WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1หยดลดรอน

ให้ยุติคุกคาม 323 อจ.เข้าชื่อ สภายุโรปส่งจม. เชิญปูไปร่วมถก

      323 คณาจารย์จี้คสช.ยุติคุกคาม-ลิดรอนสิทธิเสรีภาพวิชาการ'บิ๊กป้อม' เผยพบกลุ่มเคลื่อนไหวที่อีสาน เชิญพูดคุยบางส่วน อีกหลายคนตามดูพฤติกรรม ชี้แจง'ยูเอ็นเอชซีอาร์'ปมส่งกลับ 2 ผู้ลี้ภัยชาวจีน กรธ.ยันอำนาจถอดถอน ป.ป.ช.ยังต้องส่งศาลการเมืองพิจารณา โต้แผนบันได 4 ขั้น ปูทางนายกฯ คนนอก กมธ.ขับเคลื่อนฯ การเมือง รับได้นายกฯ ไม่เป็นส.ส. แต่ต้องได้เสียงโหวตร้อยละ 75 รัฐสภายุโรปส่งเทียบเชิญ'ปู' ร่วมถกการเมือง ไทยหลังรัฐประหาร

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9127 ข่าวสดรายวัน

หยุดลิดรอน - กลุ่มเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ยื่นหนังสือพร้อมแนบ 323 รายชื่อ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ขอให้ทหารหยุดลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย


มะกันย้ำผิดหวังปม 2 ผู้ลี้ภัยจีน
       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่กระทรวงกลาโหม นายกลิน เดวีส์ เอกอัคร ราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม
      นายกลิน เดวีส์ กล่าวหลังเข้าพบพล.อ. ประวิตร ว่า จากที่ทางการไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวจีน 2 คนกลับจีนนั้น ทางสหรัฐรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นไปได้สูงว่าทั้ง 2 คนอาจถูกดำเนินคดีหรือ ถูกทรมาน
      เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยกับอเมริกา นายกลินกล่าวว่า เรามีความสัมพันธ์มานานกว่า 60 ปี หวังว่าความสัมพันธ์จะคงดำเนินต่อไปได้ ขณะที่การฝึกร่วมคอบร้าโกลด์จะยังเกิดขึ้นแน่นอนในเดือนก.พ. 2559 ในรูปแบบไลต์เยียร์เหมือนปีที่แล้ว เป็นการฝึกแบบพหุภาคีร่วมกันหลายประเทศ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกันฝึก ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือในปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาด้านภัยพิบัติและการ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เมื่อถามว่า รู้สึกปลอดภัยหรือไม่ที่มาทำหน้าที่ในไทย นายกลินกล่าวว่า รู้สึกปลอดภัย มีความปลอดภัยอย่างมาก

ประวิตรเคลียร์ยูเอ็นแล้ว
      ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือ ถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวจีน 2 คน ว่า เรื่องนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ชี้แจงกับตนว่าเพิ่งจับคนจีน 2 คนได้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ส่วนการออกบัตรผู้ลี้ภัยนั้นเขาไม่ทราบเรื่อง สตม.จึงตรวจสอบพบว่าทั้ง 2 คนมีคดีค้ามนุษย์อยู่ที่เมืองจีน เมื่อจีนประสานมาจึงต้องส่งตัวกลับประเทศตามปกติ อีกทั้งตนชี้แจงต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) แล้วว่าทำทุกอย่างตามหลักสิทธิมนุษยชน ถ้าต่อไปในอนาคตหากจับกรณีแบบนี้ได้อีกตนจะสอบถามยูเอ็นเอชซีอาร์ก่อนทุกครั้ง แต่ยูเอ็นเอชซีอาร์ก็เข้าใจดี และได้ตกลงกันว่าจากนี้มีอะไรเกิดขึ้นในกรณีแบบนี้ตนจะสอบถามยูเอ็นเอชซีอาร์ก่อนทุกครั้ง
       ส่วนการเข้าพบของเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลและคสช. ไม่มีเรื่องใดต้องชี้แจงเป็นพิเศษ เพราะการดำเนินการของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาทางสหรัฐรับทราบหมดแล้ว ที่ผ่านมาก็พบปะกันมาบ้างแล้วในตำแหน่งต่างๆ ของสหรัฐ หากถามเรื่องความมั่นคง ตนก็พร้อมตอบ เชื่อว่าไม่มีอะไรที่พิเศษ ส่วนที่สหรัฐยังต้องการให้ไทยกลับเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เราก็เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วเพราะโรดแม็ปเราก็เดินมาไกล ทุกอย่างต้องมีการเลือกตั้ง

ไม่ห่วงรธน.จะมีหน้าตาอย่างไร
     พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือด่วนที่สุดที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. 2558 แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 10 ข้อ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีประเด็นเสนอให้ทหารมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนประชาชน ว่า ทหารก็มีสิทธิเหมือนประชาชน เพียงแต่ใส่เครื่องแบบ ในทางการเมืองทหารก็คือประชาชน ส่วนที่กังวลว่าอาจขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหารปี 51 ที่ระบุทหารมีระเบียบวินัยและมีอาวุธอยู่ในมืออาจไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองได้นั้น คงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะทหารยังอยู่ในกรอบ ระเบียบวินัยก็คือระเบียบวินัย แต่แนวทางด้านการเมืองต้องแยกออกจากกัน ระเบียบวินัยของทหารนั้นชัดเจน และทหารต้องวางตัวเป็นกลางการจะไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองต่างๆ คงเป็นไปไม่ได้
     พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ดูความชัดเจนของรัฐธรรมนูญก่อนตนยังพูดอะไรไม่ได้ ขอให้เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปดูว่าลำเอียง ท้ายสุดต้องรอดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ส่วน 10 ข้อของคสช. ใครเป็นผู้สรุปนั้นตนไม่ทราบ ส่วนที่มีข้อเสนอให้บัญญัติกฎหมายผ่าทางตันนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นอย่างเดิม ถ้านายมีชัยเขียนร่างรัฐธรรมนูญให้การเมืองไม่มีทางตันได้ก็แล้วแต่นายมีชัย คสช.ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ไม่อยากให้มีทางตันทางการเมืองเพราะถ้าไม่มีกฎหมายรองรับก็จะเกิดความขัดแย้งอีก ถ้าไม่มีทางตันมันก็เดินไปได้เรื่อยๆ ตนไม่ห่วงว่าหน้าตารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร เพราะเรามีประชามติ อย่าไปกังวลมากเกินไป

