WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จุดเหมือน จุดต่าง สุรยุทธ์ กับ ′ประยุทธ์′ 2 รัฐบาล ′ทหาร′

จุดเหมือน จุดต่าง สุรยุทธ์ กับ ′ประยุทธ์′ 2 รัฐบาล ′ทหาร′

(ที่มา:มติชนรายวัน 2 กันยายน 2557)

 

 



หากเทียบกับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2549 กับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนกันยายน 2557

ต้องถือว่า "ป.ปลา" โชคดีกว่า

แม้ไม่โชคดีในระดับ "กัปปิยโวหาร" ถึงขั้นว่า "คนไทยโชคดีที่ได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี"

แต่อยู่ในระนามแห่งความโชคดีที่เหนือกว่ารัฐบาล "ส.เสือ"

โชคดี 1 เพราะได้รับการขานรับอย่างอบอุ่นไม่ว่าจะจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะจาก กปปส.

เมื่อเป็น "กปปส." ย่อมหมายรวมถึง "ประชาธิปัตย์" พ่วงไปด้วย

ขณะเดียวกัน โชคดี 1 เพราะไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่า นปช.อันเป็นอีกขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทยก็อยู่ในอาการสงบ

สงบเรียบร้อยประดุจผ้าพับไว้ใน "โรงจำนำ"

จึงไม่เพียงแต่จะสะท้อนออกโดย "โพล" สำนักต่างๆ หากแม้กระทั่ง "สื่อ" ทุกรูปแบบทั้งสื่อกระดาษ และสื่อดิจิตอล ล้วนร้อง "ฮ้อ" ด้วยน้ำเสียงเดียวกัน

แบกรับ "ความสุข" กันโดยพร้อมเพรียง


ถามว่าความแตกต่างหรือไม่ระหว่างรัฐบาลอันมาจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กับ รัฐบาลอันมาจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ทั้ง "เหมือน" และ "ต่าง"

เหมือนตรงที่พื้นฐานของการประกอบส่วนของรัฐบาลมาจาก "ข้าราชการ" ทั้งใหม่และเก่าประสานเข้ากับ "นักธุรกิจ" จำนวนหนึ่ง

ต่างตรงที่อย่างแรก "พลเรือน" มากกว่า

ต่างตรงที่อย่างหลัง "ทหาร" เข้าแถวเข้ามาคึกคักมากกว่า

เหมือนตรงที่องค์ประกอบของทหารเน้นในเรื่อง "นายเก่า" เน้นในเรื่อง "เพื่อนร่วมรุ่น" ในสัดส่วนอันเหมาะเจาะ

เหมือนตรงที่เน้นนายเก่าอันเป็น "ป.ปลา"

ต่างก็เพียงแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แนบแน่นกับ ป.ปลา 1 ต่างก็เพียงแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนบแน่นกับอีก ป.ปลา 1

ตรงนี้นำไปสู่ฐาน "เศรษฐกิจ" ซึ่งต่างกันด้วย

นั่นก็คือ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แนบแน่นกับฐานเศรษฐกิจ "บัวหลวง"ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนบแน่นกับฐานเศรษฐกิจ "รวงข้าว"

"รวงข้าว" จึงคลาสสิกกว่า "บัวหลวง" 


ภายในฐานทางการเมือง ฐานทางเศรษฐกิจ อันแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์กลับมี "จุดร่วม" อย่างมิได้นัดหมาย

การให้โอกาสของ "เพื่อไทย" คืออะไร

การให้โอกาสของ "ประชาธิปัตย์" คืออะไร

หากฟังแต่เพียงเรื่องให้โอกาสก็อาจเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าสอบลึกไปยังความเป็นจริงของโอกาสและการรอคอย

ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นความน่ายินดีหรือไม่

เพราะว่าไม่ว่าพรรคเพื่อไทย เพราะว่าไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีกรอบแห่งการให้โอกาสเหมือนกัน

นั่นก็คือเดือนตุลาคม 2558

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีระยะเวลาแห่งการบริหารราชการแผ่นดินจากเดือนกันยายน 2557 ไปสิ้นสุดเอาในเดือนตุลาคม 2558 แล้วก็เริ่มต้นนับ 1

นับ 1 โดยกระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไป

น่าสังเกตว่า ไม่ว่าแถลงของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่ว่าแถลงของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มีกำหนดอยู่ตรงกัน

นั่นคือ รอคอย "เลือกตั้ง" ในเดือนตุลาคม 2558


กรอบของเดือนตุลาคม 2558 จึงเป็นกรอบที่จะ "กำหนด" และขีดเส้นให้กับรัฐบาล"ประยุทธ์" 

น่าสนใจก็ตรงที่มิได้เป็นกรอบอันปัจจัยอื่นจากภายนอกบังคับ ตรงกันข้าม เป็นกรอบอันเหมือนกับ "สัญญา" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไว้กับ "ประชาชน"

เป็น "สัญญาประชาคม" จากชายชาติ "ทหาร" ผู้มั่นใจสัจจะ.........

