WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ประชารฐ

โยก'ภาณุ' ขึ้นเป็นปลัดสปน. เลขาฯศอ.บต.เข้ากรุง 'บิ๊กโด่ง'โบ้ยตร.เอาผิด ปชต.ใหม่รำลึกปฏิวัติ สมคิดฉะฝรั่งไม่รู้จริง

      จับตาครม.โยกเลขาฯศอ.บต. 'ภาณุ อุทัยรัตน์' ไปนั่งปลัดสำนักนายกฯแทน'ปนัดดา' ที่ลาออก'บิ๊กตู่'เปิดงานกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนร่วมประกาศปฏิญญา 6 ข้อ 'สมคิด'ซัดฝรั่งวิเคราะห์ศก.ไทย ความรู้ไม่ถึงอย่าเสนอหน้าวิจารณ์ 'บิ๊กโด่ง'ชี้ตำรวจเตรียมเอาผิดย้อนหลังกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดรำลึก 19 ก.ย. 'นพดล' เสนอแนวคิด'มหาปรองดอง' เปิดเวทีให้ คู่ขัดแย้งพูดคุย 'นันทวัฒน์'พร้อมนั่งกรธ. วิปสนช.ถก 22 ก.ย.ส่งใครเป็นตัวแทน อดีตสปช.ฉะเพื่อไทย-ปชป. ปัดร่วมสปท.

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9063 ข่าวสดรายวัน

ประชารัฐ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เดินชมนิทรรศการหลังกล่าวเปิดงาน'สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก' โดยยืนยันไม่ดำเนินนโยบายประชานิยม ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

