WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1เดาะโชว

บิ๊กตู่โต้ล้มคดี ภาษีฟิลลิปฯ โวยตั้งลูกมีชัย เพื่อไทยจี้ออก

      เพื่อไทยจี้ลูกสาว'มีชัย' ทิ้งเก้าอี้รองเลขาฯ คสช. ยกกรณีสนช.-สปช.ตั้งเครือญาติ ยังต้องลาออก 'บิ๊กตู่'โต้ล้มคดีภาษีฟิลลิป มอร์ริส เร่งงานปฏิรูป ยุบกก.ขับเคลื่อนของคสช.-รัฐบาล ตั้งกก.ปฏิรูปและขับเคลื่อน 8 กลุ่มแทน ดึงรองนายกฯ คุม ยันไม่เอาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรธ.ส่อเปิดช่องนายกฯคนนอก ชี้ข้อดีบัตรใบเดียว พรรคการเมืองเข้มแข็ง ลดงบเลือกตั้ง 600 ล้าน อุบลฯ เตรียมตำแจ่วบองรับบิ๊กตู่ ปชป.โวยจังหวัดเปลี่ยนคิวลงพื้นที่ งดเยือน อ.นาเยีย กีดกันชาวบ้านพบนายกฯ

 

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9114 ข่าวสดรายวัน

เดาะโชว์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เซ็นชื่อและข้อความให้กำลังใจทีมฟุตบอลไทยที่จะเตะกับทีมไต้หวันในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย 12 พ.ย.นี้ พร้อมทั้งโชว์เดาะฟุตบอล ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พ.ย.

บิ๊กตู่เล็งปลดล็อกพรรคการเมือง

     เวลา 13.30 น. วันที่ 10 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานประชุม ครม. ถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญว่า ยังมีการถกแถลงขัดแย้งกันบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ถือมาเป็นอารมณ์อยู่แล้ว ซึ่งก็ดี แต่คนที่จะตัดสินใจจริงๆ คือประชาชนว่าต้องการอะไรที่ไม่ใช่จากการเลือกตั้งอย่างเดียว เช่น ให้บ้านเมืองปลอดภัย ใสสะอาด ไม่มีทุจริต

    นายกฯ กล่าวว่า การออกแบบหรือบังคับใช้กฎหมาย ถ้ามันรุนแรงเกินไปก็เป็นปัญหา จึงต้องปลูกจิตสำนึกคนให้ได้ ตนขอร้องสื่อทุกประเภท เป็นเครื่องมือของรัฐหรือเครื่องมือของประชาชนด้วย สร้างการรับรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ที่ตนพูดหลายเรื่องดีๆ วันนี้ก็ขยายให้ถึงประชาชน เพราะเขาเสพหนังสือ ถ้าวันๆ เขาเสพแต่เรื่องร้ายแรง อย่างเดียว ประเทศ ประชาชนก็จะเครียด ความขัดขัดแย้งก็จะสูงขึ้น หากมีคนไม่หวังดีมากระจายอีกยิ่งไปกันใหญ่ อะไรดีก็ว่าไปอะไรไม่ดีก็เตือนมา วิจารณ์แต่พอสมควรตนก็แก้ไขให้แล้วกัน

     เมื่อถามถึงข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้พรรคการเมืองประชุมหารือเรื่องการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังพิจารณาถึงความเหมาะสมอยู่ การหารือของพรรคควรชัดเจน กำลังให้หาทางออกอยู่ว่าจะหารือกันเรื่องอะไร ตรงไหน ที่ไหน ไม่ใช่ไปแอบหารือแล้วออกมาทะเลาะกันอีก ตนเบื่อการขัดแย้ง พอหารือกันแล้วมันกลายเป็นเอาความขัดแย้งมาหารือ ไม่มีทางจบ เหมือนจะเจรจาแก้ปัญหาต้องเอาเรื่องที่คุยกันได้มาทำก่อน ตรงนั้นสำคัญแล้วต้องยอมรับ ประเด็นที่สอง ประเทศชาติเกิดอะไรขึ้นในอดีตจะแก้อย่างไร ถ้าทุกคนบอกว่าเป็นสากล ก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ไม่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน ดังนั้นต้องให้ประชาชนเกิดความชัดเจนว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะได้อะไรจากรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมา

ยกพม่าจี้คนไทยใช้สิทธิเลือกตั้ง

     นายกฯกล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือให้ดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีการเลือกตั้ง มีคนออกมาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ของไทยคนมีสิทธิเลือกตั้ง 40-50 ล้านคน ออกมาเลือกตั้ง 10-20 ล้านคนแล้วให้มากำหนดชะตากรรมบ้านเมือง ส่วนที่เหลือไม่ออกมาเพราะไม่ชอบการเมือง แต่พอการเมืองทำอะไรไม่ดีก็มาบอกว่าไม่ได้เลือก ไม่รับผิดชอบแบบนี้ไม่ได้ ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องออกมาให้ครบ ไม่ว่าจะทำประชามติหรือเลือกตั้ง ชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็แสดงความรับผิดชอบของตัวเอง เขาถึงเรียกว่าประชาธิปไตย ถ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วติติงทุกอย่างนั้นไม่ใช่

