WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gนพ.มงคล ณ สงขลา'หมอมงคล'ย้ำอึดอัดรบ.-เหตุ ไม่ฟังใคร ทหารค้น บ้านจ่านิว จี้มอบตัว ฮึ่มติดคุก
      'หมอมงคล' ย้ำอึดอัดรัฐบาล เหตุไม่ฟังใคร ชี้อย่าเอาปืน มาจ่อให้คนทำตาม เชื่อคนจะแสดงออกอีกเยอะ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพโวยรัฐบาลทหารฟังแต่คนใกล้ชิด กรธ.เผยร่างรธน. ให้พรรคส่งแค่ 3 ชื่อลุ้นนายกฯ ใครแพ้โหวตโนหมดสิทธิ พรรคต้องส่งผู้สมัครใหม่ ป.ป.ช.โวยศาลปกครองตัดสินคดี ชี้อำนาจวินิจฉัย ป.ป.ช.คลาดเคลื่อน เตรียมร้องศาลรธน.ตัดสิน หรือร้องศาลปค.พิพากษาใหม่ ทหารบุกค้นบ้าน'จ่านิว'

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9179 ข่าวสดรายวัน


หมอมงคล ย้ำอึดอัดหลายเรื่อง
     จากกรณีนพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข ยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โพสต์ภาพในวันชัตดาวน์กรุงเทพฯเมื่อปี 2556 พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวข้อความว่า "ผมจำได้ว่า วันที่ 13 ม.ค. พวกเรารวมอายุกันเป็นพันปี เดินประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากกระทรวงสาธารณสุขมา 5 แยกลาดพร้าว ร้อนก็ร้อน รถก็เยอะ กินควันท่อไอเสียมาตลอดทาง ผมไม่หยุดพักหรือแอบขึ้นรถแม้แต่นิด สาบานได้ เราต้องการการเปลี่ยน แปลงจากที่เห็นว่าสภาพประเทศอันเป็นที่รักแย่ที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมทำผิดมหันต์ในชีวิต เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้แย่ยิ่งกว่า และไม่มีโอกาสออกไปเดิน เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลทหารครับ" ซึ่งพบว่ามีทั้งหมอและ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ตระกูล ส. เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
     เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นพ.มงคลให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่แสดงความคิดเห็นไปเป็นสิ่งที่สรุปสั้นๆ ในสถานภาพขณะนี้ว่าเป็นอย่างไรจากประสบการณ์ที่พบมา สิ่งที่พูดก็ไม่ได้เป็นห่วงตัวเอง แค่อยากสะท้อน และพูดตรงๆ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะใครทำอะไรก็ได้รับสิ่งนั้น และที่แสดงความเห็นก็ไม่ใช่เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับสสส.เพียงอย่างเดียว แต่อึดอัดกับหลายเรื่อง เช่น ประเด็นแนวคิดการแก้ไขกฎหมายเช่าที่ดินที่ต้องการเพิ่มให้นานถึง 99 ปี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งปัญหานอมินีเก่าก็ยังแก้ไม่ทันจบ จะเกิดปัญหากับคนไทยในอนาคตแน่นอน

