WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ยเอน

'บิ๊กตู่'ภูมิใจถกยูเอ็นรื่น ปลื้มโอบามาให้เกียรติ จับตาเคาะ'กรธ.-สปท.'เอกชัยห่วงมีชัยถูกต้าน

       'บิ๊กตู่'ภูมิใจร่วมประชุมเวทียูเอ็นฉลุย พบ 'โอบามา' ให้เกียรติเหมือนเดิม ปลื้ม นักธุรกิจสหรัฐเดินหน้าลงทุนไทย ยันยึดโรดแม็ปตามกติกาประชาธิปไตย อัดม็อบร้องต่างชาติ ลั่นไทยมีศักดิ์ศรีแก้ปัญหาเองได้ 'ไก่อู'ให้อดใจรอฟังความสำเร็จในรายการคืนความสุข 'มาร์ค' แนะอย่ากังวลเลือกคนนั่งกรธ.-สปท. ระบุตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าตีโจทย์ให้ถูก 'เอกชัย' ห่วง"มีชัย"ถูกญาติวีรชนต้านนั่งประธานร่างรธน. ปูดทาบนักการเมืองร่วมคปป.ด้วย พลังชลส่ง'สันต์ศักย์'เป็นสปท. 'วิษณุ'ให้จับตานายกฯ เคาะชื่อวันนี้ 'บิ๊กโด่ง'เซ็นก่อนเกษียณ ตั้ง'หลานป๋า'ขึ้นผู้การกรมการพัฒนาที่ 4 'บิ๊กณะ"เบรกแผนซื้อเรือดำน้ำ 3.6 หมื่นล้าน

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9074 ข่าวสดรายวัน

ถึงไทย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชูนิ้วสัญลักษณ์"ไอ เลิฟ ยู" ทักทายกลุ่มผู้สื่อข่าว ขณะกลับถึงไทยหลังไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อค่ำวันที่ 1 ต.ค.

'บิ๊กตู่'กลับไทยชื่นมื่น

      วันที่ 1 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 30 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ ได้เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ นครนิวยอร์ก สหรัฐ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 วันที่ 23 ก.ย. - 1 ต.ค. โดยนายกฯและคณะจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 1 ต.ค.เวลา 21.55 น. ตามเวลาประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกลุ่มคนไทยในสหรัฐ มารอส่งพล.อ.ประยุทธ์ ที่สนามบิน JFK โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณผู้มาให้กำลังใจพร้อมชม น่ารักมาก ก่อนถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก ขณะที่กลุ่มคนไทยได้ฝากนายกฯปัดกวาดบ้านเมืองให้สะอาด นำพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งโบกมือลา และชู 3 นิ้วสัญลักษณ์ไอเลิฟยูให้กับกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจด้วย

ภูมิใจเข้าร่วมประชุมยูเอ็น

      พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยว่า ภาคภูมิใจในการเป็น ผู้แทนของประเทศไทย เข้าร่วมประชุมสหประชาชาติ ครบรอบ 70 ปี การประชุมครั้งนี้ได้พบปะกับผู้แทนต่างประเทศที่มาร่วมประชุม บางคนเพิ่งรู้จัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ห่างไกลประเทศไทย เป็นประเทศหมู่เกาะ ที่กำลังพัฒนา และได้หารือทวิภาคีหลายประเทศ ในโอกาสที่ไทยจะลงสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จึงถือโอกาสหารือเพราะจำเป็นต้องขยายตลาดของเราออกไปทั้งระดับบน กลาง และล่าง ในการเป็นศูนย์กระจายสินค้า

      นายกฯ กล่าวว่า ผู้นำหลายคนแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ และยินดีที่ไทยคลี่คลายสถานการณ์ได้ ซึ่งผมเชิญชวนให้มาเที่ยวประเทศไทย หลายคนบอกไม่ได้มาประเทศไทยหลายปีแล้ว จึงบอกว่าหลายปีที่ไม่ได้มา มีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ ทุกอย่างปลอดภัย และคนไทยกำลังมีความสุข เรากำลังเดินหน้าประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่ เราจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้เมื่อไร แต่คิดว่าทำได้ ถ้าคนไทยทุกคนช่วยกัน

'โอบามา'ให้เกียรติเช่นเดิม

      นายกฯ กล่าวว่า มีโอกาสพบกับนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ มีการประชุมร่วมกันและร่วมงานเลี้ยงของประธานาธิบดีด้วย ซึ่งท่านให้เกียรติตนเช่นเดิม เรามาในฐานะประเทศไทย เป็นสมาชิกของสมาคมโลก ได้สร้างความเข้าใจกับรัฐบาลของสหรัฐ สมาคมนักธุรกิจอเมริกา และชี้แจงว่ายินดีที่จะค้าขายกันต่อไป ซึ่งการลงทุนในสหรัฐเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ถือว่าสูงมาก เรากำลังปรับแก้เรื่องต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้ทุกประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อความเท่าเทียมกัน เราไม่ได้ปิดกั้นใครเลย