พบมวลชนเคลื่อนไหวที่อีสาน
        เมื่อถามถึงอำนาจส.ว. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า อย่าพูดตอนนี้เลยจะกลายเป็นว่าตนวิจารณ์การเมือง ขอให้ถึงตรงนั้นก่อนค่อยว่ากัน ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว หากประชาชนต้องการอย่างไรเราก็ต้องทำตามนั้น หรือหนังสือพิมพ์ต้องการอย่างไรก็เขียนให้เป็นกลางเพื่อทำให้ประเทศอยู่ได้และมีความเจริญ
      เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวทางภาคอีสาน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนได้รับรายงานแล้วและสั่งให้หน่วยข่าวลงพื้นที่หาข่าวต่อไป พบว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนจริง และได้เชิญตัวบางส่วนมาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว เจ้าหน้าที่กำลังติดตามพฤติกรรมอีกหลายคน โดยจะทยอยเชิญตัวมาพูดคุย ทั้งหมดพบว่ามีแผนจะมาก่อความวุ่นวาย เห็นได้ว่ายังมีความไม่เรียบร้อยและมีความขัดแย้ง แค่คิดจะก่อความวุ่นวายก็แย่แล้วแต่ นี่ออกมาเดินเป็นขบวนการ ขอให้สื่อช่วยหาข่าวกันบ้างในเรื่องนี้ บ้านเมืองจะได้สงบ

323 อจ.ยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่
      ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กลุ่มเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมตัวแทนคณาจารย์ 10 คน เข้ายื่นหนังสือ พร้อมแนบรายชื่อคณาจารย์จากทั่วประเทศและเครือข่ายอาจารย์จากต่างประเทศ 323 รายชื่อ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ผ่านนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน เพื่อขอให้ทหารหยุดลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ หยุดห้ามนักศึกษาทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ยุติการจับกุมนักศึกษาและออกหมายเรียกอาจารย์บางคนที่เคลื่อนไหวแสดงความเห็น จากกรณีมีหมายเรียกและตั้งข้อหาคณาจารย์ ที่ออกแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

จี้ทหารหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพ
      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องถึงนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช. หยุดข่มขู่ คุกคามคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน ที่จัดกิจกรรมการเมือง และหยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาการตามที่คสช.ต้องการ หากยังมีการคุกคามและข่มขู่ ทางเครือข่ายฯ จะพิจารณาการเคลื่อนไหวในระดับที่เข้มข้นต่อไป ทั้งนี้ จะขอติดตามผลการดำเนินการกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 คน ที่ถูกหมายเรียกรายงานตัวในวันที่ 24 พ.ย.นี้ว่าจะออกมาทิศทางใด รวมถึงรอฟังผลการเรียกร้องหลังจากยื่นเรื่องถึงนายกฯภายใน 15 วัน ก่อนจะหารือถึงแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป
      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ยืนยันการเรียกร้องเรื่องนี้ไม่มีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลก่อนตามที่ตั้งข้อสังเกต การเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจารย์มีจุดยืนที่ชัดเจน หากรัฐบาลใดมีนโยบายการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมสนับสนุน หากไม่ถูกต้องก็ต้องแสดงความเห็น การปิดหู ปิดตา คุกคามด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดจะยิ่งนำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่สามารถนำสังคมไทยสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและสันติสุขได้

อจ.วลัยลักษณ์ร่วมด้วย
       เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี ประกอบด้วยอาจารย์จากสำนักวิชาศิลป ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 11 คน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน และคัดค้านการดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย จากกรณีเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ถูกออกหมายเรียกจากตำรวจในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคสช. มีเนื้อหาระบุ การตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ คุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคสช. ทั้งที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดีและเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้กับสังคม จึงเรียกร้องให้คสช.หยุดข่มขู่คุกคาม และหยุดการดำเนินการทางกฎหมายต่อเครือข่ายคณาจารย์ฯในปัจจุบันและอนาคต เพื่อคืนบรรยากาศของเสรีภาพและประชาธิปไตยสู่สังคมไทย
       เฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุว่ากลุ่มเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร) มีกำหนดไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก ในวันที่ 24 พ.ย. เวลา 15.00 น. ที่สภ.ช้างเผือก

