WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ปฏญญา

สปท.ซัดกมธ. เลิกปาร์ตี้ลิสต์ บิ๊กตู่ถกอาเซียน รับรองประชาคม

          'อลงกรณ์'แจงวุ่น เลิกส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นแค่ข้อเสนอกมธ.ขับเคลื่อน การเมือง ไม่ใช่ของสปท.ทั้งหมด "นพดล"ยก 8 ข้อค้านยกเลิกส.ว. เลือกตั้ง แล้วให้อำนาจองค์กรอิสระถอดถอนนักการเมือง 'คณิน'ชี้แผนบันได 4 ขั้น สู่นายกฯ คนนอก 'อ.นิธิ'เชื่อเจตนาร่างรธน. หวังให้ใช้ได้ไม่นาน 'แม้ว'ถ่ายรูปคู่หุ่นเหลือง -แดง อวยพรวันเกิด'หญิงอ้อ' ให้บ้านเมืองปรองดองตามที่ฝันไว้ เพื่อไทยแย้งตั้งกรรมการสอบละเมิดคดีจำนำข้าว ลั่นชดใช้เป็นข้าวเปลือก 'วิลาศ'แฉข้าราชการสภาวิ่งเต้นโยกย้าย 'บิ๊กตู่'ร่วมลงนามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9126 ข่าวสดรายวัน

ปฏิญญา - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จับมือร่วมกับผู้นำประเทศอาเซียน หลังพิธีลงนามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ เพื่อรับรองการก่อตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ระหว่างประชุมผู้นำอาเซียน ที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 22 พ.ย.

หวั่นเลือกตรงได้สว.ไม่สุจริต

          วันที่ 22 พ.ย. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องจำนวนของสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. จะมีจำนวน 200 คนหรือไม่ โดยมีทางเลือกในหลายรูปแบบ อาทิ ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมหรือทางตรง พร้อมทั้งมองว่าหากจะให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้วก็ห่วงว่าจะไม่ได้คนที่สุจริต และเที่ยงธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน กรธ.มองถึงประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของส.ว.ว่าเดิมทีส.ว.เป็นสภาพี่เลี้ยง ไม่ได้มีหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ กรธ.ต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนว่าหากให้ส.ว.ทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองเช่นเดิมจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะหากส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็อาจมาจากกลุ่มก้อนเดียวกับนักการเมืองได้ โดยกำลังทบทวนบทบาทของส.ว.

      นายอมรกล่าวว่า เบื้องต้น กรธ.จึงมองว่าหากให้องค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะมาชี้ขาดในเรื่องคุณสมบัติก็อาจต้องมีกฎหมายด้วย หรือให้องค์กรอิสระองค์กรใดมาทำหน้าที่ชี้ขาดการพ้นตำแหน่งทาง การเมืองนั้นๆ อีกทั้ง กรธ.ก็ได้หารือกันว่าจะดีหรือไม่หากให้ศาลรัฐธรรม นูญมาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้มขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามี ผู้เสนอมาว่าจะให้องค์กรใดทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองก็ให้เสนอเข้ามาที่ กรธ.ได้

    นายอมรกล่าวว่า ส่วนความเห็นความห่วงใยของนักการเมืองที่เสนอข้อทักท้วงให้ กรธ.คิดให้รอบคอบในเรื่องอำนาจหน้าที่ถอดถอนของส.ว.นั้น ทาง กรธ.ก็พร้อมรับฟังและนำทุกประเด็นไปแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการที่วางไว้ เพื่อให้ประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

"นพดล"ถาม 8 ข้อเลิกสว.เลือกตั้ง

      นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดของ กรธ.ที่จะให้ยกเลิกส.ว.เลือกตั้ง ว่า กรธ.คิดดีแล้วหรือที่จะยกเลิกส.ว.เลือกตั้ง และจะให้อำนาจถอดถอนนักการเมืองซึ่งเดิมอยู่กับวุฒิสภาไปอยู่ในมือองค์กรอิสระ ตนเคารพในความเห็นดังกล่าวแต่อยากให้ กรธ.พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ โดยขอตั้งคำถามว่า

     1.การที่รัฐธรรมนูญระบุให้ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น ควรให้ประชาชนเลือกตัวแทนของเขาเองดีกว่าให้คนอื่นตัดสินใจแทนประชาชนหรือไม่ 2.การสรรหาหรือวิธีอื่นจะมีความชอบธรรมเท่ากับการให้ประชาชนเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร 3.คนที่ทำคุณงามความดีและมีชื่อเสียงในท้องถิ่นแต่ไม่มีเส้นสาย แต่อยากทำหน้าที่ส.ว.จะมีโอกาสเสนอตัวให้ประชาชนเลือกได้อย่างไร 4.ถ้ากลัวว่าการเลือกตั้งจะทำให้ได้สภาผัวเมียหรือสภาพี่น้อง ก็เขียน ข้อห้ามและคุณสมบัติไว้ได้ใช่หรือไม่

      5.การไปเปรียบเทียบวุฒิสภากับสภาสูงอังกฤษว่าอังกฤษยังมาจากการแต่งตั้ง ควรต้องเข้าใจว่าความเป็นมาต่างกันและที่มาของสมาชิกสภาสูงอังกฤษก็มาหลากหลาย และที่สำคัญไม่มีหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระ และไม่มีอำนาจถอดถอนใช่หรือไม่ 6.การยังคง ให้ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากมายตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ส.ว.ควรยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมมากกว่าจะผ่านวิธีอื่นหรือไม่

ติงองค์กรอิสระถอดนักการเมือง

     7.การตัดอำนาจวุฒิสภาไม่ให้มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองต่อไป แล้วนำอำนาจนี้ไปให้องค์กรอิสระ ถามว่าการให้วุฒิสภาที่มีสมาชิกเกือบสองร้อยคนพิจารณากรณีคำร้องให้ถอดถอน น่าจะรอบคอบและหลากหลายกว่าการให้องค์กรอิสระที่มีคนจำนวน 9 คนหรือไม่ และถ้าใช้เสียงข้างมากก็เพียง 5 คนเท่านั้น 8.ดุลยภาพแห่งอำนาจในการถอดถอนนั้น เดิมเริ่มจากป.ป.ช.ชี้มูลแล้วให้วุฒิสภาลงมติถอดถอน จึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลในระดับหนึ่ง แต่การที่ กรธ. จะให้ทั้งการชี้มูลและการลงมติถอดถอนอยู่ในฝ่ายองค์กรอิสระทั้งสองขั้นตอน จะทำให้ขาดการถ่วงดุลและการตรวจสอบซึ่งกันและกันหรือไม่