บิ๊กตู่เปิดงานพลังประชารัฐ

     เวลา 09.30 น.วันที่ 20 ก.ย. ที่ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" เพื่อประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารหอการค้าไทย ผู้นำชุมชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและประชาชนหลายจังหวัดร่วมงานกว่า 5,000 คน เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศชาติไม่ใช่ของตนหรือของคนใดคนหนึ่ง แต่ เป็นของคนทั้ง 70 ล้านคนที่เรียกว่าเป็นประชารัฐ หากฟังเพลงชาติไทยผู้ประพันธ์เขียนไว้ชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นประชารัฐ ไม่มีคำว่าประชานิยม ประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาลร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่มีความ ขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล รัฐบาลนี้ห่วงใยทุกคนจะไม่ทอดทิ้งใคร วันนี้ตนมีกำลังใจมากขึ้นทุกวันเพราะเห็นรอยยิ้มจากทุกๆ คน ขอความร่วมมือทุกคนสร้างความสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาต่อยตีกันเหมือนแต่ก่อนมันเสียเวลา
ตั้งกองทุนซื้อที่ดินเกษตรกร
      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นให้ได้ รัฐบาลจะส่งเสริมทางด้านการตลาด มีแนวคิดจะเปิดตลาดกลางเพิ่มให้เกษตรกรเชื่อมต่อและเจอกับผู้ค้าโดยตรง ที่กลัวคือวันหน้าจะไม่มีคนปลูกข้าวให้กินเพราะรายได้ตกต่ำมีแต่หนี้สิน ขณะเดียวกันราคาข้าวในตลาดโลกก็เกิดการแข่งขัน คนทำนาหันไปทำงานโรงงาน แต่คิดว่าภายในปีสองปีทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ถ้าเรามีการปรับเปลี่ยนตัวเอง
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานของภาครัฐกำลังพิจารณาจัดตั้งกองทุนซื้อที่ดินที่กำลังจะหลุดจำนองของเกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรยังมีที่ทำกินต่อไป เพราะหากไม่เข้าไปแก้ปัญหาในอนาคตอาจทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่มีที่ทำกินได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนนอกเหนือจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณผ่านกองทุนต่างๆ และการช่วยเหลือธุรกิจเอส เอ็มอี
      นายกฯ กล่าวว่า จะมีสหกรณ์ มีกองทุน ถ้าข้างล่างเข้มแข็งก็จะมีกองทุนหมุนเวียนลงไปมากกว่านี้ และต้องซื่อสัตย์ต่อกัน อย่าไปฟังคนอื่นมากนัก วันนี้การเมืองแรงเราต้องทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ไม่ใช่ล้มแหล่ไม่ล้มแหล่มาตลอด ตนคาดหวังที่จะสร้างความเชื่อมั่น ตนมาเป็นผู้รับใช้ไม่ใช่เจ้านาย และทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนบนความสงบ มีเสถียรภาพ เราเป็นคนไทยอย่าไปฟังคนอื่นที่พูดจาบิดเบือนมาตลอด กฎหมายมีหน้าที่อยู่แล้ว
อย่าให้คนนอกประเทศกดดัน
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังบอกให้ออกกฎหมายเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทุจริต ทั้งผู้ที่รับสินบนและผู้ที่ให้สินบน หากไม่มีการให้สินบนก็จะไม่มีการรับ ดังนั้นจึงต้องเอาผิดกับคนเหล่านี้ด้วย หากพบว่ามีใครกระทำความผิดขอให้มาบอกตน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ใคร ตนต้องการสร้างความ เข้มแข็งและประชาธิปไตยให้กับประเทศนี้ จึงต้องให้เวลากับตนด้วย ขณะเดียวกัน เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ไม่สามารถทำแค่เฉพาะหน่วยงานรัฐบาลหรือข้าราชการ แต่อยู่ที่คนไทยทุกคน
     นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนจะยอมหรือไม่ที่จะให้คนอยู่นอกประเทศกดดันและบิดเบือนต่อไป แต่เรากำลังทำให้คนทั้งโลกรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ อย่าให้สิ่งอื่นเข้ามาปิดกั้นตัวเราเองและสร้างความแตกแยก หากรวมพลังและสร้างความเข้าใจ ปัญหาทั้งหมดจะแก้ไขได้อย่างแน่นอน บ้านเมืองจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ไม่เห็นต้องฟ้องคนอื่นเกี่ยวกับบ้านเราเพราะนี่เป็นประเทศของเรา ทุกอย่างต้องแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการ ตนยอมไม่ได้หากทุกอย่างไม่เข้าสู่กระบวนการและอย่าให้ใครมาว่าบ้านเราได้
ประกาศปฏิญญา6ประการ
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมีตัวแทนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันประกาศปฏิญญาเครือข่าย "ประชารัฐ" ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนใน 6 ประการคือ 1.เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดขบวนการกระตุ้นนโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานราก, 2.ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, 3.ร่วมฟื้นฟูฐานทรัพยากรให้เป็นทุนสร้างเศรษฐกิจฐานราก, 4.ใช้ความพยายามทำให้เกิดการร่วมกันทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ, 5.การสร้างพลเมืองอย่างสร้างสรรค์ และ 6.จะนำแนวคิดการสานพลังประชารัฐ แปลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่
สมคิด ฉะฝรั่งไม่รู้จริงอย่ามาสอน
     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษากรรมการจัดงาน กล่าวว่า ทุกภาคส่วนประกาศชัดเจนว่าพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาฐานรากที่ผ่านมาทำไมต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน เอาสีเสื้อมาเป็นความขัดแย้งกัน เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานรากมีนักวิเคราะห์ของฝรั่งเขียนว่าไม่ได้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีสูงขึ้น เสนอให้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะดีกว่าเพราะจีดีพีจะดีขึ้น ตนบอกกลับไปยังสื่อฝรั่งให้ไปเรียนหนังสือใหม่ หากความรู้ไม่พออย่าริอาจเสนอหน้ามาสอนประเทศไทย เพราะวันนี้จะเอาข้อจำกัดของแต่ละภาคส่วนมาประสานกัน เมื่อมีการร่วมมือกันทั้ง 3 ภาครัฐภาคประชาชนและภาคเอกชน แล้วเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
      "เรารู้ดีว่า เวลาของเรามีจำกัด บอกเลยว่าที่ทำทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะต้องการวางรากฐานทางการเมืองอนาคตทางการเมืองให้ตนเอง ผมและนายกฯไม่มีอนาคตทางการเมืองแต่ที่ทำทุกวันนี้เพราะอยากให้ประเทศมีเวลาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้ทุกอย่างสงบแล้วแต่ก็มีคนระแวงไม่ไว้ใจผม ยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอนแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่ท่องจำมา และเราต้องเข้มแข็งสู้กับชาวโลกได้" นายสมคิดกล่าว
อีก 10 ปีข้างหน้าเห็นผล
      นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะที่ปรึกษากรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยตกอยู่ในหลุมดํา มีวิกฤต 6 ประการ คือวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม และการพัฒนาคุณภาพคน ไม่มีผู้ใดองค์กรใดหรือรัฐบาลจะนำประเทศออกจากวิกฤตนี้ได้ นอกจากภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชนที่รวมกันเรียกว่าประชารัฐ มาร่วมมือกันถึงจะออกจากวิกฤตได้ การร่วมมือกันครั้งนี้เชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2568 จะเกิดความสำเร็จได้
      นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจฝ่ายเดียวจะเป็นงานหนักมาก ดังนั้น สมาคม จะขอเข้าร่วมขับเคลื่อนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยจะประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มี 7,853 แห่งทั่วประเทศ นำ งบประมาณในสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นประจำปี 59 ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนด้วนโดยจะมีเงินสะสมรวมกันไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท
       นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ในฐานะประธานจัดงาน "สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ระบุว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะแก้ไขได้โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว การจัดงานดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของ 3 ภาคส่วนในการพัฒนาท้องถิ่นและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของประเทศจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นพดลชูไอเดีย"มหาปรองดอง"
     นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เสนอให้คนไทยร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ ลดความ ขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ว่า การนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ตนขอเสนอแนวคิดมหาปรองดอง เพื่อให้สังคมได้คิด 1.เราต้องหยุดวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในสังคมไทย เพราะจะทำให้สังคมร้าวลึกมากขึ้น สังคมไทยเห็นต่างได้แต่ต้องไม่ด่าทอใส่ร้ายกัน โดยเฉพาะใน โซเชี่ยลมีเดีย แม้ใส่เสื้อคนละสีและไม่รักกันแต่ต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ตนเคยโดนใส่ร้ายด้วยความเท็จมาแล้วจึงเห็นว่าไม่มีใครได้ประโยชน์ 2.ควรจัดให้มีเวทีแห่งชาติให้คู่ขัดแย้งต่างๆ พรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ มาเปิดอกถกกันถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม เพื่อร่วมกันหาทางออกของประเทศที่เห็นด้วยกันมากที่สุด และมีความยั่งยืนในระยะยาวแล้วทุกฝ่ายปฏิบัติตาม
       3. ประเทศต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกันที่เป็นธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้คือมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีมาตรฐานและสามารถนำไปสู่การเมืองที่มีเสถียรภาพ การใช้อำนาจที่สุจริตและมีประสิทธิภาพ เราควรให้ความสำคัญกับเนื้อหา มากกว่าตัว ผู้ร่าง เพราะผู้รับสร้างบ้านย่อมปลูกตามใจเจ้าของ เราควรปลูกบ้านให้ทุกฝ่ายอยู่อย่างมีความสุข ประเทศเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ การร่วมคิด ร่วมฟัง และให้ทุกฝ่ายมีเสรีภาพในการเสนอทางออกจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตนจึงขอเสนอแนวคิดมหาปรองดองให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา
ตร.เอาผิดย้อนหลังกลุ่มปชต.ใหม่
     ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวกรณีกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เคลื่อนไหวรำลึกครบรอบเหตุการณ์ 9 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการท้าทายอำนาจคสช. หรือไม่ว่า ถ้าคิดในทางหนึ่งก็คือ คสช.เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกได้แต่พยายามไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งระมัดระวังอยู่ตลอด สิ่งใดที่แสดงออกแล้วพอยอมรับได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร อาจจะถือวันเวลาเป็นสัญลักษณ์ก็เข้าใจว่าต้องมีการแสดงออกบ้าง ก็เข้าใจแต่คิดว่าอย่าไปทำเช่นนี้ต่อเนื่องเลย
      แต่อย่าลืมว่า ยังมี พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะอยู่ ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ผิดกฎหมาย แกนนำ ผู้ที่ดำเนินการนอกกรอบกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้หมดแล้วและจะมีการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเพราะถือว่ากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำผิดกฎหมายปกติ
     เมื่อถามว่า จะมีการดำเนินการเอาผิดย้อนหลังหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องนี้ทางตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่าผิด พ.ร.บ. ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ และจะผิดในรายละเอียดต่างๆ ด้วย
ดึง"ภาณุ"นั่งปลัดสำนักนายกฯ
      รายงานข่าวเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 22 ก.ย. คาดจะมีการพิจารณาแต่งตั้งนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นรับตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แทน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่ลาออก เพื่อมาทำหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพียงอย่างเดียว