สนส.ป้องเสรีภาพทางวิชาการ
      ด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรื่อง การออกหมายเรียกนักวิชาการข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ความว่าการแถลงความเห็นทางวิชาการเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ 1.การจัดแถลงเรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษาเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ เป็นประเด็นสาธารณะและเป็นภารกิจโดยตรงของนักวิชาการมหาวิทยาลัย ถือเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการซึ่งบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับ เช่น ฉบับ 2517 มาตรา 42 ฉบับ 2540 มาตรา 42 ฉบับ 2550 มาตรา 50 และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 และ 5 ดังนั้นกระทำของกลุ่มนักวิชาการเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญให้กระทำได้
       2.ข้อหาที่ปรากฏในหมายเรียกตรงกับความผิดตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 และตามประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารนั้น ไม่อาจปรับใช้กับการจัดแถลงความคิดเห็นต่อสาธารณะของกลุ่มนักวิชาการครั้งนี้ได้ เนื่องจากการกระทำนี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อหาดังกล่าว เพราะไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่วไป เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่ง คสช.
      ทางกลุ่มมีข้อเสนอและเรียกร้อง 1.ขอเป็นกำลังใจให้กลุ่มนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีครั้งนี้ และนักวิชาการทุกคนให้ยืนหยัดใช้เสรีภาพทางวิชาการทำหน้าที่ด้วยความกล้าหาญต่อไป 2.ขอเรียกร้องให้ คสช. รัฐบาล กองทัพ และตำรวจ ยุติการใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือข่มขู่ คุกคามนักวิชาการ และยุติการดำเนินคดี 3.ขอให้สังคมไทยร่วมกันเรียกร้องให้ คสช. รัฐบาล กองทัพและตำรวจ เคารพในสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการ ยุติการคุกคาม ข่มขู่

กรธ.ย้ำเลือกทางอ้อมส.ว.
      เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ
       จากนั้นเวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงหลังประชุมว่า ที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูป การศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย มีนางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดม รัฐอมฤต เป็นอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาและศึกษาแนวทางปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
     นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มาส.ว. กรธ.มีแนวโน้มชัดเจนว่าให้วุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมือง ซึ่งกรธ.ศึกษาแนวทางในอดีตพบว่า การเลือกตั้งส.ว.ทางตรงจากประชาชน จะถูกอิทธิพลจากนักการเมือง ส่วนการสรรหาก็ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน และการนำทั้งสองแบบมาผสมกันก็ไม่ทำให้ปัญหาที่มีหมดไป กรธ.จึงมีแนวคิดว่าจะใช้การเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิชาชีพคัดเลือกตัวแทนของตัวเองมาเป็นส.ว. อาจจะเลือกเป็นตัวแทนตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค กระทั่งได้ตัวแทนกลุ่มระดับประเทศ ส่วนคนที่ไม่มีอาชีพก็อาจบัญญัติให้สังกัดในกลุ่มอื่นๆ โดยจำนวนส.ว.อาจจะมี 200 คน ที่กรธ.คิดว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งรายละเอียดตรงนี้กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าส.ว.จะไม่มีอำนาจถอดถอน

ปมถอด-ปปช.ยังต้องส่งต่อศาล
      นายนรชิตกล่าวว่า ส่วนที่วิจารณ์เรื่องอำนาจการถอดถอนที่โอนไปให้องค์กรอิสระเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริง กรธ.กำหนดหน่วยงานที่พิจารณาให้นักการเมืองพ้นตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนช่องทางการยื่นเรื่องหรือให้องค์กรใดไต่สวนว่าจะเข้าข่ายพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ยังไม่พิจารณา ขณะที่ป.ป.ช.จะไม่มีอำนาจถอดถอน แต่จะทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนชี้มูลความผิดนักการ เมืองและข้าราชการในคดีทุจริตและส่งฟ้องศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้น กรธ.ไม่ได้โยกอำนาจการพิจารณาการพ้นตำแหน่งหรือการถอดถอนไปให้องค์กรอิสระแต่อย่างใด

โต้แผนบันได 4 ขั้น
       นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยวิจารณ์แนวคิดของกรธ. ที่อาจกำหนดให้ริบอำนาจถอดถอนส.ว.แล้วให้เป็นหน้าที่องค์กรอิสระแทนเพื่อเป็นแผนบันได 4 ขั้น นำไปสู่นายกฯ คนนอกว่า ยืนยันว่ากรธ.ไม่ได้จะให้ ส.ว.มาจากการสรรหาเพื่อเป็นเกราะกำบังองค์กรอิสระ หรือนายกฯ ที่มาจากคนนอก รวมทั้งไม่ได้ให้มีองค์กรอิสระมาเป็นเกราะคุ้มครองนายกฯ คนนอกตามที่มีพรรคการเมืองระบุ
      นายอมร กล่าวว่า เบื้องต้นกรธ.หารือและเห็นว่าจะให้องค์กรอิสระมีอิสระ ถูกตรวจสอบได้ สร้างมาตรฐานใหม่ และเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้คนที่เป็นองค์กรอิสระอยู่แล้วลาออกไปลงองค์กรอิสระอีกแห่งก่อนพ้นวาระ เพราะอาจถูกมองว่าคนคนนั้นขาดความเที่ยงธรรมได้ ขณะเดียวกัน กรธ.จะศึกษาให้รอบคอบในส่วนที่มาของ ส.ว. เพื่อมุ่งเน้นให้มีการเปลี่ยนแปลง หากไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงก็อาจนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปัดฝุ่นใหม่ก็ได้

พท.อัดฉบับซ่อนรูป
      นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการให้อำนาจองค์กรอิสระถอดถอนนักการเมืองแทน ส.ว.ว่า การจะให้ป.ป.ช.ถอดถอนได้เลยโดยไม่ต้องส่งเรื่องมาที่ ส.ว. ต้องถามว่าองค์กรอิสระที่จะมีอำนาจถอดถอนนี้มีที่มาอย่างไร ใครตั้ง มองดูแล้วเห็นว่าไม่ได้มาจากประชาชนเลย ตนคิดว่าคนที่จะมีอำนาจถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งควรยึดโยงกับประชาชน ถ้า ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้วไปเป็นผู้คัดเลือกองค์กรอิสระ อย่างนี้ถือว่ายึดโยงกับประชาชน เราจะไม่มีปัญหาเลย เลือกตั้ง 80% แต่งตั้ง 20% ก็ยังถือว่ายุติธรรม หรือเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่งก็ยังดีกว่าฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะซ่อนรูปอยู่นี้
       นายวรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่าองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ทำงานกันอย่างไร ยิ่งให้อำนาจติดดาบเพิ่มขึ้นอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย เห็นชัดอยู่แล้วว่าต้องการลดขั้นตอน การถอดถอน ต่อไปคนที่โดนไล่บี้คือฝ่ายประชาธิปไตยที่เห็นตรงข้ามกับฝ่ายเผด็จการ ทั้งนี้ ขอถาม กรธ.ว่ากลัวอะไร กลัวอำนาจประชาชนทำไม ถ้าจะให้อำนาจองค์กรอิสระถอดถอน ก็ให้คนที่คัดเลือกองค์กรอิสระมาจากประชาชน