      "สถานการณ์ประเทศวันนี้ ที่หลายคนเป็นห่วง ผมบอกว่าอย่ามองตรงนี้เลย ให้มอง ว่าผมจะใช้ทุกอย่างที่มีในปัจจุบันในทางสร้างสรรค์และเกิดผลประโยชน์วันข้างหน้า มากกว่าจะมาทำให้ทุกอย่างทำไม่ได้หรือช้าเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย รัฐบาลแก้กฎหมายต่างๆ มาก ซึ่งภาคธุรกิจของอเมริกาเข้าใจ และยินดีร่วมมือกับเราในโอกาสต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นไทยมีศักดิ์ศรี-แก้ปัญหาเองได้

      ผู้สื่อข่าวถามว่าท่าทีของนานาชาติเชื่อมั่นประเทศไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "เขาเชื่อมั่นอยู่แล้วและรอดูว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร ผมก็ยืนยันตามโรดแม็ป และชี้แจงผู้ใหญ่ของสหรัฐว่าตามกติกาของประชาธิปไตยต้องมีรัฐธรรมนูญก่อน แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ ลงประชามติ ถ้าผ่านจึงจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกประเทศเป็นแบบนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะให้ทำอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญต้องฟังความคิดเห็นจากคนหลายฝ่าย เราต้องดูบริบทของสังคมไทยเหมือนกัน

      "ผมไม่ได้ทำความผิดกับประเทศนี้ ที่ผมเข้ามา ผมทำทุกอย่าง บางเรื่องมีผลกระทบกับคน ประเด็นคือควรหรือไม่ควรที่จะมาต่อต้านที่ผมกำลังแก้ไขในสิ่งไม่ดี ทุกคนรู้ปัญหา แต่ไม่ยอมแก้ และจะเรียกร้องความสงบสันติจากใคร ใครจะทำให้ จะเรียกร้องกับประเทศอื่นหรือ ประเทศไทยมีศักดิ์ศรีพอ มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาของเราได้ ให้เขายอมรับ เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางแล้ว เหลือนิดเดียวจะหลุดตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนความคิด มีวิสัยทัศน์ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่า เราจะมีอนาคตอย่างไร ประเทศไทยไปยาก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ปลื้มสหรัฐพร้อมมาลงทุน

      วันเดียวกัน วอยซ์ ออฟ อเมริกา ภาษาไทย (voathai) เปิดเผยการสัมภาษณ์ พล.อ. ประยุทธ์ ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐว่า หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจกับอาเซียน เช่นเดียวกับสหรัฐที่มองเห็นศักยภาพของอาเซียน ส่วนความขัดแย้งนั้น ตนไม่ได้มองถึงเพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา วันนี้นโยบายด้านต่างประเทศเกี่ยวกับการค้าการลงทุน ไทยไม่ได้เลือกใครเพราะโลกนี้แข่งขันเสรี และจากการพบปะสมาคมต่างๆ ด้านการลงทุนของสหรัฐกว่า 10 บริษัท ต่างยืนยันว่าพร้อมจะลงทุนในไทยต่อไป ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่พูดถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่เรามีการแก้ไขกฎหมาย กติกาการลงทุนมากน้อยเพียงใด และเขาจะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้นหรือไม่

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงจุดยืนของไทยต่อประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีนว่า วันนี้สหรัฐมีความเข้มแข็งเรื่องการค้าขายทางทะเล ขณะที่จีนก็พยายามเพิ่มเส้นทางการค้าทะเลมากขึ้นเพื่อหาตลาดใหม่ สร้างเส้นทางการค้าการขนส่ง ไทยในฐานะที่อยู่ตรงกลางจะต้องได้ประโยชน์จากทุกประเทศเหล่านี้ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ไทยต้องไม่เทไปข้างใดข้างหนึ่ง ที่ผ่านมาได้วางอยู่ลักษณะนี้มาตลอด ไทยยืนอยู่ตรงกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร แม้มีปัญหาบางเรื่อง เช่น การอพยพที่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน และทำให้ไทยเดือดร้อน แต่รัฐบาลยืนยันมาตลอดทำตามหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรความสมดุลจึงจะเกิดขึ้น

ยอมรับเจ็บปวดเทียร์ 3

      สำหรับ ประเด็นด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ในรายงานประจำปีเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องยอมรับในความผิดพลาดของเรา ที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเป็นเวลานาน เรื่องเหล่านี้สหรัฐได้แจ้งเตือนมาหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่ค่อยสนใจ อาจคิดว่าคงไม่เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานประมง เรือประมง แรงงานข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลแก้ไขทั้งหมด และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จึงต้องใช้เวลา

      "ผมไม่คาดหวังเพราะเป็นเรื่องของเขา เมื่อเขาเป็นคนตั้งกติกาแล้วเราทำผิด ก็ต้องทำใหม่ ให้เขายอมรับเราให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ มันมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก มีการร้องเรียนทั้งเรือประมง กระทบครอบครัว ผมเจ็บปวดแต่ก็ต้องทำ และหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับเขา หาอาชีพเสริมให้เขา รับซื้อเรือเปลี่ยนอาชีพของเขาได้หรือไม่ หรือหาอะไรที่เขาจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะเขาดำรงชีวิตแบบผิดๆ มาเป็นเวลาหลายปี นี้คืออันตราย ถ้าไม่แก้วันนี้วันหน้าก็อันตราย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ยินดีได้รับเลือกนั่งปธ.จี 77

