WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

21อรหน

บิ๊กตู่ตั้ง 21 อรหันต์ยกร่าง ก่อน 23 ก.ย. ปัดชื่อจรัญ-สมคิด-คณิต พร้อมคัดสภาขับเคลื่อน โผเสร็จบินร่วมถก'ยูเอ็น''วิษณุ'ชี้มีเลือกตั้งมิย.60 พท.ห่วง 20 เดือนศก.เจ๊ง

       ตั้ง กก.ยกร่าง รธน.-สภาขับเคลื่อนฯ 'บิ๊กตู่'แย้ม เสร็จก่อนบินถกเวทียูเอ็นที่สหรัฐ เล็งคัดจาก 5 ฝ่าย เผย สปช.โหวตรับ-ไม่รับ มีสิทธินั่งทั้ง 2 ชุด เผย มี.ค-มิ.ย.ปี 60 จัดเลือกตั้ง

มติชนออนไลน์ :

มีชื่อแล้ว - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงข่าวหลังประชุม ครม. โดยระบุว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่โดยเร็ว และมีชื่อประธานคณะกรรมการในใจแล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 กันยายน

 

@ บิ๊กตู่'อารมณ์ดีนั่งหัวโต๊ะครม.

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์เดินจากตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังตึกบัญชาการ 1 สถานที่ประชุมอย่างอารมณ์ดี เมื่อเดินผ่านต้นอโศกน้ำก็ได้ซักถามบรรดาผู้สื่อข่าวและช่างภาพว่า ต้นไม้นี้ชื่ออะไรรู้กันหรือเปล่า 

       ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตอบว่า "ต้นอโศกน้ำ" พร้อมกับบอกสื่อมวลชนว่า "สนใจเรื่องใกล้ตัวกันบ้าง ไม่ใช่สนใจแต่อะไรก็ไม่รู้" จากนั้นมีผู้สื่อข่าวสอบถามถึงอาการเจ็บหัวเข่าว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถ้าไม่เตะตัวเองก็ไม่เจ็บ" ก่อนที่จะเดินทักทายบรรดาช่างภาพ และผู้สื่อข่าวที่ยืนรอถ่ายภาพ จากนั้นเดินขึ้นตึกไปเป็นประธานประชุม ครม.

 

@ แย้มตั้งกก.ร่างฯก่อน 5 ต.ค.

      ต่อมา พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. กรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า คงต้องวิเคราะห์ว่าการที่ สปช.ไม่เห็นชอบมาจากเรื่องใดบ้าง ก่อนหน้านั้นกระแสเรื่องของการให้โหวตคว่ำในช่วงของการทำประชามติหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ สปช.เห็นว่าหากจะทำอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปลงประชามติแล้วคว่ำก็จะเสียเงินอีก 3,000 กว่าล้านบาท นอกจากนั้น จะแสดงให้เห็นถึงความไม่ปรองดองเพราะในกลุ่ม สปช. 250 คน ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง

       "แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้รัฐบาลจะมีเวลาในการทำงานมากขึ้นจากผลที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช. แต่ไม่ได้หมายความว่าดีใจ เพราะเวลาที่ขยายออกไปจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้มีผลงานปรากฏให้เห็นชัดเจนเร็วขึ้นและมากขึ้น" พล.ต.วีรชนกล่าว และว่า นายกฯกำชับให้ทุกฝ่ายทำงานตามยุทธศาสตร์ใช้เวลา 6 เดือนในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ ทำกฎหมายลูก และหาเสียงยาวนานจนเกินไป ซึ่งนายกฯระบุว่าการตั้งกรรมการร่างฯที่ต้องทำภายในวันที่ 5 ตุลาคม หากเสร็จก่อนจะเป็นช่วงก่อนวันเดินทางไปร่วมประชุม สหประชาชาติระหว่างวันที่ 23 กันยายน-2ตุลาคม 

 

@ คาดเลือกตั้งทั่วไปมิ.ย.60 

       พล.ต.วีรชนกล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุมถึงลำดับขั้นตอนและปฏิทินของการร่างรัฐธรรมนูญว่า เริ่มต้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเดือนตุลาคม 2559-เมษายน 2559 อยู่ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ต่อมาเดือนเมษายน-สิงหาคม 2559 เป็นขั้นตอนของการจัดทำประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2559 และในเดือนกันยายน ตุลาคม 2559 เป็นช่วงของการยกร่างกฎหมายลูกภายใน 2 เดือน ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ยาก จากนั้นเมื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายลูกภายใน 3 เดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายใน 1 เดือน

