WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

44รฐธรรมนญ

สปช.คาด-เกิน 140 คว่ำรธน. วันนี้โหวตชี้ชะตา! บิ๊กตู่งัดม.44 ถอดยศทักษิณ ประกาศราชกิจจา-มีผลทันที สรรเสริญชี้-ลดพระราชภาระ

      โหวตร่างรธน.วันนี้ 140 สปช.จ่อคว่ำ ลุ้นแต้มไหลทะลุถึง 160 หากช่วงแรกทิ้งห่าง สะพัดสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯอาจงดออกเสียง-โดดประชุม สปช.บุรีรัมย์ แฉฝ่ายหนุนดิ้น ปล่อยข่าวดิสเครดิตหวังดึงแต้มกลับ มั่นใจเสียงล้มชนะแน่ กมธ.ยกร่างฯยังเชื่อสปช.ลงมติเห็นชอบ 'บิ๊กจิ๋ว'ร่อนเอกสารชำแหละรธน. 17 ปมปัญหา จาตุรนต์โต้'บิ๊กตู่' ยันรธน.ฉบับนี้ผู้ได้ประโยชน์ คือ คสช. 'ประวิตร'ปัดล็อบบี้คว่ำร่างรธน. ขู่ฟ้องหมิ่น โฆษกคสช.แจงไม่อนุญาตนปช.แถลง ชี้ที่ผ่านมาชอบให้ร้ายคสช. หวั่นกระทบโรดแม็ป น.ศ.จัดกิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันรธน. นัดแถลงอีกที่มธ.ท่าพระจันทร์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สั่งถอดยศ'ทักษิณ' แล้ว ฐานมีความผิดกระทบต่อความมั่นคง มีผลแล้ว ทีมโฆษกยันใช้ ม.44 เหมาะสมสุด-ลดพระราชภาระ

วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9048 ข่าวสดรายวัน


คว่ำรธน. - นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กรวดน้ำคว่ำขัน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ จี้สปช. ที่นัดโหวตในวันนี้ลงมติคว่ำร่างฯ

ประกาศราชกิจจาฯถอดยศ'ทักษิณ'

       วันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 26/2558 เรื่อง การดำเนินการเพื่อถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ได้รายงานและเสนอเรื่อง การถอดพ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากยศตำรวจ ในกรณีมีความผิดปรากฏชัดตามคำพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้วว่า มีความผิดและยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่นๆ อีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย

       หัวหน้าคสช. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยความเห็นชอบของคสช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติและมีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นการด่วน ทั้งได้ตรวจสอบข้อกฎหมายตามระเบียบตร. ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูล สมควรใช้อำนาจของคสช. จึงมีคำสั่งให้ถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากยศตำรวจ ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 5 ก.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

ใช้ม.44-ลดพระราชภาระ

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นการตัดสินใจของ นายกฯเพื่อให้เกิดความชัดเจนจากที่ ตร.ส่งเรื่องมาแล้ว จึงส่งเรื่องให้คสช.พิจารณาเพิ่มเติม เมื่อมีมติเห็นสมควร หัวหน้าคสช.จึงตัดสินใจใช้มาตรา 44 เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดพระราชภาระ ไม่ให้ทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เนื่องจากเป็นประเด็นที่ผู้ไม่หวังดีจะนำไปขยายความอีก ซึ่งมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ระบุไว้ และหัวหน้าคสช.จะใช้ในเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน เท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยขอ รับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว

     ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่มีไว้สำหรับดำเนินการในเรื่องความมั่นคง โดยเป็นอำนาจของนายกฯและหัวหน้าคสช. การเลือกใช้วิธีนี้เพราะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

ประวิตรฉุนข่าวชักใยล็อบบี้สปช.

     เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (2) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ว่า เป็นที่ของ สปช.ที่จะต้องดำเนินการ ตนไม่มีอำนาจ ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้แล้วว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านจะมีขั้นตอนอย่างไร และไม่ว่าผลการลงมติจะเป็นอย่างไร สปช.ก็จะหมดวาระไป และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่แทน

     เมื่อถามถึงกระแสข่าวล็อบบี้ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างนายทหารยศพล.อ. ในคสช. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ อยู่เลยไม่รู้ว่ามีการล็อบบี้กันอย่างไร ซึ่งในคสช.มีนายทหารยศพลเอกมาก เมื่อถามย้ำว่ามีการตีความว่านายทหารยศ พลเอก คนดังกล่าวเป็นตัวท่านใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "พูดส่งเดช มันหมิ่นประมาท ผมจะฟ้อง มาพูดแบบนี้ได้อย่างไรใครที่กล่าวอ้างชื่อผม ให้ไปเอาชื่อมา อย่ามาพูดอย่างนี้ ทำให้เกิดความเสียหาย ผมจะเข้าไปยุ่งได้อย่างไร ผมเป็นรองนายกฯ เป็นฝ่ายบริหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เขาก็ว่าของ เขาไป ซึ่งต้องปล่อยให้ สปช.เขาว่ากันไป"

แสดงความเห็นได้แต่ต้องไม่ขัดแย้ง

     พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีมีการเคลื่อนไหวต้านร่างรัฐธรรมนูญว่า การเคลื่อนไหวมีมาก่อนหน้านี้แล้ว และร่างรัฐธรรมนูญก็มีกว่า 200 มาตรา ผิดพลาดตรงไหนก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ซึ่งต้องดูในภาพรวมว่าจะดีหรือไม่ดี ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงก็ดูอยู่ อะไรที่เป็นการแสดงความคิดเห็นแล้วไม่เสียหายก็ทำได้ แต่อะไรที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมันไม่ได้ เรารับ ไม่ได้ เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วในอดีตที่ผ่านมาที่ความขัดแย้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิต

คสช.ไม่อนุญาตนปช.แถลงรธน.

    พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มอบให้ตัวแทนมายื่นหนังสือขออนุญาตจัดการแถลงข่าวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ขอชี้แจงว่าคสช.ยังไม่อนุญาตให้กลุ่มนปช.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อเรื่องร่างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากจำเป็นต้องยึดถือแนวทางเดิมที่เคยขอความร่วมมือไว้ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมใดที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความสับสน หรือมีผลต่อแนวทางการเสริมสร้างความสามัคคี และแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย หรืออาจกระทบต่อแนวทางการเดินตามโรดแม็ป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีบางบุคคลขออนุญาตพูดคุยกับสื่อแต่ะในนามส่วนบุคคล ไม่ใช่ขอมาในลักษณะกลุ่มการเมือง

อ้างที่ผ่านมาให้แต่ข่าวลบ

      พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ระยะหลังพบมีสมาชิกในกลุ่มนปช.หลายคน แสดงความเห็นผ่านสื่อมาตลอด หลายครั้งพบว่าในเนื้อหายังพยายามจะสร้างวาทกรรมทางการเมือง ในลักษณะให้ร้ายคสช.และชี้นำ ความรู้สึกสังคมในเชิงที่เป็นลบต่อคสช. ในลักษณะมีข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการพิจารณา

โฆษกคสช.กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่ยื่นมา ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องเนื้อหา เช่น ใครผู้ใดจะเป็นคนพูดบ้าง จึงจำเป็นที่คสช.ต้องขอให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ ที่ผ่านมามีการเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาตลอด ส่วนแกนนำนปช.ก็แสดงความเห็นผ่านช่องทางนี้มาพอสมควรแล้ว ซึ่งสื่อก็สามารถรับรู้รับทราบในทุกประเด็นไปพร้อมกันได้อยู่แล้ว

