WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โมเดล'กกต.'ใหม่ เลือกคนดีเข้าสภา1โมเดลกกต.ใหม

(จากซ้าย) อำนวย คลังผา, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, สุขุม นวลสกุล, โอฬาร ถิ่นบางเตียว

  • มติชนออนไลน์ :

      หมายเหตุ - ความเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการ กรณีโมเดลคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากข้อเสนอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้มี กกต.เพิ่มจาก 5 คน เป็น 7 คน และดำรงตำแหน่งวาระ 7 ปี ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของ กกต.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย กรธ.จะมีการสรุปในสัปดาห์นี้

อำนวย คลังผา

อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย 

สําหรับ กกต.ชุดนี้ ผมอยากให้หมดหน้าที่ไปหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จากนั้นก็แต่งตั้งขึ้นใหม่ โดยให้มีเพียง 5 คน ไม่ควรมีถึง 7 คน เพราะเรามี กกต.จังหวัดและอำเภออยู่แล้ว ที่ผ่านมา กกต.ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ เช่น ไม่จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จเหมือนกรณีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถือเป็นความบกพร่อง เพราะตามหลักแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ กกต.ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง ที่สำคัญต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ

สำหรับข้อเสนอของ กกต.ที่ต้องการอยู่ในวาระ 7 ปีนั้น 5 ปีก็พอแล้ว เพราะข้าราชการใน กกต.ส่วนกลางก็มีมาก ส่วนคณะกรรมการ กกต.มีหน้าที่เพียงผู้กำกับการ แต่คนทำงานจริงนั้นมีอยู่มาก ส่วนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องมีศาลเลือกตั้งมาพิจารณา แต่ใช้เป็นอำนาจของศาลปกติ เช่น กกต.จังหวัดเป็นผู้ฟ้องต่อศาลจังหวัดเอง เพราะคนพื้นที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ดีกว่าคนในส่วนกลาง เมื่อจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างก็จะเร็วขึ้น แต่หากเอาเรื่องเดียวไปรวมอยู่ด้วยกันทั้งประเทศ จะใช้เวลาในการดำเนินคดีค่อนข้างนาน 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่ควรให้อำนาจในการแจงใบแดงต่อ กกต. เพราะควรให้เรื่องนี้อยู่ที่จังหวัด กระบวนการยุติธรรมต้องมีคนไตร่ตรอง มีขั้นตอนของพยาน หลักฐาน พนักงานสอบสวน ฯลฯ ทุกอย่างควรอยู่ในดุลพินิจของศาล ฉะนั้นจะเห็นว่าศาลเลือกตั้งจึงไม่มีความจำเป็นต้องมี เพราะการมีองค์กรใหม่คือการเพิ่มภาระ เพิ่มงบประมาณ โดยรวมแล้วอำนาจหน้าที่ของ กกต.ควรอยู่ที่การจัดการเลือกตั้ง รวบรวม นับคะแนน หากพบการทุจริตก็ส่งศาล

     ที่ผ่านมาเรามองเห็นการทำหน้าที่ของ กกต.ที่ยังไม่มีความเป็นธรรม จึงต้องปรับปรุง รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการสรรหา กกต.ด้วย

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

     การพิจารณาในองค์ประกอบของ กกต. ของ กรธ. โดยสรรหามาจากผู้มีความรู้ที่มีประโยชน์ในการบริหารและจัดการการเลือกตั้งและด้านกฎหมายทั้งหมด 7 คน จากผู้พิพากษา 2 คน และจากสาขาวิชาการต่างๆ 5 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี จำนวนที่เพิ่มขึ้นไม่มีนัยสำคัญอะไร โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ กกต. แต่การมอบอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าจะมีความสำคัญ และการเพิ่มจำนวนจาก 5 คน เป็น 7 คนนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับประสิทธิภาพ แต่ต้องยอมรับว่าคนที่มาเป็น กกต.แต่ละคนต้องมีการหล่อหลอมเรื่องระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง กฎหมาย และวัฒนธรรมทางการเมืองมามากพอก่อนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง เพราะหาก กกต.คนใดไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถมากพอจะดำเนินการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ยากจะทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ให้ดีได้

      การเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต.ให้ใบเหลืองนักการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้ง สาเหตุมาจากการปราศรัยที่ใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งหรือหลอกลวงมากที่สุด เพราะง่ายต่อการตรวจสอบ เพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่ไปบันทึกเสียงก็สามารถตรวจสอบคนปราศรัยได้แล้ว แต่ปัญหาสำคัญของการเลือกตั้งที่ประชาชนและนักการเมืองอยากให้เกิดการปฏิรูปมากที่สุดคือ ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงมากกว่า แต่ในทางกลับกัน กกต.จับได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นนักการเมืองที่ดีแต่มีเงินน้อยก็เข้าไปสู่ระบบสภาได้ยาก

     ดังนั้น กกต.จะต้องป้องกันการซื้อเสียงให้ได้ นี่คือหน้าที่หลักของ กกต.

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

      สําหรับกรณี กรธ.เสนอให้เพิ่มจำนวนบุคลากรของ กกต.กลางจาก 5 คน เป็น 7 คน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ทำแล้วต้องมีคำอธิบายชัดเจนแก่ประชาชนได้ว่าทำไมถึงต้องเพิ่มจำนวนขึ้น และเพิ่มขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่อะไร เช่น เพิ่มมาเพราะไม่ให้มี กกต.จังหวัด เพิ่มมาโดยมีจุดประสงค์ในการขยายหน้าที่ ไม่อย่างนั้นแล้วนึกอยากเพิ่มก็เพิ่ม เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ 

     ในส่วนนี้ได้มีหลายคนออกมาให้เหตุผลแล้วว่า เนื่องจาก กกต.กลางมีหน้าที่มาก ทั้งจัดการเลือกตั้งและสืบสวนการทุจริต ดังนั้นการเพิ่มเจ้าหน้าที่อีกสองคนเป็นตุลาการเข้ามาเพื่อช่วยดูแลเรื่องสำนวนคดี ตรงนี้ก็เป็นข้ออธิบายที่ว่ากันไป 

     แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า กกต.จะมีจำนวนเท่าไร ส่วนตัวมองแต่ที่มาของ กกต.ว่าควรจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าของเก่า ไม่ใช่มาจากแหล่งเดียวกันหมด และมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม

      ส่วนการให้อำนาจแก่ กกต.เฉพาะการแจกใบเหลืองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเห็นด้วยกับการแก้ไขให้ กกต.มีอำนาจเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป และให้อำนาจใบแดงแก่ศาลในการพิจารณาตัดสินตามหลักฐานที่มี เป็นเรื่องที่ควรจะต้องแก้ไขมานานแล้ว 

     ขณะที่เรื่องการเพิ่มระยะเวลาการทำงานจาก 5 ปี เป็น 7 ปีนั้น ประเด็นนี้พวกเขาอาจจะมองว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ต้องอาศัยระยะเวลา อยากเสนอว่า กกต.ไม่ควรจะมายกชุดแล้วออกไปยกชุด ควรจะมีคนส่งไม้ต่อให้กับ กกต.รุ่นต่อไป อย่างเช่น หากมีระยะเวลาการทำงาน 7 ปี คนจะมาทำหน้าที่ก็จะต้องมาเป็น กกต.ไม่พร้อมกัน คือจะมีกลุ่มหมดวาระไปก่อนเนื่องจากมาทำงานก่อน และจะมีกลุ่มทำงานต่อพร้อมกับ กกต.อีกครึ่งหนึ่งที่จะเข้ามาใหม่ มีการส่งไม้ต่อการทำงานไปได้เรื่อยๆ 

