WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1หยดตดตาม

คนนอกนั่งนายกได้ ให้พรรค เปิดชื่อก่อนเลือกตั้ง ปูยื่นจม.ฉบับที่ 2 แนะถกกฤษฎีกา อายุความคดีข้าว ย้าย'วรรณพงษ์'ยธ.โต้ปม 99 ศพ

      สั่งย้าย"พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์"มือทำสำนวนคดี 99 ศพพ้นรองอธิบดีดีเอสไอให้ไปเป็นรองผอ.สถาบันนิติ วิทยาศาสตร์ปลัดกระทรวงยุติธรรมอ้างไม่เกี่ยวกับคดีชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 ด้านกรธ.เคาะแล้ว 3 ที่มานายกฯ เปิดช่องให้คนนอกไม่เป็นส.ส.ก็ได้ โดยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อขึ้นมาแบบเดียวกับอิสราเอล "มีชัย"เด้งรับเป็นข้อเสนอที่รอมชอมที่สุดแล้ว เชื่อไม่วิกฤตบานไปซ้ำรอยแบบเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพื่อไทย-ปชป.รุมจวกเปิดช่องสืบทอดอำนาจชัด "ยิ่งลักษณ์"ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง "บิ๊กตู่"ฉบับที่ 2 จี้ยกเลิกมาตรา 44 คดีข้าว-เลี่ยงคำสั่งทางปกครอง พร้อมแนะใช้ช่องทางศาลชี้ขาดคดี หารือกฤษฎีกากรณีอายุความ


วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9115 ข่าวสดรายวัน

หยุดติดตาม - ขบวนการประชาธิปไตยใหม่แถลงเรียกร้องไปยัง คสช. และรัฐบาล ขอให้หยุดเรียกบุคคลไปเข้าพบ หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตัวประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.

'ปู'จ.ม.เปิดผนึกอีก-ติงคดีจำนำ
     วันที่ 11 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยโพสต์ข้อความใน เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตามที่นายกฯลงนามใน คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ลงวันที่ 3 เม.ย. 2558 เนื่องจาก ป.ป.ช.ส่งความเห็นให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการให้ตนหรือผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานว่ามีการกระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และต้องรับผิดในผลละเมิดดังกล่าวหรือไม่ เป็นเงินเท่าใด ให้เสร็จภายใน 120 วัน ขยายเวลาได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน 30 วันนั้น
      น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า คดีนี้มีความสำคัญเพราะตนในฐานะอดีตนายกฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหาในโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มีพยานบุคคลและพยานเอกสาร วัตถุพยานได้แก่ข้าวจำนวนหลายล้านตันที่เก็บรักษาในโกดังอยู่ทั่วราชอาณาจักร ระยะเวลาที่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพียง 120 วัน แม้จะต่ออายุได้ครั้งละ 30 วันก็ยังไม่เพียงพอจะทำให้การตรวจสอบมีความรอบคอบและเป็นธรรมกับตน ความเร่งรีบดังกล่าว เชื่อว่าน่าจะมาจากนายกฯได้รับรายงานข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน 2 เรื่องคือ อายุความที่จะดำเนินคดีในทางแพ่ง ที่เข้าใจว่ามีอายุความ 1 ปี หากจะฟ้องร้องทางแพ่ง หรือ 2 ปี หากใช้วิธีเรียกให้รับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และเรื่องนี้ดำเนินการได้ทางเดียวคือ ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ตนรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดฯ จึงขอชี้แจง ดังนี้

ระบุชัดคดีนี้ยังไม่เริ่มมีอายุความ
     1.กรณีอายุความทางแพ่ง ไม่ว่ากรณีความผิดทางละเมิด 1 ปี หรือ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ต้องถามว่าเริ่มต้นนับอายุความเมื่อใด โดยหลักจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดและรู้ถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ จนกว่าจะมีข้อยุติจากหน่วยงานรับผิดชอบใน 2 ประการดังกล่าว หมายความว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อยุติและมีความถูกต้อง เป็นธรรม ตราบใดที่ยังไม่เสร็จก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ
     ในคดีนี้ อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องตนในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 อายุความที่จะเรียกร้องให้ตนรับผิดในทางแพ่ง จึงถือตามอายุความทางอาญาที่ยาวกว่า ตามมาตรา 448 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่า ให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ" จึงไม่ได้มีอายุความเพียง 1 หรือ 2 ปี ตามที่นายกฯได้รับรายงานจนต้องเร่งรัดดังกล่าว (กรณีฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อายุความคือ 15 ปี)

แนะให้ตรวจสอบประเด็นกฎหมาย
    2.เท่าที่ติดตามความเห็นในทางกฎหมาย การเรียกร้องให้ตนรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง อาจดำเนินการได้ 2 วิธีคือ
   (1) โดยการฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องให้รับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวแล้ว หรือ (2) ใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้ชดใช้ตามมาตรา 8 และ 10 แห่งพ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดฯ ซึ่งตนมีข้อสังเกตว่า กรณีนายกฯดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่น่าจะอยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ เข้าใจว่ารัฐมีสิทธิจะเลือกดำเนินการในทางใดทางหนึ่งได้ ไม่ใช่บทบังคับให้หน่วยงานรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ตนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 ระหว่างเทศบาลนครพิษณุโลก โจทก์ น.ส.สุภาวดี พิบูลสมบัติ จำเลย
    3.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตนและให้เจ้าหน้าที่มีเวลาอย่างเพียงพอตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเรียกร้องในมูลละเมิดทางแพ่ง ตนขอเสนอให้นายกฯตรวจสอบข้อกฎหมายทั้ง 2 ประเด็น จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล หากเป็นไปตามที่ตนนำเรียนคือ มิได้มีปัญหาในประเด็น อายุความและสามารถฟ้องเป็นคดีแพ่งก็ได้ เจ้าหน้าที่จะมีเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน รับฟังพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอ ไม่ต้องเร่งรีบรวบรัดจนเสียความเป็นธรรมเพราะตนไม่มีโอกาสต่อสู้คดีเต็มที่

เรียกร้องให้ดำเนินการทางศาลดีกว่า
    4.นอกจากเจ้าหน้าที่จะมีเวลาดำเนินการอย่างเพียงพอ เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมแล้ว หากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องให้ตนชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนในมูลละเมิดต่อศาลแพ่ง จะทำให้ความกังวลของเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบและดำเนินคดีทางแพ่งหมดไป หมดความจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 ที่มีปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติ ส่วนข้ออ้างเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนั้น หากตนเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่รัฐบาลต้องใช้ดำเนินคดีอยู่แล้ว
   น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า สิ่งที่เรียกร้องมาตลอดคือความเป็นธรรม ด้วยการให้ศาลที่เป็นคนกลางเป็นผู้พิสูจน์ความเสียหาย จะสง่างามและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่า เนื่อง จากฝ่ายบริหารเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับตน แต่กลับมาออกคำสั่งทางปกครองแทนศาลเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงไม่เป็นธรรม
   "5.ยืนยันว่าดิฉันเป็นผู้บริสุทธิ์และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่กระบวนการที่เร่งรีบคือการไม่เปิดโอกาสให้ดิฉันได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งขัดกับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องต่อนายกฯอีกครั้งในวันนี้ จึงเป็นเพียงการขอโอกาสให้ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่ามิได้ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย เนื่องจากยังมีเวลาเพียงพอที่จะทำให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับดิฉันได้" น.ส. ยิ่งลักษณ์ ระบุ