       "ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จำเป็นต้องส่งให้ตรวจสอบเนื่องจากจะมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายที่ออกมามีความถูกต้อง ชอบธรรมอย่างไร และต่อมาในเดือนมีนาคม 2560 จึงเริ่มประกาศใช้กฎหมายลูกและเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ จากนั้นมีนาคม-มิถุนายน 2560 มีการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนคือกรกฎาคม 2560" พล.ต.วีรชนกล่าว

 

@ ย้ำไม่ได้สั่งให้สปช.คว่ำร่าง

      พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ระยะเวลาการดำเนินการหลัง สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้แคมเปญ 6-4-6-4 ของนายวิษณุ ไม่ได้ดีใจที่มีเวลาเพิ่มขึ้นเพราะงานหนักขึ้น เดิมคิดว่าถ้าไปได้และเลือกตั้งได้ ตนไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปไม่ได้ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ แต่สืบทอดอำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจของประชาชนที่ไว้ใจให้ทำตอนนี้ และต้องสืบทอดอำนาจนี้ไปยังรัฐบาลหน้า ไม่ได้สืบเพื่อตน แต่สืบเพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่เห็นว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน

     "การลงมติร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. จะผ่านหรือไม่ผ่านไม่ใช่ผมสั่ง หรือใครสั่งหรือรองนายกฯสั่ง มันสั่งไม่ได้ การกล่าวหาว่าทหาร 30 กว่าคน ถามว่า ใน สปช. 250 คนมีทหารกี่คน แล้วทหาร 30 กว่าคนนี้หรือทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน หากคิดอย่างนี้ไม่ถูก ต้องไปดูเสียงทั้งหมดมีใครอยู่ในนั้นบ้าง ทหารเขาก็มีสิทธิของเขา จะผ่านหรือไม่ผ่านและมีเหตุผลอะไร หากรัฐธรรมนูญผ่านผมก็ทำงานเท่าที่เวลาเหลืออยู่ แต่เมื่อไม่ผ่านต้องวิเคราะห์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าเพราะอะไร วิเคราะห์ว่า เพราะคำว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ฝ่ายการเมืองออกมาพูดกัน โดยออกมาให้ข้อมูลตามสื่อต่างๆ นั่นแหละทำให้เกิดปัญหานี้ ที่ออกมาพูดให้ สปช.ไม่ผ่านร่าง ถ้าผ่านมาแล้วจะต้องเสียเงินสามพันล้านทำประชามติ ผมไม่เคยพูด แต่เป็นสิ่งที่นักการเมืองพูด และพูดด้วยว่าถ้าผ่านจะไม่ผ่านการลงประชามติอีก ตรงนี้ใครพูด นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ สปช.ทั้งหมดเป็นกังวล" นายกฯกล่าว

 

@ ชี้งบใช้กับสปช.ไม่สูญเปล่า

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้ระยะเวลา 6-4-6-4 นั้นต้องสร้างการยอมรับตั้งแต่บัดนี้ว่าจะเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร จะต้องมีคณะกรรมการมาร่าง ตนจะตั้งขึ้นมาเองซึ่งไม่ได้ตั้งเพื่อพวก แต่เพื่อประเทศชาติ ครั้งที่แล้วตั้งจาก 250 คน มาจากทุกพวกทุกฝ่าย ไม่ได้มีแต่ทหารอย่างเดียว มาจากจังหวัดเสื้อนั้นเสื้อนี้มาหมด ตัวเองไม่เข้ามาแต่ฝากคนเหล่านี้มาใน สปช. ก็ไม่ได้ว่าอะไร และไปพูดว่าไม่เกี่ยวข้องทั้งๆ ที่เชิญมาเขาก็ไม่มาเพราะกลัวว่าต้องรอรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงว่าเขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในนั้นตนรู้ว่าใครเป็นอย่างไรมีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ

        ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่ใช้ไปกับ สปช.ถือว่าสูญเปล่าหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะสูญเปล่าได้อย่างไร อย่าไปคิดเป็นตัวเลขอย่างนั้น เพราะลองดูว่างบประมาณที่ทำเรื่องน้ำของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาเป็นเท่าไหร่ ที่ทำเรื่องอาชีพทำไปกี่หมื่นล้านบาทแล้วที่ผ่านมาล้มเหลวหรือไม่ แต่ตอนนี้มัวมาจับตาว่าออกกฎหมายมา 300 กว่าฉบับ ฉบับละ 3 ล้าน หาว่าแพงเกินไป แต่ไม่ดูว่ากฎหมายฉบับหนึ่งมีผลกับคน 70 ล้านคน ดังนั้น จะตีเป็นมูลค่าได้หรือไม่ หัดเอาตรรกะมาใช้เสียบ้าง

