WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ศรลงกา

รบ.แจงวุ่น'ม.44'คดีข้าว แค่ป้องจนท.-ปัดแกล้งปู ทหารคุยเดียร์'ใส่แดง''มีชัย'ยก 7 ข้อสวนพรรค

    รบ.แจงวุ่นใช้ม.44 คดีข้าว ยันแค่คุ้มครองจนท. ไม่ได้กลั่นแกล้งอีกฝ่าย 'เต้น' สงสัยถ้าชอบธรรม ทำไมต้องคุ้มครองจนท. 'ยรรยง พวงราช' ติง กำลังทำลายอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ชี้ม.44 ป้องจนท. ส่อซ้ำเติมชาวนา-โรงสี พท.ติง "กรธ."อย่าบิดหลักปชต. วอนเปิดใจรับฟัง 'มีชัย'แถลง แจง 7 เหตุผล คิดระบบ 'จัดสรรปันส่วนผสม' ยันไม่ได้คิดถึงประโยชน์พรรคใด พร้อมรับฟังเฉพาะปัญหาที่กระทบประชาชน 

วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9106 ข่าวสดรายวัน

อัญเชิญ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นประธานร่วมในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 2 พ.ย.

 

'ป้อม'ลั่นรัฐบาลมีความเมตตา

     เมื่อวันที่ 2 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจว่าประชาชนสนับสนุนให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปิดประเทศหากเกิดความวุ่นวายว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเรื่องดังกล่าวสะท้อนอะไร ต้องไปถามประชาชนแต่ละคนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่ตนมองภาพว่าประชาชนต้องการความสงบและไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากภาคเศรษฐกิจจะได้เดินต่อไปได้ ถ้าไม่สงบทุกอย่างจะเดินก้าวต่อไปไม่ได้ และต้องนึกถึงต่างประเทศด้วย ถ้ามีเรื่องทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ มีการใช้อาวุธสงครามต่างๆ ตนก็รับไม่ได้ เราไม่ได้มีแผนแบบนี้อยู่เลย 

     เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัว โชว์ภาพสวมเสื้อสีแดงพร้อมข้อความความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเมตตาธรรมและคุณธรรม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีความเมตตาอยู่แล้ว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเรื่องของศาล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดนี้ เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์พูดชัดเจนว่าถ้าเรื่องเกิดหลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2557 จะรับผิดชอบเองในทุกเรื่อง ดังนั้นเรื่องที่เกิดก่อนเราจะไปพูดได้อย่างไร เป็นเรื่องของศาลและกระบวนการยุติธรรม

ยันใช้ม.44 คุ้มครองจนท.ดูแลข้าว

     ผู้สื่อข่าวถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คุ้มครองการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ที่เขาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความโปร่งใส หากเจ้าหน้าที่ทำงานแล้วไม่มีสิ่งใดมาคุ้มครองจะให้ทำอย่างไรได้

    เมื่อถามว่าเกรงจะถูกมองว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้นำกฎหมายดังกล่าวนี้ไปทำให้กระบวน การยุติธรรมเสียหาย เพียงแต่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน

     ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดต้องคุ้มครองด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "มันมีหลายอย่างเพราะกฎหมายมีมาก มีหลายข้อ จะให้ทำอย่างไร เพียงแต่ให้เขากล้าที่จะทำด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม ไม่ได้ไปแทรกแซง และจะไปแทรกแซงกฎหมายได้ที่ไหน"

วิษณุชี้คุ้มครองเฉพาะคนสุจริต

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 39/2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคุ้มครองบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการข้าวคงเหลือของรัฐตามโครงการรับจำนำข้าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็น การป้องกันการถูกฟ้องกลับ หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยสุจริต กฎหมายจะให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว ถึงไม่เขียนก็มีผลเหมือนกัน แต่คำสั่งที่ออกมาเพื่อตอกย้ำให้รู้ว่าถ้ากระทำโดยสุจริตก็ไม่สามารถฟ้องกลับได้ ซึ่งองค์ประกอบที่จะได้รับความคุ้มครอง คือ 1.ต้องเป็นการทำตามหน้าที่ 2.ต้องกระทำการโดยสุจริต 

      "หากทำนอกเหนือหน้าที่ เกินหน้าที่ ไม่มีหน้าที่ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือถ้าทำตามหน้าที่แล้วไม่สุจริต กลั่นแกล้งทั้งจงใจและไม่จงใจ หรือประมาทเลินเล่อก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง" นายวิษณุกล่าว

ยันไม่ใช้ม.44 แกล้งอีกฝ่าย

     นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าไม่ได้ใช้คำสั่งนี้ไปกลั่นแกล้งใครอีกฝ่าย และไม่ได้เกี่ยวกับอีกฝ่ายด้วยซ้ำ จะเกี่ยวเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่ มันเป็นดาบสองคม ส่วนหนึ่งให้รู้ไว้ว่าคุณได้รับการคุ้มครอง แต่อีกด้านให้คุณระวังไว้ถ้าไม่สุจริต คุณโดนแน่ หลักการอย่างนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนโดยอ้างอิงจากกฎหมาย จาก 2-3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.บริหารสินทรัพย์ กฎหมายความมั่นคง และกฎหมายอื่นๆ อีก บางครั้งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ถือว่าสุจริต แต่ไม่มีหน้าที่ไปทำก็ถือว่าไม่มีหน้าที่ เพราะพบว่าบางคนไม่มีหน้าที่ แล้วไปเที่ยวยุ่งกับเรื่องนี้ ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีจำนวนมากหรือไม่ เพียงแต่ได้รับรายงานว่ามี

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ แต่เป็นบางคนที่กลัวจะถูกฟ้องร้องภายหลัง จึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะ เรื่องนี้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เพราะตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยว ข้องจำนวนมาก มีทุกจังหวัด รวมถึงเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนเกิดความไม่มั่นใจ เพราะบางทีมีการฝากข้าวไว้กับเจ้าของโรงสี ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าวันนึงจะโดนด้วยหรือไม่

