WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

179คน

หึ่งคสช.ดัน'ทินพันธุ์'ปธ.สปท. 'จิระ-วลัยรัตน์'นั่งรองฯ บวรศักดิ์โผล่สภาปัดเป็นกุนซือ มีชัยดันต่อที่ปรึกษาไม่ทางการ 'บิ๊กตู่'ลั่นเชือดพวกแกล้งตาย รัฐสภาอียูจี้ไทยเร่งคืน'ปชต.' กต.โต้-ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน

       กรธ.เร่งวาง 3 กรอบร่าง รธน. เผย คสช.หนุน'ร.อ.ทินพันธุ์'นั่ง ปธ. ส่วน พล.อ.จิระ-วลัยรัตน์นั่งรอง สปท.รายงานตัวแล้ว 179 คน'อ.ปื๊ด'ปัด'มีชัย'ไม่รับเก้าอี้ เสียงแข็งถูกกล่อมก็ไม่รับ

  • มติชนออนไลน์ :
  • ปัดนั่งกุนซือ - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เดินทางมาธนาคารกรุงไทยสาขารัฐสภาเพื่อทำธุรกรรมการเงิน โดยให้สัมภาษณ์ปฏิเสธรับตำแหน่งที่ปรึกษา กรธ.ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทาบทาม ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม

          แกน กปปส. - นายกษิต ภิรมย์ และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น สปท. ที่บริเวณห้องโถงรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 

         ขึ้นศาลทหาร - นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธีวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ขึ้นศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม

    @ 'อ.ปื๊ด'ปฏิเสธ'มีชัย'ไม่รับเก้าอี้ 

         เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เดินทางไปปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา จากนั้นให้สัมภาษณ์กรณีที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทาบทามเป็นที่ปรึกษา กรธ.ว่า ขอกล่าวขอบคุณนายมีชัยที่มีเมตตาให้เกียรติเชิญร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งความจริงนายมีชัยได้พูดคุยกับตนแล้ว และได้เรียนไปว่า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไปว่าขอไม่เข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งนายมีชัยบอกว่าไม่เป็นไรและจะพูดคุยกับสื่อให้เข้าใจ ทั้งนี้ ยินดีที่จะช่วยนายมีชัยทำงานทุกประการ แต่เมื่อพูดกับสื่อไว้แบบนี้ก็ต้องขออภัยนายมีชัยด้วย แต่ถ้านายมีชัยอยากให้ช่วยก็ยินดีช่วยเป็นการส่วนตัว โดยไม่มีตำแหน่ง เพราะนายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพราะฉะนั้นจะขอรับความเมตตานี้ไว้และขออภัยด้วย แต่จะเอาใจช่วยและช่วยนายมีชัยอยู่ข้างนอกโดยไม่มีตำแหน่งอะไร 

    @ ชมเสียสละ-น่ายกย่อง 

         นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ดีใจที่นายมีชัยเสียสละเข้ามา เพราะการร่างรัฐธรรมนูญในยุคนี้ไม่เหมือนกับปี 2540 และปี 2550 จะมีความยากลำบากอยู่หลายอย่าง การที่นายมีชัยพูดว่ายอมรับเป็นประธาน กรธ. ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะรับตั้งแต่แรกก็เป็นความเสียสละ อย่างที่นายมีชัยพูดก็คือทำเพื่อทดแทนแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ประสบการณ์มีมากกว่าตน จึงเชื่อว่ารัฐธรรมนูญน่าจะออกมาด้วยดี ทั้งนี้ไม่ขอก้าวล่วง กรธ. แต่เชื่อในตัวนายมีชัยและ กรธ.หลายคนที่รู้จักเป็นส่วนตัว ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงนายมีชัยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นายมีชัยรู้ข้อจำกัดนี้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องเวลา สถานการณ์และการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อนายมีชัยเสียสละเข้ามาทำ ถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และเห็นว่าความสามารถอย่างนายมีชัยไม่จำเป็นต้องมีกรรมการคนอื่นก็ยังได้เลย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะในสภาพสังคมที่ต้องระดมความคิดเห็นกัน แต่ในสถานะส่วนตัวหากเป็นประโยชน์อะไรได้กับการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประโยชน์กับงานบ้านเมืองในเรื่องอื่นได้โดยไม่มีตำแหน่ง ก็ไม่มีปัญหา 

    @ ยันเสียงแข็งถูกกล่อมก็ไม่รับ 

       เมื่อถามว่า หากถูกนายมีชัยกล่อมจะทบทวนหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "ผมกับนายมีชัยพบกันและรับประทานอาหารกันอยู่เรื่อยๆ เย็นนี้ (8 ตุลาคม) ก็นัดรับประทานข้าวกัน และหากโดนกล่อมอีก ผมก็จะไปกราบตักนายมีชัย ขอบพระคุณ และยินดีที่จะช่วยอย่างไม่เป็นทางการ"

          เมื่อถามว่า การที่ไม่มีอดีต กมธ.ยกร่างฯใน กรธ.เป็นห่วงหรือไม่ว่าร่างเดิมจะไม่ได้รับการพิจารณา นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "จบไปแล้ว อดีตก็คืออะไร อย่าไปเที่ยวยึดติดกับอะไร ขอให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะเมื่อร่างเดิมไม่ผ่านก็จบ เมื่อจบก็คือจบ และผมเห็นว่าสิ่งที่ผมทำมานั้นดีที่สุด ทำสุดความสามารถและมีเหตุผลอธิบายได้ทุกเรื่อง แต่ กรธ.ก็มีสิทธิที่จะนำไปพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจนายมีชัย" เมื่อถามย้ำว่า จะมีการเสนอความเห็นเข้ามา กรธ.หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เสนอความเห็นอะไรทั้งสิ้น เพราะความเห็นของตนปรากฏอยู่ในร่างที่หนึ่ง เมื่อครั้งที่เสนอ สปช.ครั้งแรก และร่างสุดท้ายอยู่แล้ว เป็นตัวหนังสือชัดเจนไม่ต้องพูดด้วยวาจา

    @ 'มีชัย'ยันตั้ง'อ.ปื๊ด'ที่ปรึกษา 

        ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กรธ.ถึงกรณีการเชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระเข้าร่วมหารือในวันที่ 13-15 ตุลาคม ว่า เนื่องจากปัญหาการทุจริตยังไม่หมดไป ทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง ทุจริตจากนโยบาย จำเป็นต้อหาแนวทางป้องกัน จึงต้องเชิญองค์กรอิสระมาช่วยระดมความคิดเห็น รับฟังปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ต้องการสร้างกลไก หรือเครื่องมืออะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยเฉพาะเพื่อการระงับยับยั้งก่อนเกิดความเสียหายหากเป็นไปได้ก็ไม่อยากไปสร้างองค์กรอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะเท่าที่มีอยู่ก็กระจายอำนาจมากไป จนบางทีทำให้รัฐบาลลอยตัวไปแล้ว ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรี ตนไม่ทราบ กรธ.คนไหนพูดก็ไปถามคนนั้น

          เมื่อถามว่า นายบวรศักดิ์ปฏิเสธนั่งเป็นที่ปรึกษา กรธ. นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับนายบวรศักดิ์ หากนายบวรศักดิ์ไม่อยากเป็นที่ปรึกษา ก็จะตั้งนายบวรศักดิ์เป็นที่ปรึกษาที่ไม่ใช่ที่ปรึกษา สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่อง คปป.นั้นยังไม่ได้คิด อย่ามาคาดคั้น เพราะยังต้องรอปรึกษา กรธ.รายอื่นอีก มิเช่นนั้นก็ตั้งตนร่างรัฐธรรมนูญคนเดียวก็พอ ไม่ต้องตั้งอีก 20 คน อีกทั้งการร่างรัฐธรรมนูญยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนจะทำงานโดยเผื่อแนวทางไว้เป็นทางเลือก 2 หรือ 3 ทาง แล้วรับฟังความคิดเห็นว่า จะเอาทางไหน รับรองไม่มีหมกเม็ดแน่นอน 

    @ 'สมคิด'เผยยังไม่ถูกทาบ

          นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุจะเทียบเชิญอดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างแต่ละชุดเข้ามาเป็นที่ปรึกษา กรธ. ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับการทาบทาม และอยากทราบว่าหากไปเป็นที่ปรึกษาจะให้ทำงานอะไร เพราะดูแล้ว กรธ.ทั้ง 21 คน ก็มีความรู้ความสามารถ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการทาบทามเข้ามาก็พร้อมที่จะเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติ

    @ 'บิ๊กตู่'ชี้เริ่มปฏิรูปหลายอย่าง 

          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงหลักเกณฑ์และระยะเวลาของแนวคิดการนิรโทษกรรมเพื่อปรองดองว่า "ทำไม ที่พูดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มันผิดตรงไหน เรื่องนี้ไม่มีระยะเวลา แต่วันนี้ได้เริ่มทำปฏิรูปแล้ว ไม่ใช่ผมไม่ทำ ยืนยันว่าช่วงแรก ผมทำเรื่องการปฏิรูปอยู่แล้วทุกกระทรวง การปฏิรูปคือการนำเรื่องเดิมมาทำใหม่ แก้ไขปรับระเบียบวิธีการ ปรับกฎหมาย สิ่งไหนไม่ดีก็ใช้มาตรา 44 เพื่อให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงมีหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะรบทัพจับศึก มีความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน การต่างประเทศ เศรษฐกิจ ทั้งหมดเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงในส่วนของรัฐและทางการเมือง"

          "วันนี้ผมถือว่ามาทำงานทางการเมืองด้วย แต่ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ทำให้การเมืองมันนิ่ง สร้างความไว้วางใจกับต่างประเทศทำให้เขาพร้อมที่จะมาทำการค้าการลงทุน แต่ถ้าทุกคนมาต่อยตีกับผมในวันนี้ อย่าคิดว่าวันหน้าเขาจะมานะ ผมจะบอกให้ วันนี้ผมเริ่มให้เขาก็พร้อมจะมา เขาบอกกับผมแล้วว่า อยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างที่ผมอยู่ในตอนนี้ ท่านทำกันได้ไหมเล่า รู้ว่าทุกคนคาดหวัง ผมก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมาทำให้ได้อย่างผม อย่าให้มาต่อยตี ยุแยงตะแคงรั่ว สองฝั่งตีกันไปมาอีก มันไม่ได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว 

    @ ลั่นแกล้งตายไม่ได้ต้องตายจริง

          เมื่อถามว่า สถานการณ์แบบนั้นแต่ละฝ่ายเลิกหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ ตนไม่ได้เก่งขนาดนั้น ไม่สนใจ เมื่อถามว่า เป็นการแกล้งตายหรือเปล่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าแกล้งตายไม่ได้ ต้องตายจริง แกล้งตายได้อย่างไร การแกล้งตายแสดงว่าที่มีการทำผิดกฎหมายหรือเปล่า แสดงว่าแกล้งหยุดทำความผิดด้วยหรือเปล่า เมื่อถามว่าตรงนี้น่าห่วงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวแบบประชดว่า ไม่ห่วงเลย ไม่ได้ห่วงอะไรซักอย่างเลย ไม่ห่วงแล้วจะยืนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ห่วงประเทศถึงต้องเข้ามาตรงนี้ 

           เมื่อถามย้ำว่า ห่วงพวกที่แกล้งตายหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ไม่ห่วง กฎหมายมีอยู่ ใครทำผิดก็โดนจับ กฎหมายล้อเล่นได้ที่ไหน ไม่ใช่เอากฎหมายมาสู้กัน ซึ่งที่ผ่านมาการกำกับดูแลเรื่องกฎหมาย ทำให้กฎหมายใช้ไม่ได้ มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่ามาบอกว่ารัฐบาลนี้เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ ใครทำผิด ก็ว่าไปตามผิด ใครอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็อยู่ไป เมื่อจบกระบวนการยุติธรรมแล้วติดคุก จะผ่อนผันอะไรกันต่อไป ก็มีระเบียบอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่บรรเทาโทษ ไปจนถึงนิรโทษกรรมอะไรทำนองนี้ ซึ่งต้องไปคุยกันต่อ ฉะนั้นถึงต้องมีกลไกที่จะทำเรื่องเหล่านี้ ปฏิรูปปรองดองขจัดความขัดแย้ง จะมีกฎหมายหรือมีอะไรทำผมไม่รู้ รัฐบาลหน้าจะทำหรือเปล่า เพราะผมไม่อยู่แล้ว เข้าใจหรือยัง" 

    @ ไม่ห้าม'บวรศักดิ์'นั่งที่ปรึกษา

          เมื่อถามว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯนั่งที่ปรึกษา กรธ. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วแต่ทาง กรธ. หากมีคุณสมบัติก็เชิญเข้ามา ตนไม่ได้ห้าม รัฐธรรมนูญเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้าม ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขใหม่ก็ไม่ห้าม ทุกคนมีคุณสมบัติ มีความสามารถทั้งนั้น อาจจะดีด้วยซ้ำเพราะนายบวรศักดิ์อยู่ใน กมธ.ยกร่างฯ ชุดเดิมที่ยกร่างมา นายมีชัยบอกแล้วว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับนั้นฉบับนี้มาพิจารณาผสมกัน โดยการนำมาศึกษาก่อน แล้วจะอย่างไรกันต่อไป ซึ่งก็ยังไม่ได้ตอบซักอย่าง จะให้ตนตอบได้อย่างไร เพราะไม่ใช่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 

           "รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ เป็นกฎหมายหลักของชาติ แต่มันไม่ใช่แก้ไขทุกอย่างได้ ผมจะบอกให้ มันอยู่ที่ใจคนทุกคน อยู่ที่ใจ นักการเมืองทุกคน ข้าราชการทุกคน ประชาชนทุกคน ต้องช่วยทำให้บ้านเมืองนี้สงบ และเคลื่อนไปข้างหน้า กฎหมายอะไรก็เอาไม่อยู่ทั้งนั้น ถ้ายังเป็นแบบเดิม" นายกรัฐมนตรีกล่าว

    @ 'วิษณุ'ไม่คิดแก้รธน.ชั่วคราว 

           นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าจะให้ไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยไม่ผ่านประชามติว่า ถ้าจำเป็นก็ต้องแก้ ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะหากทำเร็วก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณอีกหรือไม่ว่าดูท่าว่าจะไม่ผ่าน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นก็ควรจะผ่านประชามติ เมื่อถามว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจริง จะมีการขยายเวลาในการร่างให้ กรธ.ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่คิดว่าไม่ควร ซึ่งตนก็ถามและนายมีชัยก็ตอบกลับมาว่า ไม่ได้บ่นว่าจะขอขยายเวลา เพียงแต่พูดให้ฟังว่า 180 วัน ยังไปเร่งรัดให้ร่างเสร็จเร็วๆ เอาเข้าจริงกรุณาทราบด้วยว่าเหลือเพียง 120 วันเท่านั้น ความหมายของนายมีชัยคือแบบนั้น ไม่ได้จะมาบ่นอะไร

    @ แจงตั้งที่ปรึกษาจากเลขาฯเก่า

         นายวิษณุ กล่าวว่า การที่นายมีชัยจะไปเชิญนายบวรศักดิ์มาเป็นที่ปรึกษา เหมาะสมหรือไม่นั้นไม่ขอตอบ เพราะไม่ได้เป็นคนเชิญ เป็นเรื่องของ กรธ. ซึ่งที่ปรึกษา กรธ.มีได้ไม่เกิน 9 คน แต่คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 34/2558 ที่ให้คำนึงถึงบุคคลที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เอามาเป็นที่ปรึกษา กรธ.เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงตามที่สังคมเรียกร้องว่าให้ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับที่กล่าวมานั้น เพื่อให้การร่างใหม่รวดเร็วขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครไปบังคับว่าต้องยึดโยงกับ 3 ฉบับนั้น แต่การเอาคนที่เคยร่างใน 3 ฉบับนั้นมานั่งอธิบายหรือตอบคำถามว่าเขียนเรื่อง คปป.ทำไม หรือเรื่องนายกฯต้องเป็นหรือไม่เป็น ส.ส. หรือเรื่ององค์กรอิสระ ซึ่งนายมีชัยจึงระบุว่าให้เอาคนที่เป็นเลขาฯกรรมาธิการยกร่างฯในแต่ละชุดมาจะดีกว่า ซึ่งเลขาฯกรรมาธิการยกร่างฯปี 2540 ก็คือนายบวรศักดิ์ ไม่ใช่เพราะนายบวรศักดิ์เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯปี 2558 ส่วนเลขาฯกรรมาธิการยกร่างฯปี 2550 คือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ส่วนเลขาฯกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 คือ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลยเอาทั้ง 3 คนมาจะดีกว่า จะได้มาตอบแทนกรรมาธิการในแต่ละชุด นี่คือไอเดียของ กรธ.

