WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ไมใชไอเอส

กทม.ท้าปชป. สอบงบเปียโน บิ๊กแป๊ะยัน 3 ซีเรีย ไม่ใช่กลุ่มไอเอส 

      'มาร์ค'ยันปชป.รับผิดชอบปัญหาทุจริตในกทม. รอ ไฟเขียวคสช.จัดประชุมพรรค ด้านรองผู้ว่าฯกทม.แจงวุ่นงบจัดซื้อเครื่องดนตรี ยินดีให้ตรวจสอบ นักวิชาการเชื่อปชป.หวังออกมติปลด'คุณชายหมู' กรธ.เผยร่างรธน.คืบหน้าร้อยละ 60 มั่นใจร่างแรกเสร็จทัน 29 ม.ค. 59 ยันไม่สร้างองค์กรใหม่อย่างศปป.ซ้ำรอยชุดบวรศักดิ์ จ่อใช้ศาลรธน.ผ่าทางตันทางการเมือง'นิคม ไวยรัชพานิช' หวั่นเลือกตั้งส.ว.ทางอ้อม ไม่ต่างจากสรรหา ได้คนไม่ตรงกับวิชาชีพ แนะให้ประชาชนเลือกอีกชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่คุมผู้ต้องหาขอนแก่นโมเดลอีก 1 คนฝากขังผัด 1 ที่ปรึกษา'บิ๊กต๊อก'นำทีมสอบ'ธนกฤต' ในคุกขอนแก่น เชื่อไม่น่าเกี่ยวแผนป่วนขอนแก่นโมเดล 'บิ๊กแป๊ะ'ขับรถมาดูเอง สอบ 3 ซีเรียแล้วไม่เกี่ยวไอเอส

วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9140 ข่าวสดรายวัน
ไม่ใช่ไอเอส - พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. พร้อมตำรวจ สตม. และเอกอัครราชทูตแห่งรัสเซียประจำประเทศไทย ร่วมสอบปากคำ 3 ชาวซีเรียที่พบว่าวีซ่าขาดอายุ พบว่าไม่เกี่ยวกับไอเอส ที่สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.


'มาร์ค'ลั่นรับผิดชอบทุจริตกทม.
    เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หลังจากตนส่งหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในหนังสือไม่ได้ขอให้คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองประชุม แต่ขอให้คสช.ทบทวนประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งให้เหตุผล 4 ประการ และถ้าคสช.พิจารณาจะแก้ประกาศดังกล่าวก็ต้องมีการบังคับใช้กับทุกพรรคอยู่แล้ว ส่วนมาตรการที่พรรคจะดำเนินการจากนี้นั้น ตนจะไม่พูดอะไรล่วงหน้าถ้ายังไม่ได้คำตอบจากคสช.
   นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจดีถึงเหตุและผล แต่ยังไม่รู้ว่าคสช.จะตัดสินใจอย่างไร เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข่าวการทุจริตต่างๆ ของกทม.นั้น พรรคต้องทำหน้าที่ติดตามการทำงาน เพราะเราส่งคนลงสมัคร ผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค เพื่อมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคจึงมีความรับผิดชอบที่สำคัญในการติดตามการทำงานของกทม. ซึ่งในการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นเรื่องของพรรคอย่างเป็นทางการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประชุมพรรค ดังนั้น ต้องรอฟังคสช.ก่อน เขาตอบมาอย่างไร แล้วก็ค่อยมาว่ากันอีกที

กทม.แจงวุ่น-พร้อมให้สอบ
     นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกรณีข่าวกทม.ผลาญงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีกว่าพันล้านบาท อ้างพัฒนาทักษะด้านดนตรีให้เด็กในสังกัดกทม. พบกองทิ้งเป็นสุสาน เหตุไม่มีครูชำนาญเฉพาะด้านว่า ขอบคุณในความห่วงกังวลการใช้งบประมาณ กทม. พร้อมและยินดีให้ความร่วมมือที่จะติดตามตรวจสอบการใช้งบดังกล่าวต่อไป
    นางผุสดี กล่าวว่า โครงการพัฒนาทักษะทางดนตรีนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกสภากทม.เคยสะท้อนความกังวลในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมสภากทม. ซึ่งกทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงสั่งการให้สำนักการศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อรวบรวมการประเมินผลในช่วงที่ผ่านมาและติดตามตรวจสอบประเด็นต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อ จัดจ้างโครงการนี้แล้วตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลการติดตามและตรวจสอบจากคณะกรรมการ
     รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่า ทำให้นักเรียนในสังกัดมีโอกาสพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ สมาธิ วินัย และความเป็นมนุษย์ในมิติอื่น ที่ไม่ใช่ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน กทม.พบว่าบางโรงเรียนใช้ดนตรีช่วยแก้ปัญหาให้กับนักเรียนที่มีสมาธิสั้น เป็นออทิสติกระดับต้น หรือมีปัญหาการเรียนอื่นๆ ให้เรียนรู้ตามปกติได้ แต่บางโรงเรียนมีปัญหาโดยเฉพาะการขาดครูที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งกทม.กำลังดำเนินการแก้ไข