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเลือกใครเข้ามาแล้วจะถูกหรือผิด ตนไม่ว่า แต่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเรื่องนโยบายที่ทำมา ตนไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการให้เขาตรวจสอบและไปสู้ในศาล ไม่ใช่สู้นอกศาล บ้านเมืองก็จะวุ่นวายอยู่แบบนี้ ประชาชนก็สับสน เมื่อเข้ากระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็ให้กระบวนการยุติธรรมว่าไป คดีทุจริตมีหลายคดี มีความเกี่ยวข้อง ยึดโยงในมาตราอื่นๆ ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องระมัดระวัง รวมทั้งสื่อในการเสนอข่าวและขยายข่าวต่างๆ มีผลกระทบด้วยกัน ทราบว่าทุกคนมีเจตนาดีแต่ต้องมองในภาพรวมด้วย ใครผิดกฎหมายก็ต้องว่าตามกฎหมาย ถ้าเราไปขยายความกันมากก็จะเรื่องมากกันเปล่าๆ เดี๋ยวเข้าใจผิดกันไปอีก

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้มีตัวเลขดีขึ้น จาก 72.1 เป็น 73.4 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา แสดงว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการกำลังเป็นผล แต่ผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการพัฒนาเชิงโครงสร้าง ทั้งนี้ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ดูแลผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบใหม่ ต้องรายงานการดำเนินการให้ทราบ

ตั้งรองนายกฯคุมงานปฏิรูป

     นายกฯ กล่าวว่า การทำงานจากนี้ตนจะกำหนดชัดเจนขึ้นโดยสั่งการไปแล้ว แผนงานโครงการต่างๆ ที่จะทำจากนี้ถึงเดือนก.ค. 2560 ที่เราต้องขับเคลื่อนหรือปฏิรูปให้ได้ ให้ไปลิสต์มาว่าจะทำอะไรบ้าง ส่วนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำหรือที่ดินมีแผนระยะยาวอยู่แล้ว ต้องใส่ในยุทธศาสตร์แผนการปฏิรูปซึ่งต้องชัดเจน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปี 2560 ที่ตนยังอยู่ หากเราเอาทุกอย่างมาทำทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องมีเยอะจะสำเร็จได้อย่างไร ฉะนั้นเอาเรื่องที่ทำได้ในปี 2560 ขึ้นมาดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น มีหลายเรื่องที่ส่งผลดีกับประชาชน

    นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ตั้งให้รองนายกฯควบคุมดูแลงาน จากเดิมมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนของรัฐบาล วันนี้จะแปลงมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปและขับเคลื่อน ยุบรวมเพื่อนำงานสำคัญขึ้นมาดำเนินการ ตนสั่งการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติ เช่น ไอเคโอ ไอยูยู ยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบวงกว้างที่ต้องอยู่ในคณะปฏิรูปที่มีอยู่ 7-8 คณะ

    นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูปประเทศนั้น ต้องนำแนวทางที่รัฐบาลทำไปปฏิรูป ให้ได้ และวันนี้ก็ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม เหมือนวิปเพื่อประสานงาน นำข้อมูลมารวมกันแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯและนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่เชื่อมต่อประสานงานของรัฐบาลอยู่แล้ว

แบ่ง 8 กลุ่มคณะปฏิรูปลุยงาน

    เวลา 14.30 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า นายกฯ แจ้งให้ครม.รับทราบถึงการเร่งรัดการทำงานให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยจัดกลุ่มงานเป็น 8 กลุ่มงาน เพื่อปฏิรูปและขับเคลื่อน มีรองนายกฯ เป็นหัวหน้าแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1.คณะปฏิรูปและขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง 2.คณะปฏิรูปฯระบบบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม 3.คณะปฏิรูปฯเรื่องเกษตรแนวใหม่ ทั้งโครงสร้างและการบริหารจัดการน้ำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

   4.คณะปฏิรูปฯด้านเศรษฐกิจทุกมิติ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 5.คณะปฏิรูปฯด้านความมั่นคงและการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดระเบียบสังคม การรักษาผลประโยชน์และการปรองดอง พล.อ. ประวิตร 6.คณะปฏิรูปฯเรื่องสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย 7.คณะปฏิรูปฯเรื่องวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ 8.คณะปฏิรูปฯเกี่ยวกับวาระแห่งชาติและการแก้ปัญหาสำคัญ เช่น ยาเสพติด การบินพลเรือน และประมงผิดกฎหมาย พล.อ. ประวิตร เป็นหัวหน้ากลุ่ม ทั้ง 8 กลุ่มต้องประสานงานกับสปท. เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อต่อยอดให้การดำเนินงานตรงกัน เนื่องจากก่อนหน้านั้นอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

ฮึ่มย้ายขรก.เกียร์ว่าง

    พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการจัดระเบียบสังคม ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะมีเสียงร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากทั้งทางโทรศัพท์และเขียนหนังสือถึงนายกฯว่าเจ้าหน้าที่ระดับ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ชี้แจงไม่ชัดเจน เช่น ระบุว่าคสช.สั่งให้ทำตามนั้น เมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้งมาค่อยว่ากันจึงเป็นการโยนภาระให้กลับมาที่คสช.และปัญหาจะไม่จบ