ยื่นบิ๊กตู่-เชื่อให้ความเป็นธรรม
     เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งที่ 2 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯทบทวนการสอบสวน เนื่องจากมีความเห็นต่างในเรื่องอายุความ และโดยเฉพาะประเด็นการรับผิดทางเเพ่ง ซึ่งเห็นว่าการสอบสวนควรใช้มาตรการทางศาลเเพ่งมากกว่ากระบวน การทางการปกครอง โดยอาจให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้
    นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องอายุความ เห็นว่าควรยึดตามหลักอายุความของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการอ้างหลักอายุ 1 ปีหรือ 2 ปีโดยอ้างความผิดทางละเมิดนั้น ไม่ถูกต้องเพราะก่อให้เกิดการกดดันเจ้าหน้าที่สอบสวน ต้องทำงานโดยถูกเร่งรัดจากกรอบเวลา และการที่รัฐบาลเร่งรีบกระบวนการทางแพ่ง เป็นการไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้เต็มที่ ขัดกับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
    นายนรวิชญ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของการสืบพยานนั้น ล่าสุดมีการเพิ่มพยานไปอีก 11 ปาก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งจากกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่เอกชนส่วนหนึ่ง เพื่อให้พิจารณาผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้โดยตรง ดีกว่าการส่งข้อเท็จจริงทางเอกสาร หวังว่านายกฯน่าจะให้ความเป็นธรรมและ ขอให้นายกฯทำตามหลักการที่พูดว่าอย่าไปกล่าวหาบุคคลใดก่อน หากผู้ที่ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ถูกวินิจฉัย หรือตัดสินจากกระบวน การยุติธรรม

วิษณุสวน-อายุความไม่ต่างกัน
     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้พิจารณาเรื่องอายุความคดีจำนำข้าวและ วิธีการเอาผิดทางแพ่ง ให้ดำเนินการโดยกระบวนการของศาลว่า การมายื่นเรื่องร้องเรียนโดยเข้าตามตรอกออกทางประตูถือว่าถูกต้องแล้ว ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่รับมาพิจารณา ส่วนที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีความเห็นเรื่องอายุความแย้งกับรัฐบาล ว่าหากฟ้องแพ่งฐานละเมิดมีอายุความก้ำกึ่งว่า 1 ปีหรือยาวเกิน 1 ปี หากออกคำสั่งทางปกครองมีอายุความ 2 ปี แต่ตามพ.ร.บ.ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มีอายุความ 15 ปีนั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่
    รองนายกฯกล่าวว่า อดีตนายกฯเข้าใจถูกว่าเรื่องนี้เลือกดำเนินการได้ 2 ทางคือ ฟ้องเป็นคดีแพ่งฐานละเมิด กับการออกคำสั่งทางปกครอง ใช้มาแล้ว 3 พันคดี มีอายุความ 2 ปี ทั้งคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีรถดับเพลิง เมื่อเลือกใช้การออกคำสั่งทางปกครอง กฎหมายระบุไว้ชัดว่ามีอายุความ 2 ปี จึงไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องอายุความ
     "กฎหมายเขียนไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด มาตรา 449 ว่าอายุความฟ้องคดีละเมิด 1 ปี เว้นแต่เป็นคดีที่มีมูลความผิดในทางอาญา ให้อายุความฟ้องค่าเสียหายนั้นยาวไปเท่ากับอายุความในทางอาญา อดีตนายกฯไปจับจุดว่าอายุความคือ 15 ปี แล้วอายุความละเมิดในความผิดทางแพ่งจะต้อง 15 ปีด้วย ทั้งนี้ เมื่อรัฐเลือกตัดสินใจว่าจะใช้วิธีที่สอง แล้วจะสนใจเรื่องอายุความทำไม ไม่ได้เห็นต่างกัน" นายวิษณุกล่าว


จ.ม.ปู - นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความยื่นจดหมายเปิดผนึกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกร้องให้ทบทวนการฟ้องทางแพ่ง และออกคำสั่งทางการปกครองให้ชดใช้ในคดีจำนำข้าว ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.

อ้างสงบปาก-ไม่พูดเรื่องตัวเลข
     รองนายกฯ กล่าวว่า ที่ถามว่าทำไมรัฐไม่เลือกใช้วิธีที่หนึ่ง ต้องถามกลับว่าทำไมจึงต้องเลือกใช้วิธีที่หนึ่ง ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลพิจารณาแล้วว่า ต้องเลือกใช้วิธีที่เป็นประโยชน์ ต่อประชาชนที่สุด ไม่ใช่ประโยชน์ต่อจำเลยหรือโจทก์ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความรับผิดทาง ละเมิดฯ เป็นกฎหมายที่ช่วยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากเกิดความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เจ้าตัวต้องรับผิดชอบ กรณีนี้ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่ผ่านมามีหลายเรื่องอดีตรัฐมนตรีโดนเรียกค่าเสียหาย และจ่ายมาแล้วด้วย หากรัฐแพ้ผู้ถูกร้องก็ไม่ต้องจ่าย ส่วนที่เรื่องนี้ไม่ฟ้องร้องถึงครม.นั้น เพราะเรื่องนี้ไม่เคยเข้าครม.
    นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนสงบปากสงบคำไม่เคยพูดเรื่องค่าเสียหาย แต่สื่อพูดและถามนำมาตลอด ตนยังไม่ขอพูด เพราะยังไม่ถึงเวลา ย้ำว่าการคิดคำนวณค่าเสียหายมีวิธีคิดอยู่แล้ว ท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับศาลว่าจะเห็นอย่างไร อาจให้คิดคำนวณโดยสูตรอื่นก็ได้ แต่เบื้องต้นค่าเสียหายในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะออกมาประมาณเดือนก.พ. 2559 ส่วนกระทรวงการคลังจะออกมาหลังจากนั้นภายในอายุความ 2 ปี และในสำนวนนี้ไม่มีเรื่องข้าวเน่า และไม่ได้เรียกให้ใครรับผิดเรื่องข้าวเน่า เพราะเป็นคนละเรื่องกัน โดยเรื่องนี้ยังมีตัวผู้รับผิดอยู่

เผยยิ่งลักษณ์ส่งเอกสารแจงแทน
    ส่วนที่นายนรวิชญ์ระบุมีการสอบพยานเพิ่ม 11 ปาก โดยส่งคำชี้แจงเป็นเอกสาร นายวิษณุกล่าวว่าเป็นเรื่องของผู้ถูกกล่าวหา การอ้างพยานเพิ่มก็เรียกมาสอบจนเกือบครบ ที่ผ่านมาก็มีตัวบุคคลมาให้ข้อมูลจำนวนมากที่ได้ประโยชน์ ส่วนอดีตนายกฯระบุขอส่งเป็นเอกสารโดยไม่มาด้วยตนเอง
   ต่อข้อถามว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่าการดำเนินการคดีเป็นเรื่องการเมือง โดยยืนยันว่าการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวทำตามขั้นตอน นายวิษณุกล่าวว่าหากเป็นอย่างนั้น ต้องกลับไปที่การพิจารณาของป.ป.ช. และข้อมูลที่ป.ป.ช. ส่งมา รัฐบาลไม่มีทางเลือกใด เพราะตามกฎหมายให้ยึดตามสำนวนของป.ป.ช. ที่ผ่าน มาป.ป.ช.พิจารณาเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว รัฐบาล ทำมาเพียงเดือนสองเดือน ไม่สามารถรู้ดีกว่าป.ป.ช.ได้ และใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำอย่างนี้