      กกต.ควรจะต้องเป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับมหาดไทย ไม่อยู่กับหน่วยราชการ เพราะคนจะมองว่าไม่ยุติธรรมได้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

     กรธ.คิดว่าขอบข่ายการทำงานของ กกต.มีเยอะ แต่คนดูแลจำกัด จึงจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรโดยเฉพาะฝ่ายกฎหมาย แต่บางครั้งการพิจารณาการแก้ไข ปรับปรุงในส่วนของ กกต.นั้น นอกจากดูโครงสร้างองค์กรจะเพิ่มบุคลากรแล้ว น่าจะพิจารณาถึงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในการจัดการการเลือกตั้งด้วย เพราะมีความสัมพันธ์กับลักษณะของท้องถิ่นหรือพื้นที่จริงในทางการเมือง เช่น ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพียงแค่แบ่งส่วนหรือให้คนใน กกต.จัดการนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากในพื้นที่การเลือกตั้งจริงของแต่ละจังหวัด มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือโครงสร้างอำนาจ สามารถกำหนดหรือเข้าไปควบคุมสถานการณ์หรือภาพรวมการเลือกตั้งได้ 

      การเพิ่มจำนวน กกต.เป็นการแก้ปัญหาแบบตั้งรับโดยการใช้กลไกราชการแบบเดิมคือ ถ้างานมากก็เพิ่มคนเข้าไป โดยไม่มองถึงปัญหา ข้อเท็จจริงภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นมีกลุ่มตระกูลการเมืองท้องถิ่นสามารถควบคุมพฤติกรรมทางการเมืองได้ จะไม่สอดรับกันระหว่างการเพิ่มบุคลากรกับข้อเท็จจริง 

     ถ้าจะแก้ปัญหาในระยะยาว น่าจะต้องส่งเสริมบทบาทขององค์กรต่างๆ ให้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น เวลาจัดการเลือกตั้ง แทนที่จะใช้กลไกราชการ บางครั้งเขาไม่อยากเข้าไปทำหน้าที่ แต่ถูกคำสั่งให้เข้าไปปฏิบัติงานก็ทำไปตามคำสั่ง แต่จิตวิญญาณและหัวใจในการเข้าไปดูแลนั้นไม่มี 

     ในการเข้าไปส่งเสริมการเลือกตั้ง ต้องทำให้องค์กรแนวราบ อาทิ กลุ่มนิสิตนักศึกษา และเยาวชนที่สนใจติดตามการเลือกตั้งได้มีบทบาท ได้เรียนรู้เพื่อเป็นแนวร่วม บทบาทของสถาบันการศึกษาท้องถิ่นสำคัญมาก 

     ส่วนการเพิ่มอายุงาน กกต.จาก 5 ปี เป็น 7 ปีนั้น เป็นการเพิ่มโดยการใช้วีธีคิดแบบนักนิติศาสตร์ คือการแก้ปัญหาทางกฎหมายใช้เวลานาน ในขณะที่ระยะเวลาของผู้รับผิดชอบนั้นอาจมีอายุราชการหรือวาระน้อยไป เช่น จากศาลชั้นต้นไปศาลฎีกาใช้เวลา 5-6 ปี ปรากฏว่าผู้รับผิดชอบคดีเกษียณไปแล้ว ความไม่ต่อเนื่องจึงเกิดขึ้น เลยต้องเพิ่มอายุงาน แต่วิธีการแบบนี้แก้ปัญหาในระยะยาวไม่ได้ 

     สำหรับ ประเด็นการให้อำนาจ กกต.แจกใบเหลือง แต่ไม่มีสิทธิให้ใบแดง ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยเพราะจะได้ตรวจสอบกันหลายฝ่าย ถ้าให้ใบแดง บางครั้งมีสิทธิถูกอิทธิพลหรืออำนาจทางการเมืองเข้าไปควบคุมหรือบังคับให้ตัดสินใจ อาจเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!