อย่าเอาปืนจ่อหัวให้คนทำตาม
     "ทุกคนที่ออกมาพูดล้วนเป็นห่วง เช่น นพ.ประเวศ วะสี เตือนนั้นเพราะอยากให้รัฐบาลดูเนื้อหาดีๆ อย่าฟังคนรอบข้างที่มีข้อมูลข้างเดียว ถ้าอยากช่วยเหลือประชาชน ประเทศชาติจริงๆ ขอให้ฟังให้รอบด้าน อย่าเอาปืนมาจ่อให้คนทำตาม ไม่ใช่ว่าได้อำนาจแล้วไม่ฟังใคร มันจะยิ่งกว่าสิ่งที่เคยเป็นมา สิ่งที่ผมพูดมันเกิดจากความกดดัน อึดอัดหลายเรื่องจนทนไม่ไหว ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสสส. แต่ต้องทนอยู่ภายใต้ความอึดอัดที่เลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้ ถ้าคนมีโอกาสทำได้ก็คงต้องออกมาเยอะเพราะความกดดัน" นพ.มงคลกล่าว
      นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข สมัยนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรมว.สาธารณสุข ซึ่งปรากฏในภาพของนพ.มงคล กล่าวว่าไม่เคยเสียใจที่มีส่วนร่วมขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เข้ามาแก้ปัญหาบางเรื่อง เช่น การรักษาความสงบ การจัดระเบียบ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับตระกูล ส. นั้น คิดว่ารัฐบาลขาดข้อมูลที่เพียงพอ ฟังแต่บางคนจึงขาดการตรวจสอบข้อมูลที่รอบด้าน และข้อมูลที่ปรากฏในโซเชี่ยลมีเดียก็บิดเบือน เช่น ระบุว่ากรรมการบางคนมีผลประโยชน์นั้น จริงๆ ไม่ใช่เพราะที่กรรมการต่างๆ เข้ามาเพื่อมาทำงานได้เบี้ยประชุมไม่มาก และคณะกรรมการที่ถูกปลดไปส่วนใหญ่ก็เป็น ผู้ที่มีเครดิตที่ดีมานานแล้ว เชื่อว่ากรรมการเหล่านั้นไม่ได้มาหาผลประโยชน์ ส่วนเรื่องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกบิดเบือนข้อมูลทำให้เข้าใจผิด ตนชื่นชมนายกฯหลายเรื่อง เช่น เป็นคนตั้งใจจริงแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาหลายเรื่องยังรับฟังปัญหาไม่เพียงพอก็รีบตัดสินใจ ส่วนแต่เรื่องตระกูล ส. นายกฯน่าจะพิจารณาใหม่ รับฟังข้อมูลให้รอบด้านและทบทวนเรื่องนี้ใหม่

ซัดทหารฟังแต่คนใกล้ชิด
      น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบสุขภาพ ไม่ว่ากรณีสปสช. หรือล่าสุดที่สสส.ประสบอยู่นั้น น่าห่วง แต่ก็ยังมีความหวัง ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ซึ่งหากพิจารณาดีๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงกลับมีปฏิวัติมากที่สุด และมีการร่างรัฐธรรมนูญมากเช่นกัน แบบนี้ยังไม่ก้าวหน้า และเมื่อมีรัฐบาลทหารเข้ามายิ่งหนัก ไม่สามารถเข้าใจอะไรง่ายๆ แต่รับฟังคนใกล้ชิด ฟังข้าราชการประจำมาก อย่างกรณีปฏิรูประบบสุขภาพก็เช่นกัน จึงน่าห่วง
      "กรณีนี้ก็เข้าใจนพ.มงคล ที่อยากต่อสู้คอร์รัปชั่น อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและร่วมขบวนการกดดันดังกล่าว แต่ผลสะท้อนกลับแย่กว่า ไม่ต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประชาธิปไตยยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้" น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

ชี้ไม่เป็นธรรม'สปสช.-สสส.'
     นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ตนเข้าใจนพ.มงคล คงรู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ตอนนี้ ที่ไม่สามารถแสดงออกได้เสรี ยิ่งขณะนี้ทั้งสปสช.และสสส.ถูกดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลทหารไม่ตั้งใจ แต่อาจไม่ทราบทั้งหมด น่าจะมีบุคคลที่ชงเรื่องนี้เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจออกมา ส่วนคนชงจะเป็นใคร ตนไม่ทราบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะกระทบทั้งต่อร.พ.ในสังกัดทุกระดับ และประชาชนทั้งหมดอย่างแน่นอน
       แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯได้พบกับ 7 บอร์ดสสส.ที่ถูกปลดและผู้บริหารสสส. โดยมีข่าวว่าการสรรหาและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสสส.รายใหม่ทั้ง 7 ตำแหน่งนั้น นายสมคิดขอล็อกคนไว้ 4 ตำแหน่งคือ 1.เป็นนักธุรกิจที่มาจากธุรกิจน้ำตาล 2.คนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแต่สนิทกับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ 3.ผู้บริหารบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่รับงานในโครงการประชารัฐ ซึ่งจะมาในนามเอ็นจีโอ และ 4.ทหาร 1 ตำแหน่ง นอกจากนี้มีกระแสว่าจะดึงตัว ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ที่ถูกปลด 2 คนกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยคือ นายสมพร ใช้บางยาง อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการกีฬา สสส. และนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการพัฒนาชุมชน สสส.

