WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1คณะผแทนสหรฐ

ศาลสั่งห้ามอีก ปูขอไปญี่ปุ่น 'จ่านิว'ยื่นรอบ 2 จี้ปล่อย'ธเนตร'

     ห้ามอีก 'ปู'อดพา"ไปป์'ไปเที่ยวญี่ปุ่น 'บิ๊กตู่'หารือตัวแทนสหรัฐ ย้ำไทยไม่ได้ถอยห่างปชต. ชี้ม็อบมีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ขอให้ใช้หลายมุมมองเรื่องสิทธิ์ ยันไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ประชาชน ด้านผู้ช่วยรมต.สหรัฐ ย้ำจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน ยึดหลักสากล พอใจผลหารือ หวังสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น'ปึ้ง'ติง'บิ๊กตู่'แถลงผลงาน อย่าลืมให้เครดิตคนคิด-เริ่มต้นโครงการด้วย'จ่านิว'ยื่นศาลอีก จี้รัฐบาลปล่อย'ธเนตร' ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยวันนี้

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9150 ข่าวสดรายวัน

ต้อนรับ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อนรับนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในโอกาสนำคณะผู้แทนสหรัฐร่วมประชุมหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.

 

บิ๊กตู่ถกผู้ช่วยรมต.มะกัน

       เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมเตรียมพร้อมต้อนรับ และจัดการประชุมร่วมไทย-กัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ โดยสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา จะนำคณะเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ถือเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งที่สองในรอบ 15 ปี เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

     โดยวันนี้นายกฯเปิดโอกาสให้นายแด เนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อเมริกาเข้าเยี่ยมคารวะ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในโอกาสนำคณะผู้แทนสหรัฐเข้าร่วมประชุมหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 5 โดยมีนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศ ไทย นายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐเข้าร่วมด้วย

ย้ำไทยไม่ได้ถอยห่างปชต.

       นายแดเนียล รัสเซล เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า การพบกับพล.อ.ประยุทธ์เป็นไปด้วยดี การหารือเน้นด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ทั้งบทบาทของไทยในภูมิภาคนี้และในเวทีโลก รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ ซึ่งมีการพูดคุยอย่างเปิดอกในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และหนทางในอนาคตข้างหน้า ทั้งยังได้ชี้แจงแนวคิดของสหรัฐที่มีต่อไทย ซึ่งความสัมพันธ์ ของไทยกับสหรัฐถือเป็นสมบัติล้ำค่าของสหรัฐ จึงอยากให้ไทยเฟื่องฟู มีความมั่นคงมากขึ้น และได้บอกพล.อ.ประยุทธ์ว่า รัฐบาลสหรัฐให้ความเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งวัฒนธรรมของไทย และให้ความสำคัญต่อด้านการค้าและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านความมั่นคง

     พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่านายกฯระบุไทยพร้อมสนับสนุนบทบาทสหรัฐ ทำให้ภูมิภาคนี้เข้มแข็ง และยินดีที่สหรัฐหันกลับมาให้ความสำคัญประเทศไทย แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดโดยกฎหมายของสหรัฐเอง โดยสหรัฐยืนยันพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันภายใต้ข้อจำกัด พยายามลดช่องว่างความสัมพันธ์ที่อาจมีเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารมาเป็นเงื่อนไข อุปสรรค นอกจากนี้ นายกฯยังบอกนายแดเนียลว่าจะเข้าใจสถานการณ์ประเทศไทยได้ ต้องย้อนไปดูอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น จะทำให้เข้าใจปัจจุบัน มองอนาคตได้ชัดเจน ขอให้มองประเทศ ไทย อย่ามองที่ตัวบุคคล ไม่ต้องเชื่อ แต่ขอให้ศึกษาเพิ่มเติม ประการสำคัญเราไม่ได้ถอยห่างจากหลักประชาธิไตยเลย

อ้างม็อบมีเบื้องหลัง

     พล.ต.วีรชนกล่าวต่อว่า สหรัฐเองแสดงความเข้าใจ พร้อมบอกว่าเรื่องต่างๆ อย่างสิทธิมนุษยชน อาจถูกนำไปเป็นประเด็นได้ ขอให้ไทยระมัดระวังเรื่องนี้นิดหนึ่ง ขณะที่นายกฯยืนยันว่าระมัดระวังเรื่องนี้ แต่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นข่าวต่างๆ ล้วนมีเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งนั้น มันไม่ใช่พลังการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ มันมีเรื่องราว อยากให้มองหลายมุม อย่ามองมุมประชาธิปไตยมุมเดียว ในแง่มุมความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศเราด้วย พยายามมองหลายๆ มุม ก่อนจะประเมินอะไรขอให้ใช้หลายมุมมอง

