WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8564 ข่าวสดรายวัน


'สุรชัย'โผไม่พลิก ซิวปธ.วุฒิ 
ม็อบนกหวีดไชโยดีใจ 'พีระศักดิ์ พอจิต-รอง1'กกต.จ่อเลื่อนอีก'20 กค.''ปู'บินปิ๊กบ้านเชียงใหม่


ปธ.วุฒิ - นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ได้รับเลือกจากสมาชิก ให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ เอาชนะพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ด้วยคะแนน 96 ต่อ 51 ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.

       วุฒิสภาเลือกตั้งประธานคนใหม่ 'สุรชัย'ฉลุยตามโผ ชนะ'จงรัก จุฑานนท์'ท่วมท้น 96 ต่อ 51 เสียง รัฐบาลทำหนังสือถึงกกต.ส่ง'พงศ์เทพ-ชัยเกษม-วราเทพ'ร่วมถกหาข้อสรุปร่างพ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ ด้านประธานกกต.ยืนยันมีลือกตั้งแน่ๆ แต่ถ้าไม่ทันก็อาจจะเลื่อนไป ด้าน'สมชัย ศรีสุทธิยากร'ยึกยักอีก อ้างต้องหารือให้ได้ข้อสรุปว่ารักษาการ นายกฯทูลเกล้าฯ-รับสนองพระบรมราช โองการได้หรือไม่ เพื่อไทยจวกป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรมกับ'ยิ่งลักษณ์'จี้เร่งพิจารณาคำร้องประกันราคาข้าวยุคมาร์ค

ปธ.กกต.เผยนัดคุยรบ.-14 พ.ค.
      เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า กกต.นัดหารือการออก พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป กับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ ในวันที่ 14 พ.ค.เวลา 14.00 น. เนื่องจากวันที่ 12 พ.ค. กกต.ติดประชุม และวันที่ 14 พ.ค.ช่วงเช้า กกต.ก็ติดประชุมเช่นกัน โดยจะเชิญผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงมาร่วมหารือด้วย เพื่อให้ตกผลึก 
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทันตามกรอบวันเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ต้องหารือกันก่อน แต่หากไม่ทันก็ต้องขยับออกไป ส่วนจะขยับไปเมื่อใดนั้น ต้องให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ดำเนินการเพราะเป็นคนทำตารางทำปฎิทิน จะเลื่อนไปเป็นวันใดหรือไม่ ต้องขอหารือกันอีกครั้งกับฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายต่างๆ ด้วย เมื่อถามถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องผู้รับสนองพระบรมราช โองการใน พ.ร.ฎ. เลือกตั้งที่ยังเป็นปัญหา ประธาน กกต.กล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง

ยันการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่
         เมื่อถามถึงหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าอาจจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งขึ้นได้ กกต.มองเรื่องนี้อย่างไร ประธาน กกต.กล่าวว่า ต้องดูสถาน การณ์ ถ้าสถานการณ์ไม่ดี การเลือกตั้งก็เกิดยาก แต่การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้น ส่วนจะวันไหนต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน เมื่อถามว่าคิดว่าอุปสรรคใดจะเป็นปัญหามากที่สุดที่ทำให้ การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น นายศุภชัยกล่าวว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ตนไม่จำเป็นต้องตอบ 
         เมื่อถามว่า หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลมองว่ากกต.พยายามเตะถ่วง เพื่อยืดเวลารอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและการชี้มูลของป.ป.ช. ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่มีเตะถ่วง เนื่องจากยังมีปัญหาข้อโต้เถียงระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกากับคณะทำงานของกกต. เมื่อมีข้อโต้เถียงเราต้องมาหาข้อยุติด้วยกันว่าจะเอาอย่างไร ทุกอย่างเราต้องจัดการด้วยความรอบคอบ ถ้ารีบจัดแล้วเสียเปล่าก็จะเสียงบประมาณไปเปล่าๆ ใครจะรับผิดชอบ กกต.ก็ต้องมารับผิดชอบอีก ไม่อยากให้ซ้ำรอย อะไรที่แก้ไขได้ถึงจะช้าแต่เกิดผลดีมันน่าจะดีกว่า
         ต่อข้อถามว่า กกต.มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า อยู่ที่ กกต. ถ้าจัดเลือกตั้งแล้วมันไม่เรียบร้อยก็เสียเงินเปล่า เข้าอีหรอบเดิมแล้วใครจะรับผิดชอบ เมื่อถามว่ากกต.จะพูดคุยกับ กปปส.เพื่อขอความร่วมมือจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ นาย ศุภชัย กล่าวว่า ไม่ต้องพูดคุย พวกนั้นเป็นฝ่ายการเมือง ต้องให้ฝ่ายการเมืองไปพูดคุยกันเอง 

