WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ถอดรหส

กรธ.ดิ้น-ขอทำ โพล ปมที่มา'นายก' วิษณุ แถลงวันนี แพ่งจำนำข้าว!

     'วิษณุ'นัดแถลงวันนี้ ประเด็น ให้'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว โต้ลั่นรัฐบาลยังไม่คิดแก้รธน.ชั่วคราว หากร่างไม่ผ่านประชามติ ด้านโฆษกกรธ.เมินพรรคใหญ่ขู่ คว่ำ เล็งทำโพลปมที่มานายกฯ ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ เหน็บพรรคไหนไม่ชอบชื่อ 'ประยุทธ์-ประวิตร' ก็ไม่ต้องเสนอ คนจะได้ไม่เลือก 'เสรี สุวรรณภานนท์'ชี้สูตรเปิดชื่อนายกฯ ไม่ตอบโจทย์แก้ทุจริต เพื่อไทยจวกอีก กรธ.อย่าใช้ประเทศเป็นหนูทดลอง วางกับดักยืดเวลาเลือกตั้ง จตุพรซัด 'มีชัย' เนติบริกรตัวพ่อ เตือนอย่าท้าทายความรู้สึกประชาชน'พีระศักดิ์'ดึงแม่น้ำ 4 สาย เปิดเวทีพบชาวบ้าน 4 ภาคตลอดเดือนธ.ค.นี้ 'ทักษิณ' ใส่เสื้อแดงโพสต์อยู่ฮ่องกง ครวญคิดถึงเมืองไทย วิจารณ์หึ่ง ทส.ของบครม.อังคารนี้ ขนคนไปประชุมโลกร้อนที่ฝรั่งเศส ค่าเครื่องบินไป-กลับ 20 ล้าน

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9119 ข่าวสดรายวัน

'วิษณุ'เมินถูกท้าดีเบตจำนำข้าว

         เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอให้นักวิชาการและมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการหารือเรื่องพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 สามารถบังคับใช้ในคดีโครงการรับจำนำข้าวได้หรือไม่ โดยให้เชิญคู่กรณี ระหว่างนายวิษณุกับนักกฎหมายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเสวนาว่า ทราบข่าวจากสื่อบ้างแล้ว แต่เฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร และไม่ทราบว่าควรจะมีการดีเบตกันในเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่

     เมื่อถามว่า หากได้รับคำเชิญให้ชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายผ่านสื่อพร้อมจะรับหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "เฉยๆ ก็รับทราบไว้ แต่จะยังไม่ทำอะไรต่อไป อย่าไรก็ตาม ในวันที่ 16 พ.ย. เวลา 11.00 น. ตนจะแถลงชี้แจง การดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งโครงการรับจำนำข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล

ย้ำยังไม่คิดแก้รธน.ชั่วคราว

      ผู้สื่อข่าวถามถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่หลายฝ่ายคัดค้านการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก และจะเป็นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า ทราบว่าโฆษก กรธ.ชี้แจงให้ทราบเป็นรายวันอยู่แล้ว หากจะให้ตนวิจารณ์เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นรายวันคงไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในเรื่องการทำประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติ

'สนช.-แม่น้ำ 3 สาย'รับฟังชาวน่าน

      เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดน่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมตัวแทนแม่น้ำอีก 3 สาย คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม โดยมีชาวบ้าน ส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่นร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหากว่า 2,000 คน

      นอกจากการแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรม นูญแล้ว ชาวบ้านและส่วนราชการยังสะท้อนปัญหา การบุกรุกทำลายป่า การอ้างสิทธิ์ที่ดินทำกิน การคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการค้าชายแดนบ้านห้วยโก๋น ปัญหาการขอออกเอกสารสิทธิที่ดิน ในเขตป่าสงวน ปัญหาเขาหัวโล้น และปัญหากรณีมีคำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพระราชกฤษฎีกาบางฉบับ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่เรื่องการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตป่าสงวนและที่ดินทำกิน

      นายพีระศักดิ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาคำสั่งที่ออกโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. แล้วทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ หรือมีความบกพร่อง พล.อ.ประยุทธ์รับฟังและแก้ไขให้ ปัญหาที่เสนอมาวันนี้ สนช.และรัฐบาลจะนำไปหาแนวทางแก้ไขปัญหารวมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปแก้ไขด้วย

พีระศักดิ์ เล็งแก้รธน.ปมประชามติ

     นายพีระศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและคสช. ที่จะส่งร่างแก้ไขให้ สนช.พิจารณา คาดว่าจะมีการแก้ไขเร็วๆ นี้ ซึ่งประเด็นที่จะแก้ไข คงเป็นการออกเสียงประชามติที่ต้องเขียนหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าใช้จำนวนเท่าใด จึงต้องปรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เป็นเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่ของผู้มีสิทธิ์ เพราะหากใช้การเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีโอกาสผ่านประชามติ และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชา มติ จะมีวิธีดำเนินการอย่างไรต่อไป

       "ยอมรับว่า กลัวร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ จึงจำเป็นต้องเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น ผ่านเวทีแม่น้ำ 4 สาย ตลอดเดือนธ.ค.นี้ ก่อนที่ร่างแรกจะเสร็จภายในเดือนม.ค. 2559 พร้อมกำหนดลงพื้นที่ 4 จังหวัด 4 ภาค โดยใช้รูปแบบ สนช.พบประชาชน เริ่มจากครั้งที่ 1 วันที่ 1 ธ.ค. ที่จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ ครั้งที่ 2 วันที่ 8 ธ.ค. ที่พัทยา จ.ชลบุรี ครั้งที่ 3 วันที่ 9 ธ.ค. จ.นครราชสีมา และครั้งที่ 4 วันที่ 15 ธ.ค. จ.เชียงใหม่" นายพีระศักดิ์กล่าว