   "นายกฯสั่งการทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปกวดขันเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติว่า อย่าขี้เกียจที่จะทำความเข้าใจด้วยเหตุผลว่าปัญหาคืออะไร ทำไมต้องแก้ปัญหาอย่างนั้น และแก้ไขแล้วจะดีขึ้นอย่างไร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร บอกถึงหน่วยงานประชาสัมพันธ์ระดับพื้นที่ให้หมั่นชี้แจงประชาชนด้วยไม่อย่างนั้นปัญหาจะไม่จบ โดยเฉพาะข้าราชการที่เกียร์ว่าง นายกฯระบุว่าระวังจะต้องไปก่อนคสช." พล.ต.สรรเสริญกล่าว

บิ๊กตู่ไม่เอาเลือกตั้งผู้ว่าฯ

    รายงานข่าวจากทำเนียบเผยว่า การประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนไม่กังวลเรื่องการกระจายอำนาจ แต่ขณะนี้มีการเสนอขึ้นมาใน กรธ.ให้กระจายอำนาจเพิ่มไปอีก โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง "ขอฝากไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่าอย่าให้ออกมา เพราะผมจะไม่ให้ออก แค่วันนี้มันยังแย่อยู่เลย ทั้งผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง ตำรวจท้องถิ่น ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปมันจะกลายเป็นรัฐอิสระ วันนี้หากต้องการกระจายอำนาจต้องทบทวนทั้งหมด ซึ่งมี 200 กว่ากิจกรรมว่า จะทำอย่างไรให้ไม่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการลงทุนอีก เพราะงบประมาณของท้องถิ่น 4 พันกว่าล้านบาทยัง ไม่พอเพียง ท้องถิ่นบางแห่งไม่มีประสิทธิภาพ ขอฝากให้สปท.และกรธ. ไปทำต่อ"

ตั้ง"โกวิท"นั่งเลขาฯสปส.

     พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมครม.มีมติรับทราบการแต่งตั้งผู้ประสานงานครม.และรัฐสภา (ปคร.) ของกระทรวงกลาโหม ที่เสนอขอเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติหน้าที่ ปคร. ของ กห. จาก พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ซึ่งเกษียณวันที่ 30 ก.ย. เป็น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกลาโหม

    อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจฯ เป็น เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

    อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้ง นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผวจ.กาญจนบุรี เป็นที่ปรึกษาด้านการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวง

    อนุมัติตามที่สำนักนายกฯ เสนอแต่งตั้ง ผู้บริหาร 3 ราย ดังนี้ นางอัจจิมา จันทร์ สุวานิชย์ ผู้ช่วยปลัดสำนักงานปลัดสำนัก นายกฯ (สปน.) พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ช่วยปลัดสปน. และนายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ

   มีมติแต่งตั้ง นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็น รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

แต่งตั้งโยกย้ายทูต

     อนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้ง ดังนี้ นายนภดล เทพพิทักษ์ รองปลัด เป็น เอกอัครราชทูต สถานเอกอัคร ราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิป ไตยประชาชนลาว และนายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นรองปลัด

   นายไกรรวี ศิริกุล เอกอัครราชทูต กรุงตริโปลี รัฐลิเบีย เป็น เอกอัครราชทูต กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ กงสุลใหญ่ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็น อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นางนันทนา ศิวะเกื้อ อัครราชทูต กรุงออตตาวา แคนาดา เป็น เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และน.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อัครราชทูต คณะ ผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เป็น เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

"ปิยะ อุทาโย"บอร์ดการเคหะ

   อนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 3 ราย ดังนี้ 1.นายปภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็น ผู้ตรวจราชการ 2.นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง 3.นายณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง นอกจากนี้อนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย และน.ส.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ เป็นกรรมการการเคหะแห่งชาติ

    เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.) เสนอแต่งตั้ง นายสุนทร คุณชัยมัง ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสลน. , นางสุปราณี จันทรัตนวงศ์ นายเพิ่มศักดิ์ บ้านใหม่ และนายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายอานุภาพ จามิกรณ์ เป็นที่ปรึกษารมว.คลัง

เพื่อไทยจี้ลูกสาวมีชัยลาออก

    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคำสั่ง คสช.ที่ 15/2558 แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในคสช.ว่า พรรคเพื่อไทยรู้สึกกังวลใจตั้งแต่มีข่าวจัดซื้อรถเบนซ์ 78 ล้านบาท ไว้รับรองผู้นำต่างประเทศ ในบรรยากาศแบบนี้มีความจำเป็นแค่ไหน จะไปรับใคร มีใครมาเยือนมากขนาดนั้น แล้วก็มีคำถามถึงการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามารับตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานในคสช. เช่น กรณีนางมยุระ ช่วงโชติ รองเลขาธิการนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งสื่อระบุเป็นลูกสาวของนายมีชัย จึงอยากถามว่าเหมาะสม สง่างามหรือไม่ ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามารับตำแหน่ง

