WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

21กรธ

เปิด 200 สปท.-21 กรธ.'มีชัย'ลั่น 5 จุดยืนร่าง'รธน.'ห้ามใช้งบฯ'อ่อยเหยื่อ' วิษณุยันไม่มีใครสั่งได้ ทหาร-ตร.-ขรก.นับร้อย ร่วมนั่งสภาขับเคลื่อนฯ บิ๊กหมูสั่งแก้ฮวงจุ้ยทบ.

     'มีชัย'แถลงจุดยืน ยกร่าง นัด 21 กรธ.ลุยถกวันนี้ ยันต้องทำตาม กรอบรธน.ชั่วคราว พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วน"คปป.'จะคงไว้หรือไม่ขอหารือก่อน'บิ๊กป้อม-วิษณุ'ยันไม่มีใบสั่งจากคสช. 'บิ๊กตู่'หัวโต๊ะประชุมคสช. เคาะรวด'21 กรธ. - 200 สปท.' ขรก.-ทหารพรึบนับร้อย เพื่อไทยลั่นไม่เกี่ยว'สุชน' บิ๊กหมูสั่งแก้ฮวงจุ้ยบก.ทบ.

วันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9078 ข่าวสดรายวัน

     รูปหล่อ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินเที่ยวงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมชมรูปหล่อเหมือนตนเองทำจากพลาสติก อย่างอารมณ์ดี เมื่อวันที่ 5 ต.ค

บิ๊กตู่ประชุม"คสช."

      เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่อาคารบ้านพักเกษะโกมล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคสช. เพื่อหารือเรื่องรายชื่อประธานและสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ต้องตั้งไม่เกิน 200 รายชื่อ

      โดยมีรองหัวหน้า คสช. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และสมาชิก คสช. ประกอบด้วยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และพล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช. นอกจากนี้ยังมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เข้าร่วมการประชุม ขาดเพียงพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา สมาชิก คสช. ที่ติดภารกิจไปต่างประเทศ โดยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ให้สื่อมวลชนเก็บภาพได้เฉพาะบริเวณภายนอกอาคารเกษะโกมล

'มีชัย'นั่งประธาน'กรธ.'

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นมอบให้นายวิษณุ แถลงร่วมกับนายมีชัย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน กรธ. ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ส่วนพล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับทำเนียบรัฐบาลทันที

      นายวิษณุเแถลงว่า ที่ประชุมคสช.พิจารณา 2 หัวข้อหลัก คือ 1.การปรับโครงสร้าง คสช. ที่เป็นกิจการภายในของคสช. และ2.พิจารณาแต่งตั้งกรธ. 21 คน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน จะครบกำหนดเดือนมี.ค. 2559 โดยรายชื่อทั้งหมด หัวหน้า คสช.ได้พิจารณา กลั่นกรองมาแล้วรอบหนึ่ง เพื่อเสนอต่อที่ประชุมขอความเห็นชอบ และคสช.มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยหัวหน้าคสช.ลงนามเรียบร้อย เพื่อส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

     สำหรับรายชื่อ กรธ. ประกอบด้วย 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน 2.นางกีระณา สุมาวงศ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3.นางจุรี วิจิตรวาทการ อาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 4.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ศาสตราจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 5.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เปิดตัว 21 กรธ.

     6.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 7.นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 8.นายนรชิต สิงหเสนี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 9.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และสมาชิกสนช. 10.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

     11.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 12.นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 13.นายภุมรัตน ทักษาดิพงษ์ อดีตผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 14.พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีตผอ.สำนักพระธรรมนูญทหารบก 15.นายศุภชัย ยาวะประภาษ ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 16.นายสุพจน์ ไข่มุกต์ อดีตตุลาการศาลรัฐ ธรรมมนูญ

     17.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อดีตสปช. 18.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธานกกต. 19.นายอุดม รัฐอมฤต ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20.นายอัชพร จารุจินดา อดีตส.ส.ร. 50 และ21พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

เคาะแล้ว 200 สปท.

     นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนสปท. ใช้อำนาจ นายกฯลงนามแต่งตั้งครบ 200 คนแล้ว ไม่ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล แบ่งเป็น อดีตสปช. 61 คน มีทั้งผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการพิจารณาโควตารางวัลหรือการตอบแทน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณราชการแล้ว 25 คน ข้าราชการที่ยังดำรงตำแหน่ง 23 คน ข้าราชการทหาร-ตำรวจทั้งเกษียณแล้วและอยู่ในราชการ 49 คน นักวิชาการด้านกฎหมาย สังคม และรัฐศาสตร์ 13 คน นักการเมืองและกลุ่มมวลชนทางการเมืองที่เสนอชื่อมา 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนักธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 19 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 17 คน และผู้ชาย 183 คน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 200 สมาชิกสปท. มีบุคคลที่น่าสนใจจากกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มอดีต สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน นายอลงกรณ์ พลบุตร พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ ฯลฯ กลุ่มพรรคการเมือง อาทิ นายกษิต ภิรมย์ พรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา, นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย, นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล พรรคชาติพัฒนา, นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ พรรคพลังชล, นายสุชน ชาลีเครือ พรรคเพื่อไทย ส่วนกลุ่มการเมือง กปปส.มี นายวิทยา แก้วภราดัย ขณะที่พันธมิตรฯ มีนายศิริชัย ไม้งาม แกนนำรุ่น 2 (อ่านรายชื่อทั้งหมดที่ หน้า 3)

      รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีนายสุชนร่วมเป็นสปท.นั้น เพราะสนิทสนมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นการส่วนตัว เนื่องจากเคยเรียนวปอ.รุ่นเดียวกันมา ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยังยืนยันว่าไม่มีการส่งสมาชิกเข้าร่วมเป็นสปท.ในนามพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน

"มีชัย"ยังไม่ชี้ต้องมี"คปป."

      จากนั้นนายมีชัย แถลงว่า เชื่อมั่นในดุลพินิจของนายกฯและไม่มีเหตุผลจะปฏิเสธได้ ส่วนที่พูดกันว่ากรธ.ชุดนี้จะไม่เป็นตัวของตัวเอง รับคำสั่งคสช.ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อคนทั้งประเทศ ขณะนี้คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจตามรัฏฐาธิปัตย์ ต้องทำให้มีรัฐธรรมนูญ ตามกรอบที่บัญญัติไว้ในตามมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กรอบของ คสช. ซึ่งสรุปได้ 5 กรอบ 1.ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับนับถือของสากล 2.ให้มีกลไกปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 3.ให้มีมาตรการป้องกันการใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม 4.มีแนวทางการขจัดการทุจริต และ 5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน

      นายมีชัยกล่าวว่า จะเรียกประชุมกรธ.เป็นครั้งแรกในวันที่ 6 ต.ค. เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา โดยจะเริ่มปรึกษาหารือ เพราะเชื่อว่ากรธ.อีก 20 คน คงมีแนวคิดต่อการร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน จึงต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนจะมีแนวทางการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในรัฐธรรมนูญ ใหม่หรือไม่ ต้องพูดคุยกันก่อน


ตามโผ - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. แถลงหลังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ โดยพร้อมรับฟังทุกฝ่าย ที่อาคารรับรองเกษะโกมล เมื่อวันที่ 5 ต.ค.

