WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ธีรยุทธ'ชี้ไทยล้มเหลว ชูอภิวัฒน์ แนะภาคปชช.ร่วมแก้ โยก 5 ผู้ว่าฯ-เด้งปากน้ำ พีระศักดิ์นั่งอธิบดีที่ดิน สภาขอหมื่นล้านปฏิรูป สุเทพถอย-งดระดมทุน

80 ปี มธ. - นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน


       'ธีรยุทธ'ปาฐกถาอัดกลุ่มทุนและนักการเมืองเป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทย ชี้ปฏิรูปประเทศต้องใช้ภาคประชาชนที่เข้มแข็งมีส่วนร่วม ศาลทหารอนุมัติหมายจับ'จักรภพ'พร้อมพวก ครอบครองอาวุธสงคราม

@ เลขาฯสภาคนใหม่พร้อมลุยงาน

     เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่บริเวณชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 นายจเร พันธุ์เปรื่อง ถูกคำสั่งที่ 77/2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จากรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายจเรได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำพิธีบวงสรวงพระวิญญาณอดีตพระมหากษัตริย์ ว่า ก็คงดำเนินงานไปตามปกติเพราะเป็นข้าราชการประจำ สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐสภา ไม่กังวลในหน้าที่ใหม่ เพราะจะคุ้นกับความเห็นที่หลากหลาย และทำหน้าที่รองรับสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ต้น พอมีสภาปฏิรูปขึ้นมาการทำงานก็คงจะง่ายขึ้น เพราะมีจำนวนสมาชิกที่น้อยกว่าประมาณ 250 คน เราจะทำหน้าที่เตรียมการประชุม จัดการประชุม บริหารการประชุม ทั้งการประชุมสภา การประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) และอาจเน้นเรื่องการสนับสนุนงานด้านวิชาการให้แก่สมาชิกด้วย ทั้งในด้านกฎหมายและความรู้ในด้านวิชาการที่จะเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณา 

@ ใช้ 1 หมื่นล้านเตรียมงานสภา

      นายจเร กล่าวต่อว่า ในตอนนี้ได้เตรียมงานและตั้งงบประมาณสำหรับรองรับสภาปฏิรูปไว้แล้ว และเตรียมคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานจะต้องเตรียมศึกษาในหลายๆ เรื่อง ส่วนเรื่องสมาชิกสภาปฏิรูปที่จะเดินเข้ามาในสภา เราก็มีการเตรียมการรับ ส่วนที่ประชุมก็คงต้องเตรียมเรื่องข้อบังคับ เพราะจะต้องมีข้อบังคับของสภาปฏิรูป ทางเราจะไปตรวจสอบว่าสภาปฏิรูปมีหน้าที่อะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เตรียมยกร่างข้อบังคับการประชุมของสภาปฏิรูปให้ทันสมัย ซึ่งวิธีการตราข้อบังคับการประชุมน่าจะเหมือนกับสภาชุดที่ผ่านมา 

     "สำหรับ งบประมาณที่เตรียมบริหารงานทั้งหมดทั้งสภา สำนักงานเลขาธิการฯ และสภาปฏิรูป น่าจะเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.งบการบริหารทั่วไปของสำนักงานฯ 2.เป็นการรองรับสภาปฏิรูป และ 3.เป็นส่วนที่ต้องรองรับการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ 

      เมื่อถามว่า ในอนาคตจะมีการรองรับการตรวจสอบทุจริตอย่างไร นายจเรกล่าวว่า เราดำเนินการตรวจสอบไปตามกติกา ระเบียบราชการนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่กำหนดแนวทาง เพื่อป้องกันในการใช้อำนาจในทางที่มิชอบและมีการตรวจสอบในเรื่องของที่ดำเนินการไปแล้วเป็นการตรวจสอบปกติธรรมดา ขณะนี้ก็เร่งรัดกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบให้รีบดำเนินการ หากตรวจสอบแล้วพบสิ่งที่ผิดปกติต้องรีบแจ้งให้ทราบและดำเนินการในทันที 

     "ผมได้คุยกับผู้บริหารในสำนักงานเลขาธิการฯ เราอยากให้สำนักงานเป็นแบบอย่างที่ดี ข้าราชการมีจริยธรรม ฉะนั้นข้าราชการทุกคนต้องพร้อมใจกัน สนับสนุนการดำเนินงานของสภาปฏิรูปให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ"

@ เลขาฯกกอ.ขอแรงคสช.ดันกม.

      ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ถูกคำสั่งที่ 79/2557 ของ คสช. ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จากรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ขึ้นเป็นเลขาธิการ กกอ. แทนนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะได้รับแต่งตั้ง ที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษา คสช. เรื่องการปฏิรูปอุดมศึกษาและครู ต้องขอขอบคุณ คสช. ที่ให้ความไว้วางใจ หลายเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่จะทำให้ดีที่สุดและเห็นผลโดยเร็วที่สุด แต่บางเรื่องอาจต้องอาศัย คสช.ในการเปลี่ยนผ่าน เพราะหลายเรื่องติดขัดข้อกฎหมาย เนื่องจากอำนาจหน้าที่ไม่ได้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยเฉพาะการบริหารมหาวิทยาลัยที่หลายแห่งมีปัญหาธรรมาภิบาล สกอ.พยายามแก้ไขปัญหา โดยแก้ไขกฎหมายตลอดจนผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อให้ สกอ.เป็นเสือที่มีเขี้ยวเล็บบ้าง ไม่ใช่เสือกระดาษอย่างทุกวันนี้ จึงต้องขอแรง คสช.ช่วยผลักดัน 

@ ปรีชาพร้อมทำหน้าที่ที่มอบหมาย

     ด้านนายปรีชา กันธิยะ ที่ถูกคำสั่งย้ายจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่ง คสช.ที่ 79/2557 และนายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ นายปรีชากล่าวถึงการถูกโยกย้ายครั้งนี้ ว่า ในฐานะข้าราชการพลเรือนพร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ทำหน้าที่ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดีที่สุด ขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคของกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้ความร่วมมือการทำงานวัฒนธรรมของชาติด้วยดีมาตลอด หากตนทำอะไรผิดไปก็ขออภัย ส่วนเรื่องงานคงไม่ฝากอะไร เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่อยากจะฝากถึงทุกคนให้หันหน้าเข้าหากัน รักสามัคคีกันให้มาก อย่าแตกสามัคคี