 

อุปมา การเมือง การเมือง โมเดล ′จีน′ คสช.เบ็ดเสร็จ

 (ที่มา:มติชนรายวัน 1 กันยายน 2557)

การเสนอ "กระบวนการ" ของนายวีระ สมความคิด ในที่ประชุมสัมมนาว่าด้วย "การต่อต้านการทุจริต" ของสถาบันพระปกเกล้า

ฮือฮา

"ขอฝาก คสช.ว่า หากจะแก้ปัญหาทุจริตต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอย่างผู้นำของจีน ไม่เห็นแก่หน้าใคร แล้วเอาตัวเองเป็นต้นแบบ"

ฮือฮา เพราะเป็น "โมเดลจีน"

จุดที่ไม่ควรมองข้ามภายในข้อเสนอและกระบวนการอันมาจากนายวีระ สมความคิด 1 ก็คือ ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

และ 1 เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จแบบ "ผู้นำจีน"

ในบรรยากาศแห่งความรู้สึก "แหม่งๆ" ต่อท่าทีของสหรัฐ ต่อท่าทีของสหภาพยุโรป หลังรัฐประหาร แบบอย่างของ "จีน" จึงเนื้อหอมเป็นพิเศษ

ไม่ว่า "รถไฟความเร็วสูง" ไม่ว่าการปราบ "คอร์รัปชั่น"

เป็นการมองจีนโดยลืมไปว่า ความรู้สึกในกาลอดีตของไทยต่อจีนเป็นอย่างไร เป็นการมองจีนโดยลืมและมองข้ามความเป็นจริงของจีนในกาลปัจจุบัน

นี่คือ อาการ "คลั่งจีน" ในอีกโฉมหนึ่ง

ทั้งๆ ที่ในยุค 2500 เมื่อมีความพยายามเรียกร้องให้ไทยวางตัวเป็นกลางและสานสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

กระแสต้านอันมาจาก "ประชาธิปัตย์" แข็งกร้าวยิ่ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจไม่รู้ แต่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ต้องรับรู้อย่างแน่นอนเพราะผ่านการศึกษาเรื่องราว "ผู้ก่อตั้ง" พรรคมาแล้วอย่างสมบุกสมบัน

คงรู้ว่าใครที่เคยพูดว่า ค้าขายกับจีนได้อะไรมีแต่ "ลูกหนำเลี้ยบ"

และเมื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ไม่ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ไม่ว่าในเดือนธันวาคม 2500 หลังการรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยลังเลใจที่จะกระหน่ำฟาดไปยังนักการเมืองในปีกสังคมนิยมอย่างรุนแรง

เพราะเห็นว่ากลุ่มนี้มีความแนบแน่นอยู่กับ "จีนแดง"

ข้อน่าสนใจก็คือ ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กระแสจีนทะยานสู่ความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่ "ชนชั้นสูง" ของไทย

กระทั่งมองอำนาจ "เบ็ดเสร็จ" ของ คสช.ใกล้เคียงกับ "จีน"

กระทั่งมีความเชื่อมั่นว่า คสช.จะนำพาประเทศไทยให้พัฒนาก้าวหน้าเหมือนกับจีนในยุคเปิดประเทศตามนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิง

แมวไม่ว่าสีอะไร หากสามารถจับหนูได้ ย่อมมีประโยชน์

"อํานาจเบ็ดเสร็จ" ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเหมือนกับ"อำนาจเบ็ดเสร็จ" ในมือของสีจิ้นผิง จริงละหรือ

หากมองในความเด็ดขาด อาจละม้ายกันบ้าง

กระนั้น หากมองใน "รากที่มา" มีความแตกต่างอย่างเด่นชัดตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากความเป็น ผบ.ทบ.

ขณะที่สีจิ้นผิงมาจากความเป็นสมาชิก "พรรคคอมมิวนิสต์จีน"

หากถือว่า ผบ.ทบ.ที่อยู่ในฐานะนำก็เพราะเป็นหน่วยราชการซึ่งมีลักษณะจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง อันเป็นลักษณะจัดตั้งอย่างเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์

แต่อำนาจอันได้มาก็มีความแตกต่างกัน

อำนาจ "นำ" ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มา มีรากฐานจากการสู้รบและโค่นล้มอำนาจเดิมของพรรคก๊กมินตั๋งตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2492 การสืบทอดของสีจิ้นผิงมีความสัมพันธ์และต่อเนื่องมาจากเหมาเจ๋อตง

ต่างตรงที่อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอำนาจของ "ข้าราชการประจำ"

แม้ปากกระบอกปืนจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อำนาจทางการเมืองมา แต่ก็เป็นอำนาจที่อยู่ได้เพียง 1 ปี 3 เดือนตามคำมั่นสัญญา

เดือนตุลาคม 2558 ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วก็อำลาจากไป

การเปรียบเทียบระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ สีจิ้นผิง จึงเป็นการเปรียบในทางรูปแบบ

กล่าวสำหรับ "รากที่มา" กล่าวสำหรับสถานะ "ทางการเมือง" กล่าวสำหรับความคิดในเชิง "อุดมการณ์" ก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

คนหนึ่งมีการสืบทอด คนหนึ่งประกาศมา "ชั่วคราว".........

