WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นศ.จัด 19 กย.คึก เมินคสช. ชุมนุมอนุสาวรีย์ปชต. พท.-ปชป.จวกรธน.พิสดารสลายพรรค วิษณุแฉกว่า 2 หมื่นคนรอลุ้นเป็นสปท. 'เจ๊หน่อย'กรี๊ด-ยันไม่ร่วมสังฆกรรม

       'วิษณุ'เผยเรือแป๊ะใกล้เทียบท่ารับ'สปท.-กรธ.' แฉเองมีกว่า 2 หมื่นคนอยากขึ้นเรือ ส่วนเก้าอี้ประธานกรธ.ยังไม่ได้คุยกับ'มีชัย'กางปฏิทิน หากใช้สูตร 6-4-6-4 เลือกตั้งมิ.ย.60 ไม่เกินก.ค.รัฐบาลใหม่คลอด ยันหากพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนใหม่ใช้ชื่อเดิมได้ สนช.ระบุหากยึดร่างรธน.ฉบับบวรศักดิ์ พรรคใหญ่อาจแตกถึง 20 พรรคแล้วมาร่วมตั้งรัฐบาล เพื่อไทย-ปชป.อัดยับสูตรรธน.พิสดารเพื่อสลายพรรคใหญ่ สงสัยคิดแจ้งเกิดสามัคคี ธรรมสอง 'วิโรจน์'ลั่นสมาชิกเพื่อไทยไปเป็นสปท.ให้ลาออกจากพรรค'เจ๊หน่อย' ยันไม่ร่วมสังฆกรรมคสช. เสวนา 9 ปีรัฐประหารคึกคัก กลุ่มปชต.ใหม่เมินคสช.ห้าม เดินจากม.ธรรมศาสตร์ไปทำกิจกรรมที่อนุสาวสรีย์ประชาธิปไตย 'ไก่อู'ชี้หวังให้ เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเพื่อเชื่อมโยงนายกฯ ไปยูเอ็น

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9062 ข่าวสดรายวัน

9ปี19ก.ย. - น.ศ.กลุ่มประชาธิปไตยใหม่และประชาชนกว่า 200 คน ร่วมรำลึก 9 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยเดินเท้าจากม.ธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มาทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.

 

'สมคิด'เปิดใจไม่เคยสบาย

    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดโครงการสัมมนาสมาชิก สนช.ประจำปี 2558 โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวเปิดการสัมมนาว่า สนช.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการวางรากฐานที่มั่นคง ในการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยการดำเนินการของสนช.ที่ผ่านมาเป็นการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นอกจากงานด้านกฎหมายสนช.ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เข้าใจหน้าที่ของสนช.ด้วย

     จากนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในหัวข้อ "เศรษฐกิจและการเมืองการปกครองของประเทศไทย" ว่าการเข้ามาสู่ตำแหน่งในครั้งนี้ตนไม่เคยคิดว่าต้องกลับมาอีก คิดด้วยซ้ำว่าจะเลิกการเมืองโดยเด็ดขาด แต่หลายเรื่องพออายุมากขึ้นบางเรื่องต่อให้เดินหนีก็ต้องประสบ เพราะเป็นเรื่องของโชคชะตา ซึ่งมักส่งให้ตนมาทำงานในช่วงที่ยากลำบาก ไม่เคยสบาย แต่ถือว่าเป็นหน้าที่ ตอนที่เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตนดูแล้วว่าถ้าวิธีการทำงานยังเป็นแบบนี้อยู่จะเป็นปัญหา จึงแอบสั่งการไว้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม เมื่อเข้ามาทำงานก็สั่งการให้ดำเนินการได้ทันที โดยนำนโยบายที่คิดไว้ล่วงหน้าเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังรับตำแหน่งรองนายกฯ

'วิษณุ'เผยคน 2 หมื่นลุ้นเป็นสปท.

     ต่อมาเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาหัวข้อ "โรดแม็ปของรัฐบาลและคสช." ว่าปีที่แล้วได้พูดว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ มาถึงวันนี้เรือแป๊ะได้ผ่านมรสุมหลายลูก ระหว่างทางได้ส่งผู้โดยสารขึ้นบกไปแล้ว 2 กลุ่ม คือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้โดยสารที่เหลืออีก 3 กลุ่มว้าเหว่พอสมควร แต่ขอให้อดใจรอไปถึงท่าเรือใหม่ จะมีผู้โดยสารลงเรือแป๊ะอีก 2 กลุ่มคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คน แต่เท่าที่รออยู่บนท่า และจะยัดเยียดลงเรือให้ได้ก็มีกว่า 20,000 คนแล้ว ขณะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)จะมี 21 คน ขณะนี้เรือแป๊ะยังไม่ถึงท่ายังมีเวลาเป่านกหวีดเรียก ผู้โดยสารได้อยู่

    นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวให้คะแนนสนช.ชุดนี้ 8.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ในฐานะรัฐบาล มองสนช.ด้วยความชื่นชม ซึ่งสนช.อยู่เพียง 1 ปี ได้ทำภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติครบ 6 ประการคือ 1.การออกกฎหมาย เห็นชอบกฎหมายไปแล้ว 119 ฉบับ 2.การควบคุมรัฐบาลด้วยการตั้งกระทู้ถาม 3.การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ 4.การพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ

5.การให้ความเห็นชอบถอดถอน บุคคลออกจากตำแหน่ง 6.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สนช.ยังขาดอยู่คือการทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักผลงาน เห็นได้จากผลโพลที่พบว่าประชาชนบางส่วนไม่รู้จักสนช. แต่จากวันนี้ไปสนช.จะมีภารกิจหนักขึ้นในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล อาทิ กฎหมายทั่วไป กฎหมายลูก และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

แจงเงื่อนเวลาตามสูตร6-4-6-4

     นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนโรดแม็ปใหม่ของรัฐบาลและคสช.ที่ใช้สูตร 6-4-6-4 หรือ 20 เดือนจึงมีการเลือกตั้งนั้น ไม่ได้มาจากโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ แม้จะฟังแล้วนาน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่านสปช.ไปได้ ก็ต้องใช้เวลาจากวันที่ 6 ก.ย. ถึงวันเลือกตั้งอีก 14 เดือน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสปช.จึงต้องย้อนกลับไปเริ่มต้น 6 เดือนแรกใหม่ จึงเป็น 20 เดือน แบ่งเป็น 6 เดือนแรกในช่วงเดือนต.ค.2558 ถึงเม.ย.2559 เป็นขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องตั้งเวลาให้ยาวไว้ก่อน เพราะรวมทุกขั้นตอนตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 เดือน การฟังความเห็นประชาชน 1-2 เดือน และการนำความเห็นประชาชนกลับมาปรับปรุง 1 เดือน

      จากนั้นเดือนเม.ย.-ส.ค.2559 รวม 4 เดือน จะเป็นขั้นตอนการทำประชามติ หากจะให้เร็วกว่า 4 เดือนก็ทำได้ แต่ต้องไปพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เจ้าของ โรงพิมพ์ที่พิมพ์กระดาษ ถ้าทำประชามติผ่านก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่หากทำประชามติไม่ผ่านก็ยังไม่คิดและตอบไม่ได้ ซึ่งในที่ประชุมครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เคยถามว่า ถ้าทำประชามติไม่ผ่าน ก็ไม่มีคำตอบ ทำให้วันนี้ต้องเริ่มคิดว่า หากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ซึ่งมีโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อรับมือประชามติ ไม่ผ่าน

คาดเลือกตั้งมิ.ย.60-ก.ค.ได้รบ.