ยันพร้อมฟังทุกความเห็น

     นายมีชัยกล่าวว่า ขณะนี้แนวคิดของประชาชนได้เปลี่ยนไปมากเพราะช่องทางการสื่อสารมีการพัฒนา ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ ให้ถูกใจคนทุกคนคงยาก แต่เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และทุกฝ่ายรับได้ ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นคนรุ่นเก่าที่ทันสมัย พร้อมเปิดใจรับฟังความเห็นคนอื่นและทุกฝ่าย

    นายมีชัย กล่าวด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่มีองค์กรใดมารองรับเหมือนครั้งที่แล้วที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาให้ความเห็นชอบ จึงคิดว่าประชามติเป็นของจำเป็นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งหลังจากได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเมื่อประกาศใช้ จะต้องใช้คะแนนของคนมาออกเสียงในการวัดผล ไม่ใช่นับจากคนทั้งประเทศ เพราะหากไม่มาออกเสียงต้องถือว่าสละสิทธิ์

วิษณุแจงตั้ง 9 กุนซือ"กรธ."

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษากรธ. 9 คนว่า กรธ.จะเป็นผู้พิจารณาและเชิญที่ปรึกษาได้ไม่เกิน 9 คน แต่ให้เผื่อคุณสมบัติผู้ที่เคยเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40,50 และร่างปี58 ซึ่งนายมีชัย บอกว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้คนที่เคยเป็นเลขานุการแต่ละชุดเข้ามา เพราะตัวเลขาฯจะรู้เนื้อหาทั้งหมดว่าแต่ละมาตราเป็นมาอย่างไร แต่จะเอาด้านอื่นมาก็ได้ ซึ่งที่ปรึกษาไม่มีส่วนร่างหรือโหวต อาจเสนอแนะหรือเล่าว่าที่ผ่านมาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร อยู่ที่กรธ.จะเอาอย่างไร

      ผู้สื่อข่าวถามว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรม นูญปี 40 มีโอกาสมาเป็นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่ว่าเชิญแล้วเขาจะมาหรือไม่ ถ้าเชิญแล้วไม่มาก็บังคับไม่ได้ ส่วนที่นายมีชัยระบุการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นนั้น ถือเป็นการคลายความกดดันต่อสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เขียนบังคับไว้ว่าให้รับฟังความคิดเห็นของครม. สนช. รวมถึงประชาชน ซึ่งนายมีชัย บอกกับที่ประชุมคสช.ว่าจะเริ่มฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ ใครอยากแนะนำก็แนะนำเข้ามาได้ แต่เมื่อร่างเสร็จแล้วจะมีการวิจารณ์เข้ามา และเป็นธรรมดาที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะเป็นบทเรียนของการร่างในครั้งนี้

ยันไม่มีใครกดดัน"มีชัย"ได้

     "ที่ผ่านมามีการให้อิสระร่างรัฐธรรมนูญยิ่ง นายมีชัยไม่มีใครไปกดดันท่านได้ และยิ่งไปต้องกลัวว่าจะมีใบสั่งแล้วให้ทำตาม ดีไม่ดีท่านเป็นคนสั่งแล้วให้คนอื่นทำตาม" นายวิษณุกล่าว

      นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ส่วนรายชื่อกรธ.ที่นายมีชัยเสนอเข้ามานั้น เป็นผู้ใหญ่ซี 10 ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เป็นกรรมการร่างกฎหมาย จะเข้ามาเป็นมือร่างกฎหมาย เพราะกรธ.คนอื่นได้แต่บอกความคิด แต่การให้เขียนภาษากฎหมาย ถ้าไม่ใช่มือกฎหมายก็เขียนไม่เป็น

       นายวิษณุกล่าวว่า มีบุคคลที่คสช.ติดต่อให้มาเป็นกรธ.นั้น มีหลายคนที่ทาบทามแต่ไม่รับ เพราะติดเงื่อนไขห้ามเล่นการเมือง ซึ่งเขาบอกตรงๆ ว่าถ้าห้ามเล่นการเมือง 2 ปี ก็ไม่ขอรับตำแหน่งเนื่องจากคิดว่าจะไปเล่นการเมือง

"บิ๊กป้อม"ปลื้มได้คนที่เหมาะสม

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงรายชื่อกรธ. ว่า เป็นเรี่องดีที่นายมีชัยตอบรับเป็นประธานกรธ. เพราะได้คนที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ หัวหน้าคสช.คาดหวังให้การร่างรัฐ ธรรมนูญเป็นไปตามโรดแม็ป คือร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นทำประชามติ 4 เดือน

    เมื่อถามว่าการเลือกนายมีชัยเข้ามา เพราะ คสช.มีตัวเลือกที่จำกัดหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ใช่ คสช.มีตัวเลือกมาก แต่คสช.เห็นชอบว่านายมีชัยเหมาะสม ส่วนที่มองว่าอาจไม่มีอิสระในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัยบอกแล้วว่าจะรับฟังความเห็นจากประชาชนให้มากที่สุดและจะทำงานในกรอบที่เคยทำมา ซึ่งเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง

      ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะไม่มีใบสั่งจากคสช.ใช่หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า คสช.จะไปสั่งเรื่องอะไร สมมติสื่อเป็นคสช.จะสั่งเรื่องอะไร ถ้าตอบว่าต้องการสั่งเรื่องปรองดองและปฏิรูปก็ตรงกับใจของตน

     เมื่อถามว่าแนวคิดตั้งคปป.จะนำมาเขียนไว้ในร่างใหม่ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังบอกไม่ได้เพราะนายมีชัย ต้องปรึกษากรธ.แต่ละคนที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าและรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมและดีที่สุดเท่าที่ทำได้

บิ๊กตู่ชี้กม.ทำให้ทุกคนเท่าเทียม

     ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงไม่อยากให้ใครออกมาหยิบประเด็นต่างๆ เคลื่อนไหวทั้งสิ้น พวกตนไม่ได้เป็นผู้ที่จงรักภักดีหรือรักประเทศชาติมากกว่าคนอื่น รักเท่ากับทุกคนที่เป็นคนไทย กฎหมายคือกฎหมาย ต้องทำกฎหมายเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข กฎหมายคือการทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ปฏิบัติตัวภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ฉะนั้นใครที่รู้ว่ากฎหมายเขาเขียนอะไรไว้ แล้วยังแหกกฎกติกาอยู่เสมอ อยากให้ทุกคนดูว่าจะทำอย่างไร ไม่ต้องการให้มาทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่อยากให้เตือนเขาว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไร

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ตนอยากจะเตือนแต่ทุกครั้งที่พูดไปก็มีปัญหาตลอด กรณีของสื่อและจรรยาบรรณสื่อ บางเครือก็ยังเหมือนเดิม แล้วบอกว่าตนไปละเมิดจรรยาบรรณ ดูแล้วกันว่าเขียนอะไรกันออกมา เดี๋ยวคงต้องคุยกัน เพราะประเทศชาติไม่ได้อะไรเลย ช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 เขียนเล่นงานอีกข้างหนึ่ง วันนี้มาเล่นงานตน มันอะไรกัน เขียนแต่สิ่งที่มันเป็นปัญหา ให้ตนมาแก้เรื่องเดือดร้อนต่างๆ ประเด็นการเมืองตนก็แก้ให้ เรื่องทุจริต การวางโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ก็ทำให้ แล้วจะเอาอะไรจากตนอีก ตนไม่เข้าใจ การเลือกตั้งมันมีเวลาของมันอย่างชัดเจนว่าจะเมื่อไรอย่างไร การเลือกตั้งก็เลือกไป แต่ก็เลือกให้ดี อย่าให้พวกตนเดือดร้อนอีกก็แล้วกัน ช่วยกันหน่อย ช่วย คสช.ทำเพื่อแผ่นดิน