วิวาทะ การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง จากกฎอัยการศึก

มติชนรายวัน 29 สิงหาคม 2557

ประเด็นอันเกี่ยวกับจะเลิกหรือไม่เลิกการประกาศและบังคับใช้ "กฎอัยการศึก" คล้ายกับเป็นความขัดแย้งระหว่างการเมือง 2 ขั้ว 2 ค่าย

แต่เมื่อ "สำรวจ" ไปจริงๆ กลับไม่ใช่

ตรงกันข้าม นับวันยิ่งมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าจะเป็นความขัดแย้งในทางความคิดระหว่างฝ่ายของ "คสช." กับฝ่าย "เศรษฐกิจ"

กล่าวสำหรับทางด้าน "เศรษฐกิจ"

ในตอนต้นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ เป็นกลุ่มธุรกิจในสาขา "การท่องเที่ยว" เป็นหลัก เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรง

ขณะเดียวกัน อย่าลืมเป็นอันขาดว่าธุรกิจ "ท่องเที่ยว" มีผล "ข้างเคียง"

ผล 1 คือ สายการบินและสนามบิน ผล 1 คือ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตและสถานที่ท่องเที่ยวผล 1 คือ ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า

ผล 1 ที่ยังไม่ได้ยินเสียงคือธุรกิจสถานบันเทิงกลางคืน

ในตอนต้นผู้คนก็คิดว่า ธุรกิจท่องเที่ยวหมายถึงการเดินทางท่องเที่ยว จากโน่นมานี่ จากนี่ไปโน่น แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่ เพราะกล่าวอย่างรวมๆ ก็คือ นันทนาการและการศึกษา

เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องใหญ่

คสช.อาจปลาบปลื้มเป็นอย่างมากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้ไปแถลงต่อนักธุรกิจจากต่างประเทศ

ในงาน Thailand Focus 2014

หากฟังแต่เฉพาะ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หากฟังแต่เฉพาะ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ก็ไพเราะเสนาะหู

แต่ลองฟังจาก น.ส.อรกัญญา พิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่สาขาประเทศไทย ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ที่ว่า

"ผู้เข้าร่วมงานน้อยกว่าปีที่ผ่านมา"

ก็อาจต้องชะงัก และยิ่งได้ยินเหตุผล "เนื่องจากบางบริษัทไม่ให้พนักงานเดินทางไปยังประเทศที่มีกฎอัยการศึก"

ก็ยากที่จะไม่สะอึก

"คสช.ควรจะยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะจะเป็นมาตรการระยะสั้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้ทันที"

เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นต้องทุ่ม "เม็ดเงิน" ลงไป

จำเป็นต้อง "ล้างหู" น้อมรับฟัง อย่างมี "โยนิโสมนสิการ"

หากประเมินจากน้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากประเมินจากน้ำเสียงของ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช

กฎอัยการศึกยังมีความจำเป็น

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพราะ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)

กระนั้น สิ่งที่ฝ่าย "เศรษฐกิจ" อยากได้ยินอย่างยิ่ง คือ น้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะของ "นายกรัฐมนตรี" อันถือว่าเป็นประมุขในฝ่ายอำนาจบริหาร เป็นสดมภ์หลักของบ้านเมือง

บางที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น "นายกรัฐมนตรี" อาจจำเป็นต้องหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ"(คสช.) อย่างเอาจริงเอาจัง มองทะลุมิติทางด้านความมั่นคงไปยังมิติทางด้านเศรษฐกิจ

ก็จะตระหนักว่าการยกเลิก "กฎอัยการศึก" อาจเป็นประโยชน์

เว้นก็แต่ "ผู้บัญชาการทหารบก" กับ "หัวหน้า คสช." ไม่มั่นใจว่าสามารถกุม"สถานการณ์" และความมั่นคงได้อย่างเป็นจริงเท่านั้น

นั่นก็ต้องมีคำอธิบาย นั่นก็ต้องมีคำตอบ

สภาพที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันประการหนึ่งก็คือ ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่

ดำรงอยู่ 1 จากสถานการณ์ "ชัตดาวน์" ยาวนาน ดำรงอยู่ 1 จากสถานการณ์"รัฐประหาร" กระทั่งส่งออกหดตัว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องลดประมาณการลง

กฎอัยการศึกก็เป็นปัจจัย 1 ซึ่งมาพร้อมกับรัฐประหาร...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!