     พล.ต.วีรชน กล่าวอีกว่า นายกฯได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ที่สำคัญในการบริหารประเทศ โดยรักษาสมดุลระหว่าง 1.ระบอบประชาธิป ไตยและการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชา ชน และ 2.ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นวงจรปัญหาทางการเมืองเดิม ทั้งนี้ ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นี้ เป็นการวางรากฐานให้ไทยมีประชาธิปไตยที่มั่นคง พร้อมเชื่อว่าสหรัฐจะไม่นำมาตรฐานเดียวมาพิจารณาการดำเนินการของประเทศต่างๆ ที่มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน โดยหวังว่าการที่นายแดเนียลได้พบหารือกับภาคส่วนและบุคคลต่างๆ จะได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายตามความเป็นจริงและ ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ

ยันไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ปชช.

      รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ทั้งนี้ นายแด เนียลระบุว่าปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐเข้าใจต่อสถานการณ์ในไทยมากขึ้น แต่ยอมรับว่าสาธารณชนทั่วไปและสื่อมวลชนสหรัฐยังขาดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับประเทศไทยในบางประเด็น อาทิ เรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก สิทธิมนุษยชน และประเด็นการค้ามนุษย์ ซึ่งนายกฯได้กล่าวว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกนั้น รัฐบาลให้เสรีภาพสื่อและประชาชนแสดงออกไม่ได้ปิดกั้น แต่ต้องไม่สร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่ม นอกจากนี้ให้ความสำคัญกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ซึ่งสามารถแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์

     พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ในตอนท้าย นายแดเนียลได้แสดงความพอใจที่พบหารือกับนายกฯในวันนี้ และจะรายงานผลการหารือที่เป็นประโยชน์ไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อให้สหรัฐเข้าใจสถานการณ์ในไทยมากขึ้น และยืนยันความต้องการที่จะร่วมมือกับไทยอย่างสร้างสรรค์ในระดับทวิภาคีและเวทีระหว่างประเทศต่อไป

ผู้ช่วยรมต.สหรัฐหารือ"กต."

      ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กับ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แถลงผลการประชุมยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 5 ร่วมวงถกยุทธศาสตร์ 2 ประเทศ บรรยากาศสร้างสรรค์ (subheading)

    นายอภิชาติ กล่าวว่า การหารือเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา มีความจริงใจและมุ่งเน้นความร่วมมือที่สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะส่งเสริมเรื่องสันติภาพและเสถียรภาพ ความร่วมมือทวิภาคี ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารและความมั่นคง การประชุมครั้งนี้ถือว่าราบรื่นบรรยากาศเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตและเต็มไปด้วยสาระ มีความร่วมมือครอบ คลุมในทุกมิติและขอขอบคุณนายแดเนียล และคณะที่เห็นถึงความสำคัญในการเข้าร่วมหารือครั้งนี้ โดยคาดว่าจะมีการหารือครั้งที่ 6 ในปีหน้าที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกาต่อไป

ชี้สัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

     ด้านนายรัสเซลกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นมิตรประเทศมายาวนาน วันนี้ได้พูดคุยในหลายประเด็นตลอดจนถึงการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย ซึ่งการหารือวันนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ดีของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ สำหรับสหรัฐมีความใส่ใจอย่างจริงใจให้กับไทยและอยากทำงานร่วมกับไทยเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน อยากเห็นประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้กระชับความสัมพันธ์ให้แนบแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความคืบหน้าในการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงพูดคุยถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจ เช่น เรื่องทะเลจีนใต้ ด้วย นายรัสเซลยังกล่าวถึงการประชุมร่วมกันในปีหน้า อันได้แก่การประชุม สุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนก.พ.ปีหน้า

