WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2ทนาย

บิ๊กตู่เมินจม.ปู ฮึ่มสั่งคดีข้าว 'ปู่ทิน"ฉลุยนั่งปธ. 'จ้อน'ซิวรองสปท.

     ฉลุยนั่งบัลลังก์ตามโผ "ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ"ได้รับเลือกเป็นประธานสปท.แบบไร้คู่แข่งขัน ขณะที่ "อลงกรณ์ พลบุตร"โผล่นั่งรองประธานคนที่ 1 โดยมี"วลัยรัตน์"รองประธานคนที่ 2 ทนาย ความยิ่งลักษณ์บุกทำเนียบ ยื่นคัดค้าน"บิ๊กตู่" ใช้คำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ระบุไม่มีอำนาจ อีกทั้งคดี ก็ยังไม่สิ้นสุด เรียกร้องให้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลแทน ด้าน"ประยุทธ์"เย้ยจดหมายเปิดผนึกอดีตนายกฯปูไม่ได้เขียนเอง ลั่นจะดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันถูกมองว่ากลั่นแกล้ง "ณัฐวุฒิ"ซัดใช้เทคนิคทางกฎหมายไล่ต้อน-มัดมือชก ป.ป.ช.สรุปแล้ว "บิ๊กติ๊ก"ไม่จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9086 ข่าวสดรายวัน

โชว์ปั่น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการมหกรรมแข่งขันจักรยานทางไกลประเทศไทย ตอนนักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง โดยทดลองปั่นจักรยานไปรอบสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

ทนายปูยื่นบิ๊กตู่ระงับคำสั่งคดีข้าว

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ต.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ใช้กระบวนการทางศาลพิจารณาคดีเรียกค่า เสียหายทางแพ่งคดีรับจำนำข้าวให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เนื่องจากการใช้อำนาจทางบริหารมาชี้ถูกผิดเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ และรมว.คลังมี 6 หน้า ลงนาม โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื้อหาระบุว่า การที่รัฐบาลเร่งรีบรวบรัดใช้มาตรการทางปกครอง ตามมาตรา 57 ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ให้ผู้เกี่ยวข้องชำระหนี้ทางละเมิด ตัดสินน.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายมากกว่า 5 แสนล้านบาท ถือว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่าไม่รวมถึงตำแหน่งนายกฯ อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์และรมว.คลัง ที่จะออกคำสั่งให้สอบสวน และมาตราดังกล่าวยังไม่ให้ใช้บังคับกับรัฐสภา ครม. และการพิจารณาของนายกฯหรือรัฐมนตรีในทางนโยบายโดยตรง

ระบุไม่มีอำนาจ-คดียังไม่สิ้นสุด

     ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจใช้อำนาจปกครองมาตรา 57 มาบังคับให้ชำระหนี้ในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวได้ อีกทั้งการกล่าวหาในคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาในฐานะนายกฯ ไม่ใช่ในฐานะน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคดียังไม่ถึงที่สุด ยังมีอายุความ มีเวลาดำเนินการ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลจึงไม่ควรให้นายกฯ ใช้อำนาจบริหาร แทนที่จะใช้อำนาจทางศาลพิจารณาคดีแทน จึงอยากเรียกร้องให้มี การสอบสวนถูกต้องเที่ยงธรรม และหากสอบสวนเสร็จสิ้นมีความเสียหาย ขอให้ใช้กลไกของศาล และขอให้ศาลพิพากษาเท่านั้น

     จึงขอโต้แย้งคัดค้านว่านายกฯจะออกคำสั่งตามมาตรา 57 ให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่ใช้วิธีการตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมไม่ได้ รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ ผู้รับผิดชอบได้แสดงความเห็นชี้นำคณะกรรมการ พล.อ.ประยุทธ์ และสังคมตลอดมา ว่าจะดำเนินการโดยใช้มาตรา 57 ออกคำสั่งโดยไม่ฟ้องศาลแพ่ง ตนขอคัดค้านว่าหากปล่อยให้คณะกรรมการดำเนินการจะเป็นการกระทำฝ่าฝืนและปฏิบัติผิดต่อกฎหมาย และเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม

      ในอดีตการดำเนินการทางละเมิดกับนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ป้องกันค่าเงินบาท รัฐบาลขณะนั้นเลือกฟ้องต่อศาลแพ่งโดยไม่ใช้วิธีออกคำสั่งมาตรา 57 โดยหนังสือฉบับนี้จึงเรียนมาเพื่อ 1.คัดค้านและทบทวนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ พร้อมยกเลิกเพิกถอนการ กระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง 2.หากยังฝืนดำเนินการตามข้อ 1 ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ กำกับ ควบคุม ดูแล ให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้โอกาสตนได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่างๆ

เรียกร้องฟ้องศาล-ดุจคดีเริงชัย

      นายนรวิชญ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นหนังสือเพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารใช้มาตรการทางปกครองมาตรา 57 มาดำเนินการโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเทียบเคียงความผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับคดีของนาย เริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธปท.นั้น ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้หมด เพราะรัฐบาลขณะนั้นฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้นายเริงชัยชดเชยค่าเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้มาตรการทางปกครอง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลระงับคำสั่งมาตรการทางปกครอง เพื่อทำให้คดีเหมือนกับคดีของนายเริงชัย เพื่อทำให้ผู้พิพากษาศาลได้พิจารณาคดีอย่าง มีอิสระ

นายนรวิชญ์กล่าวว่า ส่วนที่ยืนยันว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ใช้พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดมา 20 ปี ดำเนินการกว่า 300 คดี ต้องชี้แจงว่าไม่เคยใช้กับอดีตนายกฯคนใด เพราะคำจำกัดความตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ถือว่านายกฯไม่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าว