           "รายชื่อแต่ละคนจะร้องยี้หรือไม่นั้น ไม่สำคัญ ตัวคนไม่สำคัญเท่าตัวเรื่องที่เขาจะมาเล่าต่างหาก ซึ่งถ้าใน 3 คนนี้ไม่รับเป็นที่ปรึกษาก็สามารถเชิญกรรมการที่เหลือคนอื่นๆ ได้ รวมถึงยังสามารถยังบุคคลที่ไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนเลยก็ได้" นายวิษณุกล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุสามารถเป็นที่ปรึกษาได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ได้หรือไม่ ไม่รู้ แต่ว่าผมไม่เป็น คำว่าที่ปรึกษาอย่าไปนึกว่ามาปรึกษาเนื้อหา บางคนมาเล่าเรื่องราวให้ฟังว่าในอดีตเคยทำยังไง กับปรึกษาเรื่องเทคนิคการรับฟังความเห็น การทำประชามติและอีกหลายเรื่อง อย่าไปคิดว่าต้องมาเป็นที่ปรึกษาเนื้อหาอย่างเดียว" 

    @ กรธ.เร่งวาง 3 กรอบร่างรธน.

           นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุม กรธ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไว้ 3 ประเด็น คือ 1.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้ประกอบการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างกลไกต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น เรื่องระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง หรือตรวจสอบแหล่งรายได้และเงินบริจาคของพรรค เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ 

          3.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปลูกฝังเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อนจนเกินไป และทุกคนเข้าใจได้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและสอดคล้องกับสภาพสังคมที่แท้จริงและการสร้างกลไกการลงโทษทางสังคม เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ ทั้งนี้ ทาง กรธ.จะเร่งพิจารณากรอบแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ 

    @ เตรียมเชิญองค์กรอิสระให้ข้อมูล

          โฆษก กรธ.กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นในสัปดาห์หน้าทาง กรธ.ก็จะเชิญหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมาให้ข้อมูล โดยวันที่ 13 ตุลาคม เชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันที่ 14 ตุลาคม เชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 15 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นได้รับการยืนยันว่าจะมาร่วมให้ข้อมูลกับ กรธ.แน่นอน แต่ขอหารือกันก่อนว่าจะสะดวกวันและเวลาใด เมื่อถามว่า จะมีการเชิญพรรคการเมืองมาร่วมให้ความคิดเห็นด้วยหรือไม่ นายนรชิตกล่าวต่อว่า เบื้องต้นทาง กรธ.คงต้องมีการหารือกันก่อน แต่ยืนยันว่าความเห็นของพรรคการเมืองถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยทำให้เกิดความปรองดองได้ หากไม่มาร่วมการสร้างความปรองดองคงเกิดยาก เมื่อถามว่า แนวทางเรื่องกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งมีการพูดคุยกันอย่างไร นายนรชิตกล่าวว่า นายมีชัยได้ยกตัวอย่างให้ที่ประชุมทราบว่าบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยป่าไม้ ยังไม่สามารถลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งได้ ดังนั้นก็คงต้องมีการหารือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับที่สูงกว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านควรมีแนวทางอย่างใด 

    @ สปท.รายงานตัวแล้ว 179 ราย

        ทางด้านบรรยากาศการรายงานตัวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นวันที่สาม โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีสมาชิกเข้ามามารายงานตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สรุปการมาแสดงตนในวันที่สาม จำนวน 36 คน รวมยอดทั้งสามวันเป็นจำนวน 179 คน อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำ กปปส. นายกษิต ภิรมย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นางนรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการวุฒิสภา นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชาญวิทย์ ผลชีวิน อดีตผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย และ อดีต สปช. อาทิ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายประมนต์ สุธีวงศ์ ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับรายงานตัวในวันที่ 9 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ซึ่งการเปิดรับรายงานตัวจะเปิดให้สมาชิกเข้ามารายงานตัวจนกว่าจะครบ 200 คน 

    @ ลือหึ่งคสช.เลือก'ทินพันธุ์'เป็นปธ.

          รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า สำหรับกระแสการเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาเป็นประธาน สปท. รองประธาน สปท.คนที่ 1 และคนที่ 2 โดยล่าสุดทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประสานสมาชิก สปท.สายทหาร และอดีต สปช.ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้เดินสายประสานสมาชิก สปท.ให้สนับสนุน ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร และอดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน สปท. เนื่องจากมีประวัติดี มีสานสัมพันธ์กับทหาร จบโรงเรียนนายร้อย จปร. และเป็นนักวิชาการที่โอนย้ายจากรับราชการทหารมาเป็นอาจารย์ที่นิด้า มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ อีกทั้งเคยผ่านตำแหน่ง ส.ว. ปี 2531 และ ส.ว. ปี 2535 และ สนช.ปี 2534 ส่วนตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 1 มีการวางตัว พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และเป็นอดีต สปช.สมัยที่แล้ว ซึ่งเดิมถูกวางตัวให้นั่งตำแหน่งประธาน สปท. มาเป็นรองประธาน สปท.คนที่ 1 ขณะที่ตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 2 ได้วางตัวให้โควต้าผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งโดยเห็นว่า น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีความเหมาะสมและมีประสบการณ์ในการทำหน้าที่ควบคุมการประชุม โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 

    @ 'เสธ.อู้'หนุน'ร.อ.ทินพันธุ์' 

           พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท.และอดีตที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประธาน สปท.ต้องมีความรอบรู้และประสบการณ์การทำงาน มีความอาวุโส พร้อมเสียสละเข้ามาทำงานและต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คิดว่า ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สมาชิก สปท. มีความเหมาะสม เนื่องจากมีความรอบรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะทางรัฐศาสตร์ และยังมีประสบการณ์เป็นทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภามาแล้ว สามารถนั่งเป็นหัวโต๊ะได้แน่นอน

           พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิก สปท. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ร.อ.ทินพันธุ์มีความเหมาะสมทำหน้าที่ประธาน สปท. เพราะเป็นคนเก่ง มีประสบการณ์ ผ่านการทำงานมามากมาย เคยเป็นอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา รวมถึงในระยะที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างความปรองดอง เราต้องการผู้หลักผู้ใหญ่ เนื่องจากใน สปท.มีสมาชิกที่มีแนวคิดไม่ตรงกัน จึงเห็นว่าตัวประธานควรเป็นผู้ใหญ่จึงจะมีความเหมาะสม 

          น.ส.วลัยรัตน์ กล่าวว่า ถ้าจะให้ทำหน้าที่ก็พร้อมที่จะทำเพราะเป็นคนไทยก็ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยทำหน้าที่ประธานในการประชุม สมัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมาก่อน 

    @ พลเมืองโต้กลับค้านศาลทหาร

        ที่ศาลทหารกรุงเทพ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธีวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เดินทางมาเพื่อนัดสอบคำให้การนัดแรก ในคดีฝ่าฝืนการห้ามชุมนุมทางการเมือง สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 

           ที่ผ่านมา ที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2559 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันดำเนินคดีในฐานความผิดร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่อมาอัยการศาลทหารได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 4 เป็นคดีอาญา ทั้งนี้มีรายงานว่าบุคคลทั้ง 4 จะทำการยื่นคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารด้วย

           นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ศาลได้รับคำร้องที่ยื่นคัดค้านเขตอำนาจศาลทหาร พร้อมให้อัยการศาลทหารทำหนังสือถึงศาลแขวงปทุมวัน เพื่อตั้งคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ร่วมกันพิจารณาเขตอำนาจศาล เช่นเดียวกับกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของศาลทหารและศาลยุติธรรม ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยยอมรับอำนาจของ คสช.

    @ รัฐสภาอียูแถลงจี้ไทยคืนปชต.

