WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1วษณ เครองาม

วางสเปกสปช.ร่วมสปท. คัดคนขยัน วิษณุลั่นทหารนั่งกรธ.ได้ จ้อนชง 18 กมธ.ปฏิรูป ได้เก้าอี้สภาขับเคลื่อน'วัฒนา'ชี้ชกโยงรถส.อ. กองทัพยันไม่คิดทำร้าย

 

     'วิษณุ'ย้ำอย่าตัดสิน สปช.จะได้นั่งเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ แค่ตอนยกมือโหวตร่าง รธน. ให้ดูที่การทำงาน

@ 'วิษณุ'ให้ความเห็นตั้ง'กรธ.'

     เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึงแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ปลดล็อก หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่านประชามติว่า ยังไม่มีการวางกรอบใดๆ เอาไว้ เพราะยังไม่ถึงเวลา ต้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกิดขึ้นก่อน ให้ทำงานไปสักพักจนมองดูแล้วรู้ว่ามันจะไปรอดหรือไม่รอดจึงค่อยคิด กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในสภาไม่ได้ใช้เวลานาน จึงคิดว่าเอาไว้ค่อยทำก็ได้

    ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กรธ.มีทหารเข้าร่วมจำนวนมากจะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนตัวไม่คิดว่ามันจะมากจนผิดปกติ ถ้าหากเป็นทหารเกษียณแล้วเป็นทหารที่มีความรู้ทางการร่างกฎหมาย คงเป็นนายทหารพระธรรมนูญ จะเป็นทหารหรือพลเรือนคงไม่แปลกอะไร แต่ยังตอบไม่ถูกว่า กรธ.ทั้งหมดจะออกมาหน้าตาอย่างไร จะไปตีกันไว้ก่อนว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะพูดยาก

@ อย่าจับผิดสปช.โหวตคว่ำร่าง

     เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าประธาน กรธ.จะมีความสามารถในการควบคุม กรธ.ทั้งหมดในการประชุมได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดกังวล โดยหลักแล้วประธานต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเกรงอกเกรงใจจาก กรธ.ทุกคนพอสมควรถึงจะทำงานด้วยกันได้ แต่โดยมากปกติไม่ถึงขนาดว่าต้องไปชี้นกชี้ไม้ เพราะทำงานด้วยกัน ถ้ามีความจำเป็นอะไรต้องโหวตกันอยู่แล้ว เหมือนกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มีโหวตกันตั้งหลายครั้ง ประธานอยู่ในข้างที่โหวตแพ้ก็มีหลายครั้ง ไม่ผิดปกติอะไร ประธานไม่ได้มีสิทธิมากไปกว่าคนอื่น แต่ต้องคุมเกมได้ ชี้ให้พูดก็พูด ห้ามไม่ให้พูดก็ควรต้องหยุดพูด มีลักษณะเท่านั้นเอง

    เมื่อถามว่า หากอดีตสมาชิก สปช.ที่โหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ได้ตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะถูกครหาหรือไม่ว่าล็อบบี้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมารับตำแหน่ง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะต้องนำตัวนั้นมาเป็นตัววัดตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ตาม ภารกิจของ สปท.จากนี้ไปเป็นเรื่องของการปฏิรูป ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความเป็นจริงคือ สปท.มี 200 คน น้อยกว่า สปช. 250 คน คงต้องคิดถึงคนอื่นข้างนอกด้วย สัดส่วนควรจะกระจายกันไป แล้วจะบอกว่าเอาพวก สปช.เข้ามาทั้งหมดมันก็ไม่ถูก จะไม่เอาเข้ามาเลยก็ไม่ถูกเพราะเขาได้วางแผนปฏิรูปเอาไว้แล้วถึง 37 เรื่อง ต้องเลือกเอาเข้ามาบางคนที่เหมาะสมควรจะวัดจากกิจกรรม ความขยันในการเข้าประชุม สปช. บทบาทในการออกความเห็น เป็นสิ่งสำคัญกว่าจะมาดูจากพฤติกรรมการโหวตเพียงครั้งเดียวเพราะ สปท.ไม่ได้ยุ่งกับรัฐธรรมนูญ"

@ 'นิรันดร์'เชียร์การเมืองร่วมสปท. 