    นายอนุสรณ์ กล่าวว่าในอดีต สนช. สปช.ที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อสังคมมีข้อกังขา เกิดวิกฤตศรัทธาก็ต้อง ลาออก กรณีนี้หากเป็นลูกสาวของนายมีชัยจริงจะต้องลาออกหรือไม่ คสช.และนายมีชัยต้องมีคำตอบให้สังคม พรรคเพื่อไทยไม่อยากให้การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายมีชัยเสียหาย นายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ถ้าไม่เข้าใจหลักการแห่งผลประโยชน์ขัดกัน สังคมก็กังวลว่าเรื่องอื่นๆ จะเข้าใจหรือมีทัศนคติอย่างไร ขอแนะนำว่าแทนที่จะไปวุ่นวายตั้งเครือญาติควรตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาภัยแล้งที่วิกฤตหนักในรอบ 50 ปี จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากกว่า

สงสัย"วิษณุ"ตั้งธงจำนำข้าว

      นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ข้องใจที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรมว.พาณิชย์ ไปให้ปากคำคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว เพราะสอบเสร็จแล้ว ว่านายนิวัฒน์ธำรงไปเพราะคณะกรรมการสอบสวนนัดไปให้ข้อมูล การที่ นายวิษณุพูดแบบนี้ ขอถามว่ามีธงไว้แล้วใช่ หรือไม่ คณะกรรมการสอบสวนตั้งไว้แค่เป็นพิธีกรรมเท่านั้นแล้วจะเป็นธรรมได้อย่างไร

    นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนที่นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะประมูลข้าวในสต๊อกในเดือนพ.ย.นี้ โดยจะขายข้าวเสียข้าวเสื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมนั้น ทางราชการได้แยกข้าวเสียข้าวเสื่อมออกจากข้าวดีหรือไม่ เก็บแยกโกดังไว้หรือไม่ เราขอดูได้หรือไม่ หรือหากแยกข้าวไม่เสร็จ อธิบดีตอบได้หรือไม่ว่าเสร็จเมื่อไร หากไม่แยกข้าวจะมีข้าวดีปนไป แบบนี้มีความผิดหรือไม่ ใครรับผิดชอบ นางดวงพรบอกว่ากลัวผู้ซื้อเอาไปเวียนขายเพื่อบริโภค แปลว่าข้าวไม่เสียแล้วทำไมขายข้าวให้เฉพาะนิติบุคคลภาคอุตสาห กรรมเท่านั้น น่าจะประมูลขายทั่วไป เป็นการส่งเสริมการแข่งขันจะได้ราคาดีกว่า และ ไม่ต้องกังวลเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพเพราะมีสัญญากับผู้เก็บรักษาข้าวและสัญญาประกันภัย ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครง การช่วยเหลือชาวนา มิใช่ทำเพื่อกำไรขาดทุน

อุบลฯตำน้ำแจ่วบองรับบิ๊กตู่

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่จ.อุบล ราชธานีของพล.อ.ประยุทธ์วันที่ 12 พ.ย.นั้น นายกฯ จะตรวจโครงการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่หมู่บ้านยางกระเดา หมู่ที่ 10 ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง และฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่บริเวณที่สาธารณะร่องผักบ่อ ใช้เป็นพื้นที่รองรับประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียง 2,000 คน ที่จะมาต้อนรับและฟังการปราศรัยจากพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ ชาวบ้านหนองยาง หมู่ 8 ต.ท่าเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านผลิต น้ำพริกแจ่วบองพื้นบ้านอีสานที่ขึ้นชื่อของจังหวัด รวมตัวกันทำน้ำพริกน้ำหนัก 5 กิโลกรัมใช้เป็นของฝากนายกฯ และคณะที่เดินทางมา

     จากนั้นนายกฯจะไปร่วมประชุมกรอ.กลุ่ม 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบล ราชธานี ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งจะมีการเสนอแผนพัฒนากลุ่ม 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชนในพื้นที่ คือการผลิตข้าวหอมมะลิ การท่องเที่ยวและการค้าชายแดน เพราะแต่ละจังหวัดเป็นประตูทางการค้ากับลาวและกัมพูชา

ชูตั้งอีสานล่าง 2-เขตศก.พิเศษ

    นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.อุบลราชธานีกล่าวว่า หลังประชุมร่วมกรรมการบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และกรอ.กลุ่มจังหวัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบร่วมกันที่จะเสนอนายกฯและคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์แปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น และขอให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในอนาคต เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้และดึงดูดการลงทุน ทั้งจากผู้ลงทุนรายเดิมและรายใหม่ รวมทั้งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ของกลุ่ม 4 จังหวัดอีสานตอนล่างนี้ด้วย

ปชป.โวยกีดกันปชช.พบนายกฯ

    นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตส.ส.อุบลราชธานี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯจะลงตรวจราชการที่จ.อุบลฯ ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ว่า ชาวอุบลฯดีใจที่นายกฯจะมาเยี่ยมและดูแลแก้ปัญหาให้ แต่น่าเสียดายว่าทางจ.อุบลฯพยายามกีดกันไม่ให้ประชาชนมาพบและร้องเรียนปัญหากับ นายกฯโดยตรง และเปลี่ยนกำหนดการของ นายกฯกะทันหัน ไม่เดินทางไปอ.นาเยีย ที่ประชาชน ส.จ. ส.อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เตรียมร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯเดินทางตามกำหนดการเดิม จะได้แก้ปัญหาและเห็นปัญหาด้วยตนเอง

   นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ประชาชนมีร้องเรียนหลายเรื่อง อาทิ โรงงานผลิตเอทานอลปล่อยน้ำเสียและปิดกั้นบุกรุกทางสาธารณะ แหล่งน้ำสาธารณะที่อ.นาเยีย โรงงานโม่หินที่อ.น้ำยืน รุกที่ป่าสงวนและส.ป.ก. มีฝุ่นละอองทำให้ประชาชนและนักเรียนเดือดร้อน และการก่อสร้างถนนสี่เลน อุบลฯ-อำนาจเจริญ งบฯ 930 ล้านบาทซึ่งก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และขั้นตอนการทำงานผิดพลาด โดยกรมทางหลวงร่วมมือกับผู้รับเหมาทำให้ประชา ชนเดือดร้อนและเกิดอุบัติเหตุบ่อย หาก นายกฯได้รับรู้และแก้ปัญหาจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

"ตือ"แถลงปิดสำนวนต่อสนช.

     ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงหลังการประชุมว่า การประชุมสนช.วันที่ 12 พ.ย. มีวาระการแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งนายสมศักดิ์จะมาแถลงปิดสำนวนต่อที่ประชุมสนช.เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากฝ่ายป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหาแจ้งต่อประธานสนช.ว่าจะแถลงปิดสำนวนด้วยเอกสาร จากนั้นจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย. เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนต่อไป โดยจะใช้เสียงสมาชิกเกิน 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เป็นคะแนนชี้ขาด

กรธ.แจงข้อดีบัตรใบเดียว

   เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงความคืบหน้าการประชุมว่า คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหารที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน ให้ข้อมูลข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับการใช้บัตรเลือกตั้ง อนุฯเสนอว่าการใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ แม้จะให้สิทธิกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีข้อสังเกตว่าจะทำให้พรรคขาดความเข้มแข็ง เนื่องจากพรรคจะไม่ผูกพันกับผู้สมัครแบบแบ่งเขต เช่น ผู้สมัครแบบแบ่งเขตได้คะแนนเป็นที่ 1 คือ 50,000-60,000 คะแนน แต่คะแนนพรรคในเขตนี้ได้เพียง 10,000 คะแนน ทำให้เห็นว่าคะแนน 2 ส่วนนี้ ไม่สัมพันธ์กัน

     นายอมร กล่าวว่า ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ อนุฯชี้แจงว่าจะช่วยส่งเสริมให้พรรคเข้มแข็ง เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องพิจารณาคุณสมบัติหรือจุดเด่นของตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตและพรรคไปพร้อมกัน ขณะที่พรรคจะต้องสรรหาผู้สมัครแบบแบ่งเขตให้ตรงกับความต้องการของคนเลือกตั้ง ต้องเด่นทั้งคนและดีทั้งพรรค จะทำให้บัตรเสียลดลง เพราะที่ผ่านมาที่ใช้บัตร 2 ใบจะมีบัตรเสียแบบแบ่งเขต 2 ล้านใบ และแบบบัญชีรายชื่อ 1.7 ล้านใบ และยังลดกรรมการประจำหน่วยลงได้จากเดิม 9 คน เหลือ 7 คน เพราะไม่ต้องนับคะแนนจากบัตร 2 ใบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายหน่วยเลือกตั้งทั้ง 1 แสนแห่ง ลงกว่า 200 ล้านบาท ลดค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 66 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นอีก รวมแล้วกว่า 676 ล้านบาท และโพลแต่ละสำนักชี้ว่าบัตรใบเดียวสะดวกแก่ประชาชนมากกว่า

เปิดช่องนายกฯคนนอก

    นายอมร กล่าวว่า นายอภิชาตยังเสนอความคืบหน้าการศึกษาประเด็นที่มานายกฯและครม. เบื้องต้นที่ประชุมเห็นควรให้มีนายกฯในระบบรัฐสภา โดยนายกฯต้องมาจากการลงมติของส.ส.เท่านั้น และอาจเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ ส่วนวิธีการเลือกหรือมติจะมีหลักอย่างไรนั้นที่ประชุมมอบให้อนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหารไปศึกษามาอีกครั้ง ส่วนการประชุมกรธ.วันที่ 11 พ.ย. เวลา 13.30 น. จะมีวาระพิจารณารายงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยเปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ด้วย

   เมื่อถามว่า กรธ.ให้เหตุผลการเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกหรือไม่ นายอมรกล่าวว่ากรธ.เห็นว่าเราไม่อาจเดาได้ว่าจะมีวิกฤตทางการเมือง เหมือนสถานการณ์ก่อนเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ จึงจำเป็นต้องเปิดช่องไว้ เพราะที่ผ่านมาปิดช่องไว้จนไปต่อไม่ได้ อีกทั้งครั้งนี้เราอาจไม่มีบทบัญญัติมาตรา 7 อีกแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการนำมาใช้เรียกร้องนายกฯพระราชทานอีก ส่วนรายละเอียด จำนวนเสียงในการลงมติเลือกนายกฯ ที่อาจเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.นั้น กรธ.ยังไม่ได้ลงรายละเอียด