          ที่รัฐสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์ข้อมติของรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย มีประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และคืนกระบวนการประชาธิปไตยให้กลับคืนมาโดยเร็ว พร้อมทั้งสนับสนุนให้สหภาพยุโรป (อียู) คงมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองกับไทยต่อไปจนกว่าไทยจะมีการปกครองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย

          ทั้งนี้ แถลงการณ์มีรายละเอียดทั้งสิ้น 23 ข้อ โดยเนื้อหายังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ไทยหวนคืนกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ยกเลิกการควบคุมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางการเมือง ให้รัฐบาลไทยยกเลิกโทษ ถอนข้อกล่าวหา และปล่อยตัวบุคคลและสื่อสารมวลชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติตามสิทธิและเสรีภาพ ส่งต่ออำนาจในการตัดสินความผิดพลเมืองจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน อียูแสดงความสนับสนุนให้ยังคงมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจและการเมือง ย้ำว่าจะยังไม่มีการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนและความร่วมมืออย่างรอบด้าน (พีซีเอ) ระหว่างอียูและไทยตราบใดที่รัฐบาลทหารของไทยยังคงอยู่ในอำนาจ

    @ กต.แถลงผิดหวังท่าทียุโรป 

          วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ระบุแสดงความผิดหวังต่อข้อมติของสภายุโรปที่แสดงถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและพร้อมร่วมมือกับสหภาพยุโรปในทุกระดับ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ข้อมติดังกล่าวเป็นการแสดงท่าทีโดยหลักการตามค่านิยมที่ยุโรปยึดถือ และเป็นท่าทีและความห่วงใยในฐานะมิตรประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น การดำเนินการตามโรดแมป การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยรับทราบและดำเนินการอยู่แล้ว ไทยผิดหวังต่อข้อมติดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เคารพในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และยึดมั่นดำเนินการตามโรดแมปเพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง ในการนี้ไทยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ มีความสมดุล และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในทุกมิติและทุกระดับ ตลอดจนจะทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

    วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9081 ข่าวสดรายวัน

    'ปื๊ด'เข็ดแล้ว-ปัดกุนซือกรธ. 'ทินพันธุ์'แรง-ชิงปธ.สปท. บิ๊กตู่โต้เกาเหลา'โด่ง-หมู' สภาอียูแถลงห่วงเมืองไทย

          'บวรศักดิ์' ปฏิเสธเทียบเชิญเป็นที่ปรึกษากรธ. ขอช่วยงานโดยไม่มีตำแหน่ง'มีชัย' ยันไม่หมกเม็ดร่างรธน.เชิญองค์กรอิสระให้ข้อมูล วางกลไกป้องกันทุจริต คิวแรกสตง. 13 ต.ค.'พรเพชร'เผย เตรียมแก้รธน.ชั่วคราว 2 ประเด็น สะพัดข่าวล็อบบี้ให้'ทินพันธุ์ นาคะตะ'นั่งประธานสปท. 'จิระ-วลัยลักษณ์'รองประธาน คสช.ตั้งกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์'บิ๊กป้อม' นั่งหัวโต๊ะ รัฐสภายุโรปออกแถลงห่วงสิทธิมนุษยชนในไทย'บิ๊กตู่'ยัน'บิ๊กโด่ง-บิ๊กหมู' เป็นเพื่อนกัน ไม่แตกคอปมปรับภูมิทัศน์ทบ. ศาลฎีกายืน-ยกฟ้อง'สุเทพ'หมิ่น'แม้ว' ข้อหาอยากเป็นประธานาธิบดี

    'บิ๊กตู่'ไม่ขีดเส้นนิรโทษกรรม

          เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงหลักเกณฑ์และระยะเวลาของแนวคิดการนิรโทษกรรมเพื่อปรองดองว่า ที่พูดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มันผิดตรงไหน เรื่องนี้ไม่มีระยะเวลา วันนี้เริ่มทำปฏิรูปแล้ว ไม่ใช่ตนไม่ทำ ซึ่งได้สั่งการพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ให้ปฏิรูปของเขาในระยะที่ 1 เดิมจะจบอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีเวลา 6-4-6-4 ก็ยังมีเวลาอีก

            พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยืนยันว่าตนทำเรื่องปฏิรูปอยู่แล้วทุกกระทรวง จะเห็นว่าการบริหารจะมีซูเปอร์บอร์ด ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีคณะกรรมการต่างๆ หลายชุด มีการปรับไปบ้างแล้ว ระยะต่อไปเรื่องตำรวจ วันนี้จับคนร้ายได้ ซึ่งที่ผ่านมาจับไม่ค่อยได้ ตรงนั้นเป็นการปฏิรูปภายในอยู่แล้ว บูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ ทุกกระทรวง ทบวง กรม บูรณาการข้ามกระทรวง ใช้จ่ายงบประมาณที่ผสมผสานกัน ไม่ใช่นำงบลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือแต่ละกระทรวงแยกงานกันทำในกิจการงานเดียวกัน นี่คือการปฏิรูป คือนำเรื่องเดิมมาทำใหม่ แก้ไขปรับระเบียบวิธีการ ปรับกฎหมาย สิ่งไหน ไม่ดีก็ใช้มาตรา 44 เพื่อให้เกิดความมั่นคง สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศโดยเฉพาะความมั่นคงของรัฐและทางการเมือง

    ลั่นใครทำผิดโดนจับ

         "วันนี้ ผมถือว่ามาทำงานการเมืองด้วย แต่ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ทำให้การเมืองนิ่ง สร้างความไว้วางใจกับต่างประเทศให้เขาพร้อมมาทำการค้าการลงทุน แต่ถ้าทุกคนมาต่อยตีกับผมในวันนี้ อย่าคิดว่าวันหน้าเขาจะมา วันนี้ผมเริ่มให้ เขาก็พร้อมจะมา เขาบอกกับผมแล้วว่าอยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างที่ผมอยู่ในตอนนี้ รู้ว่าทุกคนคาดหวัง ผมก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมาทำให้ได้อย่างผม อย่าให้มาต่อยตี ยุแยงตะแคงรั่ว สองฝั่งตีกันไปมาอีก มันไม่ได้ ซึ่งเลิกกันหรือยัง ใครบอกว่าเลิกแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าสถานการณ์แบบนั้นแต่ละฝ่ายเลิกหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ ตนไม่ได้เก่งขนาดนั้น ตนไม่สนใจ ต่อข้อถามว่าเป็นการแกล้งตายหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าแกล้งตายไม่ได้ มันต้องตายจริง การแกล้งตายแสดงว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือเปล่า แกล้งหยุดทำความผิดด้วยหรือเปล่า ซึ่งตนไม่รู้

         เมื่อถามว่าห่วงพวกที่แกล้งตายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ห่วง กฎหมายมีอยู่ ใครทำผิดก็โดนจับ ไม่ใช่เอากฎหมายมาสู้กัน ที่ผ่านมาการกำกับดูแลเรื่องกฎหมายทำให้กฎหมายใช้ไม่ได้ มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่ามาบอกว่ารัฐบาลนี้เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ ใครทำผิดก็ว่าตามผิด เมื่อติดคุกแล้วจะผ่อนผันอะไรก็มีระเบียบอยู่ เริ่มตั้งแต่บรรเทาโทษถึงนิรโทษกรรม ซึ่งต้องไปคุยกันต่อ ฉะนั้นถึงต้องมีกลไกที่จะทำเรื่องนี้ ปฏิรูปปรองดองขจัดความขัดแย้ง จะมีกฎหมายหรือมีอะไรทำ ตนไม่รู้ รัฐบาลหน้าจะทำหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะตนไม่อยู่แล้ว

    หนุน"บวรศักดิ์"ที่ปรึกษากรธ.

         พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การปฏิรูปจากนี้เป็นระยะที่ 2 ที่ต้องทำต่อ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องเขียนให้ชัดเจนขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ถ้าเขียนแต่กรอบใหญ่ๆ กว้างๆ ก็ไม่ทำกัน หากเขาจะไม่ทำก็เรื่องของเขา การเข้ามาในวันนี้ใช้แนว ทางข้าราชการบวกกับประชาธิปไตย ฟังทุกคนและมาพิจารณาหาข้อยุติ เสียงส่วนใหญ่ใครได้ประโยชน์ เสียงส่วนน้อยที่เสียประโยชน์จะดูแลอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครเข้าข้างตนแล้วทำให้ทั้งหมด ไม่ใช่ ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของตน เป็นของทุกคน

          ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งที่ปรึกษา 9 คน ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) โดยมีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วแต่กรธ. หากมีคุณสมบัติก็เชิญเข้ามาตนไม่ได้ห้าม รัฐธรรม นูญชั่วคราวแก้ไขใหม่ก็ไม่ห้าม ทุกคนมีคุณสมบัติ มีความสามารถ อาจดีด้วยซ้ำเพราะนายบวรศักดิ์อยู่ในกมธ.ยกร่างฯชุดเดิมที่ยกร่างมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. บอกแล้วว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ฉบับนี้มาพิจารณาผสมกัน นำมาศึกษาก่อน ส่วนจะอย่างไรต่อไป ตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนร่าง เรื่อง 5 หลักการในการร่างรัฐธรรมนูญก็ว่ากันไปแล้ว ซึ่งก็ตรงกัน

