WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1เยยมชาวนา


รุมจวกปู่มีชัย ไม่ต่างดร.ปื๊ด 
รธน.แอบแฝง สกัดบางพรรค

      จวกกรธ.ของปู่มีชัย ร่างรธน.ไม่ต่างชุดบวรศักดิ์ 'อ๋อย' ชี้เนื้อหาไม่เป็นปชต. สกัดพรรคใหญ่ สร้างเงื่อนไขเปิดทางนายกฯคนนอก ด้านปชป.เชียร์มีชัยมาถูกทาง แต่เตือนอย่ายัดไส้ให้มีองค์กรเหนือรัฐอย่างคปป. โดนล้มประชามติแน่ 'วิษณุ'การันตีระบบจัดสรรปันส่วนผสม สะท้อนทุกความต้องการของประชาชน ไม่หวั่นถูกนักการเมืองโจมตี ย้ำรธน.ใหม่ต้องไม่ขัดหลักสากล สปท.นัดประชุม 10 พ.ย.นี้ ถกวาระด่วนเรื่องร่างรธน.ก่อนชงกรธ. พร้อมตั้งกมธ.สามัญ 11 คณะ โฆษกไก่อูยันไม่ได้แกล้ง'ยิ่งลักษณ์' ใช้กฎหมายปกติทำคดีจำนำข้าว ย้ำคำสั่งหัวหน้าคสช.แค่คุ้มครองจนท.ระบายข้าว พท. โวยไม่แฟร์ใช้ม.44 คดีข้าว จี้นายกฯให้ความเป็นธรรม ชาวบ้านแห่ต้อนรับ'ยิ่งลักษณ์'อบอุ่น ตั้งแต่สนามบินอุบลฯถึงงานทำบุญมหากฐินสามัคคีที่อำนาจเจริญ

วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9112 ข่าวสดรายวัน

เยี่ยมชาวนา - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เยี่ยมชาวนาระหว่างไปเป็นประธานทอดกฐิน ที่วัดบ่อชะเนง อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ท่าม กลางการต้อนรับของชาวบ้านอย่างอบอุ่น เมื่อวันที่ 8 พ.ย.

 

'วิษณุ'ชี้กาบัตรกี่ใบ-ผลเหมือนกัน

      เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ว่า ไม่เกี่ยวกับว่าใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือ 2 ใบ เพราะใช้กี่ใบก็สะท้อนความต้องการของประชาชนได้ แต่ประเด็นอยู่ ที่การนำคะแนนเสียงที่ได้นั้นไปใช้อย่างไร ใช้โดยเคารพเสียงของประชาชนหรือไม่ เพราะถ้าไม่นำไปใช้ก็ไม่ถือว่าเคารพเสียงของประชาชน จึงอยู่ที่การออกแบบของบัตรเลือกตั้ง ยืนยันว่าเรื่องบัตรเลือกตั้ง ไม่ว่า 2 ใบหรือใบเดียวไม่ได้สำคัญ แต่อยู่ที่จะนำข้อมูลไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์

       นายวิษณุ กล่าวว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งนำคะแนนทั้งหมดมารวมกันจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ แต่ก็มีวิธีอื่นที่สะท้อนได้ดีกว่านี้ ซึ่งยังไม่ได้คิด หากชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนถึงขนาดนั้นก็ไม่ต้องทำ เพราะอย่างการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้สะท้อนทุกคะแนนเสียง มีการทิ้งคะแนนด้วยเหมือนกัน

เมินถูกนักการเมืองโจมตี

       รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่นักการเมืองคัดค้านระบบเลือกตั้งของกรธ.นั้น ต้องรับฟังทุกความเห็นอยู่แล้ว ขณะนี้ถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่าไม่ได้ห้ามค้าน แต่หมายถึงเตือนกิริยาอาการ สำนวนในการแสดงความเห็น จากการดูเนื้อหาในหนังสือพิมพ์พบว่านักการเมืองบางคนค้านได้ดี เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิ ปัตย์ แต่ประเภทด่าทอนั้น เข้าใจว่าเป็นจิตวิทยาในการโจมตี ซึ่งบางครั้งต่อต้านด้านเนื้อหา แต่บางครั้งโจมตีเนื้อหาไม่ได้ จึงหยิบเอาบางจุดออกมาทำให้คนเกิดความรู้สึก ตนเป็นนักกฎหมายจึงรู้ดี เพราะเมื่อ จะซักพยานอีกฝ่ายหนึ่ง บางครั้งถามแบบธรรมดาก็ไม่ทำให้ได้คำตอบ ต้องถามให้เขาโกรธ มีบางครั้งที่ผู้สื่อข่าวถามตนแบบนี้ แต่ตนไม่ตอบ ยิ้มแล้วไม่พูด

