WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

21กรธ

'บันคีมุน'ถก'บิ๊กตู่' ห่วงไทย ประชาธิปไตยแคบลง ฟ้อง 8 กปปส.ล้อมคูหา แห่ต้าน'ซิงเกิ้ลเกตเวย์'

      'บิ๊กตู่'หารือ'บัน คีมุน' เลขาฯยูเอ็นห่วงไทย พื้นที่ประชาธิปไตยแคบลงชี้เสรีภาพแสดงออกและการชุมนุมเป็น สิ่งจำเป็น ด้าน"ตู่"ย้ำโรดแม็ป กลางปี 60 มี เลือกตั้ง วิษณุให้อดใจรออีก 7 วัน รู้ผล '21 กรธ.' ม.เที่ยงคืนชง 10 ชื่อ เสนอร่วมร่างรธน. เรียกร้องสังคมช่วยกดดันรับฟังความเห็นต่าง พรรคเติ้งส่ง'ตือ-นิกร'ร่วมสปท. พท.ซัดคดีข้าว กลั่นแกล้ง'ปู'โวยกก.สอบความเสียหายไม่เรียกพยานถามอีก ชาวเน็ตแห่ต้าน 'ซิงเกิ้ล เกตเวย์'รมว.ไอซีทีแจงวุ่นแค่ศึกษา

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9071 ข่าวสดรายวัน


ห่วงไทย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้าหารือทวิภาคีกับนายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น ซึ่งได้แสดงความเป็นห่วงที่พื้นที่ประชาธิปไตยไทยแคบลง ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.


'บิ๊กตู่'ร่วมประชุมยูเอ็นวันที่สาม
     เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ อเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมการประชุมสหประชา ชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เป็นวันที่ 3 ของการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชา ชาติ ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.
     เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Global Leaders" Meeting on Gender Equality and Women"s Empoweverment : A Commitment to Action ว่า ไทยเห็นความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายต้องมีบทบาทร่วมผลักดันให้เกิดเจตคติที่ดี ยุติการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อ ผู้หญิงและเด็ก การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากที่บ้าน ที่โรงเรียน และจากสภาพแวดล้อมใกล้ๆ ตัว เนื่องจากทุกคนมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งไทยจะมุ่งมั่นเรื่องนี้ต่อไป

ลั่นอีก 15 ปีเหลื่อมล้ำจะลดน้อย
       เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UN Summit to adopt the Post-2015 Development Agendas ว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาค มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและการบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม ประเทศไทยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี ทำให้ไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เหตุการณ์สึนามิ
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็ง จัดวางมาตรการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กลุ่มเปราะบางต่างๆ อาทิ การประกันสุขภาพทั่วหน้า การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนครอบครัวยากจน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคคลและสร้างความมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และรัฐบาลยังคุ้มครองแรงงานต่างด้าว จัดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
      "อีก 15 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะลดน้อยลง ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็ง อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน ไปด้วยกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

บัน คี มุนห่วงพื้นที่ปชต.ไทย
      จากนั้นเวลา 18.20 น. ที่ชั้น 27 อาคาร Secretariat สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยพล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ยืนยันถึงพันธกรณีที่ไทยมีต่อยูเอ็น พร้อมสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการยูเอ็น โดยไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ
     พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯ ได้กล่าวยืนยันสถานการณ์การเมืองไทยว่า การดำเนินการต่างๆ ตามโรดแม็ปนั้น เป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น คาดว่าจะประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือ นายบัน คี มุน แสดงความกังวลถึงการที่พื้นที่แห่งประชาธิปไตยในไทยแคบลง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุม นอกจากนี้เลขาธิการยูเอ็นกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมในกรุงเทพฯ รวมถึงขอบคุณประเทศไทยที่แสดงบทบาทนำ ในการประสานการแก้วิกฤตผู้อพยพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมส่งเสริมชาติสมาชิกประชาคมอาเซียนให้ร่วมกันหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวด้วย อีกทั้งแสดงความยินดีที่ไทยได้เป็นประธานกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือจี 77 สำหรับวาระปี 2559 ส่วนกำหนดเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ว่าจะจัดเลือกตั้งได้ในเดือนก.ค. 2560