ชี้ยื่นคสช.หวังปลดชายหมู
      นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ทำหนังสือขออนุญาตคสช. เพื่อขอเปิดประชุมพรรคว่า โดยพฤตินัยเขาประชุมกันอยู่แล้ว แต่ที่อยากให้ประชุมได้แบบเป็นทางการเพื่อมีมติพรรคอย่างเป็นทางการออกมาได้ ซึ่งทราบกันอยู่ว่าพรรคกับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีปัญหาตั้งแต่เริ่มสมัครผู้ว่าฯกทม.ครั้งล่าสุด ด้วยความที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ค่อยแฮปปี้ที่พรรคจะไม่ส่งลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 1 แล้วผลของการชนะครั้งที่ 2 ทำให้คิดว่าเป็นเพราะตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะพรรค จึงไม่ได้คิดว่าเป็นบุญคุณกับพรรคที่ส่งเสริมให้ได้รับเลือกตั้ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามบอกว่าที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้รับเลือกเพราะความเป็นประชาธิปัตย์ แต่ความจริงคือคนไม่เอาพรรคเพื่อไทย
     นายชำนาญ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมองว่าการบริหารงานต่างๆ หรือการให้สัมภาษณ์ของม.ร.ว.สุขมพันธุ์ เช่น น้ำท่วมก็ไปอยู่บนดอย มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรค ซึ่งจริงๆ แล้วการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องสังกัดพรรค ดังนั้น พรรคทำได้อย่างเดียวคือปลดออกจากสมาชิกพรรค ซึ่งการปลดนั้นต้องมีมติพรรค เมื่อคำสั่งคสช.ยังคาอยู่ว่าไม่ให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ ก็ต้องเรียกร้องให้ประชุมเป็นอย่างการ อย่างพรรคเพื่อไทยจะมีแถลงการณ์ออกมาตลอด ซึ่งแถลงการณ์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มี ผลทางกฎหมาย นี่คือประเด็นหลักที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง
     "เรื่องนี้สั่งสมมานาน ไม่ใช่ประเด็น เปียโน 400 หลังอย่างเดียว นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.ก็แงะมาตลอด ประเด็นคอร์รัปชั่นต่างๆ เป็นเพียงปัจจัยเสริม ตอนนี้เป็นการสาวไส้ให้กากิน เรื่องเงินบริจาคก็เป็นเพียงข้ออ้างมากกว่า แม้คสช.ไม่ให้มีกิจกรรม ไม่ให้ประชุมพรรค แต่ยังมีการบริจาคที่ทำตามระเบียบธรรมดา เพียงแต่จะออกไปรณรงค์ไม่ได้ เลี้ยงโต๊ะจีนไม่ได้" นายชำนาญกล่าว

'วัฒนา'ยันพรรคอึดอัดคำสั่งคสช.
     นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีบางพรรคเรียกร้องให้คสช.ทบทวนหรือยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคประชุมและทำกิจกรรมทางการเมืองว่า เขารู้สึกอึดอัดกับการจำกัดเสรีภาพที่เกิดขึ้น เหตุผลที่อ้างว่ากำลังเดินหน้าทำตามโรดแม็ปและขอให้พรรคอดใจรอเวลาอีกสักนิดนั้น บางเรื่องก็เหมือนจำกัดเสรีภาพ ตนพูดประเด็นนี้หลายครั้งเหมือนตักน้ำรดสาก ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลา ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดกับคนหลายประเภทที่พูดไม่รู้เรื่อง และจะรอดูก่อนว่ารัฐธรรมนูญและโรดแม็ปที่อ้างจะออกมาในทิศทางใดก่อนออกมาแสดงความเห็น ต่อไป
   เมื่อถามถึงการแจ้งความดำเนินคดีถูกทำร้ายร่างกาย หลังการซ้อมฟุตบอลย่านเมืองทองธานีเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนายวัฒนาระบุว่าทหารอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง นายวัฒนากล่าวว่า คิดว่าตำรวจจะกล้าจับทหารหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่คนทั่วไปคงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนไป ตนเข้าใจและไม่คาดหวังอะไรในภาวะเช่นนี้

กรธ.มั่นใจร่างแรกทัน 29 ม.ค. 59
      นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า กระบวนการทำงานขณะนี้ถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางกรอบไว้ด้วยความเรียบร้อยดี ส่วนตัวถือว่ามีความคืบหน้าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีเพียงบางประเด็นที่ต้องไปค้นรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น วิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งต้องรอฟังมติจากที่ประชุมกรธ.ก่อนว่า จะกำหนดอย่างไร รวมทั้งประเด็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าจะให้มีอำนาจเพิ่มเติมหรือไม่ หรือจะควบคุมการใช้อำนาจการบริหารให้โปร่งใสได้อย่างไร
     นายปกรณ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่รู้สึกหนักใจเลย เพราะไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญ เราทำงานตามหลักวิชาการ สิ่งใดที่เห็นว่าดีกับประเทศก็ดำเนินการไป ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ส่วนที่แนวทางกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องสั้น กระชับ มีเนื้อหาครอบคลุมนั้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำงาน ถือว่าเป็นไปตามหลักของรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ให้มันวิวัฒนาการไปได้ด้วยตัวของมันเองในอนาคต เพราะเราไม่ได้ออกแบบเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เราออกแบบสำหรับสิ่งที่จะใช้ในอนาคต และขอย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จทันตามกรอบที่กำหนดไว้พร้อม เผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 29 ม.ค. 2559 แน่นอน

ไม่มีคปป.-ใช้ศาลรธน.ผ่าทางตัน
    นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. กล่าวว่า กรธ.ได้พิจารณาประเด็นหลักๆ ไปได้หลายเรื่องแล้ว เหลืออีกไม่กี่เรื่อง เชื่อว่าจะเสร็จทันตามที่กำหนดแน่นอน ส่วนที่สังคมห่วงว่าจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) แบบร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั้น หลักการเราคิดไว้ว่าจะไม่มีองค์กรใหม่แบบนี้ขึ้นมา แต่จะใช้องค์กรที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ถึงทางตัน มีข้อขัดแย้งทางการเมืองหรือทางรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ไป หรืออาจเพิ่มเครื่องมือหรือช่องทางให้เขา นี่คือตัวอย่าง เราไม่อยากตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ถ้ายังไม่มีปัญหาก็ไม่ควรตั้ง ก็ใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว
    นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เราก็ให้เขาทำข้อเสนอเรื่องปฏิรูปมาให้ดู อาจจะเขียนเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือเขียนไว้เป็นแค่หลักการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป กรธ.พยายามเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น อ่านแล้วไม่ใช่เหมือนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดมากมายไปหมด ยืนยันว่า เราตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ใคร มองความถูกต้องและเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ต่อไปด้วย ส่วนเมื่อร่างแรกเสร็จ เราก็มีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าต้องมองระยะยาว เราเขียนเพื่อไม่ให้สิ่งไม่ดีมาเกิดอีก เขียนเพื่อปูทางเพื่อความหลากหลาย สู้กับโลกได้ แน่นอนว่าคนเสียประโยชน์ก็ต้องด่า ที่ได้ไม่ค่อยพูดแต่ที่เสียกลับมาด่าเรา