ทหารบุกค้นบ้าน'จ่านิว'
     วันเดียวกันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชนแจ้งว่า ได้รับทราบจากนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้มีทหารในเครื่องแบบไปที่บ้าน 5-6 นาย เข้าค้นบ้านของนาย สิรวิชญ์ โดยไม่แสดงหมายค้น โดยอ้างว่าหากบริสุทธิ์ใจต้องให้เข้าค้นได้ ขณะที่ทหารมาที่บ้านมีเพียงยายอยู่ที่บ้านคนเดียว แต่ไม่ทราบว่าเป็นทหารจากหน่วยใด แต่คิดว่าไม่ใช่ทหารชุดเดียวกับที่มาที่บ้านเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่คุ้นหน้าทหารคนใดที่มา
      นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นที่ห้องของนายสิรวิชญ์และได้ยึดตั๋วรถไฟที่นายสิรวิชญ์สะสมไว้พันกว่าใบไป แต่ยังไม่พบว่ามีสิ่งของอย่างอื่นหายไปอีก ในการตรวจค้นใช้เวลาราว 10-15 นาที นอกจากการตรวจค้นแล้วเจ้าหน้าที่ทหารยังกล่าวอีกว่าถ้านาย สิรวิชญ์ไม่เข้ามอบตัวจะไม่ให้ประกันตัว
     สำหรับ นายสิรวิชญ์เป็น 1 ใน 11 คนที่ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องหากลโกง" เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558

รบ.ร่อนจม.'ตู่'ขอให้ลดสิ่งที่ไม่รู้
     ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้นำจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชา ชนฉบับที่ 18 วันที่ 15 ม.ค. มาแจกจ่าย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นเรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และยังนำเสนอถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสมอบนโยบายสำคัญแก่ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ด้วย โดยถ้อยแถลงนั้นเรียกร้องให้ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ร่วมมือกัน
    พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า อยากให้คนไทย ทั้งวัยศึกษาหาความรู้ วัยแรงงานสร้างชาติและวัยพักผ่อน ที่มีประสบการณ์สูงได้เติมเต็มซึ่งกันและกัน หวังว่าคนไทยทั้ง 3 รุ่นตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงรู้เท่าทันผล กระทบทั้งต่อตนเอง หน้าที่การงานและต่อประเทศ เตรียมพร้อมปรับตัวพัฒนาตนไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ส่วนความไม่รู้นั้นหวังว่าทุกคนจะสำรวจตัวเองลดสิ่งเหล่านั้นลงให้เหลือน้อยที่สุด ไม่หยุดนิ่งแต่เดินเข้าหาแหล่งวิชาการ แหล่งความร่วมมือกัน แทนนั่งรอโอกาสเหมือน "ปลาเป็นที่ต้องว่ายทวนน้ำ"
     รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสื่อสารกับประชาชนนอกเหนือจากทุกคืนวันศุกร์ที่มีรายการคืนความสุขให้คนในชาติแล้ว โดยวันเสาร์ที่ 16 ม.ค.นี้จะมีรายการ "จากใจ นายกฯ" ยาว 23 นาที โดยจะออกอากาศหลังเวลา 08.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และเครือข่าย โดยรายการดังกล่าวได้ทำการบันทึกเทปไว้เรียบร้อยแล้วและจะมีแค่วันเสาร์นี้วันเดียว