     นายอมรกล่าวว่าการลงมติเลือกนายกฯนั้น มีสมาชิกกรธ.บางคนมองว่าควรใช้มติจากสมาชิกรัฐสภา คือทั้งส.ส.และส.ว.เลือก นายกฯ แต่เบื้องต้นที่ประชุมมองว่าต้องเป็นมติส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

ให้สภาผู้แทนฯโหวต

     นายอุดม รัฐอมฤต กรธ.กล่าวว่า การประชุมกรธ.วันที่ 11 พ.ย.จะพิจารณาเรื่องโครง สร้างของฝ่ายบริหาร เบื้องต้นจะพิจารณาเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯก่อน จากนั้นถึงจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และข้าราชการ ซึ่งที่มาของนายกฯนั้น ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้องผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นหลักการและธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานาน แต่บุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ จำเป็นต้องเป็นส.ส.หรือไม่ เป็นประเด็นที่กรธ.ต้องพิจารณากันอีกครั้ง

    นายอุดม กล่าวว่าเวลานี้มีข้อเสนอถึงกรณีนายกฯไม่เป็นส.ส. จะมีทางเลือกได้แก่ 1.ให้พรรคการเมืองประกาศตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งว่าหากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจะให้ใครมาเป็นนายกฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาว่าอยากได้ใครมาเป็นนายกฯและเกิดการยอมรับ 2.ให้สภาลงมติเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเป็น หรือไม่ได้เป็นส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างไรก็ตาม การประชุมกรธ.อาจมีข้อเสนอและแนวทางพิจารณามากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรธ.ทั้งหมด ส่วนตัวคิดว่าแม้นายกฯจะไม่ได้เป็นส.ส. ก็ไม่จำเป็นต้องให้สภาลงมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งแบบพิเศษที่มากกว่าการลงมติเลือกนายกฯที่มาจากส.ส.

อ้างหลักการเดียวกับต่างชาติ

    เมื่อถามว่า การบัญญัติเป็นหลักการว่า นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ได้ อาจถูกมองว่าเพื่อสืบทอดอำนาจ นายอุดมกล่าวว่า ยอมรับว่าในยุคหนึ่งมีการไม่ไว้วางใจว่าถ้าไม่ให้นายกฯเป็นส.ส.อาจสืบทอดอำนาจ ในทางกลับกันมีคำถามว่าหากบุคคลนั้นไม่ได้เป็นส.ส. แต่ถ้าเป็นคนที่ประชาชนให้การยอมรับจะถือว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อถามว่าจะนำปัญหาการไม่มีนายกฯที่มีอำนาจเต็มก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557 มาพิจารณาหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพิจารณาในรายละเอียด แต่เห็นว่าควรกำหนดระยะเวลาและขอบเขตอำนาจของการทำหน้าที่รักษาการของนายกฯเอาไว้ เพื่อไม่ให้สภาพที่ประเทศต้องมีนายกฯอยู่นั่งในตำแหน่งรักษาการแบบไม่มีกำหนด

    เมื่อถามว่า กรธ.จะพิจารณาคุณสมบัติของนายกฯและรัฐมนตรีไปพร้อมกันหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่าคุณสมบัติของนายกฯและรัฐมนตรี จะยืนในหลักการเดิมที่รัฐธรรมนูญในอดีตได้กำหนดไว้ แต่อาจพิจารณาว่าเมื่อส.ส.ได้เป็นรัฐมนตรีแล้วควรลาออกจากส.ส.หรือไม่

  นายเธียรชัย ณ นคร อนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหารกล่าวว่า ที่มาของ นายกฯ ต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา ถือเป็นหลักการสำคัญที่สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกัน ตนเห็นว่าที่มาของนายกฯ จากรูปแบบของต่างประเทศ คือนายกฯต้องมาจากการเห็นชอบตามเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือในสภา โดยไม่กำหนดคุณสมบัตินายกฯ ว่าต้อง เป็นส.ส.หรือไม่ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลเมื่อ ไม่เขียนคุณสมบัตินายกฯต้องเป็นส.ส.ไว้ อาจเกิดนายกฯคนนอกที่ทุกคนมองภาพว่าเป็นฝ่ายทหารเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 แต่ในข้อเท็จจริงจะพบว่าหลังจากนั้นประเทศไทยก็มีนายกฯที่ไม่ได้เป็นส.ส. และมีสถานะเป็นพลเรือนที่ประชาชนยอมรับ ดังนั้นประเด็นดังกล่าวนักการเมือง สื่อ และพรรคต้องทำความเข้าใจใหม่เพื่อให้มองหลักการสำคัญที่ตรงกัน

สปท.ตั้งประธานกมธ.11 คณะ

    เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดย มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้งประธานและกรรมาธิการ (กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ และกมธ.วิสามัญประจำสภา มีประธานกมธ.แต่ละคณะดังนี้ 1.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการเมือง นายเสรี สุวรรณภานนท์ 2.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ 3.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายวิรัช ชินวินิจกุล 4.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการปกครองท้องถิ่น นางนินนาท ชลิตานนท์ 5.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการศึกษา นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร

     6.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านเศรษฐกิจ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ 7.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ 8.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ 9.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านสื่อสารมวลชน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร 10.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านสังคม นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ และ 11.กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา กมธ.ขับเคลื่อนฯทั้ง 11 คณะจะประชุมนัดแรกวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.00 น.

