WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8613 ข่าวสดรายวัน


เลิกอ้างร่วมต้านปู บิ๊กตู่ฮึ่ม! ห้ามเลี้ยงระดมหาทุน 
ถ้าไม่เชื่อดำเนินคดีแน่ เทือก ล้ม'ดินเนอร์'ทันที เผยกค.-ทูลเกล้าฯรธน. ปปช.เปิดเซฟอดีตรมต. บัวแก้วย้ายล็อตใหญ่ทูต


ฝากขัง - นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เข้ารายงานตัวที่ศาลทหารตามกำหนดที่พนักงานสอบสวนยื่นฝากขังผลัด 2 อีก 12 วัน ก่อนศาลอนุญาต และให้ปล่อยตัวนายวรเจตน์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

'บิ๊กตู่'แถลงออกทีวีโต้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลปู ยันไม่เคยสมคบคิดร่วมโค่น ล้มรบ. ระบุการจัดชุมนุมทางการเมืองหรือระดม

    ทุนต่างๆ ทำไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าทำอีกจะเรียกมาดำเนินคดี เผยร่างธรรมนูญปกครองฉบับชั่วคราวเสร็จแล้ว คาดเดือนก.ค.ประกาศใช้ จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนตั้งครม.-สภาปฏิรูปแก้ไขความไม่เป็นธรรมทุกด้านคาด ก.ค.ปีหน้าเสร็จ ป.ป.ช.เปิดกรุสมบัติรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯปูมี 574 ล้านลดลง 27 ล้าน "ปลอด"อู้ฟู่สุดมีเกือบพันล้าน คสช.ส่ง'บิ๊กโด่ง'นัดพบพูดคุยสื่อยัน 1 ปีมีเลือกตั้ง 'ปิยสวัสดิ์'ตามโผนั่งบอร์ดปตท. จ่อขึ้นประธาน บัวแก้วย้ายเอกอัครราชทูตระลอกใหญ่ 'นรชิต'มานั่งปลัดกต. ส่วน 'สีหศักดิ์'ไปโตเกียว 'วีรชัย'ไปนิวยอร์ก

ถกนอร์เวย์แบนอาหารทะเลไทย

      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งแต่ละฝ่ายได้รายงานสถานการณ์และการปฏิบัติงานที่สำคัญ ในส่วนงานด้าน การข่าว เลขาธิการคสช.สั่งให้ติดตามการเคลื่อนไหวขององค์การเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งขึ้น ระบุว่าให้หาทางทำความเข้าใจกับกลุ่มดังกล่าวเพื่อปรับทัศนคติ ให้สถานการณ์เรียบร้อย ไม่ก่อปัญหาในอนาคต

      ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งคสช.อยู่ระหว่างการจัดระเบียบนั้น ฝ่ายความมั่นคงรายงานถึงการเปิดศูนย์ประสานงานรับแรงงานชาวกัมพูชา 4 ศูนย์และยังต้องชี้แจงข้อมูลให้แรงงานกัมพูชาทราบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เลขาธิการ คสช. ระบุว่าให้ดูแลปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เร่งทำความเข้าใจกับบริษัทต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะงดนำเข้าสินค้าจากไทยเนื่องจากปัญหาแรงงาน เช่น บริษัทเวิลด์ ฟูดส์ ของอเมริกา และ บริษัทไอซีเอ ของนอร์เวย์ที่นำเข้าอาหารทะเลสดจากไทย ให้เข้าใจและยืนยันถึงเหตุผลในการดูแลแรงงานของไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังสั่งการให้ติดตามปัญหาแรงงานพม่าในไทย เนื่องจากเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยร้องขอให้ช่วยแก้ปัญหา อีกทั้งยังระบุว่าวันที่ 2 ก.ค. จะมีกลุ่มนักธุรกิจเข้าหารือกับหัวหน้าคสช. ที่บก.ทบ.

"บิ๊กโด่ง"นัด-พูดคุยสื่อทุกแขนง

     เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีฯ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานพบปะพูดคุยกับตัวแทนสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ โดยมีผู้บริหาร บรรณาธิการและตัวแทนสื่อเข้าร่วม ประมาณ 50 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานร่วมกัน มีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ และคณะนายทหารทำหน้าที่ประสานงานกับสื่อมวลชน เข้าร่วมด้วย ใช้เวลานาน 2 ชั่วโมงเศษ

     พล.อ.อุดมเดช กล่าวชี้แจงความจำเป็นที่ คสช.ต้องเข้ามายึดอำนาจ และเมื่อเข้ามาแล้วก็ดำเนินการยึดตามโรดแม็ป 3 ระยะ ตามที่หัวหน้า คสช. ประกาศไว้ ระยะที่ 1 ใช้เวลา 3 เดือนในการสร้างความปรองดอง เตรียมการปฏิรูป ระยะที่ 2 ประกาศธรรมนูญปกครองชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติ ตั้งนายกรัฐมนตรีและครม.ชั่วคราว ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อทุกอย่างลงตัวก็จะก้าวเข้าสู่ ระยะที่ 3 คือการจัดให้มีการเลือกตั้ง

