WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

22นายพล

สปช.ทหาร นำคว่ำ'รธน.บวรศักดิ์'135-105 โต้ใบสั่งบิ๊กตู่-บิ๊กป้อม'ดร.ปื๊ด'เซ็ง-ลั่นลาขาด คสช.ตั้ง 21 อรหันต์ใหม่ เริ่มนับหนึ่ง-เม.ย.เสร็จ 'ปชป.-พท.'จี้-เป็นปชต.

      ร่างรธน.จอดป้าย สปช.คว่ำ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 สายทหารนำโหวตเอง คสช.เตรียมตั้ง 21 กมธ.ชุดใหม่ ประมาณเม.ย.ปีหน้าได้เห็นหน้าตารธน. "บวรศักดิ์"สาปส่งไม่ขอร่วมสังฆกรรมรธน.อีก "สิระ"โร่หอบเงินเดือน 1.7 ล้านคืน เหตุทำงานล้มเหลว รธน.แท้ง กลุ่มไม่รับยัน"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-คสช." ไม่มีใบสั่งฉีกร่างรธน. "เสรี"ชี้เหตุไม่รับหวั่นขัดแย้งลามในขั้นประชามติ ปชป.-เพื่อไทยจี้ร่างใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย นปช.แนะใช้ฉบับปี"40 "บิ๊กตู่"ลั่นใช้มาตรา 44 ถอดยศทักษิณไม่กลัวถูกฟ้อง

สปช.คึกคักลงมติร่างรธน.

วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9049 ข่าวสดรายวัน

กลับบ้าน - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรธน.เดินออกจากห้องประชุมสภา หลังสปช.มีมติคว่ำ 135 ต่อ 105 จากนี้ คสช. จะตั้งกมธ.ชุดใหม่ขึ้นมายกร่างรธน. เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

 

 

     เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนการประชุมบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก บรรดาสมาชิกต่างทยอยเดินทางมาอาคารรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการสนธิกำลังระหว่างทหารและตำรวจดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบรัฐสภา มีการปิดถนนอู่ทองใน และตรวจตรารถที่ผ่านเข้าออกรัฐสภา ซึ่งต้องมีสติ๊กเกอร์รัฐสภา และให้เปิดฝา กระโปรงท้ายตรวจสอบอย่างละเอียด

     ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้นัดกมธ.ยกร่างฯ ประมาณ 25 คน รวมตัวกันที่รัฐสภาในเวลา 07.00 น. เพื่อไปสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระสยามเทวาธิราช ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคล ขอพรให้ช่วยคุ้มครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข และบอกกล่าวว่าได้ปฏิบัติภารกิจการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ตอนเข้ารับตำแหน่ง โดยใช้เวลาสักการะประมาณ 10 นาที จึงเดินทางกลับมาที่รัฐสภา ซึ่งนายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางเข้าวัด ไปทำบุญ เพื่อทำให้มีความสุข ไม่ทุกข์

ถ่ายภาพหมู่อำลาตำแหน่ง

       ต่อมาเวลา 09.00 น. สมาชิกสปช.ทั้ง 247 คน ได้รวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อถ่ายรูปหมู่เป็นการอำลาตำแหน่ง เนื่องจากวันที่ 6 ก.ย. เป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสปช. โดยสมาชิกทุกคนได้ขึ้นไปยืนบนอัฒจันทร์ที่เตรียมไว้โดยใช้เวลาถ่ายรูปหมู่ประมาณ 15 นาที ท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุ ทำให้สมาชิกหลายคนถึงกับเหงื่อแตกท่วมหน้า ต้องเอาผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาคลุมศีรษะ และปาดเหงื่อกันหลายครั้งในระหว่างการรอถ่ายรูป ภายหลังการถ่ายรูปหมู่เสร็จ สมาชิกได้เดินเข้ามาหาหน่วยพยาบาล เพื่อขอยาดม และสำลีชุบแอมโมเนียกันเป็นจำนวนมาก

       นอกจากนี้ สมาชิกหลายคนนำของที่ระลึก อาทิ ปากกา ดินสอ การ์ด มาแจกให้เพื่อนสมาชิกเป็นที่ระลึกในโอกาสอำลาตำแหน่ง และจับมือ กล่าวคำร่ำลา พร้อมถ่ายรูปเซลฟี่ร่วมกันอย่างสนุกสนาน และหลายคนได้นำอุปกรณ์เครื่องไอแพดมาคืนให้กับสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากหมดหน้าที่แล้ว

ผลโหวตคว่ำ 135-105

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.15 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสปช. ครั้งที่ 67/2558 เป็นพิเศษ วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... โดยมีสปช.เข้าประชุมครบ 247 คน สำหรับวิธีการลงคะแนน นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการรัฐสภาในฐานะ ทำหน้าที่เลขาธิการสปช. จะขานชื่อสมาชิกสปช.เป็นรายคนโดยเรียงตามลำดับตัวอักษร เพื่อให้สมาชิกขานว่าให้ความเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิก สปช.จะไม่สามารถไม่ลงมติใดๆ ได้ โดยร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 124 เสียงขึ้นไป

       หลังใช้เวลาลงมติประมาณ 45 นาที ปรากฏว่ามี สปช.ให้ความเห็นชอบจำนวน 105 คน ไม่เห็นชอบ 135 คน และงดออกเสียง 7 คน จากนั้นนายเทียนฉายได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาในญัตติประเด็นคำถามเพิ่มเติมในการจัดทำประชามติที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และขอขอบคุณกมธ.ยกร่างฯ และสมาชิกสปช.ที่ร่วมทำงานกันมา ต่อจากนี้ไม่ต้องมาประชุมอีกแล้ว จึงขอปิดประชุมเป็นการถาวรในเวลา 11.10 น. ท่ามกลางเสียงปรบมือจากสมาชิกดังลั่นห้องประชุม