ดอนขอบคุณม็อบหนุน
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนไทยในสหรัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมารวมตัวให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ บริเวณสถานที่ชุมนุมซึ่งทางการสหรัฐจัดไว้ให้ที่หัวมุมถนน 47 ตัดกับถนนหมายเลข 1 โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่มีกำหนดหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ ที่สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนน 52 ได้เดินผ่านบริเวณที่กลุ่ม ผู้สนับสนุนรวมตัว จึงหยุดพูดคุยทักทายกัน 2-3 นาที
     โดยนายดอนกล่าวขอบคุณ ที่มาให้ กำลังใจ ก่อนจะถ่ายรูปคนไทย จากนั้นจึงเดินต่อไปยังสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยฯ เพื่อหารือกับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐตามนัดหมายต่อไป

จรัล แจงปม-ปธ.กลุ่มจี 77
    นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เเละอดีตที่ปรึกษารอง นายกฯ โพสต์กรณีไทยได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มจี 77 ระบุว่าประเทศไทยถูกวางให้เป็นประธานจี 77 จากการประชุมองค์การนี้ที่นาโรบี ประเทศเคนยา เมื่อต้นปี 2014 ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยรับตำแหน่งจากบราซิล แต่จะดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการต้องได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติ จึงไม่ใช่เพราะนานาชาติให้ความไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
     "จี 77 เป็นการรวมกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1964 ต่อมาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมด้วย ชื่อที่เป็นทางการ คือกลุ่มจี 77 และจีน การตั้งขบวนการนี้มีนัยยะแทนกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมือง ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่ จี 77 เคยมีประเทศเผด็จการเป็นประธาน หลังสุดคือ ประเทศฟิจิ มีรัฐประหารเมื่อเดือนธันวาคม 2006 และเป็นเผด็จการ ก็เคยเป็นประธานเมื่อปี 2013" นายจรัลกล่าว

สมช.เล็งยกเครื่องพ.ร.บ.ใหม่
     ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดงานสัมมนา "สื่อมวลชนกับความมั่นคงของรัฐ" พร้อมแถลงผลงาน 1 ปี โดยมีนายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสมช. พร้อมผู้บริหารระดับสูงในสมช. อาทิ นายพรชาต บุนนาค รองเลขาฯสมช. เข้าร่วม
     นายพรชาต กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ใช้ขับเคลื่อนยุทธ ศาสตร์ อาจใช้ชื่อเรียกเป็น สำนักเลขาธิการยุทธศาสตร์ชาติ มีองค์ประกอบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การท่องเที่ยว ต่างประเทศ รวมทั้งงานด้านความมั่นคงต่างๆ ซึ่งในอดีตเราไม่มีภาพเหล่านี้เป็นชุดเดียวกัน ต่างคนต่างทำ และมิติของงานความมั่นคงได้แยกส่วนกับงานเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน
      ด้านนายอนุสิษฐ กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา สมช.อยู่ภายใต้กติกาใหม่ของการจัดการของพล.อ.ประยุทธ์ ทำงานโดยให้ทุกกระทรวงเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และบูรณาการทำงานความมั่นคงร่วมกัน นอกจากนั้นจะเสนอครม.เห็นชอบยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อกำหนดกรอบทำงานด้านการข่าวให้เกิดการบูรณาการให้กลไกการทำงานด้านการข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเสนอปรับปรุงพ.ร.บ.สมช.พ.ศ. 2502 เพิ่มเติม 2507 ให้ทันสมัยขึ้น ในเรื่ององค์ประกอบของสมาชิกสมช. นำสัดส่วนงานด้านความมั่นคงเข้ามามีส่วนร่วม