เชื่อกรธ.ยังไม่เคาะเลือกสว.ทางอ้อม
     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณี กรธ. กำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยเลือกกันเองในกลุ่มสังคมว่า จะออกแบบอย่างไรก็ต้องไม่ซับซ้อน ถ้ายอมรับว่าประเทศไทยควรมี 2 สภาก็ต้องสร้างหลักการสำคัญคือการ ถ่วงดุลในการใช้อำนาจตรวจสอบรัฐบาล จึงควรมีที่มาที่ต่างจากส.ส. เพราะหากมีที่มาเหมือนกัน จะไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เพราะต้องอิงกับฐานการเมือง จึงเป็นที่มาว่าไม่มีวุฒิสภาชุดใดถอดถอนนักการเมืองได้ ขณะเดียวกันต้องไม่ติดอยู่กับกับดักวาทกรรมที่ว่า ถ้าจะให้ส.ว.ถอดถอนนักการเมืองได้ จะต้องมาจากการเลือกของประชาชน เพราะตนไม่เคยเห็นตุลาการ มาจากการยึดโยงกับประชาชน แต่ให้ความเป็นธรรมได้
     "การเลือกตั้งทางอ้อมไม่ควรให้ซับซ้อนจนยากที่สังคมจะเข้าใจ ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้แต่ละกลุ่มแย่งกันเอง และบล็อกกันเอง สิ่งสำคัญคือต้องเปิดกว้างให้เดินเข้าไปสมัครเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นได้โดยไม่ต้องมีการเสนอชื่อจากกลุ่ม ไม่เช่นนั้นจะผูกขาดตั้งแต่ต้น" นายสุรชัยกล่าวและว่า ประเด็นที่มา ส.ว.ยังเป็นแนวคิดเบื้องต้นของกรธ. เชื่อว่าจะยังรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ดังนั้นอยากให้สังคมช่วยกันแสดงความเห็น เพื่อให้กรธ.พิจารณาและนำกลับไปปรับปรุง

แนะปิดช่องโหว่บล็อกโหวต
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. ในฐานะอดีตส.ว. กล่าวว่า หากใช้ระบบให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย แต่ต้องระมัดระวังข้อครหาเรื่องการล็อบบี้ หรือการได้ผลประโยชน์ ตนมองว่าหากไม่ใช้การเลือกตั้งส.ว.โดยตรง แต่จะให้เลือกทางอ้อม จะต้องมีกระบวนการได้มาที่ผสมผสาน เช่น หลังจากได้ตัวแทนสาขาอาชีพแล้ว ต้องกำหนดจำนวนต่อกลุ่มที่ไม่น้อยเกินไป เช่น 5-10 คนเป็นอย่างน้อย เมื่อได้มาแล้วก็มีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติ และมีกรรมการสรรหาอีกหนึ่งชุดแยกออกมา เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็น ส.ว. ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการบล็อกโหวตและแลกผลประโยชน์เข้ามา ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของวุฒิสภา
      ส่วนข้อเสนอให้เลือกไขว้กลุ่ม โดยผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกันได้นั้น นายเสรีกล่าวว่า หากไม่ระบุรายละเอียดว่ากลุ่มใดจะต้องเลือกกลุ่มใดนั้น น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ความเป็นจริง ไม่ว่าที่มาของส.ว.จะเป็นวิธีใด มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น การเลือกตั้งทางตรง ก็ถูกครหาว่าเป็นฐานเสียงของส.ส. ขาดอิสระ ส่วนเลือกตั้งทางอ้อมก็มีข้อครหาบล็อกโหวต ส่วนการสรรหา จะต้องมีคณะกรรมการที่เชื่อถือได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะเลือกวิธีใด ก็ต้องปิดช่องปัญหาดังกล่าว ให้มีข้อครหาน้อยที่สุด

ไม่ห่วงกฎหมายหมกเม็ด
     นายเสรี กล่าวถึงการลดอำนาจของส.ว.ในการพิจารณากฎหมาย ที่ตัดขั้นตอนการรับหลักการเหลือเพียง 2 วาระว่า คล้ายกับข้อบังคับการประชุมของ สปท. ที่จัดทำเพื่อลดกระบวนการให้สั้นลง ซึ่งเป็นไปได้ และเป็นอีกวิธีที่ทำให้กระชับขึ้น เพราะขั้นรับหลักการ จะเสียเวลาอภิปราย 2 รอบ ส่วนการลดขั้นตอนนี้จะทำให้วุฒิสภาเป็นตรายางที่ปั๊มกฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ต้องสร้างความชัดเจนว่า วุฒิสภาดำเนินการได้มากน้อยอย่างไร หากไม่ให้มีขั้นรับหลักการ การเสนอกฎหมายก็ต้องเขียนหลักการและเหตุผลให้ชัดเจน
      เมื่อถามว่า หากมีกรณีแบบกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ผลักดันแบบสุดซอย วุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร นายเสรีกล่าวว่า ไม่น่าห่วงเรื่องกฎหมายหมกเม็ด เพราะต้องเข้าใจกระบวนการออกกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่รัฐสภา แต่มีระบบศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สูงกว่า กฎหมายที่หมกเม็ดสามารถถูกยับยั้งได้หลายขั้นตอน จึงไม่น่าเป็นห่วง