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภินันท์ ปลัดคนใหม่ กำลังปฏิบัติราชการร่วมกับ คสช. ที่ จ.นครราชสีมา กล่าวว่ายังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดการทำหน้าที่ตำแหน่งใหม่ ขอเข้าไปรับฟังนโยบาย คสช.ก่อน เช่นเดียวกับนายอภิชาติ จีระวุฒิ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายทศพร อดีตเลขาธิการ กกอ. ที่ถูกโยกไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

@'พีระศักดิ์'ขึ้นอธิบดีกรมที่ดิน

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งโยกย้ายข้าราชการไปรักษาราชการแทนในตำแหน่ง ดังนี้ 1.นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 2.นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าฯพังงา เป็นผู้ว่าฯสงขลา 3.นายพินิจ หาญพาณิชย์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้ว่าฯสมุทรปราการ 4.นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าฯสมุทรปราการ เป็นผู้ตรวจฯ และ 5.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าฯชุมพร เป็นอธิบดีกรมที่ดิน

@ มท.เดินหน้าจัดศปป.จังหวัด

       นายประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ คสช. มีนโยบายจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และความปรองดองสมานฉันท์แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ให้การปฏิรูปการเมืองการปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และกระทรวงมหาดไทยได้ให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้ง ศปป. ขึ้นในแต่ละระดับ พร้อมกำหนดแนวทางภายใต้มาตรการสลายแกนนำ สร้างบรรยากาศความเชื่อมั่น สร้างพันธะสัญญาคืนความสงบร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และเพื่อให้การปฏิบัติงานของ ศปป.ในทุกระดับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้จังหวัดเร่งรัดจัดเวทีเสวนาเพื่อรวบรวมข้อมูลการปฏิรูป โดย ศปป.จังหวัด เป็นหน่วยงานหลักจัดเสวนา ร่วมกับ ศปป.กอ.รมน ภาค 1-4 และกองกำลังรักษาความสงบกองทัพภาค 1-4 เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าร่วมเสวนา แบ่งกลุ่มเสวนา เช่น กลุ่มภาคประชาชน ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ แกนนำทางการเมือง กลุ่มภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มภาคสังคม เป็นต้น 

@ ตั้ง 10 หัวข้อใช้เสวนาปฏิรูป

      นายประภาศ กล่าวว่า หัวข้อประเด็นที่ใช้การจัดเสวนาเพื่อการปฏิรูป มี 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1.แนวทางการปฏิรูปทางการเมือง 2.แนวทางการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ 3.แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4.แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การกระจายอำนาจหรือความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ 5.แนวทางการปฏิรูปการทุจริต คอร์รัปชั่น 6.แนวทางการปฏิรูปการศึกษา 7.แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ 8.แนวทางการปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร 9.แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และ 10.แนวทางการปฏิรูปด้านอื่นๆ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ ศปป.จังหวัด เชิญกลุ่มร่วมเสวนาให้ครบถ้วนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม โดยเฉพาะแกนนำทางการเมือง เพื่อให้กลุ่มเสวนาดังกล่าวเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปอย่างแท้จริง 

@ 'กลาโหม'จัดเสวนาปฏิรูปฯ 

      เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม กทม. โดยกระทรวงกลาโหมร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดงานสัมมนาการปฏิรูปประเทศ เรื่อง "แนวทางปฏิรูปการเมือง การเข้าสู่อำนาจ" โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย รวมถึงตัวแทนภาคธุรกิจเข้าร่วม 

     พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะรับผิดชอบคณะเตรียมการปฏิรูปของ คสช. มีทีมงานของทหารส่วนหนึ่งและนักวิชาการพร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย พวกเราเป็นพวกจัดทำกรอบความเห็นร่วมโดยไม่มีการสรุป เพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และการประชุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการสรุปผล แต่เป็นการเตรียมข้อมูล

@ "นรนิติ"ชี้ปฏิรูปต้องฟังเสียงปชช.

      นายนรนิติกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปว่า ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าดำเนินการเรื่องการปฏิรูปการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีมุมมองประเด็นที่จะต้องพิจารณาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพรรคการเมืองและเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่รู้จะทำเสร็จเมื่อไหร่ การปฏิรูปในส่วนการรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้เกี่ยวข้องไม่ฟังความเห็นอาจจะไม่ได้มุมมองที่กว้างขึ้น วันนี้มีโอกาสที่ดี เพราะมีเครื่องมือช่วยประเมินผลและวิเคราะห์ที่มีความถูกต้อง หากไปรับฟังทุกท้องที่จะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนที่กระจายออกไปไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ สภาปฏิรูปน่าจะโชคดีมีคนทำการบ้านให้ก่อนล่วงหน้าไม่ต้องเสียเวลามากในการเริ่มดำเนินการ

@ 7 องค์กรเอกชนพร้อมร่วมมือ

     นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในนาม 7 องค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สภาตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย สมาคมจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้คุยกันมาหลายเดือนในช่วงที่บ้านเมืองไม่สงบ ในส่วนที่ภาคธุรกิจดำเนินการนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่การปฏิรูปด้านการเมืองเราไม่เชี่ยวชาญ แต่จะเข้าไปช่วยทุกภาคส่วน ประเทศไทยขณะนี้มีปัญหามาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ไม่ใช่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่ความไม่มีโอกาสของคนเมืองกับคนต่างจังหวัด ส่วนนี้ภาคธุรกิจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือ เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษา

@ บิ๊กเต่าเผยกลุ่มการเมืองร่วมปฏิรูป

      พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวภายหลังการสัมมนาถึงความคืบหน้าเตรียมการปฏิรูปประเทศว่า ตั้งแต่เปิดตัวคณะทำงานปฏิรูปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนเป็นต้นมา ได้เก็บเอกสารจากการวิจัย ผลงานวิชาการ ข้อเสนอของกลุ่มการเมือง รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งหมด จนได้เอกสารที่จะสังเคราะห์ข้อมูลประมาณ 230 เล่ม มีการรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์และจากโทรศัพท์ อีกประมาณ 700-800 ความเห็น มีเนื้อหากว่า 1,000 ชุดความคิด ได้สังเคราะห์ออกมา 11 ประเด็น อาทิ การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปพลังงานและการศึกษา เป็นต้น มีการจัดสัมภาษณ์เชิงลึก โดยเชิญกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม เช่น กลุ่ม นปช. ทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ส่วนกลุ่ม กปปส. ประกอบด้วย นาย