เปิดสภารับ"สปท."รายงานตัว

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. นายมีชัย ได้เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อตรวจดูความพร้อมและความเรียบร้อยของห้อง ประชุมกรธ. ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 รวมถึงห้องทำงานส่วนตัว ที่ตั้งตรงข้ามห้องประชุม กรธ. ก่อนเดินทางกลับออกไป


ปรับฮวงจุ้ย - จนท.ปรับภูมิทัศน์ภายใน บก.ทบ. ทุบกำแพงหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้าหอประชุมกิตติขจร ตามคำสั่งของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.คนใหม่

     ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสปท.และกรธ. ได้เตรียมความพร้อมสถานที่ประชุมสปท.และกรธ.ไว้แล้ว รอให้คสช. ประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาจะเปิดให้สมาชิกสปท.มารายงานตัวได้ทันที โดยจัดเตรียมสถานที่รับรายงานตัวของสมาชิก สปท. ไว้ ที่ห้องโถงอาคารรัฐสภา 1

      นายจเร กล่าวว่า การเปิดให้สมาชิกสปท.รายงานตัวเป็นเพียงกระบวนการทางธุรการ หากมีสมาชิกมารายงานตัวในจำนวนหนึ่งที่เหมาะสม ทางสำนักงานเลขาธิการสภาจะประสานงานภายในเพื่อกำหนดวันประชุมสปท.นัดแรก เพื่อเลือกประธานสปท. 1 คน และรองประธานอีก 2 คนต่อไป ส่วนกรธ. ได้รับการประสานว่าจะประชุมนัดแรกในวันที่ 6 ต.ค.เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา

แจงเบี้ยประชุม"กรธ-สปท."

    เมื่อถามว่าเงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ของสปท.และกรธ.ยังได้รับเท่าเดิมหรือไม่ นายจเรกล่าวว่า กรธ.ได้รับเบี้ยประชุมเท่ากับคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่า แต่สปท.ต้องรอดูประกาศคำสั่งแต่งตั้งของคสช.ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้หรือไม่ต่อไป

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าตอบแทนของกมธ.ยกร่างฯชุดเก่า ถูกกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ.2557 โดย กมธ.ยกร่างฯได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท ผู้ทําหน้าที่ประธานได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีก 3,000 บาท วันใดมีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว

อภิชาตชี้ต้องฟังทุกภาคส่วน

      นายอภิชาต สุขัคคานนท์ กรธ. อดีตประธาน กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรธ.ว่า ยังไม่ได้วางโจทย์ร่างรัฐธรรมนูญเพราะทราบเรื่องกะทันหัน ไม่คิดว่าจะได้รับความไว้วางใจ ต้องขอขอบคุณ ทั้งนี้ไม่หนักใจจะทำงานตรงไปตรงมาให้ดีที่สุด และใช้ความรู้ความสามารถในทุกด้าน รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด รวมทั้งประชาชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญในการให้ความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

      นายอภิชาต กล่าวต่อว่า ตนตอบรับในขณะที่ขับรถอยู่ แล้วจอดรถข้างทาง คิดว่าท่านให้เกียรติและให้ความสำคัญ และเห็นว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วยังมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ต้องดำเนินการต่อไป เท่าที่เห็นรายชื่อ กรธ. มีนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต. มาร่วมด้วยก็คงช่วยกันทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้เห็นว่าควรนำร่างกฎหมายลูกที่กมธ.ยกร่างฯ ชุดที่นายบวรศักดิ์ ศึกษาไว้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

       เมื่อถามว่าควรกำหนดการเลือกตั้งส.ส. ระบบสัดส่วนผสมไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายอภิชาตกล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน ต้องหารือกับ กรธ.ก่อน แต่เท่าที่เคยศึกษามาจากประเทศเยอรมัน ก็พบว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ชาติชายลั่นไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

     นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่จากคสช. มาทาบทามให้เป็นกรธ. เนื่องจากเห็นว่าตนเคยทำงานด้านปฏิรูปกับสปช.มาก่อน ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรม นูญไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์เพราะยังมีรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ให้ศึกษา อีกทั้งยังมีร่างฉบับนายบวรศักดิ์ ที่มีข้อคิดเห็นและข้อดีที่นำมาใช้ได้ในหลายอย่าง ตอนนี้เห็นว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเยอะไปหมด จึงอยู่ที่กรธ.จะหาทางอย่างไรให้นำเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์มาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ และเห็นว่าเรื่องสำคัญคือระบบการเลือกตั้ง จะต้องมีกลไกให้มีตัวแทนหลากหลายจากทุกภาคสังคม โดยเฉพาะพรรคการเมือง ต้องได้ตัวแทนเป็นคนดีและมีคุณธรรม และประชาชนจะต้องเข้าใจในระบบเลือกตั้งอย่างถ่องแท้ ได้รับข้อมูลพื้นฐานของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ให้ประชาชนมาเลือกตั้ง กากบาทแล้วจบ

      นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนคปป. ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกว่าบันไดหนีไฟ ควรมีการวางกรอบในระยะสั้น กำหนดเวลาให้ชัดเจน ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว คือต้องมีทางออกโดยสันติวิธี ให้กลไกที่วางไว้นำไปสู่ความคิด การปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นขั้นตอน ส่วนการปฏิรูปก็ต้องทำต่อไป

อมรเชื่อรธน.จะผ่านประชามติ

      นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรธ. กล่าวว่า กรธ.จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งมีแตกต่างหลากหลาย ถือเป็นหน้าที่ของ กรธ.จะต้องผสานแนวความคิดของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน ส่วนที่มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่ควรจะมีเนื้อหาในส่วนของคปป.นั้น ตนเห็นว่าเรื่องการปรอง ดองถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ตนไม่เห็นด้วยที่กมธ.ยกร่างฯชุดที่แล้ว จะไปตั้งองค์กรดังกล่าว ดังนั้น กรธ. จะต้องหารูปแบบหน่วยงานที่จะทำงานปรองดอง ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น

      นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ. กล่าวว่า ดีใจ ซึ่งรู้ล่วงหน้ามาพอสมควร แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เชื่อว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการทำประชามติ ทั้ง 21 คนยอมรับว่ารู้จักกันเกินกว่าครึ่ง จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน และในช่วงที่ตนเป็นสมาชิกสปช.ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ จนทะลุปรุโปร่งแล้ว และไม่จำเป็นจะต้องคัดลอกร่างฉบับของนายบวรศักดิ์มาก็ได้ เนื่องจากครั้งนี้มีเวลาร่างถึง 180 วัน ซึ่งมากพอสมควร และความรอบรู้ของ กรธ.แต่ละคนน่าจะสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ส่วนประเด็นปฏิรูปอาจบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที

สนช.พร้อมสนับสนุน"กรธ."

      นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เชื่อว่ากรธ. ที่มีนายมีชัย เป็นประธาน จะร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากกมธ.ยกร่างฯ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน เนื่องจากกรอบการร่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 35 โดยสนช.จะช่วยส่งเสริมการทำงานของ กรธ. ด้วยการรับฟังความคิดเห็น ส่งเป็นข้อมูลข้อเสนอแนะให้กรธ. ส่วนประเด็นคปป.นั้น มีเผื่อไว้ใช้สำหรับสถานการณ์พิเศษ ก็ควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น

     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. กล่าวถึงกรณีมีพล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ ตัวแทนจากสนช.เพียงคนเดียวในกรธ.ว่า ไม่เป็นปัญหา แค่คนเดียวก็เชื่อมโยงการทำงานได้ สิ่งสำคัญคือเราได้คนที่เข้าใจและมีเวลาไปร่วมร่างรัฐ ธรรมนูญ ซึ่งต้องทำให้เสร็จใน 180 วัน ส่วนสนช.จะช่วยเป็นฐานรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นไปให้ โดยกมธ.นัดประชุมเพื่อเตรียมพร้อมทำงานควบคู่กับกรธ.ในสัปดาห์หน้า เพราะหากรอให้สรุปประเด็นทั้งหมดแล้วส่งไปกรธ.ทีเดียวในภายหลัง เกรงว่าข้อเสนออาจเป็นหมันได้

พท.เสนอเปิดเวทีฟังประชาชน

      นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรธ.ชุดใหม่ว่า ดูหน้าตาแล้วแต่ละคนเป็นนักกฎหมาย เข้าใจว่าคงมาตามคำแนะนำของนายมีชัย ซึ่งเมื่อชัดเจนแล้วว่าใครรับผิดชอบ ขอฝากความหวังไว้กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากออกมาไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ ก็จะเป็นปัญหาต่อไปอีก การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะร่างเสร็จก็ทำประชามติเลย และยังเป็นบทพิสูจน์ว่านายมีชัยจะร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดมั่นประชาธิปไตย ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อลูกหลานในอนาคต หรือร่างภายใต้บงการของฝ่ายใดหรือไม่ วันนี้สังคมคงจะจับตาดูแต่ละมาตรา ซึ่งต้องอธิบายให้ได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ขอให้กำลังใจกรธ.ทั้ง 21 คน

      นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พท. กล่าว่า นายมีชัยได้รับเลือกให้เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ จากประสบการณ์จะทราบดีว่าควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาอย่างไร ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชา ธิปไตย เป็นที่ยอมรับทั้งจากในประเทศและนานาชาติ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าทำแค่รับใช้กลุ่มบุคคลใด ดังนั้นขอให้นายมีชัยมีจุดยืน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นฉบับภาคบังคับ หากประชาชนไม่ยอมรับ ประเทศจะเสียหายใหญ่หลวง ที่สำคัญนายมีชัยไม่ควรสานต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 เพราะมีลักษณะรวบอำนาจ ถ้าจะให้ดีควรเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดมาปรับใช้กับร่างรัฐธรรมนูญ หากทำดี คนก็เคารพนับถือ หากทำเสียจะกลายเป็นตราบาปในหัวใจของประชาชนไปตลอด

"มาร์ค-กปปส."เชื่อมั่น"มีชัย"

     นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติจะเห็นว่ากรรมการทุกคนโดยเฉพาะนายมีชัย เป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และมีต้นทุนทางสังคมสูง เชื่อว่ากรธ.ชุดนี้มีศักยภาพและความสามารถเกินพอสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสังคมไทย ในส่วนกปปส. เราเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างหลักประกันการปฏิรูปไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีกลไกไว้แก้วิกฤตของชาติ ไม่ให้กลับมาสู่วังวนของปัญหาเดิม

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นายมีชัยได้ให้ความชัดเจนว่ากรอบการทำงานที่คสช.มอบให้คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ให้ความสำคัญกับการทำประชามติและหลักการยอมรับที่ต้องเป็นสากล โดยเริ่มแจกแจงปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องทุจริต และประชานิยมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร คิดว่าถ้ากรธ.ทำตามเนื้อหาสาระแบบนี้ น่าจะดีกว่าการคิดแค่ว่าใครจะเข้ามาคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้ากรธ.ทั้ง 21 คน ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระตรงนี้และรับฟังความคิดเห็น โดยผ่านประชามติ น่าจะเป็นทิศทางที่ดี แต่ขอให้รับฟังเหตุผลให้มาก เพื่อพิจารณาสิ่งที่เป็นความคิดเห็นต่างๆ ก็จะใช้ได้

หึ่งบิ๊กหมูไล่รื้อคำสั่งบิ๊กโด่ง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผบทบ. มีคำสั่งให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ภายในกองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) โดยทุบกำแพงฉากหลัง พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้าหอประชุมกิตติขจร ที่สร้างขึ้นสมัยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพื่อให้สวยงามและกั้นไม่ให้เห็นชั้นล่างหอประชุมกิตติขจร ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา เนื่องจาก พล.อ.ธีรชัย ต้องการให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ช่วงสมัยเป็นโรงเรียนนายร้อย จปร.เดิม

      ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารช่างได้นำแผ่นฝ้ามาปิดทับบ่อน้ำพุ และให้รถยนต์ของกำลังพล และผู้มาติดต่อราชการได้จอดรถบริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งบ่อน้ำพุนี้จัดสร้างสมัยที่พล.อ.อุดมเดช เป็นผบ.ทบ. ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค. พล.อ.ธีรชัยจะประกอบพิธีบวงสรวงพระ บรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพื่อเป็นสิริมงคล

ผบ.ทบ.โยกย้ายระดับ"พอ."

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ลงนามในคำสั่งกองทัพบกที่ 582/2558 เรื่องให้นายทหารรับราชการและปรับระดับเงินเดือน ซึ่งเป็นตำแหน่งนายทหารระดับคุมกำลังของกองทัพบก โดยมีตำแหน่งสำคัญๆ ดังนี้ พ.อ.ธิติพันธ์ ฐานะจาโร ลูกชายพล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผบ.ทบ.เป็นรอง ผบ.พล.ร.11 พ.อ.มนัส จันดี เป็นรองเสธ.ทภ.1 พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ นายทหารคนสนิทพล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยผบ.ทบ.ได้เป็น รองผบ.พล.1 รอ. พ.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง เป็น รองผบ.พล.ร.2 รอ.

      พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ นายทหารคนสนิทพล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ป.1 รอ. แทน พ.อ.คชาชาติ บุญดี ผบ.ป.1 รอ. นายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลความสงบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณจุดสำคัญๆ อาทิ ทำเนียบรัฐบาล มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีคำสั่งที่ 579/2558 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 ลงนามโดยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ขณะนั้น ให้ไปดำรงตำแหน่ง รองผบ.มทบ.11 แต่กลับถูกโยกกลับไปเป็นนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำทภ.3

ป้อมยัน"โด่ง-หมู"ไม่ขัดแย้ง

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพล.อ.ธีรชัย มีคำสั่งปรับย้ายนายทหารกองทัพบกที่พล.อ.อุดมเดช ลงนามคำสั่งไว้ก่อนเกษียณอายุราชการ ว่า การโยกย้ายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน เพราะทั้ง 2 เป็นเพื่อนกันมานานแล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต.) ที่มีพล.ประวิตร เป็นประธาน ระหว่างที่พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์นั้น พล.อ.อุดมเดช และพล.อ.ธีรชัย ต่างยืนอยู่คนละมุม เมื่อพล.อ.ประวิตร เดินไปขึ้นรถยนต์ส่วนตัวที่จอดรออยู่ด้านหน้าตึกบัญชาการ ทั้งสองคนได้เดินมาส่งพล.อ. ประวิตร ซึ่งทั้งคู่มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร อย่างเป็นกันเอง โดยพล.อ.อุดมเดช ได้หันมาจับแขนพล.อ.ธีรชัย ภายหลังการพูดคุยด้วย

 