เห็นด้วยเลิกตัดสิทธิ์ยกเข่ง

     เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. จะบัญญัติกรณีตัดนักการเมืองที่มีความผิดเป็นรายบุคคลมากกว่าโดยรวมของพรรค นายวิษณุกล่าวว่า เห็นด้วย จุดนี้ก็มีการค้านกันตอนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งรัฐบาลได้ทำความเห็นไปว่าอย่าพยายามเหมาเข่งคนที่ไม่ได้กระทำความผิด เว้นแต่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นความผิดได้ชัดเจน แต่จะต้องไม่ถูกตัดสิทธิ์เพราะเป็นกรรมการพรรค ควรจะผิดเพราะการกระทำของตัวเอง

     เมื่อถามว่า บางฝ่ายบอกว่ากรธ.กำลังใช้ประเทศไทยเป็นหนูทดลอง นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเพียงการเสนอความเห็น เหมือนโยนหินถามทาง เพื่อจะได้ฟังว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง อย่าคิดว่าเป็นการทดลอง เพราะเมื่อจะคิดมีอะไรใหม่ๆ ก็ต้องทดลองนำเสนอ และหากสังคมยอมรับ ประเทศก็น่าจะทดลองใช้เพราะคนยอมรับ แต่ถ้าเราไม่ต้องการอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยกลับไปลอกของเก่าในปี 2475 จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของไทยไม่เหมือนกันเลย เพราะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลก ทั้งนี้ กรธ.มีความพยายาม 2 อย่างคือ 1.ให้เข้ากันกับสภาพสังคมไทย 2.ไม่ขัดกับหลักการสากล

สปท.นัดอภิปรายร่างรธน.เสนอกรธ.

    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงวาระการประชุม สปท.วันที่ 9 พ.ย.ว่า เป็นการอภิปรายเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ในด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงาน จากนั้นวันที่ 10 พ.ย.จะเป็นวาระด่วนที่แทรกเข้ามาเป็นพิเศษ คือการอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ สปท.จะไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเมือง จะสัมฤทธิผลได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน ต่อเมื่อเป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ ประกอบกับประธาน กรธ.ทำหนังสือมาถึงประธาน สปท.เพื่อขอความคิดเห็น การบรรจุระเบียบวาระด่วนเข้ามาจึงเหมาะสมด้วยระยะเวลา เพื่อนำไปสู่การเสนอความเห็นในนาม สปท.อย่างเป็นทางการต่อ กรธ.ในโอกาสต่อไป แต่ จะเป็นในรูปแบบไหน ประธาน สปท. จะพิจารณาความเหมาะสม

เตรียมตั้งปธ.-กมธ. 11 คณะ

     นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนการแต่งตั้งประธานกมธ.และกมธ.สามัญประจำสภา 11 คณะนั้น ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองการดำรงตำแหน่งประธาน กมธ.และ กมธ.ที่มีนางวลัยลักษณ์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จและจัดทำรายงานเสนอประธาน สปท.แล้ว ประธาน สปท.จะได้พิจารณาเสนอขอความเห็นชอบจาก สปท.ต่อไปในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ซึ่งการประชุม กมธ. 11 คณะนัดแรกจะเริ่มได้ทันทีในวันที่ 11 พ.ย. ถือเป็นช่วงเริ่มต้นเดือนที่ 2 ในโรดแม็ป 1+1+18 เดือนของ สปท.ที่วางไว้ จากนั้นวันที่ 16 พ.ย. จะตั้ง กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ และคณะกรรมการประ สานงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยกมธ.สามัญประจำทั้ง 11 คณะและวิสามัญ 1 คณะจะใช้เวลา 1 เดือนจัดทำแผนและข้อเสนอขับเคลื่อนการปฏิรูปเสนอต่อสปท.รอบแรกภายในวันที่ 10 ธ.ค.นี้

วันชัยชู 4 ข้อ-เดินหน้าปฏิรูป

      นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท. กล่าวว่า เชื่อว่าการทำงานของสปท.หลังจากตั้งกมธ.เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนแล้ว จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสัมฤทธิผลในเวลาที่เหลืออย่างแน่นอน เนื่องจากกมธ.แต่ละคณะมี เป้าหมายและแนวทางทำงานที่ชัดเจน คือ 1.จะนำข้อมูลของสปช. ที่ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปแต่ละด้านออกมาจัดความสำคัญเร่งด่วน และจะต้องปฏิรูปให้สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ และบางเรื่องต้องส่งต่อรัฐบาลชุดต่อไป 2.แต่ละประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนปฏิรูปนั้น จะกำหนดกรอบเวลา แนวทาง วิธีการให้เห็นเป็นประจักษ์ ที่สำคัญจะต้องประสานแนวทางให้สัมฤทธิผลจากหน่วยงานต่างๆในแนวทางเดียวกัน