      "วันนี้ทั้งสองฝ่ายได้คุยโครงการต่างๆ ที่จะทำร่วมกันในปี 2559 ให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมืออย่างเข้มข้นต่อไป อเมริกาขอยืนยันว่าให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมากในฐานะเป็นมิตรประเทศ และมุ่งมั่นที่จะสานความสัมพันธ์อันดีต่อไป" นาย รัสเซลกล่าว

สหรัฐย้ำจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน

     เมื่อถามถึงข้อจำกัดในการการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันมีเรื่องใดบ้าง นายรัสเซล กล่าวว่าภายใต้กฎหมายสหรัฐได้กำหนดถึงขอบเขตที่สหรัฐจะสามารถจัดลำดับความสัมพันธ์ให้แต่ละประเทศ ซึ่งความร่วมมือต่างๆ จะกลับมาได้ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยกลับคืนมา ส่วนความร่วมมือทางการทหารด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ในไทยจึงทำให้ยากต่อการสนับสนุน แต่สหรัฐก็พยายามที่จะให้การสนับสนุนโดยพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น การฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ ก็จะเน้นให้การช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือใน อีกหลายมิติที่ทั้งไทยและสหรัฐจะทำได้ แต่สหรัฐอยากฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีให้กลับคืนมาเป็นดังเดิม

     เมื่อถามถึงผลการหารือของรัสเซลกับนายกฯที่รองโฆษกรัฐบาลชี้แจงว่าสหรัฐยังไม่เข้าใจสถานการณ์ในไทย เช่น การค้ามนุษย์ เสรีภาพในการแสดงออก นายรัสเซลกล่าวว่า รองโฆษกรัฐบาล ได้ทำหน้าที่ในการให้ข่าวฐานะตัวแทนประเทศไทย ส่วนตนจะขอพูดในฐานะตัวแทนสหรัฐซึ่งวันนี้ได้คุยกับนายกฯอย่างตรงไปตรงมาในหลายมิติ และรู้สึกซาบซึ้งที่นายกฯได้ให้โอกาสหารือร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความหวัง ความกังวล และโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือที่มีร่วมกันในทุกด้าน ซึ่งนายกฯได้ชี้แจงถึงข้อห่วงกังวลและอธิบายสถาน การณ์การเมืองและโรดแม็ปที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยของไทย ขณะที่สหรัฐยังคงย้ำจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะถือเป็นหลักการสากลที่ทุกคนต้องการและควรจะได้รับ ทั้งนี้สหรัฐอยากเห็นประเทศไทยมีความมั่นคง เจริญรุ่งเรือง ที่มีรัฐบาลที่เป็นประชา ธิปไตย และสหรัฐจะเป็นเพื่อนเคียงข้างประเทศไทยในฐานะที่ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญทั้งภูมิภาคและระดับโลก

จ่านิวยื่นศาลอีก-จี้รบ.ปล่อย"ธเนตร"

    ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ในฐานะสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ พร้อมด้วยทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาไต่สวนฉุกเฉินให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิว เตอร์ จากกรณีแชร์แผนผังทุจริตอุทยาน ราชภักดิ์ ว่าเป็นการควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นครั้งที่ 2 หลังจากวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า การอ้างว่านายธเนตรถูกจับกุมระหว่างการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเพียงคำบอกเล่า ที่ไม่สามารถยืนยันได้ และการจับกุมนาย ธเนตรเป็นไปตามหมายจับ

     นายสิรวิชญ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่เพิ่มเติมในคำร้องใหม่ ประกอบด้วยหลักฐานคำให้สัมภาษณ์ของพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร ว่าการควบคุมตัวนายธเนตรเป็นไปตามหมายจับซึ่งตามหลักกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะต้องนำส่งฟ้องศาลภายใน 48 ชั่วโมง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำตัวไปส่งฟ้องศาลและยังไม่เคยมีการชี้แจงว่าเป็นการควบคุมตัวด้วยอำนาจตามคำสั่งคสช. ซึ่งให้เวลาควบคุมตัว 7 วัน จึงถือเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นัดฟังคำวินิจฉัย 17 ธ.ค.