"พล.อ.ประยุทธ์มีหมวกสองใบ คือนายกฯ และคสช. ถึงแม้ประกาศจะไม่ใช้มาตรา 44 แต่ยังมีอำนาจบริหาร จึงไม่อยากให้ใช้อำนาจบริหารในลักษณะนี้มาดำเนินการ ควรให้ศาลพิจารณาจะถูกต้องกว่า และหากสอบสวน พบความเสียหายจริงให้ฟ้องร้องที่ศาล ไม่อยากให้นายวิษณุเลี้ยวใช้กฎหมายมาตรา 57 มาดำเนินการเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับอายุความ เพราะกระบวนการทางศาลใช้ในอายุความได้" นายนรวิชญ์กล่าว

"ประวิตร"อ้างทำตามกฎหมาย

เมื่อถามว่าการใช้คำสั่งทางปกครองจะรวดเร็วกว่า นายนรวิชญ์กล่าวว่ารวดเร็ว เพราะสั่งให้ชำระเงินเลย หากไม่พอใจก็ให้ ผู้ถูกคำสั่งไปฟ้องร้องเอาเอง แทนที่รัฐจะเป็นผู้ฟ้อง ยอมรับว่าหากรอกระบวนการทางศาลจะล่าช้าแต่เป็นธรรม ส่วนจะมีดอกเบี้ยเพิ่ม ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยให้เราได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อความเป็นธรรม

เมื่อถามว่าแต่ป.ป.ช.เรียกสอบพยานมาแล้วชั้นหนึ่ง นายนรวิชญ์กล่าวว่านั่นคือส่วนของคดีอาญา แต่ในทางแพ่งคือคนละเรื่องกัน ป.ป.ช.แค่กล่าวหาว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรียกร้องค่าเสียหาย ตรงนี้ยังไม่ ยุติ โครงการรับจำนำข้าวปิดบัญชีหรือยัง ขายข้าวหมดโกดังหรือยัง สรุปตัวเลขเสียหายจริงหรือไม่

เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ทนายความยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียก ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวว่า ยืนยันว่าดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อย่ากังวล อะไรทำได้ก็ทำ เพราะการดำเนินการมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ถ้าไม่เรียบร้อยรัฐบาลจะเดือดร้อน

เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องศาลได้หรือไม่หากมองว่าไม่เป็นธรรม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าฟ้องได้ ถ้าดำเนินการได้ก็ทำได้ทั้งหมด ไม่ต้องห่วง เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ได้กลั่นแกล้ง จะไม่เป็นธรรมได้อย่างไร เพราะรัฐบาลก็หลายคน มีทั้งคณะ 30 กว่าคนที่พิจารณา

ประยุทธ์ชี้อาจออกสารนายกฯอีก

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กรณีออกสารถึงประชาชนฉบับที่ 2 ผ่านโฆษกประจำสำนักนายกฯว่า หากจำเป็นก็จะออกสารจากนายกฯอีก จะได้ไม่ต้องพูดมาก เมื่อถามว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวมากไปหรือไม่ ทำไมนายกฯไม่ออกมาพูดด้วยตนเอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าคุยเองก็คุยอยู่แล้ว สิ่งไหนที่มีผลกระทบต่อสังคมก็ต้องให้แถลงออกไปบ้าง

เมื่อถามว่าแสดงว่ามีกระแสกดดันใต้ดินเข้ามาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า "ไม่มี เวลานี้เป็นเวลาสำคัญ จากนี้จนถึงเดือนก.ค. 2560 เป็นช่วงการปฏิรูป และเตรียมการปฏิรูปประเทศ ความจริงเราปฏิรูปกันอยู่แล้ว แต่บางคนก็ไม่เข้าใจ อยากบอกว่าเราปฏิรูปและทำงานแบบวันนี้ถึงได้งานออกมาอย่างได้เรื่องได้ราว ถ้าไม่ปฏิรูปแล้วทำแบบเดิมก็ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉยๆ ทำแบบเก่าก็ไม่ได้ป่าคืน ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ได้แก้ปัญหาตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มันมีหลายส่วนที่ต้องช่วยกัน ผมไม่ได้ว่าใครบกพร่อง แต่วันนี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่อยากให้ใครที่มีความเห็นแตกต่าง เอาเรื่องแตกต่างหรือความขัดแย้งอย่างเดียวมาพูด มันต้องพูดทั้งสองอย่างว่าปัญหามันอยู่ที่ไหนแค่นั้นเอง"


ตามโผ - ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ได้รับเลือกจากสมาชิกเป็นประธาน สปท. โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานคนที่ 1 และน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานคนที่ 2 ในการประชุมสปท.นัดแรก ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

ชี้เวลาจำกัด2ปี-สำหรับคดีจำนำข้าว

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม.ว่า ครม.ได้พิจารณาเรื่องคดีความต่างๆ มีทั้งที่รัฐบาลเป็นจำเลยกับบริษัทต่างๆ ที่ฟ้องร้องมา 10 กว่าปี ขณะนี้เริ่มส่งผล มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก วันนี้เราต้องหาทางออกให้ได้ ย้ำว่าตนไม่ได้เป็นคนทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พยายามแก้ ลดความเสียหายลง ที่สำคัญมีคดีที่รัฐบาลนี้จำเป็นต้องดำเนินการ