'สมชัย'ตั้งแง่ผู้ทูลเกล้าฯ-รับสนอง
        ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงพรรคเพื่อไทย ระบุนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯสามารถยื่นทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ว่า เป็นความเห็นของพรรคการเมือง ผู้ที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ควรมาจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือทางกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้จะหยิบยกมาหารือร่วมกันระหว่างกกต.กับรัฐบาล ในวันที่ 14 พ.ค. ด้วย ส่วนตัวมองว่าความเห็นจากซีกรัฐบาลในประเด็นนี้ควรมาจากที่ประชุมคณะกรรม การกฤษฎีกาชุดใหญ่เท่านั้นที่จะมีน้ำหนักเพียงพอ เพราะหากเป็นความเห็นจากสำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังเป็นเพียงความเห็นของข้าราชการประจำที่อยู่ภายใต้การดูแลของนักการเมือง ส่วนกกต.จะมีความเห็นจากที่ปรึกษาทางกฎหมายในประเด็นนี้มาประกอบ การหารือร่วมกับรัฐบาลด้วย 
       ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือตอบรับมาถึงกกต.เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ว่ารัฐบาลมอบให้นายพงศ์เทพ เป็นตัวแทนหารือกับกกต.ในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานกกต. โดยมีนายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรม เลขาธิการครม. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวง กลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผบ.ตร. ร่วมหารือด้วย

ทนายชี้'ปู'ไม่ได้รับความเป็นธรรม
         วันเดียวกัน นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีละเลยการแก้ปัญหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยส่งเรื่องให้ ส.ว.ดำเนินการถอดถอนต่อไปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. ขอตั้งข้อสังเกตการลงมติของ ป.ป.ช. ว่านำสำนวนการร้องถอดถอนของพรรคประชาธิปัตย์ มารวมกับสำนวนคดีอาญา ถือว่ากระทำขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ให้แยกกระบวนการไต่สวนคดีถอดถอนและคดีอาญาออกจากกัน เพราะคำร้องถอดถอนของพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่ามีหลักฐานเป็นพยาน 2 ปาก และคำอภิปรายในสภาเท่านั้น แต่ ป.ป.ช.กลับนำพยานหลักฐานในส่วนคดีอาญาของ ป.ป.ช. เรื่องข้อมูลคณะอนุกรรม การปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวซึ่งผู้ร้องไม่ได้นำเสนอ มารวมในคดีถอดถอนด้วย เหมือนเติมเต็มหลักฐานให้สำนวนผู้ถูกร้อง ถือเป็น การขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยทักท้วงในประเด็นนี้แล้ว แต่ป.ป.ช.ไม่รับฟัง อ้างว่ามีอำนาจทำได้เพราะเป็นระบบไต่สวน


ประชุมวุฒิฯ - บรรยากาศการประชุมวุฒิสภา ซึ่งมีวาระสำคัญคือการลงมติเห็นชอบให้น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.คนใหม่ และพิจารณาวาระการโหวตเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.