      นายกฯ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยเราได้รับเลือกเป็นประธานในกลุ่ม จี 77 ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี ต้องชื่นชมทีมประเทศไทย และทูตที่หารือมาตลอด จนเมื่อเดือนเม.ย. ถึงมีมติให้ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่มนี้ เราจะมีโอกาสเป็นผู้นำในการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลใน 3 เสาหลัก ที่เราได้รับเลือกเพราะเรามีผลงานปรากฏ ลดความยากจนได้พอสมควรที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งนี้ และไทยได้รับเลือกด้วยมติเอกฉันท์ให้เป็นประธานกลุ่ม จี 77 ซึ่งเป็นการรวมกันของประเทศสมาชิกที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 134 ประเทศ และถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรตินี้

'ไก่อู'ให้อดใจรอคืนความสุข

       พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกปลาบปลื้มและชื่นชมทีมไทยแลนด์ซึ่งไปร่วมประชุมในครั้งนี้ และประสงค์จะไปต้อนรับนายกฯ ถึงสนามบิน อยากเรียนประชาชนว่า นายกฯรับทราบความตั้งใจของทุกคน ขอรับความปรารถนาดีนี้ด้วยใจ นายกฯไม่อยากรบกวนเวลาของทุกคน รวมทั้งไม่ต้องการให้กระทบต่อผู้ใช้สนามบิน อีกทั้งอาจเพิ่มภาระให้แก่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบิน จึงอยากขอความกรุณาประชาชน งดการเดินทางไปต้อนรับคณะของนายกฯ

       "ขอเชิญชวนให้ทุกคนติดตามรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งจะออกอากาศในคืนวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.นี้ โดยนายกฯ จะกล่าวถึงผลการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชา ชาติ ให้รับทราบโดยละเอียดและพร้อมเพรียงกัน ขอให้อดใจรออีกเพียงวันเดียว" พล.ต. สรรเสริญกล่าว

แฟนคลับชูป้ายรับลุงตู่

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศที่ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางกลับมาถึงในเวลา 22.10 น. มีตัวแทน"ชมรมคนรักนายกฯ ลุงตู่" นำโดย น.ส.จันทิรา สกุลดี ซึ่งเดินทางมาจากจ.นครราชสีมา นำป้ายภาพนายกฯชูสัญลักษณ์ไอเลิฟยู ภายใต้ชื่อชมรมมาคอยต้อนรับให้กำลังใจ แต่เมื่อใกล้เวลาที่นายกฯ จะลงจากเครื่องบินมีเจ้าหน้าที่มาขอร้องให้ออกจากบริเวณห้องรับรองพิเศษ

      น.ส.จันทิรา ระบุว่าการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อให้กำลังนายกฯโดยเฉพาะ ซึ่งได้ชักชวนเพื่อนสมาชิกผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่าชมรมคนรักนายกฯลุงตู่ และไม่มีวัตถุประสงค์อื่น เพียงแต่เห็นว่ามีการต้อนรับนายกฯที่สหรัฐอย่างคึกคัก จึงต้องการมาให้กำลังใจบ้าง แม้จะมีการขอร้องจาก พล.ต.สรรเสริญ แล้วก็ตาม ซึ่งเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยประจำสนามบินและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกฯขอร้องว่ามาให้กำลังใจได้ แต่ขอความร่วมมือว่าอย่าชูป้ายหรือใช้เสียงตะโกน จากนี้ไปจะพยายามไปให้กำลังใจนายกฯในทุกที่ที่สามารถไปได้

'มาร์ค'อัดต่างชาติติงคสช.

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบทบาทของพล.อ. ประยุทธ์ บนเวทีที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า ทุกอย่างเรียบร้อย และนายกฯได้ยืนยันความตั้งใจที่จะเดินตามโรดแม็ป ส่วนที่นายกฯประกาศโรดแม็ปบนเวทีจะเป็นการผูกมัดหรือไม่นั้น ตนเห็นว่านายกฯ พูดตามเนื้อหาสาระของกติกาที่วางไว้ แต่ต้องบอกว่าไม่ค่อยเป็นธรรม ที่ต่างประเทศไปเขียนหรือพูดกันทำนองว่า คสช.ไม่มีความชัดเจนหรือไม่มีความตั้งใจที่จะคืนสู่สภาวะปกติ โดยยกกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่จริงตนบอกแล้วว่าหลายคนต้องการให้คว่ำร่าง เพราะเห็นว่าเป็น กติกาที่จะมีปัญหา จึงคิดว่าไม่มีใครจงใจอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก

      นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่นายกฯประกาศถึงโรดแม็ป 6-4-6-4 นั้น เป็นการเพิ่มชัดเจนระดับหนึ่ง อาจช่วยทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้นว่า การที่มีคนวิจารณ์ว่ามองไม่เห็นว่าประเทศ ไทยจะกลับเข้าสู่การเลือกตั้งได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น และคำประกาศนี้ไม่ใช่ชาวโลกที่รับรู้ แต่ชาวไทยก็รับรู้ จึงต้องถือว่าเป็นความตั้งใจของ คสช. ถ้าไม่มีอุบัติเหตุจริงๆ ก็ควรเดินตามนี้

แนะอย่ากังวลเลือกสปท.-กรธ.

      นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการคัดเลือกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เป็นอำนาจและดุลพินิจของนายกฯ คงต้องรอดู แต่เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะมีคนอยากเป็นเยอะและ นายกฯบอกว่าไม่เอาพวกวิ่งเต้น จึงสะท้อนการมีส่วนร่วม น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ในแง่ของสปท. คิดว่าไม่จำเป็นที่นายกฯต้องกังวลเนื่องจากเป็นเวทีการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เวทีตัดสินชี้ขาด หรือมีอำนาจใดๆ ฉะนั้นถ้ากระจายให้มากที่สุด มันจะช่วยให้การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นกว้างขวางที่สุด

       ส่วนกรธ. ต้องบอกว่าคนที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ต้องมีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ ประสบการณ์การบริหาร ตนเคยย้ำว่าไม่คิดกรธ.ทั้ง 21 คน หรือประธานกรธ.จะมาชี้ขาดทุกอย่างได้ เพราะเรื่องบุคคลนั้นเป็นเรื่องรอง แต่ถ้าหากว่าไม่เข้าใจในที่สุดก็จะทำงานไม่สำเร็จ ดังนั้นเงื่อนไขการกำหนดวิธีการทำงานคือ การตีโจทย์ให้ถูก

หนุนใช้คนรุ่นใหม่ร่างรธน.

      พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงกระแสข่าวได้รับการทาบทามเป็นกรธ.ว่า ยืนยันว่าไม่เคยมีใครมาทาบทาม แต่หากได้รับการแต่งตั้งจริงก็พร้อมทำหน้าที่ มองว่าคุณสมบัติของกรธ.ชุดใหม่ควรมี 3 ข้อคือ 1.มีความรู้ด้านกฎหมาย 2.มีประสบการณ์ทางการเมือง 3.รู้จักประสานประโยชน์และรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต้องพังลงเพราะไม่รับฟังความเห็นใครเลย

      พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า กรธ.ชุดใหม่ไม่ควรมีสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่าตั้งแต่ปี"40 ปี"50 และชุดของนายบวรศักดิ์เข้ามาร่วมเป็นกรธ.มากนัก ควรมี 2 คนก็พอ ควรใช้คนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาที่ใช้คนกลุ่มเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศได้ ควรใช้คนรุ่นใหม่เยอะๆ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการเข้ามาปฏิรูป ไม่ใช่เข้ามาแก้ไข

ห่วงมีชัยถูกต้าน-ปูดนักการเมืองร่วม

      พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า สำหรับสัดส่วนของ กรธ. อยากให้มีตัวแทนหลากหลายจากทุกฝ่าย ทราบว่าล่าสุดมีการทาบทามฝ่ายการเมือง 2-3 คน ให้ร่วมเป็นกรธ.ด้วย โดยให้ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (คปป.) เป็น ผู้ทาบทาม เพื่อให้ทราบความต้องการของฝ่ายการเมืองว่าต้องการอะไรในร่างรัฐธรรมนูญ และลดแรงต้านจากฝ่ายการเมือง แต่ไม่ทราบว่ามีฝ่ายการเมืองตอบรับร่วมเป็นกรธ.หรือไม่

      ส่วนที่มีข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช. จะเป็นประธานกรธ.นั้น ห่วงว่าอาจมีปัญหาถูกแรงต้านมากจากบางกลุ่ม เช่น กลุ่มญาติวีรชนเดือนพฤษภาฯ ยิ่งหากไปยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่คล้ายคลึงฉบับที่แล้วจะถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะนายมีชัย เป็นคนของคสช.อยู่แล้ว

      นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เปิดเผยว่า ตามที่พรรคได้รับการทาบทามให้ส่งรายชื่อร่วมเป็นสมาชิกสปท.นั้น ได้สรุปส่งชื่อ นายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ แกนนำพรรคเพื่อเป็นตัวแทนพรรค ส่วนจะได้รับ คัดเลือกอย่างไร ต้องแล้วแต่คสช.

พท.ค้านคนร่างขวาจัด

      ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุหากเลือกตั้งก่อน 20 เดือนได้ก็จะทำว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ ถ้าบริหารจัดการการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้ได้ เช่น กำหนดเวลาร่างรัฐธรรมนูญ คือไม่เกิน 180 วัน ถ้า กรธ.ใช้วิธีสกัดเอาข้อดีของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมาใช้ เพราะแต่ละเรื่องก็ตกผลึกทางความคิดมาพอสมควรแล้วและเคยใช้มาก่อน ก็อาจเร็วขึ้น แต่ที่อาจใช้เวลาคือการทำประชามติ ซึ่งต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกทุกครัวเรือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะต้องเตรียมการต่างๆ แต่ถ้าบริหารจัดการและเตรียมตัวดีๆ ก็ไม่นาน

       ส่วนกฎหมายลูกที่บอกว่าต้องใช้เวลา 6 เดือน ถ้าขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่างกฎหมายประกอบไปพร้อมกัน น่าจะเสร็จได้พร้อมกัน และไม่น่าใช้เวลาถึง 6 เดือน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 20 เดือนก็ได้

