WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cวษณ เครองามปู ยก 5 ข้อ โต้วิษณุคดีข้าว ลั่นเลิกหวังรบ. มีชัย ปัดพัลวัน ปูทาง"คนนอก'กสม.ชี้'กปปส.' ละเมิดสิทธิผู้อื่น

     'วิษณุ'แจงฟ้องแพ่งจำนำข้าว 'ปู'สวนทันควัน คงไม่คาดหวังความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้อีกแล้ว ตั้ง 5 คำถามหลักนิติ ธรรม"คสช.'บิ๊กตู่'โอดถนนสู่'ปชต.'ปัญหาเยอะ มีชัยแถลงโต้ หาช่องให้นายกฯคนนอก กรธ.โวย'วิตถาร'วิจารณ์รุนแรง เตรียมทำโพลถามประชาชน ถึงที่มา'นายกฯ' กสม.ชี้ไทยยังมีปัญหาละมิดสิทธิ'บิ๊กเต่า'ลั่นงดบินฝรั่งเศส ถกปัญหาโลกร้อน หลังถูกวิจารณ์ใช้งบฯเยอะเกิน

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9120 ข่าวสดรายวัน

'ตู่'โอดถนนสู่'ปชต.'ปัญหาเยอะ

      เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดตัว "GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน" เพื่อเป็นศูนย์กลางเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ผ่านช่องทาง www.GOVChannel.go.th นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่น EGA บนสมาร์ตโฟน ซึ่งรวบรวมแอพพลิเคชั่นของภาครัฐไว้ในที่เดียว โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลนีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ไม่มีกำหนด การให้พูด แต่มันทรมานมากในช่วงวันหยุด ไม่ใช่ทรมานที่ไม่ได้พูด แต่ทรมานเพราะปัญหามันมีมาตลอด สิ่งสำคัญคือยังทำความเข้าใจไม่ได้ เนื่องจากมีความขัดแย้งในการทำงานสูง โดยเฉพาะการเดินหน้าสู่ประชา ธิปไตย ตนยอมรับฟังเหตุผลในเจตนาที่ดีเอามาปรับปรุง แต่ในส่วนที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังกระทบกับการทำงาน ให้กลับไปสู่ประชา ธิปไตยเต็มร้อยแบบเดิม และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะผลประโยชน์ได้รับผลกระทบ ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา และต้องถ่ายทอดความรู้ให้เกิดความเข้าใจ

ปัดใช้ม.44สั่งจ่ายเงินคดีข้าว

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงตัวเลขความเสียหายคดีจำนำข้าวว่า การอ้างถึงเหตุผลและความจำเป็นของโครงการ ที่ระบุว่าต้องขาดทุนเพราะเป็นมาตรการของรัฐ ถามว่าการขาดทุนตรงนั้น มันเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนได้รับประโยชน์เท่าไร ซึ่งมีสัดส่วนและการคำนวณอยู่ และคณะกรรมการประเมินอยู่ ตอนนี้อย่าไปพูดว่าเท่าไหร่เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ ถ้าพูดแล้วเดี๋ยวออกมาไม่ตรงกัน ก็หาว่าปกปิดซ่อนเร้นอีก ต้องรอให้คณะกรรมการชี้แจงก่อน เพราะอย่างไรก็ต้องเสียอยู่แล้วตามเหตุผลที่เขาอ้าง แต่ส่วนที่สองคือเสียไปแล้วมีทุจริตหรือไม่ ทำให้กลไกข้าวและการผลิตเสียหายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้องดูมิติตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ขายได้เท่าไรหรือขาดทุนเท่าไร คนละเรื่องกัน

     เมื่อถามว่า ทำไมจึงใช้คำสั่งทางปกครอง ไม่ใช้การฟ้องศาลแพ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มันมีกฎหมาย 2 ช่องทาง เขาให้เลือกโดยคำว่าเลือกปฏิบัติคือต้องทำ ที่ถามแบบนี้เพราะไปฟังอีกข้างหนึ่งมาใช่หรือไม่ ทำไมต้องไปตามใจคนที่อยู่ในคดี ต้องให้เขาว่าทางกฎหมายมา และบอกแล้วว่ามาตรการทางการปกครองนั้น ไม่ใช่ผิดแล้วเรียกมาพรุ่งนี้จ่ายเงิน เขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ให้ยกเลิกคำสั่งตรงนี้ ถ้ามีหลักฐานเพียงพอก็ไปฟ้องมา ศาลปกครองยกเลิกก็จบแล้ว ไม่ใช่ว่าตนจะใช้มาตรา 44 สั่งว่าผิดแล้วจ่ายเงินพรุ่งนี้ มันใช่ที่ไหน

โวยโดนต่างชาติกล่าวหาปิดกั้น

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อระบายข้าวให้ได้ พอระบายไม่ได้ก็บอกว่ารัฐบาลเก็บไว้จนเสีย ระบายไม่ได้ราคาก็ฟ้องอีกว่าขายข้าวขาดทุน มันเรื่องอะไรที่จะให้เจ้าหน้าที่เขาเดือดร้อนอีก ใครทำให้มีปัญหาก็เข้ากระบวนการมา อย่าเอาคนที่เขาไม่เกี่ยว ไปเข้ากระบวนการด้วย ทำอย่างนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ต้องถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และทีมโฆษกที่จะแถลงวันนี้ว่าทำไมต้องใช้กฎหมายนี้ ใช้ถูกแล้วจะเป็นอย่างไร อย่าไปถามในเชิงว่าอันนี้ไม่ให้ใช้ ทำไมต้องใช้ ต้องถามว่าใช้เพราะเหตุผลอะไร