'นิคม'ติงสว.ทางอ้อมไม่ต่างสรรหา
     นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงที่มาส.ว.จากการเลือกตั้งทางอ้อมตามกลุ่มวิชาชีพ 200 คน ตามแนวทางของ กรธ.ว่า มีข้อดีคือจะได้คนที่มีความสามารถแต่ละด้านมาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย แต่ปัญหาคือจะทำให้อย่างไรให้ได้ส.ว.ตรงตามกลุ่มวิชาชีพจริง ไม่ให้เหมือนส.ว.สรรหาชุดที่ผ่านมา ที่มีหลายคนเข้ามาโดยไม่ตรงตามวิชาชีพ เช่น กรธ.จะทำอย่างไรไม่ให้นายทุนที่มีนาเพียง 2 ไร่ เข้ามาเป็นส.ว.จากกลุ่มวิชาชีพชาวนา
     นายนิคม กล่าวว่า อีกทั้งการเลือกตั้งทางอ้อมจะมีหลักประกันเรื่องความโปร่งใสอย่างไร เนื่องจากการล็อบบี้เสียงในกลุ่มวิชาชีพทำได้ง่ายมาก ตนมองว่าหากจะให้ส.ว.เป็นตัวแทนแต่ละวิชาชีพจริง ก็ให้ใช้การสมัครแต่ละวิชาชีพคัดคนออกมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้ง เพื่อประชาชนจะได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบ เช่น ประชาชนเห็นว่าคนนี้เป็นนักธุรกิจ แต่ทำไมกลับมาลงเลือกตั้งวิชาชีพชาวนา ประชาชนจะได้ไม่เลือก

โพลชี้สว.มีหน้าที่แค่กรองกฎหมาย
      ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และกรธ. เผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ วันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. เรื่องสมาชิกวุฒิสภา พบว่า ร้อยละ 42.24 ต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ร้อยละ 25.60 ระบุควรทำหน้าที่แต่งตั้งถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร้อยละ 22.96 ควรทำหน้าที่เสนอกฎหมาย ร้อยละ 1.12 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ ควรทำทุกหน้าที่เท่ากัน และควรเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น


สิงห์ขาว - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมเพื่อนๆ ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่นที่ 21 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เยี่ยมชมคณะ พร้อมมอบทุนการศึกษาให้น้องๆ คณะรัฐศาสตร์และประศาสนศาสตร์ มช. เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

    คุณลักษณะของส.ว. พบว่า ร้อยละ 51.28 เห็นว่าควรมีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 24.08 ควรเป็นที่ยอมรับ ร้อยละ 23.44 ควรเป็น กลางทางการเมือง ร้อยละ 0.48 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ควรมีคุณลักษณะทุกข้อที่กล่าวมา และควรมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมายเป็นอย่างดี

มีที่มาจากทุกกลุ่ม-วาระ 4 ปี
      ส่วนที่มาของส.ว. ร้อยละ 72.16 ระบุว่าควรมาจากทุกกลุ่ม ร้อยละ 16.32 ควรมาจากกลุ่มนักวิชาการ ร้อยละ 9.04 ควรมาจากกลุ่มอาชีพร้อยละ 1.20 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ ควรมาจากการเลือกตั้งและการสรรหา และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
   สำหรับ จำนวนของส.ว. พบว่าร้อยละ 37.84 ระบุควรมีส.ว. 150 คน ร้อยละ 25.76 ควรมี 100 คน และ 200 คน ในสัดส่วนที่ เท่ากัน ร้อยละ 1.84 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ น้อยกว่า 150 คน 110, 120, มากกว่า 200 คน ขึ้นไป และควรกระจายทั่วทุกจังหวัด มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนส.ส. ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. ร้อยละ 73.84 ระบุว่าควรมีวาระ 4 ปี ร้อยละ 10.96 ระบุว่า 6 ปี ร้อยละ 6.16 ระบุว่า 6 ปี แต่ 3 ปีแรกให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 6.48 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ ควรดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 4 ปี โดยให้ประเมินผลการปฏิบัติงานและดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ

ชป.หนุนสส.ควบรมต.
     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรธ.บัญญัติคุณสมบัติส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งควบเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องพ้นจากส.ส.ว่า เป็นเรื่องปกติของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย การที่ กรธ.บัญญัติแบบนี้จึงถูกต้อง เพราะ กว่าผู้สมัครจะมาเป็นส.ส. เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆ ได้นั้น ต้องผ่านการพบปะประชาชน เห็นปัญหาของประเทศชาติมามาก เมื่อมีประสบการณ์มากพอ พรรคที่เป็นรัฐบาลขณะนั้นก็สามารถ หยิบยกส.ส.ที่มาอาวุโสพอควรและมีความรู้ตรงกับเรื่องไปเป็นรัฐมนตรีได้ และแน่นอนว่ารัฐมนตรีที่มาจากส.ส.ย่อมเข้าใจปัญหาประชาชนได้ดีกว่ารัฐมนตรีที่มาจากวิธีอื่น
   นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ กรธ.บัญญัติว่าหากส.ส.และส.ว.มีคดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำเนินคดีในสมัยประชุมได้เลยนั้น คิดว่าถ้าเราต้องการให้นักการเมืองมีคุณธรรมและจริยธรรม การบัญญัติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในกรณีที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตสามารถทำได้

แนะหากลไกสกัดกลั่นแกล้งในสภา
     "แต่ที่น่ากังวลคือจะเป็นเรื่องผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้นกลั่นแกล้งส.ส.ฝ่ายค้านขณะนั้น หรือไม่ เพราะจะมีผลกับการโหวตและการลงมติต่างๆ มุมนี้ผมไม่ได้พูดเพื่อส.ส. แต่พูดไว้เพื่อป้องกันรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจะกลั่นแกล้ง" นายวิรัตน์กล่าว และว่า ดังนั้น กรธ.ควรคิดกลไกที่จะคุ้มครองการใช้สิทธิในสภาและป้องกันการกลั่นแกล้งในการโหวตให้ เกิดขึ้น ขอย้ำว่าเอกสิทธิ์เหล่านี้ไม่ใช่เอกสิทธิ์ที่จะไม่ทำให้ส.ส.และส.ว.ต้องถูกดำเนินคดี แต่เป็นเอกสิทธิ์คุ้มครองการทำหน้าที่โหวต ลงคะแนนเสียง เพราะหากโหวตไปแล้วก็ ไม่สามารถจะมาโหวตใหม่ได้
     เมื่อถามถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถจะเข้ามาสมัครเป็นส.ส.ได้ หากพ้นจากโทษตัดสิทธิทางการเมืองระยะเวลา 5 ปี นายวิรัตน์กล่าวว่า ใครจะมีสิทธิ์หรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขาเหล่านั้น ตนไม่ได้กังวลอะไร