     รองนายกฯ กล่าวว่า ถัดมาเดือนก.ย.-ต.ค.2559 เป็นขั้นตอนร่างกฎหมายลูกประมาณ 6 ฉบับ นำเข้าสนช.พิจารณา ซึ่งสนช.มีเวลาพิจารณากฎหมายลูกทุกฉบับ 3 เดือน และส่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจอีก 1 เดือน คาดว่าจะประกาศใช้กฎหมายลูกได้ในเดือนมี.ค.2560 จากนั้นจึงดีเดย์หาเสียงได้ โดยกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้งไว้ 4 เดือนแบ่งเป็นการหาเสียง 3 เดือน และการลงนามพระปรมาภิไธยกฎหมายลูกอีก 1 เดือน ระหว่างนี้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมต้องหาสมาชิกใหม่ นับหนึ่งใหม่ เพื่อให้เท่าเทียมกับคนอื่น แต่สามารถใช้ชื่อพรรคเดิมได้

     "คาดว่า เลือกตั้งจะเกิดขึ้นเดือนมิ.ย.2560 ส่วนครม.จะกลับบ้านก็ต่อเมื่อมีครม.ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่เดือนก.ค.60 โดยคสช.จะหมดอายุไปพร้อมกับครม.ไปในนาทีเดียวกัน ส่วนสนช.จะอยู่ยาวกว่าเพื่อนจนกว่าจะมีวุฒิสภา เมื่อใดที่มีทั้งส.ส.และส.ว.ครบจึงจะสิ้นสุดสนช. ดังนั้น คาดว่าสนช.จะสิ้นสุดหลังก.ค.2560" นายวิษณุกล่าว


กรวดน้ำ - นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยทำบุญถวายสังฆทาน และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับคณะรัฐประหาร เนื่องในโอกาสครบ 9 ปี วันก่อการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อวันที่ 19 ก.ย.

ร่นโรดแม็ปวันเดียวก็ยังดี

     นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ดูโรดแม็ป ได้ตั้งข้อสังเกต 2 ข้อคือ 1.ระยะเวลา 20 เดือนนานเกินไป อะไรที่บีบให้สั้นลงได้อยากให้ทำ นายกฯ บอกไม่ลดเป็นเดือน ลดเป็นวันก็ยังดี เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่า 6 เดือนที่ต้องมายกร่างใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่เสียเวลาเปล่า ไม่เสียของ 2.ขอให้ช่วงเวลานี้ต่อต้านการทุจริต ออกกฎหมายสำคัญ การรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม รวมทั้งไม่อยากให้ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญนานเกินไป โดยอยู่บนพื้นฐานความปรองดอง

    นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ. ประยุทธ์ระบุจะมอบหมายให้ไปทาบทามบุคคลมาเป็นกรธ.ว่า นายกฯ ยังไม่ได้พูดชัดเจนขนาดนั้น เป็นแค่ดำริว่าอาจจะมอบหมายให้ตน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมายอย่างชัดเจน ถ้ามอบหมายแล้วก็จะไปทาบทาม ส่วนกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภาที่มีกระแสข่าวจะเป็นประธานกรธ.นั้น ล่าสุดนายมีชัยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้พูดคุยกับนายมีชัย จึงไม่ทราบว่าจะเป็นประธานกรธ.หรือไม่

ยันพรรคเดิมใช้ชื่อเดิมได้

    ส่วนกรณีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าต้องจดทะเบียนใหม่หรือไม่ พูดเผื่อไว้ก่อน แต่ปกติแล้วต้องออกพ.ร.บ. พรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่งให้เข้ากับรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ได้ระบุอะไรเป็นพิเศษ ใครจะตั้งพรรคการเมืองต้องไปจดทะเบียนใหม่ แต่พรรคการเมืองเดิมอาจใช้ชื่อเดิมต่อได้ ไม่มีใครแย่งได้ แต่ต้องไปดำเนินการใหม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อประหยัดเวลาอาจใช้วิธีไปเขียนในกฎหมายลูกว่าให้พรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งก่อนหน้านี้มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ แล้วถือว่าให้เป็นพรรคการเมืองต่อไป ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็ว

     นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงสัดส่วนของสนช.ในกรธ.ว่าจะคัดเลือกสมาชิกที่เสนอตัวเหมือนการตั้งกมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ว่า การตั้งกรธ.เป็นอำนาจของคสช. ไม่เกี่ยวข้องกับประธาน สนช.หรือ สนช. ดังนั้น จึงไม่มีกระบวนการคัดเลือกหรือส่งชื่อจากสนช.แต่อย่างใด

'ตวง'หนุนตีทะเบียนพรรคใหม่

     นายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีสูตรพิสดาร พรรคการเมืองอาจต้องจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว และเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีการทำกฎหมายประกอบรัฐ ธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจะต้องมาจดทะเบียนใหม่ แต่ถึงอย่างไรเมื่อถึงการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ก็ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นอยู่แล้ว เพราะมีฐานเสียง มีเครือข่ายสาขาพรรคจำนวนมาก เพียงแต่ต้องมาเริ่มตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ แล้วเอาของเดิมมาเข้าระบบใหม่เท่านั้น

     นายตวง กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นไปได้กับพรรคการเมืองใหญ่ๆ คือหากระบบเลือกตั้งยังอ้างอิงแบบเยอรมนีที่อดีตกมธ.ยกร่างฯ ชุดนายบวรศักดิ์ทำไว้โดยมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดของพรรคการเมืองใหญ่ ดังนั้น พรรคการเมืองใหญ่จะต้องแตกออกเป็นพรรคเล็กๆ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย อาจต้องแตกออกเป็น 20 พรรค เพื่อให้ได้ส.ส.มากที่สุดแล้วกลับมารวมกันจัดตั้งรัฐบาล

ชี้พรรคใหญ่ได้เปรียบ

ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจในข้อกฎหมายว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะต้องให้พรรคการเมืองไปจดทะเบียน ตั้งพรรคใหม่หรือไม่ แต่เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอยู่เดิมแล้วนั้นมีความได้เปรียบพรรคการเมืองใหม่ หรือพรรคการเมืองอื่นอยู่แน่นอน ดังนั้น อาจต้องมีการหาวิธีการที่จะให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันน้อยที่สุดในการเลือกตั้ง

     นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยหลักการ เชื่อว่าผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่คงมีเจตนาให้พรรคการเมืองทำงานในระบบรัฐสภา เป็น ตัวแทนแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้จริง ไม่ให้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา และให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันในรัฐสภาได้ ไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนในอดีตอีก หรือถ้ามีวิกฤตก็สามารถแก้ไขในรัฐสภาได้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องออกมาเดินถนน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความชัดเจนว่าไม่อยากให้ทหารออกมาอีก และที่สำคัญต้องมีการพูดคุยกับพรรคการเมืองว่าจะใช้วิธีการอย่างไร เพราะนักการเมืองจะเป็นผู้ใช้กติกาดังกล่าว

ปชป.จวกยับพิสดาร

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรรคประชา ธิปัตย์ สมาชิกส่วนใหญ่ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่นายวิษณุระบุว่า เมื่อมีรัฐ ธรรมนูญใหม่ พรรคการเมืองทุกพรรคอาจจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยที่จะเอาสิ่งที่ไม่ดีในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปแล้วไปบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมืองที่จะเขียนขึ้นมาใหม่ เมื่อคสช.เข้ามายึดอำนาจ ไม่ประกาศยุบพรรคการเมือง แต่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม แล้วเขียนรัฐธรรมนูญตั้งธงพิสดารไปให้ใส่ไว้ในกฎหมายลูกให้พรรคการเมืองไปจดทะเบียนใหม่

     "พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งมาครบ 70 ปีในปีหน้า ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศตามทะเบียนของกกต.ทั้งสิ้น 2,896,109 คน เมื่อมีนักฉวยโอกาสบางคนจะเขียนกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนพรรคใหม่เท่ากับทำตัวใหญ่กว่าศาลรัฐธรรมนูญ สงสัยต้องให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศนั่งสมาธิกรวดน้ำให้ทุกวันพระจนกว่าจะเลิกล้มความคิดพิสดารนี้" สมาชิกพรรคระบุ

พท.อัดประเทศไม่ใช่หนูลองยา

     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าอะไรที่เป็นของพิสดารจะเป็นสิ่งแปลกประหลาด ไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ แค่เผยออกมาคงถูกต่อต้านคัดค้านเหมือนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติของนายบวรศักดิ์ จนถูกคว่ำไป เพราะเป็นเรื่องพิสดาร จึงอยากฝากผู้เกี่ยวข้องว่าให้สงสารประเทศ สงสารคนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ หากกติกาที่จะออกมาจะทำให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอเท่ากับซ้ำเติมประเทศ ขอให้ลุกจากหอคอยงาช้างลงไปสำรวจกลุ่มอาชีพต่างๆ ว่าจากสภาพการณ์ปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนจริงหรือไม่

"ขณะนี้มีพรรคการเมืองเป็นร้อยพรรค จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะล้างไพ่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าจำลองแนวคิดจะให้มีพรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรมเช่นในอดีต ซึ่งผมไม่คิดว่าจะตื้นขนาดนั้น เดี๋ยวนี้นายวิษณุ ซึ่งผมเคยเรียกอาจารย์ได้อย่างเต็มปากเต็มคำเปลี่ยนไปแล้วและเปลี่ยนไปอย่างมากกับคำว่าครูบาอาจารย์ และขอเสนอว่า กติกาของประเทศใช้กับคน 60 กว่าล้านคน ควรได้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพ หากเกรงว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภาก็ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ขอให้เลิกความคิดสูตรพิสดารต่างๆ เพราะประเทศไทย คนไทย ไม่ใช่หนูทดลองยา ระวังจะเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต อย่าพิสดารเลย" นายชวลิตกล่าว

สงสัยมีแพ็กเกจซ่อนหรือไม่

      นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขณะนี้มีพรรคเต็มไปหมดแล้วห้าสิบกว่าพรรค ยังมีสภาพเป็นพรรคการเมืองอยู่ เพราะคสช.ไม่มีประกาศยุบหรือยกเลิกพรรคการเมือง เพียงสั่งห้ามประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ฟังดูเหมือนจะต้องทำกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ แล้วจะต้องนับหนื่งกันใหม่เพื่อความเป็นธรรมสำหรับพรรคการเมืองที่จะจดทะเบียนใหม่ การตั้งพรรคใหม่ต้องใช้เวลา เช่น เวลาหาสมาชิกให้ครบ ดูแล้วก็คือโรดแม็ป 6-4-6-4 ดีแล้ว สิ่งที่ขอวิจารณ์ คือรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไรเลย ก็มามีกับดักที่กฎหมายพรรคการเมืองเสียแล้ว เลยทำให้สงสัยว่ามีแพ็กเกจอะไรซุกซ่อนอยู่หรือเปล่า หรือจะมีสามัคคีธรรมสอง

    นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาจริงๆ คือคิดจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว คิดจะคืนอำนาจเมื่อใด จะอยู่ภายใต้ประกาศคสช.กันแบบนี้ และจะปิดปากกันไปอีกสองสามปีเลยหรือ ปัญหาพรรคการเมืองใหม่ถ้าจะทำให้สั้นลงก็ง่ายๆ ให้พรรคการเมืองเดิมยังเป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป พรรคใหม่ก็เขียนบทเฉพาะกาลไม่ให้นำบทบัญญัติบางเรื่อง เช่น จำนวนสมาชิกมาใช้บังคับ แม้แต่การเปิดโอกาสให้เขาจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเสียแต่บัดนี้ เพราะกฎหมายพรรคการเมือง ก็ยังมีอยู่ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรค การเมืองจะได้มีงานทำบ้าง ที่น่าจับตามองคือมีความพยายามจากขั้วอำนาจที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่างนั้นหรือไม่ ตอนรัฐ ประหารปี 2549 มีรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับกรณีพรรคการเมืองเลย

'วิโรจน์'ไล่พ้นพท.ถ้าเป็นสปท.

      พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏว่าจะมีการเชิญพรรคเพื่อไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมในสปท.นั้น ขอชี้แจงว่าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งบุคลากรหรือนักการเมืองของพรรคเข้าร่วมได้ ด้วยเหตุที่มีความยากลำบากที่เราในฐานะพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นและเติบโตมาตามกระบวนการประชา ธิปไตย จะเข้าไปดำเนินการร่วมกับกลุ่มใดๆ ในทางการเมืองในสถานการณ์ขณะนี้ และที่สำคัญเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่สามารถจัดการประชุมขึ้นได้ตามคำสั่งห้ามของคสช.และข้อบังคับของกกต.