ย้ำ'ตู่'รับปากไม่ใช้ม.44 ฟันใคร

     เมื่อถามว่า คำสั่งดังกล่าวจะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไปถึงเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า จนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่ หรือจนกว่าคำสั่งนี้จะหมดอายุ และสามารถยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ที่สภาสามารถออกพ.ร.บ.ฉบับใหม่มายกเลิกได้ 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้อีกฝ่ายมองว่า คำสั่งคสช.ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือในการดำเนินการอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าไปคิดอะไรเลย ถ้าคิดมาก คิดในแง่ร้าย มันก็คิดไปหมด เริ่มต้นถ้าดูให้ดี ไม่ได้เอาคำสั่งนี้ใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามแม้แต่นิดเดียว ไม่เช่นนั้นไม่ต้องมานั่งสอบให้เสียเวลา ใช้มาตรา 44 สั่งยึดทรัพย์ไปเสียเลยก็หมดเรื่อง แต่ไม่มีการทำเช่นนั้น และนายกฯ รับ ปากว่าจะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด มันเป็นเพียงเรื่องที่ต้องการทำให้เจ้าหน้าที่มีความระมัด ระวังว่าต้องสุจริต และต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจว่าตัวสุจริตและจะไม่ถูกฟ้อง ฟ้องเขาอาจจะไม่กลัวมากเท่ากับถูกดำเนินการทางวินัย ที่ระหว่างถูกดำเนินการจะถูกพักงาน ส่วนกลไกในการเข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการคุ้ม ครองเดี๋ยวจะมีตามมา 

      เมื่อถามว่า การคุ้มครองในที่นี้รวมไปถึงโรงสีที่รับฝากข้าวด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า โรงสีใดก็ตามที่ไม่ได้รับมอบหมายให้มี หน้าที่ ซึ่งพบว่ามีจำนวนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งๆ ที่ไม่ได้รับมอบหมาย นั่นแหละจะโดน

ปลัดพณ.ชี้ม.44 ไม่เกี่ยวคดี'ปู'

     น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คำสั่งคสช. 39/2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานสามารถระบายข้าวได้อย่างสบายใจ มีความรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เป็น การทำงานแบบตามอำเภอใจ หากเอกชนไม่พอใจยังสามารถยื่นฟ้องอุทธรณ์ได้ สำหรับประกาศราชกิจจาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องคุ้มครองถึงคดีการฟ้องร้องของป.ป.ช.ในเรื่องการขายข้าวจีทูจี และการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องจากคดีดังกล่าวทางป.ป.ช.ได้ดำเนินการและเกิดขึ้นก่อนที่จะมีคสช.อีก

     น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ถูกกล่าวหามาตลอดว่าระบายข้าวได้ล่าช้า ทั้งๆ ที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเน้นความโปร่งใสในวิธีการระบายข้าว รวมทั้งต้อง ดูจังหวะที่เหมาะสมที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารและจัดการข้าว (นบข.) เพิ่งมีมติเห็นชอบให้ระบายข้าวเสื่อมสภาพ และข้าวเสียที่เก็บไว้ในสต๊อก และขณะนี้เปิดประมูลขายข้าวคุณภาพดีไปแล้ว 5 ล้านตัน ยังเหลือสต๊อกปัจจุบันอีก 13 ล้านตัน โดยจำนวนนี้จะมีข้าวเสื่อมคุณภาพ และข้าวผิดประเภทที่กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้ทำสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว

เผยเคยมีคดีฟ้องจนท.ระบายข้าว

     ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อว่า โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจะกำหนดมาตรการที่รัดกุมในการระบายข้าวเสื่อมสภาพและข้าวเสีย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดเก็บสต๊อก ซึ่งคิดเป็นงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งการระบายข้าวเสื่อมจะเริ่มต้นล็อตเล็กเป็นการทดลองก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวในตลาดของผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังจะออกมาในช่วงเดือนพ.ย.นี้

    "การใช้มาตรา 44 จะคุ้มครองเพียงการระบายข้าวที่ทำโดยสุจริต แต่หากเอกชนจะร้องเรียนสามารถจะดำเนินการได้ผ่านการอุทธรณ์ แต่หากเจ้าหน้าที่ได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายศาลอาจจะไม่รับฟ้อง เพราะในอดีตเคยมีการยื่นฟ้องร้องคดีระบายข้าวกับ เจ้าหน้าที่ กรมการค้าต่างประเทศ ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าที่จะหาข้อยุติได้ ทำให้ข้าราชการเสียเวลาทำงานและบั่นทอนกำลังใจ จนขณะนี้ข้าราชการหลายคนที่ทำงานกองข้าวของกรมการค้าต่างประเทศได้ขอลาออกจากการทำงาน เพราะเจอปัญหาแบบนี้ ซึ่งการทำงานเรื่องการระบายข้าวต้องใช้ความชำนาญ และประสบการณ์ ไม่ใช่จะให้ใครมาทำงานก็ได้" น.ส.ชุติมากล่าว

'ปู'โพสต์ทานเตี๋ยวไม่มีเส้น

     วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก 'Yingluck Shinawatra' ระบุว่า "มาทานก๋วยเตี๋ยว ร้านเส้นใคร เส้นมัน แจ้งวัฒนะ 24 แต่วันนี้ ยิ่งลักษณ์ทานแบบไม่มีเส้นค่ะ' ซึ่งหลังการโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้หลายคนตีความออกไปต่างๆ นานา และเข้า ไปตอบโพสต์ให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมาก

     ด้านนายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการทำงานของรัฐบาลเรื่องข้าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ได้ความรู้จากประสบการณ์จริงว่า จุดอ่อนหรือจุดตายเรื่องข้าวมีอยู่ 2 จุด คือ 1.ชาวนา และ 2.กลไกตลาดข้าว โดยเฉพาะโรงสีและโกดังเก็บข้าว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดการแปรรูปและเก็บรักษา หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูจุดอ่อนทั้งสองส่วนนี้โดยเร็วและด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงจุด จะทำให้เกิดวิกฤตแก่ชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบอย่างแน่นอน รัฐบาลจะทำตรงกันข้าม คือ ห้ามหรือชะลอการทำนา ทำให้ชาวนามีผลผลิตลดลงมาก โรงสีและโกดังขาดวัตถุดิบต้องประกาศขายโรงสีหลายร้อยโรง ราคาข้าวยังตกตํ่าต่อเนื่อง ทำให้กลไกตลาดตัวจริงคือชาวนาแทบหมดลมหายใจ

'ยรรยง'ติงรบ.ข้าวเสียหายทั้งระบบ

     นายยรรยงกล่าวต่อว่า ล่าสุดรัฐบาลกำลังจะนำประเทศเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างรุนแรง คือ 1.การชะลอการขายข้าวคุณภาพดี แต่จะขายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ และ 2.การออกคำสั่งคสช.ที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าสำหรับการบริหารจัดการข้าวรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าว

     นายยรรยง ระบุอีกว่า ความจริงรัฐบาลนี้เองที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบและยังสร้างความเสียหายต่อรัฐ เพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ดังนี้ 1.ไม่เร่งรัดระบายข้าว โดยเฉพาะช่วงแรกตั้งแต่เดือนมิ.ย.-พ.ย.2557 แทบไม่ขายข้าว ทั้งที่ชาวนาไม่มีข้าวขาย จึงไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบ ราคาข้าวของชาวนา และจนถึงขณะนี้มีการขายข้าวจริงทั้งแบบเปิดประมูลและแบบจีทูจีน้อยมาก เดือนละไม่กี่แสนตัน และยังไม่ระบายโดยวิธีอื่น เช่น เปิดประมูลในตลาดชื้อขายสินค้ากษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นต้น หากรัฐบาลวางแผนขายเดือนละ 8 แสนถึง 1 ล้านตัน คงไม่มีข้าวเหลือเป็นภาระ 

ชี้เพราะไม่ยอมระบายข้าว

     นายยรรยง กล่าวต่อว่า ความเสียหายจากการไม่เร่งระบายข้าวสรุปได้ ดังนี้ ทำให้เสียค่าโกดัง ค่ารมยาและค่าประกันภัยเดือนละหลายพันล้านบาทโดยไม่จำเป็น ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพตามระยะเวลา ทำให้ราคาข้าวในตลาดตกตํ่า เพราะพ่อค้ากดราคาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% เหลือตันละ 6,500-7,800 บาท (สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตันละ 9,000-11,000 บาท) ราคาขายส่งข้าวสารขาว 5% เหลือตันละ 10,500-11,000 บาท (สมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ตันละ 14,000-15,000) และราคาส่งออก FOB ข้าวขาว 5% เหลือเพียงตันละ 340-370 เหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ตันละ 450-500 เหรียญสหรัฐ) นอกจากจะทำให้ชาวนาลดลงมากทั้งที่ผล ผลิตลดลงแล้ว ยังทำให้จีดีพีข้าวลดลง และเศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยลงมาก

     2.รัฐบาลเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพข้าวแบบซํ้าซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะข้าว 18 ล้านตัน คือ 180 ล้านกระสอบ ต้องเก็บเป็นกอง กองละประมาณ 20,000 กระสอบ วางเรียงกันสูงไม่กิน 30 กระสอบ ในทางปฏิบัติจึงทำได้เพียงสุ่มตรวจเท่านั้น ไม่สามารถรื้อตรวจสอบละเอียดได้เพราะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญคือไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะมีเงื่อนไขในสัญญากำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะต้องรับผิดชอบถ้าปรากฏว่าข้าวไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปลอมปน และในทางปฏิบัติพ่อค้าที่จะเข้าร่วมประมูลข้าวจะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของตัวเองไปตรวจดูคุณภาพข้าวก่อนเสนอราคาอยู่แล้ว 

ห่วงทำราคาตกลงไปอีก

     นายยรรยง กล่าวต่อว่า กรณีที่มีข่าวล่าสุดว่ารัฐบาลจะระบายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ ส่วนข้าวคุณภาพดีจะชะลอการประมูลจนถึงมี.ค.2559 นั้น ถ้าดูผิวเผิน เหมือนจะหวังดีและจะมีผลดีต่อชาวนาเพราะจะไม่ทำให้ข้าวราคาตกตํ่าในช่วงนี้ แต่ความเป็นจริงน่าจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะการเปิดประมูลข้าวเสื่อมโดยมุ่งจะให้ไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน แทนที่จะเปิดประมูลทั่วไปจะทำให้ได้ราคาตํ่ามากแค่ตันละ 3,000-5,000 บาท จะมีผลทางจิตวิทยาเป็นการชี้นำตลาดให้ราคาข้าวส่วนรวมตกตํ่าลงไปอีก ส่วนการชะลอการขายข้าวคุณภาพดีออกไปหลังมี.ค.2559 นอกจากจะทำให้ข้าวดีเสื่อมสภาพไปอีก และเสียค่าเก็บรักษาจำนวนมากแล้ว ยังจะทำให้ราคาข้าวตกตํ่าต่อเนื่องไปอีก เพราะตลาดรู้ว่ารัฐบาลยังอุ้มสต๊อกอยู่จึงควรทยอยระบายไปเรื่อยๆ มากกว่า

     นายยรรยง กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่คสช.อาศัยอำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลง โทษโครงการรับจำนำข้าวนั้น นอกจากจะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เพราะไม่เข้าข่าย 3 กรณีที่ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งได้แต่อย่างใด คือ 1.เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ 2.เพื่อส่งเสริมสามัคคีและสมาน ฉันท์ 3.เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง ปราบปรามการบ่อนทำลายต่างๆ เพราะการบริหารจัดการข้าวเป็นการบริหารตามปกติ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้อำนาจพิเศษเลย 