 

@ เผยเลือกกก.จากสปช.ที่หนุน-ค้าน

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้นมีชื่ออยู่ในใจแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีอยู่ในใจก็อยู่ในใจ ผมยังหาไม่เจอ อยู่ในใจยังลึกอยู่ เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าจะมีชื่อของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมอยู่ด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จรัญไหน ไม่มี เมื่อถามถึงชื่อของนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกฯกล่าวว่า ไม่มีๆ ที่เอ่ยมานี้ไม่มีทั้งสิ้น ไม่มีสักคน

     นายกฯกล่าวตอบคำถามจะให้ใครช่วยพิจารณาสรรหาหรือไม่ "เห็นว่าผมไม่มีสติปัญญาหรืออย่างไร หากใครอยากเสนอชื่อใครเสนอมา ผมรับฟังทั้งนั้น อยากส่งชื่อใครให้ผมคัดเลือกก็เสนอมาฟังทุกคน แต่จะให้หรือไม่ให้ไม่รู้ อย่าไปเชื่อว่าคนที่ล้มร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะได้เป็นสภาขับเคลื่อนฯ เพราะรายชื่อนั้นจะมีทั้งพวกรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้ง 2 พวก ผมเลือกทั้งหมดไว้จำนวนหนึ่งแต่ไม่บอกว่ามีเท่าไหร่ มีทั้งพวกล้มและไม่ล้ม และจะดูว่าเขาจะทำต่อกันหรือไม่ เพราะถ้าไม่เรียนรู้จากของเดิมก็ผ่านไม่ได้ พวกท่านต้องรับผิดชอบกันอีก ดังนั้น ไม่ต้องมายัดไส้ผมว่าพวก 135 คนจะได้เข้า และ 105 คนจะไม่ได้เข้า" 

       ผู้สื่อข่าวถามว่า รวบรวมรายชื่อสภาขับเคลื่อนฯ 200 คนได้ครบถ้วนหรือยัง นายกฯกล่าวว่า เพิ่งเริ่มคิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ว่าจะต้องใช้สัดส่วนเท่าใด กำลังหาอยู่

 

@ เล็งคัดสเปกจาก 5 ด้าน

       ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับสภาขับเคลื่อนฯ 200 คน จะเลือกจากการฝ่ายใดบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องมาจากหลายส่วน 5 ฝ่าย คือ ด้านความมั่นคง สังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ ต่างประเทศ และข้าราชการ รวมถึงคนที่เกษียณอายุแล้ว คนเหล่านี้จะต้องทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นและทำอะไรกันอยู่ ต้องรู้ว่าโจทย์อยู่ตรงไหน ถ้ามาแบบไม่รู้เรื่องจะตีกันอีกรอบหนึ่งและไม่ได้คำตอบ นอกจากนี้ จะต้องมีคนส่วนที่รู้เรื่องกฎหมายทั้งในเชิงหลักการ วิชาการ เชิงปฏิบัติ ไม่ใช่เอากฎหมายมาทำให้ติดขัดไปหมด นักวิชาการต้องเอาไปใส่ให้หมด และต้องมีความรู้ใน 11 กิจกรรมปฏิรูปของรัฐบาล และขับเคลื่อนออกมาให้ได้ และสภาขับเคลื่อนฯจะต้องนำ 37 แนวทางการปฏิรูปของ สปช.มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน 

       เมื่อถามว่าจะสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯได้เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "กำหนดวันสุดท้ายเมื่อใด วันที่ 5 หรือ 6 ตุลาคมใช่หรือไม่ ผมต้องนำคณะเดินทางสหประชาชาติ ที่สหรัฐ ออกเดินทางช่วงวันที่ 23 กันยายน ดังนั้น ต้องได้รายการก่อนที่ผมจะเดินทาง ทำให้เสร็จก่อนที่จะเดินทาง หรือถ้าทำเสร็จก่อนได้ ก็จะทำ" 

 

