WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

21กรธ

เปิดโผโค้งท้าย 21 กรธ. มีชัยรับปธ. เพิ่มเก้าอี้คสช.-บิ๊กหมูนั่งเลขาฯ อสส.แจง'ข้าว'เมินปูฟ้องกลับ บิ๊กตู่คุยสื่อมะกันปม'เสรีภาพ'

  'บิ๊กตู่'ให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐ ไม่เคยปิดกั้นเสรีภาพ ประชาธิปไตยไทยยังต้องแก้ไขปรับปรุง เล็งเรียกบิ๊กคสช.ถกรายชื่อ 'กรธ.-สปท.'ทันทีที่กลับถึงไทย 'มีชัย'รับนั่งประธานกรธ. นายทหารติดโผสปท.เพียบ เตรียมปรับตำแหน่งคสช. 'บิ๊กหมู'นั่งเลขาธิการควบผบ.กกล.รส. ทนายกนส.ยื่น อสส.เร่งส่งตัว 'เทพเทือก'แกนนำ กปปส. ให้ศาลดำเนินคดีกบฏ-ขวางเลือกตั้ง อสส.ยันสั่งฟ้อง 'จำนำข้าว' ทำตามหน้าที่ ยันสำนวนไม่บกพร่อง กก.ร่วมคลัง-พาณิชย์ส่งผลสรุปทางแพ่งให้ 'วิษณุ'แล้ว จ่ายเยียวยา กปปส.เริ่ม 1 ต.ค. สวนยางใต้ขู่ชุมนุม ยื่น 3 ข้อจี้รัฐจ่ายค่าชดเชย

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9073 ข่าวสดรายวัน

เวทียูเอ็น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น

บิ๊กตู่คุยนักธุรกิจ-แพทย์ไทย
      วันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปีค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาสหประชา ชาติ(ยูเอ็นจีเอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.ว่า ช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง เป็นวันที่ 5 ของการเข้าร่วมประชุม นายกฯ ได้หารือกับนักธุรกิจและแพทย์ไทยในนครนิวยอร์กและรัฐใกล้เคียง อาทิ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารไทย เครื่องดื่ม กล้วยไม้ ผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีเครื่องประดับ ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจน้ำหอม และธุรกิจเฟอร์นิเจอร์
      นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการทั้งการแก้ปัญหาด้านประมง การลักลอบค้ามนุษย์ อำนวยความสะดวกโดยจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ลดขั้นตอนราชการ ศูนย์ดำรงธรรมรับคำร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ต่างประเทศคือสถานเอกอัคร ราชทูต ส่งเสริมการลงทุนโดยปรับสัดส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี จัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมการท่องเที่ยว
       นักธุรกิจเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล หรือ Medical Hub สนับสนุนให้คนอเมริกันมารักษาตัวที่ประเทศไทย ส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนและเครื่องมือแพทย์และอวัยวะเทียม สนับสนุนการส่งออกสมุนไพรไทย การปลูกมะพร้าว

แจงสื่อนอก-ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ
      เวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ. ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับพ.อ.พิเศษ เทโอ โดโร โอเบียง อึนเกมา อึมบาโซโก รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี นายกฯ ย้ำถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าข้าวและจัดตั้งกลไกทางเศรษฐกิจ อาทิ จัดตั้งสภาธุรกิจ การเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
        จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (voathai) ภาคภาษาไทยว่า ที่ผ่านมาตนอนุญาตให้มีเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นในระดับมากพอสมควรแล้ว ยืนยันใช้อำนาจที่มีอยู่น้อยที่สุด ดังนั้น ที่กล่าวอ้างโดยอาจอ้างต่างประเทศด้วยว่ามีการปิดกั้นเสรีภาพ ตนไม่เคยปิดกั้นเลย เพราะถ้าปิดกั้นทุกอย่างจะไม่เป็นแบบนี้ จะไม่มีใครพูดแบบนี้ทั้งหนังสือพิมพ์และการแถลง แต่ห้ามเฉพาะการชักชวนให้คนออกมาเดินประท้วงเนื่องจากไม่ใช่เวลาและมีกฎหมายระบุชัดว่าห้ามชุมนุม สร้างความ ขัดแย้ง สร้างความวุ่นวาย
         นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลวางโรดแม็ปไว้แล้วว่าต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีการรับหลักการในเบื้องต้นและขึ้นอยู่ว่าจะรับหรือไม่รับ หากไม่รับก็จะเหมือนครั้งที่ผ่านมาคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าหากไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ต้องร่างใหม่ใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ 4 เดือน ต่อด้วยกฎหมายลูกอีก 4 เดือน จากนั้น 4 เดือนเข้าสู่กระบวนการ เลือกตั้ง โดยใช้สูตร 6-4-6-4 รวมเป็น 20 เดือน ยืนยันไม่ได้ต้องการยืดเวลาออกไปเพราะมีเวลาที่เพิ่มมาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ หากทำได้เร็วกว่า 20 เดือนก็จะทำ

ประชาธิปไตยแบบไทย
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ดูประเด็นว่าประเทศไทยสงบหรือไม่ หากร่างรัฐธรรม นูญออกมาแล้วเข้าสู่การเลือกตั้ง ใครจะเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทยจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีอะไรแตกต่าง ในห้วงระยะหนึ่งจะมีอะไรที่เป็นมาตรการป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดิม คิดว่าในโลกนี้ไม่มี ที่เกิดในบ้านเรานั้นเป็นสิ่งแปลก เพราะเมื่อเขาเลือกตั้งเสร็จก็จบ ยอมรับกัน แต่ของเราที่ผ่านมามีปัญหาตรงนี้ ต้องช่วยกันอธิบายให้เขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยไทยยังต้องแก้ไขปรับปรุงบางอย่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐธรรม นูญ การเลือกตั้ง การบริหารราชการแผ่นดิน การเข้าสู่การเมืองของนักการเมือง เราอยากเป็นประชาธิปไตยเหมือนคนอื่นที่ไม่มี ความขัดแย้ง นำพาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว ตนก็ทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นอย่างนั้น
        นายกฯ กล่าวว่า ทุกประเทศต่างก็เคยผ่านปัญหาเหล่านี้ ในที่สุดจะเข้าใจประชาธิปไตยของไทย และในฐานะคนไทยอยากฝากมิตรประเทศว่าถึงอย่างไรประเทศไทยจะยังอยู่บนโลกใบนี้ ก็ต้องช่วยเรา สนับสนุนเราให้เราเดินหน้าประเทศ ให้ประเทศเป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์เหมือนนานาอารยประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามิตรประเทศอาจนึกภาพไม่ออกว่าประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการใช้อาวุธ มีการปิดล็อกประเทศ ตนจึงเข้ามา

ย้ำปฏิรูปครบวงจร-พัฒนาไทย
       เวลา 18.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของยูเอ็นจีเอ 70 หัวข้อ The United Nations at 70-the road ahead to peace, security and human rights ว่า ในนามรัฐบาลไทยยินดีที่ยูเอ็นก่อตั้งและครบรอบ 70 ปีในปีนี้ ยูเอ็นประสบความสำเร็จในการปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การรักษาสันติภาพและการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพต่อไป ควบคู่กับการพัฒนาเพราะปัญหายังไม่หมดไป เส้นทางสู่สันติภาพต้องอาศัยการพัฒนาควบคู่กัน
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยยกระดับ ตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศปานกลางภายใน 3 ทศวรรษ โดยยึดแนวทางพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนไทยประสบความสำเร็จพัฒนาตนเองมาเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อ การพัฒนา ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติและทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
       นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้นได้คือการปฏิรูปครบวงจร เพื่อ นำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อาทิ การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การจัดระเบียบสังคม วันนี้จะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นวันหน้าจะเป็นตัวบ่งบอกว่าวันนี้เราทำสิ่งใดลงไปและเพื่อสิ่งใด จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเรากำลังทำเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทยและเพื่อให้ไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมกับยูเอ็นในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในอนาคต

เสนอตัวเป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซี
        นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง มีความเชื่ออย่างที่สุดว่าการพัฒนาจะไม่ยั่งยืน หากเราก้าวไปแต่ผู้เดียวและทิ้งผู้อื่นไว้เบื้องหลัง จึงนำแนวคิดไทย +1 มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เพื่อเพื่อนบ้านจะได้ก้าวไปด้วยกัน ผ่านการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษตาม แนวชายแดนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ตรงกลางเราจึงเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชา ชาติ วาระปีค.ศ.2017-2018 เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิกที่มีที่นั่งในประเทศที่มีความมั่นคงกับประเทศนอกคณะมนตรี รวมถึงสะพานเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและความแตกต่างทางความคิด หวังว่าการมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมโยงนี้จะสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเป้าหมายแห่งสหประชาชาติ
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญ กับเสาหลักทั้งสามของยูเอ็น สันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยเชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของประเทศสมาชิกที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้เราเข้มแข็งไปพร้อมกัน ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่ นำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ

กลับถึงไทยกลางดึก 1 ต.ค.
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 12.30 น. วันที่ 30 ก.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกฯ และภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์ก โดยเครื่องบินของสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ NH 9 ไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ใช้เวลาเดินทาง 13.55 ชั่วโมง) เวลา 17.25 น. นายกฯ และภริยา พร้อมด้วยคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ โดยเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบินที่ TG 677 กลับประเทศไทย (ใช้เวลาเดินทาง 6.30 ชั่วโมง) ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 21.55 น. ของวันที่ 1 ต.ค.ตามเวลาประเทศไทย

จี้อสส.เร่งฟ้อง'เทือก-กปปส.'
       เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) หนึ่งในผู้กล่าวหากปปส.ชุมนุมเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2556-5 เม.ย.2557 โดยผิดกฎหมายปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อกดดันให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก เข้ายื่นหนังสือถึงนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อติดตามเร่งรัดการสั่งคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. และแกนนำกปปส.ที่เหลือ ซึ่งอัยการยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนเพื่อส่งตัวฟ้อง ภายหลังจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งคดีกับกปปส. 58 ราย รวม 9 ข้อหา ฐานร่วมกับกบฏและกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง
       โดยก่อนหน้านี้ อัยการได้ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 53 ปี นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 38 ปี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 64 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และนายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 66 ปี แกนนำกปปส.เพียง 4 คน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน ร่วมกับกบฏ และกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการตรวจพยานหลักฐาน


นอกรอบ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พบปะหารือกลุ่มนักธุรกิจและแพทย์ไทยในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ ช่วงระหว่างการไปร่วมประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนประมาณ 20 คนมาพร้อมนายวิญญัติ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการพิจารณาคดี โดยถือป้ายมีข้อความจี้ให้เร่งพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนาย สุเทพ หลังยื่นหนังสือต่างแยกย้ายเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุวุ่นวาย

ให้ชี้แจงความคืบหน้าคดี
       นายวิญญัติ กล่าวว่า การชุมนุมของกปปส.ตนเป็นหนึ่งในผู้กล่าวหาดำเนินคดี เมื่อเห็นว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปสำนวนคดีกล่าวหากปปส. 58 ราย 9 ข้อหาให้อัยการแล้ว ได้ฟ้องคดีแกนนำกปปส.เพียง 4 ราย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 ส่วนผู้ต้องหา กลุ่มกปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก 31 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ขัดขวางการเลือกตั้ง และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตราตามที่ดีเอสไอส่งฟ้องมายังอัยการเมื่อปลายเดือนมิ.ย.2557 แต่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของอัยการจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 31 คน ต่อศาลอาญาเพื่อดำเนินคดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้อัยการยื่นฟ้องผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. 4 รายต่อศาลอาญาไปแล้ว แต่กลับยังไม่มีดำเนินการฟ้อง
      นายวิญญัติ กล่าวว่า แม้จะปรากฏว่าผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอและอัยการ แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นพฤติการณ์ของผู้ต้องหานั้นเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหลายข้อหาอย่างชัดแจ้ง อัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาและยื่นฟ้องแกนนำกปปส.ต่อศาลอาญา 4 รายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ทำให้การส่งตัวผู้ต้องหาที่เหลือฟ้องต่อศาลต้องยืดเยื้อยาวนาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการสั่งฟ้องดำเนินคดี ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ให้มีความเคลือบแคลงสงสัย ตนในฐานะผู้กล่าวหาจึงขอทราบความคืบหน้าทางคดี รวมทั้งเร่งรัดการสั่งฟ้องคดีและขอให้อัยการให้ข้อมูลชี้แจงต่อประชาชนทั่วไปรับทราบด้วย
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนคดีของนาย สุเทพ เลขาธิการกปปส. และแกนนำกปปส.ที่เหลือนั้น เดิมอัยการมีกำหนดนัดให้รายงานตัวในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
      นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้แทนอสส.รับหนังสือ กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาขอให้อสส.เร่งรัดการสั่งคดีกับแกนนำกปปส. ที่เหลือ ตนจะนำหนังสือดังกล่าวเสนอให้นายตระกูลรับทราบและพิจารณาต่อไป แม้ว่านายตระกูลจะเกษียณราชการในตำแหน่งวันที่ 30 ก.ย.นี้ แต่ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์ บริภาร อสส. ที่จะเข้ารับตำแหน่งต่อจะได้พิจารณาต่อไป

ยันสำนวน'ข้าว'ไม่บกพร่อง
      นายโกศลวัฒน์กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นฟ้องอสส. อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และรองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีและมีความเห็นสั่งฟ้องน.ส. ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการจำนำข้าว ต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200 ประกอบมาตรา 83 และ 91 ว่าได้รายงานเรื่องให้อสส.ทราบ แล้ว อสส.ให้ขั้นตอนทางคดีเป็นไปตามกระบวนการของศาลก่อน โดยศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ และยังไม่ได้มีการส่งสำเนาฟ้องให้จำเลยแต่อย่างใด ขณะนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากยังไม่เห็นคำฟ้องฉบับเต็ม ต้องรอเห็นคำฟ้องตัวจริงเพื่อพิจารณาก่อน และอาจนัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป
     นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าอัยการให้ความเป็นธรรมและเป็นกลางต่อกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าคดีใด รูปแบบการทำงานของอัยการนั้น อสส.ต้องเป็นผู้ลงนามเซ็นรับรองในสำนวนคดีนั้นๆ ก่อนส่งฟ้องศาล ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาที่ละเอียดรอบคอบ มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน หากไม่มั่นใจหรือเห็นว่าสำนวนยังบกพร่อง จะไม่มีทางเซ็นชื่อรับรองอย่างแน่นอน โดยวิธีดังกล่าวถือเป็นระเบียบของอัยการที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน ทุกอย่างต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ที่ผ่านมาจะพบว่าไม่ว่าอสส.จะพิจารณาคดีช้าหรือเร็ว หรือออกมาในรูปแบบใด จะถูกฝ่ายที่เสียหายตำหนิ

อสส.โพสต์ทำตามหน้าที่
       นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. โพสต์ เฟซบุ๊ก รูปภาพและข้อความข่าวที่น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางมาฟ้องคดีที่ศาลอาญา พร้อมระบุว่า "คุณพ่อสอนผมไว้ว่ารับราชการต้องอดทนอดกลั้น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อแทนคุณแผ่นดิน คดีจำนำข้าว ผมต้องทำตามหน้าที่ครับ"
      นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนัก งานคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์กรณีถูกน.ส. ยิ่งลักษณ์ฟ้องว่า ต้องว่าตามกระบวนการ ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องที่อัยการขอเบิกพยานเอกสารที่เข้ามาอยู่ในสำนวนคดีทุจริตจำนำข้าวกว่า 60,000 แผ่น เพราะเห็นว่าสำนวนคดีทุจริตขายข้าว(จีทูจี) มีความเชื่อมโยงกับคดีจำนำข้าวด้วย จึงต้องมีพยานหลักฐานเข้ามาเพิ่มเติม
      นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 (กองแก้ต่าง) กล่าวว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลที่ต้องตรวจคำฟ้องและพิจารณาก่อนว่าเข้าเงื่อนไขฟ้องได้หรือไม่ จะใช้เวลาในส่วนนี้ 7 วัน โดยขั้นตอนถ้าศาลพิจารณาแล้วฟ้องได้ทางศาลจะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องมาให้อสส.และผู้ถูกฟ้อง ทุกคน จากนั้นผู้ถูกฟ้องจะส่งเรื่องมาให้กองคดี แก้ต่างสำนักงานคดีอาญา 1 และ 2 ตามพ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ มาตรา 14(4) เพราะถูกฟ้องในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยกองคดีแก้ต่างจะตรวจสอบว่าข้าราชการที่ถูกฟ้องปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าปฏิบัติ ถูกต้อง ทางกองคดีแก้ต่างก็จะรับว่าความให้ แต่กรณีถ้าศาลไม่รับฟ้อง คิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์คงจะยื่นอุทธรณ์ไปตามระบบ