     "สำหรับสมาชิกท่านใดจะเข้าร่วม ถือเป็นดุลยพินิจส่วนตัว แต่เมื่อเป็นไปโดยขัดเจตนารมณ์ของพรรค จึงสมควรลาออกจากสมาชิกภาพของพรรคด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน" พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าว

'เจ๊หน่อย'ยันไม่ร่วมสังฆกรรม

      คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำภาคกทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวคสช.ทาบทามให้เข้าร่วมสปท.ว่า ยืนยันว่าไม่ได้รับการติดต่อหรือพูดคุยกับใครทั้งสิ้น หากมีการทาบทาม ยืนยันว่าไม่ขอเข้าร่วมเพราะเป็นสภาที่คสช.แต่งตั้งขึ้น คนที่อยู่ในซีกประชาธิปไตยไม่น่าจะเข้าร่วม และคงไม่ส่งใครในสายกทม.เข้าร่วมสปท.อย่างแน่นอน เพราะไม่มีอำนาจถึงเพียงนั้น

     ส่วนสปท.ที่เกิดขึ้นจะทำงานได้เป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ยังไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ คงต้องรอดูผลงานและดูว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้หรือไม่ หากทำได้จะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง สำหรับโรดแม็ป คสช.ที่มีอยู่เชื่อว่าทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันว่าเลือกตั้งเร็วที่สุดเท่าใดจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากเท่านั้น และขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาการเดินตามโรดแม็ปให้เหมาะสมด้วย

ปชต.ใหม่จัด 9 ปีรัฐประหาร

     วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นัดจัดเสวนาเรื่อง 9 ปีที่ก้าวไม่พ้นรัฐประหาร 19 กันยา ที่ห้องประกอบ หุตสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีประชาชนกว่า 200 คน เข้าร่วมฟัง โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์กว่า 50 นาย และห้ามจัดกิจกรรมเสวนาที่หน้าห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ 1 ทางผู้จัดจึงย้ายมาจัดที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแทน

     ต่อมาเวลา 12.45 น. พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (รอง ผบก.น.1) ได้แจ้งต่อ นายศิรวิทย์ เสรีธิวัฒน์ ตัวแทนผู้จัดเสวนาว่า มีความกังวลต่อการเดินขบวนไปที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 17.00 น. แต่ในส่วนของการจัดเสวนายังมีขึ้นตามปกติในเวลา 13.00 น.

    นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาเปิดการเสวนาในหัวข้อ เรามาถึงจุดๆ นี้ได้ยังไง ว่า ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ 8-9 ปีที่ผ่านมา เกิดความวุ่นวายและไม่มีท่าทียุติ ซึ่งคำตอบอาจจะมาจากพรรคการเมือง ซึ่งหากตอบในระดับลึกลงไปคือความขัดแย้งจากอำนาจเก่า ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ในด้านวิชาการมองได้ว่าเป็นปัญหาเชิงสถาบันและเศรษฐกิจที่เมื่อพัฒนาไประดับหนึ่งแล้วไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้เศรษฐกิจจะหยุดชะงักเป็นซอมบี้ที่ไม่สามารถไปต่อไป

ตำรวจบุกกลางวงเสวนา

    นายพิชิต กล่าวว่า 9 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยมาถึงทางตันทางการเมือง และสังคมไทยยังไม่มีความสามารถที่จะก้าวข้ามกับดัก จึงต้องเปลี่ยนสถาบันการเมืองแบบรวมศูนย์เป็นสถาบันการเมืองแบบประชา ธิปไตย ซึ่งในการจัดงานวิชาการในวันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไทยยังไม่ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่พูดในวันนี้ก็เป็นเหมือนเนื้อหาที่ตนสอนในห้องเรียน

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นตามกำหนดจะเข้าสู่การเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ นักกฎหมาย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมประชาธิปไตย นายปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แต่การเสวนาได้หยุดลงชั่วคราว เพื่อให้พ.ต.อ.อรรถวิทย์กล่าวชี้แจงว่า การเสวนา ในครั้งนี้เบื้องต้นนักศึกษาขอใช้พื้นที่ ซึ่ง เจ้าหน้าที่มีหนังสือขอให้ชะลอการจัดงานแล้ว แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดส่งมาไม่ถึง

    "การเสวนาถือเป็นงานวิชาการในสถานการศึกษาสามารถทำได้ แต่การเดินรณรงค์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวบนท้องถนนที่ขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 รวมถึงประกาศคสช.ฉบับที่ 3 เรื่อง การรักษาความสงบและความมั่นคงของชาติ จึงอยากขออย่าเดินในช่วงเย็น" พ.ต.อ.อรรถวิทย์กล่าว

เดินขบวนไปอนุสาวรีย์ฯ

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.00 น. ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่และประชาชนกว่า 200 คนได้ตั้งขบวนเพื่อเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชา ธิปไตย โดยแต่ละคนได้ถือหนังสือพิมพ์ "ก้าวข้าม" จัดทำโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ชูขึ้นเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับรัฐ ประหาร และบางส่วนได้ถือป้ายผ้าข้อความต่างๆ ด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบได้ตั้งแนวเพื่อขอตรวจค้นกระเป๋าของประชาชนอย่างละเอียด

     ต่อมาเวลา 17.40 น. มวลชนเคลื่อนผ่านท้องสนามหลวงมายังฝั่งศาลฎีกา และเดินมาตามทางเท้าริมฟุตปาธผ่านสี่แยกคอกวัว โดยตลอดทางเดินมวลชนได้ตะโกนคำว่าประชาชน จงเจริญ และขับไล่คสช.ออกไป แต่ระหว่างที่มาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้มีชายขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านกลุ่มมวลชนและตะโกนว่า ไอ้พวกหนักแผ่นดิน ทำให้มวลชนต่างโห่ร้องโดยไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด

ผบก.น.6 ระบุผิดกฎหมาย

      นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า ที่มาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อมาชุมนุมเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องและสงบอย่างผู้มีอารยะ การรวมตัวนี้ไม่มีการปิดถนน เพราะมาเพื่อพิสูจน์ว่าเอาจริงและจนถึงตอนนี้ก็ทำสำเร็จแล้ว โดยเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของประชาชน และยืนยันจะชุมนุมอย่างสันติเพื่อแสดงให้ชาวไทยและคนทั่วโลกได้เห็นว่าเราเอาจริง

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแจกดอกไม้จันทน์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการฌาปนกิจคณะรัฐประหารและมีการร้องเพลงเพื่อมวลชน สลับกับบทเพลงแห่งสามัญชน และคืนความสุข โดยบรรยากาศหลังจากนั้นเป็นไปด้วยความคึกคักอย่างยิ่ง ซึ่งการชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอร้องให้ยุติการทำกิจกรรม กลุ่ม ผู้ชุมนุมจึงยอมสลายตัวไปอย่างสงบ

    พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเดินขบวนครั้งนี้ผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษและคำสั่งของคสช. และพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ หากชุมนุมกันรถจะติด รวมทั้งยังไม่มีการมาขออนุญาตชุมนุมก่อน ยืนยันว่าการกระทำเช่นนี้เข้าข่ายลักษณะของการชุมนุมแล้ว