อนุสิษฐ ปัดถูกทาบนั่งสปท.
     นายอนุสิษฐ ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงการทาบทามให้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ว่า ยังไม่มีการทาบทาม ยังไม่สมัคร แต่หากทาบทาม ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะทำงานได้เต็มที่หรือไม่ ที่ผ่านมาตนมีเวลาน้อยและทำงานหนัก หลังจากนี้ถ้าให้ไปทำงานต่อในจุดไหนแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้ก็จะทำ อย่างไรก็ดีถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ไปช่วยงานก็คงไม่ปฏิเสธ และถ้าทำก็จะทำให้เต็มที่ หากไม่เต็มที่ก็คงไม่ไป
      ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าวแต่งตั้งคนนอกกระทรวงเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ไม่ทราบ เพราะเรื่องการแต่งตั้งอธิบดี เป็นหน้าที่ของพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุมสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จะกำหนดหลักเณฑ์ คุณสมบัติและการเปิดรับสมัคร ซึ่งตนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทราบว่ากระทรวงประกาศรับสมัครตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ซึ่งตามระเบียบ ผู้ที่จะสมัครในตำแหน่งนี้ต้องเป็นข้าราชการภายในกระทรวงนี้เท่านั้น

วิษณุ เผยมีแต่คนถามทีม'กรธ.'
     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า นายมีชัยไม่ได้ยื่นเงื่อนไขใดๆ เพียงขอทราบก่อนว่ามีใครบ้าง มีความหลากหลายด้านใดบ้างเท่านั้น โดยจะขอหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ก่อน
      นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นอกจากนายมีชัยได้ทาบทามไว้อีก 3-4 คน แต่คงเปิดเผยชื่อไม่ได้ และทุกคนคงมีข้อสงสัยคล้ายกันว่า มีใครบ้าง เรารู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การเลือก คนนี้ตัวจริง คนนี้สำรอง เพราะต้องมาทำงานกันเป็นทีม เป็นคณะ และเป็นงานสำคัญ เร่งรัดด้วยเวลา จึงต้องดูเรื่องคุณสมบัติและอายุ เมื่อทำหน้าที่แล้ว จะไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก 2 ปี
      "ยังไม่มีใครเลือกใครในวันนี้ หากนาย มีชัย ตอบรับที่จะเป็นแล้ว ถ้าได้คุยกับนายกฯหลังกลับจากต่างประเทศ แล้วถ้านายกฯบอกว่าจะเลือกชื่อนั้นชื่อนี้ ก็ไม่รู้จะว่ากันอย่างไร ดังนั้น จึงต้องพิจารณาตามหลักว่าเจ้าตัวจะว่าอย่างไร" นายวิษณุ กล่าว

ยัน'มีชัย'ยังไม่รับปาก
      เมื่อถามว่าประธานกรธ.สามารถเลือกทีมเข้ามาด้วยตัวเองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่มีใครเกี่ยงในเรื่องดังกล่าว เพราะใน 20 รายชื่อ คนที่จะเป็นประธานต้องอยากรู้ว่าใครบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่าทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เนื่องจากมีกำหนดเวลาร่างรัฐธรรมนูญ จึงเน้นทำงานเป็นหมู่คณะ เช้ายันดึกดื่น ต้องใช้ความสมัครสมานสโมสร ทำงานด้วยกันดึกก็ต้องเห็นใจ
      ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อที่รวบรวมมาได้ก่อนจะพิจารณาให้เหลือ 21 คน ต้องส่งให้นายมีชัยดูก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ผมไม่ได้ส่งให้นายมีชัย แต่ส่งให้นายกฯ ดู เพื่อให้นายกฯ นำไปใช้ประโยชน์ ผมยืนยันว่าไม่ได้ส่งให้นายมีชัย ที่กล้ายืนยัน เพราะยังไม่มีการตอบรับเลยซักคน แต่ก็ถือว่าได้ทาบทามกันแล้ว"


ทวิภาคี - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 ก.ย.