'จตุพร'ฮึ่ม-หยุดย่ำยี
       นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลผ่านยูทูปว่า นายกฯพูดเรื่องสันติภาพ อยู่ดีกินดีที่สหประชาชาติ แต่ในประเทศกลับหาแพะไปวันๆ ทำไมไม่คิดว่าเมื่อประชาชนให้โอกาสแล้วก็ควรบริหารประเทศไป แต่กลับหาเรื่องคนอื่นข้างทางตลอด ทำไมไม่อยู่กันดีๆ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำไป จะลดความเหลื่อมล้ำก็ทำไป หรือทำอะไรไม่ได้ ก็เอาของตาย ดีกว่า ฝากคำพูดถึงพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ว่าถ้าประชาชนยึดมั่นเวลาในการคืน ประชาธิปไตยก็คงเกิดเรื่องแล้ว แต่ประชาชนยอมขมขื่นเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นได้ หรือ ลืมไปว่านิสัยคนไทยจะเหลืออดกับสิ่งที่มากเกินไป
       "พวกท่านตอนนี้อยู่ด้วยความระวังหรือระแวง พวกรอบข้างต้องการสร้างจินตนาการให้เกิดขึ้นเพื่อให้มาลงมือกับพวกผม ถ้ามีสติอยู่บ้างควรตั้งหลักทำหน้าที่และอย่าให้องคาพยพไปรุกรานคนอื่น ขณะนี้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ผมบอกหลายครั้งแล้วว่ามีเรื่องกันไม่ยาก รบกันไม่ยาก ที่อดทนกันเพราะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง พวกผมประกาศชัดไม่แย่งชิงอำนาจแต่ไม่ต้องการให้ใครมาย่ำยีกัน พูดทั้งหมดขอให้ตรงไปตรงมา อย่าให้พวกผมคิดว่านั่งพับเพียบก็แล้ว นิ่งก็แล้ว ถ้ายังไม่หยุดท่านจะได้ในสิ่งที่ต้องการ" ประธานนปช.กล่าว

บิ๊กตู่ไม่อยู่ถกครม.หงอย
       เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมยูเอ็น
       บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายคนลาประชุมเนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ อาทิ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย และรัฐมนตรีอีกหลายคนลาประชุมเพื่อเข้าพิธีส่งมอบตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุราชการคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรองผบ.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และรองผบ.สส. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการและหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ ผู้บังคับบัญชา กองทัพบก

รอบิ๊กตู่เคาะกรธ.-สปท.
       พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ว่าขณะนี้มีบุคคลจะเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมาก แต่ต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาพิจารณาตามสัดส่วนอาชีพหรือเรื่องอื่นๆ เพื่อให้สมบูรณ์มากที่สุด ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 21 คน รายชื่อมีจำนวนมากต้องรอให้นายกฯกลับมาก่อน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯชี้แจงหมดแล้ว แต่ตนไม่กล้าฟันธงในเรื่องตัวบุคคล เมื่อถามว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช. รับจะนั่งประธานกรธ.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่ารอฟัง เมื่อนายกฯลงนามทุกอย่างก็จบ
      เมื่อถามว่า ขณะนี้มีรายชื่อประธานสปท.อยู่กี่คน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่รู้ สปท. 200 คน ใครจะเป็นประธานก็ให้เลือกกันเอง เดี๋ยวค่อยว่ากัน มีคนมาสมัครเยอะเพราะต้องการทำงานเพื่อบ้านเมือง แต่บางคนก็อยากเล่นการเมืองจึงมาไม่ได้
     เวลา 12.30 น. พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุมครม.ว่า ที่ประชุมไม่มีการหารือถึงการแต่งตั้งกรธ. เพราะต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาก่อน เมื่อถามว่าหลัง นายกฯกลับมาจะมีการหารือร่วมระหว่างครม.และคสช.ในเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า "เขาคุยกันหมดแล้ว วันนี้ประเทศ ไทยไม่มีอะไรแล้ว สงบเรียบร้อย เรื่องราวน้อย ทุกอย่างคลี่คลายไปหมดแล้ว เรื่องระเบิดแยกราชประสงค์เจ้าหน้าที่ก็จับกุมตัวได้หมด วันนี้ทุกอย่างเบาลง ปล่อยให้เป็นหน้าที่และขั้นตอนที่เขาจะว่ากัน"

'สมเจตน์'ร่างรธน.แก้ปัญหาชาติ
      พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.จะส่งรายชื่อสนช.ที่แสดงความจำนงเป็นกรรมา ธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้รับการ คัดเลือก ให้นายกฯ คัดเลือกเป็นกรธ.ว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามใดๆ จากประธานสนช. จึงบอกไม่ได้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ตนไม่ได้เล่นตัวหรือวิ่งเต้นเพื่ออยากจะเป็น หากได้ รับการทาบทามก็ต้องพูดคุยก่อนตัดสินใจ หากต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติก็พร้อม เสียสละ


จี้คดีกปปส. - นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด กรณีความคืบหน้าการพิจารณาคดีผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งและข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ยังไม่มีส่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

      พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ตนมีจุดยืนหากจะให้เป็นกรธ.ต้องร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาของชาติ ไม่ใช่ร่างเพื่อเอาใจใคร เพราะในอดีตเคยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ แต่ยังมีปัญหาและเกิดทางตันแก้ปัญหาชาติ ไม่ได้จนต้องให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหา ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องมีกระบวนการแก้ปัญหา ต้องผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกๆ ให้ได้ ถ้าแนวคิดการแก้ปัญหาชาติตรงกันตนก็รับเป็นกรธ. ถ้าไม่ตรงกันก็ไม่ขอรับ ด้วยเวลาที่จำกัดควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ปรับปรุงมาจากปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบมาปรับปรุง

บิ๊กตู่ นัดถกคสช.เคาะชื่อทันที
     รายงานข่าวเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการคัดเลือกกรธ. 21 คน และสปท. 200 คน หลังพล.อ.ประยุทธ์กลับถึงจะเรียกประชุมเพื่อหารือทันที ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีพล.อ. ประวิตร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รวมทั้งสมาชิกคสช.คนสำคัญบางส่วน
      พล.อ.ประยุทธ์มีรายชื่อบุคคลที่อยู่ในใจทั้งหมดแล้ว แต่จะส่งรายชื่อให้พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือกกรธ.และสปท. หากที่ประชุมคนหนึ่งคนใดคัดค้านชื่อใดก็จะตัดชื่อนั้นทิ้งทันที เพราะที่ผ่านมาได้บทเรียนจากการเสนอชื่ออดีตสปช. ที่มาในสัดส่วนของจังหวัดต่างๆ และกลุ่มการเมือง ที่บางคนทำงานไม่ได้และมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนดีพอ ทำให้สปช. ล้มเหลว โดยเฉพาะเมื่อไปทำหน้าที่เป็น กรรมาธิการต่างๆ ก็พร้อมหักหลังคสช. อีกทั้งที่ผ่านมาเอกสารที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) เคยรวบรวมเรื่องการปฏิรูปและปัญหาด้านต่างๆ ไว้ก็ไม่เคยไปศึกษาให้ถี่ถ้วน ดังนั้น การเลือกกรธ.และสปท.ต้องมีคุณภาพจริงๆ สามารถทำงานได้ เพราะขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่นาน