       "จึงขอตั้งคำถามเพื่อให้ กรธ.พิจารณาให้รอบคอบและไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะวางโครงสร้างการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก การกล้าเปลี่ยนแปลงและเดินไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องประเมินว่าหลุมข้างหน้าเป็นเหมืองทองหรือปล่องภูเขาไฟ" นายนพดลกล่าว

แฉพฤติกรรมอดีตส.ว.สรรหา

      นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ยืนยันไม่เห็นด้วยกับส.ว.สรรหา เพราะที่ผ่านๆ มาส.ว.สรรหามักออกมาเรียกร้องสิทธิเหมือนกับเป็นส.ส. อยากจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องการแสดงออกทางการเมืองเหมือนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ชอบทำพฤติกรรมต่างๆ นานา อยากดังให้เหมือนกับส.ส. มี ผู้ช่วยและที่ปรึกษาให้เหมือนส.ส. ทั้งที่ไม่มีพื้นที่ต้องไปดูแลชาวบ้านเหมือนส.ส. ตั้งกลุ่มก๊วนทางการเมืองขึ้นมาเคลื่อนไหว ดูแล้ว ไม่เหมือนกับการที่ส.ว.ควรจะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายหรือทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยง ถ้าจะให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดส.ว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเช่นกัน และส.ว.ก็ไม่ควรมีจำนวนผู้ช่วยเท่ากับ ส.ส.เพราะว่างานในหน้าที่ความรับผิดชอบก็แตกต่างกัน ถ้าส.ว.คนไหนอยากมีอำนาจหน้าที่เหมือน ส.ส.ก็ควรลงมาสมัครเป็นส.ส. ไม่ใช่มีพฤติกรรมแบบอีแอบแบบที่ผ่านๆ มา

      นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักเห็นมีแต่พวกอยากดังและมีพฤติกรรมไปในทิศทางสร้างความวุ่นวาย วางตัวไม่เหมาะสมที่จะเป็นสภาสูง หรือวุฒิสภาให้สมกับชื่อที่เรียกขานว่าต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ แต่บางคนก็วางตัวได้ดีมากๆ มีวุฒิภาวะ มีความรู้ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ น่าเคารพ อยากให้ กรธ.กล้าเขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะที่มาของส.ว.ให้ได้คนดีจริงๆ และผูกโยงกับประชาชนโดยตรง หากนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ.ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ เกรงว่าฐานการเลือกส.ว.จะเป็นฐานการเลือกตั้งส.ส.เราก็ใช้วิธีการเลือกส.ว.โดยวิธีขยายเขตเลือกตั้งส.ว.ให้ใหญ่หรือกว้างขึ้นกว่าเขตเลือกตั้งส.ส.ได้

แฉแผนบันได 4 ขั้นมี"คนนอก"

       นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวกรณี กรธ.เสนอให้ริบอำนาจวุฒิสภาในการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เป็นแผนบันได 4 ขั้นไปสู่เป้าหมายการมีนายกฯ คนนอกชัดเจน บันไดขั้นที่ 1 จะได้ใช้เป็นข้ออ้างที่จะให้ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดตามพิมพ์เขียว บันไดขั้นที่ 2 ให้ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บันไดขั้นที่ 3 ให้ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอด ถอนนายกฯ ประธานสภา และส.ส.ด้วยข้อหาทุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรม นูญ และบันไดขั้นที่ 4 ให้สภาเลือกนายกฯ ที่มาจากคนนอกได้

        นายคณิน กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามแผนบันได 4 ขั้นดังกล่าว แม้หลังเลือกตั้งพรรค ที่ได้เสียงข้างมากจะได้เป็นรัฐบาลที่มีส.ส. เป็นนายกฯ แต่ก็จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะต้องเจอทั้งดาบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดาบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดาบศาลรัฐธรรมนูญ และดาบวุฒิสภา ในทางกลับกันถ้าได้นายกฯ คนนอก ทั้งกกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และวุฒิสภา ก็จะแปรสภาพ เป็นเกราะคุ้มกันอย่างดีให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แผนบันได 4 ขั้นที่ว่านี้จะเป็นฝันสลาย ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ส.ว.มาจากการ เลือกตั้งทั้งหมด และนายกฯ ต้องเป็นส.ส. นี่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินว่าร่างรัฐธรรม นูญฉบับนายมีชัยจะผ่านการออกเสียงประชา มติของประชาชนหรือไม่

นายกฯคนนอกขัดหลักปชต.

      นายคณินกล่าวถึงกรณี กรธ.โยนหินถามทางที่ว่านายกฯ จะเป็นส.ส.ก็ได้หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ สุดแล้วแต่สภาจะเลือก แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นส.ส.ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของการเป็นส.ส.ไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้คนที่จะเป็นนายกฯ ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ให้ได้เสียก่อน เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้วก็เท่ากับมีคุณสมบัติเพียงพอ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นส.ส.ไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน แต่กลับบอกว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ไม่ต้องไปสมัคร ส.ส.ก็ได้ สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ของประเทศไทยไม่จำเป็นต้อง ได้รับเลือกตั้งจากคนไทยก็ได้ ถือเป็นเรื่องที่นอกจากจะขัดกันเองแล้ว ยังขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอีกด้วย เพราะเท่ากับว่าให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งส.ส. แต่ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ


ปรองดอง - นายทักษิณ ชินวัตร โพสต์รูปยืนคู่กับหุ่นสีแดงและสีเหลือง ลงในอินสตาแกรม พร้อมขออวยพรวันเกิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยา ให้ฝันที่ต้องการเห็นบ้านเมืองสามัคคีปรองดองเป็นจริง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.