'ปู'มอบทุนนศ.รัฐศาสตร์มช.
    เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อม ผู้ติดตาม เดินทางมายังคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มช. ซึ่งปีนี้สิงห์ขาวรุ่น 21 (รุ่นของน.ส.ยิ่งลักษณ์) เป็นเจ้าภาพ โดยมี ผู้ร่วมงานจากศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ประมาณ 80 คน จากนั้นช่วงเที่ยง น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางไปรับประทานอาหาร กลางวัน กับเพื่อนร่วมรุ่น สิงห์ขาว 21 ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวโกเหลียง ภายในโครงการประเสริฐแลนด์ อ.เมืองเชียงใหม่

จตุพร ซัดคสช.เปิดทางพุทธอิสระ
     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ผ่านยูทูบ ถึงพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ต่อต้าน นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีไม่พอใจที่วิจารณ์ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุต้องมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังและจะนำประชาชนหลายร้อยคนไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐ และยังเรียกร้องให้แกนนำ กปปส. ระดมประชาชนยื่นหนังสือต่อต้านด้วยว่า การ กระทำของพุทธอิสระ เป็นการฝ่าฝืนและ ขัดคำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ และพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ไม่ออกมาห้ามปราม หรือเรียกไป ตักเตือน เหมือนเป็นพวกที่อยู่เหนือกฎหมายและทำอะไรก็ได้
      นายจตุพร กล่าวว่า การเปิดทางให้พุทธอิสระเล่นงานกับทูตสหรัฐ จึงไม่สง่างามกับรัฐบาลและประเทศ อย่าได้เล่นสองหน้า ควรทำกันอย่างตรงไปตรงมา ปากกับใจ ตรงกัน ไม่ควรเล่นงานข้างหลัง หากทูตสหรัฐทำไม่ถูก ก็ควรใช้มาตรการทางทูตดำเนินการจะเหมาะกว่า สิ่งที่พุทธอิสระทำ จึงมีความหมายว่า ผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ซึ่งพุทธอิสระไม่มีหน้าที่เคลื่อนไหวนัดชุมนุม แต่รัฐบาลกลับปล่อยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง คสช.และไม่มีข้อห้ามใดๆ เหมือนเปิดประตูให้ทำอะไรก็ได้ และไม่มีความผิด ขณะที่นพ.เหวง และนางธิดา โตจิราการ แกนนำนปช. ถ่ายรูปกับทูตสหรัฐ ระหว่างร่วมงานวันชาติของ สปป.ลาว กลับเป็นปัญหาและทำให้นายกฯ ไม่สบายใจ ทั้งที่การถ่ายรูปเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้หมายความว่าถ่ายรูปร่วมกันแล้วต้องเป็นพวกกัน หากเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. มีรูปถ่ายคู่กับพุทธอิสระ คงแปลว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่

ฝากขังเพิ่ม-ขอนแก่นโมเดล
    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ควบคุมตัวนายวีรชัย ชาบุญมี ผู้ต้องหา 1 ใน 9 คน ที่ถูกออกหมายจับในคดี ขอนแก่นโมเดล ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวีรชัยได้หลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ก่อนขอเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ค่ายเปรมติณ สูลานนท์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมาดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ
     สำหรับ ผู้ต้องหารายนี้ ถูกออกหมายจับในคดีขอนแก่นโมเดล ในข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพนักงานสอบสวนนำตัวนายวีรชัย มาขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 1 เป็น เวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. - 17 ธ.ค. 2558
     คดีนี้เจ้าหน้าที่สืบทราบว่า ผู้ต้องหามีพฤติกรรมการสื่อสารกันในสื่อโซเชี่ยลวางแผนเตรียมก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร นำมาสู่การรวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติ ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้แล้ว 5 คน คือ จ.ส.ต. ประธิน จันทร์เกศ นายณัฐพล ณ วรรณ์เล นายวัลลภ บุญจันทร์ นายพาหิรัณ กองคำ และนายฉัตรชัย ศรีวงษา และล่าสุดนายวีรชัย ซึ่งติดต่อขอมอบตัว โดยยังมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีประกอบด้วย นายพิษณุ พรหมสร นาย มีชัย ม่วงมนตรี ขณะที่นายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ทนายความแจ้งว่าอยู่ในการควบคุมของเรือนจำจังหวัดขอนแก่น

กุนซือยธ.รุดสอบ'ธนกฤต'
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ท.ทิวะพร ชะนะพะเนาว์ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายนรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น นายดนุเดช สวัสดิวงศ์ นิติกร สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้มาที่เรือนจำกลางขอนแก่น เพื่อเข้าพบ นายกฤษณ์ วงษ์เวช ผบ.เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียกนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ 2 บ้านปอหู ต.เทิดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งถูกออกหมายจับในคดีขอนเเก่นโมเดล ที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางขอนแก่น และมีข่าวว่านายธนกฤตโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนบ้านจากในเรือนจำ ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่ามีการใช้โทรศัพท์ภายในเรือนจำกลางได้จริงหรือไม่ มาสอบถาม ข้อเท็จจริง
      เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางขอนแก่นนำตัวนายธนกฤตมาสอบถามที่ห้องประชุมภายในเรือนจำฯ ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมาก โดยนายธนกฤตบอกว่า ที่มีข่าวว่าใช้โทรศัพท์มือถือวางแผนป่วนเมืองตามแผนการขอนแก่นโมเดลนั้น ตนไม่ทราบและไม่รู้เรื่องเพราะ ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำขอนแก่น ตั้งแต่ วันที่ 3 ก.ค. 2557 ในคดียักยอกทรัพย์ ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข่าวสารจากทางไหน ไม่เคยรู้เรื่องขอนแก่นโมเดล ไม่ทราบว่าขอนแก่นโมเดลมีตัวตนหรือไม่ และเกิดขึ้นได้อย่างไร