นปช.ยื่นอีก-ชี้ไม่มีผลต่อโรดแม็ป

      เวลา 13.00 น. ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกนปช. พร้อมด้วย นายสมหวัง อักษราษี แกนนำนปช. ได้ยื่นหนังสือเพื่อติดตามความคืบหน้า เรื่องการขออนุญาตจัดการแถลงข่าวในวันที่ 6 ก.ย. นี้ โดยมีพ.อ.ชนก ขาวรัตน์ ฝ่ายเสธ.เวรประจำสำนักงานเลขานุการกองทัพบก เป็นผู้รับหนังสือ

นายธนาวุฒิกล่าวว่า กรณีที่พ.อ.วินธัยระบุไม่อนุญาตให้นปช.จัดกิจกรรมนั้น ยืนยันว่าการจัดกิจกรรมของนปช. ไม่มีภาวะสุ่มเสี่ยง สับสน หรือมีผลต่อความสามัคคี หรือมีผลต่อโรดแม็ป เพราะจะนำเสนอความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในเชิงหลักการ เนื้อหา บนพื้นฐานประโยชน์ประเทศ ประชาชน และความห่วงใยต่ออนาคตประเทศไทย พร้อมชี้หนทางแก้ไขในประเด็นเห็นต่างโดยไม่ขัดขวางโรดแม็ปของรัฐบาล ไม่มีการปลุกปั่น ยุยง ให้เกิดความไม่สงบ

       นายธนาวุฒิกล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่า นปช.ยังให้รายละเอียดขอจัดแถลงข่าวในวันที่ 6 ก.ย. ไม่เพียงพอนั้น ขอชี้แจงว่า ผู้พูดมี 4 คน คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นางธิดา โตจิราการ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพูดอย่างมีระบบมีเนื้อหาของรัฐธรรมมนูญ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการตัดสินลงประชามติด้วยตัวเขาเอง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีแกนนำเสนอความคิดเห็นต่อสื่อไปบ้างนั้น ก็เป็นลักษณะกระจัดกระจายก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์จะออกมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจว่าได้รับข้อมูลแต่ละด้านประกอบความคิด ไม่ใช่ได้ข้อมูล ด้านเดียวของผู้เสนอและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ต่อการถูกจำกัดสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศ

ซัด'บวรศักดิ์'โชว์แต่ภาพสวย

      นายธนาวุฒิ กล่าวว่า กรณีพ.อ.วินธัย พูดแต่เรื่องในด้านลบนั้น ขอบอกว่าคสช.ต้องเข้าใจว่ามาจากทหาร นปช.ทำงานตามหลักการต่อต้านรัฐประหาร ดังนั้นคำพูดจาอาจสวนทางกันบ้าง แต่ถ้าดูในเนื้อหาแล้วเราสร้างสรรค์ในประชาธิปไตย ต้องการให้ประชาชนได้ข้อมูลทุกด้าน และเราอยู่ในความสงบมาตลอด ต้องการให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อยู่ไป ถ้าอยู่ได้โดยประชาชนชื่นชมศรัทธา ดังนั้น หากรัฐบาล คสช.มีใจกว้างพอ น่าจะอนุญาตให้ 4 คนของนปช.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย

      "การที่นปช.จะแสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญก็ไม่เกี่ยวกับโรดแม็ปรัฐบาล เพราะเมื่อผ่านสปช.แล้ว ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนด้วย ดังนั้นจะผ่านหรือไม่ อยู่ที่ประชาชน นปช.จำเป็นต้องอธิบายหลักการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปให้นั้น เป็นภาพสวยๆ ที่เราเห็น แต่กลิ่นที่โชยออกมานั้น นปช.เห็นว่ากลิ่นนั้นคืออะไร จึงต้องการชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่ามันเหม็นเน่า หรือหอมหวนอย่างไร ต้องให้ประชาชนได้เห็น สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ"

มั่นใจไม่ขัดระเบียบคสช.

     เมื่อถามว่า ถ้าคสช.ยังไม่อนุญาตเช่นเดิม นายธนาวุฒิกล่าวว่า เราจะรอฟังข่าวถึงตอนเที่ยงวันที่ 6 ก.ย. ถ้ายังไม่อนุญาตอีก อาจทำหนังสือถึงสื่อมวลชน หรืออาจหาใครมาแถลง 2-3 คนในที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย เราต้องแสดงจุดยืน เรื่องรัฐธรรมนูญในทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ประชาชนทราบ ถือว่าไม่ได้ขัดระเบียบคสช. เพราะทุกคนย่อมแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าเห็นว่าขัด ผิด ก็จับ เท่านั้นเอง จะได้เห็นว่าประเทศนี้ยังมีเผด็จการอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เรามาดีอย่างมิตร ไม่ได้ท้าทาย และตนไม่กังวล เพราะตนอยู่ประเทศไทย เขาจะพาไปไหนก็ไปได้


ถอดยศ - คำสั่งถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.ย. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการ

      ส่วนที่มีผู้ออกมาแสดงความเห็นแล้วถูกยึดพาสปอร์ต นายธนาวุฒิกล่าวว่า แค่พูดก็ยึดแล้ว หรือต่อไปนี้ฝ่ายที่คิดต่างคสช.จะทำอะไรไม่ได้เลย ที่เราต้องการคืออย่าฟังแต่กปปส.เพียงฝ่ายเดียว ขอให้ฟังฝ่ายอื่นบ้างบ้านเมืองจะได้ไปได้

เมื่อถามว่าติดต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ โฆษกนปช. กล่าวว่า ไม่มี ส่วนตัวตนก็ไม่รู้จัก แต่โดยหลักการประชาธิปไตย ใครมาเดินกับเราตามแนวทางนั้นก็ถือเป็นเพื่อนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นพ.ต.ท.ทักษิณหรือใครก็ตาม

กมธ.มั่นใจสปช.เห็นชอบ

     นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญว่า สปช.และกลุ่มการเมืองไม่ควรกลัวเกินกว่าเหตุ เนื่องจาคปป.จะใช้อำนาจได้เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤต และการเขียนไว้เพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง อีกทั้งหน้าที่หลักของคปป. คือการขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง หากบ้านเมืองไม่มีปัญหา ก็ไม่จำเป็นที่คปป.ต้องใช้อำนาจเข้ามาแก้วิกฤต ทุกอย่างเดินหน้าได้ตามปกติ

     "ยืนยันว่าสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่มาตลอดคือการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 จึงจำเป็นต้องวางรูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เท่าที่พูดคุยกับสมาชิกสปช.หลายคนมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการรับรองจากสปช.ส่วนใหญ่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบการล็อบบี้ให้สนับสนุนหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และนายกฯ พูดมาตลอดให้เป็นการตัดสินใจของสปช." นายมานิจกล่าว

เช็กเสียง 140 สปช.จ่อคว่ำร่างรธน.

     รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สปช.ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากกลุ่มต่างๆ ได้ส่งตัวแทนมาหารือกันกว่า 20 คน ที่โรงแรมพูลแมน เพื่อตรวจสอบความพร้อมและความมั่นใจครั้งสุดท้าย ก่อนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย. โดยพบว่าสมาชิกสปช.ที่ยืนยันว่าจะลงคะแนนไม่เห็นชอบนั้นมีสูงถึง 130-140 เสียงแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช.ไปสู่การทำประชามตินั้น มีแนวโน้มสูงที่จะถูกประชาชนลงมติคว่ำ สูญงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือรับไม่ได้กับคปป. ที่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงจะเกิดกระแสต้านคสช.มากขึ้น ระหว่างการรณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติ

กมธ.งดออกเสียง-โดดร่ม

      รายงานข่าวว่า สำหรับสัดส่วนเสียงไม่เห็นชอบทั้งหมดจะมาจากสปช.จังหวัด ที่ค่อนข้างมีเอกภาพชัดเจนเป็นหลัก โดยเฉพาะจากภาคเหนือและอีสานรวมแล้วกว่า 60 เสียง ส่วนอีก 50-60 เสียง จะมาจากสปช.ที่สังกัดกมธ.การเมือง กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ท้องถิ่น และกธม.แรงงาน เป็นหลัก และที่เหลืออีก 20-30 เสียง จะกระจายอยู่ตามกมธ.ชุดที่เหลืออีก 7 คณะ ขณะที่ฝ่ายเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะมีคะแนนอยู่ในระดับ 100 เสียง พร้อมทั้งมีกระแสข่าวว่าสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ บางส่วนจะลงคะแนนงดออกเสียง และบางรายก็จะไม่เข้าร่วมการประชุมด้วย เนื่องจากทราบผลแล้วว่าสู้ไม่ได้

คาดอาจทะลุ 160 เสียงไม่รับ

      นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า คะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอาจทะลุถึงระดับ 160 เสียงได้ เนื่องจากกระบวนการลงคะแนนใช้วิธีการขานชื่อโดยเปิดเผยตามรายชื่อตัวอักษร ถ้าหากช่วงแรกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทิ้งห่างจำนวนมาก สปช.ครึ่งท้ายที่เป็นฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ยังลังเลอยู่อาจจะลงมติให้ฝ่ายไม่รับไปเลย เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของสปช.

      นายทิวา การกระสัง สมาชิกสปช.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการนัดเลี้ยงสังสรรค์สปช.ภาคอีสานที่โรงแรมพูลแมน เมื่อค่ำวันที่ 4 ก.ย.ว่า ไปรับประทานอาหารเลี้ยงขอบคุณที่ร่วมทำงานกันมา มีสปช.ไปร่วม 20 คน มีตัวแทนสปช.จากทุกภาคมาร่วมงาน ไม่ใช่แค่สปช.อีสานอย่างเดียว ซึ่งมีการแสดงจุดยืนกันว่า สปช.จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลงคะแนนครั้งนี้ เพราะหากให้ความเห็นชอบไปจะกลายเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งของคนในประเทศช่วงทำประชามติ และมีโอกาสสูงที่จะเสียเงิน 3 พันล้านบาทฟรีๆ ในการทำประชามติ เพราะ 2 พรรคใหญ่ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของประชาชนไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสที่จะทำประชามติผ่านถือว่าริบหรี่

แฉฝ่ายหนุนดิ้นดึงแต้มกลับ

     นายทิวา กล่าวว่า ขณะนี้เสียงสปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเสียงที่แน่นอนอยู่ที่ 140 เสียงแล้ว คิดว่าคงมีเพียงไม่กี่เสียงที่อาจสะวิงไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ดูแล้วมั่นใจว่าฝ่ายไม่รับร่างน่าจะชนะฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่คงชนะแบบเฉียดฉิว เว้นแต่จะมีการส่งสัญญาณพิเศษออกมา ขณะนี้หลังจากที่เสียงของฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแซงขึ้นมา สปช.ฝ่ายที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามส่งสัญญาณโดยนำคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อคืนวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า อยากให้มีทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแม็ปเพื่อนำไปสู่การทำประชามติ มาใส่ในไลน์กลุ่มสปช. เพื่อชี้นำว่าพล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้ผ่านร่างรัฐธรรม นูญ เพื่อที่จะดึงคะแนนที่เสียไปกลับคืนมา

     นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสปช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเห็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญคิดว่าน่าจะรับได้ แต่วันนี้ยอมรับว่ามีเรื่องที่น่าวิตกในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น จึงต้องทบทวนตัดสินใจใหม่อีกครั้ง ขณะนี้กำลังชั่งใจอยู่ 50-50 ยังไม่ได้ตัดสินใจ ส่วนที่มีชื่อของตนไปอยู่ในรายชื่อ 147 คนที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ยังงงๆอยู่ว่ามีชื่อเข้าไปได้อย่างไร เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจ อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนโทรศัพท์มาพูดคุยขอเสียงสนับสนุน ชี้แจงให้เห็นถึงข้อเสียในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตนตอบไปว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ ยอมรับว่าขณะนี้เสียงของทั้งสองฝ่ายสูสีกันมาก เพราะระยะหลังสปช.กลุ่มที่จะไม่รับนั้น รณรงค์ค่อนข้างหนักและเป็นระบบ ทำให้มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี มีแนวโน้มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น

'ดิเรก'เชื่อฝั่งโหวตคว่ำชนะ

     นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า กระแสโหวตไม่รับตอนนี้น่าจะมีสูงกว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโค้งสุดท้ายน่าจะจบแล้ว เรื่องการล็อบบี้เพื่อลงคะแนน ทราบว่ามีการเคลื่อนไหวลักษณะต่างคนต่างทำ แต่คะแนนที่มาทางกลุ่มไม่รับ ประเด็นหลักมาจากกลุ่มนักกฎหมายและนักวิชาการ ที่เริ่มตีโจทย์แตกว่าร่างนี้ไม่เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ทำให้ประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป โครงสร้างผิดเพี้ยนไป

นายดิเรกกล่าวว่า ตนพยายามชี้แจงตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรื่องของนายกฯคนนอก ที่มาของส.ว. ส.ส.แบบสัดส่วนผสม ทำลายความ เข้มแข็งของประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ เข้มแข็งก็อยู่ไม่ได้ สำคัญที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มาของอำนาจมาจากประชาชน ถ้าโครงสร้างหลักเดินไม่ได้ ก็เหมือนกับปลูกบ้านแล้วเสาเอียง คนที่อยู่ก็มีปัญหาตลอด

     เมื่อถามว่า หากสปช.โหวตคว่ำแล้ว คสช.จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ กังวลเรื่องเนื้อหาที่จะเขียนหรือไม่ นายดิเรกกล่าวว่า เชื่อว่าผู้ที่ยกร่างใหม่จะรับรู้ถึงแรงต้านและมีบทเรียนแล้ว ขณะที่สื่อก็จะช่วยตรวจสอบด้วย แต่หากคะแนนเสียงโหวตของสปช.พลิกกลับเป็นรับร่าง ในช่วงทำประชามติ ตนจะไม่เคลื่อนไหว ไม่อยากให้บ้านเมืองมีปัญหา แต่จะอธิบายให้สังคมรับรู้ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาว่าถ้าบังคับใช้ รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหาการขัดแย้งของคนไทยอีก แต่ยังเชื่อว่าเมื่อถึง ขั้นตอนการลงประชามติจะไม่ผ่าน ถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่เอาด้วย

'ประภาศรี'ไม่รับ-หวั่นเลือกตั้งวุ่น

   นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกสปช.กล่าวว่า คิดว่าสปช.ทุกคนตัดสินใจเเล้วว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวมาหลายเดือนเเล้วว่าไม่เห็นด้วยที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้ประชาชนลงประชามติ ด้วยเหตุผลส่วนตัว ปราศจากผู้ชี้นำใดๆ เนื่องจากคสช.ให้กรอบเวลาเพียง 1 ปีซึ่งสั้นมาก เราต้องทำงานกันแบบเร่งรีบ จึงขอให้หยุดการนำรัฐธรรมนูญออกมาใช้ก่อน เพราะยังมีช่องทางให้สปช.เดินได้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือลงมติไม่เห็นชอบไปก่อน เพื่อให้มี 21 คนมาช่วยทบทวนรัฐธรรมนูญนี้ให้ดียิ่งขึ้น เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สปช.ยังขาดการยึดโยงกับประชาชน การลงไปหาประชาชนยังไม่ครอบคลุม เเละสิ่งที่ประชาชนเสนอมา หลายอย่างยังไม่ได้นำไปเขียนในรัฐธรรมนูญเพราะเงื่อนไขของเวลา