ตั้ง 21 กรธ. 'มีชัย'นั่งปธ. เฟ้นทีมเอง เร่ง 4 เดือนร่างรธน.เสร็จ กฤษฎีกา-นักกม.ทหาร อจ.-สื่อ-กกต.ร่วมด้วย ถกวันนี้-ยึดกรอบ 5 ข้อ เปิด 200 สปท.-ขรก.อื้อ 61สปช.เฮได้กลับสภา

     'บิ๊กตู่'ประชุม คสช.ก่อนเคาะรายชื่อ 21 กรธ.-200 สปท. ย้ำร่าง รธน..ต้องกระชับให้จบก่อน 180 วัน อ้างได้แจ้งโรดแมปต่อที่ประชุมยูเอ็นไปแล้ว 'มีชัย'ตอบรับเป็นประธาน กรธ. พร้อมทำตามกรอบและประชามติยึดคนมาออกเสียง

มติชนออนไลน์ : ฟิต - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. แถลงภายหลัง คสช.แต่งตั้งเป็นประธาน กรธ. โดยจะเริ่มประชุม กรธ.นัดแรกวันที่ 6 ตุลาคมนี้ที่รัฐสภา และจะยกร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบความมุ่งหมาย 5 ข้อของ คสช. ที่บ้านเกษะโกมล เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม

@ บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะเคาะ"กรธ.-สปท."

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช.เพื่อคัดเลือกรายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและรองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯและรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรองหัวหน้าคสช. รวมถึงสมาชิก คสช. ได้แก่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นเพียงแต่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมและสมาชิก คสช. ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าวและบันทึกภาพภายใน อนุญาตให้เฝ้าสังเกตการณ์ได้เฉพาะบริเวณฝั่งตรงข้ามทางเข้า-ออก ด้านหน้าอาคารรับรองเกษะโกมล ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้ เมื่อขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมายังอาคารรับรอง บ้านเกษะโกมล เวลา 08.50 น. โดยมีรถของนายมีชัยตามขบวนรถของนายกฯเข้ามาด้วย

@ "มีชัย"เป็นประธานกรธ.ตามคาด

      เวลา 10.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม คสช.ว่า ที่ประชุม คสช.มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้ง กรธ. 21 คน ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ส่วนกรรมการ กรธ. 20 คน ประกอบด้วย 1.นางกีระณา สุมาวงศ์ อดีตนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2.นางจุรี วิจิตรวาทการ อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 3.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และอดีตสมาชิก สปช. 4.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 5.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 

      6.นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง 7.นายนรชิต สิงหเสนี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 8.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และสมาชิก สนช. 9.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 10.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตอัยการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

@ ครบถ้วนทั้งกกต.-ทูต-นักวิชาการ

      นายวิษณุ กล่าวต่อว่า 11.นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 12.นายภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 13.พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก 14.นายศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์ประจำคณรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิก สปช. 15.นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตเอกอัครราชทูตและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

      16.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตประธาน กกต. 18.นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกาและอดีตประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตกรรมาธิการร่าง ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 20.พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรรมการกฤษฎีกา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

@ นัดประชุมทันทีที่รัฐสภา6ต.ค.

      นายวิษณุกล่าวอีกว่า จำนวนรายชื่อ กรธ.ทั้ง 21 คน แบ่งออกเป็น ผู้จบปริญญาเอก 6 คน จบปริญญาโท 9 คน จบปริญญาตรี 5 คน เนติบัณฑิตอังกฤษ 1 คน ทั้ง 21 คน เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมาย 13 คน การเมืองรัฐศาสตร์ 3 คน ด้านสังคมไทย 1 คน ด้านการต่างประเทศและการทูต 2 คน ด้านนิเทศศาสตร์ 1 คน และด้านความมั่นคง 1 คน ทั้งนี้ กรธ.ทั้ง 21 คน ไม่มีผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนที่สิ้นสุดลงแม้แต่คนเดียว และไม่มีผู้ใดที่เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในส่วนของ สนช.มีเพียงคนเดียวเท่านั้นคือ พล.อ.นิวัติ เพื่อเป็นช่องทางในการประสานเตรียมแนวทางการออกกฎหมายลูก หัวหน้า คสช.ได้ลงนามแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว นับแต่บัดนี้ไปสามารถทำงานได้ โดยในวันอังคารที่ 6 ตุลาคม เวลา 13.30 น. จะนัดประชุมกรธ.ทั้ง 21 คน ที่ห้องพิจารณางบประมาณ อาคาร 3 รัฐสภา

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรธ.ทั้ง 21 คน จำแนกเป็น ผู้ชาย 19 คน ผู้หญิง 2 คน แยกเป็นสายกรรมการกฤษฎีกา 6 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 คน สื่อมวลชน 1 คน อดีต ส.ว. 1 คน อดีต สปช. 4 คน อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน อดีต กกต. 2 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ความมั่นคง และการต่างประเทศ 5 คน กรธ.ที่มีอายุมากที่สุดคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อายุ 77 ปี ส่วนอายุน้อยที่สุดคือ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อายุ 47 ปี เมื่อนับอายุ กรธ.ทั้ง 21 คน อายุรวมกันคือ 1,295 ปี

@ แจงสัดส่วน"สปท."200คน 

     นายวิษณุกล่าวต่อว่า สำหรับสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้งทั้ง 200 คนเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นสุภาพสตรี 17 คน สุภาพบุรุษ 183 คน คัดเลือกจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มา 61 คน ทั้งผู้ที่ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องโควต้าหรือรางวัลแต่อย่างใด และมีข้าราชการเกษียณอายุแล้ว 25 คน ข้าราชการอยู่ในราชการ 23 คน ข้าราชการตำรวจ ทหาร ทั้งที่เกษียณและไม่เกษียณ 49 คน นักวิชาการ 13 คน นักการเมืองหรือกลุ่มมวลชนทางการเมือง 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ 19 คน ในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำโรดแมปของ คสช. โดยเฉพาะเรื่อง 6-4-6-4 ขอให้รักษากรอบเวลานี้ เป็นไปได้ทำให้กระชับ สั้นลงหรือน้อยกว่านี้ เพราะโรดแมปได้นำไปแจ้งต่อที่ประชุมสหประชาชาติแล้ว นอกจากนี้ย้ำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ขอให้มีความหลากหลาย รับฟังกว้างขวาง ตรงกับแนวทาง กรธ.อยู่แล้ว

@ อดีตสปช.-กมธ.ยกร่างนั่ง"สปท."

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 5 ตุลาคม เรื่องแต่งตั้ง สปท. 200 คน แบ่งกลุ่มดังนี้ อดีต กมธ.ยกร่างฯ อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายกอบศักดิ์ ฟูตระกูล นายคำนูณ สิทธิสมาน นางถวิลวดี บุรีกุล พล.อ.นคร สุขประเสริฐ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, อดีต สปช. อาทิ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก นายอลงกรณ์ พลบุตร นายคุรุจิต นาครทรรพ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายอำพล จินดาวัฒนะ นายดุสิต เครืองาม นายชูชาติ อินสว่าง พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายวันชัย สอนศิริ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ และนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นต้น 

     พรรคการเมืองได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์มีนายกษิต ภิรมย์ พรรคชาติไทยพัฒนามีนายนิกร จำนง พรรคภูมิใจไทย นายชัย ชิดชอบ พรรคชาติพัฒนา พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พรรคเพื่อไทยมีนายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตที่ปรึกษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังชล (พช.) นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส่วนกลุ่มการเมือง กปปส.มีนายวิทยา แก้วภราดัย และกลุ่มพันธมิตรมีนายศิริชัย ไม้งาม แกนนำรุ่น 2 เป็นต้น 

@ มีชื่อ"ปิติพงศ์-อัศวิน-ปานเทพ"

     กลุ่มข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร ทั้งที่เกษียณอายุและยังอยู่ในราชการ อาทิ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ อดีต ผบ.ทร. นางนรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการวุฒิสภา นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์

      อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายอนุสิษฐ คุณากร อดีตเลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีต ผบช.ภ.1 พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผู้ช่วย ผบ.ตร.