    ชี้รธน.แก้ไขทุกอย่างไม่ได้

    "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของชาติ แต่ไม่ใช่แก้ไขทุกอย่างได้ มันอยู่ที่ใจคน อยู่ที่ใจนักการเมืองทุกคน ข้าราชการทุกคน ประชาชนทุกคน ต้องช่วยทำให้บ้านเมืองนี้สงบและเคลื่อนไปข้างหน้า กฎหมายอะไรก็เอาไม่อยู่ถ้ายังเป็นแบบเดิม มีกฎหมายเป็นร้อยข้อ ยังเดินขบวนกันมา 6 เดือน ต้องไปดูจะแก้อย่างไร ไม่ใช่รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชา ธิปไตย พูดอยู่นั่น อะไรคือประชาธิปไตย มีสิทธิมีเสียง พูดทุกอย่างได้ จะเขียนด่าใครก็ได้ อยากทำอย่างนั้นต่อไปก็เชิญ ตามใจ จรรยาบรรณเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ผมต้องมีจรรยาบรรณกับทุกคน คนอื่นไม่ต้องมีหรือ ผมไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในเร็วๆ นี้ ว่า เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง คิดว่าจะหาเวลาเพื่อลงพื้นที่ในได้ทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัดที่พร้อมในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผลงานการใช้จ่ายงบประมาณทั้ง 5 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนกรอ. เพราะขณะนี้ได้ให้กรอ.จังหวัดเข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่ก่อน ถ้าส่วนใดพร้อมก็ไปก่อน การลงพื้นที่เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เห็นข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ การใช้งบกลางจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ได้ใช้เพื่อคะแนนเสียง ตนไม่ต้องการให้คนจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งรัก หรือเกลียดตน เพราะไม่ได้ถูกเลือกมา ตนเข้ามาเอง หาเรื่องเองใช่ไหม

    "บิ๊กโด่ง-บิ๊กหมู"เปล่าแตกคอ

    พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวความขัดแย้งระหว่าง"บิ๊กโด่ง"พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและอดีตผบ.ทบ. กับ "บิ๊กหมู"พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. กรณีพล.อ.ธีรชัย สั่งทุบกำแพงปรับภูมิทัศน์ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) หลัง พล.อ. อุดมเดชเกษียณว่า "มันคนละเรื่อง ไม่ได้ ยุแยกแตกคออะไร มันแยกกันไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งมันคนละตำรามั้ง เอาง่ายๆ อย่างนี้เลย" ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการสูญเสียงบประมาณหรือไม่เพราะยังสร้างไม่ถึงปี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดี๋ยวเขาไปคุยกันเอง อย่าไปยุ่งกับเขา ถ้าไม่ดีเดี๋ยวเขาก็สอบกันเอง ให้เขาทำงานกันบ้าง

    ต่อข้อถามว่า ยืนอยู่ตรงนี้ มองลงไปรู้สึกอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องคนละความคิดแต่ไม่ได้ทะเลาะกัน เป็นเพื่อนกันจะทะเลาะกันได้อย่างไร ตนอยู่ตรงนี้ อย่างไรก็ทะเลาะกันไม่ได้อยู่แล้ว เว้นแต่สื่อไปเขียนให้ทะเลาะกัน พอแล้ว เมื่อถามว่ามั่นใจว่า พล.อ.ประวิตร ดูแลได้ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมเป็นคนดูแลทั้งหมด ทำไมจะต้องเป็นคนโน้นคนนี้ ท่านก็ดูในกรอบของท่าน ส่วนผมดูแลข้างบน ทำไมจะดูแลไม่ได้ มันจะแตกแยกกันตรงไหน มันจะสนิมในเนื้อบ้าบอคอแตกอย่างที่เขียนกันมาหรือ ตราบใดที่ผมอยู่สั่งได้หมด ทำไมจะมีการปฏิวัติ รัฐประหารหรืออย่างไร"

    "วิษณุ"เผยสเป๊กกุนซือกรธ.

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายมีชัย อยากให้นายบวรศักดิ์ เป็นที่ปรึกษากรธ.ว่า เป็นเรื่องของกรธ. ซึ่งที่ปรึกษากรธ.มีได้ไม่เกิน 9 คน โดยคำสั่งคสช.ฉบับที่ 34/2558 ระบุให้คำนึงถึงบุคคลที่เคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และร่างปี 2558 เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงตามที่สังคมเรียกร้องว่าให้ยึดโยงกับรัฐ ธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับเพื่อให้การร่างใหม่รวดเร็วขึ้น นายมีชัยจึงระบุให้เอาคนที่เป็นเลขาธิการกรรมาธิการร่างฯ ในแต่ละชุดมาจะดีกว่า ซึ่งปี 2540 คือนายบวรศักดิ์ ปี 2550 คือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และปี 2558 คือนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ จะได้ตอบแทน กมธ.แต่ละชุดได้ นี่คือแนวคิดของกรธ.

    "รายชื่อแต่ละคนจะร้องยี้หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าตัวเรื่องที่เขาจะมาเล่าต่างหาก ถ้าใน 3 คนนี้ไม่รับเป็นที่ปรึกษาก็เชิญกรรมการที่เหลือคนอื่นได้ รวมถึงยังหาบุคคลที่ไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนเลยก็ได้ และคนนอกก็เข้ามาเป็นได้ เรื่องนี้ผมไม่ได้ไปแนะนำนายมีชัย ไม่กล้าแนะและแนะนำไม่ได้ เนื่องจากนายมีชัย ต้องไปถามกรรมการที่เหลืออีก 20 คน" นายวิษณุกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่านายวิษณุเป็นที่ปรึกษาได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้แต่ตนไม่เป็น คำว่าที่ปรึกษา อย่าไปคิดว่าต้องมาปรึกษาเนื้อหา บางคนมาเล่าเรื่องราวในอดีตกับปรึกษาเรื่องเทคนิคการรับฟังความเห็น การทำประชามติและอีกหลายเรื่อง อย่าคิดว่าต้องมาเป็นที่ปรึกษาเนื้อหาอย่างเดียว

    ยันไม่ยืดเวลาร่างรธน.

    ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร ระบุให้ไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างฉบับนายมีชัยไม่ผ่านประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าจำเป็นก็ต้องแก้ ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบและยังไม่ต้องรีบดำเนินการ หากทำเร็วก็เหมือนส่งสัญญาณอีกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบ ส่วนที่หลายฝ่ายเกิดข้อกังขาในการนับคะแนนเสียงประชามตินั้น ตนไม่เคยกังขาเพราะที่เขียนไว้ชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องแก้ เว้นแต่จะแก้เรื่องอื่นแล้วพ่วงเรื่องนี้แก้ไปด้วย หากไม่มีเรื่องอื่นเรื่องนี้ก็ไม่ต้องแก้

    ต่อข้อถามว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจริง การร่างรัฐธรรมนูญจะขยายเวลาออกไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่คิดว่าไม่ควร ตนได้ถามนายมีชัย ซึ่งตอบมาว่าไม่ได้บ่นว่าจะขอขยายเวลา แต่พูดให้ฟังว่าเวลา 180 วัน ยังเร่งรัดให้ร่างเสร็จเร็วๆ ทั้งที่เวลาร่างจริงมีเหลือเพียง 120 วัน ความหมายของนายมีชัยคือแบบนั้น ไม่ได้บ่นอะไร

    นายวิษณุกล่าวถึง กระแสข่าวเสนอนิรโทษกรรม ในช่วงที่กรธ.เริ่มต้นทำงาน อาจเป็นอุปสรรคต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบ ข่าวมาจากใครก็ถามคนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงพล.อ.ประวิตร พูดมาตลอดว่าขั้นตอนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการ กลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการจบแล้ว และกลุ่มที่หนีกระบวนการ ซึ่งต้องจัดลำดับว่าใครอยู่กระบวนการใดเพราะจะมีมาตรการคนละอย่าง ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น ยังคิดไม่ออกและไม่เคยคิด

    อ.ปื๊ดช่วยมีชัยแต่ปัดตำแหน่ง

    ที่ธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีนายมีชัยทาบทามให้เป็นที่ปรึกษากรธ.ว่า นายมีชัยได้พูดกับตนแล้วและได้เรียนไปว่าตนให้สัมภาษณ์สื่อว่าขอไม่เข้าร่วมทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งนายมีชัยบอกว่าไม่เป็นไร จะพูดคุยกับสื่อให้เข้าใจ ตนยินดีจะช่วยนายมีชัยทำงานทุกประการ แต่เมื่อพูดกับสื่อไว้ก็ต้องขออภัยนายมีชัยด้วย นายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ และเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ประชุมร่วมกันหลายครั้ง ฉะนั้นจะขอรับความเมตตานี้ไว้ และขออภัยด้วย แต่จะช่วยอยู่ข้างนอกโดยไม่มีตำแหน่ง

    ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากคำประกาศ ยังมีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ที่ไม่รับตำแหน่ง นายบวรศักดิ์กล่าวว่าไม่มี และดีใจที่นายมีชัย เสียสละเข้ามาเพราะการร่างรัฐธรรมนูญยุคนี้ไม่เหมือนปี 2540 และปี 2550 จะมีความยากลำบากอยู่หลายอย่าง การที่นายมีชัยพูดว่ายอมรับเป็นประธานกรธ.ทั้งที่ไม่อยากจะรับแต่ทำเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องดี นายมีชัยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เชื่อว่ารัฐธรรม นูญน่าจะออกมาด้วยดี เมื่อถามว่าหากถูกนายมีชัยกล่อมจะทบทวนหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าตนกับนายมีชัยพบกันและรับประทานอาหารกันอยู่เรื่อยๆ หากโดนกล่อมอีกจะไปกราบตักนายมีชัย ขอบพระคุณ และยินดีจะช่วยอย่างไม่เป็นทางการ

    ยอมรับฉบับบวรศักดิ์จบแล้ว

    ต่อข้อถามว่าเป็นห่วงนายมีชัยหรือไม่ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญจะให้ถูกใจทุกคนเป็นเรื่องยาก นายบวรศักดิ์กล่าวว่านายมีชัย รู้ข้อจำกัดนี้ดี ทั้งเรื่องเวลา สถานการณ์ และการถูกวิจารณ์ แต่เมื่อเสียสละเข้ามาทำ ถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และเห็นว่าความสามารถอย่างนายมีชัยไม่จำเป็นต้องมีกรรมการคนอื่นก็ยังได้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะต้องระดมความเห็นกัน

    ส่วนที่ไม่มีอดีตกมธ.ยกร่างฯอยู่ในกรธ. ห่วงหรือไม่ว่าร่างเดิมจะไม่ได้รับการพิจารณา นายบวรศักดิ์กล่าวว่าจบไปแล้ว อดีตก็คืออดีต อย่าไปยึดติด ขอให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อร่างเดิมไม่ผ่านก็จบ สิ่งที่ตนทำมานั้นดีที่สุด ทำสุดความสามารถและมีเหตุผลอธิบายได้ทุกเรื่อง แต่กรธ.ก็มีสิทธินำไปพิจารณาอีกครั้ง ตนบอกนายมีชัยแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่ตนร่างไม่ใช่รัฐธรรมนูญในฝันของตน เพราะ ต้องฟังเสียงกมธ.อีก 35 คน ฟังเสียงคนนอก คณะรัฐมนตรี(ครม.) คสช. และเราก็รับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งมีหลายส่วน ถ้าตนเขียนได้เองจะไม่เขียนแบบนั้น แต่ร่างฉบับนั้นจบแล้ว จึงไม่ควรรื้อฟื้น

    "ส่วนประเด็นนายกฯคนนอก หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและ การปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ประชาชนก็ให้ความเห็นไว้และมีการเผยแพร่แล้ว เพียงแต่สื่อไม่สนใจ สื่อสนใจแต่คำสัมภาษณ์ของนักการเมืองหน้าเดิมๆ คือคนที่อยู่ในปัญหา ซึ่งมีผลประโยชน์ทางการเมืองเกี่ยวข้อง สื่อไม่สนใจงานวิชาการ ไม่สนใจเสียงของคนที่ไม่มีเสียง ก็เป็นเรื่องธรรมดา" นาย บวรศักดิ์กล่าว

    "มีชัย"หาเก้าอี้ใหม่ให้นั่ง

    ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับนายบวรศักดิ์ หากไม่อยากเป็นที่ปรึกษา ตนก็จะตั้งเป็นที่ปรึกษาที่ไม่ใช่ที่ปรึกษากรธ. ส่วนข้อกังวลเรื่องคปป.นั้น ตนยังไม่ได้คิด อย่ามาคาดคั้น เพราะต้องรอปรึกษากรธ.รายอื่นอีก มิเช่นนั้นก็ตั้งตนร่างรัฐธรรมนูญคนเดียวก็พอ ไม่ต้องตั้งอีก 20 คน อีกทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนตนจะทำงานโดยเผื่อแนวทางไว้เป็น 2-3 ทางเลือก แล้วรับฟังความคิดเห็นว่าจะเอาทางไหน รับรองไม่มีหมกเม็ดแน่นอน

    นายมีชัยกล่าวถึงการเชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระเข้าร่วมหารือสัปดาห์หน้าว่า เนื่องจากปัญหาทุจริตยังไม่หมด ทั้งทุจริตเลือกตั้ง ทุจริตจากนโยบาย จำเป็นต้องหาแนวทางป้องกัน จึงเชิญองค์กรอิสระมาช่วยระดมความคิดเห็น รับฟังปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ต้องสร้างกลไกเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยเฉพาะเพื่อระงับยับยั้งก่อนเกิดความเสียหาย หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากสร้างองค์กรเพิ่มขึ้นอีก เท่าที่มีอยู่ก็กระจายอำนาจมากไป จนบางทีทำให้รัฐบาลลอยตัว ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับอดีตนายกฯนั้น ตนไม่ทราบ กรธ.คนไหนพูดก็ไปตามคนนั้น

    กรธ.ฟังความเห็นทุกช่องทาง

    ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุมกรธ.ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับเรื่องพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวโน้มรับฟังความเห็นจากทุกช่องทาง รวมทั้งจะนำส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนมาพิจารณาเปรียบเทียบ ซึ่งฉบับใหม่จะกำหนดเฉพาะหลักการสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดจะบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรองต่อไป

    นายนรชิตกล่าวว่า ที่ประชุมยังให้สำคัญกับการให้ความรู้ประชาชนควบคู่กับร่างรัฐ ธรรมนูญ โดยจะจัดทำเอกสารเผยแพร่ต่อไป และยังหารือถึงกรอบแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คือ 1.พิจารณาข้อเสนอสิทธิทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเป็นกลไกป้องกันและตรวจสอบผู้ทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 35 (4)

    2.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างกลไกต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือตรวจสอบแหล่งรายได้และเงินบริจาคของพรรคการเมือง เพื่อให้กลไกมีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรค การเมืองปฏิบัติหน้าที่ได้อิสระ ปราศจากการครอบงำ ตามมาตรา 35 (5)

    เชิญองค์กรอิสระให้ข้อมูล

    นายนรชิตกล่าวอีกว่า 3.พิจารณาข้อเสนอการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปลูกฝังเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม ที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อนและทุกคนเข้าใจได้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของ เจ้าหน้าที่รัฐและสอดคล้องกับสภาพสังคม และสร้างกลไกการลงโทษทางสังคม เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้กับทุกภาคส่วน ตามมาตรา 35 (6)

    ทั้งนี้ ที่ประชุมจะเชิญหน่วยงานด้านการปราบปรามการทุจริต โดยวันที่ 13 ต.ค. จะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันที่ 14 ต.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 15 ต.ค. จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงกับกรธ. ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญมาในลำดับถัดไป และจะเชิญพรรคการเมืองมาชี้แจงเพราะมีส่วนสร้างปรองดองให้กับประเทศชาติ แต่ที่ประชุมยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว

    ส่วนการพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญจะย้อนหลังถึงการเอาผิดนักนักการเมืองที่มีความผิดก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้หรือไม่ นายนรชิตกล่าวว่า นายมีชัยเคยพูดไว้ว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน เมื่อทุจริตจะกลับมาดำรงตำแหน่งไม่ได้ ดังนั้น ส.ส.และนายกฯ ถือว่าสูงกว่าตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเข้มข้นมากกว่า แต่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

    "สมคิด"พร้อมเป็นกุนซือ

    นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตเลขานุการกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับการทาบทามเป็นที่ปรึกษากรธ. และอยากทราบว่าหากไปเป็นที่ปรึกษาจะให้ทำงานอะไร เพราะดูแล้วกรธ.ทั้ง 21 คนมีความรู้ความสามารถ แต่หากได้รับการทาบทามก็พร้อมเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติ

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายมีชัย จะเชิญนายบวรศักดิ์ เป็นที่ปรึกษานั้น ตนมองว่าจะเป็นประโยชน์ในการอธิบายว่าการร่างรัฐ ธรรมนูญรอบที่แล้ว หลักคิด เบื้องหลังแต่ละมาตราคืออะไร จะได้รู้ว่ามีปัญหาหรือควรปรับปรุงตรงไหน ส่วนจะยึดรัฐธรรมนูญฉบับไหนเป็นหลักในการร่างหรือควรเริ่มร่างใหม่ทั้งหมดนั้น ถ้าไปศึกษาตั้งแต่ฉบับปี 2518 ไม่เป็นไร แต่อย่าลืมว่าแต่ละฉบับมีที่มาที่ไปต่างกัน สภาพเหตุการณ์ด้วย หากมาเทียบเคียงกับยุคสมัยนี้ คิดว่าเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การไปดูของเก่าจะเป็นประโยชน์ในการมาผสมผสานกัน แต่ต้องเลือกสิ่งที่เป็นไปได้ในยุคนี้ และไม่ควรทิ้งพัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมา

    อดีตสปช.มองต่างมุม

    ด้านนายทิวา การกระสัง อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บุรีรัมย์ กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายใดห้าม นายบวรศักดิ์สามารถเป็นที่ปรึกษากรธ.ได้ แต่เชื่อว่าสุดท้ายนายบวรศักดิ์ จะกลับมาเป็นที่ปรึกษากรธ. ก็ไม่มีผลต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่กรธ.ร่างอยู่ เนื่องจากมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และ 5 ข้อหลักที่นายมีชัย แถลงไว้ในวันรับตำแหน่งตีกรอบไว้หมดแล้ว จึงคาดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ต่างจากร่างที่สปช.ลงมติไม่เห็นชอบ

    นายเอกราช ช่างเหลา อดีตสปช.ขอนแก่น กล่าวว่า ผลงานการร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดของนายบวรศักดิ์ ปรากฏชัดว่าไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน นำไปสู่การลงมติไม่เห็นชอบของสมาชิกสปช. กรธ.จึงไม่สมควรนำนายบวรศักดิ์ มาเป็นที่ปรึกษาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อีก มิเช่นนั้น จะทำให้สังคมคลางแคลงใจ ตั้งข้อสงสัยว่าจะมาทำงานหรือมาอยู่เบื้องหลังกันแน่ และประเด็นร้อนอย่างคปป.จะปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกหรือไม่

    "ไม่ว่าจะเลี่ยงบาลีให้เป็นนายบวรศักดิ์ อดีตเลขานุการกมธ.ยกร่างฯ ฉบับ 2540 แต่นายบวรศักดิ์ก็คือนายบวรศักดิ์ มีเลขบัตรประชาชนเดียวกัน ผลงานล่าสุดที่คนจดจำคือร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ส่วนนายบวรศักดิ์ควรยึดสัจจะที่ประกาศไว้ หลังสปช.มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่ขอยุ่งเกี่ยวอีก" นายเอกราชกล่าว

    "พรเพชร"เผยจ่อแก้รธน. 2 จุด

    เมื่อเวลา 09.30 น. ที่หน้าห้องประชุมรัฐสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในพิธีแสดงความยินดีเพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิก สนช. ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น 30 คน โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 สมาชิก สนช. พร้อมผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมพิธีด้วย ขณะที่พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม สมาชิกสนช. เป็นผู้แทน กล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสนช.และในตำแหน่งใหม่ด้วยความพากเพียร เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

    นายพรเพชร ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า มี 2 จุดที่ต้องแก้ไขคือ 1.การทำประชามติ ซึ่งในภาษาที่เขียนไว้อาจไม่ชัดเจน โดยเจตนารมณ์คือการนับคะแนนผู้มาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่การนับคะแนนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง จึงต้องแก้ไขให้ชัดเจน และ2.กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่ไม่ผ่านประชามติจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจน มั่นใจว่าร่างรัฐธรรม นูญฉบับนายมีชัย จะผ่านประชามติและเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะการร่างจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนและเป็นไปตามหลักสากล

    คาดเสร็จภายใน 180 วัน

    นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนขั้นตอนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องเป็นไปตามมาตรา 46 ครม.และคสช.เห็นชอบร่วมกัน จากนั้นเสนอให้สนช.พิจารณาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ ภายใน 15 วัน โดยเสียงเห็นชอบจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก สนช.ทั้งหมด ซึ่งคิดว่าครม.และคสช.จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะต้องเสร็จภายในกรอบ 180 วันของกรธ.

    ผู้สื่อข่าวถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติไม่ผ่าน จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคสช.และครม.ดำเนินการ แต่เห็นว่าแนวทางการแก้ไขจะต้องทำให้ทุกอย่างเดินหน้าสู่ระบอบ ประชาธิปไตยในเวลาที่กำหนด สามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านประชามติหรือรัฐธรรมนูญอื่นๆ มาแก้ไข

    เมื่อถามถึงคุณสมบัติของสมาชิกสปท. สนช. และกรธ. เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป.ป.ช. ได้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 41 ไม่ได้พูดถึงการสรรหาป.ป.ช.หรือองค์กรอิสระอื่น แต่เป็นการรับรองคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหา หมายความว่ายกเว้นให้สปท. สนช. และกรธ.มาเป็นได้

    "เหวง"ชง 5 ข้อกันนองเลือด

    นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอต่อนายมีชัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด เช่นเดียวกับกรณีพฤษภาทมิฬ 35 ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่นายมีชัย มีส่วนร่วมยกร่างและเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบสากล ประชาชนมีส่วนร่วมดังที่นายมีชัย ประกาศไว้ จึงเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นฉบับประชาชนหรือฉบับปฏิรูปการเมือง มาเป็นต้นร่างโดยรักษาเนื้อหาสำคัญทั้งหมดแล้วปรับแก้สิ่งที่ไม่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

    นพ.เหวงกล่าวว่า หากนายมีชัย ไม่ยอมรับ รัฐธรรมนูญปี 2540 ตนเสนอว่าในรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย 2559 ควรมีอย่างน้อย 5 ข้อ 1.นายกฯ ต้องมาจากส.ส. 2.ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 3.ต้องไม่มีคปป. ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร เพราะคปป.คือโปลิตบูโร 4.ส.ส.ต้องแยกเป็น 2 ระบบขาดจากกัน ไม่ใช่แบบสัดส่วนผสม และ 5.องค์กรอิสระทั้งหมดต้องมีที่มาจากประชาชนและกรอบการใช้อำนาจต้องไม่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

    "ทั้ง 5 ข้อเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นข้อสรุปจากการปฏิเสธของประชาชนวงการต่างๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 และถ้าร่างยังคงอำนาจรัฐซ้อนรัฐหรือสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหารไว้ ผมห่วงว่าอาจนำไปสู่ความ ขัดแย้งทางการเมืองที่เลวร้ายกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น" นพ.เหวงกล่าว

    กลุ่มพลเมืองโต้กลับมาศาล

    เวลา 08.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธีวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งเป็นพ่อน้องเฌอ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อนัดสอบคำให้การนัดแรก ในคดีฝ่าฝืนการห้ามชุมนุมทางการเมือง จากเหตุการณ์วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ภายในปี 2559 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันดำเนินคดีในฐานความผิดร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่อมาอัยการศาลทหารได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 4 เป็นคดีอาญา ขณะที่บรรยากาศบริเวณศาลทหาร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด

    นายพันธ์ศักดิ์ เปิดเผยว่า ศาลได้รับคำร้องที่ยื่นคัดค้านเขตอำนาจศาลทหาร พร้อมให้อัยการศาลทหารทำหนังสือถึงศาลแขวงปทุมวัน เพื่อตั้งคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ร่วมกันพิจารณาเขตอำนาจศาล เช่นเดียวกับกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของศาลทหารและศาลยุติธรรม พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยยอมรับอำนาจของคสช. เพราะมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หากผลการพิจารณาให้คดีกลับมาขึ้นอยู่กับอำนาจศาลทหาร ก็ต้องขอดูเหตุผลก่อนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

    สภาอียูห่วงสิทธิมนุษยชนในไทย

    เมื่อวันที่ 8 ต.ค. เว็บไซต์รัฐสภายุโรป เผยแพร่มติของสมาชิกสภายุโรป 4 ข้อ เรียกร้องหลายประเทศปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และประเทศไทย

    ในส่วนของประเทศไทย รัฐสภายุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลงในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารที่ผิดกฎหมายเมื่อเดือนพ.ค.2557 และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการกำจัดสิทธิเสรีภาพและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างสันติ นอกจากนี้รัฐสภายุโรปยังเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกคำพิพากษา เพิกถอนข้อกล่าวหา เพื่อปล่อยตัวบุคคลและสื่อมวลชนที่ถูกตั้งข้อหาหรือถูกตัดสินให้มีความผิด เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