      นายสิริวิชญ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การแถลงข่าวของรอง ผบ.ตร. ว่าการกดไลก์และกดแชร์ถือเป็นความผิดตามกฎหมายนั้น เห็นว่าเป็นการตีความกฎหมาย เพื่อสนองความต้องการของรัฐบาล คสช. และกำลังทำให้ระบบกฎหมายเกิดความเสียหาย

    ด้านน.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความกล่าวว่า ศาลได้รับพิจารณาคำร้องดังกล่าวไว้อีกครั้ง โดยให้ผู้ยื่นคำร้องกลับมาฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. วันที่ 17 ธ.ค.นี้

      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เปิดเผยว่าคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และพวกเป็น ผู้ต้องหา มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบมีผู้เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าการดำเนินคดีผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ กับคดีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นคนละเรื่องกัน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีในตอนนี้เป็นผู้ที่มีความผิดชัดเจน ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ที่กดแชร์ กดไลก์ และเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายลักษณะหมิ่นสถาบัน จะมีความผิดเช่นกัน จึงฝากเตือน ให้ประชาชนระมัดระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย


เสวนา - สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ "เสรีภาพทางวิชาการภายใต้ทหาร" มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 5 นายมาเฝ้าสังเกตการณ์ ที่อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ย่านลุมพินี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.

ศาลไม่อนุญาต"ปู"ไปญี่ปุ่น

       แหล่งข่าวใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ขอเดินทางออกนอกประเทศ กรณีจะพาด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชายไปทัศนศึกษา ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยศาลฎีกาฯ แจ้งคำสั่งให้ทราบแล้วหลังจากทนายความของอดีตนายกฯ ยื่นคำร้องขอต่อศาลว่า อดีตนายกฯประสงค์จะเดินทางไปญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 15-25 ธ.ค. เพื่อพาด.ช.ศุภเสกข์ไปทัศนศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอดีตนายกฯต้องการใช้เวลากับลูกในช่วงปิดภาคเรียน แต่ศาลฎีกาฯพิจารณาแล้วลงความเห็นไม่อนุญาต

ปึ้งติง"บิ๊กตู่"-ให้เครดิตคนอื่นด้วย

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นนายกฯไปเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วงสายบางซื่อถึงบางใหญ่ก็รู้สึกดีใจแทนคนไทย ที่จะได้ใช้รถไฟฟ้า เดินทางสัญจรไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และนนทบุรีได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่อยากให้ประชาชนทราบเอาไว้ว่าโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางสายนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯและเมื่อมาถึงรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยแก้ไขระบบโครงข่ายเข้าด้วยกันเพื่อให้การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ครบวงจร ซึ่งบังเอิญมาแล้วเสร็จในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นี้พอดี เลยไม่อยากให้ประชาชนไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลงานของรัฐบาลท่านนายกฯประยุทธ์ เช่นเดียวกับหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์และถูกนำมาทำต่อเนื่อง เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายไทย-เมียนมา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน โครง การเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอด และการเปิดขยายด่านพรมแดนต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นผลงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งนั้น

      "หวังที่จะได้ยินพล.อ.ประยุทธ์พูดผ่านสื่อให้เครดิตคนริเริ่มโครงการบ้าง แต่กลับไม่มีการพูดถึงเลย ต่างไปจากผู้นำหลายๆ ประเทศที่เขาจะมีความเป็นสุภาพบุรุษพอที่จะกล่าวถึง หรือให้เกียรติแก่ผู้เริ่มต้นคิดโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน หวังว่าในอนาคตพล.อ.ประยุทธ์น่าจะพูดถึงความเป็นมาของโครงการเขาบ้างและหวังว่าในการชี้แจงผลงานของรัฐบาลในระหว่างวันที่ 23-25 ธ.ค.นี้ อยากให้แถลงผลงานที่เกิดขึ้นตามแนวนโยบายของรัฐบาลนี้อย่างแท้จริง อันไหนลอกของรัฐบาลอื่นๆ มาก็บอกประชาชนว่าลอกเขามาแต่เปลี่ยนชื่อเรียกขานใหม่ อันไหนทำมาก่อนหน้ารัฐบาลนี้แล้วมาสำเร็จในรัฐบาลนี้พอดี อย่าเหมารวมว่าเป็นผลงานของรัฐบาลก็แล้วกัน" นายสุรพงษ์กล่าว