พท.อัดวิษณุตอบ-กำปั้นทุบดิน
    ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการที่นายวิษณุให้เหตุผลว่าที่จำเป็นต้องใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เพราะป.ป.ช.ส่งเรื่องมาทางรัฐบาล ตนเห็นว่าเป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน ไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญไม่ปกป้องหัวหน้ารัฐบาลของตนเอง เพราะป.ป.ช.ชุด ดังกล่าว มีข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่ รัฐบาลสามารถตอบประชาชนได้ว่าในการเรียกค่าเสียหายจะเลือกใช้วิธีทางกระบวนการยุติธรรมปกติทางศาลแพ่ง ซึ่งมิได้ทำให้รัฐเสียหาย ไม่ขาดอายุความ ทั้งยังให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นคดีความอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
   นายชวลิต กล่าวว่า ตนเห็นใจนายกฯ มีงานมากหลายด้านที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ มีความถนัดด้านความมั่นคง ด้านการป้องกันประเทศ ส่วนงานด้านกฎหมาย คงปรึกษาฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล แต่เมื่อมีข้อท้วงติงและหากเห็นว่ามีเหตุผล เพื่อความรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาจให้ทีมกฎหมายส่วนตัว หรือนักกฎหมายในกองทัพศึกษาข้อท้วงติงอย่างถ่องแท้ อาจได้แนวทางที่เหมาะสมเพื่อทบทวนให้อยู่ในแนวทางกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้อย่างดี

กรธ.เคาะแล้ว-เปิด 3 ที่มานายกฯ
     เมื่อเวลา 13.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาบทบัญญัติ รูปแบบโครงสร้างในระดับการเมือง นายกฯ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหาร ที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน นำเสนอ โดยอนุฯชี้แจงว่า ประเทศไทยเหมาะสมกับระบบที่มีประมุขของประเทศเป็นมหากษัตริย์ โดยมีนายกฯมาจากสภา ซึ่งมีทางเลือก 3 ทางคือ 1.นายกฯมาจากส.ส. 2.นายกฯมาจากส.ส. หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรม นูญ และ 3.นายกฯมาจากการเสนอรายชื่อ นายกฯของพรรคการเมือง ทั้งนี้ ทางเลือกที่ 3 เป็นสิ่งที่อนุฯลองคิดขึ้นมา คล้ายกับที่อิสราเอล เคยใช้ในทศวรรษที่ 90
     ขั้นตอนการนำเสนอรายชื่อผู้เป็นนายกฯนั้น พรรคอาจจะเสนอมากกว่า 1 ชื่อก็ได้ โดยพรรคจะต้องเอารายชื่อนายกฯ ที่นำเสนอมา ไปแจ้งต่อกกต. จะทำให้ประชาชนได้รู้ก่อนเลือกตั้ง ว่าพรรคที่ตนจะเลือกได้เสนอชื่อใครเป็นนายกฯบ้าง ประชาชนจะได้ไม่แปลกใจ เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสภาลงมติเลือกนายกฯตามที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ เช่น หากมี 2 พรรค ร่วมจัดตั้งรัฐบาล การเลือกนายกฯ ก็จะนำรายชื่อนายกฯที่เสนอไว้มารวมกันแล้วเลือก หากทั้ง 2 พรรคเสนอรายชื่อไว้พรรคละ 5 คน ตอนสภาลงมติเลือกนายกฯ ก็ต้องเลือกเอาจาก 10 คนนั้น

มีชัยขานรับ-รอมชอมที่สุดแล้ว
     ขณะที่นายมีชัยกล่าวว่า เราวนเวียนกับปัญหาเรื่องนายกฯ ต้องเป็นส.ส.หรือไม่มานานแล้ว เนื่องจากปัญหาการเมืองในอดีต ทำให้เราไม่ไว้วางใจกัน แต่ในเมื่อเรากำหนดให้ส.ส.เป็นคนเลือกนายกฯแล้ว ทำไมต้องกำหนดอีกว่าจะต้องเลือกจากไหน แต่หากจะเขียนว่านายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ ก็จะทำให้คนที่หวาดระแวงอยู่ ยิ่งรู้สึกไม่สนิทใจ ส่วนการจะให้เลือกนายกฯโดยตรงก็เป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วิธีที่อนุฯเสนอถือว่าผสมผสานและรอมชอมที่สุดแล้ว ทำให้พรรคต้องไปวางแผน ว่าจะเอาใครมานำเสนอให้ประชาชนเห็น ว่าเมื่อพรรคได้รับเลือกให้จัดตั้งรัฐบาลแล้วจะนำใครมาเป็นนายกฯ
   "ข้อดีของแนวคิดนี้ คือ 1.จะทำให้คะแนนของประชาชนมีความหมายมากด้วยบัตรใบเดียว เพราะเท่ากับเลือกทั้งส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฯ ทำให้ประชาธิปไตยเราเดินหน้าไปอีกขั้น 2.ตัวนายกฯจะเปรียบเสมือนได้รับการเห็นชอบจากประชาชนโดยอ้อมแล้ว เพราะรายชื่อนายกฯที่พรรคแจ้งไว้ต่อกกต. จะถูกประกาศให้ทราบ 3.หากให้เสนอชื่อนายกฯ ได้มากกว่าหนึ่งชื่อ จะยิ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีตัวเลือกนายกฯมากขึ้น 4.ไม่เปิดโอกาสให้พรรคเลือกใครมาเป็น นายกฯ ได้ตามอำเภอใจ โดยที่ประชาชนไม่รู้เห็นมาก่อน"ประธานกรธ.กล่าว

ไม่เป็นไร-หลายพรรคเสนอซ้ำกัน
    ประธานกรธ.กล่าวว่า ขณะที่ข้อสังเกตว่า หากแต่ละพรรคเสนอชื่อคนเป็นนายกฯซ้ำกัน ตนมองว่าไม่น่าเป็นไร เพราะคนที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับสูงอยู่แล้ว หรืออาจจะแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคที่จะเสนอรายชื่อนายกฯซ้ำกับพรรคอื่น จะต้องมีคะแนนเสียงได้รับเลือกขั้นต่ำจำนวนหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งพรรคนอมินี หรือจับมือกันระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ส่วนคำถามว่า คนที่อยู่ในรายชื่อที่เสนอให้เป็นนายกฯ ต้องลงสมัคร ส.ส.เขต หรือส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ ตนมองว่าไม่จำเป็นต้องบังคับ
    หลังการอภิปราย นายมีชัยเปิดให้สื่อมวลชนซักถาม เริ่มจากประเด็นการป้องกันการเสนอชื่อนายกฯซ้ำกันของแต่ละพรรค เพื่อไม่ให้เอื้อต่อการจัดตั้งพรรคนอมินี หรือการฮั้วกันของพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ตอนเลือกนายกฯ นายมีชัยกล่าวว่าการเสนอรายชื่อนายกฯของแต่ละพรรค ต้องเป็นไปตามมติของพรรค คนที่ถูกเสนอชื่อก็ต้องยินยอม หากจะมีพรรคอื่นเสนอชื่อเดียวกัน ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น แล้วเป็นสิ่งที่พรรคใหญ่ที่เสนอรายชื่อก่อน จะต้องหารือกับอีกพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้เอาชื่อบุคคลเดียวกันไปใช้โฆษณาหาเสียงแข่งกัน ซึ่งพรรคที่เสนอจะยอมให้ทำอย่างนั้นหรือไม่ เพราะอาจแย่งคะแนนกัน พรรคต้องระวังกันเอง หรือหากยอมให้เสนอชื่อคนเดียวกันก็อาจถูกมองว่าฮั้วกันได้