     นายนิรันดร์ พันทรกิจ อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า อดีตสมาชิก สปช.ทั้งที่โหวตรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญควรจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก สปท.อย่างน้อย 100 คน โดยเฉพาะระดับประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปทุกคณะ เพื่อให้ผู้ที่ร่างแผนการปฏิรูปเข้าไปร่วมผลักดันสานต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรเปิดให้ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมด้วย จะได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นการลดความขัดแย้งไปในตัว

     นายนิรันดร์กล่าวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะประชุมหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 37 วรรคเจ็ด เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วย มาตรานี้อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต การตีความคำว่า "ผู้มีสิทธิ" กับ "ผู้มาใช้สิทธิ" หากแก้ในมาตรา 37 วรรคเจ็ด ว่า เสียงประชามติจะผ่านต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ สบายใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบของประชาชน แต่ถ้าไม่แก้ให้ชัดเจน โอกาสจะไม่ผ่านมีสูงมาก หาก ครม.เห็นชอบให้แก้มาตราดังกล่าวแล้วอยากจะเสนอให้แก้ในมาตราเดียวกันให้มีความชัดเจนด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ผ่านประชามติอีก ให้หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยประกาศใช้แล้วมาปรับแก้ไข ฉบับนั้นควรจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เคยผ่านการทำประชามติมาแล้ว

@ 'อมร'รับอยากร่วมงานสปท.

    นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อดีตสมาชิก สปช. กล่าวถึงการแต่งตั้ง สปท. ว่า เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีอดีต สปช.บางส่วนเข้าไปร่วมเป็น สปท.เพื่อสานต่อการปฏิรูปประเทศ แม้เกิดข้อกังขาว่า สปช.เป็นผู้คิดหรือเป็นผู้ปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่นักลงมือปฏิบัติ แต่เห็นว่าอดีตสมาชิก สปช.หลายคนเป็นนักปฏิบัติมีอยู่เยอะมาก จะสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ได้วางยุทธศาสตร์กันไว้ได้เป็นอย่างดีเพราะทำมากับมือ ยอมรับว่าสนใจอยากจะเข้าร่วม สปท. อยากทำงานด้านปฏิรูปให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

     นายอมร กล่าวต่อว่า ส่วนการที่จะให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมใน สปท.นั้น ส่วนตัวไม่ขัดข้อง นักการเมืองถือเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง น่าจะร่วมกันปฏิรูปเรื่องการเมืองให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง แต่สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องวิชาการหรือเรื่องการพัฒนาด้านต่างๆ ไม่มั่นใจในนักการเมือง คงต้องใช้นักวิชาการหรือนักปฏิบัติเฉพาะด้านเข้ามาลงมือทำ มองว่าการที่ผู้ใหญ่อยากให้มีนักการเมืองมาร่วมใน สปท. เพราะอาจมองว่า ที่ผ่านมานักการเมืองเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูป ดังนั้นคงอยากให้นักการเมืองเข้ามาลงมือปฏิบัติเอง หากทำอะไรออกมาดี หรือไม่ดี จะทำให้ลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงได้

@ 'อาณันย์'ชี้รู้มือ-สานงานต่อ

     พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า อดีต สปช.หลายคนอยากจะทำงานสานต่องานด้านการปฏิรูป เพราะเสียดายหลายเรื่องที่คิดเอาไว้แต่ยังไม่ได้ทำ ต้องดูว่าผู้มีอำนาจจะเห็นการทำงานที่ผ่านมาว่าจะสามารถสานต่อได้แค่ไหน ข้อดีของการเอาอดีต สปช.มานั่งเป็น สปท.คือรู้มือกันดี รู้ทิศทางว่าใครถนัดตรงไหน ส่วนข้อดีของการนำคนนอกมาก็จะได้เรื่องความหลากหลาย ดังนั้นถ้านำมาผสมกันก็จะได้ทั้งความหลากหลายและงานที่ต่อเนื่องถือว่าเป็นประโยชน์มาก คิดว่าโควต้าน่าจะไล่เรียงกันไม่ต่างกันมาก และไม่เกี่ยวกับอดีต สปช.จะอยู่ฝ่ายที่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนมีสิทธิเท่ากันอยู่ที่ผลงานที่ผ่านมา และผู้มีอำนาจจะเห็นว่าใครเหมาะสม 

     นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า ยังไม่มีใครมาทาบทามให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น สปท. ส่วนจะเลือกอดีต สปช.เข้ามาทำหน้าที่ด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯ แต่หากมีการทาบทามให้เข้ามาทำหน้าที่ และหากมีการเปิดกว้างให้นักการเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วยจะเป็นสิ่งที่ดี จะทำให้ สปท.หลากหลายมากขึ้น

@ อลงกรณ์แนะตั้งตัวแทน 18 กมธ.

    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิก สปช. กล่าวที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ทิศทางการแต่งตั้ง สปท. เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการเดินหน้าประเทศไทย นำไปสู่ความปรองดองควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ หลังจากภารกิจของ สปช.เสร็จสิ้นและส่งพิมพ์เขียวแนวทางการปฏิรูปให้รัฐบาลแล้ว สปท.จะมีหน้าที่ทำแผนให้มีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เป็นการสานงานต่อก่องานใหม่อย่างต่อเนื่อง และควรจะมีตัวแทน 18 กมธ.ของ สปช.ที่ทำพิมพ์เขียวการปฏิรูปแต่ละด้านเข้าร่วมด้วยเพื่อเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน 

      "ส่วนโผรายชื่อ สปท.ที่หลุดออกมาน่าจะเป็นการโยนหินถามทาง เนื่องจากนายกรัฐมนตรียืนยันหลายครั้งว่าการแต่งตั้ง สปท. ไม่ได้อยู่ที่ใครโหวตรับและไม่รับรัฐธรรมนูญ การปล่อยข่าวว่าจะมีกลุ่มที่คว่ำรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นสมาชิกจึงไม่น่าเชื่อและจะไปดิสเครดิตการจัดตั้ง สปท. เนื่องจากตัวบุคคลที่เหมาะสมไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ควรจะเป็นประโยชน์ของประเทศเพื่อความสำเร็จในการปฏิรูป" นายอลงกรณ์กล่าว

@ เสียงวิจารณ์ดิสเครดิต'บิ๊กตู่'

    นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปมีความสำเร็จแล้วหลายด้าน เพียงแต่เสียงวิจารณ์ทางการเมืองพยายามจะดิสเครดิต เพราะถ้ารัฐบาลนี้ทำสำเร็จก็เหมือนกับว่าเป็นความล้มเหลวของบรรดาพรรคการเมืองในอดีต และจะมีคำถามว่าขณะที่เคยบริหารบ้านเมืองทำไมทำให้ประเทศเกิดความตกต่ำ และระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับทำการปฏิรูปประเทศได้มากกว่า เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบสังคม แม้แต่เรื่องที่ประชาชนต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จากการทำธุรกิจมืดก็เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว หรือการออกฎหมายมรดกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และส่วนตัวเชื่อว่าการปฏิรูปไม่สามารถทำสำเร็จภายใน 1 ปี

      "ที่ผ่านมาทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด จึงควรมองอนาคตของประเทศสำคัญกว่าอนาคตของตัวเองหรือผลประโยชน์การเมืองที่จะได้รับ" นายอลงกรณ์กล่าว

@ 'ประยุทธ์'ไม่เพิ่มโควต้าอดีตสปช.

      พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้ง กรธ.และ สปท.ว่า การแต่งตั้งจะแล้วเสร็จก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 23 กันยายนนี้ อย่างแน่นอน ส่วนข้อเสนอของอดีตสมาชิก สปช.บางส่วนอยากให้เพิ่มโควต้าสัดส่วนของอดีต สปช.เข้าไปเป็น สปท. ทางนายกฯและรัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการกำหนดสัดส่วนตามที่นายกฯได้ระบุไปก่อนหน้านี้อยู่แล้ว 

      เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ระบุว่าถ้าจะให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ต้องเชื่อมโยงกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง พล.ต.วีรชนกล่าวว่า รัฐบาลรับฟังไว้ แต่อยากให้มองว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือช่วงรอยต่อก่อนที่จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องมีมาตรการอะไรที่เหมาะสมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน

@ 'มาร์ค'เตือนนักการเมืองร่วมกรธ.