'อ๋อย'ขุดเหตุรัฐประหาร

     นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน คือความกลัว กลัวการเลือกตั้ง กลัวการตัดสินโดยประชาชน กลัวที่พรรคไทยรักไทยและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมมากขึ้นๆ จนมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา กลัวเกิดกระบวนการที่พรรคไทยรักไทยสังเคราะห์นโยบายจากความต้องการของประชาชนแล้วนำมาใช้บริหารอย่างได้ผล จนกลายเป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมืองกับประชาชนโดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงมาก่อน กลัวที่ผู้มีอำนาจมาแต่เดิมจะไม่สามารถกำหนดควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองได้อีกต่อไป

    นายจาตุรนต์ ระบุว่า จากความกลัวเหล่านี้จึงนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ คือจะต้องป้องกันไม่ให้พรรคไทยรักไทยและนักการเมืองของพรรคกลับมามีอำนาจ แต่จะต้องให้พรรคการเมืองอื่นบางพรรคได้เป็นรัฐบาล มองจากจุดมุ่งหมายดังกล่าว หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมาก็เพื่อไม่ให้เสียของ หากการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างสมบูรณ์ จะเกิดความเสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมาสักเพียงใด ที่แน่ๆ เราได้เรียนรู้ว่าเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นครั้งหนึ่งสามารถมีผลเสียหายอย่างต่อเนื่องลึกซึ้งและยาวนาน ไม่ใช่แค่มีผู้ทำรัฐประหารผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเพียงเท่านั้น

'ไก่อู'ชี้เคลื่อนไหวมีนัยยะ

    พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดูแลการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหน้าที่ของคสช.ซึ่งจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับการที่นายกฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ที่สหรัฐในวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ โดยคาดหวังให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนทำให้ถูกมองว่าใช้ความรุนแรง ซึ่งจะไปสอดรับกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้คนในต่างประเทศเกิดความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลนี้ถูกประชาชนต่อต้านเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์ในประเทศยังคงมีความวุ่นวาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557

     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับรัฐบาลและ คสช. เพราะรู้ว่ารัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะปฏิรูปบ้านเมือง วางกติกาและดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเกิดความไว้วางใจให้รัฐบาลมาทำหน้าที่ จึงเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่จะเข้าใจนัยยะสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ขณะเดียวกัน อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้เปิดพื้นที่กับกลุ่มผู้ไม่หวังดีในการกระพือเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงและสร้างความขัดแย้ง

     "อยากฝากไปถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ว่าอย่าทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย เพราะมีการประกาศข้อห้ามเอาไว้แล้ว หากมีการกระทำความผิดเจ้าหน้าที่จดบันทึกไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อถึงเวลาจะดำเนินคดีไม่มีการละเว้นและถึงเวลานั้นควรจะต้องยอมรับกับสิ่งที่ทำลงไปด้วย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

2 หมื่นคนรอลงเรือแป๊ะ ชิงนั่งสปท. วิษณุฟุ้งไม่ง้ออดีตส.ส.กรธ.หงอยมีแค่ 4-5 ราย ปชป.จวก'สูตรพิสดาร'แฉเกมบอนไซการเมือง พท.ดักคออุ้มพรรคใหม่ 'อ๋อย'ชี้แค่ยื้อ'เลือกตั้'

มติชนออนไลน์ :

   'วิษณุ'ฟุ้งกว่า 2 หมื่นเบียดลงเรือแป๊ะ ขอนั่งสภาขับเคลื่อนฯ ส่วน กรธ.ยังมีแค่ 4-5 คน 'เพื่อไทย'แถลงการณ์ไม่ร่วมเป็น สปท. 'หญิงหน่อย'ปัดถูกทาบทาม ยันเป็น ปชต.ไม่ยุ่งเกี่ยว

@ พท.แถลงการณ์ไม่ร่วม'สปท.'

    เมื่อวันที่ 19 กันยายน พรรคเพื่อไทย (พท.) โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้า พท. ออกแถลงการณ์ในนาม พท. ระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏว่าจะมีการเชิญ พท. ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า พท.ไม่สามารถส่งบุคลากรหรือนักการเมืองของพรรคเข้าร่วมได้ ด้วยเหตุที่มีความยากลำบากที่เราในฐานะพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น และเติบโตมาตามกระบวนการประชาธิปไตยจะเข้าไปดำเนินการร่วมกับกลุ่มใดๆ ในทางการเมืองในสถานการณ์ขณะนี้ และที่สำคัญเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่สามารถจัดการประชุมขึ้นได้ตามคำสั่งห้ามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และข้อบังคับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

    ทั้งนี้ สำหรับสมาชิกคนใดจะเข้าร่วมถือเป็นดุลพินิจส่วนตัว แต่เมื่อเป็นไปโดยขัดเจตนารมณ์ของพรรค จึงสมควรลาออกจากสมาชิกภาพของพรรคด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

@ 'ตู่'ลั่นใครร่วมเจอถ่มน้ำลาย

    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "แนวทาง พท.กับ นปช.ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยู่แบบกล้าๆ กลัวๆ โดยไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า จะกล้าหรือจะกลัว ทั้งนี้ หาก พท.หรือ นปช.มีใครไปร่วม สปท.จะมีแต่คนถ่มน้ำลายใส่ จึงต้องบอกก่อน เพื่อไม่ต้องลำบากใจกันทีหลัง ผมพยายามประคับประคอง และอับอายในยามที่ถูกต่อว่าดูถูก ถ้าไม่เปลี่ยนทรรศนะความคิดต้องบอกให้รู้ว่า ประชาชนไม่พร้อมเดินตามคนทรยศที่หักหลังได้ คนเสื้อแดงต้องการนำพาบ้านเมืองให้เดินทิศทางที่ถูกต้อง ผมยอมรับได้ทุกเรื่องยกเว้นหลักการที่ผิดประชาธิปไตย"

    นายจตุพร ยังระบุกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ระบุว่าถ้าทำดีแล้วใครจะยึดอำนาจว่า จะไม่เถียงเรื่องใครดี ใครเลว เพราะสิ่งนั้นจะตอบด้วยการกระทำ แต่ได้พยายามบอกว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกทั้งหมด และไม่มีฝ่ายใดผิดทั้งหมด ต่างฝ่ายมีทั้งส่วนถูกและผิดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเรื่องอะไร

      "ความดี ความเลว คือความรู้สึกที่เป็นนามธรรม ส่วนความเชื่อมาเจือปน เพื่อเป็นตัวประกอบว่า เขาดีเลวอย่างไร แต่การตัดสินใจของประชาชนคือ กติกา หากไม่มีกติกาแล้ว ชนะก็ปกครองไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นฝ่ายมีอำนาจต้องเปิดใจกว้าง ต้องไม่มีฝ่ายใดยืนได้ อีกฝ่ายยืนไม่ได้ ซึ่งคงไม่จบ ต้องให้ทุกฝ่ายมีที่ยืน ถูกต้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อกัน ทุกฝ่ายจึงอยู่กันได้" นายจตุพรกล่าว

@ 'หญิงหน่อย'แจงไม่ขอนั่งสปท. 