    จากนั้นที่ประชุมให้ความเห็นชอบ กมธ.วิสามัญประจำสปท.(วิปสปท.) 21 คน โดยมีประธานสปท. เป็นประธานวิปสปท.โดยตำแหน่ง มีประธานกมธ.ขับเคลื่อนฯ ทุกคณะร่วมเป็นกรรมการ

เสนอโทษหนักคนโกงเลือกตั้ง

    เวลา 10.15 น. ที่ประชุมสปท. มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 เป็นประธาน มีวาระอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อแนวทางการทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอกรธ. นายวันชัย สอนศิริ เสนอให้กรธ. กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส. คนเคยทุจริต ศาลตัดสินว่าคอร์รัปชั่น เคยถูกสภาถอดถอน ข้าราชการที่ถูกปลดออก ไล่ออก หรือศาลตัดสินว่ากระทำผิด

    นายวันชัย กล่าวว่า ให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกกำหนดให้ชัดเจน ว่าประเด็นหาเสียงที่ทำได้และทำไม่ได้ งดหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการที่นำเงินไปแจกประชาชนหัวละ 2,000 บาท ส่วนผู้ทุจริตเลือกตั้งต้องถูกลงโทษที่รุนแรงจำคุกตั้งแต่ 20 ปีถึงตลอดชีวิต และการตรวจสอบต้องรวดเร็วภายใน 1 ปี ผู้ซื้อสิทธิขายเสียงหรือเกี่ยวกับการทุจริตต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ต้องห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ ของผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องถูกลงโทษด้วยการยุบพรรค

รบ.ใหม่มีวาระแค่ 2 ปี

    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท.เสนอว่า การเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศควรเขียนในบทเฉพาะกาล เช่น การบริหารของรัฐบาลช่วงแรกๆ ที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลเลือกตั้งว่าสุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ แก้ปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่ รวมถึงการประเมินว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในกรอบบริหารได้อย่างมีประสิทธิ ภาพหรือไม่

     "ผมเชื่อว่าหากใช้การเลือกตั้ง 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี จะลดการซื้อเสียงได้ รวมถึงที่มาของนายกฯ ในบทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้" นายเสรีกล่าว

    นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท.อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีกลไกพิเศษที่เดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างต่อเนื่องคู่ขนานกับการบริหารของรัฐบาลตามปกติ ไม่ใช่ครอบงำหรือสืบทอดอำนาจ และเนื้อหาปฏิรูปประเทศต้องบัญญัติกรอบไว้ในรัฐ ธรรมนูญเพื่อไม่ให้สูญเปล่า

เสธ.อู้ชงโทษแบนตลอดชีวิต

   พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปท. เสนอ 5 ประเด็นคือ 1.การบัญญัติเรื่องหลักนิติธรรม ขยายหลักนิติธรรมให้กว้างขวางขึ้น 2.การปฏิรูป เมื่อมีสภาใหม่การปฏิรูปประเทศต้องต่อเนื่อง ให้ตั้งองค์กรใหม่เพื่อดูแลการปฏิรูป และให้อำนาจองค์กรนั้นตามความเหมาะสม 3.ให้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลถึงการทำหน้าที่ของสปท. ต้องมีอายุอยู่ถึงการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกในอีก 18-19 เดือน 4.มีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไปสมัครเข้าสรรหาในองค์กรอื่นอีก 5.ป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดและประพฤติมิชอบเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ให้กรธ.กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เคยถูกไล่ออก ปลดออกเพราะต้อง คำพิพากษาว่าทุจริตในวงราชการ เคยต้อง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลว่าร่ำรวยผิดปกติ ทำการเลือกตั้งไม่สุจริต และกำหนดการลงโทษการตัดสิทธิทางการเมืองจากเดิม 5 ปี เป็นตลอดชีวิต

กปปส.ขอบัญชีรายชื่อแค่ 50 คน

    เวลา 12.45 น. นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสปท. ตัวแทนจากกลุ่มกปปส. อภิปรายถึงการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมว่า ไม่ขัดข้องกับการลงคะแนนบัตรเดียวแล้วนำไปคิดหาส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ไม่เห็นด้วยกับระบบส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะนายทุนคนมีเงินไปลงส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดแล้วก็เป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศ คนเหล่านี้จ่ายเงินให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนส.ส.เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน อยากต่อรองกรธ.ว่าควรมีส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อเพียง 50 คนก็พอ