ลั่นอยู่ในคุก-ไม่เกี่ยวแผนป่วน
    นายธนกฤต กล่าวว่า ตนขอให้ทนายความที่ทำเรื่องนี้ไปถอนแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพราะไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ ตนจะ ไม่ฟ้องใครและร้องเรียนผู้ใดทั้งสิ้น เชื่อว่า เรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิดกันมากกว่า ซึ่งทางผู้ใหญ่อาจไม่ทราบว่าตนได้รับการประกันตัว แต่ต้องมาโดนอายัดอีกคดีหนึ่งที่เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม จึงอยู่ในเรือนจำมาตลอด ส่วนที่มีข่าวว่าใช้โทรศัพท์มือถือในเรือนจำที่คุมขังตนอยู่นั้น ไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ เพราะเรือนจำเคร่งครัดเรื่องนี้มาก ถ้ามีเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาเครื่องจับสัญญาณภายในเรือนจำกลางขอนแก่นจะจับได้ทันที และขอถามว่าตนไปอยู่ในกลุ่มขอนแก่นโมเดลได้อย่างไร ยืนยันอีกครั้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับขอนแก่นโมเดลในทุกกรณี
      เมื่อถามว่า โทรศัพท์มือถือที่ใช้โทร.หาญาติได้มาจากไหน นายธนกฤตกล่าวว่า มีคนข้างนอกที่พ้นโทษไปซึ่งไม่ทราบว่าเกี่ยวกับขอนแก่นโมเดลหรือไม่ การโทรศัพท์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนมาขึ้นศาลจังหวัดขอนแก่นและถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมของศาล ได้ให้ผู้มาเยี่ยมโทรศัพท์หาแฟนตน ชื่อนางปราณี ทูลธรรม อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 133 หมู่ 6 บ้านกุดพังเครือ ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ใช้โทรศัพท์อีกครั้งขณะที่อยู่ในห้องควบคุมของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยขอใช้โทรศัพท์ ไม่ใช่ยืนจับโทร. แต่เขากดให้และยื่นมาให้กับตนพูดห่างจากตัวแล้วกดลำโพงให้บอกเขาในลำโพง ใช้เวลาประมาณ 2 นาที จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะนำโทรศัพท์มาใช้ได้เพราะในสถานที่ ดังกล่าวมีเครื่องรับสัญญาณจับอยู่ตลอดเวลา และมีรัศมีกว้างมากด้วย และยืนยันว่าตน ไม่เกี่ยวข้องกับขอนแก่นโมเดลไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

มั่นใจมาตรฐานเรือนจำสูง
     ด้านพล.ท.ทิวะพรกล่าวว่า ตนมาสอบถามข้อเท็จจริงกับนายธนกฤต เพื่อสรุปรายงานให้กับรมว.ยุติธรรม โดยได้รับคำยืนยันจากนายธนกฤตว่าไม่มี ผู้เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าไม่มี แถมมีการป้องกันการใช้โทรศัพท์มือถือ ในเรือนจำขอนแก่นแบบมีมาตรฐานและประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

สอบ 3 ซีเรีย-ไม่เกี่ยวไอเอส
    เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สน.ลุมพินี พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. พล.ต.ต. จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง ผบช.น. พล.ต.ต. สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น. พล.ต.ต. สมประสงค์ เย็นท้วม ผบก.น.5 พล.ต.ต. ทรงพล วัธนะชัย ผบก.น.6 ตำรวจสน.ลุมพินี ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และนายกีริล มิไฮโลวิช บรัสกี เอกอัครราชทูตแห่งรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าร่วมสอบปากคำ 1.นายนาว์เฟล ฮัซซัน อายุ 34 ปี ซึ่งเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจหลังมีภาพปรากฏในสื่อ 2.นายอับดุล อาซิซ อรุค อายุ 44 ปี อาชีพนักร้อง ซึ่งถูกตำรวจสน.ลุมพินี เชิญตัวมาให้ข้อมูล และ 3.นายมูอยาด เฮยาติ อายุ 29 ปี ซึ่งเข้าพบตำรวจลุมพินีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อตรวจสอบว่าทั้ง 3 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอสหรือไม่
     หลังสอบปากคำเสร็จเรียบร้อย พล.ต.ท. ศานิตย์เปิดเผยว่า วันนี้เชิญเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งบช.น. สตม. และทูตรัสเซียมาร่วมสอบปากคำชาวซีเรียทั้ง 3 ราย หลังสอบปากคำกว่า 3 ชั่วโมง เชื่อได้ว่าทั้ง 3 รายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบกับทางทูตรัสเซีย ก็ยืนยันว่าทั้ง 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม ผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม จากการสอบ ปากคำ พบว่านายอับดุล อาซิซ อรุค เข้ามาประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพร้องเพลง อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งตรวจสอบพบว่าอยู่เกินเวลากำหนด (Over stay) เท่านั้น อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ย้ำตร.-ทหารเอกซเรย์ทุกตารางนิ้ว
       พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนนาย นาว์เฟล ฮัซซัน เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุ่งมหาเมฆ โดยพบว่ามีภรรยาเป็น คนไทย อยู่ที่จ.อุดรธานี ซึ่งก่อนหน้านี้เปิดร้านอาหารอิตาลี ก่อนจะปิดกิจการและเตรียมมาเปิดร้านอาหารในกรุงเทพฯ ภรรยาจึงพานายนาว์เฟล ฮัซซัน มาแสดงตัวพร้อมยืนยันว่าสามีบริสุทธิ์ ส่วนนายมูอยาด เฮยาติ ซึ่งเข้ามอบตัวที่สน.ลุมพินี พร้อมยืนยันว่าไม่ เกี่ยวข้องใดๆ โดยหลังจากพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ทราบเรื่อง ได้ขับรถยนต์ส่วนตัวมาที่สน.เพื่อกำชับให้พิสูจน์ทราบให้หายสงสัย และให้เป็นธรรมที่สุด
      พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้ อนุมานได้ว่าทั้ง 3 คนที่ถูกเชิญ ตัวมา ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และยืนยันว่ามาตรการที่ทหาร ตำรวจและ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงพื้นที่เอกซเรย์นั้นได้ทำทุกตารางนิ้ว และกำชับให้ตำรวจทุกนายโดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาลงมา ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ไม่สั่งให้รองผู้บังคับบัญชาทำงานต่ออีกที