กรธ.เตรียมทำโพลที่มานายกฯ

      นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ให้สัมภาษณ์หลังจากร่วมลงพื้นที่ จ.แพร่ และน่าน กับสนช.ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. มีดำริให้กรธ.ร่วมลงพื้นที่กับสนช. และสปท. เพื่อประหยัดเวลา และจะมีบางพื้นที่ที่กรธ.จะเป็นเจ้าภาพลงพื้นที่เอง อาทิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา การที่กรธ.ลงพื้นที่พบประชาชนไม่ใช่เพราะกลัวประชามติจะไม่ผ่าน แต่เป็นหลักการทำงานของกรธ.อยู่แล้วที่จะต้องรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าประชาชนแต่ละพื้นที่มีความตื่นตัวมาก สนใจในเรื่องสิทธิของตัวเอง และส่งคำถามมาให้จำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาของส.ส. ส.ว. และการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ยืนยันว่าจะนำทุกความเห็นจากการร่วมลงพื้นที่กลับไปพิจารณา จึงขอให้ประชาชนร่วมส่งความเห็นมายังกรธ.ต่อไป

     นายนรชิต กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรธ.ก็มีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง เช่น การสำรวจความคิดเห็นหรือโพล ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความร่วมมือจัดทำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทำมาแล้ว 1 ครั้ง โดยเร็วๆ นี้จะมีการถามความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่มาของนายกฯ เพราะประเด็นที่สื่อมวลชนและประชาชนสนใจ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของส.ว.ด้วย

     นายนรชิต กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.ได้แต่งตั้งโฆษกประจำกรธ.เพิ่มอีก 2 คน คือ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กับนายอุดม รัฐอมฤต เนื่องจากกรธ.มีงานมากขึ้น และขณะนี้เริ่มสู่การพิจารณาในรายเอียดสำคัญแล้ว และหากมีความจำเป็นก็อาจแต่งตั้งได้อีก

ไล่"อ๋อย"ไปอ่านคำชี้แจงของมีชัย

      นายนรชิตกล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุแนวคิดของกรธ. เรื่องการเปิดชื่อบุคคลที่จะมาเป็น นายกฯ โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการปูทางให้อำนาจนอกระบบว่า ขอให้กลับไปอ่านคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่ชี้แจงโดยละเอียด 6-7 ข้อ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่มีสาระว่า 1.กรธ.ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ แต่ที่ให้ระบุชื่อก็เพื่อบอกกล่าวให้สังคม หรือประชาชนรับทราบว่าแต่ละพรรคจะเสนอให้ใครขึ้นเป็นนายกฯ เสนอได้ไม่เกิน 5 ชื่อ 2.หากพรรคต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่เสนอชื่อคนนอก หรือผู้ที่ไม่ลงสมัครส.ส. ก็จะไม่มีคนนอกเป็นนายกฯ 3.เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเลือกบุคคลใดขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรธ. เราเพียงทำหน้าที่ตอบโจทย์ให้ประชาชนรู้ตามสิทธิว่าใครจะขึ้นเป็นนายกฯ หากพรรคนั้นชนะเลือกตั้ง ฉะนั้นหากพรรคเสนอชื่อคนที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดเป็นนายกฯ ก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ขอให้ดูให้ครบถ้วนก่อน

ซัด-ค้านแต่เรื่องที่เสียประโยชน์

      ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุในลักษณะขู่จะรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามตินั้น นายนรชิตกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ตนคงไม่ตอบโต้ แต่ถ้าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน ถามว่าเขายังคิดจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

      เมื่อถามว่าที่ระบุเช่นนี้เหมือนจะชี้ให้เห็นว่าถ้าพรรคหรือนักการเมืองได้ประโยชน์ ก็จะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายนรชิตกล่าวว่า ต้องให้สังคมคิดเอง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าพรรคหรือตัวเองได้ประโยชน์ ก็จะไม่มีใครคัดค้านในการออกกฎหมายต่างๆ ใช่หรือไม่ และ ที่ออกมาค้านนี้ อยากให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ระบบเดิมๆ หรือไม่ แต่ขอให้ดูผลสำรวจโพลต่างๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูป การวางระบบเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ส่วนคำตอบนั้นขึ้นอยู่ที่ประชาชนต้องคิดกันเองว่าจะเลือกอย่างไร

เล็งตัดอำนาจถอดถอนของสว.

     นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาเนื้อหารายมาตราว่า ตอนนี้ถึงหมวดองค์กรอิสระ เบื้องต้นอาจจะไม่มีการปรับเปลี่ยนมาก ยึดตามหลัก 3 ประการคือ 1. ให้อิสระอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง 2.ต้องทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 3.ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ป.ป.ช. อาจต้องทำงานเชื่อมกับ กกต.มากขึ้น ส่วนวาระบางองค์กรก็อาจจะปรับขึ้นเป็น 9 ปี เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่กรรมการที่จะมาทำงาน ส่วนกระบวนการถอดถอน ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ให้ส.ว.มีอำนาจนี้ แต่จะส่งให้ศาลพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมมากที่สุด พร้อมทั้งจะเปลี่ยนชื่อเรียกจากถอดถอน เป็นการพ้นจากตำแหน่งแทนเพื่อลดผล กระทบทางความรู้สึก