นายกฯกล่าวว่า นายวิษณุพูดแล้วเกี่ยวกับคดีรับจำนำข้าว ผู้บริหารจะผิดหรือถูกเพราะต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่สิ่งที่เราปล่อยไม่ได้ คือมันมีกฎหมายเกี่ยวกับการละเว้นการกระทำต่างๆ ซึ่งมีเวลาจำกัด 2 ปี จึงเป็นหน้าที่ของตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องส่งเรื่องไป คือมีมาตรการทางการปกครองเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายมีอยู่แล้ว ไม่ใช่บัญญัติขึ้นใหม่ และไม่ได้ใช้มาตรา 44 เพราะคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับนักการเมืองจะเข้าสู่ศาลปกครอง สู้กันไปมา อาจใช้เวลายาวนานเป็น 10 ปี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คดีโครงการรับจำนำข้าวอยากให้ดูข้อกฎหมาย ยืนยันว่าจะไม่ใช้กฎหมายพิเศษ อย่าลืมว่ากฎหมายมีหลายอย่าง ระเบียบสำนักนายกฯ มาตรการทางการปกครองกับเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิด ขั้นตอนที่ 1 มันต้องทำเพราะเป็นกฎหมายมาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ ซึ่งกฎหมายยังมีอยู่ จะละเว้น ไม่ได้ รวมทั้งการเรียกค่าเสียหายต่างๆ แต่ถ้าเรียกไปแล้วไม่จ่าย ไม่ยอมรับก็ไปฟ้องศาลปกครองต่อ แต่วันนี้เราต้องทำตรงนี้เพราะจะปล่อยเวลาให้เกิน 2 ปีไม่ได้ ปัญหารับจำนำข้าวมีมาตั้งแต่ปี 55/56 และ 56/57 เดี๋ยวมันจะหมดอายุ

เย้ย"ปู"ไม่ได้เขียนเอง-ยันเปล่าแกล้ง

ส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว นายกฯกล่าวว่าเป็นเรื่องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่คงไม่ได้เขียนเอง คงเป็นคำแนะนำจากฝ่ายทนาย ซึ่งเขาเข้าใจและตีความไปแบบนั้น ยืนยันว่าการใช้คำสั่งทางปกครองเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เพราะกรอบที่ต้องดำเนินการก่อนคดีหมดอายุความ และเป็นคดีทางปกครองที่ฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากน.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นว่าไม่ถูกต้องให้ไปต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจากการพิจารณาคำสั่งทางปกครองในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต้องนำขึ้นสู่กระบวนการของศาล ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายพิเศษ เพราะต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง ส่วนค่าเสียหายยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะยังมีข้าวค้างสต๊อกอยู่

"เราต้องทำให้ชัดเจนว่าไม่ได้รังแกหรือกลั่นแกล้งกัน เรื่องนี้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ต้องว่ากันด้วยหลักฐาน ด้วยกฎหมาย จากที่ ฟังนายวิษณุชี้แจงจับความได้ว่า ใครที่เป็นหัวหน้าในนโยบายจะต้องรับผิดชอบตามที่กฎหมายเขียนไว้หากมีความเสียหาย เป็นมาตรการทางการปกครอง แต่จะรวมเรื่องทุจริตหรือเปล่าไม่รู้ ถ้ามันเกิดทุจริตขึ้นก็เป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้ง 2 เรื่อง จึงแยกเป็นการขายข้าวไปต่างประเทศซึ่งเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้าว ผมจำเป็นต้องใช้อำนาจทางการปกครอง ซึ่งผมละเว้นไม่ได้ เมื่อผมเสนอเรื่องไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องมีคณะกรรมการตัดสิน ชี้กลับมาที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ว่าจะให้ดำเนินการต่อไปเมื่อถึงตรงนั้นก็จะใช้อำนาจของเขา เรียกร้องชดใช้ค่า เสียหาย ไม่ใช่ผม เรื่องทั้งหมดจะย้อนกลับ ไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะกรรม การที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางร่วมอยู่ด้วย" นายกฯกล่าว

ข้องใจ-ทำไมต้องห่วงกรณีคปป.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการร่างรัฐธรรม นูญว่า กรธ.ต้องเอากฎหมายเก่าๆ มาดูว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร กฎหมายข้อไหนที่ ยอม รับกันได้ก็นำมาใส่ในฉบับใหม่ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดูว่าข้อไหนต้องเพิ่มเติมหรือเพื่อให้มีกลไกปฏิรูปที่ยั่งยืน เพราะหากไม่บัญญัติไว้ก็ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ที่ทำมาก็เสียเวลาเปล่า สุดท้ายกลับมาที่เดิม ขอร้องว่าอย่าไปมองว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ต่างชาติจะรับได้หรือไม่ สุดท้ายเขารับได้อยู่ดี เราต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสากล ส่วนกฎหมายลูกหรือบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องในประเทศ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงทำไม่ได้และไม่ยอมทำ ตนเป็นห่วงรัฐบาลในอนาคต

"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห่วงเรื่อง คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) บอกหลายครั้งแล้วว่าคปป.ทำหน้าที่อะไร มันเป็นเพียงร่มๆ หนึ่งที่เขาเสนอมาเรื่องยุทธศาสตร์ ผมก็ฟังมาจากสปช.แล้วมาคิดว่าเชื่อมกันอย่างไร ยืนยันว่าไม่เคยคิดครอบงำใคร หรือไปครอบงำรัฐบาลต่อไป เพราะผมไม่คิดว่าผมทำอะไรผิด เพียงแต่ต้องการให้ประเทศเดินได้ ดังนั้นมีอะไรที่ทำให้เกิดความมั่นคง เขาเลยเสนอ คปป.ขึ้นมา" นายกฯกล่าว

โต้-ครอบงำรัฐบาลในอนาคต

เมื่อถามว่าคปป.จะมาครอบงำรัฐบาลในอนาคตหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ผมตอบไปไม่ฟัง หรือมันไม่เข้าใจ อธิบายแล้ว คปป.จะไปสั่งใครที่ไหน คปป.เพียงเสนอข้อเสนอไปยังรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ คปป.เพียงส่งเป็นแผนเป็นกิจกรรมไป หากไม่ทำก็เอาเรื่องเข้าสภาพิจารณาร่วมกัน และให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำ ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่หาใครไปดู วันนี้จะไปบอกว่าคปป.ไปสั่ง มันสั่งไม่ได้ ผมแค่บอกว่าไปหากลไกมา จะเป็นคปป. หรือคออะไรก็แล้วแต่ หรือจะไม่มี แล้วจะให้ประเทศเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น"

เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชา มติจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าหากไม่ผ่านก็ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไร ตนไม่อยากอยู่ตรงนี้เพราะปัญหามันเยอะเหลือเกิน เมื่อถามย้ำว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าปัจจัยใดที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าก็ทำประชามติ ถ้าทำก็จบ สปท.ก็ไม่ต้องลงมติเพราะไม่เกี่ยวกัน

เผยทูตมะกันคนใหม่ขอเข้าพบ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำสิ่งใหม่ๆ ย่อมมีผลกระทบ อยากให้ปฏิรูปเรื่องการเสนอข่าว ซึ่งตนคงไม่บังอาจไปปฏิรูปสื่อ อยากให้สื่อปฏิรูปการนำเสนอข่าว การสร้างความเข้าใจในด้านที่ดีให้กับประชาชน ให้มีความรักสามัคคี ไม่ขัดแย้งอีกต่อไป ตนไม่ไปปิดกั้นสื่ออยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นต่างชาติก็มองว่าตนไปปิดกั้น แค่เรียกนักข่าวมาคุยคนเดียว กลายเป็นว่าตนไปปิดกั้นเสรีภาพมนุษย์ มันไม่ใช่ พอกลับไปยังหัวเราะดี ไม่เดือดร้อนและการ์ตูนก็เขียนเหมือนเดิม เรียกไปก็เท่านั้น ตนก็โดนอีก กฎหมายมีก็ต้องใช้กฎหมาย ขอความร่วมมือไม่ได้อีก ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่จะทำไปเรื่อยๆ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายเกล็น เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศ ไทยจะขอเข้าพบ ขณะนี้กำลังดูเวลาที่เหมาะสมอยู่ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะพบกัน หากได้พบกันแล้วคิดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยขัดแย้งกับใคร

"จะชี้แจงสถานการณ์การเมืองทั้งก่อนและหลังเข้ามาบริหารประเทศให้นายเดวีส์รับทราบข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมาได้รับฟังข้อมูลด้านเดียว ผมจะชี้แจงเหมือนกับทุกประเทศที่มาเข้าพบ" นายกฯกล่าว

เผยบิ๊กตู่สั่งเร่งรัด 9 คดีค้างเก่า

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับการติดตามคดีฟ้องร้องที่นายกฯ สั่งการให้แต่ละกระทรวงไปติดตามเร่งรัดคดี มีทั้งที่รัฐบาลเป็นโจทก์และจำเลย และมอบให้นายวิษณุติดตามความคืบหน้า อาทิ 1.คดีค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ 2.การฟ้องร้องสถานีโทรทัศน์ไอทีวี 3.การทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 4.โครงการโฮปเวลล์หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร 5.คดีโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง 6.คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส

7.คดีบริษัทวอลเตอร์ บาว จำกัด ฟ้องรัฐบาล ในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์ 8.คดีข้อพิพาททีโอทีกับเอไอเอส 9.คดีโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล ซึ่งดำเนินคดีกับน.ส. ยิ่งลักษณ์ และการขายข้าวแบบจีทูจี แยก เป็น 3 คดี 1.คดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ในฐานะรมว.พาณิชย์ 2.นายภูมิ สาระผล ในฐานะรมช.พาณิชย์ 3.และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 14 ราย

เผยวิษณุแจงกรณีคำสั่งทางปกครอง

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า นายวิษณุรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ไปติดตามข้อมูลเรื่องการฟ้องร้องคดีความระหว่างรัฐบาลไทย หรือประเทศไทยกับบริษัทต่างประเทศ บริษัทในประเทศ และข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ หรือหน่วยงานที่ประกอบธุรกิจ ทั้งที่รัฐบาลเป็นโจทก์และเป็นจำเลย โดยให้พิจารณาคดีสำคัญที่มีวงเงินฟ้องร้องสูงถึงหลักพันหรือหมื่นล้านบาท

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คดีทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 รัฐบาลเป็นโจทก์ 12 คดี และเป็นจำเลย 12 คดี รวมถึงการเรียกค่าเสียหายคดีรับจำนำข้าว ซึ่งนายวิษณุชี้แจงให้ครม.รับทราบว่ากรณีนี้ไม่มีใครกล่าวหาว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องทุจริต หรือมี คนใดคนหนึ่งทุจริต แต่กล่าวหาอดีตนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบและแก้ไขเมื่อป.ป.ช.แจ้งว่ามีการทุจริต ส่วนการใช้พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิด มาใช้บังคับนั้น เป็นไปตามกฎหมาย กับเจ้าหน้าที่กระทำผิดเอง ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ต้องทำแบบนี้ เนื่องจากการใช้อำนาจทางปกครองเรียกค่าเสียหายมีเวลา 2 ปี หากไม่ทำจะเสียโอกาสในการปกป้องประโยชน์ของชาติและจะละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนอดีตนายกฯจะชดใช้หรือไม่ ต้องไปฟ้องศาล

"มาร์ค"ทันที-ชี้"บิ๊กตู่"ดำเนินการได้

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคกล่าวกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องพิจารณาฟ้องแพ่งโครงการรับจำนำข้าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ ว่าในทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่อยากตั้งรับเพียงฝ่ายเดียว ทางเชิงรุกต้องการมีพื้นที่อธิบายเตรียมตัวต่อสู้คดีในขั้นตอนต่อไป แต่ยืนยันการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งในคดีนี้เป็นกฎหมายที่บังคับกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี ไม่ได้เป็นการเจาะจงเฉพาะตัว รัฐบาลนี้สามารถกระทำได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างความเสียหายในระหว่างการทำหน้าที่ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมิชอบสามารถร้องศาลปกครองได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าถูกสนช. ถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกฯ ในวันเดียวกันกับที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งฟ้อง ซึ่งมีระยะห่างเพียง 1 ชั่วโมงนั้น ตนรู้สึกแปลกใจในประเด็นดังกล่าว เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น การดำเนินคดีของบางรายยังกระทำพร้อมกับป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และพร้อมกับทั้งการถอดถอนและคดีอาญา

