WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชู 3 นิ้ว-ดูหนัง'ฮังเกอร์'จับตา คสช. รับมือ'ปัญญาชน'

ชู 3 นิ้ว-ดูหนัง'ฮังเกอร์'จับตา คสช. รับมือ'ปัญญาชน'


วิเคราะห์ : มติชนออนไลน์ :

    ลําพังปัญหาเศรษฐกิจซึมเซาก็เป็นภารกิจอันหนักอึ้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มากแล้ว

   เมื่อมาเจอกับปัญหาสิทธิเสรีภาพเข้าอีก

คสช.จะรับมืออย่างไร?

คสช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้มีองค์กรสำคัญ 5 องค์กร หรือเรียกว่า "แม่น้ำทั้งห้า"

รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า 

คสช.ทำหน้าที่เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยได้เลือก นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน 

สนช.เลือกนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกคณะรัฐมนตรีมาร่วมรัฐบาล

เข้าสู่กระบวนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ซึ่งมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน 

สุดท้ายคือเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช. กำหนดให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง

ทั้งหมดแบ่งหน้าที่โดย คสช. กำหนดโรดแมป 1 ปีมีรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้ง 

และแบ่งหน้าที่ให้ คสช.ดูแลความมั่นคง ครม.ดูแลด้านบริหารประเทศ สนช.-สปช.-กรรมาธิการยกร่างดำเนินการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

ขณะนี้การดำเนินการเคลื่อนไปถึงขั้นระดมความคิดเห็นการปฏิรูป เพื่อนำไปปฏิรูปประเทศ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

แต่พอก้าวย่างถึงขั้นระดมความคิดเห็น ขั้นตอนต่างๆ ก็เริ่มรวน

ขั้นตอนการระดมความคิดเห็นจากสังคม เกิดอุปสรรคขึ้นเพราะติดกฎเกณฑ์ของอัยการศึกที่กำหนด

กฎอัยการศึกที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ก่อนการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม มาจนบัดนี้ยังไม่ประกาศเลิก

ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ปรากฏมีผู้เรียกร้องให้ยกเลิกมากขึ้นเป็นลำดับ

จากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบเพราะฝรั่งไม่เข้ามาทัวร์ ผนวกกับกลุ่มนักวิชาการที่มองว่ากฎอัยการศึกเป็นตัวขัดขวางสิทธิเสรีภาพ 

เรื่อยมาถึงพรรคการเมืองที่ไม่กล้าประชุมพรรค เพราะผิดกฎอัยการศึก 

แม้กระทั่งสมาชิก สปช.เองก็เริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากการระดมความคิดเห็นเพื่อปฏิรูปกระทำไม่ได้ดังใจ

ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะติดขัดไปเสียหมด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. มองว่ายังจำเป็นต้องคงกฎอัยการศึกไว้

ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยยังมีคลื่นใต้น้ำที่รอคอยเวลาโผล่ขึ้นมาผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา หากปราศจากกฎอัยการศึก คลื่นเหล่านั้นจะก่อหวอดและกระทบต่อความมั่นคงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้กฎอัยการศึกมาระยะหนึ่ง ผนวกกับกระแสการขอให้เลิกกฎอัยการศึกษาปะทุขึ้น จึงทำให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่ง กลุ่มอาจารย์นักวิชาการอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงกลุ่มปัญญาชนออกมาเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง

เมื่อวันที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปเยือน จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ได้ปรากฏนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน 5 คน ใส่เสื้อต้านรัฐประหาร และชู 3 นิ้ว จนเจ้าหน้าที่ทหารรวบตัวไปปรับทัศนคติ

รุ่งขึ้นกระแสชู 3 นิ้วมาปรากฏที่กรุงเทพมหานคร 

ผนวกกับภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง ฮังเกอร์ เกมส์ เรื่องราวภาคสุดท้ายเกี่ยวกับการต่อสู้กับอำนาจนิยม มีการใช้สัญลักษณ์ชูนิ้วขึ้น 3 นิ้ว เพื่อต่อต้านอำนาจ กำลังเข้าฉายพอดี

นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงออกมาจัดกิจกรรม และถูกควบคุม โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพถูกคุมตัวไปด้วย

วันเดียวกันนั้น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีนิสิตออกมาแสดงออก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีนักศึกษาออกมาปิกนิกต่อต้านปฏิวัติ

แม้แต่ที่ประเทศฝรั่งเศส "อั้ม เนโกะ" ชวนเพื่อนออกมาชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารเช่นกัน

รวมทั้งมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะบุคคล" จำนวน 102 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎอัยการศึก และสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มดาวดิน

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นในชั่วพริบตา 

ความสนใจของสังคมที่เคยพุ่งเป้าไปที่ ครม.กับปัญหาบริหารประเทศ กลับกลายเป็นสนใจวิธีการจัดการกับกลุ่มปัญญาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในทันที

ทั้งนี้ เพราะวิธีการจัดการกับกลุ่มปัญญาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเมื่อสัปดาห์ก่อน กับวิธีการจัดการกับกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในช่วงเหตุการณ์หลังวันที่ 22 พฤษภาคมใหม่ๆ นั้นไม่เหมือนกัน

สถานการณ์แตกต่างกัน

หลังวันที่ 22 พฤษภาคม สังคมไม่ปลอดภัย เมื่อทหารออกมาคุ้มภัย จึงยอมรับทหาร

กฎอัยการศึกซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายทหาร จึงได้รับการยอมรับจากสังคมไทยในระยะนั้น

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สังคมต้องการ "ความคิดเห็น" เพื่อนำไปปฏิรูปประเทศ แต่ทหารยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย

เมื่อมีปัญญาชนออกมาเรียกร้องและคัดค้านทหาร กฎอัยการศึกถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม

กฎอัยการศึกเปลี่ยนจากเครื่องมือเพื่อความปลอดภัย เป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย

แม้บางฝ่ายมีความเชื่อว่าการเรียกร้องของปัญญาชนกับการเมืองว่ามีความสัมพันธ์ และเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่อีกฝ่ายก็มองเห็นแล้วว่า กลุ่มผู้เรียกร้องดังกล่าวเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจ และไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกมานานแล้ว

เพียงแต่วันก่อนสถานการณ์ประเทศเป็นแบบหนึ่ง สังคมจึงเห็นด้วยกับฝ่ายทหาร แต่วันนี้สถานการณ์ประเทศเป็นอีกแบบหนึ่ง สังคมจึงมีความเห็นที่เริ่มเปลี่ยน

จึงต้องจับตาดูท่าทีของ คสช. ว่าจะมีวิธีคิดวิธีทำในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นที่ปรากฏอย่างไร

และผลการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยน จะทำให้ทุกอย่างสงบสันติ หรือจะบานปลายออกไป

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะกระทบต่อโรดแมปสู่ 

'ความสุข' หรือเปล่า

ทุกอย่างอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!