WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 22:21 น. ข่าวสดออนไลน์


นักวิชาการ-อดีต กกต. มองข้อถกเถียง'มาร์ค' ลงสมัครส.ส.ได้-ไม่ได้ !?!

รายงานพิเศษ 

    คําประกาศเว้นวรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากโรดแม็ปทางออกประเทศเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
     นำมาสู่ข้อถกเถียงเรื่องคุณสมบัติการลงสมัครส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ อันเนื่องมาจากกรณีกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดออกจากราชการ 
     พรรคเพื่อไทยเห็นว่านายอภิสิทธิ์ ไม่สามารถสมัคร ส.ส.ได้อีก เพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 102 (6) ที่ระบุ คุณสมบัติต้องห้ามสมัครส.ส.สำหรับผู้ที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ 
      ขณะที่ประชาธิปัตย์อ้างคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงยังไม่มีผล
     ในมุมมองของอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการ มองข้อถกเถียงนี้อย่างไร 

สดศรี สัตยธรรม
อดีต กกต.
      กรณีร้องเรียนการขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ ตามมาตรา 101 และ 102 (6) เพราะถูกปลดออกจากทหารนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่ามีการยุบสภาไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.แล้ว ทำให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส.ไปโดยปริยาย 
      ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ศาลน่าจะวินิจฉัยให้ชัดเจนว่า การถูกออกจากราชการของนายอภิสิทธิ์นั้นเข้ามาตรา 102 (6) หรือไม่ จะได้เป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจน 
      หากวินิจฉัยออกมาว่าเข้ามาตรา 102 (6) ซึ่งการถูกปลดออกจากทหารติดตัวไปตลอดชีวิต ก็เท่ากับว่าขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.ตลอดชีวิตเช่นกัน
     ส่วนคำสั่งถอดยศ ร.ต.อภิสิทธิ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ร้องว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบนั้น เรื่องอยู่ที่ทั้งศาลปกครองและที่ กกต. ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า 
     แต่หากถามว่า คำสั่งนั้นมีผลทางกฎหมายหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปถาม กกต.ว่าวินิจฉัยหรือยัง ถ้าวินิจฉัยแล้วก็ควรประกาศให้รู้เรื่อง 
      คุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์ มีการร้องเรียนมาตั้งแต่ กกต.ชุดที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึง กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร 
      หากมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. และมีการสมัครรับเลือกตั้งปลายเดือนนี้ กกต.จะเป็นผู้พิจารณาและให้ความชัดเจนได้ดีที่สุดว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือไม่ อย่างไร 
      แต่จะไปตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดถึงการขาดคุณสมบัติเลย พูดเพียงให้พ้นสภาพการเป็นส.ส.ไปเพราะยุบสภาเท่านั้น
      ตามที่นายอภิสิทธิ์ประกาศจะไม่ลง สมัครส.ส. 2 ปี ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขมาตรา 101 และ 102 หรือไม่ อาจมีการปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งก็ได้
       ขึ้นอยู่กับว่าอีก 2 ปีข้างหน้าใครเป็นผู้ถืออำนาจรัฐ ดังนั้น หากนายอภิสิทธิ์จะลงสมัครก็ลง และเป็นหน้าที่กกต. ในการพิจารณาคุณสมบัติต่อไป 
      ส่วนที่บอกว่าจะเว้นวรรค 2 ปีนั้น พรรคเพื่อไทยอาจจะมองว่านายอภิสิทธิ์กำลังเลี่ยงมาตรา 102 และไม่อยากให้กกต.ตีความมาตรานี้หรือเปล่า 