เมินพท.ขู่คว่ำประชามติ

      ส่วนที่พรรคเพื่อไทยขู่รณรงค์ลงประชา มติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และการกำหนดให้เสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ ไม่เกิน 5 คนก่อนเลือกตั้ง นายชาติชายกล่าวว่า แนวทางทั้งหมดที่ชี้แจงไปยังไม่ใช่ข้อสรุป อาจมีการปรับแก้ไขได้ เราเพียงแต่ถามออกไปดังๆ เท่านั้นว่าเห็นอย่างไร การวิจารณ์ของพรรคการเมือง เป็นเรื่องปกติ เมื่อมีอะไรที่ไปกระทบเขาก็จะออกมาโวย แต่อะไรที่ไม่กระทบเขาก็นิ่ง ยืนยันว่าแนวทางการให้เสนอรายชื่อนายกฯ ไม่เกิน 5 คน เป็นไปตามหลักสากล สอดคล้องกับหลักตลาดการเมือง ที่ประชาชนจะได้รู้ว่า ใครจะเป็นตัวเลือกบ้าง

      "เราเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เพื่อหวังจะใช้ให้ได้นาน ไม่ได้เขียนให้ใช้สำหรับการเลือกตั้งแค่สมัยสองสมัย ถ้าเกิดบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค มีชื่อ ประยุทธ์ ประวิตร ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องไปเลือก หรือพรรคไหนไม่ชอบก็ไม่ต้องเสนอมาตั้งแต่แรก เสียงวิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยต้องขึ้นกับประชาชน ไม่ใช่ฟังแค่พรรคเท่านั้น กรธ.จะรอฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนส่วนใหญ่ด้วย" นายชาติชาย กล่าวและว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อความชัดเจนหากประชามติไม่ผ่านนั้น เชื่อว่า คสช.คิดเตรียมไว้อยู่แล้ว แต่คงยังไม่ถึงเวลา

กรธ.ลั่นไม่กังวลเสียงวิจารณ์

     นายเธียรชัย ณ นคร กรธ.ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร กล่าวกรณีพรรควิจารณ์การออกแบบกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯว่า เมื่อมีความคิดที่แปลกใหม่ขึ้นมาแล้วเกิดเสียงวิจารณ์ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ประหลาด อย่าวิตกกังวล รอดูอีกสักระยะหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าไปกังวลกับเสียงวิจารณ์มากเกินไป จะส่งผลกระทบให้เดินหน้าทำงานไม่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่ากรธ.ทุกคนไม่ได้กังวล เพราะเป็นเพียงความเห็นที่เสนอออกมาเท่านั้น ซึ่งการที่มีเสียงวิจารณ์สะท้อนกลับมาก็เป็นเรื่องดี กรธ.จะได้รับฟังว่าแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

ชี้สูตรเปิดชื่อนายกฯไม่แก้ทุจริต

     นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กล่าวว่า ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ กมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการเมือง จะประชุมเพื่อหาแนวทางปฏิรูปพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง จะหยิบยกประเด็นที่กรธ.เสนอมา ทั้งเรื่องบัตรลงคะแนนการเลือกตั้ง ที่มานายกฯ และการให้พรรคเปิดเผยรายชื่อคนที่จะเป็นนายกฯให้ประชาชนทราบล่วงหน้า นำมาหารือในที่ประชุม เพื่อช่วยกันให้ความเห็น

      "แต่ส่วนตัวมองว่า การให้พรรคประกาศรายชื่อนายกฯล่วงหน้า คงมีผลเฉพาะกับพรรคใหญ่ 2 พรรคเท่านั้น แต่ไม่เกิดประโยชน์กับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะมีโอกาสน้อยที่จะได้รับเลือกเป็น นายกฯ สูตรดังกล่าวจึงไม่ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ กรธ.ควรมุ่งที่การแก้ปัญหาซื้อเสียงมากกว่าจะมาเน้นเรื่องดังกล่าว" นายเสรีกล่าว

วันชัยอัดนักการเมืองโวยเพื่อตัวเอง

     นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท. กล่าวถึงกรณีกรธ. กำลังพิจารณาวิธีการเลือก ส.ส. และที่มาของนายกฯ รวมถึงการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐว่า กรธ.มีเจตนาสำคัญเพื่อให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกการป้องกันและขจัดการทุจริต ประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่นักการเมืองออกมาเอะอะโวยวายโดยมองว่าวิธีที่ กรธ.เสนอนั้น จะทำให้พรรคตัวเองเสียเปรียบ ได้รับเลือกตั้งน้อย ถือเป็นการมองแต่ประโยชน์ของพรรคตัวเองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เห็นแก่ตัวทางการเมือง

      นายวันชัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องไม่เกรงใจใคร ต้องไม่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดยเอาประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง ใครจะได้ประโยชน์เสียประโยชน์อย่าไปสนใจ มุ่งหน้าดำเนินการตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย ขณะเดียวกันต้องมีความมั่นคง ทั้งทางการเมือง และการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ นี่คือเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญที่ กรธ.จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความมั่นคงให้ได้

แนะกรธ.อย่าเร่งรีบเป็นปชต.จ๋า

       นายวันชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ต้องมีบทมาตราที่กำหนดเวลาสมานแผลแห่งการแตกแยก แตกสามัคคี อย่ารีบเร่งเป็นประชาธิปไตยจ๋า ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับแหน ที่โยนหินเข้าไปตูม แตกกระจาย สักพักก็กลับมารวมกันใหม่ เหมือนให้มีการเลือกตั้งในระยะที่จะถึงนี้ แล้วทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม การรัฐประหารการปฏิรูปก็ไร้ผล จึงต้องมีกลไกประคับประคองให้ประเทศเข้าที่เข้าทาง จนแน่ใจว่าจะไม่กลับมาห้ำหั่นกันอีก แล้วค่อยเป็นประชาธิปไตยแบบสากล