ป้องกันไอ้โม่งไอ้มืดโผล่มาทีหลัง
    นายมีชัย กล่าวว่า กรณีรัฐบาลผสมส.ส. จะต้องมาตกลงกันว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่รายชื่อนายกฯของแต่ละพรรคที่ร่วมตั้งรัฐบาลเสนอไว้ แต่จะต้องมีการกำหนดว่า พรรคร่วมรัฐบาลต้องมี ผู้แทนขั้นต่ำกี่คน จึงจะให้นำรายชื่อนายกฯที่เสนอไว้มาให้ส.ส.เลือกได้ ซึ่งเชื่อว่าตัวนายกฯ ที่จะถูกเลือกจะมาจากพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด ดังนั้น การเลือกนายกฯ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของพรรค เป็นเรื่องของส.ส. 500 คน ส่วนที่กังวลว่าหากพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางที่มีแนวโน้มชนะเลือกตั้งเสนอรายชื่อนายกฯเป็นคนเดียวกัน ก็เป็นเรื่องน่ารับฟัง เราอาจต้องกลับมาคิดว่า จะกำหนดเป็นข้อห้ามไว้หรือไม่
   "ผมขอถามว่า ถ้าไม่ใช้ระบบนี้แล้วมีการฮั้วกันหรือไม่ แต่ถ้าใช้แบบนี้ก็ไม่แน่ว่าจะฮั้วกันได้ เพราะก่อนเลือกตั้งจะมีการชิงไหวชิงพริบ คงไม่มีพรรคไหนยอมกันง่ายๆ ระบบเลือกตั้งที่ผ่านมาเราไม่มีทางรู้เลยว่าตกลงจะเอาใครเป็นนายกฯ แต่วิธีนี้จะทำให้เรารู้ก่อนว่าใครจะเป็น เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก แต่ตั้งจะให้คนเห็นก่อนเลือกตั้งว่า ใครจะมีโอกาสเป็นนายกฯบ้าง จะได้ไม่มีการงุบงิบ เอาไอ้โม่ง หรือม้ามืดโผล่มาทีหลัง" นายมีชัยกล่าว
    เมื่อถามว่า นายกฯรูปแบบนี้เปิดช่องให้รัฐบาลทหารมีโอกาสสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าไม่ ถ้าเจ้าตัวเขาไม่เอา แต่ถ้าเจ้าตัวเอาด้วย เขาต้องเปิดเผยออกมาให้เห็นตั้งแต่ประกาศรายชื่อนายกฯของแต่ละพรรค แล้วถ้าผลออกมาเขาชนะถล่มทลายก็คงทำอะไรเขาไม่ได้ หรือตนถามว่า หากผู้มีอำนาจอยู่ในตอนนี้เขาไปตั้งพรรคขึ้นมาตอนนี้เลย จะทำอะไรได้

เชื่อไม่ซ้ำรอยเกิดพฤษภาทมิฬ
     เมื่อถามว่าหากมีนายกฯคนนอก แล้วทำให้เกิดวิกฤตแบบพฤษภาฯปี 2535 นายมีชัยกล่าวว่าไม่ คราวนั้นประชาชนไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ แต่คราวนี้ประชาชนจะรู้ก่อนว่าใครจะมาเป็น และต้องอย่าคิดล่วงหน้าว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้ง จะส่งรายชื่อนายกฯ โดยไม่ส่งลงสมัครส.ส.ด้วย
    เมื่อถามว่า ต้องกลั่นกรองคุณสมบัติรายชื่อนายกฯหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่ากกต.จะเป็นผู้กลั่นกรองก่อนการเลือกตั้ง เบื้องต้นเห็นว่าจะต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าตำแหน่งทางการเมืองทั่วไป ส่วนตอนส.ส.ลงมติเลือกก็คาดว่าจะใช้เสียงข้างมากเหมือนที่ผ่านมา แล้วสภาต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกเป็น นายกฯอีกครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่ข้อสรุปของกรธ. เป็นเพียงแต่แนวโน้มที่เห็นคล้อยไปทางรูปแบบนี้

วิษณุแจงแทนตัดสิทธิ์ทั้งครอบครัว
     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. เสนอให้ กรธ. กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 4 ข้อ รวมทั้งตัดสิทธิคนทุจริต และครอบครัวคนทุจริตลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ไม่ขอวิจารณ์ ตนพบกับนายมีชัยได้ถามและทราบคำตอบว่าในข้อเท็จจริงยังไม่มีอะไรมากกว่านั้น มีเพียงข่าวออกมาแล้ววิจารณ์ หากตนที่อยู่ในซีกรัฐบาลไปหยิบมาวิจารณ์ต่อ เท่ากับขยายสิ่งที่เขาโยนหินถามทางให้คนอื่นซึ่งยังไม่ได้ข้อตกลง แต่ตนกระโดดไปรับหินเขามา จะเป็นการหาเรื่องเปล่าๆ ดังนั้น หากยังไม่ตกผลึกเรียบร้อย อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ เว้นแต่เป็นเรื่องที่วิจารณ์กันกว้างขวางก็ต้องพูดบ้าง ประเด็นของนายวันชัย ที่บางเรื่อง เป็นของคนอื่น บางเรื่องนายวันชัยเสนอ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ตกผลึก
     ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดดังกล่าวเกรง จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ และคนที่ไม่รู้เรื่องจะคิดว่าเป็นเรื่องจริง ในการประชุมครม. หลายเรื่องเราคุยกันว่าการชี้แจงแถลงต้องทำความเข้าใจ ยกตัวอย่างเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน ซื้อขายและจำนอง จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ปรากฏว่าไม่มีการอธิบายรายละเอียดว่า ต้องจัดทำประกาศต่างๆ ซึ่งมีเวลาดำเนินการ แต่วันรุ่งขึ้นคนไปจดทะเบียบแต่ยังเป็น ค่าธรรมเนียมเดิม จนเกิดเสียงวิจารณ์
     "ต้องเข้าใจว่า บางเรื่องมีอะไรต้องทำต่อ หากไปทึกทักก่อนจะเป็นปัญหา และรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ไม่ควรไปทึกทักขยายผลตั้งแต่ต้น ใครรู้เรื่องอยากพูดก็พูดไป แต่ใครที่ไม่รู้เรื่องอย่าพูด ทุกอย่างประชาชนเข้าใจว่าอะไรที่พูดมานั้นคือจบแล้วเสร็จแล้วทั้งนั้น ซึ่งไม่จริง" รองนายกฯ กล่าว

เด้งรับ-ปมเปิดช่องนายกฯคนนอก
     เมื่อถามถึงข้อสังเกตเรื่องนายกฯคนนอก รองนายกฯ กล่าวว่า ทราบว่านายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงให้ทราบว่ามอบให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ กรธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร ไปศึกษาและเสนอความคืบหน้าในประเด็นที่มาของนายกฯ กลับมาว่า 1.ให้มีนายกฯในระบบรัฐสภา 2.ให้สภาเป็นผู้เลือก 3.คนที่จะเป็นนายกฯ ต้องเป็นส.ส.หรือไม่เป็นก็ได้ และ 4.ต้องได้รับการยอมรับจากสภา ซึ่งข้อนี้สำคัญที่สุด ยังไม่มีการขยายความว่าจะทำอย่างไรต่อ
    นายวิษณุ กล่าวว่า ใน 3 ข้อแรกไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา ฉะนั้น ที่แตกต่างต้องอยู่ไฮไลต์ที่ยังไม่ได้พูด แต่การไปเอาสิ่งที่เคยพูดมาแล้วมาพูดต่อ จึงไม่มีอะไรแตกต่าง ถ้าบอกว่ามี นายกฯในระบอบรัฐสภา เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว เพราะไทยใช้ระบบรัฐสภา แปลว่าไม่มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง เพราะนายกฯต้องมาจากความเห็นชอบของสภาเสมอ หากเลือกโดยตรงจะไม่ใช่ระบบรัฐสภา การเข้าคูหาเพื่อเลือกนายกฯ ไม่มีอยู่ในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ซึ่งส่งสัญญาณให้ทราบว่าไม่มีการเลือกนายกฯโดยตรง ส่วนที่ให้สภาเป็นคนเลือกนายกฯ แปลว่าจะให้ใครมาเลือกให้ไม่ได้ ทั้งนี้นายกฯจะเป็นคนในหรือคนนอกก็ได้ แต่ต้องได้รับการยอมรับ ไม่ใช่มาจากไหนแล้วให้สภาโหวตก็ได้ ซึ่งข้อนี้แสดงว่ายังมีอะไรที่ กรธ.อุบไว้ ซึ่งตนไม่ทราบ
    เมื่อถามถึงข้อเสนอให้กำหนดในรัฐธรรม นูญว่าต่อไปต้องไม่มีคำว่าประชานิยม นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าประชานิยมแปลว่าอะไร ถ้าแปลอย่างที่เราเข้าใจนั้นไม่มีปัญหา และควรเรียกอย่างอื่นอย่าเรียกประชานิยม เพราะคำดังกล่าวเสียภาพลักษณ์ไปแล้ว และประชานิยมที่ไม่พึงปรารถนา หมายถึงการนำงบประมาณไปใช้หาเสียง เอาเงินในอนาคตซึ่งควรเป็นของคนอื่นมาใช้ประโยชน์หาเสียงและเห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์เพื่อการหาเสียงจนเสียวินัยทางการคลัง ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็ไม่แปลก