     นายพิชิต กล่าวว่า หลังจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเตรียมหลักฐานชี้แจงและแก้ต่างในชั้นวุฒิสภาแทน เพราะป.ป.ช.ตัดสินคดีไปแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ป.ป.ช.จึงลงมติชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าวต่อจากวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากนายกฯ ทั้งสององค์กรชอบวินิจฉัยคดีต่อเนื่องกัน

ระบุถ้าเลือกปธ.วุฒิฯ-ขัดรธน.
       นายพิชิต ยืนยันว่า นายนิวัฒน์ธำรงยื่นทูล เกล้าฯ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ครม.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ยังคงมีอยู่ และครม.ชุดดังกล่าวมีมติตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้นายนิวัฒน์ธำรงปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ จึงดำเนินการต่างๆ ได้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ไม่กระทบกับประโยชน์ สาธารณะ
       นายพิชิต กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภาจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาว่า หากเสนอญัตติเลือกประธานวุฒิสภาน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในครั้งนี้มี 2 วาระ โดยไม่มีวาระการเลือกประธานวุฒิสภา อีกทั้งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ก็เป็น แคนดิเดตประธานวุฒิสภา จึงต้องระวังให้มาก เพราะ เป็นผู้เรียกประชุมเอง และขณะนี้ก็ไม่ได้ถอนตัว จะเป็นการเรียกประชุมเพื่อแต่งตั้งตัวเองหรือไม่

พท.บี้ประกันราคาข้าวยุคมาร์ค
      ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีป.ป.ช. มีมติ ชี้มูลน.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหตุ ให้มีการถอดถอน โดยแยกสำนวนถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา ส่วนคดีอาญาให้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปว่า ทีมกฎหมายพรรคตั้งข้อสังเกตว่าการแถลงของ ป.ป.ช.ไม่ต่างจากการแจ้งข้อกล่าวหาในวันแรก ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนข้อกล่าวหา ส่วนที่อ้างผลการขาดทุนกว่า 3 แสนล้านบาทจากการรายงานอนุกรรม การปิดบัญชีของ น.ส.สุภา ปิยะจิตตินั้น ถือว่ามีข้อไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่ได้ นำสต๊อกข้าวที่มีอยู่ 2.97 ล้านตันไปบันทึกบัญชี และน.ส.ยิ่งลักษณ์จะนำพยานไปหักล้างรายงานดังกล่าว แต่ถูก ป.ป.ช.ตัดพยานทิ้ง จึงเกิดคำถาม ป.ป.ช.ว่าเร่งรัด มีวาระพิเศษหรือไม่
          นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ขอเรียกร้อง ป.ป.ช. ว่าเมื่อตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์รวดเร็วแล้วขอให้ตรวจสอบโครงการประกันราคาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการร้องสอบทุจริต ทั้งการระบายข้าว การขึ้นทะเบียนลมที่ส่อทุจริต การแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าพื้นที่จริง ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านมาร่วม 5 ปีแล้วและเป็นคดีที่เกิดก่อนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่คืบหน้า จึงอยากให้ ป.ป.ช.ใช้การตรวจสอบมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงคดีอื่นๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาด้วย 

จี้กกต.ออกพรฎ.เลือกตั้งโดยเร็ว
        นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงนายสมชัยตั้งข้อสังเกตนายนิวัฒน์ธำรงจะยื่นทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ. เลือกตั้งได้หรือไม่ว่า ประธานกกต. ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ระบุแล้วว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ จะเป็นผู้ยื่นทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ ไม่น่ามีปัญหา แต่นายสมชัยมาตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ จึงมีคำถามว่ายื้อการเลือกตั้ง ออกไปหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รองนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ทำหน้าที่ได้เหมือนนายกฯ ทุกประการ เหมือนกรณีนายกฯ มีภารกิจในต่างประเทศ ส่วนที่ กกต.ขอนัดรัฐบาลพูดคุย วันที่ 14 พ.ค.นั้น เชื่อว่าพรรคต่างๆ และประชาชนจำนวนมากต้องการให้กกต.รีบเสนอ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งโดยเร็ว เป็นหลักประกันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. เพื่อเป็นทาง ออกของประเทศ