เปิดชื่อทหารติดโผสปท.
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของสัดส่วนทหารที่ถูกทาบทามเข้ามาเป็นสปท. คาดว่าจะมีนายทหารที่ยังอยู่ในราชการหลายนายที่ได้มีการขยับตำแหน่งในช่วงต.ค.นี้ รวมถึงนายทหารที่เกษียณอายุราชการ อาทิ พล.อ.นพดล ฟักอังกูร เจ้ากรมเสมียนตรา พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.ท.ปรีชาญ จามเจริญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญ และหัวหน้าศาลทหารสูงสุด พล.อ.วิเชียร ศิริสุนทร ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2
       พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.วิวรรธน์ สุชาติ รองเสนาธิการทหารบก พล.ท.เสริมศักดิ์ นิยะโมสถ รองเสนา ธิการทหารบก พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล รองแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ทวิเดช อังศุสิงห์ หัวหน้า คณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ ผู้บังคับบัญชา และพล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ผบ. ควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ

เลขาฯสมช.-ผอ.ข่าวกรอง
     สำหรับ อดีตสปช.ที่คาดว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็นสปท. อาทิ พล.อ.พลพล มณีรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.นคร สุขประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และนายทหารคนสนิท พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมว.กลาโหม
     นอกจากนี้ ยังมีน.ส.สารี อ๋องสมหวัง อดีตสปช. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และนายเชิดศักดิ์ สันติ วรวุฒิ ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ

'มีชัย'ตอบรับนั่งประธาน
      ส่วนรายชื่อกรธ. เป็นที่แน่นอนแล้วว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช. จะเป็นประธานกรธ. ส่วนรายชื่อกรธ.คาดว่ามีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตสปช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส อดีตสปช. พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญ พานิช สมาชิกสนช. พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิกสปช. และพล.ท.นิวัติ ศรีเพ็ญ สมาชิก สปช.เป็นต้น

ครม.อนุมัติยุทธศาสตร์ข่าวกรอง
      รายงานข่าวจากทำเนียบแจ้งว่า ครม.มีมติรับทราบแผนแม่บทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ. 2558-2563 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ กำหนดกรอบ 5 ยุทธศาสตร์ 1.การผลิตสนับสนุนภารกิจกองทัพ 2.การพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร 3.การสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาห กรรมป้องกันประเทศ 4.การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ 5.การสร้างและพัฒนากิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เติบโตและแข่งขันได้
      ครม.ยังรับทราบยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติพ.ศ. 2558-2564 ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เสนอ สาระสำคัญเป็นการประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคง 1.สถานการณ์โลกในภาพรวมมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากระบบขั้วอำนาจเดียวเข้าสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ส่วนปัญหาการก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามโลก และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มขึ้น 2.สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จะเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับสมาชิกอาเซียนในด้านเศรษฐกิจและการค้า แต่ยังอาจประสบปัญหาด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนมากขึ้น และ 3.สถานการณ์ภายในประเทศยังคงมีความรุนแรงและมีแนวโน้มขยายตัวในประเด็นที่สำคัญ คือการละเมิดสถาบัน ความแตกแยกของคนในชาติ ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยคุมคามข้ามชาติ ภัยคุกคามใหม่ และความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
       ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า ครม.จะยังไม่มีการพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ข่าวกรองฯ โดยจะหารืออีกครั้งภายหลังพล.อ.ประยุทธ์กลับจากต่างประเทศ

1.2 พันล.ปัดฝุ่นวงจรปิดผ่านแดน
      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าครม.มติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระบบ CCTV และเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมเพื่อ การควบคุมทางศุลกากร รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วงเงินลงทุนไม่เกิน 1,199,279,540 บาท และอนุมัติค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการเมื่อครบระยะเวลาการรับประกันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป
      สาระสำคัญของโครงการ ตามโครงการเดิมที่ใช้งานมา 5 ปี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่าที่ยังเป็นระบบอนาล็อก โดยพัฒนาเป็นระบบดิจิตอลฟูลเอชดี(Digital Full HD) ปรับเปลี่ยนจุดติดตั้งกล้องเดิมให้เหมาะสม เพิ่มเติมกล้องให้ครอบคลุมการปรับปรุงขยายจุดผ่านแดนจุดเดิมและจุดผ่านแดนที่เปิดใหม่ ปรับปรุงศูนย์เทคโนโลยีการควบคุมทางศุลกากรซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลและการควบคุมให้รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งพัฒนาระบบงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

เล็งตั้ง"บิ๊กหมู"เลขาฯคสช.
      รายงานข่าวจากคสช.แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมลงนามในคำสั่งคสช. ปรับเปลี่ยน ผู้ดำรงตำแหน่งในคสช. และแต่งตั้งผู้ดำรงใหม่เพิ่มเติม หลังจากมีการรับมอบตำแหน่งปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทร. และผบ.ทบ.คนใหม่ไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยจะปรับเปลี่ยนให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม จากเลขาธิการคสช. เป็นสมาชิก คสช. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผบ.สส. และพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. เป็นสมาชิก คสช. และแต่งตั้งพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการคสช.
      รายงานแจ้งว่า นอกจากนี้จะตั้งพล.อ.ธีรชัย เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส) อีกหนึ่งตำแหน่ง จากเดิมเป็นหน้าที่ของแม่ทัพภาคที่ 1 เนื่องจากคสช.เห็นว่าหลังจากเข้ามาบริหารงานตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 จนมีรัฐบาลบริหารประเทศ ส่วนงานต่างๆ ได้ขึ้นกับรัฐบาลแล้ว คสช.มีภาระหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ในภาพรวม จึงต้องดึงงานหลักของกกล.รส. มาขึ้นตรงกับคสช.เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ขณะที่กองทัพภาคที่ 1 ในฐานะกกล.รส.ภาค 1 จะมีการส่งมอบหน้าที่ให้พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ในวันที่ 1 ต.ค. จะมีคำสั่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกกล.รส.ภาค 1 ให้ดูแลงานด้านการปรับทัศนคติและประสานกับแกนนำกลุ่มการเมืองเหมือนเดิม

ฝึกงานรองโฆษกรบ.คนใหม่
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้สรรหาบุคคลทำหน้าที่ในตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกฯเพิ่มอีก 1 ตำแหน่งนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้ทาบทามน.ส.วรินทร โพนน้อย อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ประสานมิตร) มาศึกษางานในคณะทำงานโฆษกประจำสำนักนายกฯแล้ว โดยได้ขออนุญาตพล.อ. ประวิตร ให้น.ส.วรินทรเข้าไปดูบรรยากาศในห้องประชุมครม.และการแถลงข่าวหลังประชุมครม.ในวันนี้ด้วย
       พล.ต.สรรเสริญเผยว่า คุณสมบัติของน.ส.วรินทร เป็นไปตามความต้องการของ นายกฯ ที่ต้องการผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมงาน เบื้องต้นไม่ต้องการให้มีการกดดัน จึงให้น.ส.วรินทรทำหน้าที่ในฐานะคณะทำงานทีมโฆษกฯไปก่อน เพื่อศึกษางานสักระยะ และเมื่อพร้อมก็จะเสนอนายกฯ พิจารณาแต่งตั้งต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯ ขณะเดียวกันน.ส.วรินทรขอเวลาเคลียร์งานที่ต้นสังกัดก่อน เหตุผลที่เลือกเพราะมีความสามารถเรียงลำดับเรื่องราวและใจความสำคัญ เก็บข้อมูล มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างดี ทั้งยังยินดีสนับสนุนงานของรัฐบาลตามกำลังที่มีอยู่
       ด้านน.ส.วรินทรกล่าวว่า ส่วนตัวมีความชำนาญด้านสังคมและการศึกษา การถูกเชิญเข้ามาน่าจะเป็นการอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย

สรุปแพ่งจำนำข้าวถึงมือวิษณุ
      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการสรุปตัวเลขเรียกค่า เสียหายทางแพ่งโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ สรุปตัวเลขความเสียหายและชี้แจงให้ตนทราบแล้ว การตรวจสอบจะพิจารณา 3 เรื่องคือ มีความผิดจริงหรือไม่ โดยดูหลักฐานจากป.ป.ช.เป็นหลัก ใครต้องรับผิด และมูลค่าความเสียหายเป็นเงินเท่าไร ซึ่งได้คำตอบหมดแล้ว จากนี้คณะกรรมการทั้ง 2 คณะจะทำรายงานเพื่อเสนอต้นสังกัด คือกระทรวงการคลังที่สอบข้อเท็จจริงกรณีการเรียกค่าเสียหายน.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อเสนอรมว.คลัง ส่วนอีกชุดที่ตรวจสอบกรณีการค้าข้าวแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ สมัยเป็นรมว.พาณิชย์ กับพวกอีก 5 คนจะเสนอรมว.พาณิชย์
      "ขั้นตอนจากนี้ เมื่อรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง รับทราบข้อมูลจะพิจารณารายละเอียดพื่อเสนอต่อนายกฯ รับทราบและพิจารณาร่วมกัน หากเห็นควรสอบเพิ่มก็จะส่งกลับให้คณะกรรมการไปสอบเพิ่ม แต่ถ้าเห็นว่าข้อมูลเพียงพอแล้วนายกฯจะลงนามส่งให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน และมีผู้แทนสำนัก งานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ โดยไม่ได้กำหนดเวลาพิจารณา หากคณะกรรมการชุดนี้เห็นด้วยกับทั้ง 2 ชุดจะส่งเรื่องกลับมายัง นายกฯ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ เพื่อออกคำสั่งที่เรียกว่าคำสั่งทางปกครองเรียกให้รับผิดทางแพ่ง เมื่อสั่งแล้วถือว่ากระบวนการในทางบริหารจบแล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องอายุความอย่างที่กังวล" นายวิษณุกล่าว

"เอกชน-ปชช."ฟ้องศาลแพ่ง
      รองนายกฯกล่าวว่า คำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ซึ่งคำสั่งการย้ายบุคคลก็เป็นคำสั่งทางปกครอง จึงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น บางวันนายกฯออกคำสั่งทางปกครองเป็นร้อยฉบับแต่ไม่มีมูลให้ฟ้อง เรื่องนี้ไม่มีมาตรา 44 มาเกี่ยวข้อง เมื่อนายกฯมีคำสั่งทางปกครองไปแล้วผู้ถูกกล่าวหาต้องนำเงินมาจ่าย หรือจะทำข้อตกลงผ่อนชำระ แต่หากไม่ยอมรับคำสั่งก็ให้ฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อาจอ้างเหตุผลว่าไม่มีความผิดและไม่ควรจะรับผิดแม้แต่บาทเดียว แต่หากจะรับผิดอาจเถียงได้ว่าจำนวนเงินไม่ถึงขนาดที่ฟ้อง ซึ่งคดีจะเดินตามกระบวนการ โดยคำสั่งทางปกครองมีระยะเวลาดำเนินการกับอดีตข้าราชการคือ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิด คือปี 2560
     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเอกชน ราษฎร หรือเซอร์เวย์เยอร์ที่เกี่ยวข้องมี 15 ราย จะฟ้องต่อศาลแพ่งเพียงอย่างเดียว โดยมีระยะเวลา 1 ปี คือ 2559 โดยต้องรอข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจนก่อน เพราะคนเหล่านี้กระทำความผิดในขณะหรือหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด จึงต้องมีความผิดประธานก่อนว่าใครจะรับผิดเท่าไร แล้วนำตัวเลขเหล่านี้เป็นฐานเพื่อส่งให้พนักงานอัยการไปฟ้องร้องบุคคลเหล่านี้ต่อไป ส่วนตัวเลขที่จะฟ้องร้องยังบอกไม่ได้ ต้องแน่ใจว่าข้อมูลที่คณะกรรมการตรวจสอบไปถึงมือรัฐมนตรีทั้ง 2 และนายกฯก่อน เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เพิ่มหรือลดจำนวนก็ได้ เบื้องต้นนี้สรุปได้ว่ามีการเรียกค่าเสียหาย ตัวเลขไม่ใช่ความลับแต่ยังไม่ควรพูด อย่าไปคาดเดาเลย
      เมื่อถามว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ยินยอมจ่ายค่าเสียหายถือว่ากระบวนการจบสิ้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อจ่ายเงินถือว่าความรับผิดทางแพ่งก็จบ ขณะที่คดีอื่นก็ว่ากันต่อไป เพราะเป็นคนละคดีกัน หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีจ่ายก็คงมีวิธีดำเนินการ จึงต้องใช้การบังคับทางแพ่งซึ่งจำนวนตัวเลขไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเพราะไม่ต้องหาร ไม่ต้องแบ่ง มีจำเลยกี่คนก็ฟ้องไปเท่านั้น

เยียวยากปปส.เริ่มจ่าย 1 ต.ค.
     นายวิษณุ กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรม การเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งครม.มีมติอนุมัติให้จ่าย เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ปี 2556-2557 เป็นเงิน 120 ล้านบาทว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งอนุกรรมการรับคำร้องเอกสารเพื่อตรวจสอบแล้วอนุมัติจ่ายเงิน โดยมีกฎเกณฑ์ให้จ่ายเงินภายในสิ้นปี 2558 เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่หากยื่นเรื่องในเดือนธ.ค.แล้วจ่ายให้ไม่ทัน ผู้ที่ได้รับผล กระทบสามารถยื่นเรียกร้องในเดือนม.ค.-ก.พ.2559 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลาพิจารณาตามขั้นตอน เนื่องจากไม่มีเอกสารยืนยันว่าได้รับบาดเจ็บเพราะไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
     นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ ผู้เสียชีวิตที่ได้รับเงินเยียวยา 4 แสนบาท ต้องชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของป.ป.ช. ห้ามเลือกปฏิบัติ วงเงินที่จ่ายต้องชัดเจนว่าจ่ายให้รายใดและมีค่าอะไรบ้าง

ยูเอ็นพบ"พิชัย"หลังคสช.กักตัว
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชา ชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้าพบนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ที่สถานีวอยซ์ทีวี เพื่อพูดคุยและสอบถามภายหลังนายพิชัยถูกคสช.เรียกปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วันก่อนหน้านี้ ส่วนเนื้อหาการพูดคุยนั้น นายพิชัยและเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนฯ ไม่สามารถเปิดเผยได้

ศาลลดโทษคุกแดงเผาศาลากลาง
      เวลา 11.00 น. ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาคดีเผาศาลากลางในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 คดีนี้โจทก์ฟ้องชาวบ้าน 29 คน ศาลชั้นต้นยกฟ้องไป 16 คน และพิพากษาจำคุกจำเลย 13 คน คนละ 20 ปี ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยเสียชีวิต 1 คน และไม่มาฟังคำพิพากษา 9 คน เหลือจำเลยมาฟังคำพิพากษา 3 คนประกอบด้วย 1.นายวิชัย อุสุพันธ์ 2.นายสมัคร ลุนรีลา 3.นายนัฐวุฒิ พิกุลศรี
     ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยทั้ง 12 คน โดยเห็นว่าในทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา พิพากษาจำคุกลด 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 15 ปี โดยบรรยากาศการฟังคำพิพากษาเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่หรือนอกพื้นที่มาให้กำลังใจ มีเพียงญาติของ 3 ผู้ต้องหามารับฟังคำตัดสินเท่านั้น
      นายวิเศษ อุสุพันธ์ บิดาของนายวิชัย อุสุพันธ์ ผู้ต้องหา เผยว่าส่วนตัวอยากให้ลูกยอมรับคำตัดสินเพื่อคดีจะได้สิ้นสุด คาดว่าจะเหลือโทษจำคุกรวมการอภัยโทษอีกไม่กี่ปีก็ออกมาได้ แต่ทนายที่มาจากส่วนกลางได้คุยกับลูกชายว่าจะประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 และจะยื่นฎีกากับศาลต่อไป ซึ่งแล้วแต่การตัดสินใจของลูกต้องให้พวกเขาตัดสินใจกันเอง

สวนยาง 16 จว.ใต้ร้องบิ๊กตู่
     ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยนายกรีรัตน์ ทองใส กรรมการผู้ก่อตั้งแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน สำนักงานปลัดฯ ให้ตรวจสอบกรณีมีคณะบุคคลแอบอ้างคำสั่งนายกฯ จัดตั้งสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มีนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ เป็นประธาน โดยสมัชชาได้ของบประมาณจากการยางแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาขับเคลื่อนพ.ร.บ.การยางฯ ไปสู่การปฏิบัติของ ผู้แทนสมัชชาทั้ง 4 ภาค
      นายสุนทร กล่าวว่า สมัชชาได้แฝงการเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางอ้อม จนเกิดเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม อีกทั้งยังมีบุคคลที่คิดหาประโยชน์จากการยางฯ เพื่อให้ตนได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตนจึงประกาศถอนตัว ด้วยเหตุผลว่าสมัชชาไม่สามารถเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะยังไม่มีระเบียบการยางฯว่าด้วยการจดทะเบียนกับเกษตรกรชาว สวนยาง และสถาบันเกษตรกร ตามมาตรา 4 ดังนั้นทุกคนยังไม่ใช่เกษตรกร