พท.ยืนยันไม่เอานายกฯคนนอก
     ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดที่จะเปิดช่องทางให้นายกฯมาจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นส.ส.ได้ และกรณีกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อเลือกส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง และให้ส.ส.กับพรรค การเมืองมีความแนบแน่นกันมากขึ้นนั้น เห็นว่าในประเด็นการกำหนดให้นายกฯไม่ต้องมาจากส.ส.นั้นเป็นแนวคิดเพื่อให้สอดรับกับการกำหนดระบบเลือกตั้ง ที่จะส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค เพราะเมื่อไม่มีพรรค การเมืองใดมีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นช่องทางที่จะบีบให้พรรค การเมืองต้องเลือกบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาเป็นนายกฯ
      นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าเรื่องดังกล่าวขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากผู้ที่เป็น นายกฯ ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ควรมีความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การให้บุคคลภายนอกเป็น นายกฯได้ นอกจากจะไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนแล้ว จะเป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย

หมอเหวงซัดมีชัยตามบวรศักดิ์
    นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงข้อเสนอการให้มีนายกฯคนนอกว่า นายกฯคนนอกทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 มาแล้ว ซึ่งกรธ.ก็แบไต๋แล้วว่าต้องการให้มีนายกฯคนนอก เมื่อปี 2534 นายมีชัยมีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯคนนอกภายหลังเลือกตั้ง พรรคสามัคคีธรรมได้เสียงข้างมาก นายณรงค์ วงศ์วรรณ จ่อจะเป็นนายกฯ ให้บังเอิญมีเหตุที่อเมริกาไม่ออกวีซ่าให้ จึงต้องหันไปหาพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยืนยันซ้ำซากว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ แต่ที่สุดก็ต้องประกาศวาทะอันลือลั่นว่ายอมเสียสัตย์เพื่อชาติแล้ว จบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 35
    นพ.เหวง กล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้ยังคงประทับแน่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและความทรงจำของคนไทยอย่างไม่มีวันลืม จึงเป็นหลักไมล์สำคัญของการเมืองไทยว่านายกฯต้องมาจากส.ส.เท่านั้น ไม่เช่นนั้นความไม่พอใจทางการเมืองเช่นเดิมนี้จะหวนกลับมาอย่างแน่นอน ในวันนี้กรธ.ชุดนายมีชัยยังคงเดินตามรอยเท้าของรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เริ่มด้วยระบบจัดสรรปันส่วนแบบผสม นายกฯคนนอก และคงหนีไม่พ้นที่จะมีคปป. จึงเพิ่มน้ำหนักให้เชื่อได้ว่ามีฉบับพิมพ์เขียวไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งชุดนั้นชุดนี้มาจัดร่าง เป็นการเล่นละครจัดฉากให้ดูดีเท่านั้น

ปชป.ฉะเปิดทางสืบทอดอำนาจ
    แกนนำนปช.กล่าวด้วยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญของนายมีชัยเข้าสู่ขั้นตอนประชามติก็จะไม่ได้รับการรับรองจากประชาชน จากนั้นคสช.อาจใช้มาตรา 44 ดำเนินการให้ได้ รัฐธรรมนูญก็หนีไม่พ้นสืบทอดอำนาจของพวกอนุรักษนิยมให้ยืดยาวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
    "คำถาม ก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่ หากประชาชนไม่ยินยอมจะเผชิญหน้าทางการเมืองจนนำไปสู่การแตกหักหรือไม่ หรือพฤษภาทมิฬรอบใหม่กำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอย" นพ.เหวงกล่าว
     นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกปปส.กล่าวถึงกรณีนายมีชัยระบุแนวคิดที่นายกฯไม่จำเป็นต้องมีที่มาจากส.ส.จะทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวไปอีกขั้นว่า การเปิดทางสืบทอดอำนาจมีมาตั้งแต่สมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ไม่ให้ผู้จะมาเป็นนายกฯแสดงวิสัยทัศน์ต่อการรณรงค์หาเสียง แบบนี้เรียกไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล อำนาจกับเขา ใครจะไปทำอะไรได้ ต่อให้ 10 นายถาวร 10 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 10 นายจาตุรนต์ ฉายแสง เขาก็ ไม่ฟัง ปล่อยเขาไปเถิด
     ส่วนกรณีกรธ.มีแนวคิดให้ทุกพรรคต้องเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯก่อนเลือกตั้งนั้น นายถาวรกล่าวว่าพอรับได้ จะได้ไม่รู้สึกทุเรศกับวิธีการเอาใครก็ได้ เอาคนเล่นการเมือง 49 วันมาเป็นนายกฯ แต่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นอย่างที่นายมีชัยว่าหรือไม่ ไม่รู้ อย่างน้อยที่สุดทำให้เรารู้ว่าใครจะมาเป็น นายกฯคิดอย่างไร แนวคิดนี้พอรับได้ แต่ในหลักการแล้วควรให้นายกฯมาจากส.ส.

พิเชษฐ อัดพวกสอพลออำนาจ
     ด้านนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่อยากยุ่ง เพราะทุกอย่างเข้ามาแบบผิดระบบ รู้อยู่แล้วสุดท้ายหน้าตาจะออกมาแบบไหน คงไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญปกติ พอมีรัฐประหารก็พวกคนหน้าเดิมเข้ามารับใช้ทุกครั้ง บอกของเดิมมันไม่ดี ถามว่าของเดิมใครเป็นคนร่าง ที่ผ่านมามีใครเคยออกมารับผิดชอบหรือไม่ หลังมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญถูกฉีก ตนไม่สนใจ โยนใส่ชักโครกกดทิ้งไปนานแล้ว รู้อยู่แล้วสุดท้ายหน้าตาจะออกมาแบบไหน
     นายพิเชษฐ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2534-40 หรือ 50 ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ แต่นำรัฐธรรมนูญมาอ้าง เพื่อรัฐประหาร ให้รัฏฐาธิปัตย์ไปนิรโทษกรรมตัวเอง กรณีครั้งที่ออกมาต้านนิรโทษกรรมสุดซอยว่าเลวทรามที่สุด แต่นั่นทำกระบวนการกันในสภา แต่วันนี้จะเขียนกฎหมายอย่างไรก็ได้ เพื่อใครก็ได้ นิรโทษกรรมตัวเองได้ แล้วมันต่างอะไรกับกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย เป็นระบอบประชาธิปไตยในแบบที่รับไม่ได้ ตนจึงวางมือทางการเมือง ซึ่งสังคมตอนนี้มีพวกสอพลออำนาจอยู่มาก