@ มท.1 เชื่อคุมสงบ 20 เดือนได้

      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงโรดแมปการร่างรัฐธรรมนูญจนไปสู่การเลือกตั้งที่ใช้เวลาประมาณ 20 เดือน ซึ่งเป็นสูตร 6-4-6-4 ว่า ต้องดำเนินการไปตามระยะเวลาที่กำหนด เชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกคน เพราะเป็นประเทศของเรา 

"สำหรับสูตร 6-4-6-4 ทางนายวิษณุได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวโดยระบุว่าสูตรดังกล่าวเหมือนเป็นตั้งตุ๊กตาเอาไว้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำชับว่าหากช่วงเวลาใดสามารถดำเนินการได้เร็ว ขอให้เร่งรัด ทำได้ทันที จะไม่ปล่อยให้ยืดยาว" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

     ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลกับตัวบุคคลที่จะเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คน หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถเลือกได้ นายกฯคงรู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ เมื่อถามว่า ตอนนี้มีคณะที่ 2 มายกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คิดว่าคงไม่มีคณะที่ 3 ที่ 4 ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าไม่ต้องมีหรอก ตอนนี้ยังตั้งชุดนี้ไม่ได้เลย อย่าเพิ่งไปพูดถึงตรงนั้นเลย

 

@ 'วิษณุ'ชี้อดีตกมธ.ยกร่างคัมแบ๊กได้

       นายวิษณุให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม. ถึงการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลมาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ว่า ไม่มีอะไรห้าม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมสามารถเข้ามาเป็นได้ ส่วนจะได้รับการพิจารณาจากหัวหน้า คสช.หรือไม่นั้นไม่ทราบ และไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านี้จะยินดีเข้ามาหรือไม่ บางคน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไปชวนก็ยังไม่มาเลย เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่ามีชื่อของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีต สปช. เป็นประธานกรรมการร่างฯ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ

@ เผย'บวรศักดิ์'ยังยิ้มได้ไม่เฮิร์ต

      นายวิษณุ กล่าวถึงการสรรหากรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 21 คน จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหรือไม่ ว่าในกติกาไม่มีการกำหนดไว้ จะเป็นฝ่ายใดก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติจริงเห็นสมควรว่ามีหรือไม่ ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับ คสช. ถึงแม้ว่าจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาต้องมีปัญหาอยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเอามาทุกฝ่ายได้ 

     เมื่อถามว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ที่ผ่านมา จะเป็นอุปสรรคในการชักชวนใครเข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการทุกคณะก็ระบุว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย และจะยากกว่าการหาคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน เพราะตอนนั้นเป็นการเข้ามาทำงานใหม่ ยังไม่เห็นถึงปัญหา แต่คราวนี้มีเดิมพัน เพราะได้เห็นว่ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาก็ต้องคิดว่าหากทำแล้วต้องทำให้ดีและต้องไม่ล้ม ถือเป็นความรู้สึกกดดันอยู่ จึงทำให้หาคนมาร่วมยาก แต่ขอให้เชื่อว่าสามารถหาได้ 

      เมื่อถามว่า ได้ปลอบใจนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "เมื่อวานได้ประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะเดียวกับนายบวรศักดิ์ ไม่เห็นว่าจะเฮิร์ตอะไร ผมยังขอพระท่าน ท่านยังบอกว่าแจกหมดแล้ว คนที่สามารถยิ้มได้เมื่อภัยมา คือคนที่ควรยกย่อง เหมือนเพลงยิ้มได้เมื่อภัยมาในทุกสถานการณ์ ถึงจะยิ้มแหยๆ ช่างเถอะ ก็ขอให้ยิ้ม"

 

@ 'บิ๊กต๊อก'ชี้ปฏิรูปไม่ใช่แค่แก้รธน.

      พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าวว่าการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเป็นการต่ออายุรัฐบาลอย่างน้อย 2 ปี ว่า เป็นไปตามโรดแมปอยู่แล้ว เมื่อถามว่าหากประชาชนเกิดไม่พอใจว่ารัฐบาลและ คสช.อยู่ในอำนาจนานเกินไป พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องเลือกคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน 22 พฤษภาคม 2557 อย่ามองว่าเขียนรัฐธรรมนูญแล้วนายกฯมาจากไหน ต้องดูเรื่องทุจริต 7-8 ปีที่เกิดขึ้น รวมถึงอีกหลายเรื่องต้องเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้จะแก้กันหรือไม่ การปฏิรูปไม่ได้หมายความว่าจะแก้เพียงรัฐธรรมนูญหรือที่มา ส.ส. หรืออะไรก็ไม่ใช่ จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลมีธรรมา

ภิบาลได้อย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้นักการเมืองไม่มาคาบเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการ จนเกินกว่าเหตุ "ซึ่งการให้มีธรรมาภิบาล การให้มีความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องเหล่านี้ถือว่าอยู่ในระบบปฏิรูป และระบบการศึกษา หรือแม้แต่ระบบตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีมาตรการขับเคลื่อนต่างๆ ประกอบ ต้องเข้าใจตรงนั้น ประชาชนจะมองแค่เลือกตั้งเลือกนายกฯ ผมก็พูดหลายครั้งว่า ถ้าประชาชนเลือกแบบนั้นผมว่า คสช.ก็ต้องถอย ก็ต้องออก" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

       พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งกับ ครม.ทุกคนช่วยเสนอความคิดเห็นในการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้วนายกฯจะพิจารณาอีกที ส่วนคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างฯ ก็ได้ระบุออกมาแล้ว ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง แต่มีอยู่ข้อหนึ่งคือต้องไม่เป็นนักการเมือง เพื่อให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบ เป็นกรอบในการพิจารณา

 

@ นิรันดร์ชี้ต้องยกย่องสปช.คว่ำรธน.

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ อดีต สปช. กล่าวถึงกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ อดีต สปช. ออกมาเรียกร้องให้ สปช.ที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ให้แก่รัฐสภาว่า ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สปช.ไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว อีกทั้งควรที่จะได้รับการยกย่องด้วยซ้ำ เพราะ 1.สามารถปกป้องเงินของแผ่นดินที่จะสูญเสียไปในการทำประชามติถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งเห็นอนาคตชัดเจนว่าไม่สามารถผ่านประชามติได้ 2.การคว่ำรัฐธรรมนูญถือเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศ และ 3.ให้เวลารัฐบาลได้ใช้อำนาจ จัดการปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ เสียก่อนที่จะนำประเทศเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง

 

@ ชูศักดิ์เย้ยสูตร 6-4-6-4 อยู่ไม่ครบ

      นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสูตร 6-4-6-4 ของนายวิษณุว่า สูตร 6-4-6-4 ที่จะอธิบายใน ครม.ไม่คิดตัดทอนลงบ้างหรือ ทั้งกระบวนการร่าง ประชามติ จัดทำกฎหมายประกอบ หากจะเร่งรัดกันหน่อย รีบทำเพื่อจะได้พ้นภาระ เพราะเห็นเคยบ่นๆ กันว่าไม่คิดจะอยู่ยาว กลายเป็นว่าถ้าเป็นแบบนี้จะอยู่กันถึงสามปีกว่า เกือบเท่าวาระปกติของรัฐบาลประชาธิปไตย ระยะเวลายกร่าง 6 เดือน คงไม่มีความจำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะมีต้นแบบรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แม้แต่ระหว่างจะทำประชามติก็ยกร่างกฎหมายประกอบไปได้ คิดไปมาดีๆ สิบสามเดือนก็เต็มที่แล้ว "หากจะคำนึงถึงปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาความยอมรับของต่างประเทศ คิดว่าอย่าคิดอยู่ยาวเลย เกรงว่าจะอยู่ไม่ถึง 6-4-6-4 เสียด้วย เป็นห่วงว่าจะกลายเป็นหกคะมำเสียก่อน" นายชูศักดิ์กล่าว

 

@ 'อ๋อย'จี้หาคนรับผิดชอบรธน.เหลว

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สาเหตุที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการสุดโต่งขึ้นมาได้นั้น เนื่องจากกระบวนการร่างไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะจากหัวหน้า คสช.ที่ทั้งชี้นำและแก้ต่างให้กับ กมธ.ยกร่างฯ และยังห้ามปรามไม่ให้มีการแสดงความเห็นต่างอย่างแข็งขันอีกด้วย ร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช.กับพวกอย่างโจ่งแจ้งนี้ถูกคว่ำไป เนื่องจากมีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนฝ่ายต่างๆ จนในที่สุดก็มีการสั่งการประสานงานให้ สปช.คว่ำร่างนี้เสีย 

     "การร่างรัฐธรรมนูญต้องล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศชาติต้องเสียโอกาสเสียเวลากันไปเปล่าๆ เป็นปีๆ ที่สำคัญต้องประสบความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้และไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ใครควรรับผิดชอบต่อความล้มเหลวเสียหายที่เกิดขึ้น" นาย