      เมื่อถามถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ออกจดหมายเปิดผนึก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นสิทธิ อยากพูดอะไรก็พูดมา ตนให้สิทธิทุกคน ตนไม่ได้ละเมิดสิทธิใครเลย อยากจะพูดจะเขียนอะไรก็ทำมา แต่ทำไมถึงปล่อยให้ต่างชาติมากล่าวหาว่า ตนปิดกั้นความคิดเสรีภาพประชาชน ประชาธิปไตย ปล่อยให้เขาว่าตนทุกวัน จะเอาอะไรกับตน เอาแต่ได้กัน แต่ไม่ให้ทำงาน ติไปทุกอย่าง

โต้'คนนอก'ให้พรรคเสนอเอง

      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอแนวทางที่มานายกฯ ไม่ต้องมาจากส.ส.ก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ใครเป็นคนเสนอนายกฯ คนนอก สื่อต้องเขียนอธิบาย และไปถามนักการเมืองบ้าง เนื่องจากเกิดการระแวงทหาร เรื่องนี้ต้องกลับไปถามว่าที่ทำมาทั้งหมดใครเป็นคนเสนอรายชื่อ พรรคใช่หรือไม่ แล้วเสนอส่งเดชส่งรายชื่อ 5 คน ถามว่าเป็นการเลือกจี้แล้วส่งหรือไม่ ถ้ารายชื่อทั้ง 5 คนยอม เขาก็ไปด้วย แต่ถ้าเขาไม่ยอมจะเอาเขาไปได้อย่างไร คนที่ส่งรายชื่อที่เห็นชอบมาก็พรรคทั้งสิ้น ที่เป็นคนเสนอเลือกรายชื่อ 5 คนนี้มา จะรับหรือไม่ ถึงใครอยากจะไปเอาใครมาก็ตาม

    "ผมถามว่า ในพรรคยอมรับกันทั้งหมดหรือไม่ สอนคนจนเพี้ยนติดกันไปหมด บ้านเมืองจะเอาดี ประชาธิปไตยจะเอาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาช่างมัน อยู่ได้ประเทศ ไทยอย่างนี้อยู่ได้ คิดกันแบบนี้ อย่าให้ประชาธิปไตยเป็นภาพลวงตาว่ามีประชา ธิปไตยแล้ว เลือกตั้งแล้ว นี่คือภาพลวงตา ถ้ามันไม่ใช่ภาพลวงตา เลือกตั้งมาได้คนดีมาบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สร้างปัญหาต่างๆ ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ปลอดภัย ไม่มีปัญหาขัดแย้ง นั่นแหละคือประชาธิปไตยที่เป็นข้อเท็จจริง การมอบอำนาจให้กับใครก็ตามไปใช้นั่นคือประชาธิปไตย แต่คนที่ท่านมอบให้ไป เขาทำอย่างที่ต้องการหรือไม่ หรือเอาหน้าไปให้เขาแล้วเสร็จ จบ เขาจะทำอย่างไร ปู้ยี้ ปู้ยำก็เอา เลือกอย่างนั้นก็เอา เมื่อไรจะเข้าใจกันสักที ผมไม่รู้ ถ้ายังคิดกันแบบเดิม เอาแบบเดิม เอารูปแบบเก่า วิธีการเก่าๆ มันก็ได้แบบเดิม จะเอาอะไรมาดีกว่าเดิม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

วิษณุ แจงฟ้องแพ่งจำนำข้าว

     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลก่อนว่า คดีดังกล่าวแบ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่ม "ย." ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและให้ดำเนินการถอดถอนโดยสนช. จากนั้นส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งจดหมายถึงปลัดกระทรวงคลังขณะนั้นลงวันที่ 18 ก.พ. 2558 ให้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายต่อพ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 73/1 โดยไม่ได้ระบุว่าให้เรียกค่าเสียหายโดยวิธีการใด

     2.กลุ่ม 'บ.' และพวก ซึ่งป.ป.ช.กล่าวหาว่าทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และส่งสนช.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และส่งฟ้องอาญาต่อศาลฎีกาฯ และส่งจดหมายถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกัน 3.กลุ่ม "ภ."และพวก ซึ่งความผิดคล้ายกับกลุ่มที่ 2 และดำเนินการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน และ 4.กลุ่มเอกชน 15 ราย ที่ช่วยเหลือสนับสนุนให้ประโยชน์ในการทุจริตโครงการจำหน่ายข้าวแบบจีทูจี โดยได้ฟ้องอาญาพ่วงไปกับกลุ่มที่ 1 และ 2

เผยปรึกษาแล้วก่อนใช้กม.ละเมิด

     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนวิธีการเรียกค่าเสียหายแบ่งได้ 2 วิธีคือ 1.การฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการละเมิด ซึ่งรัฐเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย เป็นคดีละเมิดธรรมดาที่ต่อสู้คดีกันใน 3 ศาล และ 2. ในปี 2539 มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับคือพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติทางปกครอง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ซึ่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดได้นำมาใช้กับผู้กระทำผิดที่เป็น เจ้าหน้าที่รัฐ

    นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนคำถามว่าเหตุใดจึงใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 4 ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่หมายรวมถึงข้าราชการ หน่วยงาน ลูกจ้าง ซึ่งข้าราชการหมายรวมถึงข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง นับตั้งแต่นายกฯเป็นต้นมา จึงใช้วิธีนี้ดำเนินการความผิดในทางละเมิด ซึ่งใช้เฉพาะกับเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถใช้กับเอกชนได้ ซึ่งทั้ง 2 วิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้ จากการปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายเห็นว่าควรใช้วิธีที่ 2 คือการออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อรัฐและผู้ถูกกล่าวหา และ ที่ผ่านมา 19 ปีของการใช้พ.ร.บ.รับผิดทาง ละเมิดฯมีการประมวลผลมาตลอด และคณะกรรมการรับผิดทางแพ่ง มีความคุ้นชินกับวิธีการดังกล่าว