เด้ง'วรรณพงษ์'-โต้ไม่เกี่ยว 99 ศพ
    ที่กระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ในวันนี้ตนได้ลงนามคำสั่งโยกย้ายพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหตุผลเป็นเรื่องความเหมาะสมในการทำงาน เพราะเชื่อว่าพ.ต.ท. วรรณพงษ์มีความสามารถด้านการบริหารงาน เนื่องจากต้องประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จึงเชื่อว่าพ.ต.ท.วรรณพงษ์จะทำงานนี้ได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การโยกย้ายครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่พ.ต.ท. วรรณพงษ์ได้ทำคดีการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 แต่อย่างใด
     นางสุวณา กล่าวต่อว่า ส่วนตำแหน่งรองอธิบดีดีเอสไอที่ยังว่างอยู่ 2 ตำแหน่งนั้น จะเปิดรับสมัคร โดยจะไม่มีการย้ายรองอธิบดีจากที่อื่น ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งรองอธิบดีว่างอีก 2 ตำแหน่งคือ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และรองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครพิจารณา

ประธานสปท.ชี้แจงทูต 74 ปท.
    เมื่อเวลา 10.00 น. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เชิญคณะทูตานุทูต 74 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กรเข้ารับฟังการชี้แจงการทำงานของ สปท. โดยร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.ชี้แจง
    ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวต่อว่า สปท.จะจัดทำแนวทางการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกส่วนราชการนำไปใช้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ การตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่กระทำการทุจริตได้เข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง การป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของ ผู้บริหาร การปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันการสร้างค่านิยมทางการเมืองที่ผิดๆ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว สุดท้ายคือการดูแลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้เหมาะสม แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์นี้อย่างเคร่งครัด
    ทั้งนี้ วันที่ 14 พ.ย.นี้ สปท.จะบรรยายสรุปให้กับเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ให้สปท.ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความตั้งใจขับเคลื่อนประเทศ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ การทุจริต เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปี

เผยทูตตปท.สนใจการมีส่วนร่วม
    จากนั้นเวลา 11.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และนายวุวัฒน์ จิราพัตธ์ โฆษกสปท. แถลงภายหลังชี้แจงต่อคณะทูตและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 74 ประเทศ
     นายคำนูณ กล่าวว่า คณะทูตสนใจเรื่องการมีส่วนร่วม ซึ่งสปท.ตั้งศูนย์การรับฟังความคิดเห็นและช่องทางรับฟังความคิดเห็นกว่า 11 ช่องทาง รวมถึงข้อมูลจากอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 2 แสนความเห็น จาก 700 เวที ซึ่งสปท.จะพบปะประชาชนร่วมกับสนช.และครม.เดือนละ 1-2 ครั้ง เริ่มจากลงพื้นที่จ.แพร่ และน่าน ในวันที่ 14-15 พ.ย.นี้ และจ.เชียงรายในเดือนธ.ค.
     นายคำนูณ กล่าวอีกว่า คณะทูตยังสนใจเรื่องการปรองดอง ซึ่งสปท.ชี้แจงว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูป เปรียบได้กับเหรียญสองด้าน ซึ่งต้องปฏิรูปไปพร้อมกับการสร้างความปรองดอง ส่วนความปรองดองในความหมายเฉพาะอย่างการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ ได้ตั้งคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย สนช. สปท. และครม. จะต้องหารือร่วมกัน แต่ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเสนอวิธีปฏิรูปภายใน 30 วัน

ปชต.ใหม่จี้คสช.หยุดทหารคุกคาม
     ที่ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. นายรังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นายธนาพล อิ๋วสกุล นักเขียนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และนางพะเยาว์ อัคฮาด ประชาชน แถลงกรณีการเรียกบุคคลเข้าพบหรือส่งทหารไปพบบุคคลว่า ในฐานะผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัว และในฐานะประชาชนผู้ไม่เคยเห็นด้วย ทั้งรัฐประหารและการคุมประพฤติหรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ทำกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงขอเรียกร้องคสช. กองทัพ และผู้เกี่ยวข้องดังนี้
    1.หยุดเรียกบุคคลใดๆ เข้ารายงานตัวไม่ว่าสถานที่ใด หรือหยุดส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปพบบุคคลเหล่านั้นที่บ้าน บริษัทห้างร้าน หรือที่ทำงาน เว้นแต่มีหมายเรียก หรือหมายจับของศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย
    2.หยุดการสอดแนมชีวิตส่วนตัว การคุมประพฤติหรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาใดๆ กับบุคคลที่ไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว
    3.เรียกทหารกลับเข้ากรมกอง และปฏิบัติภารกิจจริงๆ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ การแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศเป็นไปตามกลไกปกติ และตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

ล่าชื่อ-ยื่นจม.เปิดผนึกประยุทธ์
    ด้านน.ส.สาวตรีกล่าวว่า การแถลงครั้งนี้ไม่ได้ต่อต้านทหารโดยตรง เราไม่สนใจว่าทหารจะมาดีหรือพูดจาสุภาพหรือไม่ แต่ประเด็นที่สนใจก็คือ ทำไมต้องส่งทหารมาหา ซึ่งในทางกฎหมาย ผู้ที่ถูกคุมความประพฤติหรือติดตามต้องได้รับการพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ส่งมาเหมือนเป็นหน้าที่ของทหารประจำวัน ขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังพล.อ.ประยุทธ์ต่อไป โดยรายชื่อจะครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบในต่างประเทศ รวมถึงบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการ กระทำของรัฐ
    วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กความว่า แม่อายุ 92 ปี โทร.มาบอกว่ามีทหาร 4 คน ขี่มอเตอร์ไซค์ 2 คันมาหน้าบ้าน แล้วมีคนหนึ่งถ่ายรูปในบ้าน แม่ถามว่ามาหาใคร ก็ไม่พูดอะไร ถ่ายแล้วไป ถามก็ไม่พูด
     อ่านแล้วโกรธมาก แวบนึงนึกอยากจะเขียนด่าอะไรแรงๆ หยาบๆ คายๆ แต่เป็นโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ แม่เองเลี้ยงผมมาชนิดที่ทำให้ผมและพี่น้องทุกคนพูดคำด่าหยาบๆ คายๆ ไม่เป็นเสียด้วย จึงขอถามคสช.อย่างสุภาพดังนี้ พวกคุณจะไปบ้านแม่ทำไมอีกไม่ทราบ? จนป่านนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่าผมอยู่ประเทศไหน อยากเจอก็ตีตั๋วเครื่องบินมา แล้วบ้านแม่น่ะ แม้แต่ตอนผมอยู่เมืองไทย ก็ไม่ได้อยู่บ้านแม่กว่า 20 ปีแล้ว

'บิ๊กตู่'มีคิวบินถกเอเปกที่มะนิลา
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงถึงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปก ครั้งที่ 23 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. วันที่ 17-22 พ.ย.นี้ว่า ในการประชุมเอเปค วันที่ 17-19 พ.ย. ถือว่าสำคัญทำให้เราเห็นทิศทางเศรษฐกิจโลก เพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ระหว่างการประชุมจะมีการหารือทวิภาคีกับผู้นำจากจีน รัสเซีย โคลัมเบีย ปาปัวนิวกินี และเขตเศรษฐกิจฮ่องกง ซึ่งในการหารือกับผู้นำรัสเซียนั้น จะเน้นการลงทุนในประเทศ รวมถึงจะเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไร และพูดคุยกรณีพล.อ. ประยุทธ์จะเดินทางเยือนรัสเซียในช่วงเดือนพ.ค. 2559 ขณะที่การพูดคุยกับจีนจะหารือร่วมในโครงสร้างพื้นฐานก่อนหน้านี้