'บิ๊กแป๊ะ'ซิ่งเก๋งมาดู-จี้สอบละเอียด
      เมื่อถามถึงกระแสข่าวจับกุมผู้ต้องหาที่ เชื่อว่าอยู่ในกลุ่มไอเอสได้ที่ประเทศกัมพูชา พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า อย่าไปฟังเลย เน้นบ้านเราประเทศเราดีกว่า อย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าว ทั้งนี้อยากฝากถึงสื่อมวลชนให้ระวังการนำเสนอข่าว เนื่องจากต้องช่วยกันปกป้องบ้านเมือง และทำให้คนอยากมาลงทุน อยากมาท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหลังจากมีข่าวเรื่องหนังสือลับออกไปนั้น ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หุ้นตก ชาวต่างชาติไม่กล้ามาเที่ยวและมาลงทุน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าข้อมูลใดๆ ที่เป็นความลับของราชการ หากหลุดจากผู้ใต้บังคับบัญชา ตนจะตรวจสอบและดำเนินการต่อไป แต่ เชื่อว่าไม่น่าจะหลุดจากตำรวจใต้บังคับบัญชาแน่นอน
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ขับรถยนต์เก๋งส่วนตัวมาด้วยตัวเอง เพื่อมาสอบถามความชัดเจนจากกรณีสอบปากคำชาวรัสเซีย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดจนกว่าจะสิ้นสงสัย
      มีรายงานว่า กระแสข่าวที่ระบุว่ามี การจับกุมชาวซีเรีย ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่ง มีการส่งภาพต่อๆ กันในโซเชี่ยลมีเดียนั้น ตรวจสอบพบว่าเป็นชาวออสเตรเลีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ในคดีทำร้ายร่างกายและกักขังหน่วงเหนี่ยว

ถอดรหัสปชป.ร้องคสช.ปลดล็อก เปิดประชุมพรรค-ฟัน'สุขุมพันธุ์'

    หมายเหตุ - ความเห็นจากนักวิชาการกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือให้ คสช.ทบทวนประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับทางพรรค ปชป.

ยอดพล เทพสิทธา

คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

       มองแบบแฟร์ๆ แล้ว คสช.ควรเปิดโอกาสให้มีการประชุมพรรคการเมืองได้ตามปกติ แม้จะอ้างว่ายังไม่มีการเลือกตั้งแต่กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ฉะนั้นคิดว่าสมควรแล้ว คสช.ต้องพิจารณาเรื่องนี้ว่าควรให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องการเงินในพรรค อันนี้ตอบไม่ได้ น่าจะเป็นเรื่องภายในของพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่มองตามจริงหลายพรรคการเมืองน่าจะอยากมีกิจกรรมคือการประชุมพรรคการเมือง วางยุทธศาสตร์ว่าจะเอายังไงกันต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ตัว คสช.จะอนุญาตมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า คสช.ตอนนี้มีปัญหาหลายทางอยู่แล้ว

     ถ้า คสช.ยังคงไม่อนุญาตต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ 1.พรรคการเมืองก็ยังคงประชุมไม่ได้ 2.จะสะท้อนภาพว่าสุดท้ายแล้ว คสช.ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมพรรคการเมืองหรือมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างที่อ้าง เพราะพรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ นี่เป็นการประชุมที่ไม่ได้จะทำกิจกรรมทางการเมือง แต่เป็นการประชุมที่เข้าใจว่าจะยกวาระเกี่ยวกับสมาชิกภาพของนักการเมืองบางท่าน

     คิดว่า คงไม่กระทบการเลือกตั้ง เพราะถ้าดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตัววางของพรรคการเมืองในการส่งลงสมัครรับเลือกตั้งคงมีอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังไม่ประกาศ เรายังไม่เห็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกับการเลือกตั้งใหม่ว่าจะกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส.อย่างไรบ้าง อาจไม่จำกัดว่า ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง

      ไม่น่ามีปัญหา เพราะมองดูแล้วว่าอีกนานมากกว่าจะมีเลือกตั้ง จากที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าปี 2560 น่าจะยังพอมีเวลา

      คสช.ควรเปิดกว้างให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางประเภทได้ ที่จริงควรจะทุกประเภทด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ตอบสนองต่อบรรยากาศที่ คสช.พูดเองว่าจะพยายามเป็นประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน

ฐิติพล ภักดีวานิช

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

        เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ทบทวนในประเด็นนี้ อย่างน้อย ณ เวลานี้แล้วพรรคการเมืองควรมีสิทธิจะจัดประชุมพรรคหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ เพราะทาง คสช.เองก็พูดถึงการเตรียมพร้อมประเทศเพื่อกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตย กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างจะต้องหยุดชะงักไปทั้งหมด กิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ควรจะเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินไปได้อย่างอิสระระดับหนึ่ง 

    การประชุมพรรคไม่ได้มองว่าจะเป็นสิ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง คิดว่าเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองน่าจะมีสิทธิจะทำได้

     ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เท่าที่ดูเป็นปัจจัยภายในของพรรคมากกว่าเรื่องที่จะสร้างปัญหาให้กับ คสช. เพราะดูจริงๆ แล้วนายอภิสิทธิ์ก็มีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ต่อต้าน คสช. การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำอะไรที่มีผลกระทบต่อ คสช. แต่น่าจะเป็นปัจจัยภายในพรรคมากกว่าที่ทำให้พรรคต้องมีการประชุม

    แล้วสมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับอนุญาต พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ต้องได้รับอนุญาตด้วย อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ คสช.เป็นห่วงมากกว่า

     คสช.กลัวมาตลอดตั้งแต่หลังการรัฐประหาร เรื่องความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ คสช.พยายามควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีอยู่ตลอด สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีมาตลอดตั้งแต่รัฐประหาร ปัจจัยนี้ก็ยังเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดได้ก็จะมีเสียงเรียกร้องจากพรรคอื่นๆ ด้วย 

     อาจเป็นสิ่งยากจะอธิบาย ถ้าให้พรรคประชาธิปัตย์จัดแต่ไม่ให้พรรคอื่นจัด ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ คสช.คิดมากกว่าการไม่อยากให้ประชาธิปัตย์จัดประชุม

   ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับสมาชิกมากเท่าไหร่ โดยมากการประชุมพรรคการเมืองของประเทศไทยมักพูดถึงการประชุมของผู้บริหารมากกว่าการประชุมกับสมาชิกพรรค คงไม่กระทบกับกิจกรรมการบริหารจัดการพรรคเท่าไหร่ แต่กระบวนการประชุมบางอย่างต้องการความเป็นทางการ กระบวนการตัดสินปัญหาต้องใช้รูปแบบกรรมการ การไม่ได้ประชุมอาจไม่ได้กระทบกระเทือนเสถียรภาพของพรรคเท่าไหร่ ถึงไม่มีการประชุมพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้วภายในพรรค แต่การประชุมเป็นสิทธิที่เขาทำได้และควรได้รับการอนุญาต

    คุณสมบัติสมาชิกภาพนั้นยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาอย่างไร แต่ ณ เวลานี้เป็นเวลาที่พรรคการเมืองควรจะได้รับอิสระแล้ว ถ้ากฎหมายยังอยู่แล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้เปลี่ยนอะไร เรื่องนี้ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งแน่ๆ คสช.เองก็ต้องแฟร์กับพรรคการเมืองด้วย กิจกรรมต่างๆ ที่ถูกระงับจาก คสช.นั้น ถ้ามีผลกระทบต่อสถานภาพหรือสมาชิกภาพของพรรค จะเป็นสิ่งที่ คสช.ต้องพิจารณามากกว่าจะมองข้ามแล้วใช้ประเด็นเรื่องความมั่นคงเป็นคำตอบที่จะไม่อนุญาต

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

     โดยพฤตินัยเขาประชุมกันอยู่แล้ว แต่ที่อยากให้ประชุมได้แบบเป็นทางการเพื่อจะได้มีมติพรรคอย่างเป็นทางการออกมาได้ จดสมาชิกได้ วัตถุประสงค์อย่างที่เราทราบว่าพรรคกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. มีปัญหาตั้งแต่เริ่มสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด ตอนแรกประชาธิปัตย์เขาจะเอานายองอาจ คล้ามไพบูลย์ แต่คุณชายหมูบอกว่าถ้าไม่เอาเขาจะสมัครในนามอิสระ จะเป็นการตัดคะแนนกันเองของประชาธิปัตย์ เลยคิดว่าไหนๆ แล้วก็สนับสนุนคุณชายหมูแล้วกัน

     ช่วงนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็มาแรง มีกระแสต่อต้านพรรคเพื่อไทย จะรวบทั้งสภาเล็ก สภาใหญ่ คือรัฐบาลระดับชาติกับรัฐบาลระดับท้องถิ่น ทำให้คุณชายหมูตีตื้นขึ้นมา 

     ด้วยความที่คุณชายหมูไม่ค่อยแฮปปี้กับประชาธิปัตย์ที่จะไม่ส่งเขาลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 1 แล้วผลของการชนะครั้งที่ 2 ทำให้เขาคิดว่าเป็นเพราะตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พูดง่ายๆ คือผลย้อนกลับจากกระแสความกลัวพรรคเพื่อไทยมากกว่าที่เขาได้รับเลือก ไม่ได้คิดว่าเป็นบุญคุณกับพรรคประชาธิปัตย์ส่งเสริมให้เขาได้รับเลือก ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามบอกว่าคุณชายหมูได้รับเลือกเพราะความเป็นประชาธิปัตย์ แต่ความจริงคือคนไม่เอาพรรคเพื่อไทย

     ทีนี้เกิดการสั่งการ ขอร้อง ร้องขอ กำหนดแนวนโยบายปฏิบัติเสริมคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขามองเห็นว่าการบริหารงานต่างๆ นานา หรือการให้สัมภาษณ์ของคุณชายหมู เช่น น้ำท่วมก็ไปอยู่บนดอยสิ มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ คุณชายหมูก็ดื้อ ส่วนประชาธิปัตย์ก็อยากจะปลดให้ได้

     จริงๆ แล้วการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องสังกัดพรรค แต่ทีนี้เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือปลดออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ การปลดนั้นต้องมีมติพรรค เมื่อคำสั่ง คสช.ยังคาอยู่ว่าไม่ให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ ก็ต้องเรียกร้องให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ อย่างพรรคเพื่อไทยจะมีแถลงการณ์ออกมาตลอด แถลงการณ์เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย นี่คือประเด็นหลักที่เขาเรียกร้อง

    เรื่องนี้สั่งสมมานาน ไม่ใช่ประเด็นเปียโน 400 หลังอย่างเดียว นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ก็แงะมาตลอด ประเด็นคอร์รัปชั่นต่างๆ เป็นเพียงปัจจัยเสริม ตอนนี้เป็นการสาวไส้ให้กากิน 

    พรรคยังรับเงินบริจาคได้อยู่ เขาบอกว่ารับเงินบริจาคไม่ได้เป็นเพียงข้ออ้างมากกว่า เพียงแต่ว่าเขาไม่ให้มีกิจกรรม ไม่ให้ประชุมพรรค ยังมีการบริจาคทำตามระบบระเบียบธรรมดา เพียงแต่ว่าจะออกไปรณรงค์ไม่ได้ เลี้ยงโต๊ะจีนไม่ได้ แรกๆ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังจัดได้เลย แต่มาถูก คสช.ห้าม

    ตอนนี้ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยคงไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ คือ คสช.เขาทำเพื่อจำกัดอำนาจของพรรคการเมือง เพราะมองว่าเป็นตัวที่ทำให้เสียสมาธิในการดำเนินการปฏิรูปอะไรของเขา หรือทำให้เป็นตัวขัดขวางเขาในการทำงานมากกว่า

    ประชาธิปัตย์ยังประชุมได้โดยพฤตินัย เพียงแค่ปลดคุณชายหมูออกไม่ได้ 

       หากประชาธิปัตย์จะยื่นอุทธรณ์กรณีนี้ อาจจะอุทธรณ์ได้เพราะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่เขาจะให้อุทธรณ์ได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!