     สำหรับการทำงานร่วมกับสื่อนั้น คสช.ตั้งคณะทำงานติดตามดูแลหลักขึ้นมา มีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน แยกย่อยเป็นอีก 5 กลุ่มเพื่อดูแลประสานงานสื่อแต่ละประเภท ยอมรับว่ายังมีสื่อทีวีดาวเทียมบางแห่งที่ยังไม่ได้ออกอากาศ หรืออยู่ระหว่างชะลอการดำเนินการ ซึ่งต้องรออีกสักระยะ เพื่อให้สถานการณ์มีความเรียบร้อย ราบรื่น เนื่องจากขณะนี้ยังมีการแสดงสัญลักษณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอยู่ จึงไม่อยากให้มีภาพดังกล่าวออกมา

ขอให้หลีกเลี่ยงเสนอข่าวเสรีไทย

     ส่วนกรณีมีกลุ่มทหารเข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ขอไม่ให้นำเสนอข่าวนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ต่อไปจะสั่งให้ติดต่อแจ้งกับผู้บริหารสื่อล่วงหน้า หรืออาจใช้วิธีติดต่อชี้แจงทางโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกตกใจ โดยทหารจะไม่ก้าวร้าวและไม่สร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตามกรณีนายจารุพงศ์ ประกาศตั้งองค์กรเสรีไทย ต้องการให้สื่อใช้ดุลพินิจในการนำเสนอข่าว หากหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นการดี เพราะเป็นเรื่องไม่ควร หากมีการเสนอข่าวผู้ที่เคลื่อนไหวอันจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเก่าๆ คสช.ไม่ได้ห้ามเสนอข่าว แต่อย่าทำให้เกิดน้ำหนัก ควรให้ประชาชนรับรู้ในระดับที่พอควรเหมาะสม

     เลขาฯ คสช. กล่าวด้วยว่า ข่าวองค์กรเสรีไทยไม่ได้มีผลกระทบกับ คสช. แต่ไม่อยากให้เป็นเงื่อนไขขึ้นมาในอนาคต เพราะตามโรดแม็ปที่กำหนด คสช.ไม่อยากอยู่ในอำนาจนานเกินไป แต่หากมีเรื่องแทรกซ้อนอื่นเข้ามา ก็อาจมีผลกระทบต่อเงื่อนเวลาในโรดแม็ปได้ คสช.ไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนั้น

เมื่อถามว่า คสช.ได้หารือถึงตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ แล้วหรือยัง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะมาเป็น และเชื่อว่าคนที่มีชื่อ ก็ยังไม่แน่ใจเช่นกัน

สมาคมสื่อยื่นจ.ม.เปิดผนึก'อดุลย์'

     ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงข้อห่วงใยและข้อเรียกร้องต่อกรณีคสช. ตั้งคณะทำงาน 5 ชุดเกี่ยวกับสื่อทุกด้าน โดยขอให้คณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารฯ จัดทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน รวมทั้งแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมแก่สภาพการณ์ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อแสดงการเคารพต่อวิจารณญาณของคนไทยโดยส่วนใหญ่ โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.และหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ รับมอบจดหมายด้วยตัวเอง 

    พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การที่คสช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติตดามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ตามกรอบแนวทางของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารนั้น เนื่องจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารมีภารกิจมาก จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยกันและมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นนั้นถือเป็นการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความกระชับมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการมีขั้นตอน ไม่ต้องห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้สบายใจได้

คสช.อ้างไม่ให้ราคา'จักรภพ'

     เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกและทีมโฆษกคสช. กล่าวกรณีนายจักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์สื่อแคนาดาเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยอ้างว่าได้หารือกับบุคคลในรัฐบาลแคนาดาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคล ยังไม่มีผลกระทบกับคสช. เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวที่พูดจากคนเพียงคนเดียวที่อยู่นอกประเทศ และไม่มีข้อมูลชัดเจน เบื้องต้นคสช.จะจับตาความเคลื่อนไหวของบุคคลเหล่านี้เป็นระยะ ในวงกว้างไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเราติดตามอยู่หลายคน ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องจะพิจารณาอีกครั้ง 

    พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลพลัดถิ่นนั้น จากการติดตามพบความเคลื่อนไหวอยู่ 2 คน เช่น นายจักรภพ ที่เคลื่อนไหวตั้งแต่แรกแต่ยังไม่ทราบว่าเคลื่อนไหวอยู่ประเทศใด เมื่อถามว่าหากบุคคลเหล่านี้ตั้งรัฐบาลได้จริงจะทำอย่างไร พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เป็นการพูดจากคนคนเดียวแต่ในประเทศไทยยังมีคนอีก 70 ล้านคนที่เราต้องรับฟัง 

     เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของนายจักรภพ และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ถูกนำไปเชื่อมโยงกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ไม่ทราบ และบอกไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวมีความเชื่อมโยงกับใครบ้างเพราะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อน ให้ระวังการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ด้วย ต่อข้อถามว่าคสช.จับตาความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณอยู่หรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า คสช.จะจับตาความเคลื่อน ไหวในประเทศเป็นหลัก และมุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลัก 