ต่อด้วยอาเซียนซัมมิตที่มาเลย์
    พล.ต.วีรชน กล่าวถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 วันที่ 20-22 พ.ย.ว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จะรวมตัวเป็นประชาคมอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการกำหนดกติการ่วมกันโดยจะรับรองปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ที่จะเป็นคัมภีร์การอยู่ร่วมกัน ไทยจะเน้นให้เห็นว่าประเทศในอาเซียนต่างเป็นประเทศเกษตรกรรม หากเราจับมือกันแล้ว จะเพิ่มอำนาจต่อรองในการกำหนดสินค้าการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อรวมตัวกันจะมีการไหลเวียนของประชากรมากขึ้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัย ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมั่นคงด้วย โดยนายกฯ จะหารือทวิภาคีร่วมกับผู้นำจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน และประเทศไทยจะได้เสนอขายผลผลิตทางการเกษตรอาทิ ยางและข้าวด้วย

'ปึ้ง'หนุนปลดล็อกพรรคการเมือง
    ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สนับสนุนนายกฯที่จะพิจารณาให้พรรคการ เมืองเปิดประชุมและหารือได้ในเรื่องปากท้อง ผลผลิตพืชผลการเกษตร และความยากลำบากของประชาชน ชาวไร่ ชาวนา และชาวสวน ซึ่งในความเป็นผู้แทนราษฎรและพรรค เราให้ความสำคัญกับเรื่องของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ถ้านายกฯเปิดโอกาสให้เราได้ประชุมพรรคเมื่อไร นายกฯจะได้รับฟังถึงปัญหาของพี่น้องในต่างจังหวัดที่แท้จริง และรัฐบาลจะได้ลงไปแก้ปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุด
      นายสุรพงษ์กล่าวว่า นายกฯไม่ต้องมาระแวงว่าพวกเราจะประชุมและเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นที่จะสร้างปัญหาให้รัฐบาลและคสช. เพราะวันนี้พวกเรารอได้ ขอเพียงแต่นายกฯเดินหน้าตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้ในเวทีโลกให้ได้ และร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ที่นานาชาติเห็นว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีการสืบทอดอำนาจแอบแฝงอยู่ พรรคและนักการเมืองทุกคนต้องการเห็นประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้เลี้ยงชีพ บ้านเมืองและประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า วิธีทำงานของพวกเราคือลงพื้นที่เพื่อรับฟังและดูว่าประชาชนเป็นอยู่เช่นไร มีปัญหาอะไร

นิกรเผย"เติ้ง"ป่วยภูมิแพ้นอนรพ.
    นายสุรพงษ์กล่าวว่า หวังว่านายกฯจะประกาศให้พรรคเปิดประชุมได้เร็วๆ นี้ เราจะได้ช่วยรัฐบาลติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังการทุจริต การจัดซื้อ จัดจ้าง ในโครงการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น โกงกินงบ และช่วยติดตามเรื่องทุจริตที่ทีมงานปราบโกงของพรรคเพื่อไทยเคยยื่นร้องเรียนที่ป.ป.ช.ให้ดำเนินการต่อไปก่อนที่แต่ละเรื่องที่ยื่นไปจะหมดอายุความไปอย่างคดีปรส. และถ้ารัฐบาลนี้บริหารได้ดี ประชาชนมีความสุข ก็อยู่ต่อไปได้เลย ไม่ต้องห่วงพวกเรานักการเมืองและพรรค
     วันเดียวกัน นายนิกร จำนง สมาชิกสปท. และกรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเปิดเผยว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เข้ารับรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่คืนวันที่ 9 พ.ย. เนื่องจากภูมิแพ้อากาศ ทำให้มีอาการหอบ หายใจไม่ค่อยสะดวก แพทย์จึงรักษาโดยการพ่นยาเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมาก ขณะนี้อาการดีขึ้นมาก ไม่น่าห่วง คงพักฟื้นรอดูอาการ 2-3 วัน คาดว่าวันที่ 12 พ.ย.นี้คงออกจากโรงพยาบาลได้

 

นักวิชาการวิพากษ์ นายกฯคนนอก ฉบับ'กรธ.' 

  • มติชนออนไลน์ :


    สมบัติ ธำรงธัญวงศ์-ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น-กิตติศักดิ์ ปรกติ

  • หมายเหตุ - ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดจะเสนอให้ควรมีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น และนายกฯ อาจเป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้

    สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

    อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 

          โดยหลักการระบอบประชาธิปไตย ประการแรก อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน และนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางด้านการบริหาร มีอำนาจในระบบรัฐสภา เพราะว่าส.ส.จะเสนอกฎหมายใด ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับรอง ถ้านายกฯไม่ได้มาจากประชาชนคือเป็นคนนอก จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นปัญหาในด้านหลักการ

        ประการที่สอง คือ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมามีหลายครั้งที่นายกฯไม่ได้มาจาก ส.ส. หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2511 ห้ามไม่ให้ ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้กำหนดว่าฝ่ายบริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นโอกาสให้จอมพลถนอม กิตติขจร และพวกเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศจากการเลือกตั้ง นี่ก็เป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อขอรับประกาศหรือสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในสมัยนั้น 

        ต่อมา มีเหตุการณ์รุนแรงมากคือ พฤษภาทมิฬ การจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะคนนอก ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่า มีการต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ กระทั่งเกิดการปราบปรามประชาชนที่มาต่อต้าน ในที่สุดนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง 

         หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ กำหนดว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชน ถ้านับจากปี 2535 มา ก็ 20 กว่าปีแล้ว ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ต้องการคนนอกมาเป็นนายกฯ เพราะฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คนนอกเป็นนายกฯได้ ก็ไม่สอดคล้องกับหลักสากลของระบอบประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับสภาพการเมืองของไทยในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหาของการเมืองไทยต่อไป

         ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช. ไม่ประสงค์ที่จะเข้ามาสืบอำนาจ หาก คสช.ไม่ได้ประสงค์เข้ามาสืบทอดอำนาจเหมือนคณะรัฐประหารในอดีต ที่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ คสช.ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อความต้องการของประชาชน

        ถ้าวินิจฉัยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ควรที่จะต้องยืนยันหลักการของระบอบประชาธิปไตย คือนายกฯหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารจะต้องมาจากประชาชน ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยวันนี้ก็ก้าวหน้าไปมากแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ถึงกับระบุว่าอีกไม่เกิน 20 ปี ถ้าไทยบริหารประเทศพอใช้ได้ ก็จะเป็นสังคมที่ก้าวหน้า เป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว แต่เรายังมีรัฐธรรมนูญที่ด้อยพัฒนา ไม่สะท้อนหลักการของประชาธิปไตย

         เคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ถ้าจะให้มีการใช้งานที่ยาวนานต้องเขียนในตัวบทตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะมีเหตุความจำเป็นอะไรไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เฉพาะช่วง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหลายคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์สภาพสังคมไทยให้ชัดเจนว่าสังคมไทยวันนี้ ในปี 2558 กับอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยยังล้าหลังอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือเปล่า

          ที่มาของนายกฯคนนอกจะเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมหรือไม่นั้น ผมคิดว่าน่าจะสำรวจเพื่อให้เห็นชัด ว่าสังคมเห็นด้วยหรือไม่กับการให้มีนายกฯจากคนนอกได้ อย่างน้อยเป็นพื้นฐาน ถึงแม้ประชาชนบางส่วนจะเบื่อนักการเมืองอยู่บ้างก็ตาม ยิ่งนักการเมืองเข้ามาแล้วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้เกิดจากประชาธิปไตย แต่เกิดจากการที่นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 