ยื่น 3 ข้อ-ชดเชยราคายาง
     "ผมและสมาคมขอให้นายกฯตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีการเลือกตั้งกรรม การผู้ทรงคุณวุฒิทางอ้อมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้แอบอ้างบัญชาของนายกฯในทางที่ผิด" นายสุนทรกล่าว และว่าก่อนหน้านั้นได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ อีกทั้งขณะนี้มีการติดป้ายประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราเพื่อแสดงเจตนารมณ์และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ ไปทั่วประเทศ เริ่มจากที่ศาลากลางจ.พัทลุง ศาลากลางจ.สุราษฎร์ธานี และจะติดเพิ่มเติมที่ จ.ระนอง สงขลา รวมถึงรวบรวมรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผล กระทบจากราคายางตกต่ำเพื่อส่งถึงนายกฯ โดยจะให้ตัวแทนเข้าพบนายกฯโดยตรงหลังกลับจากสหรัฐ เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลอนุมัติโครงการชดเชยส่วนต่างราคายางพาราที่ราคากิโลกรัมละ 60 บาท
      2.ให้รัฐบาลอนุมัติโครงการข้าวสารตามที่แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเสนอไป เราจะนำยางพารามาแลกข้าว จึงขอให้รัฐบาลอนุมัติ ให้เป็นข้าวราคาถูก เพื่อนำมาจำหน่ายให้ชาวสวนยาง และ 3.ในโครงการทวงคืนพื้นป่าด้วยการโค่นยางพารา ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางขอเสนอให้นายกฯตั้งกรรมการกลั่นกรองตามคำสั่งคสช.ครั้งที่ 66/2557

ต้องได้เข้าพบนายกฯ
      เมื่อถามว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเหมือนสมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุนทรกล่าวว่าเรานัดพูดคุยตามศาลากลางจังหวัดต่างๆ แล้ว ถือเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์และให้ชาวสวนยางคลายความอึดอัด แต่วันนี้มีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและการใช้มาตรา 44 เราจึงต้องทำตามขั้นตอน หากนายกฯไม่ให้เข้าพบและไม่ใส่ใจข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ตนไม่สามารถรับรองได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ จ.ชุมพร แจ้งกับตนว่านายกฯโทรศัพท์โดยตรงมาจากสหรัฐ ผ่านอธิบดีกรมปกครองว่า นายกฯรับทราบความเดือดร้อนของชาว สวนยางผ่านทางแนวร่วมกู้ชีพฯ และยืนยัน ว่าหลังจากกลับจากสหรัฐจะดำเนินการให้
      ด้านนายกรีรัตน์กล่าวถึงการประกาศเขตภัยพิบัติของชาวสวนยางว่า ในภาวะที่เกิดภัยพิบัติซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ เราในฐานะภาคประชาสังคมขอเป็นกระบอกเสียงให้ชาวสวนยาง และส่งเสียงต่อผู้มีอำนาจว่าขณะนี้เกิดวิกฤตสูงสุดที่ทุกฝ่ายต้องหันมาเยียวยาและดูแลเรื่องดังกล่าว ขอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เราจะร่วมมือกับคสช. แต่ต้องการแสดงออกให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหานี้ด้วย ขอย้ำว่าข้าวสารเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพของชาวสวนยาง

 

บิ๊กตู่บินกลับไทย-2 ตค.ถก เลือกกรธ. 21 อรหันต์ต้องไร้คนค้าน โผสะพัด'นายพล'พรึบ 'จิระ-เอกชัย-กฤษฎา'นายกฯอ้อน'ผู้นำโลก' ให้ช่วยหนุนปชต.ไทย ตัวแทนยูเอ็นพบพิชัย

      'บิ๊กตู่'กล่าวถ้อยแถลงเวที'ยูเอ็น' ลั่นถ้าเลือกตั้งก่อน 20 ด.ได้ก็จะทำ เรียกถกตั้ง กรธ.-สปท.ทันที เผยชื่อว่าที่ กรธ.สะพัด

เวทีใหญ่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปบนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 หัวข้อ "70 ปี สหประชาชาติ-เส้นทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน" ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 กันยายน

มติชนออนไลน์ :

@ 'บิ๊กตู่'กล่าวถ้อยแถลงเวที'ยูเอ็น'

        เมื่อวันที่ 29 กันยายน เวลาประมาณ 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลาประมาณ 05.30 น. ของวันที่ 30 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 (ยูเอ็นจีเอ 70) ในหัวข้อ เดอะ ยูไนเต็ด เนชั่นส์ แอท เซเว่นตี้-เดอะ โรด อะเฮด ทู พีซ, ซีเคียวริตี้ แอนด์ ฮิวแมน ไรท์ส (The United Nations at 70 - the road ahead to peace, security and human rights) เกี่ยวกับปัญหาซับซ้อนในปัจจุบัน ไทยได้นำแนวคิด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ปัญหาแต่ละประเทศมีความเฉพาะตัวจึงต้องเน้นการมองและแก้ไขปัญหาด้วยความยืดหยุ่นว่า ขอบคุณมิตรประเทศที่ร่วมแสดงความเสียใจและส่งกำลังใจให้กับประชาชนไทย หลังเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ประเทศไทยขอประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คนไทยไม่สามารถยอมรับการก่อเหตุรุนแรงเยี่ยงนี้ได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือที่ใดๆ ในโลก 

       "ประเทศไทยจะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างถึงที่สุดเพื่อยุติความรุนแรง และเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ มิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เผชิญร่วมกันเช่นนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสุขของประชาชนของโลกและชนรุ่นหลังตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ" นายกฯกล่าว 

@ ยันไทยคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สหประชาชาติยังประสบความสำเร็จในการสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรก ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) เมื่อปี ค.ศ.1948 เป็นเอกสารประวัติศาสตร์วางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก และยังได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระหว่างปี ค.ศ.2010-2013 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ.2010-2011 ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศมีความเห็นแตกต่าง เน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนสร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับด้านการพัฒนา สหประชาชาติประสบความสำเร็จในการผลักดันความเจริญรุ่งเรืองสู่รัฐสมาชิก ในโอกาสพิเศษที่ผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้มารวมตัวกันเพื่อให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปีนี้นั้น ประเทศไทยยังมีบทบาทนำในฐานะ 1 ใน 30 ประเทศสมาชิกของคณะทำงานเปิดของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้รับรองไปเมื่อวานนี้ โดยผลักดันประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของโลก อาทิ การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรมและการส่งเสริม ธรรมาภิบาล การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นต้น

@ ชูปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง

       "ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ทำให้ไทยสามารถยกระดับตนเองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ ขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษนั้น เป็นผลมาจากการได้รับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ และนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาบทบาทสู่การเป็นประเทศ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ในเวทีโลกรวมทั้งสหประชาชาติ รากฐานสำคัญคือรัฐบาลและทุกภาคส่วนของไทยยึดแนวทางการพัฒนาตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ นักพัฒนาได้ทรงริเริ่มดำเนินการ นำร่องไว้มากว่า 40 ปีแล้ว" นายกฯกล่าว 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจะก้าวหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา โดยจะก้าวผ่านจากกรอบเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ไปสู่กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทุกประเทศมีความรับผิดชอบร่วมกันทำให้ก้าวแรกสู่จุดหมายเริ่มต้นไปอย่างมุ่งมั่นและชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนไม่ควรถูกกำหนดไว้เพียงในกรอบของการพัฒนาเท่านั้น แต่ควรมีอยู่ในทุกๆ เสาหลักของสหประชาชาติ เนื่องจากสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นเเฟ้น ไทยให้ความสำคัญกับเสาหลักทั้งสามของสหประชาชาติ และได้ร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจากธรรมชาติและความขัดแย้ง และยังมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือและแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไปในเวทีโลก 