ศาลไม่กดดันถูกแฮ็กเกอร์โจมตี
     นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรมถูกแฮ็กเกอร์ว่า ทันทีที่เว็บไซต์ของศาลทั่วประเทศถูกโจมตี ก็ได้แก้ไขโดยสร้างเว็บไซต์หน้าแรกชั่วคราว รวมทั้งนำข้อมูลที่ต้องติดต่อภายนอกเท่าที่จำเป็นให้ใช้ได้ ซึ่งระบบงานภายในไม่เสียหาย แต่ละศาลใช้งานได้ตามปกติ โดยยังไม่เปิดให้เชื่อมต่อจากภายนอก แต่ยืนยันว่าข้อมูลเกี่ยวกับคดีความต่างๆ ยังใช้ได้ทั้งหมด แม้ว่าตัวคำพิพากษาคดีเกาะเต่าที่หน้าเว็บของศาลยุติธรรมออนไลน์ไว้จะหายไปจริง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเอกสารตัวจริงหรือเอกสารอื่นๆ ยังอยู่ครบ ขณะนี้จึงแค่ปรับระบบเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
    โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ทราบปัญหาดี พร้อมมีข้อเสนอแนะมายังนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยศาลยุติธรรมไม่รู้สึกกดดันหรือกังวลใจ เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและได้แสดงคำวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าศาลพิพากษาตัดสินคดีด้วยเหตุผลหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าเสียภาพลักษณ์ หรือลดความเชื่อถือระบบศาลของไทยในสายตาของชาวต่างชาติ

'ป้อม'ชี้มีคนจ้องโจมตีหลายเรื่อง
    ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแฮ็กเกอร์เจาะระบบหน้าเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรมว่า พยายามแก้ปัญหาแฮ็กเกอร์เจาะระบบเข้าเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ อยู่ แต่จะให้ทำอย่างไรได้ เพราะมีคนจ้องโจมตีเราอยู่หลายเรื่อง
    พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ลาออกจากที่ปรึกษาคสช.ว่า เป็นเพียงการลาออกเพื่อไปทำงานส่วนตัวที่ต่างประเทศ และขณะนี้ยังไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นมาแทน
    พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หลุดจากเทียร์ 3 ว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาทุกอย่างตามที่เขาบอกทุกเรื่อง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็คิดและสั่งการทุกเรื่องเช่นกัน เนื่องจากเราต้องทำทุกอย่างให้ดีขึ้นและเป็นไปตามหลักสากล ฉะนั้นเรื่องค้ามนุษย์และเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) เราพยายามทำ แต่ไม่ทราบว่าจะขยับจากหลุดจากเทียร์ 3 ได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะกรรมการ แต่เชื่อว่าจะทำได้ ไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลสู้ทุกอย่าง

ปึ้งเชื่อร่างรธน.ฉบับมีชัยคว่ำอีก
     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเท่าที่ติดตามการทำงานของกรธ.พอจะสรุปได้ว่า กรธ.จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ตามที่กรธ.ต้องการ เพราะกรธ.จะใช้วิธีอ้างว่าได้ไปทำโพลถามประชาชนมาแล้ว ประชาชนเขาไม่เอา เช่น กรณีห้ามบุพการี ผัว เมีย ลูก ไปสมัครส.ว. ถ้าสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งได้เป็นส.ส.แล้ว ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่กรธ.ต้องยกโขยงไปประชุมกันถึงชายทะเล และออกแถลงข่าวกันทุกวันให้ดูเหมือนกับว่าได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาแล้ว แต่แท้ที่จริงก็เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามที่ตนเองต้องการไว้เรียบร้อย แล้วมาประชุมเล่นละครกันอยู่ทำไม สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายของพวกท่านเปล่าๆ
      "เอายังไงก็เอากัน เดี๋ยวประชาชนเจ้าของประเทศจะตัดสินใจเอง ว่าจะเอารัฐธรรมนูญที่พวกท่านร่างขึ้นมานี้หรือไม่ หรือประชาชนจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญตอนทำประชามติ หมดยุคแล้วที่จะมาบอกประชาชนว่าให้รับๆ กันไปก่อน แล้วไม่ชอบตรงไหนค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญในตอนหลัง และต้องขอร้องอีกเช่นกันว่าอย่ามาสรุปว่ายังไงนักการเมืองก็ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพราะนักการเมืองตกงานกันมานานร่วม 2 ปีแล้ว ยังไงนักการเมืองก็ต้องเอาด้วยนั้น ถ้าพวกท่านคิดแบบนี้ขอบอกไว้ล่วงหน้าเลยกำลังคิดผิด และอยากให้อาจารย์มีชัยรีบกลับไปปรึกษากับหัวหน้าคสช.เอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ ว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ท่านจะทำอย่างไร จะซื้อเวลาต่อเพื่อให้ได้อยู่ในตำแหน่งนานๆ กันต่อไปอย่างไร รัฐบาลจะได้เตรียมไปชี้แจงสังคมโลกถึงเหตุผลที่จะต้องยืดโรดแม็ปออกไปอีก" นายสุรพงษ์กล่าว