ยันเป็นธรรม-ร้องค้านได้ตลอด

      นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาระบุว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และต้องการให้กระบวนการไปพิจารณาในขั้นตอนของศาล ต้องชี้แจงว่าขั้นตอนวิธีการที่ 2 ที่ดำเนินการกับ "ย." ต้องมีการตรวจสอบในหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่มีการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจข้อเท็จจริง และคณะกรรมการรับผิดทางแพ่ง จากนั้นถ้าเห็นว่ามีมูลความผิด ก็ต้องออกคำสั่งทางปกครอง ลงนามโดยรมว.คลัง แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ฟังขึ้นก็จบ แต่ถ้าเห็นว่าผิด จะให้คืนเงินเท่าไร ก็จะออกเป็นคำสั่งปกครองฉบับใหม่ ถ้าผู้ถูกกล่าวหายอมใช้เงินก็จบ แต่ถ้าคิดว่าจำนวนเงินหลายล้านบาทไม่เป็นธรรมก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นโจทก์และผู้กล่าวหาจะเป็นจำเลย เมื่อศาลปกครองชั้นต้นพิจารณามีผลออกมาแล้วยังไม่เป็นที่พอใจ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ว่า ไม่ผิดตามคำสั่งทางปกครอง

     "ซึ่งในอดีตมีหลายคดีที่รัฐใช้วิธีนี้แล้ว ผู้เสียหายไม่ผิด สามารถเพิกถอนคำสั่งและ ไม่ต้องชดใช้เงินได้ บางคดีมีความผิดแต่ลดจำนวนเงินต้องชดใช้ลง หรือศาลจะคิดสูตรคำนวณค่าเสียหายให้ใหม่ เป็นต้น" นายวิษณุกล่าว

ชี้จะใช้วิธีไหนก็ต้องขึ้นศาล

      นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการใช้กฎหมายความผิดทางละเมิดเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่กฎหมายใหม่ หรือคสช.เพิ่งคิดขึ้นในปีนี้เพื่อกลั่นแกล้งหรือเล่นงานใครโดยเฉพาะ แต่ใช้มาหลายคดี อาทิ คดีคลองด่าน คดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง คดีเรือขุด คดีที่ดินหมอชิต เป็นต้น และขั้นตอนนี้ก็ไปพิสูจน์ความเป็นธรรม ความยุติธรรมกันที่ศาล จึงไม่ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาคืออย่างไรที่จะให้ใช้วิธีที่ 1 และคิดอย่างไรว่าวิธีที่ 2 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทั้ง 2 วิธีต้องไปที่ศาลเช่นกัน

      "ขณะที่วิธีที่ 2 รัฐถือเป็นจำเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อวันนี้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วหันกลับไปใช้วิธีที่ 1 คำถามจะเกิดว่ารัฐมีอะไรถึงใช้วิธีที่ 1 มีเลศนัยอะไรหรือไม่ ทั้งที่วิธีที่ 1 ในรูปคดีนั้นเสียเปรียบ จนถึงขณะนี้ยังจะใช้แนวทางตามวิธีที่ 2 จนกว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น" นายวิษณุกล่าว

ครวญถูกมองไม่ยึด'ยุติธรรม'

     นายวิษณุกล่าวต่อว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีอคติ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้เป็นคู่กรณีตามที่ตั้งข้อสังเกต และวิธีการที่เลือกก็เป็นวิธีตามปกติ ใช้กันมาหลายคดีนับตั้งแตปี 2539 มีทั้งที่รัฐเป็นฝ่ายแพ้และชนะ เรื่องนี้ไม่มีเลศนัยแอบแฝงซ่อนเร้น ส่วนที่ "ย." ขอความเห็นใจและขอความเป็นธรรม โดยส่งหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น นายกฯ ได้รับเรื่องแล้ว แต่ที่ต้องชี้แจงรายละเอียดในวันนี้ เพราะมีการกล่าวหารัฐบาลจนถูกมองว่าไม่ตั้งอยู่บนหลักของความยุติ ธรรม มีการกลั่นแกล้ง ซึ่งรัฐรับไม่ได้ หากเดือดร้อนอย่างไรก็จะพิจารณาในประเด็นที่แจ้งมา และขอย้ำว่าหากรัฐไม่ดำเนินการอะไร ก็จะตกเป็นจำเลยและต้องชดใช้ค่าเสียหาย เสียเอง ทุกอย่างทำไปตามที่มีหลักกฎหมายรองรับทั้งสิ้น

     นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ คดีของกลุ่มที่ 2 และ 3 อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการรับผิดทางแพ่ง ส่วนกลุ่มที่ 1 "ย." ยังอยู่ในการสอบสวนของคณะกรรมการชุดที่ 1 และยังมีการขยายเวลาสอบสวนออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้ หากมีหลักฐานเพิ่มเติมก็อาจจะขยายเวลาออกไป ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณาว่าต้องสอบพยานใดเพิ่มเติมหรือไม่ ดังนั้นคดีนี้ยังอีกยาว แต่ทั้งหมดจะต้องดำเนินการภายในอายุความ 2 ปีคือภายในเดือนก.พ. 2560 สำหรับตัวเลขขณะนี้ที่หลายฝ่ายสงสัยว่าจะเรียกค่าเสียหายเท่าใดนั้น ยังไม่มีใครรู้จนกว่าจะมีการออกมาเป็นคำสั่งทางปกครอง