เปิดชื่อสมาชิกไม่เห็นชอบ

     สำหรับ รายชื่อสมาชิกสปช.เสียงข้างมากที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 135 คน ประกอบด้วย นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด นายกาศพล แก้วประพาฬ นายกิตติ โกสินสกุล นายกมล รอดคล้าย นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล นางกอบแก้ว จันทร์ดี นายกิตติภณ ทุ่งกลาง นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายเกษมสันต์ จิณณวาโส นายโกเมศ แดงทองดี นายโกวิทย์ ทรงคุณ นายโกวิท ศรีไพโรจน์ พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร นายคณิศร ขุริรัง นายคุรุจิต นาครทรรพ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นายจรูญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ พล.อ.จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ นายเจน นำชัยศิริ นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ พล.อ.อ.เจษฎา วิจารณ์ นายจำลอง โพธิ์สุข นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ

สายจังหวัด-การเมืองเพียบ

       นายชัย ชิดชอบ นายชัยพร ทองประเสริฐ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชาลี เอียดสกุล พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายชิตชัย จิวะตุวินันท์ พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก นายดิเรก ถึงฝั่ง นายดำรงค์ พิเดช นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ พล.ท.เดชา ปุญญบาล นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล นางตรึงใจ บูรณสมภพ นางเตือนใจ สินธุวณิก นายถาวร เฉิดพันธุ์ นายทิวา การกระสัง นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

       นายธวัช สุวุฒิกุล พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร นายธวัชชัย อุ่ยพานิช นายธำรง อัศวสุธีรกุล นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด นายนิคม มากรุ่งแจ้ง นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายนิมิต สิทธิไตรย์ นายนิรันดร์ พันทรกิจ นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง นายนำชัย กฤษณาสกุล นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายประทวน สุทธิอำนวยเดช นางประภาศรี สุฉันทบุตร

นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ นายประเสริฐ ชิตพงศ์ นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ นายปรีชา บุตรศรี พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ นายเปรื่อง จันดา นายพนา ทองมีอาคม นายพรชัย มุ่งเจริญพร นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางพรรณวีรินทร์ รัตนวานิช พล.อ.พอพล มณีรินทร์ นายเพิ่มศักดิ์ เชื้อชาติ นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา นายไพโรจน์ พรหมสาส์น นาวาอากาศเอก ไพศาล จันทรพิทักษ์ นางภัทรียา สุมะโน

ตำรวจ-ทหารชักแถวไม่รับ

      พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร นายมนู เลียวไพโรจน์ นายมนูญ ศิริวรรณ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา พล.อ.วัฒนา สรรพานิช นายวันชัย สอนศิริ นายวัลลภ พริ้งพงษ์ นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นาย สมเกียรติ ชอบผล นายสมเดช นิลพันธุ์

       นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ นายสยุมพร ลิ่มไทย นายสรณะ เทพเนาว์ พ.อ.สิรวิชญ์ นาคทอง นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ นายสุชาติ นวกวงษ์ นายสุพร สุวรรณโชติ พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ นายสุวัช สิงหพันธุ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ นายอนันตชัย คุณานันทกุล พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ นางอัญชลี ชวนิชย์ พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายเอกราช ช่างเหลา

สายสังคม-เศรษฐกิจหนุนอื้อ

       ส่วนสมาชิกสปช.ที่ให้ความเห็นชอบ 105 คน ประกอบด้วย นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ นายกงกฤช หิรัญกิจ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นายเกริกไกร จีระแพทย์ นายไกรราศ แก้วดี นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ นายเขมทัต สุคนธสิงห์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายจรัส สุทธิกุลบุตร นายจรัส สุวรรณมาลา นายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

นางจุรี วิจิตรวาทการ นายจุมพล รอดคำดี นายจุมพล สุขมั่นนางชัชนาถ เทพธรานนท์ นายชาลี เจริญสุข นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายชูชาติ อินสว่าง นายเชิดชัย วงศ์เสรี นายเชื้อ ฮั่นจินดา นางฑิฆัมพร กองสอน นายณรงค์ พุทธิชีวิน นายณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร นายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นายดุสิต เครืองาม นางถวิลวดี บุรีกุล นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ นายธวัชชัย ยงกิตติกุล นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ

กมธ.ยกมือพรึ่บ-งดออกเสียง 7

      นางนรีวรรณ จินตกานนท์ นายนิพนธ์ คำพา นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นางเบญจวรรณ สร่างนิทร นายประชา เตรัตน์ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด นางประภาภัทร นิยม นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายปรีชา เถาทอง นายปิยะวัติ บุญ-หลง นางผาณิต นิติทัณฑ์ ประภาศ นายพงศ์โพยม วาศภูติ นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช

      นางพรรณี จารุสมบัติ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นายพลเดช ปิ่นประทีป พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นางพันธุ์ทิพย์ สายสุนทร นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายมานิจ สุขสมจิตร นายมีชัย วีระไวทยะ นางสาวรสนา โตสิตระกูล พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวรรณชัย บุญบำรุง นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายวิทยา กุลสมบูรณ์ นายวินัย ดะห์ลัน นายวิบูลย์ คูหิรัญ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายวุฒิสาร ตันไชย

นายศานิตย์ นาคสุขศรี นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายสมชัย ฤชุพันธ์ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นายสิระ เจนจาคะ นางสีลาภรณ์ บัวสาย นางสุกัญญา สุดบรรทัด นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม นางสาวสุภัทรา นาคะผิว นายสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย นายอลงกรณ์ พลบุตร นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายอุดม ทุมโฆสิต นางอุบล หลิมสกุล และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

งดออกเสียง7-"บิ๊กนาวิน"ด้วย

      ส่วนสมาชิกสปช.ที่งดออกเสียงจำนวน 7 คน ประกอบด้วย นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นางสาวทัศนา บุญทอง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ นายอำพล จินดาวัฒนะ และพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสปช.ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบด้วย สปช.สายตำรวจและทหารกว่า 30 เสียง สปช.สายจังหวัดประมาณ 60 เสียง และสปช.สายวิชาการ สายกฎหมาย สายการเมือง อีก 30 กว่าเสียง ขณะที่กลุ่มสปช.ที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เป็นสปช.สายสังคม เศรษฐกิจ สายวิชาการบางส่วน ขณะที่กมธ. ยกร่างฯ ทั้ง 21 คน ได้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน มีเพียง 1 คนที่งดออกเสียงคือ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์