เตือนชุมนุมหน้าสถานทูตมะกัน

      เมื่อถามว่า คสช.ทราบข้อมูลหรือไม่ว่าองค์กรเสรีไทยฯ ไปพูดคุยกับประเทศต่างๆ ถึง 5 ประเทศ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ต้องพิสูจน์ว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ต่อข้อถามว่าตำรวจได้รายงานการประสานงานกับตำรวจสากลเพื่อติดตามตัวอย่างไรบ้าง พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการพิจารณา เรื่องนี้จึงยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ 

    ส่วนที่มีข่าวว่า จะมีกลุ่มแอนตี้อเมริกาเคลื่อนไหวหน้าสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยในวันที่ 29 มิ.ย.นั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ยังเป็นเพียงข่าว ซึ่งการชุมนุมที่เกิน 5 คนต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ ตำรวจเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้และจะไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน 

     พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. - 25 มิ.ย.ว่า ในภาพรวมดำเนินกิจกรรมมาแล้ว 3,322 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมเสริมสร้างปรองดองในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก 12,557 ชุมชน/หมู่บ้าน และในพื้นที่อื่นๆ อีก 573 อำเภอ จัดเวทีเสวนาแล้ว 231 เวที และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16,347 หมู่บ้าน จัดลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ 155 ฉบับ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก 20 จังหวัด และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 369 คน


ปลื้มไปป์ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมยินดีกับน้องไปป์ บุตรชายที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2557 ที่ร.ร.นานาชาติ ฮาร์โรว์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

'วรเจตน์'ชี้สัญญาณดีจากคสช.

    เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เดินทางมารายงานตัวตามกำหนดที่พนักงานสอบสวนนัดยื่นคำร้องต่อศาลขอควบคุมตัวผลัดสองอีก 12 วัน จากฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เพื่อขอเก็บข้อมูลและสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งนายวรเจตน์เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไปในผลัดแรก ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาทเมื่อวันที่ 18 มิ.ย

     นายวรเจตน์ กล่าวว่า ส่วนที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุคสช.อาจจะไม่มีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี อีกทั้ง คสช.ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรเจตน์มีสีหน้ายิ้มแย้มผ่อนคลาย โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 20 คน มายืนรอมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนับสิบรายตรึงกำลังอยู่ด้านหน้ามากกว่าปกติจากที่ผ่านมาได้ถ่ายภาพบุคคลที่มาให้กำลังใจไว้เป็นหลักฐาน 

ศาลทหารปล่อยตัวชั่วคราวอีก

     เวลา 11.15 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ตุลาการศาลทหารได้พิจารณาคดีของนาย วรเจตน์ ตามที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังเพิ่มอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.ถึงวันที่ 11 ก.ค. เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก และตรวจสอบประวัติอาชญากรกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร ด้านนายวรเจตน์ไม่ได้คัดค้านการขอฝากขัง และขอให้พนักงานสอบสวนช่วยเร่งรัดสอบปากคำพยาน เนื่อง จากคดีไม่ซับซ้อน 

       จากนั้น ตุลาการศาลทหารอนุมัติฝากขังนายวรเจตน์ต่ออีก 12 วัน และให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากสัญญาประกันตัวที่นายวรเจตน์ทำไว้เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ยังมีผลอยู่ โดยให้ใช้เงื่อนไขการประกันตัวเดิม

     เวลา 11.40 น. นายวรเจตน์ให้สัมภาษณ์ว่าขอขอบคุณทุกคนที่มีความห่วงใยและมาให้กำลังใจด้วย 

   ด้านนายวิญญัติ ชามนตรี เลขาธิการกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ทนายความนายวรเจตน์ กล่าวว่า ศาลอาจจะนัดพิจารณาคำขอฝากขังผลัดสามจากพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. ซึ่งนาย วรเจตน์พร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนที่นายวรเจตน์ร้องขอให้พนักงานสอบสวนกระทำการสอบสวนโดยเร็ว เนื่องจากนายวรเจตน์อยากให้กระบวนการพิจารณาต่อเนื่องว่าท้ายสุดแล้วจะทำสำนวนส่งฟ้องหรือไม่ จึงมองว่ากระบวนการขออำนาจศาลฝากขังในแต่ละผลัดนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาระความรับผิดชอบในการให้ความรู้ทางวิชาการแก่นักศึกษา

"ปิยสวัสดิ์"นั่งบอร์ดปตท.ตามโผ

      วันเดียวกัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่ 6 คน แทนกรรมการที่ลาออกไป 7 คน ส่วนอีก 1 คนจะตั้งในการประชุมครั้งหน้า เพื่อให้ได้กรรมการครบ 15 คน

     คณะกรรมการใหม่ได้แก่ 1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงงาน แทนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ในตำแหน่งกรรมการอิสระ 2.นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ แทนนายอรรถพล ใหญ่สว่าง 3.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็นกรรมการอิสระ แทนนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ 4.นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการอิสระ แทนนายทศพร ศิริสัมพันธ์ 5.นายกิติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการอิสระ แทนนาย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว และ6.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรรมการ แทนนายอินสอน บัวเขียว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป

     "การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ครั้งนี้ เป็นอีกก้าวของความเปลี่ยนแปลง ทำให้ ปตท. พร้อมดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาและเสนอแนวทางการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ให้เหมาะสม มีความคล่องตัว ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

"ประจิน"แจงตั้งซูเปอร์บอร์ด

     ส่วนจะตั้งนายปิยสวัสดิ์ เป็นประธานบอร์ด ปตท.หรือไม่นั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการประชุมครั้งหน้า ซึ่งปกติจะประชุมทุกปลายเดือน ส่วนข้อกังวลว่าหากนายปิยสวัสดิ์ เป็นประธานบอร์ดแล้วอาจยึดหลักให้ราคาพลังงานอิงราคาตลาดโลก อาจกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันนั้น ที่ประชุมยืนยันการเลือกกรรมการ จะดูที่ประสบการณ์ ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ มีประสบการณ์มานาน การทำงานของ คสช. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) รวมถึงคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ก็ยึดหลักดูแลประโยชน์ของประเทศ

     "การตั้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อบูรณาการการทำงานของทั้ง 56 รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกันมากขึ้น จากนี้ไม่จำเป็นที่โครงการมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านบาทต้องผ่านซูเปอร์บอร์ด โดยจะพิจารณา 2 แนวทาง คือถ้าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวต้องผ่านการพิจารณา แต่ถ้าเป็นโครงการที่ดำเนินตามงานประจำ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเข้าซูเปอร์บอร์ด" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า ส่วนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซนั้น เดิมจะให้เสร็จภายในเดือนนี้ แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นภายในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้จะพยายามดำเนินการให้เรียบร้อย หากไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรก แต่หากมีปัจจัยแทรกจะให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ส่วนแนวทางการยุบกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงนั้น อยู่ระหว่างศึกษาทั้งข้อดีข้อเสีย ดูว่าฐานะกองทุนที่ติดลบ 7 พันล้านบาทจะแก้ปัญหาอย่าไร

ตั้ง"ศิวเกียรติ์"ดีดีการบินไทย

       พล.อ.อ.ประจิน ในฐานะประธานบอร์ด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมบอร์ดวาระพิเศษว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นายโชคชัย ปัญญายงค์ ลาออกจากรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย แต่ยังคงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการพาณิชย์ ของบริษัทตามเดิมต่อไป มีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยนายโชคชัยให้เหตุผลว่าการดำรงตำแหน่งทั้ง 2 พร้อมกันทำให้มีภาระหน้าที่รับผิดชอบมาก เกรงจะทำงานไม่ไหว

    รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทยเผยว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งพล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ กรรมการ ขึ้นหน้าที่รักษาการดีดีแทน มีผลวันที่ 1 ก.ค. 

     พล.อ.อ.ประจินให้สัมภาษณ์ข่าวคตร.สั่งระงับโครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์(รถโดยสาร) จำนวน 115 คัน และโครงการจัดหารถจักร(หัวรถจักร) จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ขอเวลาตรวจสอบข้อมูลถึงเหตุผลการถูกยกเลิกก่อน แต่ในฐานะที่ดูแลงานกระทรวงคมนาคมและรฟท. ตนเห็นความสำคัญและจำเป็นของโครงการนี้ เพราะหัวรถจักรและโบกี้เก่า มีอายุใช้นานจึงต้องเปลี่ยนให้ทันสมัยเพื่อความปลอดภัย แต่ต้องดูว่าขบวนการจัดหา หรือเรื่องราคามีปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร หากพบว่างบประมาณที่ตั้งไว้เดิมสูงเกินไปก็ต้องปรับให้เหมาะสม

"บิ๊กตู่"ลั่นเร่งปฏิรูป-ทำตามโลก

    เมื่อเวลา 20.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่งว่าเรามีแผนดำเนินการแบ่งเป็นระยะ โดยระยะแรก แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดำเนินการในห้วง 3 เดือน รวมถึงการเตรียมการปฏิรูปเพื่อเข้าสู่การปรองดอง สมานฉันท์ และการปฏิรูปในระยะที่สอง ในขั้นนี้เราจะดำเนินการเมื่อมีรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป และระยะ 3 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว หลังจากการเลือกตั้งจะนำปัญหาจากระยะที่ 1 และ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 ปัญหาใดที่ยังไม่เสร็จ ต้องไปดำเนินการให้ต่อเนื่อง และแก้ไขโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้การปฏิรูปที่เราทำมาทั้ง 2 ระยะนั้น มีความสมบูรณ์เพื่อประโยชน์สุขของคนทุกกลุ่ม