เปิดโผว่าที่กรธ.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่คาดว่าจะมาทำหน้าที่เป็นกรธ. จำนวน 21 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช. จะเป็นประธานกรธ. กรรมการ อาทิ พล.ร.อ.กฤษฎา เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.ต.วิระ โรจนวาศ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อดีตสปช. นางกีระณา สุมาวงศ์ อดีต ส.ว.สรรหา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส อดีตสปช. พล.ร.ท. กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิกสนช. พล.ร.อ. ชุมนุม อาจวงษ์ อดีตสปช. และพล.ท.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีต สปช.เป็นต้น

"วิษณุ"ให้รอนายกฯ เคาะ

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ จะนัดประชุมคสช.แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาสรรหากรธ.ว่า ตนเห็นจากหนังสือพิมพ์และไม่ทราบว่าออกมาจากที่ใดอาจจะมีบางคนให้ข่าวกับสื่อ นายกฯ อาจนัดหารือหรืออาจพิจารณาเองก็ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อนายกฯ กลับจากสหรัฐต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยสามารถประกาศได้เลยไม่ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูล แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งเข้าใจว่ารายชื่อทั้งหมดราว 30-40 คนน่าจะอยู่ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแล้ว ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีรายชื่อทหารและอดีตกมธ.ยกร่างฯ อยู่ในกรธ.ชุดนี้ตนก็เห็นจากสื่อ จึงไม่กล้าตอบ รอให้นายกฯ พิจารณาในบางประเด็นก่อน

      ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่นายกฯ อาจนัดประชุมและได้รายชื่อกรธ.ในวันที่ 2 ต.ค.นี้เลย นายวิษณุกล่าวว่า "น่าจะเป็นไปได้ ส่วนนายมีชัยยังไม่ได้ตอบว่าจะรับตำแหน่งประธานกรธ.หรือไม่ เมื่อคืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาตนก็ทานข้าวกับนายมีชัย ซึ่งยังไม่ยืนยันว่าจะรับ ท่านบอกว่าท่านตอบไปแล้วว่าขอหารือกับนายกฯ นิดหน่อยก่อนเพราะมีเรื่องต้องพูดคุยกันนายกฯ ก็อาจมีเรื่องจะหารือกับนายมีชัยเหมือนกัน และได้ยินว่านายกฯ นัดคนอื่นด้วย เมื่อถามว่าการหารือเรื่องดังกล่าวกับคสช.เป็นไปได้หรือไม่ที่นายมีชัยซึ่งเป็นที่ปรึกษาคสช.จะร่วมประชุมด้วย นายวิษณุกล่าวว่า "เป็นไปได้ ผมจึงได้บอกว่าท่านมีความจำเป็นต้องพบกันเพราะในเมื่อคสช.ต้องเป็นคนเลือกแล้วนายมีชัยก็อยู่ในคสช.เช่นเดียวกัน

ยังไม่สรุปฟ้องแพ่งจำนำข้าว

      นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯในขณะนั้น ว่า ขณะนี้มีการส่งไปให้กับรมว.พาณิชย์แล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาตนได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามถึงความเป็นมาและความคืบหน้าในการทำงานแล้ว ซึ่งครบกำหนดในการทำงานไปแล้วเช่นกัน ส่วนตัวเลขมูลค่าความเสียหายังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังมีตัวเลขอื่นๆ อีก แต่ในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นจบแล้วในแง่ที่ว่าได้คำตอบสำคัญ 3 ข้อ สำหรับการจัดทำบันทึกรายงาน คือ

      1.มีการกระทำซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่ควรต้องเรียกร้องให้รับผิดทางแพ่งหรือไม่ ซึ่งถ้าตอบว่าไม่ก็คงจบ แต่ถ้าตอบว่ามี ต้องไปถึงข้อที่ 2.แล้วใครคือผู้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งต้องได้ตัวคน ดังนั้นข้อที่ 3.คนเหล่านี้ที่จะต้องรับผิด จะต้องรับผิดในมูลค่าความเสียหาย หรือชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ ซึ่งได้ตัวเลข แต่เป็นตัวเลขคร่าวๆ มีการเสนอเป็นสูตรมา จึงยังไม่กล้าพูดถึงตัวเลขนั้น ซึ่งสูตรคือวิธีคิดเพื่อให้ทราบว่า ไม่ได้มั่วตัวเลขขึ้นมา แต่มีวิธีคิดว่าจะต้องเอาตัวเลขใดลบกับตัวเลขใด บวกอะไรแล้วคูณอะไร แล้วจะออกมาเป็นเท่าไหร่ ก็ต้องเอาตัวเลขมาใส่ เพื่อจะคิดก่อน

ชี้เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน

       "ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน เพราะวันนี้อาจจะยังไม่เข้าใจกัน เพราะเขาไม่ได้ลงไปในประเด็นอื่นใด ที่มันจะต้องลากเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามามาก แต่เดิมผมคิดว่ามีความซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อน เพราะเมื่อใช้สำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก ซึ่งต้องเอามาเป็นหลักเพราะเป็นสำนวนในการถอดถอนและเป็นสำนวนในการฟ้องร้องคดี และจะแต่งสำนวนขึ้นมาใหม่ไม่ได้" นายวิษณุกล่าว

       เมื่อถามว่า ผู้ถูกกล่าวหาร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นายวิษณุกล่าวว่า หากพบว่าเกิดความไม่เป็นธรรม ในกระบวนการใด ช่องใด ก็มีสิทธิที่จะร้อง หรือฟ้องร้อง จะกล่าวหาหรือฟ้องกลับในส่วนนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วคดีนี้ก็ต้องไปศาลอยู่ดี เพียงแต่แทนที่จะไปโดยรัฐบาลฟ้อง กลายเป็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นคนฟ้องรัฐบาล ดังนั้นต้องไปพิสูจน์กันในศาล ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ทนายปูโต้อดีตอสส.

        นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตามที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) โพสต์ข้อความและภาพที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปฟ้องคดีที่ศาลอาญาโดยระบุคุณพ่อผมสอนไว้ว่ารับราชการต้องอดทน อดกลั้น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อแทนคุณแผ่นดิน คดีจำนำข้าว ผมต้องทำตามหน้าที่นั้น การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ว่า การที่อดีตอสส. พูดแต่เพียงว่าเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ยังไม่ถือว่าได้ตอบคำถามใน 3 ข้อ ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ฟ้องต่อนายตระกูล

       ดังนั้น ในฐานะอสส.ขณะนั้น ควรตอบคำถาม 3 ข้อนี้ มากกว่าจะอ้างเรื่องทำเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินคือ 1.เมื่อรับรายงาน พร้อมเอกสารจาก ป.ป.ช. มาแล้ว และมีคำสั่งว่าคดีนี้มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องคดีได้ จำเป็นต้องไต่สวนเพิ่มเติมแต่ไม่ไต่สวนให้เสร็จสิ้น กลับมีคำสั่งฟ้องคดีก่อนสนช.จะมีมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมงนั้นเพราะอะไร

       2.ป.ป.ช.แจ้งข้อหาแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทำไมไปฟ้องเกินกว่าบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และ 3.การนำเอกสารนอกคดี 67,800 แผ่น เข้าสู่สำนวนคดีในชั้นศาลทั้งที่เอกสารดังกล่าว ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ไต่สวนในคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะอะไร

"วัชรพล"ไขก๊อกสนช.

      เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของ นายปัญญา อุดชาชน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 17 คน กำหนดเวลาพิจารณา 20 วัน

      ทั้งนี้ นายปัญญาได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ให้เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่ครบวาระเนื่องจากอายุ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ยื่นใบลาออกจากสมาชิกสนช. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ทำให้ขณะนี้เหลือสมาชิกสนช. 217 คน โดยพล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เหตุผลการยื่นใบลาออกเนื่องจากไปยื่นใบสมัครเพื่อรับการสรรหาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคุณสมบัติมีข้อห้ามว่า ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะได้รับการยกเว้น แต่คิดว่าไม่เหมาะสม จึงยื่นลาออกครั้งนี้ หากไม่ได้รับการสรรหาจะไปทำงานอย่างอื่นแทน

คนดังแห่สมัครป.ป.ช.

        ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-2 ต.ค.นี้ ล่าสุดมี ผู้มาสมัครเพิ่มเติมอีก 14 คน ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผบช.ภ.1 2.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.นครศรีธรรม ราช 3.นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 4.นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5.นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล อัยการอาวุโส สำนักงานคดีอัยการสูงสุด 6.นายวิทยา พานิชพงศ์ อดีตผวจ.ปัตตานี 7.นายสมภพ ระงับทุกข์ อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร

       8.นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 9.นายวิเชียร ชุบไธสง อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ 10.นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 11.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผบ.ตร. 12.นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 13.นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ 14.นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. รวมกับผู้สมัครก่อนหน้านี้ 18 คน ทำให้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 32 คน

      ทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาจะเปิดรับสมัครในวันที่ 2 ต.ค.อีก 1 วัน ที่จุดรับสมัครบริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 2 ถนนอู่ทองใน และอาคารสุขประพฤติ ถ.ประชาชื่น ภายในเวลา 14.30 น.

'สุวณา'นั่งปลัดยธ.วันแรก

       เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัด ยธ. พร้อมข้าราชการกระทรวงให้การต้อนรับนางสุวณา สุวรรณจูฑะ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม

       นางสุวณากล่าวว่า ตนได้เตรียมการไว้หลายเรื่อง เพราะสำนักงานปลัด ยธ. ต้องคอยกำกับงานและช่วยเหลือส่วนราชการในสังกัด ถ้าเราจัดระบบคนให้กับส่วนราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้การทำงานของแต่ละส่วนเป็นไปได้ด้วยดี และตนจะสานงานยุทธศาสตร์ นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมด้วย อีกเรื่องที่สำคัญคือการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัด ยธ. ได้ฝากเรื่องกฎหมายไว้หลายฉบับ แต่มีกฎหมายที่ส่วนตัวเห็นว่าสำคัญมาก 2 เรื่องคือ พ.ร.บ.ยุติธรรมชุมชน กับพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย ที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จให้ได้

'บิ๊กโด่ง'ย้าย 3 ทหารทิ้งทวน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และอดีตผบ.ทบ. ได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบกเลขที่ 579/2558 เรื่องให้นายทหารรับราชการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.58 ก่อนจะเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. มีรายละเอียดดังนี้ 1.พ.อ.คชาชาติ บุญดี ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นรองผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 11 (รองผบ.มทบ.11) 2.พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์ ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็น ผู้บังคับการกรมพัฒนา 4 และ 3.พ.อ.กิติศักดิ์ ถาวร ผู้บังคับการกรมพัฒนา 4 เป็นฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