อดีตผู้ว่าฯ เปลี่ยนใจโค้งท้าย

        รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ผลการลงมติคว่ำร่างของรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกระแสข่าว โดยสปช.ฝ่ายไม่เห็นชอบที่นำโดยสปช.สายจังหวัด ระบุว่า ตัวเลขก่อนการลงมติตอนแรก คือ จะมีเสียงลงมติไม่เห็นชอบ 132 เสียง แต่ตอนลงคะแนนจริงกลับได้เพิ่มมา 3 เสียง จากสปช.ที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด จนรวมเป็น 135 เสียง

ขณะที่คะแนนงดออกเสียงก็เกินความคาดหมาย จากตอนแรกประเมินไว้ว่า 4 ราย โดยมาจาก ประธาน รองประธาน และพล.ท.นาวิน ที่แจ้งข้อมูลตั้งแต่แรกแล้วว่า อาจจะไม่มาประชุม เนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายก็มาประชุมและงดออกเสียง ส่วนอีก 3 รายที่เพิ่มเข้ามาเป็นสมาชิกสปช.ที่คิดว่าจะรับแต่เมื่อเห็นคะแนนไม่รับทิ้งห่างไปแล้ว จึงรักษาน้ำใจของเสียงทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการงดออกเสียง

อ.ปื๊ดชม 3 กมธ.ทหาร

         นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร ตนได้ตอบไปว่าโล่งใจ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องไปอธิบายสาระสำคัญในการทำประชามติ ไม่ต้องไปทำกฎหมายลูก ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง ต่อไปนี้ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคสช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนที่คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง

       "อดีตกมธ.ยกร่างฯต้องขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามการทำงานของยกร่างฯมาตลอดและขอขอบคุณสปช.ที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบทั้ง 105 ท่าน โดยเฉพาะต้องขอบคุณพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช และพล.ท.นคร สุขประเสริฐ ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความตั้งใจ ด้วยความจริงใจ โดยเอาปัญหาของบ้านเมือง ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นตัวตั้งตามคำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราช ไม่ได้เอาปัญหาของตัวเราเองเป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นแบบนี้ถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ที่สุด" นายบวรศักดิ์กล่าว

      ต่อข้อถามว่าเหตุใดถึงขอบคุณนายทหารทั้ง 3 คนเหมือนเปรียบเทียบกับนายทหารที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าต้องขอบคุณทั้ง 3 ท่าน ส่วนคนอื่นท่านก็ต้องฟังผู้ใหญ่ของท่าน เป็นธรรมดาและธรรมชาติ ขนาดกมธ.ยกร่างฯ 1 คน ซึ่งเป็นพล.อ.หมาดๆ ยังงดออกเสียงเลย เพราะท่านต้องอยู่ในราชการต่อไป ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ

ไม่หวนร่างรัฐธรรมนูญอีก

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าหากถูกทาบทามให้ทำหน้าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มาอีก นายบวรศักดิ์กล่าวว่ายังยืนยันเหมือนเดิมว่าตนจะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เพราะเสียดายสิ่งที่เขียนเอาไว้ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ก็หมดไป และเสียดายเรื่องการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะถึงประชาชนโดยตรง แต่น่าเห็นใจเพราะประชาชนเป็นคนไม่มีเสียง เสียงที่อยู่ในสื่อมวลชนของประเทศไทยนั้นเป็นเสียงที่ดังของนักการเมืองทั้งสิ้น แต่เข้าใจว่าพวกเราในฐานะประชาชนก็ต้องพยายามติดตามดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาคิดถึงประชาชนขนาดไหน ประชาชนจะเป็นใหญ่และมีความสำคัญหรือไม่ และการปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องจับตามอง

        ต่อข้อถามว่า จากผลการลงมติที่ไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเกิดจากการล็อบบี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าไม่ขอพูด เพราะเรื่องมันผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว เมื่อถามว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเหมือนกับกมธ.ยกร่างฯถูกหลอกเป็นเครื่องมือหรือตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์การเมืองในขณะนี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ได้นำพระสมเด็จหลวงปู่ดี ธมมธิโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯมาแจกสื่อมวลชนด้วย เมื่อสอบถามว่าเป็นพระรุ่นอะไร นายบวรศักดิ์ตอบแบบติดตลกว่า รุ่นไม่รับร่าง

คาดเม.ย.ปีหน้าเห็นฉบับใหม่

       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่าสมาชิกสปช.ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าสถานการณ์ยังมีความขัดแย้ง และเศรษฐกิจยังมีปัญหา จึงเห็นว่าควรไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้งและเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนก่อน ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 เดือนซึ่งจะเสร็จประมาณเดือนเม.ย.2559 และกลับเข้าสู่กระบวนการประชามติ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาเป็นหลักในการพิจารณาและปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่มีปัญหา

นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสปช.ไม่ได้อยู่ที่การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) เพราะมีสปช.บางคนเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับคปป. แต่อาจเป็นเรื่องเนื้อหาในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนมีอิสระในการลงมติ การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับกรณีที่พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯใช้สิทธิงดออกเสียง ถือเป็นเอกสิทธิส่วนตัวในฐานะเป็นสมาชิกสปช. เพราะกมธ.ยกร่างฯ มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในบางประเด็น

บิ๊กนาวินปัดทำตามใบสั่งคสช.

      พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สปช. ในฐานะกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า ส่วนตัวงดออกเสียง เนื่องจากก่อนวันลงมติพบว่าคะแนนเสียงทั้ง 2 ฝ่ายจะออกมาสูสี และแกว่งพอสมควรทำให้คิดว่าถ้างดออกเสียงน่าจะทำให้เห็นเจตนารมณ์ของผลคะแนนที่ออกมาอย่างชัดเจน โดยยืนยันการงดออกเสียงไม่ได้มีใบสั่งหรือสัญญาณจากคสช.ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

      อีกทั้ง เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 285 มาตรา ที่ได้ยกร่างมานั้นมีหลายมาตราที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะตั้งขึ้นใหม่ จะนำหลายมาตราไปเป็นข้อมูลได้ ขณะเดียวกันคนร่างต้องรับฟังเสียงติชมจากคนอื่นด้วย เพราะมีสมาชิกหลายคนบอกถึงจุดที่ไม่เห็นชอบก็ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่ยืนยันเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้น่าเกลียดทั้งฉบับ

"สิระ"คืนเงินเดือน-อัดฉบับปาหี่

       นายสิระ เจนจาคะ สปช. กล่าวว่า ตนเคยประกาศไว้ว่าจะคืนเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากการทำหน้าที่ สปช. หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่วันนี้ไม่ได้เอาเงินมาเพราะไม่อยากถือกลับเพราะคิดว่าผ่าน ดังนั้นเมื่อร่างไม่ผ่านตนจะนำเงินมาคืนในวันที่ 7 ก.ย. สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราร่วมกันคิด ร่วมกันทำมาทั้ง 240 กว่าคน ใช้งบประมาณแผ่นดินกว่า 1,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายกลับล็อบบี้กันอย่างโจ๋งครึ่ม มีการอ้างผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้ จนนำไปสู่การคว่ำรัฐธรรมนูญ กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปาหี่ รัฐธรรมนูญ 1,000 ล้านบาท กลายเป็นเศษกระดาษ ดังนั้นขอให้คนที่โหวตคว่ำโชว์สปิริตคืนเงินเดือนเช่นเดียวกับตน จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ และช่วยจดชื่อคนที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคนที่ทำงานล้มเหลว อย่าให้เข้าไปนั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อทำงานได้อีก

      ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรเป็นเป้าหมายที่ทำให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายสิระกล่าวว่า 1.ประกาศคว่ำก่อนยกร่าง 2.เชื่อว่าเนื้อหาดีแต่กลัวว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง 3.มี 2 สปช.อ้างผู้ใหญ่ล็อบบี้ และ 4.หมั่นไส้กมธ.ยกร่างฯ เมื่อถามว่ามีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่ นายสิระกล่าวว่า ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่มีการล็อบบี้จริง โดยเมื่อคืนมีการล็อบบี้กันอย่างรุนแรงมาก

"วันชัย"ยัน2บิ๊กไม่เกี่ยว

      นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวว่า จากคะแนนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 135 เสียง และงดออกเสียงถึง 7 เสียง ทั้งหมดถือว่าเป็นไปตามแผนของคณะทำงานของตนซึ่งมีกัน 5 คน เพราะหลังจากที่ได้พิจารณาเนื้อหาร่วมกันแล้ว เห็นว่ามีปัญหาหากปล่อยให้ผ่านจนไปถึงขั้นตอนการทำประชามติ จะมีโอกาสทำให้เกิดความขัดแย้งสูง คณะทำงานจึงเห็นพ้องว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมี สปช.สายอื่นๆ ที่เห็นพ้องต้องกัน โดยช่วง 7 วัน ก่อนการลงมติ ก็มีคนเห็นด้วยกว่า 35 คน ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรผ่าน

       "ยืนยันว่าการโหวตครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ไม่ได้สั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ไม่ได้บอก และคสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เป็นความเห็นพ้องของ สปช.ว่าไม่ควรนำร่างไปสู่การทำประชามติจนกว่าร่างจะดีและเหมาะสม" นายวันชัยกล่าว

ระบุคปป.เป็นเนื้อร้าย

       "เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทำให้โครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา ตั้งแต่เรื่องของระบบการเลือกตั้งส.ส. ที่มาส.ว. ที่มานายกฯ และที่สำคัญที่สุด คือ คปป.ที่เป็นเนื้อร้าย เป็นพิษอย่างฉกาจฉกรรจ์ ดังนั้น หลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องปรับปรุง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการทำประชามติ และจำนวนการออกเสียงประชามติที่ต้องใช้มากถึง 24 ล้านเสียงซึ่งยากมาก ขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการร่างใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้" นายวันชัยกล่าว

       ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจมี คปป.อยู่ นายวันชัยกล่าวว่า อาจมีแต่ต้องปรับบางเรื่อง เช่นเรื่องการปฏิรูปที่ควรแยกส่วนกับเรื่องการปรองดอง ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ให้คว่ำร่างเพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ นายวันชัยกล่าวว่า ตนสาบานได้เลยว่าไม่เคยมีใครมาติดต่อ รวมทั้งถ้าคว่ำร่างแล้วจะได้เข้าเป็นไปสภาขับเคลื่อนฯ แต่ถ้าเชิญก็รับแน่นอน เพราะได้เข้าไปทำประโยชน์เพื่อประเทศ เมื่อถามว่าจะคืนค่าตอบแทนหรือเงินเดือนเหมือนนายสิระ หรือไม่ นายวันชัยปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายวันชัยให้สัมภาษณ์อยู่นั้น นายสิระได้เดินเข้ามา กลางวง พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับนายวันชัยที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสปช. ต้องสูญเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้นายวันชัยเดินหนีออกจากวงสัมภาษณ์ทันที

"เสรี"ชี้ปมฉีกร่างรธน.

        ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวประเมินว่าสาเหตุที่สมาชิก สปช. 135 คน ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบเลือกตั้งส.ส.ที่นำระบบสัดส่วนผสมมาใช้ ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร อาจก่อให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองอีก เช่นเดียวกับการให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. ที่จะส่งผลให้นายกฯ จากคนนอกไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องบริหารผลประโยชน์ในสภา และคปป.ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง และ 2.สถานการณ์ภายนอก โดยต้องยอมรับว่าเวลานี้มีกลุ่มคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากปล่อยให้ทำประชามติอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างได้อีก

      "ในเมื่อโอกาสที่จะทำประชามติให้ผ่านเป็นไปได้ยาก เมื่อเห็นว่าข้างหน้าเป็นเหว แล้วยังจะกระโดดลงไปอีกหรือ และการที่สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นการตบหน้ากมธ.ยกร่างฯ แต่อย่างใด เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ เปรียบเหมือนกับกมธ.ยกร่างฯ เป็นพ่อครัวทำอาหารมาให้สปช.ชิม เมื่อไม่อร่อยจะให้บอกว่าผ่านคงไม่ได้" นายเสรีกล่าว