ยันรับทราบหนังสือ"ปู"แล้ว

     นายวิษณุ กล่าวย้ำตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า นายกฯ ได้รับทราบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพียงแต่มาชี้แจงในสิ่งที่เห็นว่าเข้าใจผิด เพราะหากไม่ชี้แจงรัฐบาลจะถูกมองว่าไม่ยืนอยู่บนหลักของความยุติธรรม มีการกลั่นแกล้ง ซึ่งเรารับไม่ได้กับข้อกล่าวหานี้ ส่วนการดำเนินการของรัฐบาลทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีความเสียเปรียบ หรือไม่อย่างไรก็ให้ว่ามาแล้วเราจะพิจารณา

     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการใช้มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ การคุ้มครองอยู่บนหลักเกณฑ์ 2 ข้อ คือ 1.เมื่อเจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ 2.เมื่อทำโดยสุจริต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่เพราะที่ผ่านมากฎหมายก็ให้ความคุ้มครองกับเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อรัฐบาลใหม่มา หากเห็นว่า ม.44 ไม่ถูกต้องก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะการออกพ.ร.บ.สามารถล้มล้างทุกอย่างได้อยู่แล้วเพราะวันนี้เจ้าหน้าที่รู้สึกสุ่มเสี่ยงและถูกข่มขู่

ปัดแจงที่มาฟ้องละเมิด

     เมื่อถามว่า จะตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหาในคดี ดังกล่าวด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนมองไม่เห็นเลยว่าจะมีมาตราใดที่จะตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะไม่ใช่การฟ้องเพื่อที่จะอ้างว่ายักยอกเงินหลวงแต่เป็นการเรียกค่าเสียหาย แม้ศาลปกครองจะตัดสินให้ผิดและชำระเงิน แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าไม่มีเงิน ถึงเวลานั้นก็อาจจะมีการตรวจสอบว่ามีจริงหรือไม่

    ผู้สื่อถามว่า ได้ปรึกษาใครถึงตัดสินใจเลือกวิธีการใช้พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดฯ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ต้องเปิดเผย เพราะเรื่องนี้มีการปรึกษาและประชุมหารือกันแล้วหลายครั้ง มีการพิจารณาร่วมกันอยู่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้มานานกว่า 19 ปี ดำเนินการไปกว่า 5,000 คดี ถ้าเลือกใช้วิธีอื่นก็ต้องตอบคำถามมากไปกว่านี้

ชี้วันศาลตัดสิน-"รบ."นี้ไม่อยู่แล้ว

      เมื่อถามว่ารัฐบาลไม่ได้ตีความเกี่ยวกับข้าราชการเกินไปหรือไม่ เพราะพ.ร.บ. ป.ป.ช.ระบุว่าข้าราชการ ไม่ใช่ข้าราชการนักการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมายเวลาจะระบุให้เป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงข้าราชการก็เขียนไว้อย่างนั้น อย่างในรัฐธรรมนูญเขียนว่าคนไปสมัครส.ส.ต้องไม่เป็นข้าราชการก็ ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

      เมื่อถามว่า หากผู้ถูกกล่าวหาถูกตัดสินว่าผิดและไม่จ่ายค่าเสียหายรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ก็จะออกหมายให้ยึดทรัพย์ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยก็ดำเนินการฟ้องศาลปกครองสูงสุดตัดสิน หลายคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตามวันที่ออกคำสั่งทางปกครอง รัฐบาลนี้อาจจะยังอยู่เพราะช่วงนั้นไม่เกินเดือนก.พ. 59 แต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินนั้นรัฐบาลนี้ไม่อยู่แล้ว และจะไม่มีสิทธิทำอะไรด้วย

     ด้านพล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า จากนี้ไปคงไม่มีคำวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะทำนองว่ารัฐบาลจ้องจองล้างจองผลาญ หรือไม่ให้ความเป็นธรรมกับใครทั้งสิ้น

"ปู"โพสต์สวน"วิษณุ"แถลง

      วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีรัฐบาลแถลงการฟ้องร้องแพ่งในคดีจำนำข้าวว่า ดิฉันได้ฟังคำแถลงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เวลานานร่วมชั่วโมง ที่จะสร้างความชอบธรรมในการที่รัฐบาลนี้จะใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแทนวิธีการที่กระทรวงการคลังจะฟ้องคดีแพ่ง ต่อศาล

     "ดิฉันคงไม่อยู่ในฐานะจะเรียกร้องอะไรหลังจากนี้แม้แต่คำว่า "ความเป็นธรรม" เพราะทุกอย่างคงจะดำเนินการไปตามที่รัฐบาลนี้ต้องการ"

ตั้งคำถามหลักนิติธรรม"คสช."

     ดิฉันอยากจะขอฝากข้อคิดให้กับพี่น้องประชาชนได้พิจารณาว่า การกระทำแบบนี้หรือที่ คสช. อ้างว่ายึดอำนาจแล้วจะสร้างความปรองดอง ความเป็นธรรม และหลักนิติธรรมในประเทศนี้ได้ ดังนี้

      1.รัฐบาลเลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล และยังเลือกใช้มาตรา 44 คุ้มครองรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้พ้นจากการถูกฟ้องร้องใดๆ จากดิฉันใช่หรือไม่

     2.ที่อ้างว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้นใช้มานานกว่า 19 ปี และกว่า 5,000 คดี ดิฉันเห็นว่าเวลาและจำนวนคดีไม่ใช่สาระสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะเชื่อว่ายังไม่มีคดีไหนเหมือนดิฉัน ซึ่งเป็นคดีแรกที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี จากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะเป็นเรื่องของการที่ทำให้รัฐต้องเสียหาย และต้องรับผิดชอบทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