    รัฐสภายุโรปยังกดดันให้ทางการไทยระงับโทษประหารชีวิต พร้อมเรียกร้องให้สำนัก งานปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรปใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ทางการไทยเคารพในสิทธิมนุษยชน และหลักนิติ ธรรม รวมถึงเดินหน้าสังเกตการณ์สอบสวน และการดำเนินคดีในชั้นศาลกับแกนนำฝ่ายตรงข้าม

    สำหรับรัฐสภายุโรป หรือ European Parliament เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสหภาพยุโรป(อียู) โดยสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรปร่วมกันทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทรงอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสมาชิกจำนวน 751 คน

    กต.ผิดหวัง-โต้คลาดเคลื่อน

    วันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ออกแถลงการณ์ว่า จากกรณีสภายุโรปออกข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมติที่ไม่มีผลผูกพันต่อการดำเนินนโยบายของสหภาพยุโรปต่อไทย โดยแสดงความห่วงใยในฐานะมิตรประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น การดำเนินการตามโรดแม็ป การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยรับทราบและดำเนินการอยู่แล้ว

    "ไทยผิดหวังต่อข้อมติของสภายุโรป ที่แสดงถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในด้านต่างๆ ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเคารพในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และยึดมั่นดำเนินการตามโรดแม็ปเพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง" แถลงการณ์ระบุ

    พร้อมฟังข้อเสนอสร้างสรรค์

    อย่างไรก็ดี ข้อมติดังกล่าวแสดงความชื่นชมไทยและสนับสนุนไทยในหลายด้าน เช่น ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การผ่าน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ การรับทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในการออกมาตรการขจัดการค้ามนุษย์ และการแก้ปัญหาแรงงานในภาคประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน

    นอกจากนี้ ข้อมติยังยอมรับถึงพัฒนาการทางการเมืองในการที่ไทยแต่งตั้งคณะกรรม การร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ และการดำเนินการตามโรดแม็ปที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ตลอดจนแสดงความเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป

    "ในการนี้ ไทยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ มีความสมดุล และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในทุกมิติและทุกระดับ ตลอดจนจะทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น" แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศ ระบุ

    สปท.โชว์ไอเดียทำงาน

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรายงาน ตัวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่สาม ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 มีสมาชิกมารายงานตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเช้าจนปิดการรายงานตัว โดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สรุปการมาแสดงตนในวันที่สาม จำนวน 36 คน รวมยอดทั้ง 3 วัน 179 คน ซึ่งจะเปิดรับรายงานตัวจนกว่าจะครบ 200 คน

    นายศิริชัย ไม้งาม สปท. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนจะเน้นผลักดันปฏิรูปด้านแรงงานทั้งระบบ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และการให้โอกาสประชาชนทุกคน ส่วนการปรองดอง ตนเห็นว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าได้ต้องไม่มีความขัดแย้ง และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกสีการเมือง หากตนได้ร่วมทำงานด้านปรองดอง ตนจะไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกกลุ่ม

    ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย สปท. แกนนำ กปปส. กล่าวว่า สิ่งแรกที่สปท.ควรปฏิรูปคือการแก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เพราะหากไม่แก้ไขแล้วเลือกตั้ง ปัญหาเดิมๆ จะกลับมาอีก ดังนั้น ต้องไม่มีการซื้อเสียงแล้วเอาคนดี มีคุณภาพเข้าสู่การเลือกตั้ง ส่วนเรื่องปรองดอง เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผ่านได้ยาก ดังนั้นทุกคนจะต้องเคารพกติการ่วมกันเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ สำหรับประธานสปท.นั้น เป็นใครก็ได้ แต่ควรเป็นผู้นำ ประสานสมาชิกและควบคุมการประชุมได้ ส่วนที่มีชื่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นแคนดิเดตนั้น เห็นว่ามาทำหน้าที่ประธานสปท.ได้เช่นกัน

    แห่เชียร์"ทินพันธุ์"ประธาน

    พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. กล่าวว่า งานผลักดันการปฏิรูปประเทศของสปท. ถือว่าสำคัญที่สุดที่จะชี้ว่าการดำเนินการของ คสช.สำเร็จหรือไม่ การปฏิรูปต้องทำในทุกมิติเพื่อให้เกิดการผลักดันในอนาคตต่อไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้มีหน่วยงานมาทำเรื่องนี้โดยตรงหรือไม่ หากไม่มี รัฐบาลใหม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตนอยากปฏิรูปด้านการเมืองและพลังงาน

    พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนคนเป็นประธานสปท.นั้น ต้องมีความรู้รอบด้าน พร้อมเสียสละเช้ามาทำงาน และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตนเห็นว่าร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ มีความเหมาะสม เนื่องจากมีความรอบรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะรัฐศาสตร์และยังมีประสบการณ์ เป็นทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภามาแล้ว นั่งเป็นหัวโต๊ะได้แน่นอน

    พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปท. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าร.อ.ทินพันธุ์ เหมาะสมทำหน้าที่ประธานสปท. เพราะเป็นคนเก่ง มีประสบ การณ์ ผ่านการทำงานมามาก เคยเป็นอดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ รวมถึงบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างปรองดอง เราต้องการผู้ใหญ่ เนื่องจากในสปท.มีสมาชิกที่มีแนวคิดไม่ตรงกัน จึงเห็นว่าตัวประธานควรเป็นผู้ใหญ่จึงจะเหมาะสม

    "นรรัตน์-วลัยรัตน์"ลุ้นรองปธ.

    ส่วนนางนรรัตน์ พิมเสน สปท.อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงกระแสข่าวที่อาจจะได้รับการสนับสนุนเป็นรองประธานสปท.ว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามใดๆ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนประธานสปท.นั้น เห็นว่าทุกคนมีฝีมืออยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ และสปท.ควรเป็นสภาที่ไม่จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบข้อบังคับมาก เพราะเรื่องที่เราทำนั้น ต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง และตนจะสานต่อเรื่องที่สปช.ดำเนินการไว้ โดยพิจารณาว่าเรื่องใดสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อน

    น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ สปท. กล่าวถึงข่าวมีชื่อเป็นรองประธานคนที่ 2 ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากสมาชิกสปท. แต่ถ้าจะให้ทำหน้าที่ก็พร้อม เราเป็นคนไทยต้องทำเพื่อประเทศชาติ ที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่ประธานในการประชุม สมัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมาก่อน

    หึ่ง! คสช.เดินเกมล็อบบี้

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดคสช. ได้ประสานสมาชิกสปท.สายทหาร และสายที่มาจาก อดีต สปช.ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้เดินสายประสานสมาชิกสปท.ให้สนับสนุน ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา ครา ประยูร และอดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธานสปท. เนื่องจากมีประวัติดี มีสายสัมพันธ์กับทหาร จบจปร. อีกทั้งเคยเป็น ส.ว.ปี 2531 และ ส.ว.ปี 2535 และสนช.ปี 2534 แต่อาจติดปัญหาสภาพร่างกาย เนื่องจากอายุ 81 ปี ถ้าต้องทำหน้าที่ประธานบนบัลลังก์เป็นเวลานานๆ จึงต้องรอการตัดสินใจอีกครั้ง

    ส่วนรองประธานสปท.คนที่ 1 มีการวางตัวให้ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และเป็นอดีต สปช.สมัยที่แล้ว ซึ่งเดิมถูกวางตัวเป็น ประธานสปท. มาเป็นรองประธาน คนที่ 1 ขณะที่รองประธาน คนที่ 2 วางตัวให้โควตาผู้หญิงมาดำรงตำแหน่ง โดยเห็นว่า น.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ มีความเหมาะสม เนื่องจากเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

    ขณะเดียวกัน มีสมาชิกสปท.ที่เป็นอดีต สปช.ส่วนหนึ่ง เตรียมเสนอแนวทางเลือกประธานสปท.ในที่ประชุมวันที่ 13 ต.ค. ว่า ผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานและรองประธานนั้น ควรเป็นนักปฏิบัติในเรื่องปฏิรูป เป็นนักบริหาร รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครม. กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพราะสปท.จะเป็นสภาปฏิบัติการ ต้องดำเนินการปฏิรูปทั้ง 46 ประเด็นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายในเวลาที่จำกัด

    คสช.ตั้งกก.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งคสช.ที่ 13/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคสช. ที่ 2/2558 โดยให้ยกเลิกความในข้อ 1 ของคำสั่งคสช.ที่ 2/2558 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2558 โดยใช้ข้อความต่อไปนี้แทน ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. ประกอบด้วย กรรมการ 16 คน โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. เป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ.

    พล.อ.วิลาศ อรุณศรี พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ นายอำพน กิตติอำพน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กรรมการและเลขานุการ พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!