      สมาชิกสปท. กล่าวว่า ในหลักการ กรธ.ควรร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและเป็นที่ยอมรับของสากล แต่ควรมีบทเฉพาะกาลในระยะเปลี่ยนผ่านและวางรากฐานให้เกิดความมั่นคง คือในระยะสี่ปีแรกที่มีการเลือกตั้งนี้ ให้มีส.ส.เขต 300 คน ให้มีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลจากกลุ่มองค์กรผู้มีพลังอำนาจทางสังคมมาเป็น ส.ว.อีก 200 คน ให้รัฐสภาเป็นคนเลือกนายกฯ ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมีความมั่นคง ทั้งมีเวลาเยียวยาสมานแผลแห่งความแตกแยกได้ จึงต้องมีเวลาทิ้งช่วงในระยะ เบื้องต้น

"จ้อน"ดันสังคายนากกต.-พรรค

    ที่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการ เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. คนที่ 1 บรรยายพิเศษหัวข้อ "บทบาทของนิสิตนักศึกษาต่อการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนประเทศในยุคปฏิรูป" ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ต้องทำแบบ 360 องศา หรือปฏิรูปทุกมิติ โดยทำเพื่อคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง โดยทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้งานปฏิรูปเกิดความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปรียบเหมือนสถาปนิกที่ออกแบบพิมพ์เขียวเอาไว้ ส่วนสปท.และแม่ทั้ง 4 สาย ประกอบ ด้วยครม. คสช. สนช. และกรธ. ต้องร่วมกันก่อสร้างประเทศ มีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การเมืองไทยที่ผ่านมาขาดเสถียรภาพ ประชาชนคิดว่ามีหน้าที่แค่เลือกตั้ง แล้วปล่อยให้การบริหารประเทศเป็นหน้าที่ของนักการเมือง ดังนั้น การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ เรื่องการเมืองถือเป็นหัวใจสำคัญ ต้องปฏิรูปให้ได้คนดี มีคุณธรรม เข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่กกต. ต้องปฏิรูปเช่นเดียวกับพรรค เพราะถือเป็นต้นสังกัดของนักการเมือง ซึ่งการออกแบบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาของ ส.ว. รวมถึง พ.ร.บ.ปว่าด้วยการเลือกตั้ง ต้องดึงจุดที่เป็นปัญหามาปรับปรุง

      รองประธานสปท. กล่าวว่า ขณะนี้เรามีเวลาเหลืออีก 18 เดือน ก่อนจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคใดจะชนะ จะต้องไม่เกิดวิกฤตการเมืองเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการต่อสู้นอกระบบ ซึ่งการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องของแม่น้ำ 5 สายอย่างเดียว เพราะหากยังเข้าใจว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นหน้าที่ของแม่น้ำ 5 สาย จากที่เราหวังไว้ว่าจะเดินหน้า 100 ก้าว ก็อาจเดินได้เพียง 10 ก้าว จึงฝากความหวังไว้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนและเดินเคียงข้างร่วมกับสปท. เพื่ออนาคตของประเทศ

พท.ซัดกรธ.วางกับดัก

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีกรธ.เสนอแนวคิดที่มาของนายกฯ ให้พรรคเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งอาจเป็นคนที่ไม่ได้ลงสมัครส.ส.ว่า แม้เรื่องนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สังคมได้เห็นเค้าโครงว่ากรธ.จะนำพาประเทศย้อนยุคไปสู่จุดไหน ความจริงหากทำให้ง่ายต้องยึดหลัก นายกฯ ต้องเป็นส.ส. ซึ่งตกผลึกมานาน เพราะทำให้ตำแหน่งนายกฯ ยึดโยงกับประชาชน แต่กรธ.จะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากเพื่ออะไร หรือเพื่อเปิดประตูรองรับใครให้เข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ ตรงนี้จึงหวาดระแวงว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ ดังนั้น กรธ.ควรวางกติกาที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยสากล เพื่อแสวงหาทางออกแห่งความขัดแย้ง ไม่ใช่เพิ่มอุปสรรคสิ่งกีดขวาง เพิ่มความสับสน หรือมุ่งคิดเงื่อนไขวางสนุ้กที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกและคำตอบของประเทศ

      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การที่กรธ.ดื้อแพ่งไม่ฟังข้อท้วงติงหรือความเห็นจากภาคการเมือง จะทำให้โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำสูงมาก และขอให้ไปดูชะตากรรมของกรรมาธิการยกร่างฯชุดที่แล้วเป็นตัวอย่าง เว้นแต่เป็นแท็กติกที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านเพื่อยื้อเวลาเลือกตั้งออกไปอีก แต่ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร ประชาชนก็มีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรในคูหาเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องยึดเป็นหลักการไว้คือร่างรัฐธรรมนูญให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ให้สิทธิเสรีภาพ ตรงไปตรงมา เป็นสากล ปราศจากกับดักหลุมพราง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

ชี้ปท.ไม่ใช่หนูทดลองรธน.

      นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นห่วงการทำงานของกรธ.ที่หลายเรื่องยังไม่ตกผลึก แต่รีบนำเสนอ เมื่อมีการคัดค้านจึงเปลี่ยนท่าทีแบบไม่มีกระบวนการและหลักการสนับสนุน เช่น ระบบเลือกตั้ง ที่มีคนเตือนว่าการทิ้งคะแนนผู้ชนะนั้นไม่เป็นธรรม การคงบัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งที่มีเสียงเรียกร้องให้ใช้ 2 บัตร ล่าสุดเสนอแนวคิดให้แต่ละพรรคเสนอชื่อนายกฯ ไม่เกิน 5 คน ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะผู้เลือกตั้งรู้อยู่แล้วว่าคนที่อยู่ลำดับแรกในบัญชีรายชื่อ คือแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อนายกฯ เพิ่ม อีก อุปมาคล้ายเสนอให้เพิ่มไส้ติ่งในร่างกาย ซึ่งไม่มีประโยชน์

     นายนพดล กล่าวว่า อดคิดไม่ได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.นั้น ใครโยนความคิดอะไรออกมาทั้งที่ยังไม่ศึกษาให้รอบคอบ ก็เสนอออกสื่อแต่ไม่ถามว่าทำไมคนเกือบทั้งโลกไม่ทำ มีหลักการประชาธิปไตยสนับสนุนหรือไม่ แนวคิดหลายเรื่อง ตนเห็นแล้วเป็นแนวคิดไทยประดิษฐ์ ทั้งที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ตัวแทนประชาชนร่าง เช่น ฉบับปี 2540 หรือปี 2550 ก็ร่างกันมาและทุกพรรคเห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในบางประเด็น เช่น ระบบเลือกตั้งและที่มานายกฯ ซึ่งตกผลึกและแทบจะเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปแล้วว่านายกฯ ต้องมาจากส.ส. และประเด็นนี้ทำให้เกิดวิกฤตบ้านเมืองในอดีต

      "อยากให้กรธ.เรียนรู้จากอดีตและฟังภาคส่วนต่างๆ ให้มาก เพราะกรธ.ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน 64 ล้านคน และประเทศไม่ใช่หนูทดลองกับแนวคิดที่ไม่ตกผลึก และควรตระหนักว่าประเด็นใดอาจเป็นชนวนขัดแย้งในอนาคต หากเริ่มต้นร่างก็กลัดกระดุมผิดเม็ดแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญอาจเสียของได้ และความรับผิดชอบของกรธ.ยังจะมีอยู่ แม้การร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นแล้ว จึงควรรอบคอบและตั้งหลักให้ดี" นายนพดลกล่าว

"ตู่"เตือนกรธ.อย่าท้าทายปชช.

    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวกรณีพรรคใหญ่ค้านแนวคิดของกรธ. ทั้งระบบการเลือกตั้ง และที่มานายกฯ ว่า ไม่กังวล เพราะไม่เคยคาดหวังกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย การไปคาดหวังนั้น เราเข้าใจผิดไปเองเพราะนายมีชัยไม่เคยมี ซึ่งทั้งข้อเสนอที่มาของนายกฯ การให้พรรคเปิดชื่อคนที่จะเสนอเป็นนายกฯ ที่วิจารณ์กันนั้น เป็นประเด็นเรียกร้องความสนใจ เชื่อว่าเขาเขียนบทไว้ตั้งแต่ต้น แต่ค่อยๆ ทยอยเปิดความเห็นออกมา ท้ายสุดแล้วน่าจะยึดตามที่เขาคิดและวางไว้ตั้งแต่ต้น และหากยังทำรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จะยิ่งสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้น ตนไม่ร้องขอให้เป็นประชาธิปไตย แต่ขอให้รู้ไว้ว่าแค่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งตามการปกครองระบบรัฐสภา ก็จบแล้ว

      "นายมีชัยเป็นเนติบริกรตัวพ่อ ที่เขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และเป็นต้นแบบร่างฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ย่อมมีความเก๋าเกมในการเขียนรัฐธรรมนูญ ผมมองว่าไม่ว่าจะเก่งอย่างไร อย่าท้าทายความรู้สึกของประชาชน ที่ว่าแน่ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าไม่มีใครแน่กว่าประชาชน ตอนมาขี่ม้าขาวมาทั้งสิ้น แต่ตอนกลับไม่มี ม้าขาวสักคน" นายจตุพรกล่าว

"ทักษิณ"ครวญคิดถึงเมืองไทย

       นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ภาพสวมเสื้อสีแดงผ่านอินสตาแกรม พร้อมข้อความระบุว่า "วันนี้วันอาทิตย์ มาทานโจ๊กฮ่องกงที่เคยทานตั้งแต่ลูกๆ ยังตัวเล็กๆ ครอบครัวยังค้าขายระดับ SME อยู่ ยังคงความอร่อยเหมือนเดิมและยังมีคนไทยมากินกันเยอะเหมือนเดิม เพราะคนเสิร์ฟพูดไทยด้วย ทำให้คิดถึงเมืองไทยครับ"

ปชป.ติง"มีชัย"ทำผิดหลักการ

     นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณถึงข้อเสนอกรธ. ในประเด็นที่มานายกฯ ไม่ต้องเป็นส.ส.ว่า เจตนารมณ์ของกรธ. ต้องการให้มีนายกฯ ในภาวะที่เกิดปัญหาเหมือนในอดีต แต่เห็นว่าควรคงเจตนารมณ์เดิมให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส. ซึ่งอาจเขียนข้อยกเว้นถึงภาวะวิกฤตให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แล้วให้สภาพิจารณาเสนอชื่อบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้เป็นส.ส.เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ ชั่วคราวในภาวะที่บ้านเมืองเดินต่อไม่ได้ การที่กรธ.มีข้อเสนอมาเช่นนั้น เป็นการยกปัญหาในอดีตขึ้นมาจนทำให้เสียหลักการ เปิดช่องให้ถูกโจมตี

     นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนที่กรธ.เสนอให้พรรคเปิดเผยชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ เปิดเผยให้ประชาชนรู้ หากเลือกพรรคนี้แล้วใครจะได้เป็นนายกฯ แต่ข้อเสียคือส่งได้ไม่เกิน 5 คน ดูฟุ่มเฟือยเกินไป เพราะไม่มีสถานการณ์ไหนที่ต้องมีชื่อนายกฯ สำรองมากขนาดนั้น อีกทั้งประชาชนเข้าใจอยู่แล้วว่าคนเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากก็ได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว ซึ่งนายมีชัยคงหวังดีต่อบ้านเมือง โดยเจตนาเอาปัญหาในอดีตมาแก้ไขเพื่ออนาคต แต่ไม่ควรถึงขนาดทำจนผิดหลักการ

โพลหนุนนายกฯเป็นส.ส.หรือไม่ก็ได้

      วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 1,232 คน วันที่ 12-14 พ.ย. เรื่อง ที่มานายกฯ ที่กรธ.ให้พรรคระบุรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง 1-5 รายชื่อ โดยจะเป็นส.ส.หรือไม่ก็ได้นั้น พบว่า คุณสมบัตินายกฯ ที่ประชาชนต้องการ ร้อยละ 87.65 ระบุเป็นคนดี ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีคุณธรรมจริยธรรม ยุติธรรม เป็นกลาง ร้อยละ 83.94 ระบุเป็นคนเก่ง มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ วิสัยทัศน์ ทักษะไหวพริบดี และร้อยละ 72.09 มีความเป็นผู้นำ โดดเด่น มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

      ร้อยละ 36.78 ระบุนายกฯ จะเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ เพราะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า ขอให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีความเสียสละ ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชน ร้อยละ 34.63 ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. เพราะอาจมาจากการแต่งตั้งหากเห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมและบริหารบ้านเมืองได้จริง ร้อยละ 28.59 ระบุต้องเป็นส.ส. เพราะเป็นบุคคลที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาเอง ใกล้ชิดประชาชน รู้และเข้าใจปัญหาดี มีประสบการณ์

     ส่วนสูตรการเลือกนายกฯ ที่กรธ.เสนอ 3 แนวทาง พบว่าร้อยละ 63.42 ระบุนายกฯ มาจากส.ส. หรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เปิดโอกาสให้คนเก่ง มีความรู้ความสามารถ และเหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน ร้อยละ 28.21 ระบุต้องมาจากส.ส. เพราะเป็นคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ และร้อยละ 8.37 ระบุนายกฯ ควรมาจากรายชื่อที่พรรคเสนอ เพราะก่อนจะเสนอชื่อได้ต้องมีการพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติอย่างละเอียด นักการเมืองน่าจะรู้ดีที่สุดว่าใครคือ ผู้ที่เหมาะสม ประชาชนได้รู้รายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ก่อนล่วงหน้า

ใช้งบ 20 ล.-ขนคนประชุมโลกร้อน

     เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย.นี้ กระทรวงทส. จะเสนอขออนุมัติกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค.นี้ โดยมีตัวแทนประเทศไทยเดินทางร่วมประชุม 81 คน จาก 27 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงทส. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. เป็นหัวหน้าคณะ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงทส. นำคณะผู้แทนไปร่วมประชุม 97 คน แต่ได้รับการทักท้วงจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล จนต้องปรับลดลงเหลือ 81 คน โดยตัดตัวผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกไป แต่ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากใช้งบจำนวนมาก เฉพาะค่าเดินทางไปกลับถึง 20 ล้านบาท

      นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดทส. กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะต้องเข้าร่วมประชุมถึง 5 การประชุม และประเทศไทยจะต้องเป็นประธานกลุ่ม 77 (G77) ซึ่งเราจะต้องไปเจรจาและวางกรอบการทำงาน เพราะในปี 2559 จะมีการประชุมที่เกี่ยวเนื่องถึง 9 ครั้ง ฉะนั้น จำนวนคน 70-80 คนที่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ถือว่าไม่มาก ทั้งนี้ คณะที่เข้าร่วมประชุมไม่ได้ไปพร้อมกันทั้งหมด 81 คน เช่น พล.อ.สุรศักดิ์ เดินทางไปประชุมวันที่ 5-11 ธ.ค. ตนไปร่วมประชุมวันที่ 5-10 ธ.ค. แต่เวลาจะเสนอให้ครม.อนุมัติ จะต้องเสนอรายชื่อทั้งหมดพร้อมกัน โดยงบประมาณแต่ละหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ

ถอดรหัส กรธ.ยกร่าง รธน. ที่มานายกฯเปิดช่องให้ใคร 
  •      หมายเหตุ - ความเห็นจากนักวิชาการเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. โดยเฉพาะประเด็นที่มานายกฯ และความเห็นของคณะอนุกรรมการ กรธ.เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ

    อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

    อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

          การร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ประเด็นที่มานายกฯ ถามว่าทำไมจะต้องให้เปลี่ยนแปลงไปจากความเคยชิน แต่เดิมเราให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ อย่างรัฐธรรมนูญ 2521 ก็นายกฯ คนนอก เพราะต้องการให้เปิดช่องให้ทหารมาเป็น แต่ฝ่ายประชาธิปไตยเห็นว่าทหารใช้อำนาจกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองเยอะ เริ่มตั้งแต่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่สนับสนุน เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ยังให้คนนอกได้ แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง พอมารัฐธรรมนูญ 40 ชัดเจนเลยว่าไม่ให้ เพราะต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 