มติกมธ.รับได้นายกฯ คนนอก
       ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเผยหลังประชุม ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องที่มาของนายกฯ เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องในทางเดียวกันว่า ที่มา นายกฯ ต้องมาจากส.ส.เป็นผู้ลงมติเลือก ซึ่งจะเป็นส.ส. หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ แต่หากเป็นกรณีนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากส.ส. ต้องมีเสียงส.ส.สนับสนุน 3 ใน 5 ของ จำนวนส.ส.ทั้งหมด เพื่อเปิดช่องหาทางออกให้กับประเทศในภาวะวิกฤต และป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในยามที่หาทางออกไม่ได้ บางครั้งต้องยอมรับเรื่องนายกฯ คนนอก เพราะถึงอย่างไรก็มาจากความเห็นชอบ จากสภา ถือว่ามาจากประชาชนเช่นกัน แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรง

ต้องมีเสียงรับรอง 75%
      นายเสรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงมาตรการแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้ง โดยเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาการซื้อเสียง ต้องมีบทลงโทษรุนแรงกับทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมทุจริต เช่น นายทุน ส.ส. หัวคะแนน รวมถึงคนซื้อเสียงด้วย การลงโทษต้องไม่รอลงอาญา เช่น จำคุก 20-30 ปี การถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และหากพบว่ามีกรรมการบริหารพรรคร่วมรู้เห็นทุจริตหรือซื้อเสียง ต้องถูกยุบพรรคด้วย
       ด้านนายสมพงษ์ สระกวี กมธ.ขับเคลื่อนฯ ด้านการเมือง กล่าวว่า ในที่ประชุมกมธ. เห็นในแนวทางเดียวกันถึงที่มาของนายกฯ ว่า หากมาจากส.ส.ให้ใช้เสียงส.ส.รับรองไม่ต่ำกว่าครึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมด แต่หากเป็นกรณีนายกฯคนนอก ต้องมีเสียงส.ส. สนับสนุนไม่ต่ำกว่า 75% เพื่อวางเงื่อนไขให้กรณีนายกฯ คนนอกเกิดขึ้นได้ยาก และต้องเป็นกรณีจำเป็นที่ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันจริงๆ เท่านั้น รวมทั้งเพิ่มเติมเงื่อนไขด้วยว่า หากส.ส.ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการเลือกตัวนายกฯ ภายใน 30 วัน หลังเปิดประชุมสภาให้ยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่
       นายสมพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมวิเคราะห์กันว่า กรณีนายกฯ คนนอกคงเกิดขึ้นลำบาก เพราะพรรคขนาดใหญ่ พรรคขนาดกลางต้องให้ความยินยอมด้วย หากพรรคใหญ่และพรรคกลางไม่เล่นด้วยโอกาสมีนายกฯ คนนอกจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องใช้เสียงส.ส.รับรองมากกว่า 75% แต่ความเห็นเหล่านี้ยังไม่ใช่มติอย่างเป็นทางการของกมธ. เป็นเพียงความเห็นที่กมธ.เห็นคล้อยไปในแนวทางเดียวกัน จะต้องนำไปหารือฝ่ายต่างๆ เช่น กรธ. ให้เกิดความชัดเจนก่อน

รัฐสภายุโรปเชิญ"ปู"คุยการเมืองไทย
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ตัวแทนจากรัฐสภายุโรป โทรศัพท์ถึงน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขอคำยืนยันถึงการตัดสินใจเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังรัฐประหาร ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หรือเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส หลังจากรัฐสภายุโรปได้ส่งหนังสือเชิญมาถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2558 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ให้คำตอบต่อคำเชิญ ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า คสช.จะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปพูดคุย หรือไม่
      รายงานข่าวแจ้งว่า เนื้อหาในหนังสือเชิญลงนามโดย นายเอลมาร์ บร็อก ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภายุโรป และนายแวร์เนอร์ แลงเกิน ประธานคณะผู้แทนความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อความว่า รัฐสภายุโรประลึกถึงการเยือนสหภาพยุโรปที่ประสบความสำเร็จในฐานะนายกฯ ของไทย ช่วงมี.ค.2556 และสามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างประเทศไทยกับประชาคมยุโรป และประทับใจที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับรัฐสภายุโรปในการพบปะกับ มาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป

เกาะติดการเมืองไทยใกล้ชิด
       หนังสือระบุ รัฐสภายุโรปติดตามพัฒนาการทางการเมืองของไทยด้วยความกังวลอย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาน่ากังวลอย่างยิ่ง ขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งจนถึงกลางปี 2560 เป็นอย่างน้อย ดังนั้น ช่วงเวลาของความขาดเสถียรภาพคงจะมีอยู่ต่อไป แผนการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันในการร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นสภาที่ทหารตั้งขึ้นมาเอง นั่นหมายความว่าประเทศไทยต้องเริ่มกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอนออกจากการเป็นนายกฯ ย้อนหลัง และการที่ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา
     หนังสือระบุ รัฐสภายุโรปยืนหยัดอย่างหนักแน่นในระบอบประชาธิปไตยและการส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงยินดีหากจะรับคำเชิญเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่กรุงบรัสเซลส์ หรือ เมืองสตราสบูร์ก ตามสะดวก