'มีชัย'ยันเลือกสส.กาบัตรใบเดียว
      ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประชุมนอกสถานที่ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นวันที่ 4 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมพิจารณาในหมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงบททั่วไป และวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว และวันนี้จะพิจารณาต่อในส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง ซึ่งพิจารณาไปแล้ว 2-3 มาตรา โดยเริ่มที่มาตรา 118 และต่อด้วยการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้งนี้ กรธ.จะให้จบหมวดว่าด้วย ครม.ในวันนี้
    นายมีชัย กล่าวถึงภาพรวมในการทำงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหมวดรัฐสภา เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กรธ.ยังยืนยันในหลักการที่ให้เลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเหมือนเดิม และยืนยันว่าหลักการนี้ไม่ทำให้การเมืองแตกแยกหรืออ่อนแอ เชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่มีความรุนแรง รวมทั้งยังให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ โดยไม่ได้ห้ามไว้ ส่วนการเลือกประธานสภาเป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้า กรธ.ไปกำหนดเป็นการเฉพาะให้รองประธานสภามาจากฝ่ายค้าน จะทำให้ขัดกับหลักการทั่วไป และจะเกิดการทะเลาะกันข้างบนส่งผลให้องค์กรนี้ที่แย่อยู่แล้วต้องแย่ลงไปอีก

ป้องศาลรธน.ไม่ใช่ซูเปอร์องค์กร
    นายมีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับเปลี่ยนกระบวนการการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรธ.ไม่ได้มุ่งเน้นและเปลี่ยนแปลงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะเปลี่ยนแปลงในทุกองค์กร โดยจะให้เป็นวิธีการและมาตรฐานเดียวเหมือนกันหมด และต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องสูงขึ้น อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอย่างที่มีใครตั้งข้อสังเกต เพราะเดิมศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว เพียงแต่มีการกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีภารกิจมากขึ้น
     เมื่อถามว่า การให้วินิจฉัยมาตรา 7 จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นซูเปอร์องค์กรหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรม นูญอยู่แล้ว มันไม่มีทางเลี่ยง จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจ เพียงแต่เขียนให้มันชัดเจนเท่านั้น ทุกอย่างจะได้จบ และเมื่อมองดูแล้วก็ไม่มีองค์กรไหนที่จะชี้ขาดได้เหมาะสมเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ กำลังหารือว่าจะลดลงมาที่ 7 ปีได้หรือไม่

อ้างไม่ห้ามญาติสว.-แต่ให้สว.ออก
    นายมีชัย ยังกล่าวถึงข้อห้ามคุณสมบัติของ ส.ว.หากปรากฏว่าภายหลังมีเครือญาติลงสมัคร ส.ส.ว่า กรธ.ไม่ได้ห้ามเครือญาติของบุคคลที่เป็นส.ว. ประกอบด้วยคู่สมรส บุตร บุพการี ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการการเมือง กรรมการองค์กรอิสระ สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น แต่หากปรากฏว่าภายหลังบุคคลนั้นได้เป็น ส.ส. และตำแหน่งดังกล่าวอื่นๆ ส.ว.ที่เป็นเครือญาติของผู้ได้ตำแหน่งก็ขาดคุณสมบัติและพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.ทันที
      นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนการปรับบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่จากเดิมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติมาเป็นทรัพยากรของรัฐนั้น กรธ.ไม่ได้ให้รัฐมีสิทธิเข้าดำเนินการรื้อระบบสารสนเทศ หรือระบบการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบัน แต่เพื่อสื่อให้เห็นว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ส่วนที่กำหนดให้รัฐพึงมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องการสื่อไปยัง กสทช. ว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ใช่ให้สิทธิขาดดูแลหรือจัดการคลื่นหรือนำคลื่นไปดำเนินการใดๆ ได้ตามใจชอบ การดูแลและการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก และที่เขียนให้ครอบคลุมถึงวงโคจรด้วย ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ว่าวงโคจรเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศ ผู้ใดที่ได้รับสัมปทานไปแล้ว ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยเช่นกัน จะทำอะไรก็ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ

กรธ.ห้ามควบรวมพรรค
      นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงว่า ที่ประชุมกรธ.เห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม และกำหนดให้การประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์หรือ 475 คน โดยเมื่อพรรคการเมืองได้ส.ส.ตามสัดส่วนของคะแนนความนิยมแล้ว จะไม่มีสิทธิได้ส.ส.เพิ่ม ทั้งนี้กรธ.บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรมีอายุ 4 ปี และระหว่างอายุของสภา พรรคจะควบรวมกันไม่ได้ แต่เป็นพันธมิตรกันได้
    นายนรชิตกล่าวว่า นอกจากนี้กำหนดให้พรรคที่ส่งผู้สมัครส.ส. ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี 3 คน จากเดิม 5 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง และกกต.ต้องประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ อย่างไรก็ตาม พรรคจะไม่เสนอชื่อคนที่เป็นนายกฯก็ได้ กรธ.ไม่ได้บังคับไว้ แต่กรณีที่พรรคจะเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตนั้น กรธ.กำหนดเงื่อนไขว่า 1.ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 2.ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3.ถ้ามีชื่อบุคคลใดซ้ำกัน 2 พรรค จะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อขึ้นมา ไม่เพียงเท่านี้ การลงมติเลือกนายกฯในสภา จะต้องมาจากรายชื่อที่เสนอมาให้กกต.ก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น จะไปเลือกบุคคลอื่นนอกเหนือจากบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่ได้

ใครแพ้โหวตโนหมดสิทธิสู้ต่อ
       นายนรชิต กล่าวว่า พรรคมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ต่อเมื่อพรรคดังกล่าวส่งผู้สมัครส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัครส.ส. เขต ที่สำคัญการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในแต่ละภูมิภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย ทั้งนี้ กรธ.ยังยืนยันในหลักการเดิมคือ ถ้าเกิดกรณีผู้สมัครส.ส.คนใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนของผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนน หรือโหวตโน ผู้สมัคร ส.ส.คนนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.และจะต้องเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครทุกรายที่ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโหวตโน จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ คือ ถ้าพรรค ก. พรรค ข. และพรรค ค. ส่งผู้สมัคร ส.ส.แต่แพ้คะแนนโหวตโน พรรคดังกล่าวจะต้องไปหาผู้สมัครคนใหม่มาสมัครแทน
    นายนรชิต กล่าวว่า ถ้าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จทุกเขต ด้วยเหตุทุจริตเลือกตั้งจนต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ กรธ.กำหนดว่าการคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อจะนับเฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเสร็จแล้วไปก่อน ถ้าต่อมามีการนับคะแนนครบทุกเขตแล้วเกิดมีพรรคได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง ให้ถือว่าผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อในลำดับสุดท้ายของพรรคนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไป

ส.ว.ห้ามมีสภาผัวเมีย
    "ถ้าภายหลัง 1 ปีจากการเลือกตั้ง และต่อมาจะต้องเลือกตั้งส.ส.ใหม่ในบางเขตเลือกตั้ง เพราะพบการทุจริตเลือกตั้ง กรธ.กำหนดว่าคะแนนในการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้จะไม่ถูกนำไปคำนวนเพื่อหาส.ส.บัญชีรายชื่ออีก" นายนรชิตกล่าว
    นายนรชิตกล่าวอีกว่า ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส. ส่วนใหญ่ยังยืนยันตามหลักการเดิม แต่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแบบใหม่เข้าไป ได้แก่ บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุก และพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 10 ปีจะไม่มีสิทธิสมัครส.ส. เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และนำลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครกำนันผู้ใหญ่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มาใส่ไว้ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของส.ส.ด้วย เช่น ความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ยาเสพติด เป็นต้น เพราะขนาดกำนันผู้ใหญ่บ้านยังถูกห้าม คนจะเป็นส.ส.หรือรัฐมนตรี ทำไมถึงมีลักษณะต้องห้ามน้อยกว่า ดังนั้นเราจะเพิ่มเข้าไป
     นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับที่มาของวุฒิสภา กรธ.เห็นชอบให้มีส.ว. 200 คน และไม่ให้คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ว.ในคราวเดียวกัน รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจะลงสมัครส.ว.ไม่ได้

