเรา

      "วันนี้ใครจะมาบิดเบือนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หากเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยก็เชิญ ทำได้แต่ต้องไม่รุนแรง หลายประเทศถามว่าทำไมผมเข้ามา ก็เพราะมีอาวุธสงคราม มีการใช้ระเบิด จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก อย่าบอกว่าทหารเป็นคนทำ เพราะผมเป็นทหารมาตลอดชีวิต ไม่เคยสั่งรังแกประชาชน มีแต่ดูแล แต่ทหารมีสิทธิป้องกันตนเอง แต่ไม่ใช้อาวุธตอบโต้กัน กำลังหาอยู่ว่าใครเป็นคนใช้อาวุธ ส่วนการนิรโทษไม่ใช่อำนาจผม เป็นเรื่องของกฎหมาย และก่อนเข้าสู่การปรองดองจึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ผมเสี่ยงชีวิตเข้ามาไม่ต้องการอะไรเลย ขอเพียงความเข้าใจจากทุกคน ถ้าคิดถึงประเทศความขัดแย้งก็ไม่เกิดไม่ถูกชักจูง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ตัดพ้อ-พูดอะไรไปก็ผิดหมด

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนฝากความหวังไว้กับทุกคน ทั้งภาคการเมือง วันหน้าใครจะเป็นอะไรแต่ก็เป็น ตนก็ต้องยกมือไหว้เขาอยู่ดี เพราะเป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นผู้นำบ้านเมือง ตนก็ต้องไหว้ ที่ผ่านมาตนไม่รังเกียจใครอยู่แล้ว แต่ทำไมเขาถึงรังเกียจตนนักก็ไม่รู้ หรือตนไปบังคับใจเขา ขอให้ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ขอเวลาให้พวกเราได้ช่วยกัน วางอนาคตด้วยสองมือและสมองของพวกเรา อย่าให้ใครเข้ามานำไปในทางที่ผิดโดยเด็ดขาด

      "วันนี้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ปฏิรูป และวันหน้าใครชวนไปเผา ไปประท้วง อย่าไป เพราะจะทำให้ทุกอย่างแรงขึ้น ซึ่งต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ผมเห็นใจข้าราชการบางคนอายุ 70-80 ปีแล้วแต่ต้องมาติดคุกตอนแก่ ซึ่งเขาไม่มีเจตนา แต่ถูกคนที่มีอำนาจทางฝ่ายปกครองบีบบังคับ เวลาผมพูดถึงบ้านเมืองแล้วผมเสียใจทุกที เห็นเด็กร้องเพลงวันพรุ่งนี้ แล้วน้ำตาจะไหล ไม่รู้จะทะเลาะกันทำไม ต้องเดินหน้าให้ได้ หลายอย่างพูดอะไรไปก็ผิดหมด ต้านไปหมด แต่ตัวเองไม่ทำ ผมไม่มีอะไร อายุก็จะ 62 ปีแล้ว เจอผมแล้วผิดหวังไหมว่าไอ้นี้มันบ้ากว่าในทีวี ผมจริงใจ และคนจริงใจก็เสียงดังอย่างนี้แหละ" นายกฯ กล่าว

ไม่ห่วงสปช.โหวต-ชี้ชะตากรรม

      เมื่อเวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักการเมืองแสดงความเห็นให้สปช.โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ถามว่าเขาเดือดร้อนอะไรจากตรงนี้ เดือดร้อนเรื่องคปป.ใช่หรือไม่ เขาบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยแบบที่เขาทำหรือไม่ เขาสัญญาหรือไม่ว่าเขาจะทำ ถ้าเขาสัญญาว่าเขาจะทำ มันก็คงมีไม่ได้ แต่ถ้าเขาไม่สัญญาแล้วมาตีรวนอย่างนี้ ตนว่ามันก็ไม่ถูก คิดด้วย อย่าฟังตนอย่างเดียว ตนเข้าข้างใครไม่ได้อยู่แล้ว ต้องไปดูหลายๆ หมวด จะบอกว่าไม่ดู ดูไม่รู้เรื่องไม่ได้ ต้องมีอิสระในการตัดสินใจ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่ ถ้าผ่านแล้ว ไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน มันก็จะเกิดขึ้นอีก เลือกมาจะเอาอย่างไร