          ปัจจุบันผู้มีอำนาจจงเกลียดจงชังนักการเมือง ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาอยู่ จริงๆ แล้วการไปกล่าวหาว่านักการเมืองเลวทั้งหมด มันไม่ใช่ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากข้าราชการและองค์กรอื่น ก็โกงไม่ได้หรอก ประเทศเราโกงกันเป็นวัฒนธรรม แต่ไปโทษฝ่ายเดียว จริงๆ โกงทุกฝ่าย เรามีองค์กรตรวจสอบทำไมไม่ลงโทษกันไป ระบอบประชาธิปไตยสร้างมาดีแล้วว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ต้องสร้างระบบตรวจสอบมาจากภาคประชาชนให้ดูแลด้วย 

        การมี ส.ส.ไม่พอ ต้องมีองค์กรตรวจสอบอิสระที่มาจากภาคประชาชน คือผ่านการเลือกตั้งด้วย จะทางอ้อม ทางตรงได้หมด แต่เรามาคานอำนาจโดยใช้คนไม่กี่คนตั้งขึ้นมา เมื่อระบบอุปถัมภ์เข้ามาครองอำนาจในสังคมไทย กลายเป็นว่าพวกใครพวกมัน เราถึงได้ตีกันเอง และต่างโทษคนอื่นว่าเลว 

         มาถึงบริบทว่า ปัจจุบันยึดอำนาจมาแล้ว เพื่อไม่ให้เสียของ ขอทหารอยู่นานๆ ได้ไหม ก็คิดว่าสัก 8-9 ปีให้ผู้นำมาจากคนนอก สัก 1-2 สมัย จึงมีความพยายามร่างกติกา ตั้งแต่การหาองค์กรต่างๆ มามีอำนาจเหนือรัฐ ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เคยล้มไปครั้งหนึ่งแล้ว เพราะมีแรงบีบคั้นทั้งภายนอกภายใน 

         พอตั้งคุณมีชัยขึ้นมา ก็ฟอร์มเดิม ได้ข่าวมาไม่รู้จริงหรือเท็จว่าคุณมีชัยเป็นผู้นำเสนอทั้งหมด อีก 21 ท่านที่เหลือตามอย่างเดียว ไม่ค่อยมีอำนาจเสนอ หรือเสนอแล้วก็ไม่ได้รับการพิจารณา 

         กรรมการท่านใดรู้สึกว่าท่านเป็นตรายาง น่าจะลาออก เพื่อศักดิ์ศรี จะสวยงามกว่า หากทำอะไรไม่ได้ ควรถอยออกมา 

         การเสนอที่มาของนายกฯ แบบอิสราเอล เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ทั้งฉบับต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ อย่าโกหกกันดีกว่าว่ามันไม่ได้กำหนดไว้ ถูกวางระบบไว้แล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้ คอยดู ส.ว.ก็จะเหมือนกัน คือมาทีละขั้นตอน การหาผู้นำก็มีการแปลงสาร โดยหารูปแบบมาหลอกกันหลายๆ แบบ ความจริงแล้วไม่ต้องคิดมาก ถ้าอยากจะให้ทหารเข้ามาก็เขียนไปเลยว่าผู้นำเป็นคนนอกได้ ไม่ต้องอ้างอะไร บอกเลยว่ารัฐธรรมนูญปี 21 กับ 34 ก็เป็นแบบนี้ คุณมีชัยก็มีส่วนในการร่างทั้ง 2 ฉบับ 

         ส่วนที่ว่าเสนอแบบนี้เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพว่า ถ้าพรรคนั้นๆ ได้เป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกฯ นั้น มองว่า แต่เดิมก็เห็นภาพอยู่แล้ว ใครเป็นหัวหน้าพรรคก็ลงมาเลือกตั้ง คุณมีระบบรายชื่อ เขาก็เอาเป็นอันดับหนึ่ง ใครชนะก็ให้คนนั้นเป็น จะรู้โดยปริยายอยู่แล้วว่าใครเป็นหัวหน้าพรรค คนนั้นก็เป็นนายกฯ ไม่ต้องเสนอให้เสียเวลา 

         ถ้าอยากให้นายกฯ มาจากคนนอกก็เขียนมาเลย ไม่ต้องหารูปแบบมาหลอกประชาชนหรือพูดให้สับสน บอกมาเลยว่า ผู้มีอำนาจอยากให้มีนายกฯ จากคนนอกก็จบ แต่ถ้าอยากให้เป็นประชาธิปไตย ใครที่ชนะการเลือกตั้ง แล้วจัดรัฐบาลได้ก็ให้เขาเป็น 

          ส่วนที่คุณมีชัยบอกว่า เป็นการป้องกันไอ้โม่ง หรือม้ามืดนั้น มองว่าไม่มีม้ามืดอยู่แล้ว มีแต่คณะรัฐประหารเท่านั้นที่เป็นม้ามืด เพราะฉะนั้น เหตุผลไม่เพียงพอ อย่าหาวิธีหลอกลวงให้ประชาชนสับสนดีกว่า 