    3.สปท.ทราบดีว่าผู้ที่จะเป็นหัวหอกขับเคลื่อนการปฏิรูปให้สำเร็จได้นั้นคือ นายกฯและรัฐบาล ดังนั้น ในทุกประเด็นที่จะขับเคลื่อน จะต้องเห็นพ้องต้องกันของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4.สปท.ทุกคน ต่างรู้จุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี จุดบกพร่องของสปช.ที่ผ่านมา ย่อมนำมาเป็นแนวทางแก้ไขการทำงานให้บรรลุผล

     นายวันชัย กล่าวว่า หากทุกคน ทุกกมธ. ไม่แย่งตำแหน่งต่างๆ อย่างที่เคยเป็นโดย พิจารณาถึงตัวคนและเนื้องานเป็นสำคัญมุ่งเน้นให้เกิดความก้าวหน้า แก้ปัญหาของประเทศให้ได้ แต่ถ้าสปท.ล้มเหลวก็หมายความว่าประชาชนจะสิ้นหวังต่อการปฏิรูปประเทศ ทำให้การปฏิวัติครั้งนี้เสียหายและล้มเหลวไปด้วย ทุกคนจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ ประเภททำงานเช้าชามเย็นชามลอยไปลอยมา หวังแต่ตำแหน่งต้องไม่มี

"อ๋อย"ซัดกรธ.ร่างรธน.ไม่เป็นปชต.


อบอุ่น - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทักทายประชาชนที่มารอรับแน่นสนามบินอุบล ราชธานี ระหว่างเดินทางไปเป็นประธานทำบุญทอดกฐิน ที่วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ เมื่อ 8 พ.ย.

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิ การ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เท่าที่ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ยังคืบหน้าไม่มากนัก แต่ประเด็นที่พิจารณาอยู่เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น พบว่า กรธ.ดูจะหมกมุ่นอยู่กับจุดมุ่งหมายเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 คือหาทางป้องกันขัดขวางพรรคที่เคยชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลไม่ให้กลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก นอกจากนั้นก็หาทางประดิษฐ์คิดค้นกลไกต่างๆ ที่มีไว้จัดการกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้อยู่หมัด ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เลวร้ายกว่าเดิม คือ การทำลายระบบพรรคโดยรวม เพื่อไม่ให้ตอบสนองความเรียกร้องต้องการของประชาชนด้วยการนำเสนอนโยบายเลือกตั้งได้ ควบคู่กับการหาทางให้คนนอกมาเป็น นายกฯ โดยไม่ต้องผ่านเลือกตั้ง

      "ฟังการอธิบายของกรธ. ที่กุมบังเหียนอย่างใกล้ชิดโดยประธาน กรธ.แล้ว เข้าลักษณะอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ร่างใหม่นี้แนวโน้มมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากร่างของกมธ.ก่อนหน้านี้ คือไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เมื่อเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ให้นับคะแนนเฉพาะ ผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้งเท่านั้นไปคำนวณ จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อถูกวิจารณ์อย่างหนัก กรธ.ก็รีบเปลี่ยนเป็นให้นับทุกคะแนน แต่ระบบนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี คือจะเอาสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคได้รับ มากำหนดจำนวนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรค ซึ่งบิดเบือนหลักการเลือกตั้งแบบเขตละคนไปอย่างสิ้นเชิง" นายจาตุรนต์กล่าว

สร้างเงื่อนไขเปิดทางนายกฯคนนอก

      นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า วิธีนี้จะทำให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากในระบบแบ่งเขต กลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภา ถ้าใช้ตัวเลขจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มาคำนวณ จะพบว่าพรรคที่เคยได้ที่นั่งต่างกันมาก จะกลายเป็นสูสีกันทันที และจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก พรรคขนาดกลางจะได้ประโยชน์มากขึ้นอย่างมากและมีอำนาจต่อรองมาก เพราะจะกลายเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้พรรคใหญ่พรรคใดเป็นรัฐบาล เอื้อต่อการที่คนนอกจะมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าสร้างเงื่อนไขต่อรองแกมบังคับพรรคขนาดเล็กขนาดกลางได้ ก็กำหนดให้พรรคใหญ่ที่พร้อมสละตำแหน่งนายกฯ ให้ได้เป็นรัฐบาลได้

     นายจาตุรนต์ ระบุว่า การอ้างใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ยกเมฆเอาดื้อๆ เพราะประชาชนเข้าใจการเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบและคุ้นเคยมานานแล้ว มากกว่าการให้มีบัตรใบเดียวซึ่งไม่มีเหตุผลและสับสนว่าให้ประชาชนเลือกอะไรกันแน่ ระบบเลือกตั้งแบบนี้ยังทำให้พรรคเล็กเกิดได้ยาก เนื่องจากต้องหาผู้สมัครแบบแบ่งเขตจำนวนมาก ส่งให้ครบทุกเขตซึ่งในอดีตเคยทำและล้มเหลวมาแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงไม่เปลี่ยน คือยังต้องการหาทางป้องกันไม่ให้มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง ส่งเสริมให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และให้พรรคจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม อาจต้องมีคนนอกเป็นนายกฯ ไม่ใช่การคำนึงถึงทุกคะแนนเสียง