ชี้ใช้ม.44 ซ้ำเติมชาวนา-โรงสี

     นายยรรยงกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คำสั่งที่ 39/2558 นี้ ยังเป็นการซํ้าเติม 'จุดอ่อน' หรือ 'จุดตาย'เรื่องข้าวอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เพราะคำสั่งนี้นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะทำให้ใครได้รับความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใด ก็จะอ้างว่าสุจริต และในที่สุดจะไม่ถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้เลย

     "ที่สำคัญคือเป็นการซํ้าเติมและลิดรอนสิทธิชาวนา เจ้าของโรงสีและโกดัง รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้คำสั่งฉบับนี้ เช่น ถ้าประมูลข้าวเสื่อมให้พลังงานได้ราคาเพียงตันละ 3,000-5,000 บาท เจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะถูกสั่งให้ชดใช้ส่วนต่างกับราคาตลาดคือตันละ 11,800-12,000 บาท ในขณะที่เจ้าของโกดังไม่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าวและไม่ยอมรับผลดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ส่วนชาวนาที่ถูกสั่งห้ามหรือให้ชะลอการทำนา และถูกซํ้าเติมด้วยราคาข้าวตกตํ่าก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น" นายยรรยงระบุ

เพื่อไทยห่วงตปท.ต่อต้าน

    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลระบุว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ใช้กลไกพิเศษในการแก้ปัญหานี้ เพราะจะทำให้ปัญหาทับซ้อนไปเรื่อยๆ จึงรู้สึกสับสนเพราะเวลาไม่ห่างกันเท่าไหร่กลับปรับเปลี่ยนในหลักการสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงหลักการของกฎ หมายที่จะต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือหลักนิติธรรมซึ่งสำคัญยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ตนมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง อันอาจส่งผลให้ได้รับการต่อต้านจากนานาชาติและยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายหรือไม่ 

    นายชวลิต กล่าวว่า ตนเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่อยู่ในศาลแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะการจะเรียกค่าเสียหายหรือไม่นั้น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ตามหลักนิติธรรม ซึ่งจะได้รับการยอมรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญโครง การรับจำนำข้าวนั้นเหตุการณ์และห้วงเวลาไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯระบุอยู่ตลอด ว่าจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่ควรที่จะมากระทำการในสิ่งที่ไม่ได้ก่อ ด้วยการมาทำหน้าที่เป็นผู้เล่นเอง แทนที่จะเป็นกรรมการที่เป็นกลางหากเห็นว่าทำผิดหรือทุจริต ก็สามารถดำเนินการส่งเรื่องให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ยังไม่สายเกินการณ์ จึงขอฝากข้อสังเกตนี้ไว้เพื่อทบทวนในสิ่งที่นายกฯ เคยสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ด้วยหลักนิติธรรม

เต้นสงสัยทำไมต้องคุ้มครองจนท.

     นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า เมื่อระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นล้ม หลักนิติธรรมย่อมถูกทำลายลงไปพร้อมกัน การประกาศโดยนายกฯ ว่าจะอำนวยความยุติ ธรรมให้ทุกฝ่าย จึงเป็นวาทกรรมที่หวังผลได้ยากในทางปฏิบัติ ตัวอย่างล่าสุด คือ การออกคำสั่งตามมาตรา 44 คุ้มครองทุกหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องจำนำข้าวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งที่เป็นคดีสำคัญซึ่งรัฐบาลจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยตรง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสต่อสู้ตามกระบวนการอย่างเต็มที่ 

     "ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ขั้นตอนการปฏิบัติอาจมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าจะตกเป็นจำเลยเสียเองจนไม่กล้าดำเนินการหรือไม่ เช่น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่กล้าลงนามในคำสั่งทางปกครอง บังคับน.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าไม่กลัวว่าสิ่งที่กำลังทำจะเป็นความผิด จะออกคำสั่งแบบนี้มาทำไม ความหมายของคำสั่ง ดังกล่าวจึงไม่ใช่นิรโทษกรรมล่วงหน้า เพราะการนิรโทษกรรมจะทำในเรื่องที่เกิดความผิดแล้ว แต่กรณีนี้ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะเป็นการออกใบอนุญาตฆ่าทางการเมืองให้ผู้รับคำสั่งลงมือได้เต็มที่ โดยใช้อำนาจปิดช่องทางที่ ผู้ถูกกระทำจะฟ้องร้องได้ในภายหลัง" นายณัฐวุฒิกล่าว

ชี้ไร้ทางเข้ากระบวนการยุติธรรม

     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นายกฯ ย้ำหลายครั้งว่าจะปรองดองได้ทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการ แต่ความเป็นจริงคือ ตั้งแต่รัฐประหารแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง กลไกของคสช.ไม่เคยเปิดช่องให้กระบวนการยุติธรรมใดเข้าถึงได้ อำนาจพิเศษของรัฐบาลนี้เป็นแต้มต่อที่น.ส.ยิ่งลักษณ์แบกน้ำหนักเกินแรงมาตลอดอยู่แล้ว ไม่นึกว่าผู้มีอำนาจจะใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคนเห็นชัดกันทั้งบ้านทั้งเมืองแบบนี้ ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมา ทำไมไม่กล้าแถลงว่า ตั้งแต่ต้นจนยุติโครงการจำนำข้าว ธ.ก.ส.โอนเงินตรงจากบัญชีธนาคารเข้าบัญชีชาวนาทั้งสิ้นเท่าไหร่ กลัวอะไรกับความจริงเรื่องนี้