เผยโหวตโนต่ำเป้า 5 เสียง

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช.ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าคะแนนที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 135 เสียง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 5 เสียง เชื่อว่าสาเหตุที่สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยมาจากการหารือและเปลี่ยนข้อมูลในข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการล็อบบี้ สำหรับกรณีที่มีการอ้างว่าให้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับตำแหน่งสภาขับเคลื่อนฯนั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

      นายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ผลการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เพราะสปช.ต้องช่วยกันคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งในชั้นการทำประชามติ ที่ 2 พรรคใหญ่ต่างประกาศชัดว่าไม่เห็นด้วย ทั้งยังไม่ต้องเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์กว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าสปช.ที่โหวตคว่ำเพื่อแลกตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนฯนั้น เป็นการเล่นการเมืองของฝ่ายที่ลงมติเห็นชอบคอยใส่ร้าย แล้วพาลเมื่อทราบว่าผลการลงมติจะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้แน่นอน

"บิ๊กป๊อก"วอนปชช.เข้าใจ

       ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีการเคลื่อนไหวในภาคส่วนท้องถิ่นภายหลังสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ตามกฎหมายหากกมธ.ยกร่างฯได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องไปขอความเห็นชอบจากสปช.หากสปช.เห็นว่าผ่านก็คือผ่าน ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน แสดงว่ามี 2 หนทางให้เลือก ออกมาอย่างไรสังคมต้องยอมรับและอยู่ตามนี้ จากนั้นจะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามโรดแม็ป หวังว่าประชาชนจะเข้าใจและปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้าประเทศต่อไป ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งการใดๆ เป็นพิเศษเพราะประชาชนรู้อยู่แล้วว่าหลักการพิจารณาเป็นอย่างไร

       ผู้สื่อข่าวถามว่าอาจมีฝ่ายการเมืองที่ไม่ยอมรับการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การปลุกมวลชนจะมีการใช้กลไกของท้องถิ่นเข้ามาดูแลหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวสั้นๆ ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่า "ไม่มี ผมบอกแล้วไงว่าไม่มี ที่ผมไม่พูดเพราะไม่อยากให้ไปเขียนนำอะไร ประเทศชาติจะเสียหาย ผมอธิบายไปแล้วว่าเข้าไปก็ต้องมี 2 หนทาง หากผลออกมาทางไหนสื่อก็ถามอยู่ดี"

กกต.พับแผนประชามติ

      นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกล่าวว่า เมื่อสมาชิกสปช.ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ การดำเนินการเรื่องร่างประกาศและระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการทำประชามติของสำนักงานกกต. จึงต้องหยุดไว้ก่อน รอจนกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จจนไปถึงการทำประชามติ เนื่องจากประกาศทำประชามติของกกต.ดังกล่าว ได้อิงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 หากการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการไปถึงขั้นตอนประชามติในครั้งหน้าแล้วรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ไม่มีการแก้ไข กกต.สามารถใช้ประกาศตัวเดิมเพื่อจัดทำประชามติได้เลย จึงถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสำนักงานกกต. อีกทั้งโรงพิมพ์ที่เตรียมพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญหรือเนื้อหาสาระเพื่อแจกจ่ายประชาชนก็ไม่เป็นปัญหา เพราะยังไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างแต่อย่างใด

      อย่างไรก็ตาม แม้มีการระบุว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่จะยึดตามกรอบร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น แต่เชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะมีการนำประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง อาทิ นายกฯคนนอก ที่มาส.ว. คปป. หรืออำนาจการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาพิจารณาทบทวนแก้ไข เพราะเห็นว่าหากไม่มีการปรับแก้ในประเด็นขัดแย้งดังกล่าวเท่ากับว่าหลักการใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญยังคงเดิมและอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับ

"มาร์ค"แนะปรับปรุงเนื้อหา

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva หลังสปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า "ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้โอกาสนี้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การปฏิรูป เก็บสิ่งที่ดีไว้และแก้ไขจุดอ่อน"

      นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.นั้น ถือเป็นดุลพินิจของสปช.เสียงข้างมาก ที่เห็นว่ายังไม่ควรที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปสู่การทำประชามติของประชาชน และคงไม่สามารถไปคาดเดาสปช.แต่ละคนได้ ซึ่งแต่ละคนคงมีดุลยพินิจพิจารณารอบคอบแล้ว คงเห็นว่าหากไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปในชั้นสปช.น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ส่วนจะมีการล็อบบี้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าสปช.แต่ละคนมีวุฒิภาวะ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถคงไม่ตัดสินใจ เพราะเสียงรอบข้าง คงตัดสินใจบนพื้นฐานของตัวเองมากกว่า ที่จะไปอยู่ภายใต้การชี้นำของใคร

"เทพเทือก"ปลุกใจมวลชน

      นายองอาจกล่าวต่อว่า เชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนคงนำข้อดี ข้อด้อย ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนำเสียงวิจารณ์ เสียงติชมไปพิจารณาหรืออาจจะนำเสนออะไรที่ใหม่ และเป็นประโยชน์มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคปป.จะยังคงมีอยู่หรือไม่ก็ให้เป็น ดุลพินิจของคณะกรรมการ

      ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โฟสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอส่งกำลังใจถึงพี่น้องประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินทุกท่าน เราได้แสดงเจตนารมณ์แทนพี่น้อง มวลมหาประชาชนว่าเราต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกควํ่าไปเสียแล้ว พวกเราก็อย่าเสียกำลังใจขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศให้จงได้ สุขุม หนักแน่น เอาไว้

"เสี่ยอ้วน"หวังได้ฉบับที่ดีกว่า

     ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความผ่าน ทวิตเตอร์ส่วนตัว @phumtham ว่าในที่สุดผลการลงมติของสปช.ก็คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับสารพัดปัญหา ข้ามหัวประชาชน" เป็นไปตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม ถือเป็นโชคดีของประเทศและระบอบประชาธิปไตยไทยขั้นต้น ต้องขอบคุณตัวแทนสปช.ทั้ง 135 ท่านที่รับฟังเสียงฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง และขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการระงับยับยั้งในครั้งนี้ ถือว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยกันระงับเหตุอันจะนำไปสู่ปัญหาและความขัดแย้งในอนาคตให้ยุติลงได้ขั้นหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดต้องถือว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยบรรเทาผลร้าย และผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถือว่าท่านตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะหลีกเลี่ยงผลเสียหาย