@ ลั่นถ้าเลือกตั้งก่อน 20 ด.ได้ก็จะทำ

       พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ ออฟ อเมริกา ภาษาไทย (voathai) ถึงการประชุมและสถานการณ์ในประเทศ ว่า ยืนยันว่าวันนี้ใช้อำนาจที่มีอยู่น้อยที่สุด ดังนั้น ที่มีการกล่าวอ้างโดยอาจอ้างต่างประเทศด้วย ว่ามีการปิดกั้นเสรีภาพ ไม่เคยปิดกั้นเลย เพราะถ้าปิดกั้น ทุกอย่างจะไม่เป็นแบบนี้ จะไม่มีใครพูดแบบนี้ ทั้งหนังสือพิมพ์ และการแถลง แต่ห้ามเฉพาะการชักชวน ให้คนออกมาเดินประท้วง เนื่องจากไม่ใช่เวลา และมีกฎหมายระบุชัดว่าห้ามชุมนุม สร้างความขัดแย้ง สร้างความวุ่นวาย 

       "รัฐบาลได้วางโรดแมปไว้แล้วว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีการรับหลักการในเบื้องต้น และขึ้นอยู่กับว่าจะรับหรือไม่รับ หากไม่รับจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา คือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีก เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าหากไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องร่างใหม่ใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ และต่อด้วยกฎหมายลูก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยใช้สูตร 6-4 6-4 รวมเป็น 20 เดือน ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการยืดเวลาออกไป เพราะมีเวลาเพิ่มมาเพียง 6 เดือนเท่านั้น หากสามารถทำได้เร็วกว่า 20 เดือนก็จะทำ" นายกฯกล่าว 

@ ฝากมิตรประเทศช่วยสนับสนุน

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้ดูประเด็นว่าประเทศไทยสงบหรือไม่ หากสมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้แล้วเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วใครจะเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทยจำเป็นหรือไม่จะต้องมีอะไรแตกต่าง ในห้วงระยะหนึ่ง จะมีอะไรเป็นมาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นเดิม คิดว่าในโลกนี้ไม่มี ที่เกิดบ้านเรานั้นเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเมื่อเขาเลือกตั้งเสร็จก็จบ ยอมรับกัน แต่ของเราที่ผ่านมามีปัญหาตรงนี้ แล้วต้องช่วยกันอธิบาย ให้เขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยไทยยังต้องแก้ไขปรับปรุงบางอย่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง การบริหารราชการแผ่นดิน การเข้าสู่การเมืองของนักการเมือง เราอยากเป็นประชาธิปไตยเหมือนคนอื่นเขา ไม่มีความขัดแย้งสามารถนำพาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ตนก็ทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นอย่างนั้น

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกประเทศต่างเคยผ่านปัญหาเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น ในฐานะเป็นคนไทย อยากฝากไปยังมิตรประเทศว่าถึงอย่างไร ประเทศไทยจะยังอยู่บนโลกใบนี้ ในเมื่อเราไปไหนไม่ได้ ท่านก็ต้องช่วยเรา สนับสนุนเรา ให้เราเดินหน้าประเทศ ให้ประเทศเป็นเหมือนอย่างที่ท่านเป็น เหมือนอย่างนานาอารยะประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ที่ผ่านมามิตรประเทศอาจนึกภาพไม่ออกว่าประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการใช้อาวุธมีการปิดล็อกประเทศ ตนจึงเข้ามา แต่หากประเทศของเราดีอยู่แล้วตนก็ไม่เข้ามา

@ อาเซียนช่วยไทยชิงเก้าอี้เอสซี

      วันเดียวกันที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นเป็นประจำทุกปี หลังเสร็จสิ้นการหารือที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องในโอกาสครบ 70 ปีของการก่อตั้งยูเอ็น โดยอาเซียนแสดงความสนับสนุนวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2558 และหวังว่าทั้งสองเรื่องนี้จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน 

     รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังเห็นชอบร่วมกันถึงความสำคัญของการทำงานอย่างใกล้ชิดในกรอบของยูเอ็น พร้อมกับประกาศสนับสนุนไทยลงชิงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น (ยูเอ็นเอสซี) วาระปี 2560-2561 และขอให้ประสานความพยายามดำเนินการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนถาวรของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในนครนิวยอร์กต่อไป

@ อังกฤษพร้อมช่วยไทยปฏิรูป

       นอกจากนี้ นายดอนยังได้หารือทวิภาคีกับนายฮิวโก ชไวร์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า อังกฤษได้แสดงความพร้อมจะเข้ามาช่วยเดินหน้าประเทศไทยและมีส่วนสนับสนุนการปฏิรูปภายในประเทศ เพราะมีหลายด้านที่อังกฤษมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การปราบปรามและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และการเปิดประมูลที่มีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังสนใจจะเสนอโครงการส่งครูสอนภาษาอังกฤษมายังไทย เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ และยังแสดงความเสียใจกับไทยกรณีเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ โดยแสดงความพร้อมที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือใดๆ หากไทยต้องการ

@ 'บิ๊กป้อม'นั่งหัวโต๊ะถกครม.

       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในระหว่างเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนา ภายหลังปี ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บรรยากาศในการประชุมครั้งนี้ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายคน ได้ลาประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ และลาประชุม ครม. เพื่อเข้าพิธีส่งมอบตำแหน่ง เนื่องจากเกษียณอายุราชการ

@ รอ'บิ๊กตู่'กลับมาเคาะกรธ.-สปท.

      พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การประชุม ครม.ไม่มีการพิจารณาปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาจากต่างประเทศก่อน ส่วนการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อตั้งแล้วจะปฏิรูปได้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ด้วย ขณะนี้มีรายชื่อบุคคลจะเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมากแล้ว ต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับจากต่างประเทศก่อน

      เมื่อถามว่า สำหรับ 21 รายชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ครบหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รายชื่อมีจำนวนมาก แต่ต้องรอให้นายกฯเดินทางกลับมาก่อน นายกฯจะเป็นคนพิจารณา เรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงไปหมดแล้ว

       เมื่อถามว่า ตกลงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. รับนั่งประธาน กรธ. หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รอฟังแล้วกัน ไม่รู้ว่าสื่อต้องการรู้ก่อนทำไม เมื่อนายกฯลงนาม ทุกอย่างก็จบ เมื่อถามว่า ขณะนี้มี 3-4 รายชื่อ ประธาน กรธ. ส่วนรายชื่อประธานสปท.นั้นมีอยู่กี่รายชื่อ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่รู้ สปท. 200 คน ใครจะเป็นประธานก็ให้เขาเลือกกันเอง แต่เดี๋ยวค่อยว่ากัน มีคนมาสมัครเยอะ เพราะมีคนต้องการทำงานเพื่อบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก แต่บางคนก็อยากเล่นการเมือง จึงมาไม่ได้" 

@ แจ้ง'บันคีมุน'แล้วเลือกตั้งปี 60

       เมื่อถามว่า ในระหว่างนี้เป็นห่วงเรื่องของความมั่นคงหรือไม่ เพราะขณะนี้อยู่ช่วงเปลี่ยนข้าราชการระดับสูงเกษียณอายุราชการ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน ต่างเข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่ออะไรและจะเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงในเวทีต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เขาก็ให้ความเห็นใจ คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็เข้าใจว่าระยะนี้ คือช่วงของการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลกำลังดำเนินการตามโรดแมปที่ คสช.ได้วางไว้ หากบ้านเมืองสงบเศรษฐกิจเดินได้ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้เช่นกัน นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติแล้วว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในกลางปี 2560 ทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น การประชุม ครม.ไม่มีการหารือเรื่องการแต่งตั้ง กรธ. เพราะต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาก่อน เมื่อถามว่า จะหารืออีกครั้งหลัง พล.อ.ประยุทธ์กลับมาจากสหรัฐหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาคุยกันหมดแล้ว 

@ 'บิ๊กป้อม'กำชับเร่งบังคับกม.