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับท่าทีของที่ประชุมคณะมนตรีต่างประเทศของอียูหรือสหรัฐ ตนได้เรียนให้ทราบถึงปัญหาของเราคืออะไร การเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์นักจะเป็นอันตรายต่อทั้งเราและเขาด้วย เราพยายามเต็มที่ที่จะทำตามที่สังคมโลกจับตามองอยู่ให้ดีที่สุด วันนี้เราจะปฏิรูปให้ได้โดยเร็ว ทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หวังว่าอียูหรือสหรัฐ จะเข้าใจเหมือนคนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าใจสถานการณ์ดี และพอใจการแก้ปัญหาของพวกเรา 

เรียกร้องจารุพงศ์-จักรภพกลับมา

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการกล่าวว่ามีการกักขังทางการเมืองนั้น พวกเราไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้เป็นศัตรูของใคร เราต้องการทำให้บ้านเมืองเป็นปกติ วันนี้ที่เราเรียกมาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมายเราต้องปล่อยกลับไป ที่เหลือก็อยู่ในกระบวน การยุติธรรม เขาต่อสู้คดีได้ แม้กระทั่งคดีที่ส่งศาลทหาร คสช.ยังให้ประกันตัวสู้คดีได้ 

      "ตรงนี้ก็เหมือนวิธีการปกติใกล้เคียงกันมาก ถึงแม้จะขึ้นศาลทหาร แต่อย่าไปกังวลกับศาลทหาร คดีตัวอย่างเช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งมีคดีอยู่มาก ขอให้กลับมา ถ้ากลับมาเราจะดูแลให้เกิดความยุติธรรม เกิดความชอบธรรมตามที่ต้องการ ถ้ายังต่อสู้อยู่แบบนี้ ผมว่าคดีคงมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวข้องกับอาวุธสงคราม กฎหมายหมิ่นประมาท ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป ฉะนั้นอย่าให้คนเหล่านี้ชี้นำประเทศไทยโดยเด็ดขาด ถ้าเรื่องใดเชื่อว่าเป็นคดีทางการเมือง ต้องไปพิสูจน์หลักฐานกันและนำไปแก้ไขในระยะที่ 2 ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ชอบธรรม การเมืองต้องเป็นเรื่องของการเมือง แต่เรื่องใดที่ผิดกฎหมายคดีอาญา การใช้อาวุธสงคราม สั่งการ ทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียของประชาชน ถือว่าอันตราย ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเด็ดขาด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


ทะลักไทย - แรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากแห่ทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว ที่จุดผ่านแดนบ้านคลองลึก จ.สระบุรี เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายหลังที่ คสช.ยืนยันไม่มีนโยบายกวาดล้างตามที่ร่ำลือวิตกกัน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

ห้ามเด็ดขาดจัดคุยทางการเมือง

      หัวหน้าคสช.กล่าวว่า สื่อต่างๆ ต้องระมัดระวังการลงข่าวสาร ต้องถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนว่าเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ถ้าเขียนไปเอง จินตนาการไปเองจะเสียหายในอนาคต เพราะการพูดจาของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอดีต ซึ่งอ้างถึงหัวหน้าคสช. ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในระหว่างนั้น 6 เดือนที่ผ่านมา ตนมีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย บังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลขณะนั้น ไม่ได้ไปร่วมคิดร่วมปฏิบัติกับฝ่ายใดทั้งสิ้น ตนจะไม่ทำให้กองทัพเสียหาย 

    "ขอห้ามไว้ตรงนี้ว่าห้ามการจัดงาน เช่น จัดพูดคุยทางการเมือง รับประทานอาหารระดมทุนไม่ว่าจะช่วยเหลือใคร สิ่งนี้ยังไม่ถึงเวลา ถ้ามีการระดมได้เมื่อไร พูดคุยได้เมื่อไหร่ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องมา กลับไปสู่วงจรเก่าๆ อีก ขอความร่วมมืออย่าทำอีก ถ้าอยากพูดคุยต้องไปคุยที่บ้านเงียบๆ สองคน จัดชุมนุมหรือจัดงานเลี้ยงข้างนอกไม่ได้ เพราะผิดกฎอัยการศึก ถ้าทำอีกจะถูกเรียกตัวทุกคนที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี ฐานะผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. สื่อต้องพิจารณาตรวจสอบให้ดีก่อนลงข่าว ต้องตรวจสอบกับคสช. ก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า การปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างหรือการชุมนุมอื่น คสช.จะใช้มาตรการที่ละมุนละม่อม วันนี้เชิญนิสิต นักศึกษาที่ยังขัดแย้ง ยังมีความเห็นไม่ตรงมาพบเพื่อทำความเข้าใจ วันนี้ดีขึ้นแล้ว เราไม่ต้องการให้บังคับการใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ช่วงนี้ขอให้อดทนไปก่อน 

ธรรมนูญชั่วคราวเสร็จแล้ว-ใช้ก.ค.นี้

     หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ระยะที่ 1 มองกลับไปวันที่ 22 พ.ค.ถึงวันนี้นับได้ 37 วัน ได้ดำเนินการคู่ขนานการแก้ปัญหา นั่นคือสิ่งที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ได้จัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บริหารประเทศตามหลักนิติรัฐ เพื่อให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ยึดถือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นหลักการสำคัญ ซึ่งการยกร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้วและผ่านการพิจารณาตรวจแก้โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอยู่ และสัปดาห์หน้า คสช.จะพิจารณาว่าต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ จะดำเนินการให้รวดเร็ว นำร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ค.นี้ นี่คือขั้นตอนการจัดทำธรรมนูญฉบับชั่วคราว