หวั่นกติกาไม่ดีจริง-ปฏิบัติไม่ได้

     นายจาตุรนต์ โพสต์ต่อว่า ส่วนที่ กรธ.มีข้อสรุปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่จะอยู่ในหมวดศาลนั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำไปก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดศาลมาก่อนแล้ว น่าเสียดายที่ กรธ.ไม่ได้พูดถึงคือจะแก้ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างไร ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยถูกมองว่าถูกแทรกแซง เป็นองค์กรที่ไม่เป็น กลาง ไม่เที่ยงธรรม บางครั้งก็เลือกปฏิบัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเองหรือตั้งตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทย ปัญหาเหล่านี้มาจากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องและเป็นองค์กรที่ไม่มีใครตรวจสอบถ่วงดุลได้

      "มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ที่อยากฝาก กรธ.ให้ช่วยคิดและชี้แจงก่อนจะทำอะไรต่อไป คืออยากถามว่ากฎกติกาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งระบบป้องกันปราบปรามการทุจริตที่โอ้อวดอยู่ว่าจะดีนั้น จะใช้บังคับจริงเมื่อใดและอีกนานกี่ปี เพราะกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้บังคับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระจะมิถูกแต่งตั้งโดยระบบที่ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของคสช.ไปหมดแล้วหรือ คนเหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งอีกคนละกี่ปี ถ้าอยู่จนครบวาระ พวกเขาจะมาจากคนละระบบกับที่กรธ.ออกแบบกันอยู่หรือ ผมสงสัยว่าสิ่งกำลังออกแบบอยู่เวลานี้ นอกจากไม่ดีจริงแล้วยังไม่ได้ใช้จริงด้วย สิ่งที่ใช้จริงอาจแย่ยิ่งกว่าที่กำลังออกแบบกันอยู่ใช่หรือไม่ ช่วยตอบผมที"นายจาตุรนต์กล่าว

แขวะ"มาร์ค"อย่าบอยคอตอีก

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ต้องยินดีกับเมียนมาที่เขาเดินหน้าเข้าสู่กระบวน การประชาธิปไตย จึงอยากฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าการที่คนของพรรคเดินทางไปดูการเลือกตั้งที่ เมียนมา นายอภิสิทธิ์ไม่รู้สึกอายเขาบ้างหรือ เพราะพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งภายใต้กระขบวนการประชาธิปไตยถึง 2 ครั้ง อยากแนะนำให้นายอภิสิทธิ์เดินทางไปดูระบอบการปกครองที่เกาหลีเหนือ น่าจะ เป็นประโยชน์กว่า หวังว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์คงไม่บอยคอตการเลือกตั้ง และควรเคารพกระบวนการประชาธิปไตย ถ้าแพ้การเลือกตั้ง ก็ต้องเคารพผลลือกตั้งอย่างสง่าผ่าเผย ประชาธิปไตยของไทยจะได้พัฒนาไปข้างหน้าได้

     "ไม่ใช่ว่าเมื่อพรรคตนเองได้ประโยชน์หรือได้เปรียบ ก็รีบตะครุบเอาแต่ได้ เช่น ขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มจะทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง จนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่ยึดหลักการตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่สากลยอมรับ และอ้างแต่เผด็จการรัฐสภา เราต้องมาร่วมมือช่วยกันให้ได้รัฐธรรมนูญที่สากลยอมรับ เพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวไปข้างหน้า" นายสุรพงษ์กล่าว

วิลาศชง 4 ข้อปฏิรูปองค์กรอิสระ

    เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 พ.ย. ตนจะไปยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กรณีการแก้ปัญหาทุจริต เนื่องจากขณะนี้ กรธ.เข้าสู่หมวดการพิจารณาองค์กรอิสระแล้ว คือ 1.กรธ.ควรหาวิธีปฏิรูปองค์กรอิสระ ในการออกระเบียบข้อบังคับเรื่องระยะเวลาการพิจารณาคดีในทุกขั้นตอนให้เกิดความชัดเจนว่า ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาพิจารณาคดีเท่าไร 2.ที่ผ่านมาการปราบปรามการทุจริตไม่สำเร็จหากประชาชนไม่ร่วมมือ รวมถึงต้องแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 ให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเรียกดูข้อมูลเอกสารหลักฐาน รวมถึงบอกระยะเวลาว่าจะได้รับข้อมูลที่ขอข้อมูลเมื่อไร

    3.องค์กรอิสระต้องยกเลิกการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพราะจะเอื้อต่อการให้ผู้เข้าร่วมอบรมไปตีสนิทกับคณะกรรมการหรือองค์กรนั้นๆ อาจเกิดการล็อบบี้ แทรกแซงเข้าไปเป็นอนุกรรมการไต่สวน เช่น กรณีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ตั้งมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ตนเห็นว่าผู้ที่เข้าร่วมมูลนิธิดังกล่าวมีประวัติไม่น่าไว้วางใจ และ 4.ควรกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจสอบสวนและสั่งหน่วยงานพิจารณาในลักษณะป.ป.ช.

