WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8567 ข่าวสดรายวัน

 


เทือกบุกเข้าสภา ถกสุรชัย นายกฯม.7 ส่อวืด 
าลปค.เมินไม่เอาด้วย กลุ่มหมอก็ต้านคนนอก'นิวัฒน์'ยันกับสื่อตปท. 'รบ.'รักษาการถูกต้อง


หารือลับ- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.พบปะนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ที่ห้องรับรองรัฐสภา โดยปิดห้องหารือลับนานนับชั่วโมง ก่อนออกมาปราศรัยว่าจะเร่งให้วุฒิสภาตั้ง นายกฯคนกลาง

      'สุรชัย'เปิดสภาถกนอกรอบ จู๋จี๋'เทือก'ชั่วโมงครึ่งส่วนการหารือ 40 ส.ว.ชงตั้งนายกฯม.7 นิวัฒน์ธำรงให้สัมภาษณ์สื่อตปท. ยันรัฐบาลยังคงรักษาการตามกฎหมายถูกต้อง ย้ำต้องจัดเลือกตั้ง-มีรัฐบาลใหม่ เผยคุยสื่อนอกเพื่อสร้าง"เชื่อมั่น" ชี้นายกฯม.7 ไร้กฎหมายรองรับ พท.เตรียมเปิดแผนปฏิรูปประเทศสัปดาห์หน้า ปชป.แถลงโต้พท.จวก"สมคบคิด" 'กลุ่มเพื่อนสธ.'แถลงค้านนายกฯคนกลาง วัดพระธาตุดอยสุเทพจัดสะเดาะเคราะห์ให้'ปู'

ยิ่งลักษณ์เดินซื้อของที่เชียงใหม่

      เมื่อเวลา 11.30 น วันที่ 12 พ.ค. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปยังห้างริมปิงซูเปอร์สโตร์ ข้างสะพานนวรัฐ อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัว โดยมี พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผบช.ภาค 5 พล.ต.ต.กริช กิตติลือ ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดพิเศษคอยอำนวยความสะดวก และมีประชาชนขอถ่ายภาพด้วย 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกซื้อสินค้า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนหนึ่งเข้าไปสอบถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชาวต่างชาติเข้าใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวได้จับมือน.ส.ยิ่งลักษณโดยระบุว่า ขอบคุณน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กล้าพูดความจริงให้นักท่องเที่ยวได้สบายใจ ไม่ปกปิด และตนพร้อมจะเที่ยวต่อในเมืองไทยโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปรับประทานอาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยว แม่จำปา ย่านสันป่าเลียง ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนกลับที่พัก

วัดดอยสุเทพจัดสะเดาะเคราะห์"ปู"

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อกราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ก่อนไปกราบนมัสการอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อเป็นสิริมงคล ท่ามกลางประชาชนเข้ามาให้กำลังใจ และขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ และประชาชนชาวเชียงใหม่ จัดพิธีสะเดาะเคราะห์และทำบุญในวันวิสาขบูชา สรงน้ำพระธาตุ โดยเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์มาร่วมพิธีและร่วมทำพิธีสะเดาเคราะห์ครั้งใหญ่นี้ด้วย ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ วันที่ 14 พ.ค. เวลา 09.00 น. 

       น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมาปฏิบัติภารกิจที่จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนชื่นชมการทำงานของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่เสร็จสิ้น ทุกคนต่างสรรเสริญถึงความสามารถและการไม่ใช้ความรุนแรง ยอมทุกอย่าง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับม็อบที่อ้างตัวว่าเป็นม็อบคนดี ซึ่งตอนนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์คงสบายใจขึ้นและเดินในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะได้รับการชื่นชมจากทุกคนทั้งในและต่างประเทศ

สื่อนอกรุมสัมภาษณ์นิวัฒน์ธำรง

     ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำงานตามปกติ โดยช่วงเช้าสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ได้ขอสัมภาษณ์พิเศษ ส่วนช่วงบ่ายเปิดให้สื่อต่างประเทศ อาทิ บีบีซี อัล จาซีรา เดอะนิวยอร์กไทมส์ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เข้าสัมภาษณ์ เช่นเดียวกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ ที่เปิดให้สื่อต่างประเทศสัมภาษณ์พิเศษในช่วงเช้า เช่นกัน 

รายงานข่าว แจ้งว่าช่วงเช้านายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าพบนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ว่าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมด้วย คาดหารือเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง

ยันสนับสนุนกกต.จัดเลือกตั้ง

นายนิวัฒน์ธำรงให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ส่วนใหญ่สอบถามถึงสถานภาพของรัฐบาลรักษาการ สถานการณ์ทางการเมืองและการหาทางออกของประเทศ นายนิวัฒน์ธำรงยืนยันว่าวันที่ 14 พ.ค.จะเดินทางเข้าหารือกับ กกต.แน่นอน โดยคาดหวังการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนก.ค. ซึ่งเดิมได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 20 ก.ค. แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรเกินเดือน ก.ค. รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างและพร้อมสนับสนุนให้ กกต.จัดเลือกตั้งให้ดีที่สุดและไม่คิดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

      เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์บอยคอต การเลือกตั้งโดยเฉพาะภาคใต้จะแก้ปัญหาอย่างไร นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า กระทรวงกลาโหมและมหาดไทยมีแผนการดำเนินการอยู่แล้ว มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เหมือนเดือนก.พ.ที่ผ่านมาแน่นอน

เห็นด้วยกับการปฏิรูป

     เมื่อถามถึงการเชิญชวนให้เจรจากับนาย สุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมและเปิดให้เจรจากับทุกฝ่ายแต่ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์และนายสุเทพเท่านั้น แต่ยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนมาก ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมเจรจาแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและความเป็นประชาธิปไตย

      เมื่อถามถึงกรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา เตรียมเสนอนายกฯคนกลาง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เรื่องนายสุรชัยนั้นไม่คิดว่าจะมีกฎหมายฉบับใดสนับสนุนให้ทำเช่นนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังคงทำหน้าที่รักษาการอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งจะทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

      เมื่อถามว่าฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ แล้วทำไมรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วยและไม่เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศบ้าง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เราเห็นด้วยกับการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศดีขึ้นและมีการพัฒนา ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ไม่สามารถหยุดการดำเนินการเลือกตั้งได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้วรัฐบาลใหม่ก็สามารถดำเนินการปฏิรูปได้