"เต้น"อัดรบ.ใช้เทคนิคกฎหมายบีบ

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงใช้คำสั่งทางปกครองบังคับน.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว โดยใช้คำอธิบายของนายวิษณุเป็นใบเบิกทาง จึงขอเสนอข้อเท็จจริงที่แตกต่าง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าไม่ใช่การดำเนินการโดยปกติ รัฐบาลที่มา จากรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจโดยตรง กล่าวหา และตัดสินคดีรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ สิ่งที่ควรทำคือใช้กระบวนการทางศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ชัดเจนมาตลอดว่าจะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย แต่เมื่อเนติบริกรพบว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล จึงใช้เทคนิคทางกฎหมายบีบให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายฟ้อง

ชี้ตามเล่นงาน-มัดมือชกยิ่งลักษณ์

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การอ้างว่าคดีจะหมดอายุความ เป็นเหตุให้ต้องเร่งรัดนั้นก็รับฟังไม่ได้ กว่าจะถึงจุดนั้นเหลือเวลาอีก 1 ปี 5 เดือน การฟ้องแพ่งทำได้ทันก่อนหมดอายุความแน่ น่าประหลาดที่รัฐบาลชุดนี้กล้าฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกกฎหมายมากมาย ใช้อำนาจสูงสุดตามมาตรา 44 ไม่เคยแสดงออกว่ามีอะไรต้องกลัว แต่กลับอ้างว่ากลัวตกเป็นจำเลยตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลเลือกตั้งซึ่งขับเคลื่อนนโยบายตามที่แถลงไว้ กับรัฐสภาจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งยัง ไม่ชัดเจนว่าวิธีคำนวณตัวเลขใช้ฐานข้อมูล แบบไหน

นายณัฐวุฒิกล่าวว่าหากอ้างว่าตัวเลขค่าเสียหายนั้นเป็นจริง ขอถามรัฐบาลว่ากล้าเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ว่า ธ.ก.ส.โอนเงินตรงจากบัญชีธนาคารเข้าบัญชีชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วทั้งหมดเท่าไร

"ผมอยู่กับความเป็นจริง รู้ดีว่าเวลานี้ไม่ ใช่เวลาแห่งความชอบธรรม แต่เป็นเวลา แห่งอำนาจ เมื่อนึกถึงชะตากรรมของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ก็เห็นใจจนไม่อยากจินตนาการ แต่นึกไม่ถึงว่าฝ่ายที่ตามเล่นงานจะมัดมือชกและปฏิเสธแม้แต่โอกาสที่อดีตนายกฯจะได้สู้อย่างสมศักดิ์ศรี" นายณัฐวุฒิกล่าว

พท.ร้องสนช.สรรหาปปช.แทนภักดี

ที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขอให้สรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)คนใหม่ หลังจากสำนักงานตรวจแผ่นดิน(สตง.) ส่งหนังสือให้สนช.ดำเนินการต่อสถานภาพของนายภักดี โพธิศิริ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการป.ป.ช.มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.2549

นายสุรพงษ์กล่าวว่า สตง.ทำหนังสือถึงประธานสนช. แจ้งผลการตรวจสอบว่านายภักดีไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีวัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 19 และได้ส่งเรื่องให้สนช.พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการที่สตง.ชี้มูลว่านายภักดีไม่เคยได้รับเลือกเป็นกรรมการป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัทภายใน 15 วัน ตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ดังนั้น นายภักดีจึงไม่มีสถานะเป็นกรรมการป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสนช.ในฐานะที่ทำหน้าวุฒิสภา จึงต้องสรรหาป.ป.ช.คนใหม่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 7 ต่อไป

พรเพชรโยนให้สนช.1ใน4เข้าชื่อ

ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า ตนจะรับเรื่องไปดำเนินการตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ที่ให้สมาชิกสนช.เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ยื่นเรื่องให้ประธานสนช. บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ตนมีหน้าที่เพียงแจ้งให้สมาชิกทราบเท่านั้น หากสมาชิกเห็นด้วยก็เข้าชื่อ จากนั้นตนจะดำเนินการ มิเช่นนั้นตนจะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าจูงใจว่าไม่เป็นกลางได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์กล่าวโต้แย้งคำชี้แจงของนายพรเพชรว่า ตามมาตรา 16 ใช้ในกรณีที่นายภักดีเป็นกรรมการป.ป.ช. แต่สตง.ได้ตรวจสอบและชี้มูลว่าไม่เป็นกรรมการป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ต้องดำเนินการตามมาตรา 7 ซึ่งนายพรเพชรกล่าวว่าคุณ สมบัติของนายภักดี ทางสนช.ได้ตั้งคำถาม ไปยังคณะกรรมการป.ป.ช.ในสำนวนคดีถอดถอน ซึ่งป.ป.ช.ยืนยันว่า นายภักดีมีคุณสมบัติครบ สนช.จึงไม่สามารถดำเนิน การอะไรได้ อีกทั้งสมาชิกสนช.ก็ไม่เข้าชื่อร้องขอตามมาตรา 16 แต่ตนจะขอรับไปดู ข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ยื่นร้องผู้ตรวจฯสอบ"บิ๊กตู่-วิษณุ"