คณินเตือนกรธ.-ลืมถ่วงดุล

     นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ปี 2540 กล่าวถึงมาตรการเข้มข้นที่กรธ.ออกแบบไว้ตรวจสอบฝ่ายบริหารและนักการเมือง เพื่อป้องกันการทุจริตว่า การตรวจสอบเป็นเรื่องดี แต่พึงสังวรด้วยว่าการให้ท้ายฝ่ายค้านและเพิ่มเขี้ยวเล็บให้แก่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ มากเกินไป อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำร้ายประเทศได้เหมือนกัน เพราะถ้ากรธ.หวังเพียงป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเดียว แต่ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อาจทำให้การคอร์รัปชั่นลดน้อยลงได้บ้างเพราะฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองไม่กล้าทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากกลัวอิทธิฤทธิ์ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้หมดอนาคตได้ง่ายๆ ซึ่งผลเสียจะตกอยู่กับประเทศและประชาชน

     นายคณิน กล่าวว่า ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องกลายเป็นอัมพาต ไร้เสถียรภาพทั้งของรัฐบาลและการเมืองโดยรวม เพราะฝ่ายบริหารจะตกอยู่ระหว่างเขาควาย หากทำงานหนักก็จะถูกกล่าวหาว่าโกง และถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ไม่ทำงานก็ถูกประชาชนลงโทษว่าไร้ผลงานและไม่ดูแลประชาชน กรธ.อยากเห็นการเมืองมีสภาพเช่นนี้หรือ

      "กรธ.ควรตระหนักอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งมีสภาพเป็นเป็ดง่อย หรือลูกไก่ในกำมือของฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อนั้นรัฐบาลจะไร้เสถียรภาพ และสั่นคลอนอย่างรุนแรง ประเทศจะกลายเป็นอัมพาตอีกด้วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดและก่อนใครเพื่อนก็คือประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน" นายคณินกล่าว

แนะยึดหลักการ-หวั่นซ้ำรอยปี 57

    นายคณินกล่าวอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรหลงติดกับภาพจำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ต้องยึดหลักการเป็นตัวนำ เป็นมาตรการที่ใช้ได้ดีสำหรับทุกฝ่ายและ ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าผู้ใดหรือพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาล ยกตัวอย่างว่า กรธ.ออกแบบมาตรการเข้มข้นเป็นยาแรง เพื่อให้ใช้กับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะเป็นโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะอาศัยองค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรการเหล่ารุมกระหน่ำจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็ถูกทหารปฏิวัติอีกเหมือนเมื่อปี 2557 เข้าตำรา ถึงจะใช้ยาแรงแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ ต้องให้ยาแรงขึ้นไปอีก

     นายคณิน กล่าวว่า ถ้าพรรคอื่นเป็นรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน แม้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยากจะอุ้มรัฐบาล แต่อุ้มไม่ถนัดเพราะฝ่ายค้าน ประชาชน และมวลชน จะกดดันให้จัดการกับรัฐบาลจนอยู่ไม่ได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ไม่ได้ ยิ่งถ้าเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ มีกองทัพหนุนหลังจะไปใหญ่ เมื่อถึงทางตันก็ไม่ยอมยุบสภา ขณะที่กลไกที่วางไว้ผ่าทางตัน คือศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธาน 3 ศาล จะไม่ยอมทำงานเพราะเกรงใจทหาร เหตุการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนตอนที่จอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติตัวเองและปราบปรามประชาชนจนเกิดการนองเลือดในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516

อดีตสว.ยื่นกรธ.ให้มีสว.เลือกตั้ง

     ที่รัฐสภา อดีตส.ว.เลือกตั้งปี 2557 นำโดย นายตรี ด่านไพบูลย์ อดีตส.ว.ลำพูน นายทวี ภูมิสิงหราช อดีตส.ว.พัทลุง และนายสมเกียรติ พื้นแสน อดีตส.ว.ร้อยเอ็ด ยื่นหนังสือถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน

      นายตรี กล่าวว่า การที่กรธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญในประเด็นการได้มาของส.ว. โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจาก 20 วิชาชีพ จำนวน 200 คน โดยไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากเขตจังหวัด พวกตนซึ่งเป็นอดีตส.ว.มาจากเลือกตั้ง เห็นว่าการเลือกตั้งทางอ้อมไม่เป็นไปตามหลักการตามระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่ได้ยึดโยงประชาชน และเพื่อสร้างสมดุลทางการเมือง จึงขอเสนอให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัดๆ ละ 1 คนทั่วประเทศ รวม 77 คน และให้มีส.ว.จากการเลือกตั้งโดยอ้อมจาก 20 สาขาวิชาชีพ 123 คน รวม 200 คน การที่พวกตนเสนอนั้น ถือเป็นการเคารพต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศที่มีความคิดเห็นหลากหลาย เราผ่านการเลือกตั้งมาหลายรูปแบบแล้ว ทั้งแต่งตั้งอย่างเดียว หรือเลือกตั้งโดยตรง หรือผสม ดังนั้น เพื่อสร้างสมดุลทางการเมืองที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในฐานะของส.ว.ควรเป็นองค์กรที่มีหลักเป็นกลางทางการเมืองด้วย

กกต.ชี้"เขตใหญ่"ทุจริตยาก

      ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรม นูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาศึกษาเพื่อทำความเห็นต่อการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นำโดยนายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการกกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี กกต. เข้าให้รายละเอียด ซึ่งที่ประชุมได้ซักถามพร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย และมาตรการแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงการซื้อสิทธิขายเสียงที่ได้ผลสำเร็จ

      โดยผู้แทนกกต.ชี้แจงว่าระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย และทุจริตการเลือกตั้งได้ยาก คือระบบเขตใหญ่เบอร์เดียว หรือระบบที่คล้ายกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดละคน แต่ยอมรับว่าประเด็นของมาตรการแก้การซื้อสิทธิขายเสียงที่กกต.พยายามหามาตรการนั้นมีทางป้องกันได้น้อย เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งมักหาวิธีเอาเปรียบผู้สมัครรายชื่อด้วยวิธีการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

รับจัดสรรปันส่วนผสมเสี่ยงซื้อเสียง

       ที่ประชุมยังได้ถามต่อประเด็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่กรธ.พิจารณาว่าจะช่วยลดปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่ โดยผู้แทนกกต.ชี้แจงว่า กกต.สนับสนุนระบบเลือกตั้งและใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะง่ายต่อการบริหารจัดการ ส่วนกรณีที่จะทำให้พรรคการเมืองทุ่มซื้อเสียงมากขึ้น เพราะผลการลงคะแนนจะมีผลผูกพันกับคะแนนนิยมของพรรคการเมืองอาจเป็นไปได้ แต่ในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้นจะยึดคะแนนนิยมของพรรคเป็นหลัก เพราะหากได้ส.ส.เขตจำนวนมากจะทำให้ส.ส.บัญชีรายชื่อมีน้อยตามคะแนนนิยม

    นายสุรชัย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ทางกมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าจะเร่งทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งให้กรธ.ภายในวันที่ 8 ม.ค.2559 ก่อนที่กรธ.จะจัดประชุมนอกสถานที่เพื่อพิจารณารายมาตรา ส่วนการนำเสนอนั้นจะเป็นลักษณะข้อเสนอแนะรายประเด็นที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาวิกฤตและปัญหาของประเทศที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการเมืองที่ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ข้อเสนอก่อนที่จะส่งให้กรธ.นั้น จะพิจารณาจากข้อมูลจากข้อเสนอที่กมธ.ทั้ง 16 คณะของสนช.รวบรวมเสนอ และจากการรับฟังความเห็นประชาชนในเวทีภูมิภาค รวมถึงการรับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ

ภุชงค์ลั่นพร้อมสู้คดีกกต.

     วันเดียวกัน นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกกต.ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทว่า ตนก็ต้องต่อสู้คดี ด้วยข้อเท็จจริงกันที่ศาล ซึ่งตนก็พร้อมสู้คดี เพราะจากคำพูดของตนที่พูดเรื่องการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่ได้กล่าวหาใครเลย ไม่ว่าประธานกกต. หรือกกต.คนใด ตนพูดเพียงว่าอยากให้การพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชนร่วมกันพิมพ์ และอยากให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

     นายภุชงค์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องใบสั่ง ตนไม่ได้กล่าวหาว่าเป็นใบสั่งของใคร ที่สำคัญเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น ขณะนี้ตนกำลังเร่งร่างคำอุทธรณ์คำสั่ง กกต. กรณีเลิกจ้าง เพื่อยื่นอุทธรณ์ไปยัง กกต.ภายใน 15 วัน โดยตนจะเข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์ที่สำนักงาน กกต.ด้วยตนเอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!