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้รอ คสช.และรัฐบาลแต่งตั้ง กรธ. ทาง ปชป.พร้อมให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ คิดว่า กรธ.ไม่ควรให้ความสำคัญเรื่องโควต้า หวังว่า กรธ.ทั้ง 21 คนจะมีบทบาทในเรื่องการประสานความเห็นของฝ่ายต่างๆ มากกว่า และในส่วนนักการเมืองอยากให้ระมัดระวัง เพราะหากเข้าไปเป็น กรธ.แล้วไม่ครบทุกฝ่าย หรือถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน จะเป็นปัญหา อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันและให้ความร่วมมือเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาให้ประชาชน เพราะสุดท้ายประชาชนต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบผ่านการลงประชามติ

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ปชป.มีโควต้าเข้าร่วม สปท.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะมีโควต้าหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้เป็นอำนาจ คสช.แต่งตั้ง ไม่แน่ใจว่า สปท.จะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่จะผลักดันการปฏิรูปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถึงเวลาปฏิรูปจริงๆ ต้องใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่ง สปท.ไม่มีอำนาจนั้น คิดว่าอาจจะเป็นเวทีที่หลายฝ่ายมาช่วยกันสนับสนุนให้การปฏิรูปเกิดขึ้น ซึ่งคิดว่าคงไม่มีใครมีปัญหากับตรงนี้ 

เมื่อถามว่า หากในอนาคตมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะหยิบฉบับไหนมาแก้ไขแทน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่าไปเริ่มคิดว่าคว่ำหรือไม่คว่ำ แต่ควรจะคิดว่าจะทำอย่างให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและแก้ปัญหาได้ปฏิรูปได้ ไม่ย้อนกลับไปสู่การเมืองแบบเดิม และทำอย่างไรให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้

@ 'สมชัย'ชี้ขรก.คิดไม่หลุดกรอบ

      นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการแต่งตั้ง สปท. ว่า สิ่งที่ สปช.ทำไว้เป็นเพียงแนวทางปฏิรูปที่ผ่านการศึกษามาเท่านั้น ดังนั้น สปท.ควรนำมาแปลงเพื่อนำไปสู่รูปธรรมและปฏิบัติได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปต้องอาศัยกลไกรัฐหรือส่วนราชการเป็นหลัก สิ่งที่เป็นห่วงคือกระบวนการคิดของข้าราชการยังไม่เปลี่ยนจากอดีตและไม่ได้แสดงบทบาทในการผลักดันการปฏิรูป ยังเน้นทำตามคำสั่ง ทำงานภายใต้กฎระเบียบต่างๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง การจะให้ราชการเป็นกลไกหลักจึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการก่อน แนวคิดการปฏิรูปประเทศทำมานับ 10 ปี ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง จุดนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ สปท. ต้องดำเนินการให้ส่วนราชการมีบทบาท

@ ปูแนะร่างรธน.ทำให้เป็นที่ยอมรับ 

      เมื่อเวลา 12.30 น. ที่อาคารชินวัตร 3 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ไม่ขอลงลึกในรายละเอียดเพราะเชื่อว่ามีผู้รู้ในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคณะ สิ่งที่อยากเห็นคือให้ กรธ.ชุดใหม่ นำข้อเสนอต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ฝ่ายปฏิบัติ มาหาแนวทางที่ทำให้สังคมยอมรับ จะทำให้การปฏิรูปได้รับการยอมรับและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณี คสช.เชิญบุคคลที่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองเข้าปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วัน ว่า อยากให้ คสช.เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็น เพราะการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ดี อยากให้ความเห็นที่แสดงออกมานั้นมีส่วนร่วมจะทำให้ได้รับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนมากขึ้น

นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีบุคคลที่ออกมาแสดงความเห็นถูกคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วัน ระบุเพียงว่า "ไม่อยากที่จะพูดอะไรในสภาวะเช่นนี้ ขออยู่ข้างนอกดีแล้ว ไม่อยากไปกินข้าวฟรี 7 วัน"

@ 'ดุสิตโพล'เปิดผลสำรวจตั้งกรธ.