จี้รัฐบาลตอบประชาชน

     3.รัฐบาลต้องตอบกับพี่น้องประชาชนด้วยว่า การที่เลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และจะรับประกันได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำ แต่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมเช่นศาล แม้รัฐบาลพยายามที่จะพูดว่าขั้นตอนยังไม่เป็นที่สิ้นสุดและสามารถใช้วิธีการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลได้ แต่กลับไม่มีคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ให้กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามขั้นตอนของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแห่งการอำนวยความยุติธรรมแทนการใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหาย

     4.อะไรที่เรียกว่า สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง ทั้งๆ ที่โครงการรับจำนำข้าวได้จ่ายเงินตรงถึงมือชาวนาผ่าน ธ.ก.ส. ทุกบาททุกสตางค์

ไม่หวังความเป็นธรรมจากรบ.นี้

     5.การเพิ่มประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็น "พยานล่วงหน้า" ในคดีอาญา ถือเป็นข้อสังเกตที่เป็นนัยยะสำคัญว่าอาจนำผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติมาทำให้เป็นผลร้ายกับดิฉันในคดีอาญาหรือไม่

      "สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ดิฉันขอฝากไว้กับพี่น้องประชาชนเพื่อพิจารณา คงไม่คาดหวังความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้อีกแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลตัดสินใจอย่างไร กรณีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่คงต้องจารึกในหัวใจของดิฉันและประชาชน และจะเป็นบรรทัด ฐานที่นำไปใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนหลังจากนี้ ต่อไป"

พท.ติงวิษณุพา"ตู่"เข้ารกเข้าพง

      นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง กล่าวภายหลังนายวิษณุแถลงชี้แจงขั้นตอนและวิธีทางกฎหมายเอาผิดทางแพ่งในคดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า นั่งฟังจากนายวิษณุ ถึงสาเหตุที่ต้องฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามแบบวิธีที่ 2 ออกคำสั่งทางปกครองชดใช้ค่าเสียหาย รู้สึกทึ่งและยอมรับว่ามีความสามารถเรียงร้อยถ้อยคำ เล่าเรื่องให้สนุกน่าฟังอย่างยิ่ง หากเป็นชาวบ้านธรรมดา ตาสีตาสา ยิ่งเคลิบเคลิ้มไปกันใหญ่ แต่คน ที่รู้ที่เข้าใจ คิดว่าคงมีอาการกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

      "ผมคิดว่า ในระยะหลังนี้พล.อ.ประยุทธ์เสียหายเพราะเชื่อนายวิษณุเยอะ แนะนำให้เข้าป่าเข้ารกหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องจำนำข้าว ทุกวันนี้นายกฯโดยอำนาจของกองทัพบก ไม่มีใครหืออยู่แล้ว ทุกองคาพยพรู้งาน พร้อมสนองเต็มที่ เวลาลูกเข้าทางใคร คนนั้นหรือท่านนั้นๆ ซัดเต็มเท้าอยู่แล้ว ไม่จำต้องไปใช้วิธีพิเศษพิสดารอะไรให้โลกเขาครหา นายวิษณุก็เช่นกัน ถ้ารักนายหรือรักตำแหน่งที่เป็นอยู่ แนะนำกันแบบนี้เท่ากับทำร้ายนาย เลื่อยเก้าอี้ตัวเองแท้ๆ" นายทนุศักดิ์กล่าว

มีชัย ปัดหาช่องนายกฯคนนอก

      ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. แถลงก่อนประชุมกรธ.ว่า จากที่ฟังความเห็นของพรรคการเมืองในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นที่เข้าใจผิดอย่างรุนแรง กลายเป็นมองว่า กรธ.หาช่องทางให้มีนายกฯคนนอก ต้องทำความเข้าใจว่า กรธ.ได้รับภารกิจให้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นและเพื่อปฏิรูปประเทศ ในอดีตเราปฏิเสธได้หรือไม่ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ประชาชนส่วนหนึ่งมักเกิดข้อกังขา คือ 1.ไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเพราะนิยมชมชอบอย่างแท้จริง หรือเพราะมีอามิสสินจ้าง 2.ประชาชนรู้ข้อมูลเพียงพอหรือไม่

     3.เสียงของประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์หลังหย่อนบัตรลงคะแนนหรือไม่ 4.มีการทุจริตเพื่อเอาทุนคืนและหากำไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ และประโยชน์ที่ให้แก่ประชาชนหรือที่ประชาชนได้รับเป็นเพียงการอ่อยเหยื่อเพื่อกอบโกยเข้าตนหรือพรรคพวก หรือเป็นประโยชน์ระยะยาวที่จะให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ และ 5.ที่อ้างประชาชนนั้น เพื่อประโยชน์หรือหาความได้เปรียบทางการเมืองหรือไม่ ดังนั้นเมื่อกรธ.ได้รับภารกิจหาทางแก้ไขและหาทางปฏิรูปประเทศ กลไกที่จะสร้างจึงเป็นสิ่งใหม่ๆ คงไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเดิมได้ การที่บางคนบอกให้รัฐธรรมนูญปีนั้นปีนี้มาใช้ แต่เพราะกฎเกณฑ์เดิมเหล่านั้นทำให้เกิดปัญหาจึง เอามาใช้ไม่ได้