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชา ธิปัตย์ สนับสนุนใช้มาตรา 44 ว่า นพ.วรงค์สนับสนุนประกันรายได้ซึ่งมีเรื่องการทุจริตค้างอยู่ในป.ป.ช.เช่นกัน ดังนั้นควรออกมาเชียร์ให้คสช.ใช้มาตรา 44 ไปด้วย จะได้เสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนอันยาวนานมาก เพื่อจะได้ไม่เป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน ที่น่าเสียใจคือนพ.วรงค์และพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงหลักนิติธรรมอยู่บ่อยครั้ง การนำมาตรา 44 มาใช้ในโครงการจำนำข้าว นพ.วรงค์ไม่ รู้สึกหรือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เสมอภาค รู้สึกว่ามีความเป็นธรรมโดยไม่ตะขิดตะขวงใจเลยหรือ อย่าลืมว่านพ.วรงค์ต้องเป็นพยานในศาล ควรจะหยุดพูดอย่างที่บอกให้คนอื่นหยุดพูด


ขอพบ- ภาพเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย มาขอพบเพื่อทำความเข้าใจกับน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่ร้านกาแฟย่านสนามเป้า กทม. เมื่อวันที่ 2 พ.ย.

ทหารขอเดียร์ระวังความเห็น

      น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดพบกับทหารที่ร้านกาแฟย่านสนามเป้า ว่า ทางทหารมาแนะนำตัวโดยระบุว่า คนเก่าลาไปเรียน เลยพาทหารคนใหม่มาแนะนำตัว พร้อมขอดื่มกาแฟ จึงนัดกันไปที่ร้าน ทางทหารไม่ได้คอนเมนต์เรื่องอะไรและไม่ได้พูดไม่ดี เพียงแต่ขอความร่วมมือ ตนก็ขอให้เขาเข้าใจว่าเราเป็นนักการเมือง เป็นอดีต ส.ส. เมื่อเห็นอะไรที่เป็นประเด็นที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นเพราะเราก็มีจุดยืน ที่สำคัญถ้าไม่มีใครกล้าออกมาพูดอะไรเลยประชาชนก็จะรู้สึกว่าไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียงให้เขาเลย เรื่องนี้ทหารก็เข้าใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทหารที่มาใหม่เป็นทหารม้า และพ่อของตนก็เป็นทหารม้าเหมือนกันเลยคุยกันเข้าใจ

      "แต่รู้สึกว่าบังเอิญจังเพราะเขามาหลัง จากที่เราเพิ่งแสดงความคิดเห็นเรื่อง พล.อ. ประยุทธ์ พูดเรื่องปิดประเทศ และแต่งชุด แดงเพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไป" น.ส. ขัตติยากล่าว

พท.ติง'กรธ.'อย่าบิดหลักปชต.

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พรรคเพื่อไทยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกลงนามโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอข้อคิดเห็นเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อร่างรัฐธรรมนูญตามที่นายมีชัยได้ทำหนังสือมาถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐ ธรรมนูญนั้น ทางพรรคจะยังคงยึดหลักการที่พรรคเคยเสนอต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างกันอยู่นั้น จะต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และอยู่บนหลักของความเป็นประชาธิปไตยที่สากลยอมรับ 

      "การจะมาอ้างว่าเราเป็นประเทศราชหรือต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้น หากเราอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้อาจจะอ้างได้ แต่เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ต้องทำ การค้า การลงทุน หรือแม้แต่ต้องมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั่วโลก ดังนั้นอยากให้เข้าใจทิศทางและหลักการของโลกด้วย ไม่อยากให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญแบบบิดเบือนหลักการของประชาธิปไตย คนที่เป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่ทำแบบนี้" นายภูมิธรรมกล่าว

'นพดล'วอนเปิดใจรับฟัง

    นายนพดล ปัทมะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กรธ.เสนอนั้นอาจขัดกับหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตจำนงของประชาชนที่เป็นหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้ง ที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองว่าจะเลือกบุคคล ใดหรือพรรคใดเป็นตัวแทนของตน เช่น ผู้เลือกตั้งเลือกผู้สมัครในเขตเพื่อให้พรรคที่ชอบมีจำนวนส.ส.มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล และให้หัวหน้าพรรคที่มักจะเป็นผู้สมัครลำดับ 1 ในระบบบัญชีรายชื่อให้ได้เป็นส.ส.ด้วย แต่ระบบจัดสรรปันส่วนผสมอาจทำให้เจตจำนงของประชาชนไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะถ้ากาบัตรเลือกผู้สมัครพรรคที่ตนชอบมากจนชนะเลือกตั้งในเขต คะแนนที่หวังว่าจะไปช่วยให้หัวหน้าพรรคที่อยู่ในบัญชีรายชื่อจะถูกตัดทิ้งทันที ซึ่งถือว่าขัดเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นถ้าต้องการให้มีคะแนนเหลือนำไป คำนวณส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือช่วยหัวหน้าพรรคให้ได้เป็นส.ส. ผู้เลือกตั้งต้องกาบัตรอย่างไรไม่ให้ส.ส.ในเขตชนะ จึงจะเอาคะแนนไปช่วยผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 

      "คำถามจึงตามมาว่าเรากำลังออกแบบวิธีเลือกตั้งที่คาดหมายสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จาก ประ ชาชนหรือระบบที่เคารพความศักดิ์สิทธิ์ของเจตจำนงประชาชนแล้วหรือไม่ ผมหวังว่า กรธ.จะนำความเห็นของฝ่ายต่างๆ ไปพิจารณา เพราะที่เสนอไม่ใช่กลัวว่าพรรคใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ต้องการให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมกับทุกพรรคและเป็นระบบที่อธิบายได้ด้วยตรรกะและเหตุผล กรธ.เป็นผู้มีความรู้และคงจะใจกว้างรับฟังความเห็นต่าง" นายนพดลกล่าว