      ขณะที่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งยังเห็นว่า นายภาณุ จะยังเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เดิม เนื่องจากเป็นตำแหน่งเทียบเท่าปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ประกอบกับนายภาณุ มีผลงานการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายด้านเป็นที่น่าพอใจ สำหรับเก้าอี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่าทางนายกฯ อาจจะมอบให้นางกนกทิพย์ รชตะนันทน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่พลาดโอกาสในการขึ้นเป็นเลขาฯ สมช. เป็นการปลอบใจ
พรเพชรสั่งสนช.พร้อมร่างกม.ลูก
     ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย กล่าวระหว่างการสัมมนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า จากนี้ไปสนช.จะต้องมีงานหนัก เนื่องจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องส่งกฎหมายเข้ามาให้สนช.พิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว อีกทั้งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องเตรียมพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จากประสบการณ์พบว่าหากไม่มีกฎหมายลูกที่ผ่านมาก็จะเกิดปัญหา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเลย จึงทำให้เกิดข้อกังขาในการวินิจฉัยคดีการเมือง
      นายพรเพชร กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาก็ต้องออกกฎหมายทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ โดยเฉพาะการพิจารณาของศาลจะมีปัญหามาก เพื่อสร้างความ เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เป็นความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าสนช.จะมีความรู้ความสามารถในการที่จะร่างกฎหมาย จึงต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ที่ผ่านมาสนช.ออกกฎหมายไปหลายฉบับแต่กฎหมายที่ภูมิใจมากที่สุดคือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ
เผยเขียนร่างล่วงหน้าได้
      ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 กล่าวว่า ไม่หนักใจในการทำหน้าที่ของสนช.เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความร่วมมือของสนช.เกี่ยวกับการร่างกฎหมายลูก แต่สังคมจะคาดหวังกับสนช. เพราะสนช.จะมีเวลาเพียงอีกปีเศษและสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นสากล หากมีเรื่องใช้สถานการณ์พิเศษให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลและต้องมีเหตุผลในการอธิบายให้สังคมได้ อย่างไรก็ตาม ตนดีใจที่ สนช.ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม แต่มีปัญหาในเรื่องพูดและการประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมาผลงาน เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแทบไม่มี ซึ่งดีใจทำหน้าที่ให้กับสังคมและบ้านเมือง ทั้งนี้ การลงพื้นที่พบประชาชนให้เอาปัญหาเป็นที่ตั้งทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง
     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯให้ร่นระยะเวลาโรดแม็ปในส่วนของ สนช.ที่ร่างกฎหมายลูกจะเป็นไปได้หรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า สนช.จะพยายามทำให้เร็วขึ้น แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและส่งให้สนช.ได้เมื่อไร ยืนยันเมื่อมาถึงสนช.จะไม่ช้าแน่นอน เพราะมีกรอบเวลาบังคับไว้อยู่แล้ว วันนี้ยังมีคนพูดว่าระหว่างรอ สนช.สามารถยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมไว้ก่อน ซึ่งคิดว่าทำได้ แค่ระดับหนึ่ง แต่ขอให้รอหลักการในร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนถึงจะเขียนกฎหมายลูกได้ แต่อาจเขียนภาพกว้างๆ รอไว้ได้ ทั้งหมดต้องไม่ขัดกับตัวแม่คือรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว แต่สนช.คงไม่มีทีมพิเศษที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะเนื่องจากมีคณะกรรมการหลายชุดอยู่แล้ว จะร่นเวลาได้หรือไม่ยังประเมินไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วยทำให้เร็วกว่า 6 เดือนได้
วิปสนช.ถกส่งคนนั่งกรธ.
      เมื่อถามถึงการตั้ง กรธ. นายสุรชัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องที่ สนช.จะไปเป็นกรธ. คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะชัดเจนยิ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้ทุกคนช่วยกันเสนอชื่อ ช่วยกันดูคนที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ กลับมาจากร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐ จะดูภาพสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าในสัปดาห์นี้ทุกคนจะได้ช่วยกันเสนอรายชื่อ ขณะนี้มีหลายคนเสนอตัวที่จะเข้าเป็นกรธ.ผ่านนายพีระศักดิ์ พอจิต ซึ่งจะมีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) วัน 22 ก.ย.นี้ ส่วนตัวเห็นว่าคนที่จะเป็น กรธ.จะเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมเสียสละเวลาให้กับบ้านเมือง โดยตลอดเวลาในการยกร่าง 180 วัน จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ก็ได้
      ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช.กล่าวถึงสัดส่วนกรธ.ในสนช.ว่า ยังไม่มีใครมาทาบทาม แต่หากตนจะไปเป็นกรธ.ก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขโดยต้องดูว่า การร่างรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายอะไร เพื่อ แก้วิกฤตสถานการณ์ของบ้านเมืองหรือ ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หากเป้าหมายต้องการร่างให้เป็นประชาธิปไตยตนก็ไม่รับ เพราะมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันการร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้วิกฤตของชาติ อีกทั้งก็ต้องดูว่าคนที่จะมาเป็นประธานกรธ.จะมีความคิดไปด้วยกันได้หรือไม่ ไม่ใช่พอเข้ามาทำงานแล้วเกิดความขัดแย้งกันเอง เพราะขณะนี้ไม่มีเวลาที่จะมาขัดแย้งกันเองแล้ว ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติและปฏิรูปประเทศ
'นันทวัฒน์'พร้อมนั่งกรธ.
      นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีมีชื่อเป็น กรธ. ว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีการทาบทาม และถ้าทาบทามมาก็ต้องทาบทามมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะตนเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ถ้ามหาวิทยาลัยส่งไปก็พร้อมไปทำหน้าที่ ต้องบอกไว้ก่อนว่าตนไม่ค่อยมีเวลาแต่ถ้าได้ไปเป็นกรธ.จริงๆ ก็ต้องแบ่งเวลา เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คงใช้เวลาไม่มาก เหมือนที่ผ่านมา เพราะเขาอาจจะหยิบรัฐธรรมนูญปี 40 และ50 หรือฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาปรับแก้ก็ได้ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นฉบับที่ดี
      ส่วนที่มีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. มาเป็นประธานกรธ.นั้น นายนันทวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าคงไม่มีใครอยากไปเป็น ถ้าไปก็คงลำบากเพราะเป็นองค์กรที่ทำงานลำบาก ดังนั้น ถ้านายมีชัยจะรับเป็นประธานกรธ.ก็คงเพราะความเกรงใจ แต่ถ้ารับจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนายมีชัยเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ
     นายนันทวัฒน์ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า มีคนมากกว่า 2 หมื่นคนที่อยากเป็นมานั่งใน สปท. ว่า คนตั้งคือ คสช. เขาต้องมีวิธีคิดอยู่แล้วจะ ขับเคลื่อนเรื่องอะไร คนที่ถูกเลือกก็ต้องมาทำงานสานต่อ คนทุกคนอยากเป็น สปท. แต่ต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ไม่ต้องห่วงคนตั้งเขาน่าจะเลือกได้ถูกใจ
สปช.ฉะ 2 พรรคใหญ่มือไม่พาย
     พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า ส่วนตัวขอสนับสนุนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ส่วนกรณีที่พรรคใหญ่สองพรรคไม่เข้าร่วม สปท. คงบังคับกันไม่ได้ ตอนสรรหา สปช.รัฐบาลก็เชิญแต่สองพรรคใหญ่ก็ประกาศไม่เข้าร่วม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปประเทศ เพียงแต่พรรคที่คิดว่าจะชนะเลือกตั้งก็อยากให้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป จะได้ปฏิรูปขณะที่ตนเองเป็นรัฐบาล ส่วนพรรคที่คิดว่าจะแพ้เลือกตั้งก็อยากปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะคิดเอาเองว่าถ้าปฏิรูปแล้วจะชนะเลือกตั้ง เลยพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายจนทำให้เกิดการยึดอำนาจในที่สุด แต่พอมีรัฐบาลที่เกิดจากการยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศแทนก็ไม่ร่วมมือช่วยกันปฏิรูป ลืมไปแล้วว่าตนเองเป็นต้นเหตุใหญ่ของปัญหา ไม่ร่วมมือกันแล้วกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าสปช.ทำงานล้มเหลวและสิ้นเปลืองงบประมาณ เมื่อรัฐบาลเชิญร่วม สปท.ก็ได้รับการปฏิเสธเป็นครั้งที่สองโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เมื่อไม่เข้าร่วมในอนาคตก็จะมาต่อว่ากันไม่ได้ ขอความกรุณาอย่าให้ร้ายกันอีก มันจะเข้าตำรามือไม่พายแล้วเอาเท้าไปราน้ำ
ปชป.จวกจดทะเบียนพรรคใหม่
      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่ากฎหมายพรรคการ เมืองที่จะร่างขึ้นใหม่มีความพิสดารโดยพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนใหม่ ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่เสร็จ นายวิษณุ จะรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญจะไปทางไหน และนายวิษณุก็ไม่ได้เป็นกรธ. และโดยประเพณีการเมืองการปกครอง พรรคที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 และถูกปฏิวัติ เมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ให้เป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ให้พรรค การเมืองทำงานต่อได้ และที่พรรคการเมืองต้องหยุดกิจกรรมก็หยุดเพราะรัฏฐาธิปัตย์
      นายวิรัตน์ กล่าวว่า แนวที่นายวิษณุพูด ต้องถามว่าต้องการอะไร หรือต้องการให้เกิดความยุ่งยาก พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ มีสาขา มีฝ่ายกฎหมาย อะไรมากมาย สามารถดำเนินการจดทะเบียนพรรคได้ แต่ถามว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร เพราะเสียเวลา เปลืองกระดาษ ต้องให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมมาเขียนใบสมัครเป็นสมาชิกอีกครั้ง จึงเห็นว่าพรรคที่มีอยู่เดิมควรเป็นพรรคการเมือง ต่อไป พรรคไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะใช้ชื่อเดิม แต่เสียเวลา เราควรเดินหน้าต่อไปไม่ใช่ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ ควรไปคิดเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ดีกว่า ไม่ว่าเรื่องการพัฒนาการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปตำรวจ ที่ดิน ระบบภาษี ที่นายวิษณุออกมาพูดเช่นนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณหรือดูท่าทีของสังคมมากกว่า ยังไม่ถึงเวลาพิจารณากฎหมายลูก เพราะกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ
     นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นการจดทะเบียนพรรคใหม่ ว่า ส่วนตัวไม่ติดใจ เพราะปัญหาของประเทศที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่เกิดจากนักการเมือง การจะออกกฎหมายเพื่อล้างไพ่ใหม่ทั้งหมดน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของระบบการเมือง อย่างน้อยจะได้เป็นข้อคิดในอนาคตว่าถ้านักการเมืองทำให้บ้านเมืองเสียหายก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หมด ที่สำคัญเมื่อมีการร่างกติกาใหม่ การเริ่มกันใหม่ก็น่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