โยนพรรคเป็นคนเลือกเอง

     นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มาของ นายกฯ กรธ.มีเจตนาเพียงให้พรรคประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ วิธีนี้คนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องผ่านถึง 3 ด่าน คือ ด่านที่หนึ่ง พรรคต้องมีมติคัดเลือกคนที่เหมาะสมมา ด่านที่สอง ประชาชนจะได้ทราบว่าสมควรเลือกคนที่พรรคนั้นเลือกมาหรือไม่ และด่านที่สาม แม้พรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว คนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบเสียงข้างมากของสภา การจะให้มีคนนอกหรือไม่นั้น พรรคต้องกำหนดทั้งสิ้น กรธ.ไม่ได้ระบุว่าพรรคต้องเลือกใคร มีคนบอกว่าทำไมกรธ. ไม่เขียนเลยว่าห้ามไม่ให้พรรคเลือกคนนอก ถ้าทำเช่นนั้นก็ทำได้ แต่ถามว่ากรธ.ไปก้าวก่ายพรรคหรือไม่

     "ทำไมพรรคไม่สงวนเรื่องนี้ไว้คิดเองว่าจะเลือกใคร ในระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่ใช้คะแนนนิยมของประชาชนทั้งประเทศ เป็นตัววัดจำนวนส.ส.ทั้ง 2 ประเภท โอกาสที่พรรคใหญ่จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อก็มี เช่น พรรคได้รับคะแนนนิยมทั้งประเทศ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลการเลือกตั้ง ได้ส.ส.เขตได้ 51 เปอร์เซ็นต์ จาก 350 คน คือ 175 คน พรรคนั้นจะไม่ได้รับส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะ ได้ส.ส.เกินจำนวนคะแนนนิยมทั้งประเทศ ดังนั้น คะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น แม้จะกำหนดให้ลำดับไว้ก็จะไม่ได้เป็นส.ส. แล้วจะทำอย่างไร"นายมีชัยกล่าว

แจงทำโพลเพื่อฟังประชาชน

     ประธานกรธ.กล่าวว่า พรรคบอกว่าถ้าอย่างนั้นพรรคเล็ก หรือพรรคนอมินี อาจไปเอารายชื่อใครไม่รู้มาระบุไว้ใน 1-5 แล้วพรรคใหญ่ๆ ถูกบังคับนำชื่อของพรรคเล็กหรือพรรคนอมินี มาเป็นนายกฯ ซึ่งกรธ.ได้คิดวิธีโดยการกำหนดเกณฑ์จำนวนส.ส.ขั้นต่ำของพรรคที่จะนำรายชื่อนายกฯ ต้องมีส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 คนจากส.ส.ทั้งหมด 500 คน หากพรรคคิดไม่ออกว่าจะป้องกันอย่างไร กรธ.จะแนะนำอีกว่าเขียนในข้อบังคับพรรคว่า พรรคจะไม่ร่วมและตั้งรัฐบาลใด ที่เสนอบุคคลภายนอกเป็นนายกฯ เพียงกำหนด 2 อย่างนี้ ก็ไม่มีใครบังคับพรรคนั้นได้จะได้สิ้นกังวล

    นายมีชัย กล่าวว่า พรรคการเมืองต้องเข้ามารับช่วงและบริหารประเทศในวันข้างหน้า มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยทำกติกาของบ้านเมือง เมื่อเห็นเนื้อหาและกลไกใหม่ๆ ช่วยกรุณาคิดให้รอบคอบแล้วมองประโยชน์ของประชาชนและประเทศ หากเห็นว่ากลไกใดมีช่องโหว่ก็บอกมา กรธ.พร้อมรับฟัง ลำพังค้านอย่างเดียวโดยไม่บอกว่าดีกว่านี้จะทำอย่างไร กรธ.ไม่รู้จะปรับอย่างไร กรณีที่เปิดแนวคิดของกรธ.ออกไปให้ประชาชนรับทราบ เพื่อรับฟังความคิดเห็น แล้วนำมาปรับเพื่อให้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ที่พรรคระบุว่ากรธ.ต้องฟังเสียงของประชาชน ดังนั้นจึงมีแนวทางการจัดทำผลสำรวจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าคงจะใช้นิด้ากับสวนดุสิตโพล

กรธ.ถกอำนาจ"ป.ป.ช."

     นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุมกรธ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหมวดองค์กรอิสระ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเห็นว่า ป.ป.ช.ควรมีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนรายละเอียดและวิธีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องจะนำไปกำหนดไว้ในพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำหรับข้อหาที่เกี่ยว ข้องกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่นั้น ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้หากอัยการไม่ส่งฟ้องแล้วป.ป.ช.จะส่งฟ้องเองได้หรือไม่นั้น กำลังพิจารณาในรายละเอียดอยู่

       นายอมร กล่าวว่า สำหรับการปราบปรามการทุจริตในระดับท้องถิ่นนั้น อาจเพิ่มกลไกขึ้นมาช่วยป.ป.ช.ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบัน มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตระดับท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก รวมถึงกำหนดหลักการกรณีที่มีการฝ่าฝืนหลักว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ควรให้องค์กรอิสระทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน หากป.ป.ช.พบว่า เรื่องที่ไต่สวนอยู่นั้นมีลักษณะฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ให้แจ้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อดำเนินการควบคู่กันไป

เผยทำโพลถามที่มานายกฯ

      นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ เผยว่า ที่ประชุมอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างสมาชิก ส.ว. โดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่ เบื้องต้นวางกรอบให้ ส.ว.มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนการทำหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเห็นว่าไม่ควรเป็นหน้าที่ของส.ว.อีกแล้ว เนื่องจากต้องการให้ส.ว.ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพล หรือต้องติดหนี้บุญคุณพรรคการเมือง

     นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของการจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.ได้รับความร่วมมือจากศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาช่วยดำเนินการ เบื้องต้นเริ่มสำรวจความคิดเห็นประชาชนไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ประมาณ 5 คำถาม หลังจากนี้คงมีการสอบถามประเด็นเกี่ยวกับที่มาของนายกฯ โดยเฉพาะกับหลักการที่ให้พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งสามารถเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯได้ไม่เกิน 5 ชื่อ