     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ พท.ภาค กทม. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวกรณีผู้มีอำนาจฝั่ง คสช.ทาบทามให้เป็น สปท.ว่า ยืนยันว่าไม่ได้รับการติดต่อหรือพูดคุยกับใครทั้งสิ้น หากมีการติดต่อทาบทามยืนยันว่าไม่ขอเข้าร่วม เพราะเป็นสภาที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น คนที่อยู่ในซีกประชาธิปไตยไม่น่าจะเข้าร่วม และคงไม่ส่งใครในสาย กทม.เข้าร่วมสภาดังกล่าว เพราะไม่มีอำนาจถึงเพียงนั้น 

    คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ส่วน สปท.ที่เกิดขึ้นจะทำงานได้เป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ยังไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ คงต้องรอดูผลงานและดูว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้หรือไม่ หากทำได้จะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง สำหรับโรดแมป คสช.ที่มีอยู่เชื่อว่าทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันว่าเลือกตั้งเร็วที่สุดเท่าใดจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากเท่านั้น และขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาการเดินตามโรดแมปให้เหมาะสมด้วย

@ ปชป.เผยยังไม่มีใครมาชวน

     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสข่าว คสช.ทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ให้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ไม่ขอแสดงความเห็นรายบุคคล แต่ขอให้ กรธ.ที่เข้ามาใหม่เอาประเทศเป็นหลักก่อน และควรเน้นให้รัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะตรวจสอบดีที่สุดคือ ประชาชนดังนั้นควรออกแบบให้รัฐธรรมนูญระบุให้ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยตรงได้ทันที และให้การดำเนินการฟ้องร้องมีความสะดวกและไม่ยุ่งยาก รวมทั้งจะต้องมีการคุ้มครองพยานให้ผู้ฟ้องด้วยแล้วความโปร่งใสก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเอง

     นายวิรัตน์ยังกล่าวถึงสัดส่วนพรรคการเมืองที่จะเข้าไปนั่ง สปท.ว่า วันนี้ยังไม่มีการทาบทามจากรัฐบาลและยังไม่เห็นสมาชิก ปชป.คนใดแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเลย

@ จวกปมโละทิ้งพรรคการเมือง

     นายวิรัตน์ยังกล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีบทพิสดารให้ ปชป.และ พท.ไปจดทะเบียนพรรคใหม่ โดยอาจจะมีข้อกำหนดดังกล่าวไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าทุกครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาจะมีวัฒนธรรมในการร่างบทเฉพาะกาลเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองอยู่แล้วว่า พรรคที่จดทะเบียนพรรคอยู่แล้วนั้นหากยึดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พรรคการเมืองก็ให้ถือเป็นพรรคการเมืองต่อไป จึงสงสัยว่านายวิษณุจะให้จดทะเบียนใหม่ไปทำไม

     "หากเป็นความจริงถือเป็นกระบวนการบอนไซพรรคการเมืองคือ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเติบโต หากจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดในเรื่องความทัดเทียมของฐานเสียงพรรคใหญ่นั้นคือ การแข่งขันกันระหว่างนโยบายของแต่ละพรรคไม่ดีกว่าหรือ เพราะมัวแต่มาเสียเวลาจดทะะเบียนสมาชิก แบบนี้มันก็เหมือนกับการเล่นตุ๊กตาตัวเดิมที่ก่อนรัฐประหารก็เป็นสมาชิก ปชป.อยู่แล้ว พอหลังจากรัฐประหารผ่านไปจะเลือกตั้งก็มานั่งล่ารายชื่อให้คนของ ปชป.กลับมาจดทะเบียนกับ ปชป.อีก ถามหน่อยมันได้อะไรขึ้นมา" นายวิรัตน์กล่าว

@ สวน'วิษณุ'อย่าทำให้เสียเวลา

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นส่งสัญญาณอะไรจากรัฐบาลถึง ปชป.และ พท.หรือไม่ นายวิรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญยังไม่ทราบว่าจะออกมาหน้าตาแบบไหน หากจะร่างกฎหมายพรรคแบบนั้นกันจริงๆ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด การแก้ไขคือ สร้างความศรัทธาในพรรคการเมืองใหม่ไม่ใช่ให้พรรคเก่าที่เขาจดทะเบียนอยู่แล้วมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ไม่มีผลอะไรนอกจากเสียเวลา และพรรคเดิมประสบความยุ่งยาก เช่น ต้องรอพรรคใหม่จดทะเบียนแล้วรอหาเสียงไปพร้อมๆ กัน ส่วนพรรคใหญ่นั้นมีระบบจัดการเรื่องนี้อยู่ 

    "อยากให้นายวิษณุดูวัฒนธรรมเดิมๆ ในการร่างกฎหมายประกอบพรรคการเมือง หลังรัฐประหารก็คืนสิทธิให้ประชาชนแล้วให้มีบทเฉพาะกาลว่าด้วยพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้เป็นพรรคต่อไป อย่าไปทำอะไรให้ยุ่งยากมากเรื่องดีกว่า" นายวิรัตน์กล่าว

@ 'เอกนัฏ'ขอให้สื่อสารล่วงหน้า

      นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า หลักสำคัญของการปฏิรูปพรรคการเมืองคือทำให้เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกครอบงำโดยนายทุนคนใดคนหนึ่ง แนวคิดของนายวิษณุ คงเป็นการนำเสนอไอเดียที่จะเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ แข่งขันภายใต้กติกาใหม่อย่างเท่าเทียม แต่ถ้าจะใช้เเนวทางนี้จริง คงต้องสื่อสารให้ทราบล่วงหน้า เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว ให้ประชาชนเตรียมพร้อมตัดสินใจ

@ สงสัยขั้วอำนาจจะตั้งพรรค

    นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวถึงสูตรพิสดารของนายวิษณุว่า สงสัยว่าจะมีแพคเกจในการจัดการกับพรรคการเมืองอีกหรืออย่างไร สิ่งที่ขอวิจารณ์คือรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่รู้ว่า จะออกมาอย่างไรเลย ก็มามีกับดักที่กฎหมายพรรคการเมืองเสียแล้ว เลยทำให้สงสัยว่ามีแพคเกจอะไรซุกซ่อนอยู่หรือเปล่า หรือว่าจะมีพรรคสามัคคีธรรมสอง เห็นว่าปัญหาจริงๆ คือคิดจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว คิดจะคืนอำนาจเมื่อใด จะอยู่ภายใต้ประกาศ คสช.กันแบบนี้ และจะปิดปากกันไปอีก 2-3 ปีเลยหรือ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาพรรคการเมืองใหม่นั้น ถ้าจะทำให้สั้นลงก็ง่ายๆ ให้พรรคการเมืองเดิมยังเป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป ส่วนพรรคใหม่ก็ให้เขียนบทเฉพาะกาลไม่ให้นำบทบัญญัติบางเรื่อง เช่น จำนวนสมาชิกมาใช้บังคับ แม้แต่การเปิดโอกาสให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเสียแต่บัดนี้ ที่น่าจับตามอง คือมีความพยายามจากขั้วอำนาจที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่างนั้นหรือไม่ ตอนรัฐประหารปี 2549 มีรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับกรณีพรรคการเมืองเลย

@ เตือนกม.พิสดารซ้ำรอยคปป.