นิพิฏฐ์ชี้ติดหล่มรัฐธรรมนูญ

     ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า เวลามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราก็กระดี๊กระด๊ากันยกใหญ่ทุกครั้ง ผู้ร่างก็ชอบใจที่ได้แสดงภูมิรู้ ได้ออกทีวี ได้นั่งอ่านข่าวของตัวเองในหนังสือพิมพ์แล้วชี้ให้คนอื่นดู หรือได้ผูกไทใส่สูทไปปาฐกถาในโรงแรมเกณฑ์คนมาฟัง ให้ประ ชาชนเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วตัวเองได้แสดงภูมิตอบคำถามอย่างกับผู้รู้สอนคนให้บรรลุธรรม สำหรับคนใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาสผ่านการเลือกตั้งก็ดู แต่บางคนร่างรัฐธรรมนูญมากับมือกลับภูมิใจที่ได้คว่ำสิ่งที่ตนทำมา แล้วดีใจที่ได้กลับมาร่างใหม่อีก 

     นายนิพิฏฐ์ ระบุด้วยว่า แต่สิ่งที่ผู้ร่างไม่บอกประชาชนเลย คือ ทำไมประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย เขาไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตนเห็นว่าเรากำลังติดหล่มรัฐธรรมนูญ เหมือนชาวต่างชาติที่ไปติดหล่มโคลนดูดที่จังหวัดกระบี่ ยิ่งดิ้นมันก็ยิ่งดูด แล้วใครจะช่วยเราออกจากหล่มรัฐธรรมนูญได้

มีชัยแจง'จัดสรรปันส่วนผสม'

      ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. แถลงกรณีมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นการตัด ตอนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ว่า ขอชี้แจงว่า 1.การเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเริ่มต้นว่าเราจะยอมเคารพเสียงของประชนมากน้อยเพียงใดในการไม่ให้คะแนนประชาชนสูญเปล่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรเลือกตั้งใบหนึ่งนับคะแนนหมด แต่บัตรเลือกตั้งอีก 1 ใบนับส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคะแนนจะถูกทิ้งน้ำไป 

     2.เวลาที่ กรธ.คิดประเด็นนี้ ไม่ได้คิด ถึงพรรคการเมืองใด และไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์ หรือโทษใดกับพรรคการเมือง คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนของประชาชนมีน้ำหนัก นำไปใช้ในการออกเสียงเลือกตั้งใหม่มากที่สุด 3.วิธีนี้ กรธ.มองว่าเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่งคือให้คะแนนเฉลี่ยกันไปทุกพรรค 4.สำหรับนักวิชาการหรือสื่อมวลชนที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศใดทำกัน ตนขอชี้แจงว่าคนไทยเรามีสติปัญญาที่จะ คิดอะไรออกได้เอง ที่เหมาะสมกับบริบท ของการเมืองไทย การไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศไม่ใช่ไปจำตำราของเขามาใช้อย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประทศของเรา 

ยันไม่ได้คิดถึงประโยชน์พรรคใด

      5.ถ้าเราจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ต้องถามว่าโลกนี้เคยมีรัฐบาลไหนที่ออกมาพูดในที่สาธารณะว่าคนภาคหรือจังหวัดนี้ไม่เลือกพรรคของตนจึงไม่จัดสรรงบประมาณให้ หรือเอาโครงการจากจังหวัดหนึ่งย้ายไปอีกจังหวัดหนึ่งเพียงเพราะจังหวัดนั้นไม่ได้เลือกคนของรัฐบาล ที่อื่นมีหรือไม่ไม่รู้ แต่ประเทศ ไทยมี ซึ่ง กรธ.กำลังพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยระบบการเลือกตั้งใหม่ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรค การเมืองมากบ้างน้อยบ้าง จนสามารถพูดได้ว่าคนทั้งประเทศสนับสนุนทุกพรรคมากบ้างน้อยบ้างสุดแล้วแต่กำลังศรัทธาของแต่ละพรรค 6.พรรคจะต้องคัดเลือกคนดีที่สุดลงสมัคร แม้จะรู้ว่าคะแนนในเขตนั้นจะสู้พรรคการเมืองอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังมีความหวังที่จะได้คะแนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ 

      และ 7.ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มีถึง 120 เขตที่คะแนนเลือกตั้งได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับเลือก โดยยังไม่ได้นับจำนวนโหวตโน ถ้านับด้วยจะมากกว่า 120 เขต หากเราใช้วิธีแบบเดิมคนที่ได้คะแนนสูงสุดไม่ว่าจะได้จำนวนเท่าใดก็ได้รับเลือกตั้ง แต่คนที่ไม่เอาคนนั้นถึงแม้จะมีคะแนนเท่าไรเราก็ทิ้งไป ถือว่าไม่เป็นธรรม เมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชนเราก็ต้องใช้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรคแล้วหันมานึกถึงประโยชน์ ของประชาชนให้มากขึ้น เพราะเวลาที่ กรธ.คิด เราไม่ได้คิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคเลย 

พร้อมฟังจุดที่กระทบประชาชน

      นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งนักวิชาการ สามารถเสนอแนะมาได้ กรธ.ก็รับฟังและนำมาคิด ตรงไหนที่บอกว่าเป็นจุดอ่อนว่าประชาชนไม่รับความเป็นธรรม เราจะเอากลับมาคิด ตรงไหนที่ทำให้พรรคได้เปรียบเสียเปรียบเราจะไม่เอากลับมาคิด

      "ต้องยอมรับว่า บ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน ตัวอย่าง ในครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 10 คน แต่ละวันมีกับข้าวได้เพียงอย่างเดียว แล้วให้ลงคะแนนกันว่าจะกินอะไร 4 คนลงคะแนนว่ากินแกงเผ็ด 3 คนลงคะแนนว่ากินแกงจืด 2 คนลงคะแนนว่าจะกินผัดผัก 1 คนไม่ลงคะแนน ถ้าใช้หลักการนี้ทุกคนก็ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์ ดังนั้น กรธ.จึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรใน 1 อาทิตย์ จะมีแกงจืด 2 วัน ผัดผัก 1 วัน ที่เหลือจะกินแกงเผ็ดไปอีก 4 วันก็ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยชีวิตในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ขมขื่นจนเกินไป ไม่ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์" นายมีชัยกล่าว