    นางประภาศรี กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูปประเทศควรใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเเก้ไขปัญหาที่หมักหมมในสังคม จัดระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้ ให้เรียบร้อยก่อน หากจัดการไม่เรียบร้อยก็ ไม่ทราบว่าจะปฏิวัติให้เสียของทำไม ส่วนการปรองดอง ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เรามีเเต่ทฤษฎี เเต่ไม่มีกิจกรรมที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อลดความขัดเเย้ง คิดว่าจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลต้องขยันเเละทำงานมากขึ้น นำเเนวคิดที่ดีไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงๆ ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นรายกลุ่มย่อยๆ ใช้กลไกทุกอย่างที่มีอยู่มากไปร่วมเเรงร่วมใจกันทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง เเละยั่งยืนให้ได้


ทวงถาม - ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษก นปช. ยื่นหนังสือแจ้งเนื้อหาเพิ่มเติมและติดตามขอทราบความคืบหน้าถึงการขออนุญาต คมช.จัดแถลงข่าวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรธน.ใหม่ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

      "จึงยืนยันลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในห้วงเวลาสั้นๆ นี้ เพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวาย ความ ขัดเเย้งทางความคิดเเละความไม่สงบในประเทศที่จะเกิดขึ้นอีก หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่การทำประชามติและการเลือกตั้ง ในห้วงเวลาที่ประเทศเรายังไม่พร้อม" นางประภาศรีกล่าว

นิรันดร์จี้สปช.ยึดประโยชน์ชาติ

       นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช.กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองใหญ่ที่กุมเสียงส่วนใหญ่ของสังคม นักวิชาการ องค์กรต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ ชี้ให้เห็นจุดอ่อนหรือจุดบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนำไปสู่การเรียกร้องให้คว่ำร่างฉบับนี้ ตนจึงชี้ให้เห็นว่าในบรรยากาศเช่นนี้ ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะผ่านประชามติ และการจัดทำประชามติต้องใช้เงินมากถึง 4,000 ล้านบาท และหากประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่และทำประชามติใหม่ ต้องสูญเสียงบฯ อีก 4,000 ล้านบาท รวม 8,000 ล้านบาท สถานภาพทางเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ ไม่พร้อมจ่ายเงิน 8,000 ล้านบาทไปใช้อย่างไร้ทิศทางเช่นนี้

นายนิรันดร์กล่าวต่อว่า ตนขอเรียกร้อง 2 ประการ 1.สปช.ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ขอให้เพื่อนสมาชิกสปช.ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเสนอแนะให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ต่อไป เพราะเราต้องยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.เสนอแนะ และ กมธ.ยกร่างฯนำไปบรรจุไว้ก็มีส่วนดีอยู่มาก โดยเฉพาะการขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชน และด้านการปฏิรูปและการปรองดอง

      2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสนช.แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเฉพาะมาตรา 37 วรรคเจ็ด แม้จะมีเจตนาดีที่จะให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับของประชาชนที่แท้จริง แต่สังคมไทยปัจจุบันไม่สามารถทำให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวได้จริง นอกจากนี้เพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง จึงพยายามตีความให้ผิดเพี้ยน โดยเปลี่ยนความหมายของคำบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิ เป็น ผู้ใช้สิทธิ ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผล

แฉฝ่ายหนุน-ปล่อยข่าวดิสเครดิต

    นายเอกราช ช่างเหลา สมาชิกสปช.ขอนแก่น กล่าวถึงกระแสข่าว 147 สมาชิก สปช. พร้อมลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า จากรายชื่อทั้งหมดมีอยู่หลายรายชื่อที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่านี่คือการเล่นการเมืองของฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญที่นำโผไปเปิดเผย แล้วนำชื่อคนที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญไปใส่รวมไว้ด้วย เพื่อที่จะดิสเครดิตฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่ามีการล็อบบี้เสียงลงคะแนน ซึ่งตนคิดว่ากระทำเหล่านี้มาจากสปช.ที่เป็นอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ไร้มารยาททางการเมืองมาก แต่ส่วนตัวก็ยอมรับว่าการเปิดเผยรายชื่อสมาชิกสปช.ว่าจะลงมติคว่ำร่างดังกล่าวอาจส่งผลต่อการลงมติของฝ่ายไม่รับร่างอยู่บ้าง แต่ยังมั่นใจว่าที่สุดแล้วสปช.จะลงคะแนนไม่รับร่างในที่สุด

'เสรี'ย้ำไม่รับ-โต้ข่าวล็อบบี้

      นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอให้สมาชิกสปช.ทุกคนพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุและผล ส่วนตัวยืนยันว่าจะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะดูจากเนื้อหาแล้ว หลายมาตราไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ณะนี้ โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลในการดูแลประเทศ

"เท่าที่พูดคุยกับกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน สมาชิกหลายคนเห็นตรงกันที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบล็อบบี้จากสปช. ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อโน้มน้าวให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเปลี่ยนใจมารับร่าง เนื่องจากทุกคนมีเหตุผลและมีความคิดเป็นของตัวเอง หากล็อบบี้จริง คงเป็นการกระทำที่ไม่ เหมาะสม" นายเสรีกล่าว

      ส่วนการตั้งคำถามเพื่อลงประชามติในส่วนของสปช. นายเสรีกล่าวว่าไม่ควรเสนอให้ตั้งคำถาม เพราะแต่ละคำถามที่จะเสนอล้วนขัดกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งการเสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี ที่จะทำให้โรดแม็ปหรือตารางการเลือกตั้งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนไป หรือการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่ไม่สามารถทำได้จริง หากเสนอให้ตั้งคำถาม ตนจะชี้แจงให้สมาชิกฟัง

สปช.สุพรรณฯดีใจมติคว่ำชนะขาด

     นายชูชาติ อินสว่าง สมาชิกสปช.สุพรรณบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดการเป็นสมาชิกสปช. 10 เดือน พวกเราต่างมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง คัดเลือกบุคคลเป็นกมธ.ยกร่างฯ เสนอคำขอแก้ไข แม้ที่สุดแล้วจะไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด แต่ตนก็รับได้ และพร้อมจะโหวตเห็นชอบ ทั้งที่เชื่อว่าผลการโหวตสปช.จะออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตามกระแสข่าวจริง เพราะตนยึดมั่นในเหตุผลของตนเอง ไม่ทำตามใคร ไม่ใช่นักการเมือง น้ำเน่าที่จะต้องเลือกข้างผู้ชนะเท่านั้น

นายชูชาติกล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจที่เห็นว่าคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สูงถึง 147 เสียงแล้ว เนื่องจากตนคิดว่าผลแพ้ชนะควรทิ้งกันให้ขาด เพื่อความชัดเจน มิให้มากล่าวโทษกันภายหลังว่าทำไมไม่ลงคะแนนแบบนี้ ถ้าหากผลออกมาสูสีกัน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พวกเราสมาชิกสปช.ก็ยังคงเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันต่อไป เราต้องปรองดองกัน ส่วนตัวพร้อมจะรับงานสานต่อการปฏิรูป หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นประโยชน์ของตนที่มีพร้อมทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์

ฝ่ายหนุนยันรธน.มีเนื้อหาก้าวหน้า

    นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสปช. กล่าวว่าตนจะลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเนื้อหาสาระมีความก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการให้หลักประกันที่ครอบคลุมมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40, 50 รวมถึงเรื่องการปฏิรูปให้หลักประกัน ทิศทาง และเจตนารมณ์ มีกฎหมายลูกออกมาขยายรายละเอียด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ในอดีตเราพลาดเพราะรีบเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง กลับสู่ระบบปกติ จึงเกิดวงจรอุบาทว์ มีการเดินขบวนของประชาชนตามท้องถนน ครั้งนี้จึงมีหลักว่าการเมืองมีคุณภาพ