ถ้านองเลือด-กกต.ต้องรับผิดชอบ
         นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมชัยระบุหากร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมครม.อาจมีผลให้วันเลือกตั้งเลื่อนเป็นวันที่ 27 ก.ค.ว่า กกต.ต้องส่งร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้งเข้าที่ประชุมครม.ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. แต่อ้างว่าต้องคุยกับนายกฯ อีกครั้งและขอเวลา 3 วันพิจารณาว่านายนิวัฒน์ธำรงสามารถทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่จะเลื่อนเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ขณะที่สถานการณ์การเมืองมีโอกาสสูงจะเกิดสงครามกลางเมืองจากการเผชิญหน้าของฝ่ายประชาธิปไตยที่สนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายปล้นอำนาจรัฐ หากมีการนองเลือดหรือความสูญเสีย กกต.และสตง.ที่เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงิน 3,800 ล้านบาทที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 
      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขอถามกกต.และสตง. 4 ข้อ 1.ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วหรือช้า 2.รับคำสั่งมือที่มองไม่เห็นมาล้มการเลือกตั้งหรือไม่ 3.กกต.และสตง.เห็นว่าควรเรียกค่าเสียหายกับนายสุเทพและพวกหรือไม่ ที่ทำลายเศรษฐกิจชาติกว่า 5 แสนล้านบาท 4.กกต.และสตง.ตระหนักและมีสำนึกอย่างไร ที่ยูเอ็นและรัฐบาลสหรัฐ เตือนไทยให้แก้ไขปัญหาโดยยึดหลักประชาธิปไตยและย้ำว่าควรเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัว รวมทั้งนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาว ที่จ.เชียงใหม่

มาร์คเชื่อวุฒิฯถอดถอนปูไม่สำเร็จ
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงขั้นตอนของวุฒิสภาในการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจำนำข้าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์ว่าวุฒิสภาต้องใช้เสียง 3 ใน 5 เท่ากับจำเป็นต้องได้รับเสียงจาก ส.ว.ถึง 90 คน จึงจะถอดถอนได้ ทำให้ค่อนข้างยากในการถอดถอน ส่วนการดำเนินคดีอาญาต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งป.ป.ช. ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ 
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความขัดแย้งและสับสนมาก สภาพของรัฐบาลไม่ชัดเจน ไม่น่ามีศักยภาพในการแก้ปัญหาของประชาชนได้ ตราบใดที่ไม่มีการมาตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูป เพื่อให้กลับไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อยได้ บ้านเมืองก็เดินหน้าได้ยาก ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ยังกังวลถึงการเคลื่อน ไหวของกปปส. นปช. ถ้าเหตุการณ์บานปลายจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ และขณะนี้มีการดึงสถาบันศาลมาสู่ความขัดแย้งแล้ว ทำให้เกรงว่าปัญหาต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมาย จะนำไปขอพระบรมราชวินิจฉัยในสิ่งที่มีความขัดแย้งกันสูง 

สภาเข้มเตรียมรับมือม็อบเทือก
        เมื่อเวลา 07.00 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ภ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 1 กองร้อย ได้เข้ามาประจำการดูแลความเรียบร้อย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการในพื้นที่รัฐสภาก่อนหน้านี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกรณีกลุ่มกปปส. โดยตรวจตรารถยนต์และบุคคลเข้า-ออกอย่างเข้มงวด ต้องติดบัตรแสดงตนที่ออกโดยรัฐสภา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และข้าราชการวุฒิสภาทยอยเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อเตรียมการประชุมวุฒิสภาในเวลา 13.30 น. ขณะที่ ส.ว.ทยอยเดินทางมาเช่นกันและมีการหารือกันนอกรอบ แบ่งเป็นกลุ่ม ส.ว.ชุดใหม่กับ ส.ว.ชุดเก่า เพื่อกำหนดท่าทีก่อนเข้าการประชุม
       สำหรับการประชุมวุฒิสภามีวาระสำคัญคือ 1.การพิจารณาให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ และ 2.การพิจารณาญัตติการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อสรรหา ส.ว. ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ด้วย โดยการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น ยังคงปรากฏชื่อผู้ชิงตำแหน่ง 3 คน คือนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา และนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี 