      สุเทพ เทือกสุบรรณ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รวมถึงทุกตัวแทนพรรคการเมือง ขณะที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ได้เชิญมาร่วม

@ ส่งข้อมูล"คสช."ช่วงก.ค.นี้ 

    "ได้นำเอาความคิดเห็นมาบวกกับข้อมูลที่สังเคราะห์ไว้ หลังจากนั้นได้จัดประชุมกลุ่มย่อย มีตัวแทนกลุ่มต่างๆ 40-50 คน รวมถึงการจัดสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนเสนอไปยังสภาปฏิรูปช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 70% แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นต่อไปอีก การสรุปข้อมูลไปยัง คสช. จะไม่มีบอกว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการทำกรอบความเห็นร่วมของคนไทยทุกคน เมื่อสภาปฏิรูปเข้ามาไม่ต้องเริ่มต้นทำงานจากศูนย์ แต่นำเอาข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้แล้วไปใช้ประโยชน์" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

    และว่า ประเด็นสำคัญที่ได้รวบรวมไว้ในการเมืองการปกครองจะมีทั้งเรื่องที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. ฝ่ายบริหาร การคัดสรรการสรรหาหรือการเลือกตั้ง การตรวจสอบการใช้อำนาจ การควบคุม วางการลงโทษ รวมถึงการปฏิรูปพรรคการเมือง การกระจายอำนาจ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ในส่วนของหัวหน้าพรรคการเมืองมีการเสนอความคิดเห็นใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องที่ดีทั้งหมด และถ้าทำตามที่เสนอนั้นได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีรายละเอียดและการร่างกฎกติกาขึ้นมา ข้อมูลที่เสนอขึ้นมาเป็นแนวคิดทุกคนต้องการได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีการบริหารราชการที่ดี และคำนึงถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่มาพบต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการให้ประเทศไทยดีขึ้น มีนักการเมืองที่ดีและมีกระบวนการยุติธรรมไม่สองมาตรฐาน ตรงกับแนวทางของหัวหน้า คสช.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มย่อมระดมความคิดเห็นในประเด็นเรื่อง รูปแบบของรัฐสภา จำนวนของ ส.ส. ส.ว.ที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการได้มาของ ส.ส.และ ส.ว. ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่

@ "วิชา"ระบุทุจริตยังมีความรุนแรง

    เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช จ.นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร สัมมนาเชิงปฏิบัติ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การบูรณาการด้านการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารองค์กรในระดับจังหวัด" ครั้งที่ 4 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าประมาณ 240 คน ประกอบด้วย กรรมการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ) ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และบรรยาย เรื่อง "ยุทธศาสตร์การบูรณาการประชาสัมพันธ์ เชิงลึก" ส่วนนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. บรรยาย เรื่อง "การประสานพลังงานการทำงานในระดับพื้นที่" 

     นายวิชา กล่าวเสวนาว่า การทุจริตในปัจจุบันยังมีความรุนแรงแม้ คสช.ได้ให้ความสำคัญก็ตาม การทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเห็นความสำคัญเรื่องนี้ สร้างยุทธศาสตร์การปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวมให้มีอำนาจหน้าที่ การป้องกันทุจริตการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยการทุจริตและเข้ามาปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงมีการผนึกกำลังทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการจัดตั้ง ป.ป.จ. เพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่างประชาชนและข้าราชการ เผยแพร่ทุกฝ่ายตระหนักรู้การทุจริตและสร้างค่านิยมการซื่อสัตย์สุจริต ไม่ยอมรับการโกงเป็นอันขาด 

@ ชี้คอร์รัปชั่นจัดจ้างรัฐมากสุด

     นายวิชากล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้ ป.ป.จ.ช่วยผนึกการทำงานร่วมกันให้การทุจริตมีน้อยที่สุด โดยเฉพาะระดับจังหวัด เพราะก่อนหน้านี้คดีการทุจริตมีกว่า 9,000-10,000 คดี กองอยู่ที่ส่วนกลางมานานไม่สามารถช่วยแก้ได้ คนส่วนกลางไม่ทราบปัญหาในแต่ละพื้นที่ และการจะแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ได้ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้คดีเหล่านั้นลุล่วงและทราบดีว่าคนที่มาฟ้องร้องคดีมีความทุกข์อย่างไร ถูกแย่งที่ดินที่ทำกิน ฟ้องร้องไปไม่ทราบความคืบหน้าเป็นอย่างไร แต่หลังจากนี้ ป.ป.จ.จะมีความสำคัญไม่ทอดทิ้งประชาชน 

นายวิชากล่าวต่อว่า การที่คดีทุจริตต่างๆ ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากส่วนใหญ่เน้นการปราบปราม เพราะเป็นงานเท่ได้เด็ดหัวคน แต่ไม่ได้ให้การศึกษาคน การเผยแพร่ให้การศึกษาในเรื่องนี้ต้องจำแนกเป็นระดับชั้น การให้การศึกษาในภาคธุรกิจอย่างหนึ่ง ชาวบ้านอย่างหนึ่ง ข้าราชการอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะระดับข้าราชการต้องให้ความรู้ทุกวัน เนื่องจากต้องสัมผัสกับประชาชน นอกจากนี้ ต้องบอกให้รู้ ยกตัวอย่างคดีการปราบปรามให้เห็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคดีดังกล่าวซ้ำซาก 

ในปัจจุบัน ผู้ทุจริตมองว่าทำไปไม่มีใครจับได้และคุ้มกับการทำผิด โดยเฉพาะคดีที่เกิดมากที่สุด คือการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเสนอต่อหน่วยงานรัฐ แต่ทุกอย่างจะได้ผลก็ต้องผนึกการทำงานทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม การทำความดีต้องให้ประชาชนเห็นจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน เสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ดีสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่คิดเพียงว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้ได้รับประโยชน์ก็แล้วกัน