      เมื่อถามว่ามีเหตุผลใดที่นายมีชัยจะไม่รับตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ถ้าตนถามนายมีชัยก็คงย้อนว่าต้องมีเหตุผลด้วยหรือ

ให้อดใจรออีก 7 วัน
      เมื่อถามว่าหากนายมีชัย พูดคุยกับพล.อ. ประยุทธ์แล้วจะประกาศรายชื่อกรธ.ได้เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อว่านายกฯ ต้องใช้เวลาพิจารณาบ้าง จากนั้นต้องจัดพิมพ์ แล้วจึงประกาศ คงไม่ประกาศทันที
      ผู้สื่อข่าวถามว่า ประธานกรธ.จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "จะซักไซ้ทำไม สัตวแพทย์ยังเป็นได้ อย่าทำเป็นเล่นไป รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ซึ่งแม็กอาเธอร์เป็นคนร่าง กรรมการร่างยังมีสัตวแพทย์ซึ่งหามาจากในสนามรบอยู่เลย ก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน"
      เมื่อถามว่า ประเทศไทยจะมีอาชีพอื่นเข้าร่วมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ของเราเลือกกันมาก คัดกันมาก สุดท้ายก็อยู่ไม่ยืด ตนไม่ทราบว่ามีอาชีพใด บอกได้เพียงว่าเป็นสัมมาอาชีพ ขอให้สื่ออดทนกันหน่อย อีกไม่ถึง 7 วันก็จบแล้ว ส่วนผู้ที่จะมาเป็นกรธ.ทาบทามมาไม่เกิน 30 คน แต่มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองส่งชื่อมาให้พิจารณาอีก 10 คน


พรเพชร เชื่อ'มีชัย'ตอบรับ
       ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งสมาชิกสนช.ให้ครบ 220 คนว่า การแต่งตั้ง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าคสช. ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้สมาชิกสนช.มีครบจำนวน และหากได้ผู้ที่เหมาะสมมาช่วยงานก็จะดี เพราะงานในปีหน้าจะหนักมาก
     เมื่อถามถึงกรณีคสช.จะทาบทามพล.อ. จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นประธานกรธ. หากนายมีชัยปฏิเสธ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ มีแต่ได้ยินว่าคสช.ไปขอให้นายมีชัย เป็นประธานกรธ. ทราบว่านายมีชัยแบ่งสู้มากกว่าแบ่งรับ ส่วนสนช.นั้น ไม่ติดใจว่าจะตั้งสนช.เป็นกรธ.หรือไม่ แต่เห็นว่าหากมีสนช.ร่วมเป็นกรธ. จะทำให้เข้าใจในรัฐธรรมนูญที่ร่างมาง่ายขึ้น แต่อยู่ที่นายกฯจะตัดสินใจ

ม.เที่ยงคืนเสนอ 10 ชื่อร่วมร่างรธน.
       มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกประกาศ เรื่อง รายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน 10 คน ที่มีผู้เสนอรายชื่อเข้ามาจำนวนมากที่สุดและมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนี้ 1.นายเกษียร เตชะพีระ 2.นายคณิน บุญสุวรรณ 3.นาย จาตุรนต์ ฉายแสง 4.นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ 5.นายพนัส ทัศนียานนท์ 6.นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ 7.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 8.นายสุขุม นวลสกุล 9.นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ 10.นายสมบัติ บุญงามอนงค์
      หากพิจารณาจากรายชื่อที่เสนอ ม.เที่ยงคืนมีความเห็น 1.รายชื่อดังกล่าวประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ นักวิชาการ นักการเมือง และนักกิจกรรมทางสังคม ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะด้วยการใช้เหตุผลและปัญญามาอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่าเป็นบุคคลที่จะมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