    ถ้าอยากให้ประชาชนเลือก แน่จริงก็ให้เลือกนายกฯโดยตรงทั้งประเทศเลยดีกว่า

    ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

    สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ 

    วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          วิธีการออกแบบที่มานายกรัฐมนตรีของเรามีการพูดมาในหลายรัฐธรรมนูญแล้ว คิดว่าโจทย์ของผู้เสนอในปัจจุบันเป็นโจทย์เดียวกับช่วง 2540 มองว่ารัฐสภามีอำนาจมากเกินไป พยายามเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ครั้งนั้นออกมาในรูปของการมีปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมา ออกมาในรูปแบบ นายกฯในนามพรรค มาถึงปัจจุบัน มีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งมองว่าผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ให้อำนาจแก่นายกฯมากเกินไป ฉะนั้นการเสนอในรูปแบบนี้เป็นการเผยความต้องการที่แท้จริงว่า ต้องการลดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

          ถ้าดูเจตจำนงหรือเนื้อแท้ของอิสราเอลที่เขาได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี รูปแบบก็ไม่ต่างจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ของเราเลย ถ้าเป็นเจตนาตามที่พูดว่าต้องการให้พรรคเสนอแคนดิเดตคนเป็นนายกฯ จริงๆ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่เคยมีมาก็เป็นระบบที่เพียงพอได้รับเจตจำนงนั้นแล้ว มีข้อเสนอแบบนี้ออกมา เพื่อเปิดช่องทางให้มีนายกฯที่มีลักษณะผูกติดกับพรรคการเมืองน้อยลง ถ้าเป็นระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้นชัดเจนว่าปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก 

         แต่ระบบนี้เอื้อว่า พรรคการเมืองหนึ่ง สมมุติเสนอไป 5 คน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนที่ประชาชนพอใจเป็นอันดับ 1 พูดง่ายๆ ว่าพรรคหนึ่งจะเตรียมไว้ 5 คน เป็นไปได้ว่า 1 ใน 5 คนอาจเป็นคนที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งพอใจ แต่ไม่ใช่คนที่ประชาชนพอใจ ไม่ใช่คนที่ประชาชนคัดสรร ต่างจากปาร์ตี้ลิสต์ 

         เงื่อนไขของอิสราเอลและไทยไม่เหมือนกัน เพราะโครงสร้างอำนาจนอกระบบของอิสราเอลต่างจากไทย จะมาบอกว่าอิสราเอลก็ใช้ แต่สุดท้ายโครงสร้างการโหวตในรัฐสภาของอิสราเอลก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

        โจทย์เรื่องที่มาของนายกฯ มองว่าเป็นวิธีการคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม พยายามจำกัดอำนาจรัฐสภา จำกัดอำนาจของประชาชนในการเลือกผู้นำของเขาโดยตรง เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างซ้ำไปซ้ำมา ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงพฤษภาทมิฬ ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งมองว่ารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องคอยเอาใจรัฐสภา และรัฐสภาเต็มไปด้วยนักการเมืองขี้โกงในมุมมองเขา รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารก็ยังต้องไปจัดการเลือกตั้ง นำไปสู่การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของนายทักษิณ ชินวัตร

         ที่ผ่านมา 10 กว่าปี เขาเห็นว่าถ้าเป็นสูตรเดิม สุดท้ายแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนมาก เขามองว่าผลประโยชน์ชุดนี้อาจคุกคามผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ต้องการลดอำนาจโดยตรงของประชาชน ลดอำนาจโดยตรงของพรรคการเมือง เราจะเห็นได้ว่าแม้พรรคการเมืองจะชนะการเลือกตั้ง แต่คุณอาจไม่ได้แคนดิเดตตอบสนองต่อประโยชน์มากที่สุด แต่เป็นคนที่กลุ่มชนชั้นนำพอใจมากที่สุด แทนที่พรรคการเมืองต้องกังวลต่อความต้องการของประชาชน แต่ต้องจัดเกมเพื่อให้ชนชั้นนำพอใจ เป็นอะไรที่ตลกมาก 

         รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ รัฐสภาจะถูกลดความเป็นประชาธิปไตยลงไปเยอะมาก นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐสภาจะมีโมเดลคล้ายพม่า หรือมีคณะกรรมการบางชุดที่มีอำนาจมากกว่ารัฐบาล คิดว่าถ้าเราพูดถึงโมเดลอิสราเอลที่ใช้ในเมืองไทย คงต้องพูดถึงบริบทอื่นของโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นด้วย คงไม่ใช่แค่เรื่องที่มานายกฯ ที่แยกจากกัน

    ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย

        คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ

          คณะอนุกรรมการจะเชิญกลุ่มเฉพาะมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการสื่อสารให้แต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ รับทราบว่าทาง กรธ.เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา หากกลุ่มใดหรือองค์กรใดต้องการนำเสนอวาระของตัวเองก็สามารถเสนอเข้ามาได้ เวทีในวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่อนุกรรมการฯมีกำหนดการเชิญกลุ่มเฉพาะทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปฏิรูปด้านการศึกษา กลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น กลุ่มการค้าเสรี กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มแรงงาน กลุ่มสื่อสารมวลชนและกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เบื้องต้นเรายังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าจะใช้รูปแบบการรับฟังแบบใด อนุกรรมการฯจะหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายนนี้ 

         ตลอดระยะเวลาของการทำงานมาประมาณ 1 เดือนเศษพบว่ามีผู้เสนอความคิดเห็นเข้ามาหลากหลายมาก เท่าที่ดูคร่าวๆ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ความคิดเห็นต่างๆ ที่เสนอมานั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อ กรธ.มากเพราะเป็นการสะท้อนความคิดความเห็นของประชาชน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ 

          อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ข้อมูลที่แต่ละกลุ่มเสนอแล้วทางอนุกรรมการฯ ก็จะสรุปผลและนำไปรายงานให้ที่ประชุม กรธ.ได้รับทราบเพื่อประกอบการพิจารณยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!