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจฯ ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมพล.อ. ประยุทธ์และนายวิษณุกรณีแต่งตั้งเครือญาติ และบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็น สมาชิกสปท. เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายศรีสวุรรณกล่าวว่า รายชื่อสมาชิก สปท. 200 คนที่นายกฯแต่งตั้ง พบว่ามีบุคคลที่เป็นพี่น้องของนายวิษณุ คือพล.อ.ต. เฉลิมพล เครืองาม และนายดุสิต เครืองาม ขณะที่นายกฯ แต่งตั้งบุคคลที่มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพเดียวกับตนเองคือนายทหาร หรือตำรวจในและนอกราชการมาเป็นสมาชิกถึง 77 คน หรือมากกว่า 38.5% ของสมาชิกทั้งหมด ทั้งที่สปท.ควรประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ มากกว่าจะเป็นพี่น้องหรือคนกันเอง เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อประโยชน์ ใช้อำนาจทางกฎหมายแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดมากินเงินเดือน และรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากรัฐ ส่อขัดจริย ธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 13(2) พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง 2551

จึงขอให้ผู้ตรวจฯตรวจสอบ หากพบว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลแลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อนำไปสู่การถอดถอนต่อไป

"ทินพันธุ์"ไร้คู่แข่ง-ฉลุยปธ.สปท.

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นัดแรก วาระสำคัญคือการเลือกประธานและรองประธาน บรรยากาศคึกคัก สมาชิกสปท.ทยอยเข้าร่วมประชุมตั้งแต่เช้า เช่น พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร พล.อ.นคร สุขประเสริฐ นายจุมพล สุขมั่น ขณะที่นางปัทมา เทียรวิศิษฎ์สกุล อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ได้มารายงานตัวเป็นคนสุดท้าย ทำให้สมาชิกสปท. มารายงานตัวครบ 200 คน

เวลา 09.35 น. เริ่มประชุมสปท. โดย นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯสปท. ขอหารือที่ประชุมเพื่อนำข้อบังคับการประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)มาใช้ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้อง

จากนั้นเข้าสู่วาระเลือกประธานและ รองประธานสปท. โดยเชิญนายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปท.ที่อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว โดยนายชัยกล่าวขอบคุณที่มีโอกาสนั่งตรงนี้อีกครั้ง ที่นั่งมาแล้ว 4 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และแจ้งให้สมาชิกรับทราบประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง แต่งตั้งสมาชิก สปท. และร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม

จากนั้นเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อ โดยพล.อ. ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปท. เสนอชื่อร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธานสปท. โดยไม่มีผู้เสนอบุคคลอื่น

นายชัยกล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดเสนอชื่อสมาชิกคนอื่นขึ้นมาชิงตำแหน่งประธานสปท. ทำให้ร.อ.ทินพันธุ์ได้รับเลือกเป็นประธานสปท.

เจ้าตัวลั่นแข็งแรง-ว่ายน้ำสม่ำเสมอ

จากนั้น ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ไว้วางใจ ตนจะทำหน้าที่รวบรวมวาระการปฏิรูปทั้งหมดต่อจากสปช. เพราะ สปท.มีหน้าที่ปฏิรูปต่อไปให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ การทำหน้าที่ของทุกคนในครั้งนี้ถือเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ให้ประเทศไทยเกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เชื่อมั่นว่าสมาชิกทุกคนจะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ดี

ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากนี้จะจัดทำข้อบังคับการประชุมของสปท.ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน ต่อไปนี้ใครอยากปรึกษาหารือกับตนเรื่องใดก็ยินดี งานของสปท.เป็นงานที่ให้คำปรึกษาเสนอแนะ การอภิปรายต่างๆ จึงควรจำกัดขอบเขตอยู่ที่การปฏิรูป เพราะเรามีเวลาจำกัด หากใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปจะถูกตำหนิได้ เราควรให้ความสนใจ หากยังเห็นว่ามีข้อควรปรับปรุงและเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ควรพิจารณาร่วมกัน และให้ความสำคัญกับการจัดลำดับก่อนหลังในการทำงานปฏิรูปต่อไป

"สมาชิกอาจเป็นห่วงเรื่องอายุผม แม้กระทั่งวันนี้ยังทำงานหนักกว่าตอนเป็นหนุ่ม ทั้งสอนหนังสือ เขียนหนังสือ งานวิจัยอยู่ ทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ยืนสอนหนังสือได้ 12 ชั่วโมง และยังว่ายน้ำอยู่ ดังนั้นไม่ต้องห่วง และสปท.จะจัดสัมมนาร่วมกันแน่นอน" ร.อ.ทินพันธุ์กล่าว

"อลงกรณ์"พลิกโผซิวรองคนที่ 1

จากนั้นเข้าสู่วาระการเลือกรองประธานสปท. โดยพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา เสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานสปท.คนที่ 1 โดยไม่มีบุคคลอื่นเสนอชื่อแข่งขัน ทำให้นายอลงกรณ์เป็นรองประ ธานสปท.คนที่ 1 ซึ่งนายอลงกรณ์แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเวลาที่กำหนด ซึ่งประเทศมีภาวการณ์ ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองเราจมปลักอยู่กับปัญหา ขัดแย้ง แตกแยกที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ ห้วงเวลานี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สปท.จะร่วมกับแม่น้ำ 4 สายและประชาชนเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่แค่สปท. ครม. คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เท่านั้น แต่อยู่ที่คนทั้งประเทศจะทำให้พิมพ์เขียวของสปช.ได้รับการต่อยอดให้สำเร็จ ยืนยันจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสปท.กับแม่น้ำ 4 สาย และสะพานเชื่อมระหว่างอดีตสู่อนาคต ที่ประชาชนหวังว่าสปท.จะทำความหวังให้เป็นจริง

ต่อมานายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ เสนอชื่อน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานสปท.คนที่ 2 โดยไร้คู่แข่ง ทั้งนี้ น.ส.วลัยรัตน์แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีโอกาสทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ จะทำให้วาระปฏิรูปทั้งหมดเป็นผล อย่างเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคนที่จะผนึกกำลังกัน

จากนั้น นายชัยแจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อได้ประธานและรองประธานสปท.แล้ว เลขาธิ การสภาจะแจ้งรายชื่อไปยังนายกฯเพื่อแต่งตั้งต่อไป และสั่งปิดประชุมในเวลา 11.10 น.