      นายภูมิธรรมทวีตว่า เชื่อว่าจากบทเรียนครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนี้ จะไม่ผลิตรัฐธรรมนูญที่แย่หรือไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ล้มไป ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานกมธ.ยกร่างฯและคณะที่เอาการเอางาน ช่วยกันผลักดันสิ่งแปลกปลอมที่เป็นผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย ควรแสดงความรับผิดชอบให้ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไรก็เป็นเรื่องของตัวท่านเอง ไม่ใช่เรื่องที่พวกเราใส่ใจมากนัก แต่ที่สำคัญถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้รู้ว่า ไม่ว่าทำสิ่งใด ถ้าไม่ยึดถือหลักเกณฑ์และกติกาที่ถูกต้องโดยพยายามรับฟังและประสานประโยชน์ทุกฝ่าย ก็ไม่สามารถผ่านการยอมรับไปได้ และหวังว่าเดือนเม.ย.2559 เราจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ดีกว่าที่ถูกคว่ำไป และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อผลักดันและรับมือกับปัญหาที่กำลังรุนแรงอยู่

21 อรหันต์ต้องเป็นกลาง

       นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตามรัฐธรรมชั่วคราว คสช.ต้องตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 21 คน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 180 วันเสร็จแล้วไปประชามติ ปัญหาใหญ่คือจะเอาใครมาใน 21 คน และใน 21 คนนี้มีแนวทางอย่างไรรัฐธรรมนูญคงออกมาแบบนั้น อาจจะดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเดิม ถ้าแย่กว่าเดิมหรือแบบเดิมคงไม่ผ่านประชามติอีก การเลือกตั้งคงเลื่อนไปอีก ดังนั้น 21 คนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของทางเดินของประเทศ มีข้อเสนอว่าควรคัดสรรบุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองจริงๆ และควรมีทางเลือกให้ประชาชนว่าหากไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้บังคับ เพื่อป้องกันกรณีไม่ผ่านร่างใหม่วนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

       นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในบริบทต่อไปการทำงานของรัฐบาลในอนาคตบวกกับทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นไปอาจเป็นตัวชี้ทิศทางการเมืองใน 6 เดือน และอาจพลิกผันไม่เป็นไปตามโรดแม็ปก็ได้ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2557 แก้ง่ายจะตายไป สำหรับพวกเราการมีรัฐธรรมนูญที่ดีเป็นประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งเร็วขอเลือกอย่างแรก ถ้าถามว่าเกิดร่างมาไม่ดีแล้วไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องวนเวียนเป็นวัฏจักรยืดออกไปอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่รู้ว่าความรู้สึกของประชาชนตอนนั้นจะคิดอย่างไร จึงเสนอว่าควรมีทางเลือกให้ประชาชนถ้าไม่ผ่านให้เอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ เสนอว่านำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากนั้นจัดให้มีการตั้งส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็อาจเป็นทางออกของประเทศได้

นปช.จี้ใช้รธน.ปี"40 ทันที

      ด้านแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ว่า กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญที่ตั้งกันเอง ร่างกันเอง และคว่ำกันเองนี้ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่กระบวนการประชามติอีกต่อไป การกล่าวอ้างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ยิ่งมิอาจยอมรับได้ เพราะแท้จริงแล้วเป็นการใช้อำนาจ รัฏฐาธิปัตย์กำหนดแนวทางขึ้นบังคับใช้ให้ประเทศไทยเดินตาม หาใช่กฎหมายสูงสุดที่ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากกระบวนการนี้

      ขอยืนยันว่าต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพราะประชาธิปไตยเป็นหลักสากล แต่เมื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้หลักแห่งบุคคล และยึดความต้องการของผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นสำคัญจึงไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งส่งผล กระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นควรเป็นความรับผิดชอบของบุคคลใด ขอเรียกร้องการแสดงออกซึ่งสำนึกนี้จากทั้งผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย

       ทั้งนี้ เมื่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวไร้ความชอบธรรม จึงขอเสนอให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยทันที เพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยและให้กลไกรัฐที่มาจากประชาชนจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปต่อไป

กลุ่มปชต.ใหม่ฉะตบตาปชช.

       เวลา 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า วันนี้ระบอบคสช.มีความพยายามในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่บรรดาผู้สนับสนุนการปฏิรูปทั้งหลายเชื่อว่าจะนำพาประเทศหลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งกลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยและสมานฉันท์ได้ แต่สปช.กลับลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เมื่อพิจารณาแล้วกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเล่นละครตบตาประชาชนเท่านั้น และการที่สปช.ลงมติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงละครทางการเมืองเพียงฉากหนึ่ง คสช.กลัวว่าผลการลงประชามติจะไม่เป็นคุณแก่ตนเอง จึงเลือกที่จะต้องคว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อยืดอายุการครองอำนาจของตนเองต่อไป เราจึงยังต้องทนเห็นสิ่งเดิมๆ ที่เราเห็นมาแล้วตามระยะเวลาดังกล่าว

      จากความล้มเหลวที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าคสช.ได้สูญเสียความชอบธรรมในการปกครองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ล้มเหลว การไม่ทำตามสัญญาที่ตนกล่าวอ้างไว้ว่าจะใช้เวลาเพียงไม่นาน อันเป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนทั้งสิ้น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจและขอเรียกร้องให้คสช.แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศที่ล้มเหลวในทุกๆ ด้าน หากไม่เป็นเช่นนั้น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะรณรงค์ต่อสู้กับคสช.ให้ถึงที่สุด เพื่อคืนความเป็นธรรมให้สังคมต่อไป

สื่อนอกตีข่าวครึกโครม

       วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายใหญ่ ไม่ว่า เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี รายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย กรณีสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 ส่วนใหญ่ต่างพาดหัวข่าวคล้ายกันว่า จากการที่ร่างไม่ผ่านครั้งนี้จะมีผลทำให้การเลือกตั้งของไทยต้องล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับการปกครองของรัฐบาลทหารที่จะขยายเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอร่างใหม่เสร็จสิ้น

     โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานวิเคราะห์ว่า การลงมติครั้งนี้เสียงไม่เห็นชอบทิ้งห่างชัดเจนหลังจากเจรจาล็อบบี้ในนาทีท้าย ผลที่ออกมานี้ค่อนข้างทำให้เหล่านักวิเคราะห์วิจารณ์สบายใจ เพราะร่างที่ไม่ผ่านนั้นเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้าแทรกแซง ทำให้พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ จนไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่มีข้อรับประกันด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ หรือแม้กระทั่งจะผ่านการลงประชามติหรือไม่ ดังนั้นการฟื้นฟูรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยจะลากยาวออกไป โดยไม่เห็นภาพสิ้นสุดที่ชัดเจน และตราบใดที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลทหารจะยังมีอำนาจต่อไป การเลือกตั้งจากเดิมที่ประเมินกันไว้ว่าจะมีในปี 2559 อาจจะเลื่อนออกไปถึงปี 2560

      ด้านแกรนต์ เพ็ก จากสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปนี้ถูกวิจารณ์จากเกือบจะทุกฝ่ายว่า เสียงที่จะไม่ผ่านในการลงประชามติที่เดิมวางไว้ว่าจะมีต้นปีหน้า บทบัญญัติในร่างชัดเจนว่ามุ่งขัดขวางการ กลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรที่ถูกรัฐประหารไปตั้งแต่ปี 2549 ท่ามกลางความแตกร้าวในสังคมไทย ซึ่งตามความเห็นของนายจาตุรนต์ ฉายแสง แม้ว่าการตีตกร่างนี้จะทำให้การฟื้นฟูประชาธิปไตยล่าช้าออกไป แต่ถือว่ายังดีกว่าการมีเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย

"บิ๊กตู่"ชี้เป็นไปตามรธน.

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.กล่าวว่า หลังสปช.โหวตไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญการดำเนินการต่อไป คงเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือคสช.แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 21 คนภายใน 30 วัน โดยคณะกรรมการยกร่างชุดใหม่จัดทำร่างภายใน 180 วัน จากนั้นเป็นขั้นตอนทำประชามติภายใน 45 วัน

       "หัวหน้าคสช.ขอแสดงความขอบคุณสปช. กมธ.ยกร่างฯ ทุกคน ไม่ว่าผลจะออกมาจะเป็นอย่างไร คงไม่สามารถยอมให้ฝ่ายใดนำไปเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งได้ สำหรับผลงานของกมธ.ยกร่างฯ สปช. คงจะได้นำไปให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่นำไปศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไป จากนี้ไปด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ หวังว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ อยากให้สังคมและประชาชนได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดในทุกๆ เรื่องอย่างถ่องแท้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง" พ.อ.วินธัยกล่าว

ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวปฏิเสธแสดงความคิดเห็นก่อนจะทราบผลลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ผลการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนไว้

ลั่นไม่กลัววุ่นถอดยศแม้ว

      พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวถอดยศพ.ต.ท.ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า เพื่อเป็นการลดพระราชภาระ ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหลังจากนี้มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าจะเกิดเหตุอะไรถ้าใครทำวุ่นวายก็ติดคุก เมื่อถามว่า ถ้านายทักษิณฟ้องกลับจะต้องรับมืออย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าจะฟ้องใคร ฟ้องที่ไหน รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอะไรที่ตนสั่งการตามมาตรา 44 ถือเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย

       พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ตอบข้อถามว่าการถอดยศนายทักษิณจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ว่า "คุณถามผมหรือถามใคร ผมไม่เคยกลัวใคร นี่คือกฎหมาย แล้วคุณไม่ทำได้ไหม ถามว่าที่ทำนั้นถูกหรือผิด ถ้าทำถูกแล้วจะกลัวอะไร ถ้าคสช.ทำผิดก็อยู่ไม่ได้ และหากคนที่ออกมาต่อต้านจะใช้เหตุผลอะไรในการต่อต้าน และเรื่องที่มันเกิดขึ้นมาก่อน 22 พ.ค.2557 หรือไม่ มันเป็นเรื่องดั้งเดิม 5-6 ปีมาแล้ว และเกิดในยุคที่เราต้องปฏิบัติต่อจากคราวที่แล้ว ทำไมตนต้องไปกลัวม็อบบ้าบอคอแตกอะไร เขาไม่เข้าใจคุณต้องลงไปบอกเขา คุณเรียกร้องกันไม่ใช่หรือว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายต้องทำให้เท่าเทียมกัน บ้านเราไม่มีขื่อไม่มีแปมานานแล้ว ตนไม่กลัวหรอกเพราะตนทำถูก ถ้าทำผิดก็จะกลัวประชาชนมากกว่า"

ป้องกันคนไม่ดีดึงฟ้าต่ำ

     ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีที่ได้แถลงข่าวไปว่านำเรื่องถอดยศนายทักษิณขึ้นทูลเกล้าฯ ไปก่อนหน้านี้ ว่านายกฯได้ทบทวนเรื่องการถอดยศก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อป้องกันกรณีคนไม่ดีดึงฟ้าลงต่ำ ซึ่งนายกฯได้คิดให้รอบคอบโดยต้องรับผิดชอบเรื่องการปกป้องสถาบันในการถูกนำไปพาดพิงในทางมิบังควร

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า นายทักษิณมีเกียรติภูมิและมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในทางสากลและโลก มากเกินกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มากแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ต้องคิดให้มากกว่านี้ คือถ้าอยากเห็นการร่วมมือกันช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาของชาติให้เกิดขึ้น ควรเริ่มต้นทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกต้องการร่วมมือกันและมุ่งอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่และเท่าเทียม นายทักษิณเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ศักยภาพและความสามารถของท่านอยู่ในหัวใจของคนจำนวนมาก สิ่งที่ทำกับนายทักษิณไม่เกิดประโยชน์อะไร ถอดดร.ทักษิณออกจากยศได้ แต่ไม่สามารถถอดดร.ทักษิณออกจากหัวใจคนได้