บิ๊กโด่งชี้นศ.เคลื่อนขัดกม. ฮึ่มเช็กบิล เล็งให้ตร.เอาผิดย้อนหลัง กลุ่มปชต.ใหม่'ลุยต่อ บิ๊กตู่ลั่นลบประชานิยม แนะใช้'ประชารัฐ"แทน ขอจับพ.อ.ค้า'โรฮีนจา'

 มติชนออนไลน์ :

    โพลนิด้าแนะ รธน.ฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติให้นำปี 40-50 ปรับใช้ วิป สนช.นัด 22 กันยาฯถกคัดคนนั่ง กรธ. "สมเจตน์"เผยหากร่าง รธน.เป็นประชาธิปไตยจะไม่รับนั่งคณะกรรมการ "บิ๊กตู่"ลั่นผู้บริหารต้องมีคุณธรรม ลุยเปลี่ยนประชานิยมให้เป็นประชารัฐ

@ บิ๊กตู่ชี้ผู้บริหารต้องมีคุณธรรม

      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 กันยายน ที่อิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงาน รวมถึงผู้นำภาคธุรกิจ เครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพูดอะไรเข้าใจยาก ทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่เชื่อว่าวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทราบแล้ว ทั้งความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึง การบริการ กฎหมายต่างๆ ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องยึดถือไว้ รวมทั้งต้องมีความรู้คู่คุณธรรม โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง จะต้องมีคุณธรรม ศีลธรรม มีหลักธรรมาภิบาล ประชาชนเองจะต้องมีศีลธรรม สร้างเป็นหมู่บ้านศีล 5 ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็น 

     "ที่ผมต้องพูดอยู่ทุกวันเพราะต้องการให้ทุกคนเข้าใจ ถ้าเราไม่ฟังใครก็จะคิดไปเองโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ความท้อแท้ หมดกำลังใจ แล้วพอมีใครมาชักจูงไปกับเขาง่ายๆ ไม่สามารถกลับมาสู่ช่องทางปกติได้ ทำให้เกิดความแตกแยก ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ประเทศชาติไม่ใช่ของผม หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้ง 70 ล้านคน ที่เรียกว่าเป็นประชารัฐ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ ชูประชารัฐคว่ำ'ประชานิยม'

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในเพลงชาติไทยมีคำว่าประชารัฐ ไม่ใช่ประชานิยม วันนี้เป็นความพยายามเปลี่ยนประชานิยมเป็นประชารัฐให้ได้ หากฟังเพลงชาติไทยผู้ประพันธ์ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าประเทศไทย เป็นประชารัฐ ไม่มีคำว่าประชานิยม ประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาล ร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีธรรมาภิบาล ประชาชนก็จะดีร่วมมือกันทำงาน และจูงมือเดินกันไปพร้อมๆ กัน ไม่มีความขัดแย้ง

     "รัฐบาลนี้มีความห่วงใยทุกคน จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ ผมตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะเห็นพวกท่านบางคนจนมาตลอดชีวิต ผมเป็นทหารทั้งชีวิต บางคนจนอยู่อย่างไรก็จนอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นรวยขึ้น เราต้องรวมกันเป็นปึกแผ่นให้ได้ และพลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง วันนี้ผมมีกำลังใจมากขึ้นทุกวัน เพราะเห็นรอยยิ้มจากทุกๆ คน ขอความร่วมมือทุกคนสร้างความสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาต่อยตีกันเหมือนแต่ก่อนมันเสียเวลา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ คุยประชาชนคือเจ้านาย

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปฟังคนอื่นมากนัก เพราะจะลำบาก วันนี้การเมืองแรง ต้องทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ไม่ใช่ล้มแหล่ไม่ล้มแหล่มาตลอด เพราะเกิดจากความยากจน ไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน ตรงนี้รับไม่ได้ การตัดสินใจอะไรให้ใช้ความรู้ ให้ฟัง 