ปชป.จี้คสช.อย่าให้บินนอก
       นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรัฐสภายุโรปส่งหนังสือเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ปกติ เชื่อว่าเป็นการล็อบบี้สร้างสถานการณ์โดยคนที่เกี่ยวข้องของพรรคเพื่อไทยไปล็อบบี้รัฐสภายุโรป และการเชิญครั้งนี้ก็ไม่ตรงไปตรงมา และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงไม่มีประโยชน์ที่คสช. จะอนุญาตให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศ เพราะอาจป็นช่องทาง ข้ออ้างไม่กลับประเทศได้

บิ๊กตู่ลั่นเข้ามาต้องเปลี่ยนแปลง
       ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาเรื่อง "อนาคตไทย ก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์" นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ต้อนรับ
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เราจะมาร่วมกันทำประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่าหวาดระแวงตน ปัญหาของเราอยู่ที่การอธิบาย การสร้างความเข้าใจ วันนี้รัฐบาลจะพูดให้มากโดยเฉพาะตนพูดมากที่สุดและต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าทำอาชีพเดียวไปตลอดชีวิต ต้องสร้างงานสร้างอาชีพให้ท้องถิ่นเจริญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเข้ามาแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็อย่ามาเลย
       นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่อยากเป็นใหญ่แต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง หลายคนอยากจะมีอำนาจแต่ตนไม่อยากมี แค่อยากมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้มันดีขึ้นเพื่อประชาชนทุกคน การเมืองเป็นเรื่องของการเมืองก็ว่ากันไป ตนพยายามอย่างดีที่สุดแล้วและจะไม่ให้กระทบใคร จะเดินหน้าแต่ก็ว่าหาว่าตนชกมวยอยู่นั่น ตนมาช่วยให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น ตนรักประชาชนมากกว่าตัวเอง ถ้าไม่รักคงไม่มายืนตรงนี้และไม่ใช่จะใจร้ายกับทุกคน

ยันถือกฎหมายไม่เข้าข้างใคร
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องประชารัฐต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง ทั้งจากรัฐ ข้าราชการ ประชาชน อย่าเอาการเมืองมาทำทุกอย่าง มันทำไม่ได้ ถ้าทุกอย่างเป็นการเมืองไปหมดประเทศก็เป็นแบบนี้ อยู่แบบนี้ ต่างชาติจะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ตนทำให้ตายเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะทุกคนไม่ช่วยกันเข้าใจ ไม่ช่วยทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ขยายความขัดแย้งออกไปเรื่อยๆ ตนไม่ต้องการเข้ามาทำลายระบบอะไรทั้งนั้น เราต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ความยุติธรรม วันนี้ต้องถูกกฎหมายทั้งหมด ถ้ามีอะไรเล็ดลอดไปให้มาบอกจะลงโทษทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่เคยคิดเข้าข้างใครเพราะต้องถือกฎหมายตรงนี้
       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้ช่วยระมัด ระวังความมั่นคงอย่าตื่นตระหนก ถ้าเราช่วยกันป้องกันตนเองและสร้างความเข้มแข็ง ประชาชนจะเป็นกำแพงที่แข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร ตำรวจ ส่วนการเมืองไทย พยายามอย่างที่สุดที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงแข็งแรง เหมือนทุกประเทศ แต่จะไม่ยอมให้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน เรื่องผลประโยชน์ การทุจริตคอร์รัปชั่นหรือใครไปเสียเงินที่ไหนให้บอกมา กฎหมายต่างๆ ออกมาหมดแล้ว ถ้าไม่ใช้ไม่ทำก็ไม่เกิดประโยชน์ การทุจริตที่ไหนก็ตามเป็นเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องไปยุ่งกับเขามาก ที่ตนทำวันนี้ไม่ได้ไปล้วงอะไรเป็นเรื่องเดิมทั้งสิ้น เพียงแต่นำเรื่องต่างๆเข้าสู่กระบวนการ เพราะที่ผ่านมาไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการ ไม่รู้เพราะอะไร