เผยคุยสื่อนอกเพื่อสร้าง'เชื่อมั่น"

       นายนิวัฒน์ธำรง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยอีกครั้งว่า ตลอดทั้งวันได้พูดคุยกับสื่อต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสังคมโลกที่มีต่อประเทศไทย รัฐบาลจำเป็นต้องทำความเข้าใจ วัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้ต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อว่าเราสามารถแก้วิกฤตทางการเมืองได้โดยเร็ว และยืนยันไปว่า ขณะนี้เรามีรัฐบาลรักษาการตามรัฐ ธรรมนูญอย่างถูกต้อง หน้าที่หลักของรัฐบาลรักษาการมี 2 เรื่อง ประกอบด้วย การปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีครม.ที่ได้รับการเลือกตั้งชุดใหม่เข้ามา และต้องทำหน้าที่ภารกิจงานต่างๆ ตามกฎหมายรัฐ ธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้ยืนยันว่าเราต้องการให้มีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วต่อไป

      "ยืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันแม้เป็นรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ดังนั้นการมีรัฐบาลถาวรจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเต็มสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำไมเราต้องมีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว วันนี้หน้าที่ของรัฐบาลคือสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ กล่าว

ลั่นพร้อมคุยทุกฝ่ายรวมทั้งเทือก

        นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวถึงการออกพ.ร.ฎ. เลือกตั้งว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนให้การเลือกตั้งสำเร็จ โดยวันที่ 14 พ.ค. นี้ ตนจะไปหารือกับกกต.ด้วยตนเอง และยืนยันว่ารัฐบาลขณะนี้มีอำนาจเต็มที่จะทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส่วนการทูลเกล้าฯ รายชื่อประธานวุฒิสภา ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับเอกสารจากวุฒิสภา เมื่อได้แล้วก็ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะพิจารณาให้เร็วที่สุด เพราะยังมีประเด็นผิดถูกที่ต้องให้กฤษฎีกาตัดสินอีกครั้ง เพราะเปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญไม่ได้มีหัวข้อวาระเกี่ยวกับการเลือกประธานวุฒิสภา 

       เมื่อถามถึงกลุ่มกปปส.เรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาเสนอนายกฯตามมาตรา 7 นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า การดำเนินการใดๆ ต้องมีกฎหมายรองรับ คิดได้ทำได้ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ หน่วยงานก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งรัฐบาลมองว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นก็แล้วแต่ฝ่ายที่คิดเช่นนั้นดำเนินการไป ส่วนที่นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.จะขอเจรจานั้น ยังไม่ติดต่อมา รัฐบาลตั้งแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ เปิดกว้างเพื่อพูดจากับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าพรรคหรือกลุ่มต่างๆ ควรเจอกันทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลคนเดียว แต่ความคิดเห็นต่างๆ หรือสิ่งที่จะทำนั้นต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วย

'ปึ้ง'เตรียมฟ้องอาญา9ตุลาการ

     ที่พรรคเพื่อไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ แถลงว่า ตนตัดสินใจเรียกร้องความถูกต้องเป็นธรรมให้ตัวเอง โดยจะยื่นฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนที่ศาลอาญาวันที่ 16 พ.ค. เวลา 15.00 น. กรณีมีคำพิพากษาให้ตนพ้นจากตำแหน่งกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทั้งนี้ จะฟ้องในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ตนเสียหายและเกิดสุญญากาศในการปฏิบัติหน้าที่รมว.ต่างประเทศ ปกติเวลาใครถูกกล่าวหาจะต้องมีเอกสารแจ้งว่าถูกร้องด้วยเรื่องใดและให้โอกาสบุคคลนั้นชี้แจง แต่ตนไม่มีโอกาสใช้สิทธินั้น จึงจะฟ้องศาลอาญาเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง 

     นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีกลุ่มส.ว. พยายามเชิญประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง มาหารือเพื่อพิจารณาขอนายกฯ มาตรา 7 นั้น อยากฝากถึง ส.ว.เหล่านั้นว่านายสุเทพ เป็นบุคคลที่โดนข้อหากบฏและข้อหาก่อการร้าย ดังนั้นใครที่สนับสนุนอาจเข้าข่ายร่วมสมคบคิดกับกบฏ และฝากถึงประธานองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะว่าที่ประธานวุฒิสภา ซึ่งยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ ถ้าคิดว่าตนเองแน่จริงก็ให้ดำเนินการไป จะได้รู้ว่าข้อหาร่วมกันเป็นกบฏเป็นอย่างไร


อบอุ่น- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯใช้เวลาว่าง ไปสักการะพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน มีประชาชนทราบข่าวแห่มาต้อน รับกันอบอุ่น เมื่อวันที่ 12 พ.ค.


พท.แถลงสู้เผด็จการ

      เวลา 12.30 น. แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสามารถ แก้วมีชัย กรรมการกิจการพรรค ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่องกระบวนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม 

       โดยนายโภคิน กล่าวว่า 1.ความไม่สงบและความแตกแยกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงทุกวันนี้ มีสาเหตุจากแนวคิดและการดำเนินการของขบวนการที่ต้องการสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง กลุ่มมวลชนละเมิดกฎหมายและองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ เพื่อกดดันให้ทหารยึดอำนาจ หากทหารยังไม่พร้อมยึดอำนาจก็ให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญสร้างสุญญากาศ เพื่อให้ได้นายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือให้นายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. สถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์

2.ช่วง 6 เดือนเศษที่ผ่านมา ขบวนการเผด็จการอำนาจนิยมได้โจมตี ใส่ร้ายป้ายสีและมุ่งทำลายน.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้จะยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ขบวนการนี้มิได้เคารพในอำนาจของประชาชน มุ่งขัดขวางการเลือกตั้งในทุกวิถีทาง ทั้งที่คนทั้งโลกและคนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการเลือกตั้งคือทางออกของประเทศ

โวยองค์กรอิสระขยายปมขัดแย้ง

       3.องค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ให้ความเที่ยงธรรมในคดีต่างๆ ทำให้ประชาชนผิดหวังด้วยการ เร่งรัด เร่งรีบดำเนินการกับคดีเกี่ยวกับรัฐบาล และตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างผิดปกติ ไม่เปิดให้แสดงพยานหลักฐานอย่างที่ควรเป็น