@ "มีชัย"เปิดใจ-นายกฯเชิญนั่งปธ.

      ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้กล่าวหลังที่ประชุม คสช.มีมติให้เป็นประธาน กรธ.ว่า ถือเป็นโอกาสดีที่มาพบกับสื่อมวลชนอีกครั้ง เพราะได้ปฏิเสธและหลบหลีกกันเรื่อยมา ก่อนหน้านี้ยังไม่พูดอะไร เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนทั้งหลายยังไม่ยุติและยังไม่เป็นทางการ การออกมาพูดอะไรจะกลายเป็นการเดาสุ่มหรือทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นได้ เรื่องที่จะมาเรียนให้ทราบมี 2 เรื่อง คือ มีคนถามและสงสัยกันมากว่าส่วนตัวจะรับหรือไม่รับ และหากรับรับด้วยเหตุผลอะไร 

"เรื่องนี้วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญผมไปพบ ชวนมาทำงานในฐานะประธาน กรธ. ผมได้ถามว่า มีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องให้มาทำ นายกฯตอบว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อนายกฯในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดและเป็นผู้ที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้ลุล่วงไปยืนยันว่ามีความจำเป็น ผมก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่สมควรจะไปซักไซ้ให้มากไปกว่านี้ ต้องเชื่อในดุลพินิจของท่าน ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ จึงไม่อาจเห็นแก่ความสุขความสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ ไม่เช่นนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพวกที่ไม่รู้จักทดแทนคุณของแผ่นดิน รู้อยู่ว่างานครั้งนี้ไม่ง่าย

และมีอุปสรรคไม่น้อย เมื่อนึกว่าทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทำให้ประเทศเดินหน้าได้ก็ต้องทนและทำ ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เหตุที่จะต้องรอถึงวันนี้จนมา

เปิดเผยเพราะมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะแต่งตั้งคือ คสช. จึงต้องรอ คสช. นายกฯได้ทำตามพิธีการ เมื่อมีการประชุมท่านก็ถามอีกครั้งหนึ่งว่า ผมรับได้หรือไม่ ได้เรียนกับนายกฯว่าตกลงรับได้" นายมีชัยกล่าว

@ ร่างกม.ตามกรอบ5ข้อใหญ่คสช.

"อีกประเด็นที่มีคนสงสัยหรือคาดเดาต่างๆ นานาว่า ในที่สุดผมจะไม่เป็นตัวของตัวเอง และคงต้องร่างไปตามที่มีผู้สั่ง ขอเรียนตามตรงว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีใครสามารถร่างตามใจปรารถนาของตัวเองได้ อย่างที่จะเรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ได้ร่างเก็บไว้ใช้ที่บ้าน แต่เป็นการร่างเพื่อไปใช้กับคนทั้งประเทศ" นายมีชัยกล่าว และว่า ฉะนั้น จึงต้องมีกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรอบอันแรกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ กรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บังคับว่า กรธ.จะต้องร่างให้ครบถ้วนจึงต้องทำตามนั้น ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ กรอบที่ 2 คือ คสช.เป็นผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์และมีภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง จึงต้องถามไถ่ คสช.ว่ามีกรอบหรือความคิดอย่างไร 

นายมีชัยกล่าวต่อว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามความมุ่งหมายของ คสช.มี 5 ประการคือ 1.ให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับนับถือของสากลและในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศไทยและคนไทย 2.ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ 3.ให้มีมาตรการป้องกัน ไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชน เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยไม่ได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีกินดีในระยะยาวจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้ 4.มีแนวทางขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล และ 5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญ และการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม

@ "มีชัย"เปลี่ยนบางคน-คสช.ไฟเขียว

"สำหรับผู้ที่ถูกคัดเลือกเป็น กรธ.ทั้ง 20 คน คสช.และรัฐบาลได้ร่วมกันพิจารณาและให้ผมดู ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงบางท่านที่ผมคิดว่าน่าจะมีคนอื่นมาแทนเพื่อให้ได้องค์ประกอบที่ครบถ้วน ทางรัฐบาลและ คสช.ก็ไม่ได้ขัดข้องได้เปลี่ยนแปลงให้ คนที่ถูกเปลี่ยนแปลงออกไปไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีแต่อาจจะเป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อนกันมากเกินไป ส่วนจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมาปรับแก้หรือพิจารณาใหม่หรือไม่ คงต้องปรึกษากับ กรธ.ทั้ง 20 ท่านก่อนเพราะหากผมตัดสินใจไปก็จะกลายเป็นการผูกมัด เพราะแต่ละคนคงมีแนวคิดแตกต่างกันไป" นายมีชัยกล่าว และว่า สำหรับ กรธ.ชุดใหม่จะเริ่มประชุมกันนัดแรกในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา จะต้องประชุมกันทุกวัน เพราะมีระยะเวลาสั้นมากไม่ใช่คิดและร่างอย่างเดียว แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะใช้ร่างเดิมหรือจะพิจารณาร่างขึ้นใหม่ นายมีชัยกล่าวว่า คงต้องปรึกษากับคณะ กรธ.ทั้ง 20 คนก่อน เพราะถ้าตัดสินใจไปก็จะกลายเป็นการผูกมัด แต่ละคนคงมีแนวคิดต่างๆ นานา ส่วนวันนี้คงเริ่มประชุมหรือเริ่มทำงานกันไม่ทัน จะเรียกประชุมตั้งแต่พรุ่งนี้ (6 ตุลาคม) เวลา 13.30 น. เนื่องจากต้องประชุมกันทุกวัน ระยะเวลาสั้นมาก ไม่เฉพาะเวลาการคิดการร่างอย่างเดียว แต่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ด้วย

@ ระดมความคิดเห็น-ทำโมเดล

เมื่อถามว่า กรอบในการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.ดูจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการให้มีความเห็นของคนส่วนรวม จะมีแนวทางอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า คิดว่าคณะ กรธ.คงต้องระดมความคิดเห็น ในส่วนคณะกรรมการและในส่วนของบุคคลที่จะไปปรึกษาหารือ หรือคนที่จะไประดมความคิดเห็นกันมา แล้วต้องทำโมเดลขึ้นมาก่อนว่าทำอย่างนี้อย่างนั้นดีหรือไม่ แล้วค่อยหาหนทางที่จะไปรับฟังว่าคนอื่นคิดเห็นอย่างไร ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยมีในร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯนั้น ในร่างใหม่นี้ ตอนนี้ยังมองอะไรมากไม่ได้ ต้องไปคุยกันก่อนในคณะ กรธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างไรบ้างในแง่ความกดดันที่จะมีในอนาคต นายมีชัยกล่าวว่า แนวคิดและความคิดของประชาชนเปลี่ยนไปมาก ที่สำคัญคือช่องทางการสื่อสารระหว่างกันของประชาชนพัฒนาไปมากจนกระทั่งความคิดต่างๆ มันอาจจะหลั่งไหลพรั่งพรูได้ในหลายรูปแบบ และหลายวิธีการ เพราะฉะนั้นการที่จะทำร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจคนทุกคนคงยาก ปัญหาความยากอยู่ที่ว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ประเทศเดินไปได้ และพอรับกันได้ในทุกฝ่าย ตรงนั้นถือเป็นความยาก ยากกว่าที่เคยทำมาในอดีต