"พรเพชร"รับมีวิ่งเต้นโยกย้าย
      เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุมีการวิ่งเต้นแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการรัฐสภาว่า ที่ผ่านมายังไม่นิ่ง เลขาธิการสภาเป็นเพียง ผู้รักษาการ จึงมีการวิ่งเต้นเป็นธรรมดา แต่หลังจากแต่งตั้งนางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล เป็นเลขาธิการสภาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเลขาฯจะทำทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิธีปฏิบัติและระเบียบขั้นตอนของรัฐสภา ส่วนที่มองว่าการแก้ปัญหาทุจริตของสภาล่าช้านั้น ตนทำได้แค่สั่งการให้เลขาธิการสภา ดำเนินการเท่านั้น ไม่สามารถล้วงลูกได้
      นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ที่พาดพิงตนว่าไปพูดเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น ยืนยันว่าไม่มีอำนาจบงการหรือสั่งการใดๆ และไม่เคยพูดเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา แต่พูดตามหลักการที่ถูกต้องและรักษาผลประโยชน์ประเทศ รวมถึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลเท่านั้น ส่วนเรื่องค่าโง่นั้นตนไม่ใช่คนโง่ ตลอด 35 ปีที่เป็นผู้พิพากษา ตนทำงานซื่อสัตย์และไม่เคยถูกร้องเรียน อยากขอให้นายวิลาศเข้าใจ สำหรับการก่อสร้างรัฐสภาที่ล่าช้าจนต้องต่อสัญญาขยายเวลาก่อสร้างออกไปนั้น ตนไม่ทราบรายละเอียดและไม่มีใครมาปรึกษาเพราะเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสภา ตนไม่สามารถพูดอะไรได้เดี๋ยวจะกลายเป็นชี้นำ ซึ่งได้มอบนโยบายให้เลขาธิการสภาว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ส่วนบทลงโทษปรากฏในเอกสารรายงานลับ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ชี้มีการลงโทษทางวินัย
      เมื่อถามว่าต้องมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นการรับผิดทางวินัย ละเว้นหน้าที่บางประการ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรัฐสภาก็ได้ ส่วนการต่อสัญญาก่อสร้างเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันโดยบริษัทที่ปรึกษาที่สำนักงานเลขาธิการสภาว่าจ้างนั้น ต้องเป็นผู้คำนวณว่าต้องต่อสัญญาเพิ่มอีกกี่วัน ตนไม่สามารถมโนได้ และไม่มีการมาปรึกษาเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตน ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อ 2 ฝ่ายยินยอมให้ต่อสัญญาก็คงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อย่างไรก็ตาม ตนคาดหวังให้การก่อสร้างรัฐสภาเสร็จให้ทันสมัยที่ตน ยังอยู่ แต่อยู่ที่การเจรจา ถ้าเจรจาไม่สำเร็จแล้วจะเรียกร้องค่าเสียหาย ตนก็มีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
     ส่วนการก่อสร้างโรงเรียนนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า จากข้อมูลทราบว่าการก่อสร้างโรงเรียนเสร็จแล้วเป็นไปตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งรัฐสภาได้รับงบก่อสร้างและมอบให้ 3 หน่วยงาน คือ การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งเบิกจ่ายงบประมาณตามปกติ ส่วนความผิดปกติต้องสอบถาม 3 หน่วยงานดังกล่าว

ลงนามขยายเวลาก่อสร้าง
      เวลา 13.45 น. นางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล เลขาธิการสภา และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัทชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัตคชั่น จำกัด มหาชน ร่วมลงนามขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้กับผู้รับจ้างออกไป 387 วัน
        นายโชติจุฑา อาจสอน กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ แถลงว่า การขอขยายเวลาครั้งนี้เนื่องจากมีปัญหางานก่อสร้าง 2 เรื่อง คือ 1.การส่งมอบพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามกำหนด เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบโรงเรียนโยธินบูรณะ คาดว่าจะส่งมอบให้ได้ต้นปีหน้าและรื้อถอนได้กลางปีหน้า และ 2.ขณะนี้มีบริษัทมารับซื้อดินเรียบร้อยแล้ว และจะขนย้ายดินออกไป เชื่อว่าภายใน 20 วันน่าจะขนดินหมด การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่คืบหน้าไปกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ โดยชั้นใต้ดินเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างแล้ว ที่ผ่านมาล่าช้าเนื่องจากปัญหาดินพังเพราะต้องขุดลึกลงไปชั้นละ 10 เมตร จากการประเมินของทีมที่ปรึกษา การก่อสร้างอาจต้องขอขยายเวลาออกไปอีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งบอกไม่ได้ว่าจะขยายกี่วัน ต้องดูที่ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากปัญหาที่จัดการได้แล้ว คาดว่าการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่หากไม่มีอุปสรรคอีกน่าจะเสร็จต้นปี 2561

นักวิชาการส่องบันได4ขั้น พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ ปูทางนายกฯคนนอก

     หมายเหตุ - นักวิชาการให้ความเห็นถึงกรณีที่นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ระบุว่ากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะริบอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว. เป็นแผนบันได 4 ขั้นไปสู่เป้าหมายการมีนายกฯคนนอกคือ 1.ใช้เป็นข้ออ้างที่จะให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 2.ให้ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3.ให้ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอนนายกฯ รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. และ 4.ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ ที่มาจากคนนอกได้ 

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

       ส่วนตัวคิดว่า มีความเป็นไปได้ตามที่คุณคณินกล่าว เรื่องที่สามารถใช้เป็นข้ออ้างที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดตามพิมพ์เขียว และให้ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในแง่ของการที่จะทำให้ ส.ว.กลับไปเป็นสภากลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง แล้วโยกอำนาจการตรวจสอบไปไว้ที่ศาลและองค์กรอิสระ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ของ ส.ว.นั้นถูกปรับเปลี่ยนไป อาจสอดรับเรื่องที่มา ที่อาจจะทำให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งหรือสรรหาทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่มาตรงนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วจะไปตรวจสอบตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างไร จึงเป็นเหตุให้ต้องลดอำนาจของ ส.ว.ตรงนี้ลงไปด้วย 

      หลายฝ่ายก็คาดหมายว่า น่าจะเป็นไปในทางที่ทำให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด แล้ว ส.ว.สรรหาก็จะแต่งตั้งองค์กรอิสระ แม้จะไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เหมือนมีอำนาจทางอ้อมในการส่งบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระและในบรรดาศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ส่วนตัวคิดว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปตามที่อาจารย์คณินพูด

      นอกจากนี้ เป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นบันไดไปสู่การให้ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอนนายกฯ ประธานสภาผู้แทน เพราะคือการแปลงโฉม แปลงรูปร่างของ คปป. ซึ่งถูกเสนอไว้ในชุดของนายบวรศักดิ์ ให้มีการกระจายตัวเองออกมาสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กรอิสระและอำนาจตุลาการนั่นเอง 