@ "ประสาท"บอกป.ป.ช.ต้องรู้ลึก

    นายประสาท กล่าวเสวนาคนต่อมาว่า การจัดการกับการทุจริต ต้องใช้การป้องกันนำการปราบปราม ร่วมมือกันเป็นทีม ไม่ใช่เก่งคนเดียว ป.ป.ช.ก็เช่นกันเป็นองค์กรอิสระ อำนาจหน้าที่มากมายในการป้องกันปราบปรามการทุจริต การทำงานต่างๆ ก็ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน มีวิญญาณของการทำหน้าที่ ลงลึกไปยังหมู่บ้านถึงปัญหา รู้จักคนในพื้นที่ และจะได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ หากทำได้ความสงบจะเกิดขึ้น มีหลายคดีที่ประชาชนทักท้วง ทำไม ป.ป.ช.ถึงตัดสินเช่นนั้น ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ทราบดีว่าใครผิด แต่เหตุผลที่ ป.ป.ช.ต้องตัดสินเช่นนั้นเพราะสำนวนไม่ถึง ไม่มีพยานหลักฐาน จึงต้องปล่อยไป แต่ถ้าสำนวนถึงเมื่อไหร่ ป.ป.ช.จัดการหมดและยืนยันการทำหน้าที่ ป.ป.ช.ทำแบบไม่มีใบสั่ง คำขอร้อง ไม่มีใครมีอิทธิพลเหนือเราได้ 

     นายประสาท กล่าวอีกว่า นอกจากการแก้กฎหมาย ทำให้ ป.ป.ช.มีอำนาจคุ้มครองพยานมากขึ้นเป็นผลดีต่อการไต่สวนคดีต่างๆ ต่อไป ขณะนี้ ป.ป.ช.คุ้มครองพยานไปแล้วกว่า 20 ราย แต่การคุ้มครองพยานนั้นต้องเข้าข่าย 4 ประการ คือ 1.พยานต้องเป็นบุคคลเกี่ยวข้องกับคดี 2.พยานต้องให้ข้อมูลเป็นสาระสำคัญ 3.ให้ข้อมูลเล่นงานปลาตัวใหญ่ได้ 4.คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบ ทั้งนี้ ความสำเร็จของ ป.ป.ช. ไม่เพียงแค่การได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน สังคม ธุรกิจเท่านั้น แต่การสร้างเครือข่ายกับต่างชาติ โดยเฉพาะการทำสนธิสัญญาติดต่อกับต่างชาติในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ ก็เป็นผลดีกับการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่น คดีการซื้อรถดับเพลิงท ี่ผ่านมาก็จบเนื่องจากการได้รับข้อมูลการสั่งซื้อจากต่างชาติ ยังไม่รวมถึงคดีโครงการรับจำนำข้าวแบบจีทูจี ดังนั้น อย่าดูถูกการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ 

@ "กล้านรงค์"ยก 5 ปมคอร์รัปชั่น

    เมื่อเวลา 16.30 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน ธรรมศาสตร์ 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย เสวนาเรื่อง "กำจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นแผ่นดินไทย : ทำอย่างไรให้ตรงจุด" โดยมี นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุตริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านการคอร์รับชั่น (ประเทศไทย) และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 

     นายกล้านรงค์ กล่าวว่า สาเหตุการชุมนุมของประชาชนต่อต้านรัฐบาลไม่ได้มาจากการทุจริต แต่เกิดจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ระหว่างการชุมนุมมีการบอกเล่าถึงการทุจริตทุกวัน ทำให้เกิดความรู้สึกฝังอยู่ในใจประชาชน โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมคือการทุจริตแก่ชาวนา ที่เราเห็นข่าวว่าชาวนาฆ่าตัวตาย สาเหตุของการคอร์รัปชั่นคือ 1.กระแสบริโภคนิยม 2.ระบบอุปถัมภ์ทางดิ่ง 3.กระบวนการยุติธรรม 4.นักการเมือง 5.ความเฉยเมย อย่าไรก็ตาม นิยามคอร์รัปชั่นของต่างประเทศมีการให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่น หมายถึง ระบบอุปถัมภ์ที่เล่นพรรคเล่นพวก เป็นต้น 

     "หากประเทศเรายังเล่นพรรคเล่นพวก คะแนนการประเมินจากองค์กรเกี่ยวกับความโปร่งใสในระดับสากลที่ประเมิน ป.ป.ช.อาจต่ำลงไปอีก ผมเชื่อว่าหาก คสช.จริงจัง ซึ่งต้องนำผลแห่งการเอาจริงเอาจังของ คสช.นี้ให้มีผลต่อไปจนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กำหนดบทบังคับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.จำเป็นต้องปฏิรูปตนเอง โดยเฉพาะการทำงานของหน่วยงานในต่างจังหวัด ส่วนกรณีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ป.ป.ช.ย่อมาจาก "เป็นไปอย่างช้าๆ" นั้น ตนไม่ขอแก้ตัว ก็เชื่อว่าบุคลากร ป.ป.ช.กำลังเร่งดำเนินงานเต็มที่อยู่เช่นกัน" นายกล้านรงค์กล่าว 

      ด้านนายประมนต์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้ตระหนักและเห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่ตนเองจะต้องมาลุกขึ้นมาต่อสู้ แน่นอนว่า ภาคธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการทุจริต จึงเกิดองค์กรต่อต้านการทุจริตขึ้นมา

@ "ธีรยุทธ"ปัดวิจารณ์"คสช."

     ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย" ว่า วันนี้หลายคนคาดหวังว่าจะพูดถึงการทำงานของ คสช.ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้จะไม่พูด จะทำหลัง 2-3 เดือน ต่อจากนี้ จะประเมินผลงาน คสช.เพราะได้ขอเวลาทำงานก่อน จากนั้น จะชี้ให้เห็นการทำงานในแต่ละด้าน สาเหตุที่ไม่พูดวันนี้ไม่ได้กลัวกฎอัยการศึก สำหรับคนไทยจำนวนหนึ่งมีความเชื่อแบบสุขเสรีนิยม หรือ อิสรชนนิยมสุดขั้ว มีความเชื่อสุดขั้วไปว่า มนุษย์ควรมีสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ต้องทดสอบทัดทานหรือชีวิตเป็นของตัวเองคนเดียว คนอื่นไม่ต้องยุ่งไม่ต้องไปรับผิดชอบคนอื่น ที่จริงประชาธิปไตยในตะวันตกไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามใจชอบ คนทุกคนต้องถูกตรวจสอบควบคุมการใช้สิทธิการคัดค้านผู้ดำรงยศตำแหน่งที่จะใช้อำนาจอย่างมิชอบ จึงทำกันอย่างได้ผล

@ ฉะยุค"ล้ำลึก"คอร์รัปชั่นนโยบาย

    "ยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อำนาจและอิทธิพลของนักการเมือง และกลุ่มทุนขยายตัวใหญ่เหนือข้าราชการและกลุ่มอื่นๆ อย่างมาก เกิดภาวะล้มเหลวของรัฐทั้งแบบรูรั่ว เป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงในยุคหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือแบบรอยต่อและอิทธิพลมืดมาเฟียในยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ได้เกิดภาวะล้มเหลวแบบล้ำลึกหรือรู้ลึก มักเรียกว่า การคอร์รัปชั่นทางนโยบาย หรือการคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และชาวบ้านร่วมมือกัน เป็นการคอร์รัปชั่นแบบล้ำลึก อาศัยอำนาจครบวงจร การปิดบังข้อมูลหรือใช้ข้อมูลภายใน เช่น การให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน การลักลอบขุดน้ำมันขายในภาคอีสาน การประกันความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่นต้องจ่ายล่วงหน้า ล็อกการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือสมคบกันล็อกสเปกโครงการ ล็อกกลุ่มโกงนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การขยายสนามบิน การพยายามจะใช้ภาคการเมืองของรัฐ หรือรวมทั้งธนาคารของประเทศมาเป็นเครื่องมือกลุ่มการเมืองตน" นายธีรยุทธกล่าว

@ ซัดกลับ"นักการเมือง-กลุ่มทุน" 

      นายธีรยุทธ กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนและนักการเมืองเป็นตัวละครหลักที่มีฐานอำนาจและการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทย ในช่วง 10 ปี วิกฤตประเทศไทยล้ำลึก เพราะอำนาจรัฐ อำนาจสาธารณะของประเทศถูกเจาะไชเป็นรูลึก มีทั้งรูรั่วรอยต่อกินพื้นที่ที่สกปรก น่าเกลียด อำนาจเลวที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ มีคำถามใหญ่ซึ่งยังไม่มีคำตอบ ชัดเจนในส่วนนี้คือ 1.เราต้องอยู่กับภาวะลูกผสมพันธุ์เช่นนี้ แต่เราจะกำกับควบคุมเปลี่ยนจากความน่าเกลียด เลวร้าย รุนแรงให้เป็นสิ่งที่ดี สวยงาม ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหรือไม่อย่างไร 2.อำนาจรัฐ ทหาร ข้าราชการบางส่วน จะเป็นผู้แก้ให้อำนาจส่วนที่เสื่อมถูกยึดเป็นของบุคคลนี้ให้ดีขึ้น หรือประชาชนสังคมจะเป็นผู้แก้ หรือร่วมกันแก้ 3.หนทางอนาคต รัฐไทยคงถูกปรับตัวให้แข็งแรงขึ้น แต่มองว่ารัฐในโลกยุคปัจจบันจะแข็งแรงอย่างแท้จริง จะต้องไม่ใช้ระบบราชการแข็งแรง มีคุณธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมีกลไกสังคมคอยช่วยตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมภาครัฐ จึงจำเป็นมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีทั้งสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบอย่างแข็งขันด้วย ภาพรวมจึงควรเป็นรัฐแข็งแรง สังคมเข้มแข็ง ประชาชนมีอำนาจ 

      "ผมมองว่า จะปฏิรูปประเทศไทยได้ควรต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจ มีส่วนร่วม มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีสิทธิและมีเสรีภาพอย่างรับผิดชอบ บางครั้งการพูดเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงอยากฝากเน้นย้ำว่าสิทธิอำนาจและเสรีภาพจะต้องมีความรับผิดชอบด้วย"

@ ออกหมายจับจักรภพพร้อมพวก

     วันเดียวกัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ศาลทหารจังหวัดสระบุรีอนุมัติหมายจับนายจักรภพ เพ็ญแข กับพวกรวม 4 คน ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังมีหลักฐานว่านายจักรภพเกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามที่ตรวจยึดได้ในหลายพื้นที่ หลังจากนี้จะดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศที่มีสนธิสัญญา ล่าสุดทราบว่านายจักรภพอยู่ที่ฮ่องกง โดยที่เหลืออีก 3 คน ทราบชื่อคือ นายกฤษณะ หรือสยามทัพไทย, นายชัยวัฒน์ หรือเปี๊ยก หรือกาละแม ผลโพธิ์ และนายวัฒนา หรือศิวะ ทรัพย์วิเชียร โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ศาลจังหวัดทหารบกสระบุรีได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาพัวพันอาวุธปืนสงครามไปแล้ว 4 คน ประกอบด้วย นายมนัส หรือ เสธ.หยอย เปาริก นายจักรรินทร์ หรือ เสธ.ไก่ เรืองศักดิ์วิชิต นายพีรพงษ์ หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ และนายภคภูมิ หรือ สมศักดิ์หรือจ่าโก โกศินานนท์ 

     พล.ต.อ.สมยศ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ไม่สามารถขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนายจักรภพได้นั้น เพราะมีหมายจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เเละฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ไม่มีในประเทศที่หลบหนี สำหรับคดีอาวุธสงครามเป็นคดีที่หลายประเทศมีกฎหมายใช้บังคับ ดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดพิเศษดูแลคดีอาวุธสงครามเป็นกรณีพิเศษ ส่วนกรณีของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย หนึ่งในผู้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน แม้ก่อนหน้านี้จะประชุมร่วมกับฝ่ายทหารพระธรรมนูญสามารถดำเนินการได้ในหลายข้อหา แต่ยังไม่ใช่ข้อหาหลักที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