'สุรชัย'อ้างสุญญากาศ-ไม่ลาออก
         เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกบางส่วนไม่เข้าร่วมการประชุมเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาว่าเขาควรมาทำหน้าที่ในที่ประชุม เพื่ออภิปรายแสดงความเห็นแล้วใช้การลงมติมาตัดสินจะดีกว่า ซึ่งการเลือกประธานวุฒิสภาในครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ส.ว.ทั้ง 150 คนจะเลือกใครขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ
        เมื่อถามว่ามี ส.ว.บางกลุ่มเรียกร้องให้ ลาออกจากรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นายสุรชัย กล่าวว่า ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาเพียงคนเดียว หากตนลาออกจะไม่มีใครทำหน้าที่ จะเกิดสุญญากาศทันที ตนจึงลาออกไม่ได้ และจะชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจ แม้จะมี ส.ว. โต้แย้งว่ากระบวนการทูลเกล้าฯ โดยนายกฯ อาจใช้เวลาไม่นาน แต่ตนพิจารณาแล้วว่ากระบวนการขอเปิดสมัยประชุมที่ผ่านมายังใช้เวลา 1 เดือนเศษ ดังนั้นการทูลเกล้าฯ ประธานวุฒิสภาก็ไม่มั่นใจว่าจะใช้เวลานานขนาดไหน 
        นายสุรชัย กล่าวถึง ป.ป.ช.ชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และส่งเรื่องมายังวุฒิสภาเพื่อถอดถอนว่า เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ขณะนี้มีเรื่องถอดถอนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้วุฒิสภา 4 เรื่อง ซึ่งหลังจากนี้ตนจะพิจารณาเรื่องที่ส่งเข้ามาและจะประสานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป หากวุฒิสภาเลือกประธาน วุฒิสภาได้ เชื่อว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งทำให้วุฒิสภาพิจารณาเรื่องนี้ได้ แต่กระบวนการทูลเกล้าฯประธานวุฒิสภานั้นคงไม่สามารถเกิดได้ทันที และไม่ทราบว่าต้องใช้เวลาเท่าใดที่ประธานวุฒิสภาจะมาทำหน้าที่ได้

สั่งพักประชุมไปรับหนังสือ'เทือก'
       เมื่อเวลา 13.45 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ โดยมีนายสุรชัย เป็นประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมเรียบร้อยแล้ว โดยนายสุรชัย ขอความร่วมมือที่ประชุมช่วยกันบริหารเวลาให้เสร็จสิ้นทุกวาระไม่เกินเวลา 18.00 น. เพื่อให้ ส.ว.เดินทางกลับภูมิลำเนาได้สะดวก แต่หากไม่ทันตามเวลาดังกล่าวก็จะประชุมต่อไปจนกว่าจะหมดระเบียบวาระ 
       นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา อภิปรายท้วงติงว่าไม่เห็นด้วยเพราะทำให้เกิดการรวบรัด เนื่องจากวุฒิสภามีวาระเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ทั้งนี้นายสุรชัย ชี้แจงทันทีว่า "อย่าเปลี่ยนคำพูดของผม เพราะผมพูดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 18.00 น.หากไม่ทันจริงๆ ก็ดำเนิน การประชุมต่อไปได้ จึงอยากให้เข้าใจด้วย"
        จากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระ พล.อ.อ. วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ขอให้ประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานลับที่มีเนื้อหาเรื่องร้องเรียน น.ส.สุภา ที่ส่งมาจากบุคคลภายนอก หลังประชุมลับนาน 30 นาที ได้ลงมติด้วยการลงคะแนนลับ ในระหว่าง เจ้าหน้าที่นับคะแนนเมื่อเวลา 15.25 น. นายสุรชัย สั่งพักประชุม 10 นาทีแจ้งว่าต้องไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ โดยนายสุรชัย ลงมารับหนังสือจากนายสุเทพ และคณะ ที่ห้องโถงชั้นล่างอาคารรัฐสภา ก่อนจะเข้าไปหารือในห้องรับรองสมาชิกรัฐสภาชั้น 1 
        ต่อมาเวลา 16.20 น. วุฒิสภากลับมาประชุม ต่อ นายสุรชัย แจ้งภารกิจสำคัญว่า นายสุเทพ มายื่นหนังสือให้รับทราบสถานการณ์ของประเทศและขอให้ ส.ว.ใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อหาทางออกประเทศ จากนั้นได้แจ้งผลคะแนนลงมติเห็นชอบให้ น.ส.สุภา เป็น ป.ป.ช.คนใหม่ ด้วยคะแนน 122 ต่อ 19 ไม่ลงคะแนน 4 บัตรเสีย 2