      "คาดหวังที่จะสร้างความเชื่อมั่น มาเป็นผู้รับใช้ ไม่ใช่มาเป็นเจ้านาย ท่านเป็นเจ้านายผม และทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อน บนความสงบ มีเสถียรภาพ ถ้าประเทศใดไม่มีเสถียรภาพ ทั้งจากเรื่องประชาธิปไตย ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง ที่พูดมาทั้งหมดถ้ามี กลายเป็นประเทศล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และถ้าผมไม่เข้ามา ยิ่งกว่าตอนที่มาอีก ที่พูดไม่ได้ทวงบุญคุณ เราเป็นคนไทยอย่าไปฟังคนอื่นที่พูดจาบิดเบือนมาตลอด กฎหมายมีหน้าที่ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ด้วยการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีธรรมาภิบาล ต้องไปมองที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีความสำเร็จ ฉะนั้นการเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ ไม่มีความขัดแย้ง และต้องเดินหน้าประเทศอย่างที่ผมพูด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังบอกให้ออกกฎหมายเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทุจริต ทั้งผู้ที่รับสินบนและผู้ที่ให้สินบน หากไม่มีการให้สินบนก็จะไม่มีการรับ ดังนั้น จึงต้องเอาผิดกับคนเหล่านี้ด้วย หากพบว่ามีใครกระทำความผิดก็ขอให้มาบอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ใคร ยืนยันว่าแม้แต่สลึงเดียวก็ไม่อยากได้ และไม่ต้องกลัวหากมีการร้องเรียน จะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก 

@ ซัดคนนอกประเทศบิดเบือน

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันหน้าต้องการรัฐบาลที่ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยก เพื่อความเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียนอย่าพูดแต่เพียงว่าต้องการประชาธิปไตย ตอนนี้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบสุข ทั้งการค้า การลงทุน ทำให้ประเทศปลอดภัย

     "ผมต้องการสร้างความเข้มแข็งและประชาธิปไตยให้กับประเทศนี้ จึงต้องเวลากับผมด้วย ขณะเดียวกันไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ไม่สามารถทำแค่เฉพาะหน่วยงานรัฐบาลหรือข้าราชการ แต่อยู่ที่คนไทยทุกคน ยอมหรือไม่ที่จะให้คนอยู่นอกประเทศกดดันและบิดเบือนต่อไป แต่เรากำลังทำให้คนทั้งโลกรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ อย่าให้สิ่งอื่นเข้ามาปิดกั้นตัวเราเองและสร้างความแตกแยก หากรวมพลังและสร้างความเข้าใจ ปัญหาทั้งหมดในโลกนี้จะสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

@ สนช.พร้อมถกกม.ลูกรธน.

      ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) กล่าวในระหว่างสัมมนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ต่อไป สนช.จะต้องมีงานหนัก เนื่องจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องส่งกฎหหมายเข้ามาให้ สนช.พิจารณาซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว อีกทั้งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องเตรียมพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก 

      "จากประสบการณ์ของผมพบว่าหากไม่มีกฎหมายลูกที่ผ่านมาจะเกิดปัญหา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเลย จึงทำให้เกิดข้อกังขาในการวินิจฉัยคดีการเมือง ดังนั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาต้องออกกฎหมายลูกทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ โดยเฉพาะการพิจารณาของศาลจะมีปัญหามาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เป็นความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นอีก" นายพรเพชรกล่าว และว่า เชื่อมั่นว่า สนช.จะมีความรู้ความสามารถในการที่จะร่างกฎหมาย จึงต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ที่ผ่านมา สนช.ได้ออกกฎหมายไปหลายฉบับแต่ กม.ที่ภูมิใจมากที่สุดคือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ 

@ วิปสนช.ถกตั้งกรธ.22 ก.ย.

     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ยังไม่มีความชัดเจนที่ สนช.จะไปเป็น กรธ. คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ให้ทุกคนช่วยกันเสนอชื่อ ช่วยกันดูคนที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาจากประชุมสหประชาชาติ จะดูภาพสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าในสัปดาห์นี้ทุกคนจะได้ช่วยกันเสนอรายชื่อ 

      "ขณะนี้มีหลายคนเสนอตัวที่จะเข้าเป็น กรธ.ผ่านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ซึ่งจะคุยในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) วันที่ 22 กันยายน ผมเห็นว่าคนที่จะเป็น กรธ.จะเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมที่จะเสียสละเวลาให้กับบ้านเมือง โดยตลอดเวลาในการยกร่าง 180 วัน จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ก็ได้" นายสุรชัยกล่าว

@ รับลูก'บิ๊กตู่'ร่นเวลาให้สั้น

      เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมีดำริให้ร่นระยะเวลาโรดแมปในส่วนของ สนช.ที่ร่างกฎหมายลูกจะเป็นไปได้หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า สนช.จะพยายามทำให้เร็วขึ้น แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กรธ.ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไหร่ และส่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ สนช.ได้เมื่อไหร่ ยืนยันว่าเมื่อมาถึง สนช.จะไม่ช้าแน่นอน เพราะมีกรอบเวลาบังคับไว้อยู่แล้ว

      "ยังมีคนพูดว่า ระหว่างรอ สนช.จะสามารถยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมไว้ก่อน คิดว่าทำได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ขอให้รอหลักการในร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนถึงจะเขียนกฎหมายลูกได้ แต่อาจเขียนภาพกว้างๆ รอไว้ได้ ทั้งหมดจะต้องไม่ขัดกับตัวแม่คือรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว ทั้งนี้ จะร่นเวลาได้หรือไม่ยังประเมินไม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วยทำให้เร็วกว่า 6 เดือนได้" นายสุรชัยกล่าว

@ พีระศักดิ์แนะร่างรธน.เป็นสากล 

      นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ไม่หนักใจในการทำหน้าที่ของ สนช.เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความร่วมมือของ สนช.เกี่ยวกับการร่างกฎหมายลูก แต่สังคมจะคาดหวังกับ สนช. เพราะ สนช.จะมีเวลาเพียงอีกปีเศษและสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสากล หากมีเรื่องใช้สถานการณ์พิเศษให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาล และต้องมีเหตุผลในการอธิบายให้สังคมได้ "ดีใจที่ สนช.ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม แต่มีปัญหาในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมาผลงาน เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแทบไม่มี ซึ่งดีใจทำหน้าที่ให้กับสังคมและบ้านเมือง ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่พบประชาชนให้เอาปัญหาเป็นที่ตั้งทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง" นายพีระศักดิ์กล่าว

@ ชี้ร่างเป็นปชต.ไม่รับนั่งกรธ.

     พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช.กล่าวถึงสัดส่วน กรธ.ใน สนช.ว่า ยังไม่มีใครมาทาบทาม แต่หากจะไปเป็น กรธ.ต้องพิจารณาเงื่อนไขโดยต้องดูว่าการร่าง รธน.มีเป้าหมายอะไร เพื่อแก้วิฤตสถานการณ์ของบ้านเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 

        "หากเป้าหมายต้องการร่างให้เป็นประชาธิปไตยผมไม่รับ เพราะมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันการร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้วิกฤตของชาติ อีกทั้งต้องดูว่าคนที่จะมาเป็นประธาน กรธ.จะมีความคิดไปด้วยกันได้หรือไม่ ไม่ใช่พอเข้ามาทำงานแล้วเกิดความขัดแย้งกันเอง เพราะขณะนี้ไม่มีเวลาที่จะมาขัดแย้งกันเองแล้ว ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติและปฏิรูปประเทศ"พล.อ.สมเจตน์กล่าว

@ สุวพันธุ์แนะร่างรธน.ต้องตกผลึก

     นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสรรหา กรธ. ว่า ตอบไม่ได้ว่า กรธ.จะมีชื่อของใครบ้าง นายกฯจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้คนยอมรับทั่วกันเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนล้วนมีความเห็นแตกต่างกันออกไป ที่ผ่านมาได้คุยกับคนหลายกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนักวิชาการ คิดว่าหากจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีและเป็นที่ยอมรับจะต้องตกผลึกในหลักการร่วมกัน 1.จำเป็นต้องขอความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งที่สนับสนุนและผู้เห็นต่างจากรัฐบาล 2.เนื้อหาต้องเหมาะสมกับสภาพของประเทศ 3.รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูป 

     "รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยอมรับของคนไทย ของสังคมส่วนใหญ่ ต่างประเทศเห็นแล้วโอเค คือต้องยอมรับในหลักการก่อน ส่วนตัวอยากเห็นประเทศปฏิรูป แต่อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย จะต้องทำให้สองสิ่งนี้สอดคล้องกันให้ได้ โดยไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนดี 3.รัฐบาลที่ดำเนินงาน เพื่อเป็นรากฐานของประเทศ" นายสุวพันธุ์กล่าว

      นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้ง สปท.ว่า ส่งรายชื่อข้าราชการ 4 รายให้ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากสั่งการให้กระทรวงต่างๆ ส่งรายชื่อข้าราชการเพื่อพิจารณา โดยพิจารณาตามความเหมาะสม ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่นายกฯระบุก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ คาดหวังว่า สปท.จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปได้จริง เพราะประชาชนล้วนให้ความหวังสูง

@ นันทวัฒน์ชี้มีชัยเหมาะปธ.กรธ.

      นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีมีชื่อเป็น กรธ.ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เพราะยังไม่มีการทาบทาม ถ้าทาบทามมาต้องทาบทามมาที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ถ้ามหาวิทยาลัยส่งไป พร้อมไปทำหน้าที่ต้องบอกไว้ก่อนว่า ไม่ค่อยมีเวลา ถ้าได้ไปเป็น กรธ.จริงๆ ต้องแบ่งเวลา

       "เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้คงใช้เวลาไม่มาก เหมือนที่ผ่านมา เพราะอาจจะหยิบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หรือฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มาปรับแก้ได้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นฉบับที่ดี" นายนันทวัฒน์กล่าว

      นายนันทวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. มาเป็นประธาน กรธ. ว่า ส่วนตัวเห็นว่าคงไม่มีใครอยากไปเป็น ถ้าไปคงลำบาก เพราะเป็นองค์กรที่ทำงานลำบาก ดังนั้น ถ้านายมีชัยจะรับเป็นประธาน กรธ.คงเพราะความเกรงใจ แต่ถ้ารับจริงๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนายมีชัยเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ส่วนกรณีที่นายวิษณุ ระบุว่า มีคนมากกว่า 2 หมื่นคนที่อยากมานั่งใน สปท.นั้น คนตั้งคือ คสช. ซึ่งเขาต้องมีวิธีคิดของเขาอยู่แล้ว จะขับเคลื่อนเรื่องอะไร คนที่ถูกเลือกต้องมาทำงานสานต่อ คนทุกคนอยากเป็น สปท. แต่ต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ไม่ต้องห่วงคนตั้งเขาน่าจะเลือกได้ถูกใจ 

@ 'อาณันย์'ชวน2 พรรคมาทำงาน

      พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบ้านเมืองไม่มีปัญหาจะมี คสช.ได้อย่างไร สองพรรคใหญ่เคยเป็นรัฐบาลกันมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง ทุกคนล้วนเป็นผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง มีผู้คนเคารพนับถือมากมาย มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า วันนี้บ้านเมืองมีปัญหาและ คสช.กำลังเข้ามาแก้ไขและจัดระเบียบควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ คสช. ในฐานะที่พวกท่านบอกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนมาจากการเลือกตั้ง มาร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมเพื่อประชาชนดีกว่า เพราะการร่วมมือกัน คือ หัวใจของความสำเร็จ 

     "อีกไม่นานต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จะได้เปรียบเทียบกันว่ารัฐบาลไหนดีรัฐบาลไหนไม่ดี รัฐบาลไหนทำเพื่อประชาชนรัฐบาลไหนทำเพื่อตนเอง เพราะประชาชนเขาจะมองออกว่ารัฐบาลไหนดีรัฐบาลไหนทำเพื่อประชาชนเขาจะอยู่ข้างรัฐบาลนั้น" พ.ต.อาณันย์กล่าว

@ ชี้ประชามติไม่ผ่านให้ปรับปี 40,50

      นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2" ตามสูตร 6-4-6-4 สำรวจระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน จากประชาชนทั่วประเทศ 1,255 คน พบว่า เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 และเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 32.91 ระบุ ไม่ควรกำหนดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญแต่ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองว่าพร้อมเลือกตั้งหรือยัง รองลงมา ร้อยละ 26.37 ระบุว่า เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่า 20 เดือน ร้อยละ 22.15 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาประกาศใช้แล้วจัดการเลือกตั้งได้เลย

       "เมื่อถามถึงความเห็นต่อทางออกที่เหมาะสม หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการทำประชามติ พบว่า ร้อยละ 52.11 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 หรือทั้ง 2 มาปรับปรุงโดยด่วนและประกาศใช้ รองลงมา ร้อยละ 27.89 ระบุว่า เริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและลงประชามติใหม่อีกครั้ง ร้อยละ 5.90 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกาศใช้ ร้อยละ 3.74 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาประกาศใช้" นายสุวิชากล่าว

@ ปชป.ไม่ติดใจวิษณุ'ล้างไพ่'ใหม่

     นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุอาจมีบทพิสดารให้ทั้งพรรค ปชป. พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคการเมืองอื่นๆ ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามกฎหมาย หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่า ไม่ติดใจ เพราะปัญหาของประเทศที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากนักการเมือง การที่จะออกกฎหมายเพื่อล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของระบบการเมือง อย่างน้อยจะได้เป็นข้อคิดในอนาคตว่าถ้านักการเมืองทำให้บ้านเมืองเสียหายก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หมด ที่สำคัญเมื่อร่างกติกาใหม่ การเริ่มกันใหม่ก็น่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