     เมื่อถามว่า จะเป็นการขยายความขัดแย้งหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใครขัดแย้งกับใคร ตนเชิญนักการเมืองมาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นแล้ว เขาบอกว่าไม่มา บอกว่าเขามีส่วนได้ส่วนเสีย เขาให้เกียรติกมธ.ยกร่างฯ พอถึงเวลานี้ร่างออกมาก็บอกว่าไม่ได้เชิญเขามาร่าง ไปค้นคำพูดของเขามา ทุกคนที่พูดออกมา

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ในชั้นการโหวตของสปช. นายกฯ กล่าวว่า ไม่ห่วง เป็นเรื่องชะตากรรม ท่านเป็นผู้กำหนดอนาคตเอง เลือกชะตากรรมเอง ตนพร้อมไปนั่งดู และไม่มีใครทำอะไรให้อีกแล้ว พอแล้ว ก็ตีกันไม่เลิก รัฐธรรมนูญยังไม่ออกมาเลยก็เตรียมตีกันแล้ว ดังนั้น อย่ามาลงโทษตน ไปลงโทษคนที่จะตีกัน ถามว่าที่ผ่านมาได้ทำอย่างที่ตนทำหรือไม่ ก็ไม่ได้ทำแล้วอยากให้เขาทำหรือไม่ ถ้าเขาไม่ทำ จะทำอย่างไร ต้องมีใครไปกำกับเขาบ้างหรือเปล่า

ลั่นถ้าประชามติไม่ผ่านก็ทำใหม่

     ส่วนที่กลุ่มนปช.จะขอแถลงข่าวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญบ้าง หลังจากมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯออกมาแถลงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่อง ไม่เกี่ยว เดี๋ยวตนดูอีกที ให้คสช.พิจารณา ตนไม่เข้าข้างใครอยู่แล้ว ตนถามว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมันสงบ ทุกคนพยายามจะขอนี่ ไอ้นี่ไม่ได้ สรุปว่ามันยังไม่จบใช่หรือไม่ มันยังรบกันไม่เลิกใช่หรือไม่ ไปดูตรงนั้น เพราะถ้าได้รัฐบาลใหม่ เรื่องเก่าจะตีกันอีกหรือเปล่า สัญญาหรือไม่ว่าจะเลิกตีกัน สัญญาหรือไม่ว่าจะยอมรับกติกาประชาธิปไตย จะยอมรับผลการเลือกตั้ง อย่ามาดีแต่พูดกับตนตอนนี้

    เมื่อถามว่านายกฯเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองออกมาสัญญาใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ไม่เรียกร้อง จะเรียกทำไม ผมสั่ง ผมมีอำนาจ บางอย่างมันต้องใช้อำนาจ ให้อำนาจมานานแล้ว เป็นรัฐบาลมาก็นานแล้ว ผมทำตามคำสั่งเขามานานแล้วด้วย วันนี้ผมเป็นกรรมการ"

     เมื่อถามว่าแปลว่านายกฯจะสั่งให้ฝ่ายการเมืองออกมาสัญญากับประชาชนใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนไม่สั่ง เขาบอกเขามาจากประชาชน เขาจะทำเพื่อประชาชน เขาจะเลือกตั้งโดยประชาชนใช่หรือไม่ ไปถามเขา จะมาไล่ตนทุกอย่างเลยหรืออย่างไร คิดกันบ้าง ไม่ได้โมโหอะไรเลย เมื่อถามว่าห่วงเรื่องการทำประชามติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ห่วง ไม่ผ่านก็ทำใหม่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!