      สำหรับ การให้ได้รับและงดรับเงินประจำตำแหน่งประเภทผู้บริหารและเงินค่าตอบแทนให้เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งไม่เป็นข้าราชการพ.ศ.2539 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2550 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

      ทั้งนี้ พ.อ.นิติ หรือผู้พันต่อ เป็นหลานพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

'บิ๊กณะ'ชะลอซื้อเรือดำน้ำ

       เมื่อเวลา 10.00 น. ที่วังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธีประดับเครื่องหมายยศ และแสดงความยินดี และพิธีรายงานตัวเองของนายทหารเรือชั้นนายพลเรือ โดยมีนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ อาทิ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง รองผบ.ทร. พล.ร.อ.ชุมนุม วงศ์เวคิน ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม ผช.ผบ.ทร. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิสานนท์ เสนาธิการกองทัพเรือ และพล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เข้าร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง

      พล.ร.อ.ณะ แถลงว่า ตนให้นโยบายงานเร่งด่วนลำดับแรก คือการสนับสนุนการแก้ปัญหาของรัฐบาล และการแก้ปัญหาให้ประเทศ และไม่ทิ้งนโยบายของอดีต ผบ.ทร. แต่ได้นำนโยบายของผบ.ทร.ทุกคนมากลั่นกรองหลอมรวมเพื่อดำเนินการต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท จะดำเนินการอย่างไร พล.ร.อ.ณะกล่าวว่า เรือดำน้ำเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อกองทัพเรือ อีกทั้งมีประโยชน์ต่อประเทศ แต่เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจ คงจำเป็นต้องชะลอและทบทวนแล้วหันมาฝึกกำลังพลให้มีความเชี่ยวชาญ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียโอกาส อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้พูดคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ถึงเรื่องนี้

'บิ๊กหมู'แบ่งงาน 5 เสือทบ.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ 1077/58 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ผช.ผบ.ทบ. เสนาธิการทหารบก และรองเสนาธิการทหารบก ดังนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผช.ผบ.ทบ. (1) รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานส่งกำลังบำรุง และสายงานด้านกิจการพลเรือน พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผช.ผบ.ทบ. (2) รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานกำลังพล และงานพิเศษที่ ทบ.มอบหมาย พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ. รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานการข่าวและกิจการต่างประเทศ สายงานยุทธการ การฝึก การศึกษาทางทหาร และสายงานปลัดบัญชี

       ส่วนรองเสธ.ทบ. ประกอบด้วย พล.ท. สุรเดช เฟื่องเจริญ รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงาน กำลังพล พล.ท.สุทัศ จารุมณี รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานการข่าว และกิจการต่างประเทศ พล.ท. สสิน ทองภักดี รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงาน ยุทธการ พล.ท.วราห์ บุญญะสิทธิ์ รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานส่งกำลังบำรุง และพล.ท. จิระพันธ์ มาลีแก้ว รับผิดชอบงานและเอกสารในสายงานกิจการพลเรือน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

มทภ.1 รับมอบงาน

       ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวภายหลังรับมอบหน้าที่ถึงแนวทางการทำงานว่า จะยึดถือหลักความถูกต้อง และชอบธรรมในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับประชาชน โดยได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนบูรณาการร่วมกันปฏิบัติงาน เข้มงวดกวดขันเรื่องการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ทำให้เกิดสิ่งไม่เรียบร้อยในประเทศ เช่น ยาเสพติด ลักลอบตัดไม้ ในภาพรวมคือกองทัพภาค 1 จะสนับสนุนภายใต้การนำของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้สงบเรียบร้อยเพื่อให้รัฐบาลและคสช. บริหารประเทศได้

       เมื่อถามถึงการทำหน้าที่ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) พล.ท.เทพพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพภาคที่ 1(ทภ.1) ดำเนินการในส่วน กกล.รส. ทภ.1 เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยให้ประเทศสงบและเอื้อต่อการทำงานของรัฐบาล จากที่ติดตามข่าวสาร สถานการณ์โดยรวมยังเป็นสถานการณ์ที่กกล.รส.ควบคุมได้

อจ.ตัดเกรด'บิ๊กตู่' ทริป'ยูเอ็น'สอบผ่าน?

    มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นักวิชาการประเมินผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเวทีโลก ระหว่างร่วมประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


ชำนาญ จันทร์เรือง-วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

ชำนาญ จันทร์เรือง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

       ถือว่าใช้ได้ อย่างน้อยก็มีความกล้าหาญที่เดินทางไปด้วยตัวเอง ไม่มอบหมายให้ตัวแทนหรือคนอื่นไปแทน เพราะประเทศอื่นที่รัฐถูกแอนตี้มากๆ ผู้นำมักจะไม่ไป แต่มอบหมายให้ตัวแทนไป ส่วนลักษณะการพูดหรือพูดเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การพูดเร็วไป อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าปกติเราพูดเร็วอย่างนั้นหรือเปล่า ส่วนสีหน้าท่าทาง ทำไมเป็นอย่างนั้น

     ประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหาว่าสิ่งที่พูดในเวทีกับสิ่งที่ทำจริงไปด้วยกันหรือเปล่า ทำได้ตามนั้นหรือเปล่า ทุกอย่างถูกบันทึกไว้หมด เป็นเหมือนสัญญาที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งบางอย่างอาจฝืนความจริง เช่น พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนกับข่าวต่างๆ ที่ออกไป ภาพมันขัดกัน หรือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น 

      คำพูดกับความจริงไม่ควรขัดกันมากนัก อย่างน้อยคนไทยรู้ คนที่ติดตามสถานการณ์รู้ กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ระยะเวลา 2-3 ปีผ่านไปเร็ว คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น วันนี้ยังมีการปรับทัศนคติ การห้ามการชุมนุม การเอาคนขึ้นศาลทหาร ขัดกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูด ส่วนภาพนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าเป็นมารยาททางการทูต เป็นเรื่องธรรมดา เจอกันก็ต้องพบ เขาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงผู้นำทุกประเทศ บางคนแซวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปดักรอหรือโอบามาเดินเข้ามาพบ

      นอกจากนี้ ต้องดูที่ถ้อยคำของโอบามาที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ช่วงหนึ่งพูดว่า ?จองจำร่างกายได้ แต่จองจำความคิดเขาไม่ได้? ซึ่งไม่ได้หมายความถึงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งประเทศที่เปิดกว้างไม่ค่อยติดใจเรื่องรูปแบบการปกครอง แต่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่อย่างนั้นจีนก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปกครองทุกรูปแบบต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจในชีวิตของตัวเองไม่มากก็น้อย

วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษา

      ถ้าถามว่าสอบผ่านไหม คงผ่านอยู่แล้ว นายกฯมีบุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง อันนี้เป็นจุดที่ดี สังเกตได้จากการจับมือกับทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ดี หรือคนอื่นๆ ก็ดี มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และเนื่องจากนายกฯมั่นใจว่าไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษ พูดภาษาไทยอย่างเดียวแล้วให้คนอื่นแปล ข้อดีก็คือทำให้มีความเชื่อมั่นในการพูดออกมา แต่อาจมีนิดหนึ่งตรงที่พูดเร็วไป ทำให้เวลาแปลอาจจะลำบากนิดหน่อย อันนี้เป็นข้ออ่อน 

       การพูดภาษาไทยคิดว่าไม่มีผลต่อภาพลักษณ์ เพราะจริงๆ แล้วผู้นำในระดับมหาอำนาจอย่างจีนก็จะไม่พูดภาษาอังกฤษแน่นอน 

     ถ้าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอาจจะเป็นภาพลักษณ์ เพราะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นนายกฯคิดว่าไม่จำเป็น คิดว่าเป็นทางเลือกมากกว่า 

    ภาพการจับมือกับนายโอบามาและอีก 3 ผู้นำ จริงๆ เป็นมารยาทบนเวทีโลก แต่ว่าผลที่ได้ก็คือทำให้เห็นว่าเกิดการยอมรับมากขึ้น จริงๆ แล้วถ้ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะต้องได้รับการรับรองจากต่างประเทศ ทีนี้การรับรองจากต่างประเทศหรือผู้นำจะมีทั้งโดยตรงและโดยปริยาย โดยตรงคือการประกาศรับรอง ซึ่งเขาไม่ได้ประกาศรับรองเรา แต่โดยปริยายก็คือดูจากพฤติกรรมการกระทำ ฉะนั้นถ้าประธานาธิบดีโอบาจับมือกับนายกฯไทย น่าจะถือว่าเป็นการยอมรับโดยปริยาย อาจจะไม่ได้การยอมรับทางกฎหมายทั้งหมด ก็ถือเป็นการยอมรับในภาพพจน์ที่ดีขึ้นมา และจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์โดยทั่วไป รวมทั้งการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น

     สิ่งที่นายกฯพูดในยูเอ็นเป็นการชี้แจงว่าสิ่งที่จะทำคืออะไร โรดแมปก็เป็นสิ่งที่นายกฯพูดมาสม่ำเสมอ ใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ อันนี้ช่วยไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่นายกฯพูดก็สอดคล้องกับสิ่งที่พูดมาตลอด คิดว่าอันนั้นน่าจะดีคือ ต่างชาติจะรับได้หรือไม่ จะบอกว่าอีก 20 เดือนนานเกินไป อันนั้นช่วยไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้พฤติกรรมในไทย แต่นายกฯก็พูดกันตรงๆ ว่าจะเป็นประชาธิปไตย อันนี้คือสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่แรก แต่จะเป็นเมื่อไรต้องดูพฤติกรรม เป็นที่พอใจบ้าง ไม่เป็นที่พอใจบ้าง แล้วแต่มุมมอง 

     สรุปแล้วคิดว่า นายกฯทำได้ดีพอสมควร จากการที่เป็นทหารมาตลอดแล้วมาเป็นนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้มีการเตรียมการมาเลย ทำได้ขนาดนี้ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะภาพพจน์ในการไปจับมือกับชาวต่างชาติ มีความเชื่อมั่นในตัวเองดี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!