ยังไม่สรุปปมคนนอก

      ที่จ.น่าน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 2 กล่าวถึงเสียงวิจารณ์จากพรรคการเมือง ระบุกรธ.ตั้งใจเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป ถ้าไม่ถูกใจตรงส่วนไหนแสดงความเห็นเข้ามาได้ กรธ.พร้อมรับฟัง เพราะเราต้องการให้ประชาชนตื่นตัว มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ในทุกระดับ

      เมื่อถามว่ากรธ.ยืนยันจะเขียนเปิดช่องให้นายกฯ มาจากคนนอกได้โดยไม่ต้องเป็นส.ส.แล้วใช่หรือไม่ นายอภิชาตกล่าวว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปหรือไปฟันธงแบบนั้น เวลาเพิ่งผ่านมาไม่นาน ยังเหลือเวลาทำงานอีกหลายเดือน เรื่องนี้กรธ.ไม่ได้โยนหินถามทาง แต่เราเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทุกอย่างยังปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็น

โวย"วิตถาร"วิจารณ์รุนแรง

      นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรม นูญว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญมีความคืบหน้า 1 ใน 4 แล้วแต่บางประเด็นต้องนำกลับไปทบทวนอีกครั้ง ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็ระบุว่าปลายเดือนม.ค. 2559 ร่างแรกควรจะเสร็จ และคาดว่าในเดือนเม.ย. จะได้ร่างฉบับสมบูรณ์ และนำไปให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนลงประชามติ

      นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนเสียงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ ตนคิดว่าคำว่า วิตถาร เป็นคำวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุด ซึ่งนายมีชัยได้ชี้แจงครบทุกประเด็นแล้ว โดยเฉพาะการให้พรรคเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งกรธ.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดรายชื่อ แต่เป็นพรรคที่กำหนดเอง และสภาจะตกลงกันเองว่าจะเลือกใครจากบัญชีที่แต่ละพรรคเสนอ ที่สำคัญ ข้อเสนอดังกล่าวก็เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ยืนยันว่ากรธ.ไม่ได้แทรกแซงให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ อย่างที่วิจารณ์กัน

ขอให้พิจารณาภาพรวม

      "กรธ.รับฟังทุกความคิดเห็น และตระหนักความเห็นที่ออกมาจากพรรคเพราะถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนต่อการทำประชามติ แต่สิ่งที่นำเสนอ เป็นการแก้ปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยหลักการกฎหมายด้วยความจำเป็น ไม่ได้มุ่งกีดกันหรือลดเสียงของพรรคใดลง ที่ผ่านมาไม่ว่า กรธ.จะเสนออะไร จะมีคำขอว่าขอให้เป็นแบบเดิมโดยอ้างถึงความคุ้นเคย แต่เรายังเห็นว่าปัญหายังมีอยู่ ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ครม.ก็อาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของ ครม. ผมจึงอยากถามว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนรวมถึงพรรคต้องการหรือไม่ หากไม่พอใจเพียงประเด็นเดียวแล้วคว่ำทั้งร่างก็คงไม่ถูก อยากให้พิจารณาในภาพรวม" นายนรชิตกล่าว

"ปึ้ง"ติงอย่าทำโพลเอาใจนาย

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรธ. ไม่ควรกังวลว่าจะมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าร่างออกมาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่มีวาระซ่อนเร้น จะกลัวทำไม ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้โง่ที่จะยอมให้ใครมาจูงจมูกได้ และพรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดจะชักชวนให้คว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะผู้แทนราษฎรทุกคนเคารพต่อเสียงของประชาชน ทุกวันนี้ประชาชนฉลาดพอจะรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร รู้ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรมีเนื้อหาสาระอย่างไร กรธ.ต้องรู้และต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชน แม้เขาจะไม่ได้จบเมืองนอก เป็นด๊อกเตอร์ แต่ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของเขาเป็นเลิศกว่ามาก

      นายสุรพงษ์ กล่าวว่า อยากฝากถึงกรธ.ว่าหากจะทำโพลเรื่องรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ขอให้ใช้สำนักโพลที่ไม่เอาใจนายหรือหลอกชาวบ้าน เพราะจะเสียเงินเปล่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ กรธ. ไม่ควรพูดเสมือนนักการเมืองมองแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง อาทิ การบอกว่าถ้ารัฐธรรมนูญให้มีการนิรโทษกรรมก็จะรีบตะครุบนั้น อยากบอกถึง กรธ.ทุกคนด้วยว่านักการเมืองก็มีสามัญสำนึก ไม่ทำอะไรแบบหน้าด้านๆ ไร้ยางอาย ไม่เหมือนใครบางคนที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเพื่อความอยู่รอด หวังว่ากรธ.ที่คิดผิดๆ ให้หันกลับมาคิดใหม่ได้ และขออวยพรให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชา มติด้วยดี เพื่อประเทศไทยจะได้เดินตามโรดแม็ป ประเทศ ไทยจะได้กลับมาเจริญรุ่งเรือง

แจง"งบ"ถกโลกร้อนที่ฝรั่งเศส

      กรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเสนอครม. ขออนุมัติกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ 30 พ.ย. -11 ธ.ค.นี้ มีคณะผู้แทนประเทศไทยที่จะไปร่วมประชุม 81 คนจาก 13 หน่วยงานนั้น

      เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทส. ชี้แจงว่า การไปร่วมประชุมดังกล่าว ทส.ใช้เงินแค่ 2 ล้านบาท ไม่ใช่ 20 ล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนไม่เกิน 1 แสนบาท ใช้เงินประมาณ 8 ล้านเท่านั้น ส่วนเงิน 20 ล้านบาทใช้สำหรับประชุมกรอบรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจประธานกลุ่ม 77 และจีน จึงอยากอธิบายให้เข้าใจ เพราะถ้าคนทั่วไปมาอ่านจะคิดว่าทส.ผลาญ งบประมาณรัฐ