     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิกา พท.กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว อะไรที่เป็นของพิสดาร จะเป็นสิ่งแปลกประหลาด ไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ แค่เผยออกมาคงถูกต่อต้านคัดค้านเหมือนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำไป

      นายชวลิต กล่าวว่า อยากจะฝากผู้เกี่ยวข้องว่า ให้สงสารประเทศ สงสารคนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ หากกติกาที่จะออกมาจะทำให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอ เท่ากับซ้ำเติมประเทศ ขอให้ลุกจากหอคอยงาช้าง ลงไปสำรวจยังกลุ่มอาชีพต่างๆ ว่าจากสภาพการณ์ปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนจริงหรือไม่

@ แนะเสนอสร้างสรรค์ดีกว่า

      "ลองตรวจสอบให้ดี ขณะนี้มีพรรคการเมืองจำนวนเท่าไหร่ จะเห็นว่ามีทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เป็นร้อยพรรค จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะล้างไพ่พรรคการเมืองใหม่ อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า จำลองแนวคิดจะให้มีพรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรม เช่นในอดีต ซึ่งผมไม่คิดว่าจะตื้นขนาดนั้น เพราะปัจจุบันปี 2558 แล้ว และขณะนี้นายวิษณุ ซึ่งผมเคยเรียกอาจารย์ได้อย่างเต็มปากเต็มคำเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปอย่างมากกับคำว่าครูบาอาจารย์ ผมวิจารณ์ได้อย่างมากแค่นี้ เห็นแก่ความเคารพที่เคยมีต่อท่านมาเป็นเวลายาวนาน" นายชวลิตกล่าว

     นายชวลิต กล่าวว่า ขอให้ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า กติกาของประเทศใช้กับคน 65-70 ล้านคน ควรได้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพ หากเกรงว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา ก็ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ขอให้เลิกความคิดสูตรพิสดารต่างๆ เพราะประเทศไทย คนไทย ไม่ใช่หนูทดลองยา ระวังจะเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต 

@ สนช.หนุนนับหนึ่งกันใหม่

     นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ข้อเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว และเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ทุกพรรคการเมืองจะต้องมาจดทะเบียนใหม่ แต่ถึงอย่างไรเมื่อถึงการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้ง ปชป.และ พท. ก็ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นอยู่แล้ว เพราะมีฐานเสียง มีเครือข่ายสาขาพรรคจำนวนมากอยู่แล้ว

      นายตวง กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นไปได้กับพรรคการเมืองใหญ่ๆ คือหากระบบเลือกตั้งยังอ้างอิงแบบประเทศเยอรมนีที่อดีตกมธ.ยกร่างฯชุดนายบวรศักดิ์ได้ทำไว้ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดของพรรคการเมืองใหญ่ ดั้งนั้น พรรคการเมืองใหญ่จะต้องแตกออกเป็นพรรคเล็กๆ ทั้ง ปชป. หรือ พท. อาจจะต้องแตกออกเป็น 20 พรรค เพื่อให้ได้ ส.ส.มากที่สุดแล้วกลับมารวมกันจัดตั้งรัฐบาล

@ 'ปณิธาน'แนะคุยพรรคการเมือง

    นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยหลักการ เชื่อว่าผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คงมีเจตนาให้พรรคการเมืองทำงานในระบบรัฐสภา เป็นตัวแทนแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้จริง ไม่ให้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา และให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันในรัฐสภาได้ ไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนในอดีตอีก หรือถ้ามีวิกฤตก็สามารถแก้ไขในรัฐสภาได้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องออกมาเดินถนน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็ได้แสดงความชัดเจนว่า ไม่อยากให้ทหารออกมาอีก และที่สำคัญต้องมีการพูดคุยกับพรรคการเมือง ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร เพราะนักการเมืองจะเป็นผู้ใช้กติกาดังกล่าว 

@ 'อ๋อย'สงสัยยืดเวลาเลือกตั้ง

     นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำ พท. กล่าวว่า เรื่องที่จะให้พรรคการเมืองจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบนั้น เป็นเรื่องที่พิสดาร สมัยก่อนที่ให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้งก็จดทะเบียนพรรคใหม่ แต่การรัฐประหารครั้งหลังๆ คณะรัฐประหารไม่กล้าทำ จึงไม่ได้ยุบพรรค เพราะระบบพรรคการเมืองพัฒนามาไกล ถ้าจะยุบพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการหาเหตุเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งยืดเยื้อออกไป และอาจหมายถึงต้องการทำลายระบบพรรคการเมืองก็ได้ 

    เวลานี้ไม่มีใครรู้ว่า คำว่าพิสดารจะหมายถึงอะไร แต่ถ้าไม่ต้องการให้พรรคใหม่เสียเปรียบก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองจดทะเบียนเตรียมก่อตั้งพรรค หาสมาชิกได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ซึ่งมีเวลาเหลือเฟือ ก็จะทำให้เข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนพรรคการเมืองเก่าก็ไม่ต้องยกเลิก เพียงแต่ให้ปรับตัวตามกฎระเบียบใหม่จะดีกว่า 

@ แจงสูตรยกร่างแค่ครึ่งเดียว

    "ที่นายวิษณุบอกว่า เป็นเรื่องพิสดาร จึงเป็นห่วงว่าถ้าพิสดารมากๆ ร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด หากไม่ผ่านขั้นลงประชามติ กรรมการร่างธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ก็อาจจะเสียผู้เสียคนอย่างนายบวรศักดิ์ เพราะการที่นายบวรศักดิ์ทำเรื่องไปไกลมาก ก็เพราะทำตามคำแนะนำของนายวิษณุ และถ้า กรธ. ต้องทำตามคำแนะนำที่พิสดารก็อาจจะมีจุดจบคล้ายกับนายบวรศักดิ์" นายจาตุรนต์กล่าว 

    นายจาตุรนต์ กล่าวกรณีเสนอโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญสูตร 3-3, 3-2 ว่า สูตรที่เสนอเป็นเพียงครึ่งเดียว ยังไม่ได้พูดถึงการลงประชามติ ที่หากไม่ผ่านจะทำอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็น 6-4, 6-4 หรือ 3-3, 3-2 ถ้าไม่มีความชัดเจนในการทำประชามติก็จะยืดเยื้อไม่สิ้นสุด ตรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ชั่วคราวหรือไม่ แล้วให้ประชาชนมาร่างกันเองหรือจะย้อนกลับมาให้ คสช.ตั้งคณะกรรมาธิการกันใหม่ เรื่องนี้ต้องกำหนดให้ชัด 