@ มทภ.3 แจงครอบครัวทหาร

      พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 ได้ขึ้นเสวนาสนเทศกำลังพลและครอบครัวกองทัพภาคที่ 3 ที่ห้องสโมสรบันเทิงทัพค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวถึง คสช.เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า 38 วันมาแล้วที่ทหารทัพภาค 3 ใส่ชุดฝึกมาตลอด ทั้งกินและนอน ทางครอบครัวหรือแม่บ้านต้องเข้าใจ ทหารเหล่านี้ไม่ได้หนีไปเที่ยว แต่เสียสละทำเพื่อชาติ รักษาความสงบให้บ้านเมือง ขอให้เชื่อว่าเราทำได้ มีผลสัมฤทธิ์จับต้องได้ สุดท้ายแล้วต้องมีเลือกตั้ง สิ่งที่ คสช.ยึดอำนาจ ไม่ใช่ล้มล้างประชาธิปไตย แต่เป็นการซ่อมแซมประชาธิปไตย 

     "แนวทางขับเคลื่อน หรือโรดแมป ได้แบ่งเป็น 3 ช่วง ปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ 1 กำหนดไว้ 2-3 เดือนสำหรับการสร้างความปรองดอง ขั้นที่ 2 คือ ตั้งสภานิติบัญญัติ ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะต้องคอยดูกันต่อไป คาดว่ากลางปี 2558 คงเรียบร้อย และขั้นที่ 3 คือ การเลือกตั้งที่สมบูรณ์ จะต้องไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง ถือว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะนักการเมืองเขาเอาเงิน 500-1,000 บาทไปให้ชาวบ้าน เพราะว่าไม่มีอันจะกินจริงๆ เขาจำเป็นต้องรับเงิน 

     "แต่นับจากนี้ต่อไป จะไม่มี ถ้าปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท หากผ่านสภาก็ลำบาก คิดง่ายๆ เอาแค่ 30% พวกนักการเมืองก็ได้เงินไปแล้ว 600,000 ล้านบาท นี่แค่เงินกินเปล่า เราจะต้องกำจัดพวกนี้ออกไป ถ้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทผ่านไป ตายไปแล้วชาติหนึ่งก็ใช้หนี้ไม่หมด" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว

′ธีรยุทธ′วิพากษ์สังคมไทย ล้มเหลวแบบ′ล้ำลึก-รูลึก′

(ที่มา:มติชนรายวัน 29 มิ.ย.57)

 

 


 


     หมายเหตุ - นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย" ซึ่งเป็น 1 หัวข้อในชุดเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย" เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน


    วันนี้หลายคนคาดหวังว่าจะพูดถึงการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้จะไม่พูด จะทำหลัง 2-3 เดือน ก็จะประเมินผลงาน คสช. เพราะเขาขอเวลาทำงานก่อน จากนั้นจะชี้ให้เห็นการทำงานในแต่ละด้าน ซึ่งสาเหตุที่ไม่พูดวันนี้ ไม่ได้กลัวกฎอัยการศึกแต่อย่างใด สำหรับปัญหาประชาธิปไตยไทย ปกติเรายึดถือกันว่า การอภิวัฒน์ 2475 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ต่อมาถูกเผด็จการของทหารเข้ามายึดชิงอำนาจไป และช่วงถัดมาอำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์กลับมาสูงส่งอีกครั้ง

     คนไทยโดยเฉพาะปัญญาชนจำนวนหนึ่งมองว่าปัญหาของประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นชนชั้นสูงหรืออำมาตย์เข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยของประชาชน ต่างประเทศกดดันไทยด้วยประเด็นนี้ โดยเนื้อแท้ก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติพวกเขา จึงจำเป็นที่จะต้องก้าวพ้นความเข้าใจประชาธิปไตยที่ผิดๆ และคับแค้นจนสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยด้วยกันเอง 

    คนไทยจำนวนหนึ่งมีความเชื่อแบบ "สุขเสรีนิยม" หรือ "อิสรชนนิยมสุดขั้ว" คือเชื่อให้คนแข่งขันกันตามใจชอบ ตลาดจะทำงานเอง หรือให้คนมีสิทธิเลือกตั้งระบบพรรคการเมือง รัฐสภาจะทำงานให้ทุกอย่างดีเอง หรือมีความเชื่อสุดขั้วไปว่า มนุษย์ควรมีสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ไม่ต้องทดสอบทัดทาน หรือชีวิตเป็นของตัวเองคนเดียว คนอื่นไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องไปรับผิดชอบคนอื่น ที่จริงประชาธิปไตยในตะวันตกไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามใจชอบ คนทุกคนต้องถูกตรวจสอบควบคุมมโนสำนึกโดยพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา อำนาจการเมืองตะวันตกจึงมีรากเหง้ามาจากพระเจ้า ชนชั้นต่างๆ ต่อสู้ยาวนานหลายศตวรรษเพื่อให้มีการกระจายอำนาจดังกล่าวจากกษัตริย์และศาสนจักร กล่าวโดยรวมแล้ว คนตะวันตกพร้อมด้วยปัจจัยทางอุดมการณ์ ประสบการณ์การต่อสู้ การใช้สิทธิอำนาจของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนย่อมไม่สามารถไปรุกล้ำสิทธิคนอื่นได้ การใช้สิทธิเสรีอย่างรับผิดชอบเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน การคัดค้านผู้ดำรงยศตำแหน่งที่จะใช้อำนาจอย่างมิชอบจึงทำกันอย่างได้ผล

     แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่สิทธิอำนาจและเสรีภาพไม่ได้ถูกกระจายลงไปถึงชาวบ้าน คนไทยไม่ได้รับ ทั้งการอบรมบ่มเพาะวัฒนธรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ครอบครัวไม่มีโอกาสดำเนินวิถีชีวิตในแบบที่รู้สึกเคารพสิทธิเสรีตัวเองและผู้อื่น ระบอบราชการและระบบยุติธรรมยังยึดติดอยู่กับระบอบอุปถัมภ์ ขาดประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมให้ประชาชนดำรงชีวิตแบบรับผิดชอบต่อตัวเองได้ คนไทยจึงไม่ได้มองสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบเป็นแก่นของชีวิต แต่มองเป็นเพียงกลไกย่อยที่จะช่วยดำรงชีวิต ยังมีกลไกที่จำเป็นอื่นๆ เช่น การมีเส้นมีสาย พวกพ้อง ต้องระวังอำนาจเส้นสายของผู้อื่น คนไทยจึงมองว่าปัญหาส่วนรวมเป็น "ธุระไม่ใช่" ปล่อยให้ปัญหาสังคมบ้านเมืองหมักหมมไปเรื่อยๆ ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการเลือกตั้งเพื่อคัดสรรผู้ที่กอบโกยจากประเทศได้มากกว่ากันให้ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง

      "สำหรับผม แม้จะเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเมื่อ 14 ตุลาคม 16 ผมคิดว่าเป้าหมายแค่นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ผมคัดค้านเผด็จการที่คอร์รัปชั่นโกงกินบ้านเมืองจนย่อยยับ ผมคัดค้านเผด็จการทหารในอดีตที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อตัวเองและพวกพ้อง และปัจจุบันถ้าจะทำเพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ผมก็จะต่อสู้คัดค้าน แต่ในช่วงขณะนี้ ผมขอเรียกร้องต่อสู้ให้มีการปฏิรูป หรืออภิวัฒน์ เป้าหมายของประเทศจึงต้องเป็นการอภิวัฒน์ ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะดีขึ้นอย่างถาวรยั่งยืน ซึ่งก็คือประชาชนตระหนักในการมีอำนาจและความรับผิดชอบของตน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างจริงจังที่ 1.ประชาชนจะดูแลปกครองท้องถิ่น ชุมชนตัวเอง กำหนดวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นมากขึ้น 2.จะมีอำนาจจัดการทรัพยากรท้องถิ่นตนมากขึ้น 3.มีอำนาจกำหนดอัตลักษณ์คือการเข้าใจ เคารพประวัติศาสตร์วัฒนธรรมซึ่งกันและกันของท้องถิ่นต่างๆ ปัญหานี้จะสำคัญยิ่งในอนาคต"

      ถ้าจะนับการอภิวัฒน์เป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนำของประเทศในเอเชียและแอฟริกา ที่นำพาประเทศสู่ความทันสมัย ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามหลังเพียงญี่ปุ่น จีน อินเดีย แต่เป็นการปฏิรูปที่เป็นเฉพาะด้าน ทำให้การปฏิรูปไม่สมบูรณ์ จึงเกิดวิกฤตเป็นระลอกๆ ตามมาเรื่อย คือเริ่มที่ด้านวัฒนธรรมและการปกครอง ขยายบทบาทของชนชั้นนำขุนนางผู้ดี ครั้งที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจให้กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ขึ้นมามีอำนาจนำ ครั้งที่ 3 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้าน ครั้งที่ 4 คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 เป็นการอภิวัฒน์ความคิดประชาธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นการปลดปล่อยกลุ่มทุนและพรรคการเมืองให้พ้นจากการครอบงำของทหาร ตำรวจ และครั้งที่ 5 เมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมาก ในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนและนักการเมืองได้เป็นตัวละครหลักที่มีฐานอำนาจและการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

      ความกังวลว่า ประเทศไทยจะเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งพูดถึงกันพอสมควรในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนับตั้งแต่การเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้น โลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 17 (ค.ศ.1648) ความเป็นรัฐมีความสำคัญสูงสุด การเป็นรัฐล้มเหลวจึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุด ผมมองว่าเครื่องบ่งชี้ภาวะเป็นรัฐล้มเหลวตัวหนึ่งก็คือ ปริมณฑลอำนาจรัฐที่เป็นทางการลดลง เมื่อเทียบกับปริมณฑลอำนาจรัฐที่ไม่เป็นทางการ หรือถูกทำให้เป็นส่วนตัว ซึ่งขยายเพิ่มมากขึ้น และการก่อตัวของอำนาจกึ่งทางการ กึ่งไม่เป็นทางการแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" ขึ้นมาท้าทายอำนาจเดิม

      1.ภาวะเช่นนี้มีปัจจัยหลักจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์และไม่ครบทุกด้าน พื้นที่พ้นไปจากที่ได้รับการพัฒนา เป็นรอยต่อหรือชายขอบที่ถูกละเลย ทอดทิ้ง คนที่ไม่มีโอกาส ความสามารถเข้าถึงพื้นที่การพัฒนาจะพยายามใช้พื้นที่ซึ่งเป็นของรัฐมาเป็นประโยชน์ของตน สภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดเป็นทั้งกลุ่มนักเลง แก๊งอิทธิพลมีสี และมาเฟียกลุ่มต่างๆ ใช้อำนาจมืด อำนาจสกปรก ความรุนแรง จะขยายตัวครอบคลุมไปทุกรอยต่อ หรือ ปริมณฑลธุรกิจใหม่ที่มีการบุกเบิกเฟื่องฟูขึ้น เช่น พื้นที่ทางกายภาพทางเท้า ตรอกซอย ถนน หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชนรัฐ เมื่อมีความจำเป็นเรื่องคนจนผู้ใช้แรงงาน การจราจรก็เกิดปัญหา หาบเร่แผงลอย วินรถสองแถว รถเมล์เล็ก รถร่วม วินมอเตอร์ไซค์ วินแท็กซี่ อิทธิพลในเขตธุรกิจท่องเที่ยว เช่น สีลม สาธร ภูเก็ต พัทยา โรงแรมหรู ฯลฯ เกิดปัญหาสลัม ตลาดนัด ตลาดท่องเที่ยว การรุกล้ำพื้นที่รอยต่อแม่น้ำลำคลอง ชายหาด ภูเขา ป่าสงวนของทั้งคนจนคนรวย รอยต่อของพื้นที่ทางแรงงาน ทรัพยากรและธุรกิจใหม่ๆ เช่น การรุกล้ำทำลายป่าเพื่อทำพืชเศรษฐกิจ ทำรีสอร์ต การรุกล้ำหาดริมทะเล ฝั่งแม่น้ำลำคลอง เพื่อทำธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร การใช้อำนาจครอบครองเขตป่า เขตเขา ที่ทำการ แหล่งน้ำ ปล่อยมลพิษของเสีย เพื่อแสวงประโยชน์จากแร่ธาตุทรัพยากรต่างๆ โดยการเอื้อประโยชน์กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มทุนใหญ่ หรือทุนต่างชาติ กรณีแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือแรงงานผิดกฎหมายต่างประเทศในไทยที่อยู่ในข่ายนี้ พื้นที่รอยต่อเนื่องจากการพัฒนาไม่สมบูรณ์ทางด้านอารมณ์และจิตวิทยา สังคมเกิดปัญหาโสเภณี หญิงบริการ อาบอบนวด ธุรกิจบันเทิง การพนัน สลากกินแบ่ง หวย ยาเสพติด ซึ่งเป็นแหล่งเกิดพื้นที่อำนาจรัฐที่ถูกใช้ประโยชน์เป็นส่วนตัวขยายใหญ่ขึ้น 