     ฉะนั้น เท่ากับว่าองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการเป็นผู้กำกับและควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯที่มาจากคนนอกได้ เพราะอยู่ในบทบัญญัติที่ว่าเสนอ 5 คนว่าที่นายกฯของแต่ละพรรคการเมืองด้วย

ชำนาญ จันทร์เรือง

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     เขาไม่มีเหตุผลอื่นที่จะเขียนแบบนั้น เพียงแต่ทำให้เนียนขึ้นเท่านั้นเอง เพราะว่าในตัวคุณสมบัตินายกฯ ไม่ได้พูดถึงว่าจะเป็นใคร เป็น ส.ส.หรือไม่ เขาจะเอาอายุเท่าไร คุณสมบัติอย่างไรก็ว่าไป แต่ไม่ได้พูดถึงว่านายกฯต้องเป็น ส.ส. แต่ถ้าเอามาโดดๆ แบบสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มันก็ไม่ค่อยเนียน จึงให้เสนอแต่แรกเลย ให้ชัด ประมาณ 5 คน จะประกาศตัวกันก่อนว่าใครสนับสนุนใคร 

     พอใกล้ๆ การตัดสินใจว่าใครที่จะส่งผู้สมัคร หรือมีกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้ง ก็จะมีคนเด่นๆ ออกมาว่าคนนั้นพร้อมจะเป็นอย่างนั้น คนนี้พร้อมจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้ลงสมัคร อีกอย่าง 5 คนก็ไม่ได้เรียง แล้วเอาไปโหวตในสภาว่าเอาคนนี้เป็นนายกฯ ส่วนฉบับนายบวรศักดิ์นั้นเสนอชื่อทีหลังก็ได้ 

      ทุกคนอ่านออกว่าเจตนาของ กรธ.อย่างนี้ ไม่มีอย่างอื่น นอกจากเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามา แต่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แท้งหรือไม่ คงเป็นประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้แท้ง คงเป็นอย่างกรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) สมัยนายบวรศักดิ์ ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจมากกว่า ที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับในส่วนของการทำประชามติ 

      เชื่อว่าสุดท้ายเขาต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวว่ากรณีไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็คงมาอีหรอบเดียวกับสมัยปี 2550 คือบอกว่า จะเอาฉบับใดก็ได้มาปรับ อาจมีตั้งแต่ฉบับ 2475 หรืออาจเป็นธรรมนูญการปกครองก็ได้ อาจเป็นธรรมนูญสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้หมด ถ้าเกิดเขาจะเขียน ซึ่งยังไม่รู้จะออกมาเป็นอย่างไร

      นอกจากนี้ เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ส.ผู้ชนะจะได้เป็น ส.ส.แบ่งเขต ส่วน ส.ส.แพ้จะไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ในกรณีนี้ต้องเสนอแต่แรก ยกเว้นเขาจะเปิดโอกาสว่าคนหนึ่งสมัครได้ 2 อย่าง ยกเว้นเขาจะเขียนในคุณสมบัติว่ากรณีนี้สามารถสมัครได้ทั้ง 2 บัญชี แต่ที่ผ่านมาเขาห้าม แต่กรณีเขาจะประกาศว่าคนแพ้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงว่าเขาก็ไม่ห้าม เขาจะกล้าเขียนอย่างนั้นไหมล่ะ ก็ตลกดี กรณีการแข่งขันสูงยังปล่อยไว้ให้ว่า ถ้าแพ้ยังมีโอกาสในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์นะ และปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกแบบไหน อย่างกรณีนายบวรศักดิ์ เดิมเขาไม่ได้เรียงลำดับ ส่วนร่างนี้ไม่รู้เขาจะออกแบบมาอย่างไร

     ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเปลี่ยนปกเท่านั้น เปลี่ยนจากนายบวรศักดิ์มาเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แต่จะเขียนชัดๆ เหมือนนายบวรศักดิ์ก็กระไรอยู่ คนหนึ่งระดับผู้อาวุโส อีกคนระดับรองลงมา หากเทียบกัน จะเดินตามรอยศิษย์ก็กระไรอยู่ แต่ทั้งสองร่างไม่มีอะไรต่างกันเลย แต่ของนายมีชัยอาจจะเนียนกว่า เชื่อว่าเขียนสั้นลงประมาณ 200 มาตรา รายละเอียดมีไม่มาก แต่จะไปเขียนเป็นกฎหมายลูก ตัวที่มันจะแสบมากๆ คือกฎหมายลูก เพราะเขาให้โอกาสพวกนี้ (กรธ.) เขียนต่อ ไม่ได้หมดไปทันที ยกเว้นว่าจะไม่ผ่านประชามติ ก็อีกเรื่องหนึ่ง เขาอาจจะแฝงไว้ หมกไว้ไปออกในกฎหมายลูกหมด ต้องระวังตัวนี้

       วิตกว่าเขาอาจให้หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่ฉบับปี 2540 และปี 2550 เพราะ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) และ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ฉีกเอง คงเอาจากที่อื่น หากมองโลกในแง่ร้ายที่สุดคือเอาธรรมนูญชั่วคราวบางฉบับมา ซึ่งมันก็สยองขวัญสั่นประสาท 

     อย่างไรก็ตาม คงฝืนกระแสโลกไม่ได้ ฝืนกระแสประชาชนไม่ได้ แน่นอนว่ามาตรา 35 (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) มีแกนอยู่ แต่ถ้าเขียนโดยฝืนความรู้สึกของประชาชนมากๆ รัฐธรรมนูญจะอยู่ไม่ได้ ประชาชนอาจจะลุกขึ้นมาแก้เอง หรือรัฐประหารซ้ำ ซึ่งประเทศเราก็เป็นแบบนี้ วงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุดเสียที ประวัติศาสตร์การเมือง บทเรียนการเมืองมันฉายหนังซ้ำ ไม่ต่างกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม นาฬิกาหยุดไว้ได้ก็จริง แต่เสร็จแล้วมันก็ต้องเดินหน้าต่อไป 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