'เทือก'นั่งรอผลเลือกปธ.คนใหม่
        เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ประชุมเริ่มพิจารณาญัตติการเลือกประธาน และรองประธานวุฒิ สภา รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อสรรหา ส.ว.ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ซึ่งนายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว. ลำพูน เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ที่ประชุมสมาชิกอภิปรายว่าควรเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาหรือไม่ โดยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา อภิปรายไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็น และอาจขัดกับพ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ รวมถึงจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 จึงกังวลว่าถ้าเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา จะมีผู้นำไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกระทำที่ขัดพ.ร.ฎ.ดังกล่าว
       ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.สรรหา อภิปรายในแนวทางเดียวกันว่า สามารถเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาได้เพราะถือเป็นกิจการ ภายในวุฒิสภา ไม่ได้มีผลเสียต่อประเทศ แต่ทำเพื่อให้แก้ปัญหาของประเทศได้ และไม่ขัดกับมาตรา 132 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมวุฒิสภา นายสุเทพ และตัวแทนกปปส. ยังคงนั่งฟังอยู่ในห้องรับรองรัฐสภา ที่ชั้น 1 เพื่อรอฟังผลการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ โดยมีส.ว.ที่สนับสนุนกลุ่ม กปปส.เข้าไปพูดคุยด้วย จนเวลา 17.50 น. นายสุเทพ และ แกนนำได้เดินทางออกจากรัฐสภาไปรวมกับมวลชนที่อยู่ด้านนอก เนื่องจากยังมี ส.ว.อีกหลายคนรอการอภิปรายในเรื่องดังกล่าว
        ต่อมาเวลา 18.05 น. นายสุรชัย สั่งพักการประชุม 30 นาที โดยแจ้งว่าเพื่อให้สมาชิกได้รับประทานอาหารเย็นก่อน

ชงชื่อ'จงรัก'ชิงเก้าอี้กับ'สุรชัย'
        ต่อมาเวลา 18.45 น. การประชุมวุฒิสภาได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นดังกล่าว โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงมีมติให้เลือกประธาน รองประธานวุฒิสภา และเลือกคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำวุฒิสภา ด้วยคะแนน 96 ต่อ 17 งดออกเสียง 19 
        จากนั้นเวลา 19.45 น. ที่ประชุมเข้าสู่วาระการเลือกประธานวุฒิสภา โดยนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ว.ชัยนาท เสนอชื่อ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง ส.ว.สรรหา เสนอชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย โดยนายสุรชัย ขอใช้ข้อบังคับการประชุมให้ ส.ว.ที่มีอาวุโสสูงสุดขึ้นมาทำหน้าที่ประธาน การประชุมแทน ได้แก่ มรว.วุฒิเลิศ เทวกุล ส.ว.สรรหา โดยให้ผู้ถูกเสนอชื่อทั้ง 2 คนได้แสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที

จงรักยึดกม.-สุรชัยไม่ยึดติด
        จากนั้น พล.ต.อ.จงรัก แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนยึดหลักกฎหมาย โดยถือหลักว่าการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความถูกต้องเปลี่ยนไปไม่ได้ ซึ่งเห็นได้จากตนเคยทำคดีสำคัญๆ มามาก ส่วนที่ตนมาสมัครตำแหน่งดังกล่าว ตนเชื่อมั่นว่าจะนำพาวุฒิสภาให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
        ขณะที่นายสุรชัย แสดงวิสัยทัศน์ว่า ฝ่ายบริหารตอนนี้อยู่ในสภาพรัฐบาลรักษาการและ เป็นคู่ขัดแย้งกับมวลชนอีกฝ่าย ขณะที่วุฒิสภาเป็นสภาของผู้ที่มีวุฒิภาวะ จึงไม่ควรนิ่งเฉยกับสภาพเช่นนี้ได้ ตนอาสาเป็นผู้นำที่จะก้าวออกไปข้างหน้ากับทุกคนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง หากได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา และจะยึดมั่นประโยชน์ของชาติ ตนยืนยันว่าไม่ว่าจะได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาหรือไม่ ตนก็ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง

'สุรชัย'ฉลุยตามโผ 96 ต่อ 51
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากให้ส.ว.ลงมติด้วยการเขียนชื่อผู้ที่สมควรเป็นประธานวุฒิสภา จากนั้นได้นับคะแนน ซึ่งบรรยากาศในห้องประชุม ส.ว.ต่างจับกลุ่มลุ้นคะแนน ปรากฏว่า นายสุรชัย ได้ 96 คะแนน พล.ต.อ.จงรัก ได้ 51 คะแนน งดออกเสียง 1 รวมผู้ลงคะแนน 148 คน ซึ่งปรากฏว่าเมื่อนายสุรชัยได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาโดยมีผลทิ้งห่างพล.ต.อ.จงรัก ส.ว.ต่างปรบมือและเข้ามาแสดงความยินดี โดยพล.ต.อ.จงรัก เข้ามาแสดงความยินดีด้วยเช่นกัน

ม็อบกปปส.ไชโย-เป่าหวีดดีใจ
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากทราบผลว่านายสุรชัยได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา กลุ่ม กปปส.ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภาต่างส่งเสียงไชโย โห่ร้อง พร้อมทั้งเป่านกหวีดแสดงความดีใจ
       นายสุรชัย กล่าวขอบคุณสมาชิกโดยยืนยันจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังที่สุด เป็นประธานของสมาชิกทุกคน ไม่แบ่งแยก ถือว่าทุกคนเป็นส.ว.ที่ทำหน้าที่เป็นกลาง อิสรเสรี หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกคน เราจะก้าวเดินต่อไปเพื่อเป็นเสาหลักให้กับประเทศ และวุฒิสภาต้องเป็นฝ่ายบริหารไม่ว่าจะมาจากพรรคใด ต้องให้ความเชื่อถือและกล้าหาญ ให้คำแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่บ้านเมือง ซึ่งบ้านเมืองตอนนี้ตนและทุกคนมีภารกิจเท่าเทียมกัน ไม่อาจอยู่เฉยแล้วปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไปด้วยการตัดสินใจของผู้นำมวลชน 2 ฝ่ายโดยมีประเทศเป็นเดิมพัน จากนี้ทุกคนจะช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ ดังนั้น แม้การประชุมวันนี้จะจบลงที่เวลา 24.00 น. แต่เรายังมีภาระหน้าที่ จึงขอเชิญสมาชิกทุกคนประชุมนอกรอบผ่านระบบไอที ตนหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกคน
         จากนั้น เข้าสู่วาระการเลือกรองประธานวุฒิ สภาคนที่ 2 มีชื่อผู้เข้าชิง 2 คนคือนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี และนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ผลปรากฏว่า นายพีระศักดิ์ได้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ด้วยคะแนน 89 นายจองชัยได้ 57 คะแนน งดออกเสียง 1 ส่วนรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ยังคงเป็นนายสุรชัย ซึ่งยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!