เมื่อเวลา 20.00 น. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสปท. โดยพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธานสปท. นายอลงกรณ์เป็นรองประธานสปท.คนที่หนึ่ง น.ส.วลัยรัตน์เป็นรองประธานสปท.คนที่สอง ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.เป็นต้นไป

มีชัยโต้ตั้งองค์กรคุมประชานิยม

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรม นูญ(กรธ.) กล่าวก่อนเข้าประชุมกรธ. ซึ่งเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เข้ามาชี้แจงว่า ในหลักการ สตง.ต้องหนุนเรื่องประสิทธิ ภาพการใช้เงินเป็นสำคัญ หากเสนอขอให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา เกรงว่าจะไปทับซ้อนหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่วนกระแสข่าวจะตั้งองค์กรตรวจสอบโครงการประชานิยมนั้น ที่ประชุมกรธ.ยังไม่มีมติในเรื่อง ดังกล่าว เป็นเพียงปรึกษาหารือกลไกเพื่อระมัดระวังความเสียหายในการใช้จ่ายงบประมาณเท่านั้น ยังไม่มีมติตั้งองค์กรใดขึ้นมา ส่วนรูปแบบยังไม่ได้พิจารณาเพราะยังคิด ไม่ออก

ต่อมาเวลา 13.45 น. ในที่ประชุมกรธ. ที่มีนายมีชัยเป็นประธานการประชุม ได้เชิญตัวแทนจากสตง. ผู้ว่าฯสตง. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) เข้าชี้แจงถึงการทำงานที่ผ่านมาและในปัจจุบันว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ยังขาดเครื่องมืออะไรเพื่อให้งานบรรลุผลหรือไม่ เพื่อกรธ.จะได้ร่างเนื้อหาไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกำหนดไว้ในกฎหมายลูก โดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคตง.กล่าวว่า มีข้อเสนอคือให้คงบทบาทการทำงานไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ 2550 ที่ให้สำนักงานสตง.และ ผู้ว่าฯสตง.มีอำนาจตรวจสอบ ส่วนคตง.ให้คงอำนาจในการกำหนดนโยบายและวินิจฉัยผลการตรวจสอบ

จ่อตัดกก.วินัยทางงบประมาณฯ

นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า ขอให้คงคณะกรรม การวินัยทางงบประมาณและการคลังที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินว่าเป็นไปตามวัตถุ ประสงค์หรือไม่เอาไว้ เพราะอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้คล้ายกับศาลปกครองชั้นต้น ดังนั้น หากคตง.วินิจฉัยชี้ขาดความผิดแล้ว ให้ไปอุทธรณ์ที่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ตัดส่วนนี้ออกไป และกำหนดให้ศาลปกครองตั้งแผนกคดีวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ ขึ้นมาแทน

นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มอำนาจการบังคับและกดดัน หากหน่วยงานที่ได้รับคำเตือนเรื่องการใช้งบประมาณไม่ทำตาม ด้วยการให้สตง.ส่งเรื่องให้วุฒิสภาสั่งยับยั้งโครงการประชานิยมหรือนำไปสู่การเปิดสำนวนถอดถอนและชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่คดีทุจริตที่เกี่ยวกับ การเงินเดิมที่ต้องส่งสำนวนป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้อง ขอให้แก้ไขเป็นสตง.มีอำนาจฟ้องเอง

เขียนใหม่สั้นกระชับครอบคลุม

ต่อมานายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. แถลงความคืบหน้าการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นว่าหลักการสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรให้ "มีการเขียนใหม่ให้สั้นกระชับ ครอบคลุม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นสากล" ทั้งนี้ จะเขียน ด้วยภาษาที่อ่านและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้การตีความอยู่บนหลักการที่ถูกต้องและชัดเจน ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งเป็นร่างที่ "คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ" ที่มีนายอัชพร จารุจินดา กรธ.ในฐานะประธานอนุกรรมการยกร่างฯ นำเสนอ โดยเริ่มพิจารณาในหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1-6 ซึ่งไม่มีการแก้ไข

นายอมรกล่าวว่า การประชุมวันนี้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสนช. ในฐานะอดีตเลขานุการกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งที่ประชุมกรธ.ตั้งเป็นที่ปรึกษากรธ. ได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ส่วนการประชุมวันที่ 14 ต.ค.นี้ เวลา 13.30 น. กรธ.จะเชิญป.ป.ช.มาร่วมรับฟังความเห็นและ ข้อเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9086 ข่าวสดรายวัน


มือมืดตัดไฟ บ้าน'ปธ.มีชัย'
ตร.เร่งสืบ อาจเกี่ยว การเมือง


บ้านมีชัย - ตร.รุดตรวจบ้านพักของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ในหมู่บ้านเมืองทองธานีโครงการ 2 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลังถูกมือมืดแอบตัดสายไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งซอย รวมทั้งบ้านของนายมีชัยด้วย เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