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระยะต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 เดือนหรือเกินกว่านั้นเล็กน้อยในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในเดือนก.ย.นี้ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องใช้กระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ทุกจังหวัด มาเป็นสมาชิก จึงต้องใช้เวลา 2 เดือน นับแต่วันประกาศใช้ธรรมนูญฉบับชั่วคราว คาดว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ในต้นเดือนต.ค.นี้

ตั้งสภาปฏิรูปทำทุกด้าน-เสร็จ58

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปโดยสภาปฏิรูปฯนั้น ธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ปฏิรูปในทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน กระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ โดยสภา ปฏิรูปฯจะจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เสร็จ ใช้เวลาปฏิรูประยะที่ 2 ประมาณ 10 เดือน ใช้เวลาจัดตั้ง 2 เดือน หลังจากวันที่สภาปฏิรูปฯปฏิบัติหน้าที่ ทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน นับจากวันประกาศใช้ธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือเดือนก.ค. 2558

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ระยะที่ 3 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมีผลบังคับใช้ ถือได้ว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยสมบูรณ์ ถึงแม้คณะรัฐบาลของ คสช. จะต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา แต่ถือเป็นการบริหารประเทศในกรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน และคสช.ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นระบบการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การเมืองที่มีแต่ความขัดแย้ง ทุกอย่างน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2558 จะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ 

ให้ 3 องค์กรระดมสมองชงปฏิรูป

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปรับปรุงระบบข้าราชการ ศาล กระบวนการยุติธรรม เรื่องอยู่ในสภาปฏิรูป จะเร่งดำเนินการในระยะที่ 1 เรื่องอะไรที่ต้องแถลง ต้องทำความเข้าใจ อยู่ในระยะเวลา 1 ปี ในช่วงปฏิรูป 10 เดือน และ 12 เดือนในระยะที่ 2 ทั้งนี้ เรื่องปฏิรูปได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องหลัก ซึ่งได้สั่งการเพิ่มเติมในส่วนของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)ว่า นอกจากนำคน นำคู่ขัดแย้ง หรือใครที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ให้นำ 3 เรื่องหลัก คือด้านวิชาการ สถาบันพระปกเกล้ารับดูแลในภาคประชาชน ส่วนเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ จะให้กลุ่มสมาคมทั้ง 7 สมาคมที่ทำไว้แล้วเดิมเข้ามาชี้แจงและรับผิดชอบในกลุ่มดังกล่าว เรื่องที่ 3 เป็นด้านวิชาการ ซึ่งเป็นกลุ่มของอธิการบดี

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อ 3 กลุ่มหลักเริ่มเข้ามาดำเนินการให้ทุกภาคส่วนในสภาปฏิรูปได้ทำความเข้าใจกัน มาถกแถลงกันให้ได้ข้อยุติในช่วงที่ 2 วันนี้ได้สั่งการอย่างชัดเจนและจะเร่งดำเนินการ ทุกอย่างยังเดินไปข้างหน้า ปัญหาข้างหลังยังมีปัญหาทั้งในและนอก แต่พวกเราพร้อมแบกรับปัญหาเหล่านั้น ขอให้ทุกคนช่วยกัน ขอความร่วมมือ บางคนอาจหงุดหงิดไปบ้าง ทำให้ดูละครช้าไปเล็กน้อย ต้องขออภัยด้วย 

    วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า"ผมกราบขออภัยท่านที่ตั้งใจจะไปทานอาหารกับผมในวันเสาร์พรุ่งนี้ ผมขอยกเลิกรายการทานอาหารด้วยกันทุกวันเสาร์โดยสิ้นเชิงครับ กราบขออภัยอย่างยิ่ง ด้วยความเคารพ วันศุกร์ที่ 27 มิ.ย. 57 เวลา 22.28 น."

เผยคำปราศรัยเทือกพาดพิงบิ๊กตู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เว็บไซต์บางกอกโพสต์เปิดเผยว่า นายสุเทพ.เปิดเผยในงานเลี้ยงระดมทุนจัดตั้งมูลนิธิ กปปส.ที่แปซิฟิค คลับ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 21 มิ.ย.ว่า เคยปรึกษาพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ ถึงการเข้ากวาดล้างระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2553 โดยการพูดคุยผ่านโปรแกรม "ไลน์" โปรแกรมแช็ตชื่อดัง โดยก่อนจะประกาศกฎอัยการศึก อ้างประโยคถ้อยความว่า"คุณสุเทพและมวลมหาประชาชนเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาทหารมาสานต่อหน้าที่ภารกิจนี้"

นายสุเทพยังเปิดเผยว่าเคยไปปรึกษากับพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่าจะทำอย่างไรให้ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณให้หมดสิ้น และปฏิรูปประเทศด้วยการกำจัดคอร์รัปชั่นและสลายสีเสื้อที่แบ่งแยกพี่น้องชาวไทยมาอย่างยาวนาน