พท.วอนสปช.คิดให้รอบคอบ

     นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ สปช.ทุกคนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดรอบคอบทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีนั้นมีอยู่ตามที่ผู้ร่างได้ชี้แจง แต่ข้อบกพร่องหรือข้อเสียก็มีไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะความคิดเห็นของนักวิชาการที่แสดงออกมา สปช.ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าประกาศใช้ไปแล้ว โอกาสแก้ไขยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ เท่ากับข้อบกพร่องนั้นจะถูกประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญตลอดไป แต่หากมีการคว่ำร่างไปก่อน ข้อดีต่างๆ สามารถนำกลับมาร่างใหม่ได้ จึงขอให้ สปช.พิจารณาให้รอบคอบก่อนลงคะแนน

'เต้น'โพสต์เหน็บ'แป๊ะสั่งหมู'

    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ประเมินตามสถานการณ์เชื่อว่าแป๊ะอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะทุกเรื่องที่ต้องการเนติบริกรใหญ่ในฐานะผู้รับเหมาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้ครบชุด แต่ถ้าแป๊ะประเมินสัญญาณจากฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งเข้มข้นขึ้นทุกวันแล้วสั่งกลับหลังหัน คว่ำในชั้นสปช.ก็เท่ากับประเด็นร้อนที่เป็นเหตุผลให้ถูกคัดค้านจะหายไป ไม่สามารถกลับมาได้อีกในร่างที่จะทำขึ้นใหม่ ซึ่งเปรียบเหมือนมีแป๊ะคนหนึ่งสั่งหมูมาหนึ่งคันรถบรรทุก คนรับคำสั่งก็จัดแจงคัดหมูทุกตัวที่แป๊ะต้องการขึ้นรถเตรียมเอามาส่งตามนัดวันที่ 6 ก.ย.

      "ถ้าทุกอย่างราบรื่น หมูก็ถึงมือตามใจแป๊ะ แต่ถ้ารถบรรทุกหมูคว่ำเสียกลางทาง หมูที่บรรทุกมาตายเรียบยกคันรถ ทั้งหมู คปป. หมูนายกฯ คนนอก หมูส.ว.ที่แป๊ะตั้ง สั่งรอบใหม่คงไม่มีผู้รับเหมาที่ไหนกล้าเอาหมูตายขึ้นรถมาอีกแน่ ที่สำคัญ คือในเหตุรถบรรทุกหมูคว่ำครั้งนี้ นอกจากหมูของแป๊ะจะตายเกลื่อนแล้ว ยังมีผู้เคราะห์ร้ายดับอนาถอย่างน้อย 2 ราย หนึ่งคือหัวหน้าผู้รับเหมา ซึ่งยืนกระต่ายขาเดียวว่า ต้องผ่านเพราะที่จัดมาของดีทั้งนั้น ใครวิจารณ์แกโต้แหลก อีกหนึ่งเป็นกำนันจากสุราษฎร์ฯ ที่เดินส่ายอาดๆ ประกาศเชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู หมูเป็นหมูตายไม่รู้ แกจะสู้ตามใจแป๊ะ ถ้ารถหมูคว่ำ คงเห็น 2 คนนี้นอนเรียงอยู่กับซากหมู" นายณัฐวุฒิระบุ

'อ๋อย'ยันประชาชนเสียประโยชน์

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์" ว่า ที่กล่าวว่าประชาชน คือผู้เสียประโยชน์มากที่สุดนั้นเพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกส.ว.ก็เป็นส.ว.ส่วนน้อย เลือกส.ส.เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปคอยออกกฎหมายปฏิรูปตามที่คปป.มอบหมาย ตั้งใจไปเลือกรัฐบาลก็อาจได้คนนอกเป็นนายกฯ ถ้าได้รัฐบาลก็บริหารประเทศ ไม่ได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนก็ไม่ได้ เพราะต้องคอยทำตามการมอบหมายของคปป. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอายุเพียงสั้นๆ เพราะมีกงจักรสังหารเต็มไปหมด ประชาชนจะไปอาศัยการลงประชามติ พ.ร.บ.ประชามติก็บอกให้ต้องมีคนมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง คนไม่เห็นด้วยนอนอยู่บ้าน ประชามติก็ไม่ผ่านแล้ว ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี เสนอได้ แต่แก้ไม่ได้ ทั้งรัฐบาลและสภาที่ประชาชนเลือกไปจะอยู่ใต้อำนาจของคปป. ซึ่งไม่เกี่ยวกับประชาชนเลยและไม่มีใครตรวจสอบได้ด้วย

ชี้ถ้ารธน.ผ่าน-คสช.อยู่ยาวเกิน 5 ปี

      นายจาตุรนต์ระบุว่า ส่วนที่กล่าวว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ คสช.และผู้ใกล้ชิด เพราะเมื่อสปช.ผ่านร่างนี้แล้ว คสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นเพื่อทำการปฏิรูป ส่วนคสช.จะคงอยู่และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายต่อไปจนกว่าจะมีครม. หลังการเลือกตั้ง ตามบทเฉพาะกาลของร่างนี้ สนช.จะเป็นผู้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคปป. เมื่อรวมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว จะมีเสียงเกิน 2 ใน 3 นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่อดีตนายกฯ จะมาจากคสช.หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับคสช. คปป.จึงเท่ากับการสืบทอดอำนาจของคสช.โดยตรง

นายจาตุรนต์ระบุว่า ส่วนของการแต่งตั้งส.ว. ตามบทเฉพาะกาล คณะรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการลากตั้งส.ว. ซึ่งจะมีอำนาจมากมาย รวมทั้งการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทุกฝ่ายได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทำให้คสช.และผู้ใกล้ชิดมีตำแหน่งและอำนาจมหาศาลจากวันนี้ พรุ่งนี้ต่อเนื่องไปจนหลังการเลือกตั้งและต่อไปไม่มีกำหนด ไม่ใช่เพียง 5 ปีอย่างที่พยายามแก้ตัวกันอยู่ จึงให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไม่ได้

"บิ๊กจิ๋ว"แจง 17 ปัญหารธน.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ได้ออกเอกสารคำชี้แจง ลงวันที่ 2 ก.ย. ที่บ้านปิ่นประภาคม นนทบุรี เรื่อง "ปัญหาร่างรัฐธรรมนูญ 285 มาตรา พัฒนาหรือทำลายชาติ" โดยเอกสารดังกล่าวเป็นรูปเล่ม ขนาดเอ 4 จำนวน 23 หน้า โดยมีชายสวมเสื้อเหลืองนำมาแจกให้กับ ผู้สื่อข่าว ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ในบริเวณนั้น ได้ขอร้องให้หยุดแจกเอกสารและเชิญตัวให้กลับไป

      ในเอกสาร มีเนื้อหาระบุว่า ทันทีที่ประธานกมธ.ยกร่างฯ นำร่างรัฐธรรมนูญมอบให้ประธานสปช.เพื่อจัดลงมติในวันที่ 6 ก.ย. เกิดเสียงวิจารณ์ทั่วทั้งแผ่นดิน ความขัดแย้งเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ 'วิกฤตรัฐธรรมนูญ'ตนจึงขอร่วมสะท้อนปัญหาที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 17 ปัญหา อาทิ การนำปัญหาประชาธิปไตยที่ยังแก้ไม่ตกในทุกด้านไปเขียนใส่ในรัฐธรรมนูญตรงๆ ถือเป็นการเอาปัญหาไปกองสุมรวมไว้ กลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ

     วิธีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะไม่ถูกฉีกและอยู่คงทนถาวรคือ สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จก่อน และเมื่อสร้างประชาธิปไตยแล้วควรยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภาให้หมดสิ้น ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างเผด็จการรัฐสภาในการปกครองแผ่นดิน หรือต่อสู้กับประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญแผ่นกระดาษที่ทำให้เป็นเงื่อนไขต้องฉีกทิ้งกันอีกไม่รู้จบ และต้องร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในชาติบ้านเมือง

เหน็บอย่ามองแบบนางงาม

      นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นเผด็จการรัฐสภาหรือเป็นประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจคสช.หรือไม่ มีปัญหาซ่อนรูปรัฐประหารในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปัญหาของการไม่มีการคานหรือความสมดุล ในระบบรัฐสภาคือไม่มีดุลยภาพ เหมือนที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เคยชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไร้ความสมดุล ไร้ความถ่วงดุลหรือไม่มีดุลยภาพนั่นเอง และสิ่งผิดพลาดที่ไปไกลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือมีนโยบายการปฏิรูปอย่างมากมายมหาศาล และยังมี คปป. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ เพื่อกำกับควบคุมรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ ซึ่งผิดต่อกฎเกณฑ์หรือหลักวิชาการอย่างร้ายแรง

     "ยังมีปัญหา เรื่องนายกฯ คนนอก ที่มาของส.ว. หรือปัญหาที่ไม่มีคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ปัญหาข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญที่มีหลายคนแสดงความคิดเห็นไว้ รวมทั้งผมที่มองแบบวิปัสสนาแยกแยะ ค้นหาสัจธรรมความจริงแท้ อันเป็นโมกษธรรมสูงสุด ซึ่งเป็นความงดงามอันบริสุทธิ์ประเสริฐสูงสุดเป็นอมตะอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ มีความผาสุกของประชาชนไทย และแก้ปัญหาชาติให้ได้สำเร็จ ไม่ได้มองแบบนางงามที่ดูเพียงเปลือกนอก ผิวเผิน ตื้นเขินอันเป็นมายาภาพด้วยจิตที่มีอวิชชา เป็นมิจฉาทิฐิที่ติดอยู่ในห้วงแห่งทุกข์และห้วงแห่งปัญหาที่พาชาติและประชาชนคนไทยตกอยู่ในหลุมดำแห่งความพิบัติหายนะ ไม่รู้จบ" พล.อ.ชวลิตระบุในตอนท้าย

"วิรัตน์"เชื่อสปช.ให้ผ่านร่างรธน.

       นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย กล่าวถึงการลงมติของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ในความเห็นส่วนตัวก็เห็นตามหัวหน้าพรรค ที่ไม่ต้องการให้สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เชื่อว่าสปช.น่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะผ่านมากน้อยขึ้นอยู่กับสปช. แม้จะยังมีสปช.บางกลุ่มต่อต้านอยู่ แต่โดยรวมเชื่อว่าผ่าน เพราะได้เห็นความพายามของหลายฝ่าย เห็นว่าให้ผ่าน และช่องทางที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่เปิดช่องไว้ว่าในชั้นสนช.ยังแก้ได้ ก่อนจะนำไปทำประชามติ เพราะถ้าลดดีกรีตรงนี้ได้ก็จะไปได้

ฉะสปช.พูดเพื่อความสะใจ

        นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจะโหวตผ่านหรือไม่ผ่านก็แล้วแต่สปช. แต่เรื่องสำคัญคือต้องพูดถึงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และรับรู้ถึงผลกระทบของรัฐธรรมนูญที่จะออกมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศมากกว่านี้ แทนที่จะออกมาตอบโต้กัน ข่มกันว่าจะรับหรือไม่รับ เห็นชัดเจนคือนายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสปช.ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ซึ่งระบุว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญก็อย่าลงเลือกตั้ง หรือใครโหวตผ่านรัฐธรรมนูญให้ไปอยู่ประเทศอื่น ถือเป็นการพูดเพื่อความสะใจของตัวเอง แทนที่จะคำนึงถึงหน้าที่และวุฒิภาวะของสปช. หรือล่าสุดที่หอบเงินมาคืน 1.7 ล้านบาท ถามว่าทำเพื่อผลประโยชน์ในอนาคตหรือไม่ ทั้งคปป. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ไปสมัครไว้ในลำดับ 46

     นางรัชฎาภรณ์ กล่าวว่า จึงขอให้คำนึงว่าการทำงานที่สำคัญของบ้านเมืองที่ต้องยอมรับการตัดสินใจของสปช.เป็นชั้นแรก และเคารพการตัดสินใจของประชาชน โดยไม่รณรงค์ หรือชี้นำ เป็นขั้นสุดท้าย และอย่าให้คนที่หวังประโยชน์แอบแฝงทำให้ศักดิ์ศรีของสปช.ต้องถูกลดลงไปด้วยเรื่องอื่น

ฮิวแมนไรต์ฯทวงสัญญาคสช.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา นัดจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "กรวดน้ำคว่ำขัน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ในเวลา 16.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงบ่าย สน.ปทุมวัน เจ้าของเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้ประกาศห้ามใช้พื้นที่เนื่องจากต้องขออนุญาตก่อน 1 วัน และต้องห่างจากเขตพระราชฐาน 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1 กองร้อย ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์ ล้อมรั้วกั้นพื้นที่โดยรอบ ปิดกั้นทางเดินเข้าสู่บริเวณนัดหมายจากทางเดินเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกทาง ขณะเดียวกันมีสื่อมวลชนจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมด้วยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศ ไทย ขณะเดียวกันมีประชาชนทั่วไปประมาณ 20 คนมาร่วมตะโกนให้กำลังใจอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า

      นายสุนัย กล่าวว่า ทางผู้จัดกิจกรรมได้ประสานองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งการแสดงออกครั้งนี้ เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐาน นานาชาติต่างเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อพิสูจน์ความจริงใจของโรดแม็ปที่คสช.ว่าเป็นไปตามที่ให้สัญญาไว้ว่าจะคืนประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งผลของการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นตัวพิสูจน์อย่างหนึ่ง

ย้ายที่จัดกิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันรธน.

ต่อมาเวลา 16.30 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ตัวแทนนักจัดกิจกรรม เดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาหารือ โดยอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ขอต่อรองให้ไปจัดกิจกรรมบริเวณอื่นแทน พร้อมระบุว่า หากยังจัดก็ต้องดำเนินการ ตามกฎหมาย นายสิรวิชญ์จึงเคลื่อนออก จากบริเวณที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้น มาทำกิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันบริเวณทางออกหอศิลป์ ติดถ.พระราม 1 ใกล้กับประติมากรรม นางยักษ์ผีเสื้อสมุทรแทน

      ระหว่างทำกิจกรรม นายสิรวิชญ์กล่าวว่า ขอแผ่เมตตาให้สปช. สนช. คสช. จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด จงคืนอำนาจให้ประชาชนเถิด อย่ายึดอำนาจประชาธิปไตย ประชาชนจะหมดความอดทนอยู่แล้ว และวันที่ 6 ก.ย. เราจะรอดูสปช.โหวตร่างรัฐธรรมนูญ ตนจึงขอกรวดน้ำแผ่เมตตาให้พวกที่ตามจองล้างจองผลาญประชาชน ขอเรียกร้องว่าอย่าเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบบับนี้มาให้ประชาชนลงมติ เพราะเราจะลงคะแนนไม่รับอย่างแน่นอน