      นายคณิน กล่าวว่า ส่วนกรณีจะกำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ก่อนเลือกตั้งจำนวน 5 ชื่อ โดยอาจเสนอชื่อซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นได้นั้น เข้าใจว่าคงจะออกแบบไว้รองรับบทบัญญัติที่ว่า นายกฯ เป็นส.ส.ก็ได้หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ รวมทั้งการออกแบบให้มีการกาบัตรใบเดียวแล้วให้ ผู้ชนะเป็นส.ส.เขต และผู้แพ้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยหวังว่าจะเอาคะแนนเสียงจากผู้แพ้ซึ่งจะกลายเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากหลายพรรคไปรวมกับผู้แทนส.ส.เขตของพรรคที่เป็นอันดับสองแล้วโหวตให้คนนอก ซึ่งไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งและไม่ได้เป็นส.ส.มาเป็น นายกฯ ซึ่งถ้าทำเช่นนี้คำว่าระบอบประชา ธิปไตยจะถูกเปลี่ยนไปจากการปกครองโดยเสียงข้างมาก (ที่ประชาชนเลือก) เป็นการปกครองโดยเสียงข้างน้อย (ที่ประชาชนไม่ได้เลือก) ขณะเดียวกันการกำหนดให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวทั้งๆ ที่มีสมาชิกสองประเภท คือ ส.ส.เขต และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาคะแนนเสียงของผู้ไปออกเสียงลงคะแนนมิให้ตกน้ำสูญเปล่านั้น เป็นวิธีคิดที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เพราะเท่ากับว่าให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่มีสิทธิปกครองตนเอง และไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของตนเอง

ไม่เห็นด้วยให้ปปช.ถอดถอน

       นายวิทยา แก้วภารดัย สมาชิกสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวกรณี กรธ.ให้อำนาจถอดถอนเป็นขององค์กรอิสระ ว่า น่าจะดี เพราะส.ว.ควรมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเป็นเรื่องหลัก ส่วนอำนาจถอดถอนควรจบไป ที่ผ่านมาอำนาจถอดถอนของส.ว.ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร กระบวน การไต่สวนเรื่องการถอดถอนจึงควรให้เป็นอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรม แต่กรณีที่จะให้อำนาจป.ป.ช.มีอำนาจถอนในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ไม่สมควรไปเพิ่มภาระหน้าที่การทำงานให้ป.ป.ช.มากกว่าเดิม เพราะการทำงานของ ป.ป.ช.ยังมีคดีที่ต้องพิจารณาค้างอยู่เยอะ หน้าที่ในการถอดถอนจึงควรจะแบ่งเบาไปยังศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมน่าจะดีกว่า

    นายวิทยา ยังกล่าวถึงกรณี กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สปท. มีแนวคิดให้ กรธ.ยกเลิกส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ว่า ในที่ประชุม กมธ.การเมืองมีการถกเถียงกันในเบื้องต้น และเห็นว่าสมควรยกเลิกส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากที่ผ่านมาส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ใช่ที่ซ่องสุมของคนดีตามเจตนารมณ์ แต่กลายเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มทุนและสร้างปัญหาขึ้นมากกว่า ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ของส.ส. บัญชีรายชื่อ คือ ต้องการคนดีเข้ามา แต่สุดท้ายจากการตรวจสอบย้อนหลังเราเห็นว่าพรรคการเมืองมักจะเอาคนที่มีอิทธิพลต่อพรรคเข้ามาจึงไม่ตรงตามเจตนา รมณ์ นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีแนวคิดหลักในการแก้ปัญหาคือ กระบวนการในการป้องกันทุจริตการเลือกตั้ง เพราะมาตรการการปฏิรูปในเบื้องต้นควรจะเริ่มจากตรงนั้น ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตเลือกตั้งไม่ได้ การแก้ปัญหาในสังคมก็จะยากขั้น

ปชป.ค้านเลิกบัญชีรายชื่อ

      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีคนที่มีความรู้ความสามารถมาก แต่คนเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถลง ส.ส.เขตได้ เพราะว่าหาเสียงไม่เป็นและไม่ชำนาญ ในพื้นที่ ดังนั้น ควรจะให้โอกาส เปิดที่ยืนให้คนเหล่านี้ได้แสดงความสามารถ โดยการ ให้ไปอยู่ในส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มิเช่นนั้นจะส่งผลให้การเมืองในประเทศ ไทยขาดบุคลากรที่มีหลากหลาย

จ้อนแจงไม่ใช่มติสปท.

       นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.สภาคนที่ 1 กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมา ธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เสนอให้ตัดส.ส.บัญชีรายชื่อให้หมดเหลือเพียงส.ส.เขต 400 คนว่า เป็นความเห็นของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่ความเห็นของ สปท. เพราะ สปท.ได้เสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.เรียบร้อยแล้ว ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าความเห็นต่างๆ ของ สปท.ไม่มีผลผูกมัดกับการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับ กรธ.และเป็นสิทธิของ กรธ.เราจะไม่มีการก้าวก่าย เพราะเราไม่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ สปท.ต่างจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างไรก็ตาม หาก กมธ.ชุดใดต้องการส่งความเห็นให้ กรธ.ในนาม สปท.ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ก่อน ซึ่ง ขณะนี้ไม่มี กมธ.ชุดใดแจ้งเข้ามาว่าต้องการให้ สปท.ส่งความเห็นให้แก่กรธ. ดังนั้น หาก กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองต้องการส่งความเห็นให้ กรธ.อาจจะต้องเป็นในนามตนเอง หากไม่มีการแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ

       "ขอยืนยัน สมาชิก สปท.สามารถแสดงความเห็นต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี วิธีการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ความเห็นของ สปท.และเราไม่มีสิทธิก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ กรธ." นายอลงกรณ์กล่าว