     ขณะที่ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,184 คน ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. จะต้องตั้ง กรธ.ขึ้นใหม่ 21 คนนั้น ในส่วนการแสดงความคิดเห็นคุณสมบัติ 5 ประเด็นของผู้ที่จะมาเป็น กรธ.ทั้ง 21 คน พบว่า อันดับ 1 เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประวัติดี มีผลงาน 83.12% อันดับ 2 มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน เสียสละทำเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม 81.06% อันดับ 3 ยุติธรรม เป็นกลาง ไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงำในการทำงาน 77.45% อันดับ 4 มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย การเมืองและการปกครอง 72.23% อันดับ 5 มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับในสังคม 65.29%

       ในส่วนหัวข้อประชาชนคิดว่าควร "ร่างรัฐธรรมนูญ" อย่างไร จึงจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย พบว่า อันดับ 1 เนื้อหาชัดเจน ไม่คลุมเครือ เป็นกลาง ให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย 82.94% อันดับ 2 ต้องผ่านการพิจารณาจากหลายฝ่ายอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย 79.50% อันดับ 3 มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชนอย่างแท้จริง 72.38% อันดับ 4 ทำตามกระบวนการขั้นตอน ถูกต้องตามหลักกฎหมาย 68.63% อันดับ 5 คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย 66.22%

@ 86%อยากให้คนดีนั่งเป็นกรธ.

      สำหรับ ประเด็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ประชาชนคิดว่ามีอะไรเป็นบทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ พบว่าอันดับ 1 สร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ 80.26% อันดับ 2 จะต้องมีกระบวนการขั้นตอนที่เปิดเผย สร้างความเข้าใจกับประชาชน 75.35% อันดับ 3 ประเด็นที่มีปัญหาหรือเป็นที่ถกเถียงควรพิจารณาเป็นพิเศษ 62.57% อันดับ 4 ไม่ใช้ความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากรอบด้าน 59.09% และอันดับ 5 ระยะเวลาที่สูญเปล่า งบประมาณที่หมดไป 57.13%

      ส่วนประเด็นสิ่งที่ประชาชนอยากจะฝากบอก พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือก กรธ. 21 คน พบว่า อันดับ 1 เลือกคนดีที่มีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ 86.74% อันดับ 2 อยากให้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ 82.23% อันดับ 3 เป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญ จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ 70.35% อันดับ 4 ผู้ที่เข้ามาควรมีความสมัครใจ ตั้งใจเข้ามาทำงาน ไม่ได้ถูกบังคับ 61.57% อันดับ 5 สามารถชี้แจงเหตุผลในการเลือก กรธ.แต่ละคนได้ 60.81% นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากจะฝากบอก กรธ.21 คนที่กำลังจะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ พบว่า อันดับ 1 ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อส่วนรวมและประชาชน 78.18% อันดับ 2 ทุกคนจะต้องมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อความก้าวหน้าของบ้านเมือง 74.75% อันดับ 3 ออกกฎหมายที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีบทบัญญัติ บทลงโทษที่ชัดเจน 72.13% อันดับ 4 ควรนำบทเรียนในอดีตมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น 63.85% และอันดับ 5 มีแนวทางการทำงานใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 54.14%.

@ 'นิด้าโพล'ชี้กรธ.ต้องเข้าใจปชช.

     ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง "ใครควรเป็น กรธ.และ สปท." จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมเป็น กรธ.และสมาชิก สปท. โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อคุณสมบัติของ กรธ. ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.88 ระบุว่า เป็นคนมีความเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รองลงมา ร้อยละ 19.44 ระบุว่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน

     ร้อยละ 16.96 ระบุว่า เป็นผู้เข้าใจบริบททางการเมืองไทยที่แท้จริง ร้อยละ 15.28 ระบุว่า เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หรือกฎหมายมหาชน ร้อยละ 6.24 ระบุว่า เป็นนักประนีประนอม ร้อยละ 1.52 ระบุว่า เป็นนักการเมืองหรือตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เช่น นปช. กปปส. และพันธมิตร ร้อยละ 1.36 ระบุว่า เป็นคนมีความเข้าใจความต้องการของ คสช. ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นคนมีความเข้าใจความต้องการของนักการเมือง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า เป็นนักประชาธิปไตยแบบตะวันตก ร้อยละ 1.28 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ใครก็ได้ที่เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม จริงใจในการแก้ไขปัญหา เป็นคนกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมาจากทุกกลุ่มอาชีพ และร้อยละ 6.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

@ 36%อยากได้ตัวแทนหลากหลาย

      เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อบุคคลที่สมควรเป็น สปท. ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.00 ระบุว่า เป็นบุคคลที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ รองลงมา ร้อยละ 14.96 ระบุว่า เป็นนักวิชาการ ร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมืองหรือตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เช่น นปช. กปปส. และพันธมิตร ร้อยละ 12.16 ระบุว่า เป็นอดีต สปช. หรืออดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 9.04 ระบุว่า เป็นทหาร ตำรวจร้อยละ 8.56 ระบุว่า เป็นนักการเมืองหรือตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เช่น นปช. กปปส. และพันธมิตร ร้อยละ 7.28 ระบุว่า เป็นบุคคลที่ไม่เคยเป็น สปช. หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 6.24 ระบุว่า เป็นข้าราชการประจำ ร้อยละ 4.48 ระบุว่า เป็นนักธุรกิจ ร้อยละ 4.48 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ เป็นผู้ที่เข้าใจกฎหมายบ้านเมือง รับรู้และเข้าถึงปัญหาของประชาชนและประเทศ มีความรู้ความสามารถ ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกเข้ามา มีความคิดเป็นอิสระเป็นของตัวเอง ไม่ถูกชักจูง ร้อยละ 0.24 ระบุว่าไม่มีใครเหมาะสม และร้อยละ 9.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

@ 'อ๋อย'ฉะยกเลิกหนังสือเดินทาง

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ พรรคเพื่อไทย (พท.) เขียนเฟซบุ๊กกรณีการถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ว่า ความสำคัญของสิทธิในการเดินทางเป็นเสรีภาพที่บุคคลพึงมีได้ตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครอง ซึ่งเสรีภาพในการเดินทางมีบัญญัติรับรองไว้ในข้อ 13 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2491 และข้อ 12 (2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2539 และการวินิจฉัยจากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) เกี่ยวกับการเพิกถอนหรือปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้พลเมือง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

     นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เสรีภาพในการเดินทางตามกฎหมายระหว่างประเทศ แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยตรง แต่มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับนี้ ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศ ทำให้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดังกล่าวพึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย และเสรีภาพในการเดินทาง ดังนั้น การยกเลิกหนังสือเดินทางโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางอันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

@ เสี่ยไก่ชี้แจ้งความไร้ประโยชน์

     นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีถูกชายฉกรรจ์หัวเกรียนทำร้ายร่างกายเมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี เพราะไม่มีประโยชน์ ทางตำรวจคงทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในยุคทหารเป็นใหญ่ มีทหารยืนอยู่ทุกสี่แยก ตำรวจคงไม่กล้า อย่างไรก็ตาม กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ ทั้งนี้ มีอาการเจ็บที่หลังคอเล็กน้อย ไม่เป็นอะไรมาก ส่วนการที่ไปถูกทำร้ายที่สนามฟุตบอลเมืองทองธานี เป็นสถานที่ซ้อมฟุตบอลของศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ถือว่าเป็นที่ชุมนุมของชาวสวนกุหลาบรู้อยู่ว่าตั้งใจ เพราะภาษานักเลงคงต้องการแสดงให้เห็นว่าสามารถมาทำร้ายกันถึงถิ่นได้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ต้องยอมรับความจริงว่าความแตกต่างทางความคิดเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะปกครองในระบอบใดเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะทำให้คนทุกคนคิดเหมือนกัน ถึงที่สุดแล้วถ้า คสช.ทำสำเร็จตามโรดแมปสังคมไทยจะต้องเดินหน้าไปท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอยู่ดี ล่าสุด มีเหตุดักทำร้ายนายวัฒนา แม้ยังไม่ทราบตัวคนทำ แต่จากการลงมือเป็นขบวนการที่สร้างบรรยากาศความหวาดระแวงและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลจำเป็นต้องเปิดใจกว้างและมีพื้นที่ให้ความคิดที่แตกต่างได้แสดงออกภายใต้ความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง

@ คสช.แจงปรับทัศนคติ'พิชัย-เก่ง'

      พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของ คสช. ควบคุมตัวนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และนายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พท. ปรับทัศนคติในค่ายทหารว่า ทั้งสองคนยังอยู่ดีเป็นปกติที่บ้านพักรับรองแห่งหนึ่งของทหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยด้วยทุกวันเพื่อปรับทัศนคติ ขอร้องให้ทำตามกฎ กติกา หากรับปากจะดำเนินการปล่อยตัว ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เชิญตัวมาทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาทั้ง 2 คน ยังพูดแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อรัฐบาลและ คสช.ที่อาจสร้างความวุ่นวายหรือทำให้คนทะเลาะกันได้ เพราะการพูดในบางเรื่องนั้นอาจสร้างความแตกแยก แต่ถ้าเป็นการพูดแนะนำเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลและ คสช.ไม่มีปัญหา เพราะได้พยายามดำเนินการตามโรดแมป

     "ยืนยันว่า ทหารไม่ทำร้ายร่างกายทั้ง 2 คน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมตัวทั้ง 2 คน เพื่อดำเนินการปรับทัศนคติตามกฎหมายเป็นเวลา 7 วัน แต่ถ้าปล่อยตัวไปแล้วยังพูดเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายอีก กกล.รส.จะเชิญตัวมาปรับทัศนคติอีก 7 วัน เรื่อยๆ แต่หากยังไม่ยอมรับฟังกัน จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการ เพราะถือว่าขัดคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช.ฟังทุกคน เรื่องความคิดนั้น ทุกคนสามารถคิดแตกต่างได้ แต่ช่วยพูดแบบสร้างสรรค์ในเชิงแนะนำ ไม่ใช่การพูดติติง เปรียบเทียบ กล่าวหารัฐบาลและ คสช. เพราะรัฐบาลและ คสช.มีความหวังดี แต่ทุกเรื่องต้องใช้เวลาซึ่งอาจช้าไปบ้าง" พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าว 

     เมื่อถามถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข เรียกร้องให้ คสช.ดูแลความปลอดภัย ภายหลังถูกชายฉกรรจ์ผมเกรียนทำร้ายร่างกายที่สนามซ้อมฟุตบอลภายในเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ว่าสาเหตุมาจากประเด็นการเมือง คสช.ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคนอยู่แล้ว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองหรือไม่นั้น ไม่ทราบ ยืนยันว่าทหารไม่ทำร้ายร่างกายใครแน่นอน

@ 'เสี่ยไก่'เขียนถึง'บิ๊กตู่'ถูกทำร้าย

      นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีถูกดักทำร้ายร่างกายเหตุเกิดบริเวณที่จอดรถข้างสนามซ้อมฟุตบอลเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา โดยตั้งหัวข้อว่า "คำถามถึงหัวหน้า คสช." "ตามที่ผมได้เคยนำเรียนพี่น้องประชาชนว่า นับจากผมได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พลเอกประยุทธ์กับพวก เป็นเหตุให้ผมถูกทหารคุกคาม ตั้งแต่การเข้าไปถ่ายรูปบ้านและทะเบียนรถผมทุกคัน สืบข้อมูลเวลาเข้าออกบ้านของผม สะกดรอยติดตามจนกระทั่งวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ผมก็ถูกลอบทำร้ายจากชายฉกรรจ์ตัดผมเกรียนตามที่เป็นข่าวไปแล้ว ผมเชื่อว่าต้องมีคนดาหน้าออกมาปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับทหารและการเมืองและก็เป็นความจริง ในที่สุดเสนาธิการทหารบกก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าทหารไม่ทำร้ายร่างกายใครอย่างแน่นอนและดูแลความปลอดภัยให้ทุกคนอยู่แล้ว"