รายงานข่าวยังอ้างอิงคำพูดของนายสุเทพกล่าวด้วยว่า"เราใช้เงินดังกล่าว 1,400 ล้านบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่ง 400 ล้านบาทมาจากครอบครัวและกลุ่มแกนนำ อีก 1,000 ล้านบาทมาจากเงินบริจาคจาก ผู้สนับสนุน"

ป.ป.ช.รับลูกมาร์คไล่บี้นาฬิกาปู

    ที่สำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายธวัชชัย ศิริสธนพันธ์ ผอ.สำนักตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินภาคการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินของอดีตส.ว.นั้น มีอยู่ 2 คนที่ยังไม่ยื่นบัญชีต่อป.ป.ช.ได้แก่ น.ส.วราภรณ์ อัศวเหม อดีตส.ว.สมุทรปราการ และนายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีตส.ว.สกลนคร ซึ่งป.ป.ช.จะทวงถามอีก 2 ครั้ง หากยังไม่ยื่นบัญชีให้ป.ป.ช.อีก จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ข้อหาจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. หรือหากยื่นเข้ามา ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอจะรับฟังได้หรือไม่ ส่วนความผิดปกติในบัญชีทรัพย์สินของรายอื่นๆนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากพบความผิดปกติจะรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ต่อไป

    นายธวัชชัย กล่าวว่า ส่วนทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่มีการแจ้งบัญชีนาฬิกามูลค่า 2.5 ล้านบาท ที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงป.ป.ช.ว่าซื้อนาฬิกาดังกล่าวมาจริง แต่นำไปขายต่อและนำเงินไปซื้อเครื่องประดับอื่นแล้ว โดยซื้อขายก่อนปี 2554 ก่อนรับตำแหน่ง นายกฯ จึงไม่อยู่ในข่ายต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.ได้ขอหลักฐานเพิ่มเติมจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ พร้อมกันนี้ป.ป.ช.จะตรวจสอบบริษัทที่ขายนาฬิกาว่ามีหลักฐานการซื้อขายหรือไม่ 

     วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส ร่วมแสดงความยินดีกับด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ในโอกาสรับรางวัลวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2557 ที่โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง จ.กรุงเทพฯ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้มสดใส พร้อมกับถ่ายภาพครอบครัวเป็นที่ระลึก

คตร.สั่งทบทวน 4 โครงการใหญ่

      วันเดียวกัน พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบโครงการลงทุนของภาครัฐที่มีขนาดการลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่ง คตร.ลงพื้นที่และตรวจสอบข้อมูล โดยในโครงการเร่งด่วน 12 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ คตร.มีมติให้ยกเลิก 2 โครงการได้แก่ 1.โครงการของบประมาณซ่อมหัวรถจักรของ รฟท. วงเงิน 3,300 ล้านบาท 2.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ระยะที่ 4 ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณ 7,000 ล้านบาท คตร. ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอโครงการ อื่นๆ มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกันเข้ามาใหม่โดยยังไม่มีการตัดงบประมาณดังกล่าว

     โครงการที่ คตร.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องทบทวน 4 โครงการใหม่ เนื่องจากงบประมาณสูงเกินไป หรือใช้งบฯ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ขาดเหตุผลที่ชัดเจน โดยให้ทบทวนราคากลางและจัดทำระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ใหม่ให้สอดคล้องกับระเบียบราชการ ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ของ รฟท. วงเงิน 5,000 ล้านบาท 2.โครงการจัดซื้อโบกี้รถไฟของ รฟท.วงเงิน 6,000 ล้านบาท 3.โครงการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. วงเงิน 8,300 ล้านบาท 4.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วงเงิน 10,335 ล้านบาท โดย คตร.ตรวจสอบพบว่ามี 23 โครงการย่อยใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ประหยัด ไม่ก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้บริหารกองทุนฯ เบื้องต้นกองทุนพร้อมยกเลิก 10 โครงการย่อยและขอดำเนินการต่ออีก 9 โครงการ ขณะที่อีก 5 โครงการจะทบทวนและอาจเสนอโครงการใหม่เข้ามาแทน

สอบเพิ่มโครงการสร้างรัฐสภาใหม่

     ส่วนโครงการที่ คตร.จะตรวจสอบเพิ่ม โดยมองว่าโครงการในกลุ่มนี้จำเป็นต้องดำเนินการแต่ยังมีปัญหาเรื่องวงเงินสูงเกินไป และยังมีปัญหาความโปร่งใส 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างพัฒนาท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปี 2554-2560 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท 2.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงิน 19,980 ล้านบาท 3.โครงการแจกเซ็ต ท็อป บ็อกซ์ ของ กสทช. วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยให้ กสทช.ไปทำประชาพิจารณ์ภายใน 15 วัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับมาเสนอ คตร.อีกครั้ง 