เชื่อทุกพรรคปรับตัวได้

      ประธานกรธ.กล่าวว่า กรธ.ไม่เคยคิดว่าระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกพรรคใด ดังนั้นไม่ต้องกังวลเพราะทุกพรรคก็จะปรับวิธีการของเขาได้ โดยต่อไปผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ต้องลงไปหาเสียงด้วยเพราะพื้นที่นั้นต้องเป็นของเขาด้วย ซึ่งระบบนี้เป็นเรื่องของการกำหนดกติกาบ้านเมืองเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด ทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีน้ำหนักไม่ถูกทิ้งน้ำ เพราะที่ผ่านมาคะแนนเสียงของประชาชน 16-17 ล้านเสียง ก็หายต๋อมไปเลย ไม่ได้อะไรกลับมา ส่วนที่คิดว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้พรรคนั้นพรรคนี้ชนะ นั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก สำหรับตัวเลขระหว่างส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม แต่จะพยายามให้ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาให้มากที่สุด ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพราะไม่ต้องการให้ใครเอาตัวเลขครั้งที่แล้ว ไปทำให้เกิดความตระหนกตกใจ ส่วนคุณสมบัติ ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น เบื้องต้นมองว่าไม่ว่าจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใดคุณสมบัติก็จะต้องเข้มขึ้น

      เมื่อถามว่า จะเขียนกำหนดห้ามไม่ให้พรรค การเมืองส่งพรรคนอมินีลงเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เราคงไม่ห้าม แต่ใครที่คิดจะกระทำการทุจริตการเลือกตั้งเราตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่ไม่ว่าจะใช้ระบบไหนก็มีพรรคนอมินีทั้งนั้น ก็ต้องถามว่าแล้วจะตั้งไปเพื่ออะไร ถ้าคิดตั้งก็แสดงว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งตั้งแต่แรก และจะกำกับได้อย่างไรว่าให้ประชาชนเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ พอดีพอร้ายทั้ง 2 พรรคก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย เล่นกับประชาชนเล่นยาก ส่วนจุดโหว่ในระบบเลือกตั้งเราก็จะหาทางปิด ดังนั้นเราก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ อะไรเจ๋งเราก็เอากลับมาคิด โดยกรอบที่คสช.ให้มา 5 ข้อ กับ 10 ข้อในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กรธ.ก็เดินตามนั้น และที่เราคิด ทั้งคสช.และครม.ยังไม่รู้เลยว่าเราคิดอะไรกัน เพราะกรธ.ยังไม่มีเวลาไปอธิบาย

กรธ.ยังถกแนวนโยบายพื้นฐาน

      นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงว่า กรธ.ยังคงพิจารณาหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างต่อเนื่อง สรุปสาระสำคัญ คือ บทบัญญัติที่ให้รัฐคุ้มครอง บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ประชาชน มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้รัฐจัดให้เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน และสวัสดิการที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ให้รัฐจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาส ได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง และ เป็นธรรม 

      "ส่งเสริมให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐในการจัดทำนโยบายสาธารณะ ที่กระทบสถานะทางการเงิน และการคลังของประเทศ ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดให้มีสาธารณูปโภค และการจัดทำบริการสาธารณะตามความเหมาะสม" นายนรชิตกล่าว

สปท.ถกปฏิรูปการเมือง

     เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่ประธานประชุมสปท. มีวาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สปท. ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างข้อบังคับฯ ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 104 ข้อ แบ่งเป็น 7 หมวด สาระสำคัญคือกำหนดให้มี กมธ.สามัญขับเคลื่อนการปฏิรูป 11 คณะ มีจำนวน 11-23 คน สมาชิกสปท.สามารถเป็นกมธ.ได้เพียงคณะเดียว ให้ประธานกมธ.แต่ละคณะมาจากการแต่งตั้งของประธานสปท. ส่วนกมธ.วิสามัญมี 2 คณะ คือ กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้าน การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือวิป สปท. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อบังคับการประชุม สปท.ทั้ง 3 วาระ ด้วยคะแนน 164 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 

     ต่อมาเวลา 13.40 น. ที่ประชุมเข้าสู่วาระการอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปด้านการเมือง ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยเชิญพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมืองคนที่สอง เข้าชี้แจงแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา 

'วิทยา'ตามชงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

      จากนั้นที่ประชุมจึงเปิดให้สมาชิกอภิปราย เริ่มจากนายวิทยา แก้วภราดัย กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับการเมือง ถ้าปฏิรูปการเมืองไม่เสร็จ ไม่พร้อม ก็อย่าไปเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นเรากะกลับมาสู่วังวนเดิม อย่างขณะนี้ กรธ.กำลังเผชิญปัญหา จากร่างรัฐธรรมนูญที่ไปแตะเรื่องการเลือกตั้ง นักการเมืองก็คัดค้านทันที เพราะไปขัดผลประโยชน์ ส่วนกกต.ที่ผ่านมาทำหน้าที่ล้มเหลว ถามว่าจับทุจริตเลือกตั้งได้กี่ครั้ง อีกทั้งยังไม่เคยดำเนินงานด้วยตัวเอง การตรวจสอบเพียงแต่ทำตามคำร้องเรียนจากคนแพ้ กกต.จึงต้องทบทวนบทบาทของตัวเอง ตนเห็นด้วยที่จะให้ยึดอำนาจตุลาการคืนมา 

      ขณะที่นายนิกร จำนง กล่าวว่า สงสัยกับความคิดที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งว่า ถ้าอย่างนั้นการเมืองที่ดีคืออะไร หลายประเทศใช้เวลาเป็นร้อยปีพัฒนาการเมือง หากเราจะให้สมบูรณ์ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง เราจะอยู่แค่ตรงนี้ ไปไหนต่อไม่ได้ 