     เมื่อถามว่างบฯแบ่งเป็น 2 ส่วนใช่หรือไม่ ส่วนแรกเกือบ 20 ล้านในประชุมที่ฝรั่งเศส สำหรับคน 81 คน ในวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค.นี้ ส่วน 27 ล้านบาทเศษ สำหรับประชุมเพื่อปฏิบัติภารกิจประธานกลุ่ม 77 และจีน ในปี 2559 นายเกษมสันต์ กล่าวเลี่ยงว่า รู้หรือไม่ว่าการประชุมครั้งนี้สำคัญมาก เพราะประชุมปีสุดท้ายของพิธีสารเกียวโต ซึ่งหลังจากนี้ คือตั้งแต่ปี 2558 ทั่วโลกจะมีข้อตกลงใหม่ ว่าด้วยการช่วยกันจัดการเรื่องภูมิอากาศโลก ซึ่งนานาชาติต้องไปร่วมพูดคุยทำข้อตกลงว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ละคนมีหน้าที่อะไร ส่วนประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่ไปทั้ง 81 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญและทำงานเรื่องนี้โดยตรง เป็นทั้งสต๊าฟ หรือทีมงานของผู้ทำหน้าที่เจรจา ซึ่งหลักๆของผู้เจรจาคือ กระทรวงการต่างประเทศ

      เมื่อถามว่า ขณะนี้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในฝรั่งเศส ยังจะไปประชุมหรือไม่ นายเกษมสันต์กล่าวว่า ก่อนถึงการประชุม คงเคลียร์เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศส คงไม่ปล่อยให้ล้มการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ อาจต้องเพิ่มมาตรการดูแลเข้มข้นมากขึ้น ส่วนประเทศไทย ก็ต้องไปตามหน้าที่ แต่หากใครไม่กล้าไป หรือไม่อยากไปก็ให้มาแจ้ง

     ด้านพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. กล่าวว่าตนตัดสินใจว่าคงไม่ไปร่วมประชุมดังกล่าว แต่จะให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เป็นผู้ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงแทนตน ซึ่งต่างชาติอาจตำหนิเล็กน้อยว่าทำไมไม่เป็นร่วม เพราะเป็นประเด็นสำคัญ แต่สังคมมองว่าการนำคนไปร่วมประชุม 81 คน รวมถึงคณะนายกฯ เป็นการผลาญงบฯ การที่ตนและคณะไม่ร่วมเดินทางจึงเป็นการประหยัดงบฯ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ปรับลดองค์คณะที่จะร่วมไปประชุม ให้เป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องและจำเป็นมากที่สุดด้วย ทั้งนี้ จะนำเสนอต่อนายกฯนการประชุมครม.วันที่ 17 พ.ย.นี้

กสม.ชี้ไทยยังมีปัญหาละเมิดสิทธิ

     เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. กล่าวว่า กสม.ชุดนี้เข้ามารับหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2552 โดยรับคำร้องจากกรรมการชุดเก่า 1,563 คำร้อง ทำเสร็จสิ้น 1,555 คำร้อง และระหว่างเข้ารับหน้าที่เมื่อ 25 มิ.ย. 2552 - 30 ก.ย. 2558 มีคำร้องยื่นเข้ามา 4,143 ทำเสร็จ 3,185 คำร้อง และจะส่งต่อให้กสม.ชุดใหม่ 958 คำร้อง การทำหน้าที่ที่ผ่านมาสื่อมวลชนไม่ค่อยเข้าใจในอำนาจหน้าที่ มีทั้งชื่นชมติติงก็เป็นเรื่องธรรมดาแต่ก็อดน้อยใจไม่ได้ บางครั้งเข้าใจอำนาจหน้าที่เราผิด ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนแต่ก็วิพากษ์วิจารณ์เรา

      นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า กสม.ตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงทางการเมือง 2 ครั้ง คือปี 2553 และปี 2556-2557 มีข้อสรุปว่าการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง มีปัญหาเรื่องสิทธิการรับรู้ความจริงและการยอมรับความจริงร่วมกัน ทั้งนี้การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากแก้ปัญหาด้วยการทหาร ยิ่งทำให้ปัญหาขยายตัวเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเสนอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

      นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า 1 ปีเศษที่ผ่านมา มีปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ต้องยอมรับว่าภายใต้กฎอัยการศึกแม้จะยกเลิกไปแล้ว สังคมไทยยังมีปัญหาด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น เสรีภาพของสื่อและนักวิชาการ เป็นต้น แม้กระทั่งการที่ประชาชนอยากมีส่วนร่วมปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาปฏิรูปพลังงาน การจัดการทรัพยากร ก็ถูกสกัดกั้น

      รายงานข่าวแจ้งว่า การรายงานผลงานของกสม.สรุปรายงานการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2556-2557 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าแม้การชุมนุมของ กปปส.และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ ในภาพรวมจะเป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ยังปรากฏว่ามีการดำเนินกิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น อาทิ กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง การปิดล้อมสถานที่รับสมัครส.ส. รวมถึงปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะที่เกินความจำเป็น และพบว่ามีการทำลายทรัพย์สิน การใช้สิ่งเทียมอาวุธ โดยแกนนำไม่สามารถควบคุมได้และไม่ห้ามปราม ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นความผิดเฉพาะราย ไม่กระทบกับการใช้สิทธิชุมนุมของคนส่วนใหญ่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!