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตรมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยหยิบยกว่ามีกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลายฉบับผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว รองนายกฯห่วง 2 ประเด็น คือ 1.ถ้ากฎหมายมีระยะเวลาทอดออกไป 60 วัน หรือ 180 วัน หน่วยงานต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบว่ากฎหมายจะบังคับใช้ แจ้งให้ทุกกระทรวงติดตามกฎหมายของตัวเองว่ากฎหมายใครกำลังจะบังคับใช้ และ 2.กฎหมายบางฉบับไม่ได้สมบูรณ์แค่กฎหมายแม่ จำเป็นต้องมีกฎหมายลูกประกอบ บางกระทรวงไม่เร่งรัดกฎหมายลูก จึงทำให้การบังคับใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงขอให้ไปดูว่ากฎหมายแม่ออกไปแล้ว แต่ยังไม่ออกกฎหมายลูกก็ให้ดำเนินการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการทำงาน เพื่อป้องกันการฟ้องร้องของประชาชน สามารถฟ้องร้องตามกฎหมายแม่ 

@ เตรียมตั้งงวรินทรงนั่งรองโฆษกฯ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการให้สรรหารองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง ผู้จะทำหน้าที่ดังกล่าว คือ น.ส.วรินทร โพนน้อย อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้พามาศึกษาดูงานภายในทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้ขออนุญาต พล.อ.ประวิตรเข้าไปดูบรรยากาศในห้องประชุม ครม.และการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.ด้วย

       พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คุณสมบัติของ น.ส.วรินทร เป็นไปตามความต้องการของนายกรัฐมนตรี ต้องการผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงาน เบื้องต้นไม่อยากให้กดดัน จึงให้ น.ส.วรินทร ทำหน้าที่ในฐานะคณะทำงานโฆษกไปก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ศึกษาดูงานไปเรื่อยๆ กระทั่งพร้อมแล้วจะเสนอนายกฯแต่งตั้งต่อไป แต่ก็อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาว่าจะแต่งตั้งหรือไม่ น.ส.วรินทรขอเวลาเคลียร์งานต้นสังกัดระยะหนึ่ง เลือก น.ส.วรินทรเพราะมีความสามารถเรียงลำดับเรื่องราวและใจความสำคัญ เก็บข้อมูล มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ดี ยินดีสนับสนุนงานของรัฐบาลตามกำลังที่มีอยู่ 

@ 'บิ๊กตู่'เรียกประชุมคัด'กรธ.-สปท.'

       รายงานข่าวแจ้งว่า การคัดเลือก กรธ. 21 คน และ สปท. 200 คน ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา จะเรียกประชุมในวันที่ 2 กันยายน ทันที โดยมี พล.อ.ประวิตร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิก คสช.บางส่วน ทั้งนี้ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ มีรายชื่อบุคคลในใจทั้งหมดแล้ว แต่จะส่งรายชื่อให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด โดยจะคัดเลือก กรธ.ก่อน สปท. ขั้นตอนการคัดเลือกนั้นหากที่ประชุมคนหนึ่งคนใดคัดค้านชื่อใดก็จะตัดชื่อนั้นทิ้งทันที เพราะที่ผ่านมาได้บทเรียนจากการเสนอชื่ออดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนรายชื่อ กรธ.คาดว่ามีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีต สปช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส อดีต สปช. พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิก สนช. พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิก สปช. และ พล.ท.นิวัติ ศรีเพ็ญ สมาชิก สปช.เป็นต้น

@ คสช.เตรียมเพิ่มสมาชิกใหม่ 

       รายงานข่าวระบุ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมลงนามในคำสั่ง คสช. ปรับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. และแต่งตั้งผู้ดำรงใหม่เพิ่มเติม หลังจากมีการรับมอบตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยจะปรับเปลี่ยนให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสมาชิก คสช. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผบ.สส. และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.เป็นสมาชิก คสช. นอกจากนั้นยังแต่งตั้งให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. 

@ สิทธิมนุษยชนฯเข้าพบ'พิชัย' 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ได้เดินทางเข้าพบนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีซึ่งเป็นที่ทำงานของนายพิชัย เพื่อพูดคุยภายหลังจากที่นายพิชัยโดน คสช.เรียกปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วัน ส่วนเนื้อหาในการพูดคุยนั้นทางนายพิชัยและเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนฯไม่สามารถเปิดเผยได้

@ กนส.จี้อสส.ฟ้องแกนนำกปปส. 

       ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) หนึ่งในผู้กล่าวหา คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ชุมนุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2557 เข้ายื่นหนังสือถึงนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ระบุว่าเพื่อติดตามเร่งรัดการสั่งคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และแกนนำ กปปส.ที่เหลือ โดยอัยการยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนเพื่อส่งตัวฟ้อง ภายหลังจากพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งคดีกับ กปปส. 58 ราย รวม 9 ข้อหา ฐานร่วมกันกบฏและกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้อัยการยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม นายสกลธี ภัททิยกุล นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 66 ปี แกนนำ กปปส. เพียง 4 คน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันกบฏและกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คดีอยู่ระหว่างการตรวจพยานหลักฐาน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับหนังสือดังกล่าว เพื่อเสนอนายตระกูล นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวเสนอให้นายตระกูลรับทราบและพิจารณาต่อไป แม้ว่านายตระกูลจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งวันที่ 30 กันยายนนี้ แต่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม จะได้พิจารณาต่อไป

@ แจงความคืบหน้าให้ปชช.ทราบด้วย

      นายวิญญัติกล่าวว่า เมื่อเห็นว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปสำนวนคดีกล่าวหา กปปส. 58 ราย 9 ข้อหาให้อัยการแล้ว ได้ฟ้องคดีแกนนำ กปปส.เพียง 4 รายเท่านั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยดีเอสไอได้ส่งตัวแกนนำ กปปส. ผู้ต้องหาเพิ่มให้อัยการอีก 31 รายเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2557 แต่กลับยังไม่ดำเนินการฟ้อง แม้จะปรากฏว่าผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอและอัยการ แต่ข้อเท็จจริงเป็นพฤติการณ์ของผู้ต้องหานั้นเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหลายข้อหาอย่างชัดแจ้ง อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาและยื่นฟ้องแกนนำกปปส.ต่อศาลอาญา 4 รายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นทำให้การฟ้องผู้ต้องหาที่เหลือต่อศาลต้องยืดเยื้อยาวนาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการสั่งฟ้องดำเนินคดี ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ตนในฐานะผู้กล่าวหาจึงขอทราบความคืบหน้าทางคดี รวมทั้งเร่งรัดการสั่งฟ้องคดี และขอให้อัยการให้ข้อมูลชี้แจงต่อประชาชนทั่วไปรับทราบด้วย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนคดีของนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. และแกนนำที่เหลือนั้น เดิมอัยการมีกำหนดนัดให้รายงานตัวในวันที่ 28 ตุลาคม นี้ เวลา 10.00 น. 

@ ผู้ใหญ่ดัน'อนุสิษฐ'สมัครป.ป.ช.

      นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า สาเหตุที่ไปสมัครเนื่องจากเป็นงานที่ผู้ใหญ่หลายคนผลักดันให้เข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ตำแหน่งดังกล่าวทราบดีว่ามีความกดดันมาก ส่วนที่หลายคนมองว่าตนมีจุดอ่อนเพราะไม่เคยผ่านงานการปราบปรามทุจริตมาก่อนนั้นตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาสรรหาของกรรมการ 

@ อธิบดีกรมชลฯ-ปลัดพณ.สมัครป.ป.ช.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา จากการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-2 ตุลาคม 2558 ปรากฏว่าล่าสุดมีผู้มาสมัครทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ 1.นายนันทศักดิ์ พูนสุข ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด อายุ 64 ปี 2.นายสมจิตร์ ทองศรี ผู้พิพากษาศาลฎีกา อายุ 62 ปี 3.นายวีรพล ปานะบุตร รองอัยการสูงสุด อายุ 64 ปี 4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน อายุ 57 ปี และ 5.น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อายุ 59 ปี รวมผู้สมัครก่อนหน้านี้ 13 คน รวมผู้สมัครทั้งสิ้นขณะนี้ 18 คน สำหรับผู้มาสมัคร 13 คน ได้แก่ 1.นายไพโรจน์ โพธิไสย รองเลขาธิการวุฒิสภา 2.น.ส.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3.พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และหัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 4.พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ ประธานกรรมการติดตามและประเมินผล กสทช. 5.น.ส.ประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 6.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ 7.น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา 8.นายวิชัย ศรีคำ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 9.นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล รองอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1 10.นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 11.นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 12.นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 13.นางเยาวลักษณ์ มานะตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!