@ 'สุขุม'ชี้หวังล้างอิทธิพลพรรค

     นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง(มร.) กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าสูตรพิสดารของนายวิษณุจะเป็นอย่างไร แต่ดูท่าทีแล้วอาจจะมีอะไรที่จะต้องทำให้ล้มกระดานเก่า โดยอ้างคำว่า ความเป็นธรรมให้เสมอภาคกัน เหมือนกับว่าถ้าเปิดกฎหมายพรรคการเมืองมาก็คงไม่มีพรรคเก่าที่จดทะเบียนแล้ว ต้องเริ่มใหม่หมด อันนี้อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการแยกตัวออกจากพรรคเก่า เพราะเท่ากับว่าไม่มีใครได้รับการรับรองเลยว่านี่คือสมาชิกพรรค เพราะถูกยกเลิกหมด 

     "ดูทิศทางแล้วคงให้เริ่มจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ และคิดว่าน่าจะเป็นการพยายามในแง่ที่จะทำให้อิทธิพลของพรรคการเมืองเก่าหมดไป" นายสุขุมกล่าว

@ 'วิโรจน์'เย้ยให้ใช้สรรหา 100%

      นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าสูตรพิสดารนายวิษณุ ระบุนั้นหมายถึงอะไร แต่ดูเหมือนว่า นายวิษณุมีประเด็นที่จะชี้นำอยู่ แต่ปัญหาคือ มีพรรคที่ถูกยุบแล้วถูกตั้งมาหลายรอบ เลยไม่เข้าใจว่าจะเป็นปัญหาอย่างไร เช่นพรรคไทยรักไทย ถูกยุบเป็นพรรคพลังประชาชน และเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นต้น ครั้งนี้คิดว่าพรรคที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ปชป.มากกว่า 

       "ผมมองว่า มันไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร นอกเหนือจากการถ่วงเวลาออกไปเท่านั้น และเคยได้ยินวาทกรรมว่า พท.ใหญ่เกินไปทำนองนี้ ต้องทำให้เล็กลง ซึ่งผมมองว่าตัวพรรคมันไม่เกี่ยว น่าจะไปจัดที่เขตการเลือกตั้งให้มีความเป็นตัวแทนของประชาชนให้มาก พื้นที่ไหนคนเยอะก็จัดสรรการเลือกตั้งให้ประชาชนมีสิทธิในเสียงของเขา แต่มาพยายามสกัดกั้นพรรคการเมืองให้เล็กลงผมว่ามันตลก ถ้าคุณไม่วางใจระบบการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจระบบพรรคการเมืองก็ยกเลิกไปเลย บอกเลยว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใช้ระบบสรรหา 100 เปอร์เซ็นต์ไปเลย ให้ทหาร ให้ข้าราชการประจำไปเลย ถ้าพูดตรงๆ แบบนี้จะง่ายกว่า ที่จะมีความพยายามออกแบบการเมืองครึ่งลูกครึ่งคนแบบนี้" นายวิโรจน์กล่าว 

@ 'วิษณุ'ยันเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "โรดแมปของรัฐบาล และคสช." ในงานสัมมนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประจำปี 2558 ที่โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ตอนหนึ่งว่า ถ้าทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่หากทำประชามติไม่ผ่านก็ยังไม่คิดและตอบไม่ได้ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ถามตนกลางที่ประชุมร่วม ครม.กับ คสช.ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติแล้วไม่ผ่าน จะทำอย่างไร จึงบอกไปว่าไม่มีคำตอบ เพราะไปคาดเดาล่วงหน้าคงไม่ได้ แต่วันนี้ต้องเริ่มคิดคำตอบดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งในไม่ช้าจะมีข้อเสนอให้ สนช.แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเตรียมรับมือกับกรณีที่ทำประชามติแล้วไม่ผ่าน (อ่านรายละเอียด น.2) 

       ต่อมานายวิษณุให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ระบุจะมอบหมายให้ไปทาบทามบุคคลมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า นายกฯยังไม่ได้พูดชัดเจนขนาดนั้น เป็นแค่ดำริว่า อาจจะมอบหมายให้ตน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมายให้อย่างชัดเจน ถ้ามอบหมายแล้วก็จะไปทาบทาม ส่วนกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ที่มีกระแสข่าวจะเป็นประธาน กรธ.นั้น ล่าสุดนายมีชัยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน จึงไม่ทราบว่าจะรับเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ 

@ แจงสูตรพิสดารแค่คิดเผื่อไว้

     นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่าไม่แน่ใจว่าต้องจดทะเบียนใหม่หรือไม่ แต่พูดเผื่อไว้ก่อน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญใหม่ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะออกมาใหม่จะระบุไว้อย่างไร อาจจะต้องจดทะเบียนใหม่หรือไม่ต้องก็ได้ แต่ปกติแล้วต้องออก พ.ร.บ.พรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อให้เข้ากับรัฐธรรมนูญใหม่ จะใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่าไม่ได้แล้ว 

      "การออกกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ถ้าไม่ได้ระบุอะไรเป็นพิเศษ ใครจะตั้งพรรคการเมืองต้องไปจดทะเบียนใหม่ แต่ว่าพรรคการเมืองเดิมอาจใช้ชื่อเดิมต่อได้ ไม่มีใครแย่งได้ แต่ต้องไปดำเนินการใหม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อประหยัดเวลา อาจใช้วิธีไปเขียนในกฎหมายลูกว่า ให้พรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งก่อนหน้านี้มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แล้วถือว่าให้เป็นพรรคการเมืองต่อไป" นายวิษณุกล่าว และว่า ต้องนึกถึงคนที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ด้วย ที่จะต้องรวบรวมสมาชิก หาทุน

@ บอกกว่า 2 หมื่นคนขอเป็นสปท.

      นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคปฏิเสธไม่ส่งตัวแทนเข้ามาเป็น สปท.ว่า แม้บางพรรคปฏิเสธ แต่หลายพรรคได้ส่งชื่อมาแล้ว ถ้าพรรคใดยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร ก็เสียดาย

      "ปีที่แล้ว ผมได้พูดว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ มาถึงวันนี้ เรือแป๊ะได้ผ่านมรสุมหลายลูก ระหว่างทางได้ส่งผู้โดยสารขึ้นบกไปแล้ว 2 กลุ่ม คือ สปช.กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้โดยสารที่เหลืออีก 3 กลุ่ม ว้าเหว่พอสมควร แต่ขอให้อดใจรอไปถึงท่าเรือใหม่ จะมีผู้โดยสารลงเรือแป๊ะอีก 2 กลุ่ม คือ สปท. 200 คน แต่เท่าที่รออยู่บนท่า และจะยัดเยียดลงเรือให้ได้ก็มีกว่า 20,000 คนแล้ว ขณะที่ กรธ. จะมี 21 คน มีรออยู่แค่ 4-5 คน ขณะนี้เรือแป๊ะยังไม่ถึงท่า ยังมีเวลาเป่านกหวีดเรียกผู้โดยสารได้อยู่" นายวิษณุกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!