กมธ.ชูส.ส.300-ส.ว.200

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.ขับเคลื่อนฯ ด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวคิดว่าตัวชี้ขาดว่าการเมืองจะดีหรือไม่หัวใจสำคัญมันอยู่ที่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ถ้า การเลือกตั้งดีแล้ว ทั้งส.ส. ส.ว.และนายกฯ ก็จะดีเอง รวมทั้งบ้านเมืองก็จะดีไปด้วย ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต้องร่างให้มีกลไก วิธีการ และมาตรการต่างๆ ให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ทั้งบทกำหนดโทษ และการลงโทษต้องรวดเร็วทันใจเห็นผลที่ ทุกคนรู้แล้วจะไม่กล้าทำอีกต่อไป

       นายวันชัย กล่าวว่า กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนอย่างไรหรือใครจะเสนอแนวทางอย่างไรก็ว่ากันไป ส่วนตนเห็นว่าช่วงเปลี่ยนผ่านส่งมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน ในการเลือกตั้ง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งต้องให้เกิดความสมดุลของความมั่นคง ระหว่างการเมือง ความสงบเรียบร้อย และความรักความสามัคคีของคนในชาติ ตนเห็นว่าบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญจะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น กรธ.ต้องออกแบบในระยะเลือกตั้ง 4 ปีแรกให้เหมาะสม สมดุลทั้งการเมือง ความมั่นคงและการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่เคยเสนอให้มีส.ส.จากการเลือกตั้ง 300 คน ให้มีการสรรหาส.ว.อย่างมีประสิทธิภาพจากกลุ่มสาขาอาชีพและพลังทางสังคม 200 คน ร่วมกันเป็นรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกันประคับประคองประชาธิปไตยให้บ้านเมืองผ่านไปด้วยความเรียบร้อยในระยะสี่ปีแรก ช่วยกันวางรากฐานให้กับการเมืองส่งต่อให้กับการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไปก็จะเกิดความสมดุลทั้งภาคประชาชนและความมั่นคง

"นิธิ"ชี้รธน.หวังใช้ได้ไม่นาน

       เวลา 13.00 น. ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "กฎหมายคืออะไร : มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" โดยโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์

      นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายคนบอกว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐที่ต้องมีบทลงโทษ ซึ่งความคิดนี้มีพลังในสังคมไทยค่อนข้างสูง ทั้งที่จริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะแม้เป็นคำสั่งของรัฐแต่ต้องตั้งอยู่บนประโยชน์ของคนหมู่มาก ต้องมีหลักการศีลธรรมกำกับตัวกฎหมาย ไม่ได้ดูแค่ตัวอักษรที่เขียนไว้ แต่ต้องดูที่วิธีพิจารณาของศาล การพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการ แต่กฎหมายเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คำสั่งของรัฐเป็นกฎหมายได้ ประกอบด้วย

       1.ความยินยอมพร้อมใจของผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้ และต้องสอดคล้องกับค่านิยมที่คนในสังคมยึดถือ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กฎหมายจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา 2.ต้องกระชับ ชัดเจน ต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้ใช้กฎหมายน้อยที่สุด และกฎหมายกับเสรีภาพต้องเป็นเรื่องเดียวกัน 3.ต้องใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าใช้กฎหมายไม่เสมอภาคเท่ากับให้อำนาจใช้กฎหมายแก่คนบางคนเท่านั้น และ 4.ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม กฎหมายต้องสร้างดุลยภาพของ 2 ฝ่าย การพังสลายของระบบกฎหมายในประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นภายใต้คณะรัฐประหาร แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น ถ้ามีโอกาสควรปฏิรูประบบกฎหมายทั้งหมด ทั้งศาล อัยการและตำรวจ


เสวนา - อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ศ.ดร.สมภาร พรมทา และ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการชื่อดัง ร่วมเสวนามุมมองทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ว่ากฎหมายคืออะไร ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.

       นายนิธิ กล่าวว่า กฎหมายที่จะเป็นกฎหมายได้นั้นต้องไม่ลืมเรื่องการยินยอม หลายคำสั่ง หลายกฎหมายที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาโดยการเปลี่ยนแปลงไปแล้วของสังคม สังคมก้าวหน้าไปไกลกว่าสิ่งที่ คสช.เข้าใจ และเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ได้ไม่นาน

"เกษียร"ซัดนิรโทษทหาร

      นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่มี 2 วิธีการหลัก คือ 1.การใช้กำลังบังคับ และ 2.สร้างความยิมยอมพร้อมใจ ทั้ง 2 ส่วนนี้กฎหมายมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการอาศัยกฎหมายมาอ้างให้ความชอบธรรม แต่การจะเกิดหลักนิติธรรมได้ไม่ใช่มีแค่กฎหมาย เพราะหัวใจของหลักนิติธรรมคือรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด ไม่ใช่ทำอะไรได้ตามใจชอบ เราจำกัดอำนาจรัฐด้วยสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองที่ต้องมีเส้นแบ่งจำกัดอำนาจรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย อื่นๆ ที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบของประชาชน ส่วนคนคุมเส้นแบ่งอำนาจรัฐกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน คือ ศาล และตุลาการ ที่ต้องเป็นอิสระ ดังนั้น กฎหมายต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดจึงมีหลักนิติธรรม ไม่ใช่มีแค่กฎหมายที่ออกโดยใครก็ได้ และกฎหมายต้องไร้ช่องโหว่ มีความเป็นกลาง คาดเดาผลล่วงหน้าได้ ไม่ยึดติดบุคคลเชิงรูปแบบ ทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมา และต้องไม่คำนึงเรื่องส่วนตัว

      นายเกษียร กล่าวว่า ตนขอเสนอว่ากรอบคิดกฎหมายสมัยใหม่นั้นกฎหมายให้ความชอบธรรมกับอำนาจรัฐ แต่ต้องอยู่บนฐานการยอมรับถึงจะมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ตนเห็นว่าพิมพ์เขียวของหัวหน้า คสช.ที่ส่งให้ กรธ.นั้น ในข้อ 7 ที่ระบุว่าการใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาจากภายในและนอกราชอาณาจักรไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักความชอบธรรม และความสมเหตุสมผลของกฎหมาย

     นายสมภาร พรมทา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผู้มีความรู้ทางนิติศาสตร์ต้องมีความระมัดระวังที่จะเข้าไปรับใช้อำนาจรัฐ โดยต้องพิจารณาว่าเขามีที่มาอย่างไร

      นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของคณะรัฐประหารอยู่ที่ตอนลงจากอำนาจ เมื่อพ้นจากอำนาจแล้วอาจจะถูกรื้อฟื้นกลับมาได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกันขอเตือนว่าคนที่ครองอำนาจอยู่อย่าเชื่อนักกฎหมายมากนัก เพราะตอนนี้เขียนอะไรก็เขียนได้

สปท.แถลงผลงาน 24 พ.ย.