@ ชี้ต้องทำประชามติ-นับคนโหวต

เรื่องของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าต้องมี เพราะว่า กรธ.เมื่อร่างเสร็จไม่มีองค์กรใดมารองรับ อย่างคราวที่แล้ว เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ เมื่อร่างเสร็จยังมี สปช.มารองรับคอยโหวตว่าเอาหรือไม่เอา แต่ครั้งนี้ ทั้ง 21 คน ตัดหางปล่อยวัดเลย แล้วถ้าขืนเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จมาใช้เลยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าการทำประชามติยังเป็นของจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะต่อไปเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งปวงจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดการที่จะให้คนปฏิบัติตามได้ ก็ต้องรับรู้และคนส่วนใหญ่ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยถึงจะทำได้ ส่วนเกณฑ์การนับคะแนนของการทำประชามตินั้น คงต้องนับจากผู้มาออกเสียง ใครไม่มาออกเสียงก็ถือว่าสละสิทธิ ในกรรมการทั่วๆ ไปในเวลาลงคะแนนก็มักใช้คะแนนของผู้ที่มาออกเสียง แล้วคนส่วนใหญ่บางทีไม่มาใช้สิทธิหรือไม่กล้าออกเสียง ผมมักจะเรียกว่า โมฆบุรุษ คนพวกนี้จึงนับไม่ได้" นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่า มีคนมองว่า นายมีชัยเป็นคนรุ่นเก่าแล้วการร่างในแนวทางใหม่ๆ จะไปได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า "บังเอิญเป็นคนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างจะทันสมัย เพราะใช้เว็บไซต์ตั้งแต่พวกคุณยังไม่ใช้เลยด้วยซ้ำ 

แต่ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้คนรุ่นไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคุณเปิดใจกว้างรับฟังคนอื่นหรือไม่ คนบางคนดูเหมือนรุ่นใหม่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่ใครไปมีความเห็นแย้งกับเขาหน่อยจะถูกด่าเสียคนเลย แต่ตนไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะบอกอะไรก็ได้ก็เอากลับไปคิด ถ้าคิดแล้วว่ามันดีก็เอาไปทำ แต่ถ้าคิดแล้วว่ามันไม่ดี มันมีช่องว่างช่องโหว่หรือมีจุดร้ายมาก เราก็ทิ้งไป การฟังคนอื่นเสนอแนะไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องดี การพูดมากๆ เสียอีกที่ไม่ดี"

@ ยันต้องร่างให้เสร็จก่อน180วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ คสช.ให้แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญมา 5 ข้อ หลังจากนี้ คสช.ไม่จำเป็นที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวในส่วนนี้แล้วใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า "เราก็จะต้องพิจารณาไปตามแนวทางนี้ ส่วนอื่นๆ ที่ กรธ.พิจารณาเห็นว่ามันเหมาะสมและดีก็สมควรใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ต่อไปจำเป็นต้องมีคณะอนุกรรมการที่จะดูในแต่ละด้านหรือไม่นั้นคงต้องไปคิดกันว่าจะทำในรูปแบบใด ต้องรอการประชุมครั้งแรกในวันที่ 6 ตุลาคม ที่รัฐสภา เพื่อจะวางกฎเกณฑ์ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้บอกไว้ด้วยว่าในระหว่างการร่าง จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของ สนช. คสช. และองค์กรต่างๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กรธ.กำหนด" 

เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาเต็ม 180 วันเลยหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ทำจริงๆ ต้องเสร็จก่อน จะต้องส่งไปให้แต่ละฝ่ายดูเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วจึงนำกลับมาแก้ แต่ตรงนั้นน่าเป็นห่วงที่สุดว่ามันจะทำให้ระยะเวลาการทำงานน้อยลง เวลาส่งไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจะให้เวลาสั้นๆ คนที่รับไปก็จะลำบาก ถ้าให้เวลายาวนักก็จะไม่มีเวลา ฉะนั้นตรงนี้ต้องไปกะเวลากันให้ดีว่าจะทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.30 น. ภายหลังร่วมประชุม คสช. นายมีชัยได้เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อตรวจดูความพร้อมของห้องประชุม กรธ.ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 รวมถึงห้องทำงานส่วนตัวอยู่ตรงข้ามห้องประชุม กรธ. 

@ "มีชัย"เลือกกรธ.สายกฎหมายเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อ กรธ.ที่ คสช.แต่งตั้งมานั้น นายมีชัยเป็นผู้คัดเลือก โดยโทรศัพท์ไปทาบทามอดีตนักกฎหมายด้วยตัวเอง เนื่องจากคุ้นเคยและเคยร่วมงานในการยกร่างกฎหมายด้วยกันมา อาทิ นายธนาวัฒน์

สังข์ทอง นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การแต่งตั้ง สปท.ทั้ง 200 คน ที่มีรายชื่อทั้งอดีตนายทหาร ข้าราชการระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมืองนั้น ขั้นตอนหลังจากที่ สปท.รายงานตัวต่อสำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว จะมีการเรียกประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปท. รายชื่อของ สปท.ที่คาดว่าจะได้รับเลือกเป็นประธาน สปท.คือ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญและอดีต สปช. เนื่องจากจะมาสานต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่อดีต สปช.ได้จัดทำเป็นรายงานในแต่ละด้านไว้แล้ว อีกทั้งยังรับทราบถึงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของ คสช.เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังมีชื่อของนายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานการประชุมสภาเป็นอย่างดี ที่อาจจะได้รับเลือกเป็นรองประธาน สปท.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายภัทระ คำพิทักษ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรธ. เตรียมลาออกจากตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และบรรณาธิการนสพ.ไทยโพสต์ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรธ. โดยเปิดเผยวา นายมีชัย ได้ชักชวนให้ไปร่วมทำงาน 

@ "สุชน"เล็งแจงท่าที6ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) กำลังดำเนินการตรวจสอบความเป็นสมาชิกพรรคของนายสุชน ชาลีเครือ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น สปท. พท.ยืนยันว่า หากนายสุชนยังเป็นสมาชิกพรรคต้องลาออกจากสมาชิกพรรคตามที่หัวหน้าพรรค พท.ได้แถลงไว้

ผู้สื่อข่าวยังได้โทรศัพท์ถึงนายสุชน ซึ่งกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะขอให้ข่าวในวันที่ 6 ตุลาคม ขณะนี้ตนไม่สะดวกและยังไม่ทราบรายละเอียดรวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ

สำหรับนายสุชน เป็นเพื่อนเรียน วปอ.รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

@ อดีตกกต.ไม่หนักใจ-ตรงไปตรงมา

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับแต่งตั้งเป็น กรธ.ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้วางโจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญเพราะทราบเรื่องกะทันหัน ไม่คิดว่าจะได้รับความไว้วางใจและเมื่อได้รับความไว้วางใจก็ต้องขอขอบคุณ ไม่หนักใจโดยจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาให้ดีที่สุดและใช้ความรู้ความสามารถในทุกด้านจากประสบการณ์การเป็นผู้พิพากษามา 33 ปี เข้าใจระบบงานศาล และเป็น กกต. 7 ปี รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด ประชาชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญในการที่จะให้ความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