เชียร์"มีชัย"มาถูกทางแล้ว

     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของกรธ. ว่า ระบบนี้ผู้ร่างตั้งใจเกิดความหลากหลาย ไม่ให้เกิดการผูกขาดของส.ส.พรรคใดในภาคใดภาคหนึ่ง เพื่อความปรองดองในหมู่ประชาชน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ออกแบบในภาพกว้างเป็นรายประเด็นใหญ่ๆ แตกต่างจากการร่างของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เน้นรายละเอียดทุกรายมาตรา จนเกิดข้อถกเถียงกันมาก นายมีชัยร่างแบบนี้ถือว่ามาถูกทางแล้ว ลดข้อถกเถียงเป็นรายมาตราได้ ประหยัดเวลา รัฐธรรมนูญจะสั้นกระชับด้วย

    นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เห็นด้วยกับการมีอำนาจพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้บ้านเมืองกลับไปเหมือนอดีต เชื่อว่า กรธ.เองก็กลัวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลุแก่อำนาจ เลือกปฏิบัติ จึงเชื่อว่ากรธ.น่าจะมีเเนวคิดเรื่องมีอำนาจพิเศษ เพื่อไม่ให้บ้านเมืองกลับไปเป็นเหมือนเดิม

     เมื่อถามว่า ถ้าอำนาจพิเศษเป็นไปในลักษณะเดียวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า รอดูอยู่ ยังเดาไม่ออกจะเป็นรูปแบบใด แต่อย่าให้ถึงขั้นมี คปป. มามีอำนาจเหนือรัฐบาลเลือกตั้ง จนเกิดลักษณะรัฐซ้อนรัฐ เชื่อว่า กรธ.เห็นบทเรียนจากกมธ.ยกร่างฯ แล้ว ถ้าร่างไปในแนวทางนั้นอีก คงยากที่จะผ่านประชามติ

กปปส.แนะตัดส.ส.บัญชีรายชื่อ

     นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงกรธ. ปรับเปลี่ยนวิธีการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ คล้ายกับระบบสัดส่วนผสมของกมธ.ยกร่างฯ ชุดที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานว่า ระบบใหม่ของ กรธ.นั้นเห็นในทิศทางดี เข้าใจง่ายให้กาบัตรใบเดียว มีจุดแข็งทุกคะแนนเสียงจะไม่ตกน้ำ ทำให้พรรคต้องเห็นความสำคัญทุกคะแนน แก้ปัญหาในอดีตเรื่องเขตไหนไม่ได้เลือกมาเป็นรัฐบาลจะไม่จัดสรรงบประมาณลงไปให้ แต่ยังมีปัญหาเรื่อง จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่มีถึง 150 คน ซึ่งเป็นหลักคิดที่ดี มีไว้ให้ผู้มีความรู้แต่ไม่ถนัดเลือกตั้งได้เข้ามาทำงาน แต่ในอดีต พอนำมาใช้จริง กลับเว้นที่ให้นายทุนผู้มีอิทธิพล ใช้แรงเงินเข้ามาครอบงำ ล้วงลูกการทำงานพรรค ทำให้ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผ่านมาไม่ใช่ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง กรธ.จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะตัดสัดส่วนของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อออกไปหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหานายทุนเข้ามาล้วงลูก หรือจะให้มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อไปเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ถ้า กรธ.เลือกวิธีหลัง จะต้องหาแนวทางกีดกันนายทุนเข้ามาล้วงลูกการทำงานของพรรค ผ่านระบบส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้ได้

โพลหนุนกาบัตรใบเดียว-เข้าใจง่าย

     สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญในสายตาประชาชน จากประชาชนทั่วประเทศ 1,156 คน วันที่ 2-7 พ.ย. ต่อกรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. แถลงถึงระบบเลือกตั้ง "จัดสรรปันส่วนผสม" พบว่าร้อยละ 72.61 เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสำคัญมากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและประเทศ ร้อยละ 69.8 เห็นว่า กรธ.ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ร้อยละ 66.17 มองว่าควรดำเนินงานตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้องเปิดเผยและยุติธรรม

    สำหรับ ประเด็นที่ประชาชนสนใจมากที่สุดนั้น ร้อยละ 77.29 สนใจการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้ง ที่มาของส.ส.และนายกฯ รวมถึงการลงโทษตัดสิทธิ์นักการเมือง ร้อยละ 75.04 สนใจการแก้ปัญหาการทุจริต ร้อยละ 71.12 สนใจสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน และความเป็นประชาธิปไตย