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสมาชิก สปท. กล่าวว่า วันที่ 23-24 พ.ย.นี้ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. มีคำสั่งงดการประชุมใหญ่ สปท. เพื่อเปิดโอกาสให้ กมธ.สามัญประจำทั้ง 11 คณะ และ กมธ.วิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ใช้เวลาประชุมกันอย่างเต็มที่เพื่อจัดทำรายงานแผนการปฏิรูปส่ง สปท.ภายในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เนื่องจากช่วงนี้ถือเป็นช่วง 1 เดือนที่สอง ในโรดแม็ป 1+1+18 ของสปท. เพราะฉะนั้นจึงคาดว่าประธาน สปท.จะเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแผนการปฏิรูปที่ส่งมาจาก กมธ.แต่ละคณะ จากนั้นจะเป็นการเข้าสู่โรดแม็ป 18 เดือนของสปท.

      นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนี้ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ประธาน สปท.พร้อมรองประธาน สปท.ทั้ง 2 คน จะแถลงรายละเอียดการทำงานที่ผ่านมาและแผนการทำงานในระยะต่อไป พร้อมทั้งตอบคำถามจากสื่อมวลชนในรายการพบสื่อมวลชน (Meet the Press) ประจำ เดือนพ.ย.ที่รับรองชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 ในเวลา 13.00 น.

"ทักษิณ"อวยพรวันเกิด"หญิงอ้อ"

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความภาพอินสตาแกรมส่วนตัว ระบุว่า "วันนี้วันเกิดคุณหญิงอ้อ อยู่ไกลไปอวยพรด้วยตัวเองไม่ได้ เดินผ่านหุ่นสีแดงและเหลืองตั้งอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ไม่ตีกันเลย เข้าไปถ่ายรูปด้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งการปรองดอง มาอวยพรคุณหญิงแทนการมาด้วยตัวเอง เพราะคุณหญิงพูดตลอดเวลาว่าอยากเห็นบ้านเมืองมีความสามัคคีเหมือนเดิม ขอให้ฝันของคุณหญิงเป็นจริง สาธุ"

พท.ยื่นค้านตั้งกก.สอบละเมิด

      นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 23 พ.ย.นี้ ตนจะส่งเป็นหนังสือทางไปษณีย์ตอบรับหรืออีเอ็มเอสถึงรมว.คลัง โดยตรงในฐานะผู้ออกคำสั่ง เพื่อพิจารณาว่าคำสั่ง ก.คลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดลงวันที่ 3 เม.ย.58 ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทั้งมาตรา 4 (1) และ (3) หรือไม่ เพราะการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น ขัดต่อมาตรา 4 (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพราะเรื่องความเสียหายยังไม่อาจตรวจสอบให้ได้ข้อยุติว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเท่าใด คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เคยมีความเห็นเกี่ยวกับความเสียหายที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น จะต้องทราบจำนวนความเสียหายที่แน่นอนเสียก่อน และต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

เล็งชดใช้ข้าวเปลือกคืน

     นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะที่ศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง ทั้งนี้ หากยังมีการใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป การชดใช้นั้นอาจจะต้องดำเนินการตามข้อ 23 (1) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยการขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นข้าวเปลือกที่รับจำนำมา ทั้งนี้ ตามสภาพ ปริมาณ และชนิดของข้าวที่เกิดความเสียหายจริง

วิลาศแฉขรก.สภาวิ่งโยกย้าย

       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีปัญหาการทุจริตในรัฐสภาว่า ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย ที่มีปัญหาในสัญญาจ้างที่จะหมดใน 1-2 วันที่จะถึงนี้นั้น ปรากฏว่าการก่อสร้างดำเนินไปได้เพียง 16% เท่านั้น บริษัท ชิโน-ไทย ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้าง ได้เคยมีการทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและเรียกค่าเสียหายกว่าพันล้านบาทนั้น ซึ่งตนตั้งข้อสงสัยว่าปัญหานี้ทาง นาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่ามีการทุจริตในรัฐสภา จึงเห็นว่าผิดวิสัยการทำงานในองค์กรที่ต้องปกป้ององค์กรของตนเอง และยิ่งออกมาพูดเช่นนี้ก็ทำให้อำนาจในการต่อรองกับชิโน-ไทยลดลง และยังมีเรื่องการขยายเวลาการก่อสร้างอีก รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการของรัฐสภา ซึ่งสงสัยว่าคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่มีความรู้ในข้อมูลมากเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีข้อหาทุจริตเข้ามารับผิดชอบในโครงการดังกล่าวด้วย

      นายวิลาศ กล่าวว่า สำหรับโครงการรัฐสภาที่ได้มีการดำเนินการก่อสร้าง อาคารเรียนนวมินทราธิราชและบรมราชินีนาถนั้น ในส่วนของนักเรียนชาวไทยภูเขา และโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ จำนวน 86 แห่งทั่วประเทศในโครงการนี้ก็ส่อไปในทางทุจริต ทั้งในการประมูลและการก่อสร้าง แทนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่รัฐสภากลับมาดำเนินการเสียเอง อีกทั้ง ยังมีนักการเมืองบางรายที่มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการดังกล่าว จึงตั้งข้อสงสัยว่าขณะนี้รัฐสภากำลังมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเห็นข้าราชการรัฐสภาต้องวิ่งเต้นโยกย้ายกันมากขนาดนี้ ขอเรียกร้องให้นายพรเพชร ตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