       4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง พรรคเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในทุกมิติ และที่พิลึกที่สุดคือวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีคนอื่นที่มิได้ถูกร้องสิ้นสุดลงด้วย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 40 อย่างชัดแจ้ง เพราะรัฐมนตรีเหล่านั้นมิได้รับทราบข้อกล่าวหา ไม่มีโอกาสชี้แจง โต้แย้ง แสดงพยานหลักฐาน การวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายของขบวนการเผด็จการอำนาจนิยมที่จะให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ความรุนแรงและกลียุค พรรคจึงเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีหาได้สิ้นสุดลงไม่ เพราะยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆกับบุคคลดังกล่าวเลย

 

ย้ำนายกฯ ม.7 เป็นไปไม่ได้

      5.พรรคขอย้ำว่าความพยายามของขบวนการเผด็จการอำนาจนิยมที่ต้องการให้เกิดสุญญากาศเพื่อให้มีนายกฯ มาตรา 7 หรือนายกฯนอกรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะขัดหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่บังควรอย่างยิ่งเนื่องจากมีพระราชดำรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องมั่วและไม่เป็นประชาธิปไตย

      6.ขอให้ กกต.รีบดำเนินการเลือกตั้งโดยด่วนตามที่เสนอไว้คือวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพราะเป็นหนทางแห่งสันติวิธีและเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน อย่าสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่ตอบสนองขบวนการเผด็จการอำนาจนิยมโดยเด็ดขาด หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นและเกิดความรุนแรงหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มิได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมขบวนการเผด็จการอำนาจนิยมต้องรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายและต่อประชาชน

เตรียมเปิดแผนปฏิรูปประเทศ

     7.ขอเรียกร้องให้ทหาร ตำรวจและผู้มี หน้าที่รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ดำเนินการกับกลุ่ม กปปส.และพวกนอกกฎหมายที่ย่ำยีสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงทำร้ายประชาชนอย่างจริงจัง อย่ายอมให้คนเหล่านี้กระทำการดังกล่าวได้อีก พรรคขอให้กำลังใจและจะยืนเคียงข้างประชาชนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม 

       นายโภคิน กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าพรรคจะแถลงแนวทางปฏิรูปประเทศไทยของพรรคให้ประชาชนรับทราบ 

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตส.ส.กทม. ในฐานะคณะทำงานร่างแนวทางปฏิรูปประเทศของพรรค กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปของพรรคจะแตกต่างจากของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเอาปัญหาทั้งหมดที่มีมากำหนดแผนปฏิรูป จากนั้นปรับรูปแบบการบริหารให้คล่องตัวมากขึ้น เรื่องใดที่ล่าช้าหรือมีอุปสรรคข้อกฎหมายจะเสนอแก้ไข โดยการปฏิรูปจะเน้นครอบคลุมทุกเรื่อง รอบด้านทุกงานของทุกกระทรวง ผสมผสานแนวนโยบายที่พรรคทำไว้มาปรับปรุงให้การบริหารและการแก้ปัญหาของประชาชนทำได้รวดเร็วมากขึ้น 

 

ปชป.แนะเลขาฯวุฒิทูลเกล้า

     ที่พรรค ปชป. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจทูลเกล้าฯ ชื่อนายสุรชัย เป็นประธานวุฒิสภา คือเลขาธิการวุฒิสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ขณะนี้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกฯ 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ขึ้นเป็นครม. ดังนั้น เมื่อขาดนายกฯ เท่ากับไม่สามารถเป็นครม.ได้คือไม่มีอำนาจกราบบังคมทูล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล จึงเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่นายกฯ ไม่ใช่รักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เพราะวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์หมดไป ความเป็นครม.ก็ต้องหมดไปตั้งแต่นาทีนั้น นายนิวัฒน์ธำรงมีหน้าที่แค่ทำงานประจำ

     นายวิรัตน์ กล่าวว่า ส่วนผู้ที่มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง เห็นว่าเมื่อครม.ไม่มีอำนาจตามมาตรา 171 แล้ว จะเหลือ 2 องค์กรคือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ จึงสมควรที่ประธานศาลฎีกาและประธานวุฒิสภาคือนายสุรชัย จะร่วมหารือกัน หากประธานศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง นายสุรชัยก็ควรเสนอตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประธานศาลปกครองสูงสุด หารือเพื่อเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง เมื่อได้ชื่อนายกฯ แล้ว ผู้มีอำนาจทูลเกล้าฯ คือนายสุรชัย ในฐานะประธานวุฒิสภา เพื่อให้นายกฯ คนกลางเดินหน้าปฏิรูปประเทศ แม้คนเสื้อแดงจะข่มขู่ว่าจะคัดค้านการดำเนินการตามมาตรา 7 แต่ดูจากกำลังของคนเสื้อแดงแล้ว เชื่อว่าไม่มีกำลังมาทำลายการขับเคลื่อนของมวลมหาประชาชนได้

แถลงโต้พท.จวก'สมคบคิด'

      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคออกแถลงการณ์ตอบโต้พรรคเพื่อไทย 7 ข้อ 1.ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากพรรคเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและคำตัดสินของศาล และพร้อมจะบิดเบือนข้อเท็จจริงเมื่อตนเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบ 2.ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มิได้มีกระบวนการสมคบคิดเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกกฎหมายและมุ่งทำลายน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือประชาชนจับได้ไล่ทันรัฐบาลที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม อีกทั้งองค์กรอิสระได้ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญจากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มิใช่การสมคบคิดอย่างที่พรรคเพื่อไทยจินตนาการ

     3.ศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิได้เร่งรีบดำเนินคดีกับใครเป็นพิเศษ 4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญในทุกมิติ และเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกฯ ย่อมส่งผลให้ครม.ชุดที่ลงมติย้ายนายถวิลต้องพ้นสภาพเช่นกัน 5.พรรคยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและหลักการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักการเมืองต้องเป็นผู้เสียสละหาทางออกให้กับประเทศ

     6.ขอให้กกต.จัดการเลือกตั้งโดยคำนึงถึงความพร้อมของสถานการณ์ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และ 7.ขอเรียกร้องให้ทหาร ตำรวจ และผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย รักษาความสงบของบ้านเมืองอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และอย่าปล่อยให้พวกนอกกฎหมายใช้อาวุธสงครามซุ่มโจมตีประชาชน ทั้งนี้พรรคขอยืนหยัดเคียงข้างประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่พวกที่ปากเป็นประชาธิปไตยแต่ใจเป็นเผด็จการ และเป็นเพียงนักเลือกตั้งเพื่อทำธุรกิจการเมือง มิใช่นักการเมืองที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ

เด็จพี่ชี้ข้อเสนอวิรัตน์ขัดรธน.

      นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจ้อเสนอของนายวิรัตน์ว่า นาย วิรัตน์เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่เสนอแนวทางที่ไม่ต่างจากเผด็จการ เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญ ตีความเข้าข้างตนเอง ตรงข้ามกับความคิดประชาชน นักวิชาการและนักกฎหมาย หากเลขาธิการวุฒิสภาทำตามก็จะขัดรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งการตั้งกรรมการสรรหานายกฯคนกลางไม่ใช่อำนาจของรักษาการประธานวุฒิสภาและอำนาจของวุฒิสภาจะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้นายกฯ มาจากส.ส. ผ่านการโหวตในสภา ผู้ทูลเกล้าฯและผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นประธานสภาเท่านั้น

      นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคยืนยันว่านายนิวัฒน์ธำรง มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯได้ทุกประการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่นายวิรัตน์เสนอนั้น เป็นแค่เกมการเมือง เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐบาลและปล้นอำนาจประชาชน ขอเรียกร้องนายอภิสิทธิ์ และผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ ฟังเสียงและเคารพประชาชน ถ้าอยากได้อำนาจบริหารบ้านเมืองและทำให้ประชาชนยอมรับก็ควรลงสู่สนามเลือกตั้ง จะสง่างามมากกว่ามาเสนอให้ได้มาซึ่งนายกฯเถื่อน หรือรัฐบาลเถื่อนแบบนี้

 

ชวลิตห่วงจมบ่อน้ำครำเผด็จการ

      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์เสนอทางออกประเทศให้มีนายกฯ มาจากคนกลางว่า นึกไม่ถึงว่าหัวหน้าพรรคในระบอบประชาธิปไตย จะกล้าเสนอทางออกประเทศแบบนี้ เท่ากับผลักภาระ บีบบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ

      นายชวลิตกล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์เสนอแนวคิดแบบนี้ คงเป็นไพ่ใบสำคัญที่คิดจะช่วยนายสุเทพ ซึ่งไม่ทราบว่าจะทำให้จมในบ่อน้ำคร่ำเผด็จการอำนาจนิยมด้วยกันหรือไม่ ทั้งนี้ข้อเสนอนายกฯ คนกลาง เป็นข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์คนเดียวหรือเป็นมติของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่ใช่สมาชิกที่เห็นต่างควรออกมาปฏิเสธ ไม่อย่างนั้นจะถูกตราหน้าว่านิยมแนวทางเผด็จการทั้งพรรค 


แจงโลก- นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น ยืนยันว่าได้เป็นรักษาการนายกฯตามรัฐธรรมนูญ และจะเร่งประสานกกต.เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เมื่อวันที่ 12 พ.ค.

      นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้ายอมถอยกันคนละก้าวแล้วมาพูดคุยกันกันเพื่อหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ปัญหาก็จะคลี่คลายลง ส่วนที่นายสุเทพเสนอประธานวุฒิสภาตั้งนายกฯ มาตรา 7 นั้น คิดว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ความขัดแย้งครั้งนี้ต้องเร่งแก้ไขเพื่อหาทางออกให้เกิดการยอมรับและขยับไปสู่การเลือกตั้ง 

 

'เพื่อนสธ'แถลงค้านนายก ม.7

      วันเดียวกัน กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ นพ.ไตรจักร จั่นดู นพ.ดิเรก บรรณจักร์ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ระบุว่า กลุ่มเพื่อน สาธารณสุขฯ ประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาลและวิชาชีพสาธารณสุขด้านอื่นๆ 1,200 คน ทั่วประเทศ ห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ยังมีความขัดแย้งและอาจเกิดความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงมีแถลงการณ์ 1.สนับสนุนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานของรัฐ เป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำหน้าที่เต็มความสามารถ ตามรัฐธรรมนูญ และตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2.เราปฏิเสธนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากส.ส.และขอเรียกร้องให้กกต.จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ หากปล่อยให้การเลือกตั้งช้าออกไปจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างยิ่งขึ้น 

       3.ขอเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผู้บังคับใช้กฎหมายและองค์กรตามรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายตามลายลักษณ์อักษร หลีกเลี่ยงการใช้อคติและความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจโน้มเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง 4.ขอให้รัฐบาลรับตัวแทนของสหประชาชาติหรือตัวแทนของสหภาพยุโรป เป็นคนกลางแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาใช้วิธีแก้ปัญหาตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย นำความสงบกลับคืนสู่ประเทศ 5.เรียกร้องให้รัฐบาลทำคำประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมไม่อาจทำคำวินิจฉัยให้เป็นที่ยอมรับได้ ฝ่ายต่างๆ อาจเลือกใช้วิธีรุนแรงต่อกัน การยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจะเป็นการป้องปรามมิให้ฝ่ายใดใช้ความรุนแรงต่อกัน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขฯ ระบุในตอนท้ายว่า หากเกิดรัฐประหารหรือเกิดการใช้ความรุนแรงจะกลับมาอีกครั้ง และจะขอต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อประชาธิปไตยจนถึงที่สุด และไม่ยอมรับนายกฯ คนกลาง

 

กกต.หารือ'นิวัฒน์ธำรง'ทูลเกล้าฯ

     เวลา 18.50 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานกกต. แถลงภายหลังการประชุมนัดพิเศษระหว่างกกต.กับคณะกรรม การที่ปรึกษากฎหมายว่า มีกกต. 4 คนเข้าร่วมโดยนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ลาประชุม ส่วนประเด็นที่กกต.หารือคือนายนิวัฒน์ธำรง ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ มีอำนาจในการรักษาการร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป ร่วมกับประธานกกต. และมีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีอำนาจทูลเกล้าฯและรับสนองพระบรมราชโองการร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าวนั้น กรรมการที่ปรึกษากฎหมายได้อภิปรายแสดงความเห็นในข้อกฎหมายอย่างอิสระเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่แตกต่างกันในข้อสังเกต ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ หลังจากนี้สำนักงานจะรวบรวมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณาในเช้าวันที่ 14 พ.ค. ก่อนที่กกต.จะหารือกับรัฐบาลในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

      นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นว่าในร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว กกต.จะให้บรรจุถ้อยคำว่าหากมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินให้รัฐบาลออกพ.ร.ฎ. เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่กกต.เสนอได้นั้น กรรมการที่ปรึกษากฎหมายมีทั้งเห็นว่าทำได้และทำไม่ได้ ซึ่งกกต.จะนำความเห็นดังกล่าวไปหารือกันอีกครั้งก่อนหารือกับรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กกต.ได้รับแจ้งว่านายนิวัฒน์ธำรงจะมาหารือกับกกต.ด้วยตนเอง พร้อมนายพงศ์เทพ และนายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร. ร่วมคณะมาด้วย

 

ศาลปค.ปัดข้อเสนอเทือก

     นายภุชงค์กล่าวถึงกปปส.เสนอประธานวุฒิสภาให้หารือร่วมกับประมุข 3 ศาลและประธานกกต. เพื่อหาทางตั้งนายกฯคนกลางว่า ก่อนประชุมกกต. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ระบุว่ากกต.จะต้องคุยกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค. ส่วนหากจะเชิญหรือจะรับเชิญอย่างไร ต้องเป็นมติกกต.อีกครั้ง ต้องดูความชัดเจนว่าที่จะเชิญนั้นเพื่อไปทำอะไร เพราะแต่ละองค์กรมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่กกต.ต้องยึดถือเป็นหลักสำคัญคือความเป็นกลาง

      แหล่งข่าวจากศาลปกครอง กล่าวถึงข้อเสนอของนายสุเทพเรียกร้องให้ว่าที่ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานกกต. หารือร่วมกันเพื่อเสนอรายชื่อนายกฯคนกลางว่า ถือเป็นความเห็นการเมืองของฝ่ายหนึ่ง ต้องรอดูว่าจะมาหารือจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จากการหารือกับตุลาการศาลยุติธรรม มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรม มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นไปไม่ได้แล้วจะทำได้อย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้จะมีใครกล้าทำตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพ

 

พท.ยื่นร้อง'สุรชัย'

      เวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ให้ดำเนินคดีกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และว่าที่ประธานวุฒิสภา กับพวกในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยทำคำร้องและสำเนาร่างพ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 2-10 พ.ค.2557 และเอกสารที่เกี่ยวข้องมอบไว้เป็นหลักฐาน

       จากนั้นเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสิงห์ทองได้เข้ายื่นหนังสือต่อป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีกับนายสุรชัย โดยมีนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นผู้รับหนังสือ 

      นายสิงห์ทอง กล่าวว่า นายสุรชัยเป็นผู้ยื่นร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าวเพื่อแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครอง และกรรมการป.ป.ช. แต่นายสุรชัยกลับสอดไส้บรรจุวาระคัดเลือกประธานวุฒิสภา ที่อยู่นอกเหนือพ.ร.ฎ.ทั้งที่ตนเองมีส่วนได้เสีย และได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ถือเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเอง มีเจตนาซ่อนเร้นปิดบัง ขัดต่อพ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 จึงทำให้เกิดโมฆะตั้งแต่ต้นและเข้าข่ายกระทำขัดกันแห่งประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ด้วย 

 

เลขาฯวุฒิเผยยังไม่ยื่นตั้งปธ.วุฒิ

      ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่าตนยังไม่ได้นำรายชื่อนาย สุรชัยที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ และนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. อุตรดิตถ์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นำความกราบขึ้นบังคมทูล เนื่องจากยังทำประวัติของบุคคลทั้ง 2 ไม่เสร็จ เบื้องต้นคาดว่าวันที่ 12 พ.ค. นี้ยังดำเนินการได้ไม่ทัน

      นายสุรชัย เลี้ยงบุญเสิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมนอกรอบวุฒิสภาวันนี้ว่า ประเทศชาติที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา ใครเสนอตัวเข้าแก้ปัญหาก็เจ็บตัว และถอยออกไปทุกคน บ้านเมืองจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าตนจะต้องเจ็บตัวแต่บ้านเมืองอยู่รอดก็พร้อม ข้อสรุปเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมช่วยกันหาทางออกโดยให้อิสระกับ ส.ว.ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น โดยจะนำข้อเสนอของทุกกลุ่ม ทุกคน ทุกพรรคการเมือง และนายสุเทพ รวมถึงนปช.จะนำมาพิจารณาทั้งหมด แล้วช่วยกันสังเคราะห์ จะสรุปได้ในวันนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับบรรยากาศในที่ประชุม 

สุรชัยลั่นทำหน้าที่รองปธ.คนที่1

        นายสุรชัย กล่าวอีกว่า แนวทางที่คิดไว้คือต้องการให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะประกอบด้วย และจะมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับฟังและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน อยากให้การแก้ไขปัญหาครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนทั้งประเทศ จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้ไปทำโรดแม็ป แต่ไม่ใช่ต้องเสร็จในวันนี้เพราะเรื่องนี้ต้องละเอียดรอบคอบ

เมื่อถามถึงกรณีการทูลเกล้าฯ ตำแหน่งประธานวุฒิสภาที่ทางรัฐบาลทักท้วงว่าอาจมีปัญหา นายสุรชัยกล่าวว่า วันนี้ตนทำหน้าที่ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา ไม่เคยบอกว่าทำหน้าที่ในฐานะประธานวุฒิสภา ตนเคยพูดในตอนแสดงวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยที่เกิดปัญหาส่วนหนึ่งคือการใช้กฎหมายมาเป็นโซ่ตรวนผูกมัดประเทศ ถ้าอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ให้ละคำถามบางคำถามในแง่มุมกฎหมายบ้าง ให้ดูเป้าหมายว่าจะมีวิธีการนำประเทศชาติให้อยู่รอดได้อย่างไร แล้วเป้าหมายติดขัดในข้อกฎหมายก็ช่วยกันคิดปรุงแต่ง เพราะกฎหมายอยู่ที่คนใช้ คนตีความ ตีความให้ใช้ไม่ได้มันก็ใช้ไม่ได้ 