จาตุรนต์กล่าว

 

@ แนะเปิดทางยกร่างฯไม่ครอบงำ 

     นายจาตุรนต์ระบุอีกว่า โดยระบบแล้ว กระบวนการร่างที่ผ่านมาถูกกำหนด กำกับ และสนับสนุนโดย คสช.มาตลอด ร่างรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. พอถูกคว่ำ คสช.ก็ได้รับการต่ออายุออกไปอีก 

ผู้ที่พึงรับผิดชอบต่อความล้มเหลวนี้จึงหนีไม่พ้น คสช. จึงควรแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร โดยกระบวนการร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยประเทศอาจไม่ได้รัฐธรรมนูญกันไปอีกหลายปีก็ได้ 

      "ตัวเลข 6-4-6-4 ที่กำลังมีการนำเสนออยู่ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปอยู่แล้วนั้น สุดท้ายอาจเป็นตัวเลขสมมุติชั่วคราวที่ยืดออกไปเรื่อยๆ ก็ได้ ทางออกที่จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี บ้านเมืองคืนสู่ความเป็นปกติสุขโดยเร็ว คือ ต้องใช้กระบวนการร่างที่เป็นประชาธิปไตย คสช.ควรจะปล่อยวางอำนาจในการบงการกำกับการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ประชาชนมาเป็นผู้ร่าง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสุดท้ายตัดสินด้วยการลงประชามติที่เสรีและยุติธรรม การจะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศในเรื่องนี้ ควรกำหนดเงื่อนไขกติกาและโรดแมปเสียใหม่ให้ชัดเจนว่าประเทศจะมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งในเวลาที่เหมาะสมและแน่นอน ไม่ใช่ยืดเยื้อต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด" นายจาตุรนต์ระบุ

 

@ พิชัยชี้ลาก 20 เดือนผลร้ายต่อศก. 

     นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่ สปช.โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้แม้จะเป็นทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ แต่ก็เป็นการแสดงถึงความล้มเหลวซ้ำซ้อนของรัฐบาลและ คสช. หลังจากที่ล้มเหลวทางการบริหารเศรษฐกิจจนต้องโละเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งทีม ซ้ำเติมด้วยก่อนหน้านี้ที่มีการห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญที่สุดแย่นี้ ขนาดแม้แต่ สปช.ยังโหวตคว่ำ และมั่นใจถึงขนาดท้าทายให้คนที่คัดค้านไม่ต้องมาลงเลือกตั้ง ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังหาคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มั่นใจว่า ถึงแม้จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็อาจจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

      "การยืดเวลาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยืดการเลือกตั้งออกไปอีก 20 เดือน จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ความมั่นใจของทั้งในประเทศและต่างประเทศจะยิ่งหดหาย ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่บอกว่าจะออกไปเดินสายโรดโชว์กับนักลงทุนต่างประเทศจะตอบคำถามได้อย่างไรว่า สปช.ที่ คสช.ตั้งมาเอง กลับคว่ำรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกลุ่มคนที่ คสช.เลือกเอง" นายพิชัยกล่าว และว่า ต่างประเทศต้องมองว่าเป็นการเล่นละครปาหี่เพื่อลากยาว

      ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก การส่งออกลดลง และอาจจะเป็นเหตุผลในการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ จึงอยากเรียกร้องให้มีการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ร่างในระบอบประชาธิปไตยมาแก้ไขปรับใช้ เพื่อเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้

 

@ มาร์คเชื่อโอกาสทองปฏิรูปปท. 

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า มีโอกาสดีในการทำให้ประเด็นเรื่องของการปฏิรูปหรือการแก้ไขปัญหาของการเมืองรอบคอบ และมีเวลาในการที่จะเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมแล้วทำให้เกิดการยอมรับ โดยขอให้ใช้เวลา 6 เดือนที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสทองในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงให้ได้ และอยากเชิญชวนทุกฝ่ายพักเรื่องการวิพากษ์ วิเคราะห์ทางการเมืองในช่วง 6 เดือนนี้ เพื่อให้เป็นเวลาของการวางระบบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต เมื่อทุกคนมาร่วมกันทำอย่างนี้อย่างสร้างสรรค์ เราจะได้เดินหน้าไปได้ และคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย 

       นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีมีความเห็นไม่ตรงกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ว่า เป้าหมายไม่แตกต่างกัน คืออยากจะเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้น และอยากเห็นการเลือกตั้งนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพียงแต่ประเมินต่างกันเท่านั้น

 

@ อจ.ชี้ร่างรธน.ตามใบสั่งร่างยาก

      นายพัฒนะ เรือนใจดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า เหมือนเดิม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติ อยู่ตรงที่ว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ประชาชนรับได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คุณสมบัติพื้นฐานต้องเป็นนักกฎหมาย เชี่ยวชาญกฎหมาย เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์เป็นพื้นฐาน 

      "สิ่งสำคัญก็คือต้องมีจุดสะท้อนความต้องการของประชาชน จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ใครมาร่างก็ร่างได้ แต่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการสร้างความยอมรับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1.เวลาจำกัดเพียงแค่ 180 วัน 2.เพิ่งถูกต่อต้านมาจาก สปช. 3.ประชาชนก็ต้องเป็นผู้ลงประชามติในตอนท้าย คราวนี้ไม่มีใครไปกลั่นกรองให้ก่อนแล้ว คราวนี้ต้องให้ประชาชนลงประชามติ ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเสียของ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมดเงินทองไปมากมาย สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา อันนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญ" นายพัฒนะกล่าว และว่า การร่างไม่ยากหรอก เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญมีทฤษฎีตายตัวอยู่แล้วว่า ในระบบการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ควรจะต้องกำหนดการผูกโยงของกลไกสถาบันทางการเมืองอย่างไร อันนี้ตายตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะร่างให้ยากคือว่ามีใบสั่งหรือมีคนสั่งมา หรือมีความพยายามจะนำองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรในระบอบประชาธิปไตยเอาเข้ามาใส่ และต้องการจะใส่ให้แนบเนียน ต้องการใส่ให้ไม่มีใครตรวจพบว่ามีความบกพร่อง อันนี้จะมีความยาก แต่ถ้าใส่ไปตามปกติ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อันนี้ไม่ยากหรอก

 

@ 'บิ๊กตู่'แจงใช้ม.44 ถอดยศทักษิณ

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ถอดยศนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า "มาตรา 44 ที่จบไปแล้วก็ไม่จบ ผมทำให้มันจบๆ ไป เรื่องที่เป็นความขัดแย้งจบก่อน และไม่ได้เดือดร้อนใคร แม้กระทั่งที่ผมใช้มาตรา 44 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถามว่าทำตามใจคนพูดนั่นแหละ เพราะเขาบอกว่าไม่ต้องการ เขาบอกว่าอยากถอดไปได้ก็ถอดไปใช่ไหม แล้ววันนี้มาว่าผมได้อย่างไร ผมทำตามใจท่านนะ เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดกับผมแบบนั้น พูดกลับไปกลับมา แล้วแต่จะใช้โอกาสไหน ผมทำงาน ไอ้คนไม่ทำงานคอยว่าผมตลอด ท่านต้องอยู่กับผมในสิ่งที่ถูก สิ่งที่ไม่ถูกท่านไม่ต้องมาอยู่กับผม ผมไม่ต้องการ ถ้าไม่ถูกก็บอกมาจะได้แก้ไข เท่านั้นเอง"

 

@ ฝากเรื่องเจตนาของคนพูดกับที่ผมพูด

       มันต่างกัน ไม่ได้ประเมินว่า ผมเองสูงกว่า เพียงแต่อย่าเอาสิ่งที่ไร้ค่าของเขามาพูดกับผม ผมไม่ฟัง และก็จะทำแบบนี้ต่อไป โดยจะใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรม ถ้าไม่ผิดไม่มีใครแตะต้องได้ ไม่ว่า จะกฎหมายมาตราอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ใช้เพื่อรังแกใคร ต้องมีสาเหตุ เคยรับสาเหตุกันหรือไม่ ขนาดคำตัดสินของศาลยังไม่รับเลย รู้ความเดือดร้อนของประชาชน เห็นๆ กันอยู่ว่าประชาชนเจ็บตายกันอยู่ ยังไม่แก้ไขเลย ไปหามาแล้วกันรัฐบาลประชาธิปไตยแบบนั้น ไปหามาให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า อย่าให้คนทุจริตหรือคนไม่ดีมีที่ยืนอยู่ในสังคมอีกต่อไป คนเลว คนทำผิดกฎหมาย คนขี้โกง แต่อย่าไปรุนแรงกับเขา เพียงแต่อย่าไปนับถือ อย่าไปชื่นชมกันมากนัก ผู้กระทำความผิดหลบหนีระวังกฎหมาย แล้วไปพูดจาถือว่าเข้าประเด็นให้การสนับสนุนการกระทำความผิดกฎหมาย ระวังกฎหมายจะเล่นงาน พวกที่พูดเก่งๆ พวกที่ชอบพูดว่า 'ท่านครับ ผมว่า ท่านอยู่ในหัวใจของผมตลอดไป'ขอให้ระวังตัว ฝ่ายกฎหมายเขาดูอยู่ ไอ้ฉลาดอ่ะ ที่พูด ชื่อความหมายเดียวกันกับฉลาด รู้จักไหม