     ส่วนโครงการกลุ่มสุดท้ายที่ คตร.ตรวจสอบเพิ่มเติม 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ วงเงิน 12,280 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการ และส.ส.ของรัฐสภา 2,600 ห้อง งบฯ 5,600 ล้านบาท และ 3.กองทุนเลี้ยงชีพของสมาชิกรัฐสภาที่พบว่าการจ่ายสวัสดิการมีเงื่อนไขที่ง่ายเกินไป

   พล.ท.อนันตพร กล่าวว่า การตรวจสอบโครงการมีขนาดลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาทของปีงบประมาณ 2557 วงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาทที่กรอบงบประมาณอยู่แล้วและอยู่ระหว่างการขออนุมัติจาก คสช.ขณะนี้มีการอนุมัติในหลายโครงการที่ไม่มีปัญหาไปแล้ว ส่วนการตรวจสอบโครงการบริหารจัดการน้ำขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดย คตร.ได้ให้อยู่ในการดูแลของฝ่ายเศรษฐกิจ

    เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบการใช้จ่ายในกองทัพหรือไม่ พล.ท.อนันตพรกล่าวว่า ทำอยู่แล้วและปรับลดลงมาเป็นหลักพันล้านแล้ว และพร้อมให้ตรวจสอบการใช้จ่ายของ คสช.ได้ ส่วนที่มีกระแสข่าวเบิกงบประมาณยึดอำนาจกว่า 5 พันล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง ไม่ถึงขนาดนั้น

เปิดเซฟครม.ปู-"ปลอด"970 ล.

     เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี คณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 จำนวน 10 ราย 13 ตำแหน่ง กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม. สิ้นสภาพรัฐมนตรีกรณีมีคำสั่งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและรมว.กลาโหม มีทรัพย์สิน 601,860,347 บาท หนี้สิน 28,847,269 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 574,346,149 บาท นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส (ไม่ได้ จดทะเบียน) มีทรัพย์สิน 36,786,151 บาท และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1,333,070 บาท เมื่อเทียบกับการยื่นแสดงบัญชีตอนรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม วันที่ 30 มิ.ย.2556 พบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินลดลง 27,314,032 บาท

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ มีทรัพย์สิน 40,445,708 บาท หนี้สิ้น 3,064,972 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 37,380,736 บาท เมื่อเทียบกับตอนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2555 มีทรัพย์สินลดลง 11,360,565 บาท

    พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 396,769,880 บาท หนี้สิน 73,669 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 396,692,211 บาท เทียบกับตอนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2556 พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 699,313 บาท 

    นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 970,254,502 บาท หนี้สิน 2,732,700 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 967,521,802 บาท เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งวันที่ 1 พ.ย.2555 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 3,976,644 บาท

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 58,988,078 บาท หนี้สิน 1,313,495 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 57,674,582 เทียบกับตอนรับตำแหน่งวันที่ 23 ม.ค.2555 พบว่ามีทรัพย์สินลดลง 2,811,041 บาท

นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 14,966,699 บาท หนี้สิน 534,549 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 14,432,149 บาท เทียบกับตอนรับตำแหน่งวันที่ 30 มิ.ย.2556 พบว่ามีทรัพย์สินลดลง 3,924,579 บาท

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร(ไอซีที) คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 20,421,537 บาท หนี้สิน 4,143,987 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,277,550 บาท เทียบกับตอนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 4,628,565 บาท

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรมว.แรงงาน และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 171,146,701 บาท ไม่มีหนี้สิน เมื่อเทียบกับตอนรับตำแหน่งวันที่ 30 มิ.ย. 2556 พบว่ามีทรัพย์สินลดลง 136,945 บาท

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 47,061,352 บาท ไม่มีหนี้สิน เมื่อเทียบกับตอนรับตำแหน่งวันที่ 1 พ.ย.2555 พบว่ามีทรัพย์สินลดลง 239,329 บาท

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมช.กลาโหม และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 306,670,351 บาท ไม่มีหนี้สิน เทียบกับตอนรับตำแหน่งเมื่อ 30 มิ.ย.2556 มีทรัพย์สินลดลง 5,617,595 บาท

บัวแก้วย้ายใหญ่-"นรชิต"นั่งปลัด

    เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ หลายตำแหน่ง โดยนายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายวิทวัส ศรีวิหค นายพิริยะ เข็มพล นายมนัสวี ศรีโสดาพล และนายจักร บุญหลง เป็นรองปลัดกระทรวง

    นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นผอ.ใหญ่สนง.การค้าและเศรษฐกิจ ไทเป นายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล นอรเวย์ นายธีรกุล นิยม เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน นายณรงค์ ศศิธร เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี นายบรรณสาร บุนนาค เป็นเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ นายอภิชาติ ชินวรรโณ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ โปแลนด์ นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก

     นายวีรชัย พลาศรัย เป็นเอกอัครราชทูต ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐ นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา แคนาดา นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน อังกฤษ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ นายจิระชัย ปั้นกระษิณ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอรา ออสเตรเลีย นายสุวัฒน์ แก้วสุข เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และร.ท.จอมพละ เจริญยิ่ง เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!