ยันรับฟังทุกฝ่าย

        ผู้สื่อข่าวถามว่ารองประธานวุฒิสภามีอำนาจตั้งนายกฯ ได้หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า คำถามนี้ไม่ตอบ เพราะตนไม่มีโรดแม็ปทางออกของประเทศ แต่ถ้าสังคมยอมรับไม่ได้ก็จบ ตนก็ถอยหลังกลับไปทำงานในวุฒิสภาอย่างเดียว แล้วคนที่ปฏิเสธข้อเสนอของวุฒิสภาต้องรับผิดชอบอนาคตของบ้านเมือง

      เมื่อถามว่า จะหารือกับประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ กปปส.เมื่อไร นายสุรชัยกล่าวว่า ตนรับฟังทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ใครมีความคิดเห็นสามารถส่งมายังวุฒิสภาได้ และตนพร้อมเดินทางไปพบหารือทุกกลุ่ม ไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าใครสะดวกสถานที่ใดก็พร้อมจะไป 

      นายพีระศักดิ์ กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภานอกรอบวันนี้ว่า เชื่อว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าที่ประชุมวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบให้ดำเนินการในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพราะต้องนำความเห็นดังกล่าวไปหารือร่วมกับองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ที่ประชุมเสนอ โดยส่วนตัวคาดว่าภายใน 1 เดือน หลังจากนี้จะได้ข้อสรุป ส่วนการเดินสายหรือพบปะกับผู้นำองค์กรต่างๆ หากนัดได้เร็วก็เข้าพบปะได้เร็ว และตนพร้อมร่วมเดินสายพบปะร่วมกับนายสุรชัย 

เลขาฯสภาแจงถ่ายทอดสดไม่ได้

      เวลา 13.30 น. นายสุรชัยเป็นประธานการประชุมของส.ว.นอกรอบ เพื่อหารือหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศ ตามที่นายสุเทพเสนอต่อวุฒิสภาก่อนหน้านี้ โดยมี ส.ว.ลงชื่อเข้าประชุม 88 คน จากทั้งหมด 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ว.สรรหา ส่วนบริเวณด้านหน้ารัฐสภา ฝั่งถนนอู่ทองใน มีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. มาร่วมฟังการประชุมด้วย ทำให้ทางรัฐสภาปิดประตูเข้าออกบริเวณดังกล่าว ให้เข้าออกเพียงประตูเดียวคือฝั่งถนนราชวิถีเท่านั้น 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการหารือประชุม นายสุรชัยเปิดให้หารือถึงปัญหาการถ่ายทอดการประชุมผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาและสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภาที่ไม่สามารถทำได้ หลังจากนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงฯ มีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถถ่ายทอดสดได้เนื่องจากติดขัดเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ เพราะเป็นการประชุมภายในและนอกสมัยประชุม ทำให้ส.ว.บางส่วนไม่พอใจและอภิปรายโจมตีเลขาธิการสภาที่ไม่ให้ถ่าย ทอดสด 

เมินถกลับส.ว.ลำพูนวอล์กเอาต์

      ต่อมาเวลา 14.50 น. การประชุมจึงเริ่มขึ้น นายสุรชัยระบุว่า การประชุมวันนี้มีผู้เข้าร่วม 86 คน จะเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งยังไม่ถูกแก้ไข และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชน 5 ข้อ 1.การชุมนุมของทุกฝ่ายขอให้อยู่ในความสงบ ปราศจากอาวุธความรุนแรง 2.หยุดใช้วาจาปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง 3.ไม่ใช้แง่มุมกฎหมายสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้ประเทศ 4.ขอให้สื่อทุกแขนงเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงธรรม และ 5.ประชาชนสามารถนำเสนอข้อมูลมาที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตนและสมาชิกจะปฏิบัติภารกิจนี้โดยเร็วอย่างกล้าหาญ ซื่อสัตย์และยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง จะนำสิ่งที่ได้ไปสังเคราะห์และหารืออีกครั้งว่าแผนที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งเป็นอย่างไร 

     จากนั้นสมาชิกเริ่มแสดงความคิดเห็น โดยนายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน อภิปรายว่า ถ้าว่าที่ประธานวุฒิสภานำองค์ประชุมเดินไปในทางที่ผิด กลไกที่ประชาชนจะยอมรับวุฒิสภาจะหายไปทันที ตนไม่คิดว่าการแก้ปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้จะนำเสนอบนเวทีที่เปิดเผยได้ เราต้องประชุมลับแล้วหาข้อมูลที่ถูกต้อง รับฟังความเห็นที่แตกต่าง กระบวนการแก้ปัญหาของบ้านเมืองต้องล็อบบี้หาความลงตัวก่อน ถ้าประธานนำเราไปในทางที่ถูกต้องก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้านำไปโดยมีอคติ ประเทศจะเข้าสู่จุดวิกฤต จึงควรประชุมลับมากกว่า แต่ถ้าที่ประชุมไม่เห็นด้วยก็จะไม่ขอร่วมสังฆกรรมด้วย 

     จากนั้น นายตรี ได้ขอผู้รับรองญัตติให้ประชุมลับ แต่มีผู้รับรองเพียง 12 คน นายตรีจึงเดินออกจากที่ประชุมทันที แม้นายสุรชัยจะพยายามขอร้องให้อยู่ร่วมประชุมต่อก็ตาม ส่วนที่ประชุมยังคงเดินหน้าหารือต่อไป 

40 ส.ว.ชงตั้งนายกฯม.7

      ด้านกลุ่ม 40 ส.ว. อภิปรายหยิบยกเหตุผลในแนวทางเดียวกันให้นายสุรชัยใช้อำนาจของวุฒิสภาแต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 7 หรือใช้อำนาจตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม แทนส.ส.ที่ยังไม่มี เพื่อหาทางออกให้ประเทศ นอกจากนี้ยังยกคำอ้างของ ผบ.เหล่าทัพ ที่ระบุจะไม่รัฐประหาร การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ชัดว่าในเมื่อทหารไม่กล้าทำ ว่าที่ประธานวุฒิสภาต้องรับเผือกร้อนชิ้นนี้มาทำ