ตั้งกก.ร่างรธน.ชุดใหม่ 21 คน

       หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจำนวนไม่เกิน 21 คน ภายใน 30 วันนับจาก สปช.สิ้นสุดลง เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นของคสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน ประกอบด้วย

      เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้แจ้ง ครม.ทราบ และให้ ครม.แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ กกต.ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสนช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

      นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศจำนวน 200 คน ภายใน 30 วันนับจากสปช.สิ้นสุดลงเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆแทนสปช.ด้วย

 

 

22 นายพลโหวตคว่ำ ไม่รับ'รธน.''อจ.ปื๊ด'เหน็บสายทหาร บางคนเป็นพล.อ.หมาดๆต้องอยู่ยาว

มติชนออนไลน์ :

@ เปิดชื่อ 22 นายพลโหวตคว่ำ
     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับนายทหารระดับนายพลลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จาก สปช.ลงมติไม่รับร่างรธน. 135 คน มีทั้งสิ้น 22 คน ได้แก่ 1.พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา สปช.จ.อุดรธานี 2.พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ด้านสื่อสารมวลชน 3.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ ด้านกฎหมายละกระบวนการยุติธรรม 4.พล.อ.จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข สปช.จ.กระบี่ 5.พล.อ.อ.เจษฎา วิจารณ์ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 6.พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 7.พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 8.พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ด้านการเมือง 9.พล.ท.เดชา ปุญญบาล ด้านสังคม 10.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ด้านการเมือง 11.พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ ด้านพลังงาน 12.พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ด้านการศึกษา 13.พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ ด้านอื่นๆ 14.พล.อ.อ.มนัส รูปขจร ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 15.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ด้านอื่นๆ 16.พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย สปช.จ.นครนายก 17.พล.อ.วัฒนา สรรพานิช ด้านการบริหารราชการเเผ่นดิน 18.พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ด้านการเมือง 19.พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ด้านการศึกษา 20.พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก ด้านอื่นๆ 21.พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ ด้านการเมือง 22.พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ด้านอื่นๆ 
     ขณะที่นายตำรวจระดับนายพล ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ สปช.จ.บึงกาฬ 2.พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ สปช.จ.สมุทรปราการ 3.พล.ต.ท. อาจิณ โชติวงศ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

@ 5 นายพลรับ-งดออกเสียง
      ขณะที่นายทหารระดับนายพลลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ จากจำนวน สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 105 คน มีทั้งสิ้น3 คน ได้แก่ 1.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.จ.ร้อยเอ็ด และ กมธ.ยกร่างฯ 2.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช.ด้านพลังงาน และงดออกเสียง 2 คน ได้แก่ 1.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สปช.ด้านอื่นๆ และ กมธ.ยกร่างฯ 2.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ด้านอื่นๆ

@ อ.ปื๊ดขอบคุณคนรับร่างรธน.

      นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ แถลงหลังที่ประชุม สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร ตอบไปว่าโล่งใจ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องไปอธิบายสาระสำคัญในการทำประชามติ ไม่ต้องไปทำกฎหมายลูก ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง

"ต่อไปนี้ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนที่ คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง" นายบวรศักดิ์กล่าว และว่า ต้องขอบคุณทุกคนที่ติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯมาตลอด และขอขอบคุณ สปช.ที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบทั้ง 105 คน โดยเฉพาะต้องขอบคุณ พล.ร.อ.พะจุณณ์ พล.อ.เลิศรัตน์ และ พล.ท.นคร ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความตั้งใจ ด้วยความจริงใจ โดยเอาปัญหาของบ้านเมือง ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นตัวตั้งตามคำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราช ไม่ได้เอาปัญหาของตัวเองเป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นแบบนี้ถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ที่สุด ต่อไปพวกตนจะไปทำหน้าที่เป็นประชาชนคนไทยธรรมดาคนหนึ่ง และคงได้เจอกันอีกในสถานที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ

@ ลั่นไม่กลับมายกร่างรธน.อีก

      ผู้สื่อข่าวถามว่า หากถูกทาบทามให้มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าจะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เพราะเสียดายสิ่งที่เขียนเอาไว้ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ก็หมดไป เสียดายเรื่องการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะถึงประชาชนโดยตรง

     "แต่น่าเห็นใจเพราะประชาชนเป็นคนไม่มีเสียง เสียงที่อยู่ในสื่อมวลชนนั้นเป็นเสียงที่ดังของนักการเมืองทั้งสิ้น แต่เข้าใจว่าพวกเราในฐานะประชาชนก็ต้องพยายามติดตามดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาคิดถึงประชาชนขนาดไหน ประชาชนจะเป็นใหญ่และมีความสำคัญหรือไม่ และการปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องจับตามอง" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ เข้าใจสปช.สายทหารที่โหวตคว่ำ
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการลงมติที่ออกมาไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเกิดจากการล็อบบี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ขอพูดเพราะผ่านไปแล้ว เมื่อถามว่า เหตุใดถึงขอบคุณนายทหารทั้ง 3 คน ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเปรียบเทียบกับนายทหารที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "ต้องขอบคุณทั้ง 3 ท่าน ส่วนคนอื่นท่านต้องฟังผู้ใหญ่ของท่าน เป็นธรรมดาและธรรมชาติ เราเข้าใจกัน เพราะขนาด กมธ.ยกร่างฯ 1 คน ซึ่งเป็น พล.อ.หมาดๆ ยังงดออกเสียงเลย เพราะต้องอยู่ในราชการต่อไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ"

     เมื่อถามว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯถูกหลอกเป็นเครื่องมือหรือตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์การเมืองหรือไม่ นายบวรศักดิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่นายบวรศักดิ์จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นำพระสมเด็จหลวงปู่ดี ธัมมธิโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯ มาแจกให้กับสื่อมวลชน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สื่อมวลชนสอบถามว่าเป็นพระรุ่นอะไร นายบวรศักดิ์ตอบกลับแบบติดตลกว่า "รุ่นไม่รับร่าง" 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!