พัฒนะ เรือนใจดี
รองอธิการบดี ม.รามคำแหง
      เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตัดสินของศาล ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสิทธิ์คุณสมบัติผู้สมัครส.ส. นายอภิสิทธิ์ จึงยังมีสิทธิ์ลงสมัครได้อยู่ 
     เมื่อการพิจารณายังอยู่ในชั้นศาลถือว่าคดีความยังไม่ยุติ 
     การตีความให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียสิทธิการลงสมัครส.ส. คดีต้องถึงที่สุดก่อน กฎหมายต้องการปิดช่องไม่ให้เกิดการ กลั่นแกล้งกันได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีคนที่ถูกไล่ออก ปลดออก ไม่ได้ลงสมัครส.ส.โดยไม่เป็นธรรม 
      ซึ่งเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีทั่วๆ ไป ตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาตัดสินถึงที่สุดให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังบริสุทธิ์ 
      การเสียสิทธิ์จะเกิดต่อเมื่อคดีถึงที่สุด เช่น หากศาลปกครองชั้นต้นตัดสินแล้ว ก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก 
      ถามว่าหากคดีถึงที่สุดแล้ว สมมติศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าชอบแล้วที่มีคำสั่งปลดออก มีผลให้นายอภิสิทธิ์ถูกตัดสิทธิ์ห้ามลงสมัครส.ส. จะมีผลบังคับไปจนตลอดชีวิตหรือไม่นั้น หากมีการยกเลิกคำสั่งปกครอง เช่นรมว.กลาโหมคนใหม่ที่เข้ามา ถ้าไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถยกเลิกคำสั่งปลดออกจากราชการได้ 
     ดังนั้น ที่บอกว่าสมัครไม่ได้ตลอดชีวิตก็สมัครได้อีก 
      อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เป็นประเด็น หมายความว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง และในมุมมองสาธารณะมีการเมืองปนด้วย เพราะรัฐมนตรีที่ออกคำสั่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทย 
     จึงอาจมีการเพิกถอนคำสั่งรัฐมนตรีกลาโหม ตั้งแต่ศาลชั้นต้น 
      เพราะไม่ว่า ผลตัดสินจะออกทางไหนก็เป็นปัญหา แนวโน้มการตัดสินของศาลตั้งแต่ชั้นต้นอาจยังไม่พิจารณา รอให้ เรื่องซา หรืออาจไม่ตัดสินเพราะถือว่านายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้เสียสิทธิ์อะไร 
    สุดท้ายกกต.ก็ต้องรับสมัคร ส่วนใครจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญศาลก็ต้องพูดเหมือนกันเช่นนี้

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
นักวิชาการกฎหมายมหาชน
     ปัญหาที่ถกเถียงกันว่านายอภิสิทธิ์ลงสมัครส.ส.ได้หรือไม่ โดยพรรคเพื่อไทยบอกว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์เป็น ส.ส. ตลอดชีวิต เนื่องจากเป็นกรณีตามรัฐธรรม นูญ มาตรา 102 (6) ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามสมัครส.ส.
     กรณีนายอภิสิทธิ์นั้น ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1/2556 เรื่องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม ระบุเหตุผลในการปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากยศว่าที่ร้อยตรี ว่านายอภิสิทธิ์ขาดคุณสมบัติในการได้รับการแต่งตั้งบรรจุในตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนเข้าบรรจุรับราชการ ไม่ใช่ถูกปลดเพราะเหตุจากการทุจริตต่อหน้าที่ 
     แต่จะถือว่า กระทำทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการหรือไม่ องค์ประกอบข้อนี้มีความหมายกว้างกว่า คือ การกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ อาจไม่ใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งราชการก็ได้ จึงเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายเช่นกัน 
     คำว่าทุจริต คงจะต้องพิจารณานิยามทั่วไปในระบบกฎหมาย (ความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย) ปรากฏนิยามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) คำว่า ทุจริต หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 
      ตามคำสั่งปลดดังกล่าวระบุว่า นายอภิสิทธิ์กรอกข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ตนได้บรรจุเข้ารับราชการ และรับประโยชน์จากการรับราชการดังกล่าว จึงน่าจะขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 102 (6)
      ทั้งนี้ ก็เป็นอำนาจวินิจฉัยของกกต. หรือศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามแต่กรณี
      ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า เป็น ส.ส.ไม่ได้ตลอดชีวิตนั้น เมื่อนายอภิสิทธิ์ยังอุทธรณ์อยู่ อำนาจก็อยู่ที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครองนายอภิสิทธิ์หรือไม่ เพราะการปลดออกจากตำแหน่งราชการนั้นศาลปกครองมีอำนาจเหนือคดีในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะกระทบสิทธิของบุคคล
      แต่นายอภิสิทธิ์จะสมัคร ส.ส.ไม่ได้อีกเพราะเหตุถูกปลดนี้ก็มีความจริงอยู่ ตราบใดที่คำสั่งปลดออกจากราชการยังไม่ถูกศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง คำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ย่อมดำรงผลอยู่ในระบบกฎหมาย
      และมีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐให้ยึดคำสั่งปลดนี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติทางกฎหมายภายในเขตอำนาจหน้าที่ของตน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดนั้น
      หากนายอภิสิทธิ์ะสู้คดีจะต้องยืนยันว่าตนไม่ได้กรอกเอกสารด้วยข้อความเท็จ หรือปกปิดความจริงว่าตนไม่ได้ผ่านการเกณฑ์ทหารตลอดจนได้รับข้อยกเว้นทางกฎหมายอย่างไร
      สรุปว่า ระหว่างการอุทธรณ์ของนายอภิสิทธิ์ ในทางกฎหมายไม่มีผลคุ้มครองนายอภิสิทธิ์ และ กกต.ก็ไม่อาจอ้างได้ว่านายอภิสิทธิ์ยังมีคุณสมบัติสมัคร ส.ส. อยู่
     ในอนาคต หากศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์และกระทรวงกลาโหมจะสู้ต่อ ก็ต้องไปดูว่าระเบียบวิธีพิจารณาคดีที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองว่าอย่างไร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!