      จะพูดเรื่อง ส.ว.ต้องแยกกัน อย่าไปคาดเดา ถามว่าจะมี ส.ว.ไว้ทำไม จากนี้ต้องเลือกตั้งโดยตรงอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ถ้าเอา ส.ว.เป็นเครื่องประดับ ก็ไม่ต้องมี อยู่ที่คอนเซ็ปต์ของ กรธ.ว่าทำไมโยนมาทีละเรื่อง จะสรรหาบ้าง จะมีสัดส่วนบ้าง เวลาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่อง ส.ว. ต้องพิจารณาว่าเรามี ส.ว.เพื่ออะไรก่อน แล้วค่อยดูทีละบรรทัดว่ารายละเอียดของ ส.ว.คืออะไร 

      ถ้ากำหนดอำนาจไว้สูง ใช้อำนาจอธิปไตยประชาชนเป็นหลัก ต้องเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น เลือกตั้งโดยตรงผมเสนอจังหวัดละ 2 คน ทั้งหมด 154 คน แต่ถ้ามี ส.ว.แบบเป็นไม้ประดับช่วยพรรคพวกให้ได้เงินเดือน อย่างนั้นไม่ต้องมี เปลืองงบประมาณภาษีอากรของชาติ ต้องดูว่าให้ทำอะไรก่อน ถึงกำหนดที่มาได้ 

      ถ้าตัดอำนาจการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เขาก็ทำได้หมด แต่ถามว่ามีไว้ทำไม ถ้าเขียนอย่างนี้คุณใช้ภาษีสุรุ่ยสุร่ายมาก ไม่ได้ความ แค่มี สปท.เงินเดือนก็เยอะแล้ว ถามว่าทาง คสช.คิดอะไร หรือมีเพื่อให้พรรคพวกได้รับค่าตอบแทนผลประโยชน์ที่ช่วยตัวเองมาเท่านั้นหรือ 

      ต้องมีจุดมุ่งไว้ก่อนว่า ร่างรัฐธรรมนูญในหมวด ส.ว.ต้องคิดก่อนว่าควรมีไหม จำเป็นไหม มีไว้เพื่ออะไร แล้วค่อยบอกว่าที่มาควรจะเป็นอะไร ถ้าจะมีไว้ประดับแบบอังกฤษนั้นเขาไม่มีเงินเดือนนะ ถ้าจะเป็นสภาที่ปรึกษาก็ตั้งมาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกวุฒิสภา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาลไป ไม่ต้องมีอำนาจอย่างอื่น ทั่วโลกก็มีได้

     การที่มาถามว่าอำนาจถอดถอนอยู่ที่ใคร ผมเห็นว่าอย่าเพิ่งพูดถึง ถ้า ส.ว.มีอำนาจถอดถอนก็ต้องยืนยันว่าต้องเลือกตั้งอย่างเดียว ใช้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แล้วต้องหาเครื่องมือตรวจสอบเขาอีกทีหนึ่ง อยู่ที่บริบททางการเมืองว่าทำไมเขาให้ ส.ว.มีอำนาจถอดถอน ส.ส.หรือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะเขาคิดว่า ส.ว.นั้นประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรง แต่มีอำนาจตรวจสอบ ส.ว.อีกทีหนึ่ง ถ้าใช้อำนาจไม่ชอบก็มีกฎหมายอยู่แล้ว

      การจะโยนอำนาจถอดถอนให้องค์กรอิสระ ถ้าองค์กรอิสระยังใช้คน 7 คนเลือก อย่ามีดีกว่า ยืนยันเลยว่าระบบอุปถัมภ์ ระบบพรรคพวก ถ้ามีในองค์กรอิสระนั้นเป็นไม่ได้ เหมือนคำว่านักการเมือง ถ้าไม่ได้ข้าราชการช่วยโกงก็โกงไม่ได้ เป็นสัจธรรม 

      เขาอาจให้อำนาจองค์กรอิสระหรือศาลฎีกามีหน้าที่ถอดถอนก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่ว่าละเมิดอำนาจกันหรือเปล่า ถ้าอำนาจใดมาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ต้องใช้อำนาจนั้นเป็นเครื่องมือ อย่ามองว่าเลือกตั้งแล้วจะได้คนไม่ดี ถ้าเขาประพฤติผิดกฎหมายหรือจริยธรรมก็ต้องมีเครื่องมือตรวจสอบ ต้องมีภาพชัดเจน

        คุณชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. บอกว่าเอาอำนาจประชาชนเป็นหลัก เขาอ้างเหตุผลว่าทำไมต้องมีนายกฯคนนอก จากที่ให้เสนอชื่อนายกฯ 5 รายชื่อนั้น ผมบอกว่าถ้าแน่จริงคุณเลือกนายกฯโดยตรงเลย ถ้ายืนยันว่าแคร์อำนาจประชาชน 

ส.ว.แต่งตั้งเกี่ยวกับเรื่องนายกฯคนนอก คือการเปิดทางในการตรวจสอบ คนสรรหากับคนได้รับการสรรหาก็ต้องเป็นหนี้บุญคุณกันอยู่ ยังไงก็ต้องช่วยกันแบบที่ผ่านๆ มา สมัยก่อนเรามี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งเคยเห็นนายกฯผิดไหม โกงแทบตายก็ว่าไม่ผิด เพราะระบบพรรคพวกของประเทศนี้แข็งแรงยิ่งนัก พวกใครพวกมัน 

ผมยืนยันมีสภาเดียว ไม่ต้องเสียเงิน ประหยัดได้เป็นพันล้านบาท

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!