จ่านิวแนะคสช.นำรธน.ปี"40มาใช้

       นอกจากนี้ทางกลุ่มประชาธิปไตยศึกษายังนำบัตรลงคะแนนประชามติจำลอง พร้อมกาคะแนนในช่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไปแปะบนประติมากรรมนางยักษ์ผีเสื้อสมุทรอีกด้วย ก่อนที่เวลา 17.15 น. กลุ่มจัดกิจกรรมจึงแยกย้ายออกนอกพื้นที่ โดยไม่มีการปะทะหรือความพยายามควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

     นายสิรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากขอให้ประชาชนทุกคนที่ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ปิดกั้นความเห็นต่าง เปิดพื้นที่ให้แต่พวกเดียวกัน ถึงแม้แนวโน้มสปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เรายังต้องเฝ้าดูคสช.ต่อไปว่า จะเตะถ่วงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี"40 เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดและควรนำกลับมาใช้ ไม่ต้องรอให้คสช.มาดำเนินการให้ หากยังมีกระบวนการเตะถ่วง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพอีก ก็ต้องออกมาไล่

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 ก.ย. เวลา 16.00 น. กลุ่มประชาธิปไตยใหม่(NDM) รวมพลครบทีมนักศึกษา ชาวบ้าน นักวิชาการ ศิลปิน ร่วมแถลงข่าวจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ หลังการลงมติของสปช. พร้อมทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มในอนาคตที่ห้องปริญญาเอก ชั้น 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

 

'ดิเรก'เชื่อจบแล้ว คะแนนฝั่งโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญชนะ

 

มติชนออนไลน์ : วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 14:50:46 น.

 

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ ถึงการโหวตรับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า กระแสโหวตไม่รับตอนนี้น่าจะมีสูงกว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโค้งสุดท้ายน่าจะจบแล้ว  เรื่องการล็อบบี้เพื่อลงคะแนน ทราบว่ามีการเคลื่อนไหวลักษณะต่างคนต่างทำ

 

     แต่คะแนนที่มาทางกลุ่มไม่รับ ประเด็นหลักมาจาก กลุ่มนักกฎหมายและนักวิชาการ ที่เริ่มตีโจทย์แตกว่า ร่างนี้ไม่เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ทำให้ประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป โครงสร้างผิดเพี้ยนไป

 

     "ผมได้พยายามชี้แจงตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรื่องของนายกรัฐมนตรีคนนอก, ที่มาของ ส.ว., ส.ส.แบบสัดส่วนผสม ทำลายความเข้มแข็งของประชาธิปไตย รัฐบาลไม่เข้มแข็งก็อยู่ไม่ได้  สำคัญที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มาของอำนาจมาจากประชาชน ถ้าโครงสร้างหลักเดินไม่ได้ ก็เหมือนกับปลูกบ้านแล้วเสาเอียง คนที่อยู่ก็มีปัญหาตลอด"

 

     เมื่อถามว่า หาก สปช.โหวตคว่ำร่าง แล้ว คสช.จะตั้ง กรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ กังวลเรื่องเนื้อหาที่จะเขียนหรือไม่  นายดิเรก กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ที่ยกร่างใหม่ จะรับรู้ถึงแรงต้านและมีบทเรียนแล้ว ขณะที่สื่อเองก็จะช่วยตรวจสอบด้วย

 

     ส่วนหากกรณีที่คะแนนเสียงโหวตของ สปช.พลิกกลับอีกครั้ง เป็น "รับร่าง"  ช่วงการทำประชามติ ตนเองคงจะไม่เคลื่อนไหวอะไร ไม่อยากให้บ้านเมืองมีปัญหา แต่ก็จะพยายามอธิบายให้สังคมรับรู้ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ว่า ถ้าบังคับใช้ รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหาการขัดแย้งของคนไทยอีก

 

     อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า เมื่อไปถึงขั้นตอนการลงประชามติจะไม่ผ่าน ถ้า 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่เอาด้วย

 

'จาตุรนต์'ย้ำ ถ้าร่างรธน.นี้ผ่าน ปชช.หมดหนทาง-คสช.มีอำนาจมหาศาลแบบไม่มีกำหนด

 

วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 00:30:00 น.

 

                เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chaturon Chaisang ถึงกรณีที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยระบุว่า

 

                ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ ? ที่กล่าวว่าประชาชน คือ ผู้เสียประโยชน์มากที่สุดนั้นก็เพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกสว.ก็เป็นสว.ส่วนน้อย เลือกสส.เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปคอยออกกฎหมายปฏิรูปตามที่คปป. มอบหมาย

 

                ตั้งใจไปเลือกรัฐบาลก็อาจได้คนนอกเป็นนายกฯ ถ้าได้รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนก็ไม่ได้ เพราะต้องคอยทำตามการมอบหมายของคปป. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอายุเพียงสั้นๆ เพราะมีกงจักรสังหารเต็มไปหมด

 

                ประชาชนจะไปอาศัยการลงประชามติ พ.ร.บ.ประชามติ ก็บอกให้ต้องมีคนมาใช้สิทธ์เกินครึ่ง คนไม่เห็นด้วยนอนอยู่บ้าน ประชามติก็ไม่ผ่านแล้ว ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี เสนอได้ แต่แก้ไม่ได้ ทั้งรัฐบาลและสภาที่ประชาชนเลือกไปจะอยู่ใต้อำนาจของคปป. ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลยและไม่มีใครตรวจสอบได้ด้วย

 

                ส่วนที่กล่าวว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคสช.และผู้ใกล้ชิด ก็เพราะว่าเมื่อสปช.ผ่านร่างนี้แล้ว คสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นเพื่อทำการปฏิรูป ส่วนคสช.จะคงอยู่และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายต่อไปจนกว่าจะมีครม. หลังการเลือกตั้ง

 

                ตามบทเฉพาะกาลของร่างนี้ สนช.จะเป็นผู้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคปป.ซึ่งเมื่อรวมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้วก็จะมีเสียงเกินสองในสาม นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่อดีตนายกฯ จะเป็นผู้ที่มาจากคสช.หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับคสช. คปป.จึงเท่ากับการสืบทอดอำนาจของคสช.โดยตรง

 

                ในส่วนของการแต่งตั้งสว.ตามบทเฉพาะกาล คณะรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการลากตั้งสว. ซึ่งจะมีอำนาจมากมาย รวมทั้งการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆทุกฝ่ายได้ทั้งหมด

 

                จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่จะทำให้คสช.และผู้ใกล้ชิดมีตำแหน่งและอำนาจมหาศาลจากวันนี้พรุ่งนี้ต่อเนื่องไปจนหลังการเลือกตั้งและต่อไปไม่มีกำหนด ไม่ใช่เพียง 5 ปี อย่างที่มีการพยายามแก้ตัวกันอยู่

 

   ให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไม่ได้หรอกครับ....

 

เสรี สุวรรณภานนท์ โพสต์ประเด็นสำคัญไม่อาจรับร่าง รธน.