สมพงษ์ ปรามวาทกรรมซื้อเสียง

      นายสมพงษ์ สระกวี กล่าวว่า หนักใจกับวาทกรรมเรื่องการเลือกตั้งคือการซื้อเสียง โดยเฉพาะที่มาจากปากอดีตส.ส. เพราะตนมองว่า การเมืองไทยพัฒนาจนทำให้การซื้อเสียงลดลงไปมากแล้ว อย่างภาคใต้ พรรคประ ชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งตลอด ส่งเสาโทรเลขลงก็ชนะ แสดงว่าไม่ซื้อเสียงใช่หรือไม่ แล้วชี้ไปที่ภาคอีสานว่า คนมันจนต้องถูกซื้อเสียงแน่ๆ แล้วมักจะมีคำพูดจากนักการเมืองว่า เจ็บใจมากที่แพ้ไพร่เสื้อแดง จึงอยากให้อ้างเรื่องนี้เพลาลงหน่อย

     "ทุกวันนี้ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทาง การเมืองขนานใหญ่ ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คนชั้นล่างเรียกหาความเสมอภาค ความยุติธรรม ทวงถามประชาธิปไตยที่กินได้ ถ้าเป็นอย่างที่ผลโพลชี้ว่า ประชาชนเห็นด้วยให้ปิดประเทศ เพื่อความสงบเรียบร้อยจริง ขอ ให้ กรธ.เขียนมาตรา 3 ใหม่ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ แต่ต้องอย่า ลืมว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปเสียแล้ว" นาย สมพงษ์กล่าว 

     ภายหลังให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางกว่า 3 ชั่วโมง น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสปท. คนที่สอง ในฐานะประธาน การประชุม จึงแจ้งที่ประชุมว่า จะเก็บข้อมูลทั้งที่เป็นเอกสาร และความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการเมือง เพื่อนำไปใช้ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป ก่อนสั่งปิดการประชุมเวลา 16.20 น. 

กสม.มีมติเลือก'วัส'นั่งปธ.

      รายงานข่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า วันนี้มีการประชุมว่าที่กสม.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน แทนชุดเก่าที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยที่ประชุมได้มีวาระการคัดเลือก 1 ใน 7 ว่าที่ กสม.ที่เหมาะจะรับตำแหน่งประธาน กสม. ซึ่งที่ประชุมมีการเสนอ 2 รายชื่อ ได้แก่ นายวัส ติงสมิตร อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายชาติชาย สุทธิกลม อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ผลสรุปว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เลือก นายวัสให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกสม. อย่างไรก็ตาม กสม.ทั้ง 7 คนนี้ต้องผ่านการโปรดเกล้าฯ ก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการได้

'บิ๊กตู่'ต้อนรับปธน.ศรีลังกา

      เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้อนรับนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-4 พ.ย. ตามคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ หน้าตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมหารือข้อราชการระหว่างกัน ซึ่งปีนี้เป็นวาระพิเศษครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ศรีลังกา 

     พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยผลการหารือว่า นายกฯ แสดงความเชื่อมั่นว่าประธานาธิบดีศรีลังกาจะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และความก้าวหน้าในกระบวนการปรองดองแห่งชาติของศรีลังกา สำหรับพัฒนาการการเมืองไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแน่นอนซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2560 

     พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ประธานาธิบดีศรีลังกากล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือไทยและศรีลังกาให้ครอบคลุมทุกมิติ ศรีลังกาสนใจเรียนรู้ความก้าวหน้าของไทยทั้งอุตสาหกรรมประมง การท่องเที่ยว ด้านเภสัชกรรมและพลังงาน พร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นในโครงการต่างๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งสินค้า

'บิ๊กป้อม'เปิดงานแสดงอาวุธ

      เวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ย. ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานดีเฟนส์และซีคิวริตี้ 2015 โดยมีพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ รมว.กลาโหมยูเครนและเช็ก ผู้แทนนายทหารระดับสูงของกองทัพแต่ละประเทศ และภาคเอกชนเข้าร่วมคึกคัก 

       พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กองทัพมีหน้าที่ปฏิบัติการด้านการทหารแล้วยังต้องมีความพร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อประสบภัยพิบัติ แก้ไขปัญหาอื่นๆ อาทิ การป้องกันการค้ามนุษย์และแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ งานนี้จะนำเสนอเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ผลิต ผู้แทนนายทหารระดับโลกได้แลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในระยะยาว เป็นช่องทางพิเศษให้กับภาคการผลิตจากนานาประเทศด้วย 

     พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์หลังชมงานว่า งานนี้จัดต่อเนื่องเพื่อให้ต่างประเทศออกบูธแสดงสินค้า ส่วนไทยไม่สามารถสร้างโรงงานผลิตเองได้เพราะไม่มีงบประมาณ ปีหน้าถ้ามีงบก็จะชัดเจนมากขึ้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย เช่น ยูเครน ไทยจะประกอบรถลำเลียงพลหุ้มเกราะแบบล้อยางหรือบีทีอาร์ในไทย ส่วนการหารือกับรมว.กลาโหมยูเครนกรณีจัดส่งรถหุ้มเกราะล้อยางที่ไทยสั่งซื้อ ยูเครนบอกจะทำตามสัญญาเพียงแต่ยังติดขัดสถานการณ์ภายในประเทศของเขา 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการออกบูธของต่างประเทศกว่า 300 บูธ อาทิ เกาหลี สวีเดน ตุรกี อิสราเอล เยอรมัน อิตาลี สิงคโปร์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ไทย และการสาธิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น ระบบขีปนาวุธ รถถัง เครื่องนำทาง ระบบเครือข่ายสัญญาณดาวเทียมทางการทหาร ขีปนาวุธรุ่นใหม่และอุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล SAAB LOKEHEED MARTIN HARRIS IMI YUGOIMPORT DAEWOO

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!