     ส่วนที่นักการเมืองและพรรคการเมืองโต้แย้งการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ร้อยละ 78.73 เห็นว่าพรรคต่างๆ อาจมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้อยละ 64.28 มองว่าเป็นสิทธิที่พรรคต่างๆ ทำได้ แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ร้อยละ 59.79 อยากให้ กรธ.และนักการเมืองพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันมากขึ้น

จี้กรธ.ร่างรธน.ชัดเจน-ถูกต้อง

     กรณีมีส.ส. 500 คน เป็นส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนนั้น ร้อยละ 79.06 เห็นด้วย เพราะประชาชนเป็น ผู้ตัดสินและมีสิทธิเลือกแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทุกพรรคได้รับความเป็นธรรม คะแนนที่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ร้อยละ 20.94 ไม่เห็นด้วย น่าจะลองปรับเปลี่ยนสัดส่วนแบบอื่นดูบ้าง ทั้งนี้ ร้อยละ 60.98 อยากให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เนื่องจากสะดวกในการกาบัตรเลือกตั้ง เข้าใจง่าย นับคะแนนง่าย และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ร้อยละ 39.02 อยากให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะไม่สับสนในการกาบัตรเลือกตั้ง

      สำหรับ สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอก กรธ.นั้น ร้อยละ 78.05 อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน คำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสม ร้อยละ 73.18 ขอให้ กรธ.มีความตั้งใจจริงในการทำงาน ร้อยละ 66.26 ขอให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี และประเทศเดินหน้าต่อไปได้

เห็นด้วยตัดสิทธิคนโกงตลอดชีพ

     ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และกรธ. เผยผลสำรวจเรื่อง "การตัดสิทธิ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง" พบว่าร้อยละ 54.88 เห็นว่านักการเมืองที่ถูกตัดสินว่ากระทำทุจริตต่อหน้าที่ ควรถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ร้อยละ 35.12 ระบุควรถูกห้ามลงเลือกตั้ง 5 ปี ร้อยละ 5.68 ระบุไม่ควรห้ามเลย ร้อยละ 2.40 เห็นว่าไม่แน่ใจ ต้องดูเป็นรายกรณีไป ส่วนการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่าทุจริตต่อหน้าที่ควรเริ่มเมื่อใดนั้น ร้อยละ 51.82 ระบุควรเริ่มที่ผู้เคย ถูกตัดสินว่าทุจริตต่อหน้าที่จะถูกห้ามลงสมัครอีก ร้อยละ 45.42 ระบุว่าเฉพาะผู้ที่ถูกตัดสินหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว

      กรณีนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่ากระทำการทุจริตเลือกตั้ง ร้อยละ 61.68 ระบุว่าควรถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ร้อยละ 31.28 เห็นว่าห้ามสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี ร้อยละ 4.40 ระบุว่าไม่ห้ามเลย ร้อยละ 1.84 ระบุว่าห้ามสมัครเป็นเวลา 3, 4 หรือ 10 ปี และควรมีการลงโทษตามกฎหมายด้วย ส่วนการตัดสิทธิทางการเมืองกับนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้งนั้น ร้อยละ 54.48 ระบุว่าควรเริ่มที่ผู้เคยถูกตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้งจะถูกห้ามลงสมัครอีก ร้อยละ 42.77 ควรเริ่มเฉพาะผู้ที่ถูกตัดสินหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว

     กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนที่ไม่ประสงค์จะเลือกใคร (โหวตโน) ในเขตการเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 61.12 ระบุควรยอมให้ผู้สมัครคนนั้นได้ลงสมัครใหม่อีกครั้ง ร้อยละ 31.44 เห็นว่าผู้สมัครคนนั้นไม่ควรลงสมัครในครั้งนั้นอีก และให้พรรคส่งคนใหม่แทน

รัฐบาลย้ำไม่แกล้ง"ปู

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. สร้างความเป็นธรรมใน การต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 39/2558 ที่ใช้คุ้มครอง เจ้าหน้าที่และกรรมการในการบริหารจัดการข้าวว่า ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลใช้กฎหมายปกติ คือพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวก็มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการ 3,000 กว่าคดี ซึ่งไม่ได้มีแค่คดีรับจำนำข้าวเท่านั้น เรายืนยันว่าไม่ได้ใช้อะไรนอกเหนือจากกฎหมายปกติ

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนที่หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 39/2558 ก็คุ้มครองเจ้าหน้าที่เพื่อให้ระบายข้าวออกไปได้ ไม่ได้ใช้กับคดีรับจำนำข้าว เพราะถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากข้าวบางคลังอาจต้องขายยกคลัง ดังนั้น มาตรา 44 ที่ใช้ เพื่อออกกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ทำงานได้โดยสุจริต ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้กลั่นแกล้งคนหนึ่งคนใด และเรื่องนี้ไม่เห็นว่าจะต้องกังวล

     โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีคณะกรรมการสอบสวนโครงการนี้ที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถส่งเอกสารรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอพยานเพิ่มเติมได้ ส่วนที่มีบางคนระบุให้ไปเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของโกดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาทุกกรณี และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากเจ้าของโกดังเก็บและถนอมข้าวดี ก็จะไปเอาผิดเขาไม่ได้ แต่ถ้าเขาไม่รอบคอบเก็บข้าวไม่ถูกขั้นตอนก็ต้องรับผิดชอบซึ่งต้องดูตัวสินค้าว่ามีคุณภาพหรือไม่ รัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พท.วอน"บิ๊กตู่"เป็นธรรมคดีข้าว

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องพล.อ. ประยุทธ์ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไม่ถูกครหาและเป็นที่ยอมรับของโลกมากขึ้น ตนประหลาดใจว่า ทำไมน.ส. ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการถูกดำเนินคดีอยู่เสมอ อาทิ 1.ทำไมน้ำแล้งจึงไปโทษจำนำข้าว ทั้งที่มีจำเลย คือสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรม ชาติให้โทษอย่างสมเหตุสมผลมากกว่า 2.ทำไมการทำให้ชาวนาได้ประโยชน์มีชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นจึงกลายเป็นความผิดเรื่องข้าวเน่า 3.ทำไมรัฐบาลไม่เรียกร้องความเสียหายจากโรงสีที่รับผิดชอบ ทั้งที่มีสัญญาที่รัฐทำไว้แล้วกับทุกโรงสี ที่สำคัญปัญหาข้าวเน่าอาจเกิดจากการไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของกลไกรัฐในหน่วยราชการเองก็เป็นได้

    นายภูมิธรรม กล่าวว่า 4.การโจมตีการจำนำข้าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นจริงตามที่กล่าวหา อีกทั้งโครงการจำนำข้าวเป็นพันธสัญญาของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เหมือนการดูแลราคายาง ราคาพืชผลการ เกษตรต่างๆ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนาและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเงินทุกบาทที่ออกจากรัฐไม่มีรั่วไหล เพราะส่งตรงจากบัญชีของรัฐไปถึงมือของชาวนาทุกครัวเรือน

ดักคออย่าใช้ม.44 จัดการ"ปู"

    "ถ้าตั้งใจจะช่วยกันคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในประเทศอย่างจริงจัง ต้องช่วยกันอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ผมขอเสนอความคิดเห็นต่อพล.อ.ประยุทธ์ โปรดพิจารณาไตร่ตรองอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ใดๆ ต้องการเพียงการอำนวยความยุติธรรมตามกระบวนการเฉกเช่นทุกคนในสังคมไทยพึงจะได้รับ" นายภูมิธรรมกล่าว

     นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและคดีเพิ่งเริ่มต้น ขณะที่อายุความเสียหายทางแพ่งที่จะเกิดขึ้น ยังมีอายุความตามคดีอาญาอีกนานถึง 15 ปี ตนจึงไม่เห็นความจำเป็นใดที่ต้องเร่งรีบรวบรัดคดีให้เป็นที่ครหาของสาธารณชน แต่ขอโอกาสได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ตามกระบวนการปกติ ตามหลักนิติธรรมสากลที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับ การต่อสู้ทางคดีที่เกิดขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ และถูกดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายปกติ ไม่มีการนำอำนาจพิเศษใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตนอยากเห็นกระบวนการต่างๆ เดินตามครรลอง และเชื่อว่ารองนายกฯ ด้านกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะมีส่วนช่วยพล.อ.ประยุทธ์ทบทวนและพิจารณาอย่างรอบคอบ หากทำตามจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายและแก่ประเทศโดยรวม

ชูศักดิ์จี้ยกเลิกคำสั่ง 39/2558

       นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีหัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งในโครงการจำนำข้าว อ้างเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่และกรรมการในการบริหารโครงการและหาผู้รับผิดชอบ ในทางแพ่งว่า คำสั่งดังกล่าวไม่แฟร์ต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งกรรมการและเจ้าหน้าที่ได้รับความคุ้มครองไม่อาจถูกฟ้องร้องในทางใดๆ อีกฝ่ายก็ไม่อาจโต้แย้งหรือคัดค้านโดยวิธีใดๆ เสมือนปิดปากมัดมือชกให้จำยอมในข้อกล่าวหาและคำสั่งที่จะมีตามมา จึงไม่ยุติธรรม การที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ควรยกเลิกคำสั่งที่ 39/2558 จึงมีเหตุมีผล และการใช้มาตรการพิเศษตามมาตรา 44 ก็บอกอยู่ในตัวของมันเองแล้วว่าไม่แฟร์

     นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนข้อโต้แย้งว่าควรหาผู้รับผิดทางแพ่งโดยใช้กระบวนการทางคดีแพ่งหรือใช้คำสั่งทางปกครอง และข้อที่ว่ารัฐบาลต้องเร่งรีบดำเนินการเพราะเกรงคดีจะขาดอายุความนั้น คดีแพ่งทางละเมิดมีอายุความ 1 ปี ส่วนคดีปกครองตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด มีอายุความ 2 ปีก็จริง แต่ต้องตั้งคำถามว่านับตั้งแต่เมื่อใด ในหลักที่ใช้กัน ให้นับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้ต้องรับผิดและมูลค่าความเสียหายที่จะต้องรับผิด ตราบใดที่ยังไม่รู้ตัวบุคคลและมูลค่าความเสียหาย อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ สอบสวนกันไปปี 2 ปี 3 ปีก็ยังไม่เริ่มนับ การอ้างว่าต้องรีบสอบสวนเกรงว่าจะขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจทำให้เจ้าหน้าที่รีบเร่งสรุปโดยขาดความรอบคอบหรือมั่วๆ เอาได้

ยันใช้กม.ทางแพ่งชอบธรรมกว่า

      นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ศาลแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาอายุความทางแพ่งให้ถือตามคดีอาญามาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี ความวิตกกังวลว่าทางแพ่งจะขาดอายุความ จึงไม่น่าจะเป็นประเด็น ส่วนกรณีว่าสมควรดำเนินการโดยใช้การฟ้องคดีแพ่งหรือการออกคำสั่งทางปกครองนั้น เท่าที่ตรวจสอบดูเรื่องการฟ้องอดีตนายกฯ ที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยวิธีการออกคำสั่งทางปกครองก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น การจะใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จะมีข้อโต้แย้งได้มากว่าเป็นปัญหาการเมือง ซึ่งจะขัดต่อหลักสุจริต อีกทั้งเมื่ออ่านกฎหมายหลายๆ เที่ยวเห็นด้วยกับความเห็นของนักกฎหมายหลายคน โดยเฉพาะน.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป.ป.ช.ที่ระบุว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะอยู่ในความหมายและการบังคับตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด การใช้กฎหมายแพ่งธรรมดาก็เคยใช้มาแล้ว ศาลฎีกาก็บอกว่าใช้ได้ ไปนำสืบพิสูจน์กันในศาลจึงน่าจะถูกต้อง ไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องความถูกต้อง ชอบธรรมเหมือนการใช้คำสั่งทางปกครอง

"ปู"ทำบุญอีสาน-ชาวบ้านแห่รับ

     เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 8 พ.ย. ที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีประชาชนจำนวนมากมารอต้อนรับและมอบดอกไม้ ทำให้พื้นที่อาคารผู้โดยสารเต็มไปด้วยประชาชนที่มารอให้กำลังใจอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ยังมีอดีตนักการเมือง และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยในเขตพื้นที่อีสานตอนล่างมาต้อนรับ จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะเดินทางไปยังวัดบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เพื่อร่วมทำบุญมหากฐินสามัคคี หาทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและพัฒนาวัดบ่อชะเนง โดยชาวบ้านต่างพากันจดทะเบียนรถยนต์ ที่อดีตนายกฯนั่งหมายเลขทะเบียน อษ 6610 กรุงเทพมหานคร เพื่อเอาไปลุ้นซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

     ต่อมาเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานในพิธีทำบุญทอดกฐินสามัคคี ที่วัด บ่อชะเนง ท่ามกลางชาวอำนาจเจริญทั้งหญิงชาย เด็กนักเรียน แห่มาขอถ่ายรูปกับอดีตนายกฯ พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจจำนวนมาก โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มาคอยดูแลป้องกันเหตุจำนวนหนึ่งด้วย

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จพิธี เจ้าอาวาสได้มอบพระเครื่องจำนวนหนึ่ง และรูปวาดภาพเหมือนอดีตนายกฯให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินชมสินค้าหัตถกรรมของชาวบ้านที่มาวางจำหน่ายภายในวัดบ่อชะเนง และได้ทักทายถ่ายรูปกับพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนอย่างเป็นกันอีก ก่อนจะไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านของ นางสมหญิง บัวบุตร อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย

      เวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะ เดินทางมายังวัดพระศรีเจริญ ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน เพื่อมากราบไหว้องค์พระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ประจำอำเภอหัวตะพาน ภายในวิหารเก่าแก่ของวัด มีประชาชนจำนวนมากมารอต้อนรับ ขอถ่ายรูปและให้กำลังใจอดีตนายกฯด้วย ก่อนที่คณะของอดีตนายกฯ จะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!