 

วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 19:36:00 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์

 

       นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เสรี สุวรรณภานนท์  วันที่ 5 กันยายนว่า

 

    ประเด็นสำคัญที่เห็นควรไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสรี สุวรรณภานนท์ ขอเสนอความเห็นถึงเหตุผลประเด็นสำคัญ ที่ไม่สมควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

 

 

1. รูปแบบร่างรัฐธรรมนูญ

 

1.1 มีเนื้อหารายละเอียดแนวทางปฏิบัติมาเขียนในร่าง รธน. มากเกินไป ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันทางรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย และจะมีการต่อสู้กันในทางรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมา

 

1.2 เนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดหมวดหมู่ ยังกระโดดไปกระโดดมา และซ้ำกันหลายเรื่อง

 

1.3 การจัดสรรอำนาจอธิปไตยไม่สมดุล ระบบถ่วงดุลและคานอำนาจ ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

1.4 ร่างรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งหลายประเด็นทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยั่งยืน

 

1.5 องค์กรใหม่ที่เกิดตามรัฐธรรมนูญมีจำนวนมาก และยังไม่เคยใช้มาก่อน อาจก่อให้เกิดข้อขัดข้องต่อการบริหารประเทศ

 

1.6 ในบทเฉพาะกาล ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งอยู่หลายประเด็น และยังไม่ตอบโจทก์เพื่อแก้ปัญหาปัจจุบันได้

 

1.7 ร่างรัฐธรรมนูญ บางส่วนยังไม่อ่อนตัว เพื่อให้สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์ และบางส่วนควรเคร่งครัดต่อการบัญญัติให้นำไปใช้ได้อย่างได้ผล

 

 

2. ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

 

2.1 ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในภาวะสถานการณ์ปัจจุบัน ควรยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

 

2.2 ส.ส. ควรมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตอย่างเดียว

 

2.3 ไม่ควรใช้ระบบสัดส่วนผสม และระบบ โอเพ่นลิส เพระทำให้การเมืองอ่อนแอ และทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

 

2.4 ควรลดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจถอดถอน โดยให้อำนาจถอดถอนไปอยู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

 

 

3. ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

 

3.1 นายกรัฐมนตรี ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างเดียว

 

3.2 ร่างรัฐธรรมนูญ ควรสร้างให้การเมืองเข้มแข็ง

 

3.3 รัฐบาลไม่ควรมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค เพราะจะเกิดการแบ่งสรรอำนาจและแบ่งผลประโยชน์

 

 

4. สิทธิเสรีภาพของประชาชน คงได้เฉพาะตัวอักษร แต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง ชาวบ้านยังคงถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐกันอยู่มากมาย

 

 

5. ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ของภาครัฐและภาคประชาชน ที่กระจัดกระจายไม่เป็นระบบ อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของการทำงาน

 

 

6. การแก้ปัญหาการเลือกตั้ง

 

6.1 กลไกในร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่อาจทำให้ กกต.จัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

6.2 ร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีมาตรการทำให้ กกต. แก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

7. ประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์

 

7.1 มาตรา 258 มาตรา 261 กำหนดให้ในช่วงเวลา 5-10 ปี คณะกรรมการยุทธศาสตร์(คปป.) มีอำนาจมากกว่าคณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ เท่ากับว่า การจัดสรรอำนาจไม่สามารถถ่วงดุลกันได้

 

7.2 บทบัญญัติมาตรา 260 วรรคสาม กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คปป.ที่ไม่จำกัด

 

7.3 อำนาจพิเศษคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ในบทเฉพาะกาลสร้างปัญหาความขัดแย้ง เป็นการสร้างวิกฤตมากกว่าการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤต

 

 

8. ระบบการตรวจสอบอำนาจทางการเมือง สร้างเงื่อนไข จนคนดีๆ ไม่อาจเข้าสู่ตำแหน่งได้ และจะเกิดการกลั่นแกล้งกันได้โดยง่าย และปปช.ถูกลดอำนาจ ตาม มาตรา 254

 

9. แนวทางการปฏิรูปประเทศ ควรบัญญัติไว้ในลักษณะของการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ จะยั่งยืนกว่า ที่ยกร่างไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

 

10. กระบวนการยุติธรรม การสร้างความเป็นธรรม ยังไม่เห็นมีระบบการแก้ปัญหาสองมาตรฐาน

 

11. ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญสร้างความมั่งคั่งดังที่กล่าวอ้าง

 

12. ตามบทเฉพะกาล ยังไม่อาจแก้ปัญหาประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

12.1 ในบทเฉพาะกาล ไม่มีบทบัญญัติให้มีการปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง

 

12.2 การกำหนดวันเลือกตั้ง ควรกำหนดให้รัฐบาล เป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.

 

12.3 เพื่อการปรองดอง ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาคดีทางการเมืองที่ผ่านมาให้มีความชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

13.ร่างรธน.มาตรา 276 วรรคสาม ได้บัญญัติให้มีบุคคลซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการ ในการพิจารณาร่าง พรบ.ต่างๆ เป็นการใช้อำนาจเหนือกว่าสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นการไม่ถูกต้อง

 

14. ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากส่งไปทำประชามติ ก็จะไม่ผ่านอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้กำหนดการนับคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิมาออกเสียง จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจผ่านได้ ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่าย 4-5 พันล้านบาท

 

15. สิ่งสำคัญคือในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเกิดความขัดแย้งจากฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อันจะทำให้เกิดมวลชนออกมาเผชิญหน้ากัน ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และอาจกลับสู่ภาวะการต่อสู้ของประชาชนแต่ละฝ่าย

 

ก็หวังว่าจะใช้วิจารณญาณ พิจารณากันเองน๊ะครับ.....

 

'ดำรงค์'เช็กเสียงสปช.ไม่รับร่าง ฟันธง 140 อัพ- ‘เอฟทีเอ ว็อทช์’ออกแถลงการณ์ต้านม.183

 

วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 09:05:14 น.

 

      เมื่อวันที่ 4 กันายน นายดำรงค์ พิเดช สปช. กล่าวถึง กระแสการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่า เท่าที่ตนทราบและมีการหารือกับหลายกลุ่ม เสียงส่วนใหญ่ไปทางไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยมีเสียงถึง 140 เสียงขึ้น มาจาก หลายฝ่าย โดยเฉพาะจาก สปช.สายจังหวัด สปช.ด้านท้องถิ่นและสปช.สายวิชาการและเสียงเห็นด้วยมีเพียง 100 เสียง มาจาก สปช.สายเศรษฐกิจและสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ อย่างไรฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาและเห็นแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์ มีข้อเสีย หากผ่านร่างรับธรรมนุญนี้ไปก็ต้องตกในชั้น ประชามติอยู่ดีเพราเห็นแล้วว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย อย่างไรก็ดีที่ระบุว่า มีการล็อบบี้เสียงนั้นไม่เป็นความจริง เพราะหากลงมติอย่างไร เราก็ต้องสิ้นสุดไป

 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่สปช. กำลงจะลงมติในวันที่ 6 กันยายนนี้ ว่า มาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมธิการยกร่างฯเผยแพร่เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา อาทิ การลดระดับการผ่านความเห็นชอบกรอบเจรจาจากรัฐสภาทั้งคณะเหลือเพียงแค่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่แม้จะระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภารวมอยู่ด้วยนั้นถือเป็นการถอยหลังในเชิงสาระสำคัญที่สุดเพราะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้นเมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันยาวนานมากกว่าชั่วอายุคนกรอบเจรจาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความรอบคอบในการเจรจาเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย

 

     ดังนั้น จึงไม่ควรผ่านแค่คณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้นแต่ยังจำเป็นที่จะต้องผ่านรัฐสภาด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเงื่อนเวลาที่ระบุให้พิจารณากรอบการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นเป็นการกำหนดที่เร่งรัดอย่างมากสุดท้ายคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภานี้ก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับตรายางเช่นเดียวกับที่กำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันทั้งที่ในหลายประเทศให้เวลาพิจารณาในขั้นตอนนี้ถึง6 เดือน  นอกจากนี้ ยังน่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ไม่สามารถทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญา

 

     เอฟทีเอ ว็อทช์ วิเคราะห์แล้วว่ามาตรา 183  ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อาจเป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง ดังนั้นหากสาระเช่นนี้ผ่านไปก็เท่ากับว่า สิ่งที่นัก(การเมืองด้อยคุณภาพ) กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่เคยพยายามทำลายธรรมาภิบาลในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศแต่ไม่เคยทำสำเร็จ การรัฐประหารครั้งนี้ได้มาช่วยทำให้สำเร็จแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!