      เวลา 17.45 น. นายสุรชัย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับจดหมายจากนายสุเทพว่า ขอเข้ามาชี้แจงในที่ประชุมจึงอยากถามสมาชิกจะให้เข้ามาหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมทั้งหมดเห็นด้วย โดยกลุ่ม 40 ส.ว.อภิปรายสนับสนุน ขณะที่นายพีระศักดิ์เสนอว่าขอให้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้สมาชิกหารือร่วมกันก่อนว่าจะให้นายสุเทพเข้ามากี่นาทีและสอบถามได้หรือไม่ ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า หากให้นายสุเทพ เข้ามาต้องให้ผู้นำมวลชนรายอื่นเข้ามาชี้แจงได้ด้วยเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน

สุรชัยเปิดสภาจู๋จี๋เทือก

     ขณะที่นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อปิดกั้นสื่อก็จะเป็นอย่างนี้ ขอให้ประสานให้ถ่ายทอดสดทางวิทยุรัฐสภาอีกครั้งด้วย ก่อนสรุปว่าที่ประชุมเห็นว่าจะให้นายสุเทพเข้ามาและขอสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้สมาชิกหารือแนวทางว่าจะหารือกับนายสุเทพอย่างไร โดยอาจให้นายสุเทพอภิปรายต่อจากรายชื่อ สุดท้ายที่แจ้งจะอภิปราย

จากนั้นนายสุเทพได้เดินทางเข้ามาที่รัฐสภา และพูดคุยกับนายสุรชัย ก่นที่จะให้สื่อมวลชนออกจากห้อง เพื่อพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว นานประมาณชั่วโมงครึ่ง ขณะที่การประชุมนอกต้องพักการประชุมรอ

นายสุรชัยให้สัมภาษณ์หลังหารือกับนายสุเทพว่า ว่า เบื้องต้นนายสุเทพรับปากว่าจะไม่นำมวลชนเข้ามาในพื้นที่รัฐสภา พร้อมกันนี้ตนทำความเข้าใจกับนายสุเทพแล้วว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่นายสุเทพจะต้องชี้แจงในที่ประชุมส.ว.นอกรอบ ซึ่งนายสุเทพเข้าใจ แต่หากมีประเด็นที่ต้องการให้นาย สุเทพชี้แจงก็สามารถเข้าชี้แจงภายหลังได้

ส.ว.ชี้วุฒิสภาไม่สามารถใช้ม.7

      ต่อมาเวลา 20.35 น. นายสุรชัยกลับมาเปิดประชุมให้สมาชิกอภิปรายต่อ โดยพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. อภิปรายว่า วุฒิสภาไม่สามารถใช้แนวทางตามมาตรา 7 เพราะวุฒิสภาไม่เป็นผู้กำหนดให้ว่าใครจะทำอย่างไร แต่ควรเป็นผู้มีหน้าที่เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันหาทางออกร่วมกัน โดยวุฒิสภาเป็นผู้นัดประสานการหารือ

       ด้านน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทร สงคราม อภิปรายว่าการเสนอนายกฯมาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องง่ายหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับและอาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งประธานวุฒิสภาโดยตรง เพราะปัญหาคือไม่มีผู้บริหารประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งหาผู้นำ ส่วนวิธีที่จะได้มานั้นไม่สามารถชี้แนะได้เป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภาต้องเป็นคนจัดการ

เลขาฯสภาย้ำไม่ได้ปิดกั้น

     นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีไม่ถ่ายทอดสดการประชุมนอกรอบของส.ว. เพื่อหาทางแก้ปัญหาบ้านเมืองว่า ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกันสื่อและยังถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด พร้อมให้สื่อเข้าทำข่าวและรายงานข่าวได้ ขณะที่สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเสนอข่าวการประชุมทุกต้นชั่วโมงแทนการถ่ายทอดสด ตามมติคณะกรรมการที่เห็นว่า การประชุมดังกล่าวไม่ใช่การประชุมสภา วุฒิสภา และการประชุมรัฐสภา ซึ่งนอกเหนือจากบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมเพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์ทางกฎหมาย จึงผิดเงื่อนไขได้หากให้ถ่ายทอดสด 

     นายสุวิจักขณ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้ห้องประชุมรัฐสภานั้น เป็นไปตามขั้นตอนการทำหนังสือขอความอนุเคราะห์มาจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ขณะที่สมาชิกมีอำนาจขอใช้ห้องประชุมได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากประธานในที่ประชุมจะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.เข้ามาชี้แจงภายในรัฐสภาก็เป็นอำนาจของประธานในที่ประชุมว่า จะถามมติเห็นชอบของสมาชิกหรือไม่อย่างไร

'สายหยุด'ชงทหารรับสนอง

      เมื่อวันที่ 12 พ.ค. คณะรัฐบุคคลมอบหมายตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือแนวทางการให้ทหารร่วมแก้ปัญหาประเทศ ถึงผบ.ทุกเหล่าทัพ สำหรับเนื้อหาในเอกสารระบุทหารไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ป้องกันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทั้งนี้ทหารต้องปฏิบัติการตามคำสั่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม มีเกียรติ 

     เวลา 17.00 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานคณะรัฐบุคคล แถลงหลังเดินสายยื่นหนังสือต่อผบ.เหล่าทัพว่า คณะรัฐบุคคลยืนยันทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ โดยการขอพึ่งพระบารมีและยกร่างพระบรมราชโองการ ให้คณะผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือผบ.เหล่าทัพ ประธานวุฒิสภา และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ

     พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า ขอแถลงการณ์ 9 ข้อเพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ 1.ขอพึ่ง พระบารมีเช่นที่มีในอดีต 2.คณะรัฐบุคคลคิดว่าภารกิจนี้ช่วยให้ประเทศตั้งอยู่ต่อไปได้เพื่ออนาคตลูกหลาน 3.สถานการณ์ปัจจุบัน ทหารเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน และขณะนี้ถึงจุดที่ทหารต้องริเริ่มทำอะไรได้แล้ว แต่ต้องไม่ใช่วิธีการปฏิวัติ ไม่ใช่ขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 แต่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

    4.เสนอให้ทหารแก้ปัญหาขัดแย้งนี้ จึงประสานผบ.เหล่าทัพตามที่เดินสายยื่นหนังสือไปแล้ว 5.ทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติ 6.แนวทางขอพึ่งพระบารมีจะต้องประกาศพระบรมราชโองการ ดังนั้นต้องมีคณะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกอบด้วย กองกำลังผสม 3 เหล่าทัพ ประธานวุฒิสภาและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ

     7.ขอให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯและคณะลาออกเพื่อเปิดช่องทางให้ใช้พระราชอำนาจบริหารได้ 8.ขอให้คณะทหารหรือคณะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตัดสินใจร่วมกันภายในวันที่ 13-14 พ.ค.นี้ และ9.เชื่อว่าแนวความคิดนี้จะมีผลในทางปฏิบัติ 

     เมื่อถามว่า หากผบ.เหล่าทัพไม่ตอบรับข้อเสนอจะทำอย่างไรต่อไป พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า คนแก่ก็ได้แต่คิด ไม่มีอำนาจ หวังจุดประกาย ไม่ได้ให้ตอบรับทุกตัวอักษร ถ้าทหารไม่ทำอะไรเลย ตนจะหยุดภารกิจ แต่ขอให้ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน

'นิวัฒน์ธำรง'ชี้ นายกฯ ม.7 ไม่มีกฎหมายรองรับ ระบุไม่ปิดช่องคุย 'สุเทพ'แต่ขอให้ทุกส่วนร่วมวง
        เมื่อเวลา15.10น. วันที่ 12 พฤษภาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการให้วุฒิสภาเสนอนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ตามที่กลุ่มกปปส.เรียกร้อง ว่า การดำเนินการใดๆจะต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ คิดได้ทำได้แต่เมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง ตามขั้นตอนต่างๆ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ หน่วยงานที่จะดำเนินการต่อก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่รัฐบาลมองว่าไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ให้ทางฝ่ายที่มีความคิดเช่นนั้นดำเนินการไป
       เมื่อถามถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.จะขอเจรจานั้น นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ยังไม่มีการติดต่อมา แต่รัฐบาลตั้งแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะเปิดกว้างเพื่อพบปะพูดจากับกลุ่มต่างๆ แต่สิ่งที่ถือเป็นหลักคือเราต้องพูดคุยกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ ควรที่ได้เจอกันทั้งหมด เพราะประเทศไทยมีกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลคนเดียว แต่มีทั้งหน่วยงานและองค์กรอิสระมากมาย รวมถึงกลุ่มประชาชนหลากหลายกลุ่มที่ออกมาให้ข้อคิดเห็น อย่างไรก็ตามความคิดเห็นต่างๆ หรือสิ่งที่จะทำและดำเนินการต้องมีกฎหมายปัจจุบันรองรับไม่เช่นนั้นคิดไปทำอะไรสุดท้ายทำไม่ได้เพราะไม่มีกฏหมายรองรับสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วย
      เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าจะมีขบวนการล้มรัฐมนตรีทั้ง 25 คนที่ยังทำงานอยู่ให้ล้มไปเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ตนไม่ห่วงอะไรคงต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพราะกฏหมายเขียนแบบนี้ ระเบียบเขียนแบบนี้ถ้าทำได้ตามระเบียบกฏหมายรวมทั้งหากอยู่ภายใต้ก็สามารถทำได้ ส่วนที่ฝ่ายตรงข้ามมั่นใจว่าจะสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น ก็ต้องรอ
     เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะทั้ง 2 ฝ่ายดูเหมือนจะใช้กฏหมายคนละฉบับกัน นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า จะต้องถามฝ่ายต่างๆ ว่าใช้กฏหมายฉบับใด ส่วนตนมีเอกสารพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 10 ซึ่งตนปฏิบัติตามกฏหมายฉบับนี้ จึงต้องถามว่าฝ่ายตรงข้ามจะเอาแบบไหนและใช้ระเบียบหรือกฏหมายมาตราใด
     เมื่อถามต่อว่าหากใช้กฏหมายคนละฉบับคิดว่าจะต้องหาข้อยุติจากศาลยุติธรรมได้หรือไม่นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ก็ต้องแล้วแต่ว่าจะมีใครยกประเด็นไหนไปขอความเห็นจากศาล
     เมื่อถามว่าประเทศจะเดินต่อไปอย่างไรในเมื่อความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายที่ตีความกฏหมายที่คู่ขนานกันโดยสิ้นเชิงนายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ต้องยกประเด็น แต่ตนคิดว่าทุกฝ่ายพยายามหาทางที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติ ซึ่งในส่วนี้ตนเห็นว่าเป็นการเดินไปในทางเดียวกันแต่วิธีการที่จะทำต่างกัน ทั้งนี้ตนเห็นว่าวิธีที่เป็นไปตามกฏหมายอย่างชัดเจนคือกฏหมายระบุว่าเมื่อยุบสภาฯ ต้องเลือกตั้งเพื่อมีรัฐบาลโดยเร็ว และไม่ต้องการให้มีรัฐบาลรักษาการอยู่นานรวมทั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ต้องมีรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่แทนต่อไปเราก็ตามกฏหมาย
     เมื่อถามว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายจะมีการเผชิญหน้าหรือไม่กันหากฝ่ายการเมืองยังแก้ไขปัญหาไม่ได้นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ประชาชนเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตจึงไม่ออกมาเผชิญหน้ากันทุกคนต่างออกมายื่นข้อเสนออย่างสงบ ซึ่งสังเกตได้ว่ามวลชนก็พยายามไม่ให้เกิดการปะทะกันจึงเป็นสิ่งที่ดี และต่างประเทศชื่นชมในจุดนี้พร้อมทั้งอย่างให้ประเทศไทยแก้ปัญหาโดยไม่มีเหตุกระทบกระทั่งหรือเสียเลือดเสียเนื้อซึ่งต่างประเทศหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีเป็นไปตามระบอบระบอบประชาธิปไตย
       เมื่อถามว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทั้ง 25 คนจะรักษาสนามประชาธิปไตย ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่าจะตายคาสนามประชาธิปไตยได้หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ครม.ที่เหลืออยู่ทั้ง 25 คนมีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามกฏหมายต่อไปพร้อมทั้งได้มีการแบ่งงานกันตามกระทรวงต่างๆ อย่างเรียบร้อยการทำงานจึงไม่หยุดชะงัก รวมทั้งจะต้องทำหน้าที่สนับสนุนการเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่นายสุเทพ ประกาศจะปิดเกมภายใน 2-3 วัน ก็ต้องรอฟังว่านายสุเทพจะทำอย่างไร

 

 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!