@ ยันหลักฐานเป็นส.อ.สังกัดร.2 พัน 2

     นายวัฒนา เขียนต่อว่า "แต่ผมเชื่อว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายผมอย่างแน่นอนครับ ผมมีหลักฐานและต้องการคำตอบจากพลเอกประยุทธ์ผู้เป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ในวันเสาร์ที่ผมถูกทำร้ายนั้น ผมไปร่วมแข่งฟุตบอลลีกของศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่สนามซ้อมเมืองทองธานี มีศิษย์เก่าจำนวน 24 รุ่น ส่งทีมเข้าแข่งขัน สถานที่นั้นเสมือนเป็นงานรวมรุ่นของพวกผมที่ไม่มีคนอื่นเพราะเป็นงานของศิษย์เก่า พอแข่งบอลเสร็จผมเดินกลับมาที่รถและถูกทำร้ายในขณะกำลังขึ้นรถ

     หลังจากผมถูกทำร้ายผมสังเกตเห็นรถฮอนด้าสีขาวจอดห่างจากรถผมประมาณ 20 เมตร ที่ผิดสังเกตคือหน้าตาท่าทางเจ้าของรถไม่ใช่รุ่นพี่รุ่นน้องผม ในขณะที่คนทำร้ายผมวิ่งหนีผ่านไปทางรถคันนี้ ชายเจ้าของรถได้ออกมายืนนอกรถคล้ายคุ้มกันและโทรศัพท์ไปด้วย" 

      "เมื่อคนที่ทำร้ายผมหนีไปได้แล้วชายคนดังกล่าวก็ขับรถออกจากสนามไป ผมถ่ายรูปชายคนดังกล่าวและรถไว้ด้วยและได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนพบว่า ผู้ครอบครองเป็นทหารยศสิบเอก เป็นหัวหน้าชุดกำลังพลหลักสูตรนายสิบยุทธการและการข่าว รุ่น 48 ปัจจุบันทำงานที่ ร.2 พัน 2 รอ. คำตอบที่ผมอยากฟังจากหัวหน้า คสช. คือลูกน้องท่านที่พล. ร.2 มาทำอะไรอยู่ในสถานที่และเวลาที่ผมถูกทำร้าย ผมไม่คิดว่า ท่านสั่งเพราะเชื่อว่า คนที่เคยเป็นทหารเสือคงมีจิตใจเป็นเสือที่ไม่ใช้การลอบทำร้ายที่เป็นพฤติกรรมของสัตว์สี่เท้าอีกประเภท แต่ผมและประชาชนต้องการคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่าท่านไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง ท่านจะรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมและจะมีหลักประกันความปลอดภัยให้ผมและประชาชนทั่วไปที่คิดต่างจากท่านอย่างไร" 

@ จตุพรเชื่อจัดฉากทำร้าย'วัฒนา'

       นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่รู้ใครทำหรือเป็นการส่งสัญญาณหรือไม่ แต่ไม่เป็นผลดีกับประเทศเพราะพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่าใครวิจารณ์ผู้นำปัจจุบันต้องถูกขังหรือใครมีความเห็นแตกต่างต้องถูกต่อย หรือถูกทำร้ายอาจเป็นการสร้างสถานการณ์ พฤติกรรมส่อถึงความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนายวัฒนาเท่านั้น 2 วันที่ผ่านมา ทหารเข้าไปเยี่ยมนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ถึงบ้านพัก บางครั้งมาจอดรถหน้าบ้าน แล้วขับรถทหารจากไป โดยไม่ทราบเจตนาว่ามาทำไม ทุกคนมีความรักชาติเหมือนกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!