         แต่มีบางส่วนที่เบื่อนักการเมือง แต่อยากให้มีนายกฯคนนอก แต่ก็ไปขัดกับหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

    ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น

    นักวิชาการอิสระ

         เท่าที่เห็นคือ ที่มีการพยายามตัดแนวคิดเรื่องมาตรา 7 แบบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ออกไปนั้น เป็นความพยายามที่จะทำให้สถาบันอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง เพราะปัญหาที่ผ่านมามีการเรียกร้องมาตรา 7 เป็นเรื่องของการอ้างสถาบันเพื่อหวังผลทางการเมือง ส่วนตัวจึงมองว่า เจตนารมณ์เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาคือเพื่อที่จะให้สถาบันอยู่เหนือการเมือง เพราะที่ผ่านมาก็มีกระแสเรียกร้องว่าจะไปดึงสถาบันลงมาทำไม และโรดแมปของ คสช.ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ ประชาธิปไตยก็ต้องจัดการเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนผ่านอย่างลำบาก เนื่องจากจะมีการอ้างสถาบันไปเรื่อยๆ เพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเอง

         ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่กว่าของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเสียอีก เพราะเจตนารมณ์ลึกๆ ของร่างฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ คือ ต้องการสกัดพรรคการเมืองบางพรรคเป็นสำคัญ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องนายกฯคนนอกที่เสนอและพยายามโยนหินถามทางประชาชนในสังคม และแนวคิดการนับคะแนนโหวตพรรคที่แพ้การเลือกตั้งเข้ามาช่วย 

         มองว่า เป็นการทำลายหลักการเสียงข้างมากในระยะยาวอย่างมาก มีประเทศไหนบ้างที่ใช้ระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย แล้วนำคะแนนของผู้แพ้มานับ ในแง่หลักการก็ถกเถียงกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เสียงของผู้ที่เลือกตั้งนั้นสูญหายตกหล่นไปหรือไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณ แต่อย่างที่กล่าวไปว่าฉบับของนายมีชัยเป็นการพยายามสกัดพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอย่างค่อนข้างชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้มองว่าไม่ค่อยเวิร์กสำหรับการสร้างประชาธิปไตยที่คาดหวังกัน 

         ที่นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.ระบุว่า กรธ.เห็นว่าไม่อาจเดาได้ว่าจะมีวิกฤตทางการเมืองเหมือนสถานการณ์ก่อนเกิดหน้ารัฐประหารอีกหรือไม่ จึงจำเป็นต้องเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกไว้ ส่วนตัวคิดว่าเป็นประโยคที่มองไม่เห็นความเป็นจริงของสังคมไทย คือโมเดลนายกฯคนนอกเคยใช้ได้ผลในอดีต ตอนประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เข้มแข็ง หรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ภายใต้บริบทแวดล้อมทางการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน คิดว่านายกฯคนนอกไม่ได้ผล เพราะไทยขัดแย้งทางการเมืองแบ่งเป็นสองฝ่ายชัดเจน ทุกคนเลือกข้างหมดแล้ว 

        คำว่านายกฯคนกลางที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่ายควรเป็นใคร ในเมื่อตัวแสดงทางการเมืองแทบทุกตัวในประเทศไทยตอนนี้เลือกข้างหมดแล้วอย่างชัดเจน ไม่มีใครเป็นตัวกลางได้อีกแล้ว คำว่านายกฯคนกลาง จะเป็นการสร้างปัญหาภายใต้บริบททางการเมืองปัจจุบัน เพราะจะบริหารในระยะยาวไม่ได้ 

          ฉะนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับที่นายอมรกล่าวคำว่านายกฯคนนอก หากพูดตรงๆ คือความพยายามที่จะให้ คสช. มีที่ยืนหลังตัวเองออกจากอำนาจหลังการเลือกตั้งนั่นเอง

    กิตติศักดิ์ ปรกติ

    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

         ประเด็นที่มานายกฯ หลักอยู่ที่ว่าต้องได้รับคะแนนเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นแหละ ส่วนปัญหาว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาหรือไม่นั้น เป็นประเพณีในระบอบการปกครอง โดยทั่วไปจะเลือกเอาจากหัวหน้าพรรคที่มีความนิยมสูงสุด หรือว่าในรัฐธรรมนูญหลายประเทศไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเป็น ส.ส. เป็นประเพณีปฏิบัติ เพราะเห็นว่าในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดช่องเอาไว้ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากกว่าเท่านั้นเอง รัฐธรรมนูญประเทศเยอรมนีก็ไม่ได้กำหนด

         เป็นประเพณีการปกครอง หมายความว่าเป็นปกติตามประเพณี ถ้ามีคนที่เหมาะสมเขาก็เอาคนที่เหมาะสมจากสมาชิกสภา แต่ในบางกรณีคนที่เหมาะสมอาจจะไม่ใช่สมาชิกสภาก็เป็นไปได้ 

         ปัญหาว่าการที่จะบัญญัติเอาไว้ เพียงแต่ไม่ต้องการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯได้แก่ ผู้นำทางการทหาร เท่านั้นเอง ซึ่งกรณีนี้ การที่ไปบัญญัติไว้ จริงๆ แล้วเป็นการเฉพาะของไทย แต่ไม่ใช่ว่าระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนั้นไปหมด

          การที่นายกฯไม่ได้เป็น ส.ส.ก็เป็นความยืดหยุ่น ในหลายประเทศจะเห็นได้ว่า ถ้าหากว่ามีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน หรือการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ บางทีนายกฯมาจากผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กรณีของเยอรมันจะเห็นได้ชัด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกกรณีคือรัฐมนตรีต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากในเยอรมัน ไม่เคยชนะการเลือกตั้งในเขตของตนเลย แต่ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นหัวหน้าพรรค 

         หลักที่บอกว่า เราเรียกร้องให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เกิดขึ้นในปี 2535 เพราะเห็นว่าหลังจากการยึดอำนาจในปี 2534 มีการดำเนินการให้ผู้นำทางการทหารมาเป็นนายกฯ คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งทำให้ประชาชนเรียกร้องว่าทหารไม่ควรเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เลยไปแก้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญว่า ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ในขณะนั้น 

         แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่า ถ้าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยหลักในระบอบประชาธิปไตยแล้วควรมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นการเลือกตั้งทางตรง อาจเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เช่น ตามบัญชีรายชื่อ เขาก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ห้ามไม่ให้คนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาเป็นนายกฯ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

         บางคนเป็น ส.ส.แล้วไม่เคยได้รับการเลือกตั้งเลย แต่ได้มาดำรงตำแหน่งเพราะอยู่ในบัญชีรายชื่อ ถ้าปรากฏว่าหัวหน้าพรรคไม่ได้รับการเลือกตั้ง แล้วตามสัดส่วน ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อไม่ได้มีที่นั่งในสภา หัวหน้าพรรคอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส.เลย คนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้นำทางการเมือง บางคนเขาอาจไม่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากเขตเลือกตั้งของเขา เพราะเขาไม่มีเวลาไปหาเสียง แต่เขาเป็นผู้ดำเนินนโยบายสำคัญของพรรค ก็สามารถที่จะดำรงตำแหน่งได้

        เพราะฉะนั้นในความเห็นของผม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่านายกฯจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นอยู่ที่ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะฟังเสียงกันไหม จะรับฟังเสียงประชาชนไหม ส่วนปัญหาว่า

        นายกฯจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือมาจากเลือกตั้งโดยอ้อมหรือมาจากความยินยอมพร้อมใจของ ส.ส.ได้ทั้งนั้น 

       หลักคือ ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้บังคับว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอ

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!