บิ๊กตู่ถกอาเซียน-นิวซีแลนด์

     ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศมาเลเซีย ว่า เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ สมัยพิเศษ ครบรอบ 40 ปี ที่ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ การประชุมครั้งนี้มีความพิเศษ คือเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ และมีการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ หลังประชุมมีการออกแถลงการณ์ร่วม ผู้นำอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในวาระ 40 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-นิวซีแลนด์ : หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ สู่ผลประโยชน์และความมั่งคั่งร่วมกัน และมีการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-นิวซีแลนด์ (Plan of Action) ฉบับปี ค.ศ.2016-2020

       พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ เสนอแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ภายใต้สถานะใหม่และแผนงานฉบับใหม่ 3 แนวทาง คือ การขับเคลื่อนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในสาขาที่มีความสำคัญเร่งด่วนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมของอาเซียน ได้แก่ เกษตรกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพลังงานที่ยั่งยืน ประการที่สอง อาเซียน-นิวซีแลนด์ ต้องกระชับความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความต้านทานต่อภัยพิบัติ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประการสุดท้ายต้องทำให้การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสองทาง

ลงนามปฏิญญา 2 ฉบับ

     เวลา 10.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมพิธีลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ.2015 และปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ.2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกัน ซึ่งภายหลังจากที่ผู้นำอาเซียนลงนามในเอกสาร ทั้ง 2 ฉบับ นายกฯมาเลเซียได้ส่งมอบเอกสารที่ลงนามแล้วให้แก่เลขาธิการอาเซียน

      ทั้งนี้ ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ.2015 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 โดยกล่าวถึงพันธกรณีที่ระบุไว้ในเอกสารสำคัญต่างๆ อาทิ วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ.2020, ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2, กฎบัตรอาเซียน, ปฏิญญาหัวหิน-ชะอำ ว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ.2009-2015) ฯลฯ ปฏิญญาฯว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ.2015 เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่ ยึดมั่นในกฎกติกา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง

       สำหรับ ปฏิญญาฯ มุ่งหน้าไปด้วยกัน สาระสำคัญระบุว่า ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมและวัฒนธรรม โดยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 ระบุภาพรวมของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้นทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยประชาคมอาเซียนต้องเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา มองไปข้างหน้า และภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาคมและได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนจะต้องสอดคล้องกับวาระด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ตามเอกสาร "2030 Agenda for Sustainable Development"ของสหประชาชาติ

ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

      เวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 10 ร่วมกับ 18 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและบทบาทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน

      การประชุมเวทีนี้เป็นเวทีที่สำคัญสำหรับผู้นำในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการพัฒนา ตลอดจนประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ครั้งนี้มีการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของโลก อาทิ ขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก การต่อต้านลัทธิแนวคิดสุดโต่ง ตลอดจนการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายกฯเสนอ 5 ข้อสร้างมั่นคง

       พล.ต.วีรชนเผยว่า นายกฯ แสดงความสนับสนุนการออกแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี ของ EAS และการสร้างความเข้มแข็งให้กับ EAS ในการสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค นายกฯเสนอ 5 ประเด็น 1.คือการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงปารีส แสดงถึงความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ จะต้องแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกอย่างทันท่วงทีและสม่ำเสมอ ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จำเป็นต้องป้องกันการใช้ ICT ในทางที่ผิด เพื่อต่อต้านลัทธิสุดโต่งที่ใช้ความรุนแรง และส่งเสริมขบวนการผู้ยึดทางสายกลางระดับโลก

       2.เรื่องคาบสมุทรเกาหลี นายกฯเชื่อมั่นว่า การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดต่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาค และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อ โดยการกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาหกฝ่ายโดยเร็ว 3.เรื่องทะเลจีนใต้ ปัญหานี้ต้องแก้ไขโดยการเจรจาและสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ

      4.ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียเป็นปัญหาเร่งด่วน ไม่มีประเทศใดแก้ไขได้โดยลำพังแต่ต้องอาศัยความร่วมมือ 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำโลกจะไปรวมตัวกันที่ปารีสในสัปดาห์หน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หารืออาเซียน-ญี่ปุ่น

      จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำชาติอาเซียน และนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 18 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น

      พล.ต.วีรชน กล่าวว่า โอกาสนี้ นายกฯกล่าวชื่นชมบทบาทของญี่ปุ่นในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค หวังว่านักธุรกิจญี่ปุ่นจะขยายการค้าและเพิ่มการลงทุนในอาเซียน ผ่านข้อริเริ่มและโครงการใหม่ๆ เช่น ธุรกิจ SMEs อุตสาหกรรมการเกษตร และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไทยสนับสนุนให้มีการส่งเสริมความเชื่อมโยงและการท่องเที่ยวทางทะเล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมถึงญี่ปุ่น ในการลงทุนและการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมย่อยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน

ชื่นชมเกาหลีริเริ่มสันติภาพ

      เสร็จแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำชาติอาเซียนและ น.ส.ปัก กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 17 ที่ประชุมมีการส่งเสริมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ฉบับใหม่ (พ.ศ.2559-2563)

      พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ไทยสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ให้เต็มศักยภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 และเร่งรัดการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ค้าขายกันได้มากขึ้น ไทยชื่นชมข้อริเริ่มของประธานาธิบดี ปัก กึน-ฮเย เรื่องความร่วมมือและสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (NAPCI : แนปซี่) และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีที่กรุงโซล ไทยพร้อมสนับสนุนกระบวนการนี้เพราะสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

สปท.ซัดกมธ. เลิกปาร์ตี้ลิสต์ บิ๊กตู่ถกอาเซียน รับรองประชาคม

       เวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 7 เพื่อทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ ในวาระที่อาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคม และสหประชาชาติกำลังเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

       พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภายหลังการประชุมว่า นายกฯ กล่าวว่า ไทยสนับสนุนการสร้างความสอดคล้องกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนกับหลักการ 4P ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ คือ ประชาชน (People) การรักษ์โลก (Planet) นายกฯมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคาม ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ไทยให้ความสำคัญกับชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ และตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี ค.ศ.2030 ลดร้อยละ 20-25 ภายใต้ INDC หรือ Intended Nationally Determined Contribution ของไทย การรักษาสันติภาพ (Peace) ประการสุดท้าย การสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในทุกระดับ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ นายกฯ ยังได้แสดงความยินดีที่ สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการสหประชาชาติกำลังยกร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