       "ผมเชื่อว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นการพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองอยู่บนฐานที่อิงประชาชนหรือไม่ ถ้าพรรคการเมืองใดอิงอยู่กับประชาชน ไม่น่าจะยากอะไร การที่จะเริ่มต้นใหม่ก็ง่าย แต่ถ้าไม่ได้อิงกับประชาชน จะมีความยากลำบาก อย่างน้อยกระบวนการดังกล่าวจะได้เป็นการพิสูจน์ศรัทธาต่อพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วย" นพ.วรงค์กล่าว

     นพ.วรงค์กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยขอให้โรดแมปของรัฐบาลสั้นลงว่าไหนๆ ประเทศต้องหยุดพัก เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ดีกว่านี้ คือความสงบสุข มีการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิรูปประเทศ การที่จะทำให้โรดแมปสั้นลง คิดว่าไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อเลือกตั้งแล้ว สังคมต้องสงบสุข ปรองดอง และเคารพกฎหมาย หากเร่งรีบเกินไป โดยจัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วเกิดปัญหาเดิมๆ ตามมา ประเทศจะเสียมากกว่าเดิม

@ วิรัตน์ถาม'วิษณุ'ต้องการอะไร

     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่จะมีการร่างขึ้นใหม่มีความพิสดารโดยพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนใหม่ ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่เสร็จ นายวิษณุจะรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญจะไปทางไหน และนายวิษณุไม่เป็น กรธ. ใน 21 คนด้วย โดยประเพณีการเมืองการปกครอง พรรคการเมืองที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าปี 2540 หรือ 2550 และถูกปฏิวัติ เมื่อประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมใหม่ ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ให้พรรคการเมืองทำงานต่อได้ และที่พรรคการเมืองต้องหยุดกิจกรรม ก็หยุดเพราะรัฏฐาธิปัตย์

      "แนวที่นายวิษณุพูดมา ต้องถามว่าต้องการอะไร หรือต้องการให้เกิดความยุ่งยาก พรรคการเมืองอย่าง ปชป.สาขา มีฝ่ายกฎหมาย อะไรมากมาย สามารถดำเนินการจดทะเบียนพรรคได้ แต่ถามว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร เพราะเสียเวลา เปลืองกระดาษ ต้องให้สมาชิกพรรคที่อยู่เดิมต้องมาเขียนใบสมัครเป็นสมาชิกอีกครั้ง สมาชิกพรรคการเมืองไหนก็สมัครพรรคนั้น จึงเห็นว่าพรรคที่มีอยู่เดิมควรเป็นพรรคการเมืองต่อไป" นายวิรัตน์กล่าว และว่า ในส่วนของพรรค ปชป.ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะใช้ชื่อพรรคเดิม แต่เสียเวลา เราควรเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ จึงเห็นว่าควรไปคิดเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ดีกว่า 

@ นพดลจี้หยุดวาทกรรมสร้างความชัง

      นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีเสนอให้คนไทยร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ โดยลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ว่า การนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ขอเสนอแนวคิด "มหาปรองดอง" เพื่อให้สังคมได้คิด คือ 1.ต้องหยุดวาทกรรมสร้างความเกลียดชังหรือ hate speech ในสังคมไทยโดยพลัน เพราะจะทำให้สังคมร้าวลึกมากขึ้น สังคมไทยเห็นต่างได้ แต่ไม่ต้องด่าทอใส่ร้ายกัน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แม้ใส่เสื้อคนละสีและไม่รักกันแต่ต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เพราะตนเคยโดนใส่ร้ายด้วยความเท็จมาแล้ว จึงเห็นว่าไม่มีใครได้ประโยชน์ 

       2.ควรจัดให้มีเวทีแห่งชาติให้คู่ขัดแย้งต่างๆ พรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ มาเปิดอกถกกันถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม เพื่อร่วมกันหาทางออกของประเทศที่เห็นด้วยกันมากที่สุด และมีความยั่งยืนในระยะยาวแล้วทุกฝ่ายปฏิบัติตาม 3.ประเทศต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกันที่เป็นธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้คือมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีมาตรฐานและสามารถนำไปสู่การเมืองที่มีเสถียรภาพ การใช้อำนาจที่สุจริตและมีประสิทธิภาพ ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่าตัวผู้ร่าง เพราะผู้รับสร้างบ้านย่อมปลูกตามใจเจ้าของ เราควรปลูกบ้านให้ทุกฝ่ายอยู่อย่างมีความสุข จึงขอเสนอแนวคิดมหาปรองดองให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา

@ 'ทักษิณ'มั่นใจชนะเลือกตั้ง

        สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างคำสัมภาษณ์ของนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายทักษิณผู้นำทางการเมืองทรงอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในไทยได้ส่งสารให้กับผู้ติดตามที่ไม่พอใจการปกครองของคณะทหารให้ "อยู่เงียบๆ อย่าตื่นตกใจ และแกล้งทำเป็นตาย" ทั้งนี้ นายทักษิณกำลังจับตาสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และกระตุ้นให้กลุ่มที่ต้องการเห็นกลุ่มพันธมิตรของตนกลับสู่อำนาจอดทนรอ แม้พล.อ.ประยุทธ์จะระบุก่อนหน้านี้ว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่เกิดขึ้นไปจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2560 

       "เมื่อผมพูดคุยกับ ดร.ทักษิณเขาบอกผมว่าให้แกล้งทำเป็นตายอีกสักพัก" นายขวัญชัยกล่าว และว่า "นายทักษิณบอกให้รอจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป นั่นจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะชนะ แต่คำถามเดียวเท่านั้นคือว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่" ทั้งนี้ นายขวัญชัยระบุว่า ได้คุยกับนายทักษิณเมื่อประมาณ 1 เดือนก่อน แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ได้สื่อสารอย่างไร

@ 'ทักษิณ'บินพักผ่อนฮ่องกง 

     ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของนายทักษิณว่า นายทักษิณเดินทางมาพักผ่อนที่ฮ่องกง ซึ่งมีสมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เนื่องจากทาง คสช. ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้ รายงานข่าวจากพรรค พท.แจ้งว่า นายทักษิณได้กำหนดการเดินทางมาฮ่องกงระยะหนึ่งแล้ว โดยตั้งใจจะมาเพื่อให้คนที่คิดถึงได้เข้าพบ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน

@ ปชต.ใหม่บอกอย่ากลัวคสช. 

      นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ภายใต้กิจกรรม "9 ปีที่ก้าวไม่พ้นรัฐประหาร 19 กันยา" เมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า ถือว่าออกมาดีแล้ว แม้จะติดขัดบ้างบางช่วงที่ตำรวจพยายามตรวจอาหารที่จะนำไปให้มวลชนกิน แต่เข้าใจได้ เพราะถือว่าทำตามหน้าที่และเพื่อความปลอดภัย พอใจที่คนมาเข้าร่วมขบวนการเยอะ คิดว่าเพราะประชาสัมพันธ์นานหลายเดือน คิดว่าถ้ามีเวลาประชาสัมพันธ์นานกว่านี้คนอาจจะมากขึ้น และที่มีมวลชนมาเยอะเพราะบทบาทของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีมากขึ้น และมวลชนก็เห็นความสำคัญของการมาเข้าร่วมขบวนการ เสียงของขบวนการจึงดังขึ้น 

       "เป้าหมายของผมคืออยากทำให้คนเลิกกลัว คสช. เพราะหากคนไม่กลัวและกล้าจะเผชิญหน้ากับความจริงแล้ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่อาจไม่ต้องมีอยู่อีกต่อไปด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้หลายคนยังกลัวอยู่ จึงอยากให้คนเลิกกลัวและมาเข้าร่วมกับขบวนการมากขึ้น" นายรังสิมันต์กล่าว และว่า ตอบไม่ได้ว่าไทยจะมีประชาธิปไตยในเร็ววันนี้หรือไม่ เพราะหากมองในระยะสายตาเห็นหรือเท่าที่คิดได้ ก็ตอบยากว่าจะมีประชาธิปไตยได้เมื่อไหร่ แต่ถึงอย่างไรก็คิดว่าต้องมีวันนั้น ยังมีความหวังเสมอ สิ่งที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน เกิดจากความหวังทั้งสิ้น เชื่อว่ายังเป็นไปได้ที่ประเทศจะมีประชาธิปไตย และอาศัยความหวังนี้เป็นแรงผลักดันให้เดินต่อ จะยังคงจัดกิจกรรมอื่นๆ ต่อไปอย่างแน่นอน เพราะหากไม่ยอมทำอะไรเลย คสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไป

@ เดินหน้าจัดกิจกรรมต่อ

      นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ กล่าวว่า พอใจกับกิจกรรม เพราะประชาชนออกมาเยอะมากขึ้น มีแนวโน้มว่าอาจขยายต่อไปในครั้งต่อไป ด้วยสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้และความต้องการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งหน้าที่อาจเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ทั้งนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ เบื้องต้นทางกลุ่มจะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และจัดเสวนาอย่างที่เคยทำมาในอดีต

      นายสิรวิชญ์ กล่าวถึงกรณีที่ทหารมาสังเกตการณ์แต่ไม่ได้ควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมว่า อาจจะเกี่ยวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปพูดที่ยูเอ็น อาจพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน อาจมีส่วนเกี่ยวอยู่บ้างที่ไม่มีทหารมาควบคุมตัว แต่สุดท้ายเชื่อว่า คสช.กองทัพอาจจะดำเนินคดีย้อนหลังตาม พ.ร.บ.การชุมนุม

@ บิ๊กโด่งบอกเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหว

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ว่า ถ้าคิดในทางหนึ่งก็คือ คสช.เปิดโอกาสให้แสดงออกได้ ทั้งนี้พยายามไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ระมัดระวังอยู่ตลอด แต่ตนคิดว่าอย่าไปทำเช่นนี้ต่อเนื่องเลย ทั้งนี้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวอาจจะถือวันเวลาเป็นสัญลักษณ์ ก็เข้าใจว่าจะต้องมีการแสดงออกบ้าง 

       "แต่อย่าลืมว่า เรามี พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะอยู่ ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ผิดกฎหมาย ผู้ที่ดำเนินการนอกกรอบกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้หมดแล้ว และจะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของตำรวจดำเนินการเพราะถือว่ากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำผิดกฎหมายปกติ" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะดำเนินการเอาผิดย้อนหลังหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า "ทางตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่าผิด พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ และจะผิดในรายละเอียดต่างๆ ด้วย"

@ พท.ชี้ไม่เกี่ยว'บิ๊กตู่'ไปยูเอ็น

      นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์วันครบรอบรัฐประหาร 19 กันยายน เพื่อหวังสร้างภาพลบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมยูเอ็นว่า คงเป็นความบังเอิญประจวบเหมาะมากกว่า เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ที่มา ถึงวันนี้ครบ 9 ปีของการรัฐประหาร แต่ประเทศยังจมปลักอยู่ในความขัดแย้ง ไม่เจริญก้าวหน้า กลุ่มนักศึกษาที่เป็นพลังบริสุทธิ์ทนไม่ไหวเลยออกมาชุมนุม แล้วบังเอิญ พล.อ.ประยุทธ์จะไปยูเอ็นพอดี เหตุการณ์สอดคล้องเฉยๆ อย่าไปคิดมาก

     "การที่ พล.ต.สรรเสริญออกมาพูด อยากให้รู้ว่าวันนี้หน้าที่ประจำคืออะไร เป็นทหารอาชีพหรือเป็นทหารการเมืองไปแล้ว ความจริงทหารที่ดีมีมาก แต่มีทหารที่เป็นนักการเมืองไม่กี่คนมาทำให้ประเทศชาติเสียหาย บทบาททหารแตกต่างจากนักการเมืองเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว นักการเมืองพูดตามปกติของเขา ทุกวันนี้ยังให้ความร่วมมือ ไม่ก่อความวุ่นวาย แต่ คสช.ต้องรีบทำตามโรดแมป อย่าเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ถูกมองว่าอยากจะอยู่ในอำนาจนานๆ ความเชื่อถือหมดไป" นพ.เชิดชัยกล่าว

@ เชื่อ'แม้ว'ไม่อยากให้วุ่นวาย 

      นพ.เชิดชัยยังกล่าวถึงกรณีนายขวัญชัยกล่าวอ้างว่าได้พูดคุยกับนายทักษิณ ที่ขอให้แกนนำตามหัวเมืองต่างๆ แกล้งตายไปสักระยะว่า เชื่อว่านายทักษิณเป็นผู้ใหญ่ คงไม่อยากให้เรื่องวุ่นวาย ให้โอกาส คสช.ทำไป อยากให้ทำตามโรดแมป ไม่ทราบนายขวัญชัยไปพบจริงไหม และนายทักษิณพูดจริงหรือไม่ เพียงแต่ตอนนี้รู้ว่าคนรักประชาธิปไตยยังอดทน แต่ความอดทนจะไปถึงไหนอะไรเท่านั้นเอง 

     เมื่อถามว่า หากทนไม่ไหวอาจจะออกมาเคลื่อนไหว นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เร่งทำตามโรดแมป ถ้ามีแนวร่วมเยอะๆ ความอดทนอาจหมดไป เมื่อประชาชนทนไม่ได้ แต่ตอนนี้คนเสื้อแดงและประชาชนยังอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตามโรดแมป รีบคืนอำนาจให้ประชาชน สำหรับกระแสข่าวอดีต ส.ส.เพื่อไทย เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับนายทักษิณนั้น ไม่ทราบ เพราะอยู่ในรายชื่อที่หากจะเดินทางออกนอกประเทศต้องขออนุญาตจาก คสช.ก่อน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!