อู้อี้สิทธิ"ปู"สมัครส.ส.
      เมื่อถามว่า บุคคลที่เคยถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งอย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากรับโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปีแล้ว จะลงสมัครส.ส.ได้หรือไม่ นายนรชิตกล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่ถ้ามาถูกถอดถอนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เราไม่ใช้คำว่าถอดถอน แต่ใช้คำว่าต้องคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง จะถือว่าไม่สามารถลงสมัครส.ส.ได้
      "ต้องมองไปข้างหน้า เราไม่ได้ไปตัดสิทธิ อย่ามาบอกว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกันใคร เขาถูกจำกัดสิทธิจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตและยังไม่พ้น 5 ปี แต่ถ้าพ้น 5 ปี แล้วมีการเลือกตั้งและไม่ขาดคุณสมบัติก็ย่อมลงสมัครได้" นายนรชิตกล่าว

เสรีชี้รธน.ต้องตอบโจทย์ 10 ข้อ
      ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องตอบโจทย์ 10 ข้อคือ 1.สร้างรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศได้หรือไม่ 2. มีกลไกแก้ปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ อย่างไร 3.จัดกระบวน การเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมได้หรือไม่ และแก้ปัญหาธุรกิจการเมืองได้หรือไม่ 4.ป้องกันความขัดแย้งและสร้างให้คนไทยรู้รักสามัคคีได้หรือไม่ และมีมาตรการป้องกันไม่ให้นักการเมืองสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนหรือไม่อย่างไร 5.มีกลไกหาทางออกให้ประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตไว้อย่างไร
     6.มีกระบวนการทางกฎหมายที่ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพได้หรือไม่ 7.วางโครงสร้างทางการศึกษาที่มีมาตรฐาน สร้างประชาชนให้ได้เรียนรู้สูงสุดได้หรือไม่อย่างไร 8.วางหลักการสำคัญให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทุกระดับ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางหรือไม่อย่างไร 9.วางหลักการสำคัญให้เกิดประสิทธิภาพในงานระบบราชการที่ให้งานราชการดูแลให้บริการประชาชนอย่างแท้จริงได้หรือไม่ อย่างไร 10.กำหนดนโยบายของรัฐที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และมีมาตรการป้องกันนโยบายที่สร้างความหายนะให้กับประเทศไว้หรือไม่ อย่างไร

สนช.ผ่านร่างตั้งศาลปราบโกง
     วันเดียวกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ...ที่ครม.เป็นผู้เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน เป็นวาระแห่งชาติ และจากการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจังส่งผลให้มีคดีขึ้นสู่ศาลมากขึ้น บ่อยครั้งที่การดำเนินคดีล่าช้าทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์ จึงสมควรตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ มีผู้พิพากษาที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในศาลไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อให้การพิจารณาคดีได้รวดเร็ว อำนวยความยุติธรรมย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
     นายวิษณุ กล่าวว่า การพิจารณาคดีจะใช้ระบบไต่สวน มีแค่ 2 ศาลคือชั้นต้น และอุทธรณ์ และหากจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดีก็หยุดไว้ ไม่ขาดอายุความ จนกว่าจะได้ตัวมา คดีก็จะเดินหน้าต่อได้ รวมถึงการยึดทรัพย์สินด้วย ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกทม.จะตั้งศาลกลาง และมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งศาลดังกล่าวในภูมิภาค คาดว่าจะเปิดศาลนี้ได้วันที่ 1 ต.ค.นี้ หลังจากนี้จะมีร่างกฎหมายฝาแฝดตามออกมา คือร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเป็นแนวทางการพิจาณาคดี
     ต่อมาได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมลงมติวาระแรกรับหลักการด้วยคะแนน 174 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 15 คน โดยในสัดส่วนของครม. 3 คนนั้นมีตัวแทนของสปท. 1 คนคือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!