      2.การที่คนไทยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอำนาจและเสรีภาพอย่างแท้จริง และการที่อำนาจดูแลทรัพยากรกิจการต่างๆ ในท้องถิ่นไม่ถูกกระจายไปสู่ชาวบ้าน ชาวบ้านเกรงกลัวอิทธิพล ทำให้ไม่เกิดกลไกในการกำกับดูแล ตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น 3.ปัจจัยที่ไม่สมดุลทางอำนาจ โดยใช้ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจรวมศูนย์อยู่กับสถาบันกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ก็เป็นหลักใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงเผด็จการ ทหาร ตำรวจเป็นใหญ่ พวกเขาก็เป็นกลุ่มหลักที่ได้ใช้และจัดสรรทรัพยากร ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 16 จนถึงยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ อำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองและกลุ่มทุนขยายตัวใหญ่เหนือข้าราชการและกลุ่มอื่นๆ อย่างมาก เกิดภาวะล้มเหลวของรัฐทั้งแบบ "รูรั่ว" ซึ่งเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงในยุคหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแบบ "รอยต่อ" และอิทธิพลมืด มาเฟีย ในยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ แต่ได้เกิดภาวะล้มเหลวแบบ "ล้ำลึก" หรือ "รูลึก" ซึ่งมักเรียกว่าการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย หรือการคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และชาวบ้านร่วมมือกัน เป็นการคอร์รัปชั่นแบบล้ำลึก โดยอาศัยอำนาจครบวงจร การปิดบังข้อมูลหรือใช้ข้อมูลภายใน เช่น การให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน การลักลอบขุดน้ำมันขายในภาคอีสาน การประกันความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่น (ต้องจ่ายล่วงหน้า) ล็อกการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือสมคบกันล็อกสเปกโครงการ ล็อกกลุ่มโกงนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การขยายสนามบิน การพยายามจะใช้ภาคการเมืองของรัฐ หรือรวมทั้งธนาคารของประเทศมาเป็นเครื่องมือกลุ่มการเมืองตน 

      4.การล่มสลายของพื้นที่จริยธรรม ศีลธรรมในสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง การจำแนกถูกผิด ดีเลว หลงเหลืออยู่น้อยมาก ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการลดลงของพื้นที่ทางการของอำนาจรัฐ และการขยายการฉกฉวย ยึดชิงพื้นที่อำนาจรัฐให้เป็นของส่วนตัวของนักการเมืองและกลุ่มทุน ซึ่งอธิบายโดยกระบวนการซึ่งเรียกว่ารูรั่ว รอยต่อ รูลึก (คอร์รัปชั่นนโยบาย) สภาพเช่นนี้บ่งชี้ได้ว่ารัฐกำลังล้มเหลว โดยเฉพาะถ้ากลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองไม่มีสำนึกความเป็นรัฐไทย ประเทศไทย การเปลี่ยนอำนาจรัฐทางการให้เป็นของส่วนตัวจะเกิดอย่างรวดเร็ว ดังที่ได้เห็นในกรณีของตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการอีกหลายกระทรวง ทั้งหมดเป็นการก่อรูปของอำนาจแบบใหม่ที่ไม่ใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐแบบเดิม

    วิกฤตประเทศไทยล้ำลึก เพราะอำนาจรัฐ อำนาจสาธารณะของประเทศถูกเจาะไชเป็นรูลึก มีทั้งรูรั่วรอยต่อกินพื้นที่ที่สกปรก น่าเกลียด อำนาจเลวที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงประเทศไทยไม่มีวันที่จะเป็นประเทศพัฒนาที่มีระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่นหรือตะวันตกได้ในประวัติศาสตร์ เราคงต้องอยู่กับวินมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว สลัม หาบเร่แผงลอย แรงงานต่างชาติไปตลอด เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ และช่วยให้คนจนดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่มีคำถามใหญ่ซึ่งยังไม่มีคำตอบชัดเจนในส่วนนี้คือ 

     1.เราต้องอยู่กับภาวะลูกผสม พันธุ์ผสมเช่นนี้ แต่จะกำกับควบคุมเปลี่ยนจากความน่าเกลียด เลวร้าย รุนแรง ให้เป็นสิ่งที่ดี สวยงาม ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหรือไม่ อย่างไร 2.อำนาจรัฐ (ทหาร ข้าราชการบางส่วน) จะเป็นผู้แก้ให้อำนาจส่วนที่เสื่อมถูกยึดเป็นของบุคคลนี้ให้ดีขึ้น หรือประชาชนสังคมจะเป็นผู้แก้ หรือร่วมกันแก้ 3.หนทางอนาคต รัฐไทยคงถูกปรับตัวให้แข็งแรงขึ้น แต่ผมมองว่ารัฐในโลกยุคปัจจุบันจะแข็งแรงอย่างแท้จริง จะต้องไม่ใช่ระบบราชการแข็งแรง มีคุณธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมีกลไกสังคมคอยช่วยตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมภาครัฐ จึงจำเป็นมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ประชาชนมีทั้งสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบอย่างแข็งขันด้วย ภาพรวมจึงควรเป็นรัฐแข็งแรง สังคมเข้มแข็ง ประชาชนมีอำนาจ

       "โดยสรุป ผมมองว่า จะปฏิรูปประเทศไทยได้ควรต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจ มีส่วนร่วม มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีสิทธิและมีเสรีภาพอย่างรับผิดชอบ บางครั้งการพูดเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงอยากฝากเน้นย้ำว่า สิทธิอำนาจและเสรีภาพจะต้องมีความรับผิดชอบด้วย อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมจำเป็นมาก การทำรัฐให้เข้มแข็งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ"...........

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!