สะท้อนมุมมอง'กม.คืออะไร' เรียนรู้จากอดีตสู่ปัจจุบัน

หมายเหตุ - โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน

นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส
     ในรัฐโบราณ กฎหมายออกมาโดยคน แต่มักอ้างสิ่งเหนือกว่ามนุษย์ อ้างเทวดาบ้าง ศีลธรรมบ้าง เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่ากฎหมายอยู่ที่กำแพงจักรวาล แล้วมีเทวดาเหาะไปเอามาเขียนเป็นกฎหมาย แต่หลักการนี้ดูเหมือนถูกปฏิเสธโดยพวกปฏิฐานนิยม ที่อ้างเสมอว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ต้องมีบทลงโทษเป็นนอร์ม (Norm) ที่รัฐรับรองและตั้งบทลงโทษไว้ นักคิดแบบโพสิทิวิซึ่ม (Positivism) พูดว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ต้องตั้งอยู่บนประโยชน์ของคนหมู่มาก และมีหลักการทางศีลธรรมกำกับกฎหมายอยู่ด้วย ไม่ได้ปฏิเสธ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าฐานทางศีลธรรมต้องมีในกฎหมายด้วยเหมือนกัน
     อีกสำนักคิดแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและสแกนดิเนเวียคือ รีกัล รีลิสติก (Regal realistic) มองว่าคำพิพากษาเกิดจากวิธีคิดอย่างไร เพราะแม้ตัวอักษรจะบอกว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่ความจริงคืออย่าผิวดำมาก เพราะจะไม่เท่าเทียมกันเท่าไหร่ กฎหมายอเมริกันจึงต้องดูคำพิพากษา เหล่านี้เรียกว่าสัจนิยมฝ่ายรัฐ แต่มีสัจนิยมฝ่ายประชาชนด้วย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ตำรวจยิงคนดำ จะมีประชาชนทั้งดำและขาวจำนวนมากออกมาบนท้องถนนเผาทำลายรถยนต์ สถานที่ต่างๆ เพราะถ้าเราเชื่อเรื่องสัจนิยม ต้องยอมรับว่ารัฐมีสัจจะได้ ประชาชนมีสัจจะได้ด้วย ยอมรับการสร้างดุลยภาคทางกฎหมายของสองฝ่าย ไม่ใช่รัฐเพียงฝ่ายเดียว
    อีกสำนักคือสังคมวิทยาทางกฎหมาย มองว่าสิ่งที่เป็นกฎหมายได้ต้องมีปัจจัยภายนอกหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงคำสั่งของรัฐ เชื่อว่ากฎหมายออกมาต้องสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม กฎหมายคือสิ่งที่ผนวกคนในสังคมเข้าด้วยกัน ส่วนหากกฎหมายไม่เปลี่ยนจะยิ่งผลักให้คนในสังคมห่างจากกัน
     สำนักนิติปรัชญาบอกว่า สิ่งที่เป็นกฎหมายได้ต้องประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 4 อย่าง คือ 1.ต้องมีการยินยอมพร้อมใจของประชาชน ทั้งหมดที่พูดมาไม่มีใครปฏิเสธความยินยอมพร้อมใจ แต่อาจออกมาในลักษณะต่างกัน จะเป็นกฎหมายได้ต้องสอดคล้องกับค่านิยมคนในสังคมนั้นที่ยึดถือค่านิยมนี้เปลี่ยนตลอดเวลา ฉะนั้นกฎหมายจะได้รับความยินยอมพร้อมใจต้องปรับตลอดเวลา 2.คำสั่งที่เป็นกฎหมายได้ต้องกระชับ ชัดเจน จะอาศัยวิจารณญาณส่วนตัวของผู้บังคับใช้กฎหมายน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ รู้ว่าอะไรบ้างเป็นความผิด ฉะนั้นกฎหมายกับเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้ากฎหมายไม่ชัด ไม่บอกว่าทำอะไรแล้วผิด คนก็ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าแสดงความเห็น 3.ถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น ในสหรัฐ เราสืบทราบว่าสิ่งที่เราทำแล้วคนอื่นทำไม่ผิด จะถูกยกฟ้องทันที เพราะเมื่อกฎหมายไม่ถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค เท่ากับเป็นการให้อำนาจการใช้กฎหมายกับคนบางคนเท่านั้น เท่ากับว่าใครกำปั้นใหญ่จะชี้ได้ว่าใครถูกผิดตลอดเวลา และ 4.ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีความยุติธรรม
      ภายใต้ระบอบการปกครองให้ความเคารพต่อคำสั่งแล้วไม่เป็นไปตาม 4 ข้อข้างต้น เราจะอยู่กันอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.ความหวังว่าสภาวะนั้นจะเป็นสภาวะชั่วคราว 2.ในความเป็นจริง คิดว่าเราควรกลับไปดูว่าความพังสลายของระบบกฎหมายในประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใต้รัฐประหารชุดนี้ แต่สืบเนื่องมาเป็นเวลานาน ฉะนั้นถ้าเรามีโอกาสต้องปฏิรูประบบกฎหมายทั้งหมดทั้งศาล อัยการ ตำรวจ เรือนจำ
     เวลาศาลเผชิญหน้ากับทหารมันมีหลายแบบ เช่น ตัดสินแล้วลาออก หรือถ้ายังรักตัวกลัวตาย ที่ปากีสถานเอาทฤษฎีความจำเป็นมาใช้ ที่มองว่ารัฐประหารเกิดได้ถ้าจำเป็น ฉะนั้นสถานการณ์ไม่จำเป็นก็รัฐประหารไม่ได้ อย่างน้อยศาลควรตัดสินคดีไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
    น่าสังเกตว่าการที่เนติบริกรในประเทศไทยร่างรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ คุณเชื่อหรือว่าจะอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน คณะรัฐประหารลงจากอำนาจได้อย่างไร แต่ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ร่างไว้ 2-3 ปี ก็เลิกใช้ แต่จะเลิกด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ไม่มีหรอกที่คนร่างคิดว่าจะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยที่ยืดยาวเป็นเวลานาน ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2540 
   สมัยผมยังหนุ่ม ใครๆ ก็ยอมรับมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ปัจจุบันถ้าออกชื่อมีชัย คนจะบอกว่าไม่ใช่ๆ เพราะคิดว่าสังคมก้าวหน้าเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจได้



เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มธ.
     การเมืองการปกครองหรือการใช้อำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่มี 2 วิธีการหลัก คือ 1.การใช้กำลังบังคับ 2.การสร้างความยินยอมพร้อมใจ คำถามคือ "แล้วอะไรคือฐานความชอบธรรมที่มาให้ความชอบธรรมกับกฎหมาย จนกระทั่งกฎหมายนั้นชอบธรรมพอที่พลเมืองยินยอมพร้อมใจ"
        หัวใจที่ให้ความชอบธรรมกับกฎหมายสมัยใหม่คือ ในแนวคิดทางปรัชญาเสรีนิยม 1.Individual self-ownership บนฐานคิดนี้ ทำให้สิทธิเสรีภาพของเรางอกเงยมา ทุกคนมีเสมอภาคเท่าเทียมกัน เรามีสิทธิเสรีภาพเพราะเราเป็นเจ้าของร่างกายเราเอง ถ้าบุคคลทำความผิดไม่มีหลักตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร นอกจากนี้กฎหมายยังตราขึ้นเพื่อควบคุมอำนาจอาญาสิทธิ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้คงที่ ไม่ให้การใช้อำนาจเป็นไปตามอำเภอใจหรืออารมณ์วูบไหวของผู้มีอำนาจ เป็นที่มาของกฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งหลาย ส่วนสังคมสมัยใหม่ กฎหมายเป็นเครื่องมือลายลักษณ์อักษรในระบอบเสรีนิยมไม่ให้รัฐล่วงล้ำประชาชนตามใจชอบ

หัวใจหลักของนิติธรรม คือรัฐที่มีอำนาจจำกัด ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เราจำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะบุคคลและเสียงข้างน้อยต้องมีเส้นที่รัฐห้ามเข้า จะข้ามเส้นตามใจชอบไม่ได้ ไม่ให้ล่วงละเมิดสิทธิพลเอง เส้นคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิ ต้องออกโดยตัวแทนโดยชอบ และต้องมีคนมาคุมเส้น เช่น ศาล ตุลาการที่มีความเป็นอิสระ

2.Instrumental rationality ของแม็กซ์ เวเบอร์ ปี 1922 เขาเขียนบทความไว้ว่า การปกครองที่ชอบธรรม 3 ประเภท อธิบายว่าสิทธิอำนาจ หมายถึงผู้คนโน้มเอียงจะเชื่อคำบัญชาของเขา ได้แก่ 

2.1 Traditional authority สิทธิอำนาจอันเกิดตามประเพณี มีอำนาจเพราะได้รับสืบทอดกันมา อำนาจพิเศษของขุนนางอำมาตย์อ้างอิงฐานประเพณี รองรับด้วยชุมชน ไม่ต้องตรวจสอบ ทำตามโดยไม่สงสัย เช่น ศาสนา จึงมีหลักเทวราชา หลักธรรมราชา แนวคิดนี้บอกว่าชีวิตคุณเป็นของชุมชนที่สังกัด 

2.2 Rational-legal authority สิทธิอำนาจโดยชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ กติกา ผู้จัดการกฎเกณฑ์นี้ต้องได้รับเลือกมา แยกชีวิตส่วนตัวออกจากหน้าที่ เป็นสิทธิอำนาจเกิดในสมัยใหม่ กลายร่างเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร 

2.3 Charismatic authority สิทธิอำนาจอันเกิดแก่บารมี เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของคนคนนั้น แสดงว่าอุทิศตนแก่ผู้ปกครอง เมื่อบ้านเมืองเกิดความโกลาหล ปรากฏผู้นำบารมีแสดงกฤษดาภินิหาร แต่เป็นเรื่องชั่วคราว หมดผู้นำบารมีแล้วก็จบ ไม่อาจสืบทอดได้ ในแนวคิดนี้ชีวิตเป็นของผู้นำบารมี 

ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์สูงมากแต่ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้รัฐหวงอำนาจจากชาวบ้านแต่ทำงานไม่เป็นโล้เป็นพาย เรื่องๆ เดียวแต่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ รัฐจึงเป็นแค่ตัวตลก เหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง แต่ทั้งหมดยังอยู่ได้เพราะมีอำนาจนำทางการเมืองที่ทรงพลังพอจะเหนี่ยวรัฐที่แตกเป็นเสี่ยงให้ทำงานที่สำคัญๆ ได้ แต่เราไม่มีอำนาจนำนี้แล้ว คิดว่าอาญาสิทธิ์ของ คสช. ใช่อาญาสิทธิ์ที่มีผลในทางปฏิบัติที่แท้จริง เพราะไทยเป็นเขตอำนาจของหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งตุลาการ ยังมีผู้พิพากษาคัดค้านการเข้ามาของ คสช. นั่นแปลว่า คสช.ต้องระวัง ไม่ใช่ว่านึกจะทำอะไรก็ทำได้ แม้จะมี ม.44 รองรับ แต่ในทางปฏิบัติเขาใช้ได้ไม่เต็มที่ เขตอำนาจกู คุณอย่ามายุ่ง

ม.17 ของจอมพลสฤษดิ์ เป็นการรวบอำนาจนิติบัญญัติและบริหารไว้ด้วยกัน คล้าย ม.44 ในกรณีหัวหน้า คสช. เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีอำนาจกระทำหรือยับยั้งชอบด้วยกฎหมายเป็นที่สุด ท้ายที่สุดเมื่อทำแล้วก็รายงานสภาและนายกฯ เนื้อความโครงสร้างของการเขียนคล้ายกันมาก ที่น่าสนใจคือ ม.44 ชัดกว่าด้วย เพราะระบุว่าเป็นที่สุดทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!