เรียกร้องสังคมช่วยกดดัน
     2.ทั้ง 10 คน จะไม่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ หากเทียบกับรายชื่อที่ผู้มีอำนาจเสนอต่อสาธารณชน จะพบความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งความรอบรู้ การยึดมั่นต่อหลักการระบอบประชาธิปไตย ภูมิหลังและเกียรติ ประวัติในการทำงาน ซึ่งคณะบุคคลที่จะถูกคัดเลือกโดยผู้มีอำนาจนั้น มีคุณสมบัติสำคัญคือการรับใช้ต่อผู้ที่ทำรัฐประหารเป็นสำคัญ ซึ่งกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในมือของกลุ่มคนอันคับแคบ ย่อมไม่นำสังคมไทยให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ต่างๆ การร่างและการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองต่ออุดม การณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่มด้วยการใช้อำนาจ มีแต่จะทำให้สังคมไทยจมดิ่งสู่ความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
     ทางม.เที่ยงคืนไม่ได้ยืนยันว่าทั้ง 10 คนนี้ ต้องเป็นตัวแทน มีบทบาทต่อการร่างรัฐธรรม นูญ หากสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนับแต่หลังรัฐประหาร เป็น การดำเนินการระหว่างผู้มีอำนาจโดยมิได้สัมพันธ์กับความปรารถนาของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันเรียกร้องและกดดัน ให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในมือของประชาชน ต้องดำเนินการโปร่งใส เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีความคิดที่แตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม

ชทพ.ส่ง'ตือ-นิกร'ร่วมสปท.
      นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยว่า พรรคสรุปรายชื่อตัวแทนพรรค เพื่อคัดเลือกเป็นสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยส่งให้กับคสช.แล้ว 2 คน คือ ตนกับนายนิกร จำนง กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ส่วนจะได้รับเลือกทั้ง 2 คนหรือคนเดียว หรือจะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับคสช.จะพิจารณา

พท.ซัดกลั่นแกล้ง'ปู'
      วันเดียวกัน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จากการพบปะกับชาวนาหลายจังหวัด ต่างพูดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่ควรจะได้รับรางวัลจากการช่วยชาวนา แต่กลับจะถูกลงโทษทั้งทางอาญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีก ที่ว่าเสียหายใช้หลักอะไรคิด คิดจากหลักบัญชีกำไรขาดทุนจากงบประมาณที่ลงไปเท่านั้นหรือ ทำไมมองด้านเดียว ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง กลั่นแกล้งทางการเมืองกันชัดๆ ชาวนารู้ว่าเงินตามโครงการรับจำนำข้าวส่งตรงเข้าบัญชีของชาวนาโดยไม่เสียค่าต๋งใครเลย เมื่อเงินถึงมือก็นำไปใช้จ่าย ซื้อของกินของใช้ เงินหมุนหลายรอบในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ที่สำคัญหมุนมาถึงกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งเป็นแหล่งผลิต เศรษฐกิจจึงคึกคักเพราะมีเงินหมุนเวียนในช่วงนั้น แต่ขณะนี้เงียบเป็นเป่าสาก
       "นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ใช้หลักการเดียวกันผันงบลงรากหญ้าเพื่อให้เงินหมุนเวียนในชนบท และย้อนกลับมาในกรุงเทพฯและปริมณฑล ชาวนาทั้งหลายจึงขอความเป็นธรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย เพราะโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเขาทำกันทั่วโลก เพื่อรักษาเกษตรกรไว้และเพื่อการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ คิดกำไร ขาดทุนได้อย่างไร ถ้าคิดจะใช้หลักการด้านบัญชีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลักเศรษฐศาสตร์ด้วยถึงจะเป็นธรรม" นายชวลิตกล่าว

โวยกก.คดีข้าวไม่สอบพยาน
     นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวว่า จากกรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว จะสรุปสำนวนการไต่สวนให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความนั้น ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งก็คือวันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.คลัง ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้วินิจฉัยว่ามีผู้กระทำผิด หรือไม่ เท่าใด จึงต้องเริ่มนับอายุความ 2 ปี ดังนั้น เมื่อยังไม่ได้วินิจฉัย จึงยังไม่เริ่มนับอายุความ คดีแพ่งจึงยังไม่ขาดอายุความ
     นายนรวิชญ์ กล่าวว่า คดีนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. และอ้างพยานบุคคลซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ แต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ กลับไม่ไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม

ขู่ฟ้องกลับทั้งแพ่ง-อาญา
      "ดังนั้น ต้องให้โอกาสน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยไต่สวนพยานบุคคลที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างไว้นั้นให้เสร็จสิ้นครบถ้วน ก่อนสรุปสำนวน" นายนรวิชญ์กล่าว
      นายนรวิชญ์ กล่าวด้วยว่า การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯไม่ให้โอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้ง ศาลปกครองสูงสุดเคยมีแนวคำพิพากษาแล้วว่าเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้ทีมทนายความ กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน หากเห็นว่าเกิดความเสียหายแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ชาวเน็ตล่าชื่อค้าน'ซิงเกิ้ล เกตเวย์'
       วันที่ 28 ก.ย. เอเอฟพีรายงานกระแสคัดค้านนโยบาย "ซิงเกิ้ล เกตเวย์" ระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบช่องทางเดียว ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า มีผู้ลงชื่อคัดค้านนโยบายนี้ผ่านเว็บไซต์ Change.org มากกว่า 72,820 คน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลระงับโครงการซิงเกิ้ล เกตเวย์ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายระบุว่าเป็นช่องทางจำกัดเสรีภาพการเข้าถึงเว็บไซต์ ทำให้รัฐบาลทหารควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชนได้
      นายดอน สัมบรรดารักษา จากเว็บไซต์เทเลคอมเอเชีย กล่าวว่า คนไทยเตรียมบอกลาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้เลย ยังไม่รวมถึงการจับตาเฝ้าระวัง การเซ็นเซอร์และการตรวจสอบเบื้องลึกตามที่กองทัพต้องการ
     ขณะที่ข้อความบางส่วนในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ระบุว่า ความหวาดระแวงของรัฐบาลไม่มีเหตุผล และนโยบายนี้ขัดแย้งอย่างมากกับความพยายามรณรงค์นโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจากพล.อ.ประยุทธ์เพิ่งขึ้นเวทีรับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ต่อการเป็นผู้นำที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ
      ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศว่าต้องการขยายช่องทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (อินเตอร์เน็ต ฮับ) ของภูมิภาค ภายใต้นโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่แผนซิงเกิ้ล เกตเวย์ หรือที่ถูกเรียกว่า "เกรท ไฟร์วอลล์ ออฟ ไทยแลนด์" หรือด่านกันบุกรุกขนาดใหญ่แห่งประเทศไทย ล้อเลียนมาจากฉายาเกรท ไฟร์วอลล์ ซึ่งเป็นนโยบายตรวจพิจารณาระบบอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลจีน
    นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวถึงโครงการการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียว หรือ เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ (ซิงเกิ้ล เกตเวย์) ว่า ไอซีทีได้รับคำสั่งให้มาศึกษาและพิจารณา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดรอบด้านถึงความเป็นไปได้ เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และผลกระทบรอบด้านที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องดำเนินโครงการดังกล่าวจริง โครงการนี้ยังไม่ได้นำเข้าครม. และยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะดำเนินโครงการจริง และต้องศึกษาจะเสร็จเมื่อใด จึงไม่ควรเร่งรัด
      "ในสัปดาห์นี้ไอซีทีจะประชุมหารือในวาระต่างๆ และจะนำเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์นี้มาหา รือด้วย ขอให้ประชาชนอย่าสับสนกับซิงเกิ้ลเกตเวย์ที่รัฐบาลจะทำ เป็นแนวนโยบายมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เน้นการใช้งานด้านความมั่นคงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ไม่ได้มาใช้ควบคุมข่าวสาร รัฐบาลยังเคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนในการใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว" รมว.ไอซีทีกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!