ชทพ.ชี้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค

     นายนิกร จำนง สมาชิกสปท. ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ขอพูดในนามพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าการกำกับนโยบายพรรค คือสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะพรรคคือสถาบันที่จะเป็นตัวกลางส่งผ่านความต้องการของประชาชนกับรัฐบาล การชูนโยบายจะเป็นตัวช่วยลดการซื้อเสียง ไม่ขัดข้องหากจะมีการตรวจสอบว่านโยบายเหล่านั้นเป็นประชานิยมหรือไม่ กรธ.จึง ไม่อาจกำหนดมาตรการควบคุมพรรคต่อการเสนอนโยบายได้ เพราะเท่ากับสกัดพัฒนาการทางประชาธิปไตย และขอย้ำว่าส.ส.จำเป็นต้องสังกัดพรรค ไม่ควรมีกลุ่มการเมืองแบบร่างฉบับที่แล้วอีก

ค้านคุมนโยบายหาเสียง

   จากนั้นที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เน้นให้ข้อเสนอแนะต่อประเด็นการเมือง โดยนายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. อดีตแกนนำคนเสื้อแดง อภิปรายว่ามีรายละเอียดข้อห้ามมากไป โดยเฉพาะการควบคุมนโยบาย ต่อไปก็คงเขียนว่าห้ามจำนำข้าว ห้ามส่งเสริมรถคันแรก แล้วมันจะทำให้หาความศักดิ์สิทธิ์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้

     ต่อมานายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม ชี้แจงว่า การอภิปรายวันนี้เป็นแค่ความเห็นของสมาชิกสปท.แต่ละคน ไม่ได้เป็นมติที่ประชุม จากนี้จะสรุปความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งต่อกรธ. ส่วนวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.45 น. จะมีการบรรยายการทำงานของสปท.ต่อคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ ขอให้กมธ.ทุกคณะส่งการบ้านการปฏิรูปรอบแรกภายใน 30 วัน ก่อนจะสั่งปิดการประชุมเวลา 16.25 น. รวมเวลาสปท.ถกข้อเสนอให้กรธ.กว่า 7 ชั่วโมง

'บิ๊กตู่'ปัดล้มคดี'ฟิลลิปมอร์ริส'

    วันที่ 10 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคดีของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ว่า เรื่องนี้เป็น 1 ใน 12 คดี ที่รัฐบาลเป็นทั้งโจทก์และจำเลย ค้างคามาหลายปีแล้ว อยู่ในระยะเวลาที่ต้องฟ้องแต่ถ้าฟ้องแล้วมี 2 อย่างคือฟ้องแล้วชนะหรือฟ้องแล้วแพ้ เพราะมีกระบวนการดำเนินการ คดีนี้ผ่านคณะอนุญาโตตุลาการมาก่อนแล้วต้องไปดูทั้งหมด ที่มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้ดูแลเพราะมีเรื่องของอนุญาโตตุลาการ มีเรื่องการตัดสินจากที่โน้นที่นี่ต้องเข้าไปดูแลไม่ใช่เข้าไปล้มคดี เป่าคดี เป็นคนละเรื่อง เพราะถ้าไม่ดูให้รอบคอบรัฐบาลจะเสีย ถ้าถูกฟ้องกลับมาจะโดนเยอะ จึงต้องให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเข้าไปดูให้รอบคอบ

     เมื่อถามว่า ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทร้องขอมาเพื่อให้ทบทวนอีกครั้งใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ แต่ถ้าเขาร้องขอมาก็ขอได้กรณีเดียวคือ ทำให้ได้ข้อยุติให้ได้โดยเร็ว จะตัดสินหรือทำอะไร ขอให้ทำเพราะมันค้างมาเกือบ 10 ปีแล้ว

    เมื่อถามว่า อัยการต้องส่งฟ้องวันที่ 25 พ.ย.นี้ ทุกอย่างยังเดินตามขั้นตอน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าต้องฟ้องก็ต้องฟ้อง แต่ยังไม่มีการรายงานให้ตนทราบ จะฟ้องกันอย่างไรตนยังไม่รู้ มีทั้งฟ้องบริษัท ฟ้องรายบุคคล ตนไว้ใจฝ่ายกฎหมายเพราะเขาทำอย่างจริงจัง ลงรายละเอียด ให้นายวิษณุไปทำให้ได้ ทำอย่างไรจะลดปัญหาลง ปัญหามาจากกฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายไปแก้กันมาให้ได้ อย่าไปโทษนายวิษณุ ว่าทำไมสมัยก่อนถึงไม่ทำเพราะไม่มีใครไปตามจี้แบบนี้ เขาก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

     เมื่อถามว่ามีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 เร่งรัดคดีไม่ให้ยืดเยื้อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้ คดีนี้เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศจะใช้มาตรา 44 คงไม่ได้ ตนจะไปสั่งให้ทุกประเทศในโลกทำตามไม่ได้ เขาไม่ได้มีมาตรา 44 เหมือนเรา ประเด็นสำคัญคือต้องดูว่าเราจะเสียหายอะไรหรือไม่ ต้องดูให้รอบคอบทุกประเด็น หลายอย่างต้องพูดคุยกันบ้างและหาคำตอบให้ได้ แต่ไม่ใช่ผิดแล้วเราไปช่วยให้ไม่ผิด ถ้าผิดก็คือผิด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!