เมื่อถามว่า จะมีการนำร่างกฎหมายลูกที่ กมธ.ยกร่างฯของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายอภิชาตกล่าวว่า ยังไม่ได้เห็นตัวร่างนี้เห็นเพียงร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการดึงทีมอดีต กมธ.ยกร่างฯชุดนายบวรศักดิ์มาร่วมด้วยหรือไม่ นายอภิชาตกล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องอยู่ที่นายมีชัย เท่าที่เห็นในรายชื่อบุคคลที่เป็น กรธ.มีหลายคนที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ไม่ได้เป็น กรธ.อาจจะเข้ามาร่วมในฐานะเป็นที่ปรึกษาให้ความเข้าใจแก่ กรธ.ได้ บางคนอาจไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญเลยรวมทั้งตนด้วย 

เมื่อถามว่า ในฐานะอดีตประธาน กกต.คิดว่าควรมีการกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วนผสมไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายอภิชาตกล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนในขณะนี้ ต้องหารือกับ กรธ.ก่อน เท่าที่เคยศึกษามาจากเยอรมนี พบว่ามีทั้งข้อดี และข้อเสีย

@ "ชาติชาย"เล็งหยิบรธน.40-50 

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ หนึ่งใน กรธ.ที่ได้รับการแต่งตั้ง กล่าวว่า เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ยังมีรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ให้ศึกษา อีกทั้งฉบับนายบวรศักดิ์ ที่มีข้อคิดเห็นและข้อดีที่นำมาใช้ได้ในหลายๆ อย่าง มีข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเยอะไปหมด อยู่ที่ กรธ.ว่าจะหาทางอย่างไรให้นำเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์เข้ามาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้ได้

เมื่อถามว่า หลักการสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องเป็นอย่างไรบ้าง นายชาติชายกล่าวว่า คิดเล่นๆ ยังไม่ตกผลึก เพราะต้องไปหารือในที่ประชุม กรธ.ก่อน เห็นว่าเรื่องสำคัญคือ ระบบการเลือกตั้งจะต้องมีกลไกให้มีตัวแทนหลากหลายจากทุกภาคสังคม โดยเฉพาะพรรคการเมืองต้องได้ตัวแทนเป็นคนดีและมีคุณธรรม ประชาชนจะต้องเข้าใจในระบบเลือกตั้งอย่างถ่องแท้ ต้องได้รับข้อมูลพื้นฐานของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ให้ประชาชนมาเลือกตั้ง กากบาทแล้วจบไป นอกจากนี้ เรื่อง คปป. ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกว่า บันไดหนีไฟ ควรมีการวางกรอบระยะสั้น โดยกำหนดเวลาให้ชัดเจน ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว คือ ต้องมีทางออกโดยสันติวิธีให้กลไกที่วางไว้นำไปสู่ความคิด ความปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นขั้นตอน ส่วนการปฏิรูปก็ต้องทำต่อไป

@ "อุดม"ไม่เห็นด้วยตั้งองค์กรคปป.

นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ กรธ. กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย กรธ.จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เห็นว่าประชาชนอยู่ในมุมที่แตกต่างหลากหลาย ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายว่า กรธ. จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 4 เดือนนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานของประธานและคณะกรรมการคนอื่นๆ ด้วยว่าคิดอย่างไร 

นายอุดมกล่าวต่อว่า มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าไม่ควรจะมีเนื้อหาในส่วนของ คปป. นั้น เห็นว่า เรื่องการปรองดองถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว มีความพยายามแก้ปัญหาให้คนที่คิดต่างสามารถเข้ามาอยู่ในเวทีเดียวกันได้ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ยกร่างฯชุดที่แล้วจะตั้งองค์กรในลักษณะดังกล่าว กรธ.จะต้องหารูปแบบหน่วยงานที่จะทำงานเรื่องการปรองดองซึ่งไม่ใช่ในลักษณะแบบนี้ด้วย

@ "อมร"ระบุไม่ควรลอกรธน.เก่า

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรธ. กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะทำงานร่างรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ และด้วยความสามารถ ประสบการณ์ของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมาทั้งหมดนั้นเชื่อว่าจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี และได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติของประชาชนได้ เท่าที่ดูรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมาทั้ง 21 คน รู้จักกันเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ในช่วงที่เป็นสมาชิก สปช.ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ จนทะลุปรุโปร่งแล้ว

เมื่อถามว่า มีหลักการสำคัญที่จะร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร นายอมร กล่าวว่า ไม่จำเป็นจะต้องคัดลอกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์มาก็ได้ ครั้งนี้มีเวลาในการร่างถึง 180 วัน เป็นเวลาที่มากพอ และความรอบรู้ของ กรธ.แต่ละคนน่าจะสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ส่วนประเด็นเรื่องการปฏิรูปนั้นมีอยู่แล้ว ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและ คสช. ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญยาวยืดเยื้อ การปฏิรูปอาจบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที

@ วิษณุแจงตั้งที่ปรึกษากรธ.9คน

เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษา กรธ. จำนวน 9 คน ว่า กรธ.จะเป็นผู้พิจารณาและเทียบเชิญที่ปรึกษาได้ไม่เกิน 9 คน แต่ให้เผื่อคุณสมบัติผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ซึ่งนายมีชัยพูดว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้คนที่เคยเป็นเลขานุการแต่ละชุดเข้ามา เพราะตัวเลขาฯจะรู้เนื้อหาทั้งหมดว่าแต่ละมาตราเป็นมา

อย่างไร แต่จะเอาด้านอื่นมาก็ได้ ที่ปรึกษาไม่มีส่วนในการร่างหรือโหวต อาจจะเสนอแนะหรือเล่าว่าที่ผ่านมาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ กรธ.ว่าจะเอาอย่างไร

เมื่อถามว่า นายบวรศักดิ์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีโอกาสที่จะมาเป็นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "อยู่ที่ว่าเชิญแล้วเขาจะมาหรือไม่ ถ้าเชิญแล้วไม่มาก็บังคับไม่ได้"

เมื่อถามถึงรายชื่อ กรธ.ที่นายมีชัยเสนอเข้ามาเป็นใคร นายวิษณุกล่าวว่า "เป็นผู้ใหญ่ซี 10 ในสำนักงานกฤษฎีกา เป็นกรรมการร่างกฎหมายจะเข้ามาเป็นมือร่างกฎหมาย เพราะกรธ.คนอื่นได้แต่บอกความคิด แต่การให้เขียนภาษากฎหมาย ถ้าไม่ใช่มือกฎหมายเขียนไม่เป็น และมีบุคคลที่ คสช.ติดต่อให้มาเป็น กรธ.มีจำนวนหลายคนที่ได้ทาบทามแต่ไม่รับเพราะติดเงื่อนไขที่ห้ามเล่นการเมือง เขาบอกว่าตรงๆ ว่าถ้าห้ามเล่นการเมือง 2 ปี ไม่ขอรับตำแหน่งเนื่องจากคิดว่าจะไปเล่นการเมือง"

@ ปธ.สปท.เคาะวันประชุมนัดแรก

นายวิษณุ กล่าวถึงตำแหน่งประธาน สปท.ว่า จากนี้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้นัดผู้ที่มีรายชื่อมารายงานตัว จากนั้นจะมีการนัดประชุม คิดว่าอาจจะมีการรายงานตัว

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!