      โจรแสบแอบดอดตัดสายไฟฟ้าหม้อแปลงไฟฟ้าหน้าบ้าน "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กลางเมืองทองธานี ย่านปากเกร็ด ทำไฟดับหมดทั้งซอย ผู้การ เมืองนนท์รีบยกกำลังไปตรวจสอบ พบก่อเหตุเพียงหลังเดียวไม่แตะต้องบ้านอื่น เร่งสอบ สวนว่าแค่เหตุโจรกรรมหรือเชื่อมโยงเรื่องการเมือง ส่วนคนดูแลบ้านสวนไทรน้อยเผยมีคนขับรถมาจอดดูหน้าประตูแบบมีพิรุธพอแจ้งตำรวจก็รีบเผ่นหนีไป เมื่อเดือนกันยายนถูกขโมยตัดใบพลูที่สวนลาดบัวหลวงไปกว่า 60 ก.ก. แจ้งความตำรวจพากันขำ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นบ้านใครก็รีบมาตรวจสอบ แต่ยังจับมือใครดมไม่ได้
      เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 ต.ค. พล.ต.ต. สำราญ ยินดีอารมณ์ ผบก.ภ.จว.นนทบุรี พ.ต.อ.ณัฐพล ศุกระศร รอง ผบก. พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธ์วงศ์ ผกก.สภ.ปากเกร็ด พ.ต.อ. มานะ เทียนเมืองปัก ผงส.ผทค. พ.ต.ท.วิทิต จันทร์เอี่ยม รอง ผกก.สส. และนายวิสิษฎ์ พวงเพชร นายอำเภอปากเกร็ด พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 29/264 หมู่บ้านเมืองทองธานีโครงการ 2 ซอย 9 ม.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด ของนาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรม นูญ หลังถูกคนร้ายก่อเหตุตัดสายไฟฟ้าหม้อแปลงไฟฟ้าหน้าบ้านพัก เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าดับเกือบทั้งซอย เหตุเกิดเมื่อเวลา 23.40 น. วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา
      โดยบ้านที่เกิดเหตุอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่มีรั้วรอบขอบชิด มีบ้านอยู่ภายในทั้งหมดรวม 2 หลัง ซึ่งนายมีชัยอาศัยอยู่กับลูกสาวอีก 2 คน แต่ขณะเกิดเหตุทั้งนายมีชัยและลูกสาวไม่อยู่ มีเพียงรปภ.และคนดูแลบ้านเท่านั้น จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดหน้าบ้านรวม 5 ตัว พบภาพคนร้าย 2-5 คน ใช้รถเก๋งวอลโว่ สีดำ ไม่ทราบทะเบียน เข้าไปก่อเหตุตัดสายไฟ บริเวณเสาไฟฟ้าหน้าบ้านก่อนที่จะพากันหลบหนีไป เหตุดังกล่าวส่งผลให้บ้านหลังดังกล่าวและบ้านข้างเคียงรวม 5 หลังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้เนื่องจากสายไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน
      เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าคนร้ายมีความเชี่ยวชาญในเรื่องระบบไฟฟ้า เพราะสายไฟที่ตัดมีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 ม.ม. โดยที่คนร้ายไม่แตะต้องสายไฟฟ้าบ้านอื่น มีเพียงบ้านนายมีชัยเท่านั้น จึงไม่ทราบวัตถุ ประสงค์ว่าต้องการมาลักตัดสายไฟ หรือมีจุดประสงค์อย่างอื่นเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนเร่งตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในหมู่บ้านเมืองทองธานี เพื่อติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป
     วันเดียวกันพ.ต.อ.เกียรติกุล สนธิเณร ผกก.สภ.ไทรน้อย นำกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 115 ม.8 ต.ราษฎร์นิยม ซึ่ง เป็นบ้านสวนของนายมีชัย เพื่อตรวจความเรียบร้อยพบนายคำผาย ราชมี อายุ 56 ปี คนดูแลบ้าน โดยรอบบริเวณมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ภายในบ้านมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ทั่วไปเป็นปกติ
    พ.ต.อ.เกียรติกุลเผยว่า ตามปกติจะมี เจ้าหน้าที่มาตรวจอยู่เป็นประจำ และวันนี้ก็มาดูความเรียบร้อย พร้อมทั้งกำชับให้ตำรวจเพิ่มความถี่ในการตรวจขึ้นอีก พร้อมทั้งประสานกับนายคำผายคนดูแลบ้านว่า หากมีอะไรผิดปกติให้โทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
      นายคำผายเผยว่าอาศัยอยู่ดูแลบ้านหลังนี้ให้นายมีชัยมานานกว่า 28 ปี โดยนายมีชัย จะพักที่บ้านเมืองทองธานีประจำ จะมาที่บ้านสวนแห่งนี้กับบ้านที่อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนคร ศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้กันนานๆ ครั้ง จึงไม่มีเอกสารอะไรที่คนร้ายจะมาสนใจโจรกรรม แต่เจ้าหน้าที่จะส่งสายตรวจมาดูแล ตรวจตู้แดงหน้าบ้านทุกวันๆ ละสองรอบ กลางวันรอบ กลางคืนอีกรอบ ไม่เคยเกิดเรื่องร้ายแรงอะไร มีแค่คนแอบมาขโมยตัดสายไฟฟ้านอกรั้วบ้านเมื่อ 10 ปีก่อนเท่านั้น
      นายคำผายกล่าวว่า แต่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 16.30 น. มีรถยนต์สีขาวเก่าๆ มาจอดฝั่งตรงข้ามเยื้องๆ ประตูหน้าบ้าน มากัน 2 คน เมื่อออกไปมองดูทั้งคู่ก็แกล้งทำเป็นก้มนอนราบ จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจแต่ เจ้าหน้าที่มาไม่ทัน เพราะรถยนต์คันดังกล่าวขับออกไปก่อน แต่ตำรวจสภ.ไทรน้อยได้ให้เบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ เพื่อครั้งหน้าเกิดเหตุอะไรจะได้ติดต่อตำรวจโดยตรงได้ทันที ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นเพราะไม่อยากให้เกิดเหตุร้ายอะไรแบบที่บ้านลาดหลุมแก้วและบ้านปากเกร็ด โดยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนสมัยนายมีชัยดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เคยถูกขโมยแอบขึ้นบ้านที่ปากเกร็ด เข้าไปรื้อค้นหาเอกสารสำคัญมาแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!