      ผู้สื่อข่าวตอบว่า 'ชื่อเก่ง' นายกรัฐมนตรีกล่าวติดตลกว่า 'ใช่ ให้คะแนน เอาตังค์มา ฉลาดนี่'

 

@ วิษณุชี้ใช้ม.44 ถอดยศ'แม้ว'ได้

        นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณีที่นายธนเดช พ่วงพูล ทนายความและนักกฎหมายจากบริษัท ไลท์เฮ้าส์ลอว์เยอร์เซอร์วิส จำกัด ยื่นเรื่องถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ กับพวก กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการใช้ตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถอดยศ พ.ต.ท.ของนายทักษิณ ว่าต้องกลับไปดูมาตรา 44 ที่บอกไว้แล้วว่าเมื่อใช้มาตราดังกล่าวแล้วเป็นอันว่าถึงที่สุด โดยมาตรานี้ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเนื่องจากให้เลี้ยวไปอีกเส้นทางหนึ่งจากเส้นทางปกติที่อาจจะมีเส้นทางเดินเอาไว้อยู่แล้ว ฉะนั้น อย่านำไปเกี่ยวข้องกันอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร มาตรา 44 เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบไว้เช่นเดียวกับมอบไว้เพื่อใช้แก้กฎหมายอื่นๆ ด้วย

      "เส้นทางปกติของการเสนอถอดยศ คือ การออกเป็น พ.ร.บ. เสนอเข้าสู่สภาเพื่อลงพระปรมาภิไธย แต่เพื่อความจำเป็นบางอย่างต้องเลี้ยวซ้าย" นายวิษณุกล่าว

 

@ ยันไม่กระทบเบื้องพระยุคลบาท

       ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีข้อสังเกตว่าต้องการล้างบางชินวัตรแบบเบ็ดเสร็จ เกรงหรือไม่ว่าบ้านเมืองจะไม่สงบสุข นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่าเป้าหมายไม่ได้ต้องการที่จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข แต่เมื่อดำเนินเรื่องมาแล้วจะทำอย่างไรให้เรื่องสิ้นสุดและยุติได้อย่างเรียบร้อยโดยเร็ว ไม่ต้องเป็นข่าวพูดซ้ำซาก ในเมื่อต้องทำอยู่แล้วก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับพระราชอำนาจหรือกระทบต่อความอันควรหรือไม่ควร ซึ่งฝ่ายข่าวพบว่าอาจมีกรณีที่ไประคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทจึงใช้วิธีให้หัวหน้า คสช.รับผิดชอบไว้เอง เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วถือว่าจบ

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายที่ถูกผลกระทบมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นายวิษณุกล่าวว่า เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ในที่สุดต้องเดินด้วยเส้นทางนี้อยู่แล้ว เหมือนถนนที่เดินมาตามเส้นทางสายนี้แล้วมีแยกเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา หากไม่เลือกทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้ารู้ว่าเลือกทางหนึ่งแล้วมีปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ต้องเลือกอีกทางหนึ่งแต่ได้ผลอย่างเดียวกัน สังคมมักจะเห็นใจผู้ที่ถูกกระทำ

       "เป็นเรื่องที่เข้าใจกัน คิดว่าสิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพูดนั้นเป็นโลกธรรม ฉะนั้น คนที่เข้าใจอย่างนั้นได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร คนเรามีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เรียกว่าโลกธรรม 8 ประการ สาธุ" นายวิษณุกล่าว

       พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า จบแล้ว ทุกอย่างชัดเจน เมื่อถามว่าจะมีความวุ่นวายตามมาหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีหรอก เรื่